Group Blog
 
<<
มกราคม 2549
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
10 มกราคม 2549
 
All Blogs
 
พระธรรมไม่ขัดกับสิ่งที่โลกสมมติขึ้น

วันนี้จะกล่าวถึงเรื่องว่าพระธรรมของพระพุทธองค์นั้นไม่ขัดกับกระแสทางโลกครับ เพราะพระธรรมนั้นเป็นอกาลิโก กล่าวคือไม่ขึ้นอยุ่กับกาล

พระสูตรต่างๆในวันนี้มาจากพระสุตตันตปิฎก เล่ม 9 สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค ขันธสังยุต ครับ

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

***********************************
ปุปผวรรคที่ ๕

๑. นทีสูตร

ว่าด้วยเหตุให้ถึงความพินาศ

[๒๓๗] พระนครสาวัตถี ฯลฯ ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาแล้วตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม่น้ำไหลไปจากภูเขา พัดเอาหญ้า ใบไม้ และไม้เป็นต้นไปในภายใต้ ไหลไปสู่ที่ไกล มีกระแสอันเชี่ยว ถ้าแม้ต้นเลาทั้งหลาย พึงเกิดที่ฝั่งทั้งสองข้างแห่งแม่น้ำนั้น ต้นเลาเหล่านั้น พึงน้อมไปสู่แม่น้ำนั้น ถ้าแม้หญ้าคาทั้งหลาย พึงเกิด หญ้าคาเหล่านั้น พึงน้อมไปสู่แม่น้ำนั้น ถ้าแม้หญ้ามุงกระต่ายทั้งหลาย พึงเกิด หญ้ามุงกระต่ายเหล่านั้น พึงน้อมไปสู่แม่น้ำนั้น ถ้าแม้หญ้าคมบางทั้งหลาย พึงเกิด หญ้าคมบางเหล่านั้น พึงน้อมไปสู่แม่น้ำนั้น ถ้าแม้ต้นไม้ทั้งหลาย พึงเกิด ต้นไม้เหล่านั้น พึงน้อมไปสู่แม่น้ำนั้น บุรุษถูกกระแสน้ำพัดไปอยู่ ถ้าแม้พึงจับต้นเลาทั้งหลาย ต้นเลาเหล่านั้นพึงหลุดไป บุรุษนั้นพึงถึงความพินาศ มีการหลุดนั้นเป็นเหตุ ถ้าแม้พึงจับหญ้าคา หญ้ามุงกระต่าย หญ้าคมบาง ต้นไม้ หญ้าคา เป็นต้นเหล่านั้น พึงหลุดไป บุรุษนั้นพึงถึงความพินาศ มีการหลุดนั้นเป็นเหตุ แม้ฉันใด. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ฉันนั้นเหมือนกันแล ไม่เห็นพระอริยเจ้า ไม่ฉลาดในอริยธรรม ไม่ได้รับแนะนำในอริยธรรม ไม่เห็นสัตบุรุษ ไม่ฉลาดในสัปปุริสธรรม ไม่ได้รับแนะนำในสัปปุริสธรรม ย่อมตามเห็นรูปโดยความเป็นตน เห็นตนมีรูป เห็นรูปในตน หรือเห็นตนในรูป รูปนั้นของปุถุชนนั้นย่อยยับไป ปุถุชนนั้น ย่อมถึงความพินาศ มีข้อนั้นเป็นเหตุ. ปุถุชนย่อมตามเห็นเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ โดยความเป็นตน เห็นตนมีวิญญาณ เห็นวิญญาณในตน หรือเห็นตนในวิญญาณ วิญญาณนั้นของปุถุชนนั้นย่อมย่อยยับไป ปุถุชนนั้นย่อมถึงความพินาศ มีข้อนั้นเป็นเหตุ.
[การยึดมั่นในขันธ์ห้าและยึดถือเป็นตัวตน เพราะว่าขันธ์นั้นย่อมย่อยยับไปดุจใบหญ้าลอยน้ำไป ไม่อาจยึดเกาะเอาตัวรอดในแม่น้ำเชี่ยว บุคคลผู้ยึดมั่นในขันธ์ห้าก็เช่นกัน ย่อมพินาศไป]

[๒๓๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง? ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ไม่เที่ยงพระเจ้าข้า.

พ. เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง?

ภิ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.

พ. เพราะเหตุนั้นแล ภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ รู้ชัดว่า ฯลฯ กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.

จบ สูตรที่ ๑.

๒. ปุปผสูตร

ว่าด้วยพระพุทธองค์ไม่ขัดแย้งกับโลก

[๒๓๙] พระนครสาวัตถี ฯลฯ สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาแล้วตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่ขัดแย้งกับโลก. แต่โลกย่อมขัดแย้งกับเรา. ผู้กล่าวเป็นธรรมย่อมไม่ขัดแย้งกับใครๆ ในโลก สิ่งใดที่บัณฑิตในโลกสมมติว่า ไม่มี แม้เราก็กล่าวสิ่งนั้นว่า ไม่มี. สิ่งใดที่บัณฑิตในโลก สมมติว่า มี แม้เราก็กล่าวสิ่งนั้นว่า มี ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่บัณฑิตในโลกสมมติว่า ไม่มี ซึ่งเราก็กล่าวว่าไม่มีนั้น คืออะไร? คือ รูปที่เที่ยง ยั่งยืน มั่นคง มีความไม่แปรปรวนเป็นธรรมดา บัณฑิตในโลกสมมติว่า ไม่มี แม้เราก็กล่าวรูปนั้นว่า ไม่มี. เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณที่เที่ยง ยั่งยืน มั่นคง มีความไม่แปรปรวนเป็นธรรมดา โลกสมมติว่า ไม่มี แม้เราก็กล่าววิญญาณนั้นว่า ไม่มี. ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้แหละที่เป็นบัณฑิตในโลกสมมติว่า ไม่มี ซึ่งเราก็กล่าวว่า ไม่มี. ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่บัณฑิตในโลกสมมติว่า มี ซึ่งเราก็กล่าวว่ามีนั้น คืออะไร. ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ที่บัณฑิตในโลกสมมติว่า มี แม้เราก็กล่าวรูปนั้นว่า มี. เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ที่บัณฑิตในโลกสมมุติว่า มี แม้เราก็กล่าววิญญาณนั้นว่า มี. ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้แหละที่บัณฑิตในโลกสมมุติว่า มี ซึ่งเราก็กล่าวว่า มี.
[พระพุทธองค์มิได้ทรงขัดกับสิ่งที่โลกสมมติขึ้น สิ่งทั้งหลายในโลกมีปกติไม่เที่ยงแท้ ไม่มีสิ่งที่ยั่งยืน มั่นคง แม้พระพุทธองค์ก็กล่าวเช่นนั้น แต่พระพุทธองค์ทรงรู้แจ้งในโลก ดังนั้นบุคคลในโลกผุ้มีอวิชชาและตัณหาครอบงำย่อมขัดแย้งกับพระองค์เพราะความไม่รู้นั่นเอง]

[๒๔๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย โลกธรรมมีอยู่ในโลก พระตถาคตย่อมตรัสรู้ ทราบชัดโลกธรรมนั้น ครั้นแล้วย่อมบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก กระทำให้ตื้น. ก็โลกธรรมในโลก พระตถาคตย่อมตรัสรู้ ทราบชัดโลกธรรม ครั้นแล้ว ย่อมบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก กระทำให้ตื้นนั้น คืออะไร? ดูกรภิกษุทั้งหลาย คือ รูปเป็นโลกธรรมในโลก พระตถาคตย่อมตรัสรู้ ทราบชัดโลกธรรมนั้น ฯลฯ กระทำให้ตื้น. ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลใด เมื่อพระตถาคตบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก กระทำให้ตื้นอยู่อย่างนี้ ย่อมไม่รู้ ไม่เห็น เราจะกระทำอะไรได้กะบุคคลนั้น ผู้เป็นปุถุชนคนพาล บอด ไม่มีจักษุ ไม่รู้ ไม่เห็น. เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นโลกธรรมในโลก พระตถาคตย่อมตรัสรู้ ทราบชัดโลกธรรมนั้น ครั้นแล้ว ย่อมบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก กระทำให้ตื้น. บุคคลใด เมื่อพระตถาคตบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก กระทำให้ตื้นอยู่อย่างนี้ ย่อมไม่รู้ ไม่เห็น เราจะกระทำอะไรได้กะบุคคลนั้นผู้เป็นปุถุชนคนพาล บอด ไม่มีจักษุ ไม่รู้ ไม่เห็น.

[๒๔๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุบลก็ดี ปทุมก็ดี บุณฑริกก็ดี เกิดแล้วในน้ำ เจริญแล้วในน้ำ ขึ้นพ้นจากน้ำตั้งอยู่ แต่น้ำไม่ติด แม้ฉันใด. พระตถาคตเกิดแล้วในโลก เจริญแล้วในโลก ย่อมครอบงำโลกอยู่ แต่โลกฉาบทาไม่ได้ ฉันนั้นเหมือนกันแล.

จบ สูตรที่ ๒.

๓. เผณปีณฑสูตร

ว่าด้วยอุปมาขันธ์ ๕

[๒๔๒] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำคงคาใกล้อยุชฌบุรี. ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาแล้วตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม่น้ำคงคานี้ พึงนำกลุ่มฟองน้ำใหญ่มา บุรุษผู้มีจักษุพึงเห็น เพ่ง พิจารณากลุ่มฟองน้ำใหญ่นั้น โดยแยบคาย เมื่อบุรุษนั้นเห็น เพ่ง พิจารณาอยู่โดยแยบคาย กลุ่มฟองน้ำนั้น พึงปรากฏเป็นของว่างเปล่า หาสาระมิได้เลย สาระในกลุ่มฟองน้ำ พึงมีได้อย่างไร แม้ฉันใด. ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ฯลฯ อยู่ในที่ไกลหรือในที่ใกล้ ภิกษุย่อมเห็น เพ่งพิจารณารูปนั้นโดยแยบคาย เมื่อภิกษุนั้นเห็น เพ่งพิจารณาอยู่โดยแยบคาย รูปนั้นย่อมปรากฏเป็นของว่างเปล่า หาสาระมิได้ สาระในรูปพึงมีได้อย่างไร ฉันนั้นเหมือนกัน.

[๒๔๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อฝนเมล็ดหยาบตกอยู่ในสรทสมัย ฟองน้ำในน้ำ ย่อมบังเกิดขึ้นและดับไป บุรุษผู้มีจักษุ พึงเห็น เพ่ง พิจารณาฟองน้ำนั้นโดยแยบคาย เมื่อบุรุษนั้นเห็น เพ่ง พิจารณาอยู่โดยแยบคาย ฟองน้ำนั้น พึงปรากฏเป็นของว่างเปล่า หาสาระมิได้เลย สาระในฟองน้ำนั้นพึงมีได้อย่างไร แม้ฉันใด. เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ฯลฯ อยู่ในที่ไกลหรือในที่ใกล้ ภิกษุย่อมเห็น เพ่ง พิจารณาอยู่โดยแยบคาย เวทนานั้นย่อมปรากฏเป็นของว่างเปล่า หาสาระมิได้ สาระในเวทนาพึงมีได้อย่างไร ฉันนั้นเหมือนกัน.

[๒๔๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อเดือนสุดท้ายแห่งฤดูร้อนยังอยู่ พยับแดด ย่อมเต้นระยิบระยับในเวลาเที่ยง บุรุษผู้มีจักษุพึงเห็น เพ่ง พิจารณา พยับแดดนั้นโดยแยบคาย เมื่อบุรุษนั้นเห็น เพ่ง พิจารณาอยู่โดยแยบคาย พยับแดดนั้น พึงปรากฏเป็นของว่างเปล่า ฯลฯ สาระในพยับแดดพึงมีได้อย่างไร แม้ฉันใด. สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ฯลฯ ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล.

[๒๔๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุรุษผู้มีความต้องการด้วยไม้แก่น เสาะหาไม้แก่น เที่ยวแสวงหาไม้แก่นอยู่ ถือเอาจอบอันคม พึงเข้าไปสู่ป่า บุรุษนั้นพึงเห็นต้นกล้วยใหญ่ ตรง ใหม่ ยังไม่เกิดแก่นในป่านั้น พึงตัดโคนต้นกล้วยนั้นแล้วจึงตัดปลาย แล้วจึงปอกกาบใบออก บุรุษนั้นปอกกาบใบออก ไม่พึงได้แม้กระพี้ในต้นกล้วยใหญ่นั้น จะพึงได้แก่นแต่ที่ไหน บุรุษผู้มีจักษุพึงเห็น เพ่ง พิจารณาอยู่โดยแยบคาย ซึ่งต้นกล้วยใหญ่นั้น เมื่อบุรุษนั้นเห็น เพ่ง พิจารณาอยู่โดยแยบคาย ต้นกล้วยใหญ่นั้น พึงปรากฏเป็นของว่างเปล่า หาแก่นมิได้ แก่นในต้นกล้วยพึงมีได้อย่างไร แม้ฉันใด. สังขารเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ฯลฯ อยู่ในที่ไกลหรือในที่ใกล้ ภิกษุย่อมเห็น เพ่ง พิจารณาสังขารนั้นโดยแยบคาย เมื่อภิกษุนั้นเห็น เพ่ง พิจารณาอยู่โดยแยบคาย สังขารนั้น ย่อมปรากฏเป็นของว่างเปล่า หาสาระมิได้ สาระในสังขารทั้งหลายพึงมีได้อย่างไร ฉันนั้นเหมือนกันแล.

[๒๔๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย นักเล่นกลหรือลูกมือนักเล่นกล พึงแสดงกลที่หนทางใหญ่สี่แพร่ง บุรุษผู้จักษุพึงเห็น เพ่ง พิจารณากลนั้นโดยแยบคาย เมื่อบุรุษนั้นเห็น เพ่ง พิจารณาอยู่โดยแยบคาย กลนั้น พึงปรากฏเป็นของว่างเปล่า หาสาระมิได้ สาระในกลพึงมีได้อย่างไร แม้ฉันใด. วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ฯลฯ อยู่ในที่ไกลหรือในที่ใกล้ ภิกษุย่อมเห็น เพ่ง พิจารณาอยู่โดยแยบคาย เมื่อภิกษุเห็น เพ่งพิจารณาวิญญาณนั้นโดยแยบคาย วิญญาณนั้น ย่อมปรากฏเป็นของว่างเปล่า หาสาระมิได้ สาระในวิญญาณพึงมีได้อย่างไร ฉันนั้นเหมือนกันแล. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในรูป ทั้งในเวทนา ทั้งในสัญญา ทั้งในสังขาร ทั้งในวิญญาณ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อนคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ฯลฯ กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ดังนี้.

พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปว่า
[๒๔๗] พระพุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์ แห่งพระอาทิตย์ ทรงแสดงแล้วว่า
รูปอุปมาด้วยกลุ่มฟองน้ำ เวทนาอุปมาด้วยฟองน้ำ สัญญาอุปมาด้วย
พยับแดด สังขารอุปมาด้วยต้นกล้วย และวิญญาณอุปมาด้วยกล.
ภิกษุย่อมเพ่งพิจารณาเห็นเบญจขันธ์นั้นโดยแยบคายด้วยประการ
ใดๆ เบญจขันธ์นั้น ย่อมปรากฏเป็นของว่าง เป็นของเปล่า
ด้วยประการนั้นๆ ก็การละธรรม ๓ อย่าง อันพระพุทธเจ้า ผู้มี
ปัญญาดังแผ่นดิน ปรารภกายนี้ทรงแสดงแล้ว ท่านทั้งหลาย
จงดูรูปอันบุคคลทิ้งแล้ว. อายุ ไออุ่น และวิญญาณย่อมละ
กายนี้เมื่อใด เมื่อนั้น กายนี้อันเขาทอดทิ้งแล้วย่อมเป็นเหยื่อ
แห่งสัตว์อื่น หาเจตนามิได้ นอนทับถมแผ่นดิน. นี้เป็น
ความสืบต่อเช่นนี้ นี้เป็นกลสำหรับหลอกลวงคนโง่ เบญจขันธ์
เพียงดังว่าเพชฌฆาตผู้หนึ่ง เราบอกแล้ว สาระย่อมไม่มีใน
เบญจขันธ์นี้. ภิกษุผู้มีความเพียรอันปรารภแล้วมีสัมปชัญญะ มีสติ
พึงพิจารณาขันธ์ทั้งหลายอย่างนี้ ทั้งกลางวัน ทั้งกลางคืน. ภิกษุเมื่อ
ปรารถนาบทอันไม่จุติ (นิพพาน) พึงละสังโยชน์ทั้งปวง พึงกระทำ
ที่พึ่งแก่ตน พึงประพฤติ ดุจบุคคลผู้มีศีรษะอันไฟไหม้ ดังนี้.

จบ สูตรที่ ๓.

๔. โคมยสูตร

ว่าด้วยความไม่เที่ยงแท้แน่นอนแห่งขันธ์ ๕

[๒๔๘] พระนครสาวัตถี ฯลฯ ครั้นนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ฯลฯ ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ รูปอะไรๆ ที่เที่ยง ยั่งยืน มั่นคง ไม่มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา จักคงเที่ยงอยู่เสมออย่างนั้น มีอยู่หรือหนอแล? เวทนาอะไรๆ ฯลฯ สัญญาอะไรๆ ฯลฯ สังขารอะไรๆ ฯลฯ วิญญาณอะไรๆ ที่เที่ยง ยั่งยืน มั่นคง ไม่มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา จักคงเที่ยงอยู่เสมออย่างนั้น มีอยู่หรือหนอแล? พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุ รูปอะไรๆ ที่เที่ยง ยั่งยืน มั่นคง ไม่มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา จักคงเที่ยงอยู่เสมออย่างนั้น ไม่มีเลย. เวทนาอะไรๆ ... สัญญาอะไรๆ ... สังขารอะไรๆ ... วิญญาณอะไรๆ ที่เที่ยง ยั่งยืน มั่นคง ไม่มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา จักคงเที่ยงอยู่เสมออย่างนั้น ไม่มีเลย.
[พระพุทธองค์ตรัสว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่เที่ยง ยั่งยืน มั่นคง ไม่มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา จักคงเที่ยงอยู่เสมออย่างนั้น ไม่มีเลย]

[๒๔๙] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงหยิบก้อนโคมัยเล็กๆ แล้ว ได้ตรัสกะภิกษุนั้นว่า ดูกรภิกษุ การได้อัตกาพแม้มีประมาณเท่านี้แล เที่ยง ยั่งยืน มั่นคง ไม่มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา จักคงเที่ยงอยู่เสมออย่างนั้น ไม่มี. ถ้าแม้การได้อัตภาพมีประมาณเท่านี้ จักได้เป็นสภาพเที่ยง ยั่งยืน มั่นคง ไม่มีความแปรปรวนเป็นธรรมดาแล้วไซร้ การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบนี้ ก็จะไม่พึงปรากฏ. ก็เพราะเหตุที่การได้อัตภาพมีประมาณเท่านี้ เที่ยง ยั่งยืน มั่นคง ไม่มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ไม่มี ฉะนั้น การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ จึงปรากฏ.
[เพราะเหตุดังข้างต้นนี้เอง การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบจึงมีอยุ่]

[๒๕๐] ดูกรภิกษุ เรื่องเคยมีมาแล้ว เราได้เป็นขัตติยราชได้รับมุรธาภิเษก. เรานั้นมีนคร ๘๔,๐๐๐ นคร มีกุสาวดีราชธานีเป็นประมุข. มีปราสาท ๘๔,๐๐๐ มีธรรมประสาทเป็นประมุข. มีเรือนยอด ๘๔,๐๐๐ มีเรือนยอดมหาพยูหะเป็นประมุข. มีบัลลังก์ ๘๔,๐๐๐ ทำด้วยงา ทำด้วยแก่นจันทน์แดง ทำด้วยทอง ทำด้วยรูปิยะ ลาดด้วยผ้าโกเชาว์ มีขนยาวเกิน ๔ ลงคุลี ลาดด้วยผ้ากัมพลขาว ทำด้วยขนแกะ มีขนทั้งสองข้าง ลาดด้วยเครื่องลาดทำด้วยขนแกะมีดอกทึบ มีเครื่องลาดอย่างดีทำด้วยหนังชมด มีเพดานแดง มีหมอนข้างสีแดง. มีช้าง ๘๔,๐๐๐ เชือก มีเครื่องประดับทำด้วยทอง มีธงทำด้วยทอง ปกปิดด้วยข่ายทอง มีพระยาช้างอุโบสถเป็นประมุข. มีม้า ๘๔,๐๐๐ ตัว มีเครื่องประดับทำด้วยทอง ปกปิดด้วยข่ายทอง มีวลาหกอัสสวราชเป็นประมุข. มีรถ ๘๔,๐๐๐ คัน มีเครื่องประดับทำด้วยทอง มีธงทำด้วยทอง ปกปิดด้วยข่ายทอง มีเวชยันตราชรถเป็นประมุข. มีแก้ว ๘๔,๐๐๐ ดวง มีแก้วมณีเป็นประมุข. มีหญิง ๘๔,๐๐๐ มีนางภัททาเทวีเป็นประมุข มีกษัตริย์ ๘๔,๐๐๐ เป็นเหล่าอนุยนต์ มีปริณายกรัตน์เป็นประมุข. มีแม่โคนม ๘๔,๐๐๐ ตัว ผูกด้วยเชือกป่าน แขวนกระดิ่งโลหะ. มีผ้า ๘๔,๐๐๐ โกฏิ มีผ้าทำด้วยเปลือกไม้มีเนื้อละเอียด มีผ้าทำด้วยไหมมีเนื้อละเอียด มีผ้าทำด้วยขนสัตว์มีเนื้อละเอียด. มีผ้าทำด้วยฝ้ายมีเนื้อละเอียด. มีสำรับ ๘๔,๐๐๐ ซึ่งใส่อาหารที่ชนทั้งหลายเชิญไปโดยเฉพาะในเวลาเย็นใน เวลาเช้า.

