ศีลในมรรคมีองค์ ๘


🌷 ศีลในมรรคมีองค์ ๘

วันพุธที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๖๔ ตรงกับวันแรม ๘ ค่ำเดือน ๑๐ 
เจริญสุข สวัสดีสาธุชนทั้งหลาย ขอให้เจริญในธรรมทุกๆ ท่าน

การขอให้นั้น เป็นการให้กำลังใจแบบหนึ่ง ส่วนผู้รับจะได้รับหรือไม่นั้น ต้องขึ้นกับว่าผู้รับได้น้อมนำเอาไปเพื่อปฏิบัติธรรมที่ได้ฟังมา ให้ธรรมเหล่านั้นเจริญยิ่งๆ ขึ้นหรือไม่ การขอหรือการอธิษฐานนั้นเป็นเพียงเพื่อให้เกิดกำลังใจกับตนเอง 

พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสไว้ว่า ถ้าการขอหรือการอธิษฐานแล้ว สำเร็จประโยชน์ตามที่ขอหรืออธิษฐานแล้วไซร้ โลกนี้คงไม่มีคนจน คนทุกข์ยากเข็ญใจ หรือบุคคลผู้ต่ำช้าเลวทราม

เพราะเมื่อหลายวันก่อนนั้น อาตมภาพได้ยินโยมท่านหนึ่ง ถามพระอาจารย์ที่กำลังเทศน์อยู่ว่า ทำไมในสมัยพุทธกาลนั้น คนจึงบรรลุธรรมได้ง่าย เพียงแค่ฟังธรรมก็บรรลุได้แล้ว พระอาจารย์ท่านนั้นก็ได้พยายามตอบแบบให้กำลังใจว่า ต้องเป็นบุคคลผู้ที่เคยได้ทำบุญที่ยิ่งใหญ่มากในกาลก่อนมาแล้วเท่านั้น และได้อธิษฐานตั้งจิตขอไว้เพื่อบรรลุธรรม เพียงเพื่อให้โยมท่านนั้นเกิดกำลังใจว่า ถ้าตนเองได้ทำบุญกุศลไว้มากๆ จนกระทั่งสั่งสมเป็นบารมีมากพอแล้ว มีอันหวังว่าจะได้บรรลุธรรมโดยง่ายๆ กับเขาบ้างเช่นกัน

แต่เมื่อนำหัวข้อธรรมเหล่านี้มาพินิจพิจารณาให้ดีๆ แล้วนำมาเทียบเคียงกับพระพุทธพจน์พร้อมทั้งบริบทที่แวดล้อมอยู่ในครั้งกระนั้น จะเห็นว่าพระพุทธศาสนานั้นสามารถตริตรองให้รู้เห็นตามความเป็นจริงและต้องอยู่ในหลักเหตุผลเท่านั้น คงจำกันได้ว่าตอนที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ใหม่ๆ นั้น ทรงปรารภว่า ธรรมที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้นั้น เป็นธรรมอันลึกซึ้ง เห็นได้ยาก เข้าถึงได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ปราณีต ไม่เป็นวิสัยแห่งตรรกะ (นึกคิดเอา) ละเอียด บัณฑิต (ผู้มีกิเลสเบาบาง) เท่านั้น จึงจะรู้ได้

ทำให้ทรงเกิดท้อพระทัยขึ้น ต่อเมื่อระลึกถึงอาจารย์ทั้งสอง คือ ท่านอาฬารดาบสและท่านอุทกดาบส พระองค์ทรงตรัสว่าท่านอาจารย์ทั้งสองนั้น เป็นบัณฑิต (ผู้มีกิเลสเบาบาง) ฉลาด เฉียบแหลม มีปัญญา มีธุลีในจักษุน้อยมานาน (มีกิเลสน้อยมานาน) เธอจักรู้ธรรมนี้ได้โดยฉับพลัน เมื่อเธอได้ฟังธรรมนี้ (ธรรมของพระพุทธองค์ที่ได้ทรงตรัสรู้)

ในครั้งพุทธกาลนั้น เป็นพวกจิตนิยม มีคณาจารย์ทั้งหลายผุดขึ้นมาอย่างมากมาย ทั้งพวกที่อบรมกาย พวกที่อบรมจิต ที่ได้รูปฌาน อรูปฌาน เป็นจำนวนมาก ซึ่งในขณะนั้นพระพุทธศาสนาเป็นเพียงส่วนเดียวเท่านั้น มีสาวกน้อยกว่าสาวกของพวกเจ้าลัทธิบางพวกเสียด้วย และที่บรรลุธรรมในพระพุทธศาสนานั้น มีพระพุทธพจน์ในพระสูตรกล่าวไว้ดังนี้ ก็สาวกของพระโคดมผู้เจริญ เมื่อพระโคดมกล่าวสอน พร่ำสอนอยู่อย่างนี้ ทุกๆ รูปได้บรรลุนิพพาน อันเป็นผลสำเร็จถึงที่สุดอย่างยิ่งหรือ หรือว่าไม่ได้บรรลุ พราหมณ์ผู้หนึ่งทูลถามพระผู้มีพระภาค พราหมณ์ สาวกของเรา แม้เรากล่าวสอน พร่ำสอนอยู่อย่างนี้  น้อยพวกที่ได้บรรลุนิพพาน อันเป็นผลสำเร็จถึงที่สุดอย่างยิ่ง บางพวกไม่ได้บรรลุ จากพระสูตรสรุปได้ว่า พวกที่บรรลุธรรมนั้นน้อยกว่าพวกที่ไม่ได้บรรลุธรรม 

