Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2556
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
9 ตุลาคม 2556
 
All Blogs
 

6 ความเชื่อผิดๆ เรื่องสุขภาพ

 

1. ควรดื่มน้ำวันละ 8 แก้ว จริงหรือ?

drink_water_by_liesjuh

การดื่มน้ำบริสุทธิ์วันละ 8 แก้วดีจริงหรือไม่ หนึ่งในคำแนะนำเพื่อการใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาพดี  คือ การดื่มน้ำบริสุทธิ์วันละ 8 แก้ว (แก้วที่ว่ามีขนาดเท่ากับ 8 ออนซ์ โดยที่ 1 ลิตรเท่ากับ 33.6 ออนซ์ หรือประมาณ 4 แก้ว) จะทำให้เราเป็นคนสุขภาพดี ซึ่งไม่นับรวมไปถึงการดื่มกาแฟ น้ำชา น้ำอัดลม เบียร์หรือน้ำผลไม้ต่างๆ แล้วเราต้องการดื่มน้ำวันละมากถึง 8 แก้วต่อวันจริงหรือ?  คำถามนี้ถูกต้องสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคนิ่วในไต หรือผู้ที่กำลังจะเป็นโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบต่างหาก แต่สำหรับคนปกติไม่จำเป็น

ความเข้าใจผิดในการสรุปว่าต้องดื่มน้ำวันละ 8 แก้วนั้นเริ่มมาจากในปี ค.ศ. 1945 ของสหรัฐ เนื่องจากนักโภชนาการคำนวณเกินความจำเป็น เพราะไม่ได้นับรวมน้ำที่มีอยู่ในอาหารที่รับประทานเข้าไปด้วย แทนที่จะให้แต่ละคนดื่มน้ำเมื่อรู้สึกกระหายและดับกระหายก็ถือว่าเพียงพอต่อความต้องการของร่างกายแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องนักเพราะเมื่อร่างกายเราขาดน้ำสัญญาณประสาทที่จะส่งไปยังสมองนั้นจะช้าลง ทำให้เราไม่ได้รับสัญญาณประสาทว่าเรากำลังต้องการดื่มน้ำเพื่อทดแทนอาการขาดน้ำ แต่จะว่าไปแล้วร่างกายของเรานั้นได้แยกการกระหายน้ำออกจากความรู้สึกหิวอาหารอยู่แล้ว เพราะกระบวนการในการส่งสัญญาณไปที่สมองนั้นได้แยกออกจากกัน แต่คนเรานั้นบางครั้งก็สับสนกันระหว่างหิวน้ำกับหิวอาหาร

นอกจากนี้งานวิจัยข้างต้นยังคำนวนผิดพลาดเนื่องจากคนเราไม่จำเป็นต้องดื่มน้ำเปล่าเสมอไป การดื่มชา กาแฟ ก็สามารถเพิ่มระดับน้ำในร่างกายได้ แต่การที่งานวิจัยข้างต้นไม่นับรวมเครื่องดื่มเหล่านี้เนื่องจากว่าพวกเขาคิดว่าเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนมีฤทธิ์ในการขับปัสาวะ ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้ร่างกายเสียน้ำมากกว่าที่จะได้รับน้ำเข้าไปในร่างกาย แต่ความเชื่อนี้ก็ถูกหักล้างลงในปีคศ. 2000 ที่ได้มีงานวิจัยออกมาแล้วว่าไม่มีความแตกต่างของปริมาณน้ำในร่างกาย เมื่อเปรียบเทียบระหว่างการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนกับน้ำเปล่า

ประเด็นของเรื่องการดื่มน้ำนี้อยู่ที่สุขภาพที่แข็งแรง ดังนั้นไม่ว่าจะดื่มน้ำเปล่า น้ำชา กาแฟ น้ำอัดลม หรือแม้กระทั่งน้ำซุป เมื่อคำนวนแล้วว่ารวมกันได้มากถึง 8 แก้ว ก็เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ส่วนคำถามที่ว่าการดื่มน้ำมากๆ ช่วยลดน้ำหนักได้จริงหรือไม่ การดื่มน้ำมากๆ และการดื่มน้ำระหว่างมื้ออาหารหรือก่อนมื้ออาหารนั้น จะทำให้ความอยากอาหารเราลดลงได้ แต่ไม่ได้ช่วยให้เราน้ำหนักลดลง โดยที่เราไม่ต้องออกกำลังกาย

