หลักสุจริต กับ การแจ้งความดำเนินคดี

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5 บัญญัติว่า
“ในการใช้สิทธิแห่งตนก็ดี ในการชำระหนี้ก็ดี บุคคลทุกคนต้องกระทำโดยสุจริต”

เพราะถ้าการใช้สิทธิเริ่มมาจากการความไม่สุจริตเสียแล้ว กฎหมายย่อมไม่ให้การคุ้มครอง

ดังสุภาษิตกฎหมายที่ว่า “ผู้ที่มาพึ่งศาล จะต้องมาศาลด้วยมือสะอาด (He who comes to equity must come with clean hands.)”

ในส่วนของการแจ้งความดำเนินคดี ก็ต้องแจ้งความด้วยความสุจริตเช่นเดียวกัน

คือจะต้อง แจ้งไปตามความเป็นจริง เท่านั้น

เพราะการแจ้งความต่อเจ้าพนักงาน โดย “ฝ่าฝืนต่อความเป็นจริง” ย่อมเป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137

และอาจมีความผิดฐานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย (มาตรา 267 ฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ, มาตรา326 ฐานหมิ่นประมาท)

อีกทั้งยังอาจเป็นการกระทำโดยละเมิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420, 421) อันอาจถูกเรียกค่าเสียหายทางแพ่งได้อีกด้วย

แล้วแจ้งความอย่างไร จึงจะเป็นการแจ้งความโดยสุจริตล่ะ?

ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา เกี่ยวกับเรื่อง การแจ้งความ และ ความสุจริต ดังนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2845/2556

“การฟ้องคดีต่อศาลตามปกติย่อมเป็นการกระทำโดยชอบ เพราะเป็นการที่จำเลยใช้สิทธิของตนทางศาลอันเป็นสิ่งที่กฎหมายอนุญาต การใช้สิทธิเช่นนี้ไม่เป็นการผิดกฎหมายเว้นแต่จะปรากฏว่าจำเลยกระทำโดยไม่สุจริตการที่โจทก์เคยร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยข้อหาข่มขู่ ขู่เข็ญให้เกิดความกลัว ดูหมิ่นซึ่งหน้าและปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และร้องเรียนจำเลยต่อผู้บังคับบัญชาจำเลยในเรื่องเดียวกัน ย่อมมีมูลทำให้จำเลยเข้าใจได้ว่าโจทก์หมิ่นประมาทจำเลย จึงได้ฟ้องโจทก์เป็นคดีอาญาต่อศาลชั้นต้นในความผิดฐานหมิ่นประมาท มิใช่เป็นกรณีที่จำเลยปั้นเรื่องขึ้นฟ้องโจทก์แต่อย่างใด แม้ศาลจะพิพากษายกฟ้องโดยเห็นว่าการกระทำของโจทก์ไม่เป็นการหมิ่นประมาทจำเลยก็ยังไม่พอฟังว่าการกระทำของจำเลยเป็นการใช้สิทธิอันไม่สุจริตอันจะเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์”

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10499/2555

“โจทก์เป็นผู้ซื้อรถคันพิพาทโดยสุจริตในการขายทอดตลาดหรือจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้น ย่อมได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1332 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตรวจสอบทราบตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2543 แล้วว่าโจทก์เป็นผู้ประมูลซื้อรถคันพิพาทได้ไปจากบริษัท จ. ก็ควรจะไปขอคืนรถคันพิพาทจากโจทก์โดยการเตรียมเงินไปชดใช้ราคาที่ซื้อมาให้แก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1332 แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กลับใช้วิธีไปแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีในวันดังกล่าวแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. ผู้เช่าซื้อ ในข้อหายักยอกรถคันพิพาท ทั้งที่ได้มีการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2542 แล้ว และปล่อยให้ระยะเวลาล่วงเลยนานถึง 1 ปี 4 เดือนเศษ เพิ่งจะมาแจ้งความร้องทุกข์ภายหลังจากทราบแล้วว่าโจทก์เป็นผู้ประมูลซื้อรถคันพิพาทไปจากบริษัท จ. พฤติการณ์ดังกล่าวบ่งชี้แสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 หลีกเลี่ยงการปฏิบัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 1332 โดยจงใจอาศัยอำนาจของเจ้าพนักงานในการที่จะปฏิบัติตาม ป.วิ.อ. ว่าด้วยการค้นและยึดสิ่งของใด ๆ ซึ่งน่าจะใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีข้อหายักยอกที่เพิ่งแจ้งความร้องทุกข์ในภายหลังมายึดรถคันพิพาทไป จำเลยที่ 1 จะใช้สิทธิในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์รถคันพิพาทเพื่อติดตามและเอารถคันพิพาทคืนจากโจทก์ไม่ได้ เว้นแต่จำเลยที่ 1 จะได้ชดใช้ราคารถคันพิพาทแก่โจทก์ เพราะสิทธิของจำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ตกอยู่ภายใต้บังคับ ป.พ.พ. มาตรา 1332 และแม้ว่ารถคันพิพาทจะเป็นรถคันเดียวกับรถคันที่จำเลยที่ 1 ให้เช่าซื้อไปในคดีข้อหายักยอก อันน่าจะใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีดังกล่าวก็ตาม แต่ก็มีผลสืบเนื่องมาจากการที่จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์รถคันพิพาทเช่นกัน โจทก์ย่อมได้รับความคุ้มครองดังกล่าว จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการผู้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ทำการแทนในการยึดรถคันพิพาทจากโจทก์โดยไม่ชดใช้ราคาที่ซื้อมา จึงเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 427”

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21908/2555

“การที่โจทก์เคยร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยข้อหาข่มขู่ ขู่เข็ญให้เกิดความกลัว ดูหมิ่นซึ่งหน้าและปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และร้องเรียนจำเลยต่อผู้บังคับบัญชาจำเลยในเรื่องเดียวกัน ย่อมมีมูลทำให้จำเลยเข้าใจได้ว่าโจทก์หมิ่นประมาทจำเลย จึงได้ฟ้องโจทก์เป็นคดีอาญาต่อศาลชั้นต้นในความผิดฐานหมิ่นประมาท มิใช่เป็นกรณีที่จำเลยปั้นเรื่องขึ้นฟ้องโจทก์แต่อย่างใด แม้ศาลจะพิพากษายกฟ้องโดยเห็นว่าการกระทำของโจทก์ไม่เป็นการหมิ่นประมาทจำเลยก็ยังไม่พอฟังว่าการกระทำของจำเลยเป็นการใช้สิทธิอันไม่สุจริตอันจะเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์”

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2279/2557

“ในคดีมูลละเมิดฐานทำให้โจทก์เสียหายต่อร่างกาย เสรีภาพและชื่อเสียง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 นั้นโจทก์จะต้องนำสืบพยานหลักฐานให้ได้ความว่า จำเลยจงใจหรือประมาทเลินเล่อกระทำให้โจทก์ต้องเสียหายต่อร่างกาย เสรีภาพ และชื่อเสียงรวมทั้งหากมีการใช้สิทธิทางศาลก็ต้องถึงขนาดที่ว่าจำเลยกระทำการ โดยไม่สุจริต จงใจให้โจทก์ได้รับความเสียหายโดยใช้ศาลเป็นเครื่องมือกำบัง อันจะเป็นกรณีที่เห็นได้ว่าเป็นการกระทำละเมิด แต่จากคำเบิกความของ พยานโจทก์ต่างก็ไม่ได้รู้เห็นข้อตกลงในการกู้ยืมเงินระหว่างโจทก์กับจำเลย ว่ามีการคิดดอกเบี้ยกันอย่างไร คงรับทราบจากการบอกเล่าของโจทก์ว่าโจทก์ ชำระดอกเบี้ยให้จำเลยในอ้ตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อเดือน แม้ว่าโจทก์ จะเบิกความยืนยันว่าในการกู้ยืมเงินจากจำเลยนั้นจำเลยจะคิดดอกเบี้ย ร้อยละ 5 ต่อเดือนโดยชำระค่าดอกเบี้ยในรูปแบบของแชร์ก็ตาม ก็คงเป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่มีเอกสารหลักฐานที่จะยืนยันได้ว่าเป็นการชำระหนี้ ดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราดังกล่าว พยานหลักฐานจากทางนำสืบของโจทก์ จึงมีน้ำหนักรับฟังได้น้อย การที่จำเลยไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนก็เป็น การใช้สิทธิตาม ที่ ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7) ให้อำนาจไว้ส่วนการที่พนักงานสอบสวน กระทำการสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดต่อไป ก็เพื่อดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิด จึงเป็นเรื่องที่พนักงานสอบสวน ได้กระทำไปตามอำนาจแห่งบทบัญญัติของกฎหมายที่ให้อำนาจไว้ อ้นเป็นเรื่องการปฏิบัติงานของพนักงานสอบสวนเอง แม้ต่อมาศาลจังหวัดสงขลา จะพิพากษายกฟ้องในคดีดังกล่าวก็ปรากฏเหตุที่ศาลยกฟ้องว่า กรณีมีความสงสัยตามสมควรว่าข้อความที่จำเลยไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนนั้น เป็นความเท็จหรือไม่ ทั้งการใช้สิทธิของจำเลยแม้หากจะทำให้โจทก์ต้องเดือดร้อนที่จะต้องเข้าต่อสู้คดีก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากการใช้สิทธิตามกฎหมายโดยสุจรติของจำเลย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานละเมิดต่อโจทก์”

คำชี้ขาดความเห็นแย้งของอัยการสูงสุดที่ 111/2548

“อัยการสูงสุดพิจารณาแล้ว เห็นว่าผู้เสียหายทราบว่าถูกผู้ต้องหาแจ้งความร้องทุกข์ ให้ดำเนินคดีกับตนเมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2547 ตามที่ไต้รับหนังสือฉบับลงวันที่ 1 มิถุนายน 2547 ของทนายความผู้ต้องหา ผู้เสียหายไต้แจ้งความร้องทุกข์เมื่อวันที่ 29 กรกภาคม 2547 คดีจึงยังไม่ขาดอายุความร้องทุกข์ ฐานหมิ่นประมาท และเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังยุติได้ว่า ผู้ต้องหาลงลายมือชื่อในเอกสารโดยสมัครใจไม่ไต้ถูกบังคับขู่เข็ญ แต่ไต้ไปแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับผู้เสียหาย ระบุว่าการลงลายมือชื่อดังกล่าวลูกบังคับขู่เข็ญ หากไม่ยอมทำตามจะถูกนำตัวไปที่สถานีตำรวจ แต่ก็ยังไม่ยินยอมลงลายมือชื่อก็ลูกผู้เสียหายข่มขู่อีกจนต้องยอมลงลายมือชื่อ ซึ่งข้อความเหล่านี้ผู้ต้องหาพูดต่อบุคคลที่สามคือพนักงานสอบสวน แม้จะเป็นการให้การในฐานะผู้เสียหายก็ตาม แต่เมื่อ “รู้แล้วว่าเป็นเรื่องเท็จ” และ “เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย” ทำให้ผู้เสียหายถูกดูหมิ่นเกลียดชัง เสียชื่อเสียงและอาจลูกดำเนินคดีด้วย ข้อความดังกล่าวถือว่าเป็นการกระทำที่หมิ่นประมาทผู้เสียหายแล้ว ชี้ขาด ให้ฟ้องผู้ต้องหา “ฐานหมิ่นประมาท” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2535 มาตรา 3”

สรุปแล้ว การแจ้งความ ที่จะถือได้ว่าเป็นการแจ้งความโดยสุจริตนั้น จะต้อง แจ้งความไปตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น โดยแจ้งความในช่วงระยะเวลาที่ใกล้ชิดกับเหตุการณ์ แจ้งความไปตามพยานหลักฐานที่มี มิได้มีเจตนากลั่นแกล้งบุคคลหนึ่งบุคคลใด... จึงจะถือได้ว่าเป็นการแจ้งความโดยสุจริต ไม่เป็นความผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญา




 

Create Date : 17 สิงหาคม 2558   
Last Update : 17 สิงหาคม 2558 14:15:42 น.   
Counter : 1763 Pageviews.  


