ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน


🌷 ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน

วันศุกร์ที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ ตรงกับวันพระขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒ 

เจริญสุข สวัสดี พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ที่ใฝ่ใจในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

การเจริญธรรมตามคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น เป็นเครื่องชำระกิเลสออกจากดวงจิตได้ ผู้ที่ประพฤติตามธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว ย่อมข้ามบ่วงมฤตยูซึ่งข้ามได้แสนยาก เพื่อจะไปให้ถึงฝั่งนิพพาน วิมุตติ หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย 

แท้ที่จริงแก่นสารของพระพุทธศาสนานั้น คือ การปฏิบัติกายวาจาใจของตนให้บริสุทธิ์หมดจดจากเครื่องเศร้าหมอง ตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เราปฏิบัติกันอยู่ทุกวันนี้ก็ถึงแก่นของพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริงแล้ว แต่คนส่วนมากนั้นยังไม่เข้าใจเข้าไม่ถึงไม่รู้อยู่เห็นอยู่ ด้วยเหตุนั้น การปฏิบัติพระพุทธศาสนามักได้แต่เปลือกของศาสนา ส่วนแก่นแท้ของพระศาสนานั้นไม่ค่อยจะได้กันไปหรอก 

แก่นแท้ของบุญคือจิต เราเข้าถึงจิต ปฏิบัติให้ถึงจิต อันนั้นแหละเป็นแก่นแท้ของบุญ บาปก็อยู่ในนั้นด้วย ทั้งบุญและบาปอยู่ด้วยกันนั่นแหละ เพราะจิตมันหยาบ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน มันเหนียวแน่น ปกคลุมหุ้มห่อมาหลายภพหลายชาติ แล้วจิตนี้ ทีนี้ต้องทำความเพียรอย่างอุกฤษฏ์ ทั้งกลางวันกลางคืน ไม่ขาดวรรคขาดตอน  เหมือนลูกโซ่ไม่ขาดสาย ด้วยการอดนอน ผ่อนอาหาร หนักเข้าจิตกับสติปัญญากับกายนี้ มันจะรวมเข้าเป็นมัคคสมังคี (สามัคคีกันแน่นแฟ้น) แล้ว ต่อไปจิตมันก็จะเข้าสู่ความสงบได้ แล้วจึงจะได้ อาโลโก อุทะปาทิ ปัญญา อุทะปาทิ แสงสว่างได้เกิดขึ้นแล้ว ปัญญาได้เกิดขึ้นแล้ว เกิดความรู้และกำลังของจิต จะรู้ฉลาดต่อธรรมทั้งปวงได้ ถ้าทำความเพียรอ่อนก็ยากที่จะเป็นไปได้

แก่นสารของพระพุทธศาสนา ก็คือหัวใจพระพุทธศาสนา หรือที่เรียกว่า โอวาทปาติโมกข์ เป็นการปฏิบัติกาย วาจา ใจของตน ให้บริสุทธิ์หมดจดขาวรอบ  

โอวาทปาติโมกข์ มีดังนี้ 
๑. สพฺพปาปสฺส อกรณํ การไม่ทำชั่วทั้งปวง
๒. กุสลสฺสูปสมฺปทา การทำความดีทั้งปวง 
๓. สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทฺธานสาสนํ การชำระจิตของตนให้ขาวรอบ

คำสั่งสอนของพระพุทธองค์ทั้ง ๓ ข้อนี้ ทรงแบ่งออกเป็นขั้นๆ ดังนี้ คือ ใน ๒ ข้อแรก ทรงสอนเรื่องเกี่ยวกับการรักษากายกับวาจา และทรงสอนเรื่องการชำระจิตให้บริสุทธิ์ในข้อสุดท้าย เพื่อให้พุทธบริษัทปฏิบัติตาม

