ว่าด้วย.. "การทำบุญที่ได้ลดหย่อนภาษี"

 

ว่าด้วย.. "การทำบุญที่ได้ลดหย่อนภาษี"

สำหรับผู้ใจบุญ ที่ชอบการทำบุญเป็นชีวิตจิตใจ ท่านเคยรู้หรือไม่ว่า การทำบุญของท่าน บางอย่างสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีได้ด้วยนะ

ปัจจุบัน เงินบริจาคที่รัฐอนุญาตให้ใช้เป็นค่าลดหย่อนภาษีนั้น ได้แก่

1. เงินสนับสนุนเพื่อการศึกษา

ได้แก่ เงินที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาให้แก่สถานศึกษาของรัฐ ( ตามที่รมต.คลังกำหนด ) ซึ่งรายชื่อของสถานศึกษาที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ ตรวจสอบได้จากที่นี่ >> //www.rd.go.th/publish/28654.0.html

- การลดหย่อนภาษีนั้น จำกัด เฉพาะการบริจาคเป็น "เงิน" เท่านั้น การบริจาคเป็น สิ่งของ เครื่องใช้ หนังสือ หรืออุปกรณ์การเรียนอื่นๆ ไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้

- เงินที่จะสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้นั้น จะต้องเป็นการบริจาคเพื่อวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้ เท่านั้น คือ

(1) จัดหาหรือจัดสร้างอาคาร อาคารพร้อมที่ดิน หรือที่ดินให้แก่สถานศึกษา เพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษา

(2) จัดหาวัสดุอุปกรณ์เพื่อการศึกษา แบบเรียน ตำรา หนังสือทางวิชาการ สื่อ และเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา

(3) จัดหาครูอาจารย์ หรือเป็นทุนการศึกษา การประดิษฐ์ การพัฒนา การค้นคว้า หรือการวิจัย

- การบริจาคเงินให้แก่โรงเรียนกวดวิชาหรือสถาบันติวต่างๆ ไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้

จำนวนเงินที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ >> บริจาคจริงเท่าไหร่ สามารถลดหย่อนได้ 2 เท่าของเงินที่บริจาค แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่นๆ

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

- พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 420) พ.ศ.2547 >> //www.rd.go.th/publish/21455.0.html

- พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 558) พ.ศ.2556 >> //www.rd.go.th/publish/47650.0.html

- บันทึกข้อความ ที่ ศธ.5801.4/150 เรื่อง เงินบริจาคได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ 2 เท่า ตามพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 558) พ.ศ.2556 >> //web.kmutt.ac.th/treas…/…/บันทึกข้อความเงินบริจาค1.pdf

- ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินไ ด้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับเงินได้ ที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการสนับสนุนการศึกษา >> //www.rd.go.th/publish/23371.0.html

2. เงินบริจาคการกุศลสาธารณะ

ได้แก่ เงินที่บริจาคให้วัดวาอาราม สถานสาธารณกุศล สถานพยาบาล สถานการศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน ไม่ว่าจะเป็นการทำบุญทอดกฐิน ทอดผ้าป่า สามารถนำมาลดหย่อนได้ทั้งสิ้น

- จำกัดเฉพาะการบริจาคที่เป็น "เงิน" เท่านั้น การบริจาคเป็นสิ่งของ ไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้

- จะต้องเป็นการทำบุญ หรือบริจาคเงินให้กับวัด โบสถ์ทางคริสต์ศาสนา หรือมัสยิดของศาสนาอิสลามที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยเท่านั้น (ไม่รวมถึงศาสนสถานที่อยู่นอกราชอาณาจักร) การบริจาคเงินให้วัดที่ก่อตั้งขึ้นในต่างประเทศไม่สามารถลดหย่อนได้)

สำหรับสถานสาธารณกุศล หรือมูลนิธิ ต้องอยู่ในรายชื่อที่กรมสรรพากรกำหนด สามารถตรวจสอบได้จากที่นี่ >>> //www.rd.go.th/publish/29157.0.html

