อัปปมาทธรรม 🌷 อัปปมาทธรรม วันจันทร์ที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๖๔ เป็นวันพระขึ้น ๑๕ ค่ำ เดิอน ๙ เจริญสุขสวัสดี ทุกวันนี้บุคคลทั่วไปส่วนใหญ่แล้ว มักใช้ชีวิตไปในแบบขัดข้อง สับสน วุ่นวาย ไปกับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด ที่มีทั้งเรื่องน่ายินดี - ยินร้าย สุข - ทุกข์ ปนเปกันไป แต่โดยมากแล้ว มักเป็นไปในทางเป็นทุกข์เสียมากกว่า เพราะเหตุเกิดจากการขาดความยับยั้งชั่งใจของตนเอง เนื่องจากขาดสติ ส่วนการยับยั้งชั่งใจหรือสตินั้น ต้องเพียรสร้างให้เกิดขึ้นเท่านั้น เพียงแค่พยายามนึกหรือคิดทำตามที่มีบุคคลผู้ซึ่งหวังดีมาบอก ให้มีสติหน่อย เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก ฉะนั้นเราจึงมักได้ยินได้ฟังจากรายการธรรมะต่างๆ ที่พยายามอบรมสั่งสอนให้ผู้ฟัง มีสติ มีสัมปชัญญะ ในการดำเนินชีวิตของตน โดยให้หมั่นระลึกถึงการกระทำที่เกิดขึ้นของตนเองในชีวิตประจำวัน เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด พลาดพลั้ง อันเกิดจากขาดความยับยั้งชั่งใจตนเอง ซึ่งการหมั่นระลึกดังที่กล่าวมาแล้วนั้น เป็นเพียงสัญญาอารมณ์ที่ต้องคอยจดจำว่า เราจะต้องระมัดระวัง ระลึกตัวอยู่เสมอๆ เมื่อเรามีความตั้งใจมากพอและเพียรพยายามพอสมควร ที่จะคอยระมัดระวังอย่างเต็มที่ จนจำได้แม่นยำต่อการกระทำหรืออารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของตนเองได้ อันนั้นเรียกว่า ถิรสัญญา คือจำได้อย่างแม่นยำ ก็ยังเป็นธรรมฝ่ายโลกียะอยู่ดี ส่วนการสร้างสติหรือสัมมาสติในทางพระพุทธศาสนานั้น ต้องฝึกฝนอบรมจิตของตน โดยการเพียรระลึกรู้ลงที่กาย เวทนา จิต และธรรม ที่เรียกว่า สติปัฏฐาน ๔ แต่ในการฝึกฝนอบรมจิตช่วงแรกหรือเริ่มต้นใหม่นั้น ควรระลึกรู้ลงที่กาย เพราะทำได้ไม่ยากนัก การอบรมฝึกฝนทำได้ทั้งลืมตาและหลับตา แต่ควรฝึกฝนจากการหลับตาให้ได้เสียก่อน เพราะการหลับตานั่งนิ่งๆ นั้น เป็นการตัดช่องทางการรับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของกายออกไปได้หลายทาง การจะเอาสติมาแนบกายหรือการบังคับสติให้อยู่กับกายเพื่อจะดูจิตนั้น เป็นเรื่องที่ยากอยู่ไม่ใช่น้อย อันนี้เป็นกรรมฐาน คือฐานที่ตั้งแห่งการงานทางจิต หรือนิมิตหมายแห่งจิตนั่นเอง มีพระพุทธพจน์ตรัสไว้ดังนี้ "ดูก่อนอัคคิเวสนะ ก่อนหน้านี้ จิตของเราตั้งอยู่ในสมาธินิมิตอะไร เมื่อเรากล่าวคาถานี้จบ เราก็สามารถตั้งมั่นอยู่ในสมาธินิมิตนั้นได้ทันที" พระองค์ทรงยังได้ตรัสต่อไปอีกว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นบัณฑิต เป็นผู้ฉลาด เป็นผู้เฉียบแหลม เมื่อได้ติดตามดูกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรมทั้งหลาย เป็นผู้มีความเพียรเผากิเลส มีสติ มีสัมปชัญญะ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ จิตของเธอย่อมเป็นสมาธิ เธอย่อมละอุปกิเลสทั้งหลายได้ และย่อมกำหนดนิมิตแห่งจิตได้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่เป็นบัณฑิต ฉลาด เฉียบแหลมนั้น ย่อมได้สมาบัติอันเป็นธรรมเครื่องอยู่ในชีวิตประจำวัน ย่อมมีสติ สัมปชัญญะ ข้อนี้เป็นเพราะเหตุใด ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้เป็นเพราะ ภิกษุนั้นเป็นบัณฑิต ฉลาด เฉียบแหลม กำหนดนิมิตแห่งจิตของตนได้" จากพระพุทธพจน์จะเห็นได้ว่า การกำหนดนิมิตแห่งจิตขึ้นมานั้น มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนา เป็นการเอาสติมาแนบกายหรือบังคับสติมาอยู่กับกาย แต่ก็มีคำถามว่า เอาสติมาแนบหรือวางลงตรงไหนของกายดี ฉะนั้น เมื่อลงมือปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนา ควรทดสอบโดยการ หายใจเข้าไปช้าๆ ลึกๆ และค่อยๆ ผ่อนลมหายใจออกมาแบบช้าๆ ลึกๆ เช่นกัน แล้วลองพิจารณาดูว่า เรารู้สึกถึงลมหายใจที่เข้าไปและออกมา ตรงบริเวณไหนที่รู้สึกถึงลมหายใจได้ชัดเจน เช่น บริเวณจมูก ในช่องจมูก บริเวณริมฝีปากบน ริมฝีปากล่าง หรือบริเวณทรวงอก ให้อุปโลกน์บริเวณนั้นเป็นจุดลมหายใจกระทบเพียงจุดเดียว จากนี้ เราก็มาต่อเรื่องหัวใจพุทธศาสนาจากวันพระที่แล้ว 🌷 อัปปมาทธรรม (ธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความไม่ประมาทมัวเมาในอารมณ์ทั้งปวง) บรรดาคำสั่งสอนทั้งหมดของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ได้ทรงประกาศตั้งแต่ได้ตรัสรู้ จนถึงวันเสด็จดับขันธ์สู่พระปรินิพพาน รวมเป็นเวลา ๔๕ ปีนั้น สามารถสรุปลงเหลือเป็นข้อสำคัญได้ คือ อัปปมาทธรรม ซึ่งหมายถึง ความไม่ประมาทมัวเมาในอารมณ์ทั้งปวง ดังพระปัจฉิมโอวาท ต่อไปนี้คือ "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราขอกล่าวเตือนท่านทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด" ตามพุทธโอวาทที่ยกมานี้ แสดงว่า อัปปมาทธรรม เป็นข้อสรุปรวมของพระธรรมคำสั่งสอนทั้งหมดในพระศาสนานี้ ซึ่งพระพุทธองค์ทรงเน้นตรงไปที่ การฝึกฝนให้มีสติคอยระวังอารมณ์ต่างๆ ที่เข้ามากระทบในชีวิตประจำวันของแต่ละคนโดยเฉพาะ ทั้งนี้เพราะอารมณ์เป็นปัจจัยสำคัญ ที่ชักนำให้คนประพฤติดีก็ได้ ประพฤติชั่วก็ได้ แล้วแต่ว่าจะปรุงแต่งจิตใจให้เกิดความรู้สึกอย่างไร จึงทรงวางหลักธรรมเรื่อง ศีล สมาธิ ปัญญา ไว้ให้ปฏิบัติ ดังเป็นที่ทราบกันอยู่ การปฏิบัติตามหลักธรรมเรื่อง ศีล สมาธิ ปัญญานี้ จะทำให้ศึกษาและรู้จักอารมณ์ตามความเป็นจริงว่า ไม่มีแก่นสารที่สามารถยึดถือและนำครอบครัวได้อย่างถาวรแต่ประการใด จึงต้องฝึกให้มีสติคอยระวัง มิให้เข้ามาปรุงแต่งจิตใจ ทำให้เสียคุณภาพเดิมไปในขณะที่กำลังเข้ามากระทบ ถ้าไม่ระวังไว้ให้ดีแล้ว อารมณ์ก็ย่อมชักนำจิตใจให้ซัดส่ายฟุ้งซ่านไปได้เป็นธรรมดา และทำให้ผู้นั้นประพฤติตนไปตามความพอใจได้ ดังนั้น หลักธรรมเรื่อง ศีล สมาธิ ปัญญา จึงมีความจำเป็นที่สุดสำหรับสังคม ที่ควรจะนำมาปฏิบัติเพื่อความเป็นผู้ไม่ประมาทมัวเมาในอารมณ์ทั้งปวง ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหายุ่งยากทางสังคมให้หมดไปได้อย่างแท้จริง เพราะว่าในขณะที่มีอารมณ์มากระทบจิตแต่ละอารมณ์นั้น ศีล จะควบคุมกายวาจาให้อยู่ในสภาพปรกติ ไม่ประพฤติสิ่งใดให้เป็นที่เดือดร้อนแก่สังคม สมาธิ จะทำให้จิตใจตั้งมั่น และ ปัญญา จะสลัดความยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์นั้นๆ ให้หมดไปโดยลำดับ จนอารมณ์ไม่สามารถปรุงแต่งจิตได้ในที่สุด กลายเป็น กระทบก็สักแต่ว่ากระทบ เท่านั้น การฝึกจิตให้มีพลังถึงขั้นนี้ได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยสมาธิเป็นบาทฐานด้วยตลอดเวลา ไม่ว่าอารมณ์จะกระทบเข้ามาทางหนึ่งทางใดก็ตาม ผู้ปฏิบัติจึงพบความจริงว่า ได้พ้นจากอารมณ์ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดตายตามสภาพของเขาแล้ว ส่วนตัวเองนั้นดำรงสภาพ "รู้" อยู่ตลอดทุกกาลสมัย ไม่ได้ดับตายหายสูญไปไหน ทั้งนี้หมายความว่า สิ่งที่เกิดตายนั้นคือ อารมณ์ ซึ่งเป็นสิ่งภายนอกทั้งหลาย แต่ตัวเองนั้น "รู้" อยู่เสมอว่า ทรงสภาพรู้ของตนเองอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าสิ่งเหล่านั้นจะเกิดขึ้นหรือตายไปกี่ครั้งกี่หนก็ตาม จึงเป็นผู้ไม่ตายอีกต่อไป ดังนั้นจึงได้ชื่อว่า เป็นผู้ไม่ประมาท ส่วนผู้ที่ยังยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์ซึ่งเป็นของที่เกิดตายอยู่นั้น ย่อมได้ชื่อว่า เป็นผู้ประมาท ผู้นั้นย่อมรู้สึกว่าตนเองยังต้องหวั่นไหว