ประเด็นว่าด้วยอำนาจในการบล๊อกเว็บไซต์ กรณีคลิปศาล รธน.

บทความนี้จัดทำขึ้นเพื่อวิเคราะห์มุมมองเชิงกฎหมาย หาได้มีเจตนารมณ์ในการที่จะสนับสนุนให้มีการกระทำความผิดหรือใช้ช่องว่างของกฎหมายในการกระทำความผิดแต่อย่างใด เพราะโดยส่วนตัวนั้น เห็นว่า การเผยแพร่คลิปดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นผู้ทำคลิป ผู้เผยแพร่ หรือบุคคลทั่วๆไปที่เห็นคลิปแล้วส่งต่อนั้น เป็นสิ่งที่ไม่สมควรกระทำอย่างยิ่ง เพราะเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อ “อำนาจตุลาการ” ซึ่งเป็นอำนาจอธิปไตย อันเป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ และอาจส่งผลต่อมุมมองในแง่ลบต่อความน่าเชื่อถือของสถาบันตุลาการเป็นแน่

ประเด็นที่อยากนำมาวิเคราะห์ สืบเนื่องจาก ได้บังเอิญอ่านข่าวเรื่อง “ศาลรธน.จี้บล็อกคลิปทีมสอบปชป.สรุปพรรคตรงข้ามจัดฉาก” จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้ ปีที่ ๑๒ ฉบับที่ ๒๙๒๐ ประจำวันพุธ ที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ จาก //www.dailyworldtoday.com/newsblank.php?news_id=8550

เนื้อหาตามข่าวโดยสรุป คือ เลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญและทนายความเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับผู้กระทำและผู้เผยแพร่คลิปเกี่ยวกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดที่ ๒ ทางยูทูป (Youtube) เนื่องจากเป็นการกระทำที่มุ่งทำลายความน่าเชื่อถือของศาลรัฐธรรมนูญ เข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๑๔(๒)(๕) และกระทรวงแทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) จะเร่งดำเนินการสกัดกั้นการเผยแพร่

นอกจากนี้ ได้เห็นข่าว “กระทู้ถามถึง กระทรวงไอซีที ใช้อำนาจอะไรปิดกั้น “คลิปฉาวศาล รธน.”” จาก มติชนออนไลน์ วันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๓ จาก //matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1289276409&grpid=&catid=02&subcatid=0202 ที่เกิดข้อซักถามว่า การที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) สามารถสกัดกั้นคลิปศาลรัฐธรรมนูญชุดที่ ๓ ที่เพิ่งถูกโพสได้ในเวลารวดเร็วนั้น ท่านใช้อำนาจกฎหมายใด

พออ่านข่าวทั้งสองแล้ว ผู้เขียนเกิดคำถามในเชิงกฎหมายขึ้นมาหลายประการ ดังนี้

คำถามที่ 1 การแอบถ่ายคลิปในศาลเป็นการกระทำอันละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่


แม้ในปัจจุบัน ศาลรัฐธรรมนูญ ยังมิได้มีบทบัญญัติที่ชัดเจนในการลงโทษผู้กระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเอาไว้ หากแต่เพียงอาศัย “ข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ. ๒๕๕๐ ข้อ ๑๕” ที่ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจออกระเบียบต่างๆเพื่อใช้บังคับในศาลเท่านั้น

โดยอำนาจตามข้อกำหนดดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญได้ออก “ระเบียบศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยการรักษาระเบียบและความเรียบร้อยในที่ทำการหรือบริเวณที่ทำการศาลรัฐธรรมนูญและการเข้าฟังการไต่สวนของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐” มาใช้บังคับ โดยกำหนดข้อห้ามต่างๆ อาทิ ห้ามนำอาวุธ สัตว์ เครื่องมือสื่อสาร หรือสิ่งของที่น่าจะเป็นอันตรายเข้ามา หรือก่อความเดือดร้อนรำคาญ แต่ก็มิได้มีการกำหนดบทลงโทษกรณีฝ่าฝืนระเบียบดังกล่าวไว้แต่อย่างใด

