การล่วงละเมิดทางเพศหรือคุกคามทางเพศในสถานที่ทำงาน กับแนวทางการแก้ไขปัญหาในปัจจุบัน

การล่วงละเมิดทางเพศหรือคุกคามทางเพศในสถานที่ทำงาน กับแนวทางการแก้ไขปัญหาในปัจจุบัน

ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ หรือการคุกคามทางเพศ (Sexual Harassment) เป็นปัญหาที่มีให้เห็นอยู่บ่อยครั้งในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานประกอบการที่ผู้มีอำนาจเหนือกว่า มักจะเอารัดเอาเปรียบผู้ใต้บังคับบัญชาให้ยอมจำนนต่อความต้องการทางเพศของตนมิเช่นนั้นอาจได้รับความเดือดร้อน ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้น มีทั้ง ชายละเมิดหญิง หญิงละเมิดชาย ชายละเมิดชาย หรือ หญิงละเมิดหญิง

ทั้งนี้ ในทางสากล มีการแบ่งแยกการล่วงเกินทางเพศในสถานที่ทำงานออกได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่

Quid Pro Quo Harassment หมายถึง การที่นายจ้างหรือผู้ได้รับมอบหมายจากนายจ้าง เช่น ผู้จัดการ ผู้ช่วยผู้จัดการ หัวหน้างาน ที่มีตำแหน่งสูงกว่าลูกจ้าง เรียกร้องหรือยื่นข้อเสนอต่อลูกจ้างเพื่อให้ได้มาซึ่งความสุขหรือความพึงพอใจในเรื่องเพศ เช่น ขอให้มีเพศสัมพันธ์ การยินยอมให้จับต้องสัมผัสร่างกาย ฯลฯ โดยเสนอผลประโยชน์เป็นการตอบแทน เช่น การขึ้นเงินเดือน เลื่อนตำแหน่ง ได้สิทธิเข้ารับการฝึกอบรม ฯลฯ หากลูกจ้างไม่ยินยอมจะได้รับผลร้าย เช่น ถูกลงโทษทางวินัย กลั่นแกล้งโยกย้ายหน้าที่ ไม่ให้ทำงานล่วงเวลา ฯลฯ ทำให้ลูกจ้างตกอยู่ในภาวะต้องเลือกระหว่างยอมให้ถกลวงเกินทางเพศหรือจะได้รับผลร้ายเกี่ยวกับการทำงาน การล่วงทางเพศแบบนี้อาจเรียกว่า “sexual blackmail” ความรุนแรงของการถูกล่วงเกิน อาจแค่การจับต้องสัมผัสร่างกายหรืออาจรุนแรงถึงการถูกข่มขืนกระทำชำเรา

Hostile Environment Harassment หมายถึงการสร้างสภาพแวดล้อมหรือบรรยากาศในการทำงานที่ไม่เป็นมิตร ก่อให้เกิดความอึดอัด ไม่สบายใจโดยมีพื้นฐานเกี่ยวกับเรื่องเพศ เช่น การติดภาพหญิงในสภาพโป๊เปลือยไว้ในสถานที่ทำงาน การเขียนข้อความในเรื่องเพศไว้ในที่ทำงาน การนำภาพลามกอนาจารไว้ที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ การพูดคุยวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องเพศหรือสรีระร่างกายของลูกจ้างหญิง ฯลฯ

สำหรับประเทศไทยในปัจจุบัน ได้มีการตราบทบัญญัติกฎหมายให้การรับรองคุ้มครองสิทธิของลูกจ้าง เกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ดังนี้

"มาตรา 16 ห้ามมิให้นายจ้างหรือผู้ซึ่งเป็นหัวหน้างาน ผู้ควบคุมงานหรือผู้ตรวจงาน กระทำการล่วงเกินทางเพศต่อลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงหรือเด็ก"

"มาตรา 147 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 16 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท"

กล่าวโดยคร่าวๆ ผู้ที่ต้องห้ามมิให้กระทำการล่วงละเมิดทางเพศนั้น ได้แก่

1. นายจ้าง ซึ่งหมายถึง บุคคลทุกคลที่เป็น “นายจ้าง” ตามความหมายใน มาตรา 5 ทั้งนายจ้างตัวจริง นายจ้างตัวแทน และนายจ้างรับมอบ และนายจ้างซึ้งเป็นผู้ประกอบกิจการตามมาตรา 11/1 ด้วย

2. หัวหน้างาน ซึ่งหมายถึง ผู้ที่มีตำแหน่งหัวหน้าของงานทุกระดับ รวมทั้งผู้ทำหน้าที่ดังกล่าว

3. ผู้ควบคุมงาน ซึ่งหมายถึง ผู้ที่มีหน้าที่ควบคุมงานที่ลูกจ้างทำอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการประจำหรือชั่วคราว และไม่ว่าระดับใด

4. ผู้ตรวจงาน ซึ่งหมายถึง ผู้ที่มีหน้าที่ตรวจงานที่ลูกจ้างทำ ไม่ว่าเป็นการประจำ หรือชั่วคราว และไม่ว่าระดับใด

ส่วนผู้ที่ถูกกระทำ หมายถึง ลูกจ้างทุกคน ไม่ว่าระดับใด ไม่ว่าเพศใด ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว ลูกจ้างรายวัน หรือลูกจ้างทดลองงาน ล้วนแล้วแต่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย

สำหรับการกระทำที่เข้าข่ายเป็นการล่วงละเมิดทางเพศหรือคุกคามทางเพศนั้น เกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าเป็นการกระทำด้วยการสัมผัสทางกายที่มีลักษณะส่อไปในทางเพศ เช่น การจูบ การล้วง การคลึง การโอบกอด การจับอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่ง ฯลฯ การกระทำด้วยวาจาที่ส่อไปในทางเพศ เช่น การวิพากษ์วิจารณ์ร่างกาย การพูดหยอกล้อ พูดหยาบคาย การแทะโลม ฯลฯ การกระทำด้วยอากัปกิริยาที่ส่อไปในทางเพศ เช่น การใช้สายตาลวนลาม การทำสัญญาณหรือสัญลักษณ์ใด ๆ การแสดง หรือสื่อสารด้วยวิธีการใด ๆ ที่ส่อไปในทางเพศ เช่น การแสดงรูปลามกอนาจาร ส่งจดหมาย ข้อความ หรือการสื่อสารรูปแบบอื่น ฯลฯ หรือการแสดงพฤติกรรมอื่นใดที่ส่อไปในทางเพศ ซึ่งผู้ถูกกระทำไม่พึงประสงค์หรือเดือดร้อนรำคาญ

คำว่า “ล่วงเกิน” หมายถึง แสดงอาการเกินสมควรต่อผู้อื่นโดยล่วงจารีตประเพณีหรือจรรยามารยาท ด้วยการลวนลาม (หมายถึงล่วงเกินในลักษณะชู้สาวด้วยการพูดหรือกระทำเกินสมควร เช่น พูดจาลวนลาม ถือโอกาสจับมือถือแขน) ดูหมิ่น (หมายถึงแสดงกริยาท่าทางฯเป็นเชิงดูถูกว่าด้อยกว่าต่ำกว่า) สบประมาท เป็นต้น

คำว่า “คุกคาม” หมายถึง แสดงอำนาจด้วยกริยาหรือวาจาให้หวาดกลัว ทำให้หวาดกลัว

คำว่า “รำคาญ” หมายถึง ระคายเคือง เบื่อ ทำให้เดือดร้อนเบื่อหน่าย

ซึ่งบรรดาการกระทำดังกล่าวนอกจากจะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 16 ประกอบ มาตรา 147 แล้ว ยังเสี่ยงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ลักษณะ 9 ความผิดเกี่ยวกับเพศ (มาตรา 276-287) อีกด้วย (แต่โทษมันดูจะเบาๆ ไม่ค่อยน่ายำเกรงสักเท่าไหร่)

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 สามารถศึกษาได้จากที่นี่ >>//www.parliament.go.th/…/ar…/article_20110922143151.pdf

คำพิพากษาฎีกาเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศในสถานประกอบการ อาทิ

คำพิพากษาฎีกาท่ี 1372/2545

โจทก์อาศัยอำนาจหน้าที่ของโจทก์ชักชวนพนักงานหญิงที่อยู่ภายใต้บังคับบัญชา ออกไปเที่ยวเตร่กับโจทก์ ในเวลาค่ำคืนนอกเวลางาน หากพนักงานหญิงไม่ไป โจทก์จะกลั่นแกล้งเสนอความเห็นไม่ยอมให้พนักงานผู้นั้นผ่านการทดลองงาน หรือการที่โจทก์ชักชวนให้ผู้สมัครงานหญิงไปรับประทานอาหารและฟังเพลงในช่วงเวลาที่จะรับบุคคลดังกล่าวเข้าทำงาน ถือว่าโจทก์มีความประสงค์ที่จะกระทำการล่วงเกินทางเพศต่อพนักงานหญิงผู้ใต้บังคับบัญชาหรือผู้สมัครงานหญิง หาใช่ว่าโจทก์กระทำไปตามวิสัยของชายเจ้าชู้เท่านั้น การกระทำของโจทก์นอกจากจะเป็นการประพฤติผิดศีลธรรมหรือจารีตประเพณีอันดีงามของสังคมอันเป็นการฝ่าฝืนต่อข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยแล้ว ยังมีผลกระทบต่อการบริหารงานบุคคลของจำเลย ทำให้พนักงานขาดขวัญและกำลังใจในการทำงาน การฝ่าฝืนข้อบังคับในการทำงานของโจทก์จึงเป็นกรณีร้ายแรง จำเลยย่อมเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ให้แก่โจทก์ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 (4) และโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยอันเป็นกรณีร้ายแรง ย่อมเป็นการกระทำความผิดอย่างร้ายแรง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่จำต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 583

คำพิพากษาฎีกาที่ 3560/2556

โจทก์ทำงานตำแหน่งผู้ช่วยรองกรรมการผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการของจำเลย ได้รับค่าจ้างเดือนละ 150,000 บาท โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างว่าโจทก์กระทำการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานร้ายแรงในเรื่องล่วงละเมิดทางเพศซึ่งปราศจากหลักฐานยืนยันตามข้อกล่าวอ้าง จำเลยให้การว่าโจทก์ กระทำการล่วงละเมิดทางเพศต่อนางสาว ก. ผู้ใต้บังคับบัญชา เป็นความผิดวินัยร้ายแรง ศาลแรงงานกลาง พิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลฎีกาเห็นว่า คืนวันที่ 6 กันยายน 2548 ระหว่างโจทก์และนางสาว ก. พักค้างคืนที่โรงแรมเพื่อไปแจกทุนการศึกษาในวันรุ่งขึ้นที่จังหวัดเชียงราย โจทก์กระทำอนาจารอันเป็นการล่วง ละเมิดทางเพศต่อนางสาว ก. ผู้ใต้บังคับบัญชา การกระทำดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติคุ้มครอง แรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 16 ซึ่งมีโทษอาญาตามมาตรา 147 และยังเป็นการฝ่าฝืนนโยบายเกี่ยวกับข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน จึงถือได้ว่าเป็นความผิดร้ายแรง

นอกจากนี้ในส่วนของข้าราชการก็มีการบัญญัติให้ความคุ้มครองไว้เป็นการเฉพาะใน "พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551" ไว้ว่า

"มาตรา 83 ข้าราชการพลเรือนสามัญต้องไม่กระทำการใดอันเป็นข้อห้ามดังต่อไปนี้...

(8) ต้องไม่กระทำการอันเป็นการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศตามที่กำหนดในกฎ ก.พ...."

ซึ่งก็ได้มีการออกกฏ ก.พ. ว่าด้วยการกระทำอันเป็นการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ พ.ศ.2553 ไว้ตามนี้ >> //www2.ocsc.go.th/…/files/atta…/circular/w39-2553_0.pdf

แต่แม้ว่าจะมีบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวคุ้มครองบรรดาลูกจ้างหรือผู้ใต้บังคับบัญชาในหน่วยงานราชการให้มีเกราะกำบังเอาตัวรอดได้มากกว่าสมัยก่อน แต่ก็ยังไม่สามารถเอาตัวรอดให้พ้นจากน้ำมือของผู้บังคับบัญชาได้อย่าง 100%

ปัจจุบันจึงได้มีแนวคิดที่พิจารณา

"ร่างแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน"

โดยร่างแนวปฏิบัติฯ ดังกล่าว ได้ให้นิยามคำว่า "การล่วงละเมิดหรือการคุกคามทางเพศ" ไว้ว่าหมายถึง

"...การกระทำใดๆ หรือพฤติกรรมที่ส่อไปในทางเพศที่เป็นการบังคับใช้อำนาจ ที่ไม่พึงปรารถนา ด้วยวาจา ข้อความ ท่าทาง แสดงด้วยเสียง รูปภาพ เอกสาร ข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือสิ่งของลามกอนาจารเกี่ยวกับเพศ หรือการกระทำอย่างอื่นในทำนองเดียวกันโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นได้รับความเดือดร้อนรำคาญ ได้รับความอับอาย หรือรู้สึกว่าถูกเหยียดหยาม และให้หมายรวมถึงการติดตามรังควาญ หรือการกระทำใดที่ก่อให้เกิดบรรยากาศไม่ปลอดภัยทางเพศ โดยเฉพาะการสร้างเงื่อนไข ซึ่งมีผลต่อการจ้างงาน การสรรหา หรือการแต่งตั้ง หรือผลกระทบอื่นใดต่อผู้เสียหายทั้งในหน่วยงานของรัฐและเอกชน รวมถึงสถาบันการศึกษา..."

