อัปปมาทธรรม


🌷 อัปปมาทธรรม

วันจันทร์ที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๖๔ เป็นวันพระขึ้น ๑๕ ค่ำ เดิอน ๙ 

เจริญสุขสวัสดี ทุกวันนี้บุคคลทั่วไปส่วนใหญ่แล้ว มักใช้ชีวิตไปในแบบขัดข้อง สับสน วุ่นวาย ไปกับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด ที่มีทั้งเรื่องน่ายินดี - ยินร้าย สุข -  ทุกข์ ปนเปกันไป แต่โดยมากแล้ว มักเป็นไปในทางเป็นทุกข์เสียมากกว่า เพราะเหตุเกิดจากการขาดความยับยั้งชั่งใจของตนเอง เนื่องจากขาดสติ 

ส่วนการยับยั้งชั่งใจหรือสตินั้น ต้องเพียรสร้างให้เกิดขึ้นเท่านั้น เพียงแค่พยายามนึกหรือคิดทำตามที่มีบุคคลผู้ซึ่งหวังดีมาบอก ให้มีสติหน่อย เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก ฉะนั้นเราจึงมักได้ยินได้ฟังจากรายการธรรมะต่างๆ ที่พยายามอบรมสั่งสอนให้ผู้ฟัง มีสติ มีสัมปชัญญะ ในการดำเนินชีวิตของตน โดยให้หมั่นระลึกถึงการกระทำที่เกิดขึ้นของตนเองในชีวิตประจำวัน เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด พลาดพลั้ง อันเกิดจากขาดความยับยั้งชั่งใจตนเอง 

ซึ่งการหมั่นระลึกดังที่กล่าวมาแล้วนั้น เป็นเพียงสัญญาอารมณ์ที่ต้องคอยจดจำว่า เราจะต้องระมัดระวัง ระลึกตัวอยู่เสมอๆ เมื่อเรามีความตั้งใจมากพอและเพียรพยายามพอสมควร ที่จะคอยระมัดระวังอย่างเต็มที่ จนจำได้แม่นยำต่อการกระทำหรืออารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของตนเองได้ อันนั้นเรียกว่า ถิรสัญญา คือจำได้อย่างแม่นยำ ก็ยังเป็นธรรมฝ่ายโลกียะอยู่ดี 

ส่วนการสร้างสติหรือสัมมาสติในทางพระพุทธศาสนานั้น ต้องฝึกฝนอบรมจิตของตน โดยการเพียรระลึกรู้ลงที่กาย เวทนา จิต และธรรม ที่เรียกว่า สติปัฏฐาน ๔ แต่ในการฝึกฝนอบรมจิตช่วงแรกหรือเริ่มต้นใหม่นั้น ควรระลึกรู้ลงที่กาย เพราะทำได้ไม่ยากนัก การอบรมฝึกฝนทำได้ทั้งลืมตาและหลับตา แต่ควรฝึกฝนจากการหลับตาให้ได้เสียก่อน เพราะการหลับตานั่งนิ่งๆ นั้น เป็นการตัดช่องทางการรับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของกายออกไปได้หลายทาง 

การจะเอาสติมาแนบกายหรือการบังคับสติให้อยู่กับกายเพื่อจะดูจิตนั้น เป็นเรื่องที่ยากอยู่ไม่ใช่น้อย อันนี้เป็นกรรมฐาน คือฐานที่ตั้งแห่งการงานทางจิต หรือนิมิตหมายแห่งจิตนั่นเอง มีพระพุทธพจน์ตรัสไว้ดังนี้

"ดูก่อนอัคคิเวสนะ ก่อนหน้านี้ จิตของเราตั้งอยู่ในสมาธินิมิตอะไร เมื่อเรากล่าวคาถานี้จบ เราก็สามารถตั้งมั่นอยู่ในสมาธินิมิตนั้นได้ทันที"

พระองค์ทรงยังได้ตรัสต่อไปอีกว่า

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นบัณฑิต เป็นผู้ฉลาด เป็นผู้เฉียบแหลม เมื่อได้ติดตามดูกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรมทั้งหลาย เป็นผู้มีความเพียรเผากิเลส มีสติ มีสัมปชัญญะ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ จิตของเธอย่อมเป็นสมาธิ เธอย่อมละอุปกิเลสทั้งหลายได้ และย่อมกำหนดนิมิตแห่งจิตได้

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่เป็นบัณฑิต ฉลาด เฉียบแหลมนั้น ย่อมได้สมาบัติอันเป็นธรรมเครื่องอยู่ในชีวิตประจำวัน ย่อมมีสติ สัมปชัญญะ ข้อนี้เป็นเพราะเหตุใด 

ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้เป็นเพราะ ภิกษุนั้นเป็นบัณฑิต ฉลาด เฉียบแหลม กำหนดนิมิตแห่งจิตของตนได้"

จากพระพุทธพจน์จะเห็นได้ว่า การกำหนดนิมิตแห่งจิตขึ้นมานั้น มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนา เป็นการเอาสติมาแนบกายหรือบังคับสติมาอยู่กับกาย แต่ก็มีคำถามว่า เอาสติมาแนบหรือวางลงตรงไหนของกายดี ฉะนั้น เมื่อลงมือปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนา ควรทดสอบโดยการ หายใจเข้าไปช้าๆ ลึกๆ และค่อยๆ ผ่อนลมหายใจออกมาแบบช้าๆ ลึกๆ เช่นกัน แล้วลองพิจารณาดูว่า เรารู้สึกถึงลมหายใจที่เข้าไปและออกมา ตรงบริเวณไหนที่รู้สึกถึงลมหายใจได้ชัดเจน เช่น บริเวณจมูก ในช่องจมูก บริเวณริมฝีปากบน ริมฝีปากล่าง หรือบริเวณทรวงอก ให้อุปโลกน์บริเวณนั้นเป็นจุดลมหายใจกระทบเพียงจุดเดียว 

จากนี้ เราก็มาต่อเรื่องหัวใจพุทธศาสนาจากวันพระที่แล้ว

🌷 อัปปมาทธรรม (ธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความไม่ประมาทมัวเมาในอารมณ์ทั้งปวง)

บรรดาคำสั่งสอนทั้งหมดของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ได้ทรงประกาศตั้งแต่ได้ตรัสรู้ จนถึงวันเสด็จดับขันธ์สู่พระปรินิพพาน รวมเป็นเวลา ๔๕ ปีนั้น สามารถสรุปลงเหลือเป็นข้อสำคัญได้ คือ อัปปมาทธรรม ซึ่งหมายถึง ความไม่ประมาทมัวเมาในอารมณ์ทั้งปวง

ดังพระปัจฉิมโอวาท ต่อไปนี้คือ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราขอกล่าวเตือนท่านทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด"

ตามพุทธโอวาทที่ยกมานี้ แสดงว่า อัปปมาทธรรม เป็นข้อสรุปรวมของพระธรรมคำสั่งสอนทั้งหมดในพระศาสนานี้ ซึ่งพระพุทธองค์ทรงเน้นตรงไปที่ การฝึกฝนให้มีสติคอยระวังอารมณ์ต่างๆ ที่เข้ามากระทบในชีวิตประจำวันของแต่ละคนโดยเฉพาะ ทั้งนี้เพราะอารมณ์เป็นปัจจัยสำคัญ ที่ชักนำให้คนประพฤติดีก็ได้ ประพฤติชั่วก็ได้ แล้วแต่ว่าจะปรุงแต่งจิตใจให้เกิดความรู้สึกอย่างไร จึงทรงวางหลักธรรมเรื่อง ศีล สมาธิ ปัญญา ไว้ให้ปฏิบัติ ดังเป็นที่ทราบกันอยู่

การปฏิบัติตามหลักธรรมเรื่อง ศีล สมาธิ ปัญญานี้ จะทำให้ศึกษาและรู้จักอารมณ์ตามความเป็นจริงว่า ไม่มีแก่นสารที่สามารถยึดถือและนำครอบครัวได้อย่างถาวรแต่ประการใด จึงต้องฝึกให้มีสติคอยระวัง มิให้เข้ามาปรุงแต่งจิตใจ ทำให้เสียคุณภาพเดิมไปในขณะที่กำลังเข้ามากระทบ ถ้าไม่ระวังไว้ให้ดีแล้ว อารมณ์ก็ย่อมชักนำจิตใจให้ซัดส่ายฟุ้งซ่านไปได้เป็นธรรมดา และทำให้ผู้นั้นประพฤติตนไปตามความพอใจได้ 

ดังนั้น หลักธรรมเรื่อง ศีล สมาธิ ปัญญา จึงมีความจำเป็นที่สุดสำหรับสังคม ที่ควรจะนำมาปฏิบัติเพื่อความเป็นผู้ไม่ประมาทมัวเมาในอารมณ์ทั้งปวง ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหายุ่งยากทางสังคมให้หมดไปได้อย่างแท้จริง เพราะว่าในขณะที่มีอารมณ์มากระทบจิตแต่ละอารมณ์นั้น
ศีล จะควบคุมกายวาจาให้อยู่ในสภาพปรกติ ไม่ประพฤติสิ่งใดให้เป็นที่เดือดร้อนแก่สังคม
สมาธิ จะทำให้จิตใจตั้งมั่น และ
ปัญญา จะสลัดความยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์นั้นๆ ให้หมดไปโดยลำดับ จนอารมณ์ไม่สามารถปรุงแต่งจิตได้ในที่สุด กลายเป็น กระทบก็สักแต่ว่ากระทบ เท่านั้น

การฝึกจิตให้มีพลังถึงขั้นนี้ได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยสมาธิเป็นบาทฐานด้วยตลอดเวลา ไม่ว่าอารมณ์จะกระทบเข้ามาทางหนึ่งทางใดก็ตาม ผู้ปฏิบัติจึงพบความจริงว่า ได้พ้นจากอารมณ์ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดตายตามสภาพของเขาแล้ว ส่วนตัวเองนั้นดำรงสภาพ "รู้" อยู่ตลอดทุกกาลสมัย ไม่ได้ดับตายหายสูญไปไหน

ทั้งนี้หมายความว่า สิ่งที่เกิดตายนั้นคือ อารมณ์ ซึ่งเป็นสิ่งภายนอกทั้งหลาย แต่ตัวเองนั้น "รู้" อยู่เสมอว่า ทรงสภาพรู้ของตนเองอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าสิ่งเหล่านั้นจะเกิดขึ้นหรือตายไปกี่ครั้งกี่หนก็ตาม จึงเป็นผู้ไม่ตายอีกต่อไป ดังนั้นจึงได้ชื่อว่า เป็นผู้ไม่ประมาท

ส่วนผู้ที่ยังยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์ซึ่งเป็นของที่เกิดตายอยู่นั้น ย่อมได้ชื่อว่า เป็นผู้ประมาท ผู้นั้นย่อมรู้สึกว่าตนเองยังต้องหวั่นไหว และพลอยเกิดตายไปกับอารมณ์ภายนอกด้วย ทั้งๆ ที่ตัวเองไม่ได้เกิด และไม่ได้ตายเลยแต่ประการใดทั้งสิ้น

มีพระบาลีในธรรมบทรับรองไว้ ดังนี้ คือ

"อปฺปมาโท อมตํ ปทํ, ปมาโท มจฺจุโน ปทํ,  อปฺปมตฺตา น มิยฺยนฺติ เย ปมตฺตา ยถา มตา" แปลว่า "ความไม่ประมาทเป็นทางอันไม่ตาย ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย ผู้ไม่ประมาทย่อมไม่ตาย คนที่ประมาทเหมือนคนที่ตายแล้ว"

ทั้งนี้หมายความว่า ผู้ที่มีพลังสมาธิน้อย จิตย่อมหวั่นไหวตามอารมณ์ไปด้วย อัปปมาทธรรมก็ย่อมไม่มีที่จิตของผู้นั้น ถ้าปรารภสิ่งใดขึ้นมาเป็นอารมณ์ก็ตาม เช่นนึกถึงรูปร่างกายขึ้นมา เป็นต้น ก็เข้าใจว่าตัวเองเกิดมาพร้อมกับร่างกาย พอร่างกายแก่หรือตาย ก็เข้าใจว่าตัวเองแก่หรือตายตามร่างกายไปด้วย โดยถือเอาร่างกายเป็นหลักเกณฑ์

แต่ผู้ที่มีพลังสมาธิมาก ย่อมรู้ชัดว่าตัวเองคือผู้ทำหน้าที่รู้เรื่องราวต่างๆ เช่น เมื่อปรารภถึงร่างกาย เกิดขึ้นก็รู้ ผมหงอก – ฟันหัก – เนื้อหนังเหี่ยวย่นแล้วก็รู้ เป็นต้น ครั้นเมื่อปรารภถึงลมหายใจขึ้นมา ลมหายใจเกิดขึ้นก็รู้ ลมหายใจดับไปก็รู้ ดังนี้ เป็นต้น

มีพุทธพจน์ที่ตรัสกับพระราหุลยืนยันอยู่ชัดเจน ดังนี้

"เอวํ ภาวิตาย ราหุล อานา ปานสฺสติยา, เอวํ พหุลีกตาย, เยปิ เต จริมกา อสฺสาส ปสฺสาส, เตปิ วิทิตา นิรุชฺฌนฺติ โน อวิทิตาติ" แปลว่า "ดูก่อนราหุล เมื่ออานาปานสติที่บุคคลเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้ ลมหายใจออก ลมหายใจเข้าทั้งหลาย เหล่านั้น อันใดอันจะมีในเวลาตาย แม้ลมเหล่านั้นจะดับก็รู้ได้ จะดับโดยไม่รู้ หามิได้เลย"

🌷 ความตาย

ความตาย เป็นรูปแบบการเปลี่ยนแปรครั้งสุดท้ายของรูปร่างกาย หลังจากที่ได้ประชุมปรุงแต่งขึ้นมาแล้ว พระพุทธองค์ ทรงหมายความถึง แตกแยกออกจากการประชุมพร้อมของ ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศธาตุ และวิญญาณธาตุ (จิต) แยกตัวออกไปผสมกับกลุ่มธาตุผสมกลุ่มอื่นต่อไป ตามเหตุปัจจัย ขณะสิ้นใจ

พูดให้ชัดเจนขึ้นก็คือ วิญญาณธาตุ (จิต) จุติ (เคลื่อน) ออกจากรูปร่างกาย ซึ่งได้ปรวนแปรแตกแยกไป จนไม่สามารถกลับคืนมาสู่สภาพปรกติ, เท่านั้น ไม่ได้ดับตายหายสูญไปไหน

โปรดดูคำจำกัดความของคำว่า ความตาย ในสติปัฏฐานสูตร ซึ่งว่าไว้ดังนี้ คือ ความจุติ, ความเคลื่อนไป, ความแตกทำลาย, ความหายไป, มฤตยู, ความตาย, ความทำกาละ, ความแตกแห่งขันธ์, ความทิ้งซากศพไว้, ความขาดไปแห่งชีวิตินทรีย์ ซึ่งเป็นเรื่องที่จิตแยกออกจากรูปร่างกายนี้ทั้งสิ้น

เราจะเห็นได้ว่า จิตไม่ใช่สภาพธรรมที่ตาย แต่ได้เข้ามายึดถือและปฏิสนธิรวมอยู่กับร่างกายซึ่งจะต้องตายตามอายุขัย เมื่อร่างกายถึงเวลาแตกตายลง ก็เข้าใจว่าตนพลอยตายไปตามร่างกายด้วย ทั้งๆ ที่ตัวเองไม่ได้ตายเลย

สิ่งที่เกิด แก่ เจ็บ ตาย คือ รูปร่างกาย ซึ่งเป็นสังขารธรรมที่ประชุมพร้อมกันขึ้นมาฝ่ายรูปธรรม เรียกว่า มหาภูตรูป ๔ ด้วยเหตุนี้ ความตายจึงมีขึ้นแก่ผู้ที่ยึดเอารูปร่างกายซึ่งเป็นสังขารธรรม เข้ามาเป็นอัตตาตัวตนของตนเองเข้า กล่าวคือ เมื่อรูปร่างกายแก่ ก็ว่าเราแก่ เมื่อรูปร่างกายเจ็บไข้ ก็ว่าเราเจ็บไข้ และเมื่อรูปร่างกายตาย ก็ว่าเราตาย ทั้งๆ ที่ตัวเราจริงๆ ไม่เคยเกิด ไม่เคยแก่ ไม่เคยเจ็บไข้ และไม่เคยตายมาเลย ไม่ว่าตั้งแต่ครั้งไหนๆ ก็ตาม

เพราะฉะนั้น ถ้าเรา (จิต) ไม่เข้าไปยึดถือรูปร่างกายอย่างสิ้นเชิงเมื่อใด ก็ย่อมพ้นจากความตายเมื่อนั้น นับเป็นการพ้นทุกข์ในพระพุทธศาสนานี้ ดังพุทธพจน์ที่ได้ตรัสกับโมฆราชมาณพ ต่อไปนี้คือ

"สุญฺญโต โลกํ อเวกฺขสฺสุ โมฆราช สทา สโต อตฺตานุทิฏฺฐึ อูหจฺจ เอวํ มจฺจุตฺตโรสิยา เอวํ โลกํ อเวกฺขนฺตํ มจฺจุราชา น ปสฺสติ" แปลว่า "ดูก่อนโมฆราช ท่านจงเป็นคนมีสติพิจารณาโลก (สังขาร) ให้สูญสิ้นจากการยึดถือว่าเป็นอัตตาตัวตนทุกเมื่อเถิด ท่านจะพึงข้ามพ้นจากความตายเสียได้ ด้วยการพิจารณาอย่างนี้ พระยามัจจุราชกจะแลไม่เห็นท่าน ดังนี้"

สรุปความแล้ว ถ้าหากว่าไม่ได้อบรมจิตตามหลักธรรมเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา ในพระพุทธศาสนา ก็ยังรู้ผิดและติดข้องอยู่ในอารมณ์ที่น่ารักน่าพอใจ และประพฤติตนในทางที่จะให้ได้รับอารมณ์ที่น่ารักน่าพอใจมาครอบครองเสมอ แต่เนื่องจากจิตไม่มีรูปร่างที่จะติดต่อกับอารมณ์โดยตรงได้ จึงต้องใช้รูปร่างกายสำหรับเป็นเครื่องมือติดต่อกับอารมณ์ด้วยเสมอ ครั้นรูปร่างกายเสื่อมสลายและตายลงในที่สุด จิตก็ยังติดใจในรสชาดของอารมณ์ที่ได้เคยเสพตลอดเวลาที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นเหมือนเดิม จึงเท่ากับได้สร้างคติอันประทับใจไว้แล้วโดยอัตโนมัติ เมื่อร่างกายตายลงเมื่อใด ก็ต้องไปตามทางของตนเอง เพื่อไปเสพอารมณ์ที่พอใจอีกต่อไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และต้องสร้างร่างกายที่เหมาะกับสภาพของอารมณ์ไว้ เป็นเครื่องมือติดต่อกันด้วย

🌷 คติ (ทางที่ไปของสัตว์)

คติหรือทางที่ไปของสัตว์ แบ่งออกเป็น ๒ คือ สุคติ (ทางไปสู่ที่ดี) และทุคติ (ทางไปสู่ที่ชั่ว) สัตว์ที่ไปอยู่อบายภูมิ ได้แก่ เปรต นรก อสรุกายและสัตว์เดรัจฉาน จัดเป็นทุคติภูมิ สัตว์ที่ไปสู่มนุษย์ เทพ พรหม จัดเป็นสุคติภูมิ 