อย่างไรก็ดี "ข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจาณาและการทำคำวินิจฉัยด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ. ๒๕๕๐ ข้อ ๖"ได้ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ในการนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับ

กรณีที่เกิดประเด็นปัญหาในเรื่องความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลขึ้นนั้น ย่อมสามารถที่จะนำมาตรา ๓๑-๓๓ แห่ง ปวิพ. มาใช้บังคับได้

มาตรา ๓๑ “ผู้ใดกระทำการอย่างใด ๆ ดังกล่าวต่อไปนี้ ให้ถือว่ากระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล
(๑) ขัดขืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาลตามมาตราก่อนอันว่าด้วยการรักษาความเรียบร้อยหรือประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล(๒) เมื่อได้มีคำขอและได้รับอนุญาตจากศาลให้ฟ้องหรือสู้คดีอย่างคนอนาถาแล้ว ปรากฏว่าได้นำคดีนั้นขึ้นสู่ศาลโดยตนรู้อยู่แล้วว่าไม่มีมูลหรือได้สาบานตัว ให้ถ้อยคำตามมาตรา ๑๕๖ ว่าตนไม่มีทรัพย์สินพอที่จะเสียค่าฤชาธรรมเนียมได้ ซึ่งเป็นความเท็จ
(๓) เมื่อรู้ว่าจะมีการส่งคำคู่ความหรือส่งเอกสารอื่น ๆ ถึงตนแล้วจงใจไปเสียให้พ้น หรือหาทางหลีกเลี่ยงที่จะไม่รับคำคู่ความ หรือเอกสารนั้นโดยสถานอื่น
(๔) ตรวจเอกสารทั้งหมดหรือฉบับใดฉบับหนึ่งซึ่งอยู่ในสำนวนความหรือคัดเอาสำเนาเอกสารเหล่านั้นไปโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา ๕๔
(๕) ขัดขืนไม่มาศาลเมื่อศาลได้มีคำสั่งตามมาตรา ๑๙ หรือมีหมายเรียกตามมาตรา ๒๗๗”


มาตรา ๓๒ “ผู้ใดเป็นผู้ประพันธ์ บรรณาธิการหรือผู้พิมพ์โฆษณา ซึ่งหนังสือพิมพ์ หรือสิ่งพิมพ์อันออกโฆษณาต่อประชาชน ไม่ว่าบุคคลเหล่านั้นจะได้รู้ถึงซึ่งข้อความหรือการออกโฆษณาแห่งหนังสือ พิมพ์ หรือสิ่งพิมพ์เช่นว่านั้นหรือไม่ ให้ถือว่าได้กระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งในสองอย่าง ดั่งจะกล่าวต่อไปนี้
(๑) ไม่ว่าเวลาใด ๆ ถ้าหนังสือพิมพ์หรือสิ่งพิมพ์เช่นว่ามานั้น ได้กล่าวหรือแสดงไม่ว่าโดยวิธีใดๆ ซึ่งข้อความหรือความเห็นอันเป็นการเปิดเผยข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์อื่นๆแห่งคดี หรือกระบวนพิจารณาใดๆแห่งคดี ซึ่งเพื่อความเหมาะสมหรือเพื่อคุ้มครองสาธารณประโยชน์ ศาลได้มีคำสั่งห้ามการออกโฆษณาสิ่งเหล่านั้น ไม่ว่าโดยวิธีเพียงแต่สั่งให้พิจารณาโดยไม่เปิดเผย หรือโดยวิธีห้ามการออกโฆษณาโดยชัดแจ้ง
(๒) ถ้าหนังสือพิมพ์หรือสิ่งพิมพ์ ได้กล่าวหรือแสดงไม่ว่าโดยวิธีใดๆ ในระหว่างการพิจารณาแห่งคดีไปจนมีคำพิพากษาเป็นที่สุด ซึ่งข้อความหรือความเห็นโดยประสงค์จะให้มีอิทธิพลเหนือความรู้สึกของประชาชน หรือเหนือศาล หรือเหนือคู่ความ หรือเหนือพยานแห่งคดี ซึ่งพอเห็นได้ว่าจะทำให้การพิจารณาคดีเสียความยุติธรรมไป เช่น
ก. เป็นการแสดงผิดจากข้อเท็จจริงแห่งคดี หรือ
ข. เป็นรายงานหรือย่อเรื่องหรือวิภาค ซึ่งกระบวนพิจารณาแห่งคดี อย่างไม่เป็นกลางและไม่ถูกต้อง หรือ
ค. เป็นการวิภาคโดยไม่เป็นธรรม ซึ่งการดำเนินคดีของคู่ความ หรือคำพยานหลักฐาน หรือนิสัยความประพฤติของคู่ความหรือพยาน รวมทั้งการแถลงข้อความอันเป็นการเสื่อมเสียต่อชื่อเสียงของคู่ความ หรือพยาน แม้ถึงว่าข้อความเหล่านั้นจะเป็นความจริงหรือ
ง. เป็นการชักจูงให้เกิดมีคำพยานเท็จ
เพื่อประโยชน์แห่ง มาตรานี้ ให้นำวิเคราะห์ศัพท์ทั้งปวงใน มาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติการพิมพ์ พุทธศักราช ๒๔๗๖ มาใช้บังคับ”


