Group Blog
 
<<
เมษายน 2549
 
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
30 
 
5 เมษายน 2549
 
All Blogs
 
สุภาษิตของพระอรหันตสาวก

พระอรหันตสาวกทั้งหลายเป็นดังราชสีห์ซึ่งชำนะเสียต่อกองกิเลส ประเสริฐกว่าสัตว์ทั้งหลาย เป็นผู้มีตนอันอบรมแล้ว มีปัญญาเห็นธรรมอันแจ่มแจ้ง บรรลุนิพพานอันไม่มีความแปรผัน ท่านเหล่านั้นได้อบรมตนด้วยฌานอันมีปรกติในที่อันสงัด ห่างไกลกิเลส หากคำพูดของบุคคลหนึ่งจะสะท้อนถึงจิตใจของบุคคลนั้นละก็ ขอเชิญท่านทั้งหลายจงพิจารณาธรรมอันเป็นสุภาษิตคาถาของท่านเหล่านั้นเถิด จักยังปัญญาให้เกิดขึ้นครับ

พระสูตรในวันนี้ยกมาจากพระสุตตันตปิฎก เล่ม 18 ขุททกนิกาย เถระคาถา

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

********************************************
เถรคาถา เอกกนิบาต วรรคที่ ๑

ว่าด้วยคาถาสุภาษิต ในเอกกนิบาต วรรคที่ ๑

[๑๓๗] ขอท่านทั้งหลาย จงฟังคาถาอันน้อมเข้าไปสู่ประโยชน์ ของพระเถระทั้งหลายผู้มีตนอันอบรมแล้ว บันลืออยู่ ดุจการบันลือแห่งสีหะทั้งหลายซึ่งเป็นสัตว์ประเสริฐกว่าเหล่าสัตว์ผู้มีเขี้ยวทั้งหลาย ที่ใกล้ถ้ำที่ภูเขา ฉะนั้น ก็พระเถระเหล่านั้นมีชื่อ โคตร มีธรรมเป็นเครื่องอยู่ มีจิต
น้อมไปแล้ว ในธรรมตามที่ปรากฏแล้ว มีปัญญา เป็นผู้ไม่เกียจคร้าน
อยู่ในเสนาสนะอันสงัด มีป่า โคนไม้ และภูเขาเป็นต้นนั้นๆ ได้
เห็นธรรมแจ่มแจ้ง และได้บรรลุนิพพานอันเป็นธรรมไม่แปรผัน เมื่อ
พิจารณาเห็นผลอันเป็นที่สุดกิจซึ่งตนทำเสร็จแล้ว จึงได้ภาษิตเนื้อความนี้.
-------------

๑. สุภูติเถรคาถา

สุภาษิตเกี่ยวกับจิตหลุดพ้น

[๑๓๘] ได้ยินว่า ท่านพระสุภูติเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้อย่างนี้ว่า ดูกรฝน
กุฎีของเรามุงดีแล้ว มีเครื่องป้องกันอันสบายมิดชิดดี ท่านจงตกลงมา
ตามสะดวกเถิด จิตของเราตั้งมั่นดีแล้ว หลุดพ้นแล้วจากกิเลสทั้งปวง
เราเป็นผู้มีความเพียรอยู่ เชิญตกลงมาเถิดฝน.
[ท่านพระสุภูติมีจิตอันหลุดพ้นแล้ว มีความเพียรไม่ท้อถอย ไม่หวั่นไหวซึ่งความยั่วยวนใจในโลกทั้งหลายประดุจฝน จิตของท่านมีที่อาศัยอันดีเปรียบด้วยกุฎีซึ่งมุงมิดชิดแล้วเป็นที่อยู่สบาย]

๒. มหาโกฏฐิตเถรคาถา

สุภาษิตเกี่ยวกับความสงบ

[๑๓๙] ได้ยินว่า ท่านพระมหาโกฏฐิตเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้อย่างนี้ว่า บุคคลผู้สงบ งดเว้นจากการทำความชั่วพูดด้วยปัญญา ไม่ฟุ้งซ่าน ย่อมกำจัดบาปธรรมทั้งหลาย เหมือนลมพัดใบไม้ให้ล่วงหล่นไป ฉะนั้น.
[ท่านพระมหาโกฏฐิตะเป็นผู้สงบ งดได้ซึ่งการประกอบอกุศลกรรม มีปกติกล่าวด้วยปัญญา มีจิตไม่ฟุ้งซ่าน]