[๒๕๑] ดูกรภิกษุ ก็บรรดามหานคร ๘๔,๐๐๐ เหล่านั้นแล นครที่เราครองในสมัยนั้นนครเดียวเท่านั้น คือ กุสาวดีราชธานี. บรรดาปราสาท ๘๔,๐๐๐ เหล่านั้นแล ปราสาทที่เราครองในสมัยนั้น ปราสาทเดียวเท่านั้น คือ ธรรมปราสาท. บรรดาเรือนยอด ๘๔,๐๐๐ เหล่านั้นแล เรือนยอดที่เราครองในสมัยนั้น หลังเดียวเท่านั้น คือ เรือนยอดมหาพยูหะ. บรรดาบัลลังก์ ๘๔,๐๐๐ เหล่านั้นแล บัลลังก์ที่เราใช้ในสมัยนั้น บัลลังก์เดียวเท่านั้น คือ บัลลังก์ที่ทำด้วยงา ทำด้วยแก่นจันทน์แดง ทำด้วยทอง หรือทำด้วยรูปิยะ. บรรดาช้าง ๘๔,๐๐๐ เชือกเหล่านั้นแล ช้างที่เราทรงในสมัยนั้นเชือกเดียวเท่านั้น คือ พระยาช้างชื่ออุโบสถ. บรรดาม้า ๘๔,๐๐๐ ตัว เหล่านั้นแล ม้าที่เราทรงสมัยนั้น ๑ ม้าเท่านั้น คือ วลหกอัสสวราช. บรรดารถ ๘๔,๐๐๐ เหล่านั้นแล รถที่เราทรงในสมัยนั้นคันเดียวเท่านั้น คือ รถเวชยันต์. บรรดาหญิง ๘๔,๐๐๐ เหล่านั้นแล หญิงที่เรายกย่องในสมัยนั้นคนเดียวเท่านั้น คือ นางกษัตริย์หรือหญิงที่มีกำเนิดจากกษัตริย์และพราหมณ์. บรรดาผ้า ๘๔,๐๐๐ โกฏิ เหล่านั้นแล ผ้าที่เรานุ่งห่มในสมัยนั้นคู่เดียวเท่านั้น คือ ผ้าทำด้วยเปลือกไม้มีเนื้อละเอียด ผ้าทำด้วยไหมมีเนื้อละเอียด ผ้ากัมพลมีเนื้อละเอียด หรือผ้าทำด้วยฝ้ายมีเนื้อละเอียด บรรดาสำหรับ ๘๔,๐๐๐ สำหรับซึ่งใส่ข้าวสุกที่หุงจากข้าวสาร ๑ ทะนานเป็นอย่างยิ่ง และแกงกับอันพอเหมาะแก่ข้าวนั้นที่เราบริโภค สำรับเดียวเท่านั้น. ดูกรภิกษุ สังขารทั้งปวงนั้น เป็นอดีต ดับไปแล้ว แปรปรวนไปแล้ว ด้วยประการดังนี้แล สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงอย่างนี้แล สังขารทั้งหลายไม่ยั่งยืนอย่างนี้แล สังขารทั้งหลายทั้งปวงเว้นจากลมอัสสาสะอย่างนี้แล. ก็ลักษณะอันไม่เที่ยงนี้ ควรทีเดียวเพื่อจะเบื่อหน่าย ควรเพื่อจะคลายกำหนัด ควรเพื่อจะพ้นไปเพียงไรในสังขารทั้งปวง.

จบ สูตรที่ ๔.

๕. นขสิขสูตร

ว่าด้วยความไม่เที่ยงแท้แน่นอนแห่งขันธ์ ๕

[๒๕๒] พระนครสาวัตถี ฯลฯ ภิกษุนั้นนั่งแล้ว ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ รูปอะไรๆ ที่เที่ยง ยั่งยืน มั่นคง ไม่มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา จักคงเที่ยงอยู่เสมออย่างนั้น มีอยู่หรือหนอแล? เวทนาอะไรๆ ฯลฯ สัญญาอะไรๆ ฯลฯ สังขารอะไรๆ ฯลฯ วิญญาณอะไรๆ ที่เที่ยง ยั่งยืน มั่นคง ไม่มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา จักคงเที่ยงอยู่เสมออย่างนั้น มีอยู่หรือหนอแล? พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุรูปอะไรๆ ที่เที่ยง ยั่งยืน มั่นคง ไม่มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา จักเที่ยงอยู่เสมออย่างนั้นไม่มีเลย. เวทนาอะไรๆ ... สัญญาอะไรๆ ... สังขารอะไรๆ ... วิญญาณอะไรๆ ที่เที่ยง ยั่งยืน มั่นคง ไม่มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา จักคงเที่ยงอยู่เสมออย่างนั้น ไม่มีเลย.

[๒๕๓] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงช้อนฝุ่นนิดหน่อยด้วยปลายเล็บแล้ว ตรัสกะภิกษุนั้นว่า ดูกรภิกษุ แม้รูปมีประมาณเท่านี้แล เที่ยง ยั่งยืน มั่นคง ไม่มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา จักคงเที่ยงอยู่เสมออย่างนั้น ไม่มี. ถ้าว่ารูปแม้มีประมาณเท่านี้ จักได้เป็นของเที่ยง ยั่งยืน มั่นคง ไม่มีความแปรปรวนเป็นธรรมดาแล้วไซร้ การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบนี้ ก็จะไม่พึงปรากฏ. ก็เพราะเหตุที่รูปแม้มีประมาณเท่านี้แล เป็นของเที่ยง ยั่งยืน มั่นคง ไม่มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ไม่มี ฉะนั้น การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ จึงปรากฏ. เวทนาแม้มีประมาณเท่านี้แล ฯลฯ วิญญาณแม้มีประมาณเท่านี้แล เป็นของเที่ยง ยั่งยืน มั่นคง ไม่มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา จักคงเที่ยงอยู่เสมอ อย่างนั้น ไม่มี. ถ้าแม้ว่าวิญญาณมีประมาณเท่านี้ จักเที่ยง ยั่งยืน มั่นคง ไม่มีความแปรปรวนเป็นธรรมดาแล้วไซร้ การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบนี้ ก็จะไม่พึงปรากฏ. ก็เพราะเหตุที่วิญญาณแม้มีประมาณเท่านี้แล เที่ยง ยั่งยืน มั่นคง ไม่มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ไม่มี ฉะนั้น การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบจึงปรากฏ.