10 คำถาม กรณีซื้อคอนโดฯแล้วเจ้าของโครงการโอนไม่ทันภายในกำหนดวันโอนกรรมสิทธิ์

คำถามที่ 1 : จองคอนโดฯ แล้ว เจ้าของโครงการไม่เริ่มสร้างสักที เลิกสัญญาได้หรือไม่?

ตอบ : ได้ ถือว่าทางโครงการฯ (ผู้จะขาย) เป็นฝ่ายผิดสัญญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6474/2541

โดยที่สัญญาจะซื้อจะขายกรรมสิทธิ์ห้องชุดระบุว่าผู้จะซื้อต้องชำระเงินในระหว่างการก่อสร้างตามเวลาที่กำหนดไว้และว่าผู้จะขายสัญญาว่าจะทำการก่อสร้างให้เสร็จโดยเร็ว แสดงว่าสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวเป็นสัญญาต่างตอบแทนดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยซึ่งเป็นผู้จะขายอาคารชุดหยุดการก่อสร้างในระหว่างที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้จะซื้อผ่อนชำระราคา เป็นเวลาถึง 1 ปีเศษกรณีต้องถือว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาจะซื้อจะขายกรรมสิทธิ์อาคารชุด ทำให้โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญากับจำเลยได้ จำเลยให้การต่อสู้เพียงว่าโจทก์มิได้บอกเลิกสัญญาโดยมิได้ให้การว่าการบอกเลิกสัญญาของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังนั้นต้องถือว่าฎีกาของจำเลยในข้อนี้มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้ว โดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยให้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคแรก

คำถามที่ 2 : ในสัญญาจะซื้อจะขายไม่ได้ระบุว่า จะสร้างคอนโดฯ เสร็จภายในเมื่อใด เจ้าของโครงการจะสร้างเมื่อใดก็ได้ใช่หรือไม่?

ตอบ : ไม่ใช่ จะต้องสร้างภายในระยะเวลาอันสมควร ไม่ใช่ว่าคิดจะสร้างเมื่อไรตามใจฉันก็ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 277/2553

สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่าง ด. ผู้บริโภคกับจำเลย เป็นปัญหาพิพาทเกี่ยวกับโครงการบ้านจัดสรรของจำเลยซึ่งคณะกรรมการคุ้มครองบริโภคโจทก์เคยประชุมและมีมติไว้แล้วว่า การกระทำของจำเลยที่ไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้บริโภคจำนวน 9 รายในโครงการดังกล่าวของจำเลย เป็นการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคเหล่านั้น เมื่อ ด. ยื่นเรื่องราวต่อโจทก์อันเป็นปัญหาพิพาทในโครงการเดียวกันของจำเลย เป็นเรื่องในลักษณะเดียวกับที่โจทก์เคยมีมติไว้แล้ว โจทก์จึงไม่จำต้องนำเรื่องราวของ ด. เข้าประชุมอีก เนื่องจากโจทก์ได้มีมติไว้แล้วว่าในการดำเนินคดีแก่จำเลยนั้นให้รวมถึงผู้บริโภครายอื่นที่จะมาร้องเรียนเพิ่มเติมในลักษณะเดียวกันในภายหลังด้วย การฟ้องร้องของโจทก์ในคดีนี้จึงชอบด้วยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 10 (1) (7) และมาตรา 39

สัญญาจะซื้อจะขายมิได้กำหนดเวลาการเริ่มลงมือก่อสร้างและกำหนดเวลาการก่อสร้างแล้วเสร็จไว้ แต่ก็เป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยต้องรีบลงมือก่อสร้างและก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในเวลาอันสมควรอันเป็นไปตามหลักสุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 368 มิใช่ขึ้นอยู่กับความพอใจจำเลยว่าจะเริ่มลงมือก่อสร้างเมื่อใดก็ได้ แต่จำเลยมีหน้าที่ต้องรีบลงมือก่อสร้างโดยพลันตามมาตรา 203 เมื่อ ด. ผู้บริโภคได้ชำระเงินแก่จำเลยเป็นจำนวนถึง 130,000 บาท แต่จำเลยยังมิได้เริ่มลงมือก่อสร้างบ้าน ด. จึงมีสิทธิที่จะไม่ชำระเงินค่างวดแก่จำเลยได้เนื่องจากเป็นสัญญาต่างตอบแทนตามมาตรา 369 ดังนั้น การที่ ด. ไม่ชำระเงินค่างวดแก่จำเลยตั้งแต่งวดที่ 6 เป็นต้นไป ด. จึงไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา

การดำเนินคดีในศาลของเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคได้รับยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2422 มาตรา 39 วรรคสอง จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นค่าส่งหมายเรียกสำเนาคำฟ้อง และค่าส่งคำบังคับ ซึ่งเป็นค่าฤชาธรรมเนียมที่ชำระมาให้แก่โจทก์

คำถามที่ 3 : เจ้าของโครงการ เสนอขายคอนโดฯ โดยเสนอว่า / อ้างว่า / อวยว่า / รับปากว่า / ให้คำมั่นว่า / แผ่นพับ-โบรชัวร์-ประกาศ-เว็บไซต์ ระบุไว้ว่า.... จะสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกหรือสาธารณูปโภคให้ด้วย แต่ปรากฏว่าไม่ได้สร้างจริงตามที่พรรณนาไว้ ผู้จะซื้อเลิกสัญญาได้หรือไม่?

ตอบ : ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2729/2545

โจทก์เสนอขายที่ดินในโครงการโดยมีแผนผังประกอบการขายด้วย จำเลยเข้าทำสัญญาจะซื้อจะขายเพราะเชื่อว่าโจทก์จะสร้างสาธารณูปโภคอันได้แก่สะพาน ตลาดระบบประปา ไฟฟ้าและโรงเรียนอนุบาล แต่ต่อมาโจทก์ไปยื่นคำขออนุญาตทำการค้าที่ดินระบุว่าขายราคาตารางวาละ 300 บาท ไม่มีการจัดทำสาธารณูปโภคอย่างอื่น เว้นแต่ทำถนนลูกรังเท่านั้น การกระทำของโจทก์เป็นการปฏิเสธการชำระหนี้ตามสัญญาจะซื้อจะขาย จำเลยจึงไม่มีหน้าที่ต้องชำระหนี้แก่โจทก์ ถือว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาจำเลยย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ การที่จำเลยขอเงินค่าที่ดินคืนจากโจทก์เมื่อโจทก์ปฏิเสธว่าไม่มีหน้าที่ที่จะต้องสร้างสาธารณูปโภคเป็นการบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแล้ว สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจึงเป็นอันเลิกกัน โจทก์และจำเลยต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม โจทก์ต้องคืนเงินค่าที่ดินซึ่งได้รับจากจำเลยตามสัญญาจะซื้อจะขายแก่จำเลยโดยจำเลยต้องจดทะเบียนโอนที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขายคืนแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5352/2553

ในโครงการอาคารชุด ร. จำเลยจัดทำภาพจำลองอาคารและแผ่นโฆษณาระบุว่าจำเลยจะก่อสร้างอาคารศูนย์สรรพสินค้าขนาดใหญ่ติดกับอาคารชุด โดยมีสระน้ำขนาดใหญ่บนอาคารจอดรถของอาคารชุดเพื่อจูงใจลูกค้าให้ซื้อห้องชุดในโครงการอาคารชุดดังกล่าว ซึ่งมีลักษณะเป็นการที่จำเลยประกาศโฆษณาอันมีผลทำให้โจทก์ผู้จะซื้อเข้าใจได้ในขณะทำสัญญาว่าจำเลยตกลงจะดำเนินการก่อสร้างอาคารชุดโดยมีสระว่ายน้ำขนาดใหญ่บนอาคารจอดรถควบคู่ไปกับการก่อสร้างอาคารศูนย์สรรพสินค้าด้วย การที่โจทก์บอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดและขอเงินที่โจทก์ชำระแก่จำเลยไปแล้วคืน ก็เพราะจำเลยไม่ดำเนินการก่อสร้างสระว่ายน้ำขนาดใหญ่และอาคารศูนย์การค้าตามที่จำเลยได้พรรณนาไว้ การทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดระหว่างจำเลยผู้จะขายกับโจทก์ผู้จะซื้อเกิดจากเจตนาของจำเลยที่เสนอจะก่อสร้างอาคารชุดที่จะขายติดกับอาคารศูนย์สรรพสินค้าในโครงการอาคารชุดและโจทก์แสดงเจตนาสนองรับเข้าทำสัญญาเพราะเห็นว่าห้องชุดที่จะซื้อมีอาคารศูนย์สรรพสินค้าขนาดใหญ่อยู่ติดกับอาคารชุดนั้น อันจะทำให้โจทก์ได้รับความสะดวกสบายในการซื้อสินค้าต่างๆตามที่ต้องการและประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางด้วย ดังนี้ แม้ข้อความในสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดจะไม่ได้ระบุข้อความว่าจำเลยต้องก่อสร้างสระว่ายน้ำขนาดใหญ่บนลานจอดรถของอาคารชุดและก่อสร้างศูนย์สรรพสินค้าขนาดใหญ่ติดกับอาคารชุด แต่จำเลยก็ต้องผูกพันและมีหน้าที่ต้องก่อสร้างสระว่ายน้ำและศูนย์สรรพสินค้าดังกล่าวตามเจตนาที่เสนอโดยประกาศโฆษณาไว้ต่อโจทก์ เพราะแผ่นโฆษณาแสดงภาพจำลองอาคารชุดและอาคารศูนย์สรรพสินค้าถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดระหว่างโจทก์กับจำเลยด้วย

เมื่อปรากฏตามสัญญาจะซื้อจะขายว่า จำเลยผู้จะขายตกลงว่าจะพยายามดำเนินการก่อสร้างอาคารชุดพร้อมจดทะเบียนอาคารชุดให้เสร็จภายในปี 2541 ในกรณีที่จำเลยผู้จะขายไม่สามารถดำเนินการดังกล่าวให้แล้วเสร็จตามกำหนด เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุผลความล่าช้าที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของจำเลย จำเลยยอมที่จะคืนเงินที่โจทก์ผู้จะซื้อชำระมาแล้วทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ผู้จะซื้อเมื่อจำเลยยังดำเนินการก่อสร้างอาคารศูนย์สรรพสินค้าไม่เสร็จและมิได้ก่อสร้างสระว่ายน้ำขนาดใหญ่บนลานจอดรถของอาคารชุดภายในกำหนดเวลาตามสัญญาจะซื้อจะขายโดยไม่มีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุความล่าช้าที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของจำเลย จำเลยจึงเป็นฝ่ายปฏิบัติผิดสัญญาดังกล่าว โจทก์ย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยแต่ละฝ่ายต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม จำเลยจึงต้องคืนเงินที่โจทก์ได้ชำระแก่จำเลยแล้วให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยคิดตั้งแต่เวลาที่จำเลยได้รับไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่งและวรรคสอง แต่โจทก์กลับมีหนังสือบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยให้จำเลยคืนเงินที่โจทก์ได้ชำระแก่จำเลยภายใน 7 วัน นับแต่วันที่จำเลยได้รับหนังสือ จึงเท่ากับโจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องให้จำเลยชำระดอกเบี้ยสำหรับเงินอันจะต้องใช้คืนนั้นนับแต่เวลาที่จำเลยได้รับไว้ เมื่อจำเลยได้รับหนังสือดังกล่าวเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2545 แต่จำเลยเพิกเฉย จำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัดตั้งแต่วันที่ 7 กันยายน 2545 และต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินที่จำเลยได้รับไว้นับแต่วันที่ 7 กันยายน 2545 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง แต่โจทก์ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 9 กันยายน 2545 อันเป็นวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ศาลฎีกาจึงไม่อาจพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์นับแต่วันที่ 7 กันยายน 2545 อันเป็นวันผิดนัดได้เพราะจะเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าที่ปรากฏในคำฟ้อง ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 247 ประกอบ 246 และ142

คำถามที่ 4 : เจ้าของโครงการ เสนอขายคอนโดฯ ให้แก่ประชาชน โดยกำหนดระยะเวลาโอนกรรมสิทธิ์ไว้โดยชัดแจ้งในสัญญา แล้วไม่สามารถดำเนินการได้ภายในกำหนด เลิกสัญญาได้หรือไม่?