จำนวนเงินที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ >> บริจาคจริงเท่าไหร่ ได้ลดหย่อนเท่านั้น แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่นๆ

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

- ประมวลรัษฎากร มาตรา 47 (7) >> //www.rd.go.th/publish/5937.0.html

ทั้งนี้ หากท่านทั้งหลายบริจาคเงินแล้วจะใช้สิทธิลดหย่อนภาษี อย่าลืมขอหลักฐานในการบริจาค เช่น ใบอนุโมทนาบัตร หรือ ใบเสร็จจากสถานศึกษาที่ได้บริจาคเงินให้ มาประกอบการยื่นเสียภาษีด้วยนะครับ

ใบเสร็จหรือใบอนุโมทนาบัตร กฎหมายไม่ได้กำหนดแบบไว้ตายตัว แต่อย่างน้อยจะต้องมีรายละเอียดของผู้บริจาค สถานที่หรือองค์กรที่รับบริจาค จำนวนเงินที่บริจาค และวันเดือนปี ด้วย

กรณีที่บริจาคร่วมกันหลายคน ใส่ชื่อหลายคน ถือว่าทุกคนบริจาคเท่าๆกัน นำไปลดหย่อนภาษีได้ตามสัดส่วน แต่ถ้าใส่ว่า "นาย/นาง.... และครอบครัว" ถือว่า นาย/นาง.... บริจาคคนเดียว ลดหย่อนได้เต็ม ไม่ต้องหารกับใคร

ทำบุญ ได้บุญ แล้วยังลดหย่อนภาษีได้ด้วย... ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว อิอิ

‪#‎รู้ทันกฎหมาย‬ ได้ประโยชน์นะเธอว์!!




 

Create Date : 17 สิงหาคม 2558   
Last Update : 17 สิงหาคม 2558 14:19:38 น.   
Counter : 4262 Pageviews.  


ออกกฎหมายภาษีการรับมรดกแล้ว ก็ต้องแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วยสินะ

  วันที่ 5 สิงหาคม 2558 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้มีการเผยแพร่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 40) พ.ศ.2558

วัถตุประสงค์ที่ประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้ เนื่องจาก ได้มีการตรากฎหมายเพื่อจัดเก็บภาษีจากการรับมรดก (พระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ.2558) แต่ประมวลรัษฎากรยังมีการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สําหรับเงินได้ที่ได้รับจากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยาหรือจากการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธีหรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี และเงินได้จากการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์โดยไม่มีค่าตอบแทนให้แก่บุตรชอบด้วยกฎหมายซึ่งไม่รวมถึงบุตรบุญธรรม เป็นการไม่สอดคล้องกับการจัดเก็บภาษีการรับมรดก สมควรปรับปรุงบทบัญญัติในการจัดเก็บภาษีสําหรับการให้ในกรณีดังกล่าว

รายละเอียดของการประกาศ คือ

- เงินได้พึงประเมิน ต่อไปนี้

1) เงินได้จากการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์โดยไม่มีค่าตอบแทนให้แก่บุตรชอบด้วยกฎหมายซึ่งไม่รวมถึงบุตรบุญธรรม เฉพาะเงินได้ในส่วนที่ไม่เกินยี่สิบล้านบาทตลอดปีภาษีนั้น

2) เงินได้ที่ได้รับจากการอุปการะหรือจากการให้โดยเสน่หาจากบุพการี ผู้สืบสันดานหรือคู่สมรส เฉพาะเงินได้ในส่วนที่ไม่เกินยี่สิบล้านบาทตลอดปีภาษีนั้น

3) เงินได้ที่ได้รับจากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยาหรือจากการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธีหรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี ทั้งนี้ จากบุคคลซึ่งมิใช่บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรสเฉพาะเงินได้ในส่วนที่ไม่เกินสิบล้านบาทตลอดปีภาษีนั้น

4) เงินได้ที่ได้รับจากการให้โดยเสน่หาที่ผู้ให้แสดงเจตนาหรือเห็นได้ว่ามีความประสงค์ให้ใช้เพื่อประโยชน์ในกิจการศาสนา กิจการศึกษา หรือกิจการสาธารณประโยชน์ ตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขที่กําหนดในกฎกระทรวง”

...ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้

แล้วที่ต้องเสียภาษีตามพระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ.2558 ที่มีการแก้ไขประมวลรัษฎากร ฉบับนี้ ล่ะ มีกรณีใดบ้าง?

