มรรคมีองค์ ๘ ![]() 🌷 มรรคมีองค์ ๘ วันอังคารที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๖๔ ตรงกับวันพระขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ เจริญสุข สวัสดี สาธุชนทั้งหลาย วันพระก็เวียนมาบรรจบครบรอบอีกครั้ง อาตมาภาพจึงได้นำ พระพุทธพจน์จากพระบาลีธรรมบท ในสมาธิสูตร มากล่าวไว้ดังนี้ สมาธึ ภิกฺขเว ภาเวถ สมาหิโต ยถาภูตํ ปชานาติ แปลว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงยังสมาธิให้เกิดขึ้นเถิด ผู้ที่มีจิตตั้งมั่นดีแล้ว ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง ดังนี้ เมื่อพิจารณาจากพระพุทธพจน์อย่างรอบคอบ จะเห็นได้ว่า บุคคลที่ยังสมาธิให้เกิดขึ้นในที่นี้นั้น ต้องเป็นสัมมาสมาธิในองค์อริยมรรคเท่านั้น บุคคลนั้นย่อมมีจิตเป็นสมาธิ สงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหวดีแล้ว ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง คำว่า ได้รู้เห็นตามความเป็นจริงนั้น ก็คือ วิปัสสนาปัญญา การรู้เห็นอย่างวิเศษ มาจากคำว่า วิปัสสนา รู้เห็นอย่างไรจึงเรียกว่าได้รู้เห็นอย่างวิเศษ คือ การได้รู้เห็นอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริงว่า - อารมณ์ทั้งหลายทั้งปวง ไม่ว่าดี ชั่ว สุข ทุกข์ หยาบ ละเอียด เช่น รูปฌาน อรูปฌาน ย่อมทำให้จิตใจหวั่นไหว กระสับกระส่าย เกิดความยินดียินร้ายไปกับอารมณ์เหล่านั้น ล้วนแล้วแต่เป็น ทุกข์ ทั้งสิ้น - เมื่อรู้แล้วว่าอารมณ์ทั้งหลายทั้งปวงที่จิตเข้าไปยึดมั่นถือมั่น อารมณ์ความรู้สึกนึกคิดเหล่านั้นย่อมเป็นทุกข์ ก็ควรละความทะยานอยาก (ตัณหา) คือ สมุทัย เหตุให้ทุกข์เกิดขึ้นเสีย - เพื่อให้เข้าถึง นิโรธ ความดับแห่งทุกข์ทั้งปวงได้ - ด้วย อริยมรรคมีองค์ ๘ ทางปฏิบัติเพื่อดำเนินไปสู่ความดับทุกข์ พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ที่ทรงอุบัติขึ้นมาในโลก ล้วนตรัสรู้อริยสัจ ๔ ทุกๆ พระองค์ เพราะเป็นความจริงอันประเสริฐของพระอริยเจ้าทั้งหลาย จะเรียกว่า ศีลสมาธิปัญญา อริยสัจ ๔ หรือสติปัฏฐาน ๔ ก็ได้ แล้วแต่ว่าพระองค์จะไปสอน ณ ชุมชนใด เพื่อให้สอดคล้องกับประชุมชนนั้น ทั้งหมดที่กล่าวไว้ล้วนเป็นการปฏิบัติธรรมสมาธิกรรมฐานภาวนาทั้งสิ้น ทางอื่นนอกจากนี้ไม่มีอีกแล้ว เรามาฟัง “หัวใจพระพุทธศาสนา” ต่อจากวันพระที่แล้ว (๑๔ กันยายน ๒๕๖๔) กันเถอะ 🌷 มรรคมีองค์ ๘ นับตั้งแต่ได้ตรัสรู้จนถึงวันที่เสด็จขันธ์เข้าสู่พระปรินิพพาน รวมเป็นเวลาทั้งหมด ๔๕ ปีนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงสอนข้อปฏิบัติอันสําคัญแก่ชาวพุทธทั้งหลาย สําหรับจะได้ปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ ดังที่ได้ทรงปฏิบัติสําเร็จมาแล้ว คือ มรรคมีองค์ ๘ ซึ่งมีรายละเอียดต่อไปนี้ ๑. สัมมาทิฐิ ความเห็นชอบ ๒. สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ สององค์นี้ จัดอยู่ในหมวดของ ปัญญา ๓. สัมมาวาจา