[๒๕๔] ดูกรภิกษุ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง?

ภิ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.

พ. เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง?

ภิ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.

พ. ดูกรภิกษุ เพราะเหตุนั้นแหละ อริยสาวกผู้ได้แล้วเห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ รู้ชัดว่า ฯลฯ กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.

จบ สูตรที่ ๕.

๖. สามุททกสูตร

ว่าด้วยความไม่เที่ยงแท้แน่นอนแห่งขันธ์ ๕

[๒๕๕] พระนครสาวัตถี ฯลฯ ภิกษุนั้นนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ รูปอะไรๆ ที่เที่ยง ยั่งยืน มั่นคง ไม่มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา จักคงเที่ยงอยู่เสมออย่างนั้น มีอยู่หรือหนอแล? เวทนาอะไรๆ ฯลฯ สัญญาอะไรๆ ฯลฯ สังขารอะไรๆ ฯลฯ วิญญาณอะไรๆ ที่เที่ยง ยั่งยืน มั่นคง ไม่มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา จักคงเที่ยงอยู่เสมออย่างนั้น มีอยู่หรือหนอแล? พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุ รูปอะไรๆ ที่เที่ยง ยั่งยืน มั่นคง ไม่มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา จักคงเที่ยงอยู่เสมออย่างนั้น ไม่มีเลย. เวทนาอะไรๆ ฯลฯ สัญญาอะไรๆ ฯลฯ สังขารอะไรๆ ฯลฯ วิญญาณอะไรๆ ที่เที่ยง ยั่งยืน มั่นคง ไม่มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา จักคงเที่ยงอยู่ อยู่เสมออย่างนั้น ไม่มีเลย.

จบ สูตรที่ ๖.

๗. คัททูลสูตรที่ ๑

ว่าด้วยอุปมาขันธ์ ๕ ด้วยเสาล่ามสุนัข

[๒๕๖] พระนครสาวัตถี ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สงสารนี้มีที่สุดเบื้องต้น เบื้องปลายรู้ไม่ได้แล้ว ที่สุดเบื้องต้น ย่อมไม่ปรากฏสำหรับสัตว์ทั้งหลายผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องกางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ ท่องเที่ยวไปมาอยู่. มหาสมุทรยังมีสมัยเหือดแห้งไม่เป็นมหาสมุทร. แต่เราไม่กล่าวว่าสัตว์ทั้งหลายผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องกางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ ท่องเที่ยวไปมาอยู่จะกระทำที่สุดทุกข์ได้. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ขุนเขาสิเนรุยังมีสมัยที่ถูกไฟไหม้พินาศไปมีอยู่ไม่ได้. แต่เรากล่าวไม่ได้ถึงการกระทำที่สุดทุกข์แห่งสัตว์ทั้งหลายผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องกางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบ ท่องเที่ยวไปมาอยู่. ดูกรภิกษุทั้งหลาย แผ่นดินใหญ่ยังมีสมัยที่ถูกไฟไหม้ พินาศไป มีอยู่ไม่ได้. แต่เรากล่าวว่าสัตว์ทั้งหลาย ผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องกางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ ท่องเที่ยวไปมาอยู่ จะกระทำที่สุดทุกข์ได้.
[แม้มหาสมุทรยังจักมีวันเหือดแห้งไปได้ แต่ว่าสัตว์ทั้งหลายผู้มีอวิชชาและตัณหานั้น ย่อมท่องเที่ยงไปมาในวัฏฏสงสาร ไม่มีที่สิ้นสุดทั้งเบื้องต้นและเบื้องปลาย]

[๒๕๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สุนัขที่เขาผูกไว้ด้วยเชือก ถูกล่ามไว้ที่หลักหรือเสาอันมั่นคง ย่อมวิ่งวนเวียนหลักหรือเสานั้นเอง แม้ฉันใด. ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ฉันนั้นเหมือนกันแล ไม่ได้เห็นพระอริยเจ้า ไม่ฉลาดในอริยธรรม ไม่ได้รับแนะนำในอริยธรรม ไม่ได้เห็นสัตบุรุษ ไม่ฉลาดในสัปปุริสธรรม ไม่ได้รับแนะนำในสัปปุริสธรรม ย่อมตามเห็นรูปโดยความเป็นตน เห็นตนมีรูป เห็นรูปในตน หรือเห็นตนในรูป ย่อมตามเห็นเวทนา ... เห็นสัญญา ... เห็นสังขาร ... เห็นวิญญาณโดยความเป็นตน เห็นตนมีวิญญาณ เห็นวิญญาณในตน หรือเห็นตนในวิญญาณ เขาย่อมแล่นวนเวียนรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนั้นเอง เมื่อเขาแล่นวนเวียนรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณอยู่ ย่อมไม่พ้นไปจากรูป ไม่พ้นไปจากเวทนา ไม่พ้นไปจากสัญญา ไม่พ้นไปจากสังขาร ไม่พ้นไปจากวิญญาณ ไม่พ้นไปจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส เรากล่าวว่าย่อมไม่พ้นไปจากทุกข์. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนอริยสาวกผู้ได้สดับ ได้เห็นพระอริยเจ้า ฉลาดในอริยธรรม ได้รับแนะนำดีแล้วในอริยธรรม ได้เห็นสัตบุรุษ ฉลาดในสัปปุริสธรรม ได้รับแนะนำดีแล้วในสัปปุริสธรรม ย่อมไม่พิจารณาเห็นรูปโดยความเป็นตน ... ไม่พิจารณาเห็นเวทนา โดยความเป็นตน ... ไม่พิจารณาเห็นสัญญา โดยความเป็นตน ... ไม่พิจารณาเห็นสังขาร โดยความเป็นตน ... ไม่พิจารณาเห็นวิญญาณ โดยความเป็นตน ไม่เห็นตนมีวิญญาณ ไม่เห็นวิญญาณในตน หรือไม่เห็นตนในวิญญาณ อริยสาวกนั้นย่อมไม่แล่นวนเวียนรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อริยสาวกนั้นเมื่อไม่แล่นวนเวียนรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ย่อมพ้นจากรูป พ้นจากเวทนา พ้นจากสัญญา พ้นจากสังขาร พ้นจากวิญญาณ พ้นจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส เรากล่าวว่า ย่อมพ้นไปจากทุกข์.
[เปรียบดังสุนัขที่ถูกผูกไว้ด้วยเชือก ถูกล่ามไว้ที่หลักหรือเสาอันมั่นคง วิ่งวนเวียนหลักหรือเสานั้น]

จบ สูตรที่ ๗.

