ความสัมพันธ์ระหว่างกายเนื้อ กายทิพย์ กายธรรม


🌷 ความสัมพันธ์ระหว่างกายเนื้อ - กายทิพย์ - กายธรรม

วันอังคารที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๖๔  ตรงกับวันพระขึ้น ๘ ค่ำเดือน ๑๐ 

เจริญสุข สวัสดี สาธุชนทั้งหลาย 

มีพระบาลีจากมิลินทปัญหากล่าวไว้ว่า 

สทฺธาย ตรตี  โอฆํ  อปฺปมาเทน อณฺณวํ
วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ  ปญฺญาย ปริสุชฺฌติ

แปลว่า
บุคคลย่อมข้ามห้วงน้ำได้ด้วยศรัทธา
ย่อมข้ามทะเลได้ด้วยความไม่ประมาท
ย่อมล่วงทุกข์ได้ด้วยความเพียร
ย่อมบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา


จากพระบาลีข้างต้น จะเห็นได้ว่าบุคคลผู้มีศรัทธา ย่อมข้ามห้วงน้ำให้ถึงฝั่งได้นั้น  ต้องเป็นบุคคลที่มีสัทธินทรีย์ คือ ๑ ในอินทรีย์ ๕ เท่านั้น เพราะว่าเป็นศรัทธาชนิดเชื่อมั่นไม่หวั่นไหวคลอนแคลนในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่สงสัยในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เชื่อว่ามนุษย์สมบัติมี สวรรค์สมบัติมี มรรคผลนิพพานมีอยู่จริง 

เนื่องจากในหมู่มวลมนุษย์นั้น บุคคลผู้จะข้ามห้วงน้ำเพื่อให้ถึงฝั่งมีจำนวนน้อย ที่เหลือมีแต่พวกที่วิ่งเลาะไปตามฝั่ง ยังแสวงหาครูบาอาจารย์ไปเรื่อยๆ ที่ไหนว่าดีก็แห่กันไปที่นั่น ยิ่งแสวงหายิ่งเกิดความลังเลสงสัยมากขึ้น เป็นเพราะยังหยุดไม่เป็น ยังขาดความเชื่อมั่นอย่างหมดหัวใจ ในพระธรรมคำสอนที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ดีแล้ว 

ส่วนบุคคลผู้ที่มีสัทธินทรีย์ ย่อมข้ามบ่วงแห่งมฤตยู ซึ่งข้ามได้แสนยาก เพื่อจะไปให้ถึงฝั่ง พร้อมทั้งยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม (อปฺปมาเทน สมฺปาเทถะ) ซึ่งมีมาในปัจฉิมโอวาท เป็นความไม่ประมาทที่มีสตินทรีย์และสมาธินทรีย์ คอยประคับประคองจิตของตน ให้ระลึกรู้อยู่ที่ฐานที่ตั้งของสติ เพื่อนึกถึงความตายทุกลมหายใจเข้าออก ด้วยความไม่ประมาท 

การจะเข้าถึงความไม่ประมาทได้นั้น ต้องอาศัยวิริยินทรีย์ หรือสัมมาวายามะในองค์อริยมรรค เพราะบุคคลย่อมล่วงทุกข์ได้ ด้วยความเพียรชอบนี้ 

เมื่อพูดถึงปัญญา พระบาลีกล่าวไว้ว่า ย่อมบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา ก็แสดงให้เห็นว่า จิตของตนจะบริสุทธิ์ผ่องแผ้วได้นั้น ต้องอาศัยปัญญาในการปล่อยวางอารมณ์ ราคะ โทสะ โมหะ ให้หมดไปจากจิตของตน จิตย่อมได้รับความบริสุทธิ์ ซึ่งต่างจากปัญญาทางโลกหรือโลกียปัญญาโดยสิ้นเชิง เพราะปัญญาทางโลกนั้น ต้องอาศัยบุคคลที่มีมันสมองดี ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ฉลาดหลักแหลม กล่อมคนเก่งให้คล้อยตามตนได้ มีปริญญาหลายๆ ใบ ส่วนโลกุตตรปัญญานั้น คือความสามารถของจิตในการปล่อยวางอารมณ์ที่เข้ามากระทบให้ออกไปได้ทันที โดยไม่ต้องเสียเวลา

จากนี้ เรามาต่อกันด้วย “หัวใจพระพุทธศาสนา” จากวันพระที่ผ่านมา (วันที่ ๖ กันยายน ๒๕๖๔)

🌷 สัตว์ที่มีกายเนื้อ (กรัชกาย)

