พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ตั้งอยู่ที่ใด?


🌷  พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ตั้งอยู่ที่ใด?

วันเสาร์ที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๖๔ เป็นวันพระขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ (สองหน) ตรงกับวันอาสาฬหบูชา เป็นวันที่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ได้ปรากฎขึ้นครั้งแรกในโลก 

ณ บัดนี้ให้ตั้งใจกันฟังพระธรรมเทศนาต่อจากวันพระที่แล้ว ในเรื่องหัวใจพระพุทธศาสนา ซึ่งผู้เรียบเรียงได้จัดหัวข้อธรรม ลำดับไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้น ดังนี้

🌹  ธาตุในพระพุทธศาสนา

คำว่า ธาตุ หมายถึง สิ่งที่มีอยู่เดิม หรือสิ่งที่เป็นต้นเดิม เป็นสภาพที่รักษาคุณสมบัติเดิมของตนเองไว้ โดยไม่มีการเปลี่ยนแปร หรือเสื่อมสิ้นไปตามกาลเวลาที่ล่วงไปๆ

หมายความว่า เดิมมีคุณภาพอย่างไร ก็คงมีคุณภาพอย่างนั้นอยู่เสมอ เช่น ธาตุดิน ก็ย่อมรักษา ความแค่นแข็ง ของตัวเองไว้ ไม่กลับกลายหรือเสื่อมเป็นธาตุอื่น ... ธาตุน้ำ ก็ย่อมรักษา ความเอิบอาบ เหลวและไหล ไว้ตลอดกาล ไม่กลับกลายเป็นธาตุไฟไปได้ ดังนี้เป็นต้น

มีพระบาลีในวิภังคสูตร ว่าไว้ดังนี้ "ฉ ธาตุโย อยํ ปุริโส" แปลว่า "ในรูปร่างกายของคนเรานี้ มีธาตุอยู่ ๖ ธาตุ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ อากาศธาตุ และวิญญาณธาตุ (จิต) ซึ่งประชุมปรุงแต่งให้เป็นรูปร่างกายอยู่ได้ ถ้าขาดธาตุใดธาตุหนึ่งไปเสีย รูปร่างกายนี้ก็ย่อมวิปริต พิกล พิการ แตกทำลายลงได้"

ทั้งนี้หมายความว่า ธาตุทั้ง ๖ แต่ละธาตุ ต่างก็รักษาคุณภาพของตัวเองไว้ตลอดทุกกาลสมัย ไม่มีการเสื่อมสูญ หรือที่เรียกว่า ไม่ตกอยู่ในอำนาจพระไตรลักษณ์เลย ส่วนรูปร่างกายซึ่งเกิดจากธาตุทั้ง ๖ มาประชุมพร้อมกันนั้น ย่อมต้องปรวนแปรไปจากเดิมตามกาลเวลาที่ล่วงไป ไม่อาจตั้งอยู่คงที่ได้

กล่าวคือ รูปร่างกายตกอยู่ในอำนาจพระไตรลักษณ์ ไม่ว่าเป็นรูปชนิดใดก็ตาม ซึ่งเรียกว่า ไม่เที่ยง (อนิจฺจํ) เป็นทุกข์ (ทุกฺขํ) ไม่ใช่ตัวตน (อนตฺตา) จัดเป็น ธาตุผสม

🌹  รายละเอียดของธาตุ ๖

๑. ธาตุดิน (ความแค่นแข็ง)
๒. ธาตุน้ำ (ความเอิบอาบ เหลว ไหล)
๓. ธาตุลม (ความพัดไหวไปมา)
๔. ธาตุไฟ (ความร้อน)
๕. อากาศธาตุ (ความว่าง)
๖. วิญญาณธาตุ (ธาตุรู้ คือ จิต)

ธาตุทั้ง ๖ เหล่านี้ เป็นธาตุแท้ดั้งเดิม ที่ไม่ได้เกิดจากเหตุปัจจัยใดๆ ทั้งสิ้น สามารถเรียกว่าเป็น แม่ธาตุ ซึ่งเป็นแดนเกิดของธาตุผสมต่างๆ ทุกชนิดในโลกนี้ทีเดียว

ธาตุแต่ละธาตุเหล่านี้ ไม่ได้แยกตัวกันอยู่เป็นเอกเทศเลย ต้องคุมตัวเข้าผสมกันเสมอ ถ้าต้องสลายตัวออกจากกลุ่มธาตุที่ได้ผสมกันแล้ว กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งก็ตาม ย่อมต้องเข้าผสมกับกลุ่มธาตุอื่นต่อไปอีกเสมอ

