พระพุทธศาสนา
Group Blog
 
All Blogs
 
ดี

๑๘ สิ่งที่ตรัสรู้แต่ไม่ทรงนำมาสอนมีมากกว่าที่ทรงนำมาสอนมากนัก
-บาลี มหาวาร. สํ. ๑๙/๕๔๘/๑๗๑๒.
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกำใบไม้สีสปา ที่ร่วงอยู่ตามพื้นดินขึ้นมาหน่อยหนึ่ง แล้วตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า :
ภิกษุทั้งหลาย ! เธอทั้งหลายเข้าใจว่าอย่างไร, ใบไม้สีสปาที่เรากำขึ้นหน่อยหนึ่งนี้มาก หรือว่าใบไม้สีสปาที่ยังอยู่บนต้นเหล่านั้นมีมาก ?
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ใบไม้ที่พระผู้มีพระภาคทรงกำขึ้นหน่อยหนึ่งนั้นเป็นของน้อย ส่วนใบไม้ที่ยังอยู่บนต้นสีสปาเหล่านั้นย่อมมีมาก”.
ภิกษุทั้งหลาย ! ฉันใดก็ฉันนั้น ธรรมะส่วนที่เรารู้ยิ่ง ด้วยปัญญาอันยิ่ง แล้วไม่กล่าวสอนนั้น มีมากกว่าส่วนที่นำมาสอน.
ภิกษุทั้งหลาย ! เหตุไรเล่า เราจึงไม่กล่าวสอนธรรมะส่วนนั้นๆ ?
ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุว่า ธรรมะส่วนนั้นๆ ไม่ประกอบอยู่ด้วยประโยชน์ ไม่เป็นเงื่อนต้นแห่งพรหมจรรย์ ไม่เป็นไปเพื่อความหน่าย ไม่เป็นไปเพื่อความคลายกำหนัด ไม่เป็นไปเพื่อความดับ ไม่เป็นไปเพื่อความสงบ ไม่เป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง ไม่เป็นเพื่อความรู้พร้อม ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน, ฉะนั้น เราจึงไม่กล่าวสอน.
ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมะอะไรเล่า เป็นธรรมะที่เรากล่าวสอน ?
ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมะที่เรากล่าวสอน คือข้อที่ว่า ความทุกข์เป็นอย่างนี้ๆ, เหตุเป็นที่เกิดของความทุกข์เป็นอย่างนี้ๆ, ความดับสนิทของความทุกข์เป็นอย่างนี้ๆ, ข้อปฏิบัติเพื่อถึงความดับสนิทของความทุกข์เป็นอย่างนี้ๆ .
ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุไรเล่า ธรรมะส่วนนี้เราจึงนำมากล่าวสอน ?
ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะว่าธรรมะส่วนนี้ ประกอบอยู่ด้วยประโยชน์ เป็นเงื่อนต้นแห่งพรหมจรรย์ เป็นไปเพื่อความหน่าย เป็นไปเพื่อความคลายกำหนัด เป็นไปเพื่อความดับ เป็นไปเพื่อความสงบ เป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เป็นไปเพื่อความรู้พร้อม เป็นไปเพื่อนิพพาน, เพราะเหตุนั้นแล เราจึงนำมากล่าวสอน.
🌼🌸🌼🌸
📚📕📑
๑๗ หลักที่ทรงใช้ในการตรัส (๖ อย่าง)
-บาลี ม. ม. ๑๓/๙๑/๙๔.
ราชกุมาร !
(๑) ตถาคตรู้ชัดซึ่งวาจาใด อันไม่จริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ และไม่เป็นที่รักที่พึงใจของผู้อื่น ตถาคตย่อมไม่กล่าววาจานั้น.
(๒) ตถาคตรู้ชัดซึ่งวาจาใด อันจริง อันแท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ และไม่เป็นที่รักที่พึงใจของผู้อื่น ตถาคตย่อมไม่กล่าววาจานั้น.
(๓) ตถาคตรู้ชัดซึ่งวาจาใด อันจริง อันแท้ อันประกอบด้วยประโยชน์ แต่ไม่เป็นที่รักที่พึงใจของผู้อื่น ตถาคตย่อมเลือกให้เหมาะกาลเพื่อกล่าววาจานั้น.
(๔) ตถาคตรู้ชัดซึ่งวาจาใด อันไม่จริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ แต่เป็นที่รักที่พึงใจของผู้อื่น ตถาคตย่อมไม่กล่าววาจานั้น.