กรณีการให้สังหาริมทรัพย์

(1) ผู้มีหน้าที่เสียภาษี :

(ก) บุคคลธรรมดาที่ได้รับเงินได้จากการอุปการะหรือจากการให้โดยเสน่หาจากบุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส

(ข) บุคคลธรรมดาที่ได้รับเงินได้จากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยา หรือจากการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธีหรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี จากบุคคลอื่นซึ่งมิใช่บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส

(2) ทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษี :

สังหาริมทรัพย์ทุกประเภทที่สามารถคำนวณเป็นเงิน
(3) เงินได้ที่ได้รับยกเว้น :

• เงินได้ที่ได้รับจากการอุปการะหรือจากการให้โดยเสน่หาจาก บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส เฉพาะเงินได้ในส่วนที่ไม่เกิน 20 ล้านบาทตลอดปีภาษีนั้น

• เงินได้ที่ได้รับจากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยาหรือจากการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธีหรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี ทั้งนี้ จากบุคคลซึ่ง มิใช่บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส เฉพาะเงินได้ในส่วนที่ไม่เกิน 10 ล้านบาทตลอดปีภาษีนั้น

• เงินได้ที่ได้รับซึ่งผู้ให้แสดงเจตนาหรือเห็นได้ว่ามีความประสงค์ให้ใช้เพื่อประโยชน์ในกิจการศาสนา กิจการศึกษา หรือกิจการสาธารณประโยชน์ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

(4) อัตราภาษี :

อัตราร้อยละ 5 ของมูลค่าทรัพย์สินที่ได้รับส่วนที่เกิน 20 ล้านบาท หรือ 10 ล้านบาท

(5) การยื่นแบบแสดงรายการภาษี :

ผู้มีหน้าที่เสียภาษีมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด. 90) ภายในกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งสามารถเลือกเสียภาษีในอัตราร้อยละ 5 ของมูลค่าทรัพย์สินส่วนที่เกิน 20 ล้านบาท หรือ 10 ล้านบาท หรือจะนำไปรวมคำนวณกับเงินได้อื่น

(6) การหักภาษี ณ ที่จ่าย : ไม่มี

2. กรณีการให้อสังหาริมทรัพย์

(1) ผู้มีหน้าที่เสียภาษี :

บิดามารดาที่เป็นผู้โอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ให้แก่บุตรชอบด้วยกฎหมายซึ่งไม่รวมถึงบุตรบุญธรรม

(2) ทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษี :

อสังหาริมทรัพย์ทุกประเภท

(3) เงินได้ที่ได้รับยกเว้น :

เงินได้จากการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์โดยไม่มีค่าตอบแทน ให้แก่บุตรชอบด้วยกฎหมายซึ่งไม่รวมถึงบุตรบุญธรรม เฉพาะเงินได้ในส่วนที่ไม่เกิน 20 ล้านบาทตลอดปีภาษี

(4) อัตราภาษี :

อัตราร้อยละ 5 ของมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์ส่วนที่เกินกว่า 20 ล้านบาท

(5) การยื่นแบบแสดงรายการภาษี :

ผู้มีหน้าที่เสียภาษีมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด. 90) ภายในกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งสามารถเลือกเสียภาษีเงินได้ในอัตราร้อยละ 5 ของมูลค่าทรัพย์สินส่วนที่เกินกว่า 20 ล้านบาท หรือจะนำไปรวมคำนวณกับเงินได้อื่น

(6) การหักภาษี ณ ที่จ่าย :

ให้มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย สำหรับกรณีการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ในคราวเดียวกัน ที่มีมูลค่าเกินกว่า 20 ล้านบาท โดยให้หักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 5 ของมูลค่าทรัพย์สินส่วนที่เกินกว่า 20 ล้านบาท

