พระพุทธศาสนา
Group Blog
 
All Blogs
 
ลักษณะทั่วไปของพุทธธรรม สรุปได้ 2 อย่าง ลักษณะทั่วไปของพุทธธรรม ลักษณะทั่วไปของพุทธธรรมนั้น สรุปได

ลักษณะทั่วไปของพุทธธรรม สรุปได้  2 อย่าง
ลักษณะทั่วไปของพุทธธรรม

ลักษณะทั่วไปของพุทธธรรมนั้น สรุปได้  2 อย่าง คือ

       1. แสดงหลักความจริงสายกลาง  ที่เรียกว่า  "มัชเฌนธรรม”  หรือ  เรียกเต็มว่า  “มัชเฌนธรรมเทศนา”   ว่าด้วยความจริงตามแนวของเหตุผลบริสุทธิ์  ตามกระบวนการของธรรมชาตินำมาแสดงเพื่อประโยชน์ในทางปฏิบัติในชีวิตจริงเท่านั้น  ไม่ส่งเสริมความพยายามที่จะเข้าถึงสัจธรรม ด้วยวิธีถกเถียงสร้างทฤษฎีต่างๆ ขึ้น แล้วยึดมั่นปกป้องทฤษฎีนั้น ๆ ด้วยการเก็งความจริงทางปรัชญา

       2. แสดงข้อปฏิบัติสายกลาง   ที่เรียกว่า “มัชฌิมาปฏิปทา” อันเป็นหลักการครองชีวิตของผู้ฝึกอบรมตน ผู้รู้เท่าทันชีวิต ไม่หลงงมงาย   มุ่งผลสำเร็จ คือ ความสุข สะอาด สว่างสงบ เป็นอิสระ ที่สามารถมองเห็นได้ในชีวิตนี้    ในทางปฏิบัติ  ความเป็นสายกลางนี้   เป็นไปโดยสัมพันธ์กับองค์ประกอบอื่นๆ เช่น สภาพชีวิตของบรรพชิต หรือ คฤหัสถ์ เป็นต้น

       พระพุทธศาสนา    เป็นศาสนาแห่งการกระทำ  (กรรมวาท และ กิริยวาท)   เป็นศาสนา  แห่งความเพียรพยายาม (วิริยวาท)  ไม่ใช่ศาสนา แห่งการอ้อนวอนปรารถนา หรือ ศาสนาแห่งความห่วงหวังกังวล

        การสั่งสอนธรรมของพระพุทธเจ้า ทรงมุ่งผลในทางปฏิบัติ ให้ทุกคนจัดการกับชีวิตที่เป็นอยู่จริงๆในโลกนี้ และเริ่มแต่บัดนี้      ความรู้ในหลักที่ว่า  มัชเฌนธรรมเทศนา ก็ดี   การประพฤติตามมรรคาที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา ก็ดี  เป็นสิ่งที่ทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในสภาพและระดับชีวิตอย่างใด    สามารถเข้าใจ   และนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ตามสมควร แก่สภาพและระดับชีวิตนั้นๆ     ถ้าความห่วงใย   ในเรื่องชีวิตหลังจากโลกนี้มีอยู่    ก็จงทำชีวิตดีงามอย่างที่ต้องการนั้นให้เกิดมีเป็นจริงเป็นจังขึ้นมาด้วยการประพฤติปฏิบัติแต่บัดนี้    จนมั่นใจตนเองว่าจะไปดี   โดยไม่ต้องกังวล หรือหวาดหวั่น     ต่อโลกหน้านั้นเลย   (สํ.ม.19/1572/487)

         ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันโดยธรรมชาติ    ที่จะเข้าถึงผลสำเร็จเหล่านี้   แม้ว่าความสามารถจะต่างกัน ทุกคนจึงควรได้รับโอกาสเท่าเทียมกันที่จะสร้างผลสำเร็จนั้นตามความสามารถของตน  และความสามารถนั้น  ก็เป็นสิ่งดัดแปลงเพิ่มพูนได้    จึงควรให้ทุกคนมีโอกาสที่จะพัฒนาความสามารถของตนอย่างดีที่สุด และแม้ว่าผลสำเร็จที่แท้จริง ทุกคนจะต้องทำด้วยตนเอง   โดยตระหนักในความรับผิดชอบของตนอย่างเต็มที่   แต่ทุกคนก็เป็นอุปกรณ์ในการช่วยตนเองของคนอื่นได้    ดังนั้น    หลักอัปปมาทธรรม และหลักความมีกัลยาณมิตร  จึงเป็นหลักธรรมที่เด่น และเป็นข้อที่เน้นหนักทั้งสองอย่าง   ในฐานะความรับผิดชอบต่อตนเองฝ่ายหนึ่ง กับ  ปัจจัยภายนอกที่จะช่วยเสริมอีกฝ่ายหนึ่ง

