Welcome to my blog
3 วัน 2 คืน เบตง เที่ยวเมืองงามใต้สุดแดนสยาม (ตอนที่ 1)


สถานที่ท่องเที่ยว : สตรีทอาร์ตที่เบตง, ยะลา Thailand
พิกัด GPS : 5° 46' 19.26" N 101° 4' 17.50" E

ก่อนอื่นเลย ผมอยากให้ผู้อ่านลองดูรูปนี้ครับ ผมมั่นใจว่า ถ้าใครไม่ได้อ่านหัวข้อว่า วันนี้ผมจะมารีวิวที่ไหน หลายๆคนอาจจะคิดว่า ผมคงจะพาไปเที่ยวชมทะเลหมอกที่ไหนสักแห่งในภาคเหนือตอนหน้าหนาว แต่จริงๆแล้ว ทะเลหมอกสวยๆแบบนี้ อยู่ที่ภาคใต้ครับ และที่สำคัญก็คือ ทะเลหมอกแห่งนี้อยู่ในเขตสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ซะด้วย

 

เมื่อพูดถึงคำว่า “สามจังหวัดชายแดนภาคใต้” หลายๆคนอาจจะนึกไปถึงความรุนแรงต่างๆตามที่เห็นในสื่อทางโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ รวมทั้งสื่อออนไลน์ต่างๆ แต่ในรีวิวนี้ ผมจะพาไปชมสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในอีกแง่มุมหนึ่ง ณ อำเภอที่อยู่ใต้สุดของประเทศไทย ติดกับประเทศมาเลเซีย ซึ่งที่นั่นมีทั้งธรรมชาติและวัฒนธรรมที่สวยงาม รวมทั้ง อาหารที่อร่อย และผู้คนที่เป็นมิตร อำเภอนั้นมีชื่อว่า เบตง ครับ

ทริปนี้ ผมไปมาเมื่อวันที่ 17-19 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นระยะเวลา 3 วัน 2 คืน ในสไตล์แบ็คแพ็ค โดยแรงบันดาลใจที่ทำให้ผมอยากไปเบตง มาจากคลิปรีวิวของบล็อกเกอร์ชื่อดัง 2 คน คือ น้องปั้น The Walking Backpack และ หมอเปียง Traveller x Doctor ผมจึงขอเอาคลิปของทั้งคู่มาแปะในที่นี้ ลองดูคลิปนะครับ รับรองว่า ถ้าคุณดูคลิปจบและอ่านรีวิวของผมครบทุกตอน คุณจะอยากไปที่นี่แน่นอนครับ

 


 
รู้จักกับอำเภอเบตง

เบตง เป็นอำเภอที่มีขนาดใหญ่ในจังหวัดยะลา ตั้งอยู่ทางใต้สุดของประเทศไทย อยูู่ห่างจากตัวเมืองยะลาประมาณ 140 กิโลเมตร และห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 1,220 กิโลเมตร มีลักษณะเป็นหัวหอกยื่นเข้าไปในประเทศมาเลเซียตาม แนวเทือกเขาสันกาลาคีรี

ภูมิประเทศของอำเภอเบตงส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงจึงทำให้เบตงมีอากาศดี และมีหมอกตลอดทั้งปี จึงมีคำขวัญประจำอำเภอที่ว่า “เมืองในหมอก ดอกไม้งาม ใต้สุดสยาม เมืองงามชายแดน”


คำว่า เบตง มาจากภาษามลายูว่า "Buluh Betong" หมายถึง ไผ่ตง ซึ่งเป็นพืชที่มีอยู่มากที่นี่ ทำให้ต้นไผ่ตงกลายมาเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของอำเภอเบตง

ความน่าสนใจของอำเภอเบตงที่ทำให้ที่นี่มีเอกลักษณ์นั่นก็คือ ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ครับ กล่าวคือ ที่นี่มีการผสมผสานของคนถึง 3 เชื้อชาติ ได้แก่ ชาวไทยเชื้อสายจีน, ชาวไทยเชื้อสายภาคใต้ และชาวไทยเชื้อสายมลายู ดังนั้น เราจึงเห็นศาสนสถานต่างๆ ทั้งวัดไทย, วัดจีน, มัสยิด รวมทั้งโบสถ์คริสต์ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าที่นี่จะมีประชากรหลากหลายกลุ่ม และนับถือศาสนาที่แตกต่างกัน แต่เบตงกลับไม่มีความขัดแย้งทางศาสนาใดๆ ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข และกลมกลืน