- ใช่สำหรับเงินได้ที่ได้รับภายหลังจากวันที่กฎหมายฉบับนี้ใช้บังคับ (เมื่อพ้นกำหนด 180 วันนับจากวันประกาศราชกิจจานุเบกษา)

ประมวลรัษฎากรนี่ ยังคงอ่านเข้าใจยากเหมือนเดิม บายยยย

ที่มา : เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา, กระทรวงการคลัง, กรมสรรพากร




 

Create Date : 17 สิงหาคม 2558   
Last Update : 17 สิงหาคม 2558 14:18:49 น.   
Counter : 509 Pageviews.  


ภาษีมรดก มันคืออะไรหว่าาา?

 

ภาษีมรดก มันคืออะไรหว่า??

"มรดก" หรือ มฤดก (inheritance หรือ estate) คือ ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย รวมตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่างๆ ของผู้ตาย เว้นแต่ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้ว เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ ทั้งหมดนี้เรียกรวมๆ ว่า "กองมรดก"

หลักกฎหมายเดี่ยวกับมรดก ได้บัญญัติไว้ใน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 ว่าด้วย มรดก โดยหลักการทั่วไปนั้น จะอยู่ในมาตรา 1599-1601 ดังนี้

"มาตรา 1599 เมื่อบุคคลใดตาย มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท

ทายาทอาจเสียไปซึ่งสิทธิในมรดกได้แต่โดยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น"

"มาตรา 1600 ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ กองมรดก"

"มาตรา 1601 ทายาทไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน"

เมื่อวันก่อน (5 สิงหาคม 2558) กฎหมายฉบับหนึ่งได้ประกาผสราชกิจจานุเบกษาแล้ว ซึ่งอีก 180 วันจะมีผลใช้บังคับทั่วประเทศ กฎหมายฉบับดังกล่าวคือ

"พระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ.2558"

สาระสำคัญเบื้องต้น ตามนี้ครับ

- มรดกที่เจ้ามรดกตายก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และ มรดกที่คู่สมรสของเจ้ามรดกได้รับจากเจ้ามรดก ไม่อยู่ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ (มาตรา 3)

- ทุกๆ คน (ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล) ไม่ว่าจะเป็น...

(1) บุคคลผู้มีสัญชาติไทย

(2) บุคคลธรรมดาผู้มิได้มีสัญชาติไทยแต่มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง

(3) บุคคลผู้มิได้มีสัญชาติไทยแต่ได้รับมรดกอันเป็นทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย

หากได้รับมรดก ล้วนแล้วแต่อยู่ภายใต้บังคับกฎหมายฉบับนี้ทั้งสิ้น (มาตรา 11)

- มรดกที่ได้รับ ไม่ว่าจะได้มาคราวเดียวหรือหลายคราว ภายหลังจากหักภาระหนี้สินแล้ว ก็จะเหลือเป็น "ทรัพย์สินสุทธิ" ซึ่งหากมีมูลค่าเกินกว่า 100 ล้านบาท ผู้รับมรดกมีหน้าที่เสียภาษีในส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท ตามกฎหมายฉบับนี้ (มาตรา 12)

- ทรัพย์สินไม่ว่าจะเป็น อสังหาริมทรัพย์, หลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์, เงินฝากหรือเงินอื่นใดที่มีลักษณะอย่างเดียวกันที่เจ้ามรดกมีสิทธิเรียกถอนคืนหรือสิทธิเรียกร้องจากสถาบันการเงินหรือบุคคลท่ีได้รับเงินนั้นไว้, ยานพาหนะที่มีหลักฐานทางทะเบียน และ ทรัพย์สินทางการเงินที่กําหนดเพิ่มขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกา ล้วนถูกนำมาเป็นฐานคำนวณภาษีทั้งสิ้น (มาตรา 14)