ส่วนเรื่องแค่ฟังธรรมก็บรรลุได้นั้น คงจะต้องมีพื้นฐานการปฏิบัติธรรมจนได้รูปฌาน อรูปฌาน มาจนชำนาญแล้วเท่านั้น ซึ่งในยุคนั้นสมาธินอกพระพุทธศาสนามีมาก่อนที่พระพุทธองค์จะทรงอุบัติขึ้นเสียอีก เป็นที่สนใจอย่างมากของบุคคลทั่วไปในครั้งกระนั้นเสียด้วย เนื่องจากคณาจารย์แต่ละคนล้วนรับรองตนเองว่าได้บรรลุธรรมชั้นสูงแล้ว โดยเฉพาะท่านอุทกดาบส ที่มีบุคคลศรัทธาเป็นจำนวนมากนั้น ถึงกับประกาศตนว่า เป็นผู้จบเวช เป็นผู้ชนะทุกอย่าง ขุดรากเหง้าแห่งทุกข์ได้อย่างสิ้นเชิง แต่ความจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น เป็นความเข้าใจผิดของคณาจารย์ทั้งหลายเหล่านั้นเอง 

ก็เป็นความรู้ความเข้าใจพอสังเขปเรื่องการบรรลุธรรม เรามาต่อเรื่องหัวใจพระพุทธศาสนาจากวันพระที่แล้วกันเถอะ (๒๑ กันยายน ๒๕๖๔)

🌷 ความแตกต่างของทานกับการแสวงหาอามิส

ทาน (การให้สิ่งที่ควรให้) เป็นการให้ที่เกิดขึ้นจากเจตนาของผู้ให้เอง  ที่ปรารถนาจะช่วยเหลือเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่ผู้รับที่ยากไร้ขัดสน หรือให้แก่พระสงฆ์เพื่อจะได้มีกําลังปฏิบัติธรรมเพื่อให้บรรลุมรรคผล เป็นก้าวแรกของการประกาศตนว่าจะนับถือพระพุทธศาสนา ส่วนการชักชวน โฆษณาเพื่อให้ผู้อื่นบริจาคทรัพย์นั้น เป็นการแสวงหาอามิสทั้งสิ้น ซึ่งได้แก่ งานประจําปี ฝังลูกนิมิต ฉลองพัดยศ แจกซองกฐิน ผ้าป่า เป็นต้น

🌷 ศีล กับ ศีลในมรรคมีองค์ ๘ 

ศีล หมายถึง ข้อบัญญัติที่มีเพื่อห้ามปฏิบัติในสิ่งที่ทําให้เกิดความยุ่งยากเดือดร้อนขึ้นในสังคม เป็นการสํารวมกายวาจาให้เรียบร้อย ซึ่งเป็นการกําจัดกิเลสอย่างหยาบทางกายกับวาจา คือให้ประพฤติตนแบบกัลยาณชน และไม่ทําความเดือดร้อนขึ้นในสังคมเป็นพื้นฐานเบื้องต้นเสียก่อน ดังนั้นศีลจึงมีความสําคัญสําหรับการปฏิบัติธรรมขั้นสูงขึ้นต่อไป ถ้าไม่มีศีลเสียอย่างเดียวเท่านั้น คุณธรรมความดีอย่างอื่นจะมีต่อไปอีกไม่ได้เลย ดังนั้น ศีลจึงเป็นเสมือนรั้วที่ป้องกันมิให้ผู้ปฏิบัติตาม ตกไปสู่ที่ชั่วได้ และถ้าทุกคนต่างก็รักษาศีลอย่างเคร่งครัดแล้ว สังคมก็ย่อมไม่ยุ่งยากเดือดร้อนอย่างแน่นอน

ศีลที่พระพุทธองค์ได้บัญญัติไว้มีดังนี้ คือ ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ตามลําดับที่เพิ่มขึ้นจากศีล ๕ แต่ศีล ๕ เป็นพื้นฐานสําคัญ เปรียบเหมือนรากแก้วในพระพุทธศาสนา ซึ่งพุทธบริษัทจะต้องยอมรับไว้ปฏิบัติเสียก่อน ส่วนศีล ๘  ศีล ๑๐  ศีล ๒๒๗ นั้น เป็นศีลที่บัญญัติเพิ่มขึ้นจากศีล ๕ เพื่อช่วยฝึกหัดอบรมมารยาทให้ละเอียดปราณีตยิ่งขึ้น พร้อมกับช่วยลดความกังวลห่วงใยต่างๆ ให้น้อยลงตามลําดับ

