คนที่คุณก็รู้ว่าใครในอดีต
Group Blog
 
All blogs
 
พระพิราพ



ในรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ ร.1 มียักษ์เฝ้ามะม่วงตนหนึ่ง ชื่อพิราพ เคยสังเกตไหมว่าเหตุใดยักษ์เฝ้ามะม่วงจึงมีความสำคัญ และมีบทบาทในวงการนาฏศิลป์ไทยขนาดนี้???

ในวงการนาฏศิลป์ไทย นับถือเทพที่เป็นครูแห่งการละคร คือ พระศิวะ พระพิฆเนศ พระภรตมุนี(ผู้เขียนคัมภีร์นาฎยศาสตร์ และหัวโขนท่านคือหัวโขนฤๅษีที่เห็นกันบ่อย ๆ)และสุดท้ายคือ"พระพิราพ"

มาดูรายละเอียดของเทพองค์สำคัญที่มีบทบาทที่สุดในการละครนะครับ



พระศิวะ คือเทพแห่งการร่ายรำ ผู้ประทานท่ารำ 108 ท่า จากวัดจิทามพะรัม ที่แคว้นทมิฬนาฑู ชาวอินเดียเชื่อว่าคือท่ารำแม่บทอินเดีย และท่ารำพวกนี้ก็แพร่หลายมายังแดนสุวรรณภูมิ


พระพิฆเนศ เทพแห่งศิลปะ

ส่วนอีกองค์ ที่หลายคนสงสัยว่าทำไมยักษ์เฝ้าสวนมะม่วงจึงกลายเป็นเทพชั้นครู และเป็นที่เคารพของวงการนาฏศิลป์ไทย

เรื่องนี้มีที่มา แต่อาจไม่ตรงเล้กน้อยเมื่อมาโยงกับตำนานไทย

ครั้งหนึ่ง พระวิษณุกับพระพรหมประลองฤทธิ์กันว่าใครจะชนะ แล้วสักครู่มีเสาโผล่ขนาดใหญ่พุ่งมาจากดินมา สูงมาก ๆ เลยท้าว่าใครถึงก่อนคนนั้นชนะ

พระวิษณุอวตารเป็นหมูป่า ขุดดินเพื่อหาโคนเสา
พระพรหมอวตารเป็นหงส์ บินหายอดเสา

ประลองสักพัก พระศิวะปรากฎกายขึ้นเพื่อตัดสินการประลอง

พระวิษณุตอบว่าไม่เจอโคน
พระพรหมจอบว่าถึงยอดเสา

แต่เสานั้น คือศิวลึงค์ พระพรหมโกหก พระศิวะแปลงร่ายเป็นอสูรตนหนึ่ง แล้วลงโทษโดยกัดตัดเศียรพระพรหม1เศียร(พระพรหมเคยมี5เศียร)

พระไภรพหรือพระพิราพจึงต้องถือหัวคน และหัวนั้นคือหัวพระพรหม



ส่วนพระศิวะเลยมีบาปติดตัว เพราะตัดเศียรพระพรหม(พระพรหมเป็นเทพชั้นสูง เทพแห่งพระเวท และเป็นผู้ให้กำเนิดพราหมณ์) ชั่วชีวิตพระศิวะเลยต้องเที่ยวขออาหารบนโลกมนุษย์ และไม่มีที่อาศัยเป็นหลักแหล่ง เขาไกลาศก็ไม่ใช่ที่พักถาวร แต่เป็นแค่ที่พักประจำเท่านั้น.........

