คอมเพรสเซอร์ 3 เฟส ต่อสลับเฟส
หลายท่านคงจะทราบกันอยู่แล้ว ว่ามอเตอร์ไฟฟ้ากระแสสลับ 3 เฟส สามารถให้มันทำงานแบบกลับทางหมุนได้ เพียงแค่การสลับสายเฟสที่จ่ายเข้ามอเตอร์ ซึ่งในสามเฟสนั้นไม่ว่าจะสลับเฟสใดก็ตาม เพียงแค่คู่เดียว มอเตอร์ก็จะหมุนกลับทางได้ทันที
และสำหรับคอมเพรสเซอร์แบบปิดสนิท (Hermetic Compressor) ที่ใช้งานกันอยู่ในเครื่องปรับอากาศหรือแอร์ หากเป็นกรณีที่คอมเพรสเซอร์ตัวนั้นขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้ากระแสสลับ 3 เฟส (3 Phase 380V) การต่อสายไฟสลับเฟส ย่อมมีผลทำให้ทิศทางการหมุนของมอเตอร์ สลับหมุนกลับไปในทิศทางตรงกันข้ามเช่นกัน
และโดยปกติแล้ว แอร์ที่เราใช้กันตามบ้านเรือนทั่วๆไปนั้น ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นแบบที่ใช้งานกับระบบไฟฟ้า 1 เฟส (Single Phase 220V) ส่วนคอมเพรสเซอร์แอร์แบบที่ใช้กับระบบไฟฟ้า 3 เฟส จะเป็นคอมเพรสเซอร์แอร์ที่มีขนาดทำความเย็นในระดับ 30,000 BTU ขึ้นไป ซึ่งเป็นแอร์ที่มีใช้งานกันในอาคารสำนักงาน หรือตามบริษัทห้างร้านต่างๆ
การต่อสายไฟเข้าสลับเฟส ในกรณีของมอเตอร์คอมเพรสเซอร์แอร์ ที่ใช้งานกับระบบไฟฟ้า 3 เฟส 3 สาย 380 โวลต์ เมื่อจ่ายไฟให้คอมเพรสเซอร์ทำงาน ผลลัพธ์ที่ได้นั้นจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับประเภทของคอมมเพรสเซอร์ตัวนั้น ว่าเป็นคอมเพรสเซอร์แบบใด ระหว่าง คอมเพรสเซอร์แบบลูกสูบ, แบบโรตารี่ หรือแบบสโครล
กรณีที่เป็นคอมเพรสเซอร์ แบบลูกสูบ ที่ใช้กับระบบไฟ 3 เฟส หากมีการต่อสายไฟสลับเฟส แม้ว่ามอเตอร์คอมเพรสเซอร์จะหมุนกลับทาง แต่ก็ไม่มีปัญหา คอมเพรสเซอร์ยังคงสามารถทำงานได้ตามปกติ เพราะลักษณะกลไกภายในของคอมเพรสเซอร์แบบลูกสูบนั้น ตัวมอเตอร์ที่เปรียบเหมือนต้นกำลังจะทำหน้าที่ขับเคลื่อนข้อเหวี่ยงของลูกสูบ ซึ่งการหมุนของข้อเหวี่ยงไม่ว่าจะหมุนในทิศทางใดลูกสูบก็ยังคงเคลื่อนที่ขึ่นลงได้อยู่
กรณีที่เป็นคอมเพรสเซอร์ แบบโรตารี่ ที่ใช้กับระบบไฟ 3 เฟส หากมีการต่อสายไฟสลับเฟส มอเตอร์คอมเพรสเซอร์ก็จะหมุนกลับทาง ซึ่งการหมุนกลับทางในกรณีของคอมเพรสเซอร์โรตารี่นั้น จะมีผลให้ระบบแอร์ทำงานผิดