It's All I Have to Bring Today !
Group Blog
 
 
มีนาคม 2554
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
24 มีนาคม 2554
 
All Blogs
 

อังกฤษอเมริกัน ๒

No-Fly Zone

“มารศรี ดูข่าวสิ ประเทศมหาอำนาจกำลังเข้าไปกำจัดแมลงวันในลิเบีย ประหลาดจัง”

“อะไรกัน เพ้อเจ้ออะไรของเธออีกแล้ว”

“ก็ดูสิ เขาประกาศ no-fly zone ในลิเบีย แปลว่า เขตห้ามแมลงวัน ไม่ใช่เหรอ แต่ฉันสงสัยจังเลยว่าเขาทำยังไง ถึงจะลงทุนติดป้ายประกาศว่าแมลงวันห้ามเข้าก็เหอะ แมลงวันมันจะอ่านออกเหรอ”

“นี่เธอ อย่าแกล้งปัญญาอ่อนหน่อยได้ไหม หรือถึงไม่แกล้งก็อย่าแสดงออกให้มันชัดนัก fly ไม่ได้มีความหมายอย่างเดียวสักหน่อย ก็จริงอยู่ ถ้าเป็นนาม fly แปลว่า แมลงวัน แต่นี่เขาใช้เป็นกริยา แปลว่า บิน no-fly zone ก็หมายถึง เขตห้ามบิน”

“อ้าว แล้วทำไมไม่ใช้ว่า no-flying ล่ะ ที No-smoking area ยังแปลว่า บริเวณห้ามสูบบุหรี่ เลย”

“อืมม์ ก็จริงของเธอ ที่ถูกต้องควรจะเป็น no-flying zone แต่ทหารอเมริกันชอบใช้ศัพท์ย่อ หรือไม่ย่อก็ตัดให้กระชับ เพื่อความรวดเร็วในการสื่อสาร ความจริงถ้าจะเป็น no-flight zone ก็จะได้ทั้งความกระชับและความถูกต้องทางภาษา แต่เขาใช้ no-fly zone มาแต่ไหนแต่ไร ตั้งแต่สมัยบอสเนียแล้ว ก็สรุปได้ว่าความถูกต้องทางภาษาไม่ใช่สิ่งที่ทหารสนใจนัก”

“แล้วเวลาเขาประกาศ no-fly zone มีอะไรมั่งที่เขาห้ามบิน นกบินได้หรือเปล่า แล้วค้างคาวล่ะ”

“ไม่ว่านกหรือค้างคาวก็อ่านหนังสือพิมพ์ออกพอ ๆ กับแมลงวันของเธอนั่นแหละ นกที่ได้ดูหนังสือพิมพ์เป็นประจำก็คงมีแต่นกในกรงกระมัง แต่เป้าหมายหลักของการประกาศ no-fly zone ก็คือห้ามเครื่องบินรบของประเทศฝ่ายตรงข้าม เช่นในกรณีลิเบียนี่ก็ห้ามเครื่องบินของลิเบียบิน เพราะเท่าที่ผ่านมารัฐบาลลิเบียใช้เครื่องบินรบถล่มพวกต่อต้านรัฐบาล ซึ่งเป็นพลเรือน บาดเจ็บล้มตายมากมาย”

“ยังงี้เขามีรายการหรือเปล่าว่าเครื่องบินแบบไหนบินได้ แบบไหนบินไม่ได้ เป็นแบบ no-fly list น่ะ”

“no-fly list นั่นความหมายคนละเรื่องเลยนะ นั่นหมายถึงรายชื่อบุคคลที่รัฐบาลสงสัยว่าเป็นผู้ก่อการร้ายหรือเกี่ยวโยงกับผู้ก่อการร้าย จึงห้ามขึ้นเครื่องบินพาณิชย์ แต่บางทีก็เชื่อถือไม่ได้เหมือนกัน เช่นมีวุฒิสมาชิกชื่อดังโดนห้ามขึ้นเครื่องเพราะมีชื่ออยู่ใน no-fly list ที่พ้องกัน พนักงานก็สุดแสนซื่อบื้อ หรือซื่อตรงต่อหน้าที่ แล้วแต่จะมอง ทำให้กว่าจะรู้เรื่องกันท่านวุฒิสมาชิกก็ตกเครื่องไปเรียบร้อย”

“แล้วนี่ fly ยังมีความหมายอย่างอื่นอีกหรือเปล่า”

“มีสิ แปลว่า ซิปเป้ากางเกง เช่น Your fly is open. = ซิปเป้ากางเกงของคุณเปิดอยู่ แล้วยังเป็นวิเศษณ์สแลงวัยรุ่นอีกด้วย แปลว่า ดี สวย เยี่ยม”.


Superfly

“อะไรกัน มารศรี fly นอกจากแปลว่า แมลงวัน ซึ่งเป็นแมลงที่น่าขยะแขยงแล้ว ในภาษาสแลงยังแปลว่า ดี สวย เยี่ยม ได้อีกเหรอ”

“ใช่แล้ว แต่เวลาใช้เป็นสแลงเธออย่าออกเสียงว่า ฟลาย แบบปกติล่ะ ควรจะออกเสียงให้ดำมืด เป็น ฟล่า เช่น That song’s groove sure is fly! = จังหวะเพลงนั้นเด็ดจริง ๆ”

“ได้จ้ะ แล้วจะจำไว้พูดกับพี่มืดบนฟลอร์เต้นรำ เผื่อเขาจะได้ยิ้มตอบถ้าคลับมันมืดเกินไป”

“นี่เธอ ไม่ PC เลยนะ ถ้าไปอเมริกาอย่าพูดแบบนั้นเชียว คนดำฟันขาวอะไรแบบนี้น่ะ คนอเมริกันเขารับไม่ได้ เอาล่ะ กลับเข้าเรื่อง เหนือกว่า fly ก็ยังมี superfly มาจากชื่อหนังแนว Blaxploitation ยุค 70s ซึ่งมีดนตรีประกอบโดย Curtis Mayfield เป็น soundtrack ที่ทำเงินมากกว่าตัวหนังเสียอีก”

“ฉันไม่เคยฟังมั้ง แต่เธอพูดว่าหนังแนวอะไรนะ”

“Blaxploitation เป็นคำสนธิ เอ หรือเป็นคำจำลองก็ไม่รู้ มาจาก black = ดำ บวกกับ exploitation = การใช้ประโยชน์อย่างเอารัดเอาเปรียบ เวลาใช้ exploitation กล่าวถึงหนังจะหมายถึงหนังที่โฆษณาหวือหวาแต่เนื้อหาไร้รสนิยม พยายามกระตุ้นให้คนอยากดูโดยเน้นด้านโป๊เปลือย สยองขวัญ ความรุนแรง เลือดท่วมจอ ฯลฯ เพื่อกลบเกลื่อนต้นทุนที่ต่ำ ส่วนใหญ่เป็นหนังที่ดูเอาความมันส์ชั่วขณะ แต่บางเรื่องก็กลายเป็น cult classic ได้เหมือนกัน Quentin Tarantino ก็พยายามเลียนแบบหนังแนว exploitation จากยุค 70s โดยสร้างเรื่อง Grindhouse ซึ่งทำได้เหมือนมาก”

“แล้ว Blaxploitation คืออะไร เน้นความดำเป็นจุดขายเหรอ”

“ใช่เลย หนังแนว Blaxploitation นำแสดงโดยคนดำ โดยมากพระเอกเป็นหนุ่มใหญ่ผิวดำหุ่นกำสลัด เอ๊ย กำยำ มากล้นไปด้วยเสน่ห์และความสามารถเชิงบู๊ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคาราเต้หรือกังฟู ถ้ามีคนขาวบ้างก็มักจะรับบทเป็นผู้ร้ายหรือ The Man”