แต่เนื่องจากทั้งกายและวาจานั้นอยู่ใต้การบังคับบัญชาของจิต ดังนั้นเรื่องใหญ่ใจความก็ไปตกที่ข้อสุดท้ายทั้งหมด เพราะว่า ถ้าทำจิตให้บริสุทธิ์ผ่องแผ้วเสียอย่างเดียวเท่านั้น ก็ย่อมจะทำให้กายและวาจา ซึ่งอยู่ใต้การบังคับบัญชาของจิต ดีตามไปด้วยในตัว

อนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่า หลักธรรมเรื่องการชำระจิตให้บริสุทธิ์  มีอยู่เฉพาะในคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนานี้เท่านั้น ซึ่งแม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ได้ตรัสรู้ไปแล้วในอดีต หรือที่จะมาตรัสรู้ในอนาคตทั้งหลาย อีกกี่พระองค์ก็ตาม ล้วนแต่มีคำสั่งสอนให้ชำระจิตให้บริสุทธิ์ทั้งสิ้น

ดังพระบาลีว่า "อธิจิตฺเต จ อาโยโค เอตํ พุทฺธานสาสนํ แปลว่า การทำให้จิตของตนมีธรรมอันยิ่ง เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย"

โดยความเป็นจริงในปัจจุบัน การปฏิบัติศาสนามักได้แต่เปลือกไป ส่วนแก่นแท้ของพระศาสนานั้น มักไม่ค่อยจะได้กันไปหรอก เพราะพุทธศาสนิกชนไปให้ความสำคัญกับการทำทาน รักษาศีล กันเสียส่วนมาก แต่กลับไม่ค่อยให้ความสนใจในการปฏิบัติภาวนามยปัญญา 

ซึ่งการภาวนานั้นเป็นการอบรมจิตของตนโดยตรง เป็นการต่อสู้กับอารมณ์ความปรารถนา ที่จะบำรุงบำเรอปรนเปรอตนเองไปตามกิเลสที่ใจปรารถนา เนื่องจากยังมีความทะยานอยาก และยังไม่ต้องการหยุดหรือยับยั้งอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดเหล่านั้นในเวลานี้ เพราะเกรงไปว่าอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด การบำรุงบำเรอปรนเปรอ ความทะยานอยาก จะหมดไป ซึ่งเป็นการคิดไปเองแบบคิดเองเออเองล่วงหน้าทั้งนั้น 

โดยเนื้อแท้แก่นแท้ของบุญกับจิตที่อบรมดีแล้ว การภาวนาเป็นการสร้างสติให้มีให้เกิดขึ้นที่จิตของตน บุคคลผู้มีสตินั้นจะกระทำการใดๆ หรือต้องการสิ่งใดๆ ล้วนมีความยับยั้งชั่งใจให้พอเหมาะพอควรแก่อัตภาพของตน โดยไม่เดือดร้อนในภายหลังเลย เพราะรู้ว่าอะไรควรใส่ใจที่จะทำ และอะไรที่ควรมองข้ามไปไม่ควรทำ เพราะการมีสตินั้นทำให้รู้ทันความคิดของตนเอง (ยับยั้งชั่งใจ)

แต่ปัจจุบันกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะบุคคลทั่วไปมักมีจิตที่หยาบกระด้างมากขึ้น อวิชชา ตัณหา เหนียวแน่น ปกคลุมหุ้มห่อมาหลายภพหลายชาติ พร้อมที่จะปล่อยจิตปล่อยใจให้ไหลไปตามอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด กิเลสกาม กรรมวิบากที่ตนได้ทำไว้จนคุ้นชิน ถ้าคุ้นชินกับอกุศลธรรมต่างๆ ก็เป็นความชั่ว คนชั่ว หยาบกระด้าง ติดเป็นอนุสัยไป แก้ไขได้ยาก ส่วนบุคคลที่คุ้นชินกับกุศลธรรม กรรมดี เป็นคนดี มักอยู่ในทาน ศีล ภาวนา ถ้าเราเคยให้ทาน ทานนั้นจะกลับมาหาเรา ถ้าเรารักษาศีล เมื่อมีภัย ศีลนั้นจะมาคุ้มครองเรา เมื่อเราฝึกฝนอบรมจิตตภาวนา ย่อมมีปัญญา เมื่อเจอทางตันหรืออุปสรรค มักจะมีทางออกให้เราเสมอ

