Group Blog
 
<<
มกราคม 2549
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
19 มกราคม 2549
 
All Blogs
 

สมาธิเป็นปัจจัยให้เกิดปัญญา

พระสูตรที่ยกมากล่าวในช่วงนี้ดูเหมือนจะย้ำถึงการปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นโดยพิจารณาพระไตรลักษณ์ในขันธ์ห้า ต่อมาเป็นการสำรวมอายตนะ6 คือเมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง ลิ้นได้รับรส ฯลฯ ไม่ว่าผัสสะนั้นบังเกิดเวทนาใดก็ไม่ยึดถือเป็นของตน ดังนี้ นี่คือดับทุกข์กันที่อายตนะและผัสสะครับ พระสูตรในวันนี้เรามาดูการหลุดพ้นโดยการดับของเวทนาครับ

พระสูตรในวันนี้ยกมาจากพระสุตตันตปิฎก เล่ม 10 สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เวทนาสังยุตต์ ครับ

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

*********************************************
รโหคตวรรคที่ ๒

รโหคตสูตร

[๓๙๑] ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ขอประทานพระวโรกาส ความปริวิตกแห่งใจ เกิดขึ้นแก่ข้าพระองค์ผู้หลีกเร้นอยู่ในที่ลับอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคตรัสเวทนา ๓ อย่าง คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา พระผู้มีพระภาคตรัสเวทนา ๓ อย่างนี้ ก็พระผู้มีพระภาคตรัสพระดำรัสนี้ว่า ความเสวยอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นทุกข์ ดังนี้แล พระผู้มีพระภาคตรัสพระดำรัสนี้ว่า ความเสวยอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นทุกข์ ดังนี้ ทรงหมายเอาอะไรหนอ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ถูกแล้ว ถูกแล้ว ภิกษุ ดูกรภิกษุ เรากล่าวเวทนา ๓ นี้ คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา เรากล่าวเวทนา ๓ นี้ ดูกรภิกษุ เรากล่าวคำนี้ว่า ความเสวยอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นทุกข์ ดังนี้ ดูกรภิกษุ ก็คำนี้ว่า ความเสวยอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นทุกข์ ดังนี้ เรากล่าวหมายเอาความที่สังขารทั้งหลายนั่นเองไม่เที่ยง ดูกรภิกษุ ก็คำนี้ว่า ความเสวยอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นทุกข์ ดังนี้ เรากล่าวหมายเอาความที่สังขารทั้งหลายนั่นแหละมีความสิ้นไป เสื่อมไป คลายไป ดับไป แปรปรวนไปเป็นธรรมดา ฯ
[แม้ความสุขก็เป็นทุกข์ เพราะว่าสุขนั้นย่อมเสื่อมไปเป็นธรรมดา เมื่อสุขดับไปก็เกิดทุกข์ ตราบใดที่ยังมีความยึดมั่นถือมั่นในเวทนา]

[๓๙๒] ดูกรภิกษุ ก็ลำดับนั้นแล เรากล่าวความดับสนิทแห่งสังขารทั้งหลายโดยลำดับ คือ เมื่อภิกษุเข้าปฐมฌาน วาจาย่อมดับ เมื่อเข้าทุติยฌาน วิตกวิจารย่อมดับ เมื่อเข้าตติยฌาน ปีติย่อมดับ เมื่อเข้าจตุตถฌาน ลมอัสสาสะปัสสาสะย่อมดับ เมื่อเข้าอากาสานัญจายตนฌาน รูปสัญญาย่อมดับ เมื่อเข้าวิญญาณัญจายตนฌาน อากาสานัญจายตนสัญญาย่อมดับ เมื่อเข้าอากิญจัญญายตนฌาน วิญญาณัญจายตนสัญญาย่อมดับ เมื่อเข้าเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน อากิญจัญญายตนสัญญาย่อมดับ เมื่อเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ สัญญาและเวทนาย่อมดับ ราคะ โทสะ โมหะของภิกษุผู้สิ้นอาสวะ ย่อมดับ ฯ
[แต่สุขอันเกิดจากสมาธินั้นยั่งยืนกว่า ประณีตกว่าสุขจากกาม เมื่อบรรลุฌานที่สูงขึ้น แม้สุขก็ดับไป เกิดสุขที่ประณีตขึ้นไปอีก ยั่งยืนขึ้นไปอีก ในระดับสัญญาเวทยิตนิโรธ เวทนาทั้งปวงก็ดับลง สมาธินี้เป็นปัจจัยให้เกิดปัญญาว่าสิ่งทั้งปวงไม่เที่ยงตามความเป็นจริงและยังกิเลสให้สงบระงับ เมื่อภิกษุอาศัยสมาธิในการเจริญวิปัสสนาก็สามารถหลุดพ้นได้]