วาจาชอบ ๔. สัมมากัมมันตะ การงานชอบ ๕. สัมมาอาชีวะ การเลี้ยงชีวิตชอบ สามองค์นี้ จัดอยู่ในหมวดของ ศีล ๖. สัมมาวายามะ ความเพียรชอบ ๗. สัมมาสติ ความระลึกชอบ ๙. สัมมาสมาธิ จิตตั้งมั่นชอบ สามองค์นี้ จัดอยู่ในหมวดของ สมาธิ ทั้งหมดนี้ ย่นย่อลงเหลือเพียง ศีล สมาธิ ปัญญา หรือเรียก สติปัฏฐาน ๔ หรือ อริยมรรค อย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้เหมือนกัน คําว่า มรรค ในที่นี้หมายถึง ทางเดินของจิต ซึ่งพระพุทธองค์ได้ทรงใช้ปฏิบัติมาแล้ว จึงได้ทรงนํามาสั่งสอนชาวพุทธให้ปฏิบัติตามเสด็จด้วย ดังมีพระบาลีในพระธรรมบทยืนยันไว้ดังนี้คือ “เอเสว มคฺโค นตฺถญฺโญ ทสฺสนสฺส วิสุทฺธิยา เอตญฺหิ ตุมฺเห ปฏิปชฺชถ มารเสนปฺปโมหนํ แปลว่า ทางเดินที่จะทําความเห็นให้บริสุทธิ์คือทางนี้เท่านั้น ทางอื่นนอกจากนี้ไม่มีอีกแล้ว ท่านทั้งหลายจงปฏิบัติไปทางนี้เถิด เป็นทางที่มารและเสนามารหลง” หมายความว่า กิเลสใหญ่น้อยทั้งหลายหาที่ตั้งไม่ได้ จิตก็บริสุทธิ์ ดังนั้น พุทธบริษัททุกท่านจึงต้องศึกษาเรื่องราว รายละเอียด และคําจํากัดความของมรรค ๘ แล้วลงมือปฏิบัติตามจริงๆ ก็ย่อมได้รับประโยชน์จากพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง 🌷 ประโยชน์ที่จะได้รับจากการปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ หลักธรรมสําคัญในพระพุทธศาสนาที่รวบรวมวิธีปฏิบัติ เพื่อชําระจิตใจให้บริสุทธิ์ปราศจากกิเลส ก็คือ สติปัฏฐาน ๔ (ฝึกให้มีสติตั้งมั่นอย่างไม่ขาดสายในที่ ๔ สถาน) แบ่งออกเป็นหมวดกาย เวทนา จิต ธรรม ซึ่งมีอยู่รวม ๒๑ บรรพะด้วยกัน การปฏิบัติตามสติปัฏฐาน ๔ ย่อมได้รู้จักอารมณ์ต่างๆ ที่กําลังเข้ามาปรุงแต่งให้เกิดเป็นเรื่องราวความจริงของชีวิต หรือที่เรียกว่า รูปนาม ซึ่งได้แก่ อารมณ์ และอาการของจิตที่เกิดขึ้นเนื่องด้วยอารมณ์, นั้น ว่าประกอบขึ้นด้วยอะไร และวิวัฒนาการไปตามกาลเวลาอย่างไร? ผู้ปฏิบัติจะต้องทําจิตให้ตั้งมั่นเป็นสมาธิ เพ่งพิจารณาดูรูปนามที่กําลังเกิดขึ้นเฉพาะหน้าว่า ไม่ใช่สิ่งที่เที่ยงแท้ถาวรแต่ประการใด และให้ฝึกปล่อยวางรูปนามต่างๆ เสียโดยเด็ดขาด ไม่นําตน (จิต) เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย คือ ไม่แสดงความยินดียินร้ายในอารมณ์ทั้งหลาย แล้วรูปนามนั้นก็ย่อมดับไป โดยไม่ทําให้มีกิเลสเกิดขึ้นที่จิตของตนได้ การที่จะปฏิบัติจนกระทั่งสามารถปล่อยวางรูปนามเสียได้นั้น เป็นสิ่งที่ทวนกระแสใจสามัญชนเป็นอย่างยิ่ง เพราะว่าได้รับการอบรมให้ยึดรูปนามมาเป็นเวลานานนับไม่ถ้วนแล้ว จึงต้องอาศัยความพากเพียรอย่างสูงเพื่อปฏิบัติปล่อยวางรูปนามเสียให้ได้ ดังนั้นผู้ที่ปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ จึงย่อมเกิดพลังจิตสูงขึ้นโดยลําดับตามกําลังที่ปฏิบัติได้ และย่อมมีพลังจิตที่จะยับยั้งชั่งใจต่ออารมณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า ดีกว่าเมื่อก่อนปฏิบัติอย่างไม่ต้องสงสัย