จิตในพระอภิธรรม


🌷  จิตในพระอภิธรรม

วันจันทร์ที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๖๔ เป็นวันพระขึ้น ๘ ค่ำเดือน ๙ 

เจริญสุขสวัสดี กลับมาพบกันใหม่เพื่อฟังพระธรรมเทศนา แต่ปัจจุบันนี้พระสัทธรรมในพระพุทธศาสนากลับถูกบิดเบือนไปไม่น้อยเลยทีเดียว ทั้งที่มีพระพุทธบัญญัติคอยควบคุมอยู่ แต่ผู้ที่แตกฉานในธรรมวินัยกลับลดน้อยลง  ส่วนมากแล้วมักตีความไปตามมติความคิดเห็นของตนตามชอบใจ โดยความคิดเห็นเหล่านั้นไม่สามารถนำไปตรวจสอบ สอบสวน เทียบเคียงได้เลย เพราะหาที่มาที่ไปเพื่อจะเทียบเคียงไม่ได้ ถึงขนาดว่า เพียงแค่สวดมนต์อย่างเดียวก็เข้าถึงสมถะและวิปัสสนาได้แล้ว ซึ่งไม่มีปรากฏในพระธรรมวินัยเลย เพื่อไม่ให้เป็นการติเรือทั้งโกลน  ขอคำอธิบายว่าการสวดมนต์เป็นทั้งสมถะและวิปัสสนาได้อย่างไร เพื่อหาแนวทางในการเข้าถึงสัมมาสมาธิ หรือสมถะและวิปัสสนานั่นเอง ได้รับคำตอบว่ากรรมฐานมีตั้ง ๔๐ กอง จึงสอบถามไปว่ามีของศาสนาพราหมณ์เข้าไปทั้งหมดกี่กอง แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบ ก็ถือเสียว่าปล่อยให้เป็นปริศนาต่อไป เพราะอย่างน้อยการสวดมนต์ต้องถือว่าเป็นธรรมฝ่ายกุศลอย่างหนึ่ง เป็นเรื่องที่ควรทำเพราะในครั้งพุทธกาลนั้น การสวดมนต์ก็คือการนำธรรมที่ได้รู้มาสาธยาย เพื่อนำไปปฏิบัตินั่นเอง  มาต่อเรื่องหัวใจพระพุทธศาสนาจากวันพระที่แล้วกัน

🌹  จิตในพระอภิธรรม

เท่าที่เรียนกันอยู่ในปัจจุบันนี้ เป็นไปตามคัมภีร์พระอภิธรรมมัตถสังคหะ ซึ่งพระอนุรุทธาจารย์ได้เรียบเรียงไว้เมื่อปี พ.ศ. ๙๕๐ ที่สำนักมูลโสมวิหาร ประเทศลังกานั้นทั้งสิ้น ท่านแบ่งออกเป็น ๙ ปริเฉท และมีคำย่อซึ่งถือกันว่าเป็นหัวใจของคัมภีร์ดังกล่าวนี้ว่า จิ (จิต), เจ (เจตสิก), รุ (รูป), นิ ( นิพพาน) เป็นหลักสำหรับอธิบายขยายความต่อไป

เจตนาของพระอนุรุทธาจารย์ ก็เพื่อรวบรวมสงเคราะห์หัวข้อธรรมะทั้งหลายให้เป็นหมวดหมู่ สำหรับกุลบุตร กุลธิดาในภายหลัง จะได้เรียนเข้าใจได้โดยง่าย ไม่สับสน นับว่าเป็นเจตนาที่ดีและเป็นกุศลอย่างยิ่ง

แต่ได้ถ่ายทอดสืบต่อกันมาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน จึงมีความผิดเพี้ยน เพิ่มเติม เสริมต่อกันบ้างในระหว่างนั้นเป็นธรรมดา ดังนั้น จึงย่อมเกิดเป็นปัญหาขัดแย้งกันขึ้นเมื่อนำมาสนทนากัน จนไม่อาจตกลงกันได้ก็มี

ปัญหาขัดแย้งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ถ้าผู้สนทนาทุกฝ่ายเปิดใจของตนเองให้กว้าง เพื่อพิจารณาข้อเท็จจริง โดยใช้เหตุผลและสอบเทียบกับพระสุตตันตปิฎกแล้ว เรื่องย่อมยุติลงอย่างสิ้นเชิง