[๓๙๓] ดูกรภิกษุ ลำดับนั้นแล เรากล่าวความสงบแห่งสังขารทั้งหลายโดยลำดับ คือ เมื่อภิกษุเข้าปฐมฌาน วาจาย่อมสงบ เมื่อเข้าทุติยฌาน วิตกวิจารย่อมสงบ ฯลฯ เมื่อเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ สัญญาและเวทนาย่อมสงบ ราคะ โทสะ โมหะของภิกษุผู้สิ้นอาสวะ ย่อมสงบ ฯ

[๓๙๔] ดูกรภิกษุ ปัสสัทธิ ๖ อย่างนี้ คือ เมื่อภิกษุเข้าปฐมฌาน วาจาย่อมระงับ เมื่อเข้าทุติยฌาน วิตกวิจารย่อมระงับ เมื่อเข้าตติยฌาน ปีติย่อมระงับ เมื่อเข้าจตุตถฌาน ลมอัสสาสะปัสสาสะย่อมระงับ เมื่อเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ สัญญาและเวทนาย่อมระงับ ราคะ โทสะ โมหะของภิกษุขีณาสพย่อมระงับ ฯ

จบสูตรที่ ๑

วาตสูตรที่ ๑

[๓๙๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนลมต่างชนิด พัดไปแม้ในอากาศ คือ ลมทิศตะวันออกบ้าง ลมทิศตะวันตกบ้าง ลมทิศเหนือบ้าง ลมทิศใต้บ้าง ลมมีธุลีบ้าง ลมไม่มีธุลีบ้าง ลมหนาวบ้าง ลมร้อนบ้าง ลมอ่อนบ้าง ลมแรงบ้าง ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย เวทนาต่างชนิดย่อมเกิดขึ้นในกายนี้ ฉันนั้นเหมือนกันแล คือ สุขเวทนาบ้าง ทุกขเวทนาบ้าง อทุกขมสุขเวทนาบ้าง ฯ

พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
[๓๙๖] เปรียบเหมือนลมมากมายหลายชนิด พัดไปในอากาศ
คือ บางครั้งลมทิศตะวันออกบ้าง บางครั้งทิศตะวันตกบ้าง
บางครั้งทิศเหนือบ้าง บางครั้งทิศใต้บ้าง บางครั้งมีธุลีบ้าง
บางครั้งไม่มีธุลีบ้าง บางครั้งลมหนาวบ้าง บางครั้งลมร้อน
บ้าง บางครั้งลมแรงบ้าง บางครั้งลมอ่อนบ้าง ฉันใด เวทนา
ย่อมเกิดขึ้นในกายนี้ ฉันนั้นเหมือนกัน คือสุขเวทนาบ้าง
ทุกขเวทนาบ้าง อทุกขมสุขเวทนาบ้าง เมื่อใดภิกษุมีความ
เพียร รู้สึกอยู่ เข้านิโรธ เมื่อนั้น เธอผู้เป็นบัณฑิตย่อม
กำหนดรู้เวทนา ได้ทุกอย่าง ภิกษุนั้นกำหนดรู้เวทนาแล้ว
เป็นผู้ไม่มีอาสวะ ตั้งอยู่ในธรรม เรียนจบพระเวทในปัจจุบัน
เพราะกายแตกย่อมไม่เข้าถึงซึ่งบัญญัติ ฯ

จบสูตรที่ ๒

วาตสูตรที่ ๒

[๓๙๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนลมต่างชนิด พัดไปในอากาศ คือ ลมทิศตะวันออกบ้าง ฯลฯ ลมแรงบ้าง ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย เวทนาต่างชนิดย่อมเกิดขึ้นในกายนี้ ฉันนั้นเหมือนกันแล คือ สุขเวทนาบ้าง ทุกขเวทนาบ้าง อทุกขมสุขเวทนาบ้าง ฯ