๑. อบายภูมิ ๔ เป็นคติของสัตว์ที่ล่วงละเมิดศีลของตนโดยจงใจและไม่อาย รวมทั้งผู้ที่ประกอบอนันตริยกรรม ๕ ไว้ด้วย เฉพาะฆราวาส หมายถึง ล่วงละเมิดศีล ๕ ถ้าเจตนาล่วงละเมิดศีลด้วยอำนาจโทสะก็ไปนรก  ถ้าละเมิดศีลด้วยอำนาจโลภะก็ไปเปรต อสุรกาย ถ้าละเมิดด้วยอำนาจโมหะก็ไปสัตว์เดรัจฉานซึ่งจัดว่าเป็นทุคติภูมิทั้งสิ้น 

๒. มนุสภูมิ ๑ สัตว์ที่ประกอบกรรมตามหลักเบญจศีล - เบญจธรรม ซึ่งได้แก่ เมตตา กรุณา สัมมาชีพ สันโดษเฉพาะภรรยาตน สัจจะวาจา และมีสติสัมปชัญญะดี ย่อมมาสู่มนุษยภูมิ ซึ่งจัดว่าเป็นสุคติภูมิ

๓. เทวภูมิ ๖  คือสัตว์ชั้นเทพที่ท่องเที่ยวไปในอารมณ์อันน่ารักใคร่ ๖ ชั้น ประกอบแต่กุศลและมีหิริโอตัปปะด้วยความสงบตั้งมั่น ดังพระบาลีว่า “หิริโอตฺตปฺป สมฺปนฺนาสุกฺกธมฺม สมาหิตา สนฺโต สปฺปุริสา โลเก เทวฺธมฺมา ตีวุจฺจเร” แปลว่า” เราเรียกสัตบุรุษผู้สงบตั้งมั่น ประกอบแต่กุศลด้วยหิริโอตัปปะว่าเป็นเทวธรรม” จัดเป็นสุคติภูมิ ๖ ชั้น 

๔. รูปพรหม ๑๖ คือสัตว์ที่ประกอบรูปาวจรกุศล บำเพ็ญรูปฌาน ๔ มีกสิณ ๑๐ อนุสติ ๑๐ อสุภะ ๑๐ อัปปมัญญา ๔ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ จตุธาตุววัตถาน ๑ จัดเป็นสุคติภูมิที่ปราศจากกาม ๑๖ ชั้น 

๕. อรูปพรหม ๔ คือสัตว์ที่ประกอบด้วยอรูปาวจรกุศล บำเพ็ญอรูปฌาน ๔ ซึ่งปราณีตยิ่งกว่ารูปาวจรกุศล ไม่มีรูปและปราศจากกาม ๔ ชั้น จัดเป็นสุคติภูมิชั้นสูงสุดในโลกนี้

🌷 คนสามัญตายแล้วต้องเกิดอีก

ปัญหานี้ คนรุ่นหนุ่มสาวที่สนใจศึกษาธรรมะและผู้ที่อยู่ในวงการศาสนาเป็นจำนวนมาก มักยกขึ้นมาไต่ถามกันเสมอว่า คนตายแล้ว ไปเกิดอีกหรือไม่ ถ้าไปเกิดอีก อะไรไปเกิด และไปเกิดอย่างไร ดังนี้เป็นต้น

ผู้ที่ถูกถามปัญหาดังกล่าวนี้ จะรู้สึกว่าที่ๆตนนั่งอยู่นั้น ร้อนเป็นไฟทีเดียว บางคนก็สายหน้า หาทางเลี่ยงหนีจากการสนทนาทันที บางคนก็ทำเมิน เสแสร้งว่าไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญอะไรเลย สู้พูดกันเรื่องปฏิบัติไม่ได้ บางท่านก็กลัวว่าจะเป็นอันตคาหิกทิฏฐิ อยู่นอกศาสนาพุทธ บางท่านก็ยอมรับเสียตรงๆ ว่าอธิบายยาก เลยผลักให้ตายสูญไปเสีย จะได้หมดเรื่องหมดราวก็มี ดังนี้เป็นต้น

ปัญหาช้อนี้ กล่าวโดยความจริงแล้ว พระพุทธองค์ได้ทรงสั่งสอนตลอดพุทธกาล และทรงย้ำนักหนาทีเดียวว่า สัตว์ที่ยังไม่หมดกิเลส จะต้องไปเกิดใหม่อีกเสมอ เช่นเดียวกับพระองค์ซึ่งได้ทรงเวียนว่ายตายเกิดมานับครั้งไม่ถ้วนมาแล้วเหมือนกัน ดังนั้น จึงเป็นปัญหาอันสำคัญที่ผู้ศึกษาธรรมะ จะต้องค้นคว้าสอบสวนให้รู้เรื่องราวตามความเป็นจริง โดยไม่เชื่ออะไรง่ายๆ 

เพราะเท่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ มีคนที่เชื่อว่าตายแล้วสูญอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ เขาก็ขีดวงจำกัดลงไปว่า จะต้องรับกรรมดีกรรมชั่วก็เฉพาะในขณะที่มีชีวิตอยู่เท่านั้น ตายแล้วก็แล้วกันไป เพราะฉะนั้น จึงเกิดข้อคิดตามมาว่า พระอรหันต์ทั้งหลายซึ่งได้ปฏิบัติตามหลักมรรคมีองค์ ๘ มาแล้ว ย่อมมีสภาพพ้นทุกข์ เหมือนกับนักโทษที่ถูกประหารชีวิตเมื่อตายแล้วเท่านั้น ดังนั้นข้อปฏิบัติดังกล่าวนี้ จึงไม่มีความจำเป็นสำหรับสังคม หลักของกรรมที่ได้ทรงแสดงไว้ก็ย่อมล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ความอุบัติขึ้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ย่อมเป็นโมฆะไปเสีย, ทุกประการ

ถ้าไม่ใช่ตายแล้วสูญ ดังว่านี้แล้ว ก็ต้องหมายความว่า คนสามัญตายแล้วก็ต้องไปเกิดอีกอย่างไม่มีปัญหา จึงเป็นการสมควรที่จะได้ค้นคว้าให้รู้เรื่องราวข้อนี้ตามความเป็นจริงอย่างยิ่ง ถ้าศึกษาศาสนาพุทธแล้ว พาตนเองให้เข้าไปอยู่ในข่ายของความเห็นว่าตายสูญแล้ว ควรจะได้ทบทวนดูเสียใหม่ดีกว่า

มีพุทธพจน์ที่มาในพระธรรมบทว่าไว้ดังนี้คือ

"คพฺภเมเก อุปฺปชฺชนฺติ นิรยํ ปาปกมฺมิโน, สคฺคํ สุคติโนยนฺติ, ปรินิพฺพนฺติ อนาสวา" แปลว่า "สัตว์บางพวกย่อมเข้าสู่ครรภ์ สัตว์ที่ทำกรรมชั่วย่อมไปเกิดในนรก สัตว์ที่ทำกรรมดีย่อมไปเกิดในสวรรค์ ท่านผู้สิ้นอาสวะย่อมปรินิพพาน"

เพราะฉะนั้น จึงเห็นได้ชัดเจนว่า พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงธรรมข้ามภพข้ามชาติจริงๆ ไม่มีคลุมเครือว่าเป็นเรื่องที่อยู่ในภพเดียวชาติเดียวเลย การที่สัตว์จะไปเกิดใหม่ในภพภูมิใดก็ตาม ย่อมเป็นไปตามอารมณ์ที่ได้ยึดไว้ทุกประการ ทั้งนี้หมายความว่า เมื่อขณะที่มีชีวิตอยู่นั้น ได้ประกอบกรรมไว้อย่างใด ก็จะสั่งสมไว้ที่จิตทุกประการ เมื่อถึงคราวตายลง ผลของกรรมที่ได้ประกอบไว้อย่างนั้น จะส่งให้จิตไปเกิดยังภพภูมิที่ตนพอใจต่อไปอีกตามลำดับ

🌷  🌷  🌷  

อัปปมาทธรรม อันเป็นทางนำไปสู่ความเป็นอมตะนั้น ย่อมเกิดจากการที่เราฝึกฝนอบรมปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนา เพื่อเป็นการฝึกสติให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเนืองๆ อยู่ที่ฐานที่ตั้งของสติ ณ จุดลมกระทบ ที่เราได้อุปโลกน์ขึ้นมาโดยไม่ให้ขาดสาย เมื่อลมหายใจเข้า ก็มีสติระลึกรู้ เมื่อลมหายใจออก ก็มีสติระลึกรู้ จิตจะค่อยๆ สงบรวมตัวลง มีสติตั้งมั่นไม่หวั่นไหว เมื่อมีอารมณ์มากระทบ เราเรียกขณะนั้นว่า อัปปมาทธรรม อันที่ตั้งแห่งความไม่ประมาท 

ดังปัจฉิมโอวาทที่ได้ตรัสไว้ว่า "หันทะทานิ ภิกขะเว อามันตะยามิ โว, วะระธัมมา สังขารา, อัปปะมาเทนะ สัมปาเทถะ, อะยัง ตะถาคะตัสสะ ปัจฉิมา วาจา" แปลว่า "ก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราขอเตือนท่านทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม นี่เป็นพระวาจาที่มีในครั้งสุดท้ายของพระตถาคตเจ้า"

จากพระพุทธพจน์ พระองค์ทรงเน้นเรื่องความไม่ประมาท ให้พวกเรายังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด แต่บุคคลทั่วไปส่วนมากยังไม่เข้าใจคำว่า ความไม่ประมาทนั้น มีประมาณไหน บ้างก็เข้าใจไปว่า เพียงแค่ตั้งใจจดจ่อกับสิ่งที่เราทำ พูด คิดอยู่ ด้วยความไม่ประมาทเลินเล่อ ก็น่าจะพอแล้ว บ้างคิดว่าเราพูดทำอะไร ให้รอบคอบถี่ถ้วนสักหน่อย ก็ไม่ประมาทแล้ว แต่โดยความเป็นจริงแล้ว ความไม่ประมาทที่พระพุทธองค์ทรงตรัสกับพระสาวกในครั้งสุดท้ายนั้น พระองค์ได้ทรงเคยถามพระอานนท์ว่า "ดูก่อนอานนท์ เธอระลึกถึงความตายวันละกี่หน" พระอานนท์ทูลตอบว่า "ระลึกถึงความตายวันละ ๗ หน พระเจ้าค่ะ" พระพุทธองค์ตรัสว่าอานนท์เธอยังประมาทอยู่ เธอต้องระลึกถึงความตายให้ได้ทุกลมหายใจเข้าและออก จึงจะได้ชื่อว่ายังความประมาทให้ถึงพร้อม 

สรุปได้ว่า อัปปมาทธรรมก็คือสติปัฏฐานนั่นเอง เป็นการตั้งสติระลึกรู้อยู่ที่ฐานที่จุดลมกระทบ นึกถึงความตาย อย่างต่อเนื่องเนืองๆ ไม่ขาดสาย ทุกลมหายใจเข้าและออก ให้มีสติกำกับอยู่ เอวัง.

พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท
เทศนาธรรม วันพระ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๖๔





 



Create Date : 23 สิงหาคม 2564
Last Update : 3 มกราคม 2565 13:37:10 น.
Counter : 2521 Pageviews.

1 comment
จิตในพระอภิธรรม


🌷  จิตในพระอภิธรรม

วันจันทร์ที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๖๔ เป็นวันพระขึ้น ๘ ค่ำเดือน ๙ 

เจริญสุขสวัสดี กลับมาพบกันใหม่เพื่อฟังพระธรรมเทศนา แต่ปัจจุบันนี้พระสัทธรรมในพระพุทธศาสนากลับถูกบิดเบือนไปไม่น้อยเลยทีเดียว ทั้งที่มีพระพุทธบัญญัติคอยควบคุมอยู่ แต่ผู้ที่แตกฉานในธรรมวินัยกลับลดน้อยลง  ส่วนมากแล้วมักตีความไปตามมติความคิดเห็นของตนตามชอบใจ โดยความคิดเห็นเหล่านั้นไม่สามารถนำไปตรวจสอบ สอบสวน เทียบเคียงได้เลย เพราะหาที่มาที่ไปเพื่อจะเทียบเคียงไม่ได้ ถึงขนาดว่า เพียงแค่สวดมนต์อย่างเดียวก็เข้าถึงสมถะและวิปัสสนาได้แล้ว ซึ่งไม่มีปรากฏในพระธรรมวินัยเลย เพื่อไม่ให้เป็นการติเรือทั้งโกลน  ขอคำอธิบายว่าการสวดมนต์เป็นทั้งสมถะและวิปัสสนาได้อย่างไร เพื่อหาแนวทางในการเข้าถึงสัมมาสมาธิ หรือสมถะและวิปัสสนานั่นเอง ได้รับคำตอบว่ากรรมฐานมีตั้ง ๔๐ กอง จึงสอบถามไปว่ามีของศาสนาพราหมณ์เข้าไปทั้งหมดกี่กอง แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบ ก็ถือเสียว่าปล่อยให้เป็นปริศนาต่อไป เพราะอย่างน้อยการสวดมนต์ต้องถือว่าเป็นธรรมฝ่ายกุศลอย่างหนึ่ง เป็นเรื่องที่ควรทำเพราะในครั้งพุทธกาลนั้น การสวดมนต์ก็คือการนำธรรมที่ได้รู้มาสาธยาย เพื่อนำไปปฏิบัตินั่นเอง  มาต่อเรื่องหัวใจพระพุทธศาสนาจากวันพระที่แล้วกัน

🌹  จิตในพระอภิธรรม

เท่าที่เรียนกันอยู่ในปัจจุบันนี้ เป็นไปตามคัมภีร์พระอภิธรรมมัตถสังคหะ ซึ่งพระอนุรุทธาจารย์ได้เรียบเรียงไว้เมื่อปี พ.ศ. ๙๕๐ ที่สำนักมูลโสมวิหาร ประเทศลังกานั้นทั้งสิ้น ท่านแบ่งออกเป็น ๙ ปริเฉท และมีคำย่อซึ่งถือกันว่าเป็นหัวใจของคัมภีร์ดังกล่าวนี้ว่า จิ (จิต), เจ (เจตสิก), รุ (รูป), นิ ( นิพพาน) เป็นหลักสำหรับอธิบายขยายความต่อไป

เจตนาของพระอนุรุทธาจารย์ ก็เพื่อรวบรวมสงเคราะห์หัวข้อธรรมะทั้งหลายให้เป็นหมวดหมู่ สำหรับกุลบุตร กุลธิดาในภายหลัง จะได้เรียนเข้าใจได้โดยง่าย ไม่สับสน นับว่าเป็นเจตนาที่ดีและเป็นกุศลอย่างยิ่ง

แต่ได้ถ่ายทอดสืบต่อกันมาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน จึงมีความผิดเพี้ยน เพิ่มเติม เสริมต่อกันบ้างในระหว่างนั้นเป็นธรรมดา ดังนั้น จึงย่อมเกิดเป็นปัญหาขัดแย้งกันขึ้นเมื่อนำมาสนทนากัน จนไม่อาจตกลงกันได้ก็มี

ปัญหาขัดแย้งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ถ้าผู้สนทนาทุกฝ่ายเปิดใจของตนเองให้กว้าง เพื่อพิจารณาข้อเท็จจริง โดยใช้เหตุผลและสอบเทียบกับพระสุตตันตปิฎกแล้ว เรื่องย่อมยุติลงอย่างสิ้นเชิง

ในคัมภีร์พระอภิธรรมนั้น จิต คือ ธรรมชาติชนิดหนึ่ง ซึ่งรู้อารมณ์ จิตเป็นตัวรู้ และสิ่งที่ถูกจิตรู้นั้นเป็นอารมณ์ หมายความว่า จิตรู้สิ่งใด สิ่งนั้น คือ อารมณ์

อีกนัยหนึ่งแสดงไว้ว่า จิต คือ ธรรมชาติชนิดหนึ่งที่ รับ จำ คิด รู้ ซึ่งอารมณ์

ตามคัมภีร์นี้ถือว่า เมื่อมีจิตก็ต้องมีอารมณ์ อยู่คู่กันด้วยเสมอ จะมีจิตโดยไม่มีอารมณ์ไม่ได้ เมื่ออารมณ์เกิดขึ้น จิตจึงจะเกิด และเมื่ออารมณ์ดับลง จิตก็ดับตามไปด้วยเสมอ ดังพระบาลีที่มาในพระอภิธรรมว่า "จิตฺเตตีติ จิตฺตํ อารมฺณํ วิชานาตีติ อตฺโถ แปลว่า ธรรมชาติใดย่อมติด ธรรมชาตินั้นชื่อว่าจิต กล่าวโดยอรรถว่า ธรรมชาติที่รู้อารมณ์คือจิต"

จิตในพระอภิธรรม มีชื่อสำหรับเรียกขานเป็นไวพจน์แทนกันได้ ถึง ๑๐ ชื่อ ดังนี้คือ จิต, มโน, หทัย, มนัส, ปัณฑระ, มนายตนะ, มนินทรีย์, วิญญาณ, วิญญาณขันธ์, มโนวิญญาณธาตุ ความหมายของจิตแต่ละคำเหล่านี้ สามารถใช้แทนกันและมีใช้กันอยู่ในภาษาธรรมะโดยทั่วไป

ดังนั้น จากเงื่อนไขของคำอธิบาย ในคัมภีร์พระอภิธรรมที่ยกมาทั้งหมดนี้ที่ว่า มีจิตจะต้องมีอารมณ์ และจะต้องรับอารมณ์ด้วยเสมอนั้น ย่อมแสดงความหมายชัดเจนอยู่ในตัวแล้วว่า ชื่อจิตที่ใช้เรียกแทนกันทั้ง ๑๐ ชื่อเหล่านี้ เป็นจิตที่ถูกอารมณ์เข้าผสมปรุงแต่ง จนผิดไปจากสภาพเดิมแล้ว ไม่ใช่ธาตุแท้ จึงเป็นจิตสังขาร

เมื่อเป็นจิตสังขาร ก็ย่อมมีการเกิดขึ้นและดับสลายไปเป็นธรรมดา หมายความว่า ไม่สามารถรับรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งไว้อย่างถาวรตลอดกาลได้ เมื่อเรื่องหนึ่งดับไปจากการรับรู้แล้ว ก็ย่อมมีเรื่องอื่นทยอยกันเข้ามาสู่จิตต่อไปอีกตามลำดับ

เพราะฉะนั้น จิตสังขารในคัมภีร์พระอภิธรรม ที่เรียกกันในนามว่า "จิต" นี้ จึงเป็น วิบากจิต (ผลของการรับรู้อารมณ์แต่ละอย่าง) เท่านั้น ไม่ใช่ฐานรองรับบุญและกรรมใดๆ เกิดขึ้นแล้วก็ย่อมดับไปตามอารมณ์เป็นธรรมดา ผู้ปฏิบัติธรรมย่อมรู้อยู่เสมอ ไม่ว่าจิตชนิดใดเกิดขึ้นหรือดับไปก็ตาม

จากตัวอย่างที่ยกมาแสดงนี้ จะเห็นได้ว่า จิตในพระอภิธรรม ซึ่งเกิดขึ้นแล้วดับไป เป็นจิตสังขาร ส่วนจิตของผู้ปฏิบัตินั้น ดำรงสภาพ "รู้" ของตนเองอยู่ตลอดทุกกาลสมัย ไม่ได้ดับตามจิตสังขารไปด้วยแต่ประการใดทั้งสิ้น

🌹  พระบาลีเปรียบเทียบระหว่าง จิตในพระสูตร และ จิตในพระอภิธรรม

๑. จิตในพระสูตร มีว่าไว้ดังนี้ คือ "จิตฺเตน นิยติ โลโก จิตฺเตน ปริกสฺสติ จิตฺตสฺส เอกธมฺมสฺส สพฺเพ ว วสมนฺวคู" แปลว่า "โลกย่อมหมุนไปตามจิต ธรรมทั้งปวงย่อมขึ้นแก่ธรรมอันเดียว คือ จิตเท่านั้น"

ทั้งนี้ย่อมพิจารณาเห็นได้ว่า จิตซึ่งเป็นประธานของธรรมทั้งปวงนั้น ย่อมดับตายหายสูญไปไหนไม่ได้ จึงต้องมีแก่นสารมั่นคงตลอดไป

