Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2549
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728 
 
20 กุมภาพันธ์ 2549
 
All Blogs
 

อานิสงส์ของทานและศรัทธา

การบริจาคทานและการมีความเลื่อมใสเป็นข้อธรรมพื้นฐานในพระศาสนา รวมทั้งมองเห็นได้โดยง่ายในชีวิตประจำวัน แต่เมื่อปฏิบัติแล้วมีคุณนับเอนกอนันต์ครับ วันนี้ก็จักกล่าวในเรื่องนี้ครับ

พระสูตรยกมาจากพระสุตตันตปิฎก เล่ม 14 อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต ปฐมปัณณาสก์

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

*****************************************
สุมนวรรคที่ ๔

๑. สุมนสูตร

[๓๑] ครั้งนั้นแล สุมนาราชกุมารี (ราชธิดาของพระเจ้าปเสนทิโกศล) แวดล้อมด้วยรถ ๕๐๐ คัน และราชกุมารี ๕๐๐ คน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส สาวกของพระผู้มีพระภาค ๒ คน มีศรัทธา มีศีล มีปัญญาเท่าๆ กัน คนหนึ่งเป็นผู้ให้ คนหนึ่งไม่ให้ คนทั้งสองนั้น เมื่อตายไปแล้ว พึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค แต่คนทั้งสองนั้น ทั้งที่เป็นเทวดาเหมือนกัน พึงมีความพิเศษแตกต่างกันหรือ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรสุมนา คนทั้งสองนั้นพึงมีความพิเศษแตกต่างกัน คือ ผู้ให้เป็นเทวดาย่อมข่มเทวดาผู้ไม่ให้ด้วยเหตุ ๕ ประการ คือ อายุ วรรณะ สุข ยศ และอธิปไตยที่เป็นทิพย์ ดูกรสุมนา ผู้ที่ให้เป็นเทวดา ย่อมข่มเทวดาผู้ไม่ให้ด้วยเหตุ ๕ ประการนี้ ฯ

สุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ถ้าเทวดาทั้งสองนั้นจุติจากเทวโลกนั้นแล้วมาสู่ความเป็นมนุษย์ แต่คนทั้งสองนั้น ทั้งที่เป็นมนุษย์เหมือนกัน พึงมีความพิเศษแตกต่างกันหรือ ฯ

พ. ดูกรสุมนา คนทั้งสองนั้นมีความพิเศษแตกต่างกัน คือ ผู้ให้เป็นมนุษย์ ย่อมข่มคนไม่ให้ได้ด้วยเหตุ ๕ ประการ คือ ด้วยอายุ วรรณะ สุข ยศ และอธิปไตยที่เป็นของมนุษย์ ดูกรสุมนา ผู้ให้เป็นมนุษย์ย่อมข่มคนผู้ไม่ให้ด้วยเหตุ ๕ ประการนี้ ฯ

สุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ถ้าคนทั้งสองนั้นออกบวช แต่คนทั้งสองนั้น ทั้งที่เป็นบรรพชิตเหมือนกัน พึงมีความพิเศษแตกต่างกันหรือ

พ. ดูกรสุมนา คนทั้งสองนั้นมีความพิเศษแตกต่างกัน คือ คนที่ให้เป็นบรรพชิต ย่อมข่มคนที่ไม่ให้ด้วยเหตุ ๕ ประการ คือ เมื่อออกปากขอย่อมได้จีวรมาก เมื่อไม่ออกปากขอย่อมได้น้อย เมื่อออกปากขอย่อมได้บิณฑบาตมาก เมื่อไม่ออกปากขอย่อมได้น้อย เมื่อออกปากขอย่อมได้เสนาสนะมาก เมื่อไม่ออกปากขอย่อมได้น้อย เมื่อออกปากขอย่อมได้บริขารคือยาที่เป็นเครื่องบำบัดไข้มาก เมื่อไม่ออกปากขอย่อมได้น้อย และจะอยู่ร่วมกับเพื่อนพรหมจรรย์เหล่าใด เพื่อนพรหมจรรย์เหล่านั้นก็ประพฤติต่อเธอด้วยกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม เป็นที่พอใจเป็นส่วนมาก ไม่เป็นที่พอใจเป็นส่วนน้อย ย่อมนำสิ่งเป็นที่พอใจมาเป็นส่วนมาก ย่อมนำสิ่งไม่เป็นที่พอใจมาเป็นส่วนน้อย ดูกรสุมนา ผู้ให้เป็นบรรพชิตย่อมข่มผู้ไม่ให้ด้วยเหตุ ๕ ประการนี้ ฯ

สุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ถ้าคนทั้งสองนั้นบรรลุอรหัตแต่คนทั้งสองนั้นทั้งที่ได้บรรลุอรหัตเหมือนกัน พึงมีความพิเศษแตกต่างกันหรือ

พ. ดูกรสุมนา เราไม่กล่าวว่ามีเหตุแตกต่างกันใดๆ ในวิมุตติ กับวิมุตติ ข้อนี้ ฯ

สุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญไม่เคยมี ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้อนี้กำหนดได้ว่า ควรให้ทาน ควรทำบุญ เพราะบุญเป็นอุปการะแม้แก่เทวดา แม้แก่มนุษย์ แม้แก่บรรพชิต ฯ

พ. อย่างนั้นสุมนา อย่างนั้นสุมนา ควรให้ทาน ควรทำบุญ เพราะบุญเป็นอุปการะแม้แก่เทวดา แม้แก่มนุษย์ แม้แก่บรรพชิต ฯ

พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปว่า
ดวงจันทร์ปราศจากมลทิน เดินไปในอากาศย่อมสว่างกว่า
หมู่ดาวทั้งปวงในโลก ด้วยรัศมี ฉันใด บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วย
ศีล มีศรัทธา ก็ฉันนั้น ย่อมไพโรจน์กว่าผู้ตระหนี่ทั้งปวง
ในโลกด้วยจาคะ ฯ เมฆที่ลอยไปตามอากาศ มีสายฟ้า
ปลาบแปลบ มีช่อตั้งร้อย ตกรดแผ่นดินเต็มที่ดอนและที่
ลุ่ม ฉันใด สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้สมบูรณ์ด้วย
ทัสนะ เป็นบัณฑิต ก็ฉันนั้น ย่อมข่มผู้ตระหนี่ได้ด้วย
ฐานะ ๕ ประการ คือ อายุ วรรณะ สุข ยศ และเปี่ยม
ด้วยโภคะ ย่อมบันเทิงใจในสวรรค์ในปรโลก ดังนี้ ฯ
[สาวกของพระผู้มีพระภาคสองคน มีศรัทธา ศีล และปัญญาเท่าๆกัน แต่ผู้หนึ่งบริจาคทาน อีกผู้หนึ่งไม่บริจาคทาน จะมีคติภพแตกต่างกันหรือเหมือนกันดังนี้
1.เมื่อตายแล้ว ทั้งสองไปสู่สวรรค์ เป็นเทวดาเช่นกัน แต่เทวดาที่เคยบริจาคทานย่อมข่มเทวดาผู้ไม่ให้ทานด้วยเหตุ5ประการคือ อายุ วรรณะ สุข ยศ และอธิปไตย
2.เมื่อเทวดาทั้งสองจุติจากเทวโลกมาสู่ความเป็นมนุษย์ ผู้ที่เคยบริจาคทานย่อมข่มคนไม่ให้ด้วยเหตุ5ประการ คือด้วยอายุ วรรณะ สุข ยศ และอธิปไตยที่เป็นของมนุษย์
3.เมื่อทั้งสองออกบวชเป็นบรรพชิตเหมือนๆกัน บรรพชิตผู้เคยบริจาคทานย่อมข่มคนที่ไม่ให้ด้วยเหตุ5ประการคือ เมื่อออกปากขอย่อมได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ บริขารคือยาบำบัดไข้มาก เมื่อไม่ออกปากขอย่อมได้น้อย และอยู่ร่วมกับเพื่อนบรรพชิต เพื่อนพรหมจรรย์เหล่านั้นก็ปฏิบัติต่อเขาด้วยกาย วาจา ใจ ที่น่าพอใจป็นส่วนมาก ที่ไม่น่าพอใจเป็นส่วนน้อย
4.แต่ถ้าคนทั้งสองบรรลุอรหัตผล พระผู้มีพระภาคตรัสว่าไม่มีความแตกต่างกันใดๆระหว่างวิมุติกับวิมุติ
พระผู้มีพระภาคตรัสสนับสนุนการทำบุญและให้ทาน เพราะบุญนั้นมีประโยชน์แก่เทวดา มนุษย์ และบรรพชิต]


