It's All I Have to Bring Today !
Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2554
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
14 พฤษภาคม 2554
 
All Blogs
 

อังกฤษอเมริกัน ๒.๑



แรงงาน
“วันแรงงานที่ผ่านมาไปเที่ยวไหนมั่ง มารศรี”

“ฉันหรือ ก็ไม่ได้ทำอะไรมาก ออมแรงงานอ่านหนังสืออยู่ที่บ้าน”

“เขาเรียกว่าออมพลังงานไม่ใช่เหรอ”

“ไม่รู้สิ ฉันนึกว่าพลังงานหมายถึงสิ่งที่ขับเคลื่อนพวกเครื่องกลไฟฟ้าอะไรพวกนั้นเสียอีก ถ้าเป็นภาษาอังกฤษนั่นเรียกว่า energy (เอ๊นเหน่อร์จี่) แต่แรงงานที่ฉันพูดนี่หมายถึงของฉันเอง ฉัน save labor (ถ้าสะกดแบบอังกฤษอังกฤษก็เป็น labour แต่ออกเสียงเหมือนกัน คือ เล้เบ่อร์) โดยการไม่ใช้ labor-saving devices (เลเบอร์ เซฟิง ดิไฟ้สิส) โดยนั่งๆ นอนๆ อ่านหนังสือ ออกแรงสมองอย่างเดียว”

“อะไรนะ labor-saving devices ของเธอน่ะ หมายถึงอะไร”

“เธอเคยสังเกตไหมว่าโลกสมัยนี้มีเครื่องสารพัดที่ทำให้เราไม่ต้องออกแรงกาย จะไปไหนก็มีรถนั่ง จะเดินขึ้นบันไดก็มีบันไดเลื่อนหรือลิฟต์ จะเหลาดินสอ จะหั่นผัก จะโขลกน้ำพริก ก็ยังมีอุปกรณ์ไฟฟ้าทำแทน ความจริงลิฟต์เขาสร้างเพื่อใช้ในตึกที่สูงเสียดฟ้า ตึกแค่ 4-5 ชั้นสมัยก่อนส่วนมากเป็น walk-up buildings = ตึกที่ต้องเดินขึ้นบันได แต่สมัยนี้ตึกขนาดเดียวกันก็มีลิฟต์ ทำให้คนชินกับการใช้ labor-saving devices = เครื่องช่วยออมแรงงาน มากกว่าใช้แรงงานกล้ามเนื้อของตัวเอง”

“ไม่ต้องมาหาทางว่าฉันทางอ้อมนะ ที่ฉันไม่ชอบเดินขึ้นบันไดเพราะกระโปรงสั้นต่างหาก”

“แต่ที่ตลกก็คือตอนกลางวันคนเราจะใช้เครื่องออมแรงสารพัด แต่ปรากฏว่าการออมแรงนั้นกลับทำให้เป็นโรคสารพัด ที่เขาเรียกว่า lifestyle diseases (ไล้ฟสตายล ดิซี้สสิส) = โรคที่เกิดจากวิถีชีวิต น่ะ เช่นโรคอ้วน ความดันสูง โรคหัวใจ ฯลฯ พอหลังเลิกงานก็เลยต้องหาเรื่องใช้แรงงาน เช่นขี่จักรยานอยู่กับที่ เดินอยู่กับที่ วิ่งอยู่กับที่ แทนที่จะใช้กล้ามเนื้อเหล่านั้นในการดำเนินชีวิตประจำวันตามปกติ”

“ก็ฉันไม่ใช่กรรมกรนี่ยะ จะได้เดินไปทำงานให้เหงื่อท่วมตัว รองเท้า Louboutin จะได้สึกหมด”

“เธอรู้หรือเปล่าว่าที่เธอนั่งทำงานห้องแอร์ในตึกสูงได้นี่ก็เพราะหยาดเหงื่อของกรรมกร คนอย่างเธอนี่น่าจะไปลองทำงานที่ต้องใช้แรงงานสักวัน จะได้เห็นว่าคนที่ด้อยโอกาสกว่าเธอเขามีชีวิตอย่างไร”