ตอบ : ได้ เพราะถือว่า กำหนดระยะเวลา เป็น "สาระสำคัญ" ของสัญญา หากไม่ปฏิบัติตาม ถือว่าเป็นฝ่ายผิดสัญญา ก่อสิทธิให้แก่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งที่จะบอกเลิกสัญญาได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  132/2544
 
โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดพิพาทโดยมุ่งหมายจะได้รับประโยชน์จากการใช้สอยและยังมั่นใจว่าโครงการจะต้องก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามที่ระบุเอาไว้ในสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดและตามคำโฆษณาของจำเลย ฉะนั้น กำหนดระยะเวลาก่อสร้างแล้วเสร็จจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งของสัญญา การที่จำเลยก่อสร้างห้องชุดพิพาทไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดตามสัญญาเนื่องมาจากผู้รับเหมาก่อสร้างดำเนินการล่าช้าจนต้องจัดหาผู้รับเหมารายใหม่มาดำเนินการแทนนั้น จำเลยในฐานะเจ้าของโครงการขนาดใหญ่และเป็นผู้คัดเลือกผู้รับเหมาก่อสร้างย่อมจะต้องจัดหาผู้รับเหมาก่อสร้างที่มีความสามารถและควบคุมกวดขันให้ผู้รับเหมาก่อสร้างดำเนินการก่อสร้างให้เป็นไปตามกำหนดเวลาที่ได้ตกลงกันไว้ต่อโจทก์การที่จำเลยทราบว่าผู้รับเหมาก่อสร้างล่าช้า แต่จำเลยกลับไม่รีบ ดำเนินการแก้ไขเพื่อให้อาคารชุดที่ก่อสร้างเสร็จทันภายในกำหนดและ สามารถส่งมอบห้องชุดพิพาทให้แก่โจทก์ผู้จะซื้อได้ ความล่าช้าในการ ก่อสร้างจึงถือว่าเป็นความบกพร่องของจำเลยเอง หาใช่กรณีมีเหตุจำเป็น ที่จะเป็นเหตุให้จำเลยขยายกำหนดเวลาก่อสร้างแล้วเสร็จตามสัญญา ออกไปได้

ที่จำเลยอ้างว่า แม้จำเลยก่อสร้างแล้วเสร็จตามกำหนดโจทก์ก็ไม่สามารถรับโอนกรรมสิทธิ์และเข้าครอบครองห้องชุดพิพาทได้เนื่องจากต้องรอการจดทะเบียนอาคารชุดและโอนกรรมสิทธิ์ก่อนนั้นการจดทะเบียนนิติบุคคลอาคารชุดก็ดี การจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดก็ดี ล้วนเป็นข้อกำหนดในสัญญาอีกขั้นตอนหนึ่งแยกออกจากกันกับกำหนดระยะเวลาการก่อสร้างแล้วเสร็จตามสัญญา จะนำมาเกี่ยวพันกันหาได้ไม่ การที่จำเลยไม่ดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในกำหนดจำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาโดยไม่ต้องคำนึงถึงกำหนดระยะเวลาการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาท

เมื่อจำเลยไม่ดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จจนเลยระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาจะซื้อจะขายจึงเป็นการละเลยไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิเลิกสัญญาได้โดยมิพักต้องบอกกล่าวก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 388

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1608/2552

สัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดพิพาท ระบุว่า ผู้จะขายตกลงว่าจะพยายามดำเนินการก่อสร้างอาคารชุดพร้อมจดทะเบียนอาคารชุดให้เสร็จภายในประมาณปี พ.ศ.2541 โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดพิพาทกับจำเลยโดยมุ่งหมายจะได้รับประโยชน์จากการใช้สอยห้องชุด โดยมั่นใจว่าโครงการจะต้องก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามที่ระบุไว้ในสัญญาจะซื้อจะขาย กำหนดระยะเวลาก่อสร้างแล้วเสร็จจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งของสัญญา จำเลยมีหนังสือชี้แจงความคืบหน้าโครงการอาคารชุด ลงวันที่ 18 มีนาคม 2542 ไปถึงโจทก์ ระบุชัดเจนว่าจำเลยคาดว่าจะสามารถดำเนินการก่อสร้างห้องชุดให้แล้วเสร็จและแจ้งการรับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดได้ในไม่ช้านี้ แสดงว่าจำเลยก่อสร้างห้องชุดพิพาทไม่แล้วเสร็จในปี 2541 จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาโจทก์ย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดพิพาทได้

แผ่นพับโฆษณาของจำเลยระบุว่า สำนักงานขายของจำเลยอยู่เลขที่ 632/134 ถนนพระปิ่นเกล้า บางยี่ขัน บางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร นอกจากนี้หนังสือนัดหมายโจทก์ตรวจรับห้องชุด และหนังสือชี้แจงความคืบหน้าก็ระบุว่าจำเลยมีที่อยู่ดังกล่าวเช่นกัน แสดงว่าสถานที่ดังกล่าวเป็นสำนักงานสาขาของจำเลยจึงเป็นภูมิลำเนาในส่วนกิจการอันได้กระทำ ณ สถานที่นั้นด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 69 โจทก์ส่งหนังสือบอกเลิกสัญญาไปถึงจำเลย ณ สถานที่ดังกล่าว และจำเลยได้รับแล้ว การบอกเลิกสัญญาของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย

การที่สัญญาจะซื้อจะขายห้องชุด ข้อ 11 กำหนดให้จำเลยคืนเงินที่โจทก์ชำระมาแล้วทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยตามอัตราเงินฝากประจำของธนาคารพาณิชย์ซึ่งไม่ชัดแจ้งว่ามีอัตราเท่าใด จึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 7 ที่ให้ใช้อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี

คำถามที่ 5 : หากเจ้าของโครงการ ไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ให้ได้ตามกำหนดระยะเวลาในสัญญาแล้ว เนื่องจากมี Defect หลายแห่ง แต่ไม่ดำเนินการซ่อมแซมให้เรียบร้อย แต่กลับมีหนังสือแจ้งให้ผู้จะซื้อไปดำเนินการรับโอนกรรมสิทธิ์ ถ้าผู้จะซื้อไม่ไปรับโอนกรรมสิทธิ์ ถือว่าผู้จะซื้อเป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือไม่?

ตอบ : ไม่ถือว่าผู้จะซื้อเป็นฝ่ายผิดสัญญา เพราะ ผู้จะขายเป็นฝ่ายผิดสัญญาก่อนแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1039/2541

สัญญาจะซื้อจะขายกรรมสิทธิ์ห้องชุด ระบุวันเดือนปีในการชำระเงินมัดจำไว้ 6 งวด เริ่มงวดแรกวันที่15 มีนาคม 2533 งวดสุดท้ายวันที่ 15 สิงหาคม 2533 ส่วนที่เหลือ 358,800 บาท กำหนดชำระในวันโอนกรรมสิทธิ์และหมายเหตุว่าโอนกันเดือนพฤศจิกายน ตามข้อสัญญาดังกล่าวได้กำหนดเวลาในการชำระหนี้และโอนกรรมสิทธิ์ไว้แล้ว ผู้จะซื้อย่อมบอกเลิกสัญญาได้เลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 388 การที่ผู้จะซื้อปล่อยเวลาไว้นานเกือบ 5 ปี จึงบอกเลิกสัญญา และขอมัดจำคืนก็มิใช่กรณีที่คู่สัญญาผู้จะซื้อจะขายมิได้ถือเอาระยะเวลาเป็นสาระสำคัญในการชำระหนี้การเลิกสัญญาจึงมิต้องบอกกล่าวให้ชำระหนี้ตามมาตรา 387 การที่จำเลยผู้จะขายมีปัญหากับบริษัท ท.ผู้รับจำนอง แล้วโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทให้โจทก์ตามสัญญาไม่ได้ เป็นความผิดของจำเลยเพียงฝ่ายเดียวแม้โจทก์มิได้ดำเนินการอย่างไร จะถือว่าโจทก์ผ่อนเวลาให้จำเลยไม่ได้ เมื่อจำเลยไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทให้โจทก์ได้ตามกำหนดเวลาในสัญญาจึงถือว่าจำเลยเป็นผู้ผิดสัญญาต่อโจทก์แล้ว หนังสือนัดโอนห้องชุดที่จำเลยมีไปถึงโจทก์หลังจากจำเลยไม่โอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทให้โจทก์ตามวันที่กำหนดไว้ในสัญญา เป็นการกระทำของจำเลยหลังจากที่กำหนดเป็นฝ่ายผิดสัญญาต่อโจทก์แล้ว หนังสือที่จำเลยนัดให้โจทก์ มารับโอนห้องชุดพิพาทหลังจากจำเลยผิดสัญญาต่อโจทก์ แล้วย่อมไม่มีผลทำให้โจทก์กลับมาเป็นผู้ผิดสัญญาแทนจำเลยไปได้

คำถามที่ 6 : เจ้าของโครงการไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้ตามกำหนดในสัญญา ผู้จะซื้อจะต้องมีหนังสือบอกกล่าวให้ปฏิบัติตามสัญญาก่อน หรือ สามารถบอกเลิกสัญญาได้ทันที?

ตอบ : เมื่อผิดสัญญา ที่มีกำหนดระยะเวลาเป็นสาระสำคัญ ผู้จะซื้อสามารถบอกเลิกสัญญาได้ทันที คู่กรณีจะต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1188/2549

จำเลยก่อสร้างอาคารไม่เสร็จตามเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา และจนถึงเวลาที่โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลย จำเลยก็ยังก่อสร้างอาคารไม่แล้วเสร็จ พฤติการณ์เช่นนี้โจทก์หาจำต้องบอกกล่าวกำหนดเวลาให้จำเลยชำระหนี้ก่อนบอกเลิกสัญญาไม่ เพราะถึงอย่างไรจำเลยก็ไม่อาจหรือไม่มีเจตนาที่จะชำระหนี้ให้ถูกต้องตามสัญญาได้อยู่ดี โจทก์ชอบที่จะบอกเลิกสัญญาเสียได้โดยไม่จำต้องบอกกล่าวก่อน การบอกเลิกสัญญาของโจทก์ชอบแล้ว เมื่อสัญญาเลิกกันคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม จำเลยจึงต้องคืนเงินที่ได้รับไว้และเสียดอกเบี้ยแก่โจทก์ด้วยนับแต่เวลาที่ได้รับไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391

คำถามที่ 7 : ก่อสร้างคอนโดฯ ไม่เรียบร้อย เจ้าของโครงการสามารถบีบให้ผู้จะซื้อรับโอนกรรมสิทธิ์ไปก่อนได้หรือไม่?
ตอบ : ไม่ได้ ผู้จะซื้อมีสิทธิปฏิเสธไม่รับโอนกรรมสิทธิ์ได้ ไม่ถือว่าเป็นฝ่ายผิดสัญญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5093/2541
 