๒. จิตในพระอภิธรรม มีว่าไว้ดังนี้ คือ "อนิพฺพตฺเตน ชาโต ปจฺจุปนฺเนน ชีวิติ จิตฺตภงฺคา มโตโลโก ปญฺญตฺติ ปรมตฺถิยา" แปลว่า “เมื่อจิตไม่เกิด โลกก็ไม่เกิด โลกอยู่ได้เพราะจิตกำลังเกิดอยู่ เมื่อจิตดับ โลกก็ตาย นี้เป็นบัญญัติโดยปรมัตถ์”

ทั้งนี้แสดงให้เห็นว่า จิตในพระอภิธรรม ไม่มีแก่นสารอะไรเลย เกิดขึ้นแล้วก็ย่อมดับตายหายสูญไปตามกาลเวลาตลอดไป ดังนั้น จึงนับเอาเป็นประธานของธรรมทั้งปวงเหมือนดังจิตในพระสูตรไม่ได้เลย

🌹  ชนิดของจิตในพระอภิธรรม

อกุศลจิต คือ อกุศล + จิต หมายความว่า จิตมีอกุศลปรุงแต่งอยู่ ๑๒ ชนิด

อเหตุกจิต คือ อเหตุก + จิต หมายความว่า จิตไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ, อโลภะ อโทสะ อโมหะเป็นเหตุให้เกิด ๑๘ ชนิด

กามาวจรจิต คือ กามาวจร + จิต หมายความว่า จิตที่ท่องเที่ยวอยู่ในอารมณ์อันน่ารักใคร่ ๒๔ ชนิด ได้แก่ บุคคลชั้นเทพ ๖ ชั้น

รูปาวจรจิต คือ รูปาวจร + จิต หมายความว่า จิตที่ท่องเที่ยวในรูปพรหม ๑๕ ชนิด

อรูปาวจรจิต คือ อรูปาวจร + จิต หมายความว่า จิตที่ท่องเที่ยวอยู่ในอรูปพรหม ๑๒ ชนิด

โลกุตตรจิต หมายความถึง มรรคและผลที่เข้าไปประกอบจิตทำให้อยู่เหนือโลก (อารมณ์) รวม ๘ ชนิด และในแต่ละชนิดเหล่านี้ ต่างก็มีปัญจมฌาน (ฌาน ๕) ประกอบอยู่ด้วย ดังนั้น จึงเป็นจิตโดยละเอียด เท่ากับ ๘x๕ คือ ๔๐ ชนิด

เพราะฉะนั้น ในพระอภิธรรมจึงมีจิตโดยย่อ ๘๙ ชนิด โดยละเอียด ๑๒๑ ชนิด การที่เรียก จิตเป็นชนิด ในที่นี้นั้น เรียกตามชนิดของอารมณ์ที่เข้ามาปรุงแต่ง เพื่อให้เข้าใจง่าย แต่ในพระอภิธรรม เรียกระบุเป็น ๘๙ ดวง และ ๑๒๑ ดวง ทีเดียว

🌹  อุทาหรณ์เปรียบเทียบเพื่อให้เข้าใจเรื่องจิตในพระอภิธรรมดียิ่งขึ้น

เนื่องจากมีปัญหาขัดแย้งระหว่างนักธรรมะ ๒ ฝ่าย ดังนี้คือ นักธรรมะฝ่ายพระสูตรว่า อารมณ์เกิด – ดับ แต่จิตไม่ได้เกิด – ดับ ส่วนนักธรรมะฝ่ายพระอภิธรรมก็ว่า ทั้งจิตและอารมณ์เกิด – ดับพร้อมกันหมด ดังนี้ จึงจำเป็นต้องหาเหตุผลมาแสดงให้เห็นชัด ดังต่อไปนี้ คือ

สมมุติว่า มีหลอดกระแสไฟฟ้าตรงต่ออยู่กับสายไฟฟ้า และเปิดสวิตช์อยู่หลอดหนึ่ง แสงที่หลอดไฟฟ้าส่องออกมา ย่อมใสสว่างจ้าตลอดเวลา อุปมาเหมือนดังจิต

ต่อจากนี้ไป ถ้าเราเอาโป๊ะกระจกสีต่างๆ มาครอบหลอดไฟฟ้าหลอดนี้ อุปมาเหมือนดัง อารมณ์ที่เข้ามาปรุงแต่งจิต แสงไฟฟ้าย่อมมีสีเหมือนกับสีของโป๊ะกระจกครอบหลอดไฟฟ้านั้นทุกประการ

ทั้งนี้หมายความว่า ถ้าเราใช้โป๊ะสีเขียวครอบ แสงไฟฟ้าก็ย่อมกลายเป็นสีเขียว ถ้าเราใช้โป๊ะสีแดงครอบ แสงไฟฟ้าก็ย่อมกลายเป็นสีแดง และถ้าเราใช้โป๊ะสีเหลืองครอบ แสงไฟฟ้าก็ย่อมกลายเป็นสีเหลืองตามไปด้วย แล้วแต่ว่าจะใช้โป๊ะสีใดมาครอบหลอดไฟฟ้าไว้ แสงไฟฟ้าก็ย่อมเปลี่ยนสีตามไปด้วยเสมอ

ตามอุทธาหรณ์ที่ยกขึ้นมาแสดงนี้ เราจะเห็นได้ว่า แสงไฟฟ้า กับ สีของโป๊ะ เป็นคนละอย่าง กล่าวให้ชัดก็คือ แสงไม่ใช่สี และ สีก็ไม่ใช่แสง แต่มาผสมกลมกลืนเป็นอันเดียวกัน

จิตผู้รู้ (พุทโธ) ย่อมแยกอารมณ์ออกจากกันได้เป็นคนละส่วน แต่สามัญชนย่อมยึดติดเป็นอันเดียวกัน และไม่ยอมแยกออกจากกัน จึงพูดบรรยายออกมา เหมือนที่ตนเห็นทุกประการ

ในพระอภิธรรมอธิบายว่า แสงสีเขียว(แสงผสมกับสี) เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แสงสีแดงเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แสงสีเหลืองเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ดังนี้

แต่โดยข้อเท็จจริงนั้น เราจะเห็นได้ชัดเจนว่า สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วดับไปนั้น คือ สีที่ปรุงแต่งแสงอันใสสว่าง ที่มีอยู่ด้วยต่างหาก แต่ตัวแสงสว่างเดิมนั้นมิได้เกิดดับตามไปด้วย

ดังนั้น การพูดตามความเป็นจริงเช่นนี้ ย่อมเป็นสัมมาวาจาในพระพุทธศาสนานี้ การเห็นจิตว่าไม่ดับ และเห็นอารมณ์ว่าดับ เช่นนี้จึงเป็นสัมมาทิฐิ ไม่ใช่สัสสตทิฐิ

ทั้งนี้ย่อมแสดงให้เห็นว่า ธรรมะที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์พระอภิธรรมทั้งหมดนั้น เป็นเรื่องของสังขารธรรมทั้งสิ้น คือเป็นธรรมที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับตายหายสูญไป ธรรมที่เกิดขึ้นใหม่ย่อมเป็นของใหม่ ไม่ใช่ของเก่า แล้วก็ต้องดับตายหายสูญไปอีกตามลำดับ ทั้งนี้ ย่อมสุดแต่เหตุปัจจัยของสิ่งเหล่านั้น และคำว่า เหตุปัจจัย ในที่นี้ ก็คือ อวิชชา นั่นเอง

โดยสภาพธรรมแล้ว ในพระพุทธศาสนาถือว่าตราบใดที่ยังเวียนว่ายอยู่ในสังสารจักรนี้แล้ว อวิชชาจะต้องอยู่กำกับผู้นั้นตลอดไป กล่าวคือยังไม่ดับ ถ้าอวิชชาดับเมื่อใด ก็ย่อมบรรลุถึงพระนิพพานทันที 

แต่ตามข้อเท็จจริงแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างเท่าที่เรียนกัน ในคัมภีร์พระอภิธรรมัตถสังคหะ มีจิต ๘๙ ดวง หรือ ๑๒๑ ดวง เจตสิก ๕๒ และรูป ๒๘ เหล่านี้นั้น ไม่มีอะไรเที่ยงแท้ถาวรเลย นอกจาก นิพพาน ๑ เท่านั้นที่เที่ยงแท้ถาวร

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ผู้เรียนวิชาธรรมะก็ย่อมเกิดความลังเลสงสัยว่า อวิชชาตั้งอยู่กับอะไร เพราะจิตเกิด – ดับ จะพูดว่าอวิชชาตั้งอยู่กับจิตก็ไม่ถนัด เพราะฉะนั้น จึงมีผู้คิดผลักคำว่า “อวิชชา” ให้ไปตั้งอยู่ที่ “สันดาน” ซึ่งบางทีก็เรียกว่า “ขันธสันดาน” ก็มี แต่ก็ยังไม่มีใครรู้ว่า “สันดาน” หรือ “ขันธสันดาน” ที่ว่านี้ สงเคราะห์ลงอยู่ในหมวดใด คือ จิต เจตสิก รูป หรือนิพพาน จนกระทั่งบัดนี้

นี่คือตัวอย่างของความผิดเพี้ยน อันเกิดจากการถ่ายทอดความรู้กันมาเป็นทอดๆ ตลอดเวลา นับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๙๕๐ เป็นต้นมา

🌷 อวิชชา (รู้ผิดจากความเป็นจริง)

คำว่า “อวิชชา” นี้ มีความหมายตรงข้ามกับคำว่า “วิชชา” และจากที่ผ่านมาแล้ว ได้บรรยายว่า วิชชา สามารถแผลงอักษรออกไปเป็น พุทโธ ได้  แปลว่า ผู้รู้ถูก  ผู้ตื่น  ผู้เบิกบาน

ดังนั้น “อวิชชา” จึงต้องแปลว่า รู้ผิดจากความเป็นจริง คือ ไม่รู้จักอารมณ์ตามความเป็นจริง จึงเกิดความยินดีและยึดถืออารมณ์นั้นๆ ไว้เป็นของตน เราเรียกจิตที่ยังติดข้องยึดถืออารมณ์อยู่ ว่าเป็นสัตว์

เพราะฉะนั้น ในพระพุทธศาสนานี้ คำว่า “อวิชชา” จึงเป็นต้นเหตุอันสำคัญที่มีประจำอยู่กับสัตว์ทั้งปวง ซึ่งจัดว่าเป็นมลทินอย่างยิ่ง และทำให้สัตว์ต้องเวียนว่ายอยู่ในสังสารจักรตลอดไป โดยไม่มีทางหลุดพ้นออกไปได้

บรรดากิเลสบาปกรรมสกปรกลามกใหญ่น้อยทั้งหลาย ที่เกิดขึ้นที่จิตใจของสัตว์นั้น เกิดขึ้นเนื่องมาจาก อวิชชา ทั้งนั้น มีพระบาลีในพระธรรมบทกล่าวรับรองไว้ดังนี้ คือ “ตโต มลามลตรํ อวิชฺชา ปรมํ มลํ, เอตํ มลํ ปหนฺตวาน นิมฺมลา โหถ ภิกฺขโว” แปลว่า “บรรดามลทินใหญ่น้อยทั้งหลายย่อมมาจากอวิชชา ซึ่งเป็นมลทินอย่างยิ่ง ภิกษุทั้งหลายจงละมลทินนี้เสีย และเป็นผู้ไม่มีมลทินเถิด”

ในปัจจุบันนี้ นักธรรมะส่วนมากแปลคำ “อวิชชา” อย่างสั้นๆ ว่า “ความไม่รู้” เท่านั้น ทำให้ผู้สนใจศึกษาธรรมะ ตั้งคำถามเพื่อหาความรอบรู้ต่อไปอีกว่า
๑. ใครที่ไม่รู้ ?
๒. ไม่รู้เรื่องอะไร ?
๓. อะไรเป็นสาเหตุให้เกิดอวิชชา ?
๔. เบื้องต้นและเบื้องปลายของอวิชชาอยู่ที่ไหน ?

รวมทั้งสิ้น ๔ ข้อ คำถามดังกล่าว เหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็นคำถามที่ดี และอยู่ในขอบเขตของพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น ถ้าใครไม่ได้ศึกษาให้เข้าใจถี่ถ้วนไว้ก่อน และเผอิญถูกอนุชนสอบถามปัญหาดังกล่าวนี้ขึ้น, เฉพาะหน้าแล้ว ก็จะต้องเบือนหน้าหนีไม่อยากตอบโต้ด้วย

ดังนั้น จึงเป็นที่น่าเสียดาย ที่ไม่ได้ช่วยจรรโลงหลักธรรมในพระพุทธศาสนา ให้อนุชนได้รู้และเข้าใจอย่างถูกต้องตามความเป็นจริง ในเมื่อมีโอกาส

การตอบปัญหาเหล่านี้โดยไม่ให้ผิดพลาด จนเข้าใจอย่างชัดเจนนั้น จะต้องมีหลักเกณฑ์สำหรับอ้างอิง หรือมีพุทธพจน์รับรอง ไม่เอาความคิดเห็นของตนเข้าไปตอบ จึงจะเป็นที่ยอมรับและเป็นที่เชื่อถือของผู้ฟังอย่างแท้จริง

ในมหาสติปัฏฐานสูตร มีคำจำกัดความของคำว่า อวิชชา ไว้ ๔ ประการ ดังนี้ คือ
๑. ทุกฺเข อญฺญาณํ (ไม่รู้จักทุกข์)
๒. ทุกฺขสมุทเย อญฺญาณํ (ไม่รู้จักเหตุให้เกิดทุกข์)
๓. ทุกฺขนิโรเธ อญฺญาณํ (ไม่รู้จักการดับทุกข์)
๔. ทุกฺขนิโรธคามินียาปฏิปทาย อญฺญาณํ (ไม่รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงการดับทุกข์)

รวมทั้งสิ้น ๔ ประการ ซึ่งเป็นเรื่องของจิตที่โง่เขลาเบาปัญญาทั้งสิ้น การไม่รู้อย่างอื่นนอกจาก ๔ ประการนี้แล้ว ไม่ใช่อวิชชาในพระพุทธศาสนา

ดังนั้น เมื่อสรุปความแล้ว ก็ย่อมตอบคำถามของอนุชนที่ได้ตั้งไว้ ๒ ข้อแรกว่า
๑. จิต เป็นผู้ไม่รู้จักอารมณ์ตามความเป็นจริง
๒. เพราะขาดการศึกษาให้รู้จัก อริยสัจ ๔ ด้วยปัญญาอันชอบ

เพราะฉะนั้น การแปลคำ “อวิชชา” ว่า “ความไม่รู้” ดังที่กล่าวมาข้างต้นนี้ จึงไม่ถูกต้อง เพราะสภาพธรรมของจิต คือ “ความรู้” ดังนั้นจึงต้องแปลว่า “รู้ผิดจากความเป็นจริง” คือ ไม่รู้จักอารมณ์ทั้งหลายตามที่เป็นจริง” ก็ได้

เมื่อได้ตอบปัญหาของอนุชน ๒ ข้อแรกเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ต้องมาตอบปัญหาข้อ ๓ และข้อ ๔ ต่อไปอีกตามลำดับคือ อะไรเป็นเหตุให้เกิดอวิชชา? และเบื้องต้น – เบื้องปลายของอวิชชาอยู่ที่ไหน?

มีพุทธพจน์ที่มาในพระสูตรที่ ๖๑ แห่งสังยุตตนิกาย พระสุตตันตปิฎก กล่าวไว้ว่า “ปุริมา ภิกฺขเว โกฏิ น ปญฺญายติ อวิชฺชาย, อวิชฺชา ปุพฺเพ นาโหสิ อถ ปจฺฉา สมฺภวิ” แปลว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เบื้องต้นและที่สุดของอวิชชานั้น ผู้มีปัญญาตามรู้ไม่ได้ อวิชชานี้ไม่ได้เกิดมีมาก่อน เพราะฉะนั้นจึงเกิดมีขึ้นในภายหลัง”

พระพุทธพจน์ข้อนี้ ได้แสดงไว้อย่างชัดเจนในตัวเองแล้วว่า อวิชชาไม่ได้เกิดมีขึ้นก่อนมีจิต แต่ได้เกิดขึ้นที่จิตในภายหลัง เพราะขาดการศึกษาให้รู้จักอารมณ์ตามความเป็นจริง เมื่อไม่ศึกษาให้ถูกต้องแล้ว ก็เกิดทิฐิ เห็นว่าอารมณ์เป็นสิ่งที่เที่ยงแท้ถาวร ซึ่งจัดว่าเป็น มิจฉาทิฐิ ฝ่ายสัสสตทิฐิขึ้น

ส่วนอวิชชาจะเกิดขึ้นมาตั้งแต่ครั้งใด – สิ้นสุดเอาเมื่อใดนั้น ท่านผู้มีปัญญาย่อมตามรู้ไม่ได้ หมายความว่า จิตที่เวียนว่ายอยู่ในสังสารจักรแล้ว ย่อมมีอวิชชากำกับอยู่ตลอดไป จนกว่าจะได้ตรัสรู้

🌹  อวิชชา และ โมหะ (รู้ผิดจากความเป็นจริง และ หลงดำเนินการอย่างผิดๆ)

คำทั้งสองนี้ เป็นชื่อกิเลสมลทินเครื่องเศร้าหมองของจิตใจสัตว์ทั้งหลาย ซึ่งนักธรรมะมักเอามาใช้ให้มีความหมายเหมือนกันอยู่ในปัจจุบัน แต่โดยความถูกต้องแล้ว คำทั้งสองนี้ใช้ต่างขั้นตอนกัน

อวิชชา หมายถึง ความโง่เขลาที่อยู่ที่จิตมาก่อนแล้ว เป็นต้นเหตุผลักดันให้เกิด โมหะ คือ หลงดำเนินการไปอย่างผิดๆ ในเมื่อมีอารมณ์มากระทบเฉพาะหน้า ครั้นอารมณ์ดังกล่าวคล้อยตัวผ่านไปแล้ว โมหะก็ย่อมดับลงชั่วคราว แต่อวิชชาก็ยังคงมีอยู่ตามเดิม หาได้ดับตามไปด้วยไม่

อวิชชา จึงเป็น กิเลสวัฏฏ์
โมหะ อยู่ใน กรรมวัฏฏ์
ซึ่งหมายความว่า อวิชชาเป็นเหตุให้เกิดโมหะ ดังนั้น จึงใช้แทนกันอย่างไม่ถูกต้องในปัจจุบันนี้

โปรดดูพระบาลีที่มีมาใน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานสูตร ซึ่งแสดงไว้ชัดเจนที่สุดว่า ไม่ว่าโมหะเกิดขึ้น หรือดับไปจากจิตในขณะที่สัมพันธ์อยู่กับอารมณ์ก็ตาม อวิชชาก็ยังคงมีอยู่ที่จิต ไม่ได้ดับตามโมหะไปด้วย ดังนี้คือ

“สโมหํ วา จิตฺตํ สโมหํ จิตฺตนฺติ ปชานาติ วีตโมหํ วา จิตฺตํ วีตโมหํ จิตฺตนฺติ ปชานาติ” แปลว่า “เมื่อมีโมหะเกิดขึ้นที่จิต ก็รู้ชัดว่ามีโมหะเกิดขึ้นที่จิต เมื่อโมหะหายไปจากจิต ก็รู้ชัดว่าโมหะหายไปจากจิต ดังนี้”

สรุปความแล้วก็คือ อวิชชาเป็นเหตุผลักดันให้เกิดโมหะ (หลง) แสดงการกระทำอย่างผิดๆ ออกมาตามอำนาจกิเลสที่ปรุงแต่งจิตในขณะนั้น, นอกพุทธบัญญัติ เช่น เศกผ้ายันต์ ดูหมอ สะเดาะเคราะห์ ต่อชะตา ใบ้หวย เป็นต้น ถึงแม้ว่าจะยังไม่ถึงขั้นล่วงละเมิดศีลของตนก็ตาม แต่ก็ละเมิดขนบธรรมเนียมที่ดีด้วยอำนาจของโมหะไปแล้ว