จบสูตรที่ ๓

นิวาสสูตร

[๓๙๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนเรือนพักคนเดินทาง ชนทั้งหลายมาจากทิศตะวันออกบ้าง มาจากทิศตะวันตกบ้าง มาจากทิศเหนือบ้าง มาจากทิศใต้บ้าง เป็นกษัตริย์บ้าง เป็นพราหมณ์บ้าง เป็นพ่อค้าบ้าง เป็นคนงานบ้าง มาพักในเรือนนั้น ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย เวทนาต่างชนิดย่อมเกิดขึ้นในกายนี้ ฉันนั้นเหมือนกัน คือ สุขเวทนาบ้าง ทุกขเวทนาบ้าง อทุกขมสุขเวทนาบ้าง สุขเวทนามีอามิสบ้าง ทุกขเวทนามีอามิสบ้าง อทุกขมสุขเวทนามีอามิสบ้าง สุขเวทนาไม่มีอามิสบ้าง ทุกขเวทนาไม่มีอามิสบ้าง อทุกขมสุขเวทนาไม่มีอามิสบ้าง ฯ

จบสูตรที่ ๔

อานันทสูตรที่ ๑

[๓๙๙] ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เวทนามีเท่าไร ความเกิดขึ้นแห่งเวทนาเป็นไฉน ความดับแห่งเวทนาเป็นไฉน ปฏิปทาเครื่องให้ถึงความดับแห่งเวทนาเป็นไฉน อะไรเป็นคุณแห่งเวทนา อะไรเป็นโทษแห่งเวทนา อะไรเป็นอุบายเครื่องสลัดออกแห่งเวทนา พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ เวทนามี ๓ เหล่านี้ คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา ดูกรอานนท์ เหล่านี้ เราเรียกว่าเวทนา เพราะผัสสะเกิดขึ้นเวทนาจึงเกิด เพราะผัสสะดับเวทนาจึงดับ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้แล คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ เป็นปฏิปทาเครื่องให้ถึงความดับแห่งเวทนา สุข โสมนัส ย่อมเกิดขึ้นเพราะอาศัยเวทนาใด นี้เป็นคุณแห่งเวทนา เวทนาใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา นี้เป็นโทษแห่งเวทนา การกำจัด การละฉันทราคะในเวทนาใด นี้เป็นอุบายเครื่องสลัดออกแห่งเวทนา ฯ
[สรุปครับ
1.เวทนามีสามเหล่า - สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา
2.ปัจจัยความเกิดเวทนาคือผัสสะ
3.ความดับแห่งเวทนามีปัจจัยคือความดับแห่งผัสสะ
4.ปฏิปทาของความดับแห่งเวทนาคืออริยมรรคมีองค์8
5.คุณแห่งเวทนาคือ สุข โสมนัสเกิดขึ้นเพราะอาศัยเวทนา
6.โทษแห่งเวทนาคือ ความไม่เที่ยงของเวทนา
7.อุบายเครื่องสลัดออกแห่งเวทนาคือการกำจัดความพอใจรักใคร่ในเวทนา]


[๔๐๐] ดูกรอานนท์ โดยที่แท้ เราได้กล่าวความดับแห่งสังขารทั้งหลายโดยลำดับแล้ว คือ เมื่อภิกษุเข้าปฐมฌาน วาจาย่อมดับ ฯลฯ เมื่อเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ สัญญาและเวทนาย่อมดับ ราคะ โทสะ โมหะของภิกษุผู้ขีณาสพย่อมดับ ฯ

[๔๐๑] ดูกรอานนท์ โดยที่แท้ เราได้กล่าวความสงบแห่งสังขารทั้งหลายโดยลำดับแล้ว คือ เมื่อภิกษุเข้าปฐมฌาน วาจาย่อมสงบ ฯลฯ เมื่อเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ สัญญาและเวทนาย่อมสงบ ราคะ โทสะ โมหะของภิกษุผู้ขีณาสพย่อมสงบ ฯ

[๔๐๒] ดูกรอานนท์ โดยที่แท้ เราได้กล่าวความระงับแห่งสังขารทั้งหลายโดยลำดับแล้ว คือ เมื่อภิกษุเข้าปฐมฌาน วาจาย่อมระงับ ฯลฯ เมื่อเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ สัญญาและเวทนาย่อมระงับ ราคะ โทสะ โมหะของภิกษุผู้ขีณาสพย่อมระงับ ฯ

