Group Blog
 
<<
มกราคม 2549
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
27 มกราคม 2549
 
All Blogs
 

ผู้ครองเรือนหลุดพ้นได้ด้วยการเจริญสติปัฏฐาน4

ได้กล่าวถึงธรรมเพื่อความตรัสรุ้คือโพชฌงค์7 มาแล้ว วันนี้ขอยกเอาพระสูตรที่เกี่ยวกับธรรมหมวดสำคัญอีกหมวดหนึ่งคือสติปัฏฐาน 4 อันประกอบด้วย
1.กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน - การมีสติกำหนดรู้ถึงกายในกาย รู้ถึงความเป็นกายโดยประการต่างๆขณะดำรงชีวิตในอิริยาบทต่างๆอาทิ ในเวลานั่ง เวลายืน เวลาเดิน เวลารับประทานอาหาร ฯลฯ ด้วยสติ
2.เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน - การมีสติกำหนดรู้ถึงเวทนาในเวทนา
3.จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน - การมีสติกำหนดรู้ถึงจิตในจิต
4.ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน - การมีสติกำหนดรู้ถึงธรรมในธรรม

พระสูตรในวันนี้ยกมาจากพระสุตตันตปิฎก เล่ม 11 สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค สติปัฏฐานสังยุตต์

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

****************************************
สีลัฏฐิติวรรคที่ ๓

สีลสูตร

ว่าด้วยกุศลศีล

[๗๖๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:-
สมัยหนึ่ง ท่านพระอานนท์และท่านพระภัททะ อยู่ ณ กุกกุฏาราม ใกล้เมืองปาฏลีบุตร ครั้งนั้น ท่านพระภัททะออกจากที่เร้นในเวลาเย็น เข้าไปหาท่านพระอานนท์ถึงที่อยู่ ได้ปราศรัยกับท่านพระอานนท์ ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้พูดกะท่านพระอานนท์ว่า:-

[๗๖๘] ดูกรท่านอานนท์ ศีลที่เป็นกุศลเหล่าใดอันพระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว ศีลที่เป็นกุศลเหล่านี้ พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว มีพระประสงค์อย่างไร?

ท่านพระอานนท์กล่าวว่า ดีละๆ ท่านภัททะ ท่านช่างคิด ช่างเฉียบแหลม ช่างไต่ถามเหมาะๆ ก็ท่านถามอย่างนี้หรือว่า ดูกรอานนท์ ศีลที่เป็นกุศลเหล่าใด อันพระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว ศีลที่เป็นกุศลเหล่านี้ พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว มีพระประสงค์อย่างไร?

ภ. อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ.

[๗๖๙] อา. ดูกรท่านภัททะ ศีลที่เป็นกุศลเหล่าใดอันที่พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว ศีลที่เป็นกุศลเหล่านี้ พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว เพียงเพื่อเจริญสติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ... ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ... ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย ดูกรท่านภัททะ ศีลที่เป็นกุศลเหล่าใด อันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว ศีลที่เป็นกุศลเหล่านี้ พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว เพียงเพื่อเจริญสติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้.
[ผู้อบรมศีลจนเจริญบริบูรณ์แล้ว พึงตั้งใจเจริญสติปัฏฐาน4 เป็นลำดับต่อไป โดยมุ่งถึงอานิสงส์อันเป็นความหลุดพ้นได้ทีเดียว]

จบ สูตรที่ ๑

ฐิติสูตร

ว่าด้วยการตั้งอยู่แห่งพระสัทธรรม

[๗๗๐] นิทานต้นสูตรเหมือนกัน. ท่านพระภัททะนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้ถามพระอานนท์ว่า:-

[๗๗๑] ดูกรท่านอานนท์ อะไรหนอ เป็นเหตุเป็นปัจจัย เครื่องให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ไม่ได้นาน ในเมื่อพระตถาคตเสด็จปรินิพพานแล้ว และอะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัย เครื่องให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ได้นาน ในเมื่อพระตถาคตเสด็จปรินิพพานแล้ว?

ท่านพระอานนท์กล่าวว่า ดีละๆ ท่านภัททะ ท่านช่างคิด ช่างเฉียบแหลม ช่างไต่ถามเหมาะๆ ก็ท่านถามอย่างนี้หรือว่า ดูกรท่านอานนท์ อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัย เครื่องให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ไม่ได้นาน ในเมื่อพระตถาคตเสด็จปรินิพพานแล้ว และอะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ได้นาน ในเมื่อพระตถาคตเสด็จปรินิพพานแล้ว.

ภ. อย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ.