และพลอยเกิดตายไปกับอารมณ์ภายนอกด้วย ทั้งๆ ที่ตัวเองไม่ได้เกิด และไม่ได้ตายเลยแต่ประการใดทั้งสิ้น มีพระบาลีในธรรมบทรับรองไว้ ดังนี้ คือ "อปฺปมาโท อมตํ ปทํ, ปมาโท มจฺจุโน ปทํ, อปฺปมตฺตา น มิยฺยนฺติ เย ปมตฺตา ยถา มตา" แปลว่า "ความไม่ประมาทเป็นทางอันไม่ตาย ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย ผู้ไม่ประมาทย่อมไม่ตาย คนที่ประมาทเหมือนคนที่ตายแล้ว" ทั้งนี้หมายความว่า ผู้ที่มีพลังสมาธิน้อย จิตย่อมหวั่นไหวตามอารมณ์ไปด้วย อัปปมาทธรรมก็ย่อมไม่มีที่จิตของผู้นั้น ถ้าปรารภสิ่งใดขึ้นมาเป็นอารมณ์ก็ตาม เช่นนึกถึงรูปร่างกายขึ้นมา เป็นต้น ก็เข้าใจว่าตัวเองเกิดมาพร้อมกับร่างกาย พอร่างกายแก่หรือตาย ก็เข้าใจว่าตัวเองแก่หรือตายตามร่างกายไปด้วย โดยถือเอาร่างกายเป็นหลักเกณฑ์ แต่ผู้ที่มีพลังสมาธิมาก ย่อมรู้ชัดว่าตัวเองคือผู้ทำหน้าที่รู้เรื่องราวต่างๆ เช่น เมื่อปรารภถึงร่างกาย เกิดขึ้นก็รู้ ผมหงอก – ฟันหัก – เนื้อหนังเหี่ยวย่นแล้วก็รู้ เป็นต้น ครั้นเมื่อปรารภถึงลมหายใจขึ้นมา ลมหายใจเกิดขึ้นก็รู้ ลมหายใจดับไปก็รู้ ดังนี้ เป็นต้น มีพุทธพจน์ที่ตรัสกับพระราหุลยืนยันอยู่ชัดเจน ดังนี้ "เอวํ ภาวิตาย ราหุล อานา ปานสฺสติยา, เอวํ พหุลีกตาย, เยปิ เต จริมกา อสฺสาส ปสฺสาส, เตปิ วิทิตา นิรุชฺฌนฺติ โน อวิทิตาติ" แปลว่า "ดูก่อนราหุล เมื่ออานาปานสติที่บุคคลเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้ ลมหายใจออก ลมหายใจเข้าทั้งหลาย เหล่านั้น อันใดอันจะมีในเวลาตาย แม้ลมเหล่านั้นจะดับก็รู้ได้ จะดับโดยไม่รู้ หามิได้เลย" 🌷 ความตาย ความตาย เป็นรูปแบบการเปลี่ยนแปรครั้งสุดท้ายของรูปร่างกาย หลังจากที่ได้ประชุมปรุงแต่งขึ้นมาแล้ว พระพุทธองค์ ทรงหมายความถึง แตกแยกออกจากการประชุมพร้อมของ ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศธาตุ และวิญญาณธาตุ (จิต) แยกตัวออกไปผสมกับกลุ่มธาตุผสมกลุ่มอื่นต่อไป ตามเหตุปัจจัย ขณะสิ้นใจ พูดให้ชัดเจนขึ้นก็คือ วิญญาณธาตุ (จิต) จุติ (เคลื่อน) ออกจากรูปร่างกาย ซึ่งได้ปรวนแปรแตกแยกไป จนไม่สามารถกลับคืนมาสู่สภาพปรกติ, เท่านั้น ไม่ได้ดับตายหายสูญไปไหน โปรดดูคำจำกัดความของคำว่า ความตาย ในสติปัฏฐานสูตร ซึ่งว่าไว้ดังนี้ คือ ความจุติ, ความเคลื่อนไป, ความแตกทำลาย, ความหายไป, มฤตยู, ความตาย, ความทำกาละ, ความแตกแห่งขันธ์, ความทิ้งซากศพไว้, ความขาดไปแห่งชีวิตินทรีย์ ซึ่งเป็นเรื่องที่จิตแยกออกจากรูปร่างกายนี้ทั้งสิ้น เราจะเห็นได้ว่า จิตไม่ใช่สภาพธรรมที่ตาย แต่ได้เข้ามายึดถือและปฏิสนธิรวมอยู่กับร่างกายซึ่งจะต้องตายตามอายุขัย เมื่อร่างกายถึงเวลาแตกตายลง ก็เข้าใจว่าตนพลอยตายไปตามร่างกายด้วย ทั้งๆ ที่ตัวเองไม่ได้ตายเลย สิ่งที่เกิด แก่ เจ็บ ตาย คือ รูปร่างกาย ซึ่งเป็นสังขารธรรมที่ประชุมพร้อมกันขึ้นมาฝ่ายรูปธรรม เรียกว่า มหาภูตรูป ๔ ด้วยเหตุนี้ ความตายจึงมีขึ้นแก่ผู้ที่ยึดเอารูปร่างกายซึ่งเป็นสังขารธรรม เข้ามาเป็นอัตตาตัวตนของตนเองเข้า กล่าวคือ เมื่อรูปร่างกายแก่ ก็ว่าเราแก่ เมื่อรูปร่างกายเจ็บไข้ ก็ว่าเราเจ็บไข้ และเมื่อรูปร่างกายตาย ก็ว่าเราตาย ทั้งๆ ที่ตัวเราจริงๆ ไม่เคยเกิด ไม่เคยแก่ ไม่เคยเจ็บไข้ และไม่เคยตายมาเลย ไม่ว่าตั้งแต่ครั้งไหนๆ ก็ตาม เพราะฉะนั้น ถ้าเรา (จิต) ไม่เข้าไปยึดถือรูปร่างกายอย่างสิ้นเชิงเมื่อใด ก็ย่อมพ้นจากความตายเมื่อนั้น นับเป็นการพ้นทุกข์ในพระพุทธศาสนานี้ ดังพุทธพจน์ที่ได้ตรัสกับโมฆราชมาณพ ต่อไปนี้คือ "สุญฺญโต โลกํ อเวกฺขสฺสุ โมฆราช สทา สโต อตฺตานุทิฏฺฐึ อูหจฺจ เอวํ มจฺจุตฺตโรสิยา เอวํ โลกํ อเวกฺขนฺตํ มจฺจุราชา น ปสฺสติ" แปลว่า "ดูก่อนโมฆราช ท่านจงเป็นคนมีสติพิจารณาโลก (สังขาร) ให้สูญสิ้นจากการยึดถือว่าเป็นอัตตาตัวตนทุกเมื่อเถิด ท่านจะพึงข้ามพ้นจากความตายเสียได้ ด้วยการพิจารณาอย่างนี้ พระยามัจจุราชกจะแลไม่เห็นท่าน ดังนี้" สรุปความแล้ว ถ้าหากว่าไม่ได้อบรมจิตตามหลักธรรมเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา ในพระพุทธศาสนา ก็ยังรู้ผิดและติดข้องอยู่ในอารมณ์ที่น่ารักน่าพอใจ และประพฤติตนในทางที่จะให้ได้รับอารมณ์ที่น่ารักน่าพอใจมาครอบครองเสมอ แต่เนื่องจากจิตไม่มีรูปร่างที่จะติดต่อกับอารมณ์โดยตรงได้ จึงต้องใช้รูปร่างกายสำหรับเป็นเครื่องมือติดต่อกับอารมณ์ด้วยเสมอ ครั้นรูปร่างกายเสื่อมสลายและตายลงในที่สุด จิตก็ยังติดใจในรสชาดของอารมณ์ที่ได้เคยเสพตลอดเวลาที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นเหมือนเดิม จึงเท่ากับได้สร้างคติอันประทับใจไว้แล้วโดยอัตโนมัติ เมื่อร่างกายตายลงเมื่อใด ก็ต้องไปตามทางของตนเอง เพื่อไปเสพอารมณ์ที่พอใจอีกต่อไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และต้องสร้างร่างกายที่เหมาะกับสภาพของอารมณ์ไว้ เป็นเครื่องมือติดต่อกันด้วย 🌷 คติ (ทางที่ไปของสัตว์) คติหรือทางที่ไปของสัตว์ แบ่งออกเป็น ๒ คือ สุคติ (ทางไปสู่ที่ดี) และทุคติ (ทางไปสู่ที่ชั่ว) สัตว์ที่ไปอยู่อบายภูมิ ได้แก่ เปรต นรก อสรุกายและสัตว์เดรัจฉาน จัดเป็นทุคติภูมิ สัตว์ที่ไปสู่มนุษย์ เทพ พรหม จัดเป็นสุคติภูมิ ๑. อบายภูมิ ๔ เป็นคติของสัตว์ที่ล่วงละเมิดศีลของตนโดยจงใจและไม่อาย รวมทั้งผู้ที่ประกอบอนันตริยกรรม ๕ ไว้ด้วย เฉพาะฆราวาส หมายถึง ล่วงละเมิดศีล ๕ ถ้าเจตนาล่วงละเมิดศีลด้วยอำนาจโทสะก็ไปนรก ถ้าละเมิดศีลด้วยอำนาจโลภะก็ไปเปรต อสุรกาย ถ้าละเมิดด้วยอำนาจโมหะก็ไปสัตว์เดรัจฉานซึ่งจัดว่าเป็นทุคติภูมิทั้งสิ้น ๒. มนุสภูมิ ๑ สัตว์ที่ประกอบกรรมตามหลักเบญจศีล - เบญจธรรม ซึ่งได้แก่ เมตตา กรุณา สัมมาชีพ สันโดษเฉพาะภรรยาตน สัจจะวาจา และมีสติสัมปชัญญะดี ย่อมมาสู่มนุษยภูมิ ซึ่งจัดว่าเป็นสุคติภูมิ ๓. เทวภูมิ ๖ คือสัตว์ชั้นเทพที่ท่องเที่ยวไปในอารมณ์อันน่ารักใคร่ ๖ ชั้น ประกอบแต่กุศลและมีหิริโอตัปปะด้วยความสงบตั้งมั่น ดังพระบาลีว่า “หิริโอตฺตปฺป สมฺปนฺนาสุกฺกธมฺม สมาหิตา สนฺโต สปฺปุริสา โลเก เทวฺธมฺมา ตีวุจฺจเร” แปลว่า” เราเรียกสัตบุรุษผู้สงบตั้งมั่น ประกอบแต่กุศลด้วยหิริโอตัปปะว่าเป็นเทวธรรม” จัดเป็นสุคติภูมิ ๖ ชั้น ๔. รูปพรหม ๑๖ คือสัตว์ที่ประกอบรูปาวจรกุศล บำเพ็ญรูปฌาน ๔ มีกสิณ ๑๐ อนุสติ ๑๐ อสุภะ ๑๐ อัปปมัญญา ๔ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ จตุธาตุววัตถาน ๑ จัดเป็นสุคติภูมิที่ปราศจากกาม ๑๖ ชั้น ๕. อรูปพรหม ๔ คือสัตว์ที่ประกอบด้วยอรูปาวจรกุศล บำเพ็ญอรูปฌาน ๔ ซึ่งปราณีตยิ่งกว่ารูปาวจรกุศล ไม่มีรูปและปราศจากกาม ๔ ชั้น จัดเป็นสุคติภูมิชั้นสูงสุดในโลกนี้ 🌷 คนสามัญตายแล้วต้องเกิดอีก ปัญหานี้ คนรุ่นหนุ่มสาวที่สนใจศึกษาธรรมะและผู้ที่อยู่ในวงการศาสนาเป็นจำนวนมาก มักยกขึ้นมาไต่ถามกันเสมอว่า คนตายแล้ว ไปเกิดอีกหรือไม่ ถ้าไปเกิดอีก อะไรไปเกิด และไปเกิดอย่างไร ดังนี้เป็นต้น ผู้ที่ถูกถามปัญหาดังกล่าวนี้ จะรู้สึกว่าที่ๆตนนั่งอยู่นั้น ร้อนเป็นไฟทีเดียว บางคนก็สายหน้า หาทางเลี่ยงหนีจากการสนทนาทันที บางคนก็ทำเมิน เสแสร้งว่าไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญอะไรเลย สู้พูดกันเรื่องปฏิบัติไม่ได้ บางท่านก็กลัวว่าจะเป็นอันตคาหิกทิฏฐิ อยู่นอกศาสนาพุทธ บางท่านก็ยอมรับเสียตรงๆ ว่าอธิบายยาก เลยผลักให้ตายสูญไปเสีย จะได้หมดเรื่องหมดราวก็มี ดังนี้เป็นต้น ปัญหาช้อนี้ กล่าวโดยความจริงแล้ว พระพุทธองค์ได้ทรงสั่งสอนตลอดพุทธกาล