เท่าที่ได้กล่าวมาในเรื่องคติและภูมิของสัตว์ ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด ๓๑ ภูมินั้น มีสัตว์ที่มีกายเนื้ออยู่เพียง ๒ ภูมิเท่านั้น คือ มนุษย์และสัตว์เดรัจฉาน ซึ่งสามารถแลเห็นได้ด้วยตาเนื้อ เพราะสัตว์ในภูมิทั้ง ๒ ดังกล่าวนี้ ต้องอาศัยบิดามารดาเป็นแดนเกิด และผสมธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ เพื่อให้เป็นรูปร่างกายของตนขึ้นมา ซึ่งต้องอาศัยความอบอุ่น และอาหารหล่อเลี้ยง เพื่อรักษาให้มีชีวิตสืบต่อไปอีก ถ้าขาดอาหารหล่อเลี้ยง หรือมีอายุนานพ้นขีดกําลังผสมของบิดามารดาแล้ว กายเนื้อก็ต้องแตกตายลงเป็นธรรมดา

เท่าที่กล่าวมาแล้วข้างต้น กายเนื้อนี้ จิตเป็นผู้สร้างขึ้น เพื่อใช้สําหรับเป็นเครื่องมือ สําหรับรับอารมณ์ ด้วยอํานาจความอยาก และความเพลิดเพลินที่เคยมีในอดีตทั้งสิ้น ถ้าไม่มีกายเนื้อเสียแล้ว ก็ย่อมไม่มีทางที่จะติดต่อรับอารมณ์ได้สําเร็จสมความอยากที่มีเลย ดังนั้น จิตจึงได้อาศัยกายเนื้อสําหรับเสพอารมณ์ที่น่ารักน่าพอใจของตนเท่านั้น เมื่อร่างกายเสื่อมสภาพและต้องตายลงเมื่อใด ก็จําเป็นต้องหาทางสร้างร่างกายใหม่ขึ้นอีก ที่เรียกว่า เวียนว่ายตายเกิดในพระพุทธศาสนานั่นเอง

เมี่อกายเนื้อรับอารมณ์ทางอายตนะทั้ง ๕ ทางใดทางหนึ่ง ด้วยความยินดี ติดอกติดใจ และประทับใจขึ้นมาแล้ว ก็ย่อมบันทึกความทรงจําอารมณ์นั้นๆ เก็บไว้ที่จิต เรียกว่าเป็นกรรมภพ ซึ่งบางครั้ง ในขณะที่ร่างกายนอนหลับพักผ่อนอยู่ จิตก็ยังมีเจตนาที่เสพอารมณ์เก่าๆ ที่ได้ทรงจําและบันทึกไว้นี้ มาปรุงแต่งขึ้นอีก (ฝัน) ก็มี เรียกอารมณ์ชนิดนี้ว่า ธรรมารมณ์ ความรู้สึกที่จิตเข้าใจว่าเป็นผู้รับอารมณ์ และเป็นไปกับอารมณ์ เหมือนกายเนื้อของตนเองกําลังรับอารมณ์เช่นนี้โดยตรง นี้คือ กายทิพย์ ซึ่งไม่อาจแลเห็นได้ด้วยตาเนื้อ แต่มีอยู่จริงโดยธรรมชาติ สิ่งเหล่านี้มักเกิดขึ้นแก่ผู้ที่อยู่ในที่สงัดแต่เพียงผู้เดียว จึงเปิดโอกาสให้จิตนําเอาธรรมารมณ์มานึกคิดปรุงแต่งขึ้นทางใจ (มโนทวาร) ทําให้คิดฟุ้งซ่านขึ้น

🌷 กายทิพย์หรือโอปปาติกะ

สําหรับสัตว์ที่อยู่ในภูมิที่มีกายเนื้อทั้งหมด กายทิพย์จะซ้อนอยู่ในกายเนื้อด้วยกัน โดยปรกติ แต่กายทิพย์เป็นกายที่เกิดจากจิตมีเจตนา (เป็นกรรม) ยึดเอาธรรมารมณ์เข้ามาปรุงแต่ง ในขณะที่สงบเท่านั้น ผู้ที่ปฏิบัติสมาธิดีแล้ว จึงจะเห็นกายทิพย์นี้ได้ว่า เป็นกายที่เบาและละเอียด คล่องแคล่วมาก ในระยะแรกๆ ผู้ที่ปฏิบัติสมาธิก็มักไม่รู้จัก และคิดไม่ถึงว่าได้พบกับกายทิพย์ของตัวเองเข้าแล้ว บางครั้งกายทิพย์ก็ปรากฏออกมานั่งสมาธิหันหลังให้กับผู้ที่ปฏิบัติสมาธิอยู่ก็มี ดังนั้น ในขณะนั้นผู้ที่ปฏิบัติสมาธิจึงมักไม่เห็นหน้าตาของกายทิพย์ว่าเป็นอย่างไร จนกว่าสมาธิสงบถึงขีดสุด