*พระพิราพเป็นอสูรตนหนึ่งที่มีบทบาทสั้นๆในเรื่องรามเกียรติ์ ดังปรากฏในบทพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์ ฉบับรัชกาลที่ ๑ ซึ่งกล่าวว่า “พิราพเป็นอสูรที่มีฤทธิ์มาก เพราะได้กำลังจากพระเพลิงและพระสมุทร พระอิศวรกำหนดให้อยู่ในป่าเขตเชิงเขาอัศกรรณ มีหน้าที่ดูแลรักษาสวน ที่ปลูกต้นชมพู่พวาทองเอาไว้ บรรดาสิงสาราสัตว์ที่พลัดหลงเข้ามาในบริเวณนั้นถือเป็นกรรมสิทธิ์ที่อสูรพิราพสามารถจับกินได้ ครั้งหนึ่งพิราพขึ้นไปเที่ยวเล่นบนสวรรค์ได้ฝากสวนไว้กับบรรดาบริวาร กำชับไว้ว่าอย่าให้ใครเข้ามาบุกรุกได้ และตนจะมาตรวจตราอีกเจ็ดวัน ต่อมาพระลักษมณ์ พระราม และนางสีดา เสด็จผ่านมาเห็นสวนงดงามจึงเข้าไปพำนัก และเก็บผลไม้เสวย บรรดารากษส บริวารพิราพอสูรเห็นเข้าจึงเข้าขับไล่ทำร้ายแต่ก็แพ้พระลักษมณ์ ล้มตายเป็นจำนวนมาก เมื่อพิราพกลับมาพบเข้าจึงตามไปสู้รบ พระรามจึงแผลงศรพรหมมาศถูกอกอสูรพิราพสิ้นชีวิต”


พระไภรพศิลปะชวา


บทบาทของพระพิราพตามบทพระราชนิพนธ์นั้นดูเหมือนจะน้อยนิดและไม่ได้สลักสำคัญอะไร แต่ทว่าในความจริงแล้วกลับตรงกันข้าม องค์พระพิราพในระบบความเชื่อของฝ่ายดุริยางคศิลป์และนาฏศิลป์ไทยนั้น ล้วนแต่เป็นที่เคารพยำเกรงและถือว่าท่านเป็นบรมครูในด้าน นาฏดุริยางคศิลป์ ที่ทรงมหิทธิฤทธิ์สูงสุด ดังปรากฏในพิธีกรรมการไหว้ครู ครอบครู ดนตรีและนาฏศิลป์ไทยที่มีมาแต่ช้านาน


รูปเคารพพระไภรพบางท้องถิ่น ก็อยู่ในท่าเต้นรำเหมือนกัน อาจเป็นที่มาของการรำพระพิราพเต็มองค์


พิธีกรรมการไหว้ครู ครอบครู เป็นพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ที่ศิลปินทั้งดุริยางคศิลป์และนาฏศิลป์ ให้ความเชื่อมั่นศรัทธา ด้วยต่างถือคุณธรรมข้อความกตัญญูไว้เป็นที่ตั้ง และเป็นความเชื่อและจารีตโบราณที่สืบต่อกันว่า สรรพวิชาความรู้ในโลกนี้ ล้วนแต่มีครูเป็นต้นเค้าทั้งสิ้น

ในผญาภาษิตอีสานยังกล่าวไว้ว่า “ปลาแดกมีครู จี่ปูมีวาท” อันหมายถึง วิชาการใดๆจะน้อยใหญ่ก็ดีล้วนแต่มีครู เป็นผู้คิดค้นเอาไว้

ครูในที่นี้ มิได้หมายแต่ครูผู้ประสิทธิประสาทวิชาในปัจจุบันนี้เท่านั้น ยังหมายรวมไปถึงครูผู้ล่วงลับไปแล้ว หรือที่เรียกกันว่า “บุรพาจารย์” ตลอดจนเทพเจ้าทั้งหลายที่เชื่อถือกันว่าเป็นผู้ให้กำเนิดสรรพวิชาในสาขาต่างๆ



ในทางศิลปะการแสดง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนาฏศิลป์ไทย มีความเคร่งครัดอย่างยิ่งในการแสดงความเคารพครูบาอาจารย์ ด้วยถือว่าวิชาการเหล่านี้ได้มาแต่องค์พระเป็นเจ้าสูดสุดในศาสนาพราหมณ์ คือองค์พระอิศวรเป็นเจ้า ตลอดจนครูเทพองค์อื่นๆ อย่างน้อยก่อนจะออกโรงต้องยกมือขึ้นนบไหว้เหนือเศียรเกล้าขอครูปกปักรักษาอำนวยอวยพรให้การแสดงสำเร็จลุล่วง ปราศจากอุปสรรคทั้งปวง ในการแสดงโขน ละครแต่ละครั้งจึงต้องจัดมณฑลพิธีที่บูชา และอัญเชิญเศียรพระพิราพและพระภรตฤษี ตั้งคู่กันไว้บนที่บูชาเสมอ