ในคัมภีร์พระอภิธรรมนั้น จิต คือ ธรรมชาติชนิดหนึ่ง ซึ่งรู้อารมณ์ จิตเป็นตัวรู้ และสิ่งที่ถูกจิตรู้นั้นเป็นอารมณ์ หมายความว่า จิตรู้สิ่งใด สิ่งนั้น คือ อารมณ์

อีกนัยหนึ่งแสดงไว้ว่า จิต คือ ธรรมชาติชนิดหนึ่งที่ รับ จำ คิด รู้ ซึ่งอารมณ์

ตามคัมภีร์นี้ถือว่า เมื่อมีจิตก็ต้องมีอารมณ์ อยู่คู่กันด้วยเสมอ จะมีจิตโดยไม่มีอารมณ์ไม่ได้ เมื่ออารมณ์เกิดขึ้น จิตจึงจะเกิด และเมื่ออารมณ์ดับลง จิตก็ดับตามไปด้วยเสมอ ดังพระบาลีที่มาในพระอภิธรรมว่า "จิตฺเตตีติ จิตฺตํ อารมฺณํ วิชานาตีติ อตฺโถ แปลว่า ธรรมชาติใดย่อมติด ธรรมชาตินั้นชื่อว่าจิต กล่าวโดยอรรถว่า ธรรมชาติที่รู้อารมณ์คือจิต"

จิตในพระอภิธรรม มีชื่อสำหรับเรียกขานเป็นไวพจน์แทนกันได้ ถึง ๑๐ ชื่อ ดังนี้คือ จิต, มโน, หทัย, มนัส, ปัณฑระ, มนายตนะ, มนินทรีย์, วิญญาณ, วิญญาณขันธ์, มโนวิญญาณธาตุ ความหมายของจิตแต่ละคำเหล่านี้ สามารถใช้แทนกันและมีใช้กันอยู่ในภาษาธรรมะโดยทั่วไป

ดังนั้น จากเงื่อนไขของคำอธิบาย ในคัมภีร์พระอภิธรรมที่ยกมาทั้งหมดนี้ที่ว่า มีจิตจะต้องมีอารมณ์ และจะต้องรับอารมณ์ด้วยเสมอนั้น ย่อมแสดงความหมายชัดเจนอยู่ในตัวแล้วว่า ชื่อจิตที่ใช้เรียกแทนกันทั้ง ๑๐ ชื่อเหล่านี้ เป็นจิตที่ถูกอารมณ์เข้าผสมปรุงแต่ง จนผิดไปจากสภาพเดิมแล้ว ไม่ใช่ธาตุแท้ จึงเป็นจิตสังขาร

เมื่อเป็นจิตสังขาร ก็ย่อมมีการเกิดขึ้นและดับสลายไปเป็นธรรมดา หมายความว่า ไม่สามารถรับรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งไว้อย่างถาวรตลอดกาลได้ เมื่อเรื่องหนึ่งดับไปจากการรับรู้แล้ว ก็ย่อมมีเรื่องอื่นทยอยกันเข้ามาสู่จิตต่อไปอีกตามลำดับ

เพราะฉะนั้น จิตสังขารในคัมภีร์พระอภิธรรม ที่เรียกกันในนามว่า "จิต" นี้ จึงเป็น วิบากจิต (ผลของการรับรู้อารมณ์แต่ละอย่าง) เท่านั้น ไม่ใช่ฐานรองรับบุญและกรรมใดๆ เกิดขึ้นแล้วก็ย่อมดับไปตามอารมณ์เป็นธรรมดา ผู้ปฏิบัติธรรมย่อมรู้อยู่เสมอ ไม่ว่าจิตชนิดใดเกิดขึ้นหรือดับไปก็ตาม

จากตัวอย่างที่ยกมาแสดงนี้ จะเห็นได้ว่า จิตในพระอภิธรรม ซึ่งเกิดขึ้นแล้วดับไป เป็นจิตสังขาร ส่วนจิตของผู้ปฏิบัตินั้น ดำรงสภาพ "รู้" ของตนเองอยู่ตลอดทุกกาลสมัย ไม่ได้ดับตามจิตสังขารไปด้วยแต่ประการใดทั้งสิ้น