“โอ๊ย ฉันไม่ไปหาหรอก งานกรรมกรน่ะ เรื่องอะไรอยู่ดี ๆ จะ go into labor ให้เสียศักดิ์ศรี”

“นี่เธอ ใช้ภาษาอังกฤษผิดอีกแล้ว รู้หรือเปล่า”

“ยัยนี่ก็จับผิดกันจริ๊ง ฉันผิดตรงไหนกันยะ แม่นักเรียนนอก สำนวนนี้ฉันเคยได้ยินนะ”

“คงใช่ แต่ go into labor เป็นสำนวนแปลว่า ใกล้คลอด จ้ะ ไม่เกี่ยวอะไรกับกรรมกรเลย”.

หนังสือ “ฟอไฟฟุดฟิดอังกฤษอเมริกัน” เล่ม 1-6 รวมซีดี ลดจาก 600 เหลือ 550 บาท หรือถ้าไม่เอาซีดีก็เพียง 480 บาท ส่ง EMS ฟรี ส่งธนาณัติสั่งจ่ายนายเสาวพจน์ ศรีวลี 20/1 ซอยอินทามระ 7 ป.ณ. สามเสนใน กท. 10400 หรือเข้าบัญชี ธ.กรุงเทพ หมายเลข111-4-02764-0 แฟกซ์ใบสั่งจ่ายไปที่ 0-2616-8215 อย่าลืมเขียนชื่อ-ที่อยู่นะครับ เว็บไซต์ผม //boonhod.com อีเมลผม boonhod@hotmail.com


อังกฤษท้องถิ่น ▓

“มารศรี ย้าฮู ฉันอยู่นี่”

“สวัสดีจ้ะ แหม ไปเที่ยวต่างประเทศไม่เท่าไหร่ กลับมาเดาะภาษาฝรั่งเชียวนะ แต่ความจริงเธอใช้คำผิด รู้ไหม”

“นี่ แม่มารศรี ใจคอจะไม่ให้ฉันหายใจเลยเหรอก่อนที่จะวิจารณ์ภาษาอังกฤษของฉัน”

“ทำไมเธอไม่ชอบให้ฉันวิจารณ์ล่ะ ถ้าไม่วิจารณ์เธอก็ไม่ปรับปรุงสิ อาจจะหลงคิดว่าเธอดีอยู่แล้ว ถ้าเธอไปพูดกับฝรั่ง เขาก็ไม่บอกเธอหรอกว่าเธอผิด เพราะเขาต้องรักษามารยาท แต่เธอลับตาไปเขาก็อาจจะนินทาเธอว่ายัยคนนี้ตลกจัง แต่ที่ฉันวิจารณ์เธอซึ่ง ๆ หน้าก็เพราะฉันรักเธอ อยากให้เธอพัฒนาก้าวหน้า แต่ถ้าเธอไม่อยากพัฒนา อยากย่ำเท้าอยู่กับที่หรือถอยหลังเข้าคลองก็บอกมา ฉันจะได้เลิกวิจารณ์แล้วหาเรื่องมาสรรเสริญเยินยอเธอแทน อย่างนั้นจะเอาไหม”

“อืมม์ ก็ไม่เลวนะ แต่ฉันว่าเธออกแตกตายก่อนแน่เลย งั้นอย่าเลย ฉันไม่อยากให้เธอเป็นอะไรไป วิจารณ์ฉันต่อก็ได้ ตกลงบอกมาว่าฉันใช้ผิดตรงไหน อีแค่คำว่า ‘ย้าฮู’ เนี่ย”

“ก็คำที่เธอควรใช้คือ Yoohoo! (ยู้ฮู) เป็นคำที่ใช้เรียกความสนใจอีกฝ่าย ส่วน Yahoo! (ย้าฮู) นั่นนอกจากจะเป็นชื่อบริษัทยักษ์ใหญ่ในอินเทอร์เน็ตแล้ว ยังเป็นคำที่ใช้ตะโกนแสดงความลิงโลดดีใจสุดขีด”

“ก็ได้ ยู้ฮู มารศรี ฉันอยู่นี่ โอเคมั้ย”

“ก็ดีขึ้น แล้วเป็นอย่างไรบ้าง เดินทางท่องเที่ยวได้เพื่อนใหม่มากไหม”