ธาตุที่ ๑ ถึงธาตุที่ ๕ เป็นธาตุที่รวมกันเข้าเป็น รูป ในเมื่อเหตุปัจจัยพร้อม รูป เสียง กลิ่น รส ความสัมผัสทางกาย และความนึกคิดทางใจ ที่เรียกว่า อารมณ์ เหล่านี้เกิดขึ้นจากการผสมตัวของธาตุ หรืออาศัยธาตุดังกล่าวเป็นแดนเกิดทั้งสิ้น

สำหรับอากาศธาตุนั้น โดยปรกติมักละไว้ในฐานที่เข้าใจเสมอ คือไม่ค่อยเอ่ยถึง คงเอ่ยถึงแต่เพียง ๔ ธาตุ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ เท่านั้น เมื่อรวมกันแล้วเรียกว่า มหาภูตรูป ๔ (รูปที่หลอกลวงที่เกิดจากธาตุ ๔)

ดังนั้น มหาภูตรูป ๔ จึงตกอยู่ในอำนาจพระไตรลักษณ์ ต้องปรวนแปรเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาเป็นธรรมดา

ส่วนแต่ละธาตุที่ผสมกันขึ้นเป็นรูปนั้น ย่อมดำรงตัวเที่ยงแท้เป็นเช่นนั้น เมื่อรูปแตกแยกออกเมื่อใด ธาตุดินก็แยกไปเป็นดิน ธาตุน้ำก็แยกไปเป็นน้ำ ธาตุไฟก็แยกไปเป็นไฟ ธาตุลมก็แยกไปเป็นลม และธาตุรู้ก็เคลื่อนจุติออกไปตามกรรมของตน ไม่ได้ดับตายหายสูญไปไหนเลย

รวมความว่า ธาตุแต่ละธาตุ (ดิน น้ำ ลม ไฟ) ที่ได้รวมกันเป็นรูปนั้น เที่ยงแท้ถาวรในฝ่ายรูปธรรม และ วิญญาณธาตุ (ธาตุรู้ คือ จิต) นั้น ก็เที่ยงแท้ถาวรในฝ่ายนามธรรม ต้องเคลื่อนตัวออกไปเมื่อมหาภูตรูปแตกแยกเสมอ

ดังพุทธพจน์ที่มาในมหาปรินิพพานสูตรต่อไปนี้ คือ "จตุนฺนํ อริยสจฺจานํ ยถาภูตํ อทสฺสนา สงฺสริตํ ทีฆมทฺธานํ ตาสุตาเสว ชาติสุ" แปลว่า "ความเวียนว่ายของเราเข้าไปในชาติน้อยใหญ่ทั้งหลาย อันยาวนานนับไม่ถ้วนนั้น เพราะมิได้เห็นอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง ดังนี้"

ผู้ที่มีสติปัญญาทั้งหลาย อย่างเช่นเราๆ ท่านๆ ย่อมต้องเข้าใจว่า มีสิ่งที่มีลักษณะเที่ยงแท้เป็นแก่นสารอยู่สิ่งหนึ่ง คือ จิตของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เข้าไปเวียนว่ายจากพระชาติหนึ่งถึงอีกพระชาติหนึ่ง และพระชาติติดต่อกันไปเป็นเวลาอันยาวนานนับไม่ถ้วน ก่อนตรัสรู้ และจิตดวงนี้ได้ยืนตัวเป็นประธานอยู่ทุกชาติ ไม่ว่าจะเปลี่ยนพระชาติไปกี่ครั้งกี่หนก็ตาม

ทั้งนี้ย่อมแสดงว่า จิตเป็นสภาพธรรมที่ไม่ได้ดับตายหายสูญไปไหน แต่รูปร่างกายซึ่งถือเอากำเนิดเป็นชาตินั้นต่างหาก ที่ไม่เที่ยงแท้ถาวร คือ เปลี่ยนชาติใหม่ทุกชาติ ถ้าจิตเกิดดับเป็นคนละดวง คือเปลี่ยนใหม่ตามร่างกายในแต่ละพระชาติด้วยแล้ว ก็ย่อมตรัสว่าพระองค์ได้ทรงเข้าไปเวียนว่ายในพระชาติเหล่านั้น ไม่ได้เลย

