Welcome to my blog
4 วัน 3 คืน นครศรีธรรมราช นครสองธรรม: ธรรมชาติ+ธรรมะ (ตอนที่ 3: เที่ยวชุมชนที่คีรีวงและปากพนัง)


สถานที่ท่องเที่ยว : หมู่บ้านคีรีวง, นครศรีธรรมราช Thailand
พิกัด GPS : 8° 25' 58.75" N 99° 46' 56.96" E

มีคนกล่าวไว้ว่า ในจังหวัดนครศรีธรรมราช ประกอบด้วยคนสองกลุ่มครับ คนกลุ่มแรก เป็นกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในแถบ อำเภอลานสกา ซึ่งมีภูมิประเทศเป็นภูเขา และหุบเขา คนกลุ่มนี้จะมีอาชีพหลักคือ ทำสวนผลไม้ ทั้งมังคุด เงาะ ทุเรียน สะตอ และหมาก คนกลุุ่มนี้จะถูกเรียกว่า เกลอเขา หรือ เกลอควน ในขณะที่คนอีกกลุ่มหนึ่ง จะมีอาชีพเป็นชาวประมง หาปลา เกลือ กะปิ และค้าขายอยู่ริมทะเล เราเรียกคนกลุ่มนี้ว่า เกลอเล

นับแต่อดีต คนสองกลุ่มจะมีวิถีชีวิตที่พึีงพาอาศัยกัน กล่าวคือ คนที่เป็นเกลอเขา ก็จะพายเรือนำสินค้าจากชุมชนตนเอง ไปค้าขายแลกเปลี่ยนกับเกลอเล เป็นวิถีชีวิตที่คงอยู่มานับร้อยปี แม้ว่าในปัจจุบัน การคมนาคมขนส่งจะสะดวกมากยิ่งขึ้น แต่สายใยแห่งความผูกพันของคนทั้งสองกลุ่มก็ยังคงมีอยู่ครับ

ดังนั้น ในรีวิวตอนนี้ ผมจะพาทุกคนไปสัมผัสกับวิถีชุมชน 2 แห่งของจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่แรกก็คือ หมู่บ้านคีรีวง ซึ่งอยู่ในอำเภอลานสกา ส่วนอีกที่คือ เมืองปากพนัง แม้ว่าชุมชนทั้งสองแห่งนี้ ผู้คนจะมีความเป็นอยู่ที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง โดยที่หนึ่งเป็นชาวบ้านที่ทำสวนผลไม้ในหุบเขา ส่วนอีกที่เป็นชาวประมงที่มาหากินอยู่บริเวณปากแม่น้ำปากพนัง แต่ทั้งคู่ก็ทำให้เราได้เห็นวิถีชีวิตของผู้คนแท้ๆในภาคใต้ รวมทั้งทำให้เราได้เข้าใจถึงสิ่งที่หล่อหลอมให้นครศรีธรรมราชกลายเป็นแบบที่เราเห็นในทุกวันนี้

วันที่สาม

หมู่บ้านคีรีวง

ถ้าพูดถึงหมู่บ้านคีรีวง หลายคนอาจจะรู้จักที่นี่ในเรื่องการมีอากาศที่บริสุทธิ์ของไทย หรือการมีวิถีชีวิตสุดชิลล์ที่ใครหลายคนชอบมาพักผ่อน เล่นน้ำ อย่างไรก็ตาม อีกด้านหนึ่ง คีรีวงก็ผ่านเรื่องราวอะไรต่างๆมามากมาย เพราะในอดีตที่นี่เคยเป็นพื้นที่สีแดงที่เป็นพื้นที่สู้รบกับกองกำลังคอมมิวนิสต์ และในปี พ.ศ. 2531 คีรีวงก็ประสบกับเหตุการณ์อุทกภัยที่คร่าชีวิตผู้คนไปมากมาย แต่ชาวบ้านคีรีวงก็ผ่านเรื่องราวที่เลวร้ายเหล่านี้มาได้ด้วยความเข้มแข็งของชุมชน