“คนขาวรับบทเป็น The Man? รับบทเป็นผู้ชายเหรอ เธอจะบอกอะไรมากกว่านั้นหน่อยได้ไหม”

“The Man ในภาษาคนดำไม่ได้แปลว่า ผู้ชาย แค่นั้น แต่หมายถึง คนขาวที่มีอำนาจ มีอิทธิพล คอยกดขี่เอารัดเอาเปรียบคนดำ ดังนั้นคนดำจะใช้วิธีอะไรก็ได้เพื่อเอาชนะ The Man ให้ได้ เพราะ The Man คุมทั้งระบบ มีทุกอย่างเหนือกว่า ยกเว้นความเก่งกาจของพระเอกดำอย่าง Superfly ซึ่งเป็นนักค้ายาเสพติด หรือ Shaft พระเอกหนัง blaxploitation อีกเรื่องที่ดีหน่อยตรงที่เป็นนักสืบรับจ้าง และมี soundtrack โดย Isaac Hayes ที่ fly จริง ๆ”

แมลงวันกับยาต้ม

โอเค มารศรี เราดูคำว่า fly ในหลายความหมายแล้ว ทีนี้เธอคงจะต้องบอกฉันว่ามีสำนวนอะไรมั่งที่ใช้คำว่า fly ในรูปต่าง ๆ ใช่ปะ”

“เปล่าสักหน่อย แต่ในเมื่อเธอยกประเด็นขึ้นมา แสดงว่าเธออยากรู้ ดังนั้นฉันก็จะบอกเธอ”

“กะแล้วเชียว”

“นี่ไม่ต้องมากะแล้วเชียวเลยนะ เธอรู้หรือเปล่าว่าเด็กในแอฟริกาไม่มีใครสอนสำนวนภาษาอังกฤษให้เขา แต่นี่เธอมีคนสอนให้ฟรี ๆ ยังมา I knew it! = กะแล้วเชียว อีก”

“ฉันนึกว่าเด็กในแอฟริกาอดอยากไม่มีอาหารกินซะอีก”

“นั่นด้วย ตกลงเธอจะให้ฉันเล่าให้ฟังหรือเปล่าว่า fly มีใช้ในสำนวนอะไร”

“ยอมแล้วจ้า เล่าก็เล่า ข้าน้อยจะตั้งใจฟังโดยดี”

“ก็ได้ เธอรู้จักไหมว่า ointment คืออะไร”

“ไม่ต้องมาถามฉันหรอกน่า เธอจะเล่าก็เล่าไปเลย ไม่ต้องปูพื้น ฉันเตรียมฟังอยู่”

“ointment เป็นยาน้ำที่ใช้ภายนอก มีน้ำมันเป็นพื้น แต่บางทีระหว่างที่ต้มยานี้อยู่ ก็มีแมลงวันเจ้ากรรมหล่นลงไปในหม้อ ทำให้ยาเสียทั้งหม้อ จึงมีสำนวน fly in the ointment ขึ้นมา หมายถึงสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ทำให้งานใหญ่เสีย อย่างในหนังที่พระเอกจับพลัดจับผลูเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ที่ผู้ร้ายกำลังคิดการใหญ่ เช่น Die Hard หรือ Under Siege ก็กล่าวได้ว่าพระเอกเป็น a fly in the ointment ของผู้ร้าย”

“แต่ถ้าแมลงวันตกลงไปในน้ำมันเดือดมันก็ตายสิ แต่พระเอกในหนังไม่ยักกะเป็นอะไร”

“ฉันถึงบอกอย่างไรเล่าว่าพระเอกเป็น fly in the ointment ของผู้ร้าย คือผู้ร้ายมองว่าพระเอกเป็นปัญหาเล็กน่ารำคาญใจซึ่งอาจทำให้งานใหญ่เสียได้ จึงพยายามกำจัดพระเอก แต่ความที่นึกว่าเป็นปัญหาเล็กก็เลยประมาทไปหน่อย ส่งลูกน้องไม่กี่คนไปจัดการกับพระเอก ทั้ง ๆ ที่ความจริงควรส่งไปสักร้อยคนจะได้สมน้ำสมเนื้อ”

“แต่ผู้ร้ายไม่ได้มีกำลังมากมายขนาดนั้นนี่ และจะไปรู้ได้ไงว่าพระเอกเก่งเหลือเชื่อขนาดนั้น มันไม่สมเหตุสมผลที่จู่ ๆ จะส่งคนเป็นร้อยไปจัดการกับคน ๆ เดียว”

“ก็จริง It would fly in the face of logic. ถูกต้องของเธอ”

“อะไรนะ เมื่อกี้พูดถึง fly in the ointment แมลงวันหล่นลงไปในหม้อยาต้ม คราวนี้เป็น fly in the face of logic แมลงวันหล่นลงไปเกาะใบหน้าของตรรกะ ยังงั้นเหรอ”

“เปล่าจ้ะ คราวนี้ fly ไม่ใช่แมลงวันแล้ว แต่เป็นกริยาบิน fly in the face of logic หมายความว่า ขัดกับหลักเหตุผลอย่างชัดเจน ไม่สมเหตุสมผลแม้แต่น้อย นึกภาพสิ ตรรกะกำลังมุ่งไปทางหนึ่ง แต่โดนสิ่งที่ไม่สมเหตุสมผลนี้โดนลมพัดปลิวมาแปะอยู่ที่หน้า”.


หนังสือ “ฟอไฟฟุดฟิดอังกฤษอเมริกัน” เล่ม 1-6 รวมซีดี ลดจาก 600 เหลือ 550 บาท หรือถ้าไม่เอาซีดีก็เพียง 480 บาท ส่ง EMS ฟรี ส่งธนาณัติสั่งจ่ายนายเสาวพจน์ ศรีวลี 20/1 ซอยอินทามระ 7 ป.ณ.สามเสนใน กท. 10400 หรือเข้าบัญชี ธ.กรุงเทพ หมายเลข 111-4-02764-0 แฟกซ์ใบสั่งจ่ายไปที่ 0-2616-8215 อย่าลืมเขียนชื่อ-ที่อยู่นะครับ เว็บไซต์ผม //boonhod.com อีเมลผม boonhod@hotmail.com


Credit  ☆☆ - //www.dailynews.co.th




 

Create Date : 24 มีนาคม 2554
5 comments
Last Update : 24 มีนาคม 2554 4:39:38 น.
Counter : 4868 Pageviews.

 

Staple *

“มารศรี ช่วยหยิบแม็กบนโต๊ะให้ฉันหน่อยสิ”

“เอ่อ อะไรนะ แม็กอะไร”

“ก็ที่เย็บกระดาษนั่นไง ภาษาไทยเรียกว่าแม็ก แบบที่เรียกผ้าอนามัยว่าโกเต๊ก เรียกผงซักฟอกว่าแฟ้บน่ะ ตาย ดีใจจังที่ฉันรู้สิ่งที่เธอไม่รู้ คิก ๆ”

“ก็ฉันจะไปรู้ทุกอย่างได้อย่างไรเล่า ในภาษาอังกฤษ mag (แมก) เป็นคำย่อจาก magazine ซึ่งแปลว่า นิตยสาร หรือถ้าเป็น mac (แม็ค) ก็อาจแปลว่าเสื้อกันฝน หรือถ้า M ตัวใหญ่ เป็น Mac สมัยนี้ก็หมายถึงคอมพิวเตอร์ของบริษัท Apple ถ้าจะพูดว่าเครื่องเย็บกระดาษต้องเรียกว่า stapler (สเต๊เผล่อร์)”

“เออ ๆ ๆ... อ้าว แม็กตัวนี้กระสุนหมดนี่”

“นี่เธอ พูดถึงปืนหรือเครื่องเย็บกระดาษกันแน่ เธอหมายถึง staples ใช่ไหมที่หมด”