มีพุทธดำรัสตรัสแก่ภิกษุทั้งหลาย มีสาระสำคัญ คือ กุศลธรรมทุกอย่าง ไม่มีอะไรเกินความไม่ประมาท ภิกษุผู้ไม่ประมาทแล้ว (มีความเพียรอย่างอุกฤษฏ์ในการเผากิเลส) ย่อมหวังได้ว่า จักเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ความเป็นเลิศของความไม่ประมาทหรืออัปปมาทธรรมนั้น ทรงเปรียบกับความเป็นเลิศของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นเลิศกว่าสัตว์ทั้งปวง 

พระองค์ทรงอุปมาว่า ผู้เจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ กระทำให้มาก เจริญให้มาก มีแต่บ่ายหน้าสู่นิพพาน เหมือนแม่น้ำใหญ่ ๕ สาย คือ คงคา ยมุนา อจิรวดี  สรภู  มหินที  ที่ไหลไปทางทิศปราจีน และไหลสู่มหาสมุทร

พระพุทธองค์ทรงกล่าวถึง ผู้เจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งลงสู่อมตะ บ่ายหน้าสู่อมตะ มีอมตะเป็นปลายทาง ผู้ไม่ประมาทย่อมเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งมุ่งกำจัดราคะ โทสะ โมหะ เป็นเป้าหมาย และที่สุดแห่งพรหมจรรย์ คือความสิ้นไปแห่งราคะ โทสะ โมหะ

ภิกษุรูปหนึ่ง ทูลถามพระพุทธองค์ว่า พรหมจรรย์คืออะไร มีพระดำรัสตอบว่า อริยมรรคมีองค์ ๘ อันได้แก่ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ เราจัดไว้อยู่ในปัญญา สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ เราจัดไว้อยู่ในหมวดศีล สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ เราจัดไว้อยู่ในหมวดสมาธิ อริยมรรคมีองค์ ๘ หรืออีกชื่อหนึ่งที่เรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา

ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นนิยยานิกธรรม เป็นเครื่องออกจากทุกข์ เป็นเครื่องถ่ายถอนกิเลส อันมี โลภะ โทสะ โมหะ อวิชชา ตัณหา ออกจากจิตได้ ศีลเป็นรากเหง้าเค้ามูลของกุศลธรรมทั้งปวง มีโลกียะบุญกุศล โลกุตตระบุญกุศล เกิดขึ้นจากศีล ฉะนั้นเราต้องเจริญรักษาศีลให้สมบูรณ์เสียก่อน นักบวชในศาสนาพุทธ ถ้าเป็นผู้ไร้ศีลธรรมแล้ว ไม่รักษาศีลให้บริสุทธิ์ผ่องใสนั้น ต้องถือว่าเป็นโมฆะ การบวชไม่มีหวังจะพ้นทุกข์ไปได้ มีแต่จะเศร้าหมองทุกอย่างไม่เป็นไป 

ศีล ธรรมอันงามในเบื้องต้น 

พูดถึงศีลแล้ว โดยเฉพาะศีล ๕ ใครว่าไม่สำคัญ
อิมานิ ปัญจะ สิกขาปะทานิ . . . .  เหล่านี้คือสิกขาบทห้าประการ
สีเลนะ สุคะติง ยันติ . . . . . . . . ย่อมนำไปสู่สุคติก็เพราะศีล
สีเลนะ โภคะสัมปะทา . . . . . . . ย่อมถึงพร้อมโภคะทรัพย์ก็เพราะศีล
สีเลนะ นิพพุติง ยันติ . . . . . . . . ย่อมนำไปสู่นิพพานก็เพราะศีล
ตัสมา สีลัง วิโสธะเย . . . . . . . . เพราะฉะนั้น พึงชำระศีลให้หมดจด ฯ