ในพิธีไหว้ครูครอบครูนาฏศิลป์หรือดุริยางคศิลป์ ก็เฉกเช่นเดียวกัน องค์พระพิราพเป็นเทพเจ้าที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ต้องมีการเชิญเศียรองค์พระพิราพมาประกอบพิธีไหว้ครูและครอบครูอย่างขาดไม่ได้ ดังปรากฏเป็นหลักฐานที่มีการบันทึกในพระตำราครอบโขนละคอน ฉบับหลวงตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ ๔ สืบมาจนถึงปัจจุบัน ที่ครูผู้ประกอบพิธีจะทำการอ่านโองการเชิญองค์พระพิราพมารับเครื่องสังเวย ปี่พาทย์จะทำเพลงองค์พระพิราพ ซึ่งเป็นเพลงประจำองค์ท่าน เสมือนว่าท่านได้ในมณฑลพิธีไหว้ครูนี้ ครั้นในลำดับขั้นตอนของพิธีครอบซึ่งหมายถึงการที่รับเข้าเป็นเครือของศิลปิน หรือเพื่อประสิทธิ์ประสาทความเป็นครูแก่ผู้จะนำวิชาไปสั่งสอนศิษย์สืบไป ครูผู้อ่านโองการจะทำการครอบเทริดโนรา เศียรพระภรตฤษี และเศียรพระพิราพ ในลำดับสุดท้ายแก่ผู้เข้าร่วมพิธี ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันถึงความสำคัญของครูอสูรเทพตนนี้ได้เป็นอย่างดี

ทางฝ่ายนาฏศิลป์ยังถือกันว่า ท่ารำเพลงหน้าพาทย์องค์พระพิราพเป็นท่ารำสูงสุด ที่มีความศักดิ์สิทธิ์ และมีระเบียบแบบแผน เคล็ดลางที่ซับซ้อนมากมาย เป็นต้นว่า การจะต่อเพลงและท่ารำนั้นต้องมีพิธีมอบให้แก่ศิลปินที่เลือกสรรไว้แล้ว คือต้องเป็นศิลปินอาวุโส มีความสามารถเป็นที่ยอมรับของวงการศิลปินด้วยกันเอง ผ่านการบวชเรียนมาแล้ว และมีกำลังมากเนื่องจากเป็นเพลงหน้าพาทย์ที่มีความยาว ในปัจจุบันครูที่รำเพลงหน้าพาทย์องค์พระพิราพได้มีจำนวนน้อยจนนับตัวได้ ท่านเหล่านั้นล้วนแต่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานครอบองค์พระพิราพมาแล้วทั้งสิ้น ส่วนสถานที่ต่อท่ารำก็จะต้องเป็น วัง หรือ วัด เท่านั้นจะไม่ต่อท่ารำตามบ้านเป็นอันขาด ดังที่ปรากฏหลักฐานว่ามีการต่อท่ารำ ณ ระเบียงคดวัดพระศรีรัตนศาสดารามในปี ๒๔๗๐ และครั้งล่าสุดในปีพ.ศ.๒๕๒๗ ณ พระอุโบสถวัดบวรสถานสุทธาวาส หรือวัดพระแก้ววังหน้า บริเวณที่เป็นวิทยาลัยนาฏศิลป์ในปัจจุบัน