จบสูตรที่ ๕

อานันทสูตรที่ ๒

[๔๐๓] ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามท่านพระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ เวทนามีเท่าไร ความเกิดขึ้นแห่งเวทนาเป็นไฉน ความดับแห่งเวทนาเป็นไฉน ปฏิปทาเครื่องให้ถึงความดับแห่งเวทนาเป็นไฉน อะไรเป็นคุณแห่งเวทนา อะไรเป็นโทษแห่งเวทนา อะไรเป็นอุบายเครื่องสลัดออกแห่งเวทนา ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมทั้งหลายของพวกข้าพระองค์ มีพระผู้มีพระภาคเป็นรากฐาน มีพระผู้มีพระภาคเป็นผู้นำ มีพระผู้มีพระภาคเป็นที่พึ่งอาศัย ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส ขอเนื้อความแห่งภาษิตนี้จงแจ่มแจ้งกะพระผู้มีพระภาคเท่านั้นเถิด ภิกษุทั้งหลายฟังพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้วจักทรงจำไว้ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ ถ้ากระนั้นเธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว

ท่านพระอานนท์ทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า ดูกรอานนท์ เวทนา ๓ เหล่านี้ คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา ดูกรอานนท์ เหล่านี้เราเรียกว่าเวทนา ฯลฯ ราคะ โทสะ โมหะของภิกษุผู้ขีณาสพย่อมระงับ ฯ

จบสูตรที่ ๖

สัมพหุลสูตรที่ ๑

[๔๐๔] ครั้งนั้นแล ภิกษุมากด้วยกันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เวทนามีเท่าไร ความเกิดขึ้นแห่งเวทนาเป็นไฉน ความดับแห่งเวทนาเป็นไฉน ปฏิปทาเครื่องให้ถึงความดับแห่งเวทนาเป็นไฉน อะไรเป็นคุณแห่งเวทนา อะไรเป็นโทษแห่งเวทนา อะไรเป็นอุบายเครื่องสลัดออกแห่งเวทนา พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เวทนามี ๓ เหล่านี้ คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหล่านี้เราเรียกว่าเวทนา เพราะผัสสะเกิดขึ้นเวทนาจึงเกิด เพราะผัสสะดับไป เวทนาจึงดับ อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้นั่นแล คือ สัมมาทิฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ เป็นปฏิปทาเครื่องให้ถึงความดับแห่งเวทนา สุข โสมนัส ย่อมเกิดขึ้นเพราะอาศัยเวทนาใด นี้เป็นคุณแห่งเวทนา เวทนาใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา นี้เป็นโทษแห่งเวทนา การกำจัด การละฉันทราคะในเวทนาใด นี้เป็นอุบายเครื่องสลัดออกแห่งเวทนา ฯ

[๔๐๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย โดยที่แท้ เราได้กล่าวความดับแห่งสังขารทั้งหลายโดยลำดับแล้ว คือ เมื่อภิกษุเข้าปฐมฌาน วาจาย่อมดับ ฯลฯ ราคะ โทสะ โมหะของภิกษุผู้ขีณาสพย่อมดับ ฯ

[๔๐๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย โดยที่แท้ เราได้กล่าวความสงบแห่งสังขารทั้งหลายโดยลำดับแล้ว คือ เมื่อภิกษุเข้าปฐมฌาน วาจาย่อมสงบ ฯลฯ ราคะ โทสะ โมหะของภิกษุผู้ขีณาสพย่อมสงบ ฯ

[๔๐๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปัสสัทธิ ๖ ประการนี้ คือ เมื่อภิกษุเข้าปฐมฌาน วาจาย่อมระงับ เมื่อเข้าทุติยฌาน วิตกวิจารย่อมระงับ เข้าตติยฌาน ปีติย่อมระงับ เมื่อเข้าจตุตถฌาน ลมอัสสาสะปัสสาสะย่อมระงับ เมื่อเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ สัญญาและเวทนาย่อมระงับ ราคะ โทสะ โมหะ ของภิกษุผู้ขีณาสพย่อมระงับ ฯ

จบสูตรที่ ๗

สัมพหุลสูตรที่ ๒

[๔๐๘] ครั้งนั้นแล ภิกษุมากด้วยกัน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ฯลฯ ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามภิกษุเหล่านั้นว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เวทนามีเท่าไร ฯลฯ อะไรเป็นอุบายเครื่องสลัดออกแห่งเวทนา ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมทั้งหลายของพวกข้าพระองค์มีพระผู้มีพระภาคเป็นรากฐาน ฯลฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้ากระนั้นพวกเธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เวทนา ๓ เหล่านี้ คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหล่านี้เราเรียกว่า เวทนา ฯลฯ (พึงขยายความให้พิสดารเหมือนสูตรต้นๆ )

