สัมมาสมาธิ (จิตตั้งมั่นชอบ)


🌷 สัมมาสมาธิ (จิตตั้งมั่นชอบ)

วันพฤหัสบดีที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๖๔ ตรงกับวันพระขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๑๑
เจริญสุขสวัสดี สาธุชนคนพุทธศาสนา เจริญในธรรมทุกๆ ท่าน

เมื่อได้ฟังธรรมนี้แล้ว พึงน้อมนำเอามาพินิจพิจารณาเพื่อเอาไปปฏิบัติให้เกิดขึ้นในตนเองคือจิต ให้จิตของตนได้มีการพัฒนาโดยหมั่นฝึกฝนอบรมจิตตนเองให้รู้จักการสลัดคืน ปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายออกไปจากจิตของตน 

แทบทุกสิ่งในโลก ย่อมมีประโยชน์แก่บุคคลผู้ที่ต้องการใช้และรู้จักสิ่งนั้น แต่จะไม่เกิดประโยชน์อะไรเลยแก่บุคคลผู้ที่ไม่สนใจและไม่รู้จักใช้มัน คุณธรรมที่มีหลากหลายประเภทต่างๆ ที่มีอยู่ในโลกก็เช่นกัน ย่อมขึ้นอยู่กับบุคคลผู้สนใจที่จะปฏิบัติรักษา คุณธรรมนั้นก็จะอำนวยประโยชน์แก่ผู้นั้น 

เช่นเดียวกันกับเรื่องการปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนาของเรา พระพุทธองค์ทรงวางหลักไว้อย่างชัดเจน โดยไม่ต้องตีความใดๆ เลย ให้เสียเวลาไปเปล่า เริ่มด้วยพระพุทธองค์ตรัสรู้อะไร? ก็ทรงตรัสรู้อริยสัจ ๔ ในคืนวันเพ็ญเดือน ๖ นั้น อริยสัจ ๔ มีอะไร? มีทุกข์ สมุทัย (เหตุให้ทุกข์เกิด) นิโรธ (ความดับทุกข์) และมรรค (ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งทุกข์) 

เมื่อมีข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งอริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ มรรคแต่ละองค์นั้น มีหน้าที่เฉพาะของแต่ละองค์ ไม่ก้าวก่ายกัน แต่ต้องประสานกัน จนกระทั่งถึงที่สุดแล้ว มรรคทั้ง ๘ องค์นั้นต้องสมังคีกัน เพื่อเข้าสู่ทางพ้นทุกข์ได้ 

เมื่อมีพุทธสาวกเกิดขึ้นมากมาย พระพุทธองค์ได้ทรงวางหลักเกณฑ์การปฏิบัติธรรมอย่างละเอียดในการปฏิบัติธรรม เพื่อให้เกิดความสะดวกแก่การศึกษาค้นคว้าของพระสาวกและพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย นั่นก็คือสติปัฏฐาน๔ (ฐานที่ตั้งของสติอย่างต่อเนื่องในที่ ๔ สถาน) อันมี กาย เวทนา จิต และธรรม 

การปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ ก็เพื่อชำระจิตของตนให้บริสุทธิ์หมดจดปราศจากกิเลส ซึ่งมีชื่อเรียกได้หลายอย่างตามความเหมาะสมและขนบธรรมเนียมในท้องถิ่นที่ทรงผ่านไปนั้น เช่น ทางสายกลางบ้าง ทางปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์บ้าง อริยมรรคบ้าง มรรคมีองค์ ๘ บ้าง ศีลสมาธิปัญญาบ้าง

ดังนั้น สติปัฏฐาน ๔ จึงเป็นที่สนใจและยอมรับของชาวพุทธ เป็นที่รวบรวมข้อปฏิบัติไว้ด้วยกันอย่างถูกต้องและครบถ้วนที่สุด เพราะฉะนั้นพระสูตรดังกล่าวนี้จึงเป็นหลักธรรมที่สำคัญในพระพุทธศาสนา ที่ควรแก่การศึกษาอย่างยิ่ง ผู้ที่ไม่ได้ศึกษาและลงมือปฏิบัติจริงจังด้วยแล้ว ประโยชน์ของบุคคลเหล่านั้น ย่อมผ่านพ้นไปอย่างน่าเสียดายที่สุด เหมือนดังไม่ได้พบพระพุทธศาสนาทีเดียว 

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงได้มีคณาจารย์มากมาย ที่ได้พยายามแจกแจงอธิบายการปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ ตามมติของตน ที่ตนเองได้ศึกษาเรียนรู้เข้าใจมา โดยที่ไม่เคยนำมาเทียบเคียง ตรวจสอบ สอบสวน ว่าลงกันกับพระธรรมวินัย หรือคำสั่งสอนของพ่อแม่ครูบาอาจารย์ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเลย

อย่างเช่นเมื่อวันก่อน ได้ฟังท่านอาจารย์ท่านหนึ่งแนะนำว่า ต้องปฏิบัติธรรมวิปัสสนาเท่านั้น โดยเฉพาะในสติปัฏฐาน ๔ ให้พิจารณากายในกาย หรือรูปนาม อธิบายว่า รูปก็คือรูป นามก็คือจิต 

ซึ่งในความเป็นจริงที่สามารถติตรองตามได้นั้น นาม อันมี เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ล้วนเกิดจากจิตเข้าไปยึดถืออารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายมาเป็นของของตน จึงเกิดเวทนาขึ้น มีสุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา เกิดสัญญาขึ้นเพื่อจดจำอารมณ์เหล่านั้น เกิดสังขารขึ้นเพื่อปรุงแต่งอารมณ์เหล่านั้น เกิดวิญญาณขึ้นคือจิตแจ้งในอารมณ์เหล่านั้น ฉะนั้น รูปนามเหล่านั้น ก็คือ อาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์ ที่จิตยึดมั่นถือมั่นไว้ เพราะจิตไม่ใช่ทั้งรูปและนามเลย

และยังมีการเพิ่มเติมเสริมแต่งลงไปอีกว่า การพิจารณาหมวดกายในกาย เวทนาในเวทนา เป็นพวกตัณหาจริต ถ้าพิจารณาหมวดจิตในจิต ธรรมในธรรม เป็นพวกทิฏฐิจริต เป็นคำสอนที่เพิ่มเติมเสริมแต่งขึ้นมาใหม่ในภายหลัง เพราะไม่ว่าจริตไหนๆ ก็ต้องเริ่มพิจารณาลงที่กายในกายเป็นภายในทั้งนั้น

ท่านอาจารย์ท่านนั้นยังเน้นอีกว่า ถ้าจะให้เป็นวิปัสสนา ต้องพิจารณาอิริยาบถบรรพะเท่านั้น เป็นการเดินจงกรมจึงจะเกิดปัญญาขึ้นมาได้ ทั้งที่คำว่า วิปัสสนา มาจากคำว่า วิ ที่มาจากคำว่าวิเศษ ปัสสนา แปลว่า การรู้ การเห็น รวมแล้วก็คือ การรู้เห็นอย่างวิเศษ คือ การรู้เห็นอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง เพียงแค่นั้น พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้อริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง จึงกล้าประกาศตนเองว่าบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณ

แต่ทุกวันนี้ กลับนำเอาคำว่าวิปัสสนามาใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยที่ไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริง ส่วนอิริยาบถบรรพะนั้น พระองค์ตรัสว่าให้มีสติคอยกำกับอิริยาบถเดิน ยืน นั่ง นอน ในขณะที่ใช้ชีวิตประจำวัน เป็นงานทางจิตในขั้นที่ ๒

เพราะในหมวดกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน (ใช้สติเข้าไปรู้เห็นกายทั้งหลายอย่างต่อเนื่อง) ในหมวดนี้มีอยู่ด้วยกัน ๑๔ บรรพะ คือ อานาปานสติ ๑ อิริยาบถ ๑  สัมปชัญญะ ๑ ปฏิกูล ๑ ธาตุ ๑  และป่าช้า ๙ รวม ๑๔ บรรพะ ซึ่งทุกบรรพะจะมีคำว่า กายในกาย อยู่ตลอด และคำว่า กายในกาย ก็คือนามกายซึ่งเกิดจากจิตยึดถือความนึกคิดในใจ ที่ซ้อนอยู่ในรูปร่างกายเนื้อ หรือนัยหนึ่งนั้น นามกายก็คือความนึกคิดที่เกิดขึ้นเมื่อมีอารมณ์มากระทบจิต ซึ่งเรียกว่า รูปกับนามนั่นเอง สำหรับในบรรพะที่กล่าวด้วยว่าร่างกายเนื้อ (ปฏิกูล) ป่าช้า ๙  คำว่า กายในกาย ยังหมายถึง ส่วนประกอบย่อยๆ ส่วนใดส่วนหนึ่งที่ตั้งอยู่ในรูปร่างกายเนื้อทั้งหมดด้วย

ลำดับการทำงานทางจิตในหมวดกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน มี 
๑. พิจารณากายในกายเป็นภายในบ้าง
๒. พิจารณากายในกายเป็นภายนอกบ้าง
๓. พิจารณากายในกายทั้งภายในและภายนอกบ้าง

คำว่า พิจารณากายในกายเป็นภายใน หมายถึง พิจารณานามกายที่เกิดจากจิตยึดถือความนึกคิดถึงเรื่องราวทางใจภายใน ซึ่งซ้อนอยู่ในรูปร่างกายเนื้อของผู้ปฏิบัติ ซึ่งจะต้องฝึกทำจิตให้สงบ โดยการปฏิบัติสมาธิให้คล่องแคล่วเป็นพื้นฐานเสียก่อน

คำว่า พิจารณากายในกายเป็นภายนอก หมายถึง พิจารณานามกายที่เกิดจากจิตยึดถือความนึกคิดที่เกิดจากการรับรู้อารมณ์ภายนอก ที่ผ่านเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กายสัมผัส รวม ๕ ทาง เป็นกายละเอียดที่ซ้อนอยู่ในรูปร่างกายเนื้อของผู้ปฏิบัติ จึงต้องทำจิตให้สงบด้วยอำนาจปัญญาที่สั่งสมไว้จากการปฏิบัติสมาธิข้อแรก

และคำว่า พิจารณากายในกายทั้งภายในและภายนอก จึงหมายถึง พิจารณานามกายที่เกิดจากจิตยึดถือทั้งความนึกคิดเรื่องราวทางใจภายใน และความนึกคิดการรับรู้อารมณ์ภายนอกรวม ๕ ทาง เป็นกายละเอียดที่ซ้อนอยู่ในร่างกายเนื้อของผู้ปฏิบัติ ซึ่งจะต้องปฏิบัติพร้อมกันไป และทำให้สงบด้วยกำลังของมรรคมีองค์ ๘ จนสามารถทำได้คล่องแคล่วกลายเป็นอริยมรรคในที่สุด

มาต่อเรื่อง หัวใจพระพุทธศาสนา จากวันพระที่ ๒๙ กันยายน กันเถอะ ซึ่งมีประโยชน์ต่อการปฏิบัติเป็นอย่างมาก

🌷 ความหมายของคําว่า "สัมมาสมาธิ" (จิตตั้งมั่นชอบ)

คําว่า "สมาธิจิต (สม+อธิจิต)" หมายถึง จิตอันสูงยิ่งด้วยคุณธรรมทั้งหลาย มาเกิดพร้อมกัน เช่น ศรัทธา วิริยะ สติ และปัญญา เป็นต้น ดังนั้น จึงเป็นที่แน่นอนว่าผู้ที่มีจิตเป็นสมาธิ จะไม่มีทางหันกลับมาประพฤติชั่ว และทําให้เกิดความเดือดร้อนขึ้นแก่ครอบครัวหรือสังคมได้อีก ตลอดเวลาที่ยังปฏิบัติสมาธิอยู่ อย่างไม่ต้องสงสัย 

คุณธรรมที่เกิดขึ้นอย่างพร้อมเพรียงกันเหล่านี้ จะเป็นพลังให้จิตเดินทวนกระแสโลก คือ ปล่อยวางความยึดถืออารมณ์และอาการของจิตอันเนื่องด้วยอารมณ์ให้หมดไปได้โดยลําดับ จนกระทั่งหมดอย่างสิ้นเชิงในที่สุด เรียกว่า จิตตั้งมั่นชอบ (สัมมาสมาธิ) คือ ตั้งมั่นอยู่ด้วยตนเอง ไม่ต้องอาศัยอารมณ์มาเป็นบาทฐานให้ตั้งมั่นอีกต่อไป

คําว่า ฌาน กับ สมาธิ นี้ เป็นไวพจน์ซึ่งกันและกัน หมายความว่า ต้องใช้จิตเพ่งดู (ฌาน) อารมณ์ในสติปัฏฐาน ๔ ที่ได้เลือกไว้ตลอดไป ก็ย่อมเกิดสมาธิขึ้น และเมื่อเพ่งดูตลอดไปอีก ก็ย่อมได้ศึกษารู้จักอารมณ์นั้นๆ ทําให้เกิดญาณและปัญญา ตามมาตามลําดับ 

เพราะฉะนั้น ฌานจึงเป็นเหตุให้เกิดญาน (รู้ตามความเป็นจริง) แล้วจึงเกิดปัญญาปล่อยวางอารมณ์ต่างๆ เสียได้ เราเรียกจิตที่มีความสามารถปล่อยวางอารมณ์ได้ว่ามีปัญญา และเรียกจิตที่เพ่งดูอารมณ์ที่กําหนดให้ ไม่ซัดส่ายไปสู่อารมณ์อื่นว่ามีสมาธิ ทั้งนี้หมายความว่า เมื่อจิตได้รับการอบรมให้มีสมาธิขึ้นมาเมื่อใด ปัญญาก็จะเกิดมีขึ้นมาด้วยเมื่อนั้น มากหรือน้อยย่อมแล้วแต่กําลังสมาธิที่มี

🌷 อารมณ์ที่ควรเลือกสำหรับการปฏิบัติสมาธิ คือ อานาปานสติ

การใช้สติกําหนดลมหายใจเข้าออก เป็นวิธีที่สะดวกและเหมาะสําหรับคนทุกชั้น เพราะสามารถทําได้เสมอทุกโอกาส ด้วยความตั้งใจจริง อย่างบ่อยๆ เนืองๆ ติดต่อกันไป โดยให้ตั้งสติอยู่ ณ จุดๆ หนึ่งจุดใด ซึ่งอาจจะเป็นริมฝีปากบน ปลายจมูก หรือในช่องจมูกก็ได้ เลือกกําหนดเอาเพียงจุดเดียว ที่สามารถรู้สึกว่าลมหายใจกระทบเด่นชัดที่สุด ทั้งลมหายใจเข้าและลมหายใจออก เมื่อเลือกได้แล้ว ก็ไม่ควรเลื่อนไปอยู่ที่อื่นต่อไป หรือเปลี่ยนใจเป็นอย่างอื่นอีกตลอดชีวิตนี้ เพราะจะทําให้เกิดความชํานาญในการเข้าสมาธิได้อย่างรวดเร็วด้วย

🌷 คำบริกรรมที่ใช้ในขณะปฏิบัติสมาธิ 

ตามหลักสติปัฏฐานสูตรแล้ว ไม่มีตอนไหนเลยที่ให้ใช้คําบริกรรม ดังนั้นจึงไม่มีคําบริกรรมใดๆ ทั้งสิ้น แต่มีใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้นั้น เกจิอาจารย์ในสํานักปฏิบัติทั้งหลาย ได้คิดขึ้นใช้กํากับในการเพ่งดูอารมณ์ที่ได้เลือกไว้ด้วย เพื่อผูกมัดจิตซึ่งมักแลบออกไปจากจุดที่กําหนดไว้เสมอ 

เช่น โบราณาจารย์ใช้คําว่า “อรหัง" สายพระอาจารย์มั่นใช้คําว่า "พุทโธ" สายหลวงพ่อสด วัดปากน้ําภาษีเจริญใช้คําว่า "สัมมาอรหัง" สายพม่าใช้คําว่า “ยุบหนอพองหนอ" หลวงพ่อฤาษีลิงดําใช้คําว่า "นะมะพะทะ" ดังนี้ เป็นต้น 

ซึ่งกล่าวตามความเป็นจริงแล้ว คําบริกรรมทั้งหมด แต่ละคําเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็นอารมณ์ของจิตอีกอย่างหนึ่งทั้งสิ้น ที่พระอาจารย์ได้บัญญัติขึ้น เพื่อใช้ผูกมัดจิตที่ปราดเปรียวนี้ไว้ ไม่ให้แลบออกไปจากฐานที่กําหนด ได้ง่ายขึ้นเท่านั้น

เพราะฉะนั้น ผู้ปฏิบัติจึงต้องรู้จักใช้ให้แยบคาย และกลมกลืนกับสภาวะของจิตตามสมควร อาจจะไม่ใช้เลยก็ได้ เพราะไม่ใช่พุทธบัญญัติ แต่จะใช้บ้าง ไม่ใช้บ้าง ใช้พร้อมๆ กันทีเดียวทั้งหมด หรือคิดเปลี่ยนคําบริกรรมเป็นอย่างนั้นบ้าง อย่างนี้บ้าง ตามถนัด เพื่อทดลองดูนั้น ย่อมไม่เกิดผลดีแต่ประการใดทั้งสิ้น ตรงกันข้าม กลับจะทําให้เกิดผลเสีย คือ เกิดวิจิกิจฉา (ลังเลสงสัย) กั้นจิตไม่ให้เป็นสมาธิขึ้นมาเสียอีกก็ได้ 

ด้วยเหตุนี้ จึงต้องแล้วแต่ผู้ปฏิบัติเอง ที่จะเลือกเชื่อและใช้คําบริกรรมอย่างใดหรือไม่ และเมื่อได้ตัดสินใจเชื่อลงไปเช่นนั้นแล้ว ก็ควรรักษาวิธีการและคําบริกรรมเช่นนั้นไว้ตลอดไป จึงจะกลายเป็นวสีขึ้นมา เมื่อจิตเป็นสมาธิแล้ว ก็ต้องหยุดคําบริกรรมนั้นๆ เสียทันที มิฉะนั้นแล้ว จิตก็จะไม่เป็นสมาธิสูงยิ่งขึ้นไปอีก

ผลเสียของการใช้คําบริกรรม คือ ผู้ที่ใช้อาจใช้ไม่กลมกลืนกับอารมณ์ที่เพ่งดูอยู่ก็ได้ เช่น จิตไปจับอยู่ที่คําบริกรรมเพียงอย่างเดียว แต่ลืมกําหนดอารมณ์สมาธิไปเสียก็มี หรือเวลาที่จิตเป็นสมาธิแล้ว ไม่หยุดใช้คำบริกรรมเพราะลืมไปก็มี ดังนี้เป็นต้น เมื่อเป็นดังนี้แล้ว ก็ย่อมไม่เห็นพระไตรลักษณ์และไม่เกิดพลังปล่อยวางอารมณ์ได้เป็นธรรมดา

🌷 หลักในการเข้าสมาธิ 

เมื่อได้เลือกกําหนดจุดที่ลมหายใจเข้าออก กระทบเด่นชัดที่สุด ตามที่ได้กล่าวมาในข้อก่อนแล้ว ก็รวมความรู้สึกทั้งหมดให้มารู้ชัดเจนอยู่ที่จุดนี้ และทําจิตให้แยบคายที่จะรักษาความรู้สึกอันนี้ ให้รู้ชัดอยู่ ณ จุดนี้ตลอดเวลา มิให้แลบออกไปรู้อยู่ที่เรื่องอื่น หากความรู้สึกนี้แลบออกไปรู้อยู่ที่เรื่องอื่น ก็ให้ใช้ความพยายามดึงกลับมาอยู่ที่ที่กําหนดนี้ให้ได้ ถ้าทําได้เช่นนี้จนกระทั่งจิตเชื่อง ก็ไม่แลบออกไปอีก สมความประสงค์

เวลาระหว่างที่จิตยังไม่เป็นสมาธิกับเมื่อจิตเริ่มสงบเป็นสมาธิแล้วนี้ ผู้ปฏิบัติควรจะใช้ความสังเกตดูและจําวิธีวางจิตของตนว่า ทําอย่างไรจึงจะให้จิตเข้าสู่สภาวะเช่นนี้ หรือที่เรียกว่า จําทางเดินของจิตไว้ให้แม่นยํา เพื่อจะได้ใช้สําหรับเข้าสมาธิครั้งต่อไปได้อย่างรวดเร็วที่สุด โดยไม่ต้องมานั่งเริ่มต้นคลําหาทางเดินกันใหม่อีก การเข้าสมาธิได้เร็วนี้ จะช่วยเกื้อกูลพลังสติให้รู้เท่าทันอารมณ์ที่กระทบทุกครั้ง มิให้มีโอกาสปรุงแต่งจิตได้

ในขณะที่จิตไม่แลบออกไปจากจุดที่กําหนดไว้นี้ ผู้ปฏิบัติจะรู้สึกว่าลมหายใจเข้าออกที่กระทบเริ่มละเอียดแผ่วเบา เพราะจิตเริ่มเป็นสมาธิแล้ว ตรงจุดนี้เป็นจุดสําคัญยิ่งที่ผู้ปฏิบัติจะต้องใช้ความสังเกตดูและศึกษาวิธีวางจิตเป็นพิเศษ เพื่อให้เกิดความชํานาญขึ้น ดังนั้นจึงอย่าเพิ่งให้เข้าสมาธิสงบมากไปยิ่งกว่านี้ ให้ถอนลมหายใจเข้าออกให้ยาวขึ้นอีกสักเล็กน้อย แล้วจึงกลับทําให้ลมหายใจละเอียดแผ่วเบา เหมือนเมื่อตอนแรกอีกให้ได้โดยแยบคาย ให้ทําเช่นนี้ไปมาสัก ๒-๓ ครั้งจนชำนาญ และจำวิธีวางจิตไว้ให้ได้ด้วย ต่อจากนี้ก็พยายามสลัดปล่อยวางเรื่องที่รับรู้ออกไป จนจิตสงบถึงขีดสุด