จากพระบาลีพร้อมคำแปล เราจะเห็นว่า ศีล ๕ นั้นไม่ใช่เรื่องธรรมดาเลย โดยเฉพาะนักบวชหรือนักปฏิบัติธรรมกรรมฐานทั้งหลาย เมื่อพูดถึงศีล ๕ สำหรับชาวบ้านเราท่านทั้งหลายนั้น เป็นเพียงแค่ข้อห้าม เพราะกำลังจิตกำลังใจยังอ่อนแอ สืบเนื่องจากยังต้องคลุกเคล้าตีโมงอยู่กับสังคมรอบตัว ส่วนนักบวชหรือนักปฏิบัติธรรมภาวนานั้น เป็นงานสำคัญที่ต้องวิรัติ คือต้องงดเว้นให้ได้

แต่ปัจจุบันกลับถูกมองข้ามความสำคัญของศีลไปอย่างน่าเสียดายอย่างมาก เมื่อกล่าวถึง ศีล สมาธิ ปัญญา นักปฏิบัติธรรมคนรุ่นใหม่ กลับไปให้ความสำคัญกับข้อสุดท้าย คือ ปัญญา ที่ชอบอวดกันว่า ได้ปฏิบัติวิปัสสนาแล้ว ศีล สมาธิ จะมีขึ้นได้เองโดยอัตโนมัติ เมื่อได้ผ่านการปฏิบัติวิปัสสนาปัญญามาแล้ว สติสมาธิจะมีขึ้นมาได้เอง 

ถ้าลองได้ขาดคุณธรรมขั้นพื้นฐานคือศีล ๕ เสียแล้ว ก็อย่าได้หวังว่าจะเกิดวิปัสสนาปัญญาได้เลย เพราะขาดสำนึกที่ถูกต้อง ว่าจะทำอย่างไร ตนเองจึงจะมีพลังในการวิรัติ ข้อห้ามเหล่านี้ได้ การปฏิบัติจนสามารถวิรัติแค่ศีล ๕ ได้นั้น มีความหมายที่ยิ่งใหญ่อย่างมากในปัจจุบัน โดยเฉพาะในทางพระพุทธศาสนาด้วยแล้ว เพราะพระอริยเจ้าในชั้นต้น คือพระโสดาบัน ท่านต้องมีศีล ๕ ที่บริสุทธิ์เท่านั้น ไม่มีวันที่ท่านจะละเมิดศีล ๕ เลย เพราะเป็นก้าวแรกที่สำคัญ ในการข้ามโคตรแบบไม่มีการย้อนคืนกลับมาเป็นปุถุชนคนธรรมดาอีกแล้ว 

แต่นักปฏิบัติธรรมกรรมฐานคนรุ่นใหม่ มักมองข้ามความสำคัญนี้ไปอย่างน่าเสียดายจริงๆ คือเมื่อรู้จักศีลแล้ว มองข้ามสมาธิ ไปเอาปัญญาวิปัสสนาเลย เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก สำหรับบุคคลผู้ที่ไม่มีพื้นฐานในการฝึกฝนอบรมจิตของตน ให้มีสติสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ ต่อเมื่อได้ลงมือปฏิบัติฝึกฝนอบรมจิตของตน ให้มีสติสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ ไม่หวั่นไหวต่ออารมณ์ความรู้สึกนึกคิดได้แล้ว แบบมีสติคอยระลึกรู้อยู่นั่นแหละ ปัญญาก็ปรากฏโดยอัตโนมัติ ต้องเริ่มที่ฝึกฝนอบรมจิตของตนเอาก่อน

ต่อไปเป็น วิธีกำหนดฝึกฝนอบรมจิต คือ ทำความรู้สึกที่จิตของตนเอง ความรู้สึกอยู่ที่ตรงไหน จิตของเราก็อยู่ที่ตรงนั้น เพื่อจะให้จิตมีฐานที่ตั้ง ให้กำหนดจุดนิมิตที่รู้สึกถึงลมหายใจเข้า ลมหายใจออก จะนึก พุท พร้อมลมหายใจเข้า โธ พร้อมลมหายใจออกก็ได้ หรือใครจะไม่นึกอะไรก็ได้ เพราะที่สุดแล้วก็ต้องมารู้อยู่ที่ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ในขณะจิตเริ่มสงบ อันนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่เราจะเรียนให้รู้ธรรมชาติของร่างกาย 