“ก็ได้เหมือนกัน แต่เธอก็รู้ว่าฉันไปแค่ประเทศใกล้ ๆ เพื่อนใหม่ก็เลยไม่ใช่ฝรั่ง แต่เป็นคนเอเชียที่ภาษาอังกฤษไม่ได้ดีกว่าเราสักเท่าไหร่ สำเนียงฟังก็ยาก พูด ๆ ไปก็ลงท้ายด้วย ‘หล่า’ หน้าตาเฉย”

“ก็อย่างนี้แหละ ภาษาอังกฤษไปที่ไหนก็มักจะโดนแปรรูปให้เข้ากับสภาพท้องถิ่น อย่างสิงคโปร์ก็พูด Singlish มาเลเซียก็พูด Manglish ซึ่งฟังเหมือนกับเอา mangled = ถูกทำให้ยับเยินเละ กับ English มารวมกัน แต่จริง ๆ แล้วแค่เป็นการรวม Malaysian กับ English พวกนี้เขามีศัพท์สำนวนของตัวเองด้วย”

“แล้วอย่างไทยนี่มี Tinglish หรือเปล่า”

“บางคนคิดว่าภาษาอังกฤษแบบไทย ๆ คือ Tinglish แต่ฉันว่าคนไทยทั่วไปยังไม่ใช้ภาษาอังกฤษแพร่หลายมากพอที่มันจะกลายเป็นภาษาที่มีชีวิตจิตใจของตัวเองแบบ Singlish หรือ Manglish ของเรายังแค่ระดับ broken English = ภาษาอังกฤษกระท่อนกระแท่น ธรรมดา แต่ไม่แน่ ในอนาคตถ้าเราประกาศให้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการแบบประเทศเพื่อนบ้าน เราก็อาจจะมี Tinglish ของจริงได้เหมือนกัน”.


Work the room

“นี่มารศรี ทำไมเวลาฉันไปงานเลี้ยงถึงไม่ได้รู้จักคนใหม่ ๆ เลย แต่เธอถึงได้นามบัตรคนโน้นคนนี้มาเพียบ ฉันว่าเธอก็ไม่ได้สวยกว่าฉันสักเท่าไหร่นะ”

“เธอเคยสังเกตไหม เวลาไปงานแต่งงานโรงแรมหรู ๆ ที่เมืองไทย ทุกคนต้องมองหาคนที่ตัวเองรู้จัก ถ้าไม่รู้จักใครในงานก่อนหน้านั้นก็ซวยไป เพราะคนที่ไม่รู้จักกันมาก่อนจะไม่คุยกัน”

“เออจริง อย่างไปงานโต๊ะจีน เวลาต้องนั่งกับคนที่เราไม่รู้จักนี่ฝืดน่าดูเลย เป็นเพราะคนไทยขี้อายมั้ง”

“ไม่รู้สิ แต่ในวัฒนธรรมอเมริกัน การแนะนำตัวเองกับคนแปลกหน้าเป็นเรื่องปกติธรรมดามาก ถ้าเธออยากรู้จักใครก็เดินเข้าไปหาเขา ยื่นมือด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแล้วพูดว่า Hi, I’m (ชื่อ) (นามสกุล). ไปเลย เขาก็ต้องตอบสนองโดยการยื่นมือมาจับมือของเธอแล้วบอกชื่อสกุลของตัวเอง”

“ยังงั้นเลยเหรอ แต่เป็นฉันคงไม่กล้าหรอก”

“ก็ไม่เป็นไร เพราะผู้หญิงฝรั่งหลายคนก็เป็น wallflower ไม่กล้า ยกเว้นกับเพศเดียวกัน ถ้าเป็นเพศตรงข้ามอาจต้องรอให้สบตากับผู้ชายแล้วยิ้มให้เขาก่อน ผู้ชายคนนั้นก็จะได้กล้าเดินมาแนะนำตัวเอง”

“อะไรนะ ผู้หญิงหลายคนเป็น wallflower แบบเดียวกับที่เราพูดถึงนักการเมืองบางคนว่าเป็น wallpaper หรือเปล่า”