ในส่วนของการถ่ายภาพหรือถ่ายคลิปในบริเวณศาลนั้น โดยทั่วไป ศาลจะมีการทำประกาศของศาลกำหนดห้ามเอาไว้อย่างชัดเจนอยู่แล้ว เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลก่อน ดังนั้น การถ่ายคลิปโดยที่มิได้รับอนุญาตจากศาลก่อนนั้น ถือเป็นการไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาล ว่าด้วยการรักษาความเรียบร้อย ย่อมเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๓๑(๑) ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญ สามารถอนุโลมนำหลักเกณฑ์ดังกล่าวมาใช้ได้

อย่างไรก็ดี แม้ว่าองค์กรศาล ซึ่งเป็นหนึ่งในสามของอำนาจอธิปไตยของประเทศ และเป็นอำนาจหนึ่งของปวงชนชาวไทยที่อาจถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่โปร่งใส ตลอดจนอาจถูกตรวจสอบถึงความไม่ชอบธรรมที่เกิดขึ้นได้ก็ตาม แต่สิทธิดังกล่าว มิใช่ว่าจะสามารถทำได้โดยอิสระและล่วงละเมิดต่อบทบัญญัติของกฎหมาย เพราะสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายนั้น จะต้องเริ่มขึ้นจากการใช้สิทธิโดยสุจริต และไม่ขัดต่อกฎหมาย กรณีคลิปศาลรัฐธรรมนูญนั้น เกิดขึ้นจากการบวนการได้มาซึ่งพยานหลักฐานโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ย่อมไม่อยู่ในวิสัยที่จะได้รับความคุ้มครองแต่อย่างใด

ทั้งนี้ การกระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลนั้น มิใช่การกระทำที่ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐ บัญญัติไว้เป็นความผิดแต่อย่างใด

คำถามที่ ๒ การเผยแพร่คลิปศาลรัฐธรรมนูญนั้น เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือไม่


กรณีที่มีการแอบถ่ายคลิปแล้วนำมาเผยแพร่ต่อนั้น มีความกล่าวคำหนึ่งที่ว่า “ภาพๆหนึ่งสามารถสื่อความหมายได้ดีกว่าคำพูดพันคำ (A picture say more than thousand words)” เฉกเช่นเดียวกัน การถ่ายคลิปศาลรัฐธรรมนูญย่อมสามารถสื่อความหมายได้หลายอย่าง และในกรณีที่มีการส่งต่อคลิปดังกล่าวไปยังบุคคลที่สามไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดหรือไม่ว่าจะส่งต่อผ่านสื่อในรูปแบบใดถึงคนที่สาม เมื่อผู้ที่มีส่วนได้เสียหรือถูกกล่าวพาดพิงในจเรื่องนั้นๆ รู้สึกว่าสิ่งที่แสดงออกมาอาจพาดพิงและสร้างความเสียหายให้แก่ตน การส่งต่อดังกล่าว ย่อมอาจเข้าข่ายเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๖ และมาตรา ๓๒๘ ได้เช่นเดียวกัน แต่ส่วนจะเป็นความผิดหรือไม่นั้น ย่อมต้องขึ้นอยู่กับพิจารณาพยานหลักฐานต่างๆในชั้นศาลต่อไป