🌷  🌷  🌷  

เมื่อฟังพระธรรมเทศนามาถึงตรงนี้ คำว่า อัตตากับอนัตตา ดังที่เคยได้กล่าวไปแล้วว่าเป็นองค์ธรรมอันสำคัญยิ่ง และเป็นแก่นธรรมที่จะทำให้บุคคลผู้ปฏิบัติเข้าถึงจิตที่บริสุทธิ์หลุดพ้นจากอาสวะกิเลสได้ เพราะอนัตตาธรรมเป็นธรรมของพระอริยเจ้า ที่รู้จักที่พึ่งที่อาศัย เป็นตนที่แท้จริงคือจิต

เมื่อเอามาเปรียบเทียบกับคำว่า อวิชชา ที่บุคคลทั่วไปจำนวนหนึ่งยังเข้าใจความหมายผิดไปจากความเป็นจริงว่าไม่รู้ ทำให้ความเข้าใจพระพุทธศาสนาผิดไปจากความเป็นจริง เช่นเดียวกับคำว่า อนัตตา ที่มีแปลผิดไปว่าไม่มีตัวตน คำว่าไม่มีตัวตนนั้น โดยความหมายที่ถูกต้องแล้วคือ สิ่งที่เรากำลังกล่าวถึงไม่มีอยู่จริง ในเมื่อสิ่งที่เรากำลังกล่าวถึงนั้นไม่มีอยู่จริง เราก็ไม่ต้องเสียเวลาเพียรเพ่งภาวนาเพื่อค้นหาตน ก็เมื่อเพียรพยายามค้นหาสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง ย่อมต้องไม่รู้ไม่เห็นไม่เจอในสิ่งนั้น ฉันใด 

คำว่า อวิชชา เมื่อถูกแปลว่าไม่รู้เสียแล้ว ก็ไม่ต้องเสียเวลาเพียรพยายามใดๆ ทั้งสิ้น เพราะจากเดิมเราเพียงแค่รู้ผิดไปจากความเป็นจริงเท่านั้น กลับกลายไปว่าไม่รู้อะไรเลย ถูกก็ไม่รู้ ผิดก็ไม่รู้ สุขก็ไม่รู้ ทุกข์ก็ไม่รู้ เมื่อไม่รู้อะไรๆ เลย เพียรพยายามศึกษาค้นคว้าค้นหาจิตตัวผู้รู้ไปก็เปล่าประโยชน์ เพราะว่าเราไม่รู้ แต่ถ้าเราเพียงแค่ไม่รู้จักจิต รู้จักจิตผิดไปจากความเป็นจริง คือเราเองแค่รู้ผิดไป ไม่ใช่ไม่รู้ เมื่อนั้นเราก็ยังสามารถเพียรเพ่งภาวนาเพื่อให้รู้ถูก คือ รู้จักจิดตามความเป็นจริงได้ ฉันนั้น เพราะเนื่องจากจิตของตนถูกอวิชชาครอบงำจนทำให้เห็นอริยสัจ ๔ ผิดไปจากความเป็นจริง จึงเกิดโมหะ ความหลงขึ้น เมื่อหลงก็เกิดตัณหา ความทะยานอยาก ออกไปรับรู้อารมณ์ต่างๆ ภายนอกมาเป็นของๆ ตน จนเกิดอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นสิ่งต่างๆ นั้น เอวัง.

พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท
เทศนาธรรม วันพระ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๖๔





Create Date : 16 สิงหาคม 2564
Last Update : 3 มกราคม 2565 13:36:45 น.
Counter : 213 Pageviews.

0 comment
อัตตาของศาสนาพราหมณ์กับอัตตาของศาสนาพุทธ


🌷 อัตตาของศาสนาพราหมณ์กับอัตตาของศาสนาพุทธ

วันอาทิตย์ที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๖๔ เป็นวันพระแรม ๑๕ ค่ำเดือน ๘ (สองหน)

เจริญสุขสวัสดี ได้เวลาที่จะฟังพระธรรมเทศนาในเรื่องหัวใจพระพุทธศาสนา ต่อจากพระที่แล้ว ในเบื้องต้นที่เริ่มศึกษาพระพุทธศาสนา หรือได้ศึกษากันมาบ้างแล้วก็ตาม ต้องใส่ใจกับหลักธรรมที่สำคัญคือ เรื่องจิต ตน ธรรม เรา เพราะเรื่องข้างต้นนี้ ถ้าเข้าใจได้ถูกต้องตามความเป็นจริงแล้วนั้น จะนำพาเราไปสู่ พุทธัง ธัมมัง สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ ได้ ส่วนถ้าเราเข้าใจเรื่องเหล่านี้ผิดไปจากความเป็นจริง ก็เสมือนหนึ่งการใส่เสื้อแล้ว ติดกระดุมเม็ดแรกผิดไป  ย่อมทำให้เราติดกระดุมเม็ดต่อๆ ไป ผิดตามไปด้วยตลอดแนวเช่นกัน ฉะนั้นเราจึงควรใส่ใจให้มาก กระทำทำให้มาก เจริญให้มาก ในเรื่องเหล่านี้


🌹  อัตตาของศาสนาพราหมณ์กับอัตตาของศาสนาพุทธ

ก่อนอื่นทั้งหมด ควรจะได้ทำความเข้าใจถึงความหมายของคำว่า “อัตตา” เสียก่อนว่า พระพุทธองค์ก็ได้ทรงสอนพระอานนท์ซึ่งเป็นพระโสดาบัน ให้ “มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง” ดังที่ได้ยกมากล่าวแล้วข้างต้น เช่นเดียวกับศาสนาพราหมณ์เหมือนกัน แต่ความหมายต่างกัน

เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า สิ่งใดที่จะเป็น อัตตา ได้นั้น สิ่งนั้นจะต้องมี คุณลักษณะ ที่อาจยกมาแสดงได้ ๔ ประการ ดังนี้คือ

๑. นิจฺโจ (เที่ยงแท้)
๒. ธุโว (คงทน)
๓. สสฺสโต (ถาวร)
๔. อวิปริณาม (ไม่แปรผันเป็นอย่างอื่น)

เพราะฉะนั้น สิ่งใดที่ไม่มีคุณสมบัติเช่นว่านี้ หรือมีคุณลักษณะตรงกันข้าม สิ่งนั้นก็ไม่ใช่สภาพธรรมของอัตตา แต่เป็นสภาพธรรมของอนัตตา และตกอยู่ในอำนาจของพระไตรลักษณ์ (คือ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา) เช่นเดียวกับโลกียธรรมทั้งหลายเหมือนกัน

ทั้งนี้หมายความว่า สภาพธรรมที่เป็นอัตตานั้นอยู่พ้นจากความครอบงำของพระไตรลักษณ์อย่างสิ้นเชิง จึงดำรงตนอยู่อย่างเที่ยงแท้ คงทน ถาวร ไม่แปรผันเป็นอย่างอื่น ตลอดไป

🌹  อัตตาของศาสนาพราหมณ์

ในศาสนาพราหมณ์นั้น ถือว่าพระพรหมมีอายุยืนยาวมาก เมื่อเปรียบเทียบกับสัตว์อื่นที่เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพภูมิต่างๆ ด้วยกันแล้ว แตกต่างกันมากมาย กล่าวคือ สัตว์อื่นได้เวียนเกิดแล้วตาย เกิดแล้วตายเป็นจำนวนหลายสิบหลายร้อยครั้งแล้ว แต่พระพรหมก็ยังคงดำรงตนอยู่ในสภาพเช่นนั้น จึงเกิดความประมาทขึ้นและเข้าใจว่าตัวเองไม่ตาย และได้บัญญัติเรียกตนเองว่าเป็นอัตตาขึ้น

ผู้ที่นับถือศาสนาพราหมณ์ เรียก พระพรหม ว่าเป็นมหาตมัน (อัตตาใหญ่) และเข้าใจว่าสัตว์อื่นๆ ทั้งหลายล้วนแต่แตกแยกออกมาจากพระพรหมทั้งสิ้น เมื่อปรารถนาจะกลับไปเป็นพระพรหมอีก ก็ต้องลงมือบำเพ็ญตบะ ทำฌานสมาบัติไว้ ครั้นตายลงเมื่อใด ก็จะได้กลับไปรวมอยู่กับพระพรหม ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เป็นอัตตาอีกในที่สุด

🌹   อัตตาของศาสนาพุทธ

พระพุทธองค์ได้ทรงปฏิเสธความเห็นของศาสนาพราหมณ์ในเรื่องนี้ว่า สภาพของพระพรหมทั้งหลายนั้นก็เป็นผลของการบำเพ็ญฌานสมาบัติ ที่สัตว์ได้เพ่งเพียรปฏิบัติทางจิตไว้ก่อน

ดังนั้น จึงเป็นเพียงภพภูมิหนึ่งที่ยังยึดถืออารมณ์ที่ปราศจากกาม และถูกอารมณ์นั้นๆ ปรุงแต่งอยู่ตลอดเวลา แต่เป็นการปรุงแต่งที่เป็นครุกรรมฝ่ายกุศล ที่ส่งผลให้พระพรหมดำรงชีวิตอยู่ อย่างยืนยาวกว่าการปรุงแต่งด้วยอารมณ์อย่างอื่น ดังที่ทรงแสดงทิฐิไว้ ๖๒ ประการใน "พรหมชาลสูตร" แล้วนั้น อันล้วนแต่เป็นจิตสังขารทั้งสิ้น

เมื่อพระพรหมยังมีจิตที่ถูกปรุงแต่งอยู่ ก็ย่อมต้องมีการสิ้นอายุในวันใดวันหนึ่งข้างหน้า แล้วก็ย่อมต้องจุติเข้าสู่กามาวจรภูมิ (ภูมิที่ยังท่องเที่ยวไปในอารมณ์ที่เป็นกามคุณ) อีกเป็นธรรมดา

ดังนั้น ฐานะของพระพรหมจึงไม่เที่ยงแท้ ไม่คงทน ไม่ถาวร และจะต้องมีการผันแปรไปเป็นอย่างอื่น จึงไม่ใช่สภาพธรรมที่เป็นอัตตา เนื่องจากจิตของพระพรหมยังยึดถืออารมณ์และถูกอารมณ์ปรุงแต่งอยู่ คือเป็นจิตสังขาร จึงจัดเป็นสภาพธรรมที่เป็นอนัตตา (ไม่ใช่สภาพตัวตนดั้งเดิม)

ดังนั้นความเข้าใจของศาสนาพราหมณ์ว่าพระพรหมเป็นอัตตา จึงไม่ถูกต้อง การเห็นที่ว่าอารมณ์เที่ยง หรือเห็นว่าจิตสังขารเที่ยง จึงเป็นความเห็นผิดฝ่ายสัสสตทิฐิ

พระพุทธองค์ได้ทรงชี้ให้เห็นว่า ตราบใดที่สัตว์ยังติดข้องในอารมณ์อยู่ ตราบนั้นสัตว์จะยังไม่มีทางพ้นทุกข์ไปได้ ดังที่ทรงรำพึงเมื่อทรงศึกษาอยู่ในสำนักพระอุทกดาบสและพระอาฬารดาบสนั้น

ครั้นเมื่อได้ตรัสรู้พระอนตุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว จึงได้ทรงชี้ชัดเจนว่า จิตที่สิ้นความยินดีและแยกออกจากอารมณ์ทั้งปวงอย่างเด็ดขาด คือ วิราคจิต จัดเป็นนิพพาน เป็นอมตธรรม (ธรรมที่ไม่ตาย) ซึ่งย่อมดำรงตนอยู่อย่างเที่ยงแท้ คงทน ถาวร ไม่แปรผันเป็นอย่างอื่นอีกต่อไป เป็นอัตตาตัวตนในพระพุทธศาสนา และเป็นที่พึ่งได้อย่างแท้จริง ดังที่ทรงยกมาสอนพระอานนท์ว่า "ให้มีตัวตนเป็นเกาะ มีตัวตนเป็นที่พึ่ง" นั้นทีเดียว

🌷 ทิฐิ (ความเห็น)

ความจริงแล้ว คำว่า ทิฐิ แปลว่า ความเห็น เป็นคำกลางๆ แต่สังคมเอาไปใช้พูดกันในความหมายที่ว่า เห็นผิด ไปเสีย ถ้าจะพูดให้ถูกต้องแล้ว จึงต้องพูดให้เต็มคำว่า สัมมาทิฐิ (เห็นถูกต้องตามความเป็นจริง) และ มิจฉาทิฐิ (เห็นผิดจากความเป็นจริง) จึงจะตรงกับความหมายที่แท้จริงของศัพท์

เรื่อง สัมมาทิฐิ และมิจฉาทิฐิ นี้ ยังไม่มีผู้ใดสรุปความหมายไว้ให้ชัดเจนว่า เห็นอย่างไรจึงจะเรียกว่า เห็นผิด และเห็นอย่างไรจึงจะเรียกว่า เห็นถูก

เพื่อให้ผู้ศึกษาธรรมะใช้เป็นหลักเกณฑ์ สำหรับพิจารณาเชื่อถือธรรมะได้ด้วยตนเองโดยไม่ผิดพลาด และสามารถลบล้างความเชื่อถือเก่าๆ ที่ว่าใครพูดว่าอะไรเที่ยงไม่ได้ และพูดว่าอะไรสูญหายก็ไม่ได้ ต้องปรับให้ผิดทั้งขึ้นทั้งล่อง เช่น พูดว่าตายแล้วเกิดอีกก็ผิด ตายแล้วสูญก็ผิด ดังนี้เป็นต้น

คติธรรมทางพระพุทธศาสนานั้น เราเชื่อกันอย่างมั่นใจว่า มนุษย์หรือสัตว์ทุกรูปนามจะต้องไปเกิดใหม่อีก เมื่อตายแล้ว มิได้ดับสูญไปตามรูปร่างกายที่ตายไปด้วย

ฝ่ายนักศึกษาพระอภิธรรมเข้าใจว่า ในขณะที่ตายนั้นมีปฏิสนธิจิตออกจากร่างกาย แล้วไปสู่รูปร่างกายชุดใหม่ จิตที่จุติ (เคลื่อน) ออกจากร่างกายที่ตายแล้ว กับจิตที่ปฏิสนธิ (เกิด) ในรูปร่างกายชุดใหม่นั้น เป็นคนละดวงกัน ไม่ใช่ดวงเดียวกัน แต่รับถ่ายทอดกรรมที่ทำไว้ จากจิตดวงหนึ่งไปยังจิตอีกดวงหนึ่งเป็นทอดๆ ได้

ฝ่ายนักศึกษาพระสูตรก็อธิบายว่า จิตในชาติที่ตายแล้ว กับจิตในชาติใหม่เป็นดวงเดียวกัน จึงไม่ต้องถ่ายทอดกรรมกัน ดังกล่าวแล้ว ดังนั้น จิตดวงนี้จึงต้องรับกรรมที่ทำไว้ในอดีตทั้งหมด อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เปรียบดังล้อเกวียนหมุนตามรอยเท้าโคที่ลากเกวียนนั้นไปทีเดียว ไม่ว่าจะทำกรรมอย่างใดไว้ก็ตาม

ฝ่ายนักธรรมะบางพวกก็มีความเห็นว่า ตายแล้วสูญหมด ไม่มีอะไรจุติหรือปฏิสนธิทั้งนั้น โดยอ้างว่าไม่เห็นมีอะไรออกจากโลงของผู้ตายไปเกิดอีก เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ก็ย่อมทำให้ผู้ที่กำลังศึกษาธรรมะใหม่ๆ เกิดความลังเลใจ เพราะไม่รู้ว่าจะตัดสินใจเชื่อใคร จึงจะไม่ผิด

🌹  หลักเกณฑ์สำหรับใช้ตัดสินใจเชื่อเรื่อง "เห็นถูก" หรือ "เห็นผิด" ในพระพุทธศาสนา

มีพุทธพจน์ในอนัตตลักขณสูตรตรัสไว้ดังนี้คือ "เอว เมตํ ยถาภูตํ สมฺมปฺปญฺญาย ทฏฺฐพฺพํ" แปลว่า "ท่านทั้งหลายพึงเห็นเรื่องนี้ตามความเป็นจริง ด้วยปัญญาอันชอบ"

ดังนั้น จึงใช้หลักแห่งความเป็นจริงสำหรับตัดสินใจเชื่อในเรื่อง "เห็นถูก" หรือ "เห็นผิด" ที่ยกมากล่าวนี้ได้ ดังนี้คือ

๑. เห็นสิ่งที่เที่ยงว่าเที่ยง คือ เห็นอสังขตธรรม ได้แก่ ธาตุแท้ทั้ง ๖ ซึ่งไม่ได้เกิดจากเหตุปัจจัยใดๆ ปรุงแต่ง ว่าเป็นสภาพธรรมที่ดำรงตนเองอยู่ เช่นนั้นตลอดไปได้ โดยไม่มีการดับตายหายสูญไปไหน ตามที่เป็นจริง จัดเป็นสัมมาทิฐิ

๒. เห็นสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าไม่เที่ยง คือ เห็นสังขตธรรม ได้แก่ สังขารทั้งหลาย ที่เกิดจากการประชุมปรุงแต่งของธาตุแท้ทั้ง ๖ ว่าเป็นสิ่งที่ไม่อาจดำรงตนอย่างยืนยาวตลอดกาลไปได้ ย่อมดับตายหายสูญไป เป็นธรรมดา จัดเป็นสัมมาทิฐิ

๓. เห็นสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง คือ เห็นผิดจากความเป็นจริงว่า สังขตธรรม ได้แก่ สังขารทั้งหลาย ที่เกิดจากการประชุมปรุงแต่งของธาตุแท้ทั้ง ๖ สามารถดำรงตนเองอย่างยืนยาวไปได้ตลอดกาล (เช่น เห็นขันธ์ ๕ ว่าเที่ยงแท้ถาวร เป็นต้น) จัดเป็นมิจฉาทิฐิ ฝ่ายสัสสตทิฐิ

๔. เห็นสิ่งที่เที่ยงว่าไม่เที่ยง คือ เห็นผิดจากความเป็นจริงว่า อสังขตธรรมซึ่งเป็นสภาพธรรม ที่ดำรงตนเองอยู่ได้เช่นนั้นตลอดไป ต้องพลอยดับตายหายสูญไปด้วยเมื่อรูปร่างกายของสัตว์ตายลง เช่น เห็นว่าจิตไม่จุติออกไปเพื่อสืบภพชาติใหม่ต่อไปอีก จัดเป็นมิจฉาทิฐิ ฝ่ายอุจเฉททิฐิ (เห็นผิดว่าขาดสูญเมื่อสัตว์ตาย)

สรุปความแล้ว ผู้ที่รู้ตามความเป็นจริงเช่นนี้ทั้งหมด ย่อมเป็นสัมมาทิฐิ สำหรับข้อ ๓ กับข้อ ๔ จัดเป็นความรู้เห็นที่กลับตาละปัด ผิดจากความเป็นจริง นับว่าเป็นมิจฉาทิฐิ สำหรับความเห็นผิดในข้อ ๓ จัดเป็นมิจฉาทิฐิ ฝ่ายสัสสตทิฐิ คือเห็นผิดว่าอารมณ์เที่ยง และความเห็นผิดในข้อ ๔ จัดเป็นมิจฉาทิฐิ ฝ่ายอุจเฉททิฐิ คือเห็นผิดว่าขาดสูญ

🌹  สัสสตทิฐิ (เห็นผิดว่าอารมณ์หรือโลกเที่ยง)