เมื่อจะจัดการแสดงโขนชุดพระพิราพเข้าสวน ก็ต้องมีพิธีกรรมขั้นตอนคือ
พิธีกรรมก่อนการแสดงการรำหน้าพาทย์องค์พระพิราพ จะต้องจัดเครื่องบวงสรวงสังเวย อัญเชิญดวงวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ ที่ สถิต ณ ทิพยวิมาน ให้ลงมาประทับร่างศิลปินผู้จะแสดงซึ่งแต่งกายยืนเครื่องช่วงล่าง เปลือยท่อนบน ตามร่างกายวงด้วยปูนกินหมากเป็นวงทักษิณาวัฎทั่วทั้งตัวตลอดจนแขนทั้งสองข้างโดยครูผู้ใหญ่หรือพระเกจิอาจารย์ผู้ทรงวิทยาคุณ ขณะที่คาดปูนก็จะสาธยายอาคมกำกับไปโดยตลอด การคาดปูนนี้ นอกจากเพื่อให้ถูกต้องตามลักษณะองค์ พระพิราพในเรื่องรามเกียรติ์ที่มีขนขดเป็นวงทักษิณาวัฏทั่วร่างกายแล้ว ยังเชื่อว่าเป็นการป้องกันสิ่งอัปมงคลมิให้เข้าสู่ร่างกายอีกด้วย ผู้แสดงจะสวมพวงมาลัยที่ข้อมือ ข้อเท้า และที่คอ ตามขนบโบราณนิยมใช้พวงมาลัยดอกเข็มสีแดงล้วน ซึ่งเป็นการสื่อถึงความน่าเกรงขาม ตรงกับตำรานาฏยศาสตร์ที่ระบุว่า สีแดงให้ เราทระรส หรือรสของความดุร้าย ซึ่งเราทระรสนั้นก็คือพระรุทธเทพหรือพระอิศวรนั่นเอง สอดคล้องกับการที่พระพิราพมีความมหิทธิฤทธิ์ น่าเกรงขามและมีความเกี่ยวพันกับพระอิศวรเป็นเจ้าดังจะได้อธิบายในลำดับต่อไป

เมื่อถึงการแสดงจะมีการรำหน้าพาทย์ “องค์พระ” เป็นการรำเบิกโรง ที่มือขวาของศิลปินผู้แสดงจะถือหอกยาวเป็นอาวุธ ส่วนมือซ้ายถือก้านใบมะยม ซึ่งเชื่อว่าเป็นไม้มงคล มีนามพ้องกับ ไม้ยมทัณฑ์ของพระยม และในพิธีกรรมทางศาสนามักใช้ก้านใบมะยมในการประพรมน้ำมนต์ นายรงภักดี (เจียร จารุจรณ) ศิลปินแห่งชาติ บรมครูผู้ถ่ายทอดการรำหน้าพาทย์องค์พระพิราพ อธิบายว่า “พระพิราพถือกำก้านใบมะยมเป็นการประพรมน้ำมนต์ให้กับศิษย์ ส่วนมือขวาถือหอก เป็นการขับไล่ภูตผีปีศาจ”

การรำหน้าพาทย์องค์พระนี้ เชื่อกันว่าเพื่อเป็นการอัญเชิญดวงวิญญาณอันศักดิ์สิทธิ์มาประทับร่างผู้แสดงเสมือนว่าองค์พระพิราพผู้ทรงมหิทธานุภาพได้มาขจัดเสนียดจัญไร แผ่บารมีคุ้มครองพร้อมทั้งประสิทธิ์ประสาทพรชัยมงคลให้แก่บรรดาสานุศิษย์ ตลอดจนผู้ชมที่อยู่ในที่แสดง เมื่อจบแล้วจึงจับเข้าเรื่อง โดยเริ่มแต่พระพิราพนำต้นพวาทองไปปลูกในสวน จนกระทั่งสู้รบและพ่ายแพ้ต่อศรพระราม
ในการแสดงนี้มีข้อห้ามว่าเมื่อผู้แสดงสวมศีรษะพระพิราพ ถือกำใบมะยมและหอกแล้วห้ามผู้ใดแตะต้องตัวและอาวุธเป็นอันขาด ด้วยเชื่อว่าในขณะนั้นผู้แสดงได้กลายสภาพเป็นองค์พระพิราพ อสูรเทพแล้ว การที่สามัญชนจะไปสัมผัสถูกต้องตัวย่อมเป็นการไม่บังควรและย่อมเกิดเสนียดจัญไรแก่ตน แม้ขณะฝึกซ้อมท่ารำก็ห้ามสัมผัสตัวและอาวุธ ซึ่งกันและกันอีกด้วย

ขณะที่ในด้านดุริยางคศิลป์ ก็ถือว่า เพลงหน้าพาทย์องค์พระพิราพเป็นเพลงหน้าพาทย์ที่ศักดิ์สิทธิ์สูงสุดเช่นกัน เป็นขั้นตอนสุดท้ายที่ครูอาจารย์จะถ่ายทอดให้กับศิษย์ที่มีวัยวุฒิและคุณวุฒิที่เหมาะสม ครูอาจารย์มักจะเตือนลูกศิษย์ทุกคน ว่าแม้ขณะได้ยินเสียงเพลงหน้าพาทย์องค์พระพิราพ ก็ให้มีสมาธิตั้งใจสดับรับฟัง ประนมมือคารวะจนกระทั่งจบเพลง และห้ามส่งเสียงอึกทึกหรือออกจากพิธีกลางคันเมื่อยังไม่จบเพลง เวลาปี่พาทย์ทำเพลงหน้าพาทย์องค์พระพิราพ ผู้ที่มีจิตใจไม่เข้มแข็งบางคน มักจะมีอาการควบคุมตัวเองไม่ได้หรือที่เรียกกันว่า “ครูลง” ไปต่างๆนานา

