Group Blog
 
<<
มกราคม 2549
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
24 มกราคม 2549
 
All Blogs
 

ความสำคัญของมรรคมีองค์แปด

ขอกล่าวถึงเรื่องที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งในพระพุทธศาสนาคือหนทางในการปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์ครับ นั่นคือมรรคมีองค์แปด จะกล่าวถึงว่าธรรมที่สำคัญต่อการเจริญมรรคมีองค์แปดคือธรรมใดบ้าง จากนั้นอธิบายว่าคุณแห่งการเจริญมรรคมีองค์แปดนั้นมีมากมายอย่างไร ผู้สนใจในพระศาสนาอ่านแล้วคงเข้าใจได้โดยไม่ลำบากครับ

พระสูตรในวันนี้มาจากพระสุตตันตปิฎก เล่ม 11 สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค มัคคสังยุตต์ครับ

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

******************************************
พลกรณียวรรคที่ ๑๑

พลกรณียสูตรที่ ๑

อาศัยศีลเจริญอริยมรรคน้อมไปในการสละ

[๒๖๔] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย การงานที่จะพึงทำด้วยกำลังอย่างใดอย่างหนึ่ง อันบุคคลทำอยู่ ทั้งหมดนั้น อันบุคคลอาศัยแผ่นดิน ดำรงอยู่บนแผ่นดิน จึงทำได้ การงานที่จะพึงทำด้วยกำลังเหล่านี้ อันบุคคลย่อมกระทำได้ด้วยอาการอย่างนี้ แม้ฉันใด ภิกษุอาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีลแล้ว จึงเจริญอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ กระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ฉันนั้นเหมือนกัน.

[๒๖๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุอาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีลแล้ว จึงเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ กระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างไรเล่า? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสัมมาทิฏฐิ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ฯลฯ ย่อมเจริญสัมมาสมาธิ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุอาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีลแล้ว จึงเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ กระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างนี้แล.
[ในบรรดากุศลธรรมทั้งหลาย ศีลเป็นเช่นดั่งพื้นดินที่รองรับการงานทุกอย่างไว้ การเจริญมรรคมีองค์แปดนั้นไม่อาจขาดศีลได้ การเจริญมรรคมีองค์แปดนั้นคือเจริญสัมมาทิฏฐิก่อน อาศัยความวิเวก ความคลายกำหนัด ความดับแห่งอกุศลธรรม น้อมไปในการสละอกุศลธรรม เจริญมรรคมีองค์แปดตามลำดับไป ข้อนี้เป็นแนวทางของการเจริญสมาธิเพื่อความหลุดพ้นหรือเจโตวิมุตติ]

จบ สูตรที่ ๑

พลกรณียสูตรที่ ๒

อาศัยศีลเจริญอริยมรรคมีการกำจัดราคะ

[๒๖๖] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย การงานที่จะพึงทำด้วยกำลังอย่างใดอย่างหนึ่ง อันบุคคลทำอยู่ ทั้งหมดนั้น อันบุคคลอาศัยแผ่นดิน ดำรงอยู่บนแผ่นดิน จึงทำได้ การงานที่จะพึงทำด้วยกำลังเหล่านี้ อันบุคคลย่อมกระทำได้ด้วยอาการอย่างนี้ แม้ฉันใด ภิกษุอาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีลแล้ว จึงเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ กระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ฉันนั้นเหมือนกัน.