จนกระทั่งเมื่อ 20 ปีก่อน ที่นี่ก็เริ่มเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวในรูปแบบโฮมสเตย์ และด้วยมนต์เสน่ห์แห่งขุนเขา ธรรมชาติ วิถีชีวิตชุมชนที่เรียบง่าย และได้รับการโปรโมทให้เป็น หมู่บ้านที่อากาศดีที่สุดในประเทศไทย ทำให้ที่นี่บูมขึ้น จนปัจจุบันหมู่บ้านคีรีวงก็กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดนครศรีธรรมราชครับ

การเดินทางไปที่หมู่บ้านคีรีวง

จากในตัวเมือง เราสามารถขึ้นรถสองแถวไปที่หมู่บ้านคีรีวงได้ที่ คิวรถสองแถวคีรีวง ซึ่งอยู่ตรงข้าม วิทยาลัยอาชีวศึกษานครศรีธรรมราช ในราคา 25 บาท ใช้เวลาเดินทางประมาณ 40 นาทีครับ 

รถสองแถวจะไปจอดที่หน้าหมู่บ้าน จากตรงนี้เราต้องเช่าจักรยาน เพื่อปั่นเที่ยวหมู่บ้านในราคา 50 บาท ต่อ 1 วันครับ

คีรีวงมีอะไรบ้าง

1. สะพานบ้านคีรีวง


ถือเป็นสัญลักษณ์ของหมู่บ้านนี้เลยครับ ถ้าใครมาคีรีวงแล้วไม่ได้ถ่ายรูปกับสะพานนี้ผมว่ามาไม่ถึงนะ

สะพานนี้เป็นสะพานข้ามคลองจันดี ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่หล่อเลี้ยงสวนผลไม้ของชุมชนที่นี่ครับ



2. วัดคีรีวง 

เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านในแถบนี้ครับ

เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของวัดนี้ คือมีเรื่องเล่ามาว่า มีชาย 5 คน นำโดยทวดนุ่น ซึ่งเป็นคนยุคบุกเบิกของหมู่บ้านคีรีวง ได้มาพบกับเจดีย์เก่า และพระพุทธรูปที่นี่ จึงเชื่อกันว่า ที่นี่เคยเป็นวัดมาก่อน พอคนเริ่มเข้ามาอาศัยอยู่ที่หมู่บ้านนี้เพิ่มขึ้น จึงตัดสินใจบูรณะเจดีย์ และสร้างวัดขึ้นที่นี่

3. สะพานแขวน

ถ้าปั่นจักรยานลึกเข้าไปในหมู่บ้านซะหน่อย จะเจอกับสะพานแขวน ซึ่งใช้ข้ามลำธารที่เรียกว่า หนานหินท่าหา ครับ (คำว่า หนาน ภาษาใต้ แปลว่า แก่ง ครับ) 



ตรงบริเวณนี้จะเป็นจุดที่คนนิยมลงไปเล่นน้ำ มีร้านค้า ร้านอาหารมากมายให้บริการ บางครอบครัวก็กินไป เม้ามอยไป ส่วนเด็กๆก็เล่นน้ำไป 





4. ขนมจีนป้าเขียว

ขนมจีนเป็นอาหารขึ้นชื่อของเมืองคอนครับ อย่างในเมืองก็มีขนมจีนเมืองคอน ส่วนที่คีรีวงก็มีร้านขนมจีนป้าเขียว

ร้านนี้ได้รับรางวัลมามากมายจากทั้ง Wongnai, กระทรวงพาณิชย์ และหอการค้าจังหวัดนครศรีธรรมราช ถือได้ว่าเป็นร้านที่ห้ามพลาด ถ้ามาที่คีรีวงเลยครับ

ขนมจีนที่นี่จานละ 30 บาท มีน้ำยาแกงใต้ แกงไตปลา น้ำยากะทิ และน้ำพริกครับ


5. ผลิตภัณฑ์จากชุมชน

อย่างที่กล่าวไปแล้วในตอนต้นว่า ชาวบ้านคีรีวงทำอาชีพหลักคือ สวนผลไม้ ทีนี้พอผมไม้ที่ออกมาเกินความต้องการของท้องตลาด เค้าก็ต้องหาวิธีการแปรรูป กลายเป็นผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อของหมู่บ้านคีรีวงครับ