🌹  พระบาลีเปรียบเทียบระหว่าง จิตในพระสูตร และ จิตในพระอภิธรรม

๑. จิตในพระสูตร มีว่าไว้ดังนี้ คือ "จิตฺเตน นิยติ โลโก จิตฺเตน ปริกสฺสติ จิตฺตสฺส เอกธมฺมสฺส สพฺเพ ว วสมนฺวคู" แปลว่า "โลกย่อมหมุนไปตามจิต ธรรมทั้งปวงย่อมขึ้นแก่ธรรมอันเดียว คือ จิตเท่านั้น"

ทั้งนี้ย่อมพิจารณาเห็นได้ว่า จิตซึ่งเป็นประธานของธรรมทั้งปวงนั้น ย่อมดับตายหายสูญไปไหนไม่ได้ จึงต้องมีแก่นสารมั่นคงตลอดไป

๒. จิตในพระอภิธรรม มีว่าไว้ดังนี้ คือ "อนิพฺพตฺเตน ชาโต ปจฺจุปนฺเนน ชีวิติ จิตฺตภงฺคา มโตโลโก ปญฺญตฺติ ปรมตฺถิยา" แปลว่า “เมื่อจิตไม่เกิด โลกก็ไม่เกิด โลกอยู่ได้เพราะจิตกำลังเกิดอยู่ เมื่อจิตดับ โลกก็ตาย นี้เป็นบัญญัติโดยปรมัตถ์”

ทั้งนี้แสดงให้เห็นว่า จิตในพระอภิธรรม ไม่มีแก่นสารอะไรเลย เกิดขึ้นแล้วก็ย่อมดับตายหายสูญไปตามกาลเวลาตลอดไป ดังนั้น จึงนับเอาเป็นประธานของธรรมทั้งปวงเหมือนดังจิตในพระสูตรไม่ได้เลย

🌹  ชนิดของจิตในพระอภิธรรม

อกุศลจิต คือ อกุศล + จิต หมายความว่า จิตมีอกุศลปรุงแต่งอยู่ ๑๒ ชนิด

อเหตุกจิต คือ อเหตุก + จิต หมายความว่า จิตไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ, อโลภะ อโทสะ อโมหะเป็นเหตุให้เกิด ๑๘ ชนิด

กามาวจรจิต คือ กามาวจร + จิต หมายความว่า จิตที่ท่องเที่ยวอยู่ในอารมณ์อันน่ารักใคร่ ๒๔ ชนิด ได้แก่ บุคคลชั้นเทพ ๖ ชั้น

รูปาวจรจิต คือ รูปาวจร + จิต หมายความว่า จิตที่ท่องเที่ยวในรูปพรหม ๑๕ ชนิด

อรูปาวจรจิต คือ อรูปาวจร + จิต หมายความว่า จิตที่ท่องเที่ยวอยู่ในอรูปพรหม ๑๒ ชนิด

โลกุตตรจิต หมายความถึง มรรคและผลที่เข้าไปประกอบจิตทำให้อยู่เหนือโลก (อารมณ์) รวม ๘ ชนิด และในแต่ละชนิดเหล่านี้ ต่างก็มีปัญจมฌาน (ฌาน ๕) ประกอบอยู่ด้วย ดังนั้น จึงเป็นจิตโดยละเอียด เท่ากับ ๘x๕ คือ ๔๐ ชนิด

เพราะฉะนั้น ในพระอภิธรรมจึงมีจิตโดยย่อ ๘๙ ชนิด โดยละเอียด ๑๒๑ ชนิด การที่เรียก จิตเป็นชนิด ในที่นี้นั้น เรียกตามชนิดของอารมณ์ที่เข้ามาปรุงแต่ง เพื่อให้เข้าใจง่าย แต่ในพระอภิธรรม เรียกระบุเป็น ๘๙ ดวง และ ๑๒๑ ดวง ทีเดียว