[๗๗๒] อา. ดูกรท่านผู้มีอายุ เพราะบุคคลไม่ได้เจริญ ไม่ได้กระทำให้มาก ซึ่งสติปัฏฐาน ๔ พระสัทธรรมจึงตั้งอยู่ไม่ได้นาน ในเมื่อพระตถาคตเสด็จปรินิพพานแล้ว และเพราะบุคคลเจริญ กระทำให้มาก ซึ่งสติปัฏฐาน ๔ พระสัทธรรมจึงตั้งอยู่ได้นาน ในเมื่อพระตถาคตเสด็จปรินิพพานแล้ว สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ... ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ... ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย ดูกรท่านผู้มีอายุ เพราะบุคคลไม่ได้เจริญ ไม่ได้กระทำให้มาก ซึ่งสติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้แล พระสัทธรรมจึงตั้งอยู่ไม่ได้นาน ในเมื่อพระตถาคตเสด็จปรินิพพานแล้ว และเพราะบุคคลได้เจริญ ได้กระทำให้มาก ซึ่งสติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้แล พระสัทธรรมจึงตั้งอยู่ได้นาน ในเมื่อพระตถาคตเสด็จปรินิพพานแล้ว.
[การเจริญสติปัฏฐาน4 โดยบริบูรณ์นำมาซึ่งสัมมาญาณะ - เป็นความรู้อันถูกต้องในธรรม พระสัทธรรมที่พระพุทธองค์ตรัสรู้จึงตั้งอยู่ได้นานแม้พระองค์จะทรงปรินิพพานแล้ว]

จบ สูตรที่ ๒

ปริหานสูตร

ว่าด้วยความเสื่อมแห่งพระสัทธรรม

[๗๗๓] สมัยหนึ่ง ท่านพระอานนท์และท่านพระภัททะ อยู่ ณ กุกกุฏาราม ใกล้เมืองปาฏลีบุตร ครั้งนั้น ท่านพระภัททะออกจากที่เร้นในเวลาเย็น เข้าไปหาท่านพระอานนท์ถึงที่อยู่ ได้ปราศรัยกับท่านพระอานนท์ ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ถามท่านพระอานนท์ว่า:-

[๗๗๔] ดูกรท่านอานนท์ อะไรหนอ เป็นเหตุเป็นปัจจัย เครื่องทำให้พระสัทธรรมเสื่อม อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัย เครื่องทำให้พระสัทธรรมไม่เสื่อม?

ท่านพระอานนท์กล่าวว่า ดีละๆ ท่านภัททะ ท่านช่างคิด ช่างเฉียบแหลม ช่างไต่ถามเหมาะๆ ก็ท่านถามอย่างนี้หรือว่า ดูกรอานนท์ อะไรหนอ เป็นเหตุเป็นปัจจัย เครื่องทำให้พระสัทธรรมเสื่อม อะไรหนอ เป็นเหตุเป็นปัจจัย เครื่องทำให้พระสัทธรรมไม่เสื่อม.

ภ. อย่างนั้น ท่านผู้เจริญ.

[๗๗๕] อา. ดูกรท่านผู้มีอายุ เพราะบุคคลไม่ได้เจริญ ไม่ได้กระทำให้มาก ซึ่งสติปัฏฐาน ๔ พระสัทธรรมจึงเสื่อม และเพราะบุคคลได้เจริญ ได้กระทำให้มาก ซึ่งสติปัฏฐาน ๔ พระสัทธรรมจึงไม่เสื่อม สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ... พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ... พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย ดูกรท่านผู้มีอายุ เพราะบุคคลไม่ได้เจริญ ไม่ได้กระทำให้มาก ซึ่งสติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้แล พระสัทธรรมจึงเสื่อม เพราะบุคคลได้เจริญ ได้กระทำให้มาก ซึ่งสติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้แล พระสัทธรรมจึงไม่เสื่อม.
[อานิสงส์เบื้องต้นของการเจริญสติปัฏฐาน4 ต่อผู้ปฏิบัติเองคือเมื่อเห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต และธรรมในธรรมแล้ว จักเป็นผู้มีความเพียร มีสติสัมปชัญญะ กำจัดอภิชฌา(ความโลภ)และโทมนัส(ความทุกข์ใจ)ในโลกได้ มีสัมมาญาณะ]

จบ สูตรที่ ๓

สุทธกสูตร

ว่าด้วยการเจริญสติปัฏฐาน ๔

[๗๗๖] สาวัตถีนิทาน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย สติปัฏฐาน ๔ นี้ สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ... ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ... ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย ดูกรภิกษุทั้งหลาย สติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้แล.