เพราะฉะนั้น จิตจึงไม่ใช่สภาพธรรมที่เกิดดับ แต่จิตชั้นพระสัมมาสัมพุทโธ รู้อยู่ว่า รูปร่างกายในแต่ละพระชาติ เกิดแล้วก็ตายไป ตามกาลเวลาที่ผ่านไปๆ โดยลำดับ นานแสนนานมาแล้ว ซึ่งเป็นใจความในพุทธพจน์ข้อนี้ 

🌹  จิตกับการรับรู้อารมณ์ของจิต (จิตกับวิญญาณ ๖)

คำว่าจิตนี้ เราได้บัญญัติขึ้น เพื่อเรียกสิ่งที่ทรงไว้ซึ่งความรู้ (ธาตุรู้) จัดเป็นตัวธรรมอันสำคัญยิ่งในพระพุทธศาสนา ที่ทรงตัวรู้อยู่ทุกกาลสมัย หมายความว่า มีอะไรเกิดขึ้นก็รู้ อะไรดับไปก็รู้ ว่างก็รู้ พอใจก็รู้ ไม่พอใจก็รู้ เฉยๆ ก็รู้ ดังนี้เป็นต้น ถ้ามีจิตยืนเป็นประธานอยู่แล้ว จะบอกว่าไม่รู้ หรือบอกว่ารู้บ้างไม่รู้บ้าง ย่อมไม่ได้

การรู้ของจิตนี้ ย่อมมีถูกมีผิด แล้วแต่กำลังที่มี ถ้าจิตมีกำลังน้อย เพราะขาดการอบรมศึกษามาแต่ก่อน ก็ย่อมรู้ผิดและเห็นผิดความจริง ก็เรียกว่ามิจฉาทิฐิ แต่ถ้าจิตมีกำลังมาก เพราะได้รับการศึกษาอบรมมาดีแล้ว ก็ย่อมรู้ถูกและเห็นถูกต้องตามความเป็นจริง ก็เรียกว่าสัมมาทิฏฐิ ซึ่งเป็นเป้าหมายขั้นต้นของพระพุทธศาสนาที่จะต้องปฏิบัติสมาธิเพื่อศึกษาให้รู้จักสิ่งต่างๆ อย่างถูกต้องตามความเป็นจริงเสียก่อน จึงจะผ่านขึ้นไปยังขั้นที่สูงกว่าต่อไปได้

ส่วนสิ่งที่ถูกจิตรู้ เรียกว่า อารมณ์ อันได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส ความสัมผัสทางกาย และความนึกคิดทางใจ รวม ๖ ประการ ซึ่งจะผลัดและทยอยกันเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ตามลำดับคู่ ไม่ซ้ำซ้อนกัน เข้าไปสู่จิต ทำให้เกิดการผสมปรุงแต่งและยึดถือขึ้นทันที ถ้าจิตขาดการศึกษาอบรมมาแต่ก่อน แต่ถ้าจิตได้รับการศึกษาอบรมมาดีแล้ว อารมณ์ทั้งหลายก็ย่อมไม่อาจเข้าผสมปรุงแต่งจิตให้เสียคุณภาพเดิมและไม่ยึดถือไว้ต่อไป

ทั้งนี้หมายความว่า อารมณ์แต่ละอย่างดังกล่าวแล้วเหล่านี้ จะจัดเป็นอารมณ์ได้ ก็ต่อเมื่อมีจิตเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเท่านั้น ถ้ายังไม่มีจิตเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ก็ยังไม่จัดว่าเป็นอารมณ์ของจิต กล่าวคือ จิตก็อยู่ส่วนจิต อารมณ์ก็อยู่ต่างหากอีกส่วนหนึ่ง ไม่เกี่ยวข้องกัน เราก็กล่าวกันว่าเป็นอสังขตธรรม คือเป็นธรรมที่ยังไม่ได้ผสมปรุงแต่งกันฝ่ายนาม และยังไม่อาจนำเอาคำสมมุติบัญญัติมากล่าวบรรยายว่าเป็นอย่างไรได้เลย อสังขตธรรมชนิดนี้พร้อมที่จะเข้าผสมปรุงแต่งกันทันทีที่จิตกระทบกับอารมณ์