“ไม่ใช่ ภาษาอังกฤษไม่มีการเรียกคนเป็น wallpaper = กระดาษที่ฉาบเคลือบข้างฝา แต่ wallflower (ว้อลฝล่าวเหว่อร์) หมายถึงคนที่ไม่กล้าเดินเข้าไปกลางห้อง แต่แฝงเร้นกายตามข้างฝาของห้องเหมือนกับดอกไม้ที่เลื้อยขึ้นตามข้างฝาผนัง”

“อ๋อ เป็นพวกไม้เลื้อย แต่พอเป็นภาษาไทยแล้วฟังชอบกลนะ แล้วฝรั่งทุกคนจะทำอย่างที่เธอว่านั่นเหรอ อยู่ ๆ ก็ไปเที่ยวยื่นมือให้คนโน้นคนนี้จับ”

“ก็ไม่ทุกคนหรอก เฉพาะคนที่มั่นใจในตัวเอง outgoing (เอ๊าทโก่หวิ่ง) = ชอบรู้จักพูดคุยกับผู้คน อย่างนักการเมืองนี่ไปงานไหนก็จะต้อง work the room = ทำความรู้จักกับคนในห้องให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เข้าไปทักทายพูดคุยกับทุกคน อย่างประธานาธิบดีเรแกนขึ้นชื่อว่าเป็น schmoozer = คนที่เก่งในการพูดคุยสร้างความเป็นมิตรสนิทสนม หรือ networker = คนที่เก่งในการสร้างเครือข่ายคนรู้จัก มีตำนานว่าในงานเลี้ยงท่านไปยื่นมือให้ทุกคนพร้อมกับพูดว่า My name is Ronald Reagan. What’s yours? = ผมชื่อรอนัลด์ เรแกน คุณล่ะชื่ออะไร ในที่สุดเดินไปเจอลูกชายตัวเอง ไม่ทันดูว่าเป็นใคร My name is Ronald Reagan. What’s yours? ก็เลยได้บทเรียนว่าถ้าจะพูดตามบทก็ควรดูตาม้าตาเรือไปพลางด้วย”.

หนังสือ “ฟอไฟฟุดฟิดอังกฤษอเมริกัน” เล่ม 1-6 รวมซีดี ลดจาก 600 เหลือ 550 บาท หรือถ้าไม่เอาซีดีก็เพียง 480 บาท ส่ง EMS ฟรี ส่งธนาณัติสั่งจ่ายนายเสาวพจน์ ศรีวลี 20/1 ซอยอินทามระ 7 ป.ณ.สามเสนใน กท. 10400 หรือเข้าบัญชี ธ.กรุงเทพ หมายเลข 111-4-02764-0 แฟกซ์ใบสั่งจ่ายไปที่ 0-2616-8215 อย่าลืมเขียนชื่อ-ที่อยู่นะครับ เว็บไซต์ผม //boonhod.com อีเมลผม boonhod@hotmail.com


【 Hum 】

คุณนิติวัฒน์อีเมลมาถามว่า “อยากทราบความหมายของคำว่า full of ham มันแปลว่าอะไรครับ มาจากข้อความนี้ครับ I liked this movie. I went into it reading all the bad things, and sought to look past it. And I did. The same has happened for Superman III, Batman Forever, some of Batman & Robin (Mr. Freeze was full of ham), half of X-Men Origins : Wolverine, Max Payne, but not Watchmen. ทั้งนี้ขอขอบคุณล่วงหน้าด้วยนะครับคุณบ๊อบ” (ผมขออนุญาตตัดคำถามให้กระชับขึ้นและแก้ตัวสะกดบางตัวนะครับ)

ผมชอบคำถามรูปแบบนี้ครับ เพราะคุณยกมาทั้งข้อความที่ไม่เข้าใจและบริบทของมัน ถ้าคุณถามเพียงว่า full of ham อย่างเดียวผมก็คงตอบไม่ถูก เพราะสามคำนี้เรียงกันตามลำดับนี้ไม่ได้รวมกันแล้วกลายเป็นสำนวนที่ใช้กันแพร่หลาย