 โจทก์ฟ้องกล่าวอ้างว่าจำเลยมีหนังสือให้โจทก์ไปรับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดตามสัญญาจะซื้อจะขาย โจทก์ไปตรวจสอบสภาพการก่อสร้างตามโครงการแล้ว ปรากฏว่าจำเลยยังไม่ได้สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกตามที่โฆษณาไว้กล่าวคือ ยังไม่ได้ติดตั้งโทรศัพท์สายตรงที่ห้องชุด ระบบโทรทัศน์วงจรปิดเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรอง และสระว่ายน้ำ โจทก์ให้จำเลยดำเนินการจัดสร้างให้ครบถ้วนโดยเร็ว แต่จำเลยเพิกเฉยถือว่าจำเลยผิดสัญญา โจทก์จึงให้ทนายความมีหนังสือบอกเลิกสัญญา จำเลยไม่ได้ให้การปฏิเสธข้อกล่าวอ้างของโจทก์ดังกล่าว ถือได้ว่าจำเลยรับในข้อเท็จจริงว่า จำเลยไม่ได้สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกที่ได้โฆษณาไว้ตามฟ้องโจทก์ซึ่งเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 177 วรรคสอง การที่จำเลยมีหนังสือให้โจทก์ไปรับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพร้อมทั้งชำระราคาส่วนที่เหลือตามสัญญาในขณะที่จำเลยยังไม่อยู่ในฐานะที่จะเรียกโจทก์มารับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดตามสัญญา โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะปฏิเสธไม่รับโอนกรรมสิทธิ์ในห้องชุดตามที่จำเลยเสนอและไม่ชำระราคาส่วนที่เหลือได้ โจทก์จึงไม่ใช่เป็นฝ่ายผิดสัญญา เมื่อโจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยดำเนินการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกตามที่โฆษณาให้แล้วเสร็จก่อน แล้วโจทก์พร้อมที่จะรับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพร้อมชำระราคาส่วนที่เหลือตามสัญญาแต่ระยะเวลาผ่านไปนานถึง 2 ปี จำเลยก็มิได้ดำเนินการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้ครบถ้วนตามที่โฆษณาไว้ ถือได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ชอบที่จะบอกเลิกสัญญาได้และคู่สัญญาต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม จำเลยจึงต้องคืนเงินมัดจำและเงินที่โจทก์ผ่อนชำระแก่จำเลยไว้พร้อมดอกเบี้ย ทั้งนี้เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 369,387 และ 391 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่จะเรียกเงินมัดจำและเงินที่ผ่อนชำระคืนเกิดขึ้นเมื่อได้บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยคือวันอันเป็นวันที่จำเลยรับหนังสือบอกเลิกสัญญาจากโจทก์ อายุความจึงเริ่มนับแต่วันดังกล่าวซึ่งเป็นวันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ คดีก่อนโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ในอาคารชุดของจำเลยให้แก่บริษัท ส. โดยกล่าวอ้างว่าจำเลยโอนอาคารชุดของจำเลยให้แก่บริษัท ส. ทำให้จำเลยไม่มีทรัพย์สินอื่นใดเหลืออยู่พอที่จะชำระหนี้แก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ในอันที่จะบังคับให้จำเลยชำระหนี้เงินมัดจำและเงินผ่อนชำระคืนแก่โจทก์ แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้เงินมัดจำและเงินผ่อนชำระคืนแก่โจทก์จึงเป็นกรณีคนละเรื่องกัน แม้โจทก์ฟ้องคดีทั้งสองสำนวนโดยอาศัยมูลคดีที่โจทก์กล่าวอ้างว่า จำเลยผิดสัญญาจะซื้อจะขายอาคารชุดและโจทก์บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยแล้วอย่างเดียวกัน แต่คดีก่อนโจทก์ยังต้องนำสืบให้เห็นว่าจำเลยโอนอาคารชุดให้แก่ผู้อื่นทำให้จำเลยไม่มีทรัพย์อื่นเหลือพอที่จะชำระหนี้แก่โจทก์ ทำให้โจทก์เสียเปรียบไม่อาจบังคับจำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ได้ อันเป็นข้อสำคัญในคดีที่แตกต่างไปจากคดีนี้ คดีทั้งสองสำนวนของโจทก์จึงไม่ เป็นการฟ้องซ้อน

คำถามที่ 8 : ทำสัญญาจะซื้อจะขายคอนโด แต่ผู้ขายกลับเอาคอนโดไปขายให้กับคนอื่น ไม่มีคอนโดโอนให้ ใครผิด?

ตอบ : ผู้จะขายเป็นฝ่ายผิดสัญญา ต้องรับผิดคืนเงินราคาห้องชุดที่ได้รับไปพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายให้ผู้จะซื้อ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6615/2553

เมื่อสัญญายังไม่เลิกกันเพราะการบอกเลิกสัญญาของจำเลย คู่สัญญาจึงยังมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามสัญญา กล่าวคือ โจทก์มีหน้าที่ต้องชำระราคาส่วนที่เหลือและจำเลยมีหน้าที่ต้องโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดทั้งสองห้องแก่โจทก์ แต่ได้ความตามคำให้การของจำเลยว่าจำเลยได้โอนขายห้องชุดทั้งสองห้องแก่บุคคลภายนอกไปแล้วก่อนโจทก์บอกเลิกสัญญา ดังนี้ การชำระหนี้ของจำเลยในการที่จะต้องโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดแก่โจทก์จึงกลายเป็นพ้นวิสัยเพราะเหตุอันเกิดจากการกระทำของจำเลยโดยไม่จำต้องพิจารณาว่าจำเลยอาจซื้อห้องชุดคืนมาโอนให้โจทก์ได้หรือไม่ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย โจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 389 โดยหาจำต้องบอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้ตามมาตรา 387 ก่อน การบอกเลิกสัญญาของโจทก์จึงชอบแล้ว เมื่อสัญญาเลิกกันเพราะโจทก์ใช้สิทธิเลิกสัญญา คู่สัญญาจำต้องให้อีกฝ่ายกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม กล่าวคือ จำเลยจำต้องคืนราคาห้องชุดที่โจทก์ชำระแล้วแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่เวลาที่จำเลยได้รับไว้ ทั้งนี้ตามมาตรา 391 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ประกอบมาตรา 7

คำถามที่ 9 : เมื่อเจ้าของโครงการไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้ภายในกำหนด และผู้จะซื้อบอกเลิกสัญญาแล้ว ผู้จะซื้อมีสิทธิได้ เงินจอง / มัดจำ / เงินดาวน์ คือหรือไม่ เพียงใด?

ตอบ : เมื่อเลิกสัญญาแล้ว คู่กรณีต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม ย่อมมีสิทธิได้รับเงินจอง / มัดจำ / เงินดาวน์ คืนได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6746/2547

สัญญาจะซื้อจะขายบ้านพร้อมที่ดินระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นสัญญาต่างตอบแทนและล่วงเลยเวลาการชำระหนี้มาประมาณครึ่งปีแล้ว โดยโจทก์มิได้ชำระเงินดาวน์ให้ครบถ้วนตามสัญญา ส่วนจำเลยก็มิได้ก่อสร้างบ้านให้แล้วเสร็จในกำหนดที่ตกลงเช่นกัน หนี้ที่จำเลยทวงถามเป็นเงินดาวน์งวดสุดท้ายเพียง 29,500 บาท ซึ่งโจทก์ชำระมาแล้วถึง 642,000 บาท คงเหลือเพียงการโอนกรรมสิทธิ์กันและชำระเงินที่เหลือทั้งหมดโดยวิธีกู้เงินจากธนาคารเท่านั้น ดังนั้น หนังสือบอกกล่าวของจำเลยที่ทวงถามให้โจทก์ชำระหนี้เงินดาวน์งวดสุดท้ายเพื่อใช้สิทธิบอกเลิกสัญญานั้น จำเลยจะต้องขอปฏิบัติการชำระหนี้ต่อโจทก์ด้วยว่าจำเลยพร้อมที่จะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านให้แก่โจทก์แล้ว เมื่อจำเลยมิได้ขอปฏิบัติการชำระหนี้ด้วย โจทก์จะไม่ยอมชำระหนี้นั้นก็ได้ตามมาตรา 369 เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาภายหลังจากจำเลยบอกเลิกสัญญามาแล้วเท่ากับต่างฝ่ายต่างมีเจตนาเลิกสัญญาต่อกัน สัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยจึงเป็นอันเลิกกัน คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งกลับคืนสู่ฐานะเดิม จำเลยต้องคืนเงินดาวน์ที่โจทก์ชำระแล้วทั้งหมดแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยตามมาตรา 391

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6327/2549
 
โจทก์มิได้ชำระเงินค่างวดตรงตามเวลาและครบถ้วนในกำหนดตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ส่วนจำเลยก็มิได้ก่อสร้างบ้านให้แล้วเสร็จภายในกำหนดวันที่โจทก์ต้องชำระเงินค่างวดงวดสุดท้ายและจำเลยตกลงจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ จึงถือว่าต่างฝ่ายต่างมิได้ถือกำหนดระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาเป็นสาระสำคัญต่อไป หนี้ที่ต่างต้องชำระต่อกันจึงไม่มีกำหนดเวลาแน่นอนต่างฝ่ายย่อมเรียกอีกฝ่ายหนึ่งชำระหนี้ได้โดยพลันโดยกำหนดระยะเวลาพอสมควรแล้วบอกกล่าวให้อีกฝ่ายชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนดนั้นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 204 วรรคแรก

สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาต่างตอบแทนและล่วงเลยกำหนดเวลาชำระหนี้มาแล้วประมาณ 10 เดือน ดังนั้นหนังสือบอกกล่าวของจำเลยที่ทวงถามให้โจทก์ชำระเงินค่างวดที่ค้างเพื่อใช้สิทธิบอกเลิกสัญญานั้น จำเลยจะต้องขอปฏิบัติการชำระหนี้ต่อโจทก์ด้วยว่าจำเลยพร้อมที่จะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านให้แก่โจทก์แล้ว เมื่อจำเลยมิได้ขอปฏิบัติการชำระหนี้ด้วย โจทก์จึงมีสิทธิไม่ชำระหนี้ตามสัญญาต่างตอบแทนนั้นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 369 ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยยังก่อสร้างบ้านไม่แล้วเสร็จในขณะที่มีหนังสือบอกกล่าวให้ชำระหนี้ค่างวดที่ค้าง จำเลยจึงไม่อยู่ในฐานะที่พร้อมที่จะขอปฏิบัติการชำระหนี้ตอบแทนให้แก่โจทก์ได้ การที่โจทก์ไม่ชำระเงินค่างวดที่ค้างให้แก่จำเลยจึงไม่ถือว่าโจทก์ผิดสัญญา จำเลยยังไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและริบเงินที่โจทก์ชำระแล้ว

หลังจากที่จำเลยมีหนังสือทวงถามให้โจทก์ชำระค่างวดที่ค้างแล้ว โจทก์ไม่ชำระแต่ได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาแก่จำเลย และต่อมาจำเลยก็ได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์อีก ดังนี้เท่ากับคู่สัญญามีเจตนาเลิกสัญญาต่อกัน สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างโจทก์จำเลยจึงเป็นอันเลิกกัน คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม จำเลยต้องคืนเงินค่างวดที่โจทก์ชำระแล้วทั้งหมดให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง

คำถามที่ 10 : ผู้จะซื้อกู้แบงค์ไม่ผ่าน มีสิทธิได้รับเงินจอง / มัดจำ / เงินดาวน์ คืนหรือไม่?