 "จำนวนน้ำที่เราต้องการในแต่ละวันนั้น ต้องขึ้นอยู่กับกิจกรรมในแต่ละวันของแต่ละคน ไม่จำเป็นต้องเชื่อโบราณเขาว่าเสมอไป"


2. น้ำตาลทำให้เด็กไฮเปอร์

kids-and-sugar

คุณพ่อคุณแม่มักเชื่อว่า ถ้าลูกกินลูกอมลูกกวาด หรือของหวานมากเกินไป พวกเขาจะเริ่มอยู่ไม่สุข ลุกลี้ลุกลนหาอะไรทำอยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งคิดว่าลูกตัวเองเป็นโรคสมาธิสั้น ซึ่งไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด เด็กส่วนใหญ่จะเป็นเด็กมีความแอคทีฟหรือซนอยู่แล้วโดยธรรมชาติ ถ้าพวกเขาชอบที่จะกระโดดขึ้นลงบนเตียงนอนมันก็เป็นแค่เรื่องธรรมดา เหมือนกิจวัตรประจำวันที่พวกเค้าจำเป็นต้องทำเป็นประจำเท่านั้นเอง

โรคสมาธิสั้น (Attention Deficit  Hyperactivity )หรือโรคADHDเป็นโรคทางจิตเวชในเด็กที่เกิดขึ้นโดยจะมีอาการก่อนอายุ 7 ปีซึ่งเป็นผลจากความผิดปกติของการพัฒนาสมองส่วนการควบคุมตนเอง  ทำให้มีผลกระทบต่อพฤติกรรม อารมณ์การเรียนและการเข้าสังคมกับผู้อื่นของเด็ก   การจะวินิจฉัยโรค แพทย์จะพิจารณาอาการตาม 3 กลุ่มอาการคือ

    1. กลุ่มอาการขาดสมาธิ (Attention Deficit):เด็กจะมีลักษณะวอกแวกง่าย ขาดความตั้งใจในการทำงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งงานที่ต้องใช้ความคิด เด็กมักจะเหม่อลอยบ่อยๆ  ฝันกลางวัน  ทำงานไม่เสร็จ  ผลงานมักจะไม่เรียบร้อย ตกๆ หล่นๆ ดูเหมือนสะเพร่าขาดความรอบคอบ มีลักษณะขี้ลืม ทำของใช้ส่วนตัวหายเป็นประจำมีลักษณะเหมือนไม่ฟังเวลาพูดด้วย สั่งให้ทำงานอะไรมักจะลืมหรือทำครึ่งๆ กลางๆ อาการขาดสมาธินี้มักมีต่อเนื่องจนเป็นผู้ใหญ่
    2. กลุ่มอาการซน (Hyperactivity)เด็กจะมีลักษณะซน อยู่ไม่สุข ยุกยิกตลอดเวลา นั่งนิ่งๆ ไม่ค่อยได้ ต้องลุกเดินหรือขยับตัวไปมา ชอบปีนป่าย เล่นเสียงดัง เล่นผาดโผน ทำกิจกรรมที่เสี่ยงอันตรายประสบอุบัติเหตุบ่อยๆ จากความซนและไม่ระมัดระวัง พูดมาก พูดไม่หยุดชอบแกล้งหรือแหย่เด็กอื่น
    3. กลุ่มอาการหุนหันพลันแล่น (Impulsivity)เด็กจะมีลักษณะวู่วาม ใจร้อน หุนหันพลันแล่นทำอะไรไปโดยไม่คิด ขาดความระมัดระวัง เช่นวิ่งข้ามถนนโดยไม่มองรถ ซุ่มซ่าม ทำข้าวของแตกหักเสียหายต้องการอะไรจะต้องได้ทันที รอคอยไม่ได้มักจะพูดโพล่งออกมาตอบคำถามโดยที่ไม่ฟังให้จบชอบพูดแทรก