จบ สูตรที่ ๔

พราหมณสูตร

ว่าด้วยพระสัทธรรมตั้งอยู่ไม่ได้นาน

[๗๗๗] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้น พราหมณ์คนหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกะพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า:-

[๗๗๘] ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ อะไรหนอ เป็นเหตุเป็นปัจจัย เครื่องทำให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ไม่ได้นาน ในเมื่อพระตถาคตเสด็จปรินิพพานแล้ว และอะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยเครื่องทำให้พระสัทธรรมตั้งอยู่ได้นาน ในเมื่อพระตถาคตเสด็จปรินิพพานแล้ว?

[๗๗๙] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรพราหมณ์ เพราะบุคคลไม่ได้เจริญ ไม่ได้กระทำให้มาก ซึ่งสติปัฏฐาน ๔ พระสัทธรรมจึงตั้งอยู่ไม่ได้นาน ในเมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว และเพราะบุคคลเจริญ กระทำให้มาก ซึ่งสติปัฏฐาน ๔ พระสัทธรรมจึงตั้งอยู่ได้นาน ในเมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ... ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ... ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย ดูกรพราหมณ์ เพราะบุคคลไม่ได้เจริญ ไม่ได้กระทำมาก ซึ่งสติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้แล พระสัทธรรมจึงตั้งอยู่ได้ไม่นาน ในเมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว และเพราะบุคคลได้เจริญ ได้กระทำให้มาก ซึ่งสติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้แล พระสัทธรรมจึงตั้งอยู่ได้นาน ในเมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว.

[๗๘๐] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว พราหมณ์นั้นได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่บุคคลผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วยหวังว่าผู้มีจักษุจักแลเห็นได้ ฉะนั้น ขอท่านพระโคดมโปรดทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะจนตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป.

จบ สูตรที่ ๕

ปเทสสูตร

ว่าด้วยบุคคลจะชื่อว่าเป็นพระเสขะ

[๗๘๑] สมัยหนึ่ง ท่านพระสารีบุตร ท่านพระมหาโมคคัลลานะ และท่านพระอนุรุทธะอยู่ ณ กัณฏกีวัน ใกล้เมืองสาเกต ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรและท่านมหาโมคคัลลานะออกจากที่พักผ่อนในเวลาเย็น เข้าไปหาท่านพระอนุรุทธะถึงที่อยู่ ได้ปราศรัยกับท่านพระอนุรุทธะ ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ท่านพระสารีบุตรได้ถามท่านพระอนุรุทธะว่า:-

[๗๘๒] ดูกรท่านอนุรุทธะ ที่เรียกว่า พระเสขะ พระเสขะ ดังนี้ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ บุคคลจึงจะชื่อว่าเป็นพระเสขะ? ท่านพระอนุรุทธะตอบว่า ดูกรผู้มีอายุ บุคคลที่จะชื่อว่าเป็นพระเสขะ เพราะเจริญสติปัฏฐาน ๔ ได้เป็นส่วนๆ สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ... ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ... ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย ดูกรผู้มีอายุ บุคคลที่จะชื่อว่าเป็นพระเสขะ เพราะเจริญสติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้แล ได้เป็นส่วนๆ.
[ภิกษุสำเร็จเป็นพระอริยเจ้าได้ด้วยการเจริญสติปัฏฐาน4 ได้เป็นส่วนๆ ]

จบ สูตรที่ ๖

สมัตตสูตร

ว่าด้วยบุคคลจะชื่อว่าเป็นพระอเสขะ

[๗๘๓] นิทานต้นสูตรเหมือนกัน. ครั้นท่านพระสารีบุตรนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้ถามท่านพระอนุรุทธะว่า:-

[๗๘๔] ดูกรท่านอนุรุทธะ ที่เรียกว่าพระอเสขะ พระอเสขะ ดังนี้ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ บุคคลจึงจะชื่อว่าเป็นพระอเสขะ? ท่านพระอนุรุทธะตอบว่า ดูกรท่านผู้มีอายุ บุคคลที่จะชื่อว่าเป็นพระอเสขะ เพราะเจริญสติปัฏฐาน ๔ ได้บริบูรณ์ สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ... ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ... ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย ดูกรท่านผู้มีอายุ บุคคลที่จะชื่อว่าเป็นพระอเสขะเพราะเจริญสติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้แล ได้บริบูรณ์.
[ภิกษุสำเร็จเป็นพระอรหันต์ เข้าถึงพระนิพพานเพราะเจริญสติปัฏฐาน4 ได้โดยบริบูรณ์]

จบ สูตรที่ ๗

โลกสูตร

ว่าด้วยผู้รู้โลก

[๗๘๕] นิทานต้นสูตรเหมือนกัน. ครั้นท่านพระสารีบุตร นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้ถามท่านพระอนุรุทธะว่า:-