จบสูตรที่ ๑

๒. จุนทิสูตร

[๓๒] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน ใกล้กรุงราชคฤห์ ครั้งนั้นแล ราชกุมารีชื่อว่าจุนที แวดล้อมด้วยรถ ๕๐๐ คัน และกุมารี ๕๐๐ คน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ราชกุมารพระนามว่าจุนทะ พระภาดาของหม่อมฉัน กล่าวอย่างนี้ว่า หญิงหรือชายเป็นผู้ถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ถึงพระธรรมเป็นสรณะ ถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ เว้นขาดจากปาณาติบาต เว้นขาดจากอทินนาทาน เว้นขาดจากกาเมสุมิจฉาจาร เว้นขาดจากมุสาวาท เว้นขาดจากการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ผู้นั้นตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงสุคติอย่างเดียว ไม่เข้าถึงทุคติ ดังนี้ หม่อมฉันจึงขอทูลถามว่า ผู้ที่เลื่อมใสในศาสดาเช่นไร เมื่อตายไปแล้วจึงเข้าถึงสุคติอย่างเดียว ไม่เข้าถึงทุคติ ผู้ที่เลื่อมใสในธรรมเช่นไร เมื่อตายไปแล้วจึงเข้าถึงสุคติอย่างเดียว ไม่เข้าถึงทุคติ ผู้ที่เลื่อมใสในสงฆ์เช่นไร เมื่อตายไปแล้วจึงเข้าถึงสุคติอย่างเดียว ไม่เข้าถึงทุคติ ผู้ที่ทำให้บริบูรณ์ในศีลเช่นไร เมื่อตายไปแล้ว จึงเข้าถึงสุคติอย่างเดียว ไม่เข้าถึงทุคติ ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรจุนที สัตว์ที่ไม่มีเท้าก็ดี มี ๒ เท้าก็ดี มี ๔ เท้าก็ดี มีเท้ามากก็ดี มีรูปก็ดี ไม่มีรูปก็ดี มีสัญญาก็ดี ไม่มีสัญญาก็ดี มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ก็ดี มีประมาณเท่าใด พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า บัณฑิตกล่าวว่าเลิศกว่าสัตว์เหล่านั้น ชนเหล่าใดเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า ชนเหล่านั้นชื่อว่าเลื่อมใสในสิ่งที่เลิศ ก็วิบากอันเลิศย่อมมีแก่บุคคลผู้ที่เลื่อมใสในสิ่งที่เลิศ ธรรมที่เป็นปัจจัยปรุงแต่งก็ดี ที่ปัจจัยไม่ปรุงแต่งก็ดี มีประมาณเท่าใด วิราคะ คือ ธรรมอันย่ำยีความเมา กำจัดความกระหาย ถอนเสียซึ่งอาลัย เข้าไปตัดวัฏฏะ เป็นที่สิ้นตัณหา เป็นที่คลายกำหนัด เป็นที่ดับ นิพพาน บัณฑิตกล่าวว่าเลิศกว่าธรรมเหล่านั้น ชนเหล่าใดเลื่อมใสในวิราคธรรม ชนเหล่านั้นชื่อว่าเลื่อมใสในสิ่งที่เลิศ ก็วิบากอันเลิศย่อมมีแก่บุคคลผู้เลื่อมใสในสิ่งที่เลิศ ฯ หมู่ก็ดี คณะก็ดี มีประมาณเท่าใด สงฆ์สาวกของพระตถาคต คือ คู่แห่งบุรุษ ๔ บุรุษบุคคล ๘ นี้สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค เป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ เป็นผู้ควรของทำบุญ เป็นผู้ควรทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลกไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า บัณฑิตกล่าวว่าเลิศกว่าหมู่หรือคณะเหล่านั้น ชนเหล่าใดเลื่อมใสในสงฆ์ ชนเหล่านั้นชื่อว่าเลื่อมใสในสิ่งที่เลิศ ก็วิบากอันเลิศย่อมมีแก่บุคคลผู้ที่เลื่อมใสในสิ่งที่เลิศ ศีลมีประมาณเท่าใด ศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว คือ ศีลที่ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไทย อันวิญญูชนสรรเสริญ อันตัณหาและทิฐิไม่ลูบคลำ เป็นไปเพื่อสมาธิ บัณฑิตกล่าวว่าเลิศกว่าศีลเหล่านั้น ชนเหล่าใดย่อมทำให้บริบูรณ์ในอริยกันตศีล ชนเหล่านั้นชื่อว่าทำให้บริบูรณ์ในสิ่งที่เลิศ ก็วิบากอันเลิศย่อมมีแก่บุคคลผู้ทำให้บริบูรณ์ในสิ่งที่เลิศ ฯ
บุญอันเลิศ คือ อายุ วรรณะ ยศ เกียรติ สุขและกำลัง
ย่อมเจริญแก่บุคคลผู้รู้แจ้งธรรมที่เลิศ เลื่อมใสในสิ่งที่เลิศ
คือ เลื่อมใสในพระพุทธเจ้าผู้เลิศ ผู้เป็นทักขิเณยบุคคลชั้น
เยี่ยม เลื่อมใสในพระธรรมที่เลิศ อันปราศจากราคะ เป็น
ที่เข้าไปสงบ เป็นสุข เลื่อมใสในพระสงฆ์ผู้เลิศ เป็น
นาบุญชั้นเยี่ยม ให้ทานในสิ่งที่เลิศ ปราชญ์ผู้ถือมั่นธรรม
ที่เลิศ ให้สิ่งที่เลิศ เป็นเทวดาหรือมนุษย์ ย่อมถึงสถาน
ที่เลิศ บันเทิงใจอยู่ ฯ
[การเป็นผู้มีศรัทธาในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และมีศีลบริบูรณ์ ด้วยเหตุดังนี้จึงชื่อว่ามีสุคติเป็นที่หมายเป็นอันแน่นอน คือ
1.พระผู้มีพระภาคเป็นเลิศกว่าสัตว์ทั้งปวงอาทิ สัตว์ไม่มีเท้า สัตว์สองเท้า สัตว์สี่เท้า สัตว์มีเท้ามาก สัตว์มีรูป สัตว์ไม่มีรูป สัตว์มีสัญญา สัตว์ไม่มีสัญญา สัตว์มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ เพราะเหตุนี้ผู้ใดเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า ผู้นั้นชื่อว่าเลื่อมใสในสิ่งที่เลิศ ผู้นั้นย่อมมีวิบากที่เลิศ
2.ธรรมคือวิราคะ อันเข้าไปตัดการเวียนว่ายตายเกิด เป็นที่สิ้นตัณหา เป็นที่ดับ นิพพาน เลิศกว่าธรรมทั้งปวง ผู้ใดเลื่อมใสในวิราคธรรม ผู้นั้นชื่อว่าเลื่อมใสในสิ่งที่เลิศ ผู้นั้นย่อมมีวิบากที่เลิศ
3.พระสงฆ์สาวกของพระตถาคต เป็นพระอริยเจ้า เป็นผู้ควรแก่ของคำนับ ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่ของทำบุญ ควรแก่การอัญชลี เป็นนาบุญของโลก บัณฑิตกล่าวว่าเลิศกว่าหมู่คณะทั้งปวง ผู้ใดเลื่อมใสในสงฆ์ ผู้นั้นชื่อว่าเลื่อมใสในสิ่งที่เลิศ ผู้นั้นย่อมมีวิบากที่เลิศ
4.ศีลที่พระอริยเจ้ายึดถือ ประพฤติ อันบริสุทธิ์ ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่างพร้อย เป็นไทยแก่ตน อันวิญญูชนสรรเสริญ ไม่เศร้าหมองเพราะตัณหาและทิฏฐิ เป็นไปเพื่อสมาธิ บัณฑิตกล่าาว่าเลิศกว่าศีลทั้งปวง ผู้ใดมีศีลดังกล่าวบริบูรณ์ชื่อว่าบริบูรณ์ในสิ่งที่เลิศ ผู้นั้นย่อมมีวิบากที่เลิศ]