๘. คัททูลสูตรที่ ๒

ว่าด้วยอุปมาขันธ์ ๕ ด้วยเสาล่ามสุนัข

[๒๕๘] พระนครสาวัตถี ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย สงสารนี้ที่สุด เบื้องต้น เบื้องปลายรู้ไม่ได้แล้ว ที่สุดเบื้องต้น ย่อมไม่ปรากฏแก่สัตว์ทั้งหลาย ผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องกางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ ท่องเที่ยวไปมาอยู่. ดูกรภิกษุทั้งหลาย สุนัขที่เขาผูกไว้ด้วยเชือก ถูกล่ามไว้ที่หลักหรือเสาอันมั่นคง ถ้าแม้มันเดิน มันก็ย่อมเดินใกล้หลักหรือเสานั้นเอง ถ้าแม้มันยืน มันก็ย่อมยืนใกล้หลักหรือเสานั้นเอง ถ้าแม้มันนั่ง มันก็ย่อมนั่งใกล้หลักหรือเสานั้นเอง ถ้าแม้มันนอน มันก็ย่อมนอนใกล้หลักหรือเสานั้นเอง แม้ฉันใด. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ฉันนั้นเหมือนกันแล ย่อมตามเห็นรูปว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา ย่อมตามเห็นเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา. ปุถุชนนั้น ถ้าแม้เดิน เขาก็ย่อมเดินใกล้อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้นั้นเอง ถ้าแม้ยืน เขาก็ย่อมยืนใกล้อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้นั้นเอง ถ้าแม้นั่ง เขาก็ย่อมนั่งใกล้อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้นั้นเอง ถ้าแม้นอน เขาย่อมนอนใกล้อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้นั้นเอง. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เธอทั้งหลาย พึงพิจารณาจิตของตนเนืองๆ ว่า จิตนี้เศร้าหมองแล้วด้วยราคะ โทสะ โมหะ สิ้นกาลนาน.

ว่าด้วยความเศร้าหมองและผ่องแผ้วของจิต

[๒๕๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลาย ย่อมเศร้าหมองเพราะจิตเศร้าหมอง สัตว์ทั้งหลายย่อมบริสุทธิ์ เพราะจิตผ่องแผ้ว. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภาพนิทรรศการนั้น เธอทั้งหลายเห็นแล้วหรือ? ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า เห็นแล้วพระเจ้าข้า.

พ. ภาพนิทรรศการแม้นั้นแล ช่างเขียนคิดแล้วด้วยจิตนั่นแหละ. จิตนั้นแหละ วิจิตรกว่าภาพนิทรรศการแม้นั้น. เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลาย พึงพิจารณาจิตของตนเนืองๆ ว่า จิตนี้เศร้าหมองด้วย ราคะ โทสะ โมหะ สิ้นกาลนาน. สัตว์ทั้งหลายย่อมเศร้าหมอง เพราะจิตเศร้าหมอง สัตว์ทั้งหลายย่อมบริสุทธิ์ เพราะจิตผ่องแผ้ว. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่พิจารณาเห็นหมู่สัตว์อื่นแม้เพียงหมู่หนึ่ง ซึ่งวิจิตรเหมือนอย่างสัตว์ดิรัจฉานทั้งหลายนี้เลย. ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์ดิรัจฉานแม้เหล่านี้แล คนคิดด้วยจิตนั่นแหละ. จิตนั่นแหละวิจิตรกว่าสัตว์ดิรัจฉานแม้เหล่านั้น. เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายพึงพิจารณาจิตของตนเนืองๆ ว่า จิตนี้เศร้าหมองแล้วด้วยราคะ โทสะ โมหะ สิ้นกาลนาน. สัตว์ทั้งหลายย่อมเศร้าหมอง เพราะจิตเศร้าหมอง สัตว์ทั้งหลายย่อมบริสุทธิ์ เพราะจิตผ่องแผ้ว. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ช่างย้อมหรือช่างเขียน เมื่อมีเครื่องย้อมก็ดี ครั่งก็ดี ขมิ้นก็ดี สีเขียวก็ดี สีแดงก็ดี พึงเขียนรูปสตรีหรือรูปบุรุษ มีอวัยวะใหญ่น้อยครบทุกส่วนลงที่แผ่นกระดานเกลี้ยงเกลา หรือที่ฝา หรือที่แผ่นผ้า แม้ฉันใด. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อจะให้เกิด ย่อมยังรูปนั่นแหละให้เกิด เมื่อจะให้เกิด ย่อมยังเวทนานั่นแหละให้เกิด เมื่อจะให้เกิด ย่อมยังสัญญานั่นแหละให้เกิด เมื่อจะให้เกิด ย่อมยังสังขารนั่นแหละให้เกิด เมื่อจะให้เกิด ย่อมยังวิญญาณนั่นแหละให้เกิด. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นอย่างไร รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง? ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ไม่เที่ยงพระเจ้าข้า.

พ. เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง?

ภิ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.

พ. เพราะเหตุนั้นแล ฯลฯ อริยสาวกผู้ได้สดับ เห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ รู้ชัดว่า ฯลฯ กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.
[จิตบุคคลย่อมเศร้าหมองเพราะราคะ โทสะ โมหะ สิ้นกาลนาน สัตว์ทั้งหลายย่อมเศร้าหมองเพราะจิตเศร้าหมอง สัตว์ทั้งหลายย่อมบริสุทธิ์เพราะจิตผ่องแผ้ว]

จบ สูตรที่ ๘.

๙. นาวาสูตร

ว่าด้วยการสิ้นและไม่สิ้นไปแห่งอาสวะ

[๒๖๐] พระนครสาวัตถี ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวความสิ้นไปแห่งอาสวะของผู้รู้อยู่ เห็นอยู่ เราไม่กล่าวความสิ้นไปแห่งอาสวะของผู้ไม่รู้ ไม่เห็น. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เมื่อบุคคลรู้อยู่เห็นอยู่อย่างไร จึงมีความสิ้นแห่งอาสวะ. เมื่อบุคคลรู้อยู่ เห็นอยู่ว่า รูปดังนี้ ความเกิดขึ้นแห่งรูปดังนี้ ความดับแห่งรูปดังนี้ เวทนาดังนี้ ... สัญญาดังนี้ ... สังขารดังนี้ ... วิญญาณดังนี้ ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณดังนี้ ความดับแห่งวิญญาณดังนี้ จึงมีความสิ้นไปแห่งอาสวะ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลรู้อยู่ เห็นอยู่อย่างนี้แล จึงมีความสิ้นไปแห่งอาสวะ.