 



ในอดีต เบตงยังเป็นสถานที่ๆ พรรคคอมมิวนิสต์มลายา (หรือที่คนไทยมักจะเรียกกันว่า โจรจีนคอมมิวนิสต์มลายา) ใช้เคลื่อนไหวในการต่อสู้กับรัฐบาลมาเลเซียในช่วงปี 2491 จนถึง 2523 ต่อมารัฐบาลสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ได้ออก คำสั่งที่ 66/23 สมาชิกของกลุ่มนี้จึงวางอาวุธ เปลี่ยนสถานะกลายเป็น ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย และได้ลงหลักปักฐานที่อำเภอเบตงแห่งนี้ อย่างไรก็ตาม ร่องรอยทางประวัติศาสตร์ในช่วงนี้ยังคงมีให้เห็น ได้แก่ อุโมงค์ปิยะมิตร ที่ผมจะพาไปเที่ยวในตอนถัดไปครับ
 

ประชากรในเบตงสามารถแบ่งได้ออกเป็น 3 กลุ่มหลักๆ ได้แก่ ชาวไทยเชื้อสายภาคใต้, ชาวไทยเชื้อสายจีน และ ชาวไทยเชื้อสายมลายูที่นับถือศาสนาอิสลาม แม้ว่าจะมีความแตกต่างทางวัฒนธรรม แต่เบตงกลับไม่มีความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติหรือศาสนาใดๆ ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข จนกลายเป็นเสน่ห์ของที่นี่ และที่สำคัญ คนที่นี่เป็นมิตรสุดๆ ขณะที่ผมเดินเที่ยว คนที่นี่ก็ทักทาย พูดคุย และต้อนรับนักท่องเที่ยวเป็นอย่างดี 

ส่วนเรื่องความปลอดภัย เนื่องจากเบตง ตั้งอยู่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผมจึงไม่สามารถพูดได้เต็มปากว่า เบตงปลอดภัย 100% อย่างไรก็ตาม เบตงถือเป็นพื้นที่ๆปลอดภัยที่สุดในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และไม่เคยมีการก่อเหตุใดๆในเขตเทศบาลเมืองเบตงมามากกว่า 5 ปีแล้ว (เคยมีระเบิดครั้งล่าสุดเมื่อปี 57) ส่วนนอกเขตเทศบาลเมืองก็มีการก่อเหตุบ้างนานๆที (ครั้งล่าสุดเมื่อปี 60 แต่ไม่มีผู้เสียชีวิต) โดยภาพรวม ปัจจุบัน ผมว่า เบตงปลอดภัยพอที่จะท่องเที่ยวได้แล้วครับ

 
 
การเดินทางไปยังอำเภอเบตง

ทริปนี้ผมเริ่มเดินทางจากกรุงเทพครับ สำหรับวิธีการเดินทางจากกรุงเทพไปยังเบตง สามารถทำได้หลายวิธี ได้แก่
​​​​

(1) รถทัวร์ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 14-16 ชั่วโมง มีอยู่ด้วยกันหลายบริษัท ได้แก่
           - บขส. มีวันละ 2 เที่ยวคือ 15.00 และ 16.00 โทร.02-287-2177
           - สยามเดินรถ มีวันละ 2 เที่ยวคือ 15.30 และ 17.40 จองตั๋วออนไลน์ได้ที่นี่ www.จองตั๋วสยามเดินรถ.com/จองตั๋วรถทัวร์
           - รุ่งเรืองทัวร์ จองตั๋วออนไลน์ได้ที่นี่ www.จองตั๋วรถทัวร์7.com/

 
   
(2) รถไฟ  ปัจจุบัน ไม่มีรถไฟไปที่เบตงโดยตรง สถานีที่ใกล้ที่สุดคือ สถานียะลา แล้วจึงต่อรถ Taxi จากยะลาเข้าสู่เบตงอีกที หรือไม่ก็ลงที่สถานีหาดใหญ่ แล้วจึงต่อรถตู้จากหาดใหญ่เข้าเบตง
 

(3) เครื่องบิน ปัจจุบัน เบตงมีสนามบินแล้วครับ แต่ยังไม่มีไฟลท์บินไปลง (เคยมีแต่เลิกบินไปหมดแล้ว) นักท่องเที่ยวจึงต้องบินไปลงที่สนามบินหาดใหญ่ ซึ่งเป็นสนามบินที่อยู่ใกล้ที่สุด แล้วจึงต่อรถตู้จากหาดใหญ่ เข้าไปที่เบตงอีกที (ในทริปนี้ ผมเลือกวิธีนี้ครับ)