เป็นที่น่าสังเกตว่า ศีลนี้ ถ้ายิ่งมีมากข้อขึ้น ก็จะยิ่งทําให้จรรยามารยาทตลอดจนความประพฤติให้ละเอียดยิ่งขึ้น เมื่อจรรยามารยาทและความประพฤติละเอียดขึ้น ความคิดกังวลเรื่องกามารมณ์ก็ย่อมน้อยลง และเมื่อความคิดกังวลเรื่องกามารมณ์น้อยลง การปฏิบัติธรรมเรื่องศีลสมาธิปัญญาเพื่อให้บรรลุธรรมเบื้องสูงขึ้นไปก็ย่อมสะดวกยิ่งขึ้น แต่ถ้าศีลมีน้อยข้อลง ความระวังสํารวมก็ย่อมมีน้อย จึงถึงจุดหมายได้ช้ากว่า แต่จะอย่างไรก็ตาม การรักษาศีลมากข้อหรือน้อยข้อ ก็ย่อมถึงที่หมายเหมือนกัน ต่างกันแต่ว่าช้าหรือเร็วกว่ากันเท่านั้น ถ้าต่างคนต่างปฏิบัติโดยไม่หยุดยั้ง ดังนั้น จึงต้องดูให้สมกับฐานะ  โอกาส และความสามารถของตนเป็นหลักใหญ่ เพียงแต่รักษาศีล ๕ ให้บริสุทธิ์จริงๆ ก็มีอานิสงส์เหลือหลายแล้ว

🌷 หลักในการรักษาศีล 

เท่าที่เป็นอยู่นั้น  เรามักเข้าใจกันว่า ถ้าจะรักษาศีลแล้วจะต้องไปหาพระสงฆ์ เพื่อขอให้พระสงฆ์ให้ศีลเเก่เรา แล้วก็นอนค้างคืนที่วัดในวันพระ เพื่อรักษาศีล เป็นเวลาวันหนึ่งกับคืนหนึ่ง เป็นประเพณีเสมอ บางทีก็เข้าใจว่าถ้าพระสงฆ์ไม่ให้ศีล เราก็ไม่มีศีล ก็มี ความจริงแล้ว เราไปวัดเพียงเพื่อรับปากสมาทานว่า จะตั้งใจรักษาศีลอย่างเคร่งครัด ตลอดเวลาวันหนึ่งกับคืนหนึ่งเท่านั้น เราไม่ได้มีศีลขึ้นมา เพราะพระสงฆ์เป็นผู้ให้แก่เรา แต่มีศีลขึ้นมา เพราะตนเองรักษาไว้ได้บริสุทธิ์ตามที่รับปากไว้กับพระสงฆ์ต่างหาก ถ้ารับปากกับพระสงฆ์ไว้แล้ว แต่รักษาศีลนั้นๆ ขาดทะลุ ด่างพร้อยแล้ว ก็ย่อมชื่อว่าศีลขาดหรือไม่มีศีลอยู่นั่นเอง ถ้าศีลทุกข้อหมดไปจากผู้ใด คุณธรรมก็ย่อมไม่แตกต่างจากสัตว์เดรัจฉานเลย

สําหรับการไปรักษาศีลที่วัดชั่วระยะเวลาวันหนึ่งกับคืนหนึ่งนั้น เป็นสิ่งที่ดีมาก ที่ น้อยคนนักจะทําได้ แต่ส่วนใหญ่ก็มักจะไปตามๆ กัน โดยไม่ได้รับคําแนะนําอธิบายหรือศึกษาวิธีปฏิบัติตนให้ถูกต้องและเคร่งครัด เพื่อให้จิตใจสงบระงับตลอดเวลาที่อยู่ที่วัดด้วย เพราะศีลควบคุมเข้าไปไม่ถึงจิตใจ กล่าวคือจิตใจยังซัดส่ายฟุ้งซ่านอยู่

ผู้ที่รักษาศีลบางคนก็ตั้งอกตั้งใจรักษาจิตใจดี บางคนก็เอาเรื่องราวภายในครอบ ครัวของตนเองหรือผู้อื่นมาสนทนาปรับทุกข์กัน โดยไม่ได้ระมัดระวังจิตใจว่า ตนถูกเรื่องที่นํามาสนทนา ปรุงแต่งจนเสียความสงบระงับ จนฟุ้งซ่านหวั่นไหวไปหมดแล้ว ก็มี ความฟุ้งซ่านหวั่นไหวที่เกิดขึ้นนี้ ย่อมส่งผลให้ขาดความสํารวมตน และความสงบระงับที่ควรจะมีในขณะรักษาศีล ซึ่งอาจปรุงแต่งจิตให้คิดละเมิดศีลขึ้นมาโดยไม่รู้ตัวก็ได้ ดังนั้น จึงควรเว้นการสนทนาเรื่องใดๆ ทางบ้านเสียโดยเด็ดขาด เพื่อให้ศีลหมดจดบริสุทธิ์มากที่สุด