ตอบ : ต้องดูเป็นกรณีๆไปว่า เป็นความผิดของผู้จะซื้อหรือไม่ ถ้าเป็น ผู้จะขายก็สามารถยึดได้บางส่วน

พิพากษาศาลฎีกาที่ 10115/2556

คดีนี้จำเลยมิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา โดยโจทก์เป็นผู้ผิดสัญญาเนื่องจากไม่สามารถหาเงินมาชำหนี้ส่วนที่เหลือแก่จำเลยได้ และเงินจำนวน 50,000 บาทที่จำเลยวางไว้ในวันทำสัญญาจองและเงินจำนวน238,000 บาท ที่จำเลยวางไว้ให้แก่โจทก์ในวันสัญญาจะซื้อจะขายนั้นมีลักษณะเป็นเงินมัดจำ เมื่อโจทก์ผิดสัญญา จำเลยจึงมีสิทธิริบส่วนนี้ได้ ส่วนเงินที่โจทก์ชำระ ได้ให้แก่จำเลยอีก 2 งวด งวดละ 238,500 รวมเป็นเงิน 477,000บาท นั้นมิใช่มัดจำเนื่องจากเป็นเงินที่โจทก์ชำระหลังจากทำสัญญาจะซื้อจะขายกันแล้ว จึงถือเป็นส่วนหนึ่งของการชำระราคาค่าบ้านและที่ดินเงินส่วนนี้จึงถือเป็นเงินดาวน์ไม่ใช่เงินมัดจำแต่อย่างไรก็ดีตามสัญญามีข้อกำหนดให้จำเลยมีสิทธิริบเงินดาวน์ส่วนนี้ได้หากโจทก์ผิดสัญญา เงินดาวน์ส่วนนี้จึงถือเป็นเบี้ยปรับที่จำเลยมีสิทธิริบจากโจทก์เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา
แต่อย่างไรก็ตามแม้จำเลยมีสิทธิริบเงินมัดจำจำนวน 238,000 บาท และเบี้ยปรับจำนวน 477,000 บาท ได้ดังกล่าว แต่ในส่วนของมัดจำหากมีกรณีต้องริบและมัดจำนั้นสูงเกินส่วน ตามพระราชบัญญัติข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 7 บัญญัติให้อำนาจศาลลดลงให้ริบได้เพียงเท่าความเสียหายที่แท้จริง ซึ่งกฎหมายดังกล่าวเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142(5) ส่วนเบี้ยปรับนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 383 ได้ให้อำนาจศาลในการปรับลดอยู่แล้ว ซึ่งเมื่อได้คำนึงถึงทางได้เสียหายทุกอย่างของจำเลยโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่าที่ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยมีสิทธิรับมัดจำและเบี้ยปรับรวมเป็นเงิน 150,000 บาท นั้นเหมาะสมแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

สรุปง่ายๆ

1.”เงินจอง” คือเงินที่ผู้จะซื้อจ่ายให้แก่ผู้จะขายก่อนวันทำสัญญาจะซื้อจะขาย เพื่อเป็นประกันว่าผู้จะซื้อจะมาทำสัญญาจะซื้อจะขายกับผู้จะขาย

2.”เงินมัดจำ” คือเงินที่ผู้จะซื้อจ่ายแก่ผู้จะขายที่จ่ายในวันทำสัญญาจะซื้อจะขายเพื่อเป็นประกันว่าผู้จะซื้อจะปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขาย

3.”เงินดาวน์ “คือเงินที่ผู้จะซื้อจ่ายให้แก่ผู้จะขายเป็นงวดๆ หลังวันทำสัญญาจะซื้อจะขาย เพื่อเป็นการชำระหนี้บางส่วนก่อนถึงกำหนดวันซื้อขาย

- เงินจองและเงินมัดจำ เป็นเงินที่มอบให้แก่กันไว้ในวันทำสัญญา เพื่อประกันการปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขาย จึงมีลักษณะเป็น มัดจำ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 377 เว้นแต่สัญญาจะเขียนกำหนดไว้ว่าเป็นการวางเงินไว้เพื่อประโยชน์อย่างอื่น ซึ่งหากผู้จะซื้อผิดสัญญาไม่ชำระหนี้ส่วนที่เหลือ ผู้จะขายย่อมมีสิทธิริบเงินเหล่านี้ได้ในฐานะที่เป็นมัดจำได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 378

- เงินดาวน์ ที่ผู้จะซื้อจ่ายให้แก่ผู้จะขายเป็นงวดๆหลังวันทำสัญญาจะซื้อจะขาย ไม่ใช่ มัดจำ เพราะมิใช่ทรัพย์สินที่คู่สัญญาได้ให้ต่อกันไว้ในทำสัญญา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 377 แต่ถือเป็นส่วนหนึ่งของการชำระราคาที่ดินเท่านั้น ดังนั้นหากผู้จะซื้อผิดสัญญาผู้จะขายที่ดินย่อมไม่มีสิทธิริบเงินดาวน์ส่วนนี้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 513/2538,1336/2545,3301/2547)
เว้นแต่ในกรณีสัญญาจะซื้อจะขายมีข้อสัญญาระบุไว้เป็นอย่างอื่น เช่น ระบุในสัญญาทำนองว่า "....หากผู้จะซื้อผิดสัญญา ให้ผู้จะขายมีสิทธิริบเงินดาวน์..."  กรณีดังกล่าว ย่อมทำให้เงินในส่วนนี้กลายเป็น "เบี้ยปรับ" ที่ผู้จะขายมีสิทธิริบได้หากผู้จะซื้อผิดสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 379 แต่หากสูงเกินส่วนก็สามารถปรับลดได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383

+++TIP+++
กรณีที่ผู้จะขายไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้จะซื้อได้ภายในกำหนดระยะเวลาตามที่ระบุไว้ในสัญญา ผู้จะซื้อสามารถบอกเลิกสัญญาได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 388 ประกอบมาตรา 391

สิ่งที่ต้องพิจารณาประกอบ

1. สัญญาจะซื้อจะขาย >>> ดูว่ามีรายละเอียดอย่างไรบ้าง

2. ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้ธุรกิจขายห้องชุดเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2543  โดยเฉพาะข้อ 8.6 ที่ระบุว่า

"8.6) ในกรณีผู้ประกอบธุรกิจไม่สามารถดำเนินโครงการอาคารชุดให้แล้วเสร็จภายในกำหนดสัญญา หรือคาดหมายได้ว่าจะไม่แล้วเสร็จภายในกำหนด

ก. ให้ผู้บริโภคมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและมีสิทธิเรียกเงินที่ผู้บริโภคได้ชำระไปแล้วทั้งหมดคืนจากผู้ประกอบธุรกิจพร้อมดอกเบี้ยในอัตราเดียวกันกับเบี้ยปรับที่ผู้ประกอบธุรกิจกำหนดสำหรับกรณีผู้บริโภคผิดนัดชำระหนี้ แต่ทั้งนี้ ไม่เป็นการตัดสิทธิผู้บริโภคที่จะฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายอย่างอื่น

ข. หากผู้บริโภคไม่ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา ผู้ประกอบธุรกิจยินยอมให้ผู้บริโภคปรับเป็นรายวันตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญา ซึ่งต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละศูนย์จุดศูนย์หนึ่งของราคาห้องชุดที่จะซื้อขาย แต่รวมกันแล้วต้องไม่เกินร้อยละสิบของราคาห้องชุด แต่ถ้าผู้บริโภคใช้สิทธิในการปรับครบร้อยละสิบของราคาห้องชุดแล้วผู้บริโภคเห็นว่าผู้ประกอบธุรกิจไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาต่อไปได้ผู้บริโภคมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้"

3. พระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 ต้องพิจารณาประกอบด้วย เพราะสัญญาจะซื้อจะขายที่เจ้าของโครงการให้ผู้จะซื้อลงนาม มีลักษณะเป็นสัญญาสำเร็จรูป ที่มีการระบุข้อความไว้อยู่แล้ว แก้ไขไม่ได้ ต้องดู มาตรา 7 ประกอบด้วย

4. หลักฐานการโฆษณาของผู้จะขาย ไม่ว่าจะเป็น ประกาศ / โฆษณา / โบรชัวร์ / เว็บไซต์ เก็บข้อมูลไว้ดีๆ เพราะอาจมีประโยชน์กรณีขึ้นศาล

5. ภาพถ่ายสภาพห้องที่ไม่เรียบร้อย จำเป็นค่อนข้างมาก เวลาขึ้นศาล




 

Create Date : 17 กรกฎาคม 2558   
Last Update : 17 กรกฎาคม 2558 16:31:13 น.   
Counter : 1470 Pageviews.  


8 คำถาม เกี่ยวกับ หนังสือมอบอำนาจ

คำถามที่ 1 : มอบอำนาจฟ้องคดี ก่อนเกิดเรื่องได้หรือไม่?

ตอบ : ทำได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 426/2538

หนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์ที่ทำขึ้นก่อนที่จำเลยผูกนิติสัมพันธ์กับโจทก์ซึ่งเป็นการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีล่วงหน้าก็มีผลใช้ได้ โจทก์มอบอำนาจให้ ย. มีอำนาจทำกิจการต่างๆตามที่ระบุไว้รวมทั้งฟ้องคดีเรียกร้องหนี้สินเนื้อหาในหนังสือมอบอำนาจจึงมิใช่เป็นกรณีที่ ย. ซึ่งเป็นตัวแทนได้รับมอบอำนาจทั่วไปจากโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 801 หนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์ย่อมสมบูรณ์มีผลใช้ได้ตามกฎหมาย โจทก์ฟ้องว่าจำเลยได้ใช้บัตรเครดิตที่โจทก์มอบให้ไปใช้จ่ายเพื่อชำระค่าสินค้าและค่าบริการต่างๆโจทก์ได้แจ้งรายการใช้บัตรเครดิตที่โจทก์จ่ายแทนไปให้จำเลยตามกำหนดในแต่ละเดือนจำเลยไม่นำเงินมาหักทอนบัญชีกับโจทก์เป็นเวลาหลายเดือนจำเลยเป็นหนี้โจทก์ 294,702.43บาท จำเลยให้การปฏิเสธแต่เพียงว่าจำเลยมิได้มีเจตนาที่จะก่อภาระหนี้โดยใช้บัตรเครดิตของโจทก์ภาระหนี้ที่โจทก์อ้างเกิดขึ้นจากแหล่งอื่นซึ่งเป็นผู้ทำขึ้น จำเลยจึงไม่เป็นลูกหนี้โจทก์และไม่ผิดสัญญาต่อโจทก์ คำให้การของจำเลยมิได้อ้างเหตุแห่งการนั้นไว้ในคำให้การว่าจำเลยมิได้เป็นลูกหนี้โจทก์และไม่ได้ผิดสัญญาต่อโจทก์เพราะเหตุใดจึงเป็นคำให้การที่ไม่แจ้งชัดซึ่งเหตุแห่งการนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง จำเลยไม่มีสิทธินำพยานมาสืบ

คำถามที่ 2 : หนังสือมอบอำนาจทำเป็นภาษาต่างประเทศ ใช้ได้หรือไม่?

ตอบ : ใช้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6949/2539

การมอบอำนาจให้ฟ้องหรือดำเนินคดีแพ่งย่อมกระทำได้ทั้งภายในและภายนอกราชอาณาจักร เมื่อศาลพิเคราะห์ใบมอบอำนาจเอกสารท้ายฟ้องแล้วไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าไม่ใช่ใบมอบอำนาจอันแท้จริง ทั้งจำเลยก็ไม่ได้ยื่นคำร้องแสดงเหตุอันควรสงสัย ศาลจึงต้องดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป โดยไม่ต้องสั่งให้

โจทก์ดำเนินการให้มีการรับรองเป็นพยานตามความใน ป.วิ.พ. มาตรา 47 วรรคสอง และวรรคสาม ซึ่งย่อมกระทำภายหลังจากที่โจทก์ฟ้องคดีตามใบมอบอำนาจที่ยื่นต่อศาลก่อนแล้ว การที่ทนายโจทก์ยื่นใบมอบอำนาจฉบับภาษาอังกฤษซึ่งมีลักษณะและลายมือชื่อโจทก์ตรงกันกับหนังสือมอบอำนาจเอกสารท้ายฟ้องต่อศาลในวันที่โจทก็อ้างตนเองเบิกความเป็นพยาน แม้โจทก์เบิกความว่าเอกสารดังกล่าวมีโนตารีปับลิกกับกงสุลไทยรับรองหลังวันที่ยื่นฟ้องคดี ก็ไม่มีผลทำให้หนังสือมอบอำนาจเอกสารทายฟ้องซึ่งศาลไม่มีเหตุอันควรสงสัยกลับเป็นการมอบอำนาจโดยไม่ชอบไปได้

คำถามที่ 3 : หนังสือมอบอำนาจฟ้องคดี ไม่ระบุชื่อบุคคลที่จะฟ้อง ได้หรือไม่?

