คืนชีพใหม่...ให้คอมเพรสเซอร์แอร์เก่า
บทความเทคนิคงานช่างไฟฟ้าและช่างแอร์ วันนี้จะขอหยิบยกเอาเรื่องที่เกี่ยวกับคอมเพรสเซอร์เก่าๆมาฝาก สำหรับผู้ที่สนใจ หรือผู้ที่มีคอมเพรสเซอร์เก่าๆเก็บสะสมไว้เพื่อที่จะรอรวบรวมนำไปขายเศษเหล็ก บทความนี้อาจจะมีประโยชน์ เพื่อให้ท่านนำกลับไปทดลองทำดู เผื่อว่าคอมเพรสเซอร์ที่เตรียมจะไปขายเศษเหล็ก อาจจะกลับมามีประโยชน์อีกครั้ง ก็เป็นไปได้
แต่สำหรับใครที่ไม่มีความรู้หรือความชำนาญ ในพื้นงานของงานช่างไฟฟ้า ผู้เขียนก็ไม่ขอสนับสนุนให้นำเนื้อหาในบทความนี้ ไปทดลองทำด้วยตัวเอง เพราะอาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้ และสำหรับท่านใดที่มีความรู้ทางด้านนี้มากพอแล้ว หรือเคยทดลองทำมาแล้ว บทความชุดนี้ก็อาจจะไม่จำเป็นสำหรับท่าน ซึ่งจะผ่านไปเลย ก็คงไม่เสียหายประการใด
ในอดีต เครื่องปรับอากาศ หรือแอร์ ที่เราใช้กันอยู่ทั่วไปนั้น ย้อนกลับไปถึงยุคของแอร์แบบติดหน้าต่าง จะใช้คอมเพรสเซอร์ชนิดปิดสนิท ซึ่งเป็นคอมเพรสเซอร์แบบลูกสูบ (Hermetic Compressor)
ซึ่งตัวคอมเพรสเซอร์แบบลูกสูบ ที่ใช้ในแอร์รุ่นเก่าๆนั้น ขึ้นชื่อเรื่องอัตราการกินไฟที่สูงถึงสูงมาก(เมื่อเทียบกับปัจจุบัน) อีกทั้งการตาร์ทออกตัวก็กระชากไฟอีกด้วย ในส่วนของวงจรไฟฟ้าที่ทำหน้าที่สตาร์ทคอมเพรสเซอร์แบบลูกสูบ จึงต้องใช้วงจรแบบ CSIR ซึ่งเป็นวงจรมีทั้งคาปาซิเตอร์รัน และคาปาซิเตอร์สตาร์ท กับรีเลย์ความต่างศักย์ (Potential Relay) เข้ามาช่วยให้การเริ่มหมุนของมอเตอร์คอมเพรสเซอร์ สามารถทำได้ง่ายขึ้นในเวลาอันสั้น โดยวงจรนี้ คาปาซิเตอร์สตาร์ท จะทำงานในช่วงแรกสุด ซึ่งเป็นช่วงที่มอเตอร์คอมเพรสเซอร์เริ่มสตาร์ทออกตัว และเมื่อมอเตอร์หมุนออกตัวไปได้ 75% คาปาซิเตอร์สตาร์ทจะถูกตัดออกจากวงจรอัตโนมัติ การทำงานแบบนี้จึงจำเป็นต้องใช้ควบคู่กับรีเลย์ความต่างศักย์ (Potential Relay) และในส่วนของคาปาซิเตอร์รันนั้นจะถูกต่ออยู่ในวงจรไฟฟ้าอย่างถาวรทั้งในช่วงเริ่มสตาร์ท และในการทำงานปกติ โดยจะมีส่วนช่วยในการเพิ่มทอร์คในช่วงแรกที่สตาร์ท และเมื่อคอมเพรสเซอร์หมุนออกตัวแล้ว คาปาซิเตอร์รันก็ยังจะถูกต่ออยู่ในวงจรต่อไป โดยจะใช้เพื่อเป็นตัวจำกัดกระแสที่ไหลเข้าขดลวดสตาร์ทในมอเตอร์ ให้อยู่ในระดับที่กำหนด
สามารถอ่านบทความที่เกี่ยวกับวงจรไฟฟ้าที่ใช้ในการเริ่มเดินมอเตอร์คอมเพรสเซอร์ ได้ตามลิงค์นี้
ในยุคต่อมา คอมเพรสเซอร์แบบโรตารี่ (Rotary Compressor) จึงเข้ามาแทนที่การใช้งานคอมเพรสเซอร์แบบลูกสูบ ซึ่งคอมเพรสเซอร์โรตารี่ มีข้อดีกว่าคอมเพรสเซอร์แบบลูกสูบตรงที่ การสตาร์ทออกตัวทำได้ง่ายกว่า ทั้งยังใช้พลังงานไฟฟ้าน้อยกว่าเมื่อเทียบในขนาดทำความเย็นเท่ากัน และยังมีการทำงานที่นุ่มนวลกว่า ทำให้มีเสียงรบกวนและการสั่นสะเทือนที่น้อยกว่า