ซึ่งจะส่งผลกระทบถึงครอบครัวและสังคมต่อไปอีกอย่างกว้างขวางด้วย สติปัฏฐาน ๔ นี้ ไม่เพียงแต่จะเป็นหลักปฏิบัติสําหรับผู้ที่บวชเป็นพระสงฆ์อย่างเดียวเท่านั้น ฆราวาสผู้ครองเรือน ทหาร ตํารวจ ข้าราชการ พลเรือน ครูอาจารย์ทั้งหลาย รวมทั้งนักเรียน ก็สามารถนํามาปฏิบัติตามและมีโอกาสได้รับประโยชน์ได้เช่นเดียวกันด้วย ซึ่งจะเกื้อกูลความเป็นอยู่ของแต่ละคน ให้มีความสุขในหน้าที่การงาน และการเล่าเรียนที่กําลังดําเนินอยู่ มากขึ้นตามลําดับ 🌷 การบวชในพระพุทธศาสนา ก่อนที่จะกล่าวต่อจากนี้ไป ใคร่ขอถือโอกาสเรียน ณ ที่นี้ว่า มรรคมีองค์ ๘ นี้มิได้มีอยู่ในศาสนาอื่นใดในโลกนี้เลย ดังนั้นชาวพุทธทุกท่านควรจะภูมิใจได้ว่า บรรพบุรุษของเรามีสติปัญญาและมีสายตาอันไกลยิ่ง ที่ได้รับเอาพระพุทธศาสนาเข้ามาเป็นศาสนาประจําชาติของเราจนถึงทุกวันนี้ ดังพุทธพจน์ที่ได้ตรัสไว้ในมหาปรินิพพานสูตรว่า “ดูก่อน สุภัททะ ในธรรมวินัยนี้เท่านั้น ที่มีมรรคประกอบด้วของค์ ๘ ในธรรมวินัยนี้จึงมีพระสมณะที่ ๑ สมณะที่ ๒ สมณะที่ ๓ สมณะที่ ๔ ลัทธิอื่นว่างจากพระสมณะผู้รู้ทั่วถึง ถ้าภิกษุนี้พึงอยู่ผู้โดยชอบ โลกจะไม่ว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลาย” ทั้งนี้ ย่อมหมายความว่าหลักธรรมเรื่องมรรคมีองค์ ๘ นี้ มีความสําคัญยิ่งที่จะชําระขัดเกลาจิตใจผู้ปฏิบัติให้เป็นคนดีโดยลําดับ เป็นชั้นๆ แล้วแต่การปฏิบัติ บรรพบุรุษเชื่อมั่นว่าการเป็นคนดี และสามารถประกอบอาชีพจนตั้งเนื้อตั้งตัวได้นั้น จะต้องให้บุตรหลานของตนเข้าบวช และรับการฝึกฝนอบรมปฏิบัติทางจิตตามคติธรรมในพระพุทธศาสนาสักระยะหนึ่ง เพื่อจะได้ไม่ประพฤติตนล่วงละเมิดศีลธรรม และเป็นพิษเป็นภัยแก่ครอบครัวและสังคมในอนาคต โดยให้บวชและฝึกวิธีปฏิบัติทางจิตเพื่อให้เกิดพลังต่อต้านอารมณ์ทั้งหลาย อย่างน้อยสัก ๑ พรรษา ในขณะที่มีอายุครบ ๒๐ ปีพอดี ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นทํางานอาชีพ บรรพบุรุษหวังว่าบุตรหลานของตนจะได้ใช้ประสบการณ์ทางจิต ที่ได้รับการฝึกปฏิบัติธรรมในขณะที่บวชอยู่ สําหรับแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่จะมีต่อไปในอนาคตและเมื่อมีครอบครัวแล้ว โดยไม่ละเมิดศีลธรรมที่ดีงาม และใช้ความยับยั้งชั่งใจอย่างสูงที่สุด นี่คืออุดมการที่บรรพบุรุษมีต่อบุตรหลานของตนด้วยใจเมตตาอย่างยิ่ง เพื่อให้เป็นคนดีสืบวงศ์ตระกูลต่อไป ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของทุกคนทุกท่าน ที่จะศึกษาทําความเข้าใจเรื่องมรรคมีองค์ ๘ นี้ ให้เข้าใจอย่างถูกต้อง เพื่อที่จะได้นํามาปฏิบัติอย่างเคร่งครัดตลอดเวลาที่บวชอยู่ ถ้าไม่ศึกษาให้ดีเสียก่อนว่าบวชทําไม จึงจัดการบวชอย่างไม่ถูกต้อง และเมื่อบวชแล้วก็ไม่ได้ลงมือปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ จริงอีกด้วย ผลลัพธ์ที่ได้จากการบวชครั้งนั้นก็ย่อมไม่มีอะไรที่ดีขึ้น นอกจากเสียเวลาและเสียเงินทองทรัพย์สินในการจัดงานบวช