“ไม่รู้จักหรอก สเตโป้งสเตเปิ้ลอะไรของเธอ ฉันหมายถึงลวดเย็บกระดาษในเครื่องนี้น่ะ”

“นั่นแหละ เขาเรียกว่า staples ถ้าพูดถึงหลายๆ ตัว แต่ถ้าพูดถึงตัวเดียวก็คือ staple เป็นนาม แต่เขียนเหมือนกับกริยาที่แปลว่า เย็บ (กระดาษ)”

“เดี๋ยวเธอก็คงจะบอกฉันต่อหรอกว่า staple ยังใช้เป็นวิเศษณ์ได้ด้วย”

“ใช่ เก่งมาก รู้ได้อย่างไร”

“อ้าว เป็นได้ด้วยจริง ๆ อ้ะ ฉันแค่มั่ว ๆ เอง เพราะเห็นเธอชอบพูดว่าศัพท์ภาษาอังกฤษมักทำหน้าที่ได้มากกว่าหนึ่งอย่าง”

“คราวนี้เธอมั่วถูก ลองทายซิว่า staple ถ้าเป็น adjective แปลว่าอะไร”

“อั่ม... แปลว่า ที่เย็บติดกัน ใช่ปะ แบบกระดาษหลาย ๆ หน้าที่เย็บติดกันน่ะ”

“Good try. เป็นความพยายามที่ดี แต่ไม่ใช่ แบบที่เธอพูดนั้นเขาใช้คำว่า stapled เช่น The pages were stapled together. = หน้ากระดาษ (หลายแผ่น) ถูกเย็บติดกัน ถ้า staple เป็นวิเศษณ์จะหมายถึงอะไรที่เป็นพื้นฐาน สำคัญ จำเป็น เป็นหลัก เช่นพืชที่ปลูกสำหรับกินเป็นอาหารหลักของชาติก็เรียกว่าเป็น staple crop = พืชหลัก เช่น Rice is a staple crop in most Asian countries. = ข้าวเป็นพืชหลักในประเทศเอเชียส่วนใหญ่”

“ยังดีนะที่เธอบอก ไม่งั้นฉันคงจะเข้าใจผิดเปล่า ๆ ว่าเทคโนโลยีสมัยนี้เขาปลูกลวดเย็บกระดาษกันได้ด้วย”.


Bread and butter

แล้วทีนี้เธอก็คงจะบอกฉันต่อว่า staple ถ้าใช้เป็นนาม นอกจากจะแปลว่า ลวดเย็บกระดาษ แล้ว ยังมีความหมายอื่นอีกด้วย ใช่หรือเปล่า มารศรี”

“จริงของเธอ แต่ก็ความหมายทำนองเดียวกับที่ใช้เป็นวิเศษณ์นั่นแหละ นั่นคือ สิ่งที่เป็นหลัก สิ่งที่ต้องมี เช่น Brainless soap operas are a staple of Thai television. = ละครน้ำเน่าไร้สมองเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ของโทรทัศน์ไทย”

“มารศรี เธออย่าบังอาจมาว่าละครทีวีของฉันนะ ถามจริง ๆ เธอเคยดูหรือเปล่า ถ้าดูก็จะรู้ว่ามันเป็นกระจกสะท้อนสังคมไทยอย่างดีทีเดียว”

“สังคมไทยมีการแย่งผู้ชายกันมากขนาดนั้นเลยหรือ สังคมไทยมีการทำตาขึงใส่กัน มีการตบตี มีการข่มเหง หรือกระทั่งข่มขืน ผู้หญิง โดยฝีมือพระเอกนะ ไม่ใช่ผู้ร้าย มากขนาดนั้นเชียวหรือ”

“ก็ใช่สิยะ เธอมัวแต่อยู่ในโลกหอคอยงาช้างของเธอ จะไปรู้ได้ยังไงว่าชาวบ้านเขาอยู่กันยังไง เธอคิดว่าเธอรู้จักประชาชนคนไทยเหรอ หลังจากที่ไปอยู่เมืองนอกซะตั้งนานขนาดนั้น เรื่องหึงหวง อิจฉาริษยา เคียดแค้น ผูกใจเจ็บ ตบตี ข่มขืน แม้แต่ยิงกันตายเพราะความหึงหรือขัดผลประโยชน์ ก็เป็นเรื่องธรรมดา เธอดูหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์สิ นี่แหละคือ staple ของสังคมไทยของจริง เธออย่ามาทำตัวเหนือกว่าหน่อยเลย”

“ฉันไม่ได้...ฉัน...I had no idea. ฉันนึกว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ทีวีใช้มอมเมาประชาชนเสียอีก เป็นการบันเทิงแบบ escapism (เอ็สเก๊พผิสสึ่ม) เปิดโอกาสให้หลบหนีจากชีวิตประจำวัน นึกไม่ถึงว่าจะเอามาจากชีวิตจริงอย่างที่เธอว่า จนกลายเป็น bread and butter ของการวางผังรายการทีวี”

“Bread and butter อะไรของเธอ เราพูดถึงละครทีวี ไม่ใช่รายการทำอาหาร”

“เปล่าจ้ะ bread and butter เป็นสำนวน หมายถึงสิ่งพื้นฐาน ขาดไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งของที่ใช้หากิน ทำนองเดียวกับ staple นั่นแหละ”

“ก็แล้วทำไมไม่ใช่ staple ให้รู้แล้วรู้รอดล่ะ ฉันเพิ่งจำได้หยก ๆ เธอก็มาเพิ่มศัพท์ตัวใหม่อีกแล้ว”

“ก็ในภาษาอังกฤษเขาไม่นิยมใช้ภาษาซ้ำซาก ถึงมี synonyms (ซิ้นหนะหนิ่มส) = คำที่มีความหมายเหมือนหรือคล้ายกัน เยอะมากอย่างไรเล่า ที่เขาใช้ bread and butter ในความหมายเดียวกันกับ staple ก็เพราะว่าขนมปังกับเนยเป็นอาหารหลักที่ขาดไม่ได้สำหรับฝรั่ง แต่ถ้าเธอไปพูดว่า sticky rice and fermented fish = ข้าวเหนียวกับปลาร้า แทน เขาก็ไม่เข้าใจหรอกว่านั่นคือ staple ของเธอ”


Stock characters

“แหม มารศรี ฉันไม่ได้กินข้าวเหนียวกับปลาร้าเป็นอาหารหลักซะหน่อย ดังนั้นจะเรียกมันว่าเป็น staple แบบ bread and butter ของฝรั่งก็คงไม่ถูก เวลาไปฟู้ดคอร์ทกับเพื่อนแล้วเขาสั่งส้มตำปูเค็มไม่ใส่ปลาร้า ฉันยังไม่กล้าอยากบอกว่าฮ่วย ของอร่อยมันอยู่ตรงนั้น กลัวเพื่อนจะหาว่าฉันเป็นลาว”

“อะไรนะ เธอไม่กล้ากินของที่เธอโปรด เพราะกลัวเพื่อนจะล้อ identity ของเธออย่างนั้นหรือ”

“เธอไม่สังเกตเหรอว่าในละครทีวี คนที่มาจากพื้นเพเดียวกับฉันมักจะเป็นคนใช้หรือตัวตลก เออ แต่เธอไม่ดูละครทีวีนี่นะ ฉันว่าถ้าดูก็ดีนะ เธอจะได้เข้าใจสังคมไทยมากขึ้น”