         หากจะยกเอาผลงาน และ พระจริยาของพระพุทธเจ้าขึ้นมาเป็นหลักพิจารณา จะมองเห็นแนวทาง การบำเพ็ญพุทธกิจ ที่สำคัญหลายอย่าง เช่น ทรงพยายามล้มล้างความเชื่อถืองมงาย ในเรื่องพิธีกรรมอันเหลวไหลต่างๆ   โดยเฉพาะการบูชายัญ   ด้วยการสอนย้ำถึงผลเสียหาย  และความไร้ผลของพิธีกรรมเหล่านั้น

         การที่ทรงสอนเน้นนักให้ละเลิกการบูชายัญ    ก็เพราะยัญพิธีเหล่านั้น   ทำให้คนมัวแต่หวังพึ่งอำนาจดลบันดาลจากภายนอก   อย่างหนึ่ง    ทำให้คนกระหายทะยาน และคิดหมกมุ่นในผลประโยชน์ทางวัตถุเพิ่มพูนความเห็นแก่ตน ทำการเบียดเบียนชีวิต  โดยไม่คำนึงถึงความทุกข์ยากเดือดร้อนของเพื่อนมนุษย์และสัตว์   อย่างหนึ่ง   ทำให้คนคิดหวังแต่เรื่องอนาคต    จนไม่คิดปรับปรุงปัจจุบันอย่างหนึ่ง   แล้วทรงสอนย้ำหลักแห่งทาน ให้เสียสละแบ่งปันและสงเคราะห์กันในสังคม

       สิ่งต่อไป   ที่ทรงพยามสอนหักล้าง   คือ   ระบบความเชื่อเรื่องวรรณะ    ที่นำเอาชาติกำเนิดเป็นขีดขั้นจำกัดสิทธิและโอกาส ทั้งในทางสังคม และ ทางจิตใจของมนุษย์     ทรงตั้งคณะสงฆ์ที่เปิดรับคนจากทุกวรรณะ ให้เข้าสู่ความเสมอภาคกัน    เหมือนทะเลที่รับน้ำจากแม่น้ำทุกสายกลมกลืนเข้าเป็นอันเดียวกัน  (องฺ.อฏฺฐก.23/109/205 )  ทำให้เกิดสถาบันวัด  ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นศูนย์กลางเผยแพร่วัฒนธรรม และการศึกษาที่สำคัญยิ่ง   จนศาสนาฮินดูต้องนำไปจัดตั้งขึ้นบ้าง ในศาสนาของตน   เมื่อหลังพุทธกาลราว 1,400 หรือ 1,700 ปี

         ตามหลักพุทธธรรม    ทั้งสตรีและบุรุษสามารถเข้าถึงจุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนาได้เช่นเดียวกัน  เมื่อได้ทรงตั้งภิกขุสังฆะขึ้นแล้ว      หลังจากเวลาผ่านไประยะหนึ่ง   แม้ว่าสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมไม่เอื้อ  (สังคมและสภาพแวดล้อมเมื่อสามพันกว่าปีล่วงแล้ว)     ก็ได้ทรงตั้งภิกขุนีสังฆะขึ้น   โดยทรงกระทำด้วยความตระหนักพระทัย    ถึงความยากลำบาก และด้วยความความระมัดระวังอย่างยิ่ง   ที่จะเตรียมการวางรูป ให้สภาพการณ์ให้นักบวชสตรีนี้  ดำรงอยู่ด้วยดีในสังคมสมัยนั้น   ในขณะที่โอกาสของสตรีในการศึกษาทางจิตใจ    ได้ถูกศาสนาพระเวทจำกัดแคบเข้ามาจนปิดตายไปแล้ว  