คำเดียวที่น่าสนใจใน full of ham คือ ham เนื่องจากในที่นี้ไม่ได้แปลว่า หมูแฮม แต่เป็นศัพท์สแลงที่ทำหน้าที่ได้สองอย่าง

อย่างแรกคือเป็นนาม ใช้เรียกนักแสดงที่ไม่เก่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ overact (โอเฟอแร่คท) = แสดงเกินสมจริง ไม่เป็นธรรมชาติ เช่นเวลาแสดงอาการตกใจ ก็อาจจะตาเหลือก อ้าปากหวอ ทั้ง ๆ ที่คนปกติอาจจะเพียงขมวดคิ้วเล็กน้อย

ถ้าคุณเรียกนักแสดงอาชีพว่าเป็น ham ก็ถือว่าเป็นการดูถูกอย่างแรง แต่ในบางสังคมที่ผู้สร้างละครคิดว่าผู้ชมด้อยสติปัญญาก็อาจจะต้องการให้นักแสดงเป็น ham เพราะเกรงว่าถ้าแสดงสมจริงแล้วคนดูจะไม่เข้าใจอารมณ์ที่ต้องการสื่อ

หน้าที่อย่างที่สองของ ham คือใช้เป็นกริยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสำนวน to ham it up = แสดงเกินพอดี แต่ที่น่าสนใจคือนัยของสำนวนนี้ไม่ได้เป็นการดูถูกฝีมือการแสดง แต่บ่งบอกว่าผู้แสดงนั้นแกล้งแสดงเกินธรรมชาติ เช่นทำหน้าตาอาการที่ exaggerated (เอ็กแซ็จจะเหรดดิด) = เวอร์ เช่นอาจเป็นเพราะไม่จริงจังกับบทที่ตัวเองแสดงหรือไม่ต้องการให้ผู้ชมจริงจังกับบทนั้น

อีกสำนวนที่เป็นกริยามีความหมายคล้าย ๆ to ham it up คือ to chew the scenery ซึ่งแปลตรงตัวว่า เคี้ยวฉาก แต่หมายความว่าแสดงเวอร์อย่างสุด ๆ ไม่ต้องเหลือความแนบเนียนทิ้งไว้ แต่ประทับใจคนดู เช่นบทของ John Malkovich ในเรื่อง RED ที่แสดงเป็นสายลับวัยเกษียณที่เป็นโรคหวาดระแวง เป็นต้น (ใครยังไม่ได้ดูก็หาดูนะครับ เป็นหนังแอ๊คชั่นที่รวบรวมซูเปอร์สตาร์รุ่นลายครามหลายคน).หนังสือ “ฟอไฟฟุดฟิดอังกฤษอเมริกัน” เล่ม 1-6 รวมซีดี ลดจาก 600 เหลือ 550 บาท หรือถ้าไม่เอาซีดีก็เพียง 480 บาท ส่ง EMS ฟรี ส่งธนาณัติสั่งจ่ายนายเสาวพจน์ ศรีวลี 20/1 ซอยอินทามระ 7 ป.ณ.สามเสนใน กท. 10400 หรือเข้าบัญชี ธ.กรุงเทพ หมายเลข 111-4-02764-0 แฟกซ์ใบสั่งจ่ายไปที่ 0-2616-8215 อย่าลืมเขียนชื่อ-ที่อยู่นะครับ เว็บไซต์ผม //boonhod.com อีเมลผม boonhod@hotmail.com

【 Tea or Deceit (1) 】

ขณะที่เมืองไทยกำลังฮือฮาเรื่องตัวละครในทีวีซึ่งแต่งขึ้นมาจากจินตนาการ ซึ่งไม่มีใครอ้างว่ามาจากเรื่องจริง (แต่ก็ยังมีหน่วยงานของรัฐอุตส่าห์คิดว่าคนไทยแยกแยะไม่ออกว่าอะไรจริงอะไรแต่ง) ที่อเมริกาก็กำลังฮือฮาเรื่องผู้เขียนซึ่งอ้างว่าหนังสือของตนเป็นเรื่องจริง แต่ถูกพิสูจน์พบว่าหลายส่วนถูกกุขึ้นมา หลังจากที่ติดอันดับ 1 ของรายการหนังสือขายดีซึ่งจัดโดย New York Times อยู่นาน (ด้วยการอุดหนุนของคนอเมริกันที่แยกแยะไม่ออกว่าอะไรจริงอะไรแต่ง)