โดยได้กำหนดมาตรการให้หน่วยงานต่างๆ ถือปฏิบัติ 7 ข้อดังนี้

(1) หน่วยงานต้องมีการจัดทำแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดและคุกคามทางเพศในการทำงานที่ครอบคลุมบุคลากรทุกคนที่ทำงานในหน่วยงานรวมทั้งผู้ที่มีการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงาน เช่น นักศึกษา นักศึกษาฝึกงาน ผู้รับจ้าง ฯลฯ โดยให้บุคลากรในหน่วยงานได้มีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดการเรียนรู้และยอมรับ รวมทั้งต้องประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความตระหนักแก่บุคลากรทุกคนในหน่วยงานได้รับทราบและถือปฏิบัติ

(2) หน่วยงานต้องแสดงเจตนารมณ์อย่างจริงจังในการส่งเสริมความเท่าเทียบกันระหว่างบุคคล เพื่อให้บุคลากรปฏิบัติต่อกันอย่างให้เกียรติและเคารพซึ่งกันและกัน โดยการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีเน้นการป้องกันปัญหาเป็นพื้นฐานควบคู่กับการปรับเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับพฤติกรรมทางเพศ

(3) หน่วยงานต้องเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ และแนวทางในการแก้ไขในกรณีที่มีปัญหาเกิดขึ้น รวมทั้งกำหนดให้เป็นประเด็นหนึ่งในหลักสูตรการพัฒนาบุคลากรทุกระดับ การจัดสถานที่ทำงานเพื่อลดความเสี่ยงจากปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ เช่น จัดห้องทำงานที่เปิดเผย โล่ง มองเห็นกันได้ชัดเจน เป็นต้น

(4) การแก้ไขและจัดการปัญหาอาจใช้กระบวนการอย่างไม่เป็นทางการ เช่น การพูดคุยกันอย่างเป็นมิตร การประนอมข้อพิพาทฯ ฯลฯ เพื่อยุติปัญหา หากกระบวนการไม่เป็นทางการไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ จึงจะเข้าสู่กระบวนการทางวินัยตามกฎหมายที่หน่วยงานนั้นถือปฏิบัติอยู่

(5) การแก้ไขและจัดการปัญหาต้องดำเนินการอย่างจริงจังโดยทันที และเป็นไปตามเวลาที่กำหนดในแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดและคุกคามทางเพศในการทำงาน และต้องเป็นความลับ เว้นแต่คู่กรณี ทั้งสองฝ่ายยินดีให้เปิดเผย รวมทั้งให้ความเป็นธรรมต่อทั้งสองฝ่ายเท่าเทียมกัน กรณีที่ขยายเวลาออกไปต้องมีเหตุผลที่ดีพอ

(6) กรณีที่มีการร้องเรียนหรือการรายงานเรื่องนี้ให้มีการแต่งตั้งคณะทำงานสอบข้อเท็จจริง ประกอบด้วย ประธานคณะทำงานที่มีตำแหน่งสูงกว่าคู่กรณีบุคคลจากหน่วยงานต้นสังกัดของคู่กรณี โดยมีตำแหน่งไม่ต่ำกว่าคู่กรณี บุคคลที่มีผลงานด้านการแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศจนเป็นที่ประจักษ์ โดยอาจมีบุคคลที่มีเพศเดียวกับผู้เสียหายไม่น้อยกว่าหนึ่งคน และให้มีบุคคลที่ผู้เสียหายไว้วางใจเข้าร่วมรับฟังในการสอบข้อเท็จจริงได้ หากต้องมีการดำเนินการทางวินัย ขอให้คณะทำงานนำข้อมูลเสนอผู้บริหารประกอบการดำเนินการทางวินัย

(7) หน่วยงานต้องติดตามผลการดำเนินงานตามแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดและคุกคามทางเพศในการทำงานอย่างต่อเนื่องและรายงานต่อคณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ (สทพ.) อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง

คอยดูกันต่อไปว่ามาตรการดังกล่าวจะแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือการคุกคามทางเพศในสถานที่ทำงานได้มากน้อยแค่ไหน

บัยส์!!




 

Create Date : 29 มิถุนายน 2558   
Last Update : 29 มิถุนายน 2558 21:22:18 น.   
Counter : 5090 Pageviews.  


กฎหมายเบื้องต้นที่ควรรู้ ก่อน "ปั่น"

กฎหมายเบื้องต้น.. ที่ควรรู้ก่อน "ปั่น"

จักรยาน.. พาหนะสุดฮิตในช่วงนี้ (ทั้งๆที่มีใช้กันอย่างแพร่หลายมานมนานแล้ว)

สิงห์นักปั่นทั้งหลาย เคยรู้กันบ้างมั๊ยว่า ประเทศไทยก็มีกฎหมายเกี่ยวกับการปั่นจักรยานไว้ด้วยเหมือนกัน

กฎหมายดังกล่าวคือ "พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522"

โดย "รถจักรยาน" ตามกฎหมายฉบับดังกล่าว หมายถึง

“รถที่เดินด้วยกำลังของผู้ขับที่มิใช่เป็นการลากเข็น" (มานรา 4 (18))

พูดง่ายๆ จักรยาน ก็คือ พาหนะ 2 ล้อ ที่ใช้แรงปั่น (ส่วนจักรยาน 2 ล้อที่เดินด้วยกำลังไฟฟ้าหรือพลังงานอื่นๆ นอกจากใช้เท้าปั่น อันนั้น คือ "จักรยานยนต์")

การปั่นจักรยานบนท้องถนนนั้น.. พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 ได้บัญญัติหลักเกณฑ์ที่ต้องปฏิบัติไว้โดยชัดเจน ตาม "ลักษณะ 10 (มาตรา 79-83)" ดังนี้

การปั่นจักรยานนั้น จะต้อง...

(1) ขับขี่ในช่องทางที่ได้จัดไว้สำหรับรถจักรยาน คือ ต้องปั่นในเลนจักรยานนั่นเอง (มาตรา 79)

(2)ในการปั่น รถจักรยานจะต้องมี
- กระดิ่ง: ที่ให้เสียงได้ยินในระยะไม่น้อยกว่า 30 เมตร
- เครื่องห้ามล้อ (เบรค): ที่ใช้การได้ดี สามารถหยุดจักรยานได้ทันที
- ไฟหน้าแสงขาว: ต้องส่องเห็นพื้นทางได้อย่างน้อย 15 เมตร และสว่างพอที่ผู้ขับเลนตรงข้ามมองเห็นด้วย
- ไฟท้ายแสงแดง: ที่ให้แสงสว่างตรงไปข้างหลัง หรือติดวัตถุสะท้อนแสงสีแดงแทน (มาตรา 80)

(3) ต้องขับชิดทางเดินรถไหล่ทางหรือในช่องทางที่ได้จัดไว้สำหรับจักรยาน ในเวลาที่มีแสงสว่างไม่เพียงพอที่จะมองเห็นคน รถหรือสิ่งกีดขวางในทางได้โดยชัดแจ้งภายในระยะ ไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยห้าสิบเมตร และจะต้องเปิดไฟหรือใช้แสงสว่าง (มาตรา 81)

(4) ต้องขับชิดขอบทางด้านซ้ายของทางเดินรถไหล่ทางหรือช่องทางที่ได้จัดไว้สำหรับจักรยานให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ถ้ามีช่องเดินรถประจำทางด้านซ้ายสุดของทางเดินรถ ต้องขับขี่จักรยานให้ชิดช่องเดินรถประจำทางนั้น (มาตรา 82)

(5) ห้ามขับขี่รถจักรยาน...

- โดยประมาทหรือน่าหวาดเสียวอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน
- โดยไม่จับคันบังคับรถ
- ขนานกันเกินสองคัน เว้นแต่ขับในทางที่จัดไว้สําหรับรถจักรยาน
- โดยนั่งบนที่อื่นอันมิใช่อานที่จัดไว้เป็นที่นั่งตามปกติ
- โดยบรรทุกบุคคลอื่นเว้นแต่รถจักรยานสามล้มสําหรับบรรทุกคน ทั้งนี้ตามเงื่อนไขที่เจ้าพนักงานจราจรกําหนด
- บรรทุก หรือถือสิ่งของ หีบห่อ หรือของใดๆ ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจับคันบังคับรถ หรืออันอาจจะเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน
- เกาะหรือพ่วงรถอื่นที่กําลังแล่นอยู่ (มาตรา 83)

นอกจากหลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้น รถจักรยาน จัดว่าเป็นรถประเภทหนึ่ง ซึ่งการขับขี่ก็จะมีหลักเกณฑ์คล้ายๆกับการใช้ยานพาหนะประเภทอื่นๆ เช่นกัน โดยสามารถสรุปหลักการเบื้องต้น มาใช้กับจักรยานคร่าวๆ ได้ ดังนี้ (มาตรา 84)

- ต้องปฏิบัติตามสัญญาณจราจรหรือเครื่องหมายจราจร (มาตรา 21-23)

- ต้องปฏิบัติตามสัญญาณที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้แสดงให้ปรากฏข้างหน้าและด้วยสัญญาณนกหวีด (มาตรา 24-26)

- ขับขี่รถจักรยานด้วยความระมัดระวังไม่ให้โดนคนอื่น (มาตรา 32)

- ขับขี่ในเลน ขับช้าชิดซ้ายใกล้ขอบทางที่สุดเท่าที่จะทำได้ (มาตรา 33-35)

- จะเลี้ยว, ให้รถคันอื่นผ่านหรือแซง, เปลี่ยนช่องเดินรถ, ลดความเร็ว, จอดหรือหยุดรถ ต้องให้สัญญาณด้วยมือและแขน หรือสัญญาณไฟด้วย (มาตรา 36)

- หากต้องให้สัญญาณด้วยมือหรือแขน ในกรณีต่างๆ ต้องปฏิบัติตามดังนี้ (มาตรา 37)

ลดความเร็ว: ให้ยื่นแขนขวาออกไปเสมอไหล่ และโบกมือขึ้นลงหลายครั้ง
หยุดรถ: ให้ยื่นแขนขวาออกไปเสมอไหล่ ยกแขนขวาท่อนล่างตั้งฉากกับแขนท่อนบนและตั้งฝ่ามือขึ้น
ให้รถคันอื่นแซง: ให้ยื่นแขนขวาออกไปเสมอไหล่ และโบกมือไปข้างหน้าหลายครั้ง
เลี้ยวขวาหรือเปลี่ยนช่องเดินรถไปทางขวา: ให้ยื่นแขนขวาไปนอกรถเสมอไหล่
เลี้ยวซ้ายหรือเปลี่ยนช่องเดินรถไปทางซ้าย:ให้ยื่นแขนขวาออกไปนอกรถเสมอไหล่ และงอข้อมือชูขึ้นโบกไปทางซ้ายหลายครั้ง

- ปั่นจักรยานสวนกับรถคันอื่น ให้ชิดซ้าย, ลดความเร็ว ให้รถเล็กไปก่อน (มาตรา 39)

- ปั่นจักรยานเว้นระยะห่างรถคันหน้าพอสมควร ห้ามปั่นจี้ตูด (มาตรา 41)

- ปั่นจักรยานตามทิศทางที่กำหนดไว้ (มาตรา 42)

- ห้ามหยุดรถจักรยาน... (มาตรา 55)
ในช่องเดินรถ เว้นแต่หยุดชิดขอบทางด้านซ้ายของทางเดินรถในกรณีที่ไม่มีช่องเดินรถประจำทาง
บนทางเท้า
บนสะพานหรือในอุโมงค์
ในทางร่วมทางแยก
ในเขตที่มีเครื่องหมายจราจรห้ามหยุดรถ
ตรงปากทางเข้าออกของอาคารหรือทางเดินรถ
ในเขตปลอดภัย
ในลักษณะกีดขวางการจราจร

- ห้ามจอดจักรยาน... (มาตรา 57)
บนทางเท้า
บนสะพานหรือในอุโมงค์
ในทางร่วมทางแยก หรือระยะ 10 เมตรจากทางร่วมทางแยก
ในทางข้าม หรือระยะ 3 เมตรจากทางข้าม
ในเขตที่มีเครื่องหมายจราจรห้ามจอดรถ
ในระยะสามเมตรจากท่อดับเพลิง
ในระยะสิบเมตรจากที่ติดตั้งสัญญาณจราจร
ในระยะสิบห้าเมตรจากทางรถไฟผ่าน
ห้ามจอดซ้อนกันกับรถอื่นที่จอดอยู่ก่อนแล้ว
ตรงปากทางเข้าออกอาคารหรือทางเดินรถ หรือในระยะ 5 เมตรจากปากทางเดินรถ
ระหว่างเขตปลอดภัยกับของทาง หรือในระยะ 10 เมตรนับจากปลายสุดของเขตปลอดภัยทั้งสองข้าง
ในที่คับขัน
ในระยะ 15 เมตรก่อนถึงเครื่องหมายหยุดรถประจำทาง และเลยเครื่องหมายไปอีกสามเมตร
ในระยะ 3 เมตรจากตู้ไปรษณีย์
ในลักษณะกีดขวางทางจราจร (มาตรา 57)

เป็นต้น

สำหรับความเร็ว ปัจจุบันไม่มีกฏหมายบังคับความเร็วสูงสุดของจักรยานไว้ แต่ตามความจริงแล้วปั่นกันไม่เกิน 40-45 กิโลเมตร/ชั่วโมง อยู่แล้ว ก็ต้องดูตามความเหมาะสม โดยใช้วิจารณญาณเป็นกรณีๆไป ตามกาละเทศะ

สำหรับ หมวกกันน๊อค กฎหมายไม่ได้บังคับให้ผู้ขับขี่จักรยานต้องสวม (บังคับเฉพาะผู้ขับขี่จักรยานยนต์เท่านั้น) แต่เพื่อความปลอดภัยใส่กันไว้ก่อนดีกว่า เกิดอุบัติเหตุจะได้ไม่เจ็บหนัก

รายละเอียด พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 สามารถดูได้ที่นี่ >>//web.krisdika.go.th/…/…/%A803/%A803-20-9999-update.pdf

ปั่นจักรยาน ด้วยความระมัดระวังนะครัช

ด้วยความปรารถนาดี




 

Create Date : 29 มิถุนายน 2558   
Last Update : 29 มิถุนายน 2558 21:19:56 น.   
Counter : 708 Pageviews.  


