เอกสารสิทธิเกี่ยวกับที่ดินแต่ละประเภท แตกต่างกันอย่างไร?

คำว่า “เอกสารสิทธิ” มีคำนิยามอยู่ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 1(9) หมายถึงเอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิ

ในส่วนของเอกสารสิทธิ์เกี่ยวกับที่ดินนั้น ในเบื้องต้น มีประมาณนี้

1. แบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1)

- แบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) คือใบแจ้งการครอบครองที่ดินเป็นหลักฐานว่าผู้ครอบครองเป็นผู้แจ้งว่า ตนครอบครองที่ดินแปลงใดอยู่

- ส.ค.1 ไม่ใช่หนังสือแสดงสิทธิที่ดิน เพราะไม่ใช่หลักฐานที่ทางราชการออกให้เพียงแต่เป็นการแจ้งการครอบครองที่ดินของราษฎรเท่านั้น ดังนั้น ตามกฎหมาย ที่ดินที่มี ส.ค.1 จึงทำการโอนกันได้ เพียงแต่แสดงเจตนาสละการครอบครองและไม่ยึดถือพร้อมส่งมอบให้ผู้รับโอนไปเท่านั้น ก็ถือว่าเป็นการโอนกันโดยชอบแล้ว (ปัจจุบันไม่มีการแจ้ง ส.ค.1 อีกแล้ว)

- ผู้มี ส.ค.1 มีสิทธินำมาขอออกโฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 น.ส.3 ก. หรือ น.ส.3 ข) ได้ 2 กรณี คือ

กรณีที่ 1 นำมาเป็นหลักฐานในการขอออกโฉนดที่ดินตามโครงการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินทั่วประเทศ กรณีนี้ ทางราชการจะเป็นผู้ออกให้เป็นท้องที่ไป โดยจะมีการประกาศให้ทราบก่อนล่วงหน้า

กรณีที่ 2 นำมาเป็นหลักฐานในการขอออกโฉนดที่ดิน หรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3, น.ส.3 ก.หรือ น.ส.3 ข) เฉพาะราย คือ กรณีที่เจ้าของที่ดินมีความประสงค์ จะขอออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ก็ให้ไปยืนคำขอ ณ สำนักงานที่ดินที่ที่ดินตั้งอยู่เฉพาะการออกโฉนดที่ดินนี้ จะออกได้ในพื้นที่ที่ได้สร้างระวางแผนที่สำหรับออกโฉนดที่ดินไว้แล้วเท่านั้น

ทั้งนี้ ตาม มาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2551 ได้กำหนดให้ผู้ซึ่งได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ โดยมีหลักฐานการแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1)และยังมิได้ยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ นำหลักฐาน ส.ค.1 มายื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในสองปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ (6 กุมภาพันธ์ 2553) และเมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวหากมีผู้นำหลักฐาน ส.ค.1 มาขอออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ พนักงานเจ้าหน้าที่จะออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้ได้ต่อเมื่อศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดว่าผู้นั้นเป็นผู้ซึ่งได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ

คำพิพากษาฎีกาที่ 1518/2503
การแจ้งการครอบครองที่ดินตามแบบ ส.ค.1 นั้น ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้แจ้งแต่ประการใด เว้นแต่ผู้แจ้งจะได้สิทธิครอบครองอยู่แล้ว โดยชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาฎีกาที่ 1076-1079/2510
ผู้ที่ไม่มีสิทธิในที่ดิน แม้จะได้ไปแจ้งการครอบครอง ได้รับ ส.ค.1 และได้รับ น.ส.3 ก็ไม่ก่อให้เกิดสิทธิครอบครองในที่ดินนั้น รับซื้อที่ดิน น.ส.3 ไว้โดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย แต่เมื่อปรากฏว่าผู้มีชื่อใน น.ส.3 ไม่มีสิทธิในที่ดินนั้น ผู้ซื้อก็ไม่มีสิทธิแต่อย่างใด

คำพิพากษาฎีกาที่ 472/2513
ไม่มีกฎหมายใดบัญญัติว่า ส.ค.1 นั้นเป็นหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินหรือถือว่าเหมือนโฉนด การแจ้งเป็นเพียงการแสดงเจตนาอย่างหนึ่งว่า ผู้แจ้งยังไม่สละสิทธิครอบครองที่ดินที่แจ้งนั้น การแจ้งก็ไม่ก่อให้เกิดสิทธิขึ้นใหม่หรือกรรมสิทธิ์นอกเหนือไปจากสิทธิที่ครอบครองมีอยู่แต่เดิม