จบสูตรที่ ๒

๓.อุคคหสูตร

[๓๓] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ชาติยาวัน ใกล้เมืองภัททิยะ ฯ ครั้งนั้นแล ท่านอุคคหเศรษฐีผู้เป็นหลานท่านเมณฑกเศรษฐีได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่อันควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุ ๓ รูปจงทรงรับภัตตาหารของข้าพระองค์ ในวันพรุ่งนี้ พระผู้มีพระภาคทรงรับด้วยดุษณีภาพ ท่านอุคคหเศรษฐีทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์แล้ว จึงลุกจากอาสนะ ถวายบังคมทำประทักษิณแล้วหลีกไป ครั้งนั้นแล พอล่วงราตรีนั้นไป เป็นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงนุ่งแล้วถือบาตรจีวรเสด็จเข้าไปยังนิเวศน์ของท่านอุคคหเศรษฐี ประทับนั่งบนอาสนะที่เขาแต่งตั้งไว้ ครั้งนั้น ท่านอุคคหเศรษฐีหลานของเมณฑกเศรษฐี ได้อังคาสพระผู้มีพระภาคให้อิ่มหนำสำราญ ด้วยขาทนียโภชนียาหารอย่างประณีตด้วยมือของตนเอง เมื่อทราบว่าพระผู้มีพระภาคทรงเสวยเสร็จแล้ว ทรงลดพระหัตถ์จากบาตรแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กุมารีเหล่านี้ของข้าพระองค์ จักไปอยู่สกุลสามี ขอพระผู้มีพระภาคทรงกล่าวสอน ทรงพร่ำสอนกุมารีเหล่านั้น ซึ่งจะพึงเป็นประโยชน์สุขแก่กุมารีเหล่านั้นตลอดกาลนาน ฯ พระผู้มีพระภาคจึงตรัสสอนกุมารีเหล่านั้นต่อไปดังนี้ว่า ดูกรกุมารี เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า มารดาบิดาของสามีที่เป็นผู้ปรารถนาประโยชน์ หวังความเกื้อกูลอนุเคราะห์ด้วยความเอ็นดู เราทั้งหลายจักตื่นก่อนท่าน นอนทีหลังท่าน คอยรับใช้ท่าน ประพฤติเป็นที่พอใจท่าน พูดคำเป็นที่รักต่อท่าน ดูกรกุมารีทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล ฯ เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า ชนเหล่าใดเป็นที่เคารพของสามี คือ มารดา บิดา หรือสมณพราหมณ์ เราทั้งหลาย จักสักการะ เคารพ นับถือ บูชา เมื่อท่านมาถึงที่ก็จักต้อนรับด้วยที่นั่งหรือน้ำ ดูกรกุมารีทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล ฯ เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า การงานภายในบ้านของสามี คือ การทำขนสัตว์ หรือการทำผ้า เราทั้งหลายจักเป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้านในการงานนั้นๆ จักประกอบด้วยปัญญาเครื่องพิจารณาอันเป็นอุบายในการงานนั้นๆ อาจทำ อาจจัด ดูกรกุมารีทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล ฯ เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราทั้งหลายจักรู้การงานที่อันโตชนภายในบ้านของสามี คือ ทาส คนใช้ หรือกรรมกรทำแล้ว ว่าทำแล้ว ที่ยังไม่ได้ทำ ว่ายังไม่ได้ทำ จักรู้คนป่วยไข้ว่ามีกำลังหรือไม่มีกำลัง และจักแบ่งของเคี้ยวของบริโภคให้ตามเหตุที่ควร ดูกรกุมารีทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล ฯ เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราทั้งหลายจักยังทรัพย์ ข้าวเปลือก เงิน หรือทองที่สามีหามาได้ให้คงอยู่ ด้วยการรักษา คุ้มครอง จักไม่เป็นนักเลงการพนัน ไม่เป็นขโมย ไม่เป็นนักดื่ม ไม่ผลาญทรัพย์ให้พินาศ ดูกรกุมารีทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล ฯ ดูกรกุมารีทั้งหลาย มาตุคามผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล เมื่อตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายเทวดาเหล่ามนาปกายิกา ฯ
สุภาพสตรีผู้มีปรีชา ย่อมไม่ดูหมิ่นสามีผู้หมั่นเพียร ขวนขวาย
อยู่เป็นนิตย์ เลี้ยงตนอยู่ทุกเมื่อ ให้ความปรารถนาทั้งปวง
ไม่ทำสามีให้ขุ่นเคือง ด้วยประพฤติแสดงความหึงหวงสามี
และย่อมบูชาผู้ที่เคารพทั้งปวงของสามี เป็นผู้ขยัน ไม่เกียจ
คร้าน สงเคราะห์คนข้างเคียงของสามี ประพฤติเป็นที่พอใจ
ของสามี รักษาทรัพย์ที่สามีหามาได้ นารีใดย่อมประพฤติ
ตามความพอใจของสามีอย่างนี้ นารีนั้นย่อมเข้าถึงความเป็น
เทวดาเหล่ามนาปกายิกา ฯ
[พระผู้มีพระภาคตรัสสอนกุมารีผู้จักออกเรือนถึงธรรม5ประการดังนี้
1.จักตื่นก่อนนอนทีหลังมารดาบิดาของสามี คอยรับใช้ท่าน ประพฤติเป็นที่พอใจ เพราะบิดามารดาของสามีเป็นผู้ปรารถนาประโยชน์ เกื้อกูลอนุเคราะห์ด้วยความเอ็นดู
2.จักสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ต้อนรับ บุคลผู้เป็นที่รักของสามี คือบิดา มารดา สมณพราหมณ์
3.จักขยัน ไม่เกียจคร้านการงาน จักประกอบด้วยปัญญาในการทำการงาน
4.จักปฏิบัติโดยพิจารณาด้วยดีต่อชนในบ้านสามีคือ ทาส คนใช้ กรรมกร ในการใช้ให้ทำการงาน รู้การปฏิบัติต่อคนป่วย การแบ่งของขบเคี้ยว
5.จักรักษาทรัพย์ที่สามีหามาได้ให้คงอยู่ด้วยการคุ้มครอง ไม่เล่นพนัน ไม่เป็นขโมย ไม่ดื่ม ไม่ผลาญทรัพย์]