๓. กังขาเรวตเถรคาถา

สุภาษิตเกี่ยวกับปัญญา

[๑๔๐] ได้ยินว่า ท่านพระกังขาเรวตเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้อย่างนี้ว่า ท่านจงดูปัญญานี้ ของพระตถาคตเจ้าทั้งหลายดังไฟอันรุ่งเรืองในเวลาพลบค่ำ พระตถาคตเหล่าใด ย่อมกำจัดความสงสัยของเวไนยสัตว์ทั้งหลาย ผู้มาเฝ้าถึงสำนักของพระองค์ พระตถาคตเหล่านั้น ย่อมชื่อว่าเป็นผู้แสงสว่าง เป็นผู้ให้ดวงตา.
[ท่านพระกังขาเรวตะกล่าวสรรเสริญพระผู้มีพระภาคว่าทรงมีพระปัญญาอันรุ่งเรืองดุจไฟยามพลบค่ำ เป็นผู้ให้ปัญญาจักษุและแสงสว่างแก่สัตว์ที่สั่งสอนได้ทั้งหลาย ทรงขจัดความสงสัยแก่สาวกผู้มาเฝ้าพระองค์]

๔. ปุณณมันตานีปุตตเถรคาถา

สุภาษิตเกี่ยวกับการคบคนดี

[๑๔๑] ได้ยินว่า ท่านพระปุณณมันตานีบุตรเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้อย่างนี้ว่า
บุคคลควรสมาคมกับสัปบุรุษ ผู้เป็นบัณฑิตชี้แจงประโยชน์เท่านั้น
เพราะธีรชนทั้งหลายเป็นผู้ไม่ประมาท เห็นประจักษ์ด้วยปัญญา ย่อมได้
บรรลุถึงประโยชน์อย่างใหญ่ ประโยชน์อย่างลึกซึ้ง เห็นได้ยาก
ละเอียด สุขุม.
[ท่านพระปุณณมันตานีบุตรสรรเสริญการคบแต่สัปบุรุษผู้มีปัญญาชักนำไปสู่ความเจริญ เพราะสัปบุรุษเหล่านั้นเป็นผู้ไม่ประมาท เป็นผู้รู้ในประโยชน์อันลึกซึ้ง เห็นได้ยาก]

๕. ทัพพเถรคาถา

สุภาษิตเกี่ยวกับการฝึกอบรม

[๑๔๒] ได้ยินว่า ท่านพระทัพพเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้อย่างนี้ว่า เมื่อก่อน
พระทัพพมัลลบุตรองค์ใด เป็นผู้อันบุคคลอื่น ฝึกฝนได้โดยยาก แต่
เดี๋ยวนี้พระทัพพมัลลบุตรองค์นั้น เป็นผู้อันพระศาสดาได้ทรงฝึกฝนด้วย
การฝึกฝนด้วยมรรคอันประเสริฐ เป็นผู้สันโดษ ข้ามความสงสัยได้แล้ว
เป็นผู้ชนะกิเลส ปราศจากความขลาด มีจิตตั้งมั่น ดับความเร่าร้อนได้แล้ว.
[ท่านพระทัพพมัลลบุตรกล่าวว่าแต่ก่อนท่านเป็นผู้ที่บุคคลอื่นจะฝึกฝนได้โดยยาก แต่พระผู้มีพระภาคได้ฝึกฝนท่านแล้วในบัดนี้ด้วยมรรคอันประเสริฐ ท่านเป็นผู้สันโดษ ละได้ซึ่งความสงสัย ชำนะกิเลส ไม่มีความขลาด มีจิตตั้งมั่น ดับความเร่าร้อนเสียได้]

๖. สีตวนิยเถรคาถา

สุภาษิตเกี่ยวกับความสันโดษ

[๑๔๓] ได้ยินว่า ท่านพระสีตวนิยเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้อย่างนี้ว่า ภิกษุใดมาสู่ป่าสีตวันแล้ว ภิกษุนั้นเป็นผู้อยู่แต่ผู้เดียว สันโดษ มีจิตตั้งมั่น ชนะกิเลส ปราศจากขนลุกขนพอง มีปัญญารักษากายาคตาสติอยู่.
[ท่านพระสีตวนิยเถระผู้ฝึกตนในป่าสีตวันแต่ผู้เดียว สันโดษ มีจิตตั้งมั่น ละกิเลสได้แล้ว ปราศจากความรู้สึกหวาดเสียว ขนลุกพอง รักษาตนด้วยกายคตาสติและปัญญา]

๗. ภัลลิยเถรคาถา

สุภาษิตเกี่ยวกับผู้ชนะ

[๑๔๔] ได้ยินว่า ท่านพระภัลลิยเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้อย่างนี้ว่า ผู้ใดกำจัดเสนาแห่งมัจจุราช เหมือนห้วงน้ำใหญ่ กำจัดสะพานไม้อ้ออันแสนจะทรุดโทรม ฉะนั้น ก็ผู้นั้นจัดว่าเป็นผู้ชนะมาร ปราศจากความหวาดกลัว มีตนอันฝึกฝนแล้วมีจิตตั้งมั่น ดับกิเลสและความเร่าร้อนได้แล้ว.
[ท่านพระภัลลิยะกำจัดได้แล้วซึ่งกิเลสมารอันเป็นเสนาแห่งมัจจุราช ดุจห้วงน้ำใหญ่กำจัดสะพานไม้อ้ออันทรุดโทรม ท่านปราศจากความหวาดกลัว ฝึกฝนตนแล้ว มีจิตตั้งมั่น]