“อืมม์ ฉันคิดว่าเข้าใจ สมัยก่อนคนผิวดำในหนังอเมริกันก็มีแต่รับบทคนใช้กับตัวตลกเหมือนกัน ไม่ได้หมายความว่าคนดูไม่ชอบนะ อย่าง Hattie McDaniel รับบทคนใช้จนเป็นคนดำคนแรกที่ได้รับรางวัลตุ๊กตาทองจากหนังเรื่อง Gone With the Wind ถ้าเธอเคยดู คงจำได้ว่า Scarlett มีพี่เลี้ยงผิวดำตัวอ้วน ๆ ที่ชอบดุเธออยู่เรื่อย ซึ่งทำให้คนดูในรัฐภาคใต้ไม่ค่อยชอบใจเพราะรู้สึกว่าทาสควรรู้จักที่ต่ำที่สูง ไม่ควรดุเจ้านาย แม้ว่าจะเป็นเจ้านายที่ทาสคนนั้นเลี้ยงมาตั้งแต่เด็กก็ตาม”

“แหม เธอทำให้ฉันรู้สึกดีขึ้นเยอะเลยนะ เปรียบเทียบฉันกับทาสเนี่ย”

“เปล่าจ้ะ ประเด็นของฉันคือเพียงว่าทุกสังคมมี stock characters ที่นิยมใช้ใน pop culture อย่างหนัง เพลง ละคร นิยาย คนดำที่เป็นคนใช้หรือพี่เลี้ยงนั่นก็เป็น stock character ที่สมัยนี้เราไม่ค่อยเห็นกันแล้ว แต่ก็ยังมีแบบอื่น ๆ เช่นพวกนกดำที่พูด jive talk กันในหนังการ์ตูนดิสนีย์เรื่อง Dumbo หรือนักค้ายาเสพติดที่แต่งตัวฉูดฉาด ขับรถ Cadillac สีสด แต่ stereotypes พวกนี้ตอนหลัง ๆ โดนหาว่าเป็น racist = เหยียดผิว ไปหมด แม้ว่าจะมีพื้นฐานอยู่ในความจริงก็ตาม”

“ช้า ๆ หน่อย แม่มารศรี พูดไทยปนฝรั่งอีกแล้ว ไม่น่ารักเลย stereotype นั่นพอฟังออก เพราะเธอเคยพูดถึง แต่ stock character นี่มันอะไรของเธอ”

“เอ้า ยกตัวอย่างให้เธอฟังก็ได้ นางเอกที่ก๋ากั่นเป็นทอมบอยในตอนแรก ๆ พระเอกที่เผยตัวเองว่าเป็นเศรษฐีหรือตำรวจในตอนจบ คนใช้ที่เป็นพวกนายว่าขี้ข้าเพชร”

“ขี้ข้าพลอย...แต่โอเค เข้าใจ หมายถึงตัวละครที่ใช้ในละครบ่อย ๆ แต่ไม่เหมือน stereotype นี่”

“ถูกต้อง แต่ stereotypes บางทีก็กลายเป็น stock characters เหมือนกัน ดูง่าย ๆ คือพวกเรื่องเล่าตลก สมัยก่อนที่นิยมใช้ชาวต่างชาติเป็น butt of the joke = ตัวที่ถูกล้อเลียนเชิงดูถูก เช่น Polish jokes นี่ก็จะล้อเลียนความโง่เง่าของ Pollacks = คนเชื้อชาติโปแลนด์ โดยเฉพาะที่เพิ่งมาอเมริกา ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้วชาวโปแลนด์ฉลาดจะตายไป แต่ตอนหลัง racial stereotypes กลายเป็นสิ่งที่ต้องห้ามในสังคมอเมริกันก็เลยหันมาล้อเลียนความโง่เง่าของสาวผมบลอนด์แทน เป็น blonde jokes แทน Polish jokes แล้ววันหลังฉันจะเล่าตัวอย่างให้ฟัง”.

 

โดย: เตยจ๋า 11 เมษายน 2554 7:04:21 น.  

 

เหลวไหล (1)

“มารศรี วันก่อนเธอเห็นข่าวหรือเปล่าว่าประเทศไทยมีมาตรฐานทักษะภาษาอังกฤษติดอันดับเกือบที่โหล่ในโลก ถ้าไม่ได้ประเทศตุรกีกับคาซากสถานหรือไงเนี่ยก็แย่เลย”

“คาซัคสถานจ้ะ อย่าเพิ่งแตกตื่นสิ ฉันเห็นรายงานฉบับนั้นแล้ว รู้สึกว่า methodology เขายังไม่สมบูรณ์ จริงๆ แล้วไทยไม่ได้เกือบโหล่ในโลกหรอก แค่เกือบโหล่ในบรรดา 44 ประเทศที่มีคนทำแบบทดสอบภาษาอังกฤษออนไลน์จำนวนเพียงพอให้เขาสำรวจแค่นั้นเอง”

“แต่ประเทศที่เขาสำรวจรวมถึงเวียดนามด้วยนะ สมัยก่อนเรายังคิดว่าเวียดนามล้าหลังกว่าเรา แต่เดี๋ยวนี้เขารุดหน้าไปกว่าเราแล้ว ยังงี้พวกบริษัทต่างชาติก็คงอยากมาลงทุนบ้านเราน้อยลงสิ”

“ก็อาจจะไม่นะ เพราะจริงๆ ภาษาอังกฤษของเราก็อ่อนมานานแล้ว แต่มีข้อได้เปรียบอื่นๆ ที่ดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ เช่น โครงสร้างพื้นฐานที่ดี นโยบายที่เอื้อต่อการลงทุน เสถียรภาพทางการเมือง ความเป็นสังคมเปิด สื่อมีสิทธิเสรีภาพเต็มที่”

“เอ่อ มารศรี ยกตัวอย่างที่ตรงกับสภาพปัจจุบันหน่อยสิ”

“Okay, I’ll cut the crap. ความจริงถ้าเธออยากจะดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ เขาไม่แคร์หรอกว่าประเทศที่เขาลงทุนเป็นประชาธิปไตย มีสิทธิเสรีภาพหรือเปล่า เป็นสังคมเปิดหรือไม่เปิดก็ช่าง ตราบใดที่เขาสามารถทำกำไรและส่งกำไรคืนประเทศของเขาได้ ที่เขาสนใจเสถียรภาพทางการเมืองก็เพียงเพราะว่าทุกอย่างจะได้ predictable = ทำนายได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ไม่ใช่ว่าวันดีคืนดีมีม็อบมาเดินขบวนยึดสนามบินหรือปิดย่านการค้าทำให้ธุรกิจเขาเสียหาย”

“การเมืองอีกแล้ว เราไม่พูดเรื่องการเมืองดีกว่า มารศรี ฉันล่ะเบื่อ แต่อยากถามว่าเมื่อกี้เธอพูดว่าอะไรตอนแรก ๆ น่ะ เธอจะตัดปูที่ไหน เราไม่ได้กินปูกันซะหน่อย”

“ตัดปูอะไร...อ๋อ เปล่านี่ ฉันบอกว่า I’ll cut the crap. ไม่ใช่ I’ll cut the crab. เธอต้องฟังดี ๆ crap ออกเสียงว่า แคร็พ เป็นสระแอะ เพราะลงท้ายด้วย p ส่วน crab ที่แปลว่า ปู นั่นออกเสียงว่า แคร่บ เป็นสระแอ เพราะลงท้ายด้วย b”

“ก็แล้วใครจะไปรู้ล่ะ แล้วตกลงมันแปลว่าอะไร เธอจะตัดอะไร”

“crap เป็นภาษาชาวบ้าน แปลว่า อึ แต่นิยมใช้ในความหมายว่า เรื่องเหลวไหล ไร้สาระ นอกเรื่อง เรื่องโกหก ส่วน cut the crap นี่เป็นสำนวน ไม่ได้แปลว่า ตัดอึ นะ แต่หมายความว่า หยุดพูดจาเหลวไหลเพ้อเจ้อ หยุดพูดโกหก”

เหลวไหล (2)

“ทำไม crap ถึงแปลว่า อึ ล่ะ ฉันนึกว่า shit ต่างหากที่แปลว่า อึ”

“ในภาษาอังกฤษนอกจากคำ ๆ เดียวสามารถมีหลายความหมายแล้ว สิ่ง ๆ เดียวยังสามารถมีคำเรียกหลายคำได้ด้วย crap ก็เป็นเพียงสแลงคำหนึ่งที่ได้รับความนิยมในความหมาย อึ และนอกจากนั้นยังมีความหมายอื่น ๆ อีก เช่นเรื่องเหลวไหล...”