จบสูตรที่ ๓

๔. สีหสูตร

[๓๔] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่กุฏาคารศาลาป่ามหาวัน ใกล้เมืองเวสาลี ครั้งนั้นแล สีหเสนาบดีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้ทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคทรงสามารถบัญญติผลแห่งทานที่จะพึงเห็นได้ในปัจจุบันหรือหนอ พระผู้มีพระภาคตรัสว่าสามารถ ท่านสีหเสนาบดี แล้วจึงตรัสต่อไปว่า ดูกรท่านสีหเสนาบดี ทายกผู้เป็นทานบดี ย่อมเป็นที่รักที่ชอบใจของชนเป็นอันมาก แม้ข้อนี้เป็นผลแห่งทานที่จะพึงเห็นเอง ฯ

อีกประการหนึ่ง สัตบุรุษผู้สงบย่อมคบหาทายกผู้เป็นทานบดี แม้ข้อนี้ก็เป็นผลแห่งทานที่จะพึงเห็นเอง ฯ

อีกประการหนึ่ง กิตติศัพท์อันงามของทายกผู้เป็นทานบดีย่อมขจร แม้ข้อนี้ก็เป็นผลแห่งทานที่จะพึงเห็นเอง ฯ

อีกประการหนึ่ง ทายกผู้เป็นทานบดี จะเข้าไปสู่ที่ประชุมใดๆ คือที่ประชุมกษัตริย์ พราหมณ์ คฤหบดี สมณะ ก็ย่อมเป็นผู้องอาจไม่เก้อเขินเข้าไป แม้ข้อนี้ก็เป็นผลแห่งทานที่จะพึงเห็นเอง ฯ

อีกประการหนึ่ง ทายกผู้เป็นทานบดี เมื่อตายไปแล้วย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ แม้ข้อนี้ก็เป็นผลแห่งทานที่จะพึงได้ในสัมปรายภพ ฯ

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้แล้ว สีหเสนาบดีจึงทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ผลแห่งทานที่จะพึงเห็นเอง ๔ ข้อ เหล่านี้ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสบอกแล้ว ข้าพระองค์ย่อมเชื่อต่อพระผู้มีพระภาคในผลแห่งทาน ๔ ข้อนี้ก็หามิได้ แม้ข้าพระองค์เองก็ทราบดี คือ ข้าพระองค์เป็นทายก เป็นทานบดี ย่อมเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของชนเป็นอันมาก สัตบุรุษผู้สงบย่อมคบหาข้าพระองค์ ผู้เป็นทายก เป็นทานบดี กิตติศัพท์อันงามของข้าพระองค์ผู้เป็นทายก เป็นทานบดี ย่อมขจรทั่วไปว่า สีหเสนาบดีเป็นทายก เป็นทานบดี เป็นผู้บำรุงพระสงฆ์ ข้าพระองค์ผู้เป็นทายก เป็นทานบดี จะเข้าไปสู่ที่ประชุมใดๆ คือ ที่ประชุมกษัตริย์ พราหมณ์ คฤหบดี สมณะ ก็ย่อมเป็นผู้แกล้วกล้าไม่เก้อเขินเข้าไป ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ผลแห่งทานที่จะพึงเห็นเอง ๔ ข้อนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสบอกแล้ว ข้าพระองค์ย่อมเชื่อต่อพระผู้มีพระภาคในผลแห่งทาน ๔ ข้อนี้ ก็หามิได้ แม้ข้าพระองค์เองก็ย่อมทราบดี ส่วนผลแห่งทานที่จะพึงเห็นเอง (ข้อที่ ๕) ที่พระผู้มีพระภาคตรัสบอกข้าพระองค์ว่า ทายกผู้เป็นทานบดีเมื่อตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ข้าพระองค์ย่อมไม่ทราบ ก็แต่ว่าข้าพระองค์ย่อมเชื่อต่อพระผู้มีพระภาคในข้อนี้ ฯ พระผู้มีพระภาคตรัสย้ำว่า อย่างนั้นท่านสีหเสนาบดีๆ คือทายกผู้เป็นทานบดี เมื่อตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ฯ
นรชนผู้ไม่ตระหนี่ให้ทาน ย่อมเป็นที่รักของชนเป็นอันมาก
ชนเป็นอันมากย่อมคบหานรชนนั้น นรชนนั้นย่อมได้เกียรติ
มียศ เจริญ เป็นผู้ไม่เก้อเขินแกล้วกล้าเข้าสู่ที่ประชุมชน
เพราะเหตุนี้แล บัณฑิตผู้หวังสุข จงขจัดมลทิน คือ ความ
ตระหนี่แล้วให้ทาน บัณฑิตเหล่านั้นย่อมประดิษฐานใน
ไตรทิพย์ ถึงความเป็นสหายของเทวดา ร่าเริงอยู่ตลอดกาล
นาน บัณฑิตเหล่านั้น ได้ทำสิ่งที่มุ่งหวัง ได้ทำกุศลแล้ว
จุติจากโลกนี้แล้ว ย่อมมีรัศมีเปล่งปลั่ง เที่ยวชมไปใน
อุทยานชื่อนันทนวัน ย่อมเพรียบพร้อมด้วยกามคุณ ๕
เพลิดเพลินรื่นเริงบันเทิงใจอยู่ในนันทนวัน สาวกทั้งปวง
ของพระสุคตผู้ไม่มีกิเลส ผู้คงที่ ทำตามพระดำรัสของ
พระองค์แล้ว ย่อมร่าเริงทุกเมื่อ ฯ
[พระผู้มีพระภาคตรัสแสดงผลแห่งทานที่พึงเห็นได้ในปัจจุบันแก่สีหเสนาบดี ดังนี้
1.ผู้ให้ทานย่อมเป็นที่รักที่ชอบใจแก่ชนเป็นอันมาก
2.ผู้ให้ทานย่อมมีสัตบุรุษผู้สงบมาคบหา
3.ผู้ให้ทานย่อมมีกิตติศัพท์อันงาม
4.ผู้ให้ทานจะไปสู่ประชุมชนใด อาทิที่ประชุมกษัตริย์ พราหมณ์ คฤหบดี สมณะ ย่อมเป็นผู้องอาจไม่เก้อเขิน
5.ผู้ให้ทานเมื่อตายไปแล้วย่อมถึงสุคติ