ในส่วนของวงจรไฟฟ้าที่ทำหน้าที่สตาร์ทคอมเพรสเซอร์แบบโรตารี่ จะใช้การต่อวงจรแบบ PSC คือใช้เพียงคาปาซิเตอร์รัน เพียงตัวเดียว ต่ออนุกรมกับขดลวดสตาร์ท ซึ่งเท่านี้ก็เพียงพอให้คอมเพรสเซอร์โรตารี่ ที่มีขนาดทำความเย็นไม่เกิน 24,000 BTU สตาร์ทออกตัวและทำงานต่อไปได้ บางกรณี อย่างในรายที่เป็นคอมเพรสเซอร์ขนาดทำความเย็นมากกว่า 24,000 BTU อาจจำเป็นต้องเพิ่มคาปาซิเตอร์สตาร์ทเข้ามาช่วยในการเริ่มออกตัว แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว จากที่ได้พบเจอมาบ่อยๆ แอร์ที่ใช้คอมเพรสเซอร์โรตารี่ มักจะใช้เพียงคาปาซิเตอร์รันเพียงอย่างเดียว
จะเห็นได้ว่าวงจรไฟฟ้าที่ทำหน้าที่สตาร์ทคอมเพรสเซอร์แบบโรตารี่ การต่อวงจรแบบ CSIR นั้นมีพื้นฐานมาจากการประยุกต์วงจรแบบ PSC แตกต่างกันที่มี คาปาซิเตอร์สตาร์ท (Start Capacitor) กับ รีเลย์ความต่างศักย์ (Potential Relay) เพิ่มเข้ามาก็เท่านั้น
ที่มาที่ไปของการหยิบยกเรื่องนี้มาเขียนเป็นบทความ ก็สืบเนื่องมาจาก มีอยู่วันหนึ่งผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าไปตรวจดูพื้นที่เก็บของแห่งหนึ่ง ซึ่งที่นั้นมีแต่ของเก่าๆที่ถูกนำเข้าไปเก็บเอาไว้ และด้วยความที่เก็บมาเรื่อยๆ เก็บเข้ามาเพียงอย่างเดียวไม่ได้นำออกไปใช้ประโยชน์อื่นใด จำนวนของที่เก็บๆไว้จึงเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ จนพื้นที่เริ่มที่จะเหลือน้อยลง เป็นการสิ้นเปลืองพื้นที่โดยเปล่าประโยชน์ ด้วยความที่ไม่มีใครคิดจะนำออกไปทำอย่างอื่นโดยพลการ ผู้เขียนจึงต้องเข้าไปยังพื้นที่เก็บของดังกล่าว เพื่อเข้าไปตรวจสอบและตัดสินใจ ว่าอันไหนควรเก็บ และอันไหนควรนำออกไปจัดการตามวิธีที่เห็นสมควร
และคอมเพรสเซอร์เก่าๆ ที่ถูกถอดออกมาจากแอร์หลายๆเครื่อง ก็เป็นหนึ่งในสิ่งของที่ต้องจัดการ เนื่องจากคอมเพรสเซอร์เก่าๆเหล่านี้ เป็นของที่เคยผ่านการติดตั้งใช้งานมาแล้ว ซึ่งที่เก็บไว้มากสุดเห็นจะเป็นคอมเพรสเซอร์โรตารี่ รองลองมาก็จะเป็นคอมเพรสเซอร์ลูกสูบ และสโครล ตามลำดับ มีทั้งที่ยังพอทำงานได้ หรือแบบที่ทำงานไม่ได้แล้ว และที่ยังรวมไปถึงที่ทำงานได้ดีอยู่ แต่ถูกถอดออกมาเก็บเนื่องจากสาเหตุอื่นๆ เช่น ความไม่คุ้มค่าที่จะใช้งานต่อ หรือด้วยเหตุผลอื่นๆก็ตามแต่ แต่ท้ายที่สุดแล้ว คอมเพรสเซอร์ที่ทำงานไม่ได้โดยสิ้นเชิงแล้ว ส่วนใหญ่ก็มักจะลงเอยที่ร้านรับซื้อของเก่า เพื่อนำกลับไปชำแหละและรีไซเคิ้ลต่อไป ตรงจุดนี้ถ้าเป็นคอมเพรสเซอร์โรตารี่ ขนาดไม่เกิน 