ตอบ : กฎหมายไม่ได้บังคับไว้ว่าจะต้องระบุชื่อบุคคลที่จะฟ้อง สามารถทำได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2303/2534

หนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดี ไม่จำต้องระบุบุคคลที่ต้องถูกฟ้องโดยเฉพาะเจาะจงว่าเป็นจำเลยหรือผู้ใด แม้หนังสือมอบอำนาจเกี่ยวกับคดีไม่ได้ระบุว่ามอบอำนาจให้ฟ้องจำเลยทั้งสอง แต่ก็มีข้อความไว้แล้วว่า โจทก์มอบอำนาจให้ ส. ฟ้องคดีแพ่งแทนและในนามของโจทก์ได้ ส. จึงมีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คพิพาทสิบเอ็ด ฉบับลงวันที่ล่วงหน้ามอบให้โจทก์เพื่อชำระราคาค่ารถขุดดินที่จำเลยที่ 1 เช่าซื้อจากโจทก์สำหรับงวดที่ถึงกำหนดชำระราคาและธนาคารได้ปฏิเสธการจ่ายเงินก่อนโจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ เช็คดังกล่าวถือว่าเป็นเช็คที่จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเงินเพื่อชำระหนี้ให้โจทก์สำหรับเงินค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระโจทก์เมื่อก่อนมีการเลิกสัญญาเช่าซื้อต่อกันและตามหนังสือสัญญาเช่าซื้อ โจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ตกลงกันไว้ว่าเมื่อสัญญาเช่าซื้อเป็นอันเลิกกันแล้ว จำเลยที่ 1 ต้องชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระอยู่ก่อนสัญญาเลิกกันให้โจทก์ จำเลยที่ 1ผู้เช่าซื้อในฐานะผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาทและจำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คพิพาทซึ่งมีมูลหนี้มาจากค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระให้โจทก์ตามข้อสัญญา.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2155/2535

คำให้การจำเลยระบุเพียงว่า ไม่ทราบและไม่รับรอง ไม่ได้ความแจ้งชัดว่าปฏิเสธฟ้องโจทก์จึงเป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้งและไม่ทำให้เกิดประเด็น การมอบอำนาจให้ฟ้องคดีไม่จำต้องระบุชื่อผู้ถูกฟ้องในหนังสือมอบอำนาจเพราะไม่มีกฎหมายบังคับ.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12443/2557

หนังสือมอบอำนาจมีข้อความว่า "บริษัทโจทก์โดยกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนขอมอบอำนาจให้ บ. หรือ ส. คนใดคนหนึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจของบริษัทในกิจการต่างๆตามที่ระบุไว้ โดยให้มีอำนาจฟ้องร้องดำเนินคดีทั้งในคดีแพ่งและคดีอาญา รวมทั้งคดีอื่นๆ ต่อศาลที่มีเขตอำนาจได้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งผู้รับมอบอำนาจช่วงด้วย" เป็นการมอบอำนาจให้ บ. หรือ ส. มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้หลายประการ ทั้งได้ระบุให้มีอำนาจที่จะฟ้องคดีและดำเนินคดีต่อศาลไว้โดยไม่จำกัดตัวบุคคลที่จะต้องถูกฟ้อง จึงเป็นการมอบอำนาจทั่วไปที่รวมถึงให้ยื่นฟ้องต่อศาลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 801 (5) ทั้งการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีไม่จำเป็นต้องระบุบุคคลที่จะต้องถูกฟ้องไว้โดยเฉพาะเจาะจงว่าเป็นผู้ใด การที่ บ. มอบอำนาจช่วงให้ ช. ฟ้องจำเลยทั้งสามแทนโจทก์ จึงเป็นการมอบอำนาจที่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

คำถามที่ 4 : มอบอำนาจให้ฟ้องคดี ต้องระบุศาลที่จะฟ้องหรือไม่?

ตอบ ไม่ต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1202/2535

โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยเช่าที่ดินโจทก์ปลูกสร้างโรงเรือนเลขที่ 520 โจทก์ไม่ประสงค์ให้จำเลยเช่าต่อไปจึงบอกเลิกการเช่าและให้รื้อถอนขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินที่เช่าขอให้จำเลยรื้อถอนตึกแถวเลขที่ 520 ออกจากที่ดินโจทก์ ทั้งขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปด้วย ฟ้องโจทก์จึงแสดงถึงสภาพแห่งข้อหา ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาและคำขอคำบังคับตามป.วิ.พ. มาตรา 172 แล้ว ส่วนที่โจทก์ไม่ระบุว่าจำเลยเช่าที่ดินตรงทิศไหน มุมไหน หรือส่วนไหนของโฉนด ไม่ทำแผนที่แสดงแนวเขตที่ดินที่อ้างว่าจำเลยเช่าแนบมากับฟ้องนั้น ไม่ทำให้ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม การมอบอำนาจให้ฟ้องคดีไม่จำต้องระบุว่าให้ฟ้องที่ศาลไหนเพราะการจะฟ้องคดีที่ไหนนั้นต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ ฎีกาที่ว่าโจทก์ไม่ได้มาเบิกความยืนยันว่าได้ลงลายมือชื่อในช่องผู้มอบอำนาจศาลไม่ควรเชื่อว่าเป็นลายมือชื่อที่แท้จริงนั้นเป็นปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคสอง ส่วนปัญหาว่าบ้านของจำเลยอยู่คนละแห่งกับที่ดินของโจทก์นั้น จำเลยมิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ ถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นตามมาตรา 249 แม้จำเลยจะยกขึ้นในชั้นอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยให้ จำเลยก็ไม่มีสิทธิฎีกา.

คำถามที่ 5 : หนังสือมอบอำนาจต้องแนบมาพร้อมกับคำฟ้องหรือไม่?

ตอบ : ไม่ต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1271/2508

การที่คู่ความทำหนังสือมอบอำนาจให้บุคคลใดเป็นผู้แทนตนในคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 60นั้น แม้การมอบอำนาจจะมีหนังสือมอบอำนาจก็ตามแต่กฎหมายก็มิได้บัญญัติว่าในการยื่นคำฟ้องต่อศาล โจทก์จะต้องแสดงหนังสือมอบอำนาจนั้นติดมากับฟ้องด้วย ซึ่งต่างกับกรณีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 61, 63 และ 64 ซึ่งบัญญัติไว้ชัดเจนว่าต้องยื่นใบแต่งทนาย แสดงใบมอบอำนาจทำหนังสือแต่งตั้งหรือยื่นใบมอบฉันทะต่อศาล ฉะนั้นแม้โจทก์จะมิได้ยื่นใบมอบอำนาจต่อศาลในขณะยื่นคำฟ้องก็ไม่เป็นการขัดต่อกฎหมายแต่ประการใด

ผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้า หาใช่จำกัดเฉพาะผู้ทำสินค้าขึ้นเท่านั้นไม่ แม้โจทก์จะมิใช่ผู้ประดิษฐ์หรือผลิตสินค้า แต่เป็นผู้รับโอนเครื่องหมายการค้าที่เจ้าของเดิมจดทะเบียนไว้ พร้อมด้วยกิจการบริการจำหน่ายสินค้าในประเทศไทย โจทก์ย่อมมีสิทธิแต่ผู้เดียวที่จะค้าขายสินค้าที่มีเครื่องหมายซึ่งได้จดทะเบียนไว้นั้น ฉะนั้น การที่จำเลยสั่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าในบังคับแห่งสิทธิของโจทก์เข้ามาจำหน่ายโดยมิได้รับความยินยอม ย่อมเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ เพราะการสั่งสินค้าเข้ามาจำหน่ายย่อมเป็นการใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ติดมากับสินค้านั้นด้วย (วรรคแรกวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่15/2508)

คำถามที่ 6 : นิติบุคคลโดยกรรมการ มอบอำนาจแล้ว กรรมการออกจากตำแหน่ง หนังสือมอบอำนาจมีผลตามกฎหมายหรือไม่?

ตอบ : มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5741/2538

ขณะทำหนังสือมอบอำนาจ ท. และ ย. มีอำนาจทำการผูกพันโจทก์จึงมีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้ เมื่อ ท. กับ ย. ลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของโจทก์ในหนังสือมอบอำนาจ มอบอำนาจให้ ส. ฟ้องคดีแทนโจทก์ การมอบอำนาจจึงสมบูรณ์ แม้ต่อมาภายหลังจะปรากฏว่าขณะที่ ส.ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ ท. จะพ้นจากตำแหน่งกรรมการไปแล้วก็ตามหนังสือมอบอำนาจก็ยังมีผลสมบูรณ์ใช้บังคับได้ ทั้งไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้เพิกถอนหนังสือมอบอำนาจดังกล่าว ส. จึงยังมีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1146/2545

ขณะมอบอำนาจให้ผู้รับมอบอำนาจเป็นผู้มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาแทนนั้น ผู้มอบอำนาจยังเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์อยู่ แม้ภายหลังผู้มอบอำนาจจะพ้นจากตำแหน่งกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อกระทำการแทนโจทก์ก็ตาม หาได้ทำให้ฐานะของผู้รับมอบอำนาจให้ดำเนินคดีแทนโจทก์สิ้นสุดไปไม่

คำถามที่ 7 : มอบอำนาจ กรรมการลงนามไม่ครบ หรือไม่ได้ประทับตราสำคัญ หนังสือมอบอำนาจสมบูรณ์หรือไม่?

ตอบ : ไม่สมบูรณ์ แต่แก้ไขได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3744/2533

แม้การที่บริษัทโจทก์มอบอำนาจให้ผู้แทนฟ้องคดีโดยกรรมการสองคนลงลายมือชื่อในใบมอบอำนาจโดยไม่ได้ประทับตราสำคัญของบริษัทโจทก์ ทำให้ใบมอบอำนาจนั้นไม่สมบูรณ์ก็ตามแต่ก่อนพิพากษาศาลย่อมมีอำนาจให้โจทก์แก้ไขข้อบกพร่องเกี่ยวกับใบมอบอำนาจให้ฟ้องและดำเนินคดีแทนได้ตามที่เห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม โดยสั่งให้โจทก์ทำใบมอบอำนาจที่สมบูรณ์เข้ามาใหม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7065/2538

สำเนาหนังสือมอบอำนาจโจทก์เอกสารท้ายฟ้องเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง มิได้ประทับตราสำคัญของบริษัทโจทก์ซึ่งไม่ถูกต้องตามที่ระบุไว้ในหนังสือรับรองการจดทะเบียนของโจทก์ แสดงว่าการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีแทนโจทก์ไม่สมบูรณ์ โจทก์ได้กล่าวอ้างมาในอุทธรณ์และฎีกาว่า ต้นฉบับหนังสือมอบอำนาจมีการประทับตราสำคัญของโจทก์ถูกต้องแสดงถึงเจตนาจะทำการแก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องอำนาจของผู้รับมอบอำนาจโจทก์ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมศาลฎีกาอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 66สั่งให้โจทก์แก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องอำนาจของผู้รับมอบอำนาจเสียให้สมบูรณ์ โดยให้ศาลชั้นต้นสั่งให้โจทก์แก้ไขข้อบกพร่องเสียให้สมบูรณ์

คำถามที่ 8 : หนังสือมอบอำนาจที่ทำนอกราชอาณาจักร ในคดีแพ่งต้องปิดอากรแสตมป์หรือไม่?