หนังสือเล่มที่ว่าคือ Three Cups of Tea (= ชาสามถ้วย) แต่งโดย Greg Mortenson เล่าเรื่องที่ผู้เขียนพยายามปีนภูเขา K2 เมื่อปี 2536 แต่ไม่สำเร็จ ซ้ำยังพลัดหลงเพื่อนร่วมทีม โซซัดโซเซไปเจอหมู่บ้านในหุบเขาในปากีสถานตอนเหนือ ได้รับการเยียวยาจากชาวบ้านจนหายดี แล้วเห็นเด็กๆ ในหมู่บ้านเรียนหนังสือกลางดินกลางทราย จึงสัญญากับชาวบ้านว่าจะกลับมาช่วยสร้างโรงเรียนให้ได้ แล้วทุ่มชีวิตให้กับการทำสัญญานั้นให้เป็นความจริง

Three Cups of Tea ทำยอดขายได้กว่า 4 ล้านเล่ม เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้อ่านเห็นว่าคนคนเดียวก็สามารถทำให้โลกดีขึ้นได้ และทำให้คนอเมริกันตื่นตัวเกี่ยวกับความสำคัญของการให้การศึกษากับเด็กผู้หญิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปากีสถานกับอัฟกานิสถาน เปิดทางให้ Mortenson ก่อตั้งมูลนิธิ Central Asia Institute ขึ้นมาเพื่อส่งเสริมการสร้างโรงเรียนและการศึกษาสำหรับเด็กผู้หญิงในสังคมเหล่านั้น

แต่ปรากฏว่า Jon Krakauer เพื่อนของ Mortenson ซึ่งเป็นนักปีนเขาด้วยกันและผู้แต่งหนังสือ Into Thin Air พบว่าเรื่องราวหลายตอนในหนังสือเป็นเรื่องโกหกทั้งเพเพื่อทำให้ Mortenson ดูดีเป็นฮีโร่ รวมถึงการอ้างว่าตนถูกโจรตาลีบันลักพาตัวพร้อมกับแสดงภาพถ่าย “โจร” กลุ่มนั้น แต่เอาเข้าจริงปรากฏว่า “โจร” เหล่านั้นเป็นชาวบ้านที่เลี้ยงดูปูเสื่อเขาเอง

นอกจากนั้นรายการ 60 Minutes ก็ขุดคุ้ยพบว่ามูลนิธิที่เขาก่อตั้งถูกใช้เป็นเอทีเอ็มส่วนตัวของ Mortenson เงินส่วนใหญ่ที่ได้จากการบริจาคถูกนำไปใช้โปรโมหนังสือและการบรรยาย (ครั้งละ 30,000 เหรียญ) ในขณะที่รายได้จากการขายหนังสือและการบรรยายกลับเข้ากระเป๋าส่วนตัว ส่วนโรงเรียนที่สร้างจริง ๆ มีน้อยกว่าที่อ้างเยอะ หลายแห่งพอสร้างเสร็จไม่มีครูไม่มีโครงสร้างทางสังคมรองรับก็กลายเป็นโกดังเก็บของไป

Krakauer เคยให้เงิน Mortenson ก้อนใหญ่เพื่อช่วยก่อตั้งมูลนิธิ แต่เมื่อพบว่าตัวเองโดนเพื่อนหลอกจึงเขียนบทความแฉตั้งชื่อว่า Three Cups of Deceit ซึ่ง deceit (ดีซีท) นี้เป็นคำที่เราจะดูคราวหน้าครับ.