จบสูตรที่ ๘

ปัญจกังคสูตร

[๔๐๙] ครั้งนั้นแล ช่างไม้ชื่อปัญจกังคะเข้าไปหาท่านพระอุทายีถึงที่อยู่ ไหว้ท่านพระอุทายีแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ถามท่านพระอุทายีว่า ท่านพระอุทายีผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคตรัสเวทนาไว้เท่าไรหนอ ท่านพระอุทายีตอบว่า ดูกรคฤหบดี พระผู้มีพระภาคตรัสเวทนาไว้ ๓ อย่าง คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา ดูกรคฤหบดี พระผู้มีพระภาคตรัสเวทนาไว้ ๓ อย่างนี้แล ฯ

[๔๑๐] เมื่อท่านพระอุทายีกล่าวอย่างนี้แล้ว ช่างไม้ชื่อปัญจกังคะได้กล่าวกะท่านพระอุทายีว่า ท่านพระอุทายีผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคไม่ได้ตรัสเวทนาไว้ ๓ อย่าง ตรัสไว้ ๒ อย่าง คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา ท่านผู้เจริญ อทุกขมสุขเวทนาอันเป็นไปฝ่ายละเอียด พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ในสุขอันประณีต แม้ครั้งที่ ๒ ท่านพระอุทายีก็ได้กล่าวกะช่างไม้ว่า ดูกรคฤหบดี พระผู้มีพระภาคไม่ได้ตรัสเวทนาไว้ ๒ อย่างเลย พระผู้มีพระภาคตรัสเวทนา ๓ คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา พระผู้มีพระภาคตรัสเวทนา ๓ อย่างนี้ แม้ครั้งที่ ๒ ช่างไม้ชื่อปัญจกังคะก็ได้กล่าวกะท่านพระอุทายีว่า ท่านพระอุทายีผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคไม่ได้ตรัสเวทนาไว้ ๓ อย่างเลย ตรัสเวทนาไว้ ๒ อย่าง คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา ท่านผู้เจริญ อทุกขมสุขเวทนาอันเป็นไปในฝ่ายละเอียด พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ในสุขอันประณีต แม้ครั้งที่ ๓ ท่านพระอุทายีก็ได้กล่าวกะช่างไม้ว่า ดูกรคฤหบดี พระผู้มีพระภาคไม่ได้ตรัสเวทนาไว้ ๒ อย่างเลย ตรัสเวทนาไว้ ๓ อย่าง คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา พระผู้มีพระภาคตรัสเวทนา ๓ อย่างนี้ แม้ครั้งที่ ๓ ช่างไม้ได้กล่าวกะท่านพระอุทายีว่า ท่านพระอุทายีผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคไม่ได้ตรัสเวทนาไว้ ๓ อย่างเลย ตรัสเวทนาไว้ ๒ อย่าง คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา ท่านผู้เจริญ อทุกขมสุขเวทนาอันเป็นไปในฝ่ายละเอียด พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ในสุขอันประณีต ท่านพระอุทายีไม่สามารถจะให้ช่างไม้ตกลงได้ ฝ่ายช่างไม้ก็ไม่สามารถให้ท่านพระอุทายีตกลงได้ ฯ

[๔๑๑] ท่านพระอานนท์ ได้ฟังการสนทนาปราศรัยนี้ของท่านพระอุทายีกับช่างไม้ ครั้นแล้วได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลการสนทนาปราศัยแม้นั้นทั้งหมดแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ ช่างไม้ชื่อปัญจกังคะไม่คล้อยตามเหตุอันมีอยู่ของภิกษุอุทายี ส่วนภิกษุอุทายีก็ไม่คล้อยตามเหตุอันมีอยู่ของช่างไม้ ฯ