“อ๊ะ อันนี้นึกภาพออกเลย เมื่อวานเพิ่งโดนส้มตำปูดิบแผลงฤทธิ์”

“...เรื่องไร้สาระ หรือ สิ่งไร้ค่า เธอไม่ต้องวาดภาพให้ฉันเห็นก็ได้นะ ขอบคุณ... ทีนี้ถ้าเธอคิดจะเปิดร้านอาหารที่มีปูอยู่ในเมนูละก็ ระวังเรื่องตัวสะกดหน่อยนะ อย่าสับสนระหว่าง crab ที่แปลว่า ปู กับ crap ที่แปลว่า อึ นะ ฉันเคยเจอรายการอาหารเขียนว่า steamed crap เพื่อนฝรั่งที่ไปด้วยกันงงเลย ฉันคิดว่าเขาคงตั้งใจจะหมายถึง ปูนึ่ง แต่สะกดผิด แต่ฉันก็ไม่กล้าสั่งอยู่ดีเพราะกลัวว่าเขาสะกดถูก”

“เออ ไม่ต้องห่วงน่า มารศรี ถ้าฉันเปิดร้านอาหารเมื่อไหร่จะเชิญเธอมาเป็นผู้พิสูจน์อักษรรายการอาหาร เอ แล้วถ้าฉันพูดว่า cut the shit แทนที่จะเป็น cut the crap จะได้หรือเปล่า”

“cut the shit ไม่ใช่สำนวนภาษาอังกฤษจ้ะ แปลกดีไหม แต่ถ้าเธอไม่ต้องการพูดว่า cut the crap ก็อาจพูดว่า cut the bull ได้ ซึ่ง bull ในที่นี้ย่อมาจาก bullshit ซึ่งแปลตรงตัวว่า ขี้วัวตัวผู้ แต่มีความหมายเหมือน crap คือเรื่องเหลวไหลไร้สาระ เรื่องโกหก สิ่งที่ไร้ประโยชน์ อะไรทำนองนั้น”

“แปลกจัง ทำไมต้องเป็นขี้วัวตัวผู้ด้วย หรือว่าตัวเมียมันเหลวไหลน้อยกว่า”

“ก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่เขาใช้กันอย่างนั้นมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว สองคำนี้เป็นศัพท์ที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ แต่ crap จะสุภาพกว่า shit หน่อย เพราะพูดออกอากาศทีวีสาธารณะได้ แต่ shit ไม่ได้ และที่แปลกคือ crap มีความหมายในเชิงลบเท่านั้น ในขณะที่ shit ยังมีความหมายเชิงบวกได้ด้วย”

“ทำนองภาษิตไทยที่ว่ากำอึดีกว่ากำผายลมหรือเปล่า ฉันไม่เคยเห็นด้วยเลย เพราะถ้ากำอึก็ต้องมาล้างมือทีหลัง”

“ไม่ใช่ คำว่า shit ถ้าเติม the ตรงข้างหน้า เป็น the shit ก็จะเป็น สำนวนสแลง หมายความว่า ของดีเยี่ยมยอด เช่น That movie was the shit, man. = หนังเรื่องนั้นสุดยอดจริง ๆ เพื่อน”

“แล้วถ้าลืมใส่ the จะเป็นไรหรือเปล่า”

“เป็นสิ That movie was shit. แปลว่า หนังเรื่องนั้นห่วยแตก ความหมายตรงข้ามกันเลย คำว่า shit ยังมีวิธีใช้และความหมายอีกเยอะ แล้ววันหลังจะเล่าให้ฟัง”



เหลวไหล(3)


“แล้วถ้าฉันอยากจะพูดว่าเรื่องเหลวไหล แต่ไม่อยากใช้คำที่แปลว่า อึ มีคำอื่นไหม มารศรี”

“โทษที ภาษาสแลงอเมริกันมักจะหมกมุ่นอยู่กับเรื่องระบบการขับถ่าย อาจเป็นเพราะว่ามันเป็นสิ่งต้องห้ามในสังคมสุภาพก็ได้ สแลงก็เกิดจาก subculture = วัฒนธรรมย่อย ที่มักจะต่อต้านวัฒนธรรมกระแสหลัก วัฒนธรรมย่อยเหล่านี้ก็มีเช่นวงการสิงห์ขี้ยา วงการฮิปปี้ วงการคอมพิวเตอร์ วงการวัยรุ่นผิวดำ วงการโต้คลื่น ฯลฯ และพอเวลาผ่านไปสักพัก หลายอย่างที่เคยเข้าข่ายขัดต่อศีลธรรมอันดีงามก็กลายเป็นเรื่องที่วัฒนธรรมกระแสหลักยอมรับได้และถึงกับ absorb เข้าไปเป็นเนื้อเดียวกัน ที่อเมริกาเขาถึงไม่มีกระทรวงวัฒนธรรม เพราะเขาถือว่าวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมา งอกเงยและพัฒนาโดยขึ้นอยู่กับการยอมรับของสังคม ไม่ใช่ตัดสินโดยกลุ่มคนไม่กี่คนที่ไม่มีใครเลือกตั้งมาเป็นแต่ถือว่าตัวเองรู้ดีกว่าคนอื่นว่าอะไรดีงามอะไรไม่ดีงาม”

“โห มารศรี ฉันไม่ได้ขอให้เธอวิเคราะห์ผลกระทบต่อวัฒนธรรมจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมซะหน่อย ฉันแค่อยากรู้ว่ามีคำสแลงที่สุภาพกว่า shit กับ crap ไหมเวลาเราต้องการจะพูดว่านี่เป็นเรื่องเหลวไหล”

“โทษอีกที บางทีฉันชอบ go off on a tangent = พูดเรื่องนี้แล้วเลยไปเรื่องโน้นจนกู่ไม่กลับ ดีแล้วที่เธอดึงฉันกลับมาเข้าเรื่อง คำที่สุภาพกว่า shit กับ crap ที่ใช้ในความหมายเรื่องเหลวไหลน่ะหรือ มีสิ ต้องมีอยู่แล้ว เธอเคยได้ยินไหมคำว่า baloney (บะโล้นหนี่) นั่นแหละเป็นคำหนึ่ง ความจริงดั้งเดิมเป็นคำที่แผลงมาจาก bologna sausage (บะโลนยา ซ้อสสิจ) = ไส้กรอกโบโลนญ่า ซึ่งนิยมหั่นเป็นแผ่นบาง ๆ ใช้เป็นไส้แซนด์วิช ซึ่งเดิมทีเรียกว่า bologna sandwich แต่สมัยนี้คนส่วนใหญ่เรียกว่า baloney sandwich เพราะ baloney ออกเสียงง่ายกว่า bologna”

“แล้วมันเกี่ยวกับความเหลวไหลตรงไหน หรือว่าเป็นไส้กรอกที่รูปร่างหน้าตาเหมือนขี้วัว”

“บ้าสิ ถ้าเป็นอย่างนั้นคนก็กินไม่ลงหรอก ที่เขาเรียกใช้คำว่า baloney ในความหมายเดียวกับ bullshit ก็เป็นเพียงเพราะว่าต้นเสียงมันคล้าย ๆ กันแค่นั้นเอง แต่ก็ยังมีอีกหลายคำที่ใช้แทน bullshit ได้ เช่น malarkey (หมะล้าร์ขี่) hogwash (ฮ้อกหวอช) balderdash (บ๊อลเด่อร์แดช) และที่เป็นภาษาปกติ ไม่ใช่สแลง ก็คือ nonsense (น้อนเส่นส) ซึ่งในภาษาพูดจะนิยมใช้น้อยกว่า bullshit”