🌹  อุทาหรณ์เปรียบเทียบเพื่อให้เข้าใจเรื่องจิตในพระอภิธรรมดียิ่งขึ้น

เนื่องจากมีปัญหาขัดแย้งระหว่างนักธรรมะ ๒ ฝ่าย ดังนี้คือ นักธรรมะฝ่ายพระสูตรว่า อารมณ์เกิด – ดับ แต่จิตไม่ได้เกิด – ดับ ส่วนนักธรรมะฝ่ายพระอภิธรรมก็ว่า ทั้งจิตและอารมณ์เกิด – ดับพร้อมกันหมด ดังนี้ จึงจำเป็นต้องหาเหตุผลมาแสดงให้เห็นชัด ดังต่อไปนี้ คือ

สมมุติว่า มีหลอดกระแสไฟฟ้าตรงต่ออยู่กับสายไฟฟ้า และเปิดสวิตช์อยู่หลอดหนึ่ง แสงที่หลอดไฟฟ้าส่องออกมา ย่อมใสสว่างจ้าตลอดเวลา อุปมาเหมือนดังจิต

ต่อจากนี้ไป ถ้าเราเอาโป๊ะกระจกสีต่างๆ มาครอบหลอดไฟฟ้าหลอดนี้ อุปมาเหมือนดัง อารมณ์ที่เข้ามาปรุงแต่งจิต แสงไฟฟ้าย่อมมีสีเหมือนกับสีของโป๊ะกระจกครอบหลอดไฟฟ้านั้นทุกประการ

ทั้งนี้หมายความว่า ถ้าเราใช้โป๊ะสีเขียวครอบ แสงไฟฟ้าก็ย่อมกลายเป็นสีเขียว ถ้าเราใช้โป๊ะสีแดงครอบ แสงไฟฟ้าก็ย่อมกลายเป็นสีแดง และถ้าเราใช้โป๊ะสีเหลืองครอบ แสงไฟฟ้าก็ย่อมกลายเป็นสีเหลืองตามไปด้วย แล้วแต่ว่าจะใช้โป๊ะสีใดมาครอบหลอดไฟฟ้าไว้ แสงไฟฟ้าก็ย่อมเปลี่ยนสีตามไปด้วยเสมอ

ตามอุทธาหรณ์ที่ยกขึ้นมาแสดงนี้ เราจะเห็นได้ว่า แสงไฟฟ้า กับ สีของโป๊ะ เป็นคนละอย่าง กล่าวให้ชัดก็คือ แสงไม่ใช่สี และ สีก็ไม่ใช่แสง แต่มาผสมกลมกลืนเป็นอันเดียวกัน

จิตผู้รู้ (พุทโธ) ย่อมแยกอารมณ์ออกจากกันได้เป็นคนละส่วน แต่สามัญชนย่อมยึดติดเป็นอันเดียวกัน และไม่ยอมแยกออกจากกัน จึงพูดบรรยายออกมา เหมือนที่ตนเห็นทุกประการ

ในพระอภิธรรมอธิบายว่า แสงสีเขียว(แสงผสมกับสี) เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แสงสีแดงเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แสงสีเหลืองเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ดังนี้

แต่โดยข้อเท็จจริงนั้น เราจะเห็นได้ชัดเจนว่า สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วดับไปนั้น คือ สีที่ปรุงแต่งแสงอันใสสว่าง ที่มีอยู่ด้วยต่างหาก แต่ตัวแสงสว่างเดิมนั้นมิได้เกิดดับตามไปด้วย

ดังนั้น การพูดตามความเป็นจริงเช่นนี้ ย่อมเป็นสัมมาวาจาในพระพุทธศาสนานี้ การเห็นจิตว่าไม่ดับ และเห็นอารมณ์ว่าดับ เช่นนี้จึงเป็นสัมมาทิฐิ ไม่ใช่สัสสตทิฐิ

ทั้งนี้ย่อมแสดงให้เห็นว่า ธรรมะที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์พระอภิธรรมทั้งหมดนั้น เป็นเรื่องของสังขารธรรมทั้งสิ้น คือเป็นธรรมที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับตายหายสูญไป ธรรมที่เกิดขึ้นใหม่ย่อมเป็นของใหม่ ไม่ใช่ของเก่า แล้วก็ต้องดับตายหายสูญไปอีกตามลำดับ ทั้งนี้ ย่อมสุดแต่เหตุปัจจัยของสิ่งเหล่านั้น และคำว่า เหตุปัจจัย ในที่นี้ ก็คือ อวิชชา นั่นเอง