เมื่อจิตสงบถึงขีดสุดแล้ว ลมหายใจซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ปรุงแต่งให้ร่างกายให้ดํารงอยู่ได้ ก็สงบตามไปด้วย ผู้ปฏิบัติก็ย่อมรู้ว่าลมหายใจดับลงแล้ว จิตได้แยกตัวอยู่ได้เป็นอิสระ และเป็นคนละส่วนกับลมหายใจ โดยไม่มีอันตรายอย่างใด ไม่ว่าจะต้องการอยู่ในสภาวะนี้ต่อไปอีกนานเพียงใดก็ตาม นี่คือขอบเขตของการปฏิบัติสมาธิ

🌷 หลักในการออกจากสมาธิ 

ให้สังเกตดูให้ดีว่า เมื่อลมหายใจยังหยาบอยู่ จิตก็ฟุ้งซ่านซัดส่ายไปมา เมื่อลมหายใจเริ่มละเอียด จิตก็เริ่มสงบ และเมื่อลมหายใจละเอียดที่สุด จิตก็เป็นสมาธิสงบที่สุด ทั้งนี้แสดงว่าจิตเป็นสมาธิมากหรือน้อยเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับความละเอียดของลมหายใจโดยตรง 

ดังนั้น ถ้าต้องการจะออกจากสมาธิ ก็ให้ค่อยทําลมหายใจให้เพิ่มมากขึ้นทีละน้อย ช้าๆ ด้วยความเยือกเย็นที่สุด อย่ารีบทําอย่างรวดเร็ว พอลมหายใจเริ่มหยาบขึ้นบ้างแล้ว ก็ซ้อมถอยกลับคืนเข้าสมาธิให้ได้อีก โดยทํากลับไปกลับมาสัก ๒-๓ ครั้ง ด้วยความสังเกต เพื่อจําทางออกสมาธิ เช่นเดียวกับการทําเมื่อตอนเข้าสมาธิเหมือนกัน ก็จะทําให้เกิดความชํานาญเป็นอันมาก

การปฏิบัติสมาธินี้ เป็นการฝึกปล่อยวางความนึกคิดต่างๆ ให้มารวมอยู่ที่ลมหายใจเข้าออกเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เมื่อปล่อยวางได้สําเร็จ ก็เกิดสภาพเบากายเบาใจ ทําให้เกิดเข้าใจตัวเองผิดว่าสําเร็จมรรคผลไปแล้วก็มี เช่น ในสํานักปฏิบัติธรรมแห่งหนึ่ง ซึ่งมีผู้เข้าไปปฏิบัติธรรมอยู่เป็นจํานวนมาก ทุกคนต่างก็ตั้งใจปฏิบัติอย่างเคร่งครัด โดยไม่มีการพูดจาซึ่งกันและกัน จึงไม่มีเรื่องรบกวนจิตใจ ดังนั้นทุกคนจึงมีสมาธิสงบดีมาก

แม่ชีผู้หนึ่ง ซึ่งได้ปฏิบัติธรรมร่วมอยู่ด้วย ก็เกิดเข้าใจผิดขึ้นว่าตนเองสําเร็จแล้ว เพราะได้เข้าถึงสภาพที่หมดความเสียดแทงทางใจในขณะปฏิบัติ และไม่ทราบว่ายังต้องปฏิบัติต่อไปอีก 

ดังนั้น ในเช้าวันหนึ่ง หลังจากเข้าพบพระอาจารย์แล้ว ก็เล่ากับพระอาจารย์ว่า “ดิฉันปฏิบัติธรรมจนหมดโลภโมห์โทสัน ไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดอีกแล้วเจ้าค่ะ จะต้องทำอย่างไรอีก” พระอาจารย์ก็ตอบว่า “นังตอแหล พูดโกหกทั้งนั้น รีบออกไปจากที่นี้เร็วๆ ไป๊” 

คําตอบเช่นนี้ เป็นอารมณ์ทดสอบความมั่นคงว่องไวของสติได้ดีทีเดียว ใครไม่ได้ผ่านการฝึกให้มีสติว่องไวต่อการรับอารมณ์ทางตา หูจมูก ลิ้น กาย เพิ่มขึ้นจากการปล่อยวางความนึกคิดในการปฏิบัติสมาธิมาแล้ว เช่นแม่ชีผู้นี้เป็นต้น ก็ย่อมโกรธขึ้นมาทันที จึงอย่าเข้าใจผิดว่าสําเร็จเป็นอันขาด แต่ให้เข้าใจว่าจะต้องพากเพียรปฏิบัติต่อไปอีก ทุกลมหายใจเข้าออก

🌷 🌷 🌷 
   
จากข้างต้นที่ได้สาธยายธรรมไปนั้น การปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนาล้วนมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน และที่สำคัญคือ ธรรมของพระพุทธองค์ทรงเชื่อมโยงถึงกันได้อย่างสอดคล้องโดยไม่ติดขัดใดๆ เลย อย่างในอริยมรรคมีองค์ ๘ อันมีสัมมาสมาธิ (จิตตั้งมั่นชอบ) เป็นใหญ่เป็นประธาน พระองค์ทรงเชิดเอาสัมมาสมาธิขึ้นนำ โดยมีมาในมหาจัตตารีสักกสูตรรับรองไว้ และเป็นสมาธิที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ได้ด้วยตนเอง เป็นสมาธิที่ทำให้เกิดญาณปัญญา ในการปล่อยวางอารมณ์ทั้งหลายออกไปจากจิตของตน 

ซึ่งแตกต่างกันกับสมาธิที่พระองค์ได้ศึกษาเล่าเรียนกับอาจารย์ทั้งสอง นั่นเป็นสมาธิที่ยึดเอาอารมณ์รูปฌาน อรูปฌาน ไว้อย่างเหนียวแน่น ติดสุขในฌานนั้นๆ ปล่อยวางไม่เป็น 

ส่วนสัมมาสมาธิล่ะ? เอาอะไรมาเป็นอารมณ์ในการภาวนา สัมมาสมาธินั้น เอาอารมณ์ในสติปัฏฐาน ๔ เป็นองค์ภาวนา คือ อานาปานสติ (ใช้สติเพ่งดูลมหายใจเข้าออก) ซึ่งอยู่ในบรรพะแรก อันเป็นกายสังขารที่ปรุงแต่งร่างกายอยู่ ทำให้ผู้ปฏิบัติธรรมอยู่นั้นเห็นไตรลักษณ์ได้ชัดเจนในขณะภาวนา เพราะเห็นความเปลี่ยนแปลงของลมหายใจที่เข้าออกตลอดเวลา จึงมีองค์ปัญญาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเสมอ 

ถึงได้เน้นไว้ว่าไม่ว่าจะเป็นตัณหาจริตหรือทิฏฐิจริต ล้วนต้องผ่านการพิจารณากายในกายเป็นภายในทั้งสิ้น ดังมีพระบาลีธรรมบทในสมาธิสูตร กล่าวไว้ดังนี้

สมาธึ ภิกฺขเว ภาเวถ สมาหิโต ยถาภูตํ ปชานาติ แปลว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอทั้งหลายจงยังสมาธิให้เกิดขึ้นเถิด ผู้ที่มีจิตตั้งมั่นดีแล้ว ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง (วิปัสสนา)

จากพระพุทธพจน์ที่ยกมานั้น พระองค์ทรงตรัสกับภิกษุทั้งหลาย หมายถึงภิกษุทุกรูปที่ฟังอยู่ โดยไม่มียกเว้นว่าภิกษุที่มีตัณหาจริตปฏิบัติอย่างหนึ่ง ภิกษุที่มีทิฏฐิจริตปฏิบัติอีกอย่างหนึ่ง พระองค์ทรงให้ปฏิบัติจิตของตน ให้มีพลังสมาธิ มีสติตั้งมั่นดีแล้ว จิตของบุคคลนั้น ย่อมมีปัญญารู้เห็นตามความเป็นจริง ไม่ถูกกิเลสและอุปกิเลสทั้งหลายครอบงำจิตได้  

ขอนำคำกล่าวของพ่อแม่ครูบาอาจารย์ ผู้ซึ่งปฏิบัติดีปฏิบัติชอบมาปิดท้าย ดังนี้

หลวงพ่อสนอง กตปุญโญ ท่านได้กล่าวไว้ว่า ถ้าเจออาจารย์วิปัสสนาก็จะเล่นแต่วิปัสสนาเท่านั้น ให้พิจารณานู่นพิจารณานี่ ทั้งที่จิตของบุคคลนั้นยังไม่มีกำลังสมาธิพอเลย การพิจารณาปรุงแต่งกลายเป็นวิปัสสนูหรือวิปัสสนึกไปเลยก็มี 

และตามด้วยคำกล่าวของหลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ ท่านได้กล่าวไว้ว่า สติปัฏฐาน ๔ สติมีเพียงตัวเดียว นอกนั้นท่านจัดไปตามอาการของเวทนา ของจิต ของธรรม แต่ทั้ง ๔ มารวมอยู่ที่จุดเดียว คือเมื่อสติกำหนดรู้กายในกายแล้ว นอกนั้นคือ เวทนา จิต และธรรม ก็รู้ไปด้วยกัน เพราะมีอาการเป็นอย่างเดียวกันนั่นเอง เอวัง.

พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท
เทศนาธรรม ๑๔ ตุลาคม ๒๕๖๔





 



Create Date : 15 ตุลาคม 2564
Last Update : 3 มกราคม 2565 13:39:02 น.
Counter : 545 Pageviews.

0 comment
ศีลในมรรคมีองค์ ๘


🌷 ศีลในมรรคมีองค์ ๘

วันพุธที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๖๔ ตรงกับวันแรม ๘ ค่ำเดือน ๑๐ 
เจริญสุข สวัสดีสาธุชนทั้งหลาย ขอให้เจริญในธรรมทุกๆ ท่าน

การขอให้นั้น เป็นการให้กำลังใจแบบหนึ่ง ส่วนผู้รับจะได้รับหรือไม่นั้น ต้องขึ้นกับว่าผู้รับได้น้อมนำเอาไปเพื่อปฏิบัติธรรมที่ได้ฟังมา ให้ธรรมเหล่านั้นเจริญยิ่งๆ ขึ้นหรือไม่ การขอหรือการอธิษฐานนั้นเป็นเพียงเพื่อให้เกิดกำลังใจกับตนเอง 

พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสไว้ว่า ถ้าการขอหรือการอธิษฐานแล้ว สำเร็จประโยชน์ตามที่ขอหรืออธิษฐานแล้วไซร้ โลกนี้คงไม่มีคนจน คนทุกข์ยากเข็ญใจ หรือบุคคลผู้ต่ำช้าเลวทราม

เพราะเมื่อหลายวันก่อนนั้น อาตมภาพได้ยินโยมท่านหนึ่ง ถามพระอาจารย์ที่กำลังเทศน์อยู่ว่า ทำไมในสมัยพุทธกาลนั้น คนจึงบรรลุธรรมได้ง่าย เพียงแค่ฟังธรรมก็บรรลุได้แล้ว พระอาจารย์ท่านนั้นก็ได้พยายามตอบแบบให้กำลังใจว่า ต้องเป็นบุคคลผู้ที่เคยได้ทำบุญที่ยิ่งใหญ่มากในกาลก่อนมาแล้วเท่านั้น และได้อธิษฐานตั้งจิตขอไว้เพื่อบรรลุธรรม เพียงเพื่อให้โยมท่านนั้นเกิดกำลังใจว่า ถ้าตนเองได้ทำบุญกุศลไว้มากๆ จนกระทั่งสั่งสมเป็นบารมีมากพอแล้ว มีอันหวังว่าจะได้บรรลุธรรมโดยง่ายๆ กับเขาบ้างเช่นกัน

แต่เมื่อนำหัวข้อธรรมเหล่านี้มาพินิจพิจารณาให้ดีๆ แล้วนำมาเทียบเคียงกับพระพุทธพจน์พร้อมทั้งบริบทที่แวดล้อมอยู่ในครั้งกระนั้น จะเห็นว่าพระพุทธศาสนานั้นสามารถตริตรองให้รู้เห็นตามความเป็นจริงและต้องอยู่ในหลักเหตุผลเท่านั้น คงจำกันได้ว่าตอนที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ใหม่ๆ นั้น ทรงปรารภว่า ธรรมที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้นั้น เป็นธรรมอันลึกซึ้ง เห็นได้ยาก เข้าถึงได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ปราณีต ไม่เป็นวิสัยแห่งตรรกะ (นึกคิดเอา) ละเอียด บัณฑิต (ผู้มีกิเลสเบาบาง) เท่านั้น จึงจะรู้ได้

ทำให้ทรงเกิดท้อพระทัยขึ้น ต่อเมื่อระลึกถึงอาจารย์ทั้งสอง คือ ท่านอาฬารดาบสและท่านอุทกดาบส พระองค์ทรงตรัสว่าท่านอาจารย์ทั้งสองนั้น เป็นบัณฑิต (ผู้มีกิเลสเบาบาง) ฉลาด เฉียบแหลม มีปัญญา มีธุลีในจักษุน้อยมานาน (มีกิเลสน้อยมานาน) เธอจักรู้ธรรมนี้ได้โดยฉับพลัน เมื่อเธอได้ฟังธรรมนี้ (ธรรมของพระพุทธองค์ที่ได้ทรงตรัสรู้)

ในครั้งพุทธกาลนั้น เป็นพวกจิตนิยม มีคณาจารย์ทั้งหลายผุดขึ้นมาอย่างมากมาย ทั้งพวกที่อบรมกาย พวกที่อบรมจิต ที่ได้รูปฌาน อรูปฌาน เป็นจำนวนมาก ซึ่งในขณะนั้นพระพุทธศาสนาเป็นเพียงส่วนเดียวเท่านั้น มีสาวกน้อยกว่าสาวกของพวกเจ้าลัทธิบางพวกเสียด้วย และที่บรรลุธรรมในพระพุทธศาสนานั้น มีพระพุทธพจน์ในพระสูตรกล่าวไว้ดังนี้ ก็สาวกของพระโคดมผู้เจริญ เมื่อพระโคดมกล่าวสอน พร่ำสอนอยู่อย่างนี้ ทุกๆ รูปได้บรรลุนิพพาน อันเป็นผลสำเร็จถึงที่สุดอย่างยิ่งหรือ หรือว่าไม่ได้บรรลุ พราหมณ์ผู้หนึ่งทูลถามพระผู้มีพระภาค พราหมณ์ สาวกของเรา แม้เรากล่าวสอน พร่ำสอนอยู่อย่างนี้  น้อยพวกที่ได้บรรลุนิพพาน อันเป็นผลสำเร็จถึงที่สุดอย่างยิ่ง บางพวกไม่ได้บรรลุ จากพระสูตรสรุปได้ว่า พวกที่บรรลุธรรมนั้นน้อยกว่าพวกที่ไม่ได้บรรลุธรรม 

ส่วนเรื่องแค่ฟังธรรมก็บรรลุได้นั้น คงจะต้องมีพื้นฐานการปฏิบัติธรรมจนได้รูปฌาน อรูปฌาน มาจนชำนาญแล้วเท่านั้น ซึ่งในยุคนั้นสมาธินอกพระพุทธศาสนามีมาก่อนที่พระพุทธองค์จะทรงอุบัติขึ้นเสียอีก เป็นที่สนใจอย่างมากของบุคคลทั่วไปในครั้งกระนั้นเสียด้วย เนื่องจากคณาจารย์แต่ละคนล้วนรับรองตนเองว่าได้บรรลุธรรมชั้นสูงแล้ว โดยเฉพาะท่านอุทกดาบส ที่มีบุคคลศรัทธาเป็นจำนวนมากนั้น ถึงกับประกาศตนว่า เป็นผู้จบเวช เป็นผู้ชนะทุกอย่าง ขุดรากเหง้าแห่งทุกข์ได้อย่างสิ้นเชิง แต่ความจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น เป็นความเข้าใจผิดของคณาจารย์ทั้งหลายเหล่านั้นเอง 

ก็เป็นความรู้ความเข้าใจพอสังเขปเรื่องการบรรลุธรรม เรามาต่อเรื่องหัวใจพระพุทธศาสนาจากวันพระที่แล้วกันเถอะ (๒๑ กันยายน ๒๕๖๔)

🌷 ความแตกต่างของทานกับการแสวงหาอามิส

ทาน (การให้สิ่งที่ควรให้) เป็นการให้ที่เกิดขึ้นจากเจตนาของผู้ให้เอง  ที่ปรารถนาจะช่วยเหลือเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่ผู้รับที่ยากไร้ขัดสน หรือให้แก่พระสงฆ์เพื่อจะได้มีกําลังปฏิบัติธรรมเพื่อให้บรรลุมรรคผล เป็นก้าวแรกของการประกาศตนว่าจะนับถือพระพุทธศาสนา ส่วนการชักชวน โฆษณาเพื่อให้ผู้อื่นบริจาคทรัพย์นั้น เป็นการแสวงหาอามิสทั้งสิ้น ซึ่งได้แก่ งานประจําปี ฝังลูกนิมิต ฉลองพัดยศ แจกซองกฐิน ผ้าป่า เป็นต้น

🌷 ศีล กับ ศีลในมรรคมีองค์ ๘ 

ศีล หมายถึง ข้อบัญญัติที่มีเพื่อห้ามปฏิบัติในสิ่งที่ทําให้เกิดความยุ่งยากเดือดร้อนขึ้นในสังคม เป็นการสํารวมกายวาจาให้เรียบร้อย ซึ่งเป็นการกําจัดกิเลสอย่างหยาบทางกายกับวาจา คือให้ประพฤติตนแบบกัลยาณชน และไม่ทําความเดือดร้อนขึ้นในสังคมเป็นพื้นฐานเบื้องต้นเสียก่อน ดังนั้นศีลจึงมีความสําคัญสําหรับการปฏิบัติธรรมขั้นสูงขึ้นต่อไป ถ้าไม่มีศีลเสียอย่างเดียวเท่านั้น คุณธรรมความดีอย่างอื่นจะมีต่อไปอีกไม่ได้เลย ดังนั้น ศีลจึงเป็นเสมือนรั้วที่ป้องกันมิให้ผู้ปฏิบัติตาม ตกไปสู่ที่ชั่วได้ และถ้าทุกคนต่างก็รักษาศีลอย่างเคร่งครัดแล้ว สังคมก็ย่อมไม่ยุ่งยากเดือดร้อนอย่างแน่นอน

ศีลที่พระพุทธองค์ได้บัญญัติไว้มีดังนี้ คือ ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ตามลําดับที่เพิ่มขึ้นจากศีล ๕ แต่ศีล ๕ เป็นพื้นฐานสําคัญ เปรียบเหมือนรากแก้วในพระพุทธศาสนา ซึ่งพุทธบริษัทจะต้องยอมรับไว้ปฏิบัติเสียก่อน ส่วนศีล ๘  ศีล ๑๐  ศีล ๒๒๗ นั้น เป็นศีลที่บัญญัติเพิ่มขึ้นจากศีล ๕ เพื่อช่วยฝึกหัดอบรมมารยาทให้ละเอียดปราณีตยิ่งขึ้น พร้อมกับช่วยลดความกังวลห่วงใยต่างๆ ให้น้อยลงตามลําดับ

เป็นที่น่าสังเกตว่า ศีลนี้ ถ้ายิ่งมีมากข้อขึ้น ก็จะยิ่งทําให้จรรยามารยาทตลอดจนความประพฤติให้ละเอียดยิ่งขึ้น เมื่อจรรยามารยาทและความประพฤติละเอียดขึ้น ความคิดกังวลเรื่องกามารมณ์ก็ย่อมน้อยลง และเมื่อความคิดกังวลเรื่องกามารมณ์น้อยลง การปฏิบัติธรรมเรื่องศีลสมาธิปัญญาเพื่อให้บรรลุธรรมเบื้องสูงขึ้นไปก็ย่อมสะดวกยิ่งขึ้น แต่ถ้าศีลมีน้อยข้อลง ความระวังสํารวมก็ย่อมมีน้อย จึงถึงจุดหมายได้ช้ากว่า แต่จะอย่างไรก็ตาม การรักษาศีลมากข้อหรือน้อยข้อ ก็ย่อมถึงที่หมายเหมือนกัน ต่างกันแต่ว่าช้าหรือเร็วกว่ากันเท่านั้น ถ้าต่างคนต่างปฏิบัติโดยไม่หยุดยั้ง ดังนั้น จึงต้องดูให้สมกับฐานะ  โอกาส และความสามารถของตนเป็นหลักใหญ่ เพียงแต่รักษาศีล ๕ ให้บริสุทธิ์จริงๆ ก็มีอานิสงส์เหลือหลายแล้ว