“แล้วถ้าเป็นการพูดในเวทีที่ต้องสุภาพล่ะ เขายังนิยมใช้ bullshit อยู่เหรอ”

“บางทีเขาก็หลีกเลี่ยงการใช้คำว่า bullshit โดยใช้คำอื่นที่ผู้ฟังเข้าใจว่าหมายถึง bullshit เช่นอักษรย่อ B.S. หรือแม้แต่ it โดยละไว้ในฐานะเข้าใจ เช่นสมมุติว่าเธอมีเพื่อนที่ชอบพูดจาเหลวไหลเพ้อเจ้อ โอ้อวด หาสาระไม่ได้ เธอก็อาจกระซิบบอกฉันว่า He’s full of B.S. = He’s full of bullshit. หรือ He’s full of it. ก็ได้ ซึ่งคล้ายกับ to be full of shit = มีแต่เรื่องไร้สาระ หาแก่นสารไม่ได้ แต่ทั้งนี้เธอต้องดูคนเป็นด้วยนะ เพราะบางคนนี่ full of it แต่มีวิธีพูดให้คนอื่นหลงเชื่อคล้อยตาม ดังนั้นเธอจึงต้องมี B.S. detector = เครื่องจับ B.S. อยู่ในสมองเธอ”

หนังสือ “ฟอไฟฟุดฟิดอังกฤษอเมริกัน” เล่ม 1-6 รวมซีดี ลดจาก 600 เหลือ 550 บาท หรือถ้าไม่เอาซีดีก็เพียง 480 บาท ส่ง EMS ฟรี ส่งธนาณัติสั่งจ่ายนายเสาวพจน์ ศรีวลี 20/1 ซอยอินทามระ 7 ป.ณ. สามเสนใน กท.10400 หรือเข้าบัญชี ธ.กรุงเทพ หมายเลข 111-4-02764-0 แฟกซ์ใบสั่งจ่ายไปที่ 0-2616-8215 อย่าลืมเขียนชื่อ-ที่อยู่นะครับ เว็บไซต์ผม //boonhod.com อีเมลผม boonhod@hotmail.com


Credit ☆☆ - //www.dailynews.co.th

 

โดย: เตยจ๋า 11 เมษายน 2554 7:10:01 น.  

 

take the cake

“โอเค มารศรี ฉันพอนึกออกว่า take มีวิธีใช้และความหมายเยอะมาก แต่คิดว่าคงจะมีที่ไม่เกี่ยวกับการเข้าห้องน้ำด้วยใช่มั้ย”

“อ๋อ แน่สิ มีเยอะมากเลยหละ อย่างเวลาเธอไปหาหมอ เขาก็อาจจะ take your blood pressure (เทคยัวร์ บลั๊ด เผร็จเฉ่อร์) = วัดความดัน แล้วก็ take your temperature (เทคยัวร์ เท๊มผรัทเฉ่อร์) = วัดอุณหภูมิร่างกาย โดย take ในที่นี้อาจไม่ได้จำกัดเฉพาะการวัดแต่รวมถึงการบันทึกด้วย”

“แบบ take note น่ะเหรอ”

“take note แปลว่า สังเกตเป็นพิเศษ หรือ ตั้งข้อสังเกต เช่น The coroner took note of what appeared to be fang marks at the victim’s neck. = แพทย์ชันสูตรตั้งข้อสังเกตสิ่งที่ดูเหมือนรอยเขี้ยวกัดตรงคอของเหยื่อ”

“อ้าว แล้ว take note เหมือนกับจดโน้ตหรือเปล่าเนี่ย”

“ว่าถ้าเป็นพหูพจน์ take notes จะมีความหมายอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือ จดประเด็นสำคัญลงสมุดบันทึก เช่น He took copious notes that became the raw material for his books. = เขาจดบันทึกอย่างเหลือเฟือซึ่งกลายมาเป็นวัตถุดิบสำหรับหนังสือของเขา”

“อ๋อ ยังงี้เวลาฉันจดโน้ตคำบรรยายของอาจารย์ก็เรียกว่า I take notes in class. ไม่ใช่ I take note in class. แล้วเวลาปลายเทอมอาจารย์บอกให้จด ข้อสอบพร้อมกับคำตอบก็เรียกว่า I take the exam. ถูกหรือเปล่า”

“คำถามแรกถูก You take notes in class. = เธอจดในชั้นเรียน แต่อันหลังไม่ถูก to take the exam แปลว่า ทำข้อสอบ ว่าแต่ว่าฉันไม่เข้าใจว่าทำไมอาจารย์ถึงบอกให้เธอจดข้อสอบพร้อมกับคำตอบด้วย”

“ก็อาจารย์เขาใจดีไง เวลาเข้าห้องเรียนก็เปิดหนังสืออ่านให้นักเรียนฟัง เราก็เหม่อลอยมั่ง sms คุยกับเพื่อนมั่ง อาจารย์คงรู้ว่าไม่มีใครฟัง ปลายเทอมก็เลยช่วยบอกข้อสอบพร้อมคำตอบ ทุกคนจะได้ได้ A ไม่มีใครตก”

“โอ้โห ครูเธอรู้หรือเปล่าว่าทำอย่างนี้เป็นการทำร้ายนักศึกษา โลกสมัยนี้แข่งขันกันจะตาย นี่มานั่งเปิดตำราอ่านให้นักศึกษาฟังทั้ง ๆ ที่หามาอ่านเองได้ ความจริงหน้าที่ของครูคือจะต้องมอบหมาย reading assignments (รีดิง อัสซ้ายนหมั่นทส) = งานอ่านเป็นการบ้าน แล้วพอเข้าห้องเรียนก็บรรยายหรือตั้งคำถามเพื่อจุดประกายการถกเถียงในชั้นเกี่ยวกับประเด็นที่อยู่ในการบ้าน สงสัยเป็นเพราะเหตุนี้กระมัง เด็กไทยถึงคิดไม่เป็น”

“แหม มารศรี อย่าไปโทษอาจารย์เลย ท่านต้องเปิดตำราอ่านให้นักเรียนฟังเพราะไม่มีเวลาเตรียมการสอน เงินเดือนน้อยเลยต้องรับงานนอก งานนอกที่รับก็จ่ายน้อย เพราะใคร ๆ ก็รู้ว่าอาชีพครูส่วนใหญ่มาจากคนที่สอบเข้าคณะอื่นคะแนนไม่ถึง ท่านก็เลยต้องเล่นหวย ต้องขาย MLM เสริมรายได้ น่าเห็นใจออก”

“I’ve heard a lot of outrageous things in my time, but this takes the cake. = ฉันเคยได้ฟังเรื่องราวที่น่าโมโหมาเยอะ แต่เรื่องนี้สุด ๆ แล้ว... อ้อ take the cake เป็นสำนวนจ้ะ แปลว่า สุดยอด ในทางดีหรือไม่ดีก็ได้”

۩ ※โคโยตี้ (1)


“สวัสดีค่ะ คุณยาย เที่ยวสงกรานต์เป็นอย่างไรบ้างคะ”

“เป็นไงมั่ง หนูมารศรี ยายไม่ได้เที่ยวเท่าไหร่หรอก สงกรานต์เนี่ย ตั้งแต่ยายขึ้นเวทีแล้วโดนคนดูโห่ตะโกนบอกว่า อย่าถอด ๆ! ยายก็เลยเสียความมั่นใจ นั่งอยู่ที่บ้าน รอให้ลูกหลานมารดน้ำอย่างเดียว”