 เพราะฉะนั้นเด็กบางรายอาจมีลักษณะอาการเข้ากับเพียงกลุ่มอาการใดกลุ่มอาการหนึ่ง หรือบางรายมีลักษณะอาการร่วมๆ กัน ก็ถือว่าเข้าข่ายโรคสมาธิสั้นเช่นกัน

ข้อมูลจาก สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์

ในปี 1996 มีการทดลองสำหรับครอบครัวที่มีลูกที่อยู่ในช่วงอายุ 5-7 ปี เพื่อทดสอบแบบ blind study ไม่มีพ่อแม่คนใดที่ทราบว่าเด็กคนไหนรับประทานน้ำตาลและเด็กคนไหนรับประทานอาหารที่ไม่มีน้ำตาล (placebo)  นักวิจัยสามารถแบ่งกลุ่มความคิดของพ่อแม่ได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ กลุ่มแรกพ่อแม่จะคิดว่าลูก ๆ ของเค้าได้รับประทานอาหารที่มีน้ำตาลเข้าไปเป็นจำนวนมาก ในขณะที่อีกกลุ่มพ่อแม่คิดว่าเป็นลูกได้ทานอาหารไม่มีน้ำตาล แต่ความเป็นจริงแล้วเด็กทั้งหมดรับประทานอาหารที่ไม่มีน้ำตาลทั้งหมด (sugar-free) แต่เมื่อพ่อแม่เห็นเด็กเล่นอย่างร่าเริง สนุกสนาน กลับมองว่าพฤติกรรมเหล่านั้นเป็นพฤติกรรมที่ตื่นตัวผิดปกติ (hyperactive)

sugar-and-hyperactivity-in-your-child-300x198

ซึ่งความจริงไม่ได้เป็นแบบที่พ่อแม่คิดเลย จากการศึกษาของนักจิตวิทยา David Benton จากมหาวิทยาลัย Swansea พบว่าในเด็กที่มีอายุระหว่าง 9 ถึง 11 ปี หลังจากรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลไปแล้วครึ่งชั่วโมง จะมีความสามารถในการจดจ่อต่อการเรียนรู้ มีสมาธิในการทำง่าน และได้คะแนนในการทำการทดสอบความทรงจำมากขึ้น ในขณะที่เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นจริงๆ นั้นจะไม่สามารถมีสมาธิจดจ่อกับสิ่งใดได้เลย

ถึงแม้กระนั้นก็ตาม พ่อแม่ผู้ปกครองก็อย่าเพิ่งตามใจให้เด็กกินอาหารที่มีน้ำตาลมากเกินไป เพราะการให้กินน้ำตาลอาจช่วยให้มีสมาธิจริงแต่ผลของมันก็อยู่ไม่นาน อีกทั้งอาหารที่ไม่มีน้ำตาลนั้นจะช่วยให้ร่างกายรักษาระดับของน้ำตาลกลูโคสที่จะถูกส่งไปที่สมองได้ดีกว่า อีกทั้งอาจก่อให้เกิดโรคอ้วนในเด็กอีกด้วย

"ของหวาน/อาหารที่มีน้ำตาลเป็นแค่แหล่งพลังงานที่เด็กต้องการเพื่อที่จะได้สนุกสนาน กับเพื่อนๆ ก็แค่นั้นเอง"  

3. ร่างกายของคนเราต้องการความช่วยเหลือในการล้างพิษ” (Detoxification)

detox_diet

เราอาศัยอยู่ในโลกที่ล้วนเต็มไปด้วยสารพิษ แม้กระทั่งขณะที่คุณกำลังหายใจอยู่ ณ ขณะนี้ก็ตาม หรือแม้กระทั่งอาหารในมือต่อไปก็อาจเต็มไปด้วยพิษที่มาจากธรรมชาติไปจนถึงยาฆ่าแมลงและมลภาวะต่างๆ รายงานฉบับล่าสุดจาก Human Exposure to Environmental Chemicals กังวลเกี่ยวกับระดับของสารพิษจำนวนมาก เช่น โลหะหนัก dioxins หรือ PCBs และพทาเลท ที่ถูกใส่ลงในผลิตภัณฑ์พลาสติกชนิดต่างๆ ซึ่งถูกตรวจพบในเลือดและปัสสาวะชาวอเมริกัน