คำว่า ชาติ ชรา พยาธิ และมรณะ นั้น ต่างก็เป็นรูปแบบของความเปลี่ยนแปลง ที่จิดตั้งเป็นคำสมมุติบัญญัติลงที่รูปร่างกายตามที่มีที่เป็น และคำว่า เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป นั้น จิตก็เป็นผู้ตั้งสมมุติบัญญัติลงที่อารมณ์ ซึ่งผ่านเข้ามาให้รู้ และผ่านออกไปจากการรับรู้ เป็นอารมณ์ๆ ตามลำดับไป หลังจากที่จิตได้เข้าผสมปรุงแต่งกับอารมณ์นั้นๆ แล้ว

เมื่ออารมณ์ผ่านอายตนะเข้ามากระทบจิต จนเกิดการรับรู้และยึดถือเอาเข้ามาไว้ด้วยอำนาจความเข้าใจผิดแล้ว ก็ย่อมเกิดเป็นสังขตธรรม หรือที่เรียกว่าสังขารธรรมขึ้น กลายเป็นธาตุผสมระหว่างจิตกับอารมณ์ไป

🌹  อารมณ์และอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์ (รูปนาม)

อารมณ์ต่างๆ อันได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส ความสัมผัสทางกาย และความนึกคิดทางใจ รวม ๖ ประการเหล่านี้นั้น กล่าวความจริงแล้วเป็นแต่เพียงเงาหรือฉายาภาวะของวัตถุที่จิตหลงยึดเข้ามาครอบครองด้วยความเข้าใจผิดว่า เป็นสิ่งที่เที่ยงแท้ถาวร ทำให้จิตแสดงอาการอันเนื่องด้วยอารมณ์นั้นๆ รวม ๔ ประการ (อารมณ์เป็นรูป อาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์ ๔ ประการดังกล่าวนี้เป็นนาม รวมเรียกว่ารูปนาม) ดังนั้น รูปนามจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในภายหลัง ถ้ายังไม่มีอะไรเข้ามากระทบจิต รูปนามก็ยังไม่เกิดขึ้น จิตก็รู้ว่ารูปนามยังไม่เกิดขึ้น เมื่อรูปนามเกิดขึ้น จิตก็รู้ว่ารูปนามเกิดขึ้นแล้ว

อาการของจิตที่เกิดขึ้นเนื่องจากมีอารมณ์กระทบดังที่ได้กล่าวมาแล้ว คือ
๑. เกิดการรับรู้อารมณ์ชนิดนั้นๆ เรียกตามชื่ออายตนะนั้นว่า จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ และมโนวิญญาณ รวม ๖ ประการ 
๒. เสวยสุขทุกข์เนื่องด้วยอารมณ์นั้นๆ เรียกว่า เวทนา
๓. จดจำอารมณ์นั้นๆ ไว้ได้ เรียกว่า สัญญา 
๔. คิดดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งต่ออารมณ์นั้นๆ ตามอำนาจกิเลสที่เกิดขึ้น เรียกว่า สังขาร

ทั้ง ๔ ข้อนี้ เป็นอาการของจิตที่เกิดขึ้นเนื่องจากอารมณ์เข้ามากระทบจิต รวมเรียกว่า นาม ๔ ประการ เมื่อรวมอารมณ์ที่กระทบด้วย ก็เป็น ๕ ประการ จึงเรียกว่า ขันธ์ ๕ หรือรูปนาม ก็ได้

ทั้งนี้หมายความว่า ถ้ายังไม่มีอารมณ์มากระทบจิต ขันธ์ ๕ หรือรูปนาม ก็ยังไม่เกิดขึ้น เราเรียกจิตในขณะนี้ว่าจิตตกภวังค์ คือยังไม่ได้ขึ้นสู่วิถีที่จะรับอารมณ์ หรือเรียกว่าจิตประภัสสรก็ได้ แต่ถ้าจิตขึ้นสู่วิถีที่จะรับอารมณ์เมื่อใด ความประภัสสรก็ย่อมหายไปเมื่อนั้น และเนื่องจากจิตมีอยู่ดวงเดียว จึงไม่ใช่สภาพธรรมที่จะจัดให้เป็นกอง เป็นพวก หรือเป็นขันธ์ (ขันธ์แปลว่ากอง) เหมือนดังขันธ์ ๕ หรือรูปนาม ดังที่ได้กล่าวแล้วนี้ได้ ดังนั้น จิตจึงไม่ใช่รูป ไม่ใช่นาม หรือไม่ใช่ขันธ์ ๕ แต่ประการใดทั้งสิ้น