สีหเสนาบดีกล่าวว่าท่านเห็นจริงในสี่ประการแรกด้วยตนเองแล้ว แต่ประการที่ห้าท่านยังไม่ได้ประสบ แม้เช่นนั้นท่านก็เชื่อถือศรัทธาในพระดำรัสของพระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสย้ำว่า อย่างนั้นท่านสีหเสนาบดีๆ คือทายกผู้เป็นทานบดี เมื่อตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์]


จบสูตรที่ ๔

๕. ทานานิสังสสูตร

[๓๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์แห่งการให้ทาน ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ ผู้ให้ทานย่อมเป็นที่รักที่ชอบใจของชนหมู่มาก ๑ สัปบุรุษผู้สงบย่อมคบหาผู้ให้ทาน ๑ กิตติศัพท์อันงามของผู้ให้ทานย่อมขจรทั่วไป ๑ ผู้ให้ทานย่อมไม่ห่างเหินจากธรรมของคฤหัสถ์ ๑ ผู้ให้ทานเมื่อตายไปแล้วย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์แห่งการให้ทาน ๕ ประการนี้แล ฯ
[อานิสงส์ของการให้ทาน5ประการคือ
1.ผู้ให้ทานย่อมเป็นที่รักที่ชอบใจแก่ชนเป็นอันมาก
2.ผู้ให้ทานย่อมมีสัตบุรุษผู้สงบมาคบหา
3.ผู้ให้ทานย่อมมีกิตติศัพท์อันงาม
4.ผู้ให้ทานย่อมไม่ห่างเหินจากธรรมของคฤหัสถ์
5.ผู้ให้ทานเมื่อตายไปแล้วย่อมถึงสุคติ]

ผู้ให้ทานย่อมเป็นที่รักของชนเป็นอันมาก ชื่อว่าดำเนินตาม
ธรรมของสัปบุรุษ สัปบุรุษผู้สงบผู้สำรวมอินทรีย์ ประกอบ
พรหมจรรย์ ย่อมคบหาผู้ให้ทานทุกเมื่อ สัปบุรุษเหล่านั้น
ย่อมแสดงธรรมเป็นที่บรรเทาทุกข์ทั้งปวงแก่เขา เขาได้ทราบ
ชัดแล้ว ย่อมเป็นผู้หาอาสวะมิได้ปรินิพพานในโลกนี้ ฯ

จบสูตรที่ ๕

๖. กาลทานสูตร

[๓๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย กาลทาน ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ ทายกย่อมให้ทานแก่ผู้มาสู่ถิ่นของตน ๑ ทายกย่อมให้ทานแก่ผู้เตรียมจะไป ๑ ทายกย่อมให้ทานในสมัยข้าวแพง ๑ ทายกย่อมให้ข้าวใหม่แก่ผู้มีศีล ๑ ทายกย่อมให้ผลไม้ใหม่แก่ผู้มีศีล ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย กาลทาน ๕ ประการนี้แล ฯ
[กาลอันสมควรที่ทายกจักให้ทานคือ
1.ผู้รับทานมาสู่ถิ่นของตน
2.ผู้รับทานเตรียมจะไป
3.เป็นเวลาที่ข้าวแพง ควรแก่การให้ทาน
4.ให้ข้าวใหม่แก่ผู้มีศีล
5.ให้ผลไม้ใหม่แก่ผู้มีศีล]

ผู้มีปัญญา รู้ความประสงค์ ปราศจากความตระหนี่ ย่อมให้ทาน
ในกาลที่ควรให้ เพราะผู้ให้ทานตามกาลในพระอริยเจ้า
ทั้งหลาย ผู้ปฏิบัติซื่อตรง ผู้มีใจคงที่ เป็นผู้มีใจผ่องใส
ทักขิณาทานจึงจะมีผลไพบูลย์ ชนเหล่าใดย่อมอนุโมทนา
หรือช่วยเหลือในทักขิณาทานนั้น ทักขิณาทานนั้นย่อมไม่มี
ผลบกพร่อง เพราะการอนุโมทนาหรือการช่วยเหลือนั้น
แม้พวกที่อนุโมทนาหรือช่วยเหลือ ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งบุญ
เพราะฉะนั้น ผู้มีจิตไม่ท้อถอยจึงควรให้ทานในเขตที่มีผล
มาก บุญทั้งหลายย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในปรโลก ฯ

จบสูตรที่ ๖

๗. โภชนทานสูตร

[๓๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทายกผู้ให้โภชนะเป็นทาน ชื่อว่าให้ฐานะ ๕ อย่างแก่ปฏิคาหก ๕ อย่างเป็นไฉน คือ ให้อายุ ๑ ให้วรรณะ ๑ ให้สุข ๑ ให้กำลัง ๑ ให้ปฏิภาณ ๑ ครั้นให้อายุแล้วย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งอายุทั้งที่เป็นทิพย์ ทั้งที่เป็นมนุษย์ ครั้นให้วรรณะแล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งวรรณะทั้งที่เป็นทิพย์ ทั้งที่เป็นมนุษย์ ครั้นให้สุขแล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งสุขทั้งที่เป็นทิพย์ทั้งที่เป็นมนุษย์ ครั้นให้กำลังแล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งกำลังทั้งที่เป็นทิพย์ทั้งที่เป็นมนุษย์ ครั้นให้ปฏิภาณแล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งปฏิภาณทั้งที่เป็นทิพย์ทั้งที่เป็นมนุษย์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทายกผู้ให้โภชนะเป็นทานชื่อว่าให้ฐานะ ๕ อย่างนี้แล ฯ
[ทายกผู้ให้อาหารเป็นทาน ชื่อว่าให้ในฐานะ5ประการแก่ผู้รับคือ
1.ให้อายุ ผู้ให้ย่อมมีส่วนแห่งอายุทั้งที่เป็นทิพย์ทั้งที่เป็นมนุษย์
2.ให้วรรณะ ผู้ให้ย่อมมีส่วนแห่งวรรณะทั้งที่เป็นทิพย์ทั้งที่เป็นมนุษย์
3.ให้สุข ผู้ให้ย่อมมีส่วนแห่งสุขทั้งที่เป็นทิพย์ทั้งที่เป็นมนุษย์
4.ให้กำลัง ผู้ให้ย่อมมีส่วนแห่งกำลังทั้งที่เป็นทิพย์ทั้งที่เป็นมนุษย์
5.ให้ปฏิภาณ ผู้ให้ย่อมมีส่วนแห่งปฏิภาณทั้งที่เป็นทิพย์ทั้งที่เป็นมนุษย์]