คำว่า สัสสตทิฐิ นี้ เป็นไวพจน์กับคำว่า อัตตานุทิฐิ หรือ สักกายทิฐิ ซึ่งรวมแล้วแปลว่า เห็นอารมณ์ หรือขันธ์ ๕ เป็นอัตตาตัวตน หรือเป็นกายอันเที่ยงแท้ถาวรของตน เช่น ศาสนาพราหมณ์เห็นว่า พระพรหมเป็นสภาพธรรมที่ดำรงตนอย่างเที่ยงดิ่งตลอดไป

พระพุทธองค์ได้ตรัสปฏิเสธว่า พระพรหม ถึงแม้จะมีอายุยืนยาวสักเพียงใดก็ตาม ก็ยังเป็นสังขารธรรมที่ถูกอารมณ์ฌานปรุงแต่งอยู่ ดังนั้น จึงยังไม่พ้นจากความครอบงำของพระไตรลักษณ์ไปได้ สักวันหนึ่งข้างหน้าพระพรหมก็จะต้องจุติเปลี่ยนสภาพไปสู่ภพภูมิอื่น เป็นธรรมดา

ด้วยเหตุนี้ ความเห็นของศาสนาพราหมณ์จึงจัดเป็นมิจฉาทิฐิ ฝ่ายสัสสตทิฐิ เพราะเห็นว่าอารมณ์เที่ยง

คำที่มีความหมายเป็นไวพจน์ เกื้อกูลกับคำว่า "อารมณ์" เท่าที่ปรากฏอยู่ในวิชาธรรมะ คือ ขันธ์ ๕, รูปนาม, สังขาร, สังขตะ, โลก, ทุกข์ เหล่านี้ มักใช้แทนกันได้ตามสำนวนที่กำลังเอ่ยถึงอยู่ในขณะนั้น ดังนั้น แต่ละคำเหล่านี้จึงล้วนแล้วแต่มีความหมายว่า ไม่เที่ยงแท้ถาวร ทั้งสิ้น

ถ้าหากใครเข้าใจว่าเป็นสภาพธรรมที่เที่ยงแล้ว ก็ย่อมเห็นผิดจากความเป็นจริง เช่น เห็นว่าพระพรหมดำรงตนอยู่อย่างเที่ยงดิ่ง เช่นนี้ตลอดไป เป็นต้น ก็เรียกว่าเห็นกลับตาละปัดไปจากความเป็นจริง ดังที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น

นอกจากนี้ ถ้าเห็นว่าเมื่อได้เกิดเป็นมนุษย์แล้ว ก็เป็นมนุษย์ตลอดไป หรือเมื่อได้เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานแล้วก็เป็นสัตว์เดรัจฉานตลอดไป ตายแล้วก็ไม่เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นตามคติของกรรมที่ตนได้ทำไว้ ก็จัดเป็น สัสสตทิฐิ

แต่ถ้าเห็นว่า จิตของมนุษย์หรือสัตว์ทั้งหลายจะต้องจุติไปเกิดอีกหลังจากที่ตายแล้ว ในเมื่อยังไม่หมดกิเลส ก็จัดว่าเป็นสัมมาทิฐิในพุทธศาสนา ไม่ใช่สัสสตทิฐิ

สำหรับเรื่องสัสสตทิฐินี้ ผู้ที่เริ่มเข้ามาศึกษาธรรมะใหม่ๆ มักจะถูกผู้อื่นเอาสัสสตทิฐิปลอมๆ ซึ่งฝ่าฝืนเหตุผล มาขู่ให้กลัวเกรง ทำให้ลืมเรื่องราวที่ดีที่ชอบ ประกอบด้วยเหตุผลไปเสีย จนทำให้ต้องเห็นคล้อยตามคำขู่นั้นไปด้วย

เช่น เห็นว่าเมื่อสัตว์ตาย แต่จิตเป็นสิ่งที่ไม่ได้ตายสูญหายไปไหน ย่อมจุติออกไปถือกำเนิดในภพชาติใหม่ต่อไปอีก ไม่มีที่สิ้นสุด ก็ขู่ว่านี่เป็นสัสสตทิฐิ

หรือเห็นว่า ในอัตตภาพของคนและสัตว์ ซึ่งประชุมพร้อมด้วยรูปธรรม – นามธรรมนี้ มีอยู่สิ่งหนึ่งที่เป็นสภาพยั่งยืนสำหรับรับผลกรรมที่ได้ทำไว้ ไม่ได้ดับตายหายสูญไปตามร่างกายที่ตายไปด้วย ก็ขู่ว่านี่เป็นสัสสตทิฐิ

ทั้งนี้เพื่อให้ผู้เริ่มศึกษาธรรมะหันกลับมาเชื่อตามผู้ขู่ว่า ทั้งร่างกายและจิตใจที่ได้ประชุมพร้อมกันอยู่นี้ ไม่มีอะไรเป็นแก่นสารสักนิด จึงไร้ประโยชน์ และดับตายหายสูญไปอย่างสิ้นเชิงเมื่อสัตว์ตาย เช่นเดียวกับบุญ – บาป – กิเลสอาสวะที่ได้สั่งสมรวมไว้ในจิตด้วยเหมือนกัน จิตที่ไปเกิดใหม่ เป็นจิตดวงใหม่ แต่สามารถถ่ายทอดรับช่วงบุญบาปจากจิตดวงเก่าได้ อุปมาดังพ่อทำบาปสะสมไว้ พอตายไป ก็ถ่ายทอดบาปกรรมเช่นนั้น ให้ลูกที่เกิดในภายหลังเป็นผู้รับมรดกต่อไป ซึ่งเป็นคำขู่ที่เชื่อถือไม่ได้เลย

ความจริงนั้น พระพรหมก็ดี หรือที่เรียกว่า ขันธ์ ๕ ก็ดี เป็นสภาพธรรมฝ่ายผล (วิบาก) ที่เกิดจากจิตถูกอารมณ์ฌานปรุงแต่งให้มีให้เป็นทั้งสิ้น เมื่อหมดอารมณ์ฌานปรุงแต่งแล้ว จิตก็ย่อมถูกอารมณ์อย่างอื่นทยอยกันเข้ามาปรุงแต่งตามลำดับติดต่อกันไป

อุปมาดังน้ำสะอาดที่ถูกนำเอาสีเข้ามาผสมปรุงแต่ง ทำให้น้ำมีสีเหมือนกับสีที่เข้าผสมแต่ละสี ฉันใดก็ฉันนั้น

เราจะเห็นว่า ทั้งจิตและน้ำ ได้ยืนเป็นประธาน ให้สิ่งอื่นเข้ามาปรุงแต่งอยู่ ไม่ได้สูญหายไปไหน แต่สิ่งที่เข้ามาปรุงแต่งได้เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ไม่คงที่เสมอไป

ดังนั้น ถ้าเรากล่าวว่า จิตเป็นธาตุทรงตัว “รู้” อยู่ทุกกาลสมัยตามที่เป็นจริง ย่อมเป็นสัมมาทิฐิ

และในขณะเดียวกัน ถ้าเรากล่าวว่า อารมณ์ฌานที่เข้ามาปรุงแต่งเที่ยงแท้แน่นอน ก็เป็นสัสสตทิฐิ

🌹  อุจเฉททิฐิ (เห็นสิ่งที่เที่ยงว่าไม่เที่ยงหรือเห็นว่าขาดสูญ)

อุจเฉททิฐิ นี้ เป็นความเห็นผิดที่มีโทษร้ายแรงมากถึงกับต้องห้ามมรรคผลของตัวเองทีเดียว ทั้งนี้เป็นเพราะไม่ได้ศึกษาให้รู้จัก อสังขตธรรม ซึ่งไม่ได้เกิดจากเหตุปัจจัยใดๆ ปรุงแต่งให้มีให้เป็น เป็นธรรมที่รักษาสภาพเดิมของตนเองไว้ตลอดทุกกาลสมัย

แต่ผู้ที่เห็นผิด กลับเข้าใจว่าไม่มีอะไรที่เป็นแก่นสารถาวรเลย บุคคลพวกนี้เห็นว่าทั้งมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายเกิดมาจากความสนุกสนานร่าเริงกันของบิดามารดา จึงทำให้เกิดรูปร่างกายของตัวเองขึ้นมา และเมื่อเกิดรูปร่างกายขึ้นมาแล้ว ก็มีจิตใจพลอยเกิดตามมาด้วยโดยอัตโนมัติ

ดังนั้น เมื่อร่างกายตายลงเมื่อใด จิตก็ต้องพลอยพินาศดับสูญไปด้วยเช่นเดียวกัน เกิดหนเดียว – ตายหนเดียวเท่านั้น ไม่มีการสืบภพชาติต่อไปอีกแต่ประการใด ความเห็นเช่นนี้จัดว่าเป็นอุจเฉททิฐิ (เห็นว่าขาดสูญ)

ความเห็นผิดเช่นนี้ มีอยู่มากมายในปัจจุบันนี้ ผู้ที่มีความเห็นเช่นนี้ มักมีจิตใจกระด้างหยาบคายเป็นส่วนใหญ่ มักไม่เห็นความถูกต้องของการดำเนินชีวิตในสังคมว่าเป็นเรื่องสำคัญ จึงมักประพฤติตนตามชอบใจ และสวนทางกับหลักธรรมในพระศาสนา บางทีก็กล่าวบิดเบือนสัจธรรมให้ผิดไป ทำให้ส่งผลที่เป็นพิษเป็นภัยแก่สังคมเป็นอย่างยิ่ง

เพราะทำให้ผู้ที่เชื่อถือเช่นนี้ จะละเลยการประกอบคุณงามความดี และหันเข้าประกอบแต่ความชั่วกอบโกยผลประโยชน์ แบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา โดยไม่คำนึงถึงผลของกรรมที่จะได้รับข้างหน้า เพราะได้เข้าใจผิดเสียแล้วว่า ใครจะทำอะไรลงไปก็ย่อมขาดตายหายสูญ เมื่อตายจึงไม่ต้องรับผลของกรรมแต่ประการใด

ดังนั้น ผู้ศึกษาธรรมะที่หลงพาตัวเองเข้าไปอยู่ในข่ายความเห็นผิดว่าตายสูญ เพราะเหมาเอาว่าจะพ้นทุกข์นั้น ย่อมขัดแย้งกับพระพุทธศาสนา ดังพุทธดำรัสที่มีมาใน อปัณณกสูตรว่า

"พระอรหันต์ทั้งหลาย ย่อมรู้อยู่แก่ใจว่าปรโลกมีอยู่ ฉะนั้นผู้ที่ถือว่าปรโลกไม่มี จึงได้ชื่อว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อพระอรหันต์ทั้งหลาย

ในเมื่อตนเองถือเช่นนั้น (ถือว่าตายสูญ) แล้วสอนผู้อื่นให้เชื่อตาม จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้ประกาศอสัทธรรม และด้วยอสัทธรรมที่ได้ประกาศออกมาเช่นนี้ ย่อมเป็นเหตุยกตนข่มผู้อื่นอีกด้วย ย่อมละศีลได้ง่ายและประพฤติตนในทางทุศีล

ดูก่อนคหบดีทั้งหลาย เพราะอาศัยมิจฉาทิฐิเป็นปัจจัย ย่อมก่อให้เกิดอกุศลกรรมไม่ใช่น้อยทีเดียว

ดูก่อนคหบดี ในเรื่องปรโลกนี้ สำหรับคนที่ฉลาดย่อมคิดอย่างนี้ว่า ถ้าปรโลกไม่มี คนที่ทำบาปไว้ก็ปลอดภัยไป แต่ถ้าปรโลกมีจริง คนที่ทำบาปตายไปแล้ว ก็จะเข้าถึงทุคติ วินิบาตนรก หรือแม้ไม่พูดถึงปรโลก แต่คนที่เห็นผิดและทุศีล ก็ย่อมถูกวิญญูชนติในโลกนี้เอง

เพราะฉะนั้น คนที่มีความเห็นผิด จึงต้องประสบผลร้ายถึง ๒ ทางคือ ถูกติเตียนในโลกนี้ และเมื่อตายไปแล้วก็จะเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาตนรกอีกด้วย"


สรุปความแล้ว ผู้ที่เห็นว่าจิตเป็นสภาพธรรมที่ต้องดับตายหายสูญ เมื่อรูปร่างกายนี้ตายลง จัดว่าเป็น อุจเฉททิฐิ ในพระพุทธศาสนานี้

🌷 🌷 🌷 

จากที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น เรื่องจิต ตน ธรรม เรา นั้น เพื่อต้องการเน้นย้ำให้ผู้ฟังธรรมบรรยาย ได้ตั้งใจทำความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้ อันเป็นหัวใจสำคัญในทางปฏิบัติ เพราะยังมีผู้ที่เคยได้ยินได้ฟังจากที่อื่นมาก่อน ในเรื่องจิต ตน ธรรม เรา จึงได้จดจำไว้และเข้าใจไปตามนั้นว่า จิตที่เป็นธาตุรู้นี้ ไม่มีแก่นสารอะไรเลย เป็นตัวทุกข์ พึ่งพาอาศัยอะไรไม่ได้ บังคับบัญชาไม่ได้ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดไปจากความเป็นจริง บุคคลผู้ที่รู้จักจิตผิดไปจากความเป็นจริงนั้น ย่อมทำให้การศึกษาและปฏิบัติธรรมกรรมฐานผิดไปตลอดแนวเช่นกัน เพราะยังมีบุคคลผู้ที่ปฏิบัติธรรมกรรมฐาน จนถึงแก่นแท้ เข้าถึงจิตตัวในและรู้จักจิตที่แท้จริง อันไม่ใช่จิตสังขารดังกล่าวแล้ว มีพระบาลีในพระธรรมบทกล่าวไว้ว่า ดังนี้ “อชฺฌตฺตํ สมยํ จิตฺตํ สนฺติ เมวา ธิคจฺฉติ” แปลว่า บุคคลผู้ปฏิบัติจนถึงจิตตัวในแล้ว ย่อมเข้าสู่ความสงบ และย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง หรือรู้ชัดว่า จิตที่สงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหวนั้น ย่อมนำสุขมาให้ และเป็นที่พึ่งที่อาศัย สามารถควบคุมได้ดังใจหวัง เป็นสรณัง คัจฉามิ เอวัง.

พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท
เทศนาธรรม วันพระ ๘ สิงหาคม ๒๕๖๔





Create Date : 08 สิงหาคม 2564
Last Update : 3 มกราคม 2565 13:36:25 น.
Counter : 267 Pageviews.

0 comment
ความเข้าใจสับสนในพระพุทธศาสนา


🌷 ความเข้าใจสับสนในพระพุทธศาสนา

วันอาทิตย์ที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๖๔ เป็นวันพระแรม ๘ ค่ำ เดือน ๘ (สองหน)

เจริญสุขสวัสดี ให้พากันตั้งใจฟังธรรมเทศนาเรื่อง หัวใจพระพุทธศาสนา ซึ่งต่อจากวันพระที่แล้ว ในการฟังธรรมเทศนาในเชิงวิชาการนั้น ที่จะให้หายสงสัยกันแบบเด็ดขาด เป็นของที่ทำได้ยาก ยิ่งถ้าไม่มีพื้นฐานในเรื่องพระธรรมคำสอนของพระองค์มาก่อนแล้ว ยิ่งต้องนำกลับมาทบทวน เพื่อให้เกิดความเข้าใจให้กระจ่างยิ่งขึ้นในภายหลัง

🌹 จุดที่ทำให้เกิดความเข้าใจสับสนในพระพุทธศาสนา

กล่าวตามข้อเท็จจริง ต้นเหตุที่ทำให้เกิดความสับสนอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ในการทำความศึกษาเรื่องธรรมะในพระพุทธศาสนา ก็คือ

๑. การไม่เข้าใจเรื่อง จิต กับ วิญญาณ (อาการของจิต) ประการแรก
๒. การไม่เข้าใจความหมายของคำว่า อัตตา และ อนัตตา ประการที่สอง


🌹 การไม่เข้าใจเรื่อง จิต กับ วิญญาณ (อาการของจิต)

ในประการแรกนั้น ผู้ศึกษาธรรมะโดยมากมักจะเข้าใจว่า จิตกับวิญญาณเป็นอันเดียวกัน แต่ก็มีอยู่ไม่น้อยทีเดียว ที่เข้าใจว่าจิตกับวิญญาณ มีความหมายแตกต่างกัน ด้วยเหตุดังกล่าวนี้เอง จึงได้กลายเป็นจุดที่ทำให้เกิดความสับสนมืดมัว แก่ผู้ที่เข้ามาศึกษาธรรมะ ในพระพุทธศาสนาในภายหลังเป็นอันมาก

ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดขึ้นในภายหลัง ผู้ศึกษาจึงต้องนำพุทธพจน์จากพระสูตรสำคัญๆ เช่น อนัตตลักขณสูตร เป็นต้น มาสอบเทียบเพื่อพิจารณาโดยเฉพาะ จะนำเอาความคิดเห็นของอาจารย์ธรรมะ หรือตำราในภายหลังมาหักล้างไม่ได้

พระสูตรดังกล่าวนี้ พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนพระปัญจวัคคีย์ เรื่อง รูป (อารมณ์) เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ (อาการของจิตอันเนื่องด้วยอารมณ์) ซึ่งสัตว์ทั้งหลายยึดมั่นถือมั่น และหวังจะให้เป็นไปดังใจหมาย, อยู่โดยทั่วกัน

ทรงชี้แจงแสดงให้เห็นว่า แต่ละอย่างเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้ถาวร เป็นทุกข์ และไม่อาจบังคับบัญชาให้เป็นไปดังใจหวังได้ จนกระทั่งจิตของพระปัญจวัคคีย์ หลุดพ้นจากการเข้าไปยึดถือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อีกต่อไปในที่สุด ซึ่งแสดงว่า จิต ต่างกับ วิญญาณ อย่างชัดเจน

ข้อสังเกตสำหรับการตรวจพิจารณาเรื่อง จิตกับวิญญาณ ซึ่งต่างก็เป็นคำนามเหมือนกันนี้ อีกประการหนึ่ง ก็คือ

พระพุทธองค์ทรงใช้ คำกริยา กับ จิต เมื่อมีความหมายว่า ทรงไว้ซึ่งธาตุรู้ ว่า “วิมุตติ (จิตหลุดพ้น)” บางแห่งก็ใช้ว่า “วิโมกข์ หรือวิโมกขธรรม”

และทรงใช้ คำกริยา กับวิญญาณ เมื่อมีความหมายว่า “รับรู้อารมณ์จนเสียคุณภาพเดิมไปแล้ว” ว่า “นิรุชฌ์” บ้าง “อัสดงค์” บ้าง ซึ่งแปลว่า “ดับ” คือ การรับรู้อารมณ์เรื่องนั้น ดับไปแล้ว

คำกริยา “หลุดพ้น” กับ “ดับ” สองคำนี้ มีความหมายชัดเจนในตัวเองแล้วว่าแตกต่างกัน โดยไม่จำเป็นต้องอธิบายเพิ่มเติมอีกแต่ประการใด ดังนั้น จึงชี้ความแตกต่างของคำว่า “จิต กับ วิญญาณ” ได้อีกทางหนึ่ง

พระสูตรที่แสดงให้เห็นความแตกต่างของคำว่า “จิต กับ วิญญาณ” ใน “นกุลปิตาสูตร” พระพุทธองค์ได้ตรัสว่า

“ดูก่อนนกุลปิตาคหบดี บุคคลผู้ที่ไม่ได้สดับศึกษา ไม่ได้รับคำแนะนำจากพระอริยะนั้น เมื่อรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ปรวนแปรไป จิตย่อมปรวนแปรไปด้วย

ส่วนผู้ที่ได้สดับศึกษา ได้รับคำแนะนำจากพระอริยะนั้น เมื่อรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ปรวนแปรไป จิตย่อมไม่ปรวนแปรไปด้วย