ทำไมลมหายใจจึงชื่อว่าเป็นธรรมชาติของร่างกาย เพราะเหตุว่า เราจะตั้งใจก็ตาม ไม่ตั้งใจก็ตาม ร่างกายของเรานั้นก็ต้องหายใจอยู่โดยธรรมชาติ เพียงแต่เรามีหน้าที่กำหนดรู้ ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก เฉยๆ อยู่เท่านั้น อย่าพยายามบังคับจิตให้สงบ แต่ให้ประคองจิตโดยแยบคาย ให้รู้อยู่ที่ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ตลอดเวลา จิตของเราจะเป็นอย่างไร เราไม่ต้องคำนึงถึง คำนึงแต่ว่าจะประคองจิตให้มันรู้อยู่ที่ลมหายใจเข้าออกเพียงอย่างเดียว หายใจเข้ารู้ หายใจออกรู้ หายใจสั้นรู้ หายใจยาวรู้ เพียงแต่ระลึกรู้อยู่ที่รู้ ดูที่ตรงนี้ จนกระทั่งจิตมีสติกำกับอยู่ทุกลมหายใจเข้า ทุกลมหายใจออก 

สติเป็นสำคัญ อย่าปล่อยสติ สติเป็นเครื่องยืนยันตลอดถึงมรรคผลนิพพาน  สูงสุดไม่พ้นจากสติไปได้เลย เริ่มต้นตั้งแต่สติยังล้มลุกคลุกคลาน สติตั้งได้บ้างไม่ได้บ้าง ต่อมาเริ่มประคองสติได้ เมื่อประคองสติให้ได้ ต้องหาฐานที่ตั้งอันเป็นนิมิตหมาย เป็นการดำเนินไปตามสติปัฏฐาน คือฐานที่ตั้งของสติอย่างต่อเนื่อง เมื่อประคองจิตไว้ที่ฐานที่ตั้งของสติได้อย่างต่อเนื่องอยู่ กลายเป็นสติอัตโนมัติ พัฒนาไปเรื่อยๆ จนจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ เป็นมหาสติ มหาปัญญา

ต่อจากนี้ เรามาว่ากันเรื่องของ หัวใจพระพุทธศาสนา ที่ยังค้างอยู่จากวันพระที่ ๔ พฤศจิกายน

🌷 ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน (ยกเอาสติตามรู้ตามเห็น เข้าไปในธรรมทั้งหลาย)

เป็นสติปัฏฐานข้อสุดท้าย ซึ่งมีอยู่  ๕ บรรพะ ด้วยกัน คือ นิวรณ์ห้า ๑  ขันธ์ห้า ๑ อายตนะหก ๑ โพชฌงค์เจ็ด ๑ อริยสัจสี่ ๑ 

ดังที่ได้เคยยกมาแสดงไว้ตอนต้นนี้แล้วว่า การปฏิบัติสติปัฏฐานข้อหนึ่งข้อใดก็ตาม ย่อมมีผลทําให้กระเทือนถึงกันและกันโดยตลอด ดังนั้น ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานจึงเป็นบทสรุปว่า จิตบริสุทธิ์หลุดพ้น ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว ไม่ยินดียินร้าย เมื่อมีอารมณ์มากระทบทางอายตนะใดก็ตาม เพราะจิตได้รับการอบรม จนมีพลังปล่อยวางอารมณ์และอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์ได้อย่างสิ้นเชิง

เพราะฉะนั้น แต่ละบรรพะที่กล่าวถึงนี้ จึงมีองค์ธรรมและสภาวะธรรมเหมือนกัน และสามารถใช้ตรวจดูจิตใจของตนเองว่า จิตใจมั่นคงเพียงใดอย่างหนึ่ง หรือตรวจดูอาการยินดียินร้ายของจิต ที่เนื่องมาจากอารมณ์กระทบอีกอย่างหนึ่ง