คำถามก็คือ เราสามารถทำอะไรได้บ้างกับสารพิษในร่างกาย??? จากคำถามนี้ทำให้มีคนคิดวิธีการกำจัดสารพิษออกจากร่างกายหรือดีท็อกซ์ (detox)  การดีท็อกซ์มีหลากหลายวิธีแต่ทุกวิธีล้วนแล้วแต่เชื่อว่าสามารถกำจัดของเสียหรือสารพิษออกจากร่างกายได้จริง แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าการทำดีท็อกซ์สามารถกำจัดสารพิษได้จริงหรืออาจเป็นการทำร้ายร่างกายเพิ่มมากขึ้นกันแน่

สารพิษที่เข้าสู่ร่างกายส่วนมากจะถูกย่อยสลายและ/หรือขับออกจากร่างกายภายในไม่กี่ชั่วโมง แต่สำหรับสารบางชนิดอาจต้องใช้เวลาเป็นสัปดาห์ เป็นเดือน หรือเป็นปี ในการกำจัดสารเหล่านั้นออกจากร่างกายโดยเฉพาะสารเคมีบางชนิดที่ละลายในไขมันเช่น dioxin และ PCBs ซึ่งโปรแกรมการดีท็อกซ์ส่วนมากสนับสนุนให้รับประทานเฉพาะของเหลว ผลจากการทำดีท็อกซ์แบบนี้ไม่ได้ทำให้ระดับของสารพิษที่สะสมมาร่วมปีลดลงแต่อย่างใด

ยิ่งไปกว่านั้นการอดอาหารหรือการควบคุมอาหารจะทำให้สารเคมีที่ละลายอยู่ในไขมันถูกปล่อยเข้าสู่กระแสเลือดมากกว่าที่จะกำจัดออกไปจากร่างกาย  จากการศึกษาระดับของยาฆ่าแมลงในกลุ่มของ organochlorines และยากำจัดศัตรูพืชในเลือด พบว่าผู้ที่สูญเสียน้ำหนักอย่างรวดเร็วจะพบสารเคมีทั้งสองชนิดในเลือดเพิ่มมากขึ้น 25 – 50% และจากการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่า สารเคมีเหล่านี้ถูกพบมากขึ้นในเนื้อเยื่อร่างกายเช่น กล้ามเนื้อและสมอง ซึ่งมีผลอันตรายต่อสุขภาพมากกว่าตอนที่สารเคมีเหล่านี้ละลายอยู่ในไขมัน

การทำดีท็อกซ์อาจเป็นสาเหตุให้เกิดการผลักสารเคมีออกจากไขมันเข้าสู่ระบบเลือด ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาทางร่างกายอื่นๆ ตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าสารเคมีเหล่านี้เป็นพิษต่อระบบต่อมไร้ท่อ เนื่องจากไม่มีงานวิจัยใดยืนยันว่าสารเคมีที่ออกจากไขมันเข้าสู่กระแสเลือดจะถูกขับออกจากร่างกาย นอกจากนี้การที่น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็วอาจเกิดปัญหา โย โย่ เอฟเฟ็ค (yo-yo effect) ตามมาอีกด้วย

แต่ใช่ว่าการดีท็อกซ์จะมีผลเสียเสมอไป วิธีการดีท็อกซ์ที่ส่งผลดีต่อสุขภาพเช่น วิธี lifelong detox เป็นการดีท็อกซ์แบบง่ายๆ เพียงแค่การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์กับร่างกาย และหลีกเลี่ยงสารเคมีเท่าที่ทำได้ทั้งที่บ้าน ที่ทำงานและที่อื่นๆ เท่านั้นเอง เช่น  งดดื่มเหล้า, สูบบุหรี่ หรือสูดควันต่างๆ เป็นต้น 

 

4. ยาต้านอนุมูลอิสระช่วยให้อายุยืน

eeee1

เซลล์ทุกเซลล์จะมีการรับสารอาหารที่จำเป็น และเกิดกระบวนการเผาผลาญพลังงาน ซึ่งกระบวนการเผาผลาญนี้เองจะทำให้เกิดของเสียหรือสิ่งที่เป็นพิษ และยังทำให้เกิดอนุมูลอิสระ หรือ Free radical ซึ่งถือว่าเป็นพิษต่อเซลล์  นอกจากนี้อนุมูลอิสระอาจเกิดจากการได้รับมลพิษต่างๆ เข้าไปเช่น โอโซน โลหะหนัก ควันบุหรี่ เป็นต้น