คำพิพากษาฎีกาที่ 3884/2556
แบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) เป็นหลักฐานที่รับฟังได้เพียงว่าขณะแจ้งการครอบครองผู้แจ้งอ้างว่า ที่ดินเป็นของผู้แจ้งที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) หาใช่เป็นเอกสารที่รัฐโดยกรมที่ดินเป็นผู้อนุญาตให้เข้าครอบครองไม่ ทั้งที่ดินที่แจ้งการครอบครองไว้ก็ไม่ทำให้เป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดทะเบียนไว้ในทะเบียนที่ดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 อันจะทำให้โจทก์ร่วมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง

ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน เมื่อ ส.ป.ก. ยังมิได้อนุญาตให้โจทก์ร่วมเป็นผู้มีสิทธิเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท โจทก์ร่วมจึงยังไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ที่ดินพิพาทจึงเป็นของ ส.ป.ก. เพื่อใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โจทก์ร่วมย่อมไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยที่จะร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยฐานบุกรุกตามฟ้องซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัว พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจสอบสวนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121 วรรคสอง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องในความผิดฐานบุกรุกตาม ป.อ. มาตรา 362 ซึ่งกฎหมายมุ่งประสงค์จะลงโทษผู้ที่บุกรุกอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น ไม่ใช่บทบัญญัติที่จะลงโทษผู้บุกรุกที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน”

2. ใบจอง (น.ส.2)

- ใบจอง หรือ น.ส.2 คือหนังสือที่ทางราชการออกให้เพื่อเป็นการแสดงความยินยอมให้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินเป็นการชั่วคราว (ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 1) ซึ่งรัฐออกให้แก่บุคคลผู้ประสงค์จะได้ที่ดินของรัฐเป็นของตน โดยบุคคลผู้นั้นได้เสนอความต้องการของตนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่เห็นสมควรก็จะอนุญาตให้เข้าครอบครองที่ดิน และออกใบจองให้ไว้เป็นหลักฐาน

- ใบจอง (น.ส. 2) คือ หนังสือแสดงการยอมให้เข้าครอบครองที่ดินชั่วคราว ที่ออกให้ตามประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งตามระเบียบของคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติกำหนดว่าต้องทำประโยชน์ในเวลาที่กำหนด 6 เดือน นับแต่วันที่รับใบจอง และจะต้องทำประโยชน์ในที่ดินให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี และจะต้องทำประโยชน์ให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 75 ของที่ดินที่จัดให้

- ที่ดินที่มีใบจอง ถ้ายังไม่ได้รับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ จะโอนให้แก่บุคคลอื่นไม่ได้ เว้นแต่จะตกทอดทางมรดก โดยไม่จำกัดว่าจะเป็นทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรม เมื่อทำประโยชน์ตามเงื่อนไขดังกล่าวแล้ว ก็มีสิทธินำใบจองนั้นมาขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3, น.ส.3 ก. หรือ น.ส.3 ข) หรือโฉนดที่ดินได้ แต่หนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือโฉนดที่ดินนั้นจะต้องตกอยู่ในบังคับห้ามโอนตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด

- ตามมาตรา 82 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน บัญญัติไว้เฉพาะการจดทะเบียนลงชื่อ ผู้จัดการมรดกในหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน ประเด็นปัญหาดังกล่าวจึงมีกรณีพิจารณาว่า ใบจองถือเป็นหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 1 คำว่า "สิทธิในที่ดิน" หมายความว่ากรรมสิทธิ์และให้หมายความรวมถึงสิทธิครอบครองด้วย และคำว่า "ใบจอง" หมายความว่า หนังสือแสดง การยอมให้เข้าครอบครองที่ดินชั่วคราว ประกอบกับมาตรา 64 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ได้บัญญัติว่า "ถ้าโฉนดที่ดิน ใบไต่สวน หนังสือรับรองการทำประโยชน์ หรือใบจอง ฉบับสำนักงานที่ดินเป็นอันตราย ชำรุด สูญหาย ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 71 มีอำนาจเรียกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินดังกล่าวจากผู้มีสิทธิในที่ดินมาพิจารณาแล้วจัดทำขึ้นใหม่............."

- ใบจอง เป็น หนังสือแสดงสิทธิในที่ดินประเภทหนึ่ง พนักงานเจ้าหน้าที่จึงชอบที่จะจดทะเบียนลงชื่อผู้จัดการมรดกลงในใบจอง (ดูมาตรา 1, 64, 82 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินประกอบ)

แบบของใบจอง มี 2 แบบ คือ แบบ น.ส. 2 และ น.ส. 2 ก.