🌷 หลักในการรักษาศีล 

เท่าที่เป็นอยู่นั้น  เรามักเข้าใจกันว่า ถ้าจะรักษาศีลแล้วจะต้องไปหาพระสงฆ์ เพื่อขอให้พระสงฆ์ให้ศีลเเก่เรา แล้วก็นอนค้างคืนที่วัดในวันพระ เพื่อรักษาศีล เป็นเวลาวันหนึ่งกับคืนหนึ่ง เป็นประเพณีเสมอ บางทีก็เข้าใจว่าถ้าพระสงฆ์ไม่ให้ศีล เราก็ไม่มีศีล ก็มี ความจริงแล้ว เราไปวัดเพียงเพื่อรับปากสมาทานว่า จะตั้งใจรักษาศีลอย่างเคร่งครัด ตลอดเวลาวันหนึ่งกับคืนหนึ่งเท่านั้น เราไม่ได้มีศีลขึ้นมา เพราะพระสงฆ์เป็นผู้ให้แก่เรา แต่มีศีลขึ้นมา เพราะตนเองรักษาไว้ได้บริสุทธิ์ตามที่รับปากไว้กับพระสงฆ์ต่างหาก ถ้ารับปากกับพระสงฆ์ไว้แล้ว แต่รักษาศีลนั้นๆ ขาดทะลุ ด่างพร้อยแล้ว ก็ย่อมชื่อว่าศีลขาดหรือไม่มีศีลอยู่นั่นเอง ถ้าศีลทุกข้อหมดไปจากผู้ใด คุณธรรมก็ย่อมไม่แตกต่างจากสัตว์เดรัจฉานเลย

สําหรับการไปรักษาศีลที่วัดชั่วระยะเวลาวันหนึ่งกับคืนหนึ่งนั้น เป็นสิ่งที่ดีมาก ที่ น้อยคนนักจะทําได้ แต่ส่วนใหญ่ก็มักจะไปตามๆ กัน โดยไม่ได้รับคําแนะนําอธิบายหรือศึกษาวิธีปฏิบัติตนให้ถูกต้องและเคร่งครัด เพื่อให้จิตใจสงบระงับตลอดเวลาที่อยู่ที่วัดด้วย เพราะศีลควบคุมเข้าไปไม่ถึงจิตใจ กล่าวคือจิตใจยังซัดส่ายฟุ้งซ่านอยู่

ผู้ที่รักษาศีลบางคนก็ตั้งอกตั้งใจรักษาจิตใจดี บางคนก็เอาเรื่องราวภายในครอบ ครัวของตนเองหรือผู้อื่นมาสนทนาปรับทุกข์กัน โดยไม่ได้ระมัดระวังจิตใจว่า ตนถูกเรื่องที่นํามาสนทนา ปรุงแต่งจนเสียความสงบระงับ จนฟุ้งซ่านหวั่นไหวไปหมดแล้ว ก็มี ความฟุ้งซ่านหวั่นไหวที่เกิดขึ้นนี้ ย่อมส่งผลให้ขาดความสํารวมตน และความสงบระงับที่ควรจะมีในขณะรักษาศีล ซึ่งอาจปรุงแต่งจิตให้คิดละเมิดศีลขึ้นมาโดยไม่รู้ตัวก็ได้ ดังนั้น จึงควรเว้นการสนทนาเรื่องใดๆ ทางบ้านเสียโดยเด็ดขาด เพื่อให้ศีลหมดจดบริสุทธิ์มากที่สุด

ด้วยเหตุนี้ จึงควรศึกษาเพื่อเปลี่ยนให้เป็นการรักษาศีลในมรรค ๘ ซึ่งเป็นศีลที่มีอานิสงส์สูงกว่าศีลอุโบสถมากมายนัก ทุกคนสามารถทําได้ไม่ว่าทั้งที่วัดหรือที่บ้านก็ตาม

🌷 การรักษาศีลในมรรคมีองค์ ๘ 

การรักษาศีลอุโบสถเพียงชั่วระยะเวลาวันหนึ่งกับคืนหนึ่งไว้ได้นั้น นับว่าดีไม่ใช่ น้อยทีเดียว แต่ถ้าวันต่อไป มิได้รักษาศีลนั้นๆ อย่างเคร่งครัดแล้ว ก็เปิดโอกาสให้ศีลขาดทะลุ ด่างพร้อยได้ และอาจเปิดประตูอบายภูมิให้แก่ตนเองได้อยู่ จึงควรเปลี่ยนเป็นการรักษาศีลด้วยสติอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะรักษาศีลกี่ข้อ  เป็นพระสงฆ์หรือฆราวาสก็ตาม ย่อมทําได้เหมือนกัน โดยสังเกตดูจิตใจของตนเองว่า เมื่อมีอารมณ์หรือเรื่องราวใดๆ มากระทบเฉพาะหน้าแล้ว เกิดความฟุ้งซ่าน ขุ่นเคือง สงสัย ฯลฯ ซึ่งผิดไปจากสภาพปรกติ ก็หยุด ไม่ลงมือทําต่อไป การรักษาศีลเช่นนี้ เป็นวิธีรักษาศีลของพระอริยะ เรียกว่า ปาริสุทธิศีล มีอยู่ ๔ ประการ คือ 

๑. ปาฏิโมกข์สังวร สําหรับพระสงฆ์ซึ่งรักษาศีล ๒๒๗ หรือศีลสังวร สําหรับฆราวาสซึ่งรักษาศีล ๕ หรือ ศีล ๘

๒. อินทรียสังวร สํารวมระวังรักษาจิตใจไว้ในเมื่อมีอารมณ์มากระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ซึ่งเปรียบเหมือนศีลพี่เลี้ยงที่ประคับประคองมิให้การรักษาศีลดังกล่าวมาในข้อ ๑ ด่างพร้อยหรือทะลุ ถ้าเห็นว่าขืนดําเนินการใดๆ ลงไปแล้วทําให้ศีลด่างพร้อย หรือทะลุแล้ว ก็หยุดเสีย  ไม่ทําต่อไป 

๓. โภชเนมัตตัญญุตา รู้จักประมาณในการบริโภคอาหารแต่พอสมควร ไม่บริโภคจนอิ่มจัดจนแน่นท้องเกินไป ซึ่งจะทําให้อึดอัด เกิดความง่วงนอนได้ง่าย ทําให้ลดการสํารวมระวังรักษาศีลและประกอบความเพียรทางจิตใจลงได้มาก 

๔. ชาคริยานุโยค ความเป็นผู้ตื่นอยู่เสมอสําหรับประกอบความเพียรทางจิตใจ หรือที่เรียกว่า ประกอบสัมมาสมาธิ ในมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งหมายความว่า นอนแต่น้อย ตื่นเพื่อปฏิบัติความเพียรมาก ไม่ได้หมายความว่าไม่ต้องนอนกันเลยแต่อย่างใด การไม่นอนย่อมเป็นการทรมานร่างกายให้เหนื่อยเปล่า ไม่ใช่พุทธบัญญัติ

🌷 สมาธิในพระพุทธศาสนา 

ถ้าหากพิจารณารายละเอียดเรื่องมรรคมีองค์ ๘ ที่กล่าวมาในตอนต้นนี้ให้ดีแล้ว จะเห็นว่า ท่านสงเคราะห์ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ เป็นสมาธิ หมายความว่า ในการปฏิบัติสมาธิในพระพุทธศาสนานี้ มรรคทั้ง ๓ ดังกล่าวนี้ จะทํางานสัมพันธ์กันตลอดเวลาเพื่อรวมจิตให้สงบเป็นสมาธิ กล่าวคือ 

จะต้องสลัดนิวรณ์อันเกิดขึ้นเนื่องด้วยอารมณ์กระทบ ออกไปให้หมดด้วยสัมมาวายามะ ยกจิตขึ้นสู่อานาปานสติและประคองจิตมิให้แลบออกไปสู่ที่อื่นด้วยสัมมาสติ เกิดความอิ่มใจเบากายเบาใจและเป็นสุขที่จิตสงบขึ้น อาการต่างๆ เหล่านี้จะต้องถูกปล่อยวางจนหมดในที่สุด เป็นสัมมาสมาธิ 

เพราะฉะนั้น สัมมาสมาธิจึงไม่ใช่สมาธิแบบหินทับหญ้า เหมือนดังสมาธิของศาสนาอื่น ซึ่งยึดแนบแน่นเป็นเอกัคคตาอยู่ในอารมณ์เดียวแต่ประการใด แต่เต็มไปด้วยพลังสติระวังตัว สงบตั้งมั่นอยู่เสมอ

เมื่อพลังสติทํางานอย่างเต็มที่อยู่เช่นนี้แล้ว ก็ย่อมมีผลกระทบให้การพูด การทํา การคิดดำเนิน อย่างถูกต้องตามทํานองคลองธรรมไปด้วย ดังนั้น ผู้ที่ปฏิบัติสัมมาสมาธิ คือยกจิตขึ้นสู่อานาปานสตินั้น จึงไม่มีทางที่จะเป็นบ้าไปได้เลย ถ้าพูดให้ถูกแล้ว ย่อมเป็นผู้ที่หายจากการเป็นบ้า (ที่หลงเข้าไปยึดถือสิ่งภายนอกอย่างผิดๆ ฝ่าฝืนสัจธรรมมาตลอดเวลา) มากขึ้น ทําให้พูดถูก ทําถูก คิดถูกยิ่งขึ้น โดยลําดับ นี่คือประโยชน์ที่เกิดจากการปฏิบัติสมาธิในพระพุทธศาสนา

สําหรับผู้ที่ปฏิบัติสมาธิแล้วเป็นบ้านั้น ถ้าได้พิจารณาสาเหตุดูแล้ว ส่วนมากเกิดจากการยกจิตขึ้นสู่อารมณ์กามคุณด้วยปรารถนาลามก ไม่ได้ยกขึ้นสู่อารมณ์ในสติปัฏฐาน ๔ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในตอนต้น ไม่ได้ใช้สติสกัดกั้นความยินดียินร้ายที่เกิดขึ้นเนื่องด้วยกามคุณนั้นๆ คงปล่อยจิตใจให้ยินดีเพลิดเพลินและหวังว่าจะหาโอกาสนํามาครอบครองต่อไปในอนาคต เช่น เพ่งดูรูปผู้หญิงเพื่อทําเสน่ห์ ดูเลขหวยเบอร์ เป็นต้น ย่อมเป็นบ้าอย่างไม่มีปัญหา

ด้วยเหตุผลดังที่ได้บรรยายมานี้ ผู้ปฏิบัติสมาธิที่หวังความพ้นทุกข์ ในพระพุทธศาสนา จึงจําต้องจําทางเดินของจิตรวมทั้งวิธีวางจิตให้แม่นยําและแยบคายเพื่อให้เกิดสมาธิขึ้นโดยใช้เวลาให้น้อยที่สุด ที่เรียกว่า วสี (ความชํานาญในการเข้า - ออกจากสมาธิ) ซึ่งควบคุมจิตไม่ให้ถูกนิวรณ์ครอบงําได้ดีที่สุด

🌷 สมาธินอกพระพุทธศาสนา 

กล่าวตามความเป็นจริงแล้ว ศาสนาพราหมณ์ซึ่งมีมาก่อนพระพุทธศาสนา ก็มีการปฏิบัติฌานสมาบัติอยู่แล้วเหมือนกัน ดังนั้น การปฏิบัติเช่นนี้จึงมีมาก่อนพุทธกาล ถึงแม้พระพุทธองค์ก็ทรงเคยเสด็จเข้าไปศึกษาและปฏิบัติอยู่กับพระอาฬารดาบสและพระอุทกดาบส ก่อนตรัสรู้มาแล้วด้วย แต่พระองค์ได้ทรงพิจารณาเห็นว่า ตลอดเวลาที่อยู่ในฌานสมาบัตินั้น จิตของพระองค์ยังยึดอารมณ์ฌานอยู่อย่างเหนียวแน่น เป็นเอกัคคตารมณ์อยู่ เมื่อยังยึดอารมณ์อยู่ก็ย่อมถูกอารมณ์ปรุงแต่งให้มีให้เป็นไป ยังไม่พ้นจากทุกข์ไปได้ จึงทรงลาพระอาจารย์ทั้งสองท่าน ออกมาปฏิบัติสัมมาสมาธิโดยลําพังพระองค์เอง จนกระทั่งได้ตรัสรู้ในที่สุด

ทั้งนี้ย่อมแสดงว่า สมาธิในศาสนาพราหมณ์ที่ได้ทรงศึกษาและปฏิบัติอยู่กับพระ อาจารย์ทั้งสองที่กล่าวมาแล้ว กับสมาธิที่พระองค์นํามาปฏิบัติจนได้ตรัสรู้นั้น ต่างกัน ดังพุทธพจน์ที่ได้ตรัสไว้ในปฐมเทศนา ดังต่อไปนี้ "ปุพฺเพ อนนุสฺสุเตสุ ธมฺเมสุ แปลว่า ธรรมทั้งหลายที่ได้ปฏิบัติมา เราไม่เคยสดับฟังมาจากที่ใดเลย" (ไม่มีใครสอนมาก่อน)

ถ้าหากว่าสมาธิของพระอาจารย์ทั้งสอง เหมือนกับสมาธิที่ทรงปฏิบัติจนกระทั่งตรัสรู้จริงแล้ว พระองค์ย่อมตรัสว่าได้ตรัสรู้เองโดยชอบไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น สมาธิของศาสนาพราหมณ์จึงแตกต่างกับสมาธิในพระพุทธศาสนาอย่างไม่มีปัญหา เช่น ท้าวมหาพรหมยังยึดอัปปมัญญา ๔ อยู่ จึงมีอายุยืนยาวมาก เมื่อเสวยวิบากของกรรมเช่นนี้หมดแล้ว ก็จะต้องเวียนว่ายตายเกิดไปเป็นอย่างอื่นที่เป็นกรรมรองต่อไปอีก ยังไม่พ้นจากทุกข์ไปได้

🌷 ประโยชน์ของการปฏิบัติสมาธิ 

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสสอนไว้ว่า "สมาธิ ภิกฺขเว ภาเวถ สมาหิโต ยถาภูตํ ปชานาติ แปลว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จงยังสมาธิให้เกิดขึ้นเถิด ผู้ที่มีจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิแล้ว ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง ดังนี้" แสดงว่า การปฏิบัติสมาธิ เป็นหลักธรรมสำคัญในพระพุทธศาสนา ที่ช่วยอบรมจิตให้มีพลังปล่อยวางอารมณ์และอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์ (รูปนาม) ได้ เมื่อปล่อยวางสิ่งต่างๆ ที่กล่าวมาเสียได้ ความยินดียินร้ายอันเนื่องมาจาการยึดถือผิดๆ ก็ย่อมพลอยดับลงด้วยเป็นธรรมดา

ในปัจจุบันนี้ ได้มีผู้เห็นประโยชน์ของการปฏิบัติสมาธิมากพอสมควรแล้ว แต่ก็ยังไม่แพร่ออกไปอย่างกว้างขวางถึงชนบทต่างๆ รวมทั้งวัดที่มีอยู่ทั้งหมดรวมสามหมื่นกว่าวัด ทั่วประเทศด้วย ทุกคน ทุกสถาบัน จําเป็นจะต้องเพิ่มบทบาทอย่างเข้มแข็ง โดยไม่ปล่อยให้สังคมเป็นไปตามยถากรรมต่อไป ด้วยการก้าวเข้ามาส่งเสริมสนับสนุนให้มีการสอนปฏิบัติสมาธินักเรียนและเยาวชน ซึ่งกําลังประพฤติตนสวนทางกับศีลธรรมอันดีงามอยู่ในขณะนี้ จนเป็นที่หวั่นวิตกแก่บิดามารดาผู้ปกครองครูอาจารย์ เป็นอันมากว่า ถ้าไม่ได้รับการแก้ไข นักเรียนและเยาวชนในปัจจุบันย่อมจะกลายเป็นภาระอันหนักและไม่มีคุณภาพแก่ประเทศชาติในอนาคตทีเดียว ยังไม่สายเกินไปนักที่จะร่วมมือกัน นําหลักธรรมในพระศาสนาข้อนี้ มาส่งเสริมให้นักเรียนและเยาวชน รวมทั้งผู้หวังความสงบสุขในการครองชีวิตในสังคมนี้ ปฏิบัติอย่างต่อเนื่องและพร้อมเพรียงกัน เช่นเดียวกับชาวอังกฤษ อเมริกัน ญี่ปุ่น ฯลฯ ที่บินมาเรียนปฏิบัติสมาธิในประเทศไทย แล้วนํากลับไปเผยแพร่ต่อในประเทศมาตุภูมิของเขา ดังที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบันนี้

การปฏิบัติสมาธิจะทําให้เกิดความสงบสุขขึ้นในสังคม ทําให้รู้จักชีวิตนี้ตามความเป็นจริง และมีพลังต่อต้านอํานาจฝ่ายต่ำที่เกิดจากอารมณ์ทั้งหลาย จึงทําให้ผู้ปฏิบัติประพฤติตนเป็นคุณประโยชน์ด้วยความองอาจเที่ยงธรรมและมั่นคงที่สุด

นอกจากนี้ การปฏิบัติสมาธิยังช่วยให้มีสติและความทรงจําดี ช่วยเกื้อกูลให้เล่าเรียนดี เป็นทางปฏิบัติไปสู่ความพ้นทุกข์และจรรโลงพระศาสนาอย่างถูกจุด ถ้ารณรงค์ให้ปฏิบัติกันอย่างกว้างขวาง อีกด้วย

สิ่งที่ผู้ปฏิบัติเห็นเมื่อจิตเป็นสมาธิดีแล้ว คือ 
๑. เห็นจิตที่ส่งออกไปรับอารมณ์ภายนอกด้วยความยินดียินร้าย เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ (สมุทัย) 
๒. เห็นอาการซัดส่ายวุ่นวายของจิตเนื่องด้วยยึดอารมณ์นั้นๆ เป็นทุกข์ 
๓. เห็นว่าการปฏิบัติสัมมาสมาธิสามารถปล่อยวางอาการต่างๆ ได้ เป็นมรรค
๔. เห็นผลจากการปล่อยวาง ทําให้จิตสิ้นการปรุงแต่ง เป็นนิโรธ

เมื่อปฏิบัติจนเป็นเช่นนี้แล้ว ผู้นั้นย่อมทราบชัดด้วยตนเองว่า เป็นผู้ที่รู้จักสิ่งต่างๆ อย่างถูกต้องตามที่เป็นจริงแล้ว ไม่ได้กลายเป็นคนบ้าเสียจริตไป ดังที่มีบางคนวิตกอยู่ แต่ประการใดเลย 

ทั้งนี้หมายความว่า ถ้ายกเอาอารมณ์อย่างหนึ่งอย่างใดในสติปัฏฐานสูตร ที่มีอยู่รวม ๒๑ ประการ มาเพื่อเพ่งดูอย่างเคร่งครัด ไม่เอาอารมณ์อย่างอื่นนอกเหนือจากนี้แล้ว ย่อมไม่มีทางเป็นบ้าเสียสติไปได้เลย แต่กลับจะทําให้ตนเองหายจากบ้า เพราะเห็นสิ่งต่างๆ ไม่วิปลาสอีกต่อไป

การเป็นบ้าเสียสติ จะเกิดขึ้นได้เพียงทางเดียวเท่านั้น คือ การปฏิบัติผิดๆ นอกรีต นอกรอย ออกจากคําสั่งสอนของพระพุทธองค์ ที่ให้ปฏิบัติอยู่ในอารมณ์ของสติปัฏฐานเท่านั้น เช่น เอารูปผู้หญิงมาเพ่งเพื่อทําเสน่ห์ให้เขารักเรา เป็นต้น การปฏิบัติเช่นนี้จึงจะเป็นบ้า เสียสติ นี่คือความรู้ขั้นพื้นฐานสําหรับผู้ที่จะลงมือปฏิบัติทุกคน

🌷 🌷 🌷 

เมื่อเรารู้แล้วว่า การปฏิบัติธรรมโดยการขอหรือการอธิษฐานจิตนั้น เป็นเพียงการให้กำลังใจตนเองเท่านั้น เหมาะสำหรับบุคคลผู้มีความจริงใจและตั้งใจจริงที่ต้องการจะบรรลุธรรม ให้มีความมุ่งมั่นที่จะเข้าถึงธรรม อันเป็นความปรารถนาอยู่เต็มที่ เพราะมีความหวังจากที่ได้ขอหรืออธิษฐานจิตไว้ มีในพระสูตรจากพระบาลี ทุกนิบาต อังคุตตรนิกาย บทอธิษฐานเพื่อทำความเพียรนั้น กล่าวไว้ว่า

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรายังรู้สึกได้อยู่ถึงธรรม ๒ อย่าง คือ ความไม่รู้จักอิ่มจักพอ (สันโดษ) ในกุศลธรรมทั้งหลาย และความเป็นผู้ไม่ถอยกลับในการทำความเพียร 

ภิกษุทั้งหลาย เราย่อมตั้งไว้ซึ่งความเพียรอันไม่ถอยกลับ ด้วยการตั้งจิตว่า แม้หนัง เอ็น กระดูก จักเหลืออยู่ เนื้อและเลือดในสรีระจักรเหิอดแห้งไปก็ตามที ประโยชน์ใดอันบุคคลจะบรรลุได้ด้วยกำลัง ด้วยความเพียร ความบากบั่นของบุรุษ ถ้ายังไม่บรรลุประโยชน์นั้นแล้ว จักหยุดความเพียรเสียเป็นไม่มี ดังนี้"

จากพระพุทธวจนะนั้น เราคงพอจำกันได้ว่า ในครั้งกระนั้นพระพุทธองค์จะทรงตรัสรู้ธรรมอันยิ่ง ในคืนแห่งการตรัสรู้ พระองค์ก็ทรงอธิษฐานจิตแบบนี้เช่นกัน แต่ในปัจจุบันกลับไม่ได้เป็นไปอย่างในครั้งกระนั้น คือ เป็นการขอให้หรืออธิษฐานจิตแบบเผื่อฟลุ๊คไว้เท่านั้นเอง ขาดซึ่งความจริงใจ ความมุ่งมั่น เพื่อนำไปสู่ธรรมนั้น ด้วยการลงมือปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนาแบบจริงจัง

มีพระสูตรกล่าวถึง การลำดับการปฏิบัติธรรม เพื่อรู้ตามความเป็นจริงซึ่งสัจธรรม จากพระบาลี มัชฌิมปัณณาสก์ มัชฌิมนิกาย ดังนี้ 

"ภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่กล่าวการประสบความพอใจในอรหัตตผล ด้วยการกระทำอันดับแรกเพียงอันดับเดียว 

ภิกษุทั้งหลาย ก็แต่ว่าการประสบความพอใจในอรหัตตผล ย่อมมีได้ เพราะการศึกษาโดยลำดับ เพราะการกระทำโดยลำดับ เพราะการปฏิบัติโดยลำดับ 

ภิกษุทั้งหลาย การประสบความพอใจในอรหัตตผล ย่อมมีได้ เพราะการศึกษาโดยลำดับ เพราะการกระทำโดยลำดับ เพราะการปฏิบัติโดยลำดับนั้น เป็นอย่างไรเล่า

ภิกษุทั้งหลาย บุรุษบุคคลในกรณีนี้ เป็นผู้มีศรัทธาเกิดขึ้นแล้ว ย่อมเข้าไปหาผู้ถึงอริยสัจ (สัตบุรุษ) เมื่อเข้าไปหา ย่อมเข้าไปนั่งใกล้ เมื่อเข้าไปนั่งใกล้ ย่อมเงี่ยโสตลงสดับ เมื่อเงี่ยโสตลงสดับ ย่อมได้ฟังธรรม ครั้นฟังแล้วย่อมทรงจำธรรมไว้ ย่อมใคร่ครวญพิจารณาซึ่งเนื้อความแห่งธรรมทั้งหลายที่ตนทรงจำไว้ เมื่อเขาใคร่ครวญพิจารณาซึ่งเนื้อความแห่งธรรมนั้นอยู่ ธรรมทั้งหลายย่อมทนต่อการเพ่งพิสูจน์ เมื่อธรรมทนต่อการเพ่งพิสูจน์มีอยู่ ฉันทะ (ความพอใจ) ย่อมเกิด ผู้เกิดฉันทะแล้วย่อมมีอุตสาหะ ครั้นมีอุตสาหะแล้ว ย่อมพิจารณาหาความสมดุลแห่งธรรม ครั้นพิจารณาหาความสมดุลแห่งธรรมแล้ว ย่อมตั้งตนไว้ในธรรมอันเป็นกลางนั้น ผู้มีตนคือจิตส่งไปแล้วในธรรมนั้น ย่อมอยู่กระทำให้แจ้งซึ่งบรมสัจจ์ด้วยกาย ด้วยจิต ย่อมเห็นแจ้งแทงตลอดซึ่งบรมสัจจ์นั้นด้วยปัญญา"

จากพระพุทธพจน์ เมื่อพินิจพิจารณาดูแล้ว บุรุษบุคคลในกรณีนี้เป็นผู้มีศรัทธาอย่างแรงกล้า เทียบได้กับสัทธินทรีย์ เป็นศรัทธาที่ปราศจากข้อสงสัยในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เข้าไปหา พูดถึงอริยสัจคือพระอริยเจ้า เพื่อสดับฟังธรรมเทศนาของพระอริยเจ้า และย่อมนำเนื้อธรรมทั้งหลายมาพินิจพิจารณา ย่อมนำไปสู่ฉันทะ อันเป็นฉันทะในอิทธิบาท ๔ (ธรรมอันเป็นทางแห่งความสำเร็จ) เมื่อเกิดฉันทะสมาธิ ย่อมนำไปสูวิริยะสมาธิ (อุตสาหะ) วิริยะสมาธิย่อมไปนำไปสู่จิตตสมาธิ จิตตสมาธินำไปสู่วิมังสาสมาธิ

สมาธิที่เกิดจากอิทธิบาทแต่ละข้อนี้ มีความเพียรพยายามเกิดควบคู่ไปด้วยเสมอ คือ มีความเพียรปรุงแต่ง มีความเพียรสร้างสรรค์ ย่อมนำไปสู่สัจธรรมความจริงแห่งพระอริยเจ้า เอวัง.

พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท
เทศนาธรรม ๒๙ กันยายน ๒๕๖๔





Create Date : 30 กันยายน 2564
Last Update : 3 มกราคม 2565 13:38:35 น.
Counter : 161 Pageviews.

0 comment
มรรคมีองค์ ๘


🌷 มรรคมีองค์ ๘

วันอังคารที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๖๔ ตรงกับวันพระขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐

เจริญสุข สวัสดี สาธุชนทั้งหลาย วันพระก็เวียนมาบรรจบครบรอบอีกครั้ง อาตมาภาพจึงได้นำ พระพุทธพจน์จากพระบาลีธรรมบท ในสมาธิสูตร มากล่าวไว้ดังนี้

สมาธึ ภิกฺขเว ภาเวถ สมาหิโต ยถาภูตํ ปชานาติ แปลว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงยังสมาธิให้เกิดขึ้นเถิด
ผู้ที่มีจิตตั้งมั่นดีแล้ว ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง ดังนี้


เมื่อพิจารณาจากพระพุทธพจน์อย่างรอบคอบ จะเห็นได้ว่า บุคคลที่ยังสมาธิให้เกิดขึ้นในที่นี้นั้น ต้องเป็นสัมมาสมาธิในองค์อริยมรรคเท่านั้น บุคคลนั้นย่อมมีจิตเป็นสมาธิ สงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหวดีแล้ว ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง คำว่า ได้รู้เห็นตามความเป็นจริงนั้น ก็คือ วิปัสสนาปัญญา การรู้เห็นอย่างวิเศษ มาจากคำว่า วิปัสสนา

รู้เห็นอย่างไรจึงเรียกว่าได้รู้เห็นอย่างวิเศษ คือ การได้รู้เห็นอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริงว่า

- อารมณ์ทั้งหลายทั้งปวง ไม่ว่าดี ชั่ว สุข ทุกข์ หยาบ ละเอียด เช่น รูปฌาน อรูปฌาน ย่อมทำให้จิตใจหวั่นไหว กระสับกระส่าย เกิดความยินดียินร้ายไปกับอารมณ์เหล่านั้น ล้วนแล้วแต่เป็น ทุกข์ ทั้งสิ้น
- เมื่อรู้แล้วว่าอารมณ์ทั้งหลายทั้งปวงที่จิตเข้าไปยึดมั่นถือมั่น อารมณ์ความรู้สึกนึกคิดเหล่านั้นย่อมเป็นทุกข์ ก็ควรละความทะยานอยาก (ตัณหา) คือ สมุทัย เหตุให้ทุกข์เกิดขึ้นเสีย
- เพื่อให้เข้าถึง นิโรธ ความดับแห่งทุกข์ทั้งปวงได้
- ด้วย อริยมรรคมีองค์ ๘ ทางปฏิบัติเพื่อดำเนินไปสู่ความดับทุกข์

พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ที่ทรงอุบัติขึ้นมาในโลก ล้วนตรัสรู้อริยสัจ ๔ ทุกๆ พระองค์ เพราะเป็นความจริงอันประเสริฐของพระอริยเจ้าทั้งหลาย จะเรียกว่า ศีลสมาธิปัญญา อริยสัจ ๔ หรือสติปัฏฐาน ๔ ก็ได้ แล้วแต่ว่าพระองค์จะไปสอน ณ ชุมชนใด เพื่อให้สอดคล้องกับประชุมชนนั้น ทั้งหมดที่กล่าวไว้ล้วนเป็นการปฏิบัติธรรมสมาธิกรรมฐานภาวนาทั้งสิ้น ทางอื่นนอกจากนี้ไม่มีอีกแล้ว

เรามาฟัง “หัวใจพระพุทธศาสนา” ต่อจากวันพระที่แล้ว (๑๔ กันยายน ๒๕๖๔) กันเถอะ

🌷 มรรคมีองค์ ๘

นับตั้งแต่ได้ตรัสรู้จนถึงวันที่เสด็จขันธ์เข้าสู่พระปรินิพพาน รวมเป็นเวลาทั้งหมด ๔๕ ปีนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงสอนข้อปฏิบัติอันสําคัญแก่ชาวพุทธทั้งหลาย สําหรับจะได้ปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ ดังที่ได้ทรงปฏิบัติสําเร็จมาแล้ว คือ มรรคมีองค์ ๘ ซึ่งมีรายละเอียดต่อไปนี้

๑. สัมมาทิฐิ ความเห็นชอบ
๒. สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ
สององค์นี้ จัดอยู่ในหมวดของ ปัญญา
๓. สัมมาวาจา วาจาชอบ
๔. สัมมากัมมันตะ การงานชอบ
๕. สัมมาอาชีวะ การเลี้ยงชีวิตชอบ
สามองค์นี้ จัดอยู่ในหมวดของ ศีล
๖. สัมมาวายามะ ความเพียรชอบ
๗. สัมมาสติ ความระลึกชอบ
๙. สัมมาสมาธิ จิตตั้งมั่นชอบ
สามองค์นี้ จัดอยู่ในหมวดของ สมาธิ

ทั้งหมดนี้ ย่นย่อลงเหลือเพียง ศีล สมาธิ ปัญญา หรือเรียก สติปัฏฐาน ๔ หรือ อริยมรรค อย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้เหมือนกัน คําว่า มรรค ในที่นี้หมายถึง ทางเดินของจิต ซึ่งพระพุทธองค์ได้ทรงใช้ปฏิบัติมาแล้ว จึงได้ทรงนํามาสั่งสอนชาวพุทธให้ปฏิบัติตามเสด็จด้วย ดังมีพระบาลีในพระธรรมบทยืนยันไว้ดังนี้คือ

“เอเสว มคฺโค นตฺถญฺโญ ทสฺสนสฺส วิสุทฺธิยา
เอตญฺหิ ตุมฺเห ปฏิปชฺชถ มารเสนปฺปโมหนํ
แปลว่า
ทางเดินที่จะทําความเห็นให้บริสุทธิ์คือทางนี้เท่านั้น
ทางอื่นนอกจากนี้ไม่มีอีกแล้ว
ท่านทั้งหลายจงปฏิบัติไปทางนี้เถิด
เป็นทางที่มารและเสนามารหลง”


หมายความว่า กิเลสใหญ่น้อยทั้งหลายหาที่ตั้งไม่ได้ จิตก็บริสุทธิ์ ดังนั้น พุทธบริษัททุกท่านจึงต้องศึกษาเรื่องราว รายละเอียด และคําจํากัดความของมรรค ๘ แล้วลงมือปฏิบัติตามจริงๆ ก็ย่อมได้รับประโยชน์จากพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง

🌷 ประโยชน์ที่จะได้รับจากการปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔

หลักธรรมสําคัญในพระพุทธศาสนาที่รวบรวมวิธีปฏิบัติ เพื่อชําระจิตใจให้บริสุทธิ์ปราศจากกิเลส ก็คือ สติปัฏฐาน ๔ (ฝึกให้มีสติตั้งมั่นอย่างไม่ขาดสายในที่ ๔ สถาน) แบ่งออกเป็นหมวดกาย เวทนา จิต ธรรม ซึ่งมีอยู่รวม ๒๑ บรรพะด้วยกัน

การปฏิบัติตามสติปัฏฐาน ๔ ย่อมได้รู้จักอารมณ์ต่างๆ ที่กําลังเข้ามาปรุงแต่งให้เกิดเป็นเรื่องราวความจริงของชีวิต หรือที่เรียกว่า รูปนาม ซึ่งได้แก่ อารมณ์ และอาการของจิตที่เกิดขึ้นเนื่องด้วยอารมณ์, นั้น ว่าประกอบขึ้นด้วยอะไร และวิวัฒนาการไปตามกาลเวลาอย่างไร? ผู้ปฏิบัติจะต้องทําจิตให้ตั้งมั่นเป็นสมาธิ เพ่งพิจารณาดูรูปนามที่กําลังเกิดขึ้นเฉพาะหน้าว่า ไม่ใช่สิ่งที่เที่ยงแท้ถาวรแต่ประการใด และให้ฝึกปล่อยวางรูปนามต่างๆ เสียโดยเด็ดขาด ไม่นําตน (จิต) เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย คือ ไม่แสดงความยินดียินร้ายในอารมณ์ทั้งหลาย แล้วรูปนามนั้นก็ย่อมดับไป โดยไม่ทําให้มีกิเลสเกิดขึ้นที่จิตของตนได้

การที่จะปฏิบัติจนกระทั่งสามารถปล่อยวางรูปนามเสียได้นั้น เป็นสิ่งที่ทวนกระแสใจสามัญชนเป็นอย่างยิ่ง เพราะว่าได้รับการอบรมให้ยึดรูปนามมาเป็นเวลานานนับไม่ถ้วนแล้ว จึงต้องอาศัยความพากเพียรอย่างสูงเพื่อปฏิบัติปล่อยวางรูปนามเสียให้ได้ ดังนั้นผู้ที่ปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ จึงย่อมเกิดพลังจิตสูงขึ้นโดยลําดับตามกําลังที่ปฏิบัติได้ และย่อมมีพลังจิตที่จะยับยั้งชั่งใจต่ออารมณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า ดีกว่าเมื่อก่อนปฏิบัติอย่างไม่ต้องสงสัย ซึ่งจะส่งผลกระทบถึงครอบครัวและสังคมต่อไปอีกอย่างกว้างขวางด้วย

สติปัฏฐาน ๔ นี้ ไม่เพียงแต่จะเป็นหลักปฏิบัติสําหรับผู้ที่บวชเป็นพระสงฆ์อย่างเดียวเท่านั้น ฆราวาสผู้ครองเรือน ทหาร ตํารวจ ข้าราชการ พลเรือน ครูอาจารย์ทั้งหลาย รวมทั้งนักเรียน ก็สามารถนํามาปฏิบัติตามและมีโอกาสได้รับประโยชน์ได้เช่นเดียวกันด้วย ซึ่งจะเกื้อกูลความเป็นอยู่ของแต่ละคน ให้มีความสุขในหน้าที่การงาน และการเล่าเรียนที่กําลังดําเนินอยู่ มากขึ้นตามลําดับ

🌷 การบวชในพระพุทธศาสนา

ก่อนที่จะกล่าวต่อจากนี้ไป ใคร่ขอถือโอกาสเรียน ณ ที่นี้ว่า มรรคมีองค์ ๘ นี้มิได้มีอยู่ในศาสนาอื่นใดในโลกนี้เลย ดังนั้นชาวพุทธทุกท่านควรจะภูมิใจได้ว่า บรรพบุรุษของเรามีสติปัญญาและมีสายตาอันไกลยิ่ง ที่ได้รับเอาพระพุทธศาสนาเข้ามาเป็นศาสนาประจําชาติของเราจนถึงทุกวันนี้

ดังพุทธพจน์ที่ได้ตรัสไว้ในมหาปรินิพพานสูตรว่า
“ดูก่อน สุภัททะ ในธรรมวินัยนี้เท่านั้น ที่มีมรรคประกอบด้วของค์ ๘
ในธรรมวินัยนี้จึงมีพระสมณะที่ ๑ สมณะที่ ๒ สมณะที่ ๓ สมณะที่ ๔
ลัทธิอื่นว่างจากพระสมณะผู้รู้ทั่วถึง
ถ้าภิกษุนี้พึงอยู่ผู้โดยชอบ โลกจะไม่ว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลาย”


ทั้งนี้ ย่อมหมายความว่าหลักธรรมเรื่องมรรคมีองค์ ๘ นี้ มีความสําคัญยิ่งที่จะชําระขัดเกลาจิตใจผู้ปฏิบัติให้เป็นคนดีโดยลําดับ เป็นชั้นๆ แล้วแต่การปฏิบัติ

บรรพบุรุษเชื่อมั่นว่าการเป็นคนดี และสามารถประกอบอาชีพจนตั้งเนื้อตั้งตัวได้นั้น จะต้องให้บุตรหลานของตนเข้าบวช และรับการฝึกฝนอบรมปฏิบัติทางจิตตามคติธรรมในพระพุทธศาสนาสักระยะหนึ่ง เพื่อจะได้ไม่ประพฤติตนล่วงละเมิดศีลธรรม และเป็นพิษเป็นภัยแก่ครอบครัวและสังคมในอนาคต โดยให้บวชและฝึกวิธีปฏิบัติทางจิตเพื่อให้เกิดพลังต่อต้านอารมณ์ทั้งหลาย อย่างน้อยสัก ๑ พรรษา ในขณะที่มีอายุครบ ๒๐ ปีพอดี ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นทํางานอาชีพ

บรรพบุรุษหวังว่าบุตรหลานของตนจะได้ใช้ประสบการณ์ทางจิต ที่ได้รับการฝึกปฏิบัติธรรมในขณะที่บวชอยู่ สําหรับแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่จะมีต่อไปในอนาคตและเมื่อมีครอบครัวแล้ว โดยไม่ละเมิดศีลธรรมที่ดีงาม และใช้ความยับยั้งชั่งใจอย่างสูงที่สุด นี่คืออุดมการที่บรรพบุรุษมีต่อบุตรหลานของตนด้วยใจเมตตาอย่างยิ่ง เพื่อให้เป็นคนดีสืบวงศ์ตระกูลต่อไป

ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของทุกคนทุกท่าน ที่จะศึกษาทําความเข้าใจเรื่องมรรคมีองค์ ๘ นี้ ให้เข้าใจอย่างถูกต้อง เพื่อที่จะได้นํามาปฏิบัติอย่างเคร่งครัดตลอดเวลาที่บวชอยู่ ถ้าไม่ศึกษาให้ดีเสียก่อนว่าบวชทําไม จึงจัดการบวชอย่างไม่ถูกต้อง และเมื่อบวชแล้วก็ไม่ได้ลงมือปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ จริงอีกด้วย ผลลัพธ์ที่ได้จากการบวชครั้งนั้นก็ย่อมไม่มีอะไรที่ดีขึ้น นอกจากเสียเวลาและเสียเงินทองทรัพย์สินในการจัดงานบวช โดยไม่ได้รับประโยชน์อะไรเท่านั้น ไม่ว่าจะบวชอยู่นานสักเท่าใดก็ตาม

เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปแล้วว่า ในระยะเวลา ๑ เดือนหรือ ๒ เดือนก่อนเข้าพรรษาทุกปี ชาวพุทธเป็นจํานวนมากจัดเตรียมงานบวชลูกหลานของตนกันอย่างมโหฬาร โดยทั่วกัน เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ก็จําเป็นต้องเตรียมอาหารสําหรับทําครัวเลี้ยงดูกันในวันบวชอย่างมากมายด้วย จึงต้องฆ่าวัว ควาย เป็ด ไก่ หมู ปลา สําหรับทํากับข้าวเลี้ยงดูกันอย่างเต็มที่ บางรายก็ต้องไปกู้เงินมาใช้จ่ายในเรื่องเช่นนี้ และจ้างมหรสพต่างๆ ที่มีราคาแพงมาแสดงในงานบวชด้วย เพื่อมิให้น้อยหน้ากันก็มี

ดังนี้ ถ้าหากว่าได้ศึกษาวัตถุประสงค์ของการบวชให้ละเอียดดีแล้ว จะเห็นได้ว่าการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตเป็นข้อห้ามของพระพุทธองค์โดยตรง เพราะฉะนั้น การฆ่าสัตว์ดังกล่าวข้างต้นเหล่านี้ ย่อมเป็นการทําบาป เป็นเดิมพันเพียงเพื่อจะทํางานบวชของตนเท่านั้น งานบวชจึงต้องเศร้าหมองและจะต้องได้รับวิบากของบาปเช่นนี้ อย่างไม่มีปัญหา ส่วนการที่ไปกู้เงินมาใช้จ่ายเป็นค่าจ้างมหรสพราคาแพงเพื่อสมโภชงานบวชด้วยนั้น ย่อมเพิ่มทุกข์ เพิ่มภาระและทําให้เสียเศรษฐกิจของครอบครัว โดยไม่จําเป็น เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่พุทธบัญญัติ หนี้สินที่ไปกู้เขามาเช่นนี้ บางทีต้องสึกออกมาทํางานหาเงิน ใช้หนี้อยู่นาน จึงจะหมดหนี้ก็มี

ความไม่ถูกต้องเหล่านี้ ได้ปฏิบัติตามๆ กันมาจนเป็นธรรมเนียมอยู่ในปัจจุบันนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่จะต้องช่วยกันแก้ไขอย่างพร้อมเพรียงทุกคน ทุกท่าน และทุกสถาบัน โดยแสดงข้อเท็จจริงให้ผู้จะบวชหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการบวชลูกหลานของตน ได้ตระหนักว่า การบวชในพระพุทธศาสนานั้น จัดขึ้นเพื่อให้ผู้บวชได้เข้าไปปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ โดยเฉพาะ ไม่ใช่จัดขึ้นเพื่อสร้างบาป สร้างหนี้สิน ซึ่งเป็นการเพิ่มทุกข์ยากทางจิตใจและทางเศรษฐกิจให้แก่ตนเองและครอบครัวแต่ประการใดทั้งสิ้น