ตัวแรกที่ผมขอแนะนำก็คือ ทุเรียนกวนกาบหมาก ซึงเป็นทุเรียนกวนแบบใต้ เอามาห่อด้วยกาบหมก แล้วย่างด้วยไม้ฟืน ทำให้ได้ทุเรียนกวนที่หวาน หอม มันปลายลิ้น และมีกลิ่นหอมของกาบหมากครับ

อีกตัวคือ มังคุดกวน ตัดเป็นชิ้นพอดีคำ เคี้ยวหนึบ เคี้ยวเพลิน รสเปรี้ยวหวานกำลังดี 

2 ตัวนี้เป็นตัวที่ผมชอบนะครับ จริงๆที่นี่ยังมีผลิตภัณฑ์อื่นๆอีกมากมาย ทั้งสบู่ แชมพู หรือแม้กระทั่งอากาศจากคีรีวง ก็มีอัดกระป๋องขายให้ซื้อกลับบ้านด้วยนะ

วันที่สี

วันนี้เป็นวัดสุดท้ายของทริปนครศรีธรรมราชนะครับ โดยในวันนี้ ผมจะพาทุกคนไปสัมผัสกับวิถีชุมชนของ เกลอเล ที่อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราชกัน

อำเภอปากพนัง

อำเภอนี้อาจจะไม่คุ้นหูสำหรับใครหลายคน แต่ถ้าพูดถึง แหลมตะลุมพุก ที่เคยโดย พายุโซนร้อนแฮเรียต พัดถล่ม เมื่อปี พ.ศ. 2505 ผมเชื่อว่า คงเคยได้ยินหรือจำกันได้ใช่ไหมครับ แหลมตะลุมพุกก็อยู่ในอำเภอปากพนังนี่เองครับ

เมืองปากพนัง เป็นเมืองท่ามาตั้งแต่ครั้งอดีต เป็นศูนย์กลางทางการค้าและเศรษฐกิจที่สำคัญ เนื่องจากมีสภาพภูมิประเทศเป็นแหลมยื่นออกไปในทะเล และมีอ่าวภายในบริเวณปากแม่น้ำปากพนัง เหมาะแก่การเดินเรือและการกระจายสินค้าต่อไปยังหัวเมืองสำคัญอื่น ๆ ทำให้สภาพเศรษฐกิจในสมัยก่อนเฟื่องฟูมาก เนื่องจากมีสำเภอจากเมืองจีน และเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่มาเทียบท่าและกระจายสินค้า

นอกจากนี้ยังปรากฏในพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในคราวเสด็จเยือนปากพนัง ความตอนหนึ่งว่า "อำเภอปากพนังนี้ ได้ทราบอยู่แล้วว่าเป็นที่สำคัญอย่างไร แต่เมื่อไปถึงฝั่งรู้สึกว่าตามที่คาดคะเนนั้น ผิดไปเป็นอันมาก ไม่นึกว่าจะใหญ่โตมั่งมีถึงเพียงนี้"

ปัจจุบัน ปากพนังก็ยังคงเป็นอำเภอที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เนื่องจากมีท่าเรือประมง รวมทั้งตลาดสินค้าประมงพื้นบ้าน ส่วนในเมืองก็ยังมีตึกเก่าๆ สวยๆ อายุนับร้อยๆปีหลงเหลืออยู่เป็นจำนวนมากครับ

การเดินทางไปปากพนัง

จากในตัวเมืองนครศรีธรรมราช สามารถเดินทางไปปากพนังได้โดย รถเมล์ส้มสายนครศรี-ปากพนัง ในราคา 26 บาท (สามารถขึ้นได้จากถนนราชดำเนิน หน้าซอยพานยมครับ) ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง โดยรถเมล์จะไปจอดที่ท่าเรือแม่น้ำปากพนัง