        ประการต่อไป  ทรงสั่งสอนพุทธธรรมด้วยภาษาสามัญที่ประชาชนใช้ เพื่อให้คนทุกชั้น ทุกระดับการศึกษาได้รับประโยชน์จากธรรมนี้ทั่วถึง     ตรงข้ามกับศาสนาพราหมณ์ ที่ยึดความศักดิ์สิทธิ์ของคัมภีร์พระเวท และจำกัดความรู้ชั้นสูงไว้ในวงแคบของพวกตนด้วยวิธีการต่างๆโดยเฉพาะ คือ ด้วยการใช้ภาษาเดิมของสันสกฤต ซึ่งรู้จำกัดในหมู่พวกตนเป็นสื่อถ่ายทอดและรักษาคัมภีร์    แม้ต่อมา    จะมีผู้ขออนุญาตพระพุทธเจ้า ให้ยกพุทธพจน์ขึ้นสู่ภาษาพระเวท    พระองค์ก็ไม่ทรงอนุญาต ทรงยืนยันให้ใช้ภาษาของประชาชนตามเดิม  (วินย.7/181/70.)

        ประการต่อไป   ทรงปฏิเสธโดยสิ้นเชิง    ที่จะทำเวลาให้สูญเสียไปกับการถกเถียงปัญหา ที่เกี่ยวกับการเก็งความจริงทางปรัชญา ซึ่งไม่อาจนำมาพิสูจน์ให้เห็นได้ด้วยวิธีแสดงเหตุผลทางคำพูด    ถ้าใครถามปัญหาเช่นนี้ พระองค์จะทรงยับยั้งเสีย    แล้วดึงผู้นั้นกลับมาสู่ปัญหาเกี่ยวกับเรื่องที่เขาจะต้องเกี่ยวข้อง   และปฏิบัติได้ในชีวิตจริงโดยทันที- (อง.ทสก. 24/95-96/206-212)  สิ่งที่จะพึงรู้ได้ด้วยคำพูด    ทรงแนะนำด้วยคำพูด   สิ่งที่จะพึงรู้ด้วยการเห็น ทรงให้เขาดู  มิใช่ให้ดูสิ่งที่จะต้องเห็นด้วยคำพูด

         ทั้งนี้   ทรงสอนพุทธธรรมโดยปริยายต่างๆ เป็นอันมาก  มีคำสอนหลายระดับ   ทั้งสำหรับผู้ครองเรือน ผู้ดำรงชีวิตอยู่ในสังคม    ผู้สละเรือนแล้ว   ทั้งคำสอนเพื่อประโยชน์ทางวัตถุ และเพื่อประโยชน์ลึกซึ้งทางจิตใจ  เพื่อให้ทุกคนได้รับประโยชน์จากพุทธธรรมทั่วถึงกัน  พุทธกิจที่กล่าวมานี้   เป็นเครื่องยืนยันข้อสรุปความเข้าใจเกี่ยวกับพุทธธรรมที่พูดมาแล้วข้างต้น

         การที่ต้องสอนพุทธธรรมท่ามกลางกระแสวัฒนธรรมแบบพราหมณ์  และ ความเชื่อถือตามลัทธิต่างๆของพวกสมณะสมัยนั้น   ทำให้พระพุทธเจ้า   ต้องทรงเกี่ยวข้องกับถ้อยคำทางศาสนา  ในลัทธิความเชื่อถือเหล่านั้น    ทั้งโดยการได้รับฟัง และการพูดพาดพิงถึง และโดยที่พระองค์มีพระประสงค์ให้พุทธธรรมเผยแพร่ไป    เป็นที่เข้าใจและเป็นประโยชน์แก่ประชาชนอย่างกว้างขวางในเวลาอันรวดเร็ว    จึงปรากฏว่าพระองค์มีวิธีการปฏิบัติต่อถ้อยคำทางศาสนาเหล่านี้  เป็นที่น่าสังเกตอย่างหนึ่ง   คือ   ไม่ทรงนิยมหักล้างความเชื่อถือเดิมในรูปถ้อยคำที่ใช้  ทรงหักล้างเฉพาะแต่ตัวความเชื่อถือที่แฝงอยู่เป็นความหมายของถ้อยคำเหล่านั้นเท่านั้น    กล่าวคือ   ไม่ทรงวิธีใช้รุนแรง   แต่ทรงให้การเปลี่ยนแปลงเป็นไปเองโดยรู้เข้าใจใช้ปัญญา ด้วยการศึกษาพัฒนาคนขึ้นไป
 