ดังนั้น การฆ่าสัตว์ตัดชีวิต และกู้เงินมาจ้างมหรสพสมโภช รวมทั้งจัดสุรายาเมามาเลี้ยงดูกัน ดังที่ถือปฏิบัติตามกันมาเป็นธรรมเนียมนั้น จึงไม่ถูกต้อง เพราะเป็นการกระทําที่มีผลลัพธ์ขัดกับวัตถุประสงค์ของการบวชอย่างตรงกันข้าม และทําให้การบวชนั้นๆ เศร้าหมอง ไม่บริสุทธิ์หมดจด

ขนบธรรมเนียมที่ปฏิบัติตามกันมาอย่างผิดๆ เช่นนี้ ควรช่วยกันแก้ไขให้หมดไปจากพระศาสนาโดยพร้อมเพรียงกัน

🌷 คําสั่งสอนอันสำคัญยิ่งที่พระอุปัชฌาย์สอนในวันบวช

คงจะจํากันได้ดีว่า เมื่อได้นํา “นาค” ซึ่งเป็นบุตรหลานของตนเข้าไปในพระอุโบสถในวันแรกที่บวชนั้น, แล้ว พระอุปัชฌาย์ก็จะสอนผู้บวชใหม่ให้รู้จักข้อปฏิบัติ ที่เรียกว่า ไตรสิกขา หรือ ศีล สมาธิ ปัญญา หลังจากที่ได้บวชให้แล้ว คือสอนให้พิจารณาผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ของตนเองไปมาบ่อยๆ เนืองๆ ผู้บวชใหม่ก็ได้กล่าวรับปากต่อที่ประชุมพระสงฆ์ว่า “อาม ภนฺเต” แปลว่า ขอรับไปปฏิบัติครับ แต่โดยข้อเท็จจริงแล้ว ส่วนใหญ่ไม่ปฏิบัติกันเลย

การพิจารณาผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ของตนเองบ่อยๆ เนืองๆ จะทําให้เห็นสิ่งต่างๆ เหล่านี้ เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้ถาวร ต้องเปลี่ยนแปรไปตามกาลเวลา ไม่ช้าก็ต้องแตกแยกกันไปคนละทิศคนละทาง ทําให้ผู้ปฏิบัติไม่ประมาทในวัยและชีวิตของตน เตือนจิตใจให้ทําแต่ความดี จึงเป็นการพัฒนาจิตใจผู้บวชให้ดีขึ้น เมื่อจิตใจได้รับการพัฒนาดีขึ้นแล้ว ก็ย่อมประพฤติตนเป็นคนดีในครอบครัวและสังคมต่อไปในอนาคต เป็นธรรมดา

ถ้าบวชแล้ว ไม่ปฏิบัติตามหลักธรรมที่พระอุปัชฌาย์สอนไว้นี้ ผู้บวชก็ย่อมไม่ได้รับประโยชน์สมกับเวลาและเงินทองที่เสียไปในการจัดงานบวช ดังนั้น จึงไม่มีอะไรดีขึ้นเลย นอกจากยังตกเป็นทาสของอารมณ์ทั้งหลายเหมือนเมื่อก่อนบวชตามเดิมเท่านั้น

🌷 หัวใจพระพุทธศาสนา คือการลงมือปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ จริง

เท่าที่ได้บรรยายมาทั้งหมดนั้น พอจะมองเห็นได้ว่าหลักธรรมเรื่อง ศีล สมาธิ ปัญญา หรือสติปัฏฐาน ๔ เป็นคําสั่งสอนสําคัญในพระพุทธศาสนาที่สําคัญยิ่ง ซึ่งได้รวบรวมรายละเอียดในการปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนาไว้อย่างครบถ้วนถูกต้องทุกแง่ทุกมุม ดังนั้น ถ้าได้นํามาศึกษาพินิจพิจารณาดูให้เข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง แล้วลงมือปฏิบัติตามอย่างต่อเนื่องและเคร่งครัด ผู้ปฏิบัติก็ย่อมได้รับประโยชน์จากพระพุทธศาสนาอย่างไม่ต้องสงสัย ไม่ว่าจะเป็นพระสงฆ์หรือฆราวาสก็ตาม สามารถนํามาปฏิบัติได้เหมือนกัน ถ้ามีผู้ลงมือปฏิบัติกันอย่างแพร่หลายแล้ว ก็ย่อมพัฒนาจิตใจให้ตั้งมั่นคง ไม่หวั่นไหวต่ออารมณ์ที่เข้ามากระทบ จึงเกิดความสงบสุขขึ้นในสังคม ไม่มีปัญหายุ่งยากรบกวนอีกต่อไป

ดังนั้น พระสงฆ์จึงตั้งอยู่ในฐานะอันสําคัญ ที่จะศึกษาพินิจพิจารณาตูสติปัฏฐาน ให้เข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง แล้วลงมือปฏิบัติตามอย่างต่อเนื่องและเคร่งครัด เพื่อให้มีประสบการณ์อย่างเพียงพอที่จะออกสั่งสอนวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องให้แก่ชาวพุทธอีกเป็นจํานวนมาก รวมทั้งเด็กนักเรียนในโรงเรียนต่างๆ ซึ่งกําลังสนใจศึกษาอยู่ในขณะนี้ อันเป็นการสืบต่อพระศาสนาให้ตํารงอยู่อย่างยืนยาวไปในอนาคต ตามเสด็จพระยุคลบาทพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วย

ทั้งนี้หมายความว่า พระสงฆ์ซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศรวมสามหมื่นกว่าวัด จะต้องช่วยทําธุระในพระศาสนา ๓ ประการ คือ คันถธุระ วิปัสสนาธุระ และออกไปสอนการปฏิบัติธรรมดังกล่าวแก่สังคม ที่เรียกว่าประกาศพระศาสนา เหล่านี้ อย่างครบวงจรทุกรูปและทุกวัด

การศึกษาธรรมะภาคปริยัติ เพียงเพื่อเอาไว้พูด หรือเอาไว้ตอบสอบไล่เอาคะแนนโดยไม่ได้ลงมือปฏิบัติจริง หรือเมื่อได้ศึกษาและลงมือปฏิบัติมาดีพอสมควรแล้ว ไม่ได้ออกไปช่วยการปฏิบัติธรรมให้แก่สังคมต่อไปอย่างแพร่หลาย เหมือนดังที่พระพุทธองค์ได้ทรงปฏิบัติมาแล้ว ย่อมได้ชื่อว่าทําธุระในพระศาสนาไม่ครบวงจร คือ ไม่ได้ช่วยทําให้สังคมเกิดความร่มเย็นเป็นสุขขึ้นมาแต่ประการใดเลย

🌷 ทาน (การให้สิ่งที่ควรให้)

ในพระพุทธศาสนาถือว่า การให้ทานเป็นหลักธรรมเบื้องต้นอันสําคัญที่จะต้องปฏิบัติเพื่อลดความตระหนี่ของผู้ให้ลง ซึ่งเป็นการอนุเคราะห์ผู้รับทานนั้น จึงเป็นการแสดงน้ำใจที่เป็นมิตรต่อกัน ดังนั้น การให้ทานจึงผูกจิตใจทั้งผู้ให้และผู้รับได้ดีอย่างหนึ่ง ซึ่งแสดงว่าสังคมยังไม่แล้งน้ำใจต่อกัน

ทานที่มีอานิสงส์อันไพบูลย์นั้น มีหลักเกณฑ์ดังนี้คือ ผู้ให้มีความตั้งใจให้ ผู้รับกําลังอยากได้รับ และสิ่งที่ให้นั้นเป็นปัจจัย ๔ ที่จําเป็นในการดํารงชีวิต ตามสมควรแก่อัตตภาพของทั้งผู้ให้และผู้รับทานนั้น

ดังที่พระพุทธองค์ได้ตรัสกับอนาถปิณฑิกเศรษฐี ผู้ซึ่งให้ทานแม้ในขณะที่ใกล้จะตกยากว่า “ทิยฺยเต คหปติ กุเล ทานํ แปลว่า ดูก่อนคหบดี ทานประจําตระกูลของท่าน ยังให้ดีอยู่ดอกหรือ?” อนาถบิณฑิกเศรษฐีตอบว่า “ยังให้ดีอยู่พระเจ้าข้า แต่เต็มทีจริงๆ ไม่ประณีตมีแต่ข้าวปลายเกวียนและน้ำส้มผอูม ซึ่งเป็นทานที่เศร้าหมอง เหลือประมาณพระเจ้าข้า” พระพุทธองค์จึงได้ตรัสว่า “อย่าไปคิดอย่างนั้นสิ เมื่อความตั้งใจดีแล้ว ของทําบุญก็ย่อมดีด้วย” ดังนี้เป็นต้น

เพราะฉะนั้น อานิสงส์ของทาน จึงขึ้นอยู่ที่ความตั้งใจดีของผู้ให้ ซึ่งจะอนุเคราะห์ผู้รับ ให้มีพลังปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุมรรคผลในพระศาสนานี้ สิ่งที่ให้นั้นมีความจําเป็นในการดํารงชีวิตของผู้รับ ไม่ใช่ให้สิ่งที่ฟุ้งเฟ้อเกินความจําเป็น ซึ่งจัดว่าเป็นกามคุณ (สิ่งที่น่ารักใคร่พอใจ) ที่ประทับติดตรึงใจผู้รับมิให้ปฏิบัติธรรม คือทําให้ผู้รับทานนั้น ต้องกลายเป็นผู้ที่สะสมทรัพย์ และล่วงละเมิดสิกขาบทนิสสัคคียปาจิตตีย์ อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ไม่ว่าจะหาวิธีเก็บทรัพย์สิน ที่ได้รับมาจากทานในรูปใดก็ตาม

ตัวอย่างเช่น การให้เครื่องปรับอากาศ รถเก๋ง ตู้เย็น โทรทัศน์ เงินทอง เหล่านี้ เป็นต้น จึงจัดว่าเป็นทานที่เศร้าหมอง ไม่มีอานิสงส์ในพระศาสนานี้ และไม่เหมาะสําหรับพระสงฆ์ ผู้ได้ชื่อว่าประพฤติพรหมจรรย์อย่างยิ่ง

สําหรับพระสงฆ์ที่รับทานดังกล่าวไว้ ก็ย่อมเกิดความมัวเมาในการเก็บและครอบครองทรัพย์ เกิดความผูกพันทางใจ ซึ่งเท่ากับตอกตะปูตรึงใจไว้ มิให้บรรลุมรรคผลตลอดเวลาที่ครอบครองทรัพย์นั้นอยู่ นอกจากนั้น ยังอาจได้รับภัยจากโจรผู้ร้ายจนถึงแก่ชีวิตก็ได้

ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่จะให้ทานใดๆ ก็ตาม จําเป็นต้องใช้ปัญญาพินิจพิจารณา (ญาณสัมปยุต) ดูด้วย อุปมาดังการเลือกที่ดินสําหรับหว่านพืชเพื่อเพาะปลูก ถ้าเลือกได้ที่ดินดี พืชที่หว่านลงไปก็ย่อมให้ผลงอกงามดีด้วย ฉะนั้น

พระพุทธองค์ได้ตรัสว่า “การให้ทานเกื้อกูลแก่ผู้ที่กําลังปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อให้บรรลุเป็นพระโสดาบันบุคคลนั้น มีอานิสงส์มาก” และได้ทรงสอนพระสงฆ์ไม่ให้แสวงหาอามิสทรัพย์สินเกินความจําเป็นสําหรับปฏิบัติธรรม ดังต่อไปนี้ คือ

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าพวกเราเป็นธรรมทายาทของเรา ไม่เป็นอามิสทายาทแล้ว ทั้งพวกเราและเราจะไม่ถูกวิญญชนติเดียนว่า พวกพระสาวกของพระศาสดาพากันเป็นธรรมทายาท ไม่เป็นอามิสทายาท พวกเธอทั้งหลายจงเป็นธรรมทายาทของเราเถิด อย่าได้เป็นอามิสทายาทเลย” ดังนี้

เราจะเห็นได้ว่า พระพุทธองค์มีพุทธประสงค์ให้พระสงฆ์ ปฏิบัติธรรมเพื่อสืบต่อพระศาสนา มากกว่าการแสวงหาอามิส ซึ่งได้แก่ ลาภยศ ชื่อเสียง สมณศักดิ์ และบริวารอย่างแท้จริง เพราะการแสวงหาอามิส มิได้ช่วยพัฒนาจิตใจทั้งผู้ให้และผู้รับให้ดีขึ้น และไม่ได้ทําให้พระศาสนาตั้งอยู่ยั่งยืนนานต่อไปได้เลย

🌷 🌷 🌷

เมื่อกล่าวถึงสมาธิหรือภาวนาแล้ว ปัจจุบันมีผุดขึ้นมาอย่างมากมาย จนกระทั่งบุคคลผู้ต้องการปฏิบัติธรรมสมาธิกรรมฐานภาวนา เกิดความลังเลสงสัยว่าจะปฏิบัติอย่างไรจึงจะไม่ผิดทาง เท่าที่มีอยู่นั้นส่วนมากแล้วทำให้สิ้นเปลืองเวลา เพราะการปฏิบัติธรรมสมาธิกรรมฐานภาวนาเพื่อให้เข้าถึงความสงบหรือจิตตัวใน (อชฺฌตฺตํ สมยํ จิตตํ) ต้องผ่านลมหายใจทั้งสิ้น และสมถะวิปัสสนาก็เช่นกัน

คำว่าสมถะและวิปัสสนา เป็นคำที่เกิดขึ้นมาในภายหลัง แต่กลับถูกนำมาใช้ในทางแบ่งแยกของผู้ปฏิบัติธรรมให้ออกจากกันอย่างชัดเจน ทั้งๆ ที่พระสูตรเองก็ยังเขียนไว้อย่างรัดกุมรอบคอบ ไม่ได้ถูกแบ่งแยกให้ออกจากกันแต่อย่างใด จนเกิดเป็นสายสมถะภาวนา หรือสายวิปัสสนาภาวนา อย่างทุกวันนี้ ทำให้เกิดความเข้าใจผิดไปจากความเป็นจริงของพระสูตรที่วางหลักไว้ดีแล้ว

คำว่า และ ในพระสูตรนั้นก็ชัดเจนอยู่แล้วในตัวว่า ต้องร่วมกันเกิดขึ้น ขาดจากกันไม่ได้ แสดงว่าสมถะและวิปัสสนานั้นเป็นเรื่องที่ต้องกระทำควบคู่กัน พร้อมกันไปในขณะจิตเดียวกัน ต่างกันแต่สภาวะที่เกิดขึ้นของเหตุปัจจัยที่มีมาให้พิจารณา ขณะประคองจิตอยู่ตรึกธรรมเฉพาะหน้าในเวลานั้นๆ เช่นเดียวกันกับคำว่า สติสมาธิปัญญา ซึ่งต้องเกิดขึ้นร่วมกันไป ขาดกันเสียไม่ได้ เป็นอัญญะมัญญะปัจจัย เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมีขึ้น หนุนเนื่องต่อกัน อาศัยกันและกันเกิดขึ้นอย่างไม่ขาดสาย

หากเราสามารถสร้างสติ ประคองจิตไว้ที่ฐานที่ตั้งของสติ (สติปัฏฐาน) ได้อย่างต่อเนื่องเนืองๆ แล้ว จิตของตนย่อมสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ เมื่อประคองจิตที่มีสติให้สงบตั้งมั่นเป็นสมาธิได้อย่างต่อเนื่องเนืองๆ จิตย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง (วิปัสสนา) เมื่อจิตของตนมีพลังในการปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นได้ย่อมเกิดปัญญาในการวิรัติ (งดเว้น) ข้อห้ามทั้งหลายได้ ศีลต่างๆ ย่อมบริสุทธิ์ ไม่ด่างพร้อยเลย

ในการปฏิบัติธรรมสมาธิกรรมฐานภาวนา เพียรประคองจิตของตนอยู่นั้น บางครั้งบางขณะที่จิตมีสติระลึกรู้อยู่ จิตอาจจะเผลอไผลส่งออกไปในอารมณ์ที่น่ายินดีน่ารักใคร่หรืออารมณ์ที่ไม่น่ายินดีไม่น่ารักใคร่ จะมาจากภายนอกก็ดี หรือเกิดขึ้นจากสัญญาอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด ณ ภายในจิตเองก็ดี หากระลึกนึกขึ้นมาได้และสามารถดึงจิตหรือเปลื้องจิตให้ออกจากอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดในขณะนั้นและยกจิตของตนที่ส่งออกไปจากฐานที่ตั้ง ให้กลับมาวางอยู่ ณ ฐานแห่งความสงบ (สติ) ดังเดิมได้ นี้จึงเรียกว่าเป็นวิปัสสนา คือความสามารถปล่อยวางอารมณ์ออกจากจิตในขณะแห่งสมาธิจิต เอวัง.

พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท
เทศนาธรรม ๒๑ กันยายน ๒๕๖๔




Create Date : 22 กันยายน 2564
Last Update : 3 มกราคม 2565 13:38:20 น.
Counter : 250 Pageviews.

3 comment
ความสัมพันธ์ระหว่างกายเนื้อ กายทิพย์ กายธรรม


🌷 ความสัมพันธ์ระหว่างกายเนื้อ - กายทิพย์ - กายธรรม

วันอังคารที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๖๔  ตรงกับวันพระขึ้น ๘ ค่ำเดือน ๑๐ 

เจริญสุข สวัสดี สาธุชนทั้งหลาย 

มีพระบาลีจากมิลินทปัญหากล่าวไว้ว่า 

สทฺธาย ตรตี  โอฆํ  อปฺปมาเทน อณฺณวํ
วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ  ปญฺญาย ปริสุชฺฌติ

แปลว่า
บุคคลย่อมข้ามห้วงน้ำได้ด้วยศรัทธา
ย่อมข้ามทะเลได้ด้วยความไม่ประมาท
ย่อมล่วงทุกข์ได้ด้วยความเพียร
ย่อมบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา


จากพระบาลีข้างต้น จะเห็นได้ว่าบุคคลผู้มีศรัทธา ย่อมข้ามห้วงน้ำให้ถึงฝั่งได้นั้น  ต้องเป็นบุคคลที่มีสัทธินทรีย์ คือ ๑ ในอินทรีย์ ๕ เท่านั้น เพราะว่าเป็นศรัทธาชนิดเชื่อมั่นไม่หวั่นไหวคลอนแคลนในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่สงสัยในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เชื่อว่ามนุษย์สมบัติมี สวรรค์สมบัติมี มรรคผลนิพพานมีอยู่จริง 

เนื่องจากในหมู่มวลมนุษย์นั้น บุคคลผู้จะข้ามห้วงน้ำเพื่อให้ถึงฝั่งมีจำนวนน้อย ที่เหลือมีแต่พวกที่วิ่งเลาะไปตามฝั่ง ยังแสวงหาครูบาอาจารย์ไปเรื่อยๆ ที่ไหนว่าดีก็แห่กันไปที่นั่น ยิ่งแสวงหายิ่งเกิดความลังเลสงสัยมากขึ้น เป็นเพราะยังหยุดไม่เป็น ยังขาดความเชื่อมั่นอย่างหมดหัวใจ ในพระธรรมคำสอนที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ดีแล้ว 

ส่วนบุคคลผู้ที่มีสัทธินทรีย์ ย่อมข้ามบ่วงแห่งมฤตยู ซึ่งข้ามได้แสนยาก เพื่อจะไปให้ถึงฝั่ง พร้อมทั้งยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม (อปฺปมาเทน สมฺปาเทถะ) ซึ่งมีมาในปัจฉิมโอวาท เป็นความไม่ประมาทที่มีสตินทรีย์และสมาธินทรีย์ คอยประคับประคองจิตของตน ให้ระลึกรู้อยู่ที่ฐานที่ตั้งของสติ เพื่อนึกถึงความตายทุกลมหายใจเข้าออก ด้วยความไม่ประมาท 

การจะเข้าถึงความไม่ประมาทได้นั้น ต้องอาศัยวิริยินทรีย์ หรือสัมมาวายามะในองค์อริยมรรค เพราะบุคคลย่อมล่วงทุกข์ได้ ด้วยความเพียรชอบนี้ 

เมื่อพูดถึงปัญญา พระบาลีกล่าวไว้ว่า ย่อมบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา ก็แสดงให้เห็นว่า จิตของตนจะบริสุทธิ์ผ่องแผ้วได้นั้น ต้องอาศัยปัญญาในการปล่อยวางอารมณ์ ราคะ โทสะ โมหะ ให้หมดไปจากจิตของตน จิตย่อมได้รับความบริสุทธิ์ ซึ่งต่างจากปัญญาทางโลกหรือโลกียปัญญาโดยสิ้นเชิง เพราะปัญญาทางโลกนั้น ต้องอาศัยบุคคลที่มีมันสมองดี ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ฉลาดหลักแหลม กล่อมคนเก่งให้คล้อยตามตนได้ มีปริญญาหลายๆ ใบ ส่วนโลกุตตรปัญญานั้น คือความสามารถของจิตในการปล่อยวางอารมณ์ที่เข้ามากระทบให้ออกไปได้ทันที โดยไม่ต้องเสียเวลา

จากนี้ เรามาต่อกันด้วย “หัวใจพระพุทธศาสนา” จากวันพระที่ผ่านมา (วันที่ ๖ กันยายน ๒๕๖๔)

🌷 สัตว์ที่มีกายเนื้อ (กรัชกาย)