ทั้งนี้ การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทนั้น มิใช่การกระทำที่ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐ บัญญัติไว้เป็นความผิดแต่อย่างใด

(ในประเด็นว่าด้วย การหมิ่นประมาทเป็นความผิดตาม พรบ.คอมฯหรือไม่นั้น โปรดอ่าน //www.bloggang.com/mainblog.php?id=onizugolf&month=10-11-2010&group=1&gblog=4 )

คำถามที่ ๓ การเผยแพร่คลิปศาลรัฐธรรมนูญนั้น เป็นการกระทำความผิดตาม พรบ.คอมฯ มาตรา ๑๔(๒) (๕) หรือไม่


ตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๑๔(๒)(๕) นั้น ได้บัญญัติหลักเกณฑ์ไว้ ดังนี้

มาตรา ๑๔ “ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
(๑) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน
(๒) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน
(๓) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการ ก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา
(๔) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้
(๕) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (๑)(๒) (๓) หรือ (๔)”


ตามเนื้อความในข่าวที่มีการกล่าวอ้างว่า การเผยแพร่คลิปศาลรัฐธรรมนูญ โดยการนำข้อมูลดังกล่าวเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์นั้น เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๑๔(๒) หรือไม่นั้น ประเด็นที่จะพิจารณาในส่วนนี้ ต้องแยกพิจารณาเป็น ๒ ส่วน คือ

๑. คลิปศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์นั้น เป็น “ข้อมูลเท็จ” หรือไม่

ประเด็นนี้ต้องแยกพิจารณาเป็น ๒ กรณีย่อยอีกชั้นหนึ่ง คือ “กรณีที่คลิปดังกล่าวนั้น เป็นคลิปศาลรัฐธรรมนูญนั้นถูกถ่ายขึ้นมาจากเหตุการณ์จริง” และ “กรณีที่คลิปศาลรัฐธรรมนูญนั้นถูกทำขึ้นมา” เพราะผลของทั้งสองกรณีนั้น ย่อมแตกต่างกัน

๑.๑ กรณีที่มีการแอบถ่ายคลิปดังกล่าวขึ้นมาจากเหตุการณ์จริง
เมื่อการแอบถ่ายจากเหตุการณ์จริง หากมิได้มีการจัดฉาก คลิปดังกล่าวย่อมถือเป็นข้อมูลจริง เมื่อนำข้อมูลดังกล่าวเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ย่อมไม่เข้าองค์ประกอบตามมาตรา ๑๔(๒) แห่ง พรบ.คอมฯ เนื่องจาก การกระทำที่จะเป็นความผิดฐานนี้ได้นั้น องค์ประกอบข้อหนึ่งคือ ข้อมูลดังกล่าวจะต้องเป็น “ข้อมูลเท็จ” ส่วนการได้มาซึ่งคลิปดังล่าวนั้นจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นอีกส่วนหนึ่ง

๑.๒ กรณีที่คลิปศาลรัฐธรรมนูญนั้นถูกทำขึ้นมา หรือแม้แต่จะเป็นกรณีที่มีการถ่ายขึ้นจริงๆ แต่ได้ทำการตัดต่อคลิปดังกล่าว
เมื่อมีการจัดฉากเพื่อสร้างคลิปขึ้นมา ไม่ว่าจะมีเจตนาภายในอย่างใด คลิปที่ถ่ายขึ้นนั้น ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นเท็จ เมื่อนำข้อมูลดังกล่าวเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์แล้ว ย่อมเข้าองค์ประกอบในส่วนแรกตามมาตรา ๑๔(๒) แห่ง พรบ.คอมฯแล้ว