30,000 BTU เนื่องจากมันเป็นคอมเพรสเซอร์ชนิดปิดสนิท ผู้เขียนจึงไม่มีแนวคิดจะให้ช่างทำการผ่าซ่อม เนื่องด้วยหลายๆเหตุผล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความไม่คุ้มค่า(ซ่อมแล้วไม่ค่อยคุ้ม)เพราะคอมเพรสเซอร์โรตารี่นั้นซ่อมยาก อีกทั้งเรื่องของความปลอดภัยในการซ่อมตลอดจนความปลอดภัยในการนำไปใช้งานต่อ จึงทำให้ส่วนใหญ่ ถ้าคอมเพรสเซอร์โรตารี่ของแอร์บ้านทั่วไป มีปัญหา ก็มักจะถูกเปลี่ยนใหม่ แทนที่จะผ่าออกมาซ่อม
ในบรรดาคอมเพรสเซอร์เก่าๆที่ผู้เขียนมีเก็บไว้ ส่วนใหญ่แล้วการนำมาเก็บไว้ ไม่ได้มีการทำประวัติหรือรายละเอียดอะไรมากนัก บางส่วนในยุคหลังๆมา จะใช้กระดาษกาวเขียนอาการหรือสาเหตุที่ถอดออกมาเก็บไว้แบบคร่าวๆ แล้วนำมาแปะไว้ที่ตัวคอมเพรสเซอร์
สำหรับคอมเพรสเซอร์โรตารี่เก่าๆ ส่วนหนึ่งมักจะมีอาการสตาร์ทไม่ออก โดยเฉพาะเป็นคอมเพรสเซอร์ที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ ลักษณะของอาการการสตาร์ทไม่ออกหรืออาการที่ไม่สามารถเริ่มหมุนออกตัวได้ อาการนี้เมื่อจ่ายไฟให้กับคอมเพรสเซอร์ คอมเพรสเซอร์จะสตาร์ทไม่ออก ที่หน้าปัทของแคลมป์มิเตอร์จะแสดงค่ากระแสขึ้นสูงแล้วค้าง ซึ่งหมายถึงคอมเพรสเซอร์กินกระแสสตาร์ท โดยเป็นกระแสที่สูงกว่ากระแสใช้งานปกติ 3-5 เท่า ติดต่อกันเป็นเวลานานกว่าปกติ ซึ่งจะทำให้โอเวอร์โหลดภายใน หรือ เซอร์กิตเบรกเกอร์ ตัดวงจรไฟฟ้าในที่สุด สาเหตุของอาการนี้เป็นไปได้ทั้งสองส่วน คือ สาเหตุจากชิ้นส่วนทางกลที่เคลื่อนไหวได้อย่างเช่นเพลาขับ ล็อกติดกับที่ ไม่สามารถหมุนได้ และ สาเหตุที่มาจากความเสื่อมในส่วนของมอเตอร์ต้นกำลัง แต่โดยส่วนมาก เมื่อคอมเพรสเซอร์สตาร์ทไม่ออกแบบนี้ ก็มักจะถูกถอดออกแล้วเปลี่ยนตัวใหม่แทน ด้วยความที่ผู้เขียนมีคอมเพรสเซอร์โรตารี่ขนาด 18,000 - 28,000 BTU ที่ผ่านการใช้งานมามากกว่า 5-10 ปีขึ้นไป เก็บไว้เป็นจำนวนมาก ซึ่งแต่ละตัวก็มักจะถูกถอดออกเพราะอาการมอเตอร์สตาร์ทไม่ออก
ด้วยความรู้สึกเสียดาย ที่จะต้องนำไปชั่งกิโลขายเศษเหล็ก ประกอบกับในวันนั้นมีเวลาว่างทั้งวัน ผู้เขียนจึงลองจับคอมเพรสเซอร์ตัวหนึ่ง ซึ่งเป็นคอมเพรสเซอร์เก่าที่ถูกถอดออกมาเพราะสตาร์ทไม่ออก ตัวนี้มีอายุไม่น้อยกว่า 15 ปี โดยเป็นของยี่ห้อ SCI (คอมเพรสเซอร์มิตซูบิชิ) ขนาดทำความเย็นประมาณ 18,000 BTU เดิมที่คอมเพรสเซอร์นี้ถูกต่อวงจรไฟฟ้าแบบ PSC แต่ผู้เขียนได้ทดลองนำมาต่อเข้ากับวงจรแบบ CSIR ผลประกฏว่าสามารถสตาร์ทออกตัวได้ และเมื่อคอมเพรสเซอร์ตัวนี้ทำงานได้แล้ว จึงทำการทดลองแรงดูดแรงอัดแบบคร่าวๆด้วยมือ ก็รู้สึกได้ว่าแรงดูดแรงอัดน่าจะยังดีอยู่ ผู้เขียนจึงให้ช่างไปทำการเชื่อมท่อ เพื่อใส่แฟร์นัทสำหรับใช้ต่อกับหัวของสายเกจเมนิโฟลด์ และเมื่อวัดแรงดูดแรงอัดด้วยเกจเมนิโฟลด์ ปรากฏว่าแรงดูดและแรงอัดยังคงมีอยู่ในระดับที่ใช้งานได้