[๒๖๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุอาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีลแล้ว จึงเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ กระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างไรเล่า? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสัมมาทิฏฐิ มีอันกำจัดราคะเป็นที่สุด มีอันกำจัดโทสะเป็นที่สุด มีอันกำจัดโมหะเป็นที่สุด ฯลฯ ย่อมเจริญสัมมาสมาธิ มีอันกำจัดราคะเป็นที่สุด มีอันกำจัดโทสะเป็นที่สุด มีอันกำจัดโมหะเป็นที่สุด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุอาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีลแล้ว จึงเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ กระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างนี้แล.
[อีกวิธีหนึ่ง ภิกษุเมื่ออาศัยศีลเป็นพื้นฐานในการเจริญมรรคมีองค์แปด เจริญสัมมาทิฏฐิ เมื่อมีสัมมาทิฏฐิว่าขันธ์ทั้งหลายไม่เที่ยง ย่อมกำจัดราคะ โทสะ โมหะ เจริญมรรคมีองค์แปดตามลำดับไป ข้อนี้เป็นการเจริญปัญญาวิมุตติ]

จบ สูตรที่ ๒

พลกรณีสูตรที่ ๓

อาศัยศีลเจริญอริยมรรคอันหยั่งลงสู่อมตะ

[๒๖๘] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย การงานที่จะพึงทำด้วยกำลังอย่างใดอย่างหนึ่ง อันบุคคลทำอยู่ ทั้งหมดนั้น อันบุคคลอาศัยแผ่นดิน ดำรงอยู่บนแผ่นดิน จึงทำได้ การงานที่จะพึงทำด้วยกำลังเหล่านี้ อันบุคคลย่อมกระทำได้ด้วยอาการอย่างนี้ แม้ฉันใด ภิกษุอาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีลแล้ว จึงเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ กระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ฉันนั้นเหมือนกัน.

[๒๖๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุอาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีลแล้ว จึงเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ กระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างไรเล่า? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสัมมาทิฏฐิ อันหยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นเบื้องหน้า มีอมตะเป็นที่สุด ฯลฯ ย่อมเจริญสัมมาสมาธิอันหยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นเบื้องหน้า มีอมตะเป็นที่สุด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุอาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีลแล้ว จึงเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ กระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างนี้แล.
[ข้อนี้เป็นการเจริญมรรคมีองค์แปดเพื่อละอุปาทานหรืออนุปาทาปรินิพพานครับ เพราะว่าเมื่อมีอุปาทานจึงเป็นปัจจัยแห่งภพ เมื่อมีภพ ภพนั้นก็ไม่เที่ยง เนื่องจากละอุปาทานเสียได้ก็หยั่งลงสู่อมตะ ละเสียได้ซึ่งภพ ชาติ ชรามรณะ]

จบ สูตรที่ ๓

พลกรณีสูตรที่ ๔

อาศัยศีลเจริญอริยมรรคน้อมไปสู่นิพพาน

[๒๗๐] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย การงานที่จะพึงทำด้วยกำลังอย่างใดอย่างหนึ่ง อันบุคคลทำอยู่ ทั้งหมดนั้น อันบุคคลอาศัยแผ่นดิน ดำรงอยู่บนแผ่นดิน จึงทำได้ การงานที่พึงทำด้วยกำลังเหล่านี้ อันบุคคลย่อมกระทำได้ด้วยอาการอย่างนี้ แม้ฉันใด ภิกษุอาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีลแล้ว จึงเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ กระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ฉันนั้นเหมือนกัน.

[๒๗๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุอาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีลแล้ว จึงเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ กระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างไรเล่า? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสัมมาทิฏฐิ อันน้อมไปสู่นิพพาน โน้มไปสู่นิพพาน โอนไปสู่นิพพาน ฯลฯ ย่อมเจริญสัมมาสมาธิ อันน้อมไปสู่นิพพาน โน้มไปสู่นิพพาน โอนไปสู่นิพพาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุอาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีลแล้ว จึงเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ กระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างนี้แล.
[ข้อนี้เป็นการเจริญมรรคมีองค์แปดเพื่อดับตัณหาครับ เนื่องจากตัณหานั้นเป็นที่มาแห่งราคะ โทสะ โมหะ เป้าหมายของการปฏิบัติธรรมทั้งหลายคือการดับตัณหานี้เอง ดับตัณหาเสียได้ก็นิพพานครับ]