สำหรับรถตู้จากหาดใหญ่ไปยังเบตง สามารถขึ้นรถได้ที่สถานีขนส่งหาดใหญ่ (ใกล้ๆกับเซ็นทรัลเฟสติวัล) ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 2 บริษัทคือ เบตงทัวร์ และ เบตงโพธิ์ทอง ทัวร์
 
เส้นทางที่เข้าสู่อำเภอเบตง มีอยู่ 2 เส้นทางหลักๆคือ 

(1) เส้นทางไทย รถจะวิ่งจากหาดใหญ่ผ่าน ปัตตานี ยะลา บันนังสตา ธารโต และเบตง ใช้เวลาเดินทางรวมประมาณ 4 ชั่วโมง ข้อเสียของเส้นทางนี้คือ หลายคนมองว่า ไม่ค่อยปลอดภัย  และทางโค้งเยอะ (เมารถ) แต่ข้อดีคือ ราคาถูกกว่า และไม่ต้องใช้เอกสารผ่านแดนใดๆทั้งสิ้น ค่าโดยสารจะอยู่ที่ 230 บาทครับ (ผมเลือกเส้นทางนี้ครับ)
 

(2) เส้นทางมาเลเซีย รถจะวิ่งออกจากหาดใหญ่ ออกจากประเทศไทยที่ด่านสะเดา เข้าสู่ประเทศมาเลเซีย จากนั้นค่อยวกกลับเข้าสู่อำเภอเบตงอีกที ข้อดีของวิธีนี้คือ ปลอดภัยกว่า ถนนดี แต่ต้องใช้พาสปอร์ตผ่านแดน และราคาจะแพงกว่าเส้นทางที่ 1 (ค่าโดยสารคือ 410 บาทครับ)
 
 
Note: การเดินทางไปเบตง ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางใด หรือบริษัทใดก็ตาม ผมแนะนำให้โทรจองก่อน สัก 1-2 วันนะครับ เพราะรถมีน้อย แต่คนเดินทางมีเยอะ ถ้าจองหน้างานอาจจะพลาดการเดินทางได้ครับ

แผนเที่ยว

วันที่หนึ่ง
  • ออกเดินทางจากสนามบินดอนเมืองไปที่สนามบินหาดใหญ่ (DD7104)
  • นั่งรถตู้จากหาดใหญ่ไปที่เบตง (ใช้เวลาเดินทางประมาณ 4 ชั่วโมง)
  • เช็คอินเข้าที่พัก
  • เที่ยวในเขตเทศบาลนครเบตง ได้แก่ หอนาฬิกา, ตู้ไปรษณีย์ที่สูงที่สุดในประเทศไทย, อุโมงค์เบตงมงคลฤทธิ์, สนามกีฬาที่สูงที่สุดในประเทศไทย รวมทั้ง สตรีทอาร์ตต่างๆ
  • รับประทานอาหารสไตล์เบตงที่ ร้านต้าเหยิน
วันที่สอง
  • เหมารถเที่ยวนอกเมืองเบตง
  • เช้า ชม ทะเลหมอกอัยเยอร์เวง ที่เขาไมโครเวฟ
  • เที่ยว น้ำตกเฉลิมพระเกียรติ ร.9
  • เที่ยวชม สะพานแตปูซู
  • ชิม เฉาก๊วยกม. 8
  • เที่ยวชม สวนดอกไม้เมืองหนาว
  • เที่ยว อุโมงค์ปิยะมิตร และชม ต้นไม้พันปี
  • แช่ขาที่ บ่อน้ำร้อนเบตง
  • ถ่ายรูปกับ ป้ายใต้สุดแดนสยาม ที่ด่านเบตง
วันที่สาม
  • ทานอาหารเช้าสไตล์ติ่มซำที่ ร้านไท่ซีอี๊
  • เที่ยว วัดพุทธาธิวาส, โรงเรียนจงฝา, วัดกวนอิม, มัสยิดกลาง และ พิพิธภัณฑ์เมืองเบตง
  • ทานอาหารเที่ยงที่ ร้านเจริญข้าวมันไก่เบตง
  • เช็คเอาท์/นั่งรถกลับหาดใหญ่
  • ออกเดินทางจากสนามบินหาดใหญ่กลับกรุงเทพ (DD7113)
ที่พักในอำเภอเบตง