อนุมูลอิสระจะทำให้เซลล์และส่วนประกอบของเซลล์เกิดปฏิกริยา Oxidation ทำให้เซลล์เสื่อมสภาพหรือถูกทำลาย และยังทำลายโครงสร้าง/หน้าที่ของผนังเซลล์ ก่อให้เกิดความผิดปกติต่างๆ เช่นโรคชรา (แก่ก่อนวัย) โรคหลอดเลือด และหัวใจขาดเลือด โรคเสื่อมของระบบต่างๆ ในร่างกาย รวมถึงการกลายพันธุ์ของเซลล์ซึ่งอาจพัฒนาไปเป็นเซลล์มะเร็งได้ ร่างกายของเราจะสร้างอนุมูลอิสระนี้ตลอดเวลา จึงต้องมีกลไกในการควบคุมสารนี้และผลผลิตของมันเพื่อไม่ให้ลุกลามไปทำร้ายร่างกายของเรา

โดยปกติร่างกายจะมีการป้องกันหรือลดกระบวนการ Oxidation โดยการสร้างสารต่างๆ ขึ้นมาต่อต้านกระบวนการ oxidation หรือเรียกว่าสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) สารต้านอนุมูลอิสระบางส่วนก็ได้จากอาหารที่กินเข้าไป เช่น วิตามิน A, E,C ที่ได้จากผักผลไม้บางชนิด เป็นต้น

VRP14ในปัจจุบันได้มีการนำเสนอเกี่ยวกับสารต้านอนุมูลอิสระออกมาเป็นจำนวนมาก มีการโฆษณาชวนเชื่อหลากหลายว่าสามารถชะลอความแก่และป้องกันโรคได้ จึงทำให้คนหันมาสนใจเกี่ยวกับสารต้านอนุมูลอิสระกันมากขึ้น แล้วยาต้านอนุมูลอิสระที่มีขายกันสามารถลด/ป้องกัน/ขจัดโรคได้จริงหรือ?

ความเชื่อนี้เริ่มมีมาตั้งแต่คศ. 1970 ผู้ได้รางวัลโนเบลสาขาเคมี Linus Pauling ที่สรุปว่าวิตามินรวมที่มีโดสสูงจะสามารถชะลอโรคได้โดยไม่รอผลการทดลองหรือหลักฐานใดๆ ทั้งสิ้น เมื่องานนี้ออกสู่สาธารณะทำให้ประชาชนเกิดความต้องการรับประทานสารต้านอนุมูลอิสระ จนเกิดเป็นธุรกิจ/โรงงานผลิตยาต้านอนุมูลอิสระขึ้น และกระแสก็ซาเงียบหายไป จนกระทั่งปีคศ. 1990 หลังจากได้มีการศึกษาอย่างจริงจังมากขึ้นจนพบอีกว่า เบต้าแคโรทีน วิตามินอี และวิตามินซี ก็มีกลไกการทำงานเหมือนกับสารต้านอนุมูลอิสระเช่นกัน จึงเกิดเป็นกระแสนิยมประชาชนแห่กันรับประทานอีกครั้ง

แต่ความเชื่อเหล่านั้นก็เริ่มถูกทำลายลงจากการแสดงหลักฐานในปี 2007 ที่ได้มีการศึกษาในประชากรกว่า 230,000 คน ที่รับประทานสารต้านอนุมูลอิสระว่าไม่ได้ทำให้อายุยืนมากขึ้นเหี่ยวช้าลง แต่ยังพบว่าผู้ที่ทานเบต้าแคโรทีน วิตามินเอ และวิตามินอี ดูเหมือนจะมีผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น การเสียชีวิตที่เพิ่มมากขึ้นนี้ นักวิจัยคาดว่าน่าจะเกิดจากเพราะในร่างกายมีสารต้านอนุมูลอิสระมากเกินไปจนกระทั่งเซลล์ต้องผลิตอนุมูลอิสระเพื่อมาต่อสู้นั่นเอง

สารต้านอนุมูลอิสระที่ได้จากอาหารก็มากเพียงพอที่จะต่อสู้กับอนุมูลอิสระแล้วไม่จำเป็นต้องหาอาหารเสริมเหล่านี้มากินเพิ่มแต่อย่างใด นอกจากผักผลไม้สดจะให้สารต้านอนุมูลอิสระแล้วยังช่วยให้ได้รับวิตามินชนิดอื่นๆ แร่ธาตุต่างๆ และยังช่วยในระบบขับถ่าย ตัวอย่างอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระเช่น  ปลาทูน่า เนื้อสัตว์ ตับ ไก่ ปลา ผักที่มีสีเขียวเข้ม ผลไม้ที่มีสีเหลืองส้ม เป็นต้น

"การรับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ และการออกกำลังกาย ส่งผลให้สุขภาพแข็งแรง ยิ่งกว่ายาผีบอก"

antioxidant pill - food chart

5. อ้วนเกินเกณฑ์นิดหน่อยทำให้อายุสั้นลง

overweight-life-insurance

เป็นเรื่องจริงที่ว่า ถ้าคุณเป็นโรคอ้วนแล้วจะมีสุขภาพแย่ โดยเฉพาะถ้าคุณมีค่าดัชนีมวลกาย หรือ Body mass index (BMI) มากกว่า 40 มันจะส่งผลให้คุณมีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2, โรคหัวใจ, โรคมะเร็งบางชนิด และยังเพิ่มความเสี่ยงการตายจากสาเหตุอื่นๆ อีก 29%

แต่บางครั้งกลับมีคำพูดเกินจริงเช่น การที่น้ำหนักเพิ่มขึ่นอีก 4-6 กิโลกรัม ก็เหมือนซื้อตั๋วเที่ยวเดียวไปสู่ความตาย ซึ่งปัจจุบันมีงานวิจัยจำนวนมากที่ศึกษากลุ่มประชากรเกือบ 3 ล้านคน มาโต้แย้งคำพูดเกินจริงเหล่านั้น เช่น

body-comparison

งานวิจัยของ Katherine Flegal จาก US Center for disease Control พบว่า ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน แต่ยังมีค่าดัชนีมวลกายอยู่ในช่วง 25 – 29 จะสามารถป้องกันผลกระทบที่เกิดจากการที่น้ำหนักตัวเพิ่มได้ โดยสามารถลดอัตราความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตลงได้ 6% เมื่อเทียบกับคนที่มีดัชนีมวลกายอยู่ในช่วง 18.5 – 25 เป็นต้น แต่เหตุผลที่จะสามารถนำมาอธิบายว่าทำไมผู้ที่อ้วนกว่าถึงมีสุขภาพที่ดีกว่า ก็มีการคาดเดาไปต่างๆ นาๆ ว่าการที่น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นนั้นอาจไปส่งผลต่อกระบวนการต่อสู้กับเชื้อโรคในร่างกายให้มากขึ้น หรือการที่ตนเองมีน้ำหนักตัวมากทำให้มีแนวโน้มที่จะได้รับความดูแลเอาใจใส่ในเรื่องสุขภาพมากขึ้น เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยของ Katherine Flegal ไม่ได้บอกว่าคุณสามารถกินทุกอย่างตามใจปาก เพราะการที่มีน้ำหนักเกิน (BMI > 40) ก็ยังคงส่งผลต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตอยู่ดี
 

6. เราควรกินและอยู่แบบมนุษย์ยุคหิน

cavemen

ปัจจุบันมีความเชื่อแปลกๆ เกิดขึ้นมากมายรวมถึงเรื่องอาหารการกิน เช่น ร่างกายของเราไม่ได้มีวิวัฒนาการมาเพื่อนอนอยู่บนโซฟาดูทีวี หรือกินขนมขบเคี้ยว ไอศกรีม ต่างๆ แต่เพื่อให้เราวิ่งล่าสัตว์ เก็บผักผลไม้ เฉกเช่นเดียวกับบรรพบุรุษของเรา