จากท่าเรือตรงนี้ เราต้องนั่งเรือข้ามฟากเพื่อไปเที่ยว ตลาด 100 ปีปากพนัง ในราคาเพียง 1 บาทเท่านั้นครับ

ปากพนังมีอะไรบ้าง

1. 
ตลาดร้อยปีปากพนัง

เป็นตลาดเก่าแก่อายุกว่า 100 ปี ตั้งอยู่บริเวณ ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปากพนัง

ที่นี่มีสินค้าหลากหลาย ตั้งแต่อาหารทะเลสดๆ อาหารพื้นบ้าน ขนม และของใช้ในชีวิตประจำวันอื่นๆครับ



2. เรือประมงพื้นบ้าน

ตามที่ผมอธิบายไปในตอนต้นแล้วนะครับว่า ชาวปากพนังมีอาชีพหลักเป็นชาวประมง เราจึงได้เห็นเรือประมงพื้นบ้านหลากสีสันลอยลำ หรือจอดอยู่บริเวณที่ท่าเรือแถวนี้


3. ตึกรังนก

นอกจากอาชีพประมงแล้ว ชาวปากพนังบางส่วนยังมีอาชีพทำรังนก คือสร้างตึกไว้ แล้วปล่อยให้ร้างเพื่อให้นกนางแอ่นมาทำรัง จากนั้นจะคอยเก็บรังนกไปขาย

 

 4. อาคารเก่าๆ

เนื่องจากในอดีต ที่นี่เป็นเมืองที่มีความรุ่งเรือง เราจึงยังพบเห็นร่องรอยความเจริญในอดีตของอำเภอปากพนัง ได้แก่ บ้านเรือนเก่าๆ ที่บางหลังยังคงมีผู้คนอาศัยอยู่ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า ส่วนใหญ่ไม่ได้รับการอนุรักษ์อย่างถูกวิธี ก็หวังว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะเข้ามาดูแลมรดกทางประวัติศาสตร์ของที่นี่ให้ดีกว่านี้โดยเร็วนะครับ

 

 

 
ทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องราวการเดินทางของผมในทริปนครศรีธรรมราชตลอด 4 วัน 3 คืนที่ผ่านมานะครับ โดยรวมผมชอบจังหวัดนี้นะ เพราะส่วนตัว ผมเป็นคนชอบเที่ยวตามเมืองรอง ที่ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยวหลัก ซึ่งเมืองเหล่านี้ล้วนแต่มีความน่าสนใจ ทั้งในด้านวิถีชีวิตของผู้คน รวมทั้งเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ต่างๆ ก็หวังว่ารีวิวทั้งหมดนี้จะมีประโยชน์ทั้งในด้านการวางแผนเที่ยว และความรู้ต่อผู้อ่านทุกคนนะครับ

บล็อกอื่นที่เกี่ยวข้อง



Create Date : 24 พฤษภาคม 2564
Last Update : 13 พฤศจิกายน 2566 21:27:27 น. 3 comments
Counter : 3295 Pageviews.

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณKavanich96, คุณnewyorknurse


 
ขอบคุณที่แบ่งปัน


โดย: Kavanich96 วันที่: 25 พฤษภาคม 2564 เวลา:5:21:45 น.  

 
น่าไปเที่ยวค่า


โดย: สมาชิกหมายเลข 3450494 วันที่: 27 พฤษภาคม 2564 เวลา:12:19:03 น.  

 
ต้องไปให้ได้นะครับ


โดย: เจ้าสำนักคันฉ่องวารี วันที่: 29 พฤษภาคม 2564 เวลา:22:05:57 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

เจ้าสำนักคันฉ่องวารี
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]




ชอบท่องเที่ยว สนใจประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และการเมืองระหว่างประเทศ

Blog นี้จะใช้เขียนความทรงจำในการเดินทาง และวิธีการเดินทางอย่างละเอียด เผื่อใครจะมาตามรอย หวังว่าจะเป็นประโยชน์นะครับ

ถ้าชอบ blog เนื้อหาประมาณนี้ ฝากกดติดตามด้วยนะครับ
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add เจ้าสำนักคันฉ่องวารี's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.