กฎหมายเบื้องต้นกับการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลบนโลกไซเบอร์

สืบเนื่องจากวันก่อนเข้ามาเสพย์กระทู้ในเว็บไซต์พันทิป เผอิญเจอกระทู้ที่ค่อนข้างจะ "ดราม่า" กระทู้หนึ่ง ที่สมาชิกตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับ อำนาจของเว็บมาสเตอร์ กับ การเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของสมาชิก"

หลังจากได้เข้าไปแจมซักพัก รู้สึกว่าประเด็นเรื่องนี้มีความน่าสนใจค่อนข้างมากเลยทีเดียว เลยลองค้นข้อมูลเชิงกฎหมายที่น่าจะเกี่ยวข้องมาวิเคราะห์ไว้คร่าวๆ เผื่อจะมีประโยชน์สำหรับผู้ที่ผ่านเข้ามาเห็นบล๊อกนี้บ้าง ไม่มากก็น้อย



ว่าด้วยความเป็นส่วนตัวและข้อมูลส่วนบุคคล++

“ความเป็นส่วนตัว” หรือ “Privacy” เป็น สิทธิมนุษยชนประการหนึ่งซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานสากลที่นานาประเทศให้การรับรองและคุ้มครองไว้

แต่เนื่องด้วย “สิทธิในความเป็นส่วนตัว” หรือ "สิทธิส่วนบุคคล" นั้น เป็น “สิทธิ” ลักษณะหนึ่งที่ยากที่สุดในการบัญญัติความหมาย เพราะต้องพิจารณาเนื้อหา สภาพสังคม วัฒนธรรม และพฤติการณ์แวดล้อมประกอบด้วย จึงเกิดเป็นประเด็นให้เห็นอยู่ตลอดว่าสิทธิดังกล่าวมีอยู่เพียงใด ทั้งนี้ ได้มีการกำหนดประเภทของสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวเอาไว้อย่างกว้างๆ ดังนี้

(1) ความเป็นส่วนตัวเกี่ยวกับข้อมูล (Information Privacy) เป็นการให้ความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลโดยการวางหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเก็บรวบรวมและการบริหารจัดการข้อมูลส่วนบุคคล

(2) ความเป็นส่วนตัวในชีวิตร่างกาย (Bodily Privacy) เป็นการให้ความคุ้มครองในชีวิตร่างกายของบุคคลในทางกายภาพที่จะไม่ถูกดำเนินการใดๆ อันละเมิดความเป็นส่วนตัว อาทิ การทดลองทางพันธุกรรม การทดลองยา เป็นต้น

(3) ความเป็นส่วนตัวในการติดต่อสื่อสาร (Communication Privacy) เป็นการให้ความคุ้มครองในความปลอดภัย และความเป็นส่วนตัวในการติดต่อสื่อสารทางจดหมาย โทรศัพท์ ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือวิธีการติดต่อสื่อสารอื่นใด ที่ผู้อื่นจะล่วงรู้มิได้

(4) ความเป็นส่วนตัวในเคหสถาน (Territorial Privacy) เป็นการกำหนดขอบเขตหรือข้อจำกัดที่บุคคลอื่นจะบุกรุกเข้าไปในสถานที่ส่วนตัวมิได้ ทั้งนี้ รวมทั้งการติดกล้องวีดิโอ และการตรวจสอบรหัสประจำตัวบุคคล (ID checks)

สิทธิดังกล่าวข้างต้นนั้น ก็ปรากฏอยู่ใน “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550” โดยชัดแจ้ง (แต่ในส่วนนี้จะกล่าวถึงเฉพาะเพียงประเด็นที่เกี่ยวกับ “สิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว” เท่านั้น) ดังนี้

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550
มาตรา 35
"สิทธิของบุคคลในครอบครัว เกียรติยศ ชื่อเสียง ตลอดจน
ความเป็นอยู่ส่วนตัว ย่อมได้รับความคุ้มครอง
การกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความหรือภาพไม่ว่าด้วยวิธีใดไปยังสาธารณชน อันเป็นการละเมิดหรือกระทบถึงสิทธิของบุคคลในครอบครัว เกียรติยศ ชื่อเสียง หรือความเป็นอยู่ส่วนตัว จะกระทำมิได้ เว้นแต่กรณีที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ
บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับความคุ้มครองจากการแสวงประโยชน์โดยมิชอบ
จากข้อมูลส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับตน ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ"

โดยหลักการพื้นฐาน จะเห็นได้ว่า "สิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว" นั้นเป็นสิทธิที่รัฐธรรมนูญได้ให้การรับรองและคุ้มครองเอาไว้อย่างชัดแจ้ง

แต่ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญเป็นบทบัญญัติที่มีผลผูกพันระหว่างรัฐหรือองค์กรของรัฐเท่านั้น หาได้มีผลผูกพันกับเอกชนประการใดไม่ ประชาชนจึงไม่สามารถยกหลักความเสมอภาคตามรัฐธรรมนูญขึ้นมาอ้างเพื่อเรียกร้องให้เอกชนปฏิบัติต่อตนเอกอย่างเท่าเทียบกับบุคคลอื่นได้ ซึ่งนั่นย่อมหมายความได้ว่า รัฐธรรมนูญนั้นออกมาใช้เป็นปทัษฐานเพื่อใช้บังคับระหว่างความสัมพันธ์ของ "รัฐ" กับ "เอกชน"เท่านั้นมิใช่กรณีที่ "เอกชน" กระทำกับ "เอกชน" ด้วยกัน สังเกตจาก มาตรา 26 ได้ขีดกรอบไว้อย่างชัดเจน ดังนี้

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550
มาตรา 26
"การใช้อำนาจโดยองค์กรของรัฐทุกองค์กร ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพ ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้"


ในปัจจุบัน เมื่อเทคโนโลยีได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินชีวิตของคนในสังคม "สิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคล" ย่อมเป็นสิ่งมีคนกล่าวถึงและให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก และมีตัวอย่างเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลหรือมีการเปิดเผนข้อมูลส่วนบุคคลไปในทางที่มิชอบให้เห็นอยู่มากมาย ยกตัวอย่างเช่น (โดย พ.ต.อ.ญาณพล ยั่งยืน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ)

ตัวอย่างที่ 1 กรณีมีผู้แอบอ้างชื่อผู้อื่นที่มีชื่อเสียง พร้อมข้อมูลส่วนตัวอื่นๆ เช่น ชื่อ ตำแหน่ง ที่อยู่ อายุ สถานะทางสังคม ฯลฯ ไปใช้สมัครฟรีอีเมล์ แล้วใช้อีเมล์นั้นในการติดต่อสื่อสารกับบุคคลอื่น ทำให้บุคคลอื่นเข้าใจว่า ตนเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงที่ตนแอบอ้างก็ได้

ตัวอย่างที่ 2 กรณี Loxinfo ได้ทำการจัดเก็บข้อมูลบัตรเครดิต ของลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ e-Commerce แล้วต่อมาได้ถูกนักเจาะระบบข้อมูลชาวอังกฤษเจาะระบบ และนำข้อมูลดังกล่าวไปเผยแพร่บนอินเทอร์เน็ต ปัญหาคือ ใครเป็นเจ้าของข้อมูล ระหว่างผู้ถือบัตร ธนาคารผู้ออกบัตร หรือ Loxinfo

ตัวอย่างที่ 3 กรณีการนำหมายเลขโทรศัพท์ของบุคคลอื่นไปเผยแพร่บนอินเทอร์เน็ต ว่าบุคคลนั้นต้องการขาย ทีวี โทรศัพท์ พระเครื่อง เครื่องเพชร ราคาถูก ทำให้มีผู้โทรศัพท์มาติดต่อเป็นจำนวนมาก ก่อความเดือดร้อนรำคาญ

ตัวอย่างที่ 4 กรณีธนาคารได้ขายข้อมูลชื่อและที่อยู่ของลูกค้าให้กับผู้อื่น โดยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ของธนาคารประมวลผลจากข้อมูลลูกค้าที่ใช้บริการ ตามที่เจาะจงตามกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการ เช่น ใครบ้างที่มีบัตรเครดิตสีทอง เคยใช้วงเงินจำนวนเท่าไรต่อเดือนเคยใช้บัตรที่ต่างประเทศหรือไม่ หรือผู้ใช้มีช่วงอายุเท่าใด ฯลฯ แล้วธนาคารจะพิมพ์เป็น Label ขายให้กับผู้อื่นเพื่อให้ส่งเอกสารขายสินค้ามาให้เรา

ตัวอย่างที่ 5 กรณีโรงแรมม่านรูด จดหมายเลขทะเบียนรถของผู้มาพัก หรือโรงแรม 5 ดาวทั่วไป จดบันทึกข้อมูลผู้พักตามกฎหมาย(แบบ รร.17) แล้วนำไปเผยแพร่ให้ผู้อื่นที่ไม่ใช่เจ้าพนักงาน

ปัญหาหลายๆประการข้างต้น นำไปสู่นโยบายในการออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลขึ้น คือ"ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ...." แต่ขณะนี้ ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวยังไม่ได้ประกาศใช้เป็นกฎหมายในประเทศไทย

ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ...." สามารถดูเนื้อหาคร่าวๆ ได้ที่นี่ครับ
//www.decha.com/main/topic_img/news10837.pdf

ร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับข้างต้นได้ให้ความหมายของ "ข้อมูลส่วนบุคคล" เอาไว้ ดังนี้

ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ....
มาตรา 3
""ข้อมูลส่วนบุคคล" หมายความว่า ข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งเฉพาะตัวบุคคล เช่น การศึกษา ฐานะการเงิน ประวัติสุขภาพ ประวัติอาชญากรรม ประวัติการทำงาน หรือประวัติกิจกรรมบรรดาที่มีชื่อของบุคคลนั้นหรือมีเลขหมาย รหัส หรือสิ่งบอกลักษณะอื่นที่ทำให้รู้ตัวบุคคลนั้นได้ เช่น ลายพิมพ์นิ้วมือ แผ่นบันทึกลักษณะเสียงของคน หรือรูปถ่าย และให้ความหมายรวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งเฉพาะตัวของผู้ที่ถึงแก่กรรมด้วย"


เพราะฉะนั้น ปัจจุบัน การให้ความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในปัจจุบันที่กฎหมายให้การรับรอง ก็จะมีเพียงแค่ "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย" , พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารทางราชการ พ.ศ.2540" (ใช้กับหน่วยงานของรัฐเท่านั้น) , ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ , ประมวลกฎหมายอาญา และอย่างมากก็จะมีการนำ "พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550" มาโยงด้วย

เกริ่นมาซะเยอะ เข้าเรื่องกันดีกว่า

ในการสมัครเข้าในบริการเว็บไซต์ต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น เว็บไซต์พันทิป (www.pantip.com) นั้น ขั้นตอนในการสมัครสมาชิกแบบทั่วๆไป จำเป็นที่จะต้องใช้หลักฐานส่วนบุคคล เช่น "สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน" ที่จะปรากฎ "ชื่อ นามสกุล และที่อยู่" ของเจ้าของข้อมูล และ "อีเมลแอดเดรส (E-Mail)" ประกอบในการสมัคร เพราะฉะนั้น ในส่วนนี้แหละ คือ "ข้อมูลส่วนบุคคล"

เมื่อเป็นข้อมูลส่วนบบุคคลของใคร คนนั้นย่อมมีสิทธิเหนือข้อมูลนั้น หากทางเว็บไซต์หรือผู้ให้บริการต่างๆ เปิดเผยข้อมูลในส่วนนี้

"นามแฝง" ล่ะ เป็นข้อมูลส่วนบุคคลหรือไม่?
ถ้าดูตามนิยามของคำว่า "ข้อมูลส่วนบุคคล" ตามร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.... นั้น ตามความเห็นส่วนตัวเห็นว่า "นามแฝง" เป็นสิ่งซึ่งบอกลักษณะที่ทำให้รู้ตัวบุคคลนั้นได้ คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า "นามแฝง" นั้น เป็นข้อมูลส่วนบุคคลเช่นกัน

"IP Address" และ "ข้อมูลการโหวตลบกระทู้" ล่ะ เป็นข้อมูลส่วนบุคคลหรือไม่?
ถ้าดูตามนิยาม "IP Address" และ "ข้อมูลการโหวตลบกระทู้" น้ัน ข้อมูล 2 อย่างนี้ ไม่ได้เป็นสิ่งที่ทำให้รู้ตัวบุคคลนั้นได้ หากแต่เป็นเพียง ข้อมูลที่เกี่ยวกับการติดต่อสื่อสารระหว่างระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็น "ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์" ตามนิยามใน พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 เท่านั้น

นอกจากนี้ ข้อมูลในส่วนนี้ ไม่ได้เป็นข้อมูลที่ได้จากผู้หนึ่งผู้ใด หากแต่เป็นข้อมูลที่เกิดขึ้นจากระบบที่ทางเว็บไซต์นั้นๆ ได้สร้างขึ้นมา ข้อมูลในส่วนนี้ ผู้เขียนเห็นว่าน่าจะมิใช่ข้อมูลส่วนบุคคล หากแต่เป็นข้อมูลของทางเว็บไซต์ผู้ให้บริการ

พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550
มาตรา 3
"“ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์” หมาย ความว่า ข้อมูลเกี่ยวกับการติดต่อสื่อสารของระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งแสดงถึงแหล่งกำเนิด ต้นทาง ปลายทาง เส้นทาง เวลา วันที่ ปริมาณ ระยะเวลาชนิดของบริการ หรืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการติดต่อสื่อสารของระบบคอมพิวเตอร์นั้น.."


การเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล อาทิ ชื่อ นามสกุล ที่อยู่ หลายเลขโทรศัพท์ อีเมล์แอดเดรส ใหแก่ผู้อื่นสามารถที่จะทำได้หรือไม่?
โดยหลักแล้ว การเปิดเผยข้อมูลในส่วนนี้นั้น หากไม่มีเหตุผลอันสมควร และการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวได้สร้างความเสียหายโดยตรงให้แก่เจ้าของข้อมูลไม่ว่าในทางหนึ่งทางใด การกระทำดังกล่าว ย่อมเป็นการใช้สิทธิโดยที่กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจเอาไว้ หากมีความเสียหายไม่ว่าในทางหนึ่งทางใดแก่เจ้าของข้อมูล ย่อมเป็นการกระทำละเมิด ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 420
“ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”


แล้วถ้าในกรณีที่ "เว็บมาสเตอร์" หรือ "ผู้ให้บริการ" เปิดเผยข้อมูลในส่วนนี้ล่ะ ผิดมั๊ย?
ก็จะต้องดูว่า "เว็บมาสเตอร์" หรือ "ผู้ให้บริการ" มีอำนาจที่จะเปิดเผยได้หรือไม่ หากไม่มีอำนาจ ย่อมเป็นความผิดได้เช่นกัน แต่ถ้ามีอำนาจก็สามารถเปิดเผยได้

แล้ว "เว็บมาสเตอร์ (Web Master)" หรือ "ผู้ให้บริการ" มีอำนาจเปิดเผยข้อมูลมั๊ยล่ะ?
ก็ต้องย้อนกับไปดูว่าเขามีสิทธิหรือไม่ ซึ่งสิทธินี้ อาจเกิดขึ้นโดยผลของกฎหมายหรือผลของสัญญาก็ได้

ในส่วนนี้ เห็นว่า "ผู้ให้บริการ" น่าที่จะมีสิทธิ เพราะ ในขั้นตอนการสมัครสมาชิก มีข้อตกลงให้คนที่ประสงค์จะสมัครสมาชิกได้อ่านก่อนยืนยันสมัครสมาชิกอยู่แล้ว ดังนี้

"ข้อมูลของสมาชิก จะถูกเก็บเป็นความลับอย่างสูงสุด ทีมงาน Pantip.com จะไม่เปิดเผยข้อมูลของท่านก่อนได้รับอนุญาต เพื่อประโยชน์ทางการค้า หรือเพื่อประโยชน์ในด้านอื่นๆ ทั้งสิ้น นอกจาก Pantip.com จะได้รับหมายศาล หรือหนังสือราชการ จากหน่วยงานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ"

"ผู้ร่วมกิจกรรมที่ปฏิบัติผิด กฏ กติกา ของเว็บไซต์แห่งนี้ พึงตระหนักว่าจะต้องรับผิดชอบต่อความผิดนั้นด้วยตัวเอง และข้อความหรือข้อมูลที่เสนอดังกล่าว อาจนำมาซึ่งการเปิดเผยที่มาและรายละเอียดส่วนตัวของผู้เสนอข้อความนั้นได้ โดยไม่ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล"


หลัก 2 ข้อข้างต้นนี่ละ เป็นข้อตกลงตามสัญญาที่กำหนดให้ "ผู้ให้บริการ" สามารถที่จะเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลได้

นอกจากนี้ "IP Address" และ "ข้อมูลการโหวตลบกระทู้" ซึ่งเป็นข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ ไม่ใช่ ข้อมูลส่วนบุคคล เหตุใดจะเปิดเผยไม่ได้ล่ะ??