และผู้เขียนก็ได้บอกให้ช่าง จับเอาคอมเพรสเซอร์โรตารี่เก่าๆที่มีเก็บไว้ หากอันไหนระบุว่าสตาร์ทไม่ออก ก็ให้ลองสตาร์ทด้วยการนำมาต่อเข้ากับวงจรแบบ CSIR ซึ่งจากการทดลองครั้งนั้นทำให้ ผู้เขียนสามารถคืนชีพคอมเพรสเซอร์เก่าๆได้หลายตัว ช่วยให้มันยังมีประโยชน์มากกว่าการไปชั่งกิโลขายเป็นเศษเหล็ก เป็นการลดขยะให้โลก และใช้ของให้คุ้มค่ามากที่สุด
ในส่วนของคอมเพรสเซอร์ที่สามารถคืนชีพกลับมาได้ หลายคนอาจจะสงสัยว่าผู้เขียนเอาไปทำอะไรต่อนั้น ตรงจุดนี้ผู้เขียนมีช่องทางที่จะนำไปสร้างประโยชน์ได้หลากหลายช่องทาง
ส่วนหนึ่งคือการนำไปบริจากให้กับสถาบันการศึกษาที่ต้องการ ซึ่งจะเป็นสถาบันที่มีการเรียนการสอนในหลักสูตรทางด้านวิชาชีพ และที่สำคัญคือเป็นสถานศึกษาที่มีการเรียนการสอนในวิชาที่เกี่ยวข้องกับเครื่องทำความเย็นและปรับอากาศ ซึ่งคอมเพรสเซอร์ที่ยังสามารถทำงานได้อยู่ แต่อาจจะไม่เหมาะที่จะนำไปใช้งานในเครื่องปรับอากาศอีกต่อไป แต่ยังสามารถนำไปใช้เป็นสื่อประกอบการสอนสำหรับการปฏิบัติจริง ควบคู่ไปกับทฤษฎีได้ ในส่วนนี้
และคอมเพรสเซอร์พวกนี้ ก็จะมีบางส่วนที่ถูกนำมาดัดแปลงเอาคุณสมบัติที่มีของคอมเพรสเซอร์ มาทำเป็นเครื่องดูดสำหรับทำสูญญากาศ ตั้งไว้ในโรงซ่อม เพื่อไว้ใช้ในงานซ่อมบางกรณี แต่ถ้าจะนำมาใช้แทนเครื่องทำสุญญากาศ หรือเครื่องแว็ค (Vacuum Pump) แบบเป็นจริงเป็นจังนั้น ผู้เขียนเห็นว่ามันยังคงไม่เหมาะสักเท่าไหร่ เพราะถึงแม้คอมเพรสเซอร์ จะสามารถดูดอากาศในระบบได้จนถึงระดับสุญญากาศ แต่ก็ไม่สามารถทำให้ต่ำไปกว่า 29 inHg (นิ้วปรอท) ได้ ซึ่งในบางงานที่ต้องการความละเอียด หรืองานที่เน้นเป็นพิเศษในเรื่องการทำระบบให้เป็นสุญญากาศนั้น คอมเพรสเซอร์ที่นำมาใช้เป็นเครื่องทำสุญญากาศ ยังไม่สามารถทำได้ดีเทียบเท่าเครื่องทำสุญญากาศแบบประสิทธิภาพสูง
ในส่วนแนวคิดหรือความต้องการ ที่จะนำคอมเพรสเซอร์เก่าเหล่านี้ กลับมาติดตั้งในแอร์ เพื่อจะนำไปติดตั้งใช้งานอีกครั้ง แนวคิดนี้เป็นสิ่งที่ผู้เขียนหลีกเลี่ยงและไม่แนะให้นำกลับมาใช้ เพราะการนำกลับมาใช้ใหม่นั้นอาจจะไม่คุ้มค่า และไม่มีสิ่งใดที่จะนำมาเป็นหลักประกันในการใช้งานระยะยาวได้ ซึ่งหากนำมาติดตั้งใช้งานแล้วใช้ต่อได้ไม่นาน ก็จะเป็นการสิ้นเปลืองเงินทองค่าของค่าแรงและเสียเวลาเป็นอย่างมาก
Create Date : 09 พฤศจิกายน 2556 | | |
Last Update : 9 พฤศจิกายน 2556 7:08:36 น. |
Counter : 81224 Pageviews. |
| |
|
|
|