กายทิพย์จะมีหน้าตาสวยสดงดงามเพียงใดนั้น ย่อมแล้วแต่ศีลที่กายเนื้อรักษาให้บริสุทธิ์ผุดผ่องไว้ได้เพียงใด หมายความว่า ถ้ารักษาศีลไว้ดี ไม่ขาด ทะลุ หรือด่างพร้อย กายทิพย์ก็ย่อมผ่องใสงดงาม แต่ถ้ารักษาศีลไว้ไม่ดี  ขาด ทะลุ ด่างพร้อย กายทิพย์ก็ย่อมไม่ผ่องใส ไม่งดงาม ตามศีลที่ขาด จึงไม่ได้ขึ้นอยู่ที่กายเนื้อแต่ประการใดเลย 

ดังนั้น จึงเป็นที่แน่นอนเหลือเกินที่ผู้มีรูปร่างหน้าตาสง่างาม มีเกียรติยศอย่างมากยิ่งในสังคมปัจจุบันนี้ แต่ประพฤติตนทุศีลและสวนทางกับความต้องการในด้านคุณธรรมของศาสนา จนทำความยุ่งยากเดือดร้อนให้แก่สังคมเสมอแล้ว กายทิพย์ย่อมชั่วช้าอัปลักษณ์ ไม่มีความหมายในโลกทิพย์ และไม่ได้รับการต้อนรับให้อยู่กับกายทิพย์ที่สวยงามได้เลย

ในขณะที่กายเนื้อยังไม่สงบนิ่งนั้น จิตก็ยังไม่เป็นสมาธิ กายทิพย์ก็ยังไม่แสดงตัวให้ปรากฏ ต่อเมื่อใดกายเนื้อสงบแล้ว จิตก็เป็นสมาธิ กายทิพย์ก็ปรากฏขึ้นให้เห็นทันทีและอาจแลเห็นทิวทัศน์อันสวยสดงดงาม หรือปราสาทราชวัง ในลักษณะของมโนภาพที่ชัดเจนมาก  สิ่งที่แลเห็นเหล่านี้จะอยู่ในลักษณะที่เบาที่สุด ซึ่งสามารถเข้าถึงได้โดยการนึกน้อมเข้ามาเพ่งดูเท่านั้น ผู้ที่มีจิตสงบเป็นสมาธิจึงอยู่ในสภาพที่คล่องตัว สามารถละกายเนื้อซึ่งมีน้้ำหนัก เข้ามาอยู่ในสภาพกายทิพย์ซึ่งไร้น้้ำหนักได้ และสามารถติดต่อเจรจารู้เรื่องของกายทิพย์ผู้อื่นได้ด้วย 

เพราะกายทิพย์เป็นกายที่เกิดจากกรรม (กรรมนิยม) เช่นเดียวกับกายทิพย์ของเทพเจ้าทั้งหลาย ที่ดํารงชีวิตอยู่ด้วยกรรมเหมือนกัน ดังนั้น จึงเพียงแต่ตั้งจิตให้มีเจตนา เพ่งไปยังจุดที่ต้องการทราบเรื่องราวเท่านั้น ก็สามารถรู้คําตอบทันที โดยจะไม่มีวัตถุแท่งหนาทึบอันใด มากั้นหรือปิดบังกายทิพย์ของผู้ปฏิบัติไว้  มิให้รู้เรื่องที่ต้องการทราบได้เลย หมายความว่าเพ่งทะลุผ่านวัตถุทึบทั้งหลายไปได้ทุกชนิด ไม่ว่าจะหนาทึบเพียงใดก็ตาม ไปยังสิ่งที่ต้องการทราบโดยตรง โดยไม่มีปัญหาอะไรเลย

สิ่งที่สําคัญที่สุดในการติดต่อกับกายทิพย์อื่นๆ นั้น คือ ผู้ปฏิบัติจะกระทําได้ก็ต่อเมื่อจิตมีสมาธิดีแล้วเท่านั้น จึงจะได้รับคําตอบที่ไม่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ซึ่งสามารถรู้ได้ที่ลมหายใจเข้าออก ว่าสงบถึงขีดสุดแล้วเป็นเกณฑ์ ถ้าจิตยังไม่สามารถวางลมหายใจเข้าออกได้เมื่อใด ก็อาจได้รับคําตอบที่ผิดพลาดเมื่อนั้น