ข้อตกลงที่ว่านี่ ทำได้ด้วยหรอ แล้วจะเปิดเผยได้แค่ไหนล่ะ?
จริงๆ ข้อตกลงหน้าเว็บไซต์ก่อนการสมัครสมาชิกนั้น เป็นข้อตกลงที่ทางเว็บไซต์กำหนดขึ้น ตลอดจนใส่ข้อจำกัดความรับผิด (disclaimer) เอาไว้นัั้น จริงๆ มันเข้าข่ายเป็น "สัญญาสำเร็จรูป" ซึี่งจะต้องพิจารณาตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาอันไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 8 ต่อไป

พระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาอันไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540
มาตรา 8
"ข้อตกลง ประกาศ หรือคำแจ้งความที่ได้ทำไว้ล่วงหน้า เพื่อยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดเพื่อละเมิด หรือผิดสัญญาในความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยของผู้อื่น อันเกิดจากการกระทำโดยจงใจหรือ
ประมาทเลินเล่อของผู้ตกลง ผู้ประกาศ ผู้แจ้งความ หรือของบุคคลอื่นซึ่งผู้ตกลง ผู้ประกาศ หรือผู้แจ้งความ ต้องรับผิดชอบด้วย จะนำมาอ้างเป็นข้อยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดชอบไม่ได้
ข้อตกลง ประกาศ หรือคำแจ้งความที่ได้ทำไว้ล่วงหน้าเพื่อยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดชอบในกรณีอื่นนอก
จากที่กล่าวในวรรคหนึ่ง ซึ่งไม่เป็นโมฆะ ให้มีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น"


กรณีที่เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่นไปโดยไม่มีเหตุผลหรือความจำเป็นอันสมควร ข้อจำกัดความรับผิดแค่นี้ ใช้จำกัดความรับผิดไม่ได้นะ แต่ตามกระทู้พิพาท มีการกล่าวอ้างว่าทาง "เว็บมาสเตอร์" ดำเนินการในลักษณะที่ไม่เป็นกลาง การเปิดเผยข้อมูลในส่วนนี้ ย่อมอาจเข้าข้อยกเว้นที่สามารถกระทำได้ และไม่เป็นการใช้สิทธิที่จะมีแต่ให้เกิดเสียหาย ย่อมไม่ใช่ การใช้สิทธิโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วยนะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 421

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 421
"การใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดเสียหายแก่บุคคลอื่นนั้น ท่านว่าเป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมาย"


อีกอย่าง ทะเลาะกันในเว็บไซต์ ไม่ถือว่าเป็นผู้เสียหายตามกฎหมายด้วยนะ ดูคำพิพากษาฎีกานี้ครับ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 78-79/2502 "โจทก์จำเลยทะเลาะกันแล้วต่างคนต่างด่ากัน จำเลยด่าก่อนโจทก์จึงด่าตอบ โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหาย ฟ้องจำเลยว่าดูหมิ่นซึ่งหน้าไม่ได้"

แล้วการที่ผู้ให้บริการนำข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ (อาทิ IP Address หรือ ข้อมูลการโหวตลบกระทู้) มาเปิดเผยล่ะ ผิด พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มั๊ย?

พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 เป็นบทบัญญัติกฎหมายที่มีโทษทางอาญา ดังนั้น พระราชบัญญัตินี้จึงเป็นพระราชบัญญัติที่จะต้อง "ตีความอย่างเคร่งครัด"

ที่ว่า "เคร่งครัด" หมายความว่า ต้องตีความทั้งตามตัวอักษรและเจตนารมณ์ของกฎหมายไป จะตีความกฎหมายเกินตัวบทไม่ได้ เพราะกฎหมายอาญาเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จะอนุโลมกฎหมายอื่นมาใช้ (Analogy) ไม่ได้

โดยหลักการพื้นฐานทางฎหมายอาญา การกระทำที่จะเป็นความผิดตามกฎหมายได้นั้น จะต้องเป็นการกระทำที่ "กฎหมายบัญญัติไว้ว่าเป็นความผิด" และ "กฎหมายได้กำหนดโทษเอาไว้อย่างชัดแจ้ง" ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2

ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 2
"บุคคลจักต้องรับโทษในทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้และโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้น ต้องเป็นโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย
ถ้าตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป ให้ผู้ที่ได้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด และถ้าได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษแล้ว ก็ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดนั้น ถ้ารับโทษอยู่ก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลง"


ก็ต้องไปดูกันว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ได้กำหนดข้อห้ามเอาไว้หรือไม่?

ซึ่งเมื่อเปิดตัวบทกฎหมายดังกล่าวดู พบว่า มีเพียงมาตราเดียวเท่านั้นที่กำหนดบทลงโทษในกรณีที่เปิดเผยข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์เอาไว้ คือ มาตรา 22 ดังนี้

พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550
มาตรา 22
"ห้ามมิให้พนักงานเจ้าหน้าที่เปิดเผยหรือส่งมอบข้อมูลคอมพิวเตอร์ ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ หรือข้อมูลของผู้ใช้บริการที่ได้มาตามมาตรา 18 ให้แก่บุคคลใด
ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับกับการกระทำเพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ หรือเพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดีกับพนักงานเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ หรือเป็นการกระทำตามคำสั่งหรือที่ได้รับอนุญาตจากศาล
พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ ใดฝ่าฝืนวรรคหนึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"


มาตราดังกล่าวได้ระบุไว้อย่างชัดแจ้งว่า "ห้ามมิให้พนักงานเจ้าหน้าที่..." ดังนั้น บุคคลที่จะกระทำความผิดฐานนี้ได้นั้น จะต้องเป็น "พนักงานเจ้าหน้าที่" ดังนั้น "สถานะของผู้กระทำความผิด" จึงเป็นสาระสำคัญของความผิดฐานนี้

แล้วเว็บมาสเตอร์หรือผู้ให้บริการ เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 หรือไม่?

คำตอบนี้ ต้องไปดู "ประกาศกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เรื่อง แต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550" ว่าได้กำหนดให้ใครบ้างที่เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ ก็เฉพาะบุคคลนั้นเท่านั้นแหละ ที่จะกระทำความผิดฐานนี้ได้

และเมื่อ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 กำหนดบทลงโทษไว้เฉพาะกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่เปิดเผยข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ที่ได้มาไว้ เป็นความผิด แต่ไม่ได้กำหนดบทลงโทษกรณีที่ผู้อื่นเปิดเผยไว้ว่าเป็นความผิด การตีความพรบ.คอมพ์ฯ ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษทางอาญา ย่อมต้องตีความโดยเคร่งครัด ดังนั้น หาก "ผู้ให้บริการ" เปิดเผยข้อมูลในส่วนนี้ ย่อมไม่เป็นความผิดตาม พรบ.ฉบับนี้

มีความคิดเห็นอย่างไร มาแชร์กันได้นะครับ ความแตกต่าง ย่อมก่อให้เกิดความรู้ใหม่ๆเสมอ เนอะๆๆ

ขอบคุณทุกๆท่านที่เข้ามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นนะครับ โดยเฉพาะคุณ denarius , คุณ leonnoom , คุณ วรินทร์รตา และคุณ แมวเหมียวพุงป่อง ที่เข้าแชร์มุมมองที่หลากหลายครับ

หากบทความนี้มีข้อบกพร่องประการใด ข้าน้อยขอรับไว้แต่เพียงผู้เดียว แต่หากบทความนี้จะมีประโยชน์แก่ท่านไม่มากก็น้อย ขอคุณความดีนี้ จงบังเกิดแก่คณาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประสาทความรู้ให้แก่ข้าน้อย ตลอดจนวงการนิติศาสตร์สืบไป

@Onizugolf Smiley

อ้างอิง
- สื่อมวลชนกับการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล, //mail.chiangmai.ac.th/~narinn/_private/mc_400/mc400_20.html
- สุริยา ปานแป้น และอนุวัฒน์ บุญนันท์, คู่มือสอบกฎหมายรัฐธรรมนูญ , สำนักพิมพ์วิญญูชน, 2553.

บทความนี้ สามารถนำไปใช้ได้โดยไม่ต้องขออนุญาต แต่กรุณาแสดงที่มาและแนบลิ้งไว้ด้วย (เพราะอาจมีการแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาเป็นระยะ) และต้องไม่ใช้เพื่อการแสวงหาประโยชน์ในทางธุรกิจ




 

Create Date : 02 กุมภาพันธ์ 2554   
Last Update : 4 กุมภาพันธ์ 2554 16:16:02 น.   
Counter : 16643 Pageviews.  


เล็กๆน้อยๆ เกี่ยวกับ พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551

เห็นช่วงนี้ กระทรวงวัฒนธรรมสั่งแบนหนัง "Insects In The Backyard" ที่มีฉากร่วมเพศกันระหว่างชายกับชาย, มีการค้าประเวณีของเยาวชนในชุดเครื่องแบบนักเรียนและมีฉากตัวละครฝันว่าฆ่าบิดาของตัวเอง และตัวอย่างหนัง "Love จุลินทรีย์ : รักมันใหญ่มาก" ซึ่งมีฉากเด็กน้อยจูบปากกันในเครื่องแบบนักเรียน

มาตรการในการจัดการกับภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องดังกล่าว เป็นเหตุให้ผู้เขียนเกิดความสนใจขึ้นมาว่า จริงๆแล้วมันเหมาะสมแล้วหรือไม่ที่จะต้อง "แบน" หนังหรือตัวอย่างหนัง? ไม่มีการจัด "เรตหนัง" กันหรืออย่างไร? หรือว่ามีแต่คิดจะแบนก็แบน? ก็เลยลองค้นข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต ได้ข้อมูลเบื้องต้นที่อาจจะมีประโยชน์และเกี่ยวข้องกับกฎหมายดังนี้ครับ



ในต่างประเทศ ก็มีการจัดเรตหนังแตกต่างกันไปตามแต่สภาพสังคมในประเทศนั้นๆ แต่โดยสากล ที่เขาใช้กันอยู่ทั่วไป ก็คงเป็น "เรตหนังของ The Motion Picture Association of America หรือ MPAA" ซึ่งเป็นเรตหนังที่เห็นได้ทั่วไปตามหนังที่เข้าโรงภาพยนตร์ ซึ่ง จัดเรตไว้ ประมาณ 5 ประเภท ดังนี้

เรต G (General Audiences) - All Ages Admitted ซึ่งเป็นเรตหนังที่เหมาะกับผู้ชมทุกเพศทุกวัย ดูได้ตั้งแต่เด็กแบเบาะยังไม่หย่านมแม่จนกระทั่งถึงผู้เฒ่าผู้แก่อายุเกือบร้อยปี

เรต PG (Parental Guidance Suggested) - Some Material May Not Be Suitable For Children ซึ่งเป็นเรตหนังที่เหมาะกับผู้ชมทุกเพศทุกวัยเช่นกัน แต่อาจมีเนื้อหาบางส่วนที่ไม่เหมาะสำหรับเด็กเล็ก เช่น อาจมีคำพูดหรือการกระทำที่ออกจะไม่สุภาพ ไม่สมควร เป็นต้น

เรต PG-13 (Parents Strongly Cautioned) - Some Material May Be Inappropriate For Children Under 13 ซึ่งเป็นเรตหนังที่มีเนื้อหาบางส่วนไม่เหมาะกับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 13 ปี ความรุนแรงอยู่ในระดับกลางๆ เช่น อาจมีฉากโป๊เปลือย, ยาเสพติด, การต่อสู้, คำหยาบ สมควรที่ผู้ปกครองจะดูร่วมกับกับเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี และให้คำชี้แนะ

เรต R (Restricted) - Under 17 Requires Accompanying Parent Or Adult Guardian ซึ่งเป็นเรตหนังที่รู้จักกันทั่วไปว่า "หนังเรท R" ส่วนใหญ่จะเป็นหนังที่เหมาะสำหรับผู้ใหญ่ และอาจมีฉากที่ไม่เหมาะสมหรือมีความรุนแรงในระดับที่สูงกว่า เรท PG-13 หนังที่ได้รับเรต R นั้นส่วนใหญ่จะห้ามไม่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 17 ปีเข้าชมโดยลำพังยกเว้นจะมีผู้ปกครองมาด้วย

เรต NC-17 (No One 17 And Under Admitted) - No One 17 And Under Permitted ซึ่งเป็นเรตหนังที่จะเรียกว่า "ฮาร์ดคอร์" ที่สุดก็ว่าได้ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นหนังปลุกใจเสือป่่าซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับเพศ หรือมีเนื้อหาที่รุนแรงค่อนข้างจะมาก หรือกระทบต่อความเชื่อ เช่น ศีลธรรม ศาสนา เป็นต้น ซึ่งห้ามมิให้ผู้ชมที่อายุต่ำกว่า 17 ปีเข้าชมอย่างเด็ดขาด

แล้วของประเทศไทยล่ะ มีกฎหมายใดที่พูดถึงเรื่องนี้ไว้บ้างมั๊ย?