เมื่อรูปนามเกิดขึ้น ก็แปลว่าในขณะนี้ จิตได้ถูกอารมณ์เข้าผสมปรุงแต่ง ให้เกิดเป็นชีวิต เป็นภพ และเป็นโลกขึ้นแล้ว เพราะได้เข้าไปยึดถืออารมณ์นั้นๆ ทำให้จิตหวั่นไหวไปตามอารมณ์ด้วย เราเรียกจิตที่ยังติดข้องอยู่ในอารมณ์นี้ว่าเป็น “สัตว์” ส่วนรูปร่างกายนั้นเป็นแต่เพียงที่อาศัยของสัตว์เท่านั้น ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา แต่ประการใด

การที่สัตว์ติดข้องอยู่ในอารมณ์นี้ เป็นเพราะได้รับรสชาติจากการกระทบกับอารมณ์ต่างๆ เมื่อรับอารมณ์หนึ่งแล้ว ก็อยากจะรับอารมณ์อื่นต่อไปอีก เพราะรู้จักอารมณ์อย่างผิดๆ

ด้วยเหตุนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้ทรงอบรมสั่งสอนพุทธบริษัทให้รู้จักอารมณ์ต่างๆ ให้ถูกต้องตามความเป็นจริง หรือให้รู้ถูก (วิชชา) โดยถอนความยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์เหล่านั้นเสีย เมื่อเข้ามากระทบจิต ก็ให้เพียงสักแต่ว่ากระทบเท่านั้น เมื่อไม่ยึดมั่นถือมั่นจนปรุงแต่งจิตให้เสียคุณภาพเดิมไป ก็พ้นทุกข์

เมื่อได้อบรมจิตให้รู้ถูกต้องตามความเป็นจริงแล้ว ความรู้ผิด (อวิชชา) ก็ดับไปเพราะความรู้ถูกต้องตามความเป็นจริง (วิชชา) ได้เกิดขึ้นแทนที่ความรู้ผิดที่มีอยู่เดิม เราก็กล่าวกันตามประสาชาวบ้านว่า เกิดความฉลาดขึ้นแทนที่ความโง่เขลาเบาปัญญาที่จิตมีอยู่เดิมแล้ว จิตในขณะนี้ได้กลายเป็น พุทโธ (ผู้รู้ถูก ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน) เพราะเลิกติดข้องในอารมณ์ทั้งปวงอย่างสิ้นเชิง เมื่อเลิกติดข้องในอารมณ์ก็ย่อมไม่ใช่ “สัตว์” อีกต่อไปแล้ว

โปรดดูการแผลงอักษรของคำว่า “วิชชา” ดังต่อไปนี้  วิชฺชา –> วิชฺโช –> วุชฺโช –> พุชฺโช –> พุทฺโธ คือ จิตรู้จักอารมณ์อย่างถูกต้องตามความเป็นจริง นั่นเอง

พระโพธิสัตว์ ก็หมายความถึง จิตของผู้ที่ยังติดคล่องและกำลังแสวงหาความรู้อย่างถูกต้องอยู่ ดังนั้น คำสมมุติบัญญัติที่ว่า สัตว์ก็ดี พระโพธิสัตว์ก็ดี พระพุทโธก็ดี จิตเป็นผู้เป็นทั้งนั้น ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่ว่า ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา จึงพูดออกมาเพราะไม่รู้จักคำว่า “สัตว์” ในพระพุทธศาสนา 

ซึ่งมีพุทธดำรัสว่า “เอกายโน   อยํ  ภิกฺขเว  มคฺโค  สตฺตานํ  วิสุทฺธิยา” แปลว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ทางนี้เป็นทางเดินทางเอก ที่เป็นไปเพื่อความหมดจดของสัตว์ทั้งหลาย” เพราะฉะนั้น ผู้ที่ว่าไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา จึงขัดแย้งกับพุทธดำรัสนี้อย่างมิต้องสงสัย

ผู้ที่สามารถรู้จักวิธีอบรมจิตให้รู้จักอารมณ์ได้ถูกต้องเอง เรียกว่าได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทโธ (มีโอกาสประกาศพระศาสนา) หรือเป็นพระปัจเจกพุทโธ (ไม่มีโอกาสประกาศพระศาสนา) ผู้ที่ได้รับการอบรมสั่งสอนจากพระพุทโธแล้วจึงตรัสรู้ตามด้วย เรียกว่าพระอนุพุทโธ