สําหรับในระยะแรกๆ ที่จิตเริ่มเป็นสมาธิบ้างนั้น ยังไม่มีพลังที่มากพอ ผู้ปฏิบัติส่วนใหญ่มักจะละฐานที่ใช้กําหนดลมหายใจไว้แต่แรก ออกไปเพลิดเพลินอยู่กับภาพทิวทัศน์ พระราชวัง และอาคารบ้านเรือน อันสวยสดงดงามเสีย สิ่งต่างๆ ที่แลเห็นอยู่นั้น เป็นอารมณ์ในชั้นของกามาวจรภูมิ ๖ ชั้นเท่านั้น ถ้าติดอยู่ในอารมณ์เหล่านี้ ก็ย่อมมีคติเพียงเทพ ๖ ชั้น ไม่อาจก้าวขึ้นไปสู่ธรรมที่ปราณีตกว่านี้ได้อีกเลย แต่ก็มีบางสํานักแนะนําว่าอย่างนี้ถูกต้องดีแล้ว 

วิธีแก้ไขปัญหาให้ผ่านไป ก็คือ ยกจิตกลับมาเพ่งที่จุดลมกระทบเด่นชัดที่สุดเสียใหม่ เพื่อใช้กําหนดลมหายใจตามเดิม ทุกครั้งที่จิตแลบออกไปเห็นสิ่งต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น  จนกว่าจิตเชื่องและไม่แลบออกไปเห็นสิ่งอื่นนอกจากลมหายใจเข้าออกตลอดเวลาเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เมื่อลมหายใจยังหยาบอยู่ก็รู้ ลมหายใจเริ่มละเอียดปราณีตแล้วก็รู้ จนกระทั่ง ลมหายใจละเอียดปราณีตที่สุด และไม่อาจกําหนดลมหายใจอันละเอียดนั้นต่อไป ดังที่เรียกว่าไม่มีลมหายใจนั้น ก็รู้อยู่ตลอดเวลา 

สภาวะที่ลมหายใจละเอียดปราณีตถึงขีดสุดนี้ จิตได้แยกตัวออกจากความผูกพันกับลมหายใจโดยเด็ดขาด และย่างเข้าสู่ความสงบขั้นสูงสุด จึงไม่มีอารมณ์อันใดเป็นนิมิตหมายที่จะเข้ามาปรุงแต่ง ให้แสดงการดีใจเสียใจอีกในขณะนี้

🌷 กายธรรม 

ณ จุดกําหนดลมหายใจเข้าออกนี้ ถ้าได้ยกจิตเพ่งพิจารณาดู จนกระทั่งลมหายใจละเอียดที่สุด ไม่สามารถจับลมหายใจได้อีกต่อไป นี้คือสภาพเดิมแท้ของจิตที่ดํารงสภาพรู้ของตนเองได้ โดยไม่ต้องอาศัยอารมณ์มาปรุงแต่งแต่ประการใดเลย กล่าวคือ หมดความเสียดแทงจากความดีใจเสียใจอันเนื่องจากอารมณ์แล้ว เรียกว่า กายธรรม ซึ่งเป็นกายชั้นในสุดของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย น้อยคนนักที่เห็นและเข้าถึง 

ดังนั้น ถ้าผู้ใดรักษาสภาวะเช่นนี้ไว้ได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะมีอารมณ์อันใดมากระทบก็ตาม ก็ย่อมไม่มีทุกข์อันเนื่องจากความดีใจเสียใจ เพราะสามารถแยกออกไปจากจิตของตนเองได้

ในขณะนี้ จิตอยู่ในสภาพอิสระ ที่จะมีหรือเข้าถึงได้ ก็ด้วยการปฏิบัติสมาธิเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ไม่อาจนึกเอา หรือคาดคะเนเอา หรือซื้อเอาด้วยกําลังทรัพย์ แต่ประการใดทั้งสิ้น สภาวะเช่นนี้ ผู้ปฏิบัติสมาธิสามารถจะรักษาไว้ต่อไปอีก เป็นเวลานานเท่าไรก็ได้ โดยไม่มีอันตรายอะไรเลย

ถ้าหากมีความสงสัยว่า เมื่อไม่มีลมหายใจแล้ว คิดตกใจกลัวตายขึ้นมาในขณะใด จิตก็จะเคลื่อนถอยออกจากสมาธิ พร้อมกับเริ่มมีลมหายใจหยาบขึ้นทันที