ดูก่อนท่านคหบดี จงทำความศึกษาว่า จิตนี้จักไม่ปรวนแปรไปตาม รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเถิด”


🌹 การไม่เข้าใจความหมายของคำว่า อัตตา และ อนัตตา

ประการที่สอง การไม่เข้าใจความหมายของคำว่า “อนัตตา” เป็นจุดสำคัญอีกจุดหนึ่งในพระพุทธศาสนา ที่ทำให้ผู้ศึกษาธรรมะเข้าใจไขว้เขวอย่างมากมาย

กล่าวโดยความจริงแล้ว คำว่า “อนัตตา” นี้แปลว่า “ไม่ใช่ตัวตน” แต่ส่วนใหญ่ที่ได้ยินกันอยู่ในปัจจุบันนี้ กลับแปลอย่างผิดๆ ว่า “ไม่มีตัวตน” ไปเสีย ทำให้เกิดความเข้าใจผิดขึ้นอย่างมากมายทีเดียว

คำว่า “ไม่ใช่ตัวตน” หมายความว่า ตัวตนที่แท้จริงมีอยู่ แต่กลับหลงไปยึดเอาขันธ์ ๕ ซึ่งไม่ใช่ตัวตน เข้ามาเป็นตัวตนด้วยความเข้าใจผิด เพราะไม่รู้จักตัวตนที่แท้จริง

ส่วนคำว่า “ไม่มีตัวตน” นั้นหมายความว่า “ไม่มีสิ่งใดเลย” ที่มีชีวิตจิตใจ นอกจากก้อนดิน ก้อนอิฐ ก้อนกรวด ต้นไม้ ภูเขา ฯลฯ ซึ่งเป็นวัตถุตามธรรมชาติเท่านั้น ซึ่งเป็นผลให้เข้าใจผิดว่า ไม่มีผู้กระทำกรรม และไม่มีผู้รับผลของกรรมนั้นๆ ด้วย

ดังที่มักจะได้ยินกันว่า บรรดาธรรมทั้งหลายนั้น มีแต่การกระทำอย่างเดียวเท่านั้น ผู้กระทำหามีไม่ เป็นต้น จัดเป็นนัตถิกทิฐิ ในพระพุทธศาสนานี้ ซึ่งไม่ได้มีความหมายเกี่ยวข้องกับคำว่า “อนัตตา” แต่ประการใดเลย

สำหรับคำว่า “อัตตา” นั้น เป็นสภาพธรรมที่อยู่ตรงกันข้าม กับคำว่า “อนัตตา” และมีปรากฏเป็นพุทธพจน์อย่างมากมายหลายแห่งเสียด้วย

🌹 เงื่อนไขในการบัญญัติคำว่า อัตตา และ อนัตตา ในพระพุทธศาสนา

มีพุทธพจน์ตรัสไว้ในอนัตตลักขณสูตร ดังนี้ “รูปญฺจ หิทํ ภิกฺขเว อตฺตา อภวิสฺส นยิทํ รูปํ อาพาธาย สงฺวตฺเตยฺย” แปลว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้ารูปนี้เป็นอัตตาแล้ว รูปนี้ก็ไม่เป็นไปเพื่อความเจ็บไข้ได้ป่วย”

พุทธพจน์ข้อนี้ได้แสดงไว้อย่างชัดเจนรวม ๒ นัย คือ

สิ่งใดที่เป็นไปเพื่อความเจ็บไข้ได้ป่วย ทรงจัดว่าเป็นอนัตตา อันได้แก่ รูป (ทั้งนี้ทรงสอนรวมทั้ง เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ด้วย) นัยหนึ่ง

และสิ่งใดที่ไม่เป็นไปเพื่อความเจ็บไข้ได้ป่วย ทรงจัดว่าเป็นอัตตา อันได้แก่ จิตผู้รู้ชั้นพุทโธ ซึ่งไม่พลอยหวั่นไหวไปตามอารมณ์ที่เข้ามากระทบ อีกนัยหนึ่ง

ผู้ที่ศึกษาธรรมะยังไม่เข้าใจสภาพของจิตผู้รู้ ชั้นพุทโธ ซึ่งตั้งมั่นไม่หวั่นไหวนี้ จึงเหมาเอาเองว่าพระพุทธองค์ไม่ได้ทรงสอนเรื่องอัตตา

🌹 ตัวอย่างเรื่องอนัตตา ที่สอนกันอย่างผิดๆ ในปัจจุบัน

ตามธรรมดาแล้ว ธรรมะที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกาศสั่งสอนพุทธบริษัท ๔ แล้วนั้น ย่อมเป็นสัจธรรมที่มีเหตุมีผลสอดคล้องกับความเป็นจริงทั้งหลาย ไม่มีขัดแย้งซึ่งกันและกันเลย

ดังนั้น ธรรมะข้อใดที่สอนถ่ายทอดต่อๆ กันมา โดยไม่สอบเทียบกับหลักของเหตุผล ธรรมะข้อนั้นย่อมสะดุดความรู้สึกของผู้ที่รับถ่ายทอด ว่าขาดเหตุผลทันที ถึงแม้จะไม่รู้ในขณะนั้น ก็จะต้องมีผู้พบเห็นในภายหลัง และจะต้องถูกปฏิเสธทันทีเช่นเดียวกัน

ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่กล่าวยืนยันสอนเรื่อง อนัตตาผิดๆ ว่าไม่มีตัวตนนั้น จึงกระทำไป เพราะไม่รู้จักตัวตน แต่กล่าวออกมาเช่นนี้ เพราะเรียนท่องจำมาอย่างแน่นสนิท ซึ่งจะต้องได้รับการปฏิเสธจากอนุชนในภายหลังอย่างไม่มีปัญหา

โปรดดูตัวอย่าง การสอนเรื่องไม่มีตัวตน เท่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ดังต่อไปนี้คือ “ในที่สุดแห่งการบรรยายธรรมเรื่อง อนัตตา นี้ พอสรุปได้ว่า การทำความเห็นว่าไม่มีตัวตนนั้น เป็นสิ่งที่ดี เราจะได้รับผลอันน่าพึงพอใจ ตนั่นแหละจะมีความสุขทุกทิพาราตรีกาล อาตมาจึงขอยุติการบรรยายเรื่องไม่มีตัวตนไว้แต่เพียงเท่านี้ เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้”

การบรรยายธรรมะเช่นนี้ ย่อมฟังยากฟังเย็นเสียเหลือเกิน พูดวกวนเป็นน้ำในอ่าง เหมือนลวงคนเล่นต่อหน้าต่อตา เพราะพูดว่า ตัวตนเราเขา ไม่มีไปแล้ว ก็กลับพูดวนมาหาตน หาเรา หาอาตมา ให้มีความสุขเข้าอีกจนได้ จนกลายเป็นเรื่องขัดแย้งกันเองขึ้นมา เพราะหยอดท้ายคำบรรยายว่าอาตมาขอยุติการบรรยายเรื่องไม่มีตัวตนไว้เพียงเท่านี้ ?

ทั้งนี้ย่อมแสดงว่าได้บรรยายธรรมะสืบต่อกันมาโดยไม่ถูกต้อง จนบางทีถึงกับอบรมให้เกลียดตัวเกลียดตนกัน เพราะไม่รู้จักตัวตนที่แท้จริงซึ่งมีอยู่จริงๆ ก็มี พอทักท้วงเข้าก็แก้ตัวอุตลุดไม่ยอมรับว่ามีตัวตน แต่กลับยิ่งกล่าวบิดเบือนเถลไถลว่า “อัตตา” (ตัวตน) เป็นแต่เพียงคำสมมุติบัญญัติ ซึ่งความจริงแล้วไม่มีอะไร ถ้าไม่มีอะไรจริงๆ อย่างว่าแล้ว ก็ย่อมสมมุติบัญญัติคำว่า “อัตตา” ออกมาไม่ได้เลย

🌹 ผลของการสอนผิดๆ ว่าไม่มีตัวตน

ผู้ที่เริ่มศึกษาธรรมะใหม่ๆ มักพลอยเชื่อตามผู้ที่สอนผิดๆ ว่า อนัตตาแปลว่าไม่มีตัวตน ด้วยคิดว่าเป็นคำสอนที่ถูกต้อง เพราะยังมีความรู้ไม่กว้างขวางพอและขาดประสบการณ์อยู่ จึงพากันกลัวนักกลัวหนาว่าจะมีตัวตน ถ้าใครพูดเรื่องตัวตนขึ้นมา ก็ตั้งข้อหาว่าเป็นมิจฉาทิฐิให้ทันที จึงท่องจำคำ อนัตตา (ไม่มีตัวตน) ไว้จนขึ้นใจ พอพูดถึงเรื่องอะไร หรือแลเห็นอะไรสักหน่อย ก็ชิงบอกด้วยอำนาจสัญญาที่ได้ท่องจำไว้ว่า “ไม่มีตัวตน” ทันที

เช่น บอกว่า ไม่มีสัตว์ – บุคคล – ตัวตน – เรา – เขา มรรค ๘ นั้นก็สักแต่ว่าเป็นทางเดิน แต่ไม่มีผู้เดิน ส่วนนิพพานนั้น ก็สักแต่ว่าเป็นนิพพาน แต่ผู้ถึงนิพพานไม่มี จึงทำให้เข้าใจเลยออกไปได้ว่า มีแต่การตีกันหัวแตกเท่านั้น แต่ผู้ตีไม่มี ดังนี้เป็นต้น

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสกับพระอานนท์ซึ่งเป็นพระอริยะชั้นโสดาบัน ว่าดังนี้ “ตสฺมา ตีหานนฺท อตฺตทีปา วิหรถ อตฺตสรณา อนญฺญสรณา” แปลว่า “ด้วยเหตุนี้แหละอานนท์ เธอจงมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง”

ทั้งนี้แสดงว่า พระองค์ทรงสอนเรื่อง ตัวตน ถ้าไม่มีตัวตนจริงๆ ดังที่สอนกันอยู่ในปัจจุบันนี้แล้ว พระองค์ย่อมนำมาตรัสสอนพระอานนท์ไม่ได้เลย

พระพุทธองค์ทรงปฏิเสธ รูปนาม (อารมณ์และอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์) ว่าไม่ใช่ตัวตน ไม่ควรยึดถือสิ่งเหล่านี้ว่าเป็นอัตตาตัวตนที่เที่ยงแท้ถาวร ถ้าหากปล่อยวางเสียได้ จิตก็จะบรรลุเข้าสู่สภาพธรรมที่ปลอดโปร่ง เป็นอิสระ เป็นที่พึ่งอันเที่ยงแท้ถาวรอย่างแท้จริง

มีพระบาลีในปัณฑิตวัคคแห่งพระธรรมบทกล่าวไว้ ดังนี้คือ “ปริโยทเปยฺย อตฺตานํ จิตฺตกฺกิเลเสหิ ปณฺฑิโต” แปลว่า “บัณฑิตพึงชำระตนคือจิต ให้บริสุทธิ์ปราศจากกิเลส”

แสดงว่า จิตที่บริสุทธิ์นี้ คือ ตน ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงยกมาสอนพระอานนท์ดังกล่าวแล้วข้างต้นนี้ ดังนั้นคำสอนที่ว่า ไม่มีตัวตน จึงย่อมขัดแย้งกับพุทธพจน์ข้อนี้อย่างไม่มีปัญหา

ความจริงนั้นคำสอนเรื่องไม่มีตัวตน เป็นคำสอนของปริพาชก จำพวก นัตถิกทิฐิ ซึ่งอยู่นอกศาสนาพุทธนี้ ที่ทำให้ผู้ฟังธรรมะเข้าใจผิดว่าตายแล้วก็พินาศดับสูญหมด ไม่มีตัวตนที่จะรับผลของกรรมดี กรรมชั่ว

ดังนั้น ผู้ที่เข้าใจว่าไม่มีตัวตน จึงปฏิเสธความเวียนว่ายตายเกิด และไม่เชื่อว่ามีชีวิตในปรโลกอีกต่อไป คือ มีทิฐิว่าตายแล้วสูญ

เมื่อมีทิฐิเกิดขึ้นเช่นนี้แก่ผู้ใด ผู้นั้นก็ย่อมไม่ละอายและไม่เกรงกลัวต่อผลบาปกรรม จึงมักพากันทำงานและใช้ชีวิตโดยไม่คำนึงถึงศีลธรรม คิดแต่จะกอบโกยผลประโยชน์แบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา ใครจะประสบความเดือดร้อนยุ่งยากก็ช่าง สังคมทั้งหลายก็ย่อมประสบปัญหายุ่งยากร่วมกัน ถ้าปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม ไม่ช่วยกันคิดแก้ไขปัญหายุ่งยากดังกล่าวนี้ เพราะถือว่าธุระไม่ใช่ของตัว สังคมก็ยิ่งยุ่งยากจมลึกลงไปอีก

ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าคำสอนที่แปลคำ “อนัตตา” ผิดว่า “ไม่มีตัวตน” นี้ จึงมีพิษมีภัยแก่ความสงบสุขของสังคมนี้ฝ่ายเดียว ถ้าไม่ศึกษาให้ดีก็จะไม่เห็นว่ามีพิษมีภัยอะไร

สรุปความให้ชัดที่สุดแล้ว ตัวตน ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงนำมาสอน ก็คือ จิตที่ได้ชำระให้บริสุทธิ์ปราศจากกิเลสแล้ว ถ้ายังไม่ได้ชำระจิตให้บริสุทธิ์ เนื่องจากถูกอารมณ์ปรุงแต่งอยู่ จิตนั้นก็ยังไม่ใช่สภาพเดิมของตัวตน และเป็นทุกข์ตลอดไป หมายความว่า จิตสังขารไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง

🌹 ตัวอย่างการสอนเรื่อง อนัตตา ผิดอีกแบบหนึ่ง

เท่าที่เป็นอยู่ ยังมีอาจารย์ธรรมะอีกหลายท่านเหมือนกัน ที่สอนว่า “อนัตตา” นี้แปลว่า “ไม่ใช่ตัวตน” โดยอ้างพระบาลีว่า สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งปวงไม่ใช่ตัวตนทั้งนั้น

เพราะฉะนั้น ที่ใช่ตัวตน จึงไม่มี เพราะไม่เห็นมีอะไรอย่างอื่นที่อยู่นอกเหนือไปจากขันธ์ ๕ ซึ่งล้วนแต่บังคับบัญชาให้เป็นไปอย่างใจหวังไม่ได้เลย ชีวิตซึ่งประกอบด้วยร่างกายและจิตใจนี้ ก็ต้องแตกทำลายหายสูญไปหมดสิ้น ไม่มีอะไรเป็นแก่นสารสักชิ้น

ดังนั้น จึงต้องถูกปฏิเสธด้วยคำว่า อนัตตา (ไม่ใช่ตัวตน) เพราะบังคับบัญชาให้เป็นไปอย่างใจหวังไม่ได้ ทั้งสองอย่างไปด้วย โดยไม่เข้าใจและขาดการปฏิบัติธรรมเพื่อทดสอบ ให้รู้เรื่องราวของจิตใจตามความเป็นจริงมาก่อน จึงปฏิเสธทุกสิ่งทุกอย่างว่าเป็น อนัตตา โดยการท่องจำพระบาลี สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา เท่านั้น

🌹 หลักเกณฑ์ที่ใช้ตัดสินว่าสิ่งใดเป็นอัตตาและสิ่งใดเป็นอนัตตา

กล่าวตามข้อเท็จจริงแล้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพียงแต่ทรงปฏิเสธรูปนาม หรือ ขันธ์ ๕ ว่า “ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ และ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ตัวตนของเรา” ดังปรากฏชัดอยู่ในอนัตตลักขณสูตรนั้น

ดังนั้น ถ้าไม่หลงผิด ยึดเอารูปนามหรือขันธ์ ๕ ซึ่งเกิดขึ้นเนื่องด้วยมีอารมณ์มากระทบจิตว่าเป็นอัตตาตัวตนแล้ว ก็จัดว่าเป็นสัมมาทิฐิ ในพระพุทธศาสนานี้ เพราะว่า รูปนาม หรือขันธ์ ๕ นั้น เป็นอนัตตา (ไม่ใช่ตัวตน) ซึ่งเกิดจากสิ่งภายนอก

ด้วยเหตุนี้ การเชื่อว่า มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา จึงเป็นสัมมาทิฐิ ถ้าไม่เอารูปนามหรือขันธ์ ๕ เป็นอัตตาตัวตน

ในตอนท้ายพระสูตรดังกล่าว ได้สรุปความลงว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคย์ตรัสเรื่องราวนี้จบลง “จิตของพระปัญจวัคคีย์ ก็หลุดพ้นจากอุปาทาน ที่ทำให้เข้าไปยึดถือขันธ์ ๕” ทั้งนี้แสดงว่า บุคคลที่เข้าไปยึดถือขันธ์ ๕ และปล่อยวางขันธ์ ๕ เสียได้ในที่สุดนั้น ก็คือ “จิต” นั่นเอง ซึ่งย่อมเห็นได้ชัดเจนที่สุดว่า จิต กับ ขันธ์ ๕ นั้นเป็นคนละอย่างกัน ไม่ใช่อย่างเดียวกัน

อุปมาดัง “คน” ที่เข้าไปยึดถืออาศัย “บ้าน” อยู่ คนย่อมไม่ใช่บ้าน และบ้านย่อมไม่ใช่คน ข้อนี้ฉันใด “จิต” กับ “ขันธ์ ๕” ก็ฉันนั้น

ดังนั้น จึงแยกกล่าวให้ละเอียดได้ว่า
รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่ใช่จิต
แต่จิตเป็นผู้รู้ว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มาเกิดขึ้นที่จิต แล้วก็ดับไปจากจิต

ในบรรดาพระสูตรสำคัญๆ ทั้งหลาย พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสปฏิเสธ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่าเป็นอนัตตา ดังปรากฏในพระบาลีว่า “สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา” แปลว่า “ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา” แต่ยังไม่ปรากฏชัดๆ สักแห่งว่าได้ทรงปฏิเสธว่าจิตเป็นอนัตตาด้วย

อนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่า นักศึกษาธรรมะอีกไม่น้อย ที่ท่องจำพระบาลีนี้ไว้สำหรับตีความเอง โดยรวมเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ วิราคจิต พระนิพพาน ซึ่งเป็นหลักธรรมอันเป็นที่พึ่งสำคัญในพระศาสนานี้ ให้เป็นอนัตตาไปด้วย เช่นเดียวกับขันธ์ ๕ ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้

จึงทำให้เกิดความสับสนแก่ผู้ที่ศึกษาธรรมะว่า ในพระพุทธศาสนามีแต่สิ่งที่ไม่ใช่ตัวตนทั้งนั้น ที่ใช่ไม่มีเลยหรือ???