เท่าที่ได้กล่าวมาในเรื่องคติและภูมิของสัตว์ ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด ๓๑ ภูมินั้น มีสัตว์ที่มีกายเนื้ออยู่เพียง ๒ ภูมิเท่านั้น คือ มนุษย์และสัตว์เดรัจฉาน ซึ่งสามารถแลเห็นได้ด้วยตาเนื้อ เพราะสัตว์ในภูมิทั้ง ๒ ดังกล่าวนี้ ต้องอาศัยบิดามารดาเป็นแดนเกิด และผสมธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ เพื่อให้เป็นรูปร่างกายของตนขึ้นมา ซึ่งต้องอาศัยความอบอุ่น และอาหารหล่อเลี้ยง เพื่อรักษาให้มีชีวิตสืบต่อไปอีก ถ้าขาดอาหารหล่อเลี้ยง หรือมีอายุนานพ้นขีดกําลังผสมของบิดามารดาแล้ว กายเนื้อก็ต้องแตกตายลงเป็นธรรมดา

เท่าที่กล่าวมาแล้วข้างต้น กายเนื้อนี้ จิตเป็นผู้สร้างขึ้น เพื่อใช้สําหรับเป็นเครื่องมือ สําหรับรับอารมณ์ ด้วยอํานาจความอยาก และความเพลิดเพลินที่เคยมีในอดีตทั้งสิ้น ถ้าไม่มีกายเนื้อเสียแล้ว ก็ย่อมไม่มีทางที่จะติดต่อรับอารมณ์ได้สําเร็จสมความอยากที่มีเลย ดังนั้น จิตจึงได้อาศัยกายเนื้อสําหรับเสพอารมณ์ที่น่ารักน่าพอใจของตนเท่านั้น เมื่อร่างกายเสื่อมสภาพและต้องตายลงเมื่อใด ก็จําเป็นต้องหาทางสร้างร่างกายใหม่ขึ้นอีก ที่เรียกว่า เวียนว่ายตายเกิดในพระพุทธศาสนานั่นเอง

เมี่อกายเนื้อรับอารมณ์ทางอายตนะทั้ง ๕ ทางใดทางหนึ่ง ด้วยความยินดี ติดอกติดใจ และประทับใจขึ้นมาแล้ว ก็ย่อมบันทึกความทรงจําอารมณ์นั้นๆ เก็บไว้ที่จิต เรียกว่าเป็นกรรมภพ ซึ่งบางครั้ง ในขณะที่ร่างกายนอนหลับพักผ่อนอยู่ จิตก็ยังมีเจตนาที่เสพอารมณ์เก่าๆ ที่ได้ทรงจําและบันทึกไว้นี้ มาปรุงแต่งขึ้นอีก (ฝัน) ก็มี เรียกอารมณ์ชนิดนี้ว่า ธรรมารมณ์ ความรู้สึกที่จิตเข้าใจว่าเป็นผู้รับอารมณ์ และเป็นไปกับอารมณ์ เหมือนกายเนื้อของตนเองกําลังรับอารมณ์เช่นนี้โดยตรง นี้คือ กายทิพย์ ซึ่งไม่อาจแลเห็นได้ด้วยตาเนื้อ แต่มีอยู่จริงโดยธรรมชาติ สิ่งเหล่านี้มักเกิดขึ้นแก่ผู้ที่อยู่ในที่สงัดแต่เพียงผู้เดียว จึงเปิดโอกาสให้จิตนําเอาธรรมารมณ์มานึกคิดปรุงแต่งขึ้นทางใจ (มโนทวาร) ทําให้คิดฟุ้งซ่านขึ้น

🌷 กายทิพย์หรือโอปปาติกะ

สําหรับสัตว์ที่อยู่ในภูมิที่มีกายเนื้อทั้งหมด กายทิพย์จะซ้อนอยู่ในกายเนื้อด้วยกัน โดยปรกติ แต่กายทิพย์เป็นกายที่เกิดจากจิตมีเจตนา (เป็นกรรม) ยึดเอาธรรมารมณ์เข้ามาปรุงแต่ง ในขณะที่สงบเท่านั้น ผู้ที่ปฏิบัติสมาธิดีแล้ว จึงจะเห็นกายทิพย์นี้ได้ว่า เป็นกายที่เบาและละเอียด คล่องแคล่วมาก ในระยะแรกๆ ผู้ที่ปฏิบัติสมาธิก็มักไม่รู้จัก และคิดไม่ถึงว่าได้พบกับกายทิพย์ของตัวเองเข้าแล้ว บางครั้งกายทิพย์ก็ปรากฏออกมานั่งสมาธิหันหลังให้กับผู้ที่ปฏิบัติสมาธิอยู่ก็มี ดังนั้น ในขณะนั้นผู้ที่ปฏิบัติสมาธิจึงมักไม่เห็นหน้าตาของกายทิพย์ว่าเป็นอย่างไร จนกว่าสมาธิสงบถึงขีดสุด

กายทิพย์จะมีหน้าตาสวยสดงดงามเพียงใดนั้น ย่อมแล้วแต่ศีลที่กายเนื้อรักษาให้บริสุทธิ์ผุดผ่องไว้ได้เพียงใด หมายความว่า ถ้ารักษาศีลไว้ดี ไม่ขาด ทะลุ หรือด่างพร้อย กายทิพย์ก็ย่อมผ่องใสงดงาม แต่ถ้ารักษาศีลไว้ไม่ดี  ขาด ทะลุ ด่างพร้อย กายทิพย์ก็ย่อมไม่ผ่องใส ไม่งดงาม ตามศีลที่ขาด จึงไม่ได้ขึ้นอยู่ที่กายเนื้อแต่ประการใดเลย 

ดังนั้น จึงเป็นที่แน่นอนเหลือเกินที่ผู้มีรูปร่างหน้าตาสง่างาม มีเกียรติยศอย่างมากยิ่งในสังคมปัจจุบันนี้ แต่ประพฤติตนทุศีลและสวนทางกับความต้องการในด้านคุณธรรมของศาสนา จนทำความยุ่งยากเดือดร้อนให้แก่สังคมเสมอแล้ว กายทิพย์ย่อมชั่วช้าอัปลักษณ์ ไม่มีความหมายในโลกทิพย์ และไม่ได้รับการต้อนรับให้อยู่กับกายทิพย์ที่สวยงามได้เลย

ในขณะที่กายเนื้อยังไม่สงบนิ่งนั้น จิตก็ยังไม่เป็นสมาธิ กายทิพย์ก็ยังไม่แสดงตัวให้ปรากฏ ต่อเมื่อใดกายเนื้อสงบแล้ว จิตก็เป็นสมาธิ กายทิพย์ก็ปรากฏขึ้นให้เห็นทันทีและอาจแลเห็นทิวทัศน์อันสวยสดงดงาม หรือปราสาทราชวัง ในลักษณะของมโนภาพที่ชัดเจนมาก  สิ่งที่แลเห็นเหล่านี้จะอยู่ในลักษณะที่เบาที่สุด ซึ่งสามารถเข้าถึงได้โดยการนึกน้อมเข้ามาเพ่งดูเท่านั้น ผู้ที่มีจิตสงบเป็นสมาธิจึงอยู่ในสภาพที่คล่องตัว สามารถละกายเนื้อซึ่งมีน้้ำหนัก เข้ามาอยู่ในสภาพกายทิพย์ซึ่งไร้น้้ำหนักได้ และสามารถติดต่อเจรจารู้เรื่องของกายทิพย์ผู้อื่นได้ด้วย 

เพราะกายทิพย์เป็นกายที่เกิดจากกรรม (กรรมนิยม) เช่นเดียวกับกายทิพย์ของเทพเจ้าทั้งหลาย ที่ดํารงชีวิตอยู่ด้วยกรรมเหมือนกัน ดังนั้น จึงเพียงแต่ตั้งจิตให้มีเจตนา เพ่งไปยังจุดที่ต้องการทราบเรื่องราวเท่านั้น ก็สามารถรู้คําตอบทันที โดยจะไม่มีวัตถุแท่งหนาทึบอันใด มากั้นหรือปิดบังกายทิพย์ของผู้ปฏิบัติไว้  มิให้รู้เรื่องที่ต้องการทราบได้เลย หมายความว่าเพ่งทะลุผ่านวัตถุทึบทั้งหลายไปได้ทุกชนิด ไม่ว่าจะหนาทึบเพียงใดก็ตาม ไปยังสิ่งที่ต้องการทราบโดยตรง โดยไม่มีปัญหาอะไรเลย

สิ่งที่สําคัญที่สุดในการติดต่อกับกายทิพย์อื่นๆ นั้น คือ ผู้ปฏิบัติจะกระทําได้ก็ต่อเมื่อจิตมีสมาธิดีแล้วเท่านั้น จึงจะได้รับคําตอบที่ไม่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ซึ่งสามารถรู้ได้ที่ลมหายใจเข้าออก ว่าสงบถึงขีดสุดแล้วเป็นเกณฑ์ ถ้าจิตยังไม่สามารถวางลมหายใจเข้าออกได้เมื่อใด ก็อาจได้รับคําตอบที่ผิดพลาดเมื่อนั้น

สําหรับในระยะแรกๆ ที่จิตเริ่มเป็นสมาธิบ้างนั้น ยังไม่มีพลังที่มากพอ ผู้ปฏิบัติส่วนใหญ่มักจะละฐานที่ใช้กําหนดลมหายใจไว้แต่แรก ออกไปเพลิดเพลินอยู่กับภาพทิวทัศน์ พระราชวัง และอาคารบ้านเรือน อันสวยสดงดงามเสีย สิ่งต่างๆ ที่แลเห็นอยู่นั้น เป็นอารมณ์ในชั้นของกามาวจรภูมิ ๖ ชั้นเท่านั้น ถ้าติดอยู่ในอารมณ์เหล่านี้ ก็ย่อมมีคติเพียงเทพ ๖ ชั้น ไม่อาจก้าวขึ้นไปสู่ธรรมที่ปราณีตกว่านี้ได้อีกเลย แต่ก็มีบางสํานักแนะนําว่าอย่างนี้ถูกต้องดีแล้ว 

วิธีแก้ไขปัญหาให้ผ่านไป ก็คือ ยกจิตกลับมาเพ่งที่จุดลมกระทบเด่นชัดที่สุดเสียใหม่ เพื่อใช้กําหนดลมหายใจตามเดิม ทุกครั้งที่จิตแลบออกไปเห็นสิ่งต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น  จนกว่าจิตเชื่องและไม่แลบออกไปเห็นสิ่งอื่นนอกจากลมหายใจเข้าออกตลอดเวลาเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เมื่อลมหายใจยังหยาบอยู่ก็รู้ ลมหายใจเริ่มละเอียดปราณีตแล้วก็รู้ จนกระทั่ง ลมหายใจละเอียดปราณีตที่สุด และไม่อาจกําหนดลมหายใจอันละเอียดนั้นต่อไป ดังที่เรียกว่าไม่มีลมหายใจนั้น ก็รู้อยู่ตลอดเวลา 

สภาวะที่ลมหายใจละเอียดปราณีตถึงขีดสุดนี้ จิตได้แยกตัวออกจากความผูกพันกับลมหายใจโดยเด็ดขาด และย่างเข้าสู่ความสงบขั้นสูงสุด จึงไม่มีอารมณ์อันใดเป็นนิมิตหมายที่จะเข้ามาปรุงแต่ง ให้แสดงการดีใจเสียใจอีกในขณะนี้

🌷 กายธรรม 

ณ จุดกําหนดลมหายใจเข้าออกนี้ ถ้าได้ยกจิตเพ่งพิจารณาดู จนกระทั่งลมหายใจละเอียดที่สุด ไม่สามารถจับลมหายใจได้อีกต่อไป นี้คือสภาพเดิมแท้ของจิตที่ดํารงสภาพรู้ของตนเองได้ โดยไม่ต้องอาศัยอารมณ์มาปรุงแต่งแต่ประการใดเลย กล่าวคือ หมดความเสียดแทงจากความดีใจเสียใจอันเนื่องจากอารมณ์แล้ว เรียกว่า กายธรรม ซึ่งเป็นกายชั้นในสุดของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย น้อยคนนักที่เห็นและเข้าถึง 

ดังนั้น ถ้าผู้ใดรักษาสภาวะเช่นนี้ไว้ได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะมีอารมณ์อันใดมากระทบก็ตาม ก็ย่อมไม่มีทุกข์อันเนื่องจากความดีใจเสียใจ เพราะสามารถแยกออกไปจากจิตของตนเองได้

ในขณะนี้ จิตอยู่ในสภาพอิสระ ที่จะมีหรือเข้าถึงได้ ก็ด้วยการปฏิบัติสมาธิเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ไม่อาจนึกเอา หรือคาดคะเนเอา หรือซื้อเอาด้วยกําลังทรัพย์ แต่ประการใดทั้งสิ้น สภาวะเช่นนี้ ผู้ปฏิบัติสมาธิสามารถจะรักษาไว้ต่อไปอีก เป็นเวลานานเท่าไรก็ได้ โดยไม่มีอันตรายอะไรเลย

ถ้าหากมีความสงสัยว่า เมื่อไม่มีลมหายใจแล้ว คิดตกใจกลัวตายขึ้นมาในขณะใด จิตก็จะเคลื่อนถอยออกจากสมาธิ พร้อมกับเริ่มมีลมหายใจหยาบขึ้นทันที

เมื่อลมหายใจเริ่มหยาบขึ้นจากสภาวะของกายธรรมแล้ว กายทิพย์ก็จะเริ่มเคลื่อนไหวตามด้วย กายทิพย์นี้จะเคลื่อนไหวไปมาอย่างคล่องแคล่วในชีวิตประจําวันยิ่งกว่ากายเนื้อมาก โดยที่เจ้าของกายเนื้อไม่รู้จักเลย และจะดํารงตนเป็นเหตุเป็นผลแก่กันและกันในชีวิตตามปรกติ เมื่อถึงคราวที่กายเนื้อแตกตายลงเมื่อใด กายทิพย์หรือที่เรียกว่า โอปปาติกะ ก็จะแยกตัวออกเป็นอิสระและเติบโตเต็มที่ทันที

กายทิพย์ หรือ โอปปาติกะนี้ ถ้าหากยังติดใจผูกพันชอบเสพอารมณ์ ซึ่งเกิดจากมหาภูตรูป ๔ อยู่ ก็ย่อมเคลื่อนเข้าสู่ครรภ์มารดา เพื่อสร้างกายเนื้อสําหรับอาศัยต่อไปอีก ถ้ากายทิพย์มีรูปร่างสวยสดงดงามเพราะเคยรักษาศีล ๕ ไว้ได้บริสุทธิ์ครบถ้วน มีสติสัมปชัญญะดี ก็ยอมเคลื่อนเข้าสู่ครรภ์มารดาที่เป็นมนุษย์ แต่ถ้ากายทิพย์มีรูปร่างน่าเกลียดน่ากลัว เพราะเคยเป็นคนทุศีล ด้อยสติสัมปชัญญะ ก็ย่อมไม่สามารถเคลื่อนเข้าสู่ครรภ์มารดาที่เป็นมนุษย์ได้ จึงต้องเคลื่อนเข้าสู่ครรภ์มารดาที่เป็นสัตว์เดรัจฉานทันที เพราะฉะนั้น จึงเห็นได้ว่าไม่มีสิ่งอื่นใดเลย นอกจากศีลและสติสัมปชัญญะที่ได้อบรมไว้ดี เมื่อยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น ที่เป็นเครื่องกั้นแบ่งอย่างแข็งแรง ทําให้กายทิพย์เข้าปฏิสนธิเป็นมนุษย์หรือสัตว์เดรัจฉานได้

🌷 กายเนื้อกับกายทิพย์ย่อมดำรงตนเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน

สัตว์ (ผู้ติดข้องอยู่ในอารมณ์) ในโลกมนุษย์นี้ กายเนื้อย่อมอยู่ใต้การควบคุมสั่งการของกายทิพย์ หมายความว่ากายทิพย์สั่งการสิ่งใดก็ตาม กายเนื้อย่อมทําตามที่กายทิพย์สั่งเสมอ ถ้ากายทิพย์มีพื้นฐานเป็นกุศล ก็ย่อมสั่งกายเนื้อให้ทําสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่สังคม แต่ถ้ากายทิพย์มีพื้นฐานเป็นอกุศล ก็ย่อมสั่งกายเนื้อให้ทําแต่สิ่งที่เกิดทุกข์เกิดโทษแก่สังคม ตามกําลังของกุศลและอกุศลจะบันดาลให้เป็นไปทั้งสิ้น

ส่วนสัตว์ในโลกทิพย์นั้น เป็นผู้เสวยวิบากผลที่กายเนื้อได้กระทําลงไปแล้ว กล่าวคือ ถ้ากายเนื้อกระทําในสิ่งที่ไม่ล่วงละเมิดศีล ๕ ให้ขาด ทะลุ ด่างพร้อย ก็เป็นผลทําให้กายทิพย์มีหน้าตาสวยสดงดงามและผ่องใส แต่ถ้ากายเนื้อกระทําในสิ่งที่ล่วงละเมิดศีล ๕ หรือเป็นคนทุศีล ก็จะเป็นผลให้กายทิพย์มีหน้าตาอัปลักษณ์ชั่วช้า ขุ่นมัว ไม่ผ่องใสด้วย

กายทิพย์ที่มีหน้าตาสวยสดงดงาม ก็สั่งกายเนื้อให้ทําแต่สิ่งที่เป็นกุศล เกิดประโยชน์แก่สังคม และกายทิพย์ที่มีหน้าตาอัปลักษณ์ชั่วช้า ขุ่นมัว  ไม่ผ่องใส ก็สั่งกายเนื้อให้ทําแต่สิ่งที่เป็นอกุศล เป็นพิษเป็นภัยแก่สังคม เป็นเหตุเป็นผล วนเวียนกัน ดังที่กล่าวมานี้ ตลอดเวลาที่ถูกอารมณ์เข้ามาปรุงแต่งให้เป็นไปทั้งสิ้น

เนื่องจากกายเนื้อเป็นสภาพธรรมที่มีอายุไม่ยืนยาวนัก ดังนั้น เมื่อกายเนื้อแตกตายลง สัตว์ทั้งปวงจึงถ่ายเทไปมาระหว่างโลกมนุษย์กับโลกทิพย์เสมอ กายทิพย์ที่มีหน้าตาสวยสดงดงาม ผ่องใส ย่อมไปสู่สุคติ กายทิพย์ที่มีหน้าตาอัปลักษณ์ชั่วช้า ไม่ผ่องใส ย่อมไปสู่ทุคติภูมิ ตามกรรมที่ได้ประกอบไว้เมื่อยังมีชีวิตอยู่ เป็นธรรมดา การไปสู่สุคติภูมิหรือทุคติภูมินั้น แต่ละคน แต่ละตน ต่างก็ไปตามกรรมด้วยตนเอง ไม่มีใครหรือพระเจ้าองค์ใดเป็นผู้ชี้ทางให้ จําต้องไปตามคตินั้น แต่ประการใดเลย

ผู้ที่ปฏิบัติสมาธิจนกระทั่งจิตสงบมากๆ จะเห็นกายทิพย์ของตนเองและของผู้อื่น ว่ามีหน้าตาเช่นไร ถ้าเจริญหลักธรรมเรื่องศีลสมาธิปัญญา จนเกิดพลังจิตที่เข้มแข็ง สามารถควบคุมกายทิพย์ของตนไว้จนอ่อนกําลัง  ไม่อาจทําอะไรตามอํานาจการปรุงแต่งของอารมณ์ต่อไปแล้ว กายทิพย์ก็ย่อมแตกแยก และไม่มีการจุติปฏิสนธิ เข้าเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะสงสาร เหลือแต่กายธรรมเท่านั้น หมายความว่า กายทิพย์ตายหรือสิ้นสุดอายุลงแล้ว กายธรรมคงรวมอยู่กับกายเนื้อ โดยไม่มีกิเลสเป็นเครื่องร้อยรัดเหมือนเมื่อก่อนการปฏิบัติศีลสมาธิปัญญาเลย

จากที่ได้กล่าวมาทั้งหมดนี้ เราจะเห็นได้ว่า ถ้าไม่พูดเรื่องกายเนื้อเสียอย่างเดียวเท่านั้น สัตว์ทั้งหลายที่อยู่ในโลกมนุษย์ก็ตาม โลกทิพย์ก็ตาม คงเหลือแต่กายทิพย์ซึ่งอยู่ร่วมโลกหรือมิติอันเดียวกันทั้งสิ้น พวกที่มีใจบาป หยาบช้า  ทุศีล ก็รวมอยู่กับพวกใจบาป หยาบช้าด้วยกัน พวกที่ใจบุญสุนทาน ศีลบริสุทธิ์ดี ก็อยู่รวมกับพวกใจบุญสุนทานด้วยกัน ไม่ปะปนกันเลย

ทั้งนี้แสดงว่า กายทิพย์จะมีลักษณะหน้าตาดีหรือชั่ว หรือจะมีคติอย่างไร ย่อมแล้วแต่แรงกรรมที่ได้กระทําไปแล้ว หรือเรียกว่า กรรมนิยม และเนื่องจากกายทิพย์ไร้น้ําหนัก ไม่มีอะไรถ่วงตัวเองไว้ จึงสามารถทําสิ่งที่น่าอัศจรรย์ให้เกิดขึ้นได้ ตามกําลังและบารมีที่ได้อบรมมาในอดีตได้ เพียงแต่นึกขึ้นเท่านั้น ก็สําเร็จตามความต้องการทันที

🌷 มิคสัญญี (มีความทรงจําเหมือนสัตว์ป่า) 