[๔๑๒] ดูกรอานนท์ โดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๒ ก็มี โดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๓ ก็มี โดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๕ ก็มี โดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๖ ก็มี โดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๑๘ ก็มีโดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๓๖ ก็มี โดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๑๐๘ ก็มี ดูกรอานนท์ ธรรมอันเราแสดงแล้วโดยปริยายอย่างนี้ ดูกรอานนท์ เมื่อธรรมอันเราแสดงแล้วโดยปริยายอย่างนี้แล ชนเหล่าใดจักไม่สำคัญตาม จักไม่รู้ตาม จักไม่บันเทิงตาม ซึ่งคำที่เรากล่าวดีแล้ว เจรจาดีแล้ว แก่กันและกัน เหตุนี้จักเป็นอันชนเหล่านั้นหวังได้ คือ ชนเหล่านั้นจักเกิดความบาดหมางกัน เกิดความทะเลาะกัน วิวาทกัน จักทิ่มแทงกันและกันด้วยหอกคือปาก ดูกรอานนท์ ธรรมอันเราแสดงแล้วโดยปริยายอย่างนี้แล ดูกรอานนท์ เมื่อธรรมอันเราแสดงแล้วโดยปริยายอย่างนี้ ชนเหล่าใดจักสำคัญตาม จักรู้ตาม จักบันเทิงตาม ซึ่งคำที่เรากล่าวดีแล้ว เจรจาดีแล้ว แก่กันและกัน เหตุนี้ชนเหล่านั้นพึงหวังได้คือ ชนเหล่านั้นจักพร้อมเพรียงกัน ชื่นบานต่อกัน ไม่วิวาทกัน เป็นดุจน้ำเจือด้วยน้ำนม มองกันและกันด้วยจักษุอันเปี่ยมด้วยความรักอยู่ ฯ
[พระพุทธองค์จำแนกเวทนาไว้ด้วยประการต่างๆ พระองค์ได้ทรงจำแนกเวทนาว่ามี2ข้อก็มี พระองค์ได้ทรงจำแนกเวทนาว่ามี3ข้อก็มี 5ข้อก็มี ฯลฯ ก็ล้วนทรงตรัสไว้โดยชอบทั้งสิ้น ข้อที่บุคคลสดับพระธรรมอันพระองค์ตรัสไว้ดีแล้ว หากเข้าใจก็ดี แม้ไม่เข้าใจก็ชื่นชมและพอใจในพระพุทธภาษิตด้วยศรัทธาก็ดี ชนเหล่านั้นย่อมไม่โต้เถียงกันด้วยเนื้อหาในพระธรรมโดยขัดแย้งกันว่าที่ตนได้ยินมานั้นถูก ที่อีกฝ่ายได้ยินมานั้นผิด]

[๔๑๓] ดูกรอานนท์ กามคุณ ๕ เหล่านี้ กามคุณ ๕ เป็นไฉน คือ รูปที่พึงรู้แจ้งได้ด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด ฯลฯ โผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้งด้วยกาย น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด กามคุณ ๕ เหล่านี้แล ดูกรอานนท์ สุขโสมนัสย่อมเกิดขึ้นเพราะอาศัยกามคุณ ๕ เหล่านี้ นี้เราเรียกว่ากามสุข ฯ

[๔๑๔] ดูกรอานนท์ ชนเหล่าใดแลพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ชนทั้งหลายย่อมเสวยสุขโสมนัสนั่นอันเป็นเยี่ยมและละเอียด ดังนี้ เราไม่ยอมตามคำนี้แก่ชนเหล่านั้น ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะสุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั่น มีอยู่ ฯ

[๔๑๕] ดูกรอานนท์ ก็สุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั่นเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม เข้าปฐมฌาน มีวิตกวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกอยู่ นี้แลเป็นสุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั่น ดูกรอานนท์ ชนเหล่าใดแลพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ชนทั้งหลายย่อมเสวยสุขโสมนัสนั่นอันเป็นเยี่ยมและละเอียด ดังนี้ เราไม่ยอมตามคำนี้แก่ชนเหล่านั้น ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะสุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั่น มีอยู่ ฯ

[๔๑๖] ดูกรอานนท์ ก็สุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั่นเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เข้าทุติยฌานอันมีความผ่องใสแห่งจิตในภายในเป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารระงับไป มีปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิอยู่ นี้แลเป็นสุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั่น ดูกรอานนท์ ชนเหล่าใดแลพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ชนทั้งหลายย่อมเสวยสุขโสมนัสนั่นอันเป็นเยี่ยมและละเอียด ดังนี้ เราไม่ยอมตามคำนี้แก่ชนเหล่านั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะสุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั่น มีอยู่ ฯ