[๒๖๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไม่ประกอบภาวนานุโยคอยู่ จะพึงเกิดความปรารถนาอย่างนี้ว่า ไฉนหนอ ขอจิตของเราพึงพ้นจากอาสวะ เพราะไม่ถือมั่น ดังนี้ ก็จริงอยู่ ถึงอย่างนั้น จิตของเธอย่อมไม่พ้นไปจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่นได้เลย. ข้อนั้นเพราะเหตุไร ข้อนั้นพึงกล่าวได้ว่า เพราะเธอไม่อบรม เพราะไม่อบรมอะไร เพราะไม่อบรมสติปัฏฐาน ๔ เพราะไม่อบรมสัมมัปปธาน ๔ เพราะไม่อบรมอิทธิบาท ๔ เพราะไม่อบรมอินทรีย์ ๕ เพราะไม่อบรมพละ ๕ เพราะไม่อบรมโพชฌงค์ ๗ เพราะไม่อบรมอริยมรรคมีองค์ ๘. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไข่ไก่ ๘ ฟอง ๑๐ ฟอง หรือ ๑๒ ฟอง ไข่เหล่านั้นพึงเป็นของอันแม่ไก่ไม่นอนทับด้วยดี ไม่กกด้วยดี ไม่ฟักด้วยดี แม่ไก่นั้นถึงจะเกิดความปรารถนาอย่างนี้ว่า ไฉนหนอ ขอลูกของเราพึงทำลายเปลือกไข่ด้วยปลายเล็บเท้า หรือด้วยจะงอยปากออกมาโดยความสวัสดี ดังนี้ก็จริง ถึงอย่างนั้น ลูกไก่เหล่านั้นก็ไม่สามารถจะทำลายเปลือกไข่ด้วยปลายเล็บเท้า หรือด้วยจะงอยปาก ออกมาโดยความสวัสดีได้. ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร ทั้งนี้เพราะไข่ไก่ ๘ ฟอง ๑๐ ฟอง หรือ ๑๒ ฟองนั้น อันแม่ไก่ไม่นอนทับด้วยดี ไม่กกด้วยดี ไม่ฟักด้วยดี แม้ฉันใด. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไม่ประกอบภาวนานุโยคอยู่ ฉันนั้นเหมือนกันแล ถึงจะเกิดความปรารถนาอย่างนี้ว่า ไฉนหนอ ขอจิตของเราพึงพ้นจากอาสวะ เพราะไม่ถือมั่น ดังนี้ก็จริง ถึงอย่างนั้น จิตของเธอย่อมไม่พ้นไปจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่นได้เลย. ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร ข้อนั้นพึงกล่าวได้ว่า เพราะเธอไม่อบรม เพราะเธอไม่อบรมอะไร เพราะไม่อบรมสติปัฏฐาน ๔ เพราะไม่อบรมสัมมัปปธาน ๔ เพราะไม่อบรมอิทธิบาท ๔ เพราะไม่อบรมอินทรีย์ ๕ เพราะไม่อบรมพละ ๕ เพราะไม่อบรมโพชฌงค์ ๗ เพราะไม่อบรมอริยมรรคมีองค์ ๘. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุประกอบภาวนานุโยคอยู่ ถึงจะไม่เกิดความปรารถนาอย่างนี้ว่า ไฉนหนอ ขอจิตของเราพึงพ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น ดังนี้ก็จริงอยู่ ถึงอย่างนั้น จิตย่อมพ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น. ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร ข้อนั้นพึงกล่าวได้ว่า เพราะเธออบรม เพราะอบรมอะไร เพราะอบรมสติปัฏฐาน ๔ เพราะอบรมสัมมัปปธาน ๔ เพราะอบรมอิทธิบาท ๔ เพราะอบรมอินทรีย์ ๕ เพราะอบรมพละ ๕ เพราะอบรมโพชฌงค์ ๗ เพราะอบรมอริยมรรคมีองค์ ๘. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไข่ไก่ ๘ ฟอง ๑๐ ฟอง หรือ ๑๒ ฟอง ไข่เหล่านั้นอันแม่ไก่นอนทับด้วยดี กกด้วยดี ฟักด้วยดี แม่ไก่นั้นถึงจะไม่เกิดความปรารถนาอย่างนี้ว่า ไฉนหนอ ขอลูกของเราพึงทำลายเปลือกไข่ด้วยปลายเล็บเท้า หรือด้วยจะงอยปาก ออกมาโดยสวัสดีดังนี้ก็จริงอยู่ ถึงอย่างนั้น ลูกไก่เหล่านั้นสามารถทำลายเปลือกไข่ด้วยปลายเล็บเท้าหรือด้วยจะงอยปาก ออกมาโดยสวัสดี. ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร ทั้งนี้ เพราะไข่ไก่ ๘ ฟอง ๑๐ ฟอง หรือ ๑๒ ฟองนั้น อันแม่ไก่นอนทับด้วยดี กกด้วยดี ฟักด้วยดี แม้ฉันใด. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุประกอบภาวนานุโยคอยู่ ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล ถึงจะไม่เกิดความปรารถนาอย่างนี้ว่า ไฉนหนอ ขอจิตของเราพึงพ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น ดังนี้ ก็จริงอยู่ ถึงอย่างนั้น จิตของเธอย่อมพ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น. ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร ข้อนั้นพึงกล่าวได้ว่า เพราะว่าเธออบรม เพราะอบรมอะไร เพราะอบรมสติปัฏฐาน ๔ เพราะอบรมสัมมัปปธาน ๔ เพราะอบรมอิทธิบาท ๔ เพราะอบรมอินทรีย์ ๕ เพราะอบรมพละ ๕ เพราะอบรมโพชฌงค์ ๗ เพราะอบรมอริยมรรคมีองค์ ๘.
[บุคคลผู้ศึกษาในธรรมอยู่ ย่อมคาดหวังว่าจิตตนจักหลุดพ้น ไม่ยึดมั่นถือมั่นก็จริงอยู่ แต่เขาไม่อบรมภาวนาจิตใจตามหลักพระศาสนา อาทิเช่น ไม่อบรมสติปัฏฐาน4 ไม่อบรมสัมมัปทาน4 ไม่อบรมอิทธิบาท4 ฯลฯ จิตของเขาย่อมไม่อาจหลุดพ้นได้เลย]

[๒๖๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย รอยนิ้วมือย่อมปรากฏ หรือรอยนิ้วหัวแม่มือย่อมปรากฏที่ด้ามมีดของนายช่างไม้ หรือลูกมือของนายช่างไม้ แต่นายช่างไม้หรือลูกมือของนายช่างไม้นั้นหารู้ไม่ว่า วันนี้ด้ามมีดของเราสึกไปประมาณเท่านี้ วานนี้สึกไปประมาณเท่านี้ วันก่อนๆ สึกไปประมาณเท่านี้ นายช่างไม้หรือลูกมือของนายช่างไม้นั้น มีความรู้แต่ว่า สึกไปแล้ว โดยแท้แล แม้ฉันใด. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุประกอบภาวนานุโยคอยู่ หารู้ไม่ว่า วันนี้อาสวะทั้งหลายของเราสิ้นไปแล้วประมาณเท่านี้ วานนี้สิ้นไปแล้วประมาณเท่านี้ หรือวันก่อนๆ สิ้นไปแล้วประมาณเท่านี้ก็จริง ถึงอย่างไรนั้น เมื่ออาสวะสิ้นไปแล้ว เธอก็มีความรู้แต่ว่าสิ้นไปแล้วๆ ฉันนั้นเหมือนกันแล. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อเรือที่เขาผูกด้วยพรวน แล่นไปในสมุทร จมลงในน้ำ
สิ้น ๖ เดือน โดยเหมันตสมัย เขาเข็นขึ้นบก พรวนเหล่านั้นถูกลมและแดดกระทบแล้ว ถูกฝนตกรดแล้วย่อมผุ และเปื่อย โดยไม่ยากเลย ฉันนั้นเหมือนกันแล.
[ผู้บำเพ็ญเพียรย่อมกระทำให้กิเลสสึกหรอไปดุจด้ามมีดสึกหรอไปเพราะการจับใช้งานของช่างไม้ แต่จะมากน้อยเพียงใดภิกษุนั้นก็หารู้ไม่ ต่อเมื่อกิเลสอาสวะหมดสิ้นไป ภิกษุนั้นย่อมรู้ได้เอง]

จบ สูตรที่ ๙.

๑๐. สัญญาสูตร

ว่าด้วยการเจริญอนิจจสัญญา

[๒๖๓] พระนครสาวัตถี ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนิจจสัญญา อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมครอบงำกามราคะทั้งปวงได้ ย่อมครอบงำรูปราคะทั้งปวงได้ ย่อมครอบงำภวราคะทั้งปวงได้ ย่อมครอบงำอวิชชาทั้งปวงได้ ย่อมถอนขึ้นซึ่งอัสมิมานะทั้งปวงได้. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในสรทสมัย ชาวนาเมื่อไถนาด้วยไถคันใหญ่ ย่อมไถทำลายความสืบต่อแห่งราก (หญ้า) ทุกชนิด แม้ฉันใด. อนิจจสัญญา อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมครอบงำ กามราคะทั้งปวงได้ ย่อมครอบงำ รูปราคะทั้งปวงได้ ย่อมครอบงำภวราคะทั้งปวงได้ ย่อมครอบงำอวิชชาทั้งปวงได้ ย่อมถอนขึ้นซึ่งอัสมิมานะทั้งปวงได้ ฉันนั้นเหมือนกันแล.
[พระผุ้มีพระภาคตรัสสรรเสริญคุณของการเจริญอนิจจสัญญาว่าเมื่อกระทำให้มากแล้ว ย่อมครอบงำกิเลสอาสวะทั้งปวงเสียได้]

[๒๖๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนเกี่ยวหญ้ามุงกระต่าย เกี่ยวหญ้ามุงกระต่ายแล้ว จับปลาย เขย่า ฟาด สลัดออก แม้ฉันใด. อนิจจสัญญา อันบุคคลเจริญแล้ว ฯลฯ ฉันนั้นเหมือนกันแล.

[๒๖๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อพวงมะม่วงขาดจากขั้ว ในมะม่วงเหล่านั้น มะม่วงเหล่าใดเนื่องด้วยขั้ว มะม่วงเหล่านั้นทั้งหมด ย่อมเป็นของหลุดไปตามขั้วมะม่วงนั้น แม้ฉันใด. อนิจจสัญญา อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ฯลฯ ฉันนั้นเหมือนกันแล.

[๒๖๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย กลอนใดๆ แห่งเรือนยอด กลอนทั้งหมดนั้นไปสู่ยอด น้อมไปที่ยอด ประชุมลงที่ยอด ยอด ชนทั้งหลายกล่าวว่า เลิศกว่ากลอนเหล่านั้น แม้ฉันใด. อนิจจสัญญา อันบุคคลเจริญแล้ว ฯลฯ ฉันนั้นเหมือนกันแลฯ

[๒๖๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไม้มีกลิ่นที่รากใดๆ ไม้กะลำพัก ชนทั้งหลายกล่าวว่าเลิศกว่าไม้มีกลิ่นที่รากเหล่านั้น แม้ฉันใด. อนิจจสัญญา อันบุคคลเจริญแล้ว ฉันนั้นเหมือนกันแล.

[๒๖๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไม้มีกลิ่นที่แก่นใดๆ จันทน์แดง ชนทั้งหลายกล่าวว่าเลิศกว่าไม้ที่มีกลิ่นเหล่านั้น แม้ฉันใด. อนิจจสัญญา อันบุคคลเจริญแล้ว ฯลฯ ฉันนั้นเหมือนกันแล.

[๒๖๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไม้มีกลิ่นที่ดอกใดๆ มะลิ ชนทั้งหลายกล่าวว่า เลิศกว่าไม้มีกลิ่นที่ดอกเหล่านั้น แม้ฉันใด. อนิจจสัญญา อันบุคคลเจริญแล้ว ฯลฯ ฉันนั้นเหมือนกันแล.

[๒๗๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระราชาผู้น้อยใดๆ ทั้งหมดนั้น ย่อมเป็นผู้เสด็จไปตาม (คล้อยตาม) พระเจ้าจักรพรรดิ พระเจ้าจักรพรรดิ ชนทั้งหลายย่อมกล่าวว่า เลิศกว่าพระราชาผู้น้อยเหล่านั้น แม้ฉันใด. อนิจจสัญญา อันบุคคลเจริญแล้ว ฯลฯ ฉันนั้นเหมือนกันแล.

[๒๗๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย แสงดาวทั้งหลาย ชนิดใดชนิดหนึ่ง แสงดาวทั้งหมดนั้นไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ แห่งแสงพระจันทร์ แสงพระจันทร์ ชนทั้งหลายกล่าวว่า เลิศกว่าแสงดาวเหล่านั้น แม้ฉันใด. อนิจจสัญญา อันบุคคลเจริญแล้ว ฯลฯ ฉันนั้นเหมือนกันแล.

[๒๗๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในสรทสมัย ท้องฟ้าบริสุทธิ์ ปราศจากเมฆ พระอาทิตย์ขึ้นไปสู่ท้องฟ้า ย่อมส่องแสงและแผดแสงไพโรจน์ กำจัดความมืดอันอยู่ในอากาศทั่วไปแม้ฉันใด. อนิจจสัญญา อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมครอบงำกามราคะทั้งปวงได้ ย่อมครอบงำรูปราคะทั้งปวงได้ ย่อมครอบงำภวราคะทั้งปวงได้ ย่อมครอบงำอวิชชาทั้งปวงได้ ย่อมถอนขึ้นซึ่งอัสมิมานะได้ทั้งหมด ฉันนั้นเหมือนกันแล.

[๒๗๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อนิจจสัญญา อันบุคคลเจริญแล้วอย่างไร? กระทำให้มากแล้วอย่างไร? จึงครอบงำกามราคะทั้งปวง ฯลฯ ถอนขึ้นซึ่งอัสมิมานะได้หมด. อนิจจสัญญา อันบุคคลเจริญแล้วอย่างนี้ กระทำให้มากแล้วอย่างนี้ว่า รูปดังนี้ ความเกิดแห่งรูปดังนี้ ความดับแห่งรูปดังนี้. เวทนาดังนี้ ... สัญญาดังนี้ ... สังขารดังนี้ ... วิญญาณดังนี้ ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณดังนี้ ความดับแห่งวิญญาณดังนี้ ย่อมครอบงำกามราคะทั้งปวงได้ ฯลฯ ถอนขึ้นซึ่งอัสมิมานะได้ทั้งหมด. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนิจจสัญญา อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วอย่างนี้แล ย่อมครอบงำกามราคะทั้งปวงได้ ย่อมครอบงำรูปราคะทั้งปวงได้ ย่อมครอบงำภวราคะทั้งปวงได้ ย่อมครอบงำอวิชชาทั้งปวงได้ ย่อมถอนขึ้นซึ่งอัสมิมานะได้หมด.

จบ สูตรที่ ๑๐.

จบ ปุปผวรรคที่ ๕.

**********************************
ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านครับ


Create Date : 10 มกราคม 2549
Last Update : 10 มกราคม 2549 15:00:18 น. 0 comments
Counter : 329 Pageviews.

พญาเหยี่ยว
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add พญาเหยี่ยว's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.