กายทิพย์ที่สวยสดงดงามก็ตาม หรือกายทิพย์ที่ไม่สวยสดงดงาม อัปลักษณ์ก็ตาม สามารถส่งผลแสดงออกมาทางสีหน้าของกายเนื้อได้เหมือนกัน ดังจะเห็นได้ว่าผู้ที่เจริญเมตตาไว้มากๆ แล้วนั้น สีหน้าย่อมแช่มชื่นและแสดงความปรารถนาดีต่อผู้อื่นเสมอ แต่ผู้ที่ประกอบกรรมที่ทุจริตไว้แล้วนั้น สีหน้าย่อมเต็มไปด้วยความปริวิตกกังวล ไม่แช่มชื่นตามสมควร ดังนี้เสมอ

ยุคใดปริมาณสัตว์ที่มีกายทิพย์ผ่องใสอยู่เป็นจํานวนมาก สามารถรวมกําลังกันจรรโลงเผยแพร่หลักปฏิบัติธรรมในพระศาสนา ให้เป็นไปอย่างกว้างขวางแพร่หลายแล้ว ยุคนั้นโลกก็เต็มไปด้วยความสงบสันติสุข เราก็กล่าวกันว่าศีลธรรมเจริญดี พระศาสนาก็มั่นคง

ยุคใดที่ปริมาณสัตว์ที่มีกายทิพย์มืดมัว ชั่วช้าอัปลักษณ์ อยู่เป็นจํานวนมาก ประพฤติตนสวนทางกับหลักศีลธรรมในพระศาสนา หรือหักล้างหลักศีลธรรมเสีย  และมองเมินการปฏิบัติศีลสมาธิปัญญา เอาแต่เรียนวิชาศีลธรรมภาคปริยัติ ไว้เพื่อให้ได้ลาภสักการะเท่านั้น ยุคนั้นโลกก็เต็มไปด้วยความยุ่งยากเดือดร้อน และปัญหาสังคมอันยุ่งยาก มีการฆ่าฟันกันมากมาย เราก็กล่าวกันว่า ศีลธรรมเสื่อมทราม พระศาสนาก็ไม่มั่นคง เพราะขาดการปฏิบัติธรรมอย่างเพียงพอ ที่จะช่วยอบรมจิตใจสังคมให้ประพฤติดีแล้ว 

ทั้งนี้หมายความว่า ถ้าสังคมสนใจปฏิบัติธรรมเรื่องศีลสมาธิปัญญา อย่างกว้างขวางทั่วถึงกันมากเพียงใด ก็ย่อมเป็นสัญญาณชี้บอกถึงความมั่นคงของพระศาสนาได้มากเพียงนั้น ถ้าสังคมไม่สนใจปฏิบัติธรรมเรื่องนี้อย่างกว้างขวางมากขึ้น ศีลธรรมที่มีในจิตใจสังคมก็ย่อมลดระดับต่ําลงตามด้วย และถ้ายิ่งลดระดับลงถึงขีดสุดแล้ว ศีลธรรมทั้งหลายในพระศาสนาก็ย่อมหายหมดไปจากจิตใจอย่างสิ้นเชิง ทําให้มนุษย์และสัตว์ป่ามีความเป็นอยู่ไม่แตกต่างจากกัน และมีความจำได้หมายรู้ที่คอยจ้องประหัตประหารซึ่งกันและกันอย่างเดียว ในเมื่อผลประโยชน์ขัดกันเท่านั้น เราก็เรียกว่าเป็นยุคมิคสัญญี (คือยุคที่มนุษย์มีความทรงจําเหมือนสัตว์ป่า) ซึ่งเป็นเวลาที่ไฟกิเลสเริ่มร้อนแรง สามารถเผาทําลายโลกให้พินาศได้แล้ว

มนุษย์ทุกคนในยุคมิคสัญญีนี้ ต่างก็ไม่สนใจเรื่องศีลสมาธิปัญญาในพระพุทธศาสนาอีกแล้ว ต่างไม่คํานึงถึงศีลธรรมกันเลย แต่ต่างก็คิดจะทําสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ตนถนัด เพื่อให้ได้รับประโยชน์ในรูปวัตถุเป็นสําคัญ และคิดทําลายประหัตประหารฝ่ายตรงข้าม ที่เข้ามาขัดขวางผลประโยชน์ของตนเสีย จับสิ่งใดขึ้นมาก็สามารถใช้เป็นอาวุธ สําหรับเข่นฆ่าประหัตประหารกันได้หมด ดังนั้นจึงต้องแบ่งพรรคแบ่งพวกต่อสู้ทําลายล้างกัน จนเผาโลกทั้งโลกให้พินาศไปจนหมดสิ้นในที่สุด ที่เรียกว่า ไฟบรรลัยกัลป์ นั้นทีเดียว

เพราะฉะนั้น ถ้าทุกคน ทุกท่าน ทุกสถาบัน ต่างร่วมมือร่วมใจกัน สนับสนุนผลักดัน ให้มีการปฏิบัติศีลสมาธิปัญญาเป็นประจําอย่างกว้างขวาง โดยไม่ปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรมแล้ว ไฟบรรลัยกัลป์ย่อมเกิดขึ้นเผาล้างโลกไม่ได้เลย 

ทั้งนี้หมายความว่า นอกจากการสร้างความเจริญด้านวัตถุซึ่งได้ดําเนินรุดหน้า ทิ้งความเจริญด้านจิตใจไว้ข้างหลังอย่างไกลลิบลับ ในระยะเวลาที่ผ่านมาแล้วนั้น ทุกคน ทุกท่าน และทุกสถาบัน จะต้องผนึกกําลังกันสร้างความเจริญด้านจิตใจเป็นพิเศษ ให้ก้าวทันความเจริญด้านวัตถุด้วย เพราะเป็นงานที่มีขอบเขตใหญ่เกินกําลังของบุคคลหรือสถาบันเดียวที่จะทําได้

🌷 🌷 🌷 

จากพระบาลีข้างต้นนั้น เราจะเห็นว่าองค์ธรรมอันนำไปสู่ที่หมายตามต้องการได้นั้น เทียบลงได้กับอินทรีย์ ๕ อันมี ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ที่เรียกธรรมเหล่านี้ว่าอินทรีย์ เพราะแต่ละอย่างเป็นใหญ่ในการทำหน้าที่ของตน หน้าที่ในที่นี้ คือ การกวาดล้างอกุศลธรรมที่เป็นฝ่ายตรงข้าม อันได้แก่ ศรัทธากวาดล้างความไร้ศรัทธา วิริยะกวาดล้างความเกียจคร้าน สติกวาดล้างความประมาท สมาธิกวาดล้างความฟุ้งซ่าน ปัญญากวาดล้างความโง่ ความหลง 

พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า "การเจริญให้มาก กระทำให้มากซึ่งอินทรีย์ ๕ ภิกษุจึงกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน" เทียบได้กับอริยมรรคมีองค์ ๘ อันมี สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ จัดลงในหมวดปัญญา สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ จัดลงในหมวดศีล สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ จัดลงในหมวดสมาธิ ส่วนสัทธินทรีย์นั้น จัดให้ลงในหมวดศีล จัดวิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธิอินทรีย์ ลงในหมวดสมาธิ จัดปัญญินทรีย์ ลงในหมวดปัญญา เมื่อเป็นเช่นนี้ องค์ธรรมทั้งสองนั้นเกี่ยวข้องกับกายเนื้อ กายทิพย์ และกายธรรม ได้อย่างไร

เนื่องจากองค์ธรรมทั้งสองนี้สามารถปราบความคิดได้ เพราะความคิดนั้นเองคือกายทิพย์ ส่วนบุคคลผู้ปฏิบัติองค์ธรรมทั้งสองต้องอาศัยกายเนื้อเพื่อให้รู้จักกายทิพย์ เมื่อปฏิบัติธรรมจนรู้จักกายทิพย์เป็นอันดีแล้ว ย่อมรู้จักวิธีจัดการกับกายทิพย์ให้อยู่มือ จนกระทั่งเข้าถึงกายธรรมได้โดยไม่ยาก ก็ด้วยการปฏิบัติธรรมสมาธิกรรมฐานภาวนาเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

เรามาพิจารณาว่า องค์แห่งสมาธิในอริยมรรค มีอะไรบ้าง ดังนี้ ประกอบด้วย 
สัมมาวายามะ ความเพียรชอบ คือ 
เพียรละความคิดอันเป็นอกุศลที่ยังไม่เกิด ไม่ให้เกิดขึ้น  
เพียรละความคิดอันเป็นอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว ให้หมดไป 
เพียรยังความคิดอันเป็นกุศลที่ยังไม่เกิด ให้เกิดมีขึ้น
เพียรยังความคิดอันเป็นกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว ให้เจริญยิ่งๆ ขึ้น 

เมื่อสามารถประคองจิตของตนด้วย สัมมาสติ ณ ฐานที่ตั้งสติ คอยระลึกรู้อยู่ทุกลมหายใจเข้าออก เป็นการยังกุศลธรรมให้เจริญยิ่งๆ ขึ้น บรรดาอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลาย เช่น ราคะ โทสะ โมหะ จะเข้ามาครอบงำจิตของตนไม่ได้เลย เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว จิตของตนก็ย่อมตั้งมั่นชอบ เป็นสัมมาสมาธิ เอวัง.

พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท
เทศนาธรรม ๑๔ กันยายน ๒๕๖๔





Create Date : 15 กันยายน 2564
Last Update : 3 มกราคม 2565 13:38:05 น.
Counter : 635 Pageviews.

1 comment
การระลึกชาติ


🌷 การระลึกชาติ

วันจันทร์ที่ ๖ กันยายน ๒๕๖๔ ตรงกับวันพระแรม ๑๔ ค่ำเดือน ๙ 

เจริญพร สวัสดี สาธุชนทั้งหลาย ที่เราเข้ามาศึกษาสนใจพระพุทธศาสนานั้น ก็เพื่อให้เกิดความสุขสวัสดีกับตนเองและคนรอบข้างของเรา เป็นการสร้างบุญ สร้างกุศลธรรม  [คำว่า กุศล ตามพจนานุกรมพุทธศาสตร์ แปลว่า บุญ ความดี ฉลาด สิ่งที่ดี กรรมดี]  

โดยเฉพาะกุศลที่เกิดจากการปฏิบัติธรรมสมาธิกรรมฐานภาวนาด้วยแล้ว เป็นครุกรรมฝ่ายกุศลเลยทีเดียว เป็นกรรมที่ให้ผลก่อนกรรมอื่น เหมือนคนอยู่บนที่สูง เอาวัตถุต่างๆ ทิ้งลงมา อย่างไหนหนักที่สุด อย่างนั้นย่อมถึงพื้นก่อน 

เพราะศาสนาพุทธนั้นอยู่บนหลักเหตุผล เป็นวิทยาศาสตร์ทางจิต สามารถนำมาพิจารณาติตรอง ให้รู้เห็นตามความเป็นจริงได้ ไม่ใช่เป็นไปเพื่อการขอร้อง การอ้อนวอน การเชื่อแบบงมงาย 

แต่พระพุทธศาสนานั้นเป็นไปเพื่อเข้าถึงโลกุตตรธรรม เพื่อให้เห็นแจ้ง เพื่อให้รู้เห็นตามความเป็นจริงว่า นี่ทุกข์ นี่เหตุให้ทุกข์เกิด นี่ความดับแห่งทุกข์ นี่ทางปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งทุกข์ ชัดเจนว่า ปัญญาจะเกิดขึ้นได้นั้น ย่อมเกิดจากการประกอบภาวนานุโยค (พระพุทธพจน์) และต้องตั้งตนไว้ชอบ คือ ต้องเพียรกระทำให้มาก เจริญให้มาก ซึ่งสัมมาสมาธิ อันมีสติกำหนดรู้อยู่ทุกลมหายใจเข้า และรู้อยู่ทุกลมหายใจออกเป็นอารมณ์ เท่านั้น ดังมีพระบาลีรับรองไว้ดังนี้

"อานาปานสติ ภิกฺขเว ภาวิตา พหุลีกตา มหปฺผลา โหติ มหานิสํสา  
อานาปานสติ ภิกฺขเว ภาวิตา พหุลีกตา จตฺตาโร สติปฏฺฐาเน ปริปุเรนฺติ
จตฺตาโร สติปฏฺฐานา ภาวิตา พหุลีกตา สตฺต โพชฺฌงฺเค ปริปุเรนฺติ
สตฺต โพชฺฌงคา ภาวิตา พหุลีกตา วิชฺชา วิมุตฺตึ ปริปุเรนฺติ"


แปลว่า 

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานาปานสตินี้
เมื่อพวกเธอเจริญให้มาก กระทำให้มากดีแล้ว ย่อมยังให้เกิดผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานาปานสตินี้
เมื่อพวกเธอเจริญให้มาก กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังให้สติปัฏฐานสี่นี้บริบูรณ์

สติปัฏฐานสี่นี้บริบูรณ์ดีแล้ว เมื่อพวกเธอเจริญให้มาก กระทำให้มากแล้ว
ย่อมยังให้โพชฌงค์เจ็ดนี้บริบูรณ์

โพชฌงค์เจ็ดนี้บริบูรณ์ดีแล้ว เมื่อพวกเธอเจริญให้มาก กระทำให้มากแล้ว
ย่อมยังให้เกิดวิชชา วิมุตติ จิตหลุดพ้น ดังนี้” 


จากพระพุทธพจน์ทำให้เห็นได้ว่า การเจริญธรรมอย่างเดียว ชื่อว่าได้เจริญธรรมอย่างอื่นๆ อีกมากมาย 

จากนี้เราพิจารณากระแสธรรมต่อจากวันพระก่อนๆ เรื่องหัวใจพระพุทธศาสนา

🌷 การระลึกชาติ

การระลึกชาติ หมายถึง การนําเอาเรื่องราวเหตุการณ์ต่างๆ ในชาติที่แล้วมาเล่าให้ฟัง อย่างถูกต้องตามความเป็นจริง ซึ่งส่วนมากมักจะเคยได้ยินได้ฟังกันมาแล้ว ไม่มากก็น้อย ผู้ที่ระลึกชาติได้บางราย สามารถพาไปชี้สถานที่ บุคคล  ทรัพย์สินที่ซ่อนไว้ในชาติที่แล้ว มาประกอบกับคําเล่าบรรยายให้ผู้ฟังเห็นสมจริงอีกด้วย

เท่าที่เป็นอยู่ ทุกคนต่างยอมรับกันว่า การระลึกชาติได้ เป็นปรากฏการณ์ตามธรรมชาติที่มีอยู่ทั่วโลก ไม่ว่าชนหมู่ใด ศาสนาใด ที่สําคัญของโลก รวมทั้งพระพุทธศาสนา ได้รับรองต้องกันว่ามีจริง ถึงแม้ว่าอารยประเทศทั้งหลาย เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น ก็เชื่อถือในเรื่องนี้ และต่างก็พยายามที่จะหาเหตุผลว่าอะไรที่ทําให้มีการระลึกชาติได้ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาจะออกไปค้นคว้าสอบสวนยังมุมต่างๆ ของโลก ที่ปรากฏว่ามีผู้ระลึกชาติเกิดขึ้น จากนั้นก็จะเขียนบทความเรื่องราวที่ไปสอบสวนมาได้นั้น ออกตีพิมพ์แล้วส่งไปยังประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ให้กว้างขวางแพร่หลายต่อไปอีก

ส่วนใหญ่ เรื่องที่ออกไปสอบสวนมาจากผู้ระลึกชาติสามัญชน มักจะเป็นเรื่องราวเหตุการณ์ของชาติที่อยู่ใกล้ๆ หรือติดกับชาติปัจจุบันเฉพาะหน้านี้ ซึ่งเป็นระยะเวลาอันสั้น คือ ห่างกันเพียง ๑ หรือ ๒ ปี ผู้ระลึกชาติได้มักจําเรื่องราว บุคคล ทรัพย์สิน สถานที่ และเหตุการณ์ต่างๆ ในชาติที่แล้วได้ดี เพราะยังไม่ทันจืดจางลืมเลือนไปจากความทรงจำ จึงนำมาเล่าให้ฟังอย่างถูกต้องตามความเป็นจริงได้ ดังนั้น เรื่องการระลึกชาติจึงไม่ใช่เรื่องเหลวไหลไร้สาระ และผู้ที่รักเหตุผลย่อมปฏิเสธไม่ลงว่าไม่จริง ถึงแม้ว่าตนเองและอีกหลายๆ คนจะไม่สามารถระลึกชาติที่แล้วมาของตนเองได้ก็ตาม

เนื่องจากมีปรากฏการณ์เรื่องการระลึกชาติได้อยู่ตามธรรมชาติ จึงเป็นหลักฐานอันสําคัญที่ทําให้ปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่มีการเวียนว่ายตายเกิดของสัตว์ทั้งหลายในสังสารจักร เพราะฉะนั้น ศาสนา ลัทธิ หรือกลุ่มบุคคลใดก็ตาม ที่มีความเข้าใจขัดแย้งกับปรากฏการณ์เรื่องการระลึกชาติได้ เช่น มีความเข้าใจว่าสัตว์เกิดหนเดียว ตายหนเดียว แล้วก็ดับสูญไปสิ้น เป็นต้น จึงผิดอย่างไม่มีปัญหา ถึงแม้ว่าศาสนา ลัทธิ หรือกลุ่มบุคคลนั้นๆ จะพยายามสร้างบทความหรือทฤษฎีว่าตายแล้วสูญไว้กี่ฉบับหรือกี่เล่มก็ตาม ย่อมถูกปัญญาชนรุ่นหลังหักล้างและเลิกให้ความสนใจเชื่อถืออย่างสิ้นเชิงแน่ๆ เพราะว่าบทความหรือทฤษฎีเรื่องตายแล้วสูญ ขัดกับปรากฏการณ์เรื่องการระลึกชาติ อย่างตรงกันข้ามทีเดียว

ในพระพุทธศาสนานี้ มีกล่าวไว้มากมายหลายแห่งที่เกี่ยวกับเรื่องระลึกชาติ เช่น ปุพเพนิวาสานุสติญาณ (พระญาณที่สามารถระลึกชาติที่แล้ว ถอยหลังออกไปเป็นเอนกชาติ) และจุตูปปาตญาณ (พระญาณที่สามารถระลึกชาติที่สัตว์จะต้องไปเกิดต่อไปข้างหน้า อีกนับเป็นเอนกชาติ) ซึ่งได้บรรลุเมื่อคืนที่ได้ตรัสรู้นั้น เป็นเรื่องของการข้ามภพข้ามชาติทั้งสิ้น ทรงยืนยันว่าการที่สัตว์จะไปเกิดอยู่ในภพชาติใดก็ตาม ย่อมเป็นไปตามอํานาจของกรรม เหมือนกันหมด ดังที่ได้ทรงแสดงกฏของกรรมให้พุทธบริษัททราบแล้วนั้นทุกประการ

ผู้ที่เห็นว่าตายแล้วสูญ ย่อมปฏิเสธคําบรรยายเช่นนี้ว่า เป็นเรื่องของชาตินี้ชาติเดียว ไม่มีการข้ามภพข้ามชาติอะไรเลย ทั้งๆ ที่มีปรากฏการณ์เรื่องการระลึกชาติได้ยืนยันอยู่ชัดๆ  ผู้ที่เห็นว่าตายแล้วสูญ ได้ตั้งสมมติฐานขึ้นเองว่า วันที่กําลังปรากฏอยู่วันนี้คือชาตินี้ การระลึกชาติของเขาก็คือระลึกถอยหลังนับตั้งแต่วันวานนี้เป็นต้นไป แต่อยู่ในชาตินี้เท่านั้น นับว่าเป็นปุพเพนิวาสานุสติญาณ และระลึกถึงวันพรุ่งนี้ออกไปข้างหน้า แต่ก็อยู่ในชาตินี้เช่นเดียวกัน นับเป็นจุตูปปาตญาณ ของเขา

กล่าวให้ชัดเลยว่า พอนอนหลับข้ามคืนเท่านั้น ก็เปลี่ยนชาติแล้ว เมื่อวานนี้เป็น ชาติที่แล้ว วันนี้เป็นชาตินี้ และพรุ่งนี้เป็นชาติหน้าของเขา ทํานองนี้บ้าง บางทีก็เอากิเลสที่เกิดขึ้นครั้งหนึ่งเป็นชาติหนึ่งบ้าง ถ้าเป็นฝ่ายกุศล ก็ว่าเป็นเทวดา เป็นพระพรหม ถ้าเป็น ฝ่ายอกุศล ก็ว่าเป็นสัตวนรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน ในขณะนั้นทันที โดยไม่ต้องรอให้ตายเสียก่อน ทํานองนี้บ้างก็มี

เพราะฉะนั้น ถ้าหากข้อสมมุติเช่นนี้เป็นจริงแล้ว ใครๆ ก็ย่อมสามารถระลึกชาติได้โดยง่าย ลุงมีป้ามา ลุงสีป้าสา ก็ย่อมบรรลุปุพเพนิวาสานุสติญาณและจุตูปปาตญาณ เช่นเดียวกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยไม่ต้องลงมือปฏิบัติอะไรเลย อย่างไรก็ตาม ขึ้นชื่อว่าเป็นสัจธรรมแล้ว ก็ย่อมเป็นสัจธรรมที่ยืนตัวให้พิสูจน์ได้เสมอ นั่นก็คือ ในยามที่สามของคืนที่ตรัสรู้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบรรลุอาสวักขยญาณ (พระญาณที่ทําให้อาสวกิเลสหมดสิ้นไป) ซึ่งเป็นผลมาจากการบรรลุพระญาณทั้งสองดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ทําให้พระพุทธองค์ทรงเบื่อหน่ายการเวียนว่ายตายเกิดไปในพระชาติต่างๆ ตามอํานาจของกรรมโดย ไม่รู้จักจบสิ้น แต่ลุงมีป้ามา ลุงสีป้าสา ก็ยังไม่สามารถทํากิเลสของตนเองให้หมดไปได้ เหมือนพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ดังนั้น จึงเห็นได้ชัดเจนว่า การระลึกชาติได้นั้น เป็นเรื่องของการระลึกเรื่องราวข้ามภพข้ามชาติจริงๆ ไม่ใช่การระลึกว่าเมื่อวันวานนี้ทําอะไรไว้บ้าง แล้วพรุ่งนี้จะไปทํา อะไรอีกต่อไป หรือระลึกว่ามีกิเลสชนิดไหนเกิดขึ้นแล้วในอดีต และจะมีกิเลสชนิดใดเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต ตามข้อสมมุติของนักธรรมะที่มีความเห็นว่าตายแล้วสูญ ที่กล่าวมาแล้ว แต่ประการใดทั้งสิ้น