โดยสภาพธรรมแล้ว ในพระพุทธศาสนาถือว่าตราบใดที่ยังเวียนว่ายอยู่ในสังสารจักรนี้แล้ว อวิชชาจะต้องอยู่กำกับผู้นั้นตลอดไป กล่าวคือยังไม่ดับ ถ้าอวิชชาดับเมื่อใด ก็ย่อมบรรลุถึงพระนิพพานทันที 

แต่ตามข้อเท็จจริงแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างเท่าที่เรียนกัน ในคัมภีร์พระอภิธรรมัตถสังคหะ มีจิต ๘๙ ดวง หรือ ๑๒๑ ดวง เจตสิก ๕๒ และรูป ๒๘ เหล่านี้นั้น ไม่มีอะไรเที่ยงแท้ถาวรเลย นอกจาก นิพพาน ๑ เท่านั้นที่เที่ยงแท้ถาวร

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ผู้เรียนวิชาธรรมะก็ย่อมเกิดความลังเลสงสัยว่า อวิชชาตั้งอยู่กับอะไร เพราะจิตเกิด – ดับ จะพูดว่าอวิชชาตั้งอยู่กับจิตก็ไม่ถนัด เพราะฉะนั้น จึงมีผู้คิดผลักคำว่า “อวิชชา” ให้ไปตั้งอยู่ที่ “สันดาน” ซึ่งบางทีก็เรียกว่า “ขันธสันดาน” ก็มี แต่ก็ยังไม่มีใครรู้ว่า “สันดาน” หรือ “ขันธสันดาน” ที่ว่านี้ สงเคราะห์ลงอยู่ในหมวดใด คือ จิต เจตสิก รูป หรือนิพพาน จนกระทั่งบัดนี้

นี่คือตัวอย่างของความผิดเพี้ยน อันเกิดจากการถ่ายทอดความรู้กันมาเป็นทอดๆ ตลอดเวลา นับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๙๕๐ เป็นต้นมา

🌷 อวิชชา (รู้ผิดจากความเป็นจริง)

คำว่า “อวิชชา” นี้ มีความหมายตรงข้ามกับคำว่า “วิชชา” และจากที่ผ่านมาแล้ว ได้บรรยายว่า วิชชา สามารถแผลงอักษรออกไปเป็น พุทโธ ได้  แปลว่า ผู้รู้ถูก  ผู้ตื่น  ผู้เบิกบาน

ดังนั้น “อวิชชา” จึงต้องแปลว่า รู้ผิดจากความเป็นจริง คือ ไม่รู้จักอารมณ์ตามความเป็นจริง จึงเกิดความยินดีและยึดถืออารมณ์นั้นๆ ไว้เป็นของตน เราเรียกจิตที่ยังติดข้องยึดถืออารมณ์อยู่ ว่าเป็นสัตว์

เพราะฉะนั้น ในพระพุทธศาสนานี้ คำว่า “อวิชชา” จึงเป็นต้นเหตุอันสำคัญที่มีประจำอยู่กับสัตว์ทั้งปวง ซึ่งจัดว่าเป็นมลทินอย่างยิ่ง และทำให้สัตว์ต้องเวียนว่ายอยู่ในสังสารจักรตลอดไป โดยไม่มีทางหลุดพ้นออกไปได้

บรรดากิเลสบาปกรรมสกปรกลามกใหญ่น้อยทั้งหลาย ที่เกิดขึ้นที่จิตใจของสัตว์นั้น เกิดขึ้นเนื่องมาจาก อวิชชา ทั้งนั้น มีพระบาลีในพระธรรมบทกล่าวรับรองไว้ดังนี้ คือ “ตโต มลามลตรํ อวิชฺชา ปรมํ มลํ, เอตํ มลํ ปหนฺตวาน นิมฺมลา โหถ ภิกฺขโว” แปลว่า “บรรดามลทินใหญ่น้อยทั้งหลายย่อมมาจากอวิชชา ซึ่งเป็นมลทินอย่างยิ่ง ภิกษุทั้งหลายจงละมลทินนี้เสีย และเป็นผู้ไม่มีมลทินเถิด”