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550
มาตรา ๔๕ "บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น
การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิในครอบครัวหรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันหรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชน
การสั่งปิดกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นเพื่อลิดรอนเสรีภาพตามมาตรานี้ จะกระทำมิได้
การห้ามหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นเสนอข่าวสารหรือแสดงความคิดเห็นทั้งหมดหรือบางส่วน หรือการแทรกแซงด้วยวิธีการใดๆ เพื่อลิดรอนเสรีภาพตามมาตรานี้ จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายซึ่งได้ตราขึ้นตามวรรคสอง
การให้นำข่าวหรือบทความไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจก่อนนำไปโฆษณาในหนังสือ พิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่น จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะกระทำในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะสงคราม แต่ทั้งนี้จะต้องกระทำโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายซึ่งได้ตราขึ้น ตามวรรคสอง
เจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย
การให้เงินหรือทรัพย์สินอื่นเพื่ออุดหนุนกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นของเอกชนรัฐจะกระทำมิได้"


การทำภาพยนตร์ เป็น การใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็ในรูปแบบของ “การสื่อความหมายโดยวิธีอื่น” ตามี่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ได้ให้การรับรองและคุ้มครองให้สามารถที่จะกระทำได้

แต่ทั้งนี้ ไม่ใช่ว่าจะสร้างภาพยนตร์อย่างไรก็ได้ตามใจฉัน แต่จะสร้างได้โดยมีโดยมีข้อยกเว้น กล่าวคือ รัฐสามารถที่จะจำกัดเสรีภาพในเรื่องดังกล่าวได้ “เฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิในครอบครัวหรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันหรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชน” เท่านั้น

นอกจากนี้ การที่จะจำกัดสิทธิในการสร้างภาพยนตร์ มันจะต้องพิจารณาถึงกฎหมายเฉพาะที่เกี่ยวข้องด้วย ซึ่ง กฎหมายฉบับที่ว่านั้น คือ "พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551" ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ.2551

กฎหมายฉบับนี้ มีสาระสำคัญหลักๆ ดังนี้

"พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551"

มาตรา 4 "ในพระราชบัญญัตินี้
“ภาพยนตร์” หมายความว่า วัสดุที่มีการบันทึกภาพหรือภาพและเสียงซึ่งสามารถนำมาฉายให้เห็นเป็นภาพที่เคลื่อนไหวได้อย่างต่อเนื่อง แต่ไม่รวมถึงวีดิทัศน์
“วีดิทัศน์” หมายความว่า วัสดุที่มีการบันทึกภาพ หรือภาพและเสียงซึ่งสามารถนำมาฉายให้เห็นเป็นภาพที่เคลื่อนไหวได้อย่างต่อ เนื่องในลักษณะที่เป็นเกมการเล่น คาราโอเกะที่มีภาพประกอบหรือลักษณะอื่นใดตามที่กำหนดในกฎกระทรวง..."


มาตรา 4 คือ บทบัญญัติที่กำหนดว่า สิ่งใดเป็น "ภาพยนตร์" สิ่งใดเป็น "วีดิทัศน์"

มาตรา 18 "คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(1) อนุญาตการสร้างภาพยนตร์ต่างประเทศในราชอาณาจักร
(2) ตรวจพิจารณาและกำหนดประเภทภาพยนตร์ที่จะนำออกฉาย ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายในราชอาณาจักร
(3) อนุญาตการนำวีดิทัศน์ออกฉาย ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายในราชอาณาจักร
(4) อนุญาตการนำสื่อโฆษณาออกโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ในราชอาณาจักร
(5) อนุญาตการส่งภาพยนตร์หรือวีดิทัศน์ออกไปนอกราชอาณาจักร
(6) ปฏิบัติการอื่นตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการพิจารณา ภาพยนตร์และวีดิทัศน์หรือตามที่รัฐมนตรีหรือคณะกรรมการมอบหมาย"


มาตรา 25 "ภาพยนตร์ที่จะนำออกฉาย ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายในราชอาณาจักรต้องผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะ กรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์
"

จากมาตรา 18 และมาตรา 25 นั้น คือ บทบัญญัติที่กำหนดอำนาจของคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ว่ามีอะไรบ้าง ซึ่งในมาตรานี้ ได้กำหนดหน้ที่หนึ่งของคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไว้ประการหนึ่ง คือ มีอำนาจในการตรวจพิจารณาและกำหนดประเภทภาพยนตร์ที่จะนำออกฉายได้ พูดง่ายๆ ก็คือ เป็น ผู้ตัดสินชะตาชีวิตของหนังว่าเรื่องได้จะอยู่ เรื่องใดจะไป นั่นเอง

ในการตรวจพิจารณาภาพยนตร์นั้น กฎหมายได้มีการกำหนดจัดประเภทภาพยนตร์ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า "การจัดเรตติ้ง" ไว้อย่างชัดเจนในมาตรา 26 ดังนี้

มาตรา 26 "ในการตรวจพิจารณาภาพยนตร์ตามมาตรา 26 ให้คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์กำหนดด้วยว่าภาพยนตร์ดังกล่าวจัด อยู่ในภาพยนตร์ประเภทใด ดังต่อไปนี้
(1) ภาพยนตร์ที่ส่งเสริมการเรียนรู้และควรส่งเสริมให้มีการดู
(2) ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้ดูทั่วไป
(3) ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้มีอายุตั้งแต่สิบสามปีขึ้นไป
(4) ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้มีอายุตั้งแต่สิบห้าปีขึ้นไป
(5) ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้มีอายุตั้งแต่สิบแปดปีขึ้นไป
(6) ภาพยนตร์ที่ห้ามผู้มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีดู
(7) ภาพยนตร์ที่ห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักร
ความใน (6) มิให้ใช้บังคับแก่ผู้ดูซึ่งบรรลุนิติภาวะโดยการสมรส
หลักเกณฑ์ในการกำหนดว่าภาพยนตร์ลักษณะใดควรจัดอยู่ในภาพยนตร์ประเภทใดให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง"




ตามมาตรา 26 แสดงให้เห็นแล้วว่า ประเทศไทยนั้น ก็มีการจัดเรตติ้งภาพยนตร์ เช่นดียวกับในต่างประเทศ แม้ว่าจะมีความแตกต่างกันในรายละเอียดบ้างเล็กน้อย

สำหรับกฎกระทรวงที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 26 เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ว่าภาพยนตร์เรื่องใดควรจัดให้อยู่ในเรตติ้งใดนั้น ตามนี้ครับ

กฎกระทรวง กำหนดลักษณะของประเภทภาพยนตร์ พ.ศ.2552



ข้อ 1 "ภาพยนตร์ที่ส่งเสริมการเรียนรู้และควรส่งเสริมให้มีการดู มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
(1) เนื้อหาส่งเสริมการศึกษา จริยธรรม ศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี หรือศีลธรรมอันดีของชาติ
(2) เนื้อหาส่งเสริมความรู้หรือความเข้าใจในการพัฒนาสังคม ครอบครัว หรือคุณภาพชีวิตหรือการรักษาทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม
(3) เนื้อหาส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจ ความรับผิดชอบ หรือจิตสำนึกเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือประวัติศาสตร์ของชาติ"




ข้อ 2 "ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้ดูทั่วไป มีลักษณะ ดังต่อไปนี้
(1) เนื้อหาที่ให้ความรู้หรือก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชนหรือให้ความบันเทิงเป็นการทั่วไป
(2) ไม่มีลักษณะของภาพยนตร์ตามข้อ 3 ข้อ 4 และข้อ 5"




ข้อ 3 "ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้มีอายุตั้งแต่สิบสามปีขึ้นไป ต้องไม่มีลักษณะ ดังต่อไปนี้
(1) เนื้อหาที่น่ากลัวสยองขวัญ หรือแสดงการกระทำที่รุนแรง ทารุณโหดร้าย หรือขาดมนุษยธรรม
(2) เนื้อหาที่แสดงพฤติกรรมทางเพศที่ส่อไปในทางลามกอนาจาร
(3) เนื้อหาที่แสดงวิธีการก่ออาชญากรรมหรือใช้อาวุธซึ่งอาจชักจูงหรือส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ
(4) เนื้อหาที่แสดงวิธีการใช้สารเสพติด
(5) เนื้อหาเกี่ยวกับลัทธิหรือคำสั่งสอนที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมอันดีหรือขนบธรรมเนียมประเพณี ซึ่งอาจชักจูงให้ผู้ชมหลงเชื่อ
(6) ใช้ภาษาที่ไม่เหมาะสมในลักษณะของคำหยาบคายหรือลามก"




ข้อ 4 "ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้มีอายุตั้งแต่สิบห้าปีขึ้นไป ต้องไม่มีลักษณะ ดังต่อไปนี้
(1) เนื้อหาที่สยองขวัญ หรือแสดงการกระทำที่รุนแรง ทารุณโหดร้าย หรือขาดมนุษยธรรม
(2) เนื้อหาที่แสดงพฤติกรรมทางเพศที่ส่อไปในทางลามกอนาจาร
(3) เนื้อหาที่แสดงวิธีการก่ออาชญากรรมหรือใช้อาวุธซึ่งอาจชักจูงหรือส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ
(4) เนื้อหาที่แสดงวิธีการใช้สารเสพติด
(5) เนื้อหาเกี่ยวกับลัทธิหรือคำสั่งสอนที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมอันดีหรือขนบธรรมเนียมประเพณี ซึ่งอาจชักจูงให้ผู้ชมหลงเชื่อ"




ข้อ 5 "ภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้มีอายุตั้งแต่สิบแปดปีขึ้นไป ต้องไม่มีลักษณะ ดังต่อไปนี้
(1) เนื้อหาที่แสดงการมีเพศสัมพันธ์ที่เห็นอวัยวะเพศ
(2) เนื้อหาที่แสดงวิธีการก่ออาชญากรรมที่มีผลกระทบต่อสังคมอย่างรุนแรง และอาจชักจูงหรือส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ
(3) เนื้อหาที่แสดงวิธีการใช้สารเสพติดซึ่งอาจชักจูงใจให้ผู้ชมเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ"




ข้อ 6 "ภาพยนตร์ที่ห้ามผู้มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีดู มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
(1) เนื้อหาที่แสดงการมีเพศสัมพันธ์ที่เห็นอวัยวะเพศหรือการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองหรือผู้อื่น
(2) เนื้อหาที่แสดงวิธีการก่ออาชญากรรมซึ่งอาจชักจูงหรือส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ
(3) เนื้อหาที่แสดงวิธีการใช้สารเสพติด
(4) เนื้อหาเกี่ยวกับลัทธิหรือคำสั่งสอนที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมอันดี หรือขนบธรรมเนียมประเพณีซึ่งอาจชักจูงให้ผู้ชมหลงเชื่อ"




ข้อ 7 "ภาพยนตร์ที่ห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักร มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
(1) เนื้อหาที่กระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
(2) สาระสำคัญของเรื่องเป็นการเหยียดหยามหรือนำความเสื่อมเสียมาสู่ศาสนาหรือไม่เคารพต่อปูชนียบุคคล ปูชนียสถาน หรือปูชนียวัตถุ
(3) เนื้อหาที่ก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีระหว่างคนในชาติ
(4) เนื้อหาที่กระทบกระเทือนต่อสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ
(5) สาระสำคัญของเรื่องเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์
(6) เนื้อหาที่แสดงการมีเพศสัมพันธ์ที่เห็นอวัยวะเพศ"

ในกรณีที่คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ เห็นควรว่าภาพยนตร์เรื่องใด ไม่เหมาะสมอย่างกับสภาพสังคมไทยอย่างมาก ก็มีอำนาจตามมาตรา 29 ดังนี้

มาตรา 29 "ในการพิจารณาอนุญาตภาพยนตร์ตามมาตรา 25 ถ้าคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์เห็นว่าภาพยนตร์ใดมีเนื้อหาที่เป็นการบ่อนทำลาย ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรืออาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐและเกียรติภูมิของประเทศไทยให้คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์มีอำนาจสั่งให้ผู้ขออนุญาตแก้ไขหรือตัดทอนก่อนอนุญาตหรือจะไม่อนุญาตก็ได้"

กรณีที่ภาพยนตร์เรื่องใดถูก "แบน" แล้ว ใครก็ตามที่นำภาพยนตร์ดังกล่าวออกเผยแพร่ ไม่ว่าจะฉายในโรงภาพยนตร์ ส่งต่อ โพสในเว็บ ฯลฯ มีความเสี่ยงเป็นความผิดตามกฎหมายนะครับ

แต่ถ้าไม่พอใจคำสั่งของคณะกรรมการฯ ก็สามารถอุทธรณ์คำสั่งได้นะ

มาตรา 66 "คำสั่งไม่อนุญาตตามมาตรา 20 มาตรา 25 มาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 47 มาตรา 49 หรือมาตรา ๔๗ ซึ่งได้นำมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามมาตรา ๕๒ คำสั่งเพิกถอนการอนุญาตหรือคำสั่งห้ามสร้างภาพยนตร์ต ามมาตรา ๖๓ ของคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ผู้ได้รับคำสั่งมีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการได้ภายใน สิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง
ให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้ แล้วเสร็จภายในสามสิบ วันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ถ้าพิจารณาไม่เสร็จภายใ นกำหนดระยะเวลาดังกล่าวให้ถือว่าเห็นด้วยกับคำอุทธรณ์
คำวินิจฉัยของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด"

เมื่อคณะกรรรมการฯทบทวนคำสั่งที่อุทธรณ์แล้ว มีคำสั่งอย่างไร ให้ถือเป็นที่สุด ถ้าไม่พอใจ ไปฟ้องศาลปกครองเพิกถอนคำสั่งเอาเองภายใน 90 วัน

มาตรา 77 "ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๓ วรรคหนึ่ง หรือนำภาพยนตร์ตามมาตรา 26(7) ออกเผยแพร่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

โห... โทษเยอะขนาดนี้ งั้นไม่เอาภาพยนตร์ไปให้คณะกรรมการฯ จัดเรตติ้งได้มัย จะได้เอาออกเผยแพร่ได้.... ไม่ได้นะครับ มีโทษเหมือนกัน

มาตรา 78 "ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 25 วรรคหนึ่ง มาตรา 28 วรรคสอง มาตรา 34 วรรคหนึ่ง หรือมาตรา 49 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท"

รายละเอียดเพิ่มเติม พรบ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 โหลดได้จากที่นี่นะครับ
//www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2551/A/042/116.PDF

เมื่อดูข้อกฎหมายแล้ว ลองมาดูข้อเท็จจริงกันดีกว่า



ตามจดหมายตอบจากกระทรวงวัฒตธรรมกรณีแบน "Insects in The Backyard" มีการกล่าวว่า ภาพยนตร์เรืองนี้ มีฉากที่...