- แบบ น.ส.2 ใช้ในการออกใบจองในท้องที่ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยยังไม่ได้ประกาศยกเลิกอำนาจหน้าที่ในการปฏิบัติการตามประมวลกฎหมายที่ดินของหัวหน้าเขต นายอำเภอหรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้ากิ่งประจำอำเภอตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2528
- แบบ น.ส.2 ก. ใช้ในการออกใบจองในท้องที่อื่นนอกจากที่กล่าวไว้ข้างต้น

การออกใบจองมีได้ 2 กรณี คือ

กรณีที่ 1 การจัดที่ดินของรัฐให้แก่ประชาชน เรียกว่า "การจัดที่ดินผืนใหญ่"
ซึ่งเป็นการจัดที่ดินที่มีเนื้อที่ติดต่อกันตั้งแต่ 1,000 ไร่ตามมาตรา 27 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน

กรณีที่ 2 ราษฎรขอจับจองที่ดินแปลงเล็กแปลงน้อย หรือที่เรียกว่า "ที่ดินหัวไร่ปลายนา" เป็นกรณีที่ราษฎรขอจับจองที่ดินตามมาตรา 33 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน สภาพของที่ดินแปลงเล็กแปลงน้อย ได้แก่ ที่ดินของรัฐที่มีเนื้อที่ต่ำกว่า 1,000 ไร่ ซึ่งอาจจะมีพื้นที่กระจัดกระจายไม่ติดต่อเป็นผืนเดียวกัน หรือที่ดินที่มีเนื้อที่ติดต่อเป็นผืนเดียวกัน

กรณีที่ดินหัวไร่ปลายนา ได้แก่ ที่ดินที่อยู่ติดต่อกับที่ดินซึ่งมีการทำประโยชน์อยู่แล้ว ไม่ว่าจะติดต่อกับที่ดินของผู้ขอเอง หรือติดต่อกับที่ดินของผู้อื่น เรียกว่าที่ดินหัวไร่ปลายนาทั้งสิ้น จะมีอยู่ทั่วไปแปลงละไม่กี่ไร่ ให้จัดให้เข้าทำประโยชน์ได้ไม่เกิน 50 ไร่ หากเกิน 50 ไร่จะต้องได้รับอนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นการเฉพาะราย แต่ต้องไม่เกิน 100 ไร่

ประมวลกฎหมายที่ดิน
“มาตรา 31 โฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทําประโยชน์ที่ได้ออกสืบ เนื่องมาจากใบจองตามมาตรา 30 และมาตรา 33 ห้ามมิให้ผู้ได้มาซึ่งสิทธิในที่ดินดังกล่าวโอนที่ดิน นั้นให้แก่ผู้อื่นในกรณีดังต่อไปนี้

(1) ถ้าเป็นกรณีที่ได้ออกใบจองในหรือหลังวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2515 ห้ามโอน ภายในกําหนดสิบปีนับแต่วันได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทําประโยชน์
(2) ถ้าเป็นกรณีที่ได้ออกใบจองก่อนวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ.2515 เฉพาะที่รัฐให้ การช่วยเหลือในด้านสาธารณูปโภคและอื่น ๆ เนื่องจากการจัดที่ดิน ห้ามโอนภายในกําหนดห้าปีนับแต่วันได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทําประโยชน์
ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่กรณีที่ที่ดินนั้นตกทอดทางมรดกหรือโอนให้แก่ ทบวงการเมือง องค์การของรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล รัฐวิสาหกิจที่ จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือโอนให้แก่สหกรณ์เพื่อชําระหนี้โดยได้รับอนุมัติจากนายทะเบียน สหกรณ์
ภายในกําหนดเวลาห้ามโอนตามวรรคหนึ่ง ที่ดินนั้นไม่อยู่ในข่ายแห่งการบังคับคดี”

คำพิพากษาฎีกาที่ 7972/2542
ข้อความในใบจองที่ดินระบุไว้ว่า ใบจองฉบับนี้ให้ไว้เพื่อแสดงว่ารัฐได้ยอมให้ น. (โจทก์) เข้าครอบครองที่ดินพิพาทชั่วคราว และตามมาตรา 1 แห่ง ป. ที่ดิน ใบจอง หมายความว่า หนังสือแสดงการยอมให้เข้าครอบครองที่ดินชั่วคราว ใบจองจึงมิใช่เอกสารสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์เกี่ยวกับที่ดิน เมื่อที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่า แม้ใบจองจะมีชื่อโจทก์ แต่หากโจทก์มิได้ยึดถือครอบครองที่ดินพิพาท โจทก์ก็ไม่ได้สิทธิครองครอง ปัญหาว่าระหว่างโจทก์กับจำเลยฝ่ายใดมีสิทธิครอบครองต้องพิจารณาจากพยานหลักฐานในสำนวน