ในปัจจุบันนี้ นักธรรมะส่วนมากแปลคำ “อวิชชา” อย่างสั้นๆ ว่า “ความไม่รู้” เท่านั้น ทำให้ผู้สนใจศึกษาธรรมะ ตั้งคำถามเพื่อหาความรอบรู้ต่อไปอีกว่า
๑. ใครที่ไม่รู้ ?
๒. ไม่รู้เรื่องอะไร ?
๓. อะไรเป็นสาเหตุให้เกิดอวิชชา ?
๔. เบื้องต้นและเบื้องปลายของอวิชชาอยู่ที่ไหน ?

รวมทั้งสิ้น ๔ ข้อ คำถามดังกล่าว เหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็นคำถามที่ดี และอยู่ในขอบเขตของพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น ถ้าใครไม่ได้ศึกษาให้เข้าใจถี่ถ้วนไว้ก่อน และเผอิญถูกอนุชนสอบถามปัญหาดังกล่าวนี้ขึ้น, เฉพาะหน้าแล้ว ก็จะต้องเบือนหน้าหนีไม่อยากตอบโต้ด้วย

ดังนั้น จึงเป็นที่น่าเสียดาย ที่ไม่ได้ช่วยจรรโลงหลักธรรมในพระพุทธศาสนา ให้อนุชนได้รู้และเข้าใจอย่างถูกต้องตามความเป็นจริง ในเมื่อมีโอกาส

การตอบปัญหาเหล่านี้โดยไม่ให้ผิดพลาด จนเข้าใจอย่างชัดเจนนั้น จะต้องมีหลักเกณฑ์สำหรับอ้างอิง หรือมีพุทธพจน์รับรอง ไม่เอาความคิดเห็นของตนเข้าไปตอบ จึงจะเป็นที่ยอมรับและเป็นที่เชื่อถือของผู้ฟังอย่างแท้จริง

ในมหาสติปัฏฐานสูตร มีคำจำกัดความของคำว่า อวิชชา ไว้ ๔ ประการ ดังนี้ คือ
๑. ทุกฺเข อญฺญาณํ (ไม่รู้จักทุกข์)
๒. ทุกฺขสมุทเย อญฺญาณํ (ไม่รู้จักเหตุให้เกิดทุกข์)
๓. ทุกฺขนิโรเธ อญฺญาณํ (ไม่รู้จักการดับทุกข์)
๔. ทุกฺขนิโรธคามินียาปฏิปทาย อญฺญาณํ (ไม่รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงการดับทุกข์)

รวมทั้งสิ้น ๔ ประการ ซึ่งเป็นเรื่องของจิตที่โง่เขลาเบาปัญญาทั้งสิ้น การไม่รู้อย่างอื่นนอกจาก ๔ ประการนี้แล้ว ไม่ใช่อวิชชาในพระพุทธศาสนา

ดังนั้น เมื่อสรุปความแล้ว ก็ย่อมตอบคำถามของอนุชนที่ได้ตั้งไว้ ๒ ข้อแรกว่า
๑. จิต เป็นผู้ไม่รู้จักอารมณ์ตามความเป็นจริง
๒. เพราะขาดการศึกษาให้รู้จัก อริยสัจ ๔ ด้วยปัญญาอันชอบ

เพราะฉะนั้น การแปลคำ “อวิชชา” ว่า “ความไม่รู้” ดังที่กล่าวมาข้างต้นนี้ จึงไม่ถูกต้อง เพราะสภาพธรรมของจิต คือ “ความรู้” ดังนั้นจึงต้องแปลว่า “รู้ผิดจากความเป็นจริง” คือ ไม่รู้จักอารมณ์ทั้งหลายตามที่เป็นจริง” ก็ได้

เมื่อได้ตอบปัญหาของอนุชน ๒ ข้อแรกเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ต้องมาตอบปัญหาข้อ ๓ และข้อ ๔ ต่อไปอีกตามลำดับคือ อะไรเป็นเหตุให้เกิดอวิชชา? และเบื้องต้น – เบื้องปลายของอวิชชาอยู่ที่ไหน?