เมื่อลมหายใจเริ่มหยาบขึ้นจากสภาวะของกายธรรมแล้ว กายทิพย์ก็จะเริ่มเคลื่อนไหวตามด้วย กายทิพย์นี้จะเคลื่อนไหวไปมาอย่างคล่องแคล่วในชีวิตประจําวันยิ่งกว่ากายเนื้อมาก โดยที่เจ้าของกายเนื้อไม่รู้จักเลย และจะดํารงตนเป็นเหตุเป็นผลแก่กันและกันในชีวิตตามปรกติ เมื่อถึงคราวที่กายเนื้อแตกตายลงเมื่อใด กายทิพย์หรือที่เรียกว่า โอปปาติกะ ก็จะแยกตัวออกเป็นอิสระและเติบโตเต็มที่ทันที

กายทิพย์ หรือ โอปปาติกะนี้ ถ้าหากยังติดใจผูกพันชอบเสพอารมณ์ ซึ่งเกิดจากมหาภูตรูป ๔ อยู่ ก็ย่อมเคลื่อนเข้าสู่ครรภ์มารดา เพื่อสร้างกายเนื้อสําหรับอาศัยต่อไปอีก ถ้ากายทิพย์มีรูปร่างสวยสดงดงามเพราะเคยรักษาศีล ๕ ไว้ได้บริสุทธิ์ครบถ้วน มีสติสัมปชัญญะดี ก็ยอมเคลื่อนเข้าสู่ครรภ์มารดาที่เป็นมนุษย์ แต่ถ้ากายทิพย์มีรูปร่างน่าเกลียดน่ากลัว เพราะเคยเป็นคนทุศีล ด้อยสติสัมปชัญญะ ก็ย่อมไม่สามารถเคลื่อนเข้าสู่ครรภ์มารดาที่เป็นมนุษย์ได้ จึงต้องเคลื่อนเข้าสู่ครรภ์มารดาที่เป็นสัตว์เดรัจฉานทันที เพราะฉะนั้น จึงเห็นได้ว่าไม่มีสิ่งอื่นใดเลย นอกจากศีลและสติสัมปชัญญะที่ได้อบรมไว้ดี เมื่อยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น ที่เป็นเครื่องกั้นแบ่งอย่างแข็งแรง ทําให้กายทิพย์เข้าปฏิสนธิเป็นมนุษย์หรือสัตว์เดรัจฉานได้

🌷 กายเนื้อกับกายทิพย์ย่อมดำรงตนเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน

สัตว์ (ผู้ติดข้องอยู่ในอารมณ์) ในโลกมนุษย์นี้ กายเนื้อย่อมอยู่ใต้การควบคุมสั่งการของกายทิพย์ หมายความว่ากายทิพย์สั่งการสิ่งใดก็ตาม กายเนื้อย่อมทําตามที่กายทิพย์สั่งเสมอ ถ้ากายทิพย์มีพื้นฐานเป็นกุศล ก็ย่อมสั่งกายเนื้อให้ทําสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่สังคม แต่ถ้ากายทิพย์มีพื้นฐานเป็นอกุศล ก็ย่อมสั่งกายเนื้อให้ทําแต่สิ่งที่เกิดทุกข์เกิดโทษแก่สังคม ตามกําลังของกุศลและอกุศลจะบันดาลให้เป็นไปทั้งสิ้น

ส่วนสัตว์ในโลกทิพย์นั้น เป็นผู้เสวยวิบากผลที่กายเนื้อได้กระทําลงไปแล้ว กล่าวคือ ถ้ากายเนื้อกระทําในสิ่งที่ไม่ล่วงละเมิดศีล ๕ ให้ขาด ทะลุ ด่างพร้อย ก็เป็นผลทําให้กายทิพย์มีหน้าตาสวยสดงดงามและผ่องใส แต่ถ้ากายเนื้อกระทําในสิ่งที่ล่วงละเมิดศีล ๕ หรือเป็นคนทุศีล ก็จะเป็นผลให้กายทิพย์มีหน้าตาอัปลักษณ์ชั่วช้า ขุ่นมัว ไม่ผ่องใสด้วย

กายทิพย์ที่มีหน้าตาสวยสดงดงาม ก็สั่งกายเนื้อให้ทําแต่สิ่งที่เป็นกุศล เกิดประโยชน์แก่สังคม และกายทิพย์ที่มีหน้าตาอัปลักษณ์ชั่วช้า ขุ่นมัว  ไม่ผ่องใส ก็สั่งกายเนื้อให้ทําแต่สิ่งที่เป็นอกุศล เป็นพิษเป็นภัยแก่สังคม เป็นเหตุเป็นผล วนเวียนกัน ดังที่กล่าวมานี้ ตลอดเวลาที่ถูกอารมณ์เข้ามาปรุงแต่งให้เป็นไปทั้งสิ้น