โดยไม่ได้รับประโยชน์อะไรเท่านั้น ไม่ว่าจะบวชอยู่นานสักเท่าใดก็ตาม เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปแล้วว่า ในระยะเวลา ๑ เดือนหรือ ๒ เดือนก่อนเข้าพรรษาทุกปี ชาวพุทธเป็นจํานวนมากจัดเตรียมงานบวชลูกหลานของตนกันอย่างมโหฬาร โดยทั่วกัน เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ก็จําเป็นต้องเตรียมอาหารสําหรับทําครัวเลี้ยงดูกันในวันบวชอย่างมากมายด้วย จึงต้องฆ่าวัว ควาย เป็ด ไก่ หมู ปลา สําหรับทํากับข้าวเลี้ยงดูกันอย่างเต็มที่ บางรายก็ต้องไปกู้เงินมาใช้จ่ายในเรื่องเช่นนี้ และจ้างมหรสพต่างๆ ที่มีราคาแพงมาแสดงในงานบวชด้วย เพื่อมิให้น้อยหน้ากันก็มี ดังนี้ ถ้าหากว่าได้ศึกษาวัตถุประสงค์ของการบวชให้ละเอียดดีแล้ว จะเห็นได้ว่าการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตเป็นข้อห้ามของพระพุทธองค์โดยตรง เพราะฉะนั้น การฆ่าสัตว์ดังกล่าวข้างต้นเหล่านี้ ย่อมเป็นการทําบาป เป็นเดิมพันเพียงเพื่อจะทํางานบวชของตนเท่านั้น งานบวชจึงต้องเศร้าหมองและจะต้องได้รับวิบากของบาปเช่นนี้ อย่างไม่มีปัญหา ส่วนการที่ไปกู้เงินมาใช้จ่ายเป็นค่าจ้างมหรสพราคาแพงเพื่อสมโภชงานบวชด้วยนั้น ย่อมเพิ่มทุกข์ เพิ่มภาระและทําให้เสียเศรษฐกิจของครอบครัว โดยไม่จําเป็น เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่พุทธบัญญัติ หนี้สินที่ไปกู้เขามาเช่นนี้ บางทีต้องสึกออกมาทํางานหาเงิน ใช้หนี้อยู่นาน จึงจะหมดหนี้ก็มี ความไม่ถูกต้องเหล่านี้ ได้ปฏิบัติตามๆ กันมาจนเป็นธรรมเนียมอยู่ในปัจจุบันนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่จะต้องช่วยกันแก้ไขอย่างพร้อมเพรียงทุกคน ทุกท่าน และทุกสถาบัน โดยแสดงข้อเท็จจริงให้ผู้จะบวชหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการบวชลูกหลานของตน ได้ตระหนักว่า การบวชในพระพุทธศาสนานั้น จัดขึ้นเพื่อให้ผู้บวชได้เข้าไปปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ โดยเฉพาะ ไม่ใช่จัดขึ้นเพื่อสร้างบาป สร้างหนี้สิน ซึ่งเป็นการเพิ่มทุกข์ยากทางจิตใจและทางเศรษฐกิจให้แก่ตนเองและครอบครัวแต่ประการใดทั้งสิ้น ดังนั้น การฆ่าสัตว์ตัดชีวิต และกู้เงินมาจ้างมหรสพสมโภช รวมทั้งจัดสุรายาเมามาเลี้ยงดูกัน ดังที่ถือปฏิบัติตามกันมาเป็นธรรมเนียมนั้น จึงไม่ถูกต้อง เพราะเป็นการกระทําที่มีผลลัพธ์ขัดกับวัตถุประสงค์ของการบวชอย่างตรงกันข้าม และทําให้การบวชนั้นๆ เศร้าหมอง ไม่บริสุทธิ์หมดจด ขนบธรรมเนียมที่ปฏิบัติตามกันมาอย่างผิดๆ เช่นนี้ ควรช่วยกันแก้ไขให้หมดไปจากพระศาสนาโดยพร้อมเพรียงกัน 🌷 คําสั่งสอนอันสำคัญยิ่งที่พระอุปัชฌาย์สอนในวันบวช คงจะจํากันได้ดีว่า เมื่อได้นํา “นาค” ซึ่งเป็นบุตรหลานของตนเข้าไปในพระอุโบสถในวันแรกที่บวชนั้น, แล้ว พระอุปัชฌาย์ก็จะสอนผู้บวชใหม่ให้รู้จักข้อปฏิบัติ ที่เรียกว่า ไตรสิกขา หรือ ศีล สมาธิ ปัญญา หลังจากที่ได้บวชให้แล้ว