(๕) ตถาคตรู้ชัดซึ่งวาจาใด อันจริง อันแท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ แม้เป็นที่รักที่พึงใจของผู้อื่น ตถาคตย่อมไม่กล่าววาจานั้น.
(๖) ตถาคตรู้ชัดซึ่งวาจาใด อันจริง อันแท้ อันประกอบด้วยประโยชน์ และเป็นที่รักที่พึงใจของผู้อื่น ตถาคตย่อมเป็นผู้รู้จักกาละที่เหมาะสมเพื่อกล่าววาจานั้น.
ข้อนี้เพราะเหตุไรเล่า ? ราชกุมาร ! เพราะตถาคตมีความเอ็นดูในสัตว์ทั้งหลาย.
🌼💨🌸
🐍🐊🐦🐩🐺🐒
๓๑ ผู้มีหลักเสาเขื่อน
-บาลี สฬา. สํ. ๑๘/๒๔๗/๓๔๙.
-บาลี สฬา. สํ. ๑๘/๒๔๘/๓๕๙.
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุผู้มีสังวรนั้น เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เมื่อเห็นรูปด้วยตา, ฟังเสียงด้วยหู, ดมกลิ่นด้วยจมูก, ลิ้มรสด้วยลิ้น, สัมผัสโผฏฐัพพะด้วยกาย, รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ; ก็ไม่สยบอยู่ในอารมณ์ที่น่ารัก ไม่เคียดแค้นในอารมณ์อันไม่น่ารัก
เป็นผู้ตั้งไว้ซึ่งกายคตาสติ มีจิตหาประมาณไม่ได้, ย่อมรู้ตามที่เป็นจริงซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันเป็นที่ดับแห่งบาปอกุศลที่เกิดแล้วแก่เขานั้นโดยสิ้นเชิง.
ภิกษุทั้งหลาย ! เปรียบเหมือนบุรุษจับสัตว์หกชนิด อันมีที่อยู่อาศัยต่างกัน มีที่เที่ยวหากินต่างกัน มาผูกรวมกันด้วยเชือกอันมั่นคง คือ เขาจับงูมาผูกด้วยเชือกเหนียวเส้นหนึ่ง, จับจระเข้, จับนก, จับสุนัขบ้าน, จับสุนัขจิ้งจอก และจับลิง มาผูกด้วยเชือกเหนียวเส้นหนึ่งๆ ครั้นแล้วนำไปผูกไว้กับเสาเขื่อนหรือเสาหลักอีกต่อหนึ่ง.
ภิกษุทั้งทั้งหลาย ! ครั้งนั้น สัตว์ทั้งหกชนิดเหล่านั้น มีที่อาศัยและที่เที่ยวต่างกัน ก็ยื้อแย่งฉุดดึงกัน เพื่อจะไปสู่ที่อาศัยและที่เที่ยวของตนๆ : งูจะเข้าจอมปลวก, จระเข้จะลงน้ำ, นกจะบินขึ้นไปในอากาศ, สุนัขจะเข้าบ้าน, สุนัขจิ้งจอกจะไปป่าช้า และลิงก็จะไปป่า. ภิกษุทั้งหลาย ! ในกาลใดแล ความเป็นไปภายในของสัตว์ทั้งหกชนิดเหล่านั้น มีแต่ความเมื่อยล้าแล้ว, ในกาลนั้น มันทั้งหลายก็จะพึงเข้าไปยืนเจ่า นั่งเจ่า นอนเจ่า, อยู่ข้างเสาเขื่อนหรือเสาหลักนั้นเอง. ข้อนี้ฉันใด;
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุรูปใด ได้อบรมกระทำให้มากในกายคตาสติแล้ว
ตา ก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหารูปที่น่าพอใจ, รูปที่ไม่น่าพอใจ ก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง;
หู ก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหาเสียงที่น่าฟัง, เสียงที่ไม่น่าฟัง ก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง;
จมูก ก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหากลิ่นที่น่าสูดดม,
กลิ่นที่ไม่น่าสูดดม ก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง;
ลิ้น ก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหารสที่น่าชอบใจ,
รสที่ไม่น่าชอบใจ ก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง;
กาย ก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหาสัมผัสที่น่ายั่วยวนใจ,
สัมผัสที่ไม่น่ายั่วยวนใจ ก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง;
และใจ ก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหาธรรมารมณ์ที่น่าถูกใจ,
ธรรมารมณ์ที่ไม่น่าถูกใจ ก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง;
ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน.
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุผู้มีสังวร เป็นอย่างนี้.