- วันที่จะใช้ในการคำนวลมูลค่าภาษีนั้น ให้ถือตามราคาหรือมูลค่า

การคํานวณมูลค่าของทรัพย์สินให้ถือตามราคาหรือมูลค่าอันพึงมีในวันที่ได้รับ ทรัพย์สินนั้นเป็นมรดก ดังต่อไปนี้

(1) กรณีเป็น อสังหาริมทรัพย์ ให้ถือเอาตามราคาประเมินทุนทรัพย์ของอสังหาริมทรัพย์เพื่อเรียกเก็บ ค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน หักด้วยภาระที่ถูกรอนสิทธิ ตามหลักเกณฑ์ที่กําหนดในกฎกระทรวง

(2) กรณีเป็นหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้ถือเอาราคาของ หลักทรัพย์น้ันในเวลาสิ้นสุดเวลาทําการของตลาดหลักทรัพย์ในวันท่ีได้รับมรดก

(3) กรณีอื่นให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กําหนดในกฎกระทรวงแต่หลักเกณฑ์ดังกล่าวให้กําหนด เป็นการทั่วไปโดยไม่มีลักษณะเป็นการเฉพาะเจาะจง

ถ้าจําเป็นต้องคํานวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทย ให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กรมสรรพากรประกาศกําหนด (มาตรา 15)

- คำนวณแล้วเสียภาษีมรดกในอัตราร้อยละ 10 ของมูลค่ามรดก ในส่วนที่ต้องเสียภาษี แต่ถ้าผู้ได้รับมรดกเป็นบุพการี หรือผู้สืบสันดานให้เสียภาษีในอัตรา ร้อยละ 5 (มาตรา 16)

- ผู้มีหน้าที่เสียภาษีจะผ่อนชําระภาษีภายในเวลาไม่เกิน 5 ปีก็ได้ ชำระครบตามหลักเกณฑ์ ได้รับยกเว้น ไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม แต่ทั้งนี้ ถ้าผ่อนชำระเกิน 2 ปี อาจมีการประเมินเงินเพิ่มบางส่วน (มาตรา 23)

- ชำระภาษีเกิน ขอคืนได้ แต่ต้องดำเนินการขอคืนภายใน 5 ปี (มาตรา 24)

- เมื่อต้องชำระแต่ไม่ชำระ จะกลายเป็น "ภาษีค้าง" อธิบดีมีอํานาจสั่งยึดหรืออายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สิน ของผู้ต้องรับผิดเสียภาษีได้ทั่วราชอาณาจักร โดยมิต้องขอให้ศาลออกหมายยึดหรือสั่ง (มาตรา 25)

- หากไม่เห็นด้วยกับผลการประเมินภาษี >> อุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมินภาษี

หากยังไม่พอใจอีก >> สิทธิฟ้องต่อศาลภาษีอากรได้ ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ได้รับทราบคําวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ (มาตรา 26)

ทั้งนี้การอุทธรณ์คำสั่งไม่เป็นเหตุทุเลาการเสียภาษี (มาตรา 27)

- กรณีที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษี...

(1) มิได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีภายในกําหนดเวลา >> ให้เสียเบี้ยปรับอีก 1 เท่าของเงินภาษีที่ต้องชําระ

(2) ยื่นแบบแสดงรายการภาษีไว้ไม่ครบถ้วนหรือไม่ตรงต่อความเป็นจริง >> ให้เสียเบี้ยปรับอีก 0.5 เท่าของเงินภาษีที่ต้องเสียเพิ่ม (มาตรา 29)

- ผู้ใดไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีโดยไม่มีเหตุอันสมควร >> ปรับไม่เกิน 500,000 บาท (มาตรา 33)

- ผู้ใด..