ด้วยเหตุนี้ จึงควรศึกษาเพื่อเปลี่ยนให้เป็นการรักษาศีลในมรรค ๘ ซึ่งเป็นศีลที่มีอานิสงส์สูงกว่าศีลอุโบสถมากมายนัก ทุกคนสามารถทําได้ไม่ว่าทั้งที่วัดหรือที่บ้านก็ตาม

🌷 การรักษาศีลในมรรคมีองค์ ๘ 

การรักษาศีลอุโบสถเพียงชั่วระยะเวลาวันหนึ่งกับคืนหนึ่งไว้ได้นั้น นับว่าดีไม่ใช่ น้อยทีเดียว แต่ถ้าวันต่อไป มิได้รักษาศีลนั้นๆ อย่างเคร่งครัดแล้ว ก็เปิดโอกาสให้ศีลขาดทะลุ ด่างพร้อยได้ และอาจเปิดประตูอบายภูมิให้แก่ตนเองได้อยู่ จึงควรเปลี่ยนเป็นการรักษาศีลด้วยสติอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะรักษาศีลกี่ข้อ  เป็นพระสงฆ์หรือฆราวาสก็ตาม ย่อมทําได้เหมือนกัน โดยสังเกตดูจิตใจของตนเองว่า เมื่อมีอารมณ์หรือเรื่องราวใดๆ มากระทบเฉพาะหน้าแล้ว เกิดความฟุ้งซ่าน ขุ่นเคือง สงสัย ฯลฯ ซึ่งผิดไปจากสภาพปรกติ ก็หยุด ไม่ลงมือทําต่อไป การรักษาศีลเช่นนี้ เป็นวิธีรักษาศีลของพระอริยะ เรียกว่า ปาริสุทธิศีล มีอยู่ ๔ ประการ คือ 

๑. ปาฏิโมกข์สังวร สําหรับพระสงฆ์ซึ่งรักษาศีล ๒๒๗ หรือศีลสังวร สําหรับฆราวาสซึ่งรักษาศีล ๕ หรือ ศีล ๘

๒. อินทรียสังวร สํารวมระวังรักษาจิตใจไว้ในเมื่อมีอารมณ์มากระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ซึ่งเปรียบเหมือนศีลพี่เลี้ยงที่ประคับประคองมิให้การรักษาศีลดังกล่าวมาในข้อ ๑ ด่างพร้อยหรือทะลุ ถ้าเห็นว่าขืนดําเนินการใดๆ ลงไปแล้วทําให้ศีลด่างพร้อย หรือทะลุแล้ว ก็หยุดเสีย  ไม่ทําต่อไป 

๓. โภชเนมัตตัญญุตา รู้จักประมาณในการบริโภคอาหารแต่พอสมควร ไม่บริโภคจนอิ่มจัดจนแน่นท้องเกินไป ซึ่งจะทําให้อึดอัด เกิดความง่วงนอนได้ง่าย ทําให้ลดการสํารวมระวังรักษาศีลและประกอบความเพียรทางจิตใจลงได้มาก 

๔. ชาคริยานุโยค ความเป็นผู้ตื่นอยู่เสมอสําหรับประกอบความเพียรทางจิตใจ หรือที่เรียกว่า ประกอบสัมมาสมาธิ ในมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งหมายความว่า นอนแต่น้อย ตื่นเพื่อปฏิบัติความเพียรมาก ไม่ได้หมายความว่าไม่ต้องนอนกันเลยแต่อย่างใด การไม่นอนย่อมเป็นการทรมานร่างกายให้เหนื่อยเปล่า ไม่ใช่พุทธบัญญัติ

🌷 สมาธิในพระพุทธศาสนา 

ถ้าหากพิจารณารายละเอียดเรื่องมรรคมีองค์ ๘ ที่กล่าวมาในตอนต้นนี้ให้ดีแล้ว จะเห็นว่า ท่านสงเคราะห์ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ เป็นสมาธิ หมายความว่า ในการปฏิบัติสมาธิในพระพุทธศาสนานี้ มรรคทั้ง ๓ ดังกล่าวนี้ จะทํางานสัมพันธ์กันตลอดเวลาเพื่อรวมจิตให้สงบเป็นสมาธิ กล่าวคือ 