คำพิพากษาฎีกาที่ 1976/2552
ใบจอง หมายถึงหนังสือแสดงการยอมให้ราษฎรเข้าครอบครองที่ดินชั่วคราวเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยและทำมาหากินเลี้ยงชีพให้เป็นไปตามระเบียบและเงื่อนไขที่ทางราชการกำหนดโดยอยู่ภายใต้ข้อบังคับว่าผู้ได้รับอนุญาตให้จับจองจะโอนไม่ได้เว้นแต่จะตกทอดโดยทางมรดกตาม พ.ร.บ.ให้ใช้ ป.ที่ดิน พ.ศ.2497 มาตรา 8 วรรคสอง ที่ดินตามใบจองจึงยังเป็นของรัฐ ไม่ใช่ที่ดินที่เอกชนมีสิทธิครอบครองอันจะมีการแย่งการครอบครองระหว่างราษฎรด้วยกันได้ การที่ ป. ได้รับอนุญาตจากรัฐให้เข้าครอบครองที่ดินตามใบจอง ต่อมา ป. ถึงแก่ความตายสิทธิตามใบจองย่อมตกทอดได้แก่โจทก์ซึ่งเป็นทายาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 วรรคหนึ่ง มาตรา 1600 มาตรา 1635 ประกอบ พ.ร.บ.ให้ใช้ ป.ที่ดิน พ.ศ.2497 มาตรา 8 วรรคสอง

3. หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 น.ส.3 ก. และ น.ส.3 ข)

หมายความว่าหนังสือรับรองจากพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าได้ทำประโยชน์ในที่ดินแล้ว ปัจจุบัน หนังสือรับรองการทำประโยชน์ มี 3 แบบ ได้แก่

1. น.ส.3 คือ หนังสือคำรับรองจากพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าได้ทำประโยชน์ในที่ดินแล้ว โดยได้มีการรังวัดและจัดทำแผนที่ของที่ดินแล้ว ออกในท้องที่ที่ไม่มีระวางรูปถ่ายทางอากาศ ซึ่งรัฐมนตรียังไม่มีประกาศยกเลิกอำนาจหน้าที่ในการปฏิบัติการตามประมวลกฎหมายที่ดินของหัวหน้าเขต นายอำเภอ หรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ

2. น.ส.3 ก. คือ หนังสือคำรับรองจากพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าได้ทำประโยชน์ในที่ดินนั้นแล้ว โดยออกในท้องที่ที่มีระวางรูปถ่ายทางอากาศ
การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมไม่ต้องประกาศ

3. น.ส. 3 ข. คือ หนังสือคำรับรองจากพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าได้ทำประโยชน์ในที่ดินนั้นแล้ว โดยออกในท้องที่ที่ไม่มีระวางรูปถ่ายทางอากาศ ซึ่งรัฐมนตรีได้ประกาศยกเลิกอำนาจหน้าที่ในการปฏิบัติการตามประมวลกฎหมายที่ดินของหัวหน้าเขต นายอำเภอ หรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ
การจดทะเบียนต้องมีการประกาศมีกำหนด 30 วัน

น.ส.3 ก. ชาวบ้านมักเรียกกันสั้นๆว่า “ครุฑเขียว”

น.ส.3 และ น.ส.3 ข. ชาวบ้านมักเรียกกันสั้นๆว่า “ครุฑดำ”

คำพิพากษาฎีกาที่ 1056/2507
หนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3) เป็นเพียงคำรับรองจากพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าได้ทำประโยชน์ในที่ดินแล้ว และให้โอนกันได้เท่านั้น หาใช่เป็นหลักฐานกรรมสิทธิ์ว่าผู้มีชื่อในหนังสือนั้นเป็นเจ้าของที่ดินทางทะเบียนเช่นโฉนดที่ดินไม่