[๔๑๗] ดูกรอานนท์ ก็สุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั่นเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ และเสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไปเข้าตติยฌานที่พระอริยเจ้าทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้มีอุเบกขามีสติอยู่เป็นสุข นี้แลเป็นสุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั่น ดูกรอานนท์ ชนเหล่าใดแลพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ชนทั้งหลายย่อมเสวยสุขโสมนัสนั่น อันเป็นเยี่ยมและละเอียด ดังนี้ เราไม่ยอมตามคำนี้แก่ชนเหล่านั้น ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะสุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั่น มีอยู่

[๔๑๘] ดูกรอานนท์ ก็สุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั่นเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เข้าจตุตถฌานอันไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ นี้แลเป็นสุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่า และประณีตกว่าสุขนั่น ฯ

[๔๑๙] ดูกรอานนท์ ชนเหล่าใดแลพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ชนทั้งหลายย่อมเสวยสุขโสมนัสนั่น อันเป็นเยี่ยมและละเอียด ดังนี้ เราไม่ยอมตามคำนี้แก่ชนเหล่านั้น ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะสุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั่น มีอยู่ ฯ

[๔๒๐] ดูกรอานนท์ สุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั่นเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เข้าอากาสานัญจายตนฌานโดยบริกรรมว่า อากาศไม่มีที่สุด เพราะก้าวล่วงรูปสัญญาทั้งหลาย เพราะความดับสูญแห่งปฏิฆสัญญาทั้งหลาย เพราะไม่มนสิการถึงนานัตตสัญญาทั้งหลาย โดยประการทั้งปวงอยู่ นี้แลเป็นสุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั่น ชนเหล่าใดแลพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ชนทั้งหลายย่อมเสวยสุขโสมนัสนั่นอันเป็นเยี่ยมและละเอียด ดังนี้ เราไม่ยอมตามคำนี้แก่ชนเหล่านั้น ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะสุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั่น มีอยู่ ฯ

[๔๒๑] ดูกรอานนท์ สุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั่นเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ก้าวล่วงอากาสานัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวงแล้ว เข้าวิญญาณัญจายตนฌานโดยบริกรรมว่า วิญญาณไม่มีที่สุด นี้แลเป็นสุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั่น ชนเหล่าใดแลพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ชนทั้งหลายย่อมเสวยสุขโสมนัสนั่นอันเป็นเยี่ยมและละเอียด ดังนี้ เราไม่ยอมตามคำนี้แก่ชนเหล่านั้น ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะสุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั่น มีอยู่ ฯ

[๔๒๒] ดูกรอานนท์ สุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั่นเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ก้าวล่วงวิญญาณัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวงแล้ว เข้าอากิญจัญญายตนฌานโดยบริกรรมว่า อะไรหน่อยหนึ่งไม่มี นี้แลเป็นสุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั่น ชนเหล่าใดแลพึงกล่าวอย่างนี้ว่าชนทั้งหลายย่อมเสวยสุขโสมนัสนั่นอันเป็นเยี่ยมและละเอียด ดังนี้ เราไม่ยอมตามคำนี้แก่ชนเหล่านั้น ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะสุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั่น มีอยู่ ฯ

[๔๒๓] ดูกรอานนท์ ก็สุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั่นเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ก้าวล่วงอากิญจัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวงแล้ว เข้าเนวสัญญานาสัญญายตนฌานอยู่ นี้แลเป็นสุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั่น ชนเหล่าใดแลพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ชนทั้งหลายย่อมเสวยสุขโสมนัสนั่นอันเป็นเยี่ยมและละเอียด ดังนี้ เราไม่ยอมตามคำนี้แก่ชนเหล่านั้น ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะสุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั่น มีอยู่ ฯ