[๗๘๖] ท่านพระอนุรุทธะถึงความเป็นผู้มีอภิญญามาก เพราะได้เจริญ ได้กระทำให้มาก ซึ่งธรรมเหล่าไหน? ท่านพระอนุรุทธะตอบว่า ดูกรผู้มีอายุ ผมถึงความเป็นผู้มีอภิญญามาก เพราะได้เจริญ ได้กระทำให้มาก ซึ่งสติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ... ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ... ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย ดูกรผู้มีอายุ ผมถึงความเป็นผู้มีอภิญญามาก เพราะได้เจริญ ได้กระทำให้มาก ซึ่งสติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้แล และเพราะได้เจริญ ได้ทำให้มาก ซึ่งสติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้แล ผมจึงรู้โลกได้ตั้งพัน.
[ภิกษุเจริญสติปัฏฐาน4 ไว้และกระทำให้มาก สามารถสำเร็จอภิญญาอันมีคุณวิเศษมีอาทิเช่น ทิพยจักษุ ดังเช่นท่านพระอนุรุทธ์ในพระสูตรนี้]

จบ สูตรที่ ๘

สิริวัฑฒสูตร

ผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ได้อนาคามิผล

[๗๘๗] สมัยหนึ่ง ท่านพระอานนท์อยู่ ณ พระวิหารเวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน ใกล้พระนครราชคฤห์ ก็สมัยนั้น สิริวัฑฒคฤหบดีอาพาธ ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก ครั้งนั้น สิริวัฑฒคฤหบดีเรียกบุรุษคนหนึ่งมาสั่งว่า มานี่แน่ะบุรุษผู้เจริญ ท่านจงเข้าไปหาท่านพระอานนท์ถึงที่อยู่ ครั้นแล้ว จงกราบเท้าทั้งสองของท่านด้วยเศียรเกล้า ตามคำของเราว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ สิริวัฑฒคฤหบดีอาพาธ ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก เขาขอกราบเท้าทั้งสองของท่านพระอานนท์ด้วยเศียรเกล้า ดังนี้ และจงเรียนอย่างนี้ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ได้โปรดเถิด ขอท่านพระอานนท์จงอาศัยความอนุเคราะห์ เข้าไปยังนิเวศน์ของสิริวัฑฒคฤหบดีเถิด บุรุษนั้นรับคำสิริวัฑฒคฤหบดีแล้ว จึงเข้าไปหาท่านพระอานนท์ถึงที่อยู่ นมัสการท่านพระอานนท์แล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้เรียนท่านพระอานนท์ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ สิริวัฑฒคฤหบดีอาพาธ ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก ท่านขอกราบเท้าทั้งสองของท่านพระอานนท์ด้วยเศียรเกล้า และสั่งให้เรียนอย่างนี้ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ได้โปรดเถิด ขอท่านพระอานนท์จงอาศัยความอนุเคราะห์ เข้าไปยังนิเวศน์ของสิริวัฑฒคฤหบดีเถิด ท่านพระอานนท์รับคำด้วยดุษณีภาพ.

[๗๘๘] ครั้งนั้น เวลาเช้า ท่านพระอานนท์นุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไปยังนิเวศน์ของสิริวัฑฒคฤหบดี แล้วนั่งบนอาสนะที่เขาปูถวาย ครั้นแล้วได้ถามสิริวัฑฒคฤหบดีว่า:-

[๗๘๙] ดูกรคฤหบดี ท่านพอจะอดทนได้หรือ พอจะยังอัตภาพให้เป็นไปได้หรือ ทุกขเวทนาย่อมคลายลงไม่กำเริบขึ้นหรือ ความทุเลาปรากฏ ความกำเริบไม่ปรากฏหรือ? สิริวัฑฒคฤหบดีตอบว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ กระผมอดทนไม่ได้ ยังอัตภาพให้เป็นไปไม่ได้ ทุกขเวทนาของกระผมกำเริบหนัก ไม่เสื่อมคลายไปเลย ความกำเริบปรากฏอยู่ ความทุเลาไม่ปรากฏ.

[๗๙๐] อา. ดูกรคฤหบดี เพราะเหตุนั้นแหละ ท่านพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย จักพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ... จักพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ... จักพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย ดูกรคฤหบดี ท่านพึงศึกษาอย่างนี้แล.

[๗๙๑] สิ. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ธรรมคือสติปัฏฐาน ๔ เหล่าใด ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้ว ธรรมเหล่านั้นมีอยู่ในกระผม และกระผมย่อมเห็นชัดในธรรมเหล่านั้น ก็กระผมย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ... ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ... ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย.