จากความเชื่อและความศรัทธาของศิลปินไทยต่อองค์พระพิราพนั้น จึงเป็นที่น่าตั้งคำถามเอาว่าเหตุไฉนครูอสูรเทพผู้มีนามว่าพระพิราพ จึงมีความสำคัญต่อศาสตร์ในด้านนาฏดุริยางคศิลป์ถึงเพียงนั้น ทั้งๆที่บทบาทในเรื่องรามเกียรติ์กลับมีอยู่เพียงน้อยนิด สำหรับเรื่องนี้ ศาสตราจารย์ ดร.มัทนี รัตนิน ได้ค้นคว้าเรื่องราวเกี่ยวกับพระพิราพไว้ใน บทความเรื่อง “ข้อสันนิษฐานความเป็นมาของพระพิราพ” มีความโดยสรุปดังนี้



พระไภราวะหรือไภรพ หรือไภราพ เป็นปางหนึ่งของพระศิวะ ซึ่งนับถือว่าเป็น นาฏราช คือผู้ให้กำเนิดนาฏศิลป์แก่มนุษย์ แล้วยังถือกันว่าพระไภราพนี้เองเป็นต้นกำเนิดแห่งท่ารำ “วิจิตรตาณฑวะ” ซึ่งเป็นท่ารำที่วิจิตรพิสดารหนึ่งใน ๑๐๘ ท่า ของพระศิวะ พระไภราวะ เป็นที่นับถือเคารพบูชาและเกรงกลัวยิ่งในหมู่นาฏศิลปินอินเดีย แถบลุ่มน้ำคงคา โอริสา มหานที และจันทรภาค โดยเฉพาะที่เมืองพาราณสี เชื่อว่าการบูชาเทวรูปนี้ตามบ้านจะป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ ขจัดเสนียด[^_^]และประทานพรให้ด้วย

สอดคล้องกับที่ ไมเคิล ไรท์ ระบุว่าชาวเมืองพาราณสีมีรูปเคารพที่ภาษาพื้นเมืองเรียกว่า “กาศีลิงคพิราปฺปา” มีลักษณะเป็นเสาหลักมียอดเป็นหัวยักษ์ผู้คนนิยมเซ่นสังเวยด้วยเนื้อดิบและเหล้า “เป็นตำรวจ แทนองค์พระอิศวรวิศวนารถผู้เป็นประธานในพาราณสี, คอยฟาดฟันผู้บังอาจกระทำความชั่วในเมืองนั้น” และยังได้ตั้งข้อสังเกตอีกว่าพิราพป่า ในภาษาไทย คงมาจากคำว่า “พิราปฺปา” ในภาษาพื้นเมืองพาราณสีนั่นเอง
ส่วนในประเทศเนปาล พระไภราพ หรือกาโลไภราพ เป็นเทพเจ้าที่มีผู้นับถือและเกรงกลัวมาก ด้วยว่าเป็นเพทแห่งสงครามและความตาย ขณะเดียวกันก็เป็นเทพผู้ประทานพรและขจัดโรคภัยไข้เจ็บด้วยเช่นกัน