คือสอนให้พิจารณาผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ของตนเองไปมาบ่อยๆ เนืองๆ ผู้บวชใหม่ก็ได้กล่าวรับปากต่อที่ประชุมพระสงฆ์ว่า “อาม ภนฺเต” แปลว่า ขอรับไปปฏิบัติครับ แต่โดยข้อเท็จจริงแล้ว ส่วนใหญ่ไม่ปฏิบัติกันเลย การพิจารณาผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ของตนเองบ่อยๆ เนืองๆ จะทําให้เห็นสิ่งต่างๆ เหล่านี้ เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้ถาวร ต้องเปลี่ยนแปรไปตามกาลเวลา ไม่ช้าก็ต้องแตกแยกกันไปคนละทิศคนละทาง ทําให้ผู้ปฏิบัติไม่ประมาทในวัยและชีวิตของตน เตือนจิตใจให้ทําแต่ความดี จึงเป็นการพัฒนาจิตใจผู้บวชให้ดีขึ้น เมื่อจิตใจได้รับการพัฒนาดีขึ้นแล้ว ก็ย่อมประพฤติตนเป็นคนดีในครอบครัวและสังคมต่อไปในอนาคต เป็นธรรมดา ถ้าบวชแล้ว ไม่ปฏิบัติตามหลักธรรมที่พระอุปัชฌาย์สอนไว้นี้ ผู้บวชก็ย่อมไม่ได้รับประโยชน์สมกับเวลาและเงินทองที่เสียไปในการจัดงานบวช ดังนั้น จึงไม่มีอะไรดีขึ้นเลย นอกจากยังตกเป็นทาสของอารมณ์ทั้งหลายเหมือนเมื่อก่อนบวชตามเดิมเท่านั้น 🌷 หัวใจพระพุทธศาสนา คือการลงมือปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ จริง เท่าที่ได้บรรยายมาทั้งหมดนั้น พอจะมองเห็นได้ว่าหลักธรรมเรื่อง ศีล สมาธิ ปัญญา หรือสติปัฏฐาน ๔ เป็นคําสั่งสอนสําคัญในพระพุทธศาสนาที่สําคัญยิ่ง ซึ่งได้รวบรวมรายละเอียดในการปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนาไว้อย่างครบถ้วนถูกต้องทุกแง่ทุกมุม ดังนั้น ถ้าได้นํามาศึกษาพินิจพิจารณาดูให้เข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง แล้วลงมือปฏิบัติตามอย่างต่อเนื่องและเคร่งครัด ผู้ปฏิบัติก็ย่อมได้รับประโยชน์จากพระพุทธศาสนาอย่างไม่ต้องสงสัย ไม่ว่าจะเป็นพระสงฆ์หรือฆราวาสก็ตาม สามารถนํามาปฏิบัติได้เหมือนกัน ถ้ามีผู้ลงมือปฏิบัติกันอย่างแพร่หลายแล้ว ก็ย่อมพัฒนาจิตใจให้ตั้งมั่นคง ไม่หวั่นไหวต่ออารมณ์ที่เข้ามากระทบ จึงเกิดความสงบสุขขึ้นในสังคม ไม่มีปัญหายุ่งยากรบกวนอีกต่อไป ดังนั้น พระสงฆ์จึงตั้งอยู่ในฐานะอันสําคัญ ที่จะศึกษาพินิจพิจารณาตูสติปัฏฐาน ให้เข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง แล้วลงมือปฏิบัติตามอย่างต่อเนื่องและเคร่งครัด เพื่อให้มีประสบการณ์อย่างเพียงพอที่จะออกสั่งสอนวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องให้แก่ชาวพุทธอีกเป็นจํานวนมาก รวมทั้งเด็กนักเรียนในโรงเรียนต่างๆ ซึ่งกําลังสนใจศึกษาอยู่ในขณะนี้ อันเป็นการสืบต่อพระศาสนาให้ตํารงอยู่อย่างยืนยาวไปในอนาคต ตามเสด็จพระยุคลบาทพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วย ทั้งนี้หมายความว่า พระสงฆ์ซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศรวมสามหมื่นกว่าวัด จะต้องช่วยทําธุระในพระศาสนา ๓ ประการ คือ คันถธุระ วิปัสสนาธุระ และออกไปสอนการปฏิบัติธรรมดังกล่าวแก่สังคม ที่เรียกว่าประกาศพระศาสนา