        โดยนัยนี้    พระองค์จึงทรงนำคำบัญญัติ ที่ใช้กันอยู่ในศาสนาเดิมมาใช้ในความหมายใหม่ตามแนวของพุทธธรรมโดยเฉพาะบ้าง   ทรงสร้างคุณค่าใหม่ให้แก่ถ้อยคำที่ใช้อยู่เดิมบ้าง   เช่น   ใช้   “พรหม”  เป็นชื่อของสัตว์โลกที่เกิดตายประเภทหนึ่ง  บ้าง   หมายถึง   บิดามารดา  บ้าง   ทรงเปลี่ยนความเชื่อถือ  เรื่องกราบไหว้ทิศ ตามธรรมชาติ     มาเป็นการปฏิบัติหน้าที่   และรักษาความสัมพันธ์รูปต่างๆ ในสังคม   เปลี่ยนความหมายของการบูชาไฟศักดิ์สิทธิ์    สำหรับยัญพิธี 3 อย่างของพราหมณ์   มาเป็นความรับผิดชอบทางสังคมต่อบุคคล 3 ประเภท     เปลี่ยนการตัดสินความเป็นพราหมณ์   และอารยะโดยชาติกำเนิด   มาเป็นตัดสินด้วยการประพฤติปฏิบัติ

         บางครั้ง ทรงสอนให้ดึงความหมายบางส่วนในคำสอนของศาสนาเดิมมาใช้แต่ในทางที่ดีงามและเป็นประโยชน์    คำใดในศาสนาเดิม ถูกต้องดีงาม ก็ทรงรับรอง โดยถือความถูกต้องดีงามเป็นของสากลโดยธรรมชาติ    ในกรณีที่หลักความประพฤติปฏิบัติในศาสนาเดิมมีความหมายหลายอย่าง ทรงชี้แจงว่าแง่ใดถูก  แง่ใดผิด   ทรงยอมรับและให้ประพฤติปฏิบัติแต่ในแง่ที่ดีงามถูกต้อง

         บางครั้ง     ทรงสอนว่าความประพฤติปฏิบัติที่ผิดพลาดเสียหายบางอย่างของศาสนาเดิมในสมัยนั้น  เป็นความเสื่อมโทรมที่เกิดขึ้นในศาสนานั้นเอง   ซึ่งในครั้งดั้งเดิมทีเดียว   คำสอนของศาสนานั้นก็ดีงามถูกต้อง และทรงสอนให้รู้ว่า  คำสอนเดิมที่ดีของศาสนานั้นเป็นอย่างไร   ตัวอย่างในข้อนี้   มีเรื่อง   ตบะ   การบูชายัญ   หลักการสงเคราะห์ประชาชนของนักปกครอง  และเรื่องพราหมณ์ธรรม  (องฺ.ทสก. 24/94/204)  เป็นต้น

        ข้อความที่กล่าวมานี้     นอกจากจะแสดงให้เห็นความใจกว้างของพุทธธรรม และ การที่พระพุทธเจ้า  ทรงตั้งพระทัยสอนแต่ความจริง   และ ความดีงามถูกต้องที่เป็นกลางๆ แล้วยังเป็นเรื่องสำหรับเตือน ให้รู้จักแยกความหมายคำบัญญัติทางศาสนาที่ใช้ในพุทธธรรมกับที่ใช้ในศาสนาอื่นๆด้วย
 
       อนึ่ง    เมื่อสิ้นยุคขององค์พระศาสดาแล้ว เวลาล่วงไป และคำสอนแผ่ไปในถิ่นต่างๆ ความเข้าใจในพุทธธรรมก็แปรไปจากเดิม และ แตกต่างกันไปได้หลายอย่าง เพราะผู้ถ่ายทอดสืบต่อ มีพื้นความรู้การศึกษาอบรมสติปัญญาแตกต่างกัน ตีความหมายพุทธธรรมแผกกันไปบ้าง  นำเอาความรู้ ความเชื่อถือเดิมจากลัทธิศาสนาอื่น เข้ามาผสมแทรกแซงบ้าง   อิทธิพลศาสนา และวัฒนธรรม ในท้องถิ่นเข้าผสมผสานบ้าง   คำสอนบางแง่เด่นขึ้น   บางแง่เลือนลง เพราะการย้ำ และ เลี่ยงความสนใจ ตามความโน้มเอียง และความถนัดของผู้รักษาคำสอนบ้าง   ทำให้เกิดความแตกแยกออกเป็นนิกายต่างๆ เช่น ที่แยกเป็นมหายานกับเถรวาทตลอดจนนิกายย่อยๆ ในสองนิกายใหญ่นั้น