🌷 ชาติ (ความเกิด) ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

มีพุทธพจน์ในสติปัฏฐานสูตร ว่าไว้ดังนี้ คือ "ขนฺธานํ ปาตุ ภาโว อายตนานํ ปฏิลาโภ" แปลว่า "การเกิดขึ้นแห่งขันธ์และมีอายตนะพร้อม คือ มี ตา  หู จมูก  ลิ้น กาย  ใจ รวมเป็นรูปร่างกายนี้เท่านั้น เรียกว่า ชาติ (ความเกิด)"

ส่วนการเกิดกิเลสทางใจนั้น เรียกว่า อุบัติ ไม่ใช่ชาติ เพราะฉะนั้น คําว่า เวียนว่ายตายเกิด ที่มีมาในพุทธพจน์ทุกแห่ง จึงหมายถึง การเคลื่อนออกจากรูปร่างกายที่แตกทําลายลง, ของจิต ไปสร้างรูปร่างกายชุดใหม่ที่มีอายตนะครบถ้วน สําหรับจะได้ใช้ติดต่อกับอารมณ์ที่น่ารักใคร่อีกต่อไปเพียงอย่างเดียวเท่านั้น มิได้ทรงหมายความคลุมเครือให้คนภายหลังคิดว่า เป็นการเวียนว่ายอยู่ในกิเลสต่างๆ ในชาติปัจจุบันนี้ หรือทําให้คิดไปได้ว่า กิเลสที่เกิดขึ้นครั้งหนึ่งคือชาติหนึ่ง แต่ประการใดทั้งสิ้น

การที่จิตต้องสร้างรูปร่างกายชุดใหม่ขึ้นอีกนี้ ก็เพื่อจะได้ใช้เป็นเครื่องมือสําหรับ ติดต่อกับอารมณ์ต่างๆ อีก เพราะจิตไม่มีรูปร่างที่จะติดต่อกับอารมณ์โดยตรงได้ ดังนั้น จึงเห็นได้ชัดเจนว่า จิตจําเป็นต้องสร้างภพสร้างชาติต่อไป ก็ด้วยความอาลัยในรสชาดของการเสพอารมณ์เท่านั้น ดังพุทธพจน์ที่มาในมหาปรินิพพานสูตรว่าดังนี้ คือ "ความเวียนว่ายของเรา เข้าไปในภพชาติอันยาวนานนับไม่ถ้วนนั้น เป็นเพราะไม่รู้จักอริยสัจ ๔ ด้วยปัญญาอันชอบ ดังนี้"

พระพุทธพจน์ที่ยกมาแสดงนี้ สอดคล้องกับพุทธพจน์ที่มาในตัณหาสังขยสูตร ต่อไปนี้คือ "ตณฺหา สมฺภูโต อยํ กาโย, ตณฺหํ นิสฺสาย, ตณฺหํ ปหาตพฺพา" แปลว่า "กายนี้เกิดขึ้นเพราะตัณหา (คือจิตที่ถูกย้อมด้วยราคะ) เธอเข้าไปอาศัยตัณหาแล้ว จงละตัณหาเสียเถิด" 

ทั้งนี้แสดงว่า ถ้าจิตยังติดใจในรสชาดของอารมณ์อยู่ตราบใด ตายแล้ว ก็ยังจะต้องสร้างรูปร่างกายชุดใหม่เพื่อใช้ติดต่อกับอารมณ์อีกต่อไปเสมอ ตราบนั้น เมื่อจิตได้เสพอารมณ์สมดังที่ตั้งใจไว้แล้ว นามขันธ์ ๔ คือ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็ย่อมเกิดขึ้นครบทุกครั้ง

โดยสรุปแล้ว พระพุทธองค์ได้ทรงแยกจิตกับร่างกายเป็นคนละส่วน จิตเป็นผู้สร้างรูปร่างกายขึ้นมา สําหรับอาศัยติดต่อกับอารมณ์เท่านั้น เมื่อรูปร่างกายชุดนี้เก่าแก่คร่ําคร่า และเสื่อมโทรมแตกทําลายลง ก็ต้องดิ้นรนหาทางสร้างรูปร่างกายชุดใหม่ขึ้นอีก เพื่อใช้ติดต่อกับอารมณ์ที่ตนปรารถนาต่อไป เพราะฉะนั้น จึงทรงแสดงธรรมข้ามภพข้ามชาติอย่างไม่มีปัญหา

🌷 การแยกจิตที่ผสมรวมอยู่ในร่างกาย 

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสถามพระภิกษุที่มาจากที่ไกล เพื่อมาเข้าเฝ้าพระองค์ว่า "สรีรยนฺตํ จตุจกฺกํ นวทฺวารํ ขมนิยํ" แปลว่า "สรีรยนต์อันมีจักร ๔ (มือ ๒ เท้า ๒) และทวารทั้ง ๙ ของพวกเธอ  พออดพอทนกันดีอยู่หรือ"

การที่ทรงเปรียบรูปร่างกายว่าเป็นเครื่องยนต์ ก็เพราะว่ามีกลไกอยู่ทั่วตัว เช่น หัวใจ ปอด ม้าม ตับ เป็นต้น ที่ทํางานสัมพันธ์กันไปตลอดชีวิต โดยไม่มีเวลาพักผ่อนเลย ดังนั้น จึงย่อมเมื่อยล้าเสื่อมโทรมไปตามสภาพเป็นธรรมดา พระพุทธองค์ได้ทรงแยกจิตออกเป็นคนละส่วน ต่างหากจากรูปร่างกาย และทรงถือว่าจิตเป็นประธานดูแล เสวยผลจากความปรวนแปรไปตามกาลเวลาของรูปร่างกายด้วย จึงได้ตรัสทักทายพระภิกษุ ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนี้ ด้วยพระเมตตา

เมื่อจิตเป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่รูปร่างกายแล้ว จิตจึงไม่ใช่สมอง หรือสิ่งมีชีวิต ชีวภาพอย่างใดในรูปร่างกายนี้ และรูปร่างกายซึ่งเปรียบดังสรีรยนต์ก็ไม่ใช่จิต เพราะจิตไม่มีรูปร่างให้แลเห็นได้ด้วยตา แต่ต่างคนต่างอาศัยซึ่งกันและกัน เหมือนดังคนอาศัยอยู่ในบ้าน และบ้านก็อาศัยคนให้คอยดูแลรักษาความสะอาด ดังนี้ เป็นต้น

รูปร่างกายนี้ มีอยู่สองชั้น คือ ชั้นใน กับ ชั้นนอก ซ้อนกันอยู่ รูปร่างกายชั้นนอก เรียกว่า กรัชกาย (กายเนื้อ) ต้องอาศัยบิดามารดาเป็นแดนเกิด และเมื่อเกิดออกมาแล้ว ก็ต้องอาศัยกินอาหารที่เป็นมหาภูตรูป ๔ สําหรับบํารุงซ่อมแซมร่างกายส่วนที่สึกหรอ และต้องคอยบํารุงรักษาความสะอาดอยู่เป็นนิตย์ เมื่อเกิดมาแล้ว รูปร่างกายก็ย่อมปรวนแปรไปตามกาลเวลา และต้องตายลงในที่สุดเป็นธรรมดา เหมือนกับอาคารบ้านเรือนที่ต้องเก่าแก่ คร่ําคร่า และผุพังในที่สุด ทุกประการ ไม่มีรูปร่างกายเนื้ออันใดสามารถยืนอยู่คู่ฟ้าได้เลย มีกําหนดอายุขัยไว้ประมาณ ๑๐๐ ปีก็ต้องตาย

ส่วนรูปร่างกายขึ้นใน เรียกว่า โอปปาติกะ กายทิพย์ นามกาย หรืออทิสสมานกาย อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ รูปร่างกายชั้นนี้ ซ้อนอยู่ในกายเนื้อ เกิดจากจิตนึกคิดปรุงแต่งกับอารมณ์ทางใจ ดังนั้นจึงไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเนื้อ นอกจากเห็นได้ด้วยสมาธิอย่างสูงเท่านั้น เนื่องจากร่างกายชั้นนี้เกิดขึ้นจากกรรม จึงไม่ต้องอาศัยบิดามารดาเป็นแดนเกิดเหมือนดังกายเนื้อ และไม่ต้องอาศัยกินอาหารเป็นคําๆ สําหรับหล่อเลี้ยงให้มีอายุยืนยาวต่อไป ปรกติร่างกายชั้นนี้จะเปลี่ยนแปรไปตามกรรมที่ได้กระทําลงไปเสมอ คือ ผ่องใส สวยงาม เศร้าหมอง อัปลักษณ์ ตามศีลที่มี และมีอายุยืนยาวตลอดเวลาที่ยังเวียนว่ายอยู่ในสังสารจักร ถ้าปฏิบัติศีลสมาธิปัญญาจนมีพลังแก่กล้าเมื่อใด กายชั้นนี้จึงจะอ่อนกําลังและตายลงในที่สุด จิตแยกตัวออกจากอารมณ์ต่างๆ อย่างเด็ดขาด จัดเป็นกายธรรมชั้นวิราคธรรม ซึ่งเรียกว่าได้บรรลุถึงพระนิพพานในพระพุทธศาสนานี้

ผู้ที่ไม่ได้ปฏิบัติสมาธิย่อมมองไม่เห็น ยิ่งผู้ที่ไม่เคยศึกษาธรรมะมาด้วยแล้ว ส่วนมากมักไม่ยอมเชื่อว่ามีจริง โดยเฉพาะผู้ที่มีทิฐิว่าตายแล้วสูญ ต้องปฏิเสธทันทีที่พูดถึงเรื่องนี้ เพราะมองไม่เห็นกายทิพย์ด้วยตาเนื้อของตนเอง จึงทํากรรมต่างๆ โดยไม่เกรงกลัวผลที่จะตามมา เมื่อกายเนื้อชั้นนอกตายลงเมื่อใด  โอปปาติกะซึ่งเป็นกายชั้นในก็ย่อมคว้าเอาอารมณ์ชั่วที่มาประชิดจิตในขณะนั้นไปเกิด และเติบโตเต็มที่ทันทีโดยไม่ต้องอาศัยบิดามารดาเป็นแดนเกิดเลย ผลจากการคว้าเอาอารมณ์ชั่วไปด้วย ก็คือ นำผู้นั้นไปสู่ทุคติ ตามกรรมหนักเบาของตนที่ได้เคยทําไว้ เมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่นั้น ทุกประการ

สามัญชนที่ไม่ได้ศึกษาธรรมะมาก่อน ย่อมไม่รู้จักกายทิพย์ชั้นใน ซึ่งมีอายุยืนยาว และมีแก่นสารมากกว่า จึงยึดถือกายเนื้อว่าเป็นตัวตน และคอยทะนุบํารุงกายเนื้อของตนไว้ให้เข้มแข็ง มีประสิทธิภาพในการเสพอารมณ์กามคุณ รวมทั้งมุ่งแสวงหาไว้ครอบครองให้นานที่สุด เท่าที่จะนานได้ โดยไม่ได้ศึกษาความจริงของชีวิตตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนา จึงต้องจมอยู่ในกองทุกข์ตลอดเวลา เมื่อถึงคราวร่างกายเนื้อแก่ คร่ําคร่า เสื่อมคุณภาพ และจะต้องตายลงตามอายุขัย ก็ย่อมต้องโทมนัสเสียใจ ที่ต้องพลัดพรากจากอารมณ์ที่ตนพอใจรักใคร่นี้ไปด้วยความจําใจ 

ดังนั้น จึงไม่ได้ทําคุณงามความดีอย่างใดที่เป็นประโยชน์แก่ตนเองและมนุษยชาติไว้เลย มีแต่คิดกอบโกยผลประโยชน์ต่างๆ เอาไว้บํารุงกามคุณตนเองและบริวารเท่านั้น ผู้นี้จึงผ่านชีวิตของตนมาอย่างไร้ประโยชน์ ไม่มีคุณค่าอะไรแก่สังคมทั้งสิ้น เมื่อตายลงไปโดยจิตไม่สามารถปล่อยวางความยึดถือสิ่งที่ตนได้กอบโกยไว้แล้ว ก็ย่อมต้องวนเวียนเฝ้าทรัพย์ไว้ แบบที่เรียกว่า "ปู่โสมเฝ้าทรัพย์" ทําให้ไม่มีความสุขเพราะกลัวว่าจะมีคนอื่นมาแย่งเอาไป, ก็ได้

สําหรับผู้ที่ได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมแล้ว ก็ย่อมรู้จักชีวิตนี้ตามความเป็นจริงว่า เป็นทุกข์ที่ทับถมเข้ามาอย่างไม่รู้จักจบสิ้น จึงไม่ติดใจเพลิดเพลินอยู่กับอารมณ์ใดๆ เกินสมควร เขาจึงคิดทําสิ่งที่เป็นกุศลและเป็นประโยชน์แก่สังคม เพื่อจะได้ถอนตัวออกจากกองทุกข์ให้ได้ในที่สุด ทําดังนี้จึงจะนับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ไม่เสียทีที่ได้เกิดมาในโลกนี้อย่างแท้จริง ถ้าประเทศชาติมีบุคคลเช่นนี้มากๆ สังคมก็ย่อมร่มเย็นเป็นสุขโดยทั่วกัน

🌷 ความสัมพันธ์ระหว่างกายเนื้อ กายทิพย์ กายธรรม

ก่อนอื่นขอกล่าวถึงคําว่า กายทิพย์ หรือทิพยกาย ซึ่งมีปรากฏอยู่ในพระไตรปิกมากมายหลายแห่ง เช่น ในมหาสมัยสูตร กล่าวว่าดังนี้ คือ 

"เย เกจิ พุทธํ สรณํ คตา, เส น เต คมิสฺสนฺติ อปายภูมึ" แปลว่า "ชนทั้งหลายเหล่าใด เข้าถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง ชนทั้งหลายเหล่านั้น จักไม่ไปสู่อบายภูมิ" 

"ปหาย มานุสํ เทหํ เทวกายํ ปาริปูเรสฺสนฺตีติ" แปลว่า "เมื่อละกายที่เป็นของมนุษย์ (กายเนื้อ) แล้ว จักยังกายทิพย์ให้บริบูรณ์ ดังนี้"

แสดงว่า พระสูตรนี้ได้เอา กายเนื้อเป็นโลกนี้ (อิธโลโก) และเอากายทิพย์เป็นโลกหน้า (ปรโลโก) คือเอากรรมที่กายเนื้อทําไว้เป็นเหตุ และเอากายทิพย์เป็นผลของโลกนี้ เมื่อกรรมได้ให้ผลสิ้นสุดแล้ว ก็อาจจะกลับมาสู่กายเนื้อต่อไปอีกก็ได้

กล่าวตามข้อเท็จจริงแล้ว ทั้งกายเนื้อและกายทิพย์ต่างก็เป็นสังขารธรรมด้วยกันทั้งสิ้น ดังนั้นจึงต่างก็ต้องตกอยู่ในอํานาจพระไตรลักษณ์เหมือนกัน แต่กายทิพย์มีอายุยืนยาวกว่า มากกว่ากายเนื้อมากมาย กายทิพย์นี้มีอายุยืนยาวอยู่ตลอดเวลาที่ยังเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารจักรนี้ทีเดียว หมายความว่า ในขณะที่กายเนื้อตายนั้น กายทิพย์ยังไม่ตาย แต่จะมีรูปร่างสวยงดงาม หรือชั่วช้าอัปลักษณ์ เพียงใดนั้น สุดแต่การกระทําของกายเนื้อเป็นเหตุ ถ้ากายเนื้อประพฤติตนอยู่ในศีลอย่างเคร่งครัดและทําแต่สิ่งที่เป็นกุศล กายทิพย์ก็ย่อมสวยสดงดงาม ถ้ากายเนื้อประพฤติตนทุศีล และทําแต่สิ่งที่บาปกรรมจนเกิดความเดือดร้อนขึ้นในสังคม กายทิพย์ก็ย่อมมีหน้าตาที่น่าเกลียดน่ากลัว เป็นที่หวาดระแวงของผู้ที่รู้จักโดยทั่วกัน เพราะฉะนั้น สัตว์จึงถ่ายเทไปมาระหว่างภูมิที่เป็นกายเนื้อและกายทิพย์อยู่อย่างไม่ขาดสาย

🌷 🌷 🌷    

เมื่อพูดถึงกายทิพย์สัมพันธ์กับกายเนื้อได้อย่างไรนั้น ก็มีกลุ่มบุคคลบางพวกที่ไม่เชื่อในเรื่องนี้ ทั้งที่ตนเองก็เคยหลับแล้วฝันไป ซึ่งเมื่อตื่นขึ้นมา บางครั้งระลึกได้อย่างชัดเจน บางครั้งก็เลือนๆ ลางๆ เท่านั้น ครั้งที่ระลึกได้ชัดเจนนั้น เสมือนหนึ่งตนเองอยู่ในเหตุการณ์นั้นจริง แต่ว่าเหตุการณ์นั้นอาจจะเกิดขึ้นจริงก็ได้ หรือเกิดจากการกินมากไป หรืออ่อนเพลียมาก หรือนอนมากไป ทำให้จิตฟุ้งซ่านแล้วฝันไปก็ได้ 

ส่วนบุคคลที่ปฏิบัติธรรมสมาธิกรรมฐานภาวนานั้น โดยมากมักจะเชื่อเรื่องกายทิพย์ นามกายอย่างหมดสงสัย เพราะโดยมากแล้วมักจะได้เจอนิมิตต่างๆ ในขณะที่ตนเองปฏิบัติธรรมภาวนาอยู่ มากบ้างน้อยบ้าง ตามกำลังจิตของแต่ละคนไม่เท่ากัน

โดยเฉพาะมหาสติปัฏฐานสูตร เป็นพระสูตรที่กล่าวถึงการปฏิบัติธรรมอย่างละเอียด เป็นทางอันเอก เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์หมดจดของสัตว์ (ผู้ติดข้องในอารมณ์ทั้งหลาย) เพื่อก้าวล่วงความเศร้าโศก ร่ำไรรำพัน เพื่อความดับไปแห่งทุกข์และโทมนัสทั้งหลาย เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง ทางนี้ คือ สติปัฏฐาน ๔ อันมี กายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต และธรรมในธรรม 

การพิจารณากายในกาย พระองค์ทรงให้พิจารณากายในกายเป็นภายในบ้าง พิจารณากายในกายเป็นภายนอกบ้าง พิจารณากายในกายทั้งภายในและภายนอกบ้าง โดยการปฏิบัติธรรมสมาธิกรรมฐานภาวนา ด้วยอานาปานสติเป็นอารมณ์กรรมฐาน 

การพิจารณากายในกายนั้น ไม่ใช่ให้พิจารณาอวัยวะภายในกายของตน เพราะนั่นเป็นเรื่องของส่วนประกอบของรูปร่างกายหรือกายเนื้อ แต่พระองค์ทรงให้พิจารณาถึงความคิด เพราะความคิดก็คือกายทิพย์ นามกาย หรือกายในกาย ลองทดสอบดูก็ได้ว่าความคิดใช่กายในกายมั๊ย ลองคิดถึงสถานที่ที่เราได้เคยไปมาก่อนแล้ว เพียงแค่น้อมเอาความคิดไป ก็ถึงสถานที่ที่เราเคยไปพร้อมทั้งตัวเราที่เป็นนามกายหรือกายทิพย์อยู่ที่นั่นด้วย

การพิจารณากายในกายเป็นภายใน คือ พิจารณาอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่เป็นธรรมารมณ์ที่ถูกเก็บไว้ที่ใจ ผุดขึ้นมาในขณะหลับตาปฏิบัติธรรมภาวนา

การพิจารณากายในกายเป็นภายนอกนั้น ก็คือ อารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้นจากอายตนะภายในและอายตนะภายนอกมาสัมผัสกันในขณะลืมตา เป็นการใช้งานจริงในขณะอยู่ในชีวิตประจำวัน

จากนั้นนำผลของการปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนามาพิจารณาอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดในขณะที่หลับตาและลืมตา ไม่ให้อารมณ์ความรู้สึกนึกคิดเหล่านั้น มาทำให้จิตของตนหวั่นไหวไปกับอารมณ์ (ความคิด) เหล่านั้น เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรมก็เช่นกัน เพราะสติปัฏฐานนั้น เป็นการฝึกสร้างสติตัวเดียว เพื่อมาปราบอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้นที่เวทนา จิต และธรรม เอวัง.

พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท
เทศนาธรรม ๖ กันยายน ๒๕๖๔



 



Create Date : 07 กันยายน 2564
Last Update : 3 มกราคม 2565 13:37:48 น.
Counter : 147 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



สารบัญ Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์



หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์