“เอ่อ แหม คุณยายทันสมัยจังเลยนะคะ ขึ้นไปเต้นกับเขาด้วย”

“ใช่สิ คนเราแก่วัยแล้วขืนทำตัวแก่ตามไปด้วยเดี๋ยวก็มีสิทธิแก่จริง ๆ หรอก ยายถึงพยายามทำตัวให้ทันสมัยตลอดไง หัดใช้ smart phone เรียนคอมพิวเตอร์ เต้น Dance Dance Revolution ก็ไม่เห็นมีใครว่าอะไร แต่แค่พยายามเต้นโคโยตี้แค่นั้นแหละ โดนเด็ก ๆ โห่ เพื่อน ๆ ต่อว่าเป็นแถวเลย หาว่าไม่เจียมสังขารมั่ง ขัดต่อศีลธรรมอันดีงามมั่ง ทำให้เสียชื่อเสียงประเทศไทยมั่ง เขากลัวว่าถ้าภาพออกไปแล้วฝรั่งจะกลัวว่าถ้ามาเที่ยวพัฒน์พงศ์แล้วจะเจอแต่คนรุ่นยายเต้นโหนเสา จะกระทบกระเทือนการท่องเที่ยว ถามจริง ๆ หนูมารศรีคิดว่าเรื่องแค่นี้จะสร้างความเสียหายได้ขนาดนั้นเชียวเหรอ”

“คงไม่หรอกค่ะ เรื่องของคุณยายมีแต่คนพยายามปิดข่าว ไม่มีทางเผยแพร่ทาง YouTube หนูได้ข่าวว่าคนที่ถ่ายวิดีโอในวันนั้นทุกคนลบไฟล์ที่มีภาพคุณยายทิ้งหมด ดังนั้นคงไม่มีผลกระทบอะไรหรอกค่ะ”

“แล้วถามจริง ๆ เถอะ บ้านเมืองฝรั่งเขาไม่มีแบบนี้กันเหรอ พวกเราถึงกลัวนักหนาว่าจะเสื่อมเสีย ก็คำว่าโคโยตี้นี่ก็มาจากภาษาอังกฤษไม่ใช่เหรอ”

“ความจริง coyote (คาโย้ดี่) เป็นสุนัขป่าชนิดหนึ่งค่ะ มีอยู่ในทวีปอเมริกาเหนือ จะตัวเล็กและผอมกว่า wolf (วุ่ลฟ) = สุนัขป่า ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ไม่ถูกกันอย่างแรง แต่คุณยายเคยดูการ์ตูนที่มี Wile E. Coyote พยายามไล่จับเจ้า roadrunner (โร้ดหรั่นเหน่อร์) นกแสนกลที่วิ่งเร็วจี๋แล้วชอบร้องว่า มี้บ ๆ ใช่ไหมคะ”

“เคยสิ อ๋อ นั่นน่ะเหรอ ยายนึกว่ามันเป็นหมาที่ไม่ค่อยฉลาดซะอีก ไม่รู้ว่ามันเต้นระบำเป็นด้วย จนฝรั่งเอามาตั้งชื่อเป็นระบำปลุกใจหมาป่า”

“ความจริงมันก็เต้นระบำไม่เป็นหรอกค่ะ และฝรั่งก็ไม่รู้จักคำว่าเต้นโคโยตี้ด้วย หนูเข้าใจว่าคำนี้มาจากหนังเรื่อง Coyote Ugly ซึ่งเกี่ยวกับสาว ๆ สิ้นไม้ไร้ตอกที่เต้นในบาร์ชื่อ Coyote Ugly Saloon เพื่อหาเศษทิปเลี้ยงชีพ เป็นหนังเล็ก ๆ ห่วย ๆ ที่ฝรั่งส่วนใหญ่ไม่รู้จักหรอกค่ะ ยกเว้นเพลง Can’t Fight the Moonlight ซึ่ง LeAnn Rimes ร้องสำหรับเรื่องนี้ การเต้นในบาร์แบบในหนังก็ไม่ได้มีความพิเศษอะไรนอกจากทำอะไรก็ได้เพื่อเรียกทิปจากหนุ่มกลัดมันที่อยู่ในกลุ่มคนดู”

“อ้าวเหรอ ยายนึกว่าเราทับศัพท์เขาซะอีก แล้ว coyote ugly นี่มีความหมายอะไรหรือเปล่า”.

 

โดย: เตยจ๋า 14 พฤษภาคม 2554 20:45:31 น.  

 

◐◐ โคโยตี้ (2)“หรือว่าฝรั่งเขามองว่าเต้นโคโยตี้มันน่าเกลียด ถึงเรียกว่า coyote ugly หนูมารศรีว่าไง”

“คุณยายจำที่หนูพูดได้ไหมคะว่าสาว ๆ ที่ไปเต้นในบาร์ Coyote Ugly เป็นพวกสิ้นไร้ไม้ตอก (หนูชอบสำนวนนี้จัง แปลว่าอะไรก็ไม่รู้) ฝรั่งเขาเรียกสาว ๆ แบบนี้ว่า trashy ค่ะ จาก trash ที่แปลว่า ขยะ นั่นแหละค่ะ เติม y เข้าไปก็หมายถึงพวกไม่ค่อยมีระดับเท่าไหร่ ตรงข้ามกับ classy ซึ่งแปลว่าดูดีมีสกุล”

“อ๋อ พวกไพร่ล่ะสิ”

“เอ่อ ก็ไม่เชิงค่ะ สาว ๆ พวกนี้บางทีก็ไม่ได้เกิดในครอบครัวยากจน บางคนก็เป็นทายาทตระกูลมหาเศรษฐี อย่าง Paris Hilton หรือเป็นดาราชื่อดัง อย่าง Lindsay Lohan เป็นต้น สิ่งที่กำหนด trashiness คือการชอบทำตัวไร้ค่า แต่งตัววับ ๆ แวม ๆ พวกนี้จะไม่ค่อยมีเป้าหมายในชีวิต ไม่สนใจอะไรที่เป็นเนื้อหาสาระ วัน ๆ ดีแต่สนุกสนานปาร์ตี้ขี้เมา พูดจาก้าวร้าวเกเร ถ้าเป็น trailer trash ก็หมายถึงพวกที่ยากจนอาศัยใน trailer = รถพ่วงแบบที่ดูเหมือนบ้านเคลื่อนที่น่ะค่ะ พวกนี้ถูกรังเกียจแต่ไม่ค่อยเป็นข่าว แต่ถ้าเป็น rich trash อย่าง Paris Hilton ก็จะเป็นข่าวบ่อยหน่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาเมาแล้วอาละวาด หรือมีภาพก้าวลงจากรถโดยไม่ใส่กางเกงใน เพราะชาวบ้านชอบอ่านข่าวคนรวยทำตัวทุเรศ ๆ”

“ก็ใช่สิ คนจนทำตัวทุเรศมันจะไปน่าสนใจตรงไหน แต่นี่หนูมารศรียังไม่ได้ตอบคำถามยายเลยนะว่า coyote ugly แปลว่าอะไร”

“อ๋อ เป็นสำนวนสแลงในวงการค่อนข้างจำกัดค่ะ แปลว่า อัปลักษณ์มาก ๆ ดูไม่ได้เลย”

“อ้าวเหรอ ยายนึกว่าฝรั่งจะใจกว้างกว่าคนไทยซะอีกเรื่องแบบนี้ เขารับไม่ได้เหมือนกันเหรอที่ผู้หญิงขึ้นไปเต้นโป๊ ๆ บนเวที เอ แต่ฝรั่งเขาก็มีระบำโป๊ ๆ เปลือย ๆ ตั้งหลายอย่างไม่ใช่เหรอ หรือว่าเต้นโคโยตี้นี่มันน่าเกลียดกว่าอย่างอื่น”