1. “เนื้อหาโดยรวมเป็นการถ่ายทอดลักษณะเนื้อหาเกี่ยวกับการร่วมเพศระหว่างชายกับชาย หญิงกับหญิง และชายกับหญิง”
2. "มีการสูบบุหรี่ ดื่มสุราในขณะแต่งกายเครื่องแบบนักเรียนอยู่หลายตอน”
3. “มีการเสนอขายบริการทางเพศในขณะที่แต่งกายเครื่องแบบนักเรียน”
4. “มีการแสดงออกไปในทางที่ไม่ถูกต้อง เช่น การที่ให้เด็กหญิงและเด็กชายประกอบอาชีพขายตัวหรือโสเภณี แทนที่จะแก้ปัญหาโดยหาทางออกด้วยวิธีการอื่น”
5. “มีการนำเสนอการฆ่าพ่อซึ่งแม้จะเป็นความฝันแต่ก็ไม่สมควรจะมีฉากเหล่านี้”
6. “มีฉากให้เด็กขายบริการทางเพศในชุดนักเรียน มีการสอนให้เด็กสูบบุหรี่ ดื่มสุรา และสอนวิธีการเล้าโลม . . . อาจทำให้สังคมและผู้ชมแม้จะมีอายุเกิน ๒๐ ปีก็ตาม เกิดความเข้าใจผิดและเกิดการเลียนแบบ”


ด้วยเหตุผลดังกล่าว ภาพยนตร์เรื่องนี้ จึงถูก "แบน" ด้วยเหตุผลที่ว่า "ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี"

ส่วนภาพยนตร์เรื่อง "Love จุลินทรีย์ : รักมันใหญ่มาก" ที่ถูกแบนทีเซอร์ มีสาเหตุมาจาก...

"มีการฉายให้เห็นภาพที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพของนักแสดงซึ่งเป็นวัยรุ่น ทำท่าเหมือนจะจูบกันแบบปากชนปาก" ซึ่งขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน

จึงเกิดคำถามและการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในวงการภาพยนตร์ว่า การแบน เหล่านี้ ถูกต้องชอบธรรมแล้วหรือไม่?

แล้วไอ้คำกว้างๆที่ว่า "ความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมอันดีของประชาชน" นี่ล่ะ มันแปลว่าอะไร?

ความสงบเรียบร้อยของประชาชน (Public Order) หมายถึง ภาวะความเป็นอยู่ของประชาชนที่อยู่ร่วมกันในสังคม โดยมีความปลอดภัยในชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน และในการดำเนินชีวิตโดยปรกติสุข

ศีลธรรมอันดีของประชาชน (Public Morals) หมายถึง มาตรฐานทางศีลธรรมและจริยธรรมซึ่งนิยมกันอยู่ในสังคมหนึ่ง ๆ ไม่ว่าจะโดยความนับถือเช่นจารีตประเพณีทั่วๆไป เรียกว่าเป็น "แรงกดดันจากสังคม" (Social Pressure) หรือโดยการบังคับใช้ผ่านกฎหมายหรือผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย เรียก "แรงกดดันจากบ้านเมือง" (Legal Pressure) ทั้งนี้ เพื่อเป็นปทัสถานหรือแนวที่สมาชิกในสังคมพึงปฏิบัติต่อสังคมนั้นๆ

ในแง่มุมเชิงกฎหมายนั้น คำว่า "ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน" นั้น เป็นถ้อยคำที่มีความหมาย "กว้างมากกกกกกกกกกกกก" ) และเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ไม่สามารถที่จะระบุไว้อย่างชัดเจนและครอบคลุมได้ในตัวบทกฎหมาย ซึ่งเรื่องนี้ โดยปรกติ เป็นเรื่องที่ศาลจะเป็นผู้ตีความเป็นรายกรณีๆไป อย่างไรก็ดี ตาม พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนแล้วว่าให้ "คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และ วีดิทัศน์" เป็นผู้ชี้ขาดได้ และในกรณีที่ไม่เห็นชอบกับคำสั่งของคณะกรรมการฯ ก็สามารถอุทธรณ์คำสั่งได้

ข้อสังเกตในเบื้องต้น จากข้อกฎหมาย ก็พบว่า ไอ้ถ้อยคำที่ว่า "เนื้อหาเกี่ยวกับลัทธิหรือคำสั่งสอนที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมอันดี หรือขนบธรรมเนียมประเพณี ซึ่งอาจชักจูงให้ผู้ชมหลงเชื่อ" นั้น จริงๆ มัน ปรากฎอยู่ใน ลักษณะที่เข้าข่ายเรตหนัง ฉ.13+, ฉ.18+, ฉ.20+ ได้ทั้งนั้นเลยนะ อย่างนี้ก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของคณะกรรมการฯ น่ะสิ

เมื่อเรื่องเหล่านี้ อยู่ในดุลพินิจของคณะกรรมการฯ สิ่งที่น่าจะเหมาะสมที่สุดก็ คือ ไม่ใช่ว่า สิ่งที่เราเห็น แล้วเราไม่ชอบนั้น เป็นสิ่งที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนด้วย แต่จะต้องพิจารณาถึงสภาพสังคมในปัจจุบันด้วยว่า มีลักษณะเป็นอย่างไร จะเอามาตรฐานที่ใช้บังคับในสมัยก่อน มาตัดสินข้อเท็จจริงในปัจจุบัน มันก็อาจไม่ค่อยเหมาะสมก็ได้

ในกรณีที่จะต้องตัดสินว่าจะ "แบน" ภาพยนตร์เรื่องใด สิ่งที่น่าจะเกิดขึ้น ก็คงจะต้องเป็นเรื่อง "การใช้ดุลพินิจในการตัดสินโดยอยู่บนมาตรฐานเดียวกันโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ" ซึ่งโดยส่วนตัว ผมก็ยอมรับนะว่า ภาพยนตร์เรื่อง "Insects In The Backyard" นั้น มีหลายฉากที่สุ่มเสี่ยงที่จะมีผลกระทบต่อขนบธรรมเนียมประเพณีของสังคมไทยที่มีอยู่ในปัจจุบัน แต่สำหรับฉากจูบกันในภาพยนตร์เรื่อง "Love จุลินทรีย์ : รักมันใหญ่มาก" นั้น ยังไม่น่าจะถึงขนาดที่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชนนะ เพราะสังคมปัจจุบันนี้ คงปฏิเสธไม่ได้หรอกว่า วัยรุ่นไทย ไม่เคยมีหรือรับไม่ได้กับพฤติกรรมในลักษณะนี้ (อย่าบอกนะว่า ไม่เคยเห็นเด็กเค้าจูบกัน...แล้วที่มันท้องกันตั้งแต่เล็กแต่น้อยแล้วไปทำแท้งนี่มันอะไร)

ทำความเข้าใจแะยอมรับกันซักนิดเถอะครับ ว่าสังคมเราในปัจจุัน มันเปลี่ยนแปลงไปตามสภาวะแวดล้อมและได้รับกระแสจากต่างประเทศมาเยอะมากๆ สังคมมันเปลี่ยนไปแล้ว กฎหมายมันก็เปลี่ยนตามแล้ว เราก็ควรจะต้องเปลี่ยนทัศนคติให้ก้าวตามสิ่งต่างๆให้ทันด้วยนะครับ

นอกจากนี้ ในการใช้ดุลพินิจของคณะกรรมการฯ ไม่ได้มีการให้เหตุผลไว้อย่างชัดเจนเท่าที่ควร จึงเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า ความเห็นของคณะกรรมการฯ นั้น เป็นธรรมหรือไม่ และสอดคล้องกับสภาพสังคมตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมของไทยในปัจจุบันแล้วหรือไม่

ทางที่ดี ถ้าจะสั่งแบนภาพยนตร์เรื่องใด ถ้าความเห็นที่ออกมานั้นมีเหตุผลรองรับ มันน่าจะดีกว่าที่เป็นอยู่อย่างทุกวันนี้ คนเขาจะได้ไม่วิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่โปร่งใสและมีอคตินะครับ

อีกประเด็นหนึ่ง ที่ภาพยนตร์เรื่อง "Insects in The Backyard" ถูกแบนนั้น ด้วยเหตุผลที่ว่าเป็น "สื่อลามกอนาจาร" ความผิดฐานนี้ ต้องไปดู ฐานความผิดใน ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 287 ดังนี้ครับ

ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 287 "ผู้ใด
(1) เพื่อความประสงค์แห่งการค้า หรือโดยการค้าเพื่อการแจกจ่ายหรือเพื่อ การแสดงอวดแก่ประชาชน ทำ ผลิต มีไว้ นำเข้าหรือยังให้นำเข้าในราชอาณาจักร ส่งออก หรือยังให้ส่งออกไปนอกราชอาณาจักรพาไปหรือยังให้พาไปหรือทำให้แพร่หลายโดยประการใด ๆซึ่งเอกสารภาพเขียน ภาพพิมพ์ ภาพระบายสี สิ่งพิมพ์ รูปภาพภาพโฆษณา เครื่องหมาย รูปถ่าย ภาพยนตร์ แถบบันทึกเสียงแถบบันทึกภาพหรือสิ่งอื่นใดอันลามก
(2) ประกอบการค้า หรือมีส่วนหรือเข้าเกี่ยวข้องในการค้าเกี่ยวกับวัตถุหรือสิ่งของ ลามกดังกล่าวแล้ว จ่ายแจกหรือแสดงอวดแก่ประชาชนหรือให้เช่าวัตถุหรือสิ่งของเช่นว่านั้น
(3) เพื่อจะช่วยการทำให้แพร่หลาย หรือการค้าวัตถุหรือสิ่งของลามกดังกล่าวแล้ว โฆษณาหรือไขข่าวโดยประการใด ๆ ว่ามีบุคคลกระทำการอันเป็นความผิดตามมาตรานี้ หรือ โฆษณาหรือไขข่าวว่าวัตถุหรือสิ่งของลากดังกล่าวแล้วจะหาได้จากบุคคลใด หรือโดยวิธีใด
ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ"

โดยปรกติ กรณีที่จะเป็นการกระทำที่เข้าข่ายเป็นความผิดทางอาญานั้น ผู้กระทำจะต้องมี "เจตนา" ซึ่งในส่วนนี้ เข้าใจว่าทางผู้กำกับ ทำภาพยนตร์เรื่องนี้ออกมา คงไม่ได้เอามาใช่ในลักษณะที่จะสื่อถึงแต่เรื่องลามก แต่กลับมุ่งประสงค์ที่จะตีแผ่ถึงสภาพสังคมในอีกมุมมองหนึ่งที่อาจจะไม่มีใครรู้ ซึ่งส่วนตัว คิดว่าคงยังไม่ถึงขนาดเป็นความผิดตามกฎหมายข้อนี้

เอาเป็นว่า ถ้าหนังเรื่องไหนมันถึงขนาดที่มีเนื้อหา ฆ่าพ่อ ล่อแม่ หมิ่นสถาบัน หรือการกระทำอื่นใดในลักษณะเดียวกันนี้ ส่วนตัว ผมก็เห็นด้วยนะถ้าหนังประเภทนั้นจะถูกแบน แต่ถ้าหนังมันไม่ได้โหดขนาดนั้น การจัดเรตติ้งหนังให้เหมาะสมกับสภาพสังคมและบังคับใช้อย่างเคร่งครัด ไม่ต้องถึงขนาดแบนกันก็ได้ มันก็ไม่ต่างอะไรกับการที่ผู้หญิงตั้ังครรภ์ ท้องแก่จะคลอดแล้ว ดันมาแท้งในตอนสุดท้าย มันน่าเศร้าใจนะครับ สำหรับหัวอกของคนทำภาพยนตร์

หรือคุณเห็นว่ายังไงครับ?

หากบทความนี้มีข้อบกพร่องประการใด ข้าน้อยขอรับไว้แต่เพียงผู้เดียว แต่หากบทความนี้จะมีประโยชน์แก่ท่านไม่มากก็น้อย ขอคุณความดีนี้ จงบังเกิดแก่คณาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประสาทความรู้ให้แก่ข้าน้อย ตลอดจนวงการนิติศาสตร์สืบไป

@Onizugolf Smiley

อ้างอิง
- กก.วัฒนธรรมฯลงดาบแบนทีเซอร์ "เลิฟเลิฟ จุลินทรีย์ รักมันใหญ่มาก" อ้างมีฉาก "จูบ" ในชุด น.ร., //www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1294800567&grpid=00&catid&subcatid
- เรตของภาพยนตร์, //th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%95%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B9%8C
- 'เรทหนัง" คืออะไร แล้วเค้าแบ่งกันยังไง, //www.bloggang.com/viewblog.php?id=xymm&date=14-02-2005&group=4&blog=1
- เสรีภาพที่ขัดต่อศีลธรรมอันดี: สำรวจข้อกฎหมายในกรณีไม่อนุญาตให้ฉาย INSECTS IN THE BACKYARD, //onopen.com/node/5689
- "Insects In the Backyard" กับคำสั่ง "ห้ามฉาย"!!, //www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1289987097&grpid=01&catid=08

ขอขอบคุณ ลูกพี่ @JEDIYUTH ที่เอื้อเฟื้อข้อมูลประกอบครับ

บทความนี้ สามารถนำไปใช้ได้โดยไม่ต้องขออนุญาต แต่กรุณาแสดงที่มาและแนบลิ้งไว้ด้วย (เพราะอาจมีการแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาเป็นระยะ) และต้องไม่ใช้เพื่อการแสวงหาประโยชน์ในทางธุรกิจ




 

Create Date : 12 มกราคม 2554   
Last Update : 13 มกราคม 2554 16:12:05 น.   
Counter : 5686 Pageviews.  


กฎหมายเบื้องต้น กับ อุบัติเหตุรถตู้

เมื่อวันก่อน (27 ธันวาคม 2553) ได้ทราบข่าวน่าสลดใจเกี่ยวกับอุบัติเหตุรถตู้ชนกับรถเก๋งบทโทลล์เวย์ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตหลายคน

ลองนั่งนึกๆดูแล้วก็พบว่า... อุบัติเหตุในลักษณะนี้ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งในสังคมปัจจุบัน แล้วเหตุไม่คาดฝันในลักษณะอย่างนี้นั้น ใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบภายใต้กฎหมายกันล่ะ หรือว่าผู้ขับรถโดยประมาทจะไม่มีความผิดอะไรเลย?

งั้นขอถือโอกาสนี้ นำเสนอกฎหมายที่น่าจะเกี่ยวข้องกับเหตุน่าสลดใจนี้สักนิดนะครับ



การขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย กฎหมายไทยได้กำหนดให้การกระทำดงกล่าวเป็นความผิดต่อกฎหมายหรือไม่ และมีโทษอย่างไร?