ปราชญ์ผู้มีปัญญา ให้อายุย่อมได้อายุ ให้กำลัง ย่อมได้
กำลัง ให้วรรณะย่อมได้วรรณะ ให้ปฏิภาณย่อมได้ปฏิภาณ
ให้สุขย่อมได้สุข ครั้นให้อายุ กำลัง วรรณะ สุข และ
ปฏิภาณแล้วจะเกิดในที่ใดๆ ย่อมเป็นผู้มีอายุยืน มียศ ฯ

จบสูตรที่ ๗

๘. สัทธานิสังสสูตร

[๓๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรผู้มีศรัทธา ย่อมมีอานิสงส์ ๕ ประการ ๕ ประการเป็นไฉน คือ สัปบุรุษผู้สงบในโลกทุกๆ ท่าน เมื่อจะอนุเคราะห์ย่อมอนุเคราะห์ผู้มีศรัทธาก่อนผู้อื่น ย่อมไม่อนุเคราะห์ผู้ไม่มีศรัทธาก่อนผู้อื่น ๑ เมื่อจะเข้าไปหา ย่อมเข้าไปหาผู้มีศรัทธาก่อนผู้อื่น ย่อมไม่เข้าไปหาผู้ไม่มีศรัทธาก่อนผู้อื่น ๑ เมื่อจะต้อนรับ ย่อมต้อนรับผู้มีศรัทธาก่อนผู้อื่น ย่อมไม่ต้อนรับผู้ไม่มีศรัทธาก่อนผู้อื่น ๑ เมื่อจะแสดงธรรม ย่อมแสดงธรรมแก่ผู้มีศรัทธาก่อนผู้อื่น ย่อมไม่แสดงธรรมแก่ผู้ไม่มีศรัทธาก่อนผู้อื่น ๑ กุลบุตรผู้มีศรัทธาเมื่อไปแล้ว ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรผู้มีศรัทธาย่อมมี อานิสงส์ ๕ ประการนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนต้นไทรใหญ่ที่ทางสี่แยก มีพื้นราบเรียบ ย่อมเป็นที่พึ่งของพวกนกโดยรอบ ฉันใด กุลบุตรผู้มีศรัทธาก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมเป็นที่พึ่งของชนเป็นอันมาก คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ฯ
[กุลบุตรผู้มีศรัทธา ย่อมมีอานิสงส์5ประการคือ
1.สัปบุรุษผู้สงบทั้งหลาย เมื่อจะอนุเคราะห์ย่อมอนุเคราะห์ผู้มีศรัทธาก่อน
2.สัปบุรุษผู้สงบทั้งหลาย เมื่อจะเข้าไปหาย่อมเข้าไปหาผู้มีศรัทธาก่อน
3.สัปบุรุษผู้สงบทั้งหลาย เมื่อจะต้อนรับย่อมต้อนรับผู้มีศรัทธาก่อน
4.สัปบุรุษผู้สงบทั้งหลาย เมื่อจะแสดงธรรมย่อมแสดงธรรมแก่ผู้มีศรัทธาก่อน
5.ผู้มีศรัทธาย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์]

ต้นไม้ใหญ่ สล้างด้วยกิ่ง ใบ และผล มีลำต้นแข็งแรง
มีรากมั่นคง สมบูรณ์ด้วยผล ย่อมเป็นที่พึ่งของนกทั้งหลาย
ฝูงนกย่อมอาศัยต้นไม้นั้น ซึ่งเป็นที่รื่นรมย์ใจ ให้เกิดสุข
ผู้ต้องการความร่มเย็น ย่อมเข้าไปอาศัยร่มเงา ผู้ต้องการผล
ก็ย่อมบริโภคผลได้ ฉันใด ท่านผู้ปราศจากราคะ ปราศจาก
โทสะ ปราศจากโมหะ ไม่มีอาสวะ เป็นบุญเขตในโลก
ย่อมคบหาบุคคลผู้มีศรัทธา ซึ่งสมบูรณ์ด้วยศีล ประพฤติ
ถ่อมตน ไม่กระด้าง สุภาพ อ่อนโยน มีใจมั่นคง ฉันนั้น
เหมือนกัน ท่านเหล่านั้น ย่อมแสดงธรรมเครื่องบรรเทาทุกข์
ทั้งปวงแก่เขา เขาเข้าใจทั่วถึงธรรมนั้นแล้ว ย่อมเป็นผู้หมด
อาสวกิเลส ปรินิพพาน ฯ