เนื่องจากกายเนื้อเป็นสภาพธรรมที่มีอายุไม่ยืนยาวนัก ดังนั้น เมื่อกายเนื้อแตกตายลง สัตว์ทั้งปวงจึงถ่ายเทไปมาระหว่างโลกมนุษย์กับโลกทิพย์เสมอ กายทิพย์ที่มีหน้าตาสวยสดงดงาม ผ่องใส ย่อมไปสู่สุคติ กายทิพย์ที่มีหน้าตาอัปลักษณ์ชั่วช้า ไม่ผ่องใส ย่อมไปสู่ทุคติภูมิ ตามกรรมที่ได้ประกอบไว้เมื่อยังมีชีวิตอยู่ เป็นธรรมดา การไปสู่สุคติภูมิหรือทุคติภูมินั้น แต่ละคน แต่ละตน ต่างก็ไปตามกรรมด้วยตนเอง ไม่มีใครหรือพระเจ้าองค์ใดเป็นผู้ชี้ทางให้ จําต้องไปตามคตินั้น แต่ประการใดเลย

ผู้ที่ปฏิบัติสมาธิจนกระทั่งจิตสงบมากๆ จะเห็นกายทิพย์ของตนเองและของผู้อื่น ว่ามีหน้าตาเช่นไร ถ้าเจริญหลักธรรมเรื่องศีลสมาธิปัญญา จนเกิดพลังจิตที่เข้มแข็ง สามารถควบคุมกายทิพย์ของตนไว้จนอ่อนกําลัง  ไม่อาจทําอะไรตามอํานาจการปรุงแต่งของอารมณ์ต่อไปแล้ว กายทิพย์ก็ย่อมแตกแยก และไม่มีการจุติปฏิสนธิ เข้าเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะสงสาร เหลือแต่กายธรรมเท่านั้น หมายความว่า กายทิพย์ตายหรือสิ้นสุดอายุลงแล้ว กายธรรมคงรวมอยู่กับกายเนื้อ โดยไม่มีกิเลสเป็นเครื่องร้อยรัดเหมือนเมื่อก่อนการปฏิบัติศีลสมาธิปัญญาเลย

จากที่ได้กล่าวมาทั้งหมดนี้ เราจะเห็นได้ว่า ถ้าไม่พูดเรื่องกายเนื้อเสียอย่างเดียวเท่านั้น สัตว์ทั้งหลายที่อยู่ในโลกมนุษย์ก็ตาม โลกทิพย์ก็ตาม คงเหลือแต่กายทิพย์ซึ่งอยู่ร่วมโลกหรือมิติอันเดียวกันทั้งสิ้น พวกที่มีใจบาป หยาบช้า  ทุศีล ก็รวมอยู่กับพวกใจบาป หยาบช้าด้วยกัน พวกที่ใจบุญสุนทาน ศีลบริสุทธิ์ดี ก็อยู่รวมกับพวกใจบุญสุนทานด้วยกัน ไม่ปะปนกันเลย

ทั้งนี้แสดงว่า กายทิพย์จะมีลักษณะหน้าตาดีหรือชั่ว หรือจะมีคติอย่างไร ย่อมแล้วแต่แรงกรรมที่ได้กระทําไปแล้ว หรือเรียกว่า กรรมนิยม และเนื่องจากกายทิพย์ไร้น้ําหนัก ไม่มีอะไรถ่วงตัวเองไว้ จึงสามารถทําสิ่งที่น่าอัศจรรย์ให้เกิดขึ้นได้ ตามกําลังและบารมีที่ได้อบรมมาในอดีตได้ เพียงแต่นึกขึ้นเท่านั้น ก็สําเร็จตามความต้องการทันที

🌷 มิคสัญญี (มีความทรงจําเหมือนสัตว์ป่า) 

กายทิพย์ที่สวยสดงดงามก็ตาม หรือกายทิพย์ที่ไม่สวยสดงดงาม อัปลักษณ์ก็ตาม สามารถส่งผลแสดงออกมาทางสีหน้าของกายเนื้อได้เหมือนกัน ดังจะเห็นได้ว่าผู้ที่เจริญเมตตาไว้มากๆ แล้วนั้น สีหน้าย่อมแช่มชื่นและแสดงความปรารถนาดีต่อผู้อื่นเสมอ แต่ผู้ที่ประกอบกรรมที่ทุจริตไว้แล้วนั้น สีหน้าย่อมเต็มไปด้วยความปริวิตกกังวล ไม่แช่มชื่นตามสมควร ดังนี้เสมอ