【 Tea or Deceit? (2) 】

เมื่อพบว่าหนังสือ Three Cups of Tea ของ Greg Mortenson เป็นเรื่องโกหกยกตัวผู้เขียน Jon Krakauer จึงเขียนบทความยาวชื่อว่า Three Cups of Deceit เปิดโปงอดีตเพื่อนที่เขาเคยศรัทธาถึงกับขนาดบริจาคเงินก้อนใหญ่เพื่อก่อตั้งมูลนิธิช่วยการศึกษาเด็กในชนบทปากีสถานกับอาฟกานิสถาน

แน่นอนครับ Krakauer มีทางเลือกที่จะตั้งชื่อบทความของเขาเป็นอย่างอื่น เช่น Three Cups of Crap หรือ Three Cups of Bullshit ซึ่งอาจจะหนำใจกว่า แต่ภาษาสแลงถ้าใช้พร่ำเพรื่อหรือผิดที่ผิดทาง ความเชื่อถือของผู้ใช้ก็อาจจะลดน้อยลง สู้ใช้ภาษาธรรมดา ๆ ที่ความหมายชัดเจนไม่ได้

Deceit (ดีซีท) เป็นคำที่ไม่ค่อยใช้กันในภาษาชาวบ้าน เป็นคำที่ค่อนข้างทางการ เป็นเรื่องเป็นราว ใช้เวลาต้องการกล่าวหาใครอย่างจริงจัง

ความหมายของ deceit ก็คือ การหลอกลวง หรือ การเล่นไม่ซื่อ เช่น He used deceit to defeat his enemy. = เขาใช้การหลอกลวงเพื่อเอาชนะศัตรูของเขา

นามที่เป็นญาติใกล้เคียงกันคือ deception = กลลวง โดยมากจะใช้เรียกการหลอกลวงเป็นครั้ง ๆ ไป ในขณะที่ deceit บ่งบอกถึงพฤติกรรมที่กระทำเป็นนิจ

ถ้าเป็นรูปกริยาก็คือ deceive (ดีซีฟ) = หลอกลวง เช่น You deceived me into thinking that you were acting on my behalf, but in reality you were just using me. = คุณหลอกลวงฉันให้คิดว่าคุณทำเพื่อฉัน แต่จริงๆ แล้วคุณเพียงหลอกใช้ฉันแค่นั้นเอง Looks can be deceiving. = ภาพลักษณ์ภายนอก (หรือถ้าเป็นคนก็หมายถึงรูปร่างหน้าตา) อาจจะหลอกลวงได้

ถ้าเป็นวิเศษณ์ก็คือ deceptive (ดีเซ็พถิฟ) เช่น He was accused of using deceptive business practices. = เขาถูกกล่าวหาว่าใช้วิธีการทางธุรกิจที่หลอกลวง แต่ถ้าเป็นคนที่ชอบหลอกลวงจะไม่นิยมใช้ deceptive แต่จะใช้ deceitful (ดีซี้ทฝึ่ล) มากกว่า

มาถึงตรงนี้คุณผู้อ่านที่เป็นแฟน ๆ Transformers คงร้องอ๋อแล้วว่าชื่อพวก Decepticons ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ฝ่ายผู้ร้ายนั้นมาจากไหน

พวก Decepticons เสียอย่างเดียวตรงที่ไม่ฉลาดพอที่จะเปลี่ยนชื่อตัวเอง ลองนึกดูแล้วกันครับว่าถ้าคุณจะไปหลอกต้มใครแต่ชื่อของคุณคือ Decepticon จะมีใครหลงเหลือพอที่จะเชื่อคุณอยู่บ้าง เหมือนกับบอกว่า ผมชื่อคนลวงโลก เชื่อผมเถอะ

แต่ก็ไม่แน่นะครับ คนแบบนี้ถ้าไปอยู่สังคมที่ขี้เกรงใจ ลูบหน้าปะจมูก อาจจะรุ่งก็ได้.



Credit ☆☆ - //www.dailynews.co.th




 

Create Date : 14 พฤษภาคม 2554
0 comments
Last Update : 14 พฤษภาคม 2554 22:51:17 น.
Counter : 1376 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะ VIP Friend
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


Turtle Came to See Me
Location :
พัทลุง Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 42 คน [?]





★ที่มา ล็อกอิน ★Turtle Came to See Me ★( บทกวี Poem )
เป็นหนังสือ สำหรับเยาวชน
★Turtle Came to See Me
แต่งโดย :Margrita Engle
★★★★



BlogGang Popular Award #11

BlogGang Popular Award #12
Friends' blogs
[Add Turtle Came to See Me's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.