(1) โดยรู้อยู่แล้วหรือจงใจยื่นข้อความเท็จ หรือให้ถ้อยคําเท็จ หรือตอบคําถามด้วยถ้อยคํา อันเป็นเท็จ หรือนําพยานหลักฐานเท็จมาแสดงเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีตามพระราชบัญญัตินี้

(2) โดยความเท็จโดยเจตนาละเลยโดยฉ้อโกงหรือใช้อุบายโดยวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใดหลีกเลี่ยง หรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีตามพระราชบัญญัตินี้ หรือ

(3) แนะนําหรือสนับสนุนให้บุคคลอื่นใดกระทําการตาม (1) หรือ (2)

>> จําคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ (มาตรา 37)

เจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติฉบับนี้ส่วนหนึ่งก็เพื่อลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน ตอนแรกได้ข่าวว่าจะมีการกำหนดฐานทรัพย์สินที่มาคำนวณเสียภาษีการรับมรดกที่ 50 ล้าน แต่ทำไปทำมา เป็น 100 ล้านนี่.. จะมีท่านๆสักกี่คนเชียวที่จะต้องจ่ายภาษีการรับมรดก

แล้วท่านๆที่มีเงินเกินจำนวนดังกล่าว.. เค้าก็คงมีนักกฎหมายหรือที่ปรึกษาทางการเงินควรช่วยวางแผนการเงินอยู่แล้วม๊างงงง?!

ก็ไม่รู้สินะ

พระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ.2558 สามารถดูรายละเอียดได้ที่นี่ >>

//www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2558/A/072/1.PDF




 

Create Date : 17 สิงหาคม 2558   
Last Update : 17 สิงหาคม 2558 14:18:11 น.   
Counter : 557 Pageviews.  


ใช้โทรศัพท์มือถือ ระหว่างที่รถติดไฟแดง ได้หรือไม่?

 

ใช้โทรศัพท์มือถือ ระหว่างที่รถติดไฟแดง ได้หรือไม่?

คณะกรรมการกฤษฎีกา ได้พิจารณาแล้วมีความเห็น ตาม เรื่องเสร็จที่ 1181/2558 มีใจความสำคัญว่า...

ประเด็นแรก ความหมายของการขับรถและการหยุดรถตามสัญญาณจราจรไฟสีแดง อยู่ในความหมายของการขับรถหรือไม่?

...

คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้ว มีความเห็นว่าเจตนารมณ์ของพ.ร.บ.จราจร ทางบกฯ กำหนดให้ผู้ขับขี่ซึ่งควบคุมรถอยู่ในทางเดินรถ จะต้องปฏิบัติตามสัญญาณจราจรและเครื่องหมายจราจร ซึ่งรวมถึงการหยุดรถหลังเส้นให้รถหยุดเพื่อรอสัญญาณไฟจราจรด้วย

ดังนั้น การหยุดรถเพื่อรอสัญญาณไฟจราจร จึงเป็นเพียงการปฏิบัติตามเครื่องหมายจราจรเท่านั้น โดยผู้ขับขี่ยังต้องควบคุมรถและปฏิบัติตามสัญญาณไฟแดงเจรจรต่อไป การหยุดรถตามสัญญาณจราจรไฟสีแดงดังกล่าว จึงยังอยู่ในความหมายของการขับรถ

ประการสอง ขอยกเว้นการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ขณะขับรถ ตามที่บัญญัติไว้ใน (9) ของมาตรา 43?

มาตรา 43 พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ บัญญัติห้ามมิให้ผู้ขับขี่รถในกรณีต่างๆ เช่น ขับรถในขณะหย่อนความสามารถในอันที่จะขับ ขับรถในขณะเมาสุรา ขับรถในลักษณะกีดขวางการจราจร ขับรถโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียว ฯลฯ, รวมทั้งในมาตรา 43 (9) กำหนดห้ามมิให้ผู้ขับขี่รถในขณะใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่

เว้นแต่การใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่โดยใช้อุปกรณ์เสริมสำหรับการสนทนา โดยผู้ขับขี่ไม่ต้องถือหรือจับโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งหากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อห้ามดังกล่าว ก็จะต้องได้รับโทษปรับตั้งแต่ 400 บาท ถึง 1,000 บาท