จะต้องสลัดนิวรณ์อันเกิดขึ้นเนื่องด้วยอารมณ์กระทบ ออกไปให้หมดด้วยสัมมาวายามะ ยกจิตขึ้นสู่อานาปานสติและประคองจิตมิให้แลบออกไปสู่ที่อื่นด้วยสัมมาสติ เกิดความอิ่มใจเบากายเบาใจและเป็นสุขที่จิตสงบขึ้น อาการต่างๆ เหล่านี้จะต้องถูกปล่อยวางจนหมดในที่สุด เป็นสัมมาสมาธิ 

เพราะฉะนั้น สัมมาสมาธิจึงไม่ใช่สมาธิแบบหินทับหญ้า เหมือนดังสมาธิของศาสนาอื่น ซึ่งยึดแนบแน่นเป็นเอกัคคตาอยู่ในอารมณ์เดียวแต่ประการใด แต่เต็มไปด้วยพลังสติระวังตัว สงบตั้งมั่นอยู่เสมอ

เมื่อพลังสติทํางานอย่างเต็มที่อยู่เช่นนี้แล้ว ก็ย่อมมีผลกระทบให้การพูด การทํา การคิดดำเนิน อย่างถูกต้องตามทํานองคลองธรรมไปด้วย ดังนั้น ผู้ที่ปฏิบัติสัมมาสมาธิ คือยกจิตขึ้นสู่อานาปานสตินั้น จึงไม่มีทางที่จะเป็นบ้าไปได้เลย ถ้าพูดให้ถูกแล้ว ย่อมเป็นผู้ที่หายจากการเป็นบ้า (ที่หลงเข้าไปยึดถือสิ่งภายนอกอย่างผิดๆ ฝ่าฝืนสัจธรรมมาตลอดเวลา) มากขึ้น ทําให้พูดถูก ทําถูก คิดถูกยิ่งขึ้น โดยลําดับ นี่คือประโยชน์ที่เกิดจากการปฏิบัติสมาธิในพระพุทธศาสนา

สําหรับผู้ที่ปฏิบัติสมาธิแล้วเป็นบ้านั้น ถ้าได้พิจารณาสาเหตุดูแล้ว ส่วนมากเกิดจากการยกจิตขึ้นสู่อารมณ์กามคุณด้วยปรารถนาลามก ไม่ได้ยกขึ้นสู่อารมณ์ในสติปัฏฐาน ๔ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในตอนต้น ไม่ได้ใช้สติสกัดกั้นความยินดียินร้ายที่เกิดขึ้นเนื่องด้วยกามคุณนั้นๆ คงปล่อยจิตใจให้ยินดีเพลิดเพลินและหวังว่าจะหาโอกาสนํามาครอบครองต่อไปในอนาคต เช่น เพ่งดูรูปผู้หญิงเพื่อทําเสน่ห์ ดูเลขหวยเบอร์ เป็นต้น ย่อมเป็นบ้าอย่างไม่มีปัญหา

ด้วยเหตุผลดังที่ได้บรรยายมานี้ ผู้ปฏิบัติสมาธิที่หวังความพ้นทุกข์ ในพระพุทธศาสนา จึงจําต้องจําทางเดินของจิตรวมทั้งวิธีวางจิตให้แม่นยําและแยบคายเพื่อให้เกิดสมาธิขึ้นโดยใช้เวลาให้น้อยที่สุด ที่เรียกว่า วสี (ความชํานาญในการเข้า - ออกจากสมาธิ) ซึ่งควบคุมจิตไม่ให้ถูกนิวรณ์ครอบงําได้ดีที่สุด

🌷 สมาธินอกพระพุทธศาสนา 

กล่าวตามความเป็นจริงแล้ว ศาสนาพราหมณ์ซึ่งมีมาก่อนพระพุทธศาสนา ก็มีการปฏิบัติฌานสมาบัติอยู่แล้วเหมือนกัน ดังนั้น การปฏิบัติเช่นนี้จึงมีมาก่อนพุทธกาล ถึงแม้พระพุทธองค์ก็ทรงเคยเสด็จเข้าไปศึกษาและปฏิบัติอยู่กับพระอาฬารดาบสและพระอุทกดาบส ก่อนตรัสรู้มาแล้วด้วย แต่พระองค์ได้ทรงพิจารณาเห็นว่า ตลอดเวลาที่อยู่ในฌานสมาบัตินั้น จิตของพระองค์ยังยึดอารมณ์ฌานอยู่อย่างเหนียวแน่น เป็นเอกัคคตารมณ์อยู่ เมื่อยังยึดอารมณ์อยู่ก็ย่อมถูกอารมณ์ปรุงแต่งให้มีให้เป็นไป ยังไม่พ้นจากทุกข์ไปได้ จึงทรงลาพระอาจารย์ทั้งสองท่าน ออกมาปฏิบัติสัมมาสมาธิโดยลําพังพระองค์เอง จนกระทั่งได้ตรัสรู้ในที่สุด