ทั้งนี้หมายความว่า ทั้งพระสัมมาสัมพุทโธ พระปัจเจกพุทโธ พระอนุพุทโธ ทุกท่านเหล่านี้ ต่างก็ได้อบรมจิต ฝึกฝนจิต มิให้ฟุ้งซ่านหวั่นไหวไปตามอารมณ์ทั้งปวง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ จิตของท่านเหล่านี้ไม่มีกำเริบปรุงแต่งให้เกิดมีกิเลส เป็นพระอรหันต์ขีณาสพ จิตบริสุทธิ์เป็นเอกภาพเหมือนกันทั้งหมด ไม่แตกต่างจากกัน เป็นสันตินิพพาน จึงจัดเป็น วิราคจิต (จิตที่สิ้นความกำหนัดยินดีในอารมณ์) หรือวิราคธรรม (ธรรมที่แยกออกจากการผสมกับอารมณ์) เข้าสู่สภาพเดิมที่ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย เหมือนดังสังขารธรรมอีกต่อไป จัดเป็นอมตธรรม (ธรรมที่ไม่ตาย) ในพระพุทธศาสนานี้

สรุปความแล้วคำว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นั้น แตกต่างกันโดยคำสมมุติบัญญัติเท่านั้น แต่อยู่ที่เดียวกันคือที่วิราคจิต (จิตที่บริสุทธิ์) หรือที่นิพพานอันเป็นที่สุดทุกข์นั่นเอง ในขณะที่จิตยังไม่บริสุทธิ์ ก็ยังต้องติดข้องท่องเที่ยวไปในอารมณ์ต่างๆ ก็ยังเป็นสัตว์อยู่ คือยังหลงยึดอารมณ์ หรือรูปนาม หรือขันธ์ ๕ ซึ่งไม่เที่ยงแท้ถาวรไว้ จึงยังไม่พ้นทุกข์

🌷 🌷 🌷 

การฟังธรรมเทศนาบรรยายเชิงวิชาการนั้น ต้องใช้ความตั้งใจเป็นมาก เพื่อให้เข้าใจเนื้อหาได้ครบถ้วน โดยเฉพาะเรื่องจิต ที่เป็นหลักธรรมแท้ที่สำคัญยิ่งในการศึกษาพระพุทธศาสนากันเลยทีเดียว ยิ่งเมื่อจิตได้เข้ามาอาศัยในรูปร่างกายนี้ ที่เรียกว่ารูปนามบ้าง เรียกว่าขันธ์ ๕ บ้าง ที่เกิดมาจากกรรมเก่าด้วยแล้ว การจะรู้จักจิตที่แท้จริงนั้น ยิ่งยากมากขึ้นไปอีก ยิ่งพยายามค้นหา ยิ่งเจอแต่อาการของจิตที่ละเอียดยิ่งขึ้น ทำให้บุคคลผู้ค้นหาเข้าใจผิดไปว่านั่นคือจิต เพราะจิตที่เข้ามาอาศัยอยู่ในรูปร่างกายนี้ด้วยความยึดมั่นถือมั่น ทั้งที่จิตเองคือธาตุรู้ เป็นหนึ่งในธาตุผสมอยู่ในธาตุ ๖ นี้ จึงต้องเวียนว่ายตายเกิดเพื่อสร้างภพสร้างชาติ รูปร่างกายใหม่ นับภพนับชาติไม่ถ้วน แต่จิตหรือธาตุรู้นี้ เราสามารถฝึกฝนอบรมให้แยกตัวออกจากอารมณ์และอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์ ที่เรียกว่าวิราคธรรม จัดเป็นอมตธรรม ทำให้เรารับรู้ว่า พระพุทธไม่ใช่พระพุทธรูปที่อยู่ในโบสถ์ พระธรรมไม่ใช่อยู่ในตู้พระไตรปิฎก พระสงฆ์ก็ไม่ใช่ลูกชาวบ้านที่โกนหัวห่มเหลืองรวมตัวกันอยู่ในวัด เพราะพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อยู่ที่เดียวกัน คือที่วิราคธรรม วิราคจิต หรือจิตที่บริสุทธิ์หลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงเข้าสู่พระนิพพาน ดังนี้  เอวัง

พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท
เทศนาธรรมวันอาสาฬหบูชา 
๒๔ กรกฎาคม ๒๕๖๔




 



Create Date : 24 กรกฎาคม 2564
Last Update : 3 มกราคม 2565 13:35:37 น.
Counter : 553 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



สารบัญ Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์



หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์