ทั้งนี้ เนื่องจากการที่ผู้ขับขี่ถือหรือจับโทรศัพท์เคลื่อนที่ในขณะขับรถ ทำให้ผู้ขับขี่ต้องควบคุมการจับพวงมาลัยด้วยมือเพียงข้างเดียว ซึ่งมีโอกาศที่ผู้ขับขี่จะเสียการควบคุมและการบังคับรถได้ อันส่งผลให้ประสิทธิภาพ ในการขับรถลดลง และอาจทำให้เกิดการกีดขวางทางจราจรหรือทำให้การเจราจรติดขัด ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาจราจร และยังอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนด้วย

ดังนั้น เพื่อเป็นการคุ้มครองความปลอดภับสำหรับผู้ใช้รถ จึงกำหนดห้ามผู้ขับขี่ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในขณะขับรถ โดยกำหนดข้อยกเว้นไว้กรณีเดียว คือ กรณีการใช้งานโดยผ่านอุปกรณ์เสริมสำหรับการสนทนา โดยผู้ขับขี่ไม่ต้องถือหรือจับโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้น

จากข้อพิจารณาทั้งสองประเด็นดังกล่าว คณะกรรมการกฤษฎีกา เห็นว่า เมื่อความในมาตรา 43 (4) กำหนดไว้ชัดเจนแล้วว่า ห้ามมิให้ผู้ขับขี่ขับรถในขณะใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ เว้นแต่การใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่โดยใช้อุปกรณ์เสริมสำหรับการสนทนาโดยผู้ขับขี่ไม่ต้องถือหรือจับโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วย

ย่อมแสดงให้เห็นได้ว่าบัญญัติดังกล่าวประสงค์จะห้ามการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในขณะผู้ขับขี่ควบคุมรถอยู่ในทางเดินรถ ไม่ว่ารถดังกล่าวจะอยู่ในระหว่างการเคลื่อนที่หรืออยู่ระหว่างการหยุดรถตามสัญญาณจราจร โดยยกเว้นไว้เฉพาะการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่โดยใช้อุปกรณ์เสริมสำหรับการสนทนาโดยผู้ขับขี่ไม่ต้องถือหรือจับโทรศัพท์เคลื่อนที่เท่านั้น

ฉะนั้น การใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ ในขณะที่หยุดรถตามสัญญาณจราจรไฟสีแดงโดยไม่ใช้อุปกรณ์เสริมตามข้อยกเว้นดังกล่าว จึงเป็นการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในระหว่างการขับรถ และเป็นความผิดตามมาตรา 43 (9) ซึ่งมีโทษตามมาตรา 157 แห่งพ.ร.บ.จราจรทางบท พ.ศ.2522

สรุป ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ระหว่างขับรถได้ เฉพาะกรณีใช้อุปกรณ์เสริม (ที่ไม่ต้องใช้มือจับ) เท่านั้น

คือ ขอให้มือสองข้างจับพวงมาลัย มีสติตั้งมั่น เพื่อความปลอดภัยของผู้อื่นเป็นสำคัญ เท่านั้นก็เพียงพอที่จะไม่ผิดกฎหมาย

ที่มา : //m.matichon.co.th/readnews.php?newsid=1438509143




 

Create Date : 17 สิงหาคม 2558   
Last Update : 17 สิงหาคม 2558 14:17:28 น.   
Counter : 595 Pageviews.  


โพสภาพสยิวของตัวเองใน social network แล้วมีคนกดแชร์ เอาผิดใครได้มั๊ยนะ?

มีความเห็นทางกฎหมายเรื่องหนึ่งที่กำลังเป็นข่าวในช่วงนี้ ซึ่งเรื่องอยู่ในชั้นพนักงานสอบสวน ท่านมีความเห็นไว้ว่า...