(ในกรณีที่มีการทำคำบรรยายใต้ภาพในคลิปศาลรัฐธรรมนูญ จะถือเป็นการทำให้ข้อมูลดังกล่าวกลายเป็นข้อมูลเท็จหรือไม่นั้น ผู้เขียนเห็นว่าไม่น่าใช่ แต่ การเพิ่มคำบรรยายลงไปในคลิป อาจเข้าข่ายเป็นการเติมหรือดัดแปลงด้วยวิธีการอื่นใด อันอาจเป็นความผิดตาม มาตรา ๑๖ แห่ง พรบ.คอมฯ)

๒. การนำคลิปศาลรัฐธรรมนูญ เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์นั้น อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกต่อประชาชน” หรือไม่

ประเด็นนี้ เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาว่า การถ่ายคลิปศาลรัฐธรรมนูญขึ้นมาโดยมีเจตนาเพื่อที่จะทำลายความน่าเชื่อถือในองค์กรศาลหรืออำนาจตุลาการนั้น เป็นการกระทำที่เข้าข่ายเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศหรือไม่?

ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ นั้น ปรากฎอยู่ใน ประมวลกฎหมายอาญา ภาค ๒ ความผิด ลักษณะ ๑ ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หมวด ๑ ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (มาตรา ๑๐๗-๑๑๒) หมวด ๒ ความผิดต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (มาตรา ๑๑๓-๑๑๘) หมวด ๓ ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายนอกราชอาณาจักร (มาตรา ๑๑๙-๑๒๙) และ หมวด ๔ ความผิดต่อสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ (มาตรา ๑๓๐-๑๓๕)

ในส่วนของคลิปศาลรัฐธรรมนูญ เป็นการกระทำที่อาจส่งผลกระทบต่อ องค์กรศาล และอำนาจตุลาการ ซึ่งทั้งยังเป็นการกระทำที่ปรากฎขึ้นในราชอาณาจักรไทย หาได้มีส่วนเกี่ยวจข้องกับรัฐต่างประเทศไม่ ดังนั้นประเด็นที่จะต้องพิจารณาจึงเกี่ยวกับกรณีใน หมวด ๒ ความผิดต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (มาตรา ๑๑๓-๑๑๘) เมื่อพิจารณาจากบทบัญญัติต่างๆตามประมวลกฎหมายอาญาช้างต้น พบว่า มีอยู่ ๒ มาตรา ที่อาจเข้าข่ายเกี่ยวข้องกับประเด็นคลิปศาลรัฐธรรมนูญ คือ มาตรา ๑๑๓ และ มาตรา ๑๑๖ ดังนี้

มาตรา ๑๑๓ “ผู้ใดใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อ
(๑) ล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ
(๒) ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการแห่งรัฐธรรมนูญ หรือให้ใช้อำนาจดังกล่าวแล้วไม่ได้ หรือ
(๓) แบ่งแยกราชอาณาจักรหรือยึดอำนาจปกครองในส่วนหนึ่งส่วนใดแห่งราชอาณาจักร
ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นกบฏ ต้องระวางโทษ ประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต”


มาตรา ๑๑๖ “ผู้ใดกระทำให้ปรากฏต่อประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใดมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายรัฐธรรมนูญหรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต
(๑) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดิน หรือรัฐบาลโดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้าย
(๒) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร
(๓) เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี”


กรณีที่น่าพิจารณาคือ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๓(๒) แต่การถ่ายคลิปศาลรัฐธรรมนูญนั้น มิได้เป็นการใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อล้มล้างอำนาจตุลาการแห่งรัฐธรรมนูญ หรือให้ใช้อำนาจดังกล่าวแล้วไม่ได้ การกระทำดังกล่าวย่อมไม่น่าที่จะถือว่าเป็นความผิดตามมาตรานี้

ส่วนในกรณีตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๖(๓) นั้น การเผยแพร่คลิปศาลรัฐธรรมนูญ ถือเป็นการกระทำให้ปรากฏต่อประชาชนด้วย “วิธีอื่นใด” อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายรัฐธรรมนูญหรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริตเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน เพราะการได้มาซึ่งหลักฐานดังกล่าว เกิดขึ้นจากการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ผู้เขียนเห็นว่า ไม่น่าเป็นความผิดตามมาตรานี้เช่นกัน