โดยหลักการ การกระทำความผิดที่จะต้องรับโทษทางอาญานั้น สิ่งที่ขาดไม่ได้อย่างแรกคือ การกระทำดังกล่าวจะต้องมี "เจตนา" แต่ในบางกรณี แม้จะไม่ได้เจตนา แต่กระทำไปด้วย "ความประมาท"

ประมวกฎหมายอาญา
มาตรา 59 "บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำ โดยเจตนาเว้นแต่จะได้กระทำความโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมาย บัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณี ที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทำโดยไม่มี เจตนา
กระทำโดยเจตนา ได้แก่กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำและ ในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการ กระทำนั้น
ถ้าผู้กระทำมิได้รู้ข้อเท็จจริง อันเป็นองค์ประกอบของความผิดจะ ถือว่าผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำ นั้นมิได้
กระทำโดยประมาท ได้แก่กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่ กระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่
การกระทำ ให้หมายความรวมถึงการให้เกิดผลอันหนึ่งอันใดขึ้น โดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นด้วย"

ดังนั้น ในการที่จะพิจารณาว่า คนที่ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายได้รับโทษตามกฎหมายหรือไม่นั้น ก็ต้องดูว่า มีกฎหมายฉบับใดหรือไม่ กำหนดให้การกระทำดังกล่าวเป็นความผิด

ซึ่งในกรณีนี้ กฎหมายได้บัญญัติเอาไว้อย่างชัดเจนว่า แม้จะไม่เจตนา แต่กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายนั้น เป็นความผิดตามกฎหมาย ตามประวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ดังนี้

ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 291 "ผู้ใดกระทำโดยประมาทและการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปีและปรับไม่เกินสองหมื่นบาท"

จากมาตราข้างต้น ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย โทษสูงสุด คือ จำคุกไม่เกิดสิบปีและปรับไม่เกินสองหมื่นบาท"

แล้วขับรถยังไงล่ะที่เรียกได้ว่าประมาท? ลองดูตัวอย่างแล้วกันครับ

คำพิพากษาฎีกาที่ 4151/2536 "ที่จำเลยฎีกาว่าผู้ตายขับรถจักรยานยนต์โดยประมาทเลี้ยวตัดหน้ารถจักรยานยนต์ที่จำเลยขับในระยะกระชั้นชิดขณะจำเลยขับรถแซงขึ้นหน้ารถของผู้ตายนั้น เห็นว่า การที่จำเลยขับรถด้วยความเร็วสูงตามหลังรถผู้ตายโดยไม่เว้นระยะให้ห่างพอที่จะหยุดหรือหลบหลีกได้ทันเมื่อมีเหตุจำเป็น และขณะแซงก็มิได้ให้สัญญาณ จนเป็นเหตุให้รถจำเลยพุ่งเข้าชนรถผู้ตายขณะเลี้ยวขวาข้ามถนนตัดหน้ารถจำเลย ย่อมถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในฐานะจำเลยจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และจำเลยอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้แต่หาได้ใช้เพียงพอไม่ จำเลยจึงมีความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายดังฟ้อง"

คำพิพากษาฎีกาที่ 127/2503 "การขับรถยนต์ตามหลังรถคันอื่นนั้น ควรต้องเว้นระยะให้ห่างมากพอ ที่จะหยุดรถได้ทันโดยไม่ชนรถคันหน้า ยิ่งถนนมีฝุ่นตลบ ก็ย่อมจะต้องระมัดระวังเว้นระยะให้ห่างมากขึ้น เมื่อจำเลยไม่เว้นระยะดังกล่าวแล้ว รถของจำเลยไปชนรถคันหน้า ป็นเหตุให้คนตาย ย่อมถือได้ว่า จำเลยขับรถยนต์โดยประมาททำให้คนตาย ตามมาตรา 291"

คำพิพากษาฎีกาที่ 2082/2517 "จำเลยขับรถยนต์ แซงรถบรรทุกดิน ซึ่งจอดอยู่ที่ของถนนด้านซ้าย ในเส้นทางของรถจำเลย ซึ่งเข้าไปในเส้นทางของรถ โจทก์ร่วมที่กำลังสวนทางมา และตรงที่เกิดเหตุ มีเส้นแบ่งแนวจราจร เป็นเส้นทึบ คู่ท้ายขับรถไปตามเส้น หรือออกนอกเส้นทางไปทางขวา เป็นเหตุให้รถทั้งสองคันชนกัน ในเส้นทางของรถโจทก์ร่วม จำเลยชอบที่จะให้ความระมัดระวัง ให้เพียงพอกับวิสัย และพฤติการณ์ โดยมองไปข้างหน้าว่า มีพยานพาหนะอื่นใด สวนทางมาหรือไม่ หรือหากมองไม่เห็น เพราะมีส่วนโค้งของถนน หรือสะพานบังอยู่ ก็ชอบที่จะชะลอรถ เมื่อเห็นว่าปลอดภัยดีแล้ว จึงค่อยแซงรถ ที่จอดอยู่ขึ้นไป เมื่อจำเลยมิได้ใช้ความระมัดระวังดังว่านี้ จึงนับว่า เป็นความประมาทของจำเลย หาใช่อุบัติเหตุไม่

คำพิพากษาฎีกาที่ 280/2518 "จำเลยขับรถยนต์บรรทุกหิน ประมาณ 70 ไมล์ต่อชั่วโมง ผ่านทางแยกซึ่งมีคนพลุกพล่านและแซงรถยนต์บรรทุกซึ่งจอดริมถนนห่างทางแยกประมาณ 5 วา เป็นการขับรถโดยความประมาท แม้จะปรากฏว่า รถยนต์โฟล์คสวาเกน ซึ่งล้ำเข้ามา เฉี่ยวชนรถจำเลย ในเส้นทางของรถจำเลย ก็ไม่ทำให้จำเลยพ้นผิดไปได้ ความผิดตาม พระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2508 มาตรา 7 ไม่จำต้องเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น" เป็นต้่น

กรณีมีผู้เสียชีวิต บุพการี (โดยทางสายเลือด), ผู้สืบสันดาน (โดยทางสายเลือด หรือ สามีภริยา (โดยทางกฎหมาย) สามารถดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดดังกล่าวได้ ตามที่ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5 กำหนดไว้

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 5 "บุคคลเหล่านี้จัดการแทนผู้เสียหายได้
(1) ผู้แทนโดยชอบธรรม หรือ ผู้อนุบาล เฉพาะแต่ในความผิดซึ่งได้กระทำต่อผู้เยาว์หรือผู้ไร้ความสามารถซึ่งอยู่ในความดูแล
(2) ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยา เฉพาะแต่ในความผิดอาญาซึ่งผู้เสียหาย ถูกทำร้ายถึงตาย หรือบาดเจ็บจนไม่สามารถ จะจัดการเองได้
(3) ผู้จัดการ หรือ ผู้แทนอื่นๆของนิติบุคคล เฉพาะความผิดซึ่งกระทำลงแก่ นิติบุคคล นั้น"

แม้ตามปรกติ คดีเกี่ยวกับการขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นนั้น พนักงานสอบสวนสามารถที่จะเปรียบเทียบปรับได้ ไม่ต้องนำเรื่องไปถึงชั้นศาล แต่ในกรณีที่ ความประมาทเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตนั้น พนักงานสอบสวนไม่สามารถเปรียบเทียบปรับได้ เรื่องต้องขึ้นถึงชั้นศาลแน่นอน

แล้วในกรณีที่อ้างว่า คนขับรถที่ขับรถโดยประมาทมีอายุ 17 ปี ล่ะ? มีผลในทางกฎหมายหรือไม่ อย่างไร?

กรณีที่อ้างว่า อายุ 17 ปี... แน่ๆ ต้องไม่มีใบขับขี่ ก็ผิด "พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522" ด้วยสิ กฎหมายเค้าว่าไว้อย่างนี้

พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522
มาตรา 46 "ผู้ขอใบอนุญาตขับรถตามมาตรา 43 (1) ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
(1) มีอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์..."

มาตรา 64 "ผู้ใดขับรถโดยไม่ได้รับใบอนุญาตขับรถ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

ดังนั้น ถ้าข้อเท็จจริงปรากฎว่า คนขับรถอายุไม่เกิน 18 ปีบริบูรณ์ ย่อมไม่มีใบขับขี่ ต้องระวางโทษตามพรบ.รถยนต์ พ.ศ.2522 เพียงจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

แต่แค่ไม่มีใบขับขี่นี่ ยังไม่ถือว่าขับรถโดยประมาทนะ!!!!! ลองดูคำพิพากษาฎีกานี้ครับ

คำพิพากษาฎีกาที่ 294/2501 "จำเลยขับรถไม่มีใบขับขี่ แต่จำเลยขัยรถเป็นและเคยขับรถคันที่เกิดเหตุนี้มาแล้ว จำเลยขับรถวิ่งมาตามปกติธรรมดาไม่ปรากฏว่ามีการประมาทแต่อย่างใด แม้จะทับคนตายดังนี้ เพียงแต่จำเลยไม่มีใบขับขี่อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย และข้อบังคับเท่านั้น หาเป็นการกระทำโดยประมาทไม่ ทั้งประมวลกฎหมายอาญามาตรา 59 ก็มิได้บัญญัติไว้ว่าเป็นการประมาท ฉะนั้น การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานทำให้คนตายโดยประมาท"

เมื่อกล่าวอ้างว่าเป็นเยาวชนที่มีอายุไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์ เมื่อมีการกระทำความผิดอาญาขึ้น จะต้องอยู่ในอำนาจของ "ศาลเยาวชนและครอบครัว" ในการที่จะพิจารณาพิพากษาดำเนินคดีต่อไป ตามที่ "พระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534" บัญญัติไว้ ดังนี้

"พระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534"
มาตรา 11 "ศาลเยาวชนและครอบครัวมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่ง ในคดี ดังต่อไปนี้
(1) คดีอาญาที่มีข้อหาว่าเด็กหรือเยาวชนกระทำความผิด..."

ซึ่งเมื่อคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลเยาวชนฯแล้ว กรณีที่เยาวชนขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ส่วนใหญ่ศาลจะให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและพินิจก่อนแล้วจึงตัดสิน

โดยในการสืบเสาะและพินิจนั้น ก็เป็นดลพินิจของศาลที่จะสั่งให้สืบเสาะในเรื่องใด แต่ส่วนใหญ่แล้ว ศาลจะสั่งให้พนักงานคุมประพฤติไปสืบเสาะและพินิจเกี่ยวกับประวัติ สถานะครอบครัว ฐานะและสภาพแวดล้อมของผู้ขับรถประมาทหรือจำเลย รวมทั้งการเยียวยาบรรเทาความเสียหายและพฤติการณ์แห่งคดีด้วย โดยในระหว่างสืบเสาะและพินิจนั้น เยาวชนผู้ขับรถประมาทหรือจำเลยต้องถูกขังไว้ หากไม่อยากถูกขังก็ต้องเตรียมหลักประกันไปขอประกันตัวต่อศาล

นอกจากนี้ สิทธิพิเศษที่จะได้รับกรณีที่ผู้กระทำความผิดเป็นเยาวชน คือ....

พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546
มาตรา 27 "ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาหรือเผยแพร่ทางสื่อมวลชนหรือสื่อสารสนเทศประเภทใด ซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็กหรือผู้ปกครอง โดยเจตนาที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียง เกียรติคุณ หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดของเด็ก หรือเพื่อแสวงหาประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ"

"พระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534"
มาตรา 93 "ห้ามมิให้ผู้ใดบันทึกภาพ แพร่ภาพ พิมพ์รูป หรือบันทึกเสียงแพร่เสียงของเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิด หรือโฆษณาข้อความซึ่งปรากฏในทางสอบสวนของพนักงานสอบสวนหรือในทางพิจารณาคดีของศาลที่อาจทำให้บุคคลอื่นรู้จักตัว ชื่อตัว ชื่อสกุล ของเด็กหรือเยาวชนนั้น หรือโฆษณาข้อความเปิดเผยประวัติการกระทำความผิด หรือสถานที่อยู่ สถานที่ทำงาน หรือสถานศึกษาของเด็กหรือเยาวชนนั้น"

จากกฎหมายทั้งสองข้อดังกล่าว ส่งผลให้ เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของเด็กออกสื่อไม่ได้นะครับ

นอกจากการกระทำดังกล่าว จะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาแล้ว ยังเป็นความผิดตามกฎหมายฉบับอื่นด้วยนะ

กฎหมายฉบับที่ว่าก็คือ "พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522" ผิดหลายฐานความผิดมากๆ ดังนี้

1. ความผิดฐานขับรถโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย

"พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522"
มาตรา 43 "ห้ามมิให้ผู้ขับขี่รถ
(1) ในขณะหย่อนความสามารถในอันที่จะขับ
(2) ในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น
(3) ในลักษณะกีดขวางการจราจร
(4) โดยประมาทหรือน่าหวาดเสียวอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือ ทรัพย์สิน
(5) ในลักษณะที่ผิดปกติวิสัยของการขับรถตามธรรมดา หรือไม่อาจแลเห็นทางด้านหน้าหรือด้านหลัง ด้านใดด้านหนึ่งหรือทั้งสองด้านได้พอ แก่ความปลอดภัย
(6) คร่อมหรือทับเส้นหรือแนวแบ่งช่องเดินรถ เว้นแต่เมื่อเปลี่ยนช่อง เดินรถ เลี้ยวรถ หรือกลับรถ
(7) บนทางเท้าโดยไม่มีเหตุอันสมควร เว้นแต่รถลากเข็นสำหรับทารถ คนป่วยหรือคนพิการ
(8) โดยไม่คำนึ่งถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น"

มาตรา 160 "ผู้ใดไม่ปฏิบัติตาม มาตรา 78 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน สามเดือน หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าการไม่ปฏิบัติตาม มาตรา 78 เป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้รับอันตรายสาหัส หรือตาย ผู้ไม่ปฏิบัติตามต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับตั้งแต่ ห้าพันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม มาตรา 43 (1) (2) (5) หรือ (8) ต้อง ระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือนหรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

ดังนั้น ผู้ใดขับรถโดยประมาทอันอาจเกิดอันตรายต่อบุคคล โทษสูงสุด จำคุกไม่เกินสามเดือนหรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2. ความผิดฐานขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด

"พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522"
มาตรา 67 ผู้ขับขี่ต้องขับรถด้วยอัตราความเร็วตามที่กำหนดในกฎกระทรวงหรือตามเครื่องหมายจราจรที่ได้ติดตั้งไว้ในทางเครื่องหมายจราจรที่ติดตั้งไว้ตามวรรคหนึ่ง จะกำหนดอัตราความเร็ว ขั้นสูงหรือขั้นต่ำก็ได้ แต่ต้องไม่เกินอัตราความเร็วที่กำหนดในกฎกระทรวง"