ทั้งนี้ย่อมแสดงว่า สมาธิในศาสนาพราหมณ์ที่ได้ทรงศึกษาและปฏิบัติอยู่กับพระ อาจารย์ทั้งสองที่กล่าวมาแล้ว กับสมาธิที่พระองค์นํามาปฏิบัติจนได้ตรัสรู้นั้น ต่างกัน ดังพุทธพจน์ที่ได้ตรัสไว้ในปฐมเทศนา ดังต่อไปนี้ "ปุพฺเพ อนนุสฺสุเตสุ ธมฺเมสุ แปลว่า ธรรมทั้งหลายที่ได้ปฏิบัติมา เราไม่เคยสดับฟังมาจากที่ใดเลย" (ไม่มีใครสอนมาก่อน)

ถ้าหากว่าสมาธิของพระอาจารย์ทั้งสอง เหมือนกับสมาธิที่ทรงปฏิบัติจนกระทั่งตรัสรู้จริงแล้ว พระองค์ย่อมตรัสว่าได้ตรัสรู้เองโดยชอบไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น สมาธิของศาสนาพราหมณ์จึงแตกต่างกับสมาธิในพระพุทธศาสนาอย่างไม่มีปัญหา เช่น ท้าวมหาพรหมยังยึดอัปปมัญญา ๔ อยู่ จึงมีอายุยืนยาวมาก เมื่อเสวยวิบากของกรรมเช่นนี้หมดแล้ว ก็จะต้องเวียนว่ายตายเกิดไปเป็นอย่างอื่นที่เป็นกรรมรองต่อไปอีก ยังไม่พ้นจากทุกข์ไปได้

🌷 ประโยชน์ของการปฏิบัติสมาธิ 

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสสอนไว้ว่า "สมาธิ ภิกฺขเว ภาเวถ สมาหิโต ยถาภูตํ ปชานาติ แปลว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จงยังสมาธิให้เกิดขึ้นเถิด ผู้ที่มีจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิแล้ว ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง ดังนี้" แสดงว่า การปฏิบัติสมาธิ เป็นหลักธรรมสำคัญในพระพุทธศาสนา ที่ช่วยอบรมจิตให้มีพลังปล่อยวางอารมณ์และอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์ (รูปนาม) ได้ เมื่อปล่อยวางสิ่งต่างๆ ที่กล่าวมาเสียได้ ความยินดียินร้ายอันเนื่องมาจาการยึดถือผิดๆ ก็ย่อมพลอยดับลงด้วยเป็นธรรมดา

ในปัจจุบันนี้ ได้มีผู้เห็นประโยชน์ของการปฏิบัติสมาธิมากพอสมควรแล้ว แต่ก็ยังไม่แพร่ออกไปอย่างกว้างขวางถึงชนบทต่างๆ รวมทั้งวัดที่มีอยู่ทั้งหมดรวมสามหมื่นกว่าวัด ทั่วประเทศด้วย ทุกคน ทุกสถาบัน จําเป็นจะต้องเพิ่มบทบาทอย่างเข้มแข็ง โดยไม่ปล่อยให้สังคมเป็นไปตามยถากรรมต่อไป ด้วยการก้าวเข้ามาส่งเสริมสนับสนุนให้มีการสอนปฏิบัติสมาธินักเรียนและเยาวชน ซึ่งกําลังประพฤติตนสวนทางกับศีลธรรมอันดีงามอยู่ในขณะนี้ จนเป็นที่หวั่นวิตกแก่บิดามารดาผู้ปกครองครูอาจารย์ เป็นอันมากว่า ถ้าไม่ได้รับการแก้ไข นักเรียนและเยาวชนในปัจจุบันย่อมจะกลายเป็นภาระอันหนักและไม่มีคุณภาพแก่ประเทศชาติในอนาคตทีเดียว ยังไม่สายเกินไปนักที่จะร่วมมือกัน นําหลักธรรมในพระศาสนาข้อนี้ มาส่งเสริมให้นักเรียนและเยาวชน รวมทั้งผู้หวังความสงบสุขในการครองชีวิตในสังคมนี้ ปฏิบัติอย่างต่อเนื่องและพร้อมเพรียงกัน เช่นเดียวกับชาวอังกฤษ อเมริกัน ญี่ปุ่น ฯลฯ ที่บินมาเรียนปฏิบัติสมาธิในประเทศไทย แล้วนํากลับไปเผยแพร่ต่อในประเทศมาตุภูมิของเขา ดังที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบันนี้

การปฏิบัติสมาธิจะทําให้เกิดความสงบสุขขึ้นในสังคม ทําให้รู้จักชีวิตนี้ตามความเป็นจริง และมีพลังต่อต้านอํานาจฝ่ายต่ำที่เกิดจากอารมณ์ทั้งหลาย จึงทําให้ผู้ปฏิบัติประพฤติตนเป็นคุณประโยชน์ด้วยความองอาจเที่ยงธรรมและมั่นคงที่สุด