เมื่อพิจารณาจากฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาแล้ว แม้การเผยแพร่คลิปอาจส่งผลเป็นการทำลายความเชื่อมั่นขององค์กรศาลหรืออำนาจตุลาการ ซึ่งเป็นอำนาจอธิปไตยของรัฐ แต่ผู้เขียนเห็นว่า การกระทำดังกล่าวอาจยังไม่ถึงขนาดเป็นความผิดต่อความมั่นคงของประเทศ ส่งผลให้ไม่น่าที่จะสามารถนำพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐ มาใช้ได้

คำถามที่ ๔ พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถอ้างใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐ ในการบล๊อกเว็บไซต์ได้หรือไม่ เพียงใด


พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐ ได้ให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ในการระงับความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีได้ ตามมาตรา ๒๐ ดังนี้

มาตรา ๒๐ “ในกรณีที่การกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้เป็นการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่อาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามที่กำหนดไว้ ในภาคสอง ลักษณะ ๑ หรือลักษณะ ๑/๑ แห่งประมวลกฎหมายอาญา หรือที่มีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน พนักงานเจ้าหน้าที่โดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีอาจยื่นคำร้อง พร้อมแสดงพยานหลักฐานต่อศาลที่มีเขตอำนาจขอให้มีคำสั่งระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นได้”

ตามมาตราดังกล่าวได้กำหนดอำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ในกรณีที่เกิดการกระทำความผิดอันอาจกระทบต่อความมั่นคงของประเทศโดยผ่านระบบคอมพิวเตอร์ โดยมีสิทธิที่จะร้องขอต่อศาลเพื่อให้ดำเนินการออกคำสั่งระงับการทำให้เเพร่หลายซึ่งข้อมูล หรือก็คือ “การบล๊อกเว็บไซต์” นั่นเอง

ประเด็นนี้จะต้องพิจารณาให้ดีว่าสามารถที่จะทำได้หรือไม่ และมีขั้นตอนใดบ้างที่จะต้องดำเนินการก่อนที่จะร้องขอคำสั่งจากศาล เพราะการบล๊อกเว็บไซต์นั้น อาจเสี่ยงที่จะเป็นความผิดตาม มาตรา ๑๐ แห่ง พรบ.คอมฯ ได้ด้วย

มาตรา ๑๐ “ผู้ใดกระทำด้วยประการใดโดยมิ ชอบเพื่อให้การทำงานของระบบคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นถูกระงับ ชะลอ ขัดขวาง หรือรบกวน จนไม่สามารถทำงานตามปกติได้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

นอกจากนี้ หากการกระทำของเจ้าหน้าที่เกิดขึ้นจากความไม่เหมาะสมหรือไม่มีความจำเป็นอย่างเพียงพออาจเป็นความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ ด้วยอีกโสดหนึ่ง

มาตรา ๑๕๗ “ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมิ่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

ดังนั้น การพนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการสกัดกั้นการเผยแพร่คลิปศาลรัฐธรรมนูญนั้น จะต้องพิจารณาให้ละเอียดถี่ถ้วนเสียก่อน เพราะเว็บไซต์มีหลายประเภท นอกจากนี้ ยังต้องพิจารณาถึงขั้นตอนในการดำเนินการต่างๆก่อนการที่จะดำเนินการบล๊อกเว็บไซต์ เพราะการบล๊อกเว็บไซต์โดยปราศจากอำนาจตามกฎหมาย ย่อมส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงขององค์กร ทั้งยังอาจเป็นผลเสียต่อการถูกดำเนินคดีต่อไปในภายภาคหน้าด้วย

ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม
การติดต่อประสานงานกับผู้ให้บริการต่างๆก่อนที่จะมีคำสั่งบล๊อกเว็บไซต์นั้น ต้องเข้าใจในเบื้องต้นว่าผู้ให้บริการ ตลอดจนเว็บไซต์นั้นมีหลายประเภท ยกตัวอย่างเช่น