ภิกษุทั้งหลาย ! คำว่า “เสาเขื่อนหรือเสาหลัก” นี้เป็นคำเรียกแทนชื่อแห่ง “กายคตาสติ”
ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะฉะนั้นในเรื่องนี้ พวกเธอทั้งหลาย พึงสำเหนียกใจไว้ว่า “กายคตาสติของเราทั้งหลาย จักเป็นสิ่งที่เราอบรมกระทำให้มาก กระทำให้เป็นยานเครื่องนำไป กระทำให้เป็นของที่อาศัยได้ เพียรตั้งไว้เนืองๆ เพียรเสริมสร้างโดยรอบคอบ เพียรปรารภสม่ำเสมอด้วยดี” ดังนี้.
ภิกษุทั้งหลาย ! พวกเธอทั้งหลายพึงสำเหนียกใจไว้อย่างนี้ แล.
🐍🐊🐦🐩🐺🐒
👉👋👏👍
๒๘ ตถาคตเป็นเพียงผู้บอกทางเท่านั้น
-บาลี อุปริ. ม. ๑๔/๘๕/๑๐๑.
“ก็สาวกของพระโคดมผู้เจริญ เมื่อพระโคดมได้กล่าวสอนพร่ำสอนอยู่อย่างนี้ ทุกๆ องค์ได้บรรลุนิพพาน อันเป็นผลสำเร็จถึงที่สุดอย่างยิ่ง หรือว่าบางองค์ไม่ได้บรรลุ ?” พราหมณ์คณกโมคคัลลานะ ทูลถาม.
พราหมณ์ ! สาวกของเรา แม้เรากล่าวสอน พร่ำสอนอยู่อย่างนี้ น้อยพวกที่ได้บรรลุนิพพาน อันเป็นผลสำเร็จถึงที่สุดอย่างยิ่ง, บางพวกไม่ได้บรรลุ.
“พระโคดมผู้เจริญ ! อะไรเล่าเป็นเหตุ อะไรเล่าเป็นปัจจัย, ที่พระนิพพาน ก็ยังตั้งอยู่, หนทางเป็นที่ยังสัตว์ให้ถึงนิพพาน ก็ยังตั้งอยู่, พระโคดมผู้ชักชวน (เพื่อการดำเนินไป) ก็ยังตั้งอยู่, ทำไมน้อยพวกที่บรรลุ และบางพวกไม่บรรลุ ?”.
พราหมณ์ ! เราจักย้อนถามท่านในเรื่องนี้ ท่านจงตอบตามควร, ท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญในหนทางไปสู่เมืองราชคฤห์ มิใช่หรือ, มีบุรุษผู้จะไปเมืองราชคฤห์ เข้ามาหาและกล่าวกับท่านว่า
“ท่านผู้เจริญ ! ข้าพเจ้าปรารถนาจะไปเมืองราชคฤห์ ขอท่านจงบอกทางไปเมืองราชคฤห์ แก่ข้าพเจ้าเถิด”.
ท่านก็จะกล่าวกะบุรุษนั้นว่า “มาซิท่าน, ทางนี้ไปเมืองราชคฤห์ ไปได้ครู่หนึ่งจักพบบ้านชื่อโน้น แล้วจักเห็นนิคมชื่อโน้น จักเห็นสวนและป่าอันน่ารื่นรมย์จักเห็นภูมิภาคอันน่ารื่นรมย์ สระโบกขรณีอันน่ารื่นรมย์ของเมืองราชคฤห์” ดังนี้.
บุรุษนั้น อันท่านพร่ำบอก พร่ำชี้ให้อย่างนี้ ก็ยังถือเอาทางผิด กลับหลังตรงข้ามไป,
ส่วนบุรุษอีกคนหนึ่ง (อันท่านพร่ำบอกพร่ำชี้อย่างเดียวกัน) ไปถึงเมืองราชคฤห์ได้โดยสวัสดี.
พราหมณ์ ! อะไรเล่าเป็นเหตุ อะไรเล่าเป็นปัจจัย, ที่เมืองราชคฤห์ ก็ยังตั้งอยู่, หนทางสำหรับไปเมืองราชคฤห์ ก็ยังตั้งอยู่, ท่านผู้ชี้บอก ก็ยังตั้งอยู่, แต่ทำไมบุรุษผู้หนึ่งกลับหลังไปผิดทาง, ส่วนบุรุษผู้หนึ่งไปถึงเมืองราชคฤห์โดยสวัสดี ?