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ก็จำเป็นต้องใช้พุทธพจน์สำหรับพิจารณาตัดสินปัญหา เพื่อมิให้เกิดความผิดพลาดที่เอาความคิดเห็นของตัวเองเข้าไปใส่ ดังต่อไปนี้คือ

พระพุทธองค์ได้ตรัสถามพระปัญจวัคคีย์ว่า “ยมฺปนานิจฺจํ ทุกฺขํ วิปริณามธมฺมํ กลฺลํ นุ ตํ สมนุปสฺสิตุํ เอตํ มม เอโส หมสฺสมิ เอโส เม อตฺตาติ” แปลว่า “สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นเป็นเรา เราเป็นสิ่งนั้น สิ่งนั้นเป็นตัวตนของเรา”

พระปัญจวัคคีย์กราบทูลตอบว่า “ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า”

ทั้งนี้หมายความว่า สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความปรวนแปรไปเป็นธรรมดา สิ่งนั้นย่อมเป็นอนัตตา และโดยกลับกัน สิ่งใดเที่ยง ไม่มีทุกข์ ไม่ปรวนแปรเป็นอย่างอื่น สิ่งนั้นก็ย่อมเป็นอัตตาในพระศาสนานี้

หรืออาจกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า สิ่งใดสามารถบังคับบัญชาให้เป็นอย่างใจหวังได้ สิ่งนั้นย่อมเป็นอัตตา และ สิ่งใดไม่สามารถบังคับบัญชาให้เป็นไปอย่างใจหวังได้ สิ่งนั้นก็ย่อมเป็นอนัตตา

พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พระนิพพาน ได้แก่ จิตที่ได้ฝึกฝน บังคับ ชำระให้สะอาดบริสุทธิ์ เป็นวิราคจิต เป็นอมตธรรม เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อยู่ที่เดียวกัน และแยกจากกันไม่ได้ เพียงแต่สมมุติเรียกชื่อแตกต่างกันโดยคำพูด เท่านั้น

มีพระบาลียืนยันไว้ชัดเจนดังนี้คือ “อตฺตา นาม จิตฺตํ สกโล วา อตฺตภาโว” แปลว่า “จิตนี้แหละได้ชื่อว่าเป็นอัตตา แต่ว่าได้ยึดเอาสกลกายนี้เป็นอัตภาพไปด้วย”

🌹 ขอบเขตของการบังคับบัญชาร่างกายให้เป็นไปอย่างใจหวัง

ตามธรรมดา อัตภาพร่างกายซึ่งรวมอยู่กับจิตใจนี้เป็นสังขารธรรม จึงจัดเป็นอนัตตา คือไม่สามารถบังคับบัญชาให้เป็นไปอย่างใจหวังได้ ต้องปรวนแปรเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา

โดยเฉพาะรูปร่างกายนี้เป็นธรรมฝ่ายกลางๆ ไม่ดีไม่ชั่ว แต่อยู่ในอำนาจของจิต หมายความว่า จิตสามารถบังคับบัญชาใช้สอยร่างกายนี้ ให้ทำงานต่างๆ อันมิใช่สิ่งนอกเหนือคติธรรมดา ตามประสงค์ได้

โดยเฉพาะในแง่ของธรรมะ จิตย่อมบังคับบัญชาร่างกายไม่ให้ไปก่อกรรมทำชั่วได้ เช่นบังคับไม่ให้ถือศาสตราวุธไปทำร้ายผู้อื่น บังคับให้ทำความดี เป็นต้น สรุปแล้วสามารถกล่าวได้ว่า จิตบังคับบัญชาร่างกายให้ทำงานต่างๆ ได้อย่างไม่มีปัญหา ในเมื่อร่างกายอยู่ในสภาพปรกติ ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย

ถึงแม้ว่าการระวังรักษาทางแพทย์ ก็ย่อมหมายความว่า ต้องคอยควบคุมร่างกายที่กำลังเจ็บป่วยอยู่ ให้กลับคืนเข้าสู่สภาพปรกติ ด้วยอำนาจของยาเหมือนกัน จะว่าบังคับบัญชาร่างกายไม่ได้โดยประการทั้งปวงนั้น ย่อมไม่ได้

ความหมายที่ว่า บังคับบัญชาร่างกายให้เป็นไปอย่างใจหวังไม่ได้ ตามที่ปรากฏอยู่ในอนัตตลักขณสูตรนั้น หมายแต่เพียงบังคับบัญชาไม่ได้ ในส่วนที่เกี่ยวกับความเก่าแก่คร่ำคร่า ที่เป็นไปตามกาลเวลาที่ล่วงไปเท่านั้น เมื่อถึงเวลาแตกดับ ก็ต้องแตกดับไปเป็นธรรมดา

ดังนั้น จึงไม่ได้หมายความว่า บังคับบัญชาร่างกายในเรื่องการใช้งานไม่ได้ เหมือนดังที่ท่องจำตามๆ กันมาว่า อะไรๆ ก็เป็น สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา บังคับบัญชาไม่ได้ทั้งนั้น แต่ประการใด

ผู้ที่เรียนธรรมะโดยวิธีท่องจำตามๆ กันมาเช่นนี้ว่า อะไรๆ ก็ไม่ใช่ตัวตน บังคับบัญชาไม่ได้ทั้งนั้น ที่ใช่ตัวตนไม่มีนั้น

อุปมาเหมือนดังผู้ที่ถูกเสี้ยมสอนให้ท่อง และเห็นว่า ธนบัตรที่มีอยู่ในท้องพระคลังทั้งหมด ไม่ใช่ธนบัตรดี (ปลอม) ทุกฉบับ รวมทั้งที่อยู่ในกระเป๋าตนเอง ก็ไม่ใช่ธนบัตรดี ไม่ว่าจะเห็นธนบัตรฉบับไหน สัญญาที่เกิดจากการท่องจำมา ก็ชิงทำหน้าที่พูดออกมาทันทีว่า ไม่ใช่ธนบัตรดีทั้งนั้น

ความรู้ที่เกิดจากถูกเสี้ยมสอนเช่นนี้ ย่อมไม่มีหลักเกณฑ์ที่ถูกต้องและขาดหลักวิชาการอย่างยิ่ง

ถ้าหากเริ่มสอนให้รู้จักรูปร่างลักษณะของธนบัตรที่ดี ว่าเป็นอย่างไรมาก่อนแล้ว ก็ย่อมรู้จักฉบับที่ไม่ใช่ธนบัตรดีได้ โดยไม่ต้องท่องหรือนึกเดาเอาเอง จนเกิดความผิดพลาดในที่สุด เป็นธรรมดา ข้อนี้ฉันใด

การเรียนธรรมะ โดยวิธีท่องจำว่า อะไรๆ ก็เป็นอนัตตาทั้งนั้น อัตตาไม่มีด้วยประการทั้งปวง ย่อมไม่มีหลักเกณฑ์ที่มั่นคง เช่นเดียวกับที่กล่าวมานี้ และย่อมผิดพลาดถ้านำเอาคำ อนัตตา ไปปฏิเสธ อมตธรรม (ธรรมที่ไม่ตาย) หรือโลกุตตรธรรม อันได้แก่ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือพระนิพพาน ข้อนี้ก็ฉันนั้น

เพราะฉะนั้น จึงเห็นได้ว่าคำสมมุติบัญญัติว่า อนัตตา จึงมีคู่กับคำว่า อัตตา เสมอ จะมีแต่เพียงคำหนึ่งคำใด โดยไม่มีอีกคำหนึ่งมาเป็นคู่ ย่อมไม่ได้

🌹 พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนเรื่อง ตัวตน ควบคู่กับ สิ่งที่ไม่ใช่ตัวตน

โปรดพิจารณาพุทธอุทานบทหนึ่ง ซึ่งทรงเปล่งออกหลังจากตรัสรู้ใหม่ๆ ดังนี้คือ

“ยทา จ อตฺตนา เวทิ มุนิ โมเนน พฺราหมฺโณ อถรูปา อรูปา จ สุขทุกฺขา ปมุญฺจติ” แปลว่า “เมื่อใดพราหมณ์ผู้เป็นมุนี มารู้จักตนเข้าด้วยปัญญาอันเกิดจาก (จิต) สงบ เมื่อนั้นพราหมณ์ย่อมพ้นจากรูป อรูป สุข และทุกข์ ดังนี้” (ทรงเห็นว่า รูป อรูป สุข และทุกข์ เป็นอนัตตาด้วยความมั่นใจ เพราะทรงรู้จักจิตที่สงบเป็นสันตินิพพานแล้ว)

จากพระบาลีที่ยกมานี้ จะแลเห็นได้ว่า พระพุทธองค์ได้ทรงใช้หลักเกณฑ์อย่างมั่นคง ในการปฏิเสธ รูป อรูป (นาม) สุขและทุกข์ ที่เนื่องจากนั้นว่าเป็น อนัตตา จนพระองค์หลุดพ้นออกมาเสียได้ ซึ่งหมายถึง จิตหลุดพ้นโดยเฉพาะ

เป็นที่น่าสังเกตว่า พระพุทธองค์ทรงใช้คำว่า อนัตตา สำหรับปฏิเสธ รูป นาม สุข และทุกข์ อันเนื่องจากนั้น ซึ่งเป็นสังขารธรรมในภาคพื้นโลกียะนี้เท่านั้น เพราะได้ทรงพบ จิตบริสุทธิ์ว่าเป็น อัตตา คือ สภาพธรรมที่ไม่ตาย (อมตธรรม) ที่ทรงความรู้ไว้ตลอดทุกกาลสมัย, มาแล้ว พระองค์มิได้ทรงปฏิเสธสิ่งต่างๆ โดยปราศจากเหตุผลเลย

ถ้าหากทรงปฏิเสธอมตธรรม ซึ่งได้แก่ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พระนิพพาน ทิ้งเสีย ด้วยคำว่า อนัตตา แล้ว ก็ย่อมไม่มีธรรมะข้ออื่น หรือสิ่งอื่นในพระศาสนานี้ ที่จะนับว่ามีแก่นสารเป็นที่พึ่งได้อีกเลย คำว่าอมตธรรมอันเที่ยงแท้ถาวรก็ย่อมไม่มีจริง และพระองค์ย่อมตรัสว่าได้พบอมตธรรมในวันตรัสรู้ ไม่ได้อีกด้วย

🌷 🌷 🌷

เกี่ยวกับเรื่องอัตตาและอนัตตานั้น เป็นองค์ธรรมที่สำคัญยิ่ง และเป็นแก่นธรรมที่จะนำให้บุคคลผู้ที่กำลังปฏิบัติธรรมกรรมฐานสมาธิภาวนา ได้เข้าถึงจิตที่บริสุทธิ์พ้นจากอาสวะกิเลสทั้งหลาย หรือพระนิพพานนั่นเอง เป็นอมตธรรม ที่เราต้องการแสวงหา โดยเฉพาะเรื่องอนัตตาธรรมแล้ว เป็นธรรมของพระอริยเจ้าโดยเฉพาะเพราะว่าพระอริยเจ้าทั้งหลายนั้น ล้วนรู้จักตัวตนที่แท้จริง จึงได้ปฏิเสธขันธ์ ๕ ว่าไม่ใช่ตน (อนัตตา)

ในครั้งกระนั้น (พุทธกาล) ที่พระพุทธองค์ได้ทรงสั่งสอนพระปัญจวัคคีย์ ด้วยเรื่องอนัตตา ว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นั้น นั่นไม่ใช่เรา (จิต) นั้นไม่เป็นเรา (จิต) นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา (จิต) ทำให้พระปัญจวัคคีย์ซึ่งได้รู้จักตน พบตนที่แท้จริง ด้วยปัญญาอันยิ่งที่เกิดจากความสงบ เป็นตนอันเป็นที่พึ่งที่อาศัยได้ ย่อมเกิดความเบื่อหน่ายใน รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นั้น เมื่อเกิดความเบื่อหน่าย ก็คลายกำหนัด เมื่อคลายกำหนัด จิตก็หลุดพ้นจากอุปทานขันธ์ทั้งหลาย สิ้นอาสวะบรรลุพระนิพพาน สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ในครั้งนั้นมีพระอรหันต์เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในโลก พร้อมกันทีเดียว ๖ รูป ซึ่งมีปัญจวัคคีย์ ๕ รูป รวมพระพุทธองค์เข้าไปอีก ๑ รูป

เรื่องในโลก ล้วนเป็นของคู่กัน มีขาวต้องมีดำ มีถูกต้องมีผิด มีดีต้องมีชั่ว และอีกมากมาย ที่เรียกว่าทวินิยม เช่น อนัตตาที่แปลว่าไม่ใช่ตัวตน แสดงว่าที่ใช่ตัวตนต้องมีอยู่อย่างแน่นอน แต่นักธรรมะคนรุ่นใหม่ มักถูกสอนจนจำขึ้นใจว่า อะไรๆ ก็ไม่มีทั้งนั้น อะไรๆก็ไม่ใช่ทั้งนั้น ที่มีก็ไม่ใช่ ที่ใช่ก็ไม่มี เป็นเพียงสมมุติบัญญัติเท่านั้น จะมีแต่ความบริสุทธิ์เพียงอย่างเดียว ซึ่งเป็นเรื่องที่ขาดเหตุผลเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะความบริสุทธิ์ด้วยแล้ว ซึ่งเป็นคุณลักษณะของอะไรสักอย่าง คุณลักษณะจะเกิดมีขึ้นลอยๆ ไม่ได้เลย เช่น น้ำที่บริสุทธิ์ คุณลักษณะที่ใสสะอาดปราศจากมลทินเจือปนอยู่ ทองคำที่บริสุทธิ์ก็เช่นกัน เป็นทองที่สุกปลั่ง แสดงถึงความบริสุทธิ์ที่ไม่มีมลทินเจือปนอยู่เลย

ฉะนั้น พระพุทธศาสนาจึงยืนอยู่บนหลักเหตุผล ที่บุคคลผู้เข้ามาศึกษาสามารถพิจารณาติตรอง ให้รู้เห็นตามความเป็นจริงได้

ลองมาเทียบเคียงกับโอวาทพระปาฏิโมกข์ ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ในวันมาฆะฤกษ์ ดังนี้
๑. สพฺพปาปสฺส อกรณํ การไม่ทำชั่วทั้งปวง
๒. กุสลสฺสูปสมฺปทา การทำความดีทั้งปวง
๓. สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทธานสาสนํ คือ การชำระจิตของตนให้ขาวรอบหรือบริสุทธิ์ นั่นเอง เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

เมื่อจิตถูกขจัดมลทินเครื่องเศร้าหมองออกไปด้วยอริยมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเป็นเครื่องมือชำระมลทินเครื่องเศร้าหมอง ให้ออกจากจิตของตนจนหมดสิ้น จิตของตนย่อมได้รับความบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ฉะนั้นความบริสุทธิ์หมดจดที่จิตของตนได้รับ ต้องอยู่คู่กับจิตนั้น ด้วยประการฉะนี้แล เอวัง

พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท
เทศน์วันพระ ๑ สิงหาคม ๒๕๖๔




Create Date : 01 สิงหาคม 2564
Last Update : 3 มกราคม 2565 13:36:05 น.
Counter : 375 Pageviews.

0 comment
พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ตั้งอยู่ที่ใด?


🌷  พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ตั้งอยู่ที่ใด?

วันเสาร์ที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๖๔ เป็นวันพระขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ (สองหน) ตรงกับวันอาสาฬหบูชา เป็นวันที่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ได้ปรากฎขึ้นครั้งแรกในโลก 

ณ บัดนี้ให้ตั้งใจกันฟังพระธรรมเทศนาต่อจากวันพระที่แล้ว ในเรื่องหัวใจพระพุทธศาสนา ซึ่งผู้เรียบเรียงได้จัดหัวข้อธรรม ลำดับไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้น ดังนี้

🌹  ธาตุในพระพุทธศาสนา

คำว่า ธาตุ หมายถึง สิ่งที่มีอยู่เดิม หรือสิ่งที่เป็นต้นเดิม เป็นสภาพที่รักษาคุณสมบัติเดิมของตนเองไว้ โดยไม่มีการเปลี่ยนแปร หรือเสื่อมสิ้นไปตามกาลเวลาที่ล่วงไปๆ

หมายความว่า เดิมมีคุณภาพอย่างไร ก็คงมีคุณภาพอย่างนั้นอยู่เสมอ เช่น ธาตุดิน ก็ย่อมรักษา ความแค่นแข็ง ของตัวเองไว้ ไม่กลับกลายหรือเสื่อมเป็นธาตุอื่น ... ธาตุน้ำ ก็ย่อมรักษา ความเอิบอาบ เหลวและไหล ไว้ตลอดกาล ไม่กลับกลายเป็นธาตุไฟไปได้ ดังนี้เป็นต้น

มีพระบาลีในวิภังคสูตร ว่าไว้ดังนี้ "ฉ ธาตุโย อยํ ปุริโส" แปลว่า "ในรูปร่างกายของคนเรานี้ มีธาตุอยู่ ๖ ธาตุ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ อากาศธาตุ และวิญญาณธาตุ (จิต) ซึ่งประชุมปรุงแต่งให้เป็นรูปร่างกายอยู่ได้ ถ้าขาดธาตุใดธาตุหนึ่งไปเสีย รูปร่างกายนี้ก็ย่อมวิปริต พิกล พิการ แตกทำลายลงได้"

ทั้งนี้หมายความว่า ธาตุทั้ง ๖ แต่ละธาตุ ต่างก็รักษาคุณภาพของตัวเองไว้ตลอดทุกกาลสมัย ไม่มีการเสื่อมสูญ หรือที่เรียกว่า ไม่ตกอยู่ในอำนาจพระไตรลักษณ์เลย ส่วนรูปร่างกายซึ่งเกิดจากธาตุทั้ง ๖ มาประชุมพร้อมกันนั้น ย่อมต้องปรวนแปรไปจากเดิมตามกาลเวลาที่ล่วงไป ไม่อาจตั้งอยู่คงที่ได้

กล่าวคือ รูปร่างกายตกอยู่ในอำนาจพระไตรลักษณ์ ไม่ว่าเป็นรูปชนิดใดก็ตาม ซึ่งเรียกว่า ไม่เที่ยง (อนิจฺจํ) เป็นทุกข์ (ทุกฺขํ) ไม่ใช่ตัวตน (อนตฺตา) จัดเป็น ธาตุผสม

🌹  รายละเอียดของธาตุ ๖

๑. ธาตุดิน (ความแค่นแข็ง)
๒. ธาตุน้ำ (ความเอิบอาบ เหลว ไหล)
๓. ธาตุลม (ความพัดไหวไปมา)
๔. ธาตุไฟ (ความร้อน)
๕. อากาศธาตุ (ความว่าง)
๖. วิญญาณธาตุ (ธาตุรู้ คือ จิต)

ธาตุทั้ง ๖ เหล่านี้ เป็นธาตุแท้ดั้งเดิม ที่ไม่ได้เกิดจากเหตุปัจจัยใดๆ ทั้งสิ้น สามารถเรียกว่าเป็น แม่ธาตุ ซึ่งเป็นแดนเกิดของธาตุผสมต่างๆ ทุกชนิดในโลกนี้ทีเดียว

ธาตุแต่ละธาตุเหล่านี้ ไม่ได้แยกตัวกันอยู่เป็นเอกเทศเลย ต้องคุมตัวเข้าผสมกันเสมอ ถ้าต้องสลายตัวออกจากกลุ่มธาตุที่ได้ผสมกันแล้ว กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งก็ตาม ย่อมต้องเข้าผสมกับกลุ่มธาตุอื่นต่อไปอีกเสมอ

ธาตุที่ ๑ ถึงธาตุที่ ๕ เป็นธาตุที่รวมกันเข้าเป็น รูป ในเมื่อเหตุปัจจัยพร้อม รูป เสียง กลิ่น รส ความสัมผัสทางกาย และความนึกคิดทางใจ ที่เรียกว่า อารมณ์ เหล่านี้เกิดขึ้นจากการผสมตัวของธาตุ หรืออาศัยธาตุดังกล่าวเป็นแดนเกิดทั้งสิ้น

สำหรับอากาศธาตุนั้น โดยปรกติมักละไว้ในฐานที่เข้าใจเสมอ คือไม่ค่อยเอ่ยถึง คงเอ่ยถึงแต่เพียง ๔ ธาตุ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ เท่านั้น เมื่อรวมกันแล้วเรียกว่า มหาภูตรูป ๔ (รูปที่หลอกลวงที่เกิดจากธาตุ ๔)

ดังนั้น มหาภูตรูป ๔ จึงตกอยู่ในอำนาจพระไตรลักษณ์ ต้องปรวนแปรเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาเป็นธรรมดา

ส่วนแต่ละธาตุที่ผสมกันขึ้นเป็นรูปนั้น ย่อมดำรงตัวเที่ยงแท้เป็นเช่นนั้น เมื่อรูปแตกแยกออกเมื่อใด ธาตุดินก็แยกไปเป็นดิน ธาตุน้ำก็แยกไปเป็นน้ำ ธาตุไฟก็แยกไปเป็นไฟ ธาตุลมก็แยกไปเป็นลม และธาตุรู้ก็เคลื่อนจุติออกไปตามกรรมของตน ไม่ได้ดับตายหายสูญไปไหนเลย