ทริปนี้ผมเลือกพักที่ Foto Hostel ซึ่งมีข้อดีมากมาย เช่น ที่ตั้งที่อยู่ใจกลางเมือง, เจ้าของที่ friendly สุดๆ, ราคาถูก (คืนละ 350 บาทต่อคนต่อคืน) และที่สำคัญ ที่นี่ยังช่วยจัดทริปแบบแชร์เที่ยวนอกเมืองเบตงกับนักท่องเที่ยวคนอื่นที่พักใน hostel เดียวกัน ทำให้ไม่ต้องเหมารถเที่ยวให้เสียเงินแพงๆครับ

 

ใครสนใจที่พักนี้ สามารถดูรายละเอียดได้ที่นี่ครับ https://www.facebook.com/FOTOHOSTEL/

วันที่หนึ่ง

สำหรับทริปเบตงในวันแรก เราจะเริ่มจากการเที่ยวเบาๆก่อน โดยสถานที่ทุกแห่งที่แนะนำในวันนี้อยู่ในระยะที่เดินได้จากโฮสเทลครับ
 

 
1. หอนาฬิกาเมืองเบตง

เป็นสัญลักษณ์ของเมืองเบตง ตั้งอยู่ใจกลางเมืองบริเวณที่เป็นจุดตัดระหว่าง ถนนสุขยางค์ กับ ถนนรัตนกิจ ทำจากหินอ่อนอันเลื่องชื่อของจังหวัดยะลา
 
 

 
สิ่งที่น่าสนใจของหอนาฬิกานี้คือ บริเวณรอบๆหอนาฬิกา และสายไฟจะมี นกนางแอ่น นับพันตัวมาเกาะอยู่เต็มไปหมด จนกลายเป็นสัญลักษณ์ควบคู่กับหอนาฬิกาเบตงไปแล้ว ว่ากันว่า ถ้าใครโดนนกนางแอ่นพวกนี้อึใส่ จะได้กลับมาเบตงอีกครั้งครับ :)
 

2. ตู้ไปรษณีย์ที่สูงที่สุดในโลก

ตั้งอยู่บริเวณวงเวียนหอนาฬิกา สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2467 มีความสูงจากฐานถึง 3.2 เมตร และปัจจุบันยังใช้ได้จริง

ในอดีต ตู้ไปรษณีย์นี้จะมีการติดตั้งลำโพงกระจายข่าวสารของทางราชการอยู่ด้านบน ดังนั้นเพื่อให้ได้ยินกันอย่างทั่วถึง ตู้นี้จึงต้องสูงนั่นเองครับ

 
 
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีตู้ไปรษณีย์แห่งใหม่ที่สูงกว่าอยู่บริเวณศาลาประชาคมของอำเภอเบตง ตรงถนนสุขยางค์ โดยมีความสูงถึง 9 เมตร
 
 
3. อุโมงค์เบตงมงคลฤทธิ์

เป็น อุโมงค์ลอดใต้ภูเขาแห่งแรกของประเทศไทย เปิดใช้อย่างเป็นทางการในปี พ.ศ.2544

 
 
อุโมงค์นี้มีความยาว 268 เมตร กว้าง 9 เมตร สูง 7 เมตร มีทั้งทางรถและทางเดินเท้า ให้เราสามารถเดินเล่นถ่ายรูปภายในอุโมงค์ที่ประดับไฟอย่างสวยงาม
 

4. สนามกีฬาเมืองเบตง

ตั้งอยู่บริเวณสวนสาธารณะเบตง ถือเป็น สนามกีฬาที่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลมากที่สุดในประเทศไทย 

 
 
5. สตรีทอาร์ทเมืองเบตง

เป็นแลนด์มาร๋คใหม่ของที่นี่ วาดโดยทีมนักศึกษาและอาจารย์ มหาวิทยาลัยศิลปากร นำทีมโดยอาจารย์อํามฤทธิ์ ชูสุวรรณ คณบดีคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ภาพที่เขียนส่วนใหญ่เป็นภาพที่บอกเล่าเรื่องราววิถีชีวิต ความหลากหลายทางวัฒนธรรมของชาวเบตง รวมไปถึงสัญลักษณ์ต่าง ๆ เช่น ตู้ไปรษณีย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก 

ภาพ street art ในเมืองนี้มีทั้งหมด 11 จุด ทั้งบนผนัง กำแพง ใต้สะพาน และตัวอาคารหลายจุดรอบเมืองเบตง

 





 
 