นิวรณ์ ๕ (เครื่องกั้นจิตไม่ให้บรรลุความดี ๕ ประการ) 
เมื่อมีอารมณ์มากระทบจิต ก็ย่อมผลักดันให้เริ่มแสดงอาการหวั่นไหวทางจิตขึ้นก่อน ซึ่งเรียกว่า นิวรณ์ ดังนั้น ถ้ายังมีนิวรณ์อยู่ตราบใด จิตก็ไม่มีโอกาสเป็นสมาธิอยู่ตราบนั้น ผู้ปฏิบัติจึงต้องรู้วิธีทํานิวรณ์ที่ยังไม่เกิด ไม่ให้เกิด รู้วิธีละนิวรณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว และรู้จักทํานิวรณ์ที่ยังไม่เกิด ไม่ให้เกิดอีกต่อไป ถ้าทําได้ดังนี้แล้ว ก็ย่อมสิ้นสุดกิจในการปฏิบัติแล้ว

ขันธ์ ๕ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า รูปนาม ก็ได้ 
เมื่อมีอารมณ์ (รูป) มากระทบจิต ความรู้สึก ความจําได้หมายรู้ และความนึกคิด อันเนื่องด้วยอารมณ์นั้นๆ (นาม) ย่อมเกิดขึ้นด้วยเป็นธรรมดา ผู้ปฏิบัติจะต้องเจริญสมาธิ จนทําให้พลังสติสามารถปล่อยวางรูปนามที่เกิดขึ้นได้ ก็ย่อมพ้นทุกข์ แต่ถ้าพลังสติยังไม่สูงพอที่จะปล่อยวางรูปนามได้แล้ว ก็ยังไม่พ้นทุกข์ เมื่อจิตพ้นทุกข์ได้แล้ว รูปนามก็ดับไปเอง แต่จิตหลุดพ้นจากการเข้าไปยึดถือรูปนาม กลายเป็น ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ในที่สุด และสิ้นสุดกิจในการปฏิบัติแล้ว

อายตนะ ๖ (ช่องทางสําหรับรับรู้อารมณ์ต่างๆ ของจิต ๖ ช่อง) 
อายตนะ ๖ นี้ อุปมาเหมือนกับคนที่ชะโงกดูทิวทัศน์ทางหน้าต่างของบ้านที่มีอยู่ ๖ หน้าต่างด้วยกัน ดังนั้น หน้าต่างจึงเป็นเพียงช่องทางให้คนดู แลเห็นสิ่งต่างๆ ภายนอกบ้านเท่านั้น ถ้าปิดหน้าต่างเสียให้หมด คนดูก็ยังคงอยู่ในบ้านและรู้ว่ามองไม่เห็นอะไร ข้อนี้ฉันใด จิตก็อาศัยอายตนะ ๖ ช่องนี้ สําหรับรับรู้อารมณ์ภายนอก ถ้าออกไปรับรู้ทางตาก็เป็นจักขุวิญญาณ  ทางหูก็เป็นโสตวิญญาณ ทางจมูกก็เป็นฆานวิญญาณ ทางลิ้นก็เป็นชิวหาวิญญาณ  สัมผัสทางกายก็เป็นกายวิญญาณ นึกคิดทางใจก็เป็นมโนวิญญาณ แตกต่างกันโดยชื่อช่องทาง แต่จิตผู้รู้เป็นดวงเดียวกัน ข้อนี้ก็ฉันนั้น

เมื่อมีการรับรู้อารมณ์ที่น่ารักน่ายินดีขึ้นทางช่องทางใดปรากฏขึ้นเฉพาะหน้า ก็ให้ดับเสียที่ตรงนั้น บรรพะนี้เน้นหนักให้ใช้สติระวังช่องทางรับรู้อารมณ์ไว้ตลอดเวลา จิตก็หลุดพ้น 