“อ๋อเปล่าค่ะ ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับสิ่งที่คนไทยเรียกว่าเต้นโคโยตี้เลย แต่ที่หนูเกริ่นเมื่อกี้เกี่ยวกับผู้หญิงที่ trashy ก็เพราะจะปูทางสำหรับอธิบายความหมายของ coyote ugly นี่แหละค่ะ คือผู้หญิงฝรั่งประเภทนี้จะนิยมมี one-night stand กับผู้ชายที่เพิ่งรู้จัก one-night stand ไม่ได้หมายความว่ายืนคุยกันหนึ่งคืนนะคะ แต่หมายถึงมีเพศสัมพันธ์กันหนึ่งคืนแล้วรุ่งขึ้นก็แยกย้ายกันไปเหมือนคนไม่รู้จักกัน ไม่มีพันธะอะไรต่อกัน แต่บางทีถ้าผู้หญิงเมามาก ๆ รุ่งขึ้นอาจจะตื่นขึ้นมาพบว่าแขนตัวเองถูกนอนทับโดยผู้ชายแปลกหน้าที่สุดแสนจะอัปลักษณ์ ชนิดว่าอยากจะกัดแขนตัวเองให้ขาดจะได้หลุดออกมาแบบที่ตัว coyote ทำเวลาติดกับดักนายพรานนั่นแหละค่ะ”.

 

โดย: เตยจ๋า 14 พฤษภาคม 2554 20:49:57 น.  

 

โคโยตี้ (3)◐◑   “ตายจริง หนูมารศรี เป็นไปได้เหรอที่คนเราจะจำไม่ได้ว่าเมื่อคืนเรากลับบ้านกับใคร ถึงเป็น one-night stand อย่างที่หนูว่าก็น่าจะยังพอจำได้มั่งว่าหน้าตาเป็นยังไง ไม่ใช่พอตื่นขึ้นก็ตกใจว่าตายจริง เรามานอนอยู่ข้าง ๆ อีตาอัปลักษณ์คนนี้ได้ยังไง...เออ แต่ว่าไป ความจริงยายก็คิดแบบเดียวกันทุกครั้งที่ตื่นขึ้นมาเห็นตา...”

“ก็เขามีสำนวนที่ว่า to be drunk out of (one’s) mind น่ะค่ะ หมายความว่า เมาจนไม่ได้สติสัมปชัญญะ พอหายเมาก็จำไม่ได้ว่าตอนที่ตัวเองเมาได้ทำอะไรไปบ้าง บางคนพอเมาก็ flash คนอื่น แบบในงาน Mardi Gras (มาร์ดี กรา) น่ะค่ะ”

“อะไรนะ พอเมาแล้วก็ถ่ายรูปคนอื่นโดยใช้แฟลชเหรอ”

“ไม่ใช่ค่ะ flash ในที่นี้เป็นคำสแลง หมายถึงการเปิดแวบให้คนอื่นเห็นสิ่งที่คนปกติถือเป็นของสงวน”

“อกอีแป้นจะแตก แล้วเขาทำกันยังงั้นเพื่ออะไร”

“ที่อเมริกาก็มีพวก flasher เป็นผู้ชายโรคจิต พอเห็นผู้หญิงเดินผ่านก็จะเปิดเสื้อโค้ตแวบให้เห็นว่าข้างในแกไม่ใส่อะไร พอผู้หญิงวี้ดว้ายด้วยความตกใจพวกนี้ก็ดีใจ นึกว่าเขาวี้ดว้ายด้วยความประทับใจ แต่ถ้าตำรวจเจอเข้าก็มีสิทธิโดนจับในข้อหา indecent exposure”

“อย่าว่าแต่ผู้ชายเลย รุ่นพี่ของยายก็มีเหมือนกัน แกสติไม่ค่อยดี เวลาเขาเฉลิมฉลองเทศกาลกัน แกก็ชอบไป flash ชาวบ้านที่ขับรถผ่าน พร้อมกับยิ้มยิงฟันหลอ ๆ ดำ ๆ ของแก หลานยายเจอเข้าทีนึง ฝันร้ายไปหลายวัน ความจริงถ้าแกโดนจับในข้อหา indecent proposal อะไรที่หนูว่านั่นก็คงจะดี”

“indecent exposure (อินดีซึนเถ็กสโป๊เฉ่อร์) ค่ะ เป็นข้อหาตามกฎหมาย แปลว่า การเปิดให้เห็นที่ไม่เรียบร้อย ไม่ว่าจะเป็นการ flash แวบเดียว หรือนานกว่านั้นก็แล้วแต่ ทั้งผู้ชายและผู้หญิงมีสิทธิโดนตั้งข้อหาได้ถ้าเปิดเผยให้ธารกำนัลเห็นส่วนของร่างกายที่ควรปิดไว้”

“เหรอ คำว่า indecent (อินดี๊สึ่นท) นี่หมายถึงไม่เรียบร้อยเหรอ ยายนึกว่าเวลาเราพูดถึงคนว่า He’s a decent chap. แปลว่าเขาเป็นคนดี นึกว่า indecent จะมีความหมายตรงข้ามซะอีก”

“อ๋อ นั่นเป็นอีกความหมายหนึ่งของ decent ค่ะ สมมุติว่าคุณตาเคาะประตูแล้วถามคุณยายว่า Are you decent? นั่นหมายความว่า เธอแต่งตัวเรียบร้อยหรือเปล่า ไม่ใช่ เธอเป็นคนดีหรือเปล่า คุณยายก็อาจตอบว่า Just a minute, I’m still indecent. แปลว่า รอสักแป๊บ ฉันยังโป๊อยู่”

“ถ้าเป็นสมัยก่อนพูดยังงั้นคุณตาก็จะทำทีเป็นไม่ได้ยินแล้วเปิดประตูเข้ามาเลย แต่สมัยนี้ไม่รู้ทำไมแกถึงกลายเป็นสุภาพบุรุษไป ตอนหลังจับได้ว่าแกชอบแอบไปดูสาวโคโยตี้ ยายก็เลยขึ้นไปเต้นโคโยตี้กับเขามั่ง แต่ที่ไหนได้ โดนแต่คนโห่ว่าอย่าถอด ๆ สงสัยบ้านเราเป็นสังคมสองมาตรฐานอย่างที่เขาว่ากันจริง ๆ นะ หนูมารศรี”.

หนังสือ “ฟอไฟฟุดฟิดอังกฤษอเมริกัน” เล่ม 1-6 รวมซีดี ลดจาก 600 เหลือ 550 บาท หรือถ้าไม่เอาซีดีก็เพียง 480 บาท ส่ง EMS ฟรี ส่งธนาณัติสั่งจ่าย
นายเสาวพจน์ ศรีวลี 20/1 ซอยอินทามระ 7 ป.ณ.สามเสนใน กท. 10400 หรือเข้าบัญชี ธ.กรุงเทพ หมายเลข 111-4-02764-0 แฟกซ์ใบสั่งจ่ายไปที่ 0-2616-8215 อย่าลืมเขียนชื่อ-ที่อยู่นะครับ เว็บไซต์ผม //boonhod.com อีเมลผม boonhod@hotmail.com

บ๊อบ บุญหด

 

โดย: เตยจ๋า 14 พฤษภาคม 2554 20:53:33 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะ VIP Friend
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


Turtle Came to See Me
Location :
พัทลุง Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 42 คน [?]





★ที่มา ล็อกอิน ★Turtle Came to See Me ★( บทกวี Poem )
เป็นหนังสือ สำหรับเยาวชน
★Turtle Came to See Me
แต่งโดย :Margrita Engle
★★★★



BlogGang Popular Award #11

BlogGang Popular Award #12
Friends' blogs
[Add Turtle Came to See Me's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.