เหล่านี้ อย่างครบวงจรทุกรูปและทุกวัด การศึกษาธรรมะภาคปริยัติ เพียงเพื่อเอาไว้พูด หรือเอาไว้ตอบสอบไล่เอาคะแนนโดยไม่ได้ลงมือปฏิบัติจริง หรือเมื่อได้ศึกษาและลงมือปฏิบัติมาดีพอสมควรแล้ว ไม่ได้ออกไปช่วยการปฏิบัติธรรมให้แก่สังคมต่อไปอย่างแพร่หลาย เหมือนดังที่พระพุทธองค์ได้ทรงปฏิบัติมาแล้ว ย่อมได้ชื่อว่าทําธุระในพระศาสนาไม่ครบวงจร คือ ไม่ได้ช่วยทําให้สังคมเกิดความร่มเย็นเป็นสุขขึ้นมาแต่ประการใดเลย 🌷 ทาน (การให้สิ่งที่ควรให้) ในพระพุทธศาสนาถือว่า การให้ทานเป็นหลักธรรมเบื้องต้นอันสําคัญที่จะต้องปฏิบัติเพื่อลดความตระหนี่ของผู้ให้ลง ซึ่งเป็นการอนุเคราะห์ผู้รับทานนั้น จึงเป็นการแสดงน้ำใจที่เป็นมิตรต่อกัน ดังนั้น การให้ทานจึงผูกจิตใจทั้งผู้ให้และผู้รับได้ดีอย่างหนึ่ง ซึ่งแสดงว่าสังคมยังไม่แล้งน้ำใจต่อกัน ทานที่มีอานิสงส์อันไพบูลย์นั้น มีหลักเกณฑ์ดังนี้คือ ผู้ให้มีความตั้งใจให้ ผู้รับกําลังอยากได้รับ และสิ่งที่ให้นั้นเป็นปัจจัย ๔ ที่จําเป็นในการดํารงชีวิต ตามสมควรแก่อัตตภาพของทั้งผู้ให้และผู้รับทานนั้น ดังที่พระพุทธองค์ได้ตรัสกับอนาถปิณฑิกเศรษฐี ผู้ซึ่งให้ทานแม้ในขณะที่ใกล้จะตกยากว่า “ทิยฺยเต คหปติ กุเล ทานํ แปลว่า ดูก่อนคหบดี ทานประจําตระกูลของท่าน ยังให้ดีอยู่ดอกหรือ?” อนาถบิณฑิกเศรษฐีตอบว่า “ยังให้ดีอยู่พระเจ้าข้า แต่เต็มทีจริงๆ ไม่ประณีตมีแต่ข้าวปลายเกวียนและน้ำส้มผอูม ซึ่งเป็นทานที่เศร้าหมอง เหลือประมาณพระเจ้าข้า” พระพุทธองค์จึงได้ตรัสว่า “อย่าไปคิดอย่างนั้นสิ เมื่อความตั้งใจดีแล้ว ของทําบุญก็ย่อมดีด้วย” ดังนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้น อานิสงส์ของทาน จึงขึ้นอยู่ที่ความตั้งใจดีของผู้ให้ ซึ่งจะอนุเคราะห์ผู้รับ ให้มีพลังปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุมรรคผลในพระศาสนานี้ สิ่งที่ให้นั้นมีความจําเป็นในการดํารงชีวิตของผู้รับ ไม่ใช่ให้สิ่งที่ฟุ้งเฟ้อเกินความจําเป็น ซึ่งจัดว่าเป็นกามคุณ (สิ่งที่น่ารักใคร่พอใจ) ที่ประทับติดตรึงใจผู้รับมิให้ปฏิบัติธรรม คือทําให้ผู้รับทานนั้น ต้องกลายเป็นผู้ที่สะสมทรัพย์ และล่วงละเมิดสิกขาบทนิสสัคคียปาจิตตีย์ อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ไม่ว่าจะหาวิธีเก็บทรัพย์สิน ที่ได้รับมาจากทานในรูปใดก็ตาม ตัวอย่างเช่น การให้เครื่องปรับอากาศ รถเก๋ง ตู้เย็น โทรทัศน์ เงินทอง เหล่านี้ เป็นต้น จึงจัดว่าเป็นทานที่เศร้าหมอง ไม่มีอานิสงส์ในพระศาสนานี้ และไม่เหมาะสําหรับพระสงฆ์ ผู้ได้ชื่อว่าประพฤติพรหมจรรย์อย่างยิ่ง สําหรับพระสงฆ์ที่รับทานดังกล่าวไว้ ก็ย่อมเกิดความมัวเมาในการเก็บและครอบครองทรัพย์ เกิดความผูกพันทางใจ ซึ่งเท่ากับตอกตะปูตรึงใจไว้ มิให้บรรลุมรรคผลตลอดเวลาที่ครอบครองทรัพย์นั้นอยู่ นอกจากนั้น ยังอาจได้รับภัยจากโจรผู้ร้ายจนถึงแก่ชีวิตก็ได้ ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่จะให้ทานใดๆ ก็ตาม จําเป็นต้องใช้ปัญญาพินิจพิจารณา (ญาณสัมปยุต) ดูด้วย อุปมาดังการเลือกที่ดินสําหรับหว่านพืชเพื่อเพาะปลูก ถ้าเลือกได้ที่ดินดี พืชที่หว่านลงไปก็ย่อมให้ผลงอกงามดีด้วย ฉะนั้น พระพุทธองค์ได้ตรัสว่า “การให้ทานเกื้อกูลแก่ผู้ที่กําลังปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อให้บรรลุเป็นพระโสดาบันบุคคลนั้น มีอานิสงส์มาก” และได้ทรงสอนพระสงฆ์ไม่ให้แสวงหาอามิสทรัพย์สินเกินความจําเป็นสําหรับปฏิบัติธรรม ดังต่อไปนี้ คือ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าพวกเราเป็นธรรมทายาทของเรา ไม่เป็นอามิสทายาทแล้ว ทั้งพวกเราและเราจะไม่ถูกวิญญชนติเดียนว่า พวกพระสาวกของพระศาสดาพากันเป็นธรรมทายาท ไม่เป็นอามิสทายาท พวกเธอทั้งหลายจงเป็นธรรมทายาทของเราเถิด อย่าได้เป็นอามิสทายาทเลย” ดังนี้ เราจะเห็นได้ว่า พระพุทธองค์มีพุทธประสงค์ให้พระสงฆ์ ปฏิบัติธรรมเพื่อสืบต่อพระศาสนา มากกว่าการแสวงหาอามิส ซึ่งได้แก่ ลาภยศ ชื่อเสียง สมณศักดิ์ และบริวารอย่างแท้จริง เพราะการแสวงหาอามิส มิได้ช่วยพัฒนาจิตใจทั้งผู้ให้และผู้รับให้ดีขึ้น และไม่ได้ทําให้พระศาสนาตั้งอยู่ยั่งยืนนานต่อไปได้เลย 🌷 🌷 🌷 เมื่อกล่าวถึงสมาธิหรือภาวนาแล้ว ปัจจุบันมีผุดขึ้นมาอย่างมากมาย จนกระทั่งบุคคลผู้ต้องการปฏิบัติธรรมสมาธิกรรมฐานภาวนา เกิดความลังเลสงสัยว่าจะปฏิบัติอย่างไรจึงจะไม่ผิดทาง เท่าที่มีอยู่นั้นส่วนมากแล้วทำให้สิ้นเปลืองเวลา เพราะการปฏิบัติธรรมสมาธิกรรมฐานภาวนาเพื่อให้เข้าถึงความสงบหรือจิตตัวใน (อชฺฌตฺตํ สมยํ จิตตํ) ต้องผ่านลมหายใจทั้งสิ้น และสมถะวิปัสสนาก็เช่นกัน คำว่าสมถะและวิปัสสนา เป็นคำที่เกิดขึ้นมาในภายหลัง แต่กลับถูกนำมาใช้ในทางแบ่งแยกของผู้ปฏิบัติธรรมให้ออกจากกันอย่างชัดเจน ทั้งๆ ที่พระสูตรเองก็ยังเขียนไว้อย่างรัดกุมรอบคอบ ไม่ได้ถูกแบ่งแยกให้ออกจากกันแต่อย่างใด จนเกิดเป็นสายสมถะภาวนา หรือสายวิปัสสนาภาวนา อย่างทุกวันนี้ ทำให้เกิดความเข้าใจผิดไปจากความเป็นจริงของพระสูตรที่วางหลักไว้ดีแล้ว คำว่า และ ในพระสูตรนั้นก็ชัดเจนอยู่แล้วในตัวว่า ต้องร่วมกันเกิดขึ้น ขาดจากกันไม่ได้ แสดงว่าสมถะและวิปัสสนานั้นเป็นเรื่องที่ต้องกระทำควบคู่กัน พร้อมกันไปในขณะจิตเดียวกัน ต่างกันแต่สภาวะที่เกิดขึ้นของเหตุปัจจัยที่มีมาให้พิจารณา ขณะประคองจิตอยู่ตรึกธรรมเฉพาะหน้าในเวลานั้นๆ เช่นเดียวกันกับคำว่า สติสมาธิปัญญา ซึ่งต้องเกิดขึ้นร่วมกันไป ขาดกันเสียไม่ได้ เป็นอัญญะมัญญะปัจจัย เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมีขึ้น หนุนเนื่องต่อกัน อาศัยกันและกันเกิดขึ้นอย่างไม่ขาดสาย หากเราสามารถสร้างสติ ประคองจิตไว้ที่ฐานที่ตั้งของสติ (สติปัฏฐาน) ได้อย่างต่อเนื่องเนืองๆ แล้ว จิตของตนย่อมสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ เมื่อประคองจิตที่มีสติให้สงบตั้งมั่นเป็นสมาธิได้อย่างต่อเนื่องเนืองๆ จิตย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง (วิปัสสนา) เมื่อจิตของตนมีพลังในการปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นได้ย่อมเกิดปัญญาในการวิรัติ (งดเว้น) ข้อห้ามทั้งหลายได้ ศีลต่างๆ ย่อมบริสุทธิ์ ไม่ด่างพร้อยเลย ในการปฏิบัติธรรมสมาธิกรรมฐานภาวนา เพียรประคองจิตของตนอยู่นั้น บางครั้งบางขณะที่จิตมีสติระลึกรู้อยู่ จิตอาจจะเผลอไผลส่งออกไปในอารมณ์ที่น่ายินดีน่ารักใคร่หรืออารมณ์ที่ไม่น่ายินดีไม่น่ารักใคร่ จะมาจากภายนอกก็ดี หรือเกิดขึ้นจากสัญญาอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด ณ ภายในจิตเองก็ดี หากระลึกนึกขึ้นมาได้และสามารถดึงจิตหรือเปลื้องจิตให้ออกจากอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดในขณะนั้นและยกจิตของตนที่ส่งออกไปจากฐานที่ตั้ง ให้กลับมาวางอยู่ ณ ฐานแห่งความสงบ (สติ) ดังเดิมได้ นี้จึงเรียกว่าเป็นวิปัสสนา คือความสามารถปล่อยวางอารมณ์ออกจากจิตในขณะแห่งสมาธิจิต เอวัง. พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท เทศนาธรรม ๒๑ กันยายน ๒๕๖๔ กราบอนุโมทนาสาธุครับ
โดย: **mp5**
![]() ![]() สวัสดี
ฉันเป็นมุสลิมที่เรียกผู้คนให้เข้ารับอิสลาม โปรดดูหน้าของฉัน 👇 https://is1t.blogspot.com/2018/04/blog-post.html ในนั้นคุณจะพบทุกสิ่งที่คุณอยากรู้เกี่ยวกับอิสลาม ฉันขอให้คุณมีชีวิตที่มีความสุข .... ขอบคุณ 🔴🔴🔵🔴🔴🔴 🔴"ความหมายของชีวิต"🎬👇 https://youtu.be/yPMpqfoiS4A ⚠️🔴⚠️🔵⚠️ 🔴ถ้าเรามีความปรารถนาที่จะทราบว่าศาสนาใดเป็นศาสนาที่แท้จริงหรือจอมปลอมนั้น เราจงอย่านำอารมณ์ ความรู้สึก หรือประเพณีของเราเองมาตัดสิน เราควรนำเหตุผล สติปัญญาของเรามาใช้จะดีกว่า ⚠️ เว็บไซต์แห่งนี้ จะเป็นการตอบคำถามที่สำคัญบางเรื่องซึ่งมีผู้สนใจสอบถามมา ดังนี้: 1- พระคำภีร์กุรอานที่มาจากพระดำรัสของพระผู้เป็นเจ้าโดยแท้นั้น นำมาเปิดเผยโดยพระองค์เองใช่หรือไม่? 2- พระมูหะหมัด คือพระศาสดาที่แท้จริง ที่ประทานมาโดยพระผู้เป็นเจ้าใช่หรือไม่? 3- ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาที่มาจากพระผู้เป็นเจ้าอย่างแท้จริงใช่หรือไม่? 👇 🔻หลักฐานบางประการที่บอกถึงความเป็นจริงของศาสนาอิสลาม 🔻 https://goo.gl/rYBqHe ⚠️🔴⚠️🔵⚠️ ️ ⚠️ ตัวอย่างพระดำรัสของพระศาสดามูหะหมัด 🔴 {ยิ้มให้แก่พี่น้องของพวกเจ้าเป็นการทำบุญกุศล...} 🔵 {การกล่าวดีเป็นการทำบุญกุศล}6 🔴 {ผู้ใดก็ตามที่ศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้าและวันสิ้นโลก (วันพิพากษา) ควรกระทำความดีต่อเพื่อนบ้านของตนด้วย} 🔵 {จ่ายค่าแรงคนงานก่อนที่เหงื่อของเขาจะแห้ง} โดย: islam IP: 51.39.124.69 วันที่: 24 กันยายน 2564 เวลา:4:49:02 น.
|
ในความฝันของใครสักคน
![]() ![]() ![]() ![]() ![]() หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์ Group Blog All Blog
|
|||
Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved. |