โพชฌงค์ ๗ (องค์ธรรมที่ทําให้ตรัสรู้ ๗ ประการ) 
เมื่อมีอารมณ์มากระทบ ให้ใช้สติระลึกรู้ตัวเท่าทัน เป็นสติสัมโพชฌงค์ 
รู้ว่าอารมณ์และอาการของจิตอันเนื่องด้วยอารมณ์นั้นได้เกิดขึ้นแล้ว เป็นธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ 
เพียรละความฟุ้งซ่านหวั่นไหวที่เกิดขึ้นเนื่องจากนั้น เป็นวิริยสัมโพชฌงค์ 
ละได้สําเร็จและเกิดความอิ่มอกอิ่มใจขึ้น เป็นปีติสัมโพชฌงค์ 
ละปีติที่เกิดขึ้นได้อีก ก็เกิดความสงบเยือกเย็น เป็นปัสสัทธิสัมโพชฌงค์  
จิตสงบเป็นสมาธิและเกิดพลังปัญญาขึ้นด้วย เป็นสมาธิสัมโพชฌงค์
ใช้พลังปัญญาวางเฉยต่ออารมณ์นั้นเสียได้ เป็นอุเบกขาสัมโพชฌงค์ 

รวมทั้งรู้วิธีที่จะทําให้สัมโพชฌงค์แต่ละอย่างเกิดขึ้น และมีเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย ซึ่งทําให้จิตตรัสรู้เป็นพุทโธ (โพชฺฌ คือ พุทฺธ นั่นเอง)

อริยสัจ ๔ 
เป็นหลักในการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ที่ได้ทรงแยกทางเดินของจิตไว้เป็นสองทาง คือ ทางเดินไปสู่ทุกข์ กับ ทางเดินที่ทําให้พ้นทุกข์ เพื่อให้ผู้ปฏิบัติตามรู้จักและเดินตามได้อย่างถูกต้อง ดังรายละเอียดต่อไปนี้ คือ 

๑. จิตที่แส่ออกไปรับรู้อารมณ์ภายนอกและเกิดความยินดียินร้าย เป็นสมุทัย 
๒. อารมณ์ที่รับเอาเข้ามาทําให้เกิดความวุ่นวาย เป็นทุกข์ 
๓. เมื่อปฏิบัติสมาธิแล้วเห็นอาการของจิตต่างๆ เป็นมรรค 
๔. ปล่อยวางความยินดียินร้ายเสียได้ เป็นนิโรธ

คำว่า นิโรธ นี้ แปลว่า ดับความยินดียินร้ายหรือดับตัณหาลงได้อย่างสิ้นเชิง แต่ในปฐมเทศนานั้น พระพุทธองค์ได้ตรัสว่า นิโรโธ สจฺฉิกาตพฺโพ แปลว่า กระทํานิโรธให้แจ้ง ดังนั้น จึงทรงหมายความว่า นิโรธ คือพระนิพพาน นั่นเอง เพราะฉะนั้น เมื่อหมายความถึงพระนิพพานแล้ว จะแปลว่า ดับ ไม่ได้ทีเดียว ต้องแปลว่า ทําให้แจ้ง คือ เปิดสภาพเดิมอันผ่องใสประภัสสรของจิตให้ปรากฏแจ้งชัดขึ้น อุปมาดังเมฆหมอกเคลื่อนตัวออกไป เปิดสภาพอันสว่างโพลงของดวงอาทิตย์ให้แจ่มแจ้งขึ้นตามเดิม ฉะนั้น