6. อาหารสไตล์เบตง

เบตงถือเป็นสวรรค์ของสายกินครับ ที่นี่มีอาหารอร่อยมากมาย และอาหารหลายอย่างสามารถหากินได้เฉพาะที่นี่เท่านั้น ร้านอาหารที่ผมจะมาแนะนำวันนี้มีชื่อว่า ต้าเหยิน เป็นร้านอาหารจีนสไตล์เบตงแท้ๆ และได้รับการโหวตให้เป็นร้านอาหารอันดับหนึ่งของเมืองนี้จากทั้ง Tripadvisor และ Wongnai

เมนูที่ผมจะมาแนะนำมีอยู่ทั้งหมด 4 อย่างด้วยกัน

 (1) กบภูเขา เป็นกบขนาดใหญ่มาก สามารถเอามาทำได้หลากหลายเมนูทั้งทอดกระเทียมพริกไทย ผัดเผ็ด หรือผัดฉ่า (ผมสั่งกบทอดกระเทียมพริกไทยก็อร่อยดีครับ น่องใหญ่เหมือนน่องไก่เลย)

(2) เคาหยก เป็นอาหารจีนในแถบมณฑลกวางตุ้ง ทำจากหมูสามชั้นกับพะโล้

(3) ไก่สับเบตง เป็นไก่สายพันธุ์เฉพาะที่นำเข้ามาจากแถบมณฑลกวางตุ้ง และเลี้ยงกันอย่างแพร่หลายที่นี่ ว่ากันว่า เป็นอาหารขึ้นชื่อที่สุดของที่นี่ครับ (สำหรับผมถือเป็นไก่ที่อร่อยที่สุดในประเทศไทยเท่าที่เคยกินมาเลย)

(4) ผักน้ำ เป็นผักที่หาทานได้เฉพาะที่นี่ มีสรรพคุณทางยามากมาย เอามาผัดน้ำมันหอยก็อร่อยดีครับ

 
 
7. สีสันยามค่ำคืนที่เมืองเบตง

ถ้าใครมาเบตงในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ใกล้กับช่วงเทศกาลตรุษจีน จะพบกับการประดับโคมไฟแบบนี้ครับ เราสามารถเดินชมเมืองตอนกลางคืนได้แบบชิลล์ๆ เพราะที่นี่ถือว่าปลอดภัยชนิดที่ใครหลายๆคนอาจจะลืมไปว่า ที่นื่คือสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

 

หลังจากเดินชมเมืองตอนกลางคืนเสร็จ ผมก็เดินกลับที่พัก และรีบพักผ่อนเอาแรง เนื่องจากในวันรุ่งขึ้น ผมต้องตื่นตีสามครึ่ง เพื่อนั่งรถออกนอกเมืองกว่า 30 กิโล ไปชมทะเลหมอกแห่งสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทะเลหมอกที่นี่จะเป็นยังไง สวยงามขนาดไหน ฝากติดตามรีวิวเบตงได้ในตอนหน้านะครับ

บล็อกอื่นที่เกี่ยวข้อง



Create Date : 29 เมษายน 2562
Last Update : 27 เมษายน 2567 7:17:00 น. 4 comments
Counter : 34134 Pageviews.

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณKavanich96


 
ขอบคุณที่แบ่งปัน


โดย: Kavanich96 วันที่: 30 เมษายน 2562 เวลา:2:47:47 น.  

 
ยินดีครับ ขอบคุณนะครับที่ช่วยโหวตให้


โดย: เจ้าสำนักคันฉ่องวารี วันที่: 30 เมษายน 2562 เวลา:17:19:41 น.  

 
ตามมาเที่ยวด้วยครับ


โดย: ทนายอ้วน วันที่: 2 พฤษภาคม 2562 เวลา:20:42:17 น.  

 
ตามมาเลยครับ


โดย: เจ้าสำนักคันฉ่องวารี วันที่: 7 พฤษภาคม 2562 เวลา:15:34:44 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

เจ้าสำนักคันฉ่องวารี
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]




ชอบท่องเที่ยว สนใจประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และการเมืองระหว่างประเทศ

Blog นี้จะใช้เขียนความทรงจำในการเดินทาง และวิธีการเดินทางอย่างละเอียด เผื่อใครจะมาตามรอย หวังว่าจะเป็นประโยชน์นะครับ

ถ้าชอบ blog เนื้อหาประมาณนี้ ฝากกดติดตามด้วยนะครับ
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add เจ้าสำนักคันฉ่องวารี's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.