มาตรา 152 "ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม มาตรา 7 มาตรา 10 ทวิ มาตรา 13 วรรคหนึ่ง มาตรา 15 วรรคหนึ่ง มาตรา 16 มาตรา 21 มาตรา 22 มาตรา 23 (1) มาตรา 24 มาตรา 25 มาตรา 26 มาตรา 29 มาตรา 49 มาตรา 50 มาตรา 56 มาตรา 64 มาตรา 67 วรรคหนึ่ง มาตรา 73 วรรค 1 หรือวรรค 3 มาตรา 77 วรรค 1 มาตรา 85 มาตรา 86 มาตรา 89 วรรค 1 มาตรา 90 มาตรา 91 มาตรา 92 มาตรา 93 มาตรา 94 วรรค 1 มาตรา 95 มาตรา 99 มาตรา 127 มาตรา 128 มาตรา 130 หรือไม่ปฏิบัติตามประกาศที่อธิบดีกำหนด ตามมาตรา 15 วรรค 2 หรือไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงที่ออกตาม มาตรา 77 วรรค 2 หรือมาตรา 96 วรรค 2 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท"

ดังนั้น การขับรถเร็วกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด โทษสูงสุด คือ ปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท

มาดูตัวอย่างกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5188/2549 "ความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและได้รับอันตรายแก่กายจำเลยมีความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 390 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157 ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี"

คำพิพากษาฎีกาที่ 114/2537 "ภายหลังจากเกิดเหตุรถชนกันแล้ว มีผู้นำผู้ตาย และโจทย์ร่วมส่งโรงพยาบาล ผู้ตายถึงแก่ความตายในคืนนั้น ส่วนจำเลยอยู่ในที่เกิดเหตุประมาณ 2 นาทีแล้วหลบหนีไป ต่อมาอีก 6 วันจำเลยเข้ามอบตัวสู้คดีดังนี้ การที่จำเลยไม่ให้ความช่วยเหลือตามสมควร ไม่แสดงตัว และแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที่ เป็นเหตุให้โจทย์ร่วมได้รับอันตรายสาหัส และผู้ตายถึงแก่ความตาย การกระทำของจำเลย จึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ ม.160 วรรคสอง"

แต่ความผิดตาม "พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522" นั้น โดยปรกติเป็นความผิดต่อรัฐ ซึ่ง "รัฐ" เท่านั้น เป็นผู้เสียหาย เว้นแต่ กรณีที่มีผู้ได้รับความเสียหายจาการกระทำนั้นโดยตรง กฎหมายให้ถือว่า ผู้นั้นเป็นผู้เสียหายตามกฎหมายเช่นเดียวกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6235/2551 "คดีอาญาในความผิดฐานขับรถยนต์บรรทุกโดยประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้ อื่นได้รับความเสียหายตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 ซึ่งความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าวรัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย เมื่อโจทก์ไม่ได้เป็นผู้เสียหายหรือคู่ความในคดีอาญา ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาจึงไม่ผูกพันโจทก์ในคดีนี้ การพิพากษาคดีส่วนแพ่งในคดีนี้ศาลไม่จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำ พิพากษาคดีส่วนอาญา เหตุสุดวิสัยจะต้องเป็นเรื่องที่ไม่อาจป้องกันได้แม้จะได้ใช้ความระมัดระวัง ตามสมควรแล้วก็ตาม อุปกรณ์ต่างๆ ที่ประกอบขึ้นเป็นตัวรถย่อมมีทั้งที่อยู่ภายนอกและภายใน อุปกรณ์บางชิ้นตรวจสอบได้ด้วยสายตา บางชิ้นเสื่อมสลายไปตามสภาพการใช้งาน ซึ่งล้วนแต่ต้องตรวจตราจากผู้ใช้งานทั้งสิ้น เมื่อเหตุเกิดขึ้นจากอุปการณ์ในตัวรถ จึงไม่เหตุสุดวิสัย"

แล้วอย่างนี้ ผู้เสียหายจะเรียกค่าเสียหายได้มั๊ย??

ในส่วนของค่าเสียหายนั้น ต้องไปว่ากันในทางแพ่ง ซึ่ง ต้องพิจารณาตาม "ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์" ซึ่งมีการกำหนดไว้อย่างชัดเจนดังนี้

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 420 "ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น"

มาตรา 438 "ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด
อนึ่ง ค่าสินไหมทดแทนนั้นได้แก่การคืนทรัพย์สินอันผู้เสียหาย ต้องเสียไปเพราะละเมิด หรือใช้ราคาทรัพย์สินนั้น รวมทั้งค่าเสียหาย อันจะพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันได้ก่อขึ้นนั้นด้วย"

กรณีขับรถโดยประมาท ถือเป็นการกระทำละเมิด ซึ่งสามารถเรียกค่าเสียหายตามกฎหมายได้ ส่วนค่าเสียหายจะเรียกได้มากน้อยเพียงใดนั้น โดยทั่วๆไป ศาลจะพิจารณาจากหลักฐานต่างๆ ถ้าไม่เคยทำความผิด ไม่เมา และมีคนอื่นร่วมในการประมาทนั้นด้วยหรือไม่ และต้องดูความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วย ซึ่งก็ต้องไปว่ากันต่อไปในชั้นศาล

แล้วพ่อแม่ของเด็กล่ะ ต้องร่วมรับผิดหรือไม่?

ในส่วนความรับผิดของบิดามารดานั้น ในทางอาญา มิได้เป็นผู้กระทำความผิด ย่อมไม่ต้องรับผิดในทางอาญาแต่อย่างใด แต่ในส่วนความรับผิดทางแพ่ง ซึ่งเป็นเรื่องชดใช้ค่าเสียหายนั้น ต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ต่อไปว่าประมาทในการดูแลบุตรของตนหรือไม่?

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 429 "บุคคลใดแม้ไร้ความสามารถเพราะเหตุเป็นผู้เยาว์หรือวิกลจริต ก็ยังต้องรับผิดในผลที่ตนทำละเมิด บิดามารดาหรือผู้อนุบาลของบุคคลเช่นว่านี้ย่อมต้องรับผิดร่วมกับเขาด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้น"

แต่นอกจากความรับผิดทางแพ่งแล้ว บิดามารดาอาจต้องรับผิดตาม "พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546" ด้วย

พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546
มาตรา 25
"ผู้ปกครองต้องไม่กระทำการดังต่อไปนี้
(1) ทอดทิ้งเด็กไว้ในสถานรับเลี้ยงเด็กหรือสถานพยาบาลหรือไว้กับบุคคลที่รับจ้างเลี้ยงเด็กหรือที่สาธารณะ
หรือสถานที่ใด โดยเจตนาที่จะไม่รับเด็กกลับคืน
(2) ละทิ้งเด็กไว้ ณ สถานที่ใด ๆ โดยไม่จัดให้มีการป้องกันดูแลสวัสดิภาพหรือให้การเลี้ยงดูที่เหมาะสม
(3) จงใจหรือละเลยไม่ให้สิ่งที่จำเป็นแก่การดำรงชีวิตหรือสุขภาพอนามัยจนน่าจะเกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือ
จิตใจของเด็ก
(4) ปฏิบัติต่อเด็กในลักษณะที่เป็นการขัดขวางการเจริญเติบโตหรือพัฒนาการของเด็ก
(5) ปฏิบัติต่อเด็กในลักษณะที่เป็นการเลี้ยงดูโดยมิชอบ"

มาตรา 26 "ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่น ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการ ดังต่อไปนี้
(1) กระทำหรือละเว้นการกระทำอันเป็นการทารุณกรรมต่อร่างกายหรือจิตใจของเด็ก
(2) จงใจหรือละเลยไม่ให้สิ่งจำเป็นแก่การดำรงชีวิตหรือการรักษาพยาบาลแก่เด็กที่อยู่ในความดูแลของตน
จนน่าจะเกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจของเด็ก
(3) บังคับ ขู่เข็ญ ชักจูง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควรหรือน่าจะทำให้เด็กมีความประพฤติเสี่ยงต่อการกระทำผิด
(4) โฆษณาทางสื่อมวลชนหรือเผยแพร่ด้วยประการใด เพื่อรับเด็กหรือยกเด็กให้แก่บุคคลอื่นที่มิใช่ญาติของเด็ก เว้นแต่เป็นการกระทำของทางราชการหรือได้รับอนุญาตจากทางราชการแล้ว
(5) บังคับ ขู่เข็ญ ชักจูง ส่งเสริม ยินยอม หรือกระทำด้วยประการใดให้เด็กไปเป็นขอทาน เด็กเร่ร่อน หรือใช้เด็กเป็นเครื่องมือในการขอทานหรือการกระทำผิด หรือกระทำด้วยประการใดอันเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากเด็ก
(6) ใช้ จ้าง หรือวานเด็กให้ทำงานหรือกระทำการอันอาจเป็นอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโต หรือขัดขวางต่อพัฒนาการของเด็ก
(7) บังคับ ขู่เข็ญ ใช้ ชักจูง ยุยง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กเล่นกีฬาหรือให้กระทำการใด เพื่อแสวงหาประโยชน์ทางการค้าอันมีลักษณะเป็นการขัดขวางต่อการเจริญเติบโตหรือพัฒนาการของเด็กหรือมีลักษณะเป็นการทารุณกรรมต่อเด็ก
(8) ใช้หรือยินยอมให้เด็กเล่นการพนันไม่ว่าชนิดใดหรือเข้าไปในสถานที่เล่นการพนัน สถานค้าประเวณี หรือสถานที่ที่ห้ามมิให้เด็กเข้า
(9) บังคับ ขู่เข็ญ ใช้ ชักจูง ยุยง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กแสดงหรือกระทำการอันมีลักษณะลามกอนาจาร ไม่ว่าจะเป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าตอบแทนหรือเพื่อการใด
(10) จำหน่าย แลกเปลี่ยน หรือให้สุราหรือบุหรี่แก่เด็ก เว้นแต่การปฏิบัติทางการแพทย์
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งมีโทษตามกฎหมายอื่นที่หนักกว่าก็ให้ลงโทษตามกฎหมายนั้น"

มาตรา 78 "ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 26 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

ข้อมูลเบื้องต้น เป็นข้อเท็จจริงที่จะต้องไปสืบต่อไปในชั้นศาล แต่ก่อนที่จะพิสูจน์ได้ว่าใครเป็นผู้กระทำความผิด "บุคคลทุกคน" ย่อมได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน จึงได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะพิพากษาถึงที่สุดว่าได้กระทำผิดจริง

ประมวลกฎหมายวิธิพิจารณาความอาญา
มาตรา 227 "ให้ศาลใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวงอย่าพิพากษาลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทำผิดจริงและจำเลย เป็นผู้กระทำความผิดนั้น
เมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือไม่ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้แก่จำเลย"

ดังนั้น ก่อนที่จะมีการพิสูจน์กันในทางกฎหมาย อย่าเพิ่งรีบไปตัดสินใครเลยนะครับ การวิพากษ์วิจารณ์โดยขาดสติ อาจส่งผลกระทบต่อใครหลายๆคนก็ได้นะครับ (เช่น ตอนนี้ มีผู้ที่ถูกเข้าใจผิดว่าเป็นคนก่อเหตูขึ้นมา โดนด่าเสียหายหมด ทั้งๆที่ไมเกี่ยวอะไรเลยแท้ๆนา)

เอาล่ะ กฎหมายหลักๆที่เกี่ยวข้อง ก็น่าจะประมาณนี้ ก่อนจะจบบล๊อกนี้ ก็ขอยกพุทธศาสนสุภาษิต ขึ้นประกอบซักหน่อย...



"ปมาโท มจฺจุโน ปทํ : ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย"


พุทธศาสนสุภาษิต ท่านว่าไว้ว่า ความประมาทเป็นหนทางแห่งความตาย ไม่ได้บอกว่า คนที่ประมาทจะต้องตาย แต่ความตายที่ว่า... มันอาจจะเกิดกับผู้อื่นก็เป็นได้ ทางทีดี ถ้าจะไม่ให้เกิดความเสียหายไม่ว่าจะต่อตนเอง ต่อคนอื่น เราควรครองตนด้วยความไม่ประมาทน่าจะเป็นสิ่งที่ดี แต่เมื่ออุบัติเหตุมันเป็นเรื่องไม่คาดฝัน บางครั้งก็ยากแก่การที่จะป้องกันได้ ดังนั้น เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นแล้ว เราก็ควรมีมนุษยธรรมและมีน้ำใจที่จะช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยอาจเข้าไปให้ความช่วยเหลือ, ช่วยแจ้งความหรือเรียกรถพยาบาล, ยอมรับผิดเข้ามอบตัวเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย

ในการรับรู้รับฟังข่าวสารก็เช่นเดียวกัน อยากให้ทุกท่านรับฟังข้อมูลอย่างมี "สติ" การวิพากษ์วิจารณ์โดยใช้อารมณ์อยู่เหนือเหตุผล ไม่ได้ก็ให้เกิดผลดีกับผู้ใดเลยนะครับ

โดยส่วนตัว ลึกๆผมเชื่อว่า คนไทยใจดี ไม่มีใครอยากทำผิดหรอก แต่ในเมื่อมันเกิดขึ้นไปแล้ว หากผู้กระทำความผิดยอมรับผิดและยอมปล่อยให้กฎหมายเป็นเครื่องพิสูจน์ความจริง สังคมให้อภัยเสมอแหละครับ สังเกตได้จาก ข่าวดาราขับรถชนคนตายที่ผ่านๆมา ยอมรับผิด ดำเนินคดีตามกฎหมาย เยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น เรื่องก็จบอย่าง Happy Ending เกือบทุกครัั้งไป

เหตุการณ์ในครั้งนี้ คงเป็นเครื่องเตือนใจได้อย่างดีว่า "ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม การมี "สติ" ควบคุมการกระทำเอาไว้ ย่อมเป็นทางออกที่ดีที่สุด"

ขอไว้อาลัยกับผู้สูญเสียทุกท่านมา ณ ที่นี้ครับ

@Onizugolf Smiley

อ้างอิง
เปิดคลิปชนสยองบนทางด่วนตายเกลื่อน!, //www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=419&contentID=112446
'วันชัย'เผยสาว16ขับเก๋ง พ่อแม่ต้องรับผิดด้วย, //www.thairath.co.th/content/region/137929

บทความนี้ สามารถนำไปใช้ได้โดยไม่ต้องขออนุญาต แต่กรุณาแสดงที่มาและแนบลิ้งไว้ด้วย (เพราะอาจมีการแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาเป็นระยะ) และต้องไม่ใช้เพื่อการแสวงหาประโยชน์ในทางธุรกิจ




 

Create Date : 29 ธันวาคม 2553   
Last Update : 6 มกราคม 2554 7:49:33 น.   
Counter : 6392 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  

onizugolf
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 18 คน [?]




[Add onizugolf's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com