รวมความว่า ธาตุแต่ละธาตุ (ดิน น้ำ ลม ไฟ) ที่ได้รวมกันเป็นรูปนั้น เที่ยงแท้ถาวรในฝ่ายรูปธรรม และ วิญญาณธาตุ (ธาตุรู้ คือ จิต) นั้น ก็เที่ยงแท้ถาวรในฝ่ายนามธรรม ต้องเคลื่อนตัวออกไปเมื่อมหาภูตรูปแตกแยกเสมอ

ดังพุทธพจน์ที่มาในมหาปรินิพพานสูตรต่อไปนี้ คือ "จตุนฺนํ อริยสจฺจานํ ยถาภูตํ อทสฺสนา สงฺสริตํ ทีฆมทฺธานํ ตาสุตาเสว ชาติสุ" แปลว่า "ความเวียนว่ายของเราเข้าไปในชาติน้อยใหญ่ทั้งหลาย อันยาวนานนับไม่ถ้วนนั้น เพราะมิได้เห็นอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง ดังนี้"

ผู้ที่มีสติปัญญาทั้งหลาย อย่างเช่นเราๆ ท่านๆ ย่อมต้องเข้าใจว่า มีสิ่งที่มีลักษณะเที่ยงแท้เป็นแก่นสารอยู่สิ่งหนึ่ง คือ จิตของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เข้าไปเวียนว่ายจากพระชาติหนึ่งถึงอีกพระชาติหนึ่ง และพระชาติติดต่อกันไปเป็นเวลาอันยาวนานนับไม่ถ้วน ก่อนตรัสรู้ และจิตดวงนี้ได้ยืนตัวเป็นประธานอยู่ทุกชาติ ไม่ว่าจะเปลี่ยนพระชาติไปกี่ครั้งกี่หนก็ตาม

ทั้งนี้ย่อมแสดงว่า จิตเป็นสภาพธรรมที่ไม่ได้ดับตายหายสูญไปไหน แต่รูปร่างกายซึ่งถือเอากำเนิดเป็นชาตินั้นต่างหาก ที่ไม่เที่ยงแท้ถาวร คือ เปลี่ยนชาติใหม่ทุกชาติ ถ้าจิตเกิดดับเป็นคนละดวง คือเปลี่ยนใหม่ตามร่างกายในแต่ละพระชาติด้วยแล้ว ก็ย่อมตรัสว่าพระองค์ได้ทรงเข้าไปเวียนว่ายในพระชาติเหล่านั้น ไม่ได้เลย

เพราะฉะนั้น จิตจึงไม่ใช่สภาพธรรมที่เกิดดับ แต่จิตชั้นพระสัมมาสัมพุทโธ รู้อยู่ว่า รูปร่างกายในแต่ละพระชาติ เกิดแล้วก็ตายไป ตามกาลเวลาที่ผ่านไปๆ โดยลำดับ นานแสนนานมาแล้ว ซึ่งเป็นใจความในพุทธพจน์ข้อนี้ 

🌹  จิตกับการรับรู้อารมณ์ของจิต (จิตกับวิญญาณ ๖)

คำว่าจิตนี้ เราได้บัญญัติขึ้น เพื่อเรียกสิ่งที่ทรงไว้ซึ่งความรู้ (ธาตุรู้) จัดเป็นตัวธรรมอันสำคัญยิ่งในพระพุทธศาสนา ที่ทรงตัวรู้อยู่ทุกกาลสมัย หมายความว่า มีอะไรเกิดขึ้นก็รู้ อะไรดับไปก็รู้ ว่างก็รู้ พอใจก็รู้ ไม่พอใจก็รู้ เฉยๆ ก็รู้ ดังนี้เป็นต้น ถ้ามีจิตยืนเป็นประธานอยู่แล้ว จะบอกว่าไม่รู้ หรือบอกว่ารู้บ้างไม่รู้บ้าง ย่อมไม่ได้

การรู้ของจิตนี้ ย่อมมีถูกมีผิด แล้วแต่กำลังที่มี ถ้าจิตมีกำลังน้อย เพราะขาดการอบรมศึกษามาแต่ก่อน ก็ย่อมรู้ผิดและเห็นผิดความจริง ก็เรียกว่ามิจฉาทิฐิ แต่ถ้าจิตมีกำลังมาก เพราะได้รับการศึกษาอบรมมาดีแล้ว ก็ย่อมรู้ถูกและเห็นถูกต้องตามความเป็นจริง ก็เรียกว่าสัมมาทิฏฐิ ซึ่งเป็นเป้าหมายขั้นต้นของพระพุทธศาสนาที่จะต้องปฏิบัติสมาธิเพื่อศึกษาให้รู้จักสิ่งต่างๆ อย่างถูกต้องตามความเป็นจริงเสียก่อน จึงจะผ่านขึ้นไปยังขั้นที่สูงกว่าต่อไปได้

ส่วนสิ่งที่ถูกจิตรู้ เรียกว่า อารมณ์ อันได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส ความสัมผัสทางกาย และความนึกคิดทางใจ รวม ๖ ประการ ซึ่งจะผลัดและทยอยกันเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ตามลำดับคู่ ไม่ซ้ำซ้อนกัน เข้าไปสู่จิต ทำให้เกิดการผสมปรุงแต่งและยึดถือขึ้นทันที ถ้าจิตขาดการศึกษาอบรมมาแต่ก่อน แต่ถ้าจิตได้รับการศึกษาอบรมมาดีแล้ว อารมณ์ทั้งหลายก็ย่อมไม่อาจเข้าผสมปรุงแต่งจิตให้เสียคุณภาพเดิมและไม่ยึดถือไว้ต่อไป

ทั้งนี้หมายความว่า อารมณ์แต่ละอย่างดังกล่าวแล้วเหล่านี้ จะจัดเป็นอารมณ์ได้ ก็ต่อเมื่อมีจิตเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเท่านั้น ถ้ายังไม่มีจิตเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ก็ยังไม่จัดว่าเป็นอารมณ์ของจิต กล่าวคือ จิตก็อยู่ส่วนจิต อารมณ์ก็อยู่ต่างหากอีกส่วนหนึ่ง ไม่เกี่ยวข้องกัน เราก็กล่าวกันว่าเป็นอสังขตธรรม คือเป็นธรรมที่ยังไม่ได้ผสมปรุงแต่งกันฝ่ายนาม และยังไม่อาจนำเอาคำสมมุติบัญญัติมากล่าวบรรยายว่าเป็นอย่างไรได้เลย อสังขตธรรมชนิดนี้พร้อมที่จะเข้าผสมปรุงแต่งกันทันทีที่จิตกระทบกับอารมณ์

คำว่า ชาติ ชรา พยาธิ และมรณะ นั้น ต่างก็เป็นรูปแบบของความเปลี่ยนแปลง ที่จิดตั้งเป็นคำสมมุติบัญญัติลงที่รูปร่างกายตามที่มีที่เป็น และคำว่า เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป นั้น จิตก็เป็นผู้ตั้งสมมุติบัญญัติลงที่อารมณ์ ซึ่งผ่านเข้ามาให้รู้ และผ่านออกไปจากการรับรู้ เป็นอารมณ์ๆ ตามลำดับไป หลังจากที่จิตได้เข้าผสมปรุงแต่งกับอารมณ์นั้นๆ แล้ว

เมื่ออารมณ์ผ่านอายตนะเข้ามากระทบจิต จนเกิดการรับรู้และยึดถือเอาเข้ามาไว้ด้วยอำนาจความเข้าใจผิดแล้ว ก็ย่อมเกิดเป็นสังขตธรรม หรือที่เรียกว่าสังขารธรรมขึ้น กลายเป็นธาตุผสมระหว่างจิตกับอารมณ์ไป

🌹  อารมณ์และอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์ (รูปนาม)

อารมณ์ต่างๆ อันได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส ความสัมผัสทางกาย และความนึกคิดทางใจ รวม ๖ ประการเหล่านี้นั้น กล่าวความจริงแล้วเป็นแต่เพียงเงาหรือฉายาภาวะของวัตถุที่จิตหลงยึดเข้ามาครอบครองด้วยความเข้าใจผิดว่า เป็นสิ่งที่เที่ยงแท้ถาวร ทำให้จิตแสดงอาการอันเนื่องด้วยอารมณ์นั้นๆ รวม ๔ ประการ (อารมณ์เป็นรูป อาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์ ๔ ประการดังกล่าวนี้เป็นนาม รวมเรียกว่ารูปนาม) ดังนั้น รูปนามจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในภายหลัง ถ้ายังไม่มีอะไรเข้ามากระทบจิต รูปนามก็ยังไม่เกิดขึ้น จิตก็รู้ว่ารูปนามยังไม่เกิดขึ้น เมื่อรูปนามเกิดขึ้น จิตก็รู้ว่ารูปนามเกิดขึ้นแล้ว

อาการของจิตที่เกิดขึ้นเนื่องจากมีอารมณ์กระทบดังที่ได้กล่าวมาแล้ว คือ
๑. เกิดการรับรู้อารมณ์ชนิดนั้นๆ เรียกตามชื่ออายตนะนั้นว่า จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ และมโนวิญญาณ รวม ๖ ประการ 
๒. เสวยสุขทุกข์เนื่องด้วยอารมณ์นั้นๆ เรียกว่า เวทนา
๓. จดจำอารมณ์นั้นๆ ไว้ได้ เรียกว่า สัญญา 
๔. คิดดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งต่ออารมณ์นั้นๆ ตามอำนาจกิเลสที่เกิดขึ้น เรียกว่า สังขาร

ทั้ง ๔ ข้อนี้ เป็นอาการของจิตที่เกิดขึ้นเนื่องจากอารมณ์เข้ามากระทบจิต รวมเรียกว่า นาม ๔ ประการ เมื่อรวมอารมณ์ที่กระทบด้วย ก็เป็น ๕ ประการ จึงเรียกว่า ขันธ์ ๕ หรือรูปนาม ก็ได้

ทั้งนี้หมายความว่า ถ้ายังไม่มีอารมณ์มากระทบจิต ขันธ์ ๕ หรือรูปนาม ก็ยังไม่เกิดขึ้น เราเรียกจิตในขณะนี้ว่าจิตตกภวังค์ คือยังไม่ได้ขึ้นสู่วิถีที่จะรับอารมณ์ หรือเรียกว่าจิตประภัสสรก็ได้ แต่ถ้าจิตขึ้นสู่วิถีที่จะรับอารมณ์เมื่อใด ความประภัสสรก็ย่อมหายไปเมื่อนั้น และเนื่องจากจิตมีอยู่ดวงเดียว จึงไม่ใช่สภาพธรรมที่จะจัดให้เป็นกอง เป็นพวก หรือเป็นขันธ์ (ขันธ์แปลว่ากอง) เหมือนดังขันธ์ ๕ หรือรูปนาม ดังที่ได้กล่าวแล้วนี้ได้ ดังนั้น จิตจึงไม่ใช่รูป ไม่ใช่นาม หรือไม่ใช่ขันธ์ ๕ แต่ประการใดทั้งสิ้น

เมื่อรูปนามเกิดขึ้น ก็แปลว่าในขณะนี้ จิตได้ถูกอารมณ์เข้าผสมปรุงแต่ง ให้เกิดเป็นชีวิต เป็นภพ และเป็นโลกขึ้นแล้ว เพราะได้เข้าไปยึดถืออารมณ์นั้นๆ ทำให้จิตหวั่นไหวไปตามอารมณ์ด้วย เราเรียกจิตที่ยังติดข้องอยู่ในอารมณ์นี้ว่าเป็น “สัตว์” ส่วนรูปร่างกายนั้นเป็นแต่เพียงที่อาศัยของสัตว์เท่านั้น ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา แต่ประการใด

การที่สัตว์ติดข้องอยู่ในอารมณ์นี้ เป็นเพราะได้รับรสชาติจากการกระทบกับอารมณ์ต่างๆ เมื่อรับอารมณ์หนึ่งแล้ว ก็อยากจะรับอารมณ์อื่นต่อไปอีก เพราะรู้จักอารมณ์อย่างผิดๆ

ด้วยเหตุนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้ทรงอบรมสั่งสอนพุทธบริษัทให้รู้จักอารมณ์ต่างๆ ให้ถูกต้องตามความเป็นจริง หรือให้รู้ถูก (วิชชา) โดยถอนความยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์เหล่านั้นเสีย เมื่อเข้ามากระทบจิต ก็ให้เพียงสักแต่ว่ากระทบเท่านั้น เมื่อไม่ยึดมั่นถือมั่นจนปรุงแต่งจิตให้เสียคุณภาพเดิมไป ก็พ้นทุกข์

เมื่อได้อบรมจิตให้รู้ถูกต้องตามความเป็นจริงแล้ว ความรู้ผิด (อวิชชา) ก็ดับไปเพราะความรู้ถูกต้องตามความเป็นจริง (วิชชา) ได้เกิดขึ้นแทนที่ความรู้ผิดที่มีอยู่เดิม เราก็กล่าวกันตามประสาชาวบ้านว่า เกิดความฉลาดขึ้นแทนที่ความโง่เขลาเบาปัญญาที่จิตมีอยู่เดิมแล้ว จิตในขณะนี้ได้กลายเป็น พุทโธ (ผู้รู้ถูก ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน) เพราะเลิกติดข้องในอารมณ์ทั้งปวงอย่างสิ้นเชิง เมื่อเลิกติดข้องในอารมณ์ก็ย่อมไม่ใช่ “สัตว์” อีกต่อไปแล้ว

โปรดดูการแผลงอักษรของคำว่า “วิชชา” ดังต่อไปนี้  วิชฺชา –> วิชฺโช –> วุชฺโช –> พุชฺโช –> พุทฺโธ คือ จิตรู้จักอารมณ์อย่างถูกต้องตามความเป็นจริง นั่นเอง

พระโพธิสัตว์ ก็หมายความถึง จิตของผู้ที่ยังติดคล่องและกำลังแสวงหาความรู้อย่างถูกต้องอยู่ ดังนั้น คำสมมุติบัญญัติที่ว่า สัตว์ก็ดี พระโพธิสัตว์ก็ดี พระพุทโธก็ดี จิตเป็นผู้เป็นทั้งนั้น ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่ว่า ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา จึงพูดออกมาเพราะไม่รู้จักคำว่า “สัตว์” ในพระพุทธศาสนา 

ซึ่งมีพุทธดำรัสว่า “เอกายโน   อยํ  ภิกฺขเว  มคฺโค  สตฺตานํ  วิสุทฺธิยา” แปลว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ทางนี้เป็นทางเดินทางเอก ที่เป็นไปเพื่อความหมดจดของสัตว์ทั้งหลาย” เพราะฉะนั้น ผู้ที่ว่าไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา จึงขัดแย้งกับพุทธดำรัสนี้อย่างมิต้องสงสัย

ผู้ที่สามารถรู้จักวิธีอบรมจิตให้รู้จักอารมณ์ได้ถูกต้องเอง เรียกว่าได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทโธ (มีโอกาสประกาศพระศาสนา) หรือเป็นพระปัจเจกพุทโธ (ไม่มีโอกาสประกาศพระศาสนา) ผู้ที่ได้รับการอบรมสั่งสอนจากพระพุทโธแล้วจึงตรัสรู้ตามด้วย เรียกว่าพระอนุพุทโธ

ทั้งนี้หมายความว่า ทั้งพระสัมมาสัมพุทโธ พระปัจเจกพุทโธ พระอนุพุทโธ ทุกท่านเหล่านี้ ต่างก็ได้อบรมจิต ฝึกฝนจิต มิให้ฟุ้งซ่านหวั่นไหวไปตามอารมณ์ทั้งปวง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ จิตของท่านเหล่านี้ไม่มีกำเริบปรุงแต่งให้เกิดมีกิเลส เป็นพระอรหันต์ขีณาสพ จิตบริสุทธิ์เป็นเอกภาพเหมือนกันทั้งหมด ไม่แตกต่างจากกัน เป็นสันตินิพพาน จึงจัดเป็น วิราคจิต (จิตที่สิ้นความกำหนัดยินดีในอารมณ์) หรือวิราคธรรม (ธรรมที่แยกออกจากการผสมกับอารมณ์) เข้าสู่สภาพเดิมที่ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย เหมือนดังสังขารธรรมอีกต่อไป จัดเป็นอมตธรรม (ธรรมที่ไม่ตาย) ในพระพุทธศาสนานี้

สรุปความแล้วคำว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นั้น แตกต่างกันโดยคำสมมุติบัญญัติเท่านั้น แต่อยู่ที่เดียวกันคือที่วิราคจิต (จิตที่บริสุทธิ์) หรือที่นิพพานอันเป็นที่สุดทุกข์นั่นเอง ในขณะที่จิตยังไม่บริสุทธิ์ ก็ยังต้องติดข้องท่องเที่ยวไปในอารมณ์ต่างๆ ก็ยังเป็นสัตว์อยู่ คือยังหลงยึดอารมณ์ หรือรูปนาม หรือขันธ์ ๕ ซึ่งไม่เที่ยงแท้ถาวรไว้ จึงยังไม่พ้นทุกข์

🌷 🌷 🌷 

การฟังธรรมเทศนาบรรยายเชิงวิชาการนั้น ต้องใช้ความตั้งใจเป็นมาก เพื่อให้เข้าใจเนื้อหาได้ครบถ้วน โดยเฉพาะเรื่องจิต ที่เป็นหลักธรรมแท้ที่สำคัญยิ่งในการศึกษาพระพุทธศาสนากันเลยทีเดียว ยิ่งเมื่อจิตได้เข้ามาอาศัยในรูปร่างกายนี้ ที่เรียกว่ารูปนามบ้าง เรียกว่าขันธ์ ๕ บ้าง ที่เกิดมาจากกรรมเก่าด้วยแล้ว การจะรู้จักจิตที่แท้จริงนั้น ยิ่งยากมากขึ้นไปอีก ยิ่งพยายามค้นหา ยิ่งเจอแต่อาการของจิตที่ละเอียดยิ่งขึ้น ทำให้บุคคลผู้ค้นหาเข้าใจผิดไปว่านั่นคือจิต เพราะจิตที่เข้ามาอาศัยอยู่ในรูปร่างกายนี้ด้วยความยึดมั่นถือมั่น ทั้งที่จิตเองคือธาตุรู้ เป็นหนึ่งในธาตุผสมอยู่ในธาตุ ๖ นี้ จึงต้องเวียนว่ายตายเกิดเพื่อสร้างภพสร้างชาติ รูปร่างกายใหม่ นับภพนับชาติไม่ถ้วน แต่จิตหรือธาตุรู้นี้ เราสามารถฝึกฝนอบรมให้แยกตัวออกจากอารมณ์และอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์ ที่เรียกว่าวิราคธรรม จัดเป็นอมตธรรม ทำให้เรารับรู้ว่า พระพุทธไม่ใช่พระพุทธรูปที่อยู่ในโบสถ์ พระธรรมไม่ใช่อยู่ในตู้พระไตรปิฎก พระสงฆ์ก็ไม่ใช่ลูกชาวบ้านที่โกนหัวห่มเหลืองรวมตัวกันอยู่ในวัด เพราะพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อยู่ที่เดียวกัน คือที่วิราคธรรม วิราคจิต หรือจิตที่บริสุทธิ์หลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงเข้าสู่พระนิพพาน ดังนี้  เอวัง

พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท
เทศนาธรรมวันอาสาฬหบูชา 
๒๔ กรกฎาคม ๒๕๖๔




 



Create Date : 24 กรกฎาคม 2564
Last Update : 3 มกราคม 2565 13:35:37 น.
Counter : 538 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



สารบัญ Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์



หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์