“พระโคดมผู้เจริญ ! ในเรื่องนี้ข้าพเจ้าจักทำอย่างไรได้เล่า, เพราะข้าพเจ้าเป็นเพียงผู้บอกทางเท่านั้น”.
พราหมณ์ ! ฉันใดก็ฉันนั้น, ที่พระนิพพาน ก็ยังตั้งอยู่, ทางเป็นเครื่องถึงพระนิพพาน ก็ยังตั้งอยู่, เราผู้ชักชวน ก็ยังตั้งอยู่,
แต่สาวกของเรา แม้เรากล่าวสอน พร่ำสอนอยู่อย่างนี้ น้อยพวกได้บรรลุนิพพาน อันเป็นผลสำเร็จถึงที่สุดอย่างยิ่ง, บางพวกไม่ได้บรรลุ.
พราหมณ์ ! ในเรื่องนี้เราจักทำอย่างไรได้เล่า, เพราะเราเป็นเพียงผู้บอกทางเท่านั้น.
พุทธวจนหมวดธรรม
ตามรอยธรรม เล่มที่ ๑
หน้าที่ ๓๖-๓๗,๓๙-๔๐,๖๕-๖๗,๗๕-๗๗
by ท่านพระอาจารย์คึกฤทธิ์ โสตฺถิผโล
bn8185.
👉👋👏👍
🙏 ๑๐ พระสูตรที่สาวกตถาคตควรทราบ🙏🛸💥
ตถาคตภาสิต
๑.• พระองค์ทรงสามารถกำหนดสมาธิ เมื่อจะพูด ทุกถ้อยคำจึงไม่ผิดพลาด
๒.• แต่ละคำพูดของพระองค์เป็นอกาลิโก คือ ถูกต้องตรงจริงไม่จำกัดกาลเวลา
๓.• คำพูดที่พูดมาทั้งหมดนับแต่วันตรัสรู้นั้น สอดรับไม่ขัดแย้งกัน
๔.• ทรงบอกเหตุแห่งความอันตรธานของคำสอนเปรียบด้วยตะโพนชื่ออานกะ
๕.• ทรงกำชับให้ศึกษาปฏิบัติเฉพาะจากคำของพระองค์เท่านั้น อย่าฟังคนอื่น
๖.• ทรงห้ามบัญญัติเพิ่มหรือเพิกถอนสิ่งที่บัญญัติไว้
๗.• สำนึกเสมอว่าตนเองเป็นเพียงผู้เดินตามพระองค์เท่านั้น ถึงแม้จะเป็นอรหันต์ผู้เลิศทางปัญญาก็ตาม
๘.• ตรัสไว้ว่าให้ทรงจำบทพยัญชนะและคำอธิบายอย่างถูกต้อง พร้อมขยันถ่ายทอดบอกสอนกันต่อไป
๙.• ทรงบอกวิธีแก้ไขความผิดเพี้ยนในคำสอน
๑๐.• ทรงตรัสแก่พระอานนท์ ให้ใช้ธรรมวินัยที่ตรัสไว้ เป็นศาสดาแทนต่อไป
• อานนท์ ! ความคิดอาจมีแก่พวกเธออย่างนี้ว่า ธรรมวินัยของพวกเรามีพระศาสดาล่วงลับไปแล้ว พวกเราไม่มีพระศาสดา ดังนี้.
อานนท์ ! พวกเธออย่าคิดอย่างนั้น อานนท์ ! ธรรมก็ดี วินัยก็ดี ที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้ว แก่พวกเธอทั้งหลาย ธรรมวินัยนั้น จักเป็นศาสดาของพวกเธอทั้งหลาย โดยกาลล่วงไปแห่งเรา.
🙏🙏🙏
ธรรมใดที่พระตถาคตกล่าวไว้ดีแล้ว
เป็นธรรมงดงามในเบื้องต้น
งดงามในท่ามกลาง
งดงามในที่สุด
ประกาศพรหมจรรย์ สมบูรณ์ด้วยอรรถ สมบูรณ์ด้วยพยัญชนะ
บริสุทธิ์บริบูรณ์ดีแล้วสิ้นเชิง ธรรมนั้นแหละประเสริฐ ธรรมนั้นแหละสูงสุด.
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
กฤษดา มธุรสพงศ์พันธ์
สาวกตถาคต
bn8185.


Create Date : 12 เมษายน 2564
Last Update : 12 เมษายน 2564 16:29:01 น. 0 comments
Counter : 488 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

สมาชิกหมายเลข 5378236
Location :
ขอนแก่น Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




ดี
Friends' blogs
[Add สมาชิกหมายเลข 5378236's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.