        สำหรับเถรวาทนั้น     แม้จะได้ชื่อว่าเป็นนิกายที่รักษาแบบแผนและคำสอนดั้งเดิมไว้ได้แม่นยำ ก็มิใช่จะพ้นไปจากความแปรเปลี่ยนได้โดยสิ้นเชิง   คำสอนบางส่วน   แม้ที่อยู่ในคัมภีร์เอง   ก็ยังเป็นปัญหาที่คนรุ่นปัจจุบันต้องนำมาถกเถียงคิดค้นหาหลักฐานยืนยัน หรือปฏิเสธความเป็นของแท้แต่ดั้งเดิมยิ่งความรู้ความเข้าใจ ที่ประชาชนเชื่อถือและปฏิบัติอยู่ด้วยแล้ว ความคลาดเคลื่อนก็ยิ่งมีได้มากและชัดเจนยิ่งขึ้น  บางกรณีกับเสมือนเป็นของตรงข้ามกับคำสอนเดิม หรือเกือบจะกลายไปเป็นลัทธิอื่น ที่คำสอนเดิมคัดค้านแล้วก็มี

        ยกตัวอย่างในประเทศไทยนี้    เมื่อพูดถึงคำว่า “กรรม” ความเข้าใจของคนทั่วไป ก็จะเพ่งไปยังกาละส่วนอดีตเจาะจงเอาการกระทำในชาติที่ล่วงแล้วหรือชาติก่อนๆบ้าง    เพ่งไปยังปรากฏการณ์ส่วนผล คือ นึกถึงผลที่ปรากฏในปัจจุบันของการกระทำในอดีตบ้าง   เพ่งไปยังแง่ที่เสียหายเลวร้าย คือ การกระทำชั่วฝ่ายเดียวบ้าง   เพ่งไปยังอำนาจแสดงผลร้ายของการกระทำความชั่วในชาติก่อนบ้าง  และโดยมาก   เป็นความเข้าใจตามแง่ต่างๆ เหล่านี้รวมๆกันไปทั้งหมด ซึ่งเมื่อพิจารณาตัดสินตามหลักกรรมที่แท้จริงในพุทธธรรมแล้ว  จะเห็นได้ชัดว่า เป็นความเข้าใจที่ห่างไกลจากความหมายที่แท้จริงเป็นอันมาก


         แม้ข้อธรรมอื่นๆ ตลอดจนคำบัญญัติทางธรรมแต่ละคำๆ เช่น อารมณ์ วิญญาณ บารมี  สันโดษ อุเบกขา อธิษฐาน บริกรรม ภาวนา สมถะ สมาธิ วิปัสสนา กาม โลกีย์  โลกุตระ บุญ อิจฉา ฯลฯ  ก็ล้วนมีความหมายพิเศษ ในความเข้าใจของประชาชน ซึ่งผิดแปลกไปจากความหมายดั้งเดิมในพุทธธรรมโดยตัวความหมายเองบ้าง  โดยขอบเขตความหมายบ้าง    มากน้อยต่างกันไปในแต่ละคำนั้นๆ  ในการศึกษาพุทธธรรม   จำเป็นต้องแยกความหมายในความเข้าใจของประชาชนส่วนที่คลาดเคลื่อนนี้ออกไปต่างหาก   จึงจะสามารถเข้าใจความหมายที่แท้จริงได้

    @พุทธธรรม หรือ กฎธรรมชาติ และคุณค่าสำหรับชีวิต (หน้า ๖)



Create Date : 06 เมษายน 2564
Last Update : 6 เมษายน 2564 5:23:52 น. 0 comments
Counter : 510 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

สมาชิกหมายเลข 5378236
Location :
ขอนแก่น Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




ดี
Friends' blogs
[Add สมาชิกหมายเลข 5378236's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.