และทรงย้ำนักหนาทีเดียวว่า สัตว์ที่ยังไม่หมดกิเลส จะต้องไปเกิดใหม่อีกเสมอ เช่นเดียวกับพระองค์ซึ่งได้ทรงเวียนว่ายตายเกิดมานับครั้งไม่ถ้วนมาแล้วเหมือนกัน ดังนั้น จึงเป็นปัญหาอันสำคัญที่ผู้ศึกษาธรรมะ จะต้องค้นคว้าสอบสวนให้รู้เรื่องราวตามความเป็นจริง โดยไม่เชื่ออะไรง่ายๆ เพราะเท่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ มีคนที่เชื่อว่าตายแล้วสูญอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ เขาก็ขีดวงจำกัดลงไปว่า จะต้องรับกรรมดีกรรมชั่วก็เฉพาะในขณะที่มีชีวิตอยู่เท่านั้น ตายแล้วก็แล้วกันไป เพราะฉะนั้น จึงเกิดข้อคิดตามมาว่า พระอรหันต์ทั้งหลายซึ่งได้ปฏิบัติตามหลักมรรคมีองค์ ๘ มาแล้ว ย่อมมีสภาพพ้นทุกข์ เหมือนกับนักโทษที่ถูกประหารชีวิตเมื่อตายแล้วเท่านั้น ดังนั้นข้อปฏิบัติดังกล่าวนี้ จึงไม่มีความจำเป็นสำหรับสังคม หลักของกรรมที่ได้ทรงแสดงไว้ก็ย่อมล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ความอุบัติขึ้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ย่อมเป็นโมฆะไปเสีย, ทุกประการ ถ้าไม่ใช่ตายแล้วสูญ ดังว่านี้แล้ว ก็ต้องหมายความว่า คนสามัญตายแล้วก็ต้องไปเกิดอีกอย่างไม่มีปัญหา จึงเป็นการสมควรที่จะได้ค้นคว้าให้รู้เรื่องราวข้อนี้ตามความเป็นจริงอย่างยิ่ง ถ้าศึกษาศาสนาพุทธแล้ว พาตนเองให้เข้าไปอยู่ในข่ายของความเห็นว่าตายสูญแล้ว ควรจะได้ทบทวนดูเสียใหม่ดีกว่า มีพุทธพจน์ที่มาในพระธรรมบทว่าไว้ดังนี้คือ "คพฺภเมเก อุปฺปชฺชนฺติ นิรยํ ปาปกมฺมิโน, สคฺคํ สุคติโนยนฺติ, ปรินิพฺพนฺติ อนาสวา" แปลว่า "สัตว์บางพวกย่อมเข้าสู่ครรภ์ สัตว์ที่ทำกรรมชั่วย่อมไปเกิดในนรก สัตว์ที่ทำกรรมดีย่อมไปเกิดในสวรรค์ ท่านผู้สิ้นอาสวะย่อมปรินิพพาน" เพราะฉะนั้น จึงเห็นได้ชัดเจนว่า พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงธรรมข้ามภพข้ามชาติจริงๆ ไม่มีคลุมเครือว่าเป็นเรื่องที่อยู่ในภพเดียวชาติเดียวเลย การที่สัตว์จะไปเกิดใหม่ในภพภูมิใดก็ตาม ย่อมเป็นไปตามอารมณ์ที่ได้ยึดไว้ทุกประการ ทั้งนี้หมายความว่า เมื่อขณะที่มีชีวิตอยู่นั้น ได้ประกอบกรรมไว้อย่างใด ก็จะสั่งสมไว้ที่จิตทุกประการ เมื่อถึงคราวตายลง ผลของกรรมที่ได้ประกอบไว้อย่างนั้น จะส่งให้จิตไปเกิดยังภพภูมิที่ตนพอใจต่อไปอีกตามลำดับ 🌷 🌷 🌷 อัปปมาทธรรม อันเป็นทางนำไปสู่ความเป็นอมตะนั้น ย่อมเกิดจากการที่เราฝึกฝนอบรมปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนา เพื่อเป็นการฝึกสติให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเนืองๆ อยู่ที่ฐานที่ตั้งของสติ ณ จุดลมกระทบ ที่เราได้อุปโลกน์ขึ้นมาโดยไม่ให้ขาดสาย เมื่อลมหายใจเข้า ก็มีสติระลึกรู้ เมื่อลมหายใจออก ก็มีสติระลึกรู้ จิตจะค่อยๆ สงบรวมตัวลง มีสติตั้งมั่นไม่หวั่นไหว เมื่อมีอารมณ์มากระทบ เราเรียกขณะนั้นว่า อัปปมาทธรรม อันที่ตั้งแห่งความไม่ประมาท ดังปัจฉิมโอวาทที่ได้ตรัสไว้ว่า "หันทะทานิ ภิกขะเว อามันตะยามิ โว, วะระธัมมา สังขารา, อัปปะมาเทนะ สัมปาเทถะ, อะยัง ตะถาคะตัสสะ ปัจฉิมา วาจา" แปลว่า "ก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราขอเตือนท่านทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม นี่เป็นพระวาจาที่มีในครั้งสุดท้ายของพระตถาคตเจ้า" จากพระพุทธพจน์ พระองค์ทรงเน้นเรื่องความไม่ประมาท ให้พวกเรายังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด แต่บุคคลทั่วไปส่วนมากยังไม่เข้าใจคำว่า ความไม่ประมาทนั้น มีประมาณไหน บ้างก็เข้าใจไปว่า เพียงแค่ตั้งใจจดจ่อกับสิ่งที่เราทำ พูด คิดอยู่ ด้วยความไม่ประมาทเลินเล่อ ก็น่าจะพอแล้ว บ้างคิดว่าเราพูดทำอะไร ให้รอบคอบถี่ถ้วนสักหน่อย ก็ไม่ประมาทแล้ว แต่โดยความเป็นจริงแล้ว ความไม่ประมาทที่พระพุทธองค์ทรงตรัสกับพระสาวกในครั้งสุดท้ายนั้น พระองค์ได้ทรงเคยถามพระอานนท์ว่า "ดูก่อนอานนท์ เธอระลึกถึงความตายวันละกี่หน" พระอานนท์ทูลตอบว่า "ระลึกถึงความตายวันละ ๗ หน พระเจ้าค่ะ" พระพุทธองค์ตรัสว่าอานนท์เธอยังประมาทอยู่ เธอต้องระลึกถึงความตายให้ได้ทุกลมหายใจเข้าและออก จึงจะได้ชื่อว่ายังความประมาทให้ถึงพร้อม สรุปได้ว่า อัปปมาทธรรมก็คือสติปัฏฐานนั่นเอง เป็นการตั้งสติระลึกรู้อยู่ที่ฐานที่จุดลมกระทบ นึกถึงความตาย อย่างต่อเนื่องเนืองๆ ไม่ขาดสาย ทุกลมหายใจเข้าและออก ให้มีสติกำกับอยู่ เอวัง. พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท เทศนาธรรม วันพระ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๖๔ อนุโมทนาบุญวันพระใหญ่จ้า
โดย: หอมกร วันที่: 24 สิงหาคม 2564 เวลา:7:35:05 น.
|
ในความฝันของใครสักคน
Rss Feed Smember ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?] หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์ Group Blog All Blog
|
||
Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved. |