🌷 🌷 🌷 

นิโรธ จิตผู้รู้นี้ ไม่ติดในอารมณ์ กลอกกลิ้งเหมือนน้ำบนใบบัว นิโรธ ภาษาไทยแปลว่าดับ ดับเป็นกิริยากรรมของสิ่งหนึ่ง ในที่นี้หมายถึงกิริยากรรมของกิเลสตัณหา ดับไปจากจิต เปิดความบริสุทธิ์แห่งจิตซึ่งเป็นประจำธรรมชาติแห่งจิตให้ปรากฏเด่นขึ้น โดยอำนาจข้อปฏิบัติ คือ มรรคมีองค์ ๘ แต่มิได้หมายความว่า ข้อปฏิบัติคือมรรคนั้นสร้างความบริสุทธิ์แห่งจิตหรือสันตินิพพานให้เกิดขึ้น มรรคเพียงมีหน้าที่กำจัดให้กิเลสตัณหาหมดไปดับไปเท่านั้น ความบริสุทธิ์แห่งจิตหรือสันตินิพพาน เขามีอยู่ก่อนแล้ว เปรียบเหมือนการซักฟอกมลทินให้หมดไปจากเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ฉะนั้น ดังนี้ 

มรรค ออกมาจากคำว่า มคฺโค แปลว่า ทาง เราพูดกันว่ามรรค เป็นชื่อของทางเดิน อย่างสกลมรรค ทางถนน แต่ในที่นี้หมายถึงกิริยากรรมของจิต ปฏิบัติตนเอง เป็นอุบายวิธีทำข้อปฏิบัติซักฟอกจิตให้ได้ความบริสุทธิ์เท่าทุนเดิม มรรค พระองค์ตรัสจัดไว้โดยกิริยากรรมถึง ๘ ประการ คือ

๑. สัมมาทิฏฐิ ความเห็น ความรู้ถูก คือ รู้เห็นอริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
๒. สัมมาสังกัปปะ ความดำริถูก คือ ดำริที่จะออกจากกาม ดำริในอันไม่พยาบาท ดำริในอันไม่เบียดเบียน
๓. สัมมาวาจา วจีกรรมถูก คือ เจตนางดเว้นวจีทุจริต 
๔. สัมมากัมมันโต กายกรรมถูก คือ เจตนางดเว้นกายกรรมทุจริต
๕. สัมมาอาชีโว เลี้ยงชีพถูก ไม่หลอกลวงเขากิน
๖. สัมมาวายาโม เพียรพยายามชอบ คือ เพียรละความชั่ว (อกุศล) ประพฤติความดี (กุศล)
๗. สัมมาสติ ตั้งสติไว้ถูกต้อง คือ ตั้งสติไว้ในสติปัฏฐาน ๔ คือ กาย เวทนา จิต ธรรม 
๘. สัมมาสมาธิ สมาธิถูก คือ เจริญฌาน ๔  ได้แก่ ฌานที่ ๑ ฌานที่ ๒ ฌานที่ ๓ ฌานที่ ๔ ดังนี้ 

สัมมาสมาธิ เป็นวิธีแยกจิตออกจากอารมณ์ แล้วจึงรู้เห็นอริยสัจ ๔ ในมหาจัตตารีสกสูตร เอาสัมมาสมาธิเป็นหัวหน้า สัมมาทิฏฐิเป็นบทที่ ๒ อริยมรรค ๘ ประการเหล่านี้ เป็นกิริยากรรมของจิต เป็นวิธีการชำระจิตให้บริสุทธิ์ เป็นกิจเพื่อทำความบริสุทธิ์อย่างเดียว แต่มีวิธีการทำถึง ๘ ส่วน ๘ ตอนต่างๆ กัน ส่วนนั้นต้องทำอย่างนั้นๆ ไม่เหมือนกัน ต้องทำครบทุกส่วนพร้อมเพียงกัน กระทำตามหน้าที่เป็นมัคคสมังคี ต้องพร้อมกันทำครบทั้ง ๘ ไม่พร่องไม่เลย เช่น ๗ ไม่ได้ ๙ ไม่ได้ พระองค์ตรัสจัดพอดีแล้ว อริยมรรค ๘ ส่วน ทางทำจิตให้บริสุทธิ์นี้ มีเนื้อความพิสดารกว้างขวางมาก เอวัง.

พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท
เทศนาธรรม ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๔


 



Create Date : 20 พฤศจิกายน 2564
Last Update : 3 มกราคม 2565 13:40:29 น.
Counter : 614 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



สารบัญ Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์



หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์