ตอบ : ไม่ต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3821/2538

ที่จำเลยทั้งสามฎีกาเกี่ยวกับอำนาจฟ้องของโจทก์ในประการแรกว่า การมอบอำนาจให้ฟ้องคดีแทนเป็นการมอบหมายให้ตัวแทนกระทำกิจการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 798 ซึ่งกิจการอันใดกฎหมายบังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือหรือต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วย ดังนั้นหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีแทนจึงต้องลงลายมือชื่อผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจแต่หนังสือมอบอำนาจที่โจทก์อ้างว่าโจทก์มอบอำนาจให้นายกำธร อุ่นหิรัญสกุล ฟ้องคดีแทนโจทก์ตามเอกสารหมาย จ. 2 นายกำธรมิได้ลงชื่อไว้ หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ. 2 จึงไม่สมบูรณ์นายกำธรไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์นั้น เห็นว่า การมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 เมื่อโจทก์แต่ฝ่ายเดียวได้ลงลายมือชื่อเป็นผู้มอบอำนาจให้นายกำธรกระทำกิจการติดตามทวงถามหนี้สินตลอดจนดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสามแทนโจทก์แล้ว แม้นายกำธรไม่ได้ลงชื่อเป็นผู้รับมอบอำนาจด้วย เพียงแต่มาเบิกความยืนยันว่าได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.2 ก็ตาม หนังสีอมอบอำนาจย่อมสมบูรณ์และมีผลให้บังคับได้ตามกฎหมาย นายกำธรจึงมีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น

ปัญหาที่จำเลยทั้งสามฎีกาในประการที่สองว่า หนังสือมอบอำนาจของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.2 มิได้ปิดอากรแสตมป์จึงไม่สมบูรณ์ นายกำธรไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์นั้น เห็นว่าปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้จำเลยทั้งสามมิได้ยกขึ้นต่อสู้ ไว้ในคำให้การ จำเลยทั้งสามก็ยกขึ้นฎีกาได้ ปรากฏว่าหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 ทำขึ้นในต่างประเทศ มีการรับรองโดยโนตารีปับลิกและหัวหน้าฝ่ายกงสุล เมืองจากาตาร์ ประเทศอินโดนีเซีย รับรองอีกชั้นหนึ่งว่า ได้มีการจัดทำเอกสารขึ้นอย่างแท้จริง หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวถือว่าถูกต้องตามกฎหมายประเทศดังกล่าวแล้ว ไม่อยู่ในบังคับที่ต้องปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากรจึงเป็นหนังสือมอบอำนาจที่ชอบด้วยกฎหมาย นายกำธรมีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น

ส่วนปัญหาที่จำเลยทั้งสามฎีกาในประการสุดท้ายว่า โจทก์อ้างว่าโจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลที่ประเทศอินโดนีเซีย แต่โจทก์ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือรับรองถึงสถานะการเป็นนิติบุคคลมาแสดง จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์เป็นนิติบุคคล เมื่อฟังไม่ได้ว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลโดยจดทะเบียนในประเทศอินโดนีเซีย มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการด้านประมง จำเลยทั้งสามให้การต่อสู้คดีว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จดทะเบียนในประเทศอินโดนีเซีย และมีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการขอออกใบอนุญาตในการทำการประมงภายในขอบข่ายงานการดำเนินการของบริษัทโจทก์กับเรือประมงต่างด้าว เพื่อการประมงในเขตน่านน้ำของประเทศอินโดนีเซีย (อีซีแซด)ตามกฎหมายหรือไม่ จำเลยทั้งสามไม่ทราบ และไม่ยอมรับว่าโจทก์สามารถที่จะทำได้คำให้การของจำเลยทั้งสามดังกล่าวจึงเป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้ง เพราะมิได้แสดงเหตุแห่งการปฏิเสธไว้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 177 วรรคสองไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาท ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังตามที่โจทก์กล่าวอ้างในฟ้องว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลดามกฎหมาย โดยโจทก์ไม่ต้องนำสืบถึงหนังสือรับรองการเป็นนิติบุคคลของโจทก์อีก ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

ทางที่ดี ทำหนังสือมอบอำนาจให้เรียบร้อย จะได้ไม่ต้องมาเกิดประเด็นตีความกันในศาล น่าจะดีที่สุด




 

Create Date : 17 กรกฎาคม 2558   
Last Update : 17 กรกฎาคม 2558 16:05:00 น.   
Counter : 6199 Pageviews.  


ค้ำประกัน-จำนอง แก้แล้ว แก้อีกได้นะ รู้ยัง!!!!!

เพิ่งแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เกี่ยวกับเรื่อง ค้ำประกัน-จำนอง ไปหมาดๆ


ยังไม่ทันได้อ่านประมวลฯที่แก้ไขเลย แก้ไขอีกแล้วหรอเนี่ยยยยยยย


วันนี้ (14 กรกฎาคม 2558) "พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 21) พ.ศ.2558 ประกาศราชกิจจานุเบกษาแล้วนะ

 
มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2558 เป็นต้นไป

 
หลักการที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมในครั้งนี้ คือ....

 
- เพิ่มวรรคสองของ มาตรา 681/1 (ที่ประกาศแก้ไขเพิ่มเติมตาม ฉบับที่ 20) เป็นดังนี้ 

"มาตรา 681/1 ข้อตกลงใดที่กําหนดให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่างเดียวกับลูกหนี้ร่วมหรือ ในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วม ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ

ความในวรรคหนึ่ง มิให้ใช้บังคับแก่กรณีผู้ค้ำประกันซึ่งเป็นนิติบุคคลและยินยอมเข้าผูกพันตนเพื่อรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมหรือในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วม ในกรณีเช่นนั้นผู้ค้ำประกันซึ่งเป็นนิติบุคคลนั้นย่อมไม่มีสิทธิดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 688 มาตรา 689 และมาตรา 690”

หมายความว่า กรณีผู้ค้ำประกันเป็นนิติบุคคลและยินยอมเข้าผูกพันตน เป็นลูกหนี้ร่วมได้ ข้อตกลงดังกล่าวไม่เป็นโมฆะ

- ยกเลิกมาตรา 685/1 (ที่ประกาศแก้ไขเพิ่มเติมตามฉบับที่ 20) โดยให้ใช้ข้อความต่อไปนี้แทน

 
"มาตรา 685/1 บรรดาข้อตกลงเกี่ยวกับการค้ำประกันที่แตกต่างไปจากมาตรา 681 วรรคหนึ่ง
วรรคสอง และวรรคสาม มาตรา 686 มาตรา 694 มาตรา 698 และมาตรา 699 เป็นโมฆะ"

หมายความว่า ห้ามขยายขอบเขตความรับผิดของผู้ค้ำประกัน (ตามมาตรา 681 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม มาตรา 686 มาตรา 694 มาตรา 698 และ มาตรา 699) มิฉะนั้นตกเป็นโมฆะ

- ยกเลิกมาตรา 691 วรรคหนึ่ง (ที่ประกาศแก้ไขเพิ่มเติมตามฉบับที่ 20) โดยให้ใช้ข้อความต่อไปนี้แทน

"มาตรา 691 ในกรณีที่เจ้าหนี้ตกลงกับลูกหนี้อันมีผลเป็นการลดจำนวนหนี้ที่มีการค้ำประกันรวมทั้งดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทน หรือค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้น ให้เจ้าหนี้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ค้ำประกันทราบถึงข้อตกลงดังกล่าวภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ตกลงกันนั้น ถ้าลูกหนี้ได้ชำระหนี้ตามที่ได้ลดแล้วก็ดี ลูกหนี้ชำระหนี้ตามที่ได้ลดไม่ครบถ้วนแต่ผู้ค้ำประกันได้ชำระหนี้ส่วนที่เหลือนั้นแล้วก็ดีหรือลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ตามที่ได้ลดแต่ผู้ค้ำประกันได้ชำระหนี้ตามที่ได้ลดนั้นแล้วก็ดี ให้ผู้ค้ำประกันเป็นอันหลุดพ้นจากการค้ำประกันในการชำระหนี้ของผู้ค้ำประกันดังกล่าว ผู้ค้ำประกันมีสิทธิชำระหนี้ได้แม้จะล่วงเลยกำหนดเวลาชำระหนี้ตามที่ได้ลดแต่ต้องไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันที่ครบกำหนดเวลาชำระหนี้ดังกล่าว ในกรณีที่เจ้าหนี้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ค้ำประกันทราบถึงข้อตกลงดังกล่าวเมื่อล่วงเลยกำหนดเวลาชำระหนี้ตามที่ได้ลดแล้ว ให้ผู้ค้ำประกันมีสิทธิชำระหนี้ได้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่เจ้าหนี้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ค้ำประกันทราบถึงข้อตกลงนั้น ทั้งนี้ ข้อตกลงที่ทำขึ้นภายหลังที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้แล้ว หากในข้อตกลงนั้นมีการขยายเวลาชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ มิให้ถือว่าเป็นการผ่อนเวลาตามมาตรา 700
 
ข้อตกลงใดที่มีผลเป็นการเพิ่มภาระแก่ผู้ค้ำประกันให้มากกว่าที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง ข้อตกลงนั้น เป็นโมฆะ”

หมายความว่า ถ้าเจ้าหนี้ลดหนี้ให้แก่ลูกหนี้ชั้นต้นเท่าใด ให้แจ้งผู้ค้ำประกันทราบเป็นหนังสือภายใน 60 วันนับแต่วันที่ตกลงกับลูกหนี้ ถ้าลูกหนี้ชำระเท่าใด หรือผู้ค้ำประกันชำระไปเท่าใด ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นเท่านั้น โดยผู้ค้ำประกันมีสิทธิชำระหนี้ได้แม้ล่วงเวลาชำระหนี้ตามที่เจ้าหนี้ได้ลดให้แก่ลูกหนี้ แต่จะต้องไม่เกิน 60 วันนับแต่วันที่ครบกำหนด ข้อตกลงใดที่จะมีผลเป็นอย่างอื่นในลักษณะเพิ่มภาระให้แก่ผู้ค้ำประกัน ให้ตกเป็นโมฆะ

- เพิ่มวรรคสามของ มาตรา 700 (ที่ประกาศแก้ไขเพิ่มเติมตาม ฉบับที่ 20) เป็นดังนี้

"มาตรา 700 ถ้าค้ำประกันหนี้อันจะต้องชําระ ณ เวลามีกําหนดแน่นอนและเจ้าหนี้ยอมผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้ ผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิด เว้นแต่ผู้ค้ำประกันจะได้ตกลงด้วยในการผ่อนเวลานั้น
 
ข้อตกลงที่ผู้ค้ำประกันทําไว้ล่วงหน้าก่อนเจ้าหนี้ผ่อนเวลาอันมีผลเป็นการยินยอมให้เจ้าหนี้ผ่อนเวลา ข้อตกลงนั้นใช้บังคับมิได้
 
ความในวรรคสอง มิให้ใช้บังคับแก่กรณีผู้ค้ำประกันซึ่งเป็นสถาบันการเงินหรือค้ำประกันเพื่อสินจ้าง
เป็นปกติธุระ”

หมายความว่า หากมีการตกลงกันไว้เป็นการล่วงหน้าว่าเจ้าหนี้ผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้ ให้ถือว่าผู้ค้ำประกันให้ความยินยอมในการผ่อนเวลานั้นๆด้วย เช่นนี้ กฎหมายใหม่ให้ถือว่าตกเป็นโมฆะแต่ไม่ใช้กับผู้ค้ำประกันที่เป็นสถานบันการเงินหรือค้ำประกันเพื่อสินจ้างเป็นปกติธุระ

- ยกเลิกมาตรา 727/1 วรรคสอง (ที่ประกาศแก้ไขเพิ่มเติมตามฉบับที่ 20) โดยให้ใช้ข้อความต่อไปนี้แทน

"มาตรา 727/1 ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด ผู้จํานองซึ่งจํานองทรัพย์สินของตนไว้เพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่นจะต้องชําระไม่ต้องรับผิดในหนี้นั้นเกินราคาทรัพย์สินที่จํานองในเวลาที่บังคับจํานองหรือเอาทรัพย์จํานองหลุด
 