จบสูตรที่ ๘

๙. ปุตตสูตร

[๓๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย มารดา บิดา เล็งเห็นฐานะ ๕ ประการนี้ จึงปรารถนาบุตรเกิดในสกุล ฐานะ ๕ ประการเป็นไฉน คือ บุตรที่เราเลี้ยงมาแล้วจักเลี้ยงตอบแทน ๑ จักทำกิจแทนเรา ๑ วงศ์สกุลจักดำรงอยู่ได้นาน ๑ บุตรจักปกครองทรัพย์มรดก ๑ เมื่อเราตายไปแล้ว บุตรจักบำเพ็ญทักษิณาทานให้ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย มารดา บิดา เล็งเห็นฐานะ ๕ ประการนี้แล จึงปรารถนาบุตรเกิดในสกุล ฯ
[บิดามารดา เล็งเห็นฐานะ5ประการนี้จึงปรารถนามีบุตรเกิดในสกุล
1.บุตรที่ตนเลี้ยงมาแล้วจักเลี้ยงตอบแทน
2.บุตรจักทำกิจแทนตน
3.บุตรจักดำรงสกุลให้อยู่ได้ยืนนาน
4.บุตรจักปกครองทรัพย์มรดก
5.เมื่อตนกระทำกาละแล้ว บุตรจักบำเพ็ญทักษิณาทานให้]

มารดาบิดาผู้ฉลาด เล็งเห็นฐานะ ๕ ประการจึงปรารถนาบุตร
ด้วยหวังว่า บุตรที่เราเลี้ยงมาแล้ว จักเลี้ยงตอบเรา จักทำ
กิจแทนเรา วงศ์สกุลจักดำรงอยู่ได้นาน บุตรจักปกครอง
ทรัพย์มรดก และเมื่อเราตายไปแล้ว บุตรจักบำเพ็ญทักษิณา
ทานให้ มารดาบิดาผู้ฉลาดเล็งเห็นฐานะเหล่านี้ จึงปรารถนา
บุตร ฉะนั้นบุตรผู้เป็นสัปบุรุษ ผู้สงบ มีกตัญญูกตเวที
เมื่อระลึกถึงบุรพคุณของท่าน จึงเลี้ยงมารดาบิดา ทำกิจแทน
ท่าน เชื่อฟังโอวาท เลี้ยงสนองพระคุณท่าน สมดังที่ท่านเป็น
บุรพการี ดำรงวงศ์สกุล บุตรผู้มีศรัทธา สมบูรณ์ด้วยศีล
ย่อมเป็นที่สรรเสริญทั่วไป ฯ

จบสูตรที่ ๙

๑๐. สาลสูตร

[๔๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต้นสาละใหญ่อาศัยขุนเขาหิมวันต์ ย่อมเจริญด้วยความเจริญ ๕ ประการ ๕ ประการเป็นไฉน คือ ย่อมเจริญด้วยกิ่งและใบ ๑ ย่อมเจริญด้วยเปลือก ๑ ย่อมเจริญด้วยกะเทาะ ๑ ย่อมเจริญด้วยกระพี้ ๑ ย่อมเจริญด้วยแก่น ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต้นสาละใหญ่อาศัยขุนเขาหิมวันต์ ย่อมเจริญด้วยความเจริญ ๕ ประการนี้แล ฉันใด ชนภายในอาศัยเจ้าบ้านผู้มีศรัทธาย่อมเจริญด้วยความเจริญ ๕ ประการ ฉันนั้นเหมือนกันแล ความเจริญ ๕ ประการเป็นไฉน คือ ย่อมเจริญด้วยศรัทธา ๑ ย่อมเจริญด้วยศีล ๑ ย่อมเจริญด้วยสุตะ ๑ ย่อมเจริญด้วยจาคะ ๑ ย่อมเจริญด้วยปัญญา ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ชนภายในอาศัยเจ้าบ้านผู้มีศรัทธา ย่อมเจริญด้วยความเจริญ ๕ ประการนี้แล ฯ
[ต้นสาละในขุนเขาหิมวันต์ ย่อมมีความเจริญ5ประการคือ
1.เจริญด้วยกิ่งและใบ
2.เจริญด้วยเปลือก
3.เจริญด้วยกะเทาะ
4.เจริญด้วยกระพี้
5.เจริญด้วยแก่น

ฉันใดก็ฉันนั้น ชนในบ้านผู้อาศัยเจ้าบ้านคือกุลบุตรผู้มีศรัทธา มิอาทิ บุตร ภรรยา มิตร อำมาตย์ หมู่ญาติ และคนที่เข้าไปอาศัยเลี้ยงชีพย่อมมีความเจริญ5ประการคือ
1.เจริญด้วยศรัทธา
2.เจริญด้วยศีล
3.เจริญด้วยการฟัง
4.เจริญด้วยการให้ทาน
5.เจริญด้วยปัญญา]

ต้นไม้ทั้งหลาย อาศัยบรรพตศิลาล้วนในป่าใหญ่ ย่อมเจริญ
ขึ้นเป็นไม้ใหญ่ชั้นเจ้าป่า ฉันใด บุตร ภรรยา มิตร
อำมาตย์ หมู่ญาติ และคนที่เข้าไปอาศัยเลี้ยงชีพทั้งหลาย
ในโลกนี้ ได้อาศัยกุลบุตรผู้มีศรัทธา สมบูรณ์ด้วยศีล
จึงเจริญได้ ฉันนั้นเหมือนกัน ชนเหล่านั้นเห็นศีล จาคะและ
สุจริตทั้งหลาย ของกุลบุตรผู้มีศีล จาคะและสุจริตนั้น
เมื่อประจักษ์ชัดแล้ว ย่อมประพฤติตาม ชนเหล่านั้น ครั้น
ประพฤติธรรมอันเป็นที่ไปสู่สวรรค์ สุคติ ในโลกนี้แล้ว
ย่อมเป็นผู้เพลิดเพลิน เพียบพร้อมด้วยกาม บันเทิงใจ
ในเทวโลก ฯ

จบสูตรที่ ๑๐

จบสุมนวรรคที่ ๔

************************************
ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านครับ




 

Create Date : 20 กุมภาพันธ์ 2549
0 comments
Last Update : 20 กุมภาพันธ์ 2549 13:02:10 น.
Counter : 528 Pageviews.


พญาเหยี่ยว
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add พญาเหยี่ยว's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.