นอกจากนี้ การปฏิบัติสมาธิยังช่วยให้มีสติและความทรงจําดี ช่วยเกื้อกูลให้เล่าเรียนดี เป็นทางปฏิบัติไปสู่ความพ้นทุกข์และจรรโลงพระศาสนาอย่างถูกจุด ถ้ารณรงค์ให้ปฏิบัติกันอย่างกว้างขวาง อีกด้วย

สิ่งที่ผู้ปฏิบัติเห็นเมื่อจิตเป็นสมาธิดีแล้ว คือ 
๑. เห็นจิตที่ส่งออกไปรับอารมณ์ภายนอกด้วยความยินดียินร้าย เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ (สมุทัย) 
๒. เห็นอาการซัดส่ายวุ่นวายของจิตเนื่องด้วยยึดอารมณ์นั้นๆ เป็นทุกข์ 
๓. เห็นว่าการปฏิบัติสัมมาสมาธิสามารถปล่อยวางอาการต่างๆ ได้ เป็นมรรค
๔. เห็นผลจากการปล่อยวาง ทําให้จิตสิ้นการปรุงแต่ง เป็นนิโรธ

เมื่อปฏิบัติจนเป็นเช่นนี้แล้ว ผู้นั้นย่อมทราบชัดด้วยตนเองว่า เป็นผู้ที่รู้จักสิ่งต่างๆ อย่างถูกต้องตามที่เป็นจริงแล้ว ไม่ได้กลายเป็นคนบ้าเสียจริตไป ดังที่มีบางคนวิตกอยู่ แต่ประการใดเลย 

ทั้งนี้หมายความว่า ถ้ายกเอาอารมณ์อย่างหนึ่งอย่างใดในสติปัฏฐานสูตร ที่มีอยู่รวม ๒๑ ประการ มาเพื่อเพ่งดูอย่างเคร่งครัด ไม่เอาอารมณ์อย่างอื่นนอกเหนือจากนี้แล้ว ย่อมไม่มีทางเป็นบ้าเสียสติไปได้เลย แต่กลับจะทําให้ตนเองหายจากบ้า เพราะเห็นสิ่งต่างๆ ไม่วิปลาสอีกต่อไป

การเป็นบ้าเสียสติ จะเกิดขึ้นได้เพียงทางเดียวเท่านั้น คือ การปฏิบัติผิดๆ นอกรีต นอกรอย ออกจากคําสั่งสอนของพระพุทธองค์ ที่ให้ปฏิบัติอยู่ในอารมณ์ของสติปัฏฐานเท่านั้น เช่น เอารูปผู้หญิงมาเพ่งเพื่อทําเสน่ห์ให้เขารักเรา เป็นต้น การปฏิบัติเช่นนี้จึงจะเป็นบ้า เสียสติ นี่คือความรู้ขั้นพื้นฐานสําหรับผู้ที่จะลงมือปฏิบัติทุกคน

🌷 🌷 🌷 

เมื่อเรารู้แล้วว่า การปฏิบัติธรรมโดยการขอหรือการอธิษฐานจิตนั้น เป็นเพียงการให้กำลังใจตนเองเท่านั้น เหมาะสำหรับบุคคลผู้มีความจริงใจและตั้งใจจริงที่ต้องการจะบรรลุธรรม ให้มีความมุ่งมั่นที่จะเข้าถึงธรรม อันเป็นความปรารถนาอยู่เต็มที่ เพราะมีความหวังจากที่ได้ขอหรืออธิษฐานจิตไว้ มีในพระสูตรจากพระบาลี ทุกนิบาต อังคุตตรนิกาย บทอธิษฐานเพื่อทำความเพียรนั้น กล่าวไว้ว่า

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรายังรู้สึกได้อยู่ถึงธรรม ๒ อย่าง คือ ความไม่รู้จักอิ่มจักพอ (สันโดษ) ในกุศลธรรมทั้งหลาย และความเป็นผู้ไม่ถอยกลับในการทำความเพียร 

ภิกษุทั้งหลาย เราย่อมตั้งไว้ซึ่งความเพียรอันไม่ถอยกลับ ด้วยการตั้งจิตว่า แม้หนัง เอ็น กระดูก จักเหลืออยู่ เนื้อและเลือดในสรีระจักรเหิอดแห้งไปก็ตามที ประโยชน์ใดอันบุคคลจะบรรลุได้ด้วยกำลัง ด้วยความเพียร ความบากบั่นของบุรุษ ถ้ายังไม่บรรลุประโยชน์นั้นแล้ว จักหยุดความเพียรเสียเป็นไม่มี ดังนี้"