คำพิพากษาฎีกาที่ 962/2520
หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ไม่เป็นเอกสารสำคัญที่จะแสดงว่าผู้มีชื่อในหนังสือนั้นมีกรรมสิทธิ์ตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ มาตรา 1467 และ 1474 ฉะนั้น แม้จำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นสามีภรรยากันมีชื่อร่วมกันในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ จำเลยที่ 1 สามีก็มีอำนาจจำหน่ายได้โดยลำพัง ไม่จำต้องให้จำเลยที่ 2 ภริยาเข้าชื่อเป็นผู้ขายด้วย

4. โฉนดที่ดิน

โฉนดที่ดิน คือ หนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน โดยมีความหมายรวมถึงโฉนดแผนที่ โฉนดตราจอง และตราจองที่มีการประทับตราว่า "ได้ทำประโยชน์แล้ว" (ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 1) ซึ่งออกให้ตามกฎหมายเก่า แต่ก็ถือว่ามีกรรมสิทธิ์ในที่ดินเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ ผู้เป็นเจ้าของโฉนดที่ดิน จะมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้นอย่างสมบูรณ์สามารถใช้สิทธิในที่ดินได้เต็มที่ มีสิทธิในการจัดจำหน่าย รวมถึงสิทธิในการปกป้องและขัดขวางไม่ให้บุคคลอื่นเข้ามาละเมิดสิทธิของตนในที่ดินนั้นด้วย

โฉนดที่ดิน ชาวบ้านมักเรียกกันสั้นๆว่า “ครุฑแดง” หรือ “น.ส.4”

ซึ่งสำนักงานที่ดินได้กำหนดแบบโฉนดที่ดินไว้ 6 แบบ คือ

1. แบบโฉนดที่ดิน น.ส.4 ก. เป็นแบบโฉนดที่ดินที่ออกโดยกฎกระทรวงฉบับที่ 5 (พ.ศ.2497) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 ซึ่งต่อมาถูกยกเลิกโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 15 (พ.ศ.2510) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497

2. แบบโฉนดที่ดิน น.ส.4 ข. เป็นแบบโฉนดที่ดินที่ออกโดยกฎกระทรวงฉบับที่ 5 (พ.ศ.2497) ออก ตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 ซึ่งต่อมาถูกยกเลิกโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 15 (พ.ศ.2510) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497

3. แบบโฉนดที่ดิน น.ส.4 ค. เป็นแบบโฉนดที่ดินที่ออกโดยกฎกระทรวงฉบับที่ 5 (พ.ศ.2497) ออก ตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 ซึ่งต่อมาถูกยกเลิกโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 15 (พ.ศ.2510) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน
พ.ศ.2497

4. แบบโฉนดที่ดิน น.ส.4 เป็นแบบโฉนดที่ดินที่ออกโดยกฎกระทรวง ฉบับที่15 (พ.ศ.2510) ออก ตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 ซึ่งต่อมาถูกยกเลิกโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 34 (พ.ศ.2529) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497

5. แบบโฉนดที่ดิน น.ส.4 ง. เป็นแบบโฉนดที่ดินที่ออกโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 17 (พ.ศ.2514) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 ซึ่งต่อมาถูกยกเลิกโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 34 (พ.ศ.2529) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497

6. แบบโฉนดที่ดิน แบบ น.ส.4 จ. เป็นแบบโฉนดที่ดินที่ออกครั้งแรกโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 34 (พ.ศ.2529) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 และถึงแม้ว่า กฎกระทรวง ฉบับที่ 34 (พ.ศ.2529)ฯ ต่อมาจะได้ถูกยกเลิกโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 43 (พ.ศ.2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 แล้วก็ตาม แต่กฎกระทรวง ฉบับที่ 43 (พ.ศ.2537)ฯ ซึ่งใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันยังคงใช้โฉนดที่ดินตามแบบ น.ส.4 จ. อยู่
คำพิพากษาฎีกาที่ 1331/2508 ตราบใดที่ผู้ยึดถือที่ดินยังไม่ได้มาซึ่งโฉนด หรือยังไม่ได้รับโฉนดไปจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้ที่ยึดถือไว้ก็จะถือว่าตนได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินอันแท้จริงถูกต้องตามกฎหมายแล้วไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ ถ้ามีบุคคลอื่นมาแย่งการครอบครองนั้น ผู้เป็นเจ้าของที่ดินไม่ฟ้องภายในหนึ่งปี ก็เป็นอันสิ้นสิทธิ์

5. ใบไต่สวน (น.ส. 5)