จบ สูตรที่ ๔

พีชสูตร

พืชอาศัยแผ่นดินผู้อาศัยศีลเจริญอริยมรรค

[๒๗๒] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พืชคามและภูตคามชนิดใดชนิดหนึ่งนี้ย่อมถึงความเจริญงอกงามใหญ่โต พืชคามและภูตคาม ทั้งหมดนั้น อาศัยแผ่นดิน ตั้งอยู่ในแผ่นดินจึงถึงความเจริญงอกงามใหญ่โต พืชคามและภูตคามเหล่านี้ ย่อมถึงความเจริญงอกงามใหญ่โตด้วยอาการอย่างนี้ แม้ฉันใด ภิกษุอาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีลแล้ว เจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ กระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ย่อมถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในธรรมทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน.

[๒๗๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุอาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีลแล้ว เจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ กระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างไรเล่า? จึงถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ ในธรรมทั้งหลาย? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสัมมาทิฏฐิอันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ฯลฯ ย่อมเจริญสัมมาสมาธิ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุอาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีลแล้ว เจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ กระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างนี้แล ย่อมถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในธรรมทั้งหลาย.
[เปรียบเทียบการเจริญมรรคมีองค์แปดโดยอาศัยศีลกับการเจริญงอกงามใหญ่โตของพืช]

จบ สูตรที่ ๕

นาคสูตร

นาคอาศัยขุนเขาผู้อาศัยศีลเจริญอริยมรรค

[๒๗๔] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกนาคอาศัยขุนเขาชื่อหิมวันต์ มีกายเติบโต มีกำลัง ครั้นมีกายเติบโต มีกำลังที่ขุนเขานั้นแล้ว ย่อมลงสู่บึงน้อย ครั้นลงสู่บึงน้อยแล้ว ย่อมลงสู่บึงใหญ่ ครั้นลงสู่บึงใหญ่แล้ว ย่อมลงสู่แม่น้ำน้อย ครั้นลงสู่แม่น้ำน้อยแล้ว ย่อมลงสู่แม่น้ำใหญ่ ครั้นลงสู่แม่น้ำใหญ่แล้ว ย่อมลงสู่มหาสมุทรสาคร นาคพวกนั้นย่อมถึงความโตใหญ่ทางกายในมหาสมุทรสาครนั้น แม้ฉันใด ภิกษุอาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีลแล้ว เจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ กระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ย่อมถึงความเป็นใหญ่ไพบูลย์ในธรรมทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกัน.

[๒๗๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุอาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีลแล้ว เจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ กระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างไรเล่า? ย่อมถึงความเป็นใหญ่ไพบูลย์ในธรรมทั้งหลาย? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสัมมาทิฏฐิอันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ฯลฯ ย่อมเจริญสัมมาสมาธิ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุอาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีลแล้ว เจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ กระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างนี้แล ย่อมถึงความเป็นใหญ่ไพบูลย์ในธรรมทั้งหลาย.
[เปรียบเทียบการเจริญมรรคมีองค์แปดโดยอาศัยศีลกับการเติบโต มีกำลังของนาคที่อาศัยขุนเขาหิมวันต์]

จบ สูตรที่ ๖

รุกขสูตร

ต้นไม้ล้มลงทางที่โอน ผู้เจริญอริยมรรคน้อมไปสู่นิพพาน

[๒๗๖] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต้นไม้น้อมไปสู่ทิศปราจีน โน้มไปสู่ทิศปราจีน โอนไปสู่ทิศปราจีน ต้นไม้นั้นเมื่อถูกตัดรากเสียแล้ว จักล้มลงทางทิศที่มันน้อม โน้ม โอนไป แม้ฉันใด ภิกษุเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ กระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ย่อมเป็นผู้น้อมไปสู่นิพพาน โน้มไปสู่นิพพาน โอนไปสู่นิพพาน ฉันนั้นเหมือนกัน.