ข้อตกลงใดอันมีผลให้ผู้จำนองรับผิดเกินที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง หรือให้ผู้จำนองรับผิดอย่างผู้ค้ำประกัน ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ ไม่ว่าข้อตกลงนั้นจะมีอยู่ในสัญญาจำนองหรือทำเป็นข้อตกลงต่างหาก ทั้งนี้ เว้นแต่เป็นกรณีที่นิติบุคคลเป็นลูกหนี้และบุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการตามกฎหมายหรือบุคคลที่มีอำนาจควบคุมการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้นเป็นผู้จำนองทรัพย์สินของตนไว้เพื่อประกันหนี้นั้นของนิติบุคคลและผู้จำนองได้ทำสัญญาค้ำประกันไว้เป็นสัญญาต่างหาก"
 
หมายความว่า ข้อตกลงใดๆ ให้ผู้จำนองรับผิดเกินกว่าทรัพย์ที่จำนองหรือรับผิดเสมือนผู้ค้ำประกัน ไม่ว่าจะเขียนรวมมาในสัญญาหรือเขียนแยกสัญญา เป็นโมฆะทั้งสิ้น เข้าใจง่ายๆ คือ หากเราเอาทรัพย์มาค้ำประกันโดยการจำนองแก่เจ้าหนี้เพื่อค้ำประกันบุคคลอื่น ถ้ามีการบังคับจำนองหรือเอาจำนองหลุด เงินยังขาดเท่าใด เราไม่ต้องรับผิดเลย  แต่ทั้งนี้ ไม่ให้ใช้แก่กรณีที่ลูกหนี้เป็นนิติบุคคล แล้วผู้มีอำนาจจัดการนิติบุคคลนั้นเป็นผู้จำนองทรัพย์สินเป็นประกันหนี้ของนิติบุคคลโดยทำสัญญาค้ำประกันไว้ต่างหาก

- ข้อตกลงใดที่ได้ทำขึ้นระหว่างวันที่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมาย
แพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 มีผลใช้บังคับจนถึงวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
ให้ยังคงใช้บังคับต่อไปได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้
 
- ในกรณีที่เจ้าหนี้กระทำการใด ๆ ระหว่างวันที่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 มีผลใช้บังคับจนถึงวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ อันมีผลเป็นการลดจำนวนหนี้ที่มีการค้ำประกัน รวมทั้งดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทน หรือค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้น ให้เจ้าหนี้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ค้ำประกันทราบถึงการลดหนี้ดังกล่าวภายในหกสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และให้ผู้ค้ำประกันเป็นอันหลุดพ้นจากการค้ำประกันตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้
 
รายละเอียดเกี่ยวกับค้ำประกัน-จำนอง ที่แก้ไขตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 (ที่มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2558 เป็นต้นไป เคยเขียนไว้ที่นี่ >>> https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=680328162099685&id=676415212490980&substory_index=0
 
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 จิ้มนี่เลย >> https://www.dlo.co.th/files/Gurantee_Morgage.PDF

พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 21) พ.ศ.2558 ตามภาพประกอบจ๊ะ




 

Create Date : 14 กรกฎาคม 2558   
Last Update : 14 กรกฎาคม 2558 18:41:13 น.   
Counter : 3619 Pageviews.  


คอร์รัปชั่น ฉันจะตามเธอตลอดไป...

เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2558 มีการประกาศใช้บังคับกฎหมายฉบับหนึ่ง

กฎหมายที่ว่านั้นคือ

"พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2558"

โดยเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมรายละเอียดเกี่ยวการทุจริตต่อหน้าที่ (หรือที่เข้าใจง่ายๆ คือ การคอร์รัปชั่น)

ซึ่งตาม พระราชบัญญัติประกอลรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปรามปราบการทุจริต พ.ศ.2542 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2550 และ แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 2 พ.ศ.2554) ได้ให้นิยามความหมายของการทุจริตต่ิหน้าที่ไว้ใน มาตรา 4 ว่าหมายถึง

"“ทุจริตต่อหน้าที่” หมายความว่า ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตําแหน่ง หรือหน้าที่ หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในพฤติการณ์ที่อาจทําให้ผู้อื่นเชื่อว่ามีตําแหน่ง หรือหน้าที่ทั้งที่ตนมิได้มีตําแหน่งหรือหน้าที่นั้น หรือใช้อํานาจในตําแหน่งหรือหน้าที่ ทั้งน้ี เพื่อ แสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบสําหรับตนเองหรือผู้อื่น"

สาระสำคัญที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมครั้งนี้ คือ

ผู้ที่ถูกกล่าวหาหรือจำเลยที่ถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับการทุจริตต่อหน้าที่ หลบหนีระหว่างการพิจารณา หรือหลังจากคดีถึงที่สุดแล้วหนี >>> อายุความไม่ขาด!!

ตามมาตราดังต่อไปนี้

“มาตรา 74/1 ในการดําเนินคดีอาญาตามหมวดนี้ ถ้าผู้ถูกกล่าวหาหรือจําเลยหลบหนีไปในระหว่างถูกดําเนินคดีหรือระหว่างการพิจารณาของศาล มิให้นับระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาหรือจําเลยหลบหนีรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ และเมื่อได้มีคําพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจําเลย ถ้าจําเลยหลบหนีไปในระหว่างต้องคําพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษ มิให้นําบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายอาญามาตรา 98 มาใช้บังคับ”

นอกจากนี้ มีแก้ไขเพิ่มเติมความผิดเดี่ยวกับการทุจริตไว้เพิ่มเติมอีกด้วย ดังนี้

“มาตรา 123/2 ผู้ใดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสําหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทําการหรือไม่กระทําการอย่างใดในตําแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจําคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท หรือประหารชีวิต"

"มาตรา 123/3 ผู้ใดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ กระทําการหรือไม่กระทําการอย่างใดในตําแหน่ง โดยเห็นแก่ทรัพย์สินหรือประโยชน์อ่ืนใด ซึ่งตนได้เรียก รับ หรือยอมจะรับไว้ก่อนที่ตนได้รับแต่งตั้งในตําแหน่งนั้น ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจําคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท"

"มาตรา 123/4 ผู้ใดเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสําหรับตนเองหรือผู้อื่น เป็นการตอบแทนในการที่จะจูงใจหรือได้จูงใจ เจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ โดยวิธีอันทุจริตหรือผิดกฎหมายหรือโดยอิทธิพลของตน ให้กระทําการหรือไม่กระทําการในหน้าที่อันเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่บุคคลใด ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ"

"มาตรา 123/5 ผู้ใดให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ เพื่อจูงใจให้กระทําการ ไม่กระทําการ หรือประวิงการกระทําอันมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

ในกรณีที่ผู้กระทําความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับนิติบุคคลใดและกระทําไปเพื่อประโยชน์ของนิติบุคคลนั้น โดยนิติบุคคลดังกล่าวไม่มีมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสมเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทําความผิดนั้น นิติบุคคลนั้นมีความผิดตามมาตรานี้ และต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งเท่าแต่ไม่เกินสองเท่าของค่าเสียหายที่เกิดขึ้นหรือประโยชน์ที่ได้รับ

บุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับนิติบุคคลตามวรรคสอง ให้หมายความถึง ลูกจ้าง ตัวแทน บริษัทในเครือ หรือบุคคลใดซึ่งกระทําการเพื่อหรือในนามของนิติบุคคลนั้น ไม่ว่าจะมีอํานาจหน้าที่ในการนั้นหรือไม่ก็ตาม"

อีกทั้งกำหนดหลัเกณฑ์เกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้กระทำผิดที่อาจถูกริบเพิ่มเติมด้วย ตามนี้

"มาตรา 123/6 ในการริบทรัพย์สินเนื่องจากการกระทําความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ นอกจากศาลจะมีอํานาจริบทรัพย์สินตามกฎหมายที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว ให้ศาลมีอํานาจสั่งให้ริบทรัพย์สินดังต่อไปนี้ด้วย เว้นแต่เป็นทรัพย์สินของผู้อื่นซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทําความผิด

(1) ทรัพย์สินที่บุคคลได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทําความผิด

(2) ทรัพย์สินหรือประโยชน์อันอาจคํานวณเป็นราคาเงินได้ที่บุคคลได้มาจากการกระทําความผิดหรือจากการเป็นผู้ใช้ ผู้สนับสนุน หรือผู้โฆษณาหรือประกาศให้ผู้อื่นกระทําความผิด

(3) ทรัพย์สินหรือประโยชน์อันอาจคํานวณเป็นราคาเงินได้ที่บุคคลได้มาจากการจําหน่าย จ่าย โอนด้วยประการใดๆ ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์ตาม (1) หรือ (2)

(4) ประโยชน์อื่นใดอันเกิดจากทรัพย์สินหรือประโยชน์ตาม (1) (2) หรือ (3) ในการที่ศาลจะมีคําสั่งริบทรัพย์สินตาม (1) ของวรรคหนึ่ง ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งการกระทําความผิด รวมทั้งโอกาสที่จะนําทรัพย์สินนั้นไปใช้ในการกระทําความผิดอีก
ในกรณีที่ศาลเห็นว่ามีวิธีการอื่นที่ทําให้บุคคลไม่สามารถใช้ทรัพย์สินตาม (1) ของวรรคหนึ่ง ในการกระทําความผิดได้อีกต่อไป ให้ศาลมีอํานาจสั่งให้ดําเนินการตามวิธีการดังกล่าวแทนการริบทรัพย์สินหากการดําเนินการตามวรรคสามไม่เป็นผล ศาลจะมีคําสั่งริบทรัพย์สินนั้นในภายหลังก็ได้"

"มาตรา 123/7 บรรดาทรัพย์สินดังต่อไปนี้ให้ริบเสียทั้งสิ้น เว้นแต่เป็นทรัพย์สินของผู้อื่นซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทําความผิด

(1) ทรัพย์สินหรือประโยชน์อันอาจคํานวณเป็นราคาเงินได้ที่บุคคลได้ให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ เพื่อจูงใจให้กระทําการ ไม่กระทําการ หรือประวิงการกระทําอันมิชอบด้วยหน้าที่

(2) ทรัพย์สินหรือประโยชน์อันอาจคํานวณเป็นราคาเงินได้ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐได้มาจากการกระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ หรือความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม

(3) ทรัพย์สินหรือประโยชน์อันอาจคํานวณเป็นราคาเงินได้ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศได้มาจากการกระทําความผิดตามมาตรา 123/2 หรือมาตรา 123/3 หรือความผิดในลักษณะเดียวกันตามกฎหมายอื่น

(4) ทรัพย์สินหรือประโยชน์อันอาจคํานวณเป็นราคาเงินได้ที่ได้ให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ เพื่อจูงใจบุคคลให้กระทําความผิด หรือเพื่อเป็นรางวัลในการที่บุคคลได้กระทําความผิด

(5) ทรัพย์สินหรือประโยชน์อันอาจคํานวณเป็นราคาเงินได้ที่บุคคลได้มาจากการจําหน่าย จ่าย โอนด้วยประการใดๆ ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์ตาม (1) (2) (3) หรือ (4)

(6) ประโยชน์อื่นใดอันเกิดจากทรัพย์สินหรือประโยชน์ตาม (1) (2) (3) (4) หรือ (5)"

ปปช . ตามล่าข้ามชั่วโคตรนะจ๊ะ จัดไป!!

"พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2558" ในรายละเอียด สามารถดูได้ที่นี่ >> //www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2558/A/060/1.PDF

ส่วน พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ ฉบับก่อนๆ กดดูที่นี่ >> //www.bb.go.th/FILEROOM/CABBBANTI-CORRUPTION/DRAWER001/GENERAL/DATA0000/00000033.PDF




 

Create Date : 10 กรกฎาคม 2558   
Last Update : 10 กรกฎาคม 2558 17:34:22 น.   
Counter : 980 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  

onizugolf
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 18 คน [?]




[Add onizugolf's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com