ยุคใดปริมาณสัตว์ที่มีกายทิพย์ผ่องใสอยู่เป็นจํานวนมาก สามารถรวมกําลังกันจรรโลงเผยแพร่หลักปฏิบัติธรรมในพระศาสนา ให้เป็นไปอย่างกว้างขวางแพร่หลายแล้ว ยุคนั้นโลกก็เต็มไปด้วยความสงบสันติสุข เราก็กล่าวกันว่าศีลธรรมเจริญดี พระศาสนาก็มั่นคง

ยุคใดที่ปริมาณสัตว์ที่มีกายทิพย์มืดมัว ชั่วช้าอัปลักษณ์ อยู่เป็นจํานวนมาก ประพฤติตนสวนทางกับหลักศีลธรรมในพระศาสนา หรือหักล้างหลักศีลธรรมเสีย  และมองเมินการปฏิบัติศีลสมาธิปัญญา เอาแต่เรียนวิชาศีลธรรมภาคปริยัติ ไว้เพื่อให้ได้ลาภสักการะเท่านั้น ยุคนั้นโลกก็เต็มไปด้วยความยุ่งยากเดือดร้อน และปัญหาสังคมอันยุ่งยาก มีการฆ่าฟันกันมากมาย เราก็กล่าวกันว่า ศีลธรรมเสื่อมทราม พระศาสนาก็ไม่มั่นคง เพราะขาดการปฏิบัติธรรมอย่างเพียงพอ ที่จะช่วยอบรมจิตใจสังคมให้ประพฤติดีแล้ว 

ทั้งนี้หมายความว่า ถ้าสังคมสนใจปฏิบัติธรรมเรื่องศีลสมาธิปัญญา อย่างกว้างขวางทั่วถึงกันมากเพียงใด ก็ย่อมเป็นสัญญาณชี้บอกถึงความมั่นคงของพระศาสนาได้มากเพียงนั้น ถ้าสังคมไม่สนใจปฏิบัติธรรมเรื่องนี้อย่างกว้างขวางมากขึ้น ศีลธรรมที่มีในจิตใจสังคมก็ย่อมลดระดับต่ําลงตามด้วย และถ้ายิ่งลดระดับลงถึงขีดสุดแล้ว ศีลธรรมทั้งหลายในพระศาสนาก็ย่อมหายหมดไปจากจิตใจอย่างสิ้นเชิง ทําให้มนุษย์และสัตว์ป่ามีความเป็นอยู่ไม่แตกต่างจากกัน และมีความจำได้หมายรู้ที่คอยจ้องประหัตประหารซึ่งกันและกันอย่างเดียว ในเมื่อผลประโยชน์ขัดกันเท่านั้น เราก็เรียกว่าเป็นยุคมิคสัญญี (คือยุคที่มนุษย์มีความทรงจําเหมือนสัตว์ป่า) ซึ่งเป็นเวลาที่ไฟกิเลสเริ่มร้อนแรง สามารถเผาทําลายโลกให้พินาศได้แล้ว

มนุษย์ทุกคนในยุคมิคสัญญีนี้ ต่างก็ไม่สนใจเรื่องศีลสมาธิปัญญาในพระพุทธศาสนาอีกแล้ว ต่างไม่คํานึงถึงศีลธรรมกันเลย แต่ต่างก็คิดจะทําสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ตนถนัด เพื่อให้ได้รับประโยชน์ในรูปวัตถุเป็นสําคัญ และคิดทําลายประหัตประหารฝ่ายตรงข้าม ที่เข้ามาขัดขวางผลประโยชน์ของตนเสีย จับสิ่งใดขึ้นมาก็สามารถใช้เป็นอาวุธ สําหรับเข่นฆ่าประหัตประหารกันได้หมด ดังนั้นจึงต้องแบ่งพรรคแบ่งพวกต่อสู้ทําลายล้างกัน จนเผาโลกทั้งโลกให้พินาศไปจนหมดสิ้นในที่สุด ที่เรียกว่า ไฟบรรลัยกัลป์ นั้นทีเดียว

เพราะฉะนั้น ถ้าทุกคน ทุกท่าน ทุกสถาบัน ต่างร่วมมือร่วมใจกัน สนับสนุนผลักดัน ให้มีการปฏิบัติศีลสมาธิปัญญาเป็นประจําอย่างกว้างขวาง โดยไม่ปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรมแล้ว ไฟบรรลัยกัลป์ย่อมเกิดขึ้นเผาล้างโลกไม่ได้เลย 