[๒๗๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ กระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างไรเล่า? ย่อมเป็นผู้น้อมไปสู่นิพพาน โน้มไปสู่นิพพาน โอนไปสู่นิพพาน? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสัมมาทิฏฐิอันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ฯลฯ ย่อมเจริญสัมมาสมาธิ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ กระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างนี้แล ย่อมเป็นผู้น้อมไปสู่นิพพาน โน้มไปสู่นิพพาน โอนไปสู่นิพพาน.
[ผู้เจริญมรรคมีองค์แปดย่อมน้อมไปสู่นิพพาน โน้มไปสู่นิพพาน โอนไปสู่นิพพาน]

จบ สูตรที่ ๗

กุมภสูตร

ผู้เจริญอริยมรรคย่อมระบายอกุศลธรรม

[๒๗๘] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย หม้อที่คว่ำย่อมทำให้น้ำไหลออกอย่างเดียว ไม่ทำให้กลับไหลเข้า แม้ฉันใด ภิกษุเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ กระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ย่อมระบายอกุศลธรรมอันลามกออกอย่างเดียว ไม่ให้กลับคืนมาได้ ฉันนั้นเหมือนกัน.

[๒๗๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ กระทำให้มากซึ่งอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างไรเล่า ย่อมระบายอกุศลธรรมอันลามกออกอย่างเดียว ไม่ให้กลับคืนมาได้? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสัมมาทิฏฐิ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ฯลฯ ย่อมเจริญสัมมาสมาธิ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ กระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างนี้แล ย่อมระบายอกุศลธรรมอันลามกอย่างเดียว ไม่ให้กลับคืนมาได้.
[ผู้เจริญมรรคมีองค์แปดย่อมมีแต่ระบายอกุศลธรรมออก ไม่ให้กลับคืนมาได้]

จบ สูตรที่ ๘

สุกกสูตร

ทิฏฐิที่ตั้งไว้ชอบย่อมทำลายอวิชชา

[๒๘๐] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เดือยข้าวสาลีหรือเดือยข้าวยวะ ตั้งไว้เหมาะ มือหรือเท้าย่ำเหยียบแล้ว จักทำลายมือหรือเท้า หรือว่าจักให้ห้อเลือด ข้อนี้เป็นฐานะที่มีได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะเดือยตั้งไว้เหมาะ แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน จักทำลายอวิชชา จักยังวิชชาให้เกิด จักกระทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน เพราะทิฏฐิที่ตั้งไว้ชอบ เพราะมรรคภาวนาตั้งไว้ชอบ ข้อนี้เป็นฐานะที่มีได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะทิฏฐิที่ตั้งไว้ชอบ.

[๒๘๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุย่อมทำลายอวิชชา อมยังวิชชาให้เกิด ย่อมทำนิพพานให้แจ้ง เพราะทิฏฐิที่ตั้งไว้ชอบ เพราะมรรคภาวนาที่ตั้งไว้ชอบอย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสัมมาทิฏฐิ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ฯลฯ ย่อมเจริญสัมมาสมาธิ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมทำลายอวิชชา ย่อมยังวิชชาให้เกิด ย่อมทำนิพพานให้แจ้งเพราะทิฏฐิที่ตั้งไว้ชอบ เพราะมรรคภาวนาที่ตั้งไว้ชอบ อย่างนี้แล.
[การเจริญมรรคมีองค์แปดเพื่อละกิเลสมีเบื้องต้นคือการตั้งทิฏฐิไว้โดยชอบ]