จากพระพุทธวจนะนั้น เราคงพอจำกันได้ว่า ในครั้งกระนั้นพระพุทธองค์จะทรงตรัสรู้ธรรมอันยิ่ง ในคืนแห่งการตรัสรู้ พระองค์ก็ทรงอธิษฐานจิตแบบนี้เช่นกัน แต่ในปัจจุบันกลับไม่ได้เป็นไปอย่างในครั้งกระนั้น คือ เป็นการขอให้หรืออธิษฐานจิตแบบเผื่อฟลุ๊คไว้เท่านั้นเอง ขาดซึ่งความจริงใจ ความมุ่งมั่น เพื่อนำไปสู่ธรรมนั้น ด้วยการลงมือปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนาแบบจริงจัง

มีพระสูตรกล่าวถึง การลำดับการปฏิบัติธรรม เพื่อรู้ตามความเป็นจริงซึ่งสัจธรรม จากพระบาลี มัชฌิมปัณณาสก์ มัชฌิมนิกาย ดังนี้ 

"ภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่กล่าวการประสบความพอใจในอรหัตตผล ด้วยการกระทำอันดับแรกเพียงอันดับเดียว 

ภิกษุทั้งหลาย ก็แต่ว่าการประสบความพอใจในอรหัตตผล ย่อมมีได้ เพราะการศึกษาโดยลำดับ เพราะการกระทำโดยลำดับ เพราะการปฏิบัติโดยลำดับ 

ภิกษุทั้งหลาย การประสบความพอใจในอรหัตตผล ย่อมมีได้ เพราะการศึกษาโดยลำดับ เพราะการกระทำโดยลำดับ เพราะการปฏิบัติโดยลำดับนั้น เป็นอย่างไรเล่า

ภิกษุทั้งหลาย บุรุษบุคคลในกรณีนี้ เป็นผู้มีศรัทธาเกิดขึ้นแล้ว ย่อมเข้าไปหาผู้ถึงอริยสัจ (สัตบุรุษ) เมื่อเข้าไปหา ย่อมเข้าไปนั่งใกล้ เมื่อเข้าไปนั่งใกล้ ย่อมเงี่ยโสตลงสดับ เมื่อเงี่ยโสตลงสดับ ย่อมได้ฟังธรรม ครั้นฟังแล้วย่อมทรงจำธรรมไว้ ย่อมใคร่ครวญพิจารณาซึ่งเนื้อความแห่งธรรมทั้งหลายที่ตนทรงจำไว้ เมื่อเขาใคร่ครวญพิจารณาซึ่งเนื้อความแห่งธรรมนั้นอยู่ ธรรมทั้งหลายย่อมทนต่อการเพ่งพิสูจน์ เมื่อธรรมทนต่อการเพ่งพิสูจน์มีอยู่ ฉันทะ (ความพอใจ) ย่อมเกิด ผู้เกิดฉันทะแล้วย่อมมีอุตสาหะ ครั้นมีอุตสาหะแล้ว ย่อมพิจารณาหาความสมดุลแห่งธรรม ครั้นพิจารณาหาความสมดุลแห่งธรรมแล้ว ย่อมตั้งตนไว้ในธรรมอันเป็นกลางนั้น ผู้มีตนคือจิตส่งไปแล้วในธรรมนั้น ย่อมอยู่กระทำให้แจ้งซึ่งบรมสัจจ์ด้วยกาย ด้วยจิต ย่อมเห็นแจ้งแทงตลอดซึ่งบรมสัจจ์นั้นด้วยปัญญา"

จากพระพุทธพจน์ เมื่อพินิจพิจารณาดูแล้ว บุรุษบุคคลในกรณีนี้เป็นผู้มีศรัทธาอย่างแรงกล้า เทียบได้กับสัทธินทรีย์ เป็นศรัทธาที่ปราศจากข้อสงสัยในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เข้าไปหา พูดถึงอริยสัจคือพระอริยเจ้า เพื่อสดับฟังธรรมเทศนาของพระอริยเจ้า และย่อมนำเนื้อธรรมทั้งหลายมาพินิจพิจารณา ย่อมนำไปสู่ฉันทะ อันเป็นฉันทะในอิทธิบาท ๔ (ธรรมอันเป็นทางแห่งความสำเร็จ) เมื่อเกิดฉันทะสมาธิ ย่อมนำไปสูวิริยะสมาธิ (อุตสาหะ) วิริยะสมาธิย่อมไปนำไปสู่จิตตสมาธิ จิตตสมาธินำไปสู่วิมังสาสมาธิ

สมาธิที่เกิดจากอิทธิบาทแต่ละข้อนี้ มีความเพียรพยายามเกิดควบคู่ไปด้วยเสมอ คือ มีความเพียรปรุงแต่ง มีความเพียรสร้างสรรค์ ย่อมนำไปสู่สัจธรรมความจริงแห่งพระอริยเจ้า เอวัง.

พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท
เทศนาธรรม ๒๙ กันยายน ๒๕๖๔





Create Date : 30 กันยายน 2564
Last Update : 3 มกราคม 2565 13:38:35 น.
Counter : 162 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



สารบัญ Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์



หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์