ทั้งนี้หมายความว่า นอกจากการสร้างความเจริญด้านวัตถุซึ่งได้ดําเนินรุดหน้า ทิ้งความเจริญด้านจิตใจไว้ข้างหลังอย่างไกลลิบลับ ในระยะเวลาที่ผ่านมาแล้วนั้น ทุกคน ทุกท่าน และทุกสถาบัน จะต้องผนึกกําลังกันสร้างความเจริญด้านจิตใจเป็นพิเศษ ให้ก้าวทันความเจริญด้านวัตถุด้วย เพราะเป็นงานที่มีขอบเขตใหญ่เกินกําลังของบุคคลหรือสถาบันเดียวที่จะทําได้

🌷 🌷 🌷 

จากพระบาลีข้างต้นนั้น เราจะเห็นว่าองค์ธรรมอันนำไปสู่ที่หมายตามต้องการได้นั้น เทียบลงได้กับอินทรีย์ ๕ อันมี ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ที่เรียกธรรมเหล่านี้ว่าอินทรีย์ เพราะแต่ละอย่างเป็นใหญ่ในการทำหน้าที่ของตน หน้าที่ในที่นี้ คือ การกวาดล้างอกุศลธรรมที่เป็นฝ่ายตรงข้าม อันได้แก่ ศรัทธากวาดล้างความไร้ศรัทธา วิริยะกวาดล้างความเกียจคร้าน สติกวาดล้างความประมาท สมาธิกวาดล้างความฟุ้งซ่าน ปัญญากวาดล้างความโง่ ความหลง 

พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า "การเจริญให้มาก กระทำให้มากซึ่งอินทรีย์ ๕ ภิกษุจึงกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน" เทียบได้กับอริยมรรคมีองค์ ๘ อันมี สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ จัดลงในหมวดปัญญา สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ จัดลงในหมวดศีล สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ จัดลงในหมวดสมาธิ ส่วนสัทธินทรีย์นั้น จัดให้ลงในหมวดศีล จัดวิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธิอินทรีย์ ลงในหมวดสมาธิ จัดปัญญินทรีย์ ลงในหมวดปัญญา เมื่อเป็นเช่นนี้ องค์ธรรมทั้งสองนั้นเกี่ยวข้องกับกายเนื้อ กายทิพย์ และกายธรรม ได้อย่างไร

เนื่องจากองค์ธรรมทั้งสองนี้สามารถปราบความคิดได้ เพราะความคิดนั้นเองคือกายทิพย์ ส่วนบุคคลผู้ปฏิบัติองค์ธรรมทั้งสองต้องอาศัยกายเนื้อเพื่อให้รู้จักกายทิพย์ เมื่อปฏิบัติธรรมจนรู้จักกายทิพย์เป็นอันดีแล้ว ย่อมรู้จักวิธีจัดการกับกายทิพย์ให้อยู่มือ จนกระทั่งเข้าถึงกายธรรมได้โดยไม่ยาก ก็ด้วยการปฏิบัติธรรมสมาธิกรรมฐานภาวนาเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

เรามาพิจารณาว่า องค์แห่งสมาธิในอริยมรรค มีอะไรบ้าง ดังนี้ ประกอบด้วย 
สัมมาวายามะ ความเพียรชอบ คือ 
เพียรละความคิดอันเป็นอกุศลที่ยังไม่เกิด ไม่ให้เกิดขึ้น  
เพียรละความคิดอันเป็นอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว ให้หมดไป 
เพียรยังความคิดอันเป็นกุศลที่ยังไม่เกิด ให้เกิดมีขึ้น
เพียรยังความคิดอันเป็นกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว ให้เจริญยิ่งๆ ขึ้น 

เมื่อสามารถประคองจิตของตนด้วย สัมมาสติ ณ ฐานที่ตั้งสติ คอยระลึกรู้อยู่ทุกลมหายใจเข้าออก เป็นการยังกุศลธรรมให้เจริญยิ่งๆ ขึ้น บรรดาอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลาย เช่น ราคะ โทสะ โมหะ จะเข้ามาครอบงำจิตของตนไม่ได้เลย เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว จิตของตนก็ย่อมตั้งมั่นชอบ เป็นสัมมาสมาธิ เอวัง.

พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท
เทศนาธรรม ๑๔ กันยายน ๒๕๖๔





Create Date : 15 กันยายน 2564
Last Update : 3 มกราคม 2565 13:38:05 น.
Counter : 501 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



สารบัญ Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์



หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์