๘. วีรเถรคาถา

สุภาษิตเกี่ยวกับการชนะกิเลส

[๑๔๕] ได้ยินว่า ท่านพระวีรเถระได้ภาษิตคาถานี้ ในเวลาภรรยาเก่าไปเล้าโลมเพื่อให้สึก ว่า
เมื่อก่อน ผู้ใดเป็นผู้อันบุคคลอื่นฝึกได้โดยยาก แต่เดี๋ยวนี้ผู้นั้นอัน
พระผู้มีพระภาคฝึกฝนได้ดีแล้ว เป็นนักปราชญ์มีความสันโดษ ข้ามความ
สงสัยได้แล้ว เป็นผู้ชนะกิเลสมาร ปราศจากขนลุกขนพอง ปราศจาก
ความกำหนัด มีจิตตั้งมั่น ดับกิเลสและความเร่าร้อนได้แล้ว.
[ท่านพระวีระเถระกล่าวคาถานี้ครั้งภรรยาเก่าเล้าโลมให้สึกว่า ท่านนั้นพระผู้มีพระภาคฝึกฝนแล้ว เป็นปราชญ์ผู้สันโดษ ละได้ซึ่งควาามสงสัย ชนะกิเลสมาร ปราศจากความขนลุกพอง ความกำหนัด มีจิตตั้งมั่น]

๙. ปิลินทวัจฉเถรคาถา

สุภาษิตเกี่ยวกับการฟังธรรม

[๑๔๖] ได้ยินว่า ท่านพระปิลินทวัจฉเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้อย่างนี้ว่า การที่เรามาสู่สำนักของพระศาสดานี้ เป็นการมาดีแล้ว ไม่ไร้ประโยชน์ การที่เราคิดไว้ว่าจักฟังธรรมในสำนักของพระผู้มีพระภาคแล้วจักบวช เป็น
ความคิดที่ไม่ไร้ประโยชน์ เพราะเมื่อพระผู้มีพระภาคทรงจำแนกธรรม
ทั้งหลายอยู่ เราได้บรรลุธรรมอันประเสริฐแล้ว.
[ท่านพระปิลินทวัจฉเถระกล่าวภาษิตว่าการมาในสำนักของพระผู้มีพระภาคของท่านนี้เป็นการมาดีแล้ว ไม่ไร้ประโยชน์ การที่ท่านตั้งใจมาฟังธรรมจากพระผู้มีพระภาคแล้วบวชป็นความคิดที่ไม่ไร้ประโยชน์ ด้วยเมื่อพระผู้มีพระภาคจำแนกธรรมอยู่ ท่านได้บรรลุธรรมอันประเสริฐ]

๑๐. ปุณณมาสเถรคาถา

สุภาษิตเกี่ยวกับการไม่ติดในสิ่งทั้งปวง

[๑๔๗] ได้ยินว่า พระปุณณมาสเถระได้ภาษิตคาถานี้อย่างนี้ว่า ผู้ใดไม่ทะเยอทะยานในโลกนี้หรือโลกอื่น ผู้นั้นเป็นผู้จบไตรเพท เป็นผู้สันโดษ สำรวมแล้ว ไม่ติดอยู่ในธรรมทั้งปวง เป็นผู้รู้แจ้งซึ่งความเกิดขึ้นและ
ความเสื่อมไปของโลก.
[ท่านพระปุณณมาสเถระกล่าวภาษิตว่า ผู้ใดตัดเสียได้ซึ่งความทะเยอทะยานในโลกใดๆ ผู้นั้นชื่อว่าศึกษาแล้ว เป็นผู้สันโดษ สำรวมแล้ว ไม่ติดในธรรม รู้แจ้งความเกิดขึ้นและความเสื่อมของโลก]

---------------
ในวรรคนี้รวมพระเถระได้ ๑๐ องค์ คือ
๑. พระสุภูติเถระ ๒. พระมหาโกฏฐิตเถระ
๓. พระกังขาเรวตเถระ ๔. พระปุณณมันตานีปุตตเถระ
๕. พระทัพพเถระ ๖. พระสีตวนิยเถระ
๗. พระภัลลิยเถระ ๘. พระวีรเถระ
๙. พระปิลินทวัจฉเถระ ๑๐. พระปุณณมาสเถระ.

จบ วรรคที่ ๑.

********************************************
ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านครับ


Create Date : 05 เมษายน 2549
Last Update : 5 เมษายน 2549 15:49:53 น. 0 comments
Counter : 722 Pageviews.

พญาเหยี่ยว
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add พญาเหยี่ยว's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.