[๗๙๒] ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ก็สังโยชน์อันเป็นส่วนเบื้องต่ำ ๕ เหล่าใด ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ กระผมยังไม่แลเห็นสังโยชน์ข้อใดข้อหนึ่ง ที่ยังละไม่ได้แล้วในตน.

อา. ดูกรคฤหบดี เป็นลาภของท่าน ท่านได้ดีแล้ว อนาคามิผลอันท่านกระทำให้แจ้งแล้ว.
[แม้ผู้ครองเรือนก็สามารถเจริญสติปัฏฐาน4 ได้ ดังตัวอย่างในพระสูตรนี้ซึ่งสิริวัฑฒคฤหบดีเจริญสติปัฏฐาน4 แล้วสำเร็จเป็นพระอนาคามีในพระพุทธศาสนา]

จบ สูตรที่ ๙

มานทินนสูตร

ผู้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ได้อนาคามิผล

[๗๙๓] นิทานต้นสูตรเหมือนกัน. ก็สมัยนั้น มานทินนคฤหบดีอาพาธ ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก ครั้งนั้น มานทินนคฤหบดีเรียกบุรุษคนหนึ่งมาสั่งว่า มานี่แน่ะ บุรุษผู้เจริญ ท่านจงเข้าไปหาพระอานนท์ถึงที่อยู่ ครั้นแล้ว จงกราบเท้าทั้งสองของท่านด้วยเศียรเกล้า ตามคำของเราว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ มานทินนคฤหบดีอาพาธ ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก เขาขอกราบเท้าทั้งสองของท่านพระอานนท์ด้วยเศียรเกล้า ดังนี้ และจงเรียนอย่างนี้ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ได้โปรดเถิด ขอท่านพระอานนท์จงอาศัยความอนุเคราะห์ เข้าไปยังนิเวศน์ของมานทินนคฤหบดีเถิด บุรุษนั้นรับคำมานทินนคฤหบดีแล้ว เข้าไปหาพระอานนท์ถึงที่อยู่ นมัสการท่านพระอานนท์แล้วจึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้เรียนท่านพระอานนท์ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ มานทินนคฤหบดีอาพาธ ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก ท่านขอกราบเท้าทั้งสองของท่านพระอานนท์ด้วยเศียรเกล้า และสั่งให้เรียนอย่างนี้ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ได้โปรดเถิด ขอท่านพระอานนท์อาศัยความอนุเคราะห์ เข้าไปยังนิเวศน์ของมานทินนคฤหบดีเถิด ท่านพระอานนท์รับคำด้วยดุษณีภาพ ครั้งนั้น เวลาเช้า ท่านพระอานนท์นุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไปยังนิเวศน์ของมานทินนคฤหบดี แล้วนั่งบนอาสนะที่เขาปูถวาย ครั้นแล้วได้ถามมานทินนคฤหบดีว่า ดูกรคฤหบดี ท่านพอจะอดทนได้หรือ พอจะยังอัตภาพให้เป็นไปได้หรือ ทุกขเวทนาย่อมคลายลงไม่กำเริบขึ้นหรือ ความทุเลาปรากฏ ความกำเริบไม่ปรากฏหรือ? มานทินนคฤหบดีตอบว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ กระผมอดทนไม่ได้ ยังอัตภาพให้เป็นไปไม่ได้ ทุกขเวทนาของกระผมยังกำเริบหนัก ไม่เสื่อมคลายไปเลย ความกำเริบยังปรากฏอยู่ ความทุเลาไม่ปรากฏ.

[๗๙๔] ข้าแต่ท่านผู้เจริญ กระผมอันทุกขเวทนาเห็นปานนี้กระทบแล้ว ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ... พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ... พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย.

[๗๙๕] ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ก็สังโยชน์อันเป็นส่วนเบื้องต่ำ ๕ เหล่าใด ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ กระผมยังไม่แลเห็นสังโยชน์ข้อใดข้อหนึ่ง ที่ยังละไม่ได้แล้วในตน ท่านพระอานนท์กล่าวว่า ดูกรคฤหบดี เป็นลาภของท่าน ท่านได้ดีแล้ว อนาคามิผลอันท่านกระทำให้แจ้งแล้ว.

จบ สูตรที่ ๑๐

จบ สีลัฏฐิติวรรคที่ ๓

********************************************
ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านครับ




 

Create Date : 27 มกราคม 2549
0 comments
Last Update : 27 มกราคม 2549 13:01:25 น.
Counter : 459 Pageviews.


พญาเหยี่ยว
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add พญาเหยี่ยว's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.