จบ สูตรที่ ๙

อากาสสูตร

ผู้เจริญอริยมรรคย่อมทำสติปัฏฐานให้บริบูรณ์

[๒๘๒] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลมหลายชนิดพัดไปในอากาศ คือ ลมตะวันออกบ้าง ลมตะวันตกบ้าง ลมเหนือบ้าง ลมใต้บ้าง ลมมีธุลีบ้าง ลมไม่มีธุลีบ้าง ลมหนาวบ้าง ลมร้อนบ้าง ลมพัดเบาๆ บ้าง ลมพัดแรงบ้าง แม้ฉันใด เมื่อภิกษุเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ เมื่อกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ สติปัฏฐาน ๔ ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์บ้าง สัมมัปปธาน ๔ ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์บ้าง อิทธิบาท ๔ ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์บ้าง อินทรีย์ ๕ ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์บ้าง พละ ๕ ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์บ้าง โพชฌงค์ ๗ ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์บ้าง ฉันนั้นเหมือนกัน.

[๒๘๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ กระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างไรเล่า สติปัฏฐาน ๔ จึงถึงความเจริญบริบูรณ์บ้าง สัมมัปปทาน ๔ ... อิทธิบาท ๔ ... อินทรีย์ ๕ ... พละ ๕ ... โพชฌงค์ ๗ จึงถึงความเจริญบริบูรณ์บ้าง? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสัมมาทิฏฐิ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ฯลฯ ย่อมเจริญสัมมาสมาธิ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ กระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างนี้แล สติปัฏฐาน ๔ ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์บ้าง สัมมัปปธาน ๔ ... อิทธิบาท ๔ ... อินทรีย์ ๕ ... พละ ๕ ... โพชฌงค์ ๗ ย่อมถึงความบริบูรณ์บ้าง.
[ผู้เจริญมรรคมีองค์แปด อาจจะสามารถทำให้เจริญบริบูรณ์ซึ่งสติปัฏฐาน4 สัมมัปปทาน4 อิทธิบาท4 อินทรีย์5 พละ5 โพชฌงค์7]

จบ สูตรที่ ๑๐

เมฆสูตรที่ ๑

ผู้เจริญอริยมรรคทำอกุศลธรรมให้สงบโดยพลัน

[๒๘๔] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฝุ่นละอองอันตั้งขึ้นในเดือนท้ายแห่งฤดูร้อน เมฆก้อนใหญ่ที่เกิดในสมัยมิใช่กาล ย่อมยังฝุ่นละอองนั้นให้หายราบไปได้โดยพลัน แม้ฉันใด ภิกษุเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ กระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ย่อมยังอกุศลธรรมอันลามกที่เกิดขึ้นแล้ว ให้หายสงบไปได้โดยพลัน ฉันนั้นเหมือนกัน.

[๒๘๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ กระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างไรเล่า จึงให้อกุศลธรรมอันลามกที่เกิดขึ้นแล้ว หายสงบไปได้โดยพลัน? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสัมมาทิฏฐิ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ฯลฯ ย่อมเจริญสัมมาสมาธิ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ กระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างนี้แล จึงให้อกุศลธรรมอันลามกที่เกิดขึ้นแล้ว หายสงบไปได้โดยพลัน.
[ผู้เจริญมรรคมีองค์แปดทำให้อกุศลธรรมที่มีอยู่แล้วสงบลงได้]

จบ สูตรที่ ๑๑

เมฆสูตรที่ ๒

ผู้เจริญอริยมรรคทำอกุศลธรรมให้สงบในระหว่างโดยพลัน

[๒๘๖] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลมแรงย่อมยังมหาเมฆอันเกิดขึ้นแล้วให้หายหมดไปได้ในระหว่างนั่นเอง แม้ฉันใด ภิกษุเมื่อเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ กระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ย่อมยังอกุศลธรรมอันลามกที่เกิดขึ้นแล้ว ให้หายสงบไปในระหว่างได้โดยพลัน ฉันนั้นเหมือนกัน.