ความเชื่อด้านนาฏศิลป์และดนตรีไทยส่วนหนึ่งคงได้รับอิทธิพลมาจากอินเดียโดยผ่านมาทางชวาและขอม แล้วไทยคงจะรับจากขอมอีกทอดหนึ่ง ดังเช่นความเชื่อในการบูชาพระไภราวะหรือพระพิราพนี้ ซึ่งปรับประยุกต์เข้ากันได้กับความเชื่อเดิมของคนไทยที่นับถือผี และเซ่นสรวงสังเวยด้วยเนื้อดิบ และเหล้าอยู่แล้วได้อย่างแนบสนิท อ.ประเมษฐ์ บุณยะชัย แห่งสถาบันนาฏ ดุริยางคศิลป์ กรมศิลปากร ได้ตั้งข้อสังเกตว่านาฏศิลป์ชั้นสูงมักเกี่ยวกับชีวิตและความตาย การสร้างสรรค์และการทำลายซึ่งเป็นสิ่งตรงกันข้ามกัน แต่รักษาดุลยภาพของกันและกันไว้ได้ การร่ายรำของพระศิวะนาฏราชนั้นเป็นการสร้างสรรค์และการทำลายอยู่ในตัว รูปพระศิวะปางนาฏราชในทางปฏิมานวิทยามักจะทำเป็นรูปทรงเหยียบอสูรไว้ด้วยพระบาทขวาหมายถึงการทำลายความชั่ว พระบาทซ้ายยกขึ้นทำท่ารำงดงามเป็นการสร้างสรรค์ศิลป์ รอบๆ เป็นวงเปลวเพลิงหมายถึงการหมุนเวียนของจักรวาล การบูชาเทพเจ้าฝ่ายนาฏศิลป์ปางดุร้ายก็คงเข้าในคตินี้เช่นกัน

ความชาญฉลาดของโบราณจารย์ไทยประการหนึ่งคือการสามารถประยุกต์และผนวกเอาความเชื่อพระพิราพในรูปแบบเทพเจ้า และตัวโขน เข้าไว้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้อย่างแนบเนียน ดังที่กล่าวมาแล้วว่า หน้าพาทย์หรือท่ารำองค์พระพิราพ เป็นหน้าพาทย์ชั้นสูงสุด เป็นหน้าพาทย์เฉพาะองค์พระพิราพในฐานะเทพเจ้า ซึ่งไม่มีโอกาสที่จะใช้กับการแสดงอื่นๆ หากไม่มีการแสดงย่อมเกิดการสูญหายได้ด้วยว่าไม่มีผู้สืบทอด ประการหนึ่ง ด้วยเหตุนี้โบราณจารย์จึงได้นำมาบรรจุไว้ในการแสดงโขนตอนพระรามเข้าสวนพิราพ ซึ่งมีนามพ้องกับ พระไภราพหรือพิราพ ซึ่งเป็นปางหนึ่งของพระอิศวรนั่นเอง โดยท่ารำและเพลงที่แสดงถึงภาวะความเป็นเทพเจ้านั้นจะปรากฏในตอนออกท่ารำหน้าพาทย์องค์พระพิราพ ที่ศิลปินผู้รับบทจะต้องถือกำก้านใบมะยมด้วยมือซ้ายและถือหอกด้วยมือขวานั่นเอง เป็นการแสดงเบิกโรงต้นเรื่องที่มีความขลัง ศักดิ์สิทธิ์ เมื่อสิ้นกระบวนรำจึงเป็นการดำเนินเรื่องตามบทบาทของพิราพอสูรในเรื่องรามเกียรติ์ต่อไป

ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าพระพิราพนั้นแท้จริงแล้วคือปางดุร้ายปางหนึ่งของพระอิศวรเป็นเจ้า ทำนองเดียวกับเจ้าแม่กาลี หรือ ทุรคา ซึ่งเป็นปางดุร้ายของพระอุมา นั่นเอง

*ส่วนพระพิราพเฝ้าสวนมะม่วง ผมคิดว่าเป็นการหลงตำนานไทยจากรามเกียรติ์ที่แต่งภายหลัง กับรับความเชื่อของฮินดู และในบางท้องที่ที่บูชาพระไภรพ ก็มีการเซ่นไหว้ด้วยเนื้อสัตว์ และของดิบเหมือกับการบูชาพระพิราพในไทย ที่ใช้เนื้อสัตวฺดิบบูชา

//www.ampoljane.com/main/index.php?type=preview&area=1&p=articles&id=3&print=1

//topicstock.pantip.com/library/topicstock/2007/09/K5780024/K5780024.html


Create Date : 27 กันยายน 2550
Last Update : 18 ตุลาคม 2550 11:52:45 น. 0 comments
Counter : 6105 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

เมื่อไรจะหายเหงา
Location :
สมุทรปราการ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add เมื่อไรจะหายเหงา's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.