[๔๒๔] ดูกรอานนท์ สุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั่นเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ก้าวล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวงแล้ว เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติอยู่ นี้แลเป็นสุขอื่นอันน่าใคร่ยิ่งกว่าและประณีตกว่าสุขนั่น ก็ข้อที่ปริพาชกอัญญเดียรถีย์พึงกล่าวอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมกล่าวสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ และย่อมบัญญัตินิโรธนั้นไว้ในความสุข ข้อนี้นั้นเพราะเหตุไร ข้อนี้นั้นเป็นอย่างไร นั้นเป็นฐานะที่จะมีได้ พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์มีวาทะอย่างนี้ พวกเธอพึงค้านอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคไม่ได้ทรงหมายเอาสุขเวทนาบัญญัตินิโรธนั้นไว้ในความสุขเลย บุคคลย่อมได้สุขในฐานะใดๆ พระตถาคตย่อมทรงบัญญัติฐานะนั้นๆ อันเป็นสุขไว้ในความสุขทุกแห่ง ฯ
[ชนนอกศาสนากล่าวว่าพระพุทธองค์แสดงถึงนิโรธสมาบัติซึ่งมีอยู่แต่ในพระพุทธศาสนา และว่าพระองค์บัญญัตินิโรธคือความดับทุกข์นั้นว่าเป็นความสุข พระพุทธองค์ทรงอธิบายว่าพระองค์มิได้ทรงบัญญัตินิโรธไว้ว่าเป็นความสุขเลย แต่ว่าผู้เข้านิโรธสมาบัตินั้นอยู่ในฐานะที่มีความสุข]

จบสูตรที่ ๙

ภิกขุสูตร

[๔๒๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย โดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๒ ก็มี โดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๓ ก็มี โดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๕ ก็มี โดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๖ ก็มี โดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๑๘ ก็มีโดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๓๖ ก็มี โดยปริยายหนึ่ง เรากล่าวเวทนา ๑๐๘ ก็มี ธรรมอันเราแสดงแล้วโดยปริยายอย่างนี้ เมื่อเราแสดงธรรมโดยปริยายอย่างนี้แล้ว ชนเหล่าใดจักไม่สำคัญตาม จักไม่รู้ตาม จักไม่บันเทิงตาม ซึ่งคำที่เรากล่าวดีแล้ว เจรจาดีแล้ว แก่กันและกัน เหตุนี้จักเป็นอันชนเหล่านั้นพึงหวังได้คือ ชนเหล่านั้นจักเกิดความบาดหมางกัน จักเกิดความทะเลาะกัน วิวาทกัน จักทิ่มแทงกันและกันด้วยหอกคือปากอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมอันเราแสดงแล้วโดยปริยายอย่างนี้ เมื่อธรรมอันเราแสดงแล้วโดยปริยายอย่างนี้มีอยู่ ชนเหล่าใดจักสำคัญตาม จักรู้ตาม จักบันเทิงตาม ซึ่งคำที่เรากล่าวดีแล้ว เจรจาดีแล้ว แก่กันและกัน เหตุนี้อันชนเหล่านั้นพึงหวังได้ คือพวกเขาจักพร้อมเพรียงกัน จักชื่นบานต่อกัน จักไม่วิวาทกัน จักเป็นดุจน้ำเจือด้วยน้ำนม จักมองกันและกันด้วยจักษุอันเปี่ยมด้วยความรักอยู่ ฯ

[๔๒๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย กามคุณ ๕ เหล่านี้ ฯลฯ (เหมือนข้อ ๔๑๓ ถึงข้อ ๔๒๔) ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ข้อที่ปริพาชกอัญญเดียรถีย์พึงกล่าวอย่างนี้ว่าพระสมณโคดมกล่าวสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ และย่อมบัญญัตินิโรธนั้นไว้ในความสุข ข้อนี้นั้นเพราะเหตุไร ข้อนี้นั้นเป็นอย่างไร ข้อนั้นเป็นฐานะที่จะมีได้ พวกปริพาชกอัญญเดียรถีย์ผู้มีวาทะอย่างนี้ พวกเธอพึงค้านอย่างนี้ว่า ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคไม่ได้ทรงหมายเอาสุขเวทนาบัญญัตินิโรธนั้นไว้ในความสุข บุคคลย่อมได้สุขในฐานะใดๆ พระตถาคตย่อมทรงบัญญัติฐานะนั้นๆ อันเป็นสุขไว้ในความสุขทุกแห่ง ดังนี้ ฯ

จบสูตรที่ ๑๐

จบรโหคตวรรคที่ ๒

*********************************************
ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านครับ




 

Create Date : 19 มกราคม 2549
0 comments
Last Update : 19 มกราคม 2549 13:32:36 น.
Counter : 297 Pageviews.


พญาเหยี่ยว
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add พญาเหยี่ยว's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.