[๒๘๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ กระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างไรเล่า จึงให้อกุศลธรรมอันลามกที่เกิดขึ้นแล้วหายสงบไปในระหว่างได้? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสัมมาทิฏฐิ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ฯลฯ ย่อมเจริญสัมมาสมาธิ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ กระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างนี้แล จึงให้อกุศลธรรมอันลามกที่เกิดขึ้นแล้ว หายสงบไปในระหว่างได้โดยพลัน.
[ผู้เจริญมรรคมีองค์แปดทำให้อกุศลธรรมที่ก่อตัวขึ้นแล้วให้สงบลงได้]

จบ สูตรที่ ๑๒

นาวาสูตร

ผู้เจริญอริยมรรคทำให้สังโยชน์สงบหมดไป

[๒๘๘] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อเรือเดินสมุทรที่ผูกด้วยเครื่องผูก คือหวาย แช่อยู่ในน้ำตลอด ๖ เดือน เขายกขึ้นบกในฤดูหนาว เครื่องผูกต้องลมและแดดแล้ว อันฝนตกรดแล้ว ย่อมจะเสียไป ผุไป โดยไม่ยากเลย แม้ฉันใด ภิกษุเมื่อเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ กระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ สังโยชน์ทั้งหลายย่อมสงบหมดไป โดยไม่ยากเลย ฉันนั้นเหมือนกัน.

[๒๘๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ กระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างไรเล่า สังโยชน์ทั้งหลาย จึงจะสงบหมดไป โดยไม่ยากเลย? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสัมมาทิฏฐิ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ฯลฯ ย่อมเจริญสัมมาสมาธิ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ กระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างนี้แล สังโยชน์ทั้งหลายจึงสงบหมดไปโดยไม่ยากเลย.
[ผู้เจริญมรรคมีองค์แปดทำให้สังโยชน์สงบลงและหมดไป]

จบ สูตรที่ ๑๓

อาคันตุกาคารสูตร

ว่าด้วยธรรมที่ควรกำหนดรู้ ควรละ ควรทำให้แจ้ง ควรทำให้เจริญ

[๒๙๐] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนผู้มาจากทิศบูรพาก็ดี จากทิศปัจจิมก็ดี จากทิศอุดรก็ดี จากทิศทักษิณก็ดี ย่อมพักอยู่ที่เรือนสำหรับรับแขก ถึงกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทรก็ดี ที่มาแล้วก็ย่อมพักอยู่ที่เรือนสำหรับรับแขกนั้น แม้ฉันใด ภิกษุเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ กระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ย่อมกำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ด้วยปัญญาอันยิ่ง ย่อมละธรรมที่ควรละด้วยปัญญาอันยิ่ง ย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ควรทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง ย่อมเจริญธรรมที่ควรให้เจริญด้วยปัญญาอันยิ่ง ฉันนั้นเหมือนกัน.

[๒๙๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมที่ควรกำหนดรู้ด้วยปัญญาอันยิ่งเป็นไฉน? คือธรรมที่เรียกว่า อุปาทานขันธ์ ๕ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นไฉน? คือ รูปูปาทานขันธ์ ฯลฯ วิญญาณูปาทานขันธ์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมเหล่านี้ควรกำหนดรู้ด้วยปัญญาอันยิ่ง.

[๒๙๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมที่ควรละด้วยปัญญาอันยิ่ง เป็นไฉน? คือ อวิชชาและภวตัณหา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมเหล่านี้ควรละด้วยปัญญาอันยิ่ง.

[๒๙๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมที่ควรทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเป็นไฉน? คือวิชชาและวิมุติ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมเหล่านี้ควรทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง.

[๒๙๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมที่ควรให้เจริญด้วยปัญญาอันยิ่งเป็นไฉน? คือสมถะและวิปัสสนา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมเหล่านี้ควรให้เจริญด้วยปัญญาอันยิ่ง.