ใบไต่สวน คือหนังสือแสดงการสอบสวนเพื่อออกโฉนดที่ดินเป็นหนังสือแสดงให้ทราบว่าได้มีการสอบสวนสิทธิในที่ดินแล้ว สามารถจดทะเบียนตามประมวลกฎหมายที่ดินได้ ใบไต่สวนไม่ใช่หนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ แต่สามารถจดทะเบียนโอนให้กันได้

ถ้าที่ดินมีใบไต่สวนและมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์แสดงว่าที่ดินนั้นนายอำเภอได้รับรองการทำประโยชน์แล้ว เมื่อจดทะเบียนโอนจะต้องจดทะเบียนในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ก่อน แล้วจึงมาจดแจ้งหลังใบไต่สวน แต่ถ้าใบไต่สวนมีแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) หรือไม่มีหลักฐานที่ดินใด ๆ และเป็นที่ดินที่นายอำเภอยังไม่รับรองการทำประโยชน์ จะจดทะเบียนโอนกันไม่ได้ เว้นแต่เป็นการจดทะเบียนโอนมรดก

เอกสารสิทธิ์อื่นๆ ที่ราชการออกให้อื่นๆ ที่รู้ความหมายเอาไว้สักนิดก็ดี

- ภ.บ.ท. 5 เป็นแบบยื่นภาษีบำรุงท้องที่ ไม่ใช่เอกสารสิทธิ์ที่แสดงการครอบครอง

ที่ดินในลักษณะนี้ปกติจะซื้อขายกันไม่ได้ เพราะเป็นที่ดินที่ยังไม่มีกฎหมายมารองรับ ยังไม่รู้ว่าต่อไปจะสำรวจออกเอกสารสิทธิหรือไม่อย่างไร แต่การซื้อขายกัน ก็เกิดขึ้นได้ในหมู่คนในกันเอง แต่ใช้ยันกันได้ระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายเท่านั้น จะใช้ยันทางราชการไม่ได้ ไม่ว่าจะครอบครองมากี่สิบปีก็ตาม จะอ้างการซื้อขายไปยันกับทางราชการก็ไม่ได้

พื้นที่ ภบท. ที่สามารถเปลี่ยนเป็นโฉนดหรือเอกสารสิทธิ์การครอบครองได้นั้นคือเขตที่อยู่อาศัย ในชุมชนขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ขึ้นไป ท้องไร่ท้องนาที่มีหลักฐานการใช้ประโยชน์ด้านการเกษตรมาอย่างยาวนาน ไม่ติดกับเขตอุทยาน ไม่ติดกับเขตทหาร ไม่ติดกับป่าสงวน มีสิทธิ์ที่จะเปลี่ยนเป็นเอกสารสิทธิ์การครอบครองได้ แต่ไม่ใช่การไปขอเปลี่ยนแบบรายบุคคลแต่เป็นการกำหนดโดยรัฐเท่านั้น

- น.ค. 3
เป็นหนังสือแสดงการทำประโยชน์ ออกโดยนิคมสร้างตนเอง จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ

- ส.ท.ก.
เป็นหนังสือสิทธิทำกินในเขตป่าไม้ ซึ่งทางกรมป่าไม้เป็นผู้ออกให้

- ส.ป.ก.
เป็นสิทธิในการทำเกษตรกรรม รวมตลอดจนถึงการจัดที่อยู่อาศัยในที่ดินเพื่อเกษตรกรรมนั้น

**ไม่ใช่กรรมสิทธิ์ในที่ดินเป็นแค่เป็นสิทธิ์ครอบครองที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ทำเกษตรกรรมจึงซื้อขายโอนไม่ได้นอกจากตกทอดแก่ทายาทใช้ทำเกษตรกรรมต่อไป ห้ามซื้อขายออกโฉนดไม่ได้ โอนกรรมสิทธิ์ให้คนอื่นไม่ได้ นอกจากทายาท

รายละเอียด ดูเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ของกรมที่ดินทั่วประเทศ และตามลิ้งนี้ >>>
//www.dol.go.th/land…/images/medias/landdoc/file/a2.pdf




Create Date : 29 มิถุนายน 2558
Last Update : 29 มิถุนายน 2558 21:29:00 น. 1 comments
Counter : 6364 Pageviews.  
 
 
 
 
ถ้าที่ดินที่มีบุคคลอื่นนำไปแจ้งออกโฉนดนิกเหนือจากที่ให้แจ้งมีสิทธิเรียกคืนได้ไหม
 
 

โดย: นุสรา น้อยหนู IP: 1.47.193.63 วันที่: 31 สิงหาคม 2560 เวลา:21:25:12 น.  

Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

onizugolf
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 18 คน [?]




[Add onizugolf's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com