- เว็บไซต์ที่มีลักษณะเป็นกระดานข่าว (Web Board) อาทิ ww.pantip.com เป็นต้น ผู้ที่มีอำนาจดำเนินการจัดการและรับผิดชอบคือเว็บมาสเตอร์ของเว็บไซต์ บุคคลดังกล่าวเป็นผู้มีอำนาจเต็มในการที่จะลบ แก้ไข ดำเนินการอื่นใด ในกรณีที่พบเห็นว่ามีการโพสคลิปศาลรัฐธรรมนูญขึ้นมา หากพนักงานเจ้าหน้าที่ได้แจ้งให้ทางเว็บมาสเตอร์ลบแล้วไม่ลบ ภายในระยะเวลาอันสมควร การสั่งปิดเว็บไซต์กรณีนี้ อาจเป็นสิ่งที่กระทำได้

- เว็บไซต์ที่มีลักษณะเป็นบล๊อก (Blog) อาทิ //www.bloggang.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์ย่อยของ //www.pantip.com ที่ได้อนุญาตให้สมาชิกเข้าไปใช้พื้นที่ในเว็บไซต์ในการเขียนบันทึกเรื่องราวต่างๆ ตามแต่ความต้องการของสมาชิก กรณีที่สมาชิกนำคลิปศาลรัฐธรรมนูญมาแผยแพร่ในบล๊อกของตน เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งมายังทางเว็บไซต์พันทิปให้ดำเนินการลบคลิปดังกล่าวออกจากบล๊อกของสมาชิก หากเว็บไซต์พันทิปเข้าไปดำเนินการโดยพลการ กล่าวคือ ไม่ได้แจ้งหรือขออนุญาตจากสมาชิกเจ้าของบล๊อกเสียก่อน การกระทำดังกล่าวของเว็บไซต์พันทิปอาจมีความเสี่ยงที่จะเป็นความผิดตาม มาตรา ๙ แห่งพรบ.คอมฯ ด้วย

มาตรา ๙ “ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยมิชอบ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

บทความนี้เป็นเพียงความเห็นส่วนตัวของข้าน้อย โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน หากบทความนี้มีข้อบกพร่องประการใด ข้าน้อยขอรับไว้แต่เพียงผู้เดียว แต่หากบทความนี้จะมีประโยชน์แก่ท่านไม่มากก็น้อย ขอคุณความดีนี้ จงบังเกิดแก่คณาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประสาทความรู้ให้แก่ข้าน้อย ตลอดจนวงการนิติศาสตร์สืบไป

ด้วยความปรารถนาดี

@Onizugolf

อ้างอิง
- “กระทู้ถามถึง กระทรวงไอซีที ใช้อำนาจอะไรปิดกั้น “คลิปฉาวศาล รธน.””, มติชนออนไลน์, วันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๓ จาก //matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1289276409&grpid=&catid=02&subcatid=
- “ศาลรธน.จี้บล็อกคลิปทีมสอบปชป.สรุปพรรคตรงข้ามจัดฉาก”, หนังสือพิมพ์ โลกวันนี้, ปีที่ ๑๒ ฉบับที่ ๒๙๒๐ ประจำวันพุธ ที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ จาก //www.dailyworldtoday.com/newsblank.php?news_id=8550
- ภาสพงษ์ เรณุมาศ, "ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ (Contempt Of Constitutional Court)" จาก //www.pub-law.net/publaw/view.asp?PublawIDs=1426

บทความนี้ สามารถนำไปใช้ได้โดยไม่ต้องขออนุญาต แต่กรุณาแสดงที่มาและแนบลิ้งไว้ด้วย (เพราะอาจมีการแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาเป็นระยะ) และต้องไม่ใช้เพื่อการแสวงหาประโยชน์ในทางธุรกิจ


Create Date : 10 พฤศจิกายน 2553
Last Update : 1 มกราคม 2554 17:33:09 น. 0 comments
Counter : 840 Pageviews.  
 
Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

onizugolf
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 18 คน [?]




[Add onizugolf's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com