"...ผู้เสียหายโพสต์ภาพโป๊ของตัวเอง “การที่ผู้เสียหายโพสต์ภาพ ลามกอนาจารของตัวเอง ในเฟสบุ้ค ลักษณะเปิดเผย ซึ่ง คนทั่วไปสามารถเข้าดูได้ ย่อมแสดงว่าผู้เสียหายซึ่งเป็นถึงปลัดอำเภอ และมีวุฒิภาวะ เพียงพอแล้ว เห็นว่าไม่ใช่เรื่องเสียหาย หรือไม่สมควร ไม่ใช่เรื่องน่าอับอาย ไม่เกรงถูกผู้อื่นดูหมิ่นเกลีย...ดชัง จึงถือว่าเป็นการยินยอมโดยปริยาย และไม่สงวนสิทธิ ที่จะไม่ให้คนอื่นๆเข้าดูชม อีกทั้งการโพสต์ภาพ ลามก ของตนเองในสังคมโชเชี่ยลเนตเวิร์คเช่นนี้ ซึ่งมีคนเข้าดูชมได้เอง จำนวนมาก ผู้เสียหายย่อมคาดการณ์ หรือเล็งเห็นได้ว่า อาจมีผู้แชร์ภาพของตนดังกล่าว ต่อไปอีกได้ แต่ผู้เสียหายยังฝืนกระทำซึ่งผิดวิสัย ของ วิญญูชนทั่วไป ที่ย่อมตระหนักและระมัดระวัง หวงแหน สิทธิ ภาพถ่ายและคลิปส่วนตัว อันไม่เหมาะสม ให้เป็นความลับ แต่ผู้เสียหายกลับโชว์ให้สาธารณชนดู เช่นนี้การกระทำของผู้เสียหาย ย่อมเป็นความผิดเสียเอง ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ม.14 (4) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูล คอมพิวเตอร์ใด ๆ ที่มีลักษณะอันลามก และข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้น ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ ผู้เสียหาย มีส่วนกระทำผิดด้วย จึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย
ส่วนผู้ต้องหาเชื่อว่ามีเจตนาโดยสุจริต เข้าใจว่าผู้เสียหายมิได้หวงห้าม เห็นว่ามิใช่เป็นการใส่ความผู้อื่น ต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้น ได้รับความเสียหาย การแชร์ภาพผู้เสียหายไป จึงขาด เจตนาอันองค์เป็นประกอบความผิด ฐานหมิ่นประมาทฯ ตาม ป.อาญา ม. 326 , 328..."

สรุปว่า..

- โพสภาพสยิวตัวเองแล้วมีคนกดแชร์นี่ ไม่ถือว่าเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย

- คนกดแชร์ เข้าใจโดยสุจริตว่าทำได้ ไม่น่าที่จะก่อให้เกิดความเสียหาย ไม่หมิ่นประมาท (แต่กรุณาอย่าโพสต่อในทางที่เสื่อมเสียนะครับ เพราะยังไงๆก็เสี่ยงถูกแจ้งความ ถูกฟ้องร้องอยู่ดีครับ)

- เจ้าตัวที่อัพรูปคนแรก เสี่ยงผิด พรบ.คอมฯ มาตรา 14 (4) อีก

เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า..

"หยุดคิดสักนิด ก่อนโพส"

ส่วนท่านทั้งหลายที่คิดจะแชร์ต่อ ก็กรุณาตรึกตรองดูสักนิด ก่อนแชร์ เช่นกันนะครับ

เพราะว่า "ภาพที่แชร์" กับ "ข้อความที่โพสแสดงความคิดเห็น" ผลในทางกฎหมายอาจเปลี่ยนแปลงไปเมื่อพิจารณาประกอบกับ "เจตนา" ของผู้แชร์ด้วย

***ความเห็นทางกฎหมายข้างต้น หากถึงที่สุดเมื่อใด น่าจะมีการวางหลักกฎหมายดีๆให้ทำการศึกษาต่อยอดเป็นอย่างยิ่ง ต้องติดตามความคืบหน้ากันต่อไป

ปล. เนื้อหาในโพสนี้ไม่ได้มีเจตนาพาดพิงถึงบุคคลใด หากท่านใดประสงค์จะแสดงความคิดเห็น ขอความกรุณาให้เป็นในเชิงกฎหมายล้วนๆ เพื่อแลกเปลี่ยนและต่อยอดความรู้ครับ




 

Create Date : 17 สิงหาคม 2558   
Last Update : 17 สิงหาคม 2558 14:16:43 น.   
Counter : 534 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  

onizugolf
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 18 คน [?]




[Add onizugolf's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com