มีพุทธพจน์ที่มาในพระสูตรที่ ๖๑ แห่งสังยุตตนิกาย พระสุตตันตปิฎก กล่าวไว้ว่า “ปุริมา ภิกฺขเว โกฏิ น ปญฺญายติ อวิชฺชาย, อวิชฺชา ปุพฺเพ นาโหสิ อถ ปจฺฉา สมฺภวิ” แปลว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เบื้องต้นและที่สุดของอวิชชานั้น ผู้มีปัญญาตามรู้ไม่ได้ อวิชชานี้ไม่ได้เกิดมีมาก่อน เพราะฉะนั้นจึงเกิดมีขึ้นในภายหลัง”

พระพุทธพจน์ข้อนี้ ได้แสดงไว้อย่างชัดเจนในตัวเองแล้วว่า อวิชชาไม่ได้เกิดมีขึ้นก่อนมีจิต แต่ได้เกิดขึ้นที่จิตในภายหลัง เพราะขาดการศึกษาให้รู้จักอารมณ์ตามความเป็นจริง เมื่อไม่ศึกษาให้ถูกต้องแล้ว ก็เกิดทิฐิ เห็นว่าอารมณ์เป็นสิ่งที่เที่ยงแท้ถาวร ซึ่งจัดว่าเป็น มิจฉาทิฐิ ฝ่ายสัสสตทิฐิขึ้น

ส่วนอวิชชาจะเกิดขึ้นมาตั้งแต่ครั้งใด – สิ้นสุดเอาเมื่อใดนั้น ท่านผู้มีปัญญาย่อมตามรู้ไม่ได้ หมายความว่า จิตที่เวียนว่ายอยู่ในสังสารจักรแล้ว ย่อมมีอวิชชากำกับอยู่ตลอดไป จนกว่าจะได้ตรัสรู้

🌹  อวิชชา และ โมหะ (รู้ผิดจากความเป็นจริง และ หลงดำเนินการอย่างผิดๆ)

คำทั้งสองนี้ เป็นชื่อกิเลสมลทินเครื่องเศร้าหมองของจิตใจสัตว์ทั้งหลาย ซึ่งนักธรรมะมักเอามาใช้ให้มีความหมายเหมือนกันอยู่ในปัจจุบัน แต่โดยความถูกต้องแล้ว คำทั้งสองนี้ใช้ต่างขั้นตอนกัน

อวิชชา หมายถึง ความโง่เขลาที่อยู่ที่จิตมาก่อนแล้ว เป็นต้นเหตุผลักดันให้เกิด โมหะ คือ หลงดำเนินการไปอย่างผิดๆ ในเมื่อมีอารมณ์มากระทบเฉพาะหน้า ครั้นอารมณ์ดังกล่าวคล้อยตัวผ่านไปแล้ว โมหะก็ย่อมดับลงชั่วคราว แต่อวิชชาก็ยังคงมีอยู่ตามเดิม หาได้ดับตามไปด้วยไม่

อวิชชา จึงเป็น กิเลสวัฏฏ์
โมหะ อยู่ใน กรรมวัฏฏ์
ซึ่งหมายความว่า อวิชชาเป็นเหตุให้เกิดโมหะ ดังนั้น จึงใช้แทนกันอย่างไม่ถูกต้องในปัจจุบันนี้

โปรดดูพระบาลีที่มีมาใน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานสูตร ซึ่งแสดงไว้ชัดเจนที่สุดว่า ไม่ว่าโมหะเกิดขึ้น หรือดับไปจากจิตในขณะที่สัมพันธ์อยู่กับอารมณ์ก็ตาม อวิชชาก็ยังคงมีอยู่ที่จิต ไม่ได้ดับตามโมหะไปด้วย ดังนี้คือ

“สโมหํ วา จิตฺตํ สโมหํ จิตฺตนฺติ ปชานาติ วีตโมหํ วา จิตฺตํ วีตโมหํ จิตฺตนฺติ ปชานาติ” แปลว่า “เมื่อมีโมหะเกิดขึ้นที่จิต ก็รู้ชัดว่ามีโมหะเกิดขึ้นที่จิต เมื่อโมหะหายไปจากจิต ก็รู้ชัดว่าโมหะหายไปจากจิต ดังนี้”