[๒๙๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ กระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างไรเล่า จึงกำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ด้วยปัญญาอันยิ่ง ฯลฯ จึงเจริญธรรมที่ควรให้เจริญด้วยปัญญาอันยิ่ง? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมเจริญสัมมาทิฏฐิ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ฯลฯ ย่อมเจริญสัมมาสมาธิ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ กระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างนี้แล จึงกำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ด้วยปัญญาอันยิ่ง ฯลฯ จึงเจริญธรรมที่ควรให้เจริญด้วยปัญญาอันยิ่ง.
[ผู้เจริญมรรคมีองค์แปดย่อมสามารถ
1.กำหนดรู้ธรรมที่ควรกำหนดรู้ด้วยปัญญาอันยิ่ง คืออุปาทานในขันธ์ห้า
2.ละธรรมที่ควรละด้วยปัญญาอันยิ่ง คืออวิชชาและภวตัณหา
3.กระทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ควรทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง คือวิชชาและวิมุตติ
4.เจริญธรรมที่ควรให้เจริญด้วยปัญญาอันยิ่ง คือสมถะและวิปัสสนา]


จบ สูตรที่ ๑๔

นทีสูตร

ไม่มีผู้สามารถให้ผู้เจริญอริยมรรคกลับเป็นคนเลวได้

[๒๙๖] สาวัตถีนิทาน. พระผู้มีพระภาคตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม่น้ำคงคาไหลไปสู่ทิศปราจีน หลั่งไปสู่ทิศปราจีน บ่าไปสู่ทิศปราจีน ครั้งนั้น หมู่มหาชนพากันถือเอาจอบและตะกร้ามาด้วยประสงค์ว่า พวกเราจักทำการทดแม่น้ำคงคานี้ให้ไหลกลับ ให้หลั่งกลับ ให้บ่ากลับ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน หมู่มหาชนนั้นจะพึงทำการทดแม่น้ำคงคาให้ไหลกลับ ให้หลั่งกลับ ให้บ่ากลับ ได้ละหรือ?

ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า ไม่ได้ พระเจ้าข้า.

พ. ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร.

ภิ. เพราะแม่น้ำคงคาไหลไปสู่ทิศปราจีน หลั่งไปสู่ทิศปราจีน บ่าไปสู่ทิศปราจีน การที่จะทำการทดแม่น้ำคงคาให้ไหลกลับ ให้หลั่งกลับ ให้บ่ากลับ มิใช่กระทำได้ง่าย แต่เป็นการแน่นอนว่า หมู่มหาชนพึงเป็นผู้มีส่วนแห่งความลำบากยากแค้น แม้ฉันใด.

พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชา มิตร สหาย หรือญาติสาโลหิต จะพึงเชื้อเชิญภิกษุผู้เจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ผู้กระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ด้วยโภคะทั้งหลาย เพื่อนำไปตามใจว่า ดูกรบุรุษผู้เจริญ เชิญท่านมาเถิด ท่านจะนุ่งห่มผ้ากาสายะเหล่านี้ทำไม? ท่านจะเป็นคนโล้นถือกระเบื้องเที่ยวไปทำไม? ท่านจงสึกมาบริโภคโภคะและกระทำบุญเถิด ภิกษุผู้เจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ผู้กระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ นั้น จักลาสิกขาสึกออกเป็นคฤหัสถ์ ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะมีได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะว่าจิตที่น้อมไปในวิเวก โน้มไปในวิเวก โอนไปในวิเวกตลอดกาลนานนั้น จักสึกออกมาเป็นคฤหัสถ์ ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะมีได้.

[๒๙๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ย่อมกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างไรเล่า? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสัมมาทิฏฐิ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ฯลฯ ย่อมเจริญสัมมาสมาธิ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ย่อมกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ อย่างนี้แล.

จบ สูตรที่ ๑๕

จบ พลกรณียวรรค

******************************************
ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านครับ




 

Create Date : 24 มกราคม 2549
0 comments
Last Update : 24 มกราคม 2549 14:56:33 น.
Counter : 461 Pageviews.


พญาเหยี่ยว
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add พญาเหยี่ยว's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.