S. Boyd Eaton และ Melvin Konner ได้เสนอสมมติฐานเรื่องความไม่ลงรอยกันเรื่องวิวัฒนาการ (evolutionary discordance hypothesis) เมื่อปี คศ. 1985 ส่วนหนึ่งของสมมติฐานได้กล่าวว่า ในขณะที่ยีนของเราไม่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 50,000 ปี แต่อาหารการกินของเราและชีวิตความเป็นอยู่ของเราเปลี่ยนไปอย่างมาก ตั้งแต่เริ่มมีการทำเกษตรกรรมเมื่อราวๆ 10,000 ปีที่แล้ว ซึ่งเร็วเกินกว่าที่ร่างกายจะมีวิวัฒนาการรับกับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้ทัน จึงเกิดคำถามว่าเพราะอาหารการกินที่เปลี่ยนไปทำให้คนเป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคมะเร็งเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากร่างกายเราไม่ได้มีวิวัฒนาการมาเพื่อสิ่งเหล่านี้ใช่หรือไม่ หรือถ้าเราออกกำลังกายให้มากขึ้น กินแต่เนื้อที่หามาได้ (เหมือนบรรพบุรุษทีต้องคอยไปล่าสัตว์) จะทำให้เรามีร่างกายที่แข็งแรง สุขภาพดีขึ้น ตลอดจนมีความสุขมากขึ้นหรือไม่

เมื่อไม่กี่ปีที่มาได้มีการคิดค้นวิธีการรับประทานอาหารแบบพาเลโอ (paleo Paleo Diet: PD) หรือการกินอาหารแบบมนุษย์ดึกดำบรรพ์ ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมเป็นอย่างมาก หลักการกินแบบพาเลโอก็คือ การกินผัก ผลไม้ ปลา และถั่วเป็นหลัก โดยหลีกเลี่ยงการกินอาหารแปรรูปทุกชนิด และอาหารที่ผ่านกระบวนการ พร้อมทั้งออกกำลังกาย

1374032224-ScreenShot-o
1

นักชีววิวัฒนาการ Marlene Zue จากมหาวิทยาลัยมินนิโซตา คาดว่าแนวคิดการรับประทานอาหารนี้น่าจะนำแนวคิดมาจากช่วงเวลาเมื่อ 5 หมื่นปีที่แล้วที่คาดว่าบรรพบุรุษของเราจะดำเนินชีวิตแบบนั้น ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องนัก บรรพบุรุษของพวกเราไม่ได้มีการปรับตัวให้เข้ากับการดำเนินชีวิตในสมัยนั้น แต่พวกเขาปรับตัวเพื่อที่จะเรียนรู้การทำการเกษตร ยกตัวอย่างเช่น มีหลายคนที่มียีนซ้ำกันหลายๆ ชุดสำหรับการย่อยแป้งจากข้าวหรือสามารถย่อยนมวัวได้ (ย่อยเลคโตสในนม) ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นวิวัฒนาการที่เกิดขึ้นในคนยุคปัจจุบัน และข้อโต้แย้งอื่นๆ เช่น คุณรู้ได้อย่างไรว่าบรรพบุรุษเรากินอะไรเป็นอาหาร พวกเขาอาจไม่ได้กินอะไรเหมือนกับที่เรากินกันในปัจจุบันเลยก็ได้ และเราก็ไม่อาจฟันธงลงไปได้ว่าบรรพบุรุษของเราที่ดำรงชีวิตแบบนักล่าบริโภคอาหารที่หาได้นั้นจะมีสุขภาพที่ดีกว่าเราในปัจจุบัน

อย่างไรก็ดีถึงแม้ว่าจะมีความเชื่อและข้อหักล้างต่างๆ มากมาย แต่พื้นฐานเบื้องต้นสำหรับผู้ที่รักสุขภาพก็มีเพียงแค่ หมั่นออกกำลังกาย รับประทานอหารที่มีประโยชน์ ก็แค่นั้นเอง
 

อ้างอิงจาก: Don't swallow them , NewScientist magazine

ที่มา :vcharkarn.com

 




 

Create Date : 09 ตุลาคม 2556
0 comments
Last Update : 9 ตุลาคม 2556 20:40:35 น.
Counter : 1116 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


เอ็กซ์ซ่า
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 43 คน [?]




Friends' blogs
[Add เอ็กซ์ซ่า's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.