สรุปความแล้วก็คือ อวิชชาเป็นเหตุผลักดันให้เกิดโมหะ (หลง) แสดงการกระทำอย่างผิดๆ ออกมาตามอำนาจกิเลสที่ปรุงแต่งจิตในขณะนั้น, นอกพุทธบัญญัติ เช่น เศกผ้ายันต์ ดูหมอ สะเดาะเคราะห์ ต่อชะตา ใบ้หวย เป็นต้น ถึงแม้ว่าจะยังไม่ถึงขั้นล่วงละเมิดศีลของตนก็ตาม แต่ก็ละเมิดขนบธรรมเนียมที่ดีด้วยอำนาจของโมหะไปแล้ว

🌷  🌷  🌷  

เมื่อฟังพระธรรมเทศนามาถึงตรงนี้ คำว่า อัตตากับอนัตตา ดังที่เคยได้กล่าวไปแล้วว่าเป็นองค์ธรรมอันสำคัญยิ่ง และเป็นแก่นธรรมที่จะทำให้บุคคลผู้ปฏิบัติเข้าถึงจิตที่บริสุทธิ์หลุดพ้นจากอาสวะกิเลสได้ เพราะอนัตตาธรรมเป็นธรรมของพระอริยเจ้า ที่รู้จักที่พึ่งที่อาศัย เป็นตนที่แท้จริงคือจิต

เมื่อเอามาเปรียบเทียบกับคำว่า อวิชชา ที่บุคคลทั่วไปจำนวนหนึ่งยังเข้าใจความหมายผิดไปจากความเป็นจริงว่าไม่รู้ ทำให้ความเข้าใจพระพุทธศาสนาผิดไปจากความเป็นจริง เช่นเดียวกับคำว่า อนัตตา ที่มีแปลผิดไปว่าไม่มีตัวตน คำว่าไม่มีตัวตนนั้น โดยความหมายที่ถูกต้องแล้วคือ สิ่งที่เรากำลังกล่าวถึงไม่มีอยู่จริง ในเมื่อสิ่งที่เรากำลังกล่าวถึงนั้นไม่มีอยู่จริง เราก็ไม่ต้องเสียเวลาเพียรเพ่งภาวนาเพื่อค้นหาตน ก็เมื่อเพียรพยายามค้นหาสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง ย่อมต้องไม่รู้ไม่เห็นไม่เจอในสิ่งนั้น ฉันใด 

คำว่า อวิชชา เมื่อถูกแปลว่าไม่รู้เสียแล้ว ก็ไม่ต้องเสียเวลาเพียรพยายามใดๆ ทั้งสิ้น เพราะจากเดิมเราเพียงแค่รู้ผิดไปจากความเป็นจริงเท่านั้น กลับกลายไปว่าไม่รู้อะไรเลย ถูกก็ไม่รู้ ผิดก็ไม่รู้ สุขก็ไม่รู้ ทุกข์ก็ไม่รู้ เมื่อไม่รู้อะไรๆ เลย เพียรพยายามศึกษาค้นคว้าค้นหาจิตตัวผู้รู้ไปก็เปล่าประโยชน์ เพราะว่าเราไม่รู้ แต่ถ้าเราเพียงแค่ไม่รู้จักจิต รู้จักจิตผิดไปจากความเป็นจริง คือเราเองแค่รู้ผิดไป ไม่ใช่ไม่รู้ เมื่อนั้นเราก็ยังสามารถเพียรเพ่งภาวนาเพื่อให้รู้ถูก คือ รู้จักจิดตามความเป็นจริงได้ ฉันนั้น เพราะเนื่องจากจิตของตนถูกอวิชชาครอบงำจนทำให้เห็นอริยสัจ ๔ ผิดไปจากความเป็นจริง จึงเกิดโมหะ ความหลงขึ้น เมื่อหลงก็เกิดตัณหา ความทะยานอยาก ออกไปรับรู้อารมณ์ต่างๆ ภายนอกมาเป็นของๆ ตน จนเกิดอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นสิ่งต่างๆ นั้น เอวัง.

พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท
เทศนาธรรม วันพระ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๖๔





Create Date : 16 สิงหาคม 2564
Last Update : 3 มกราคม 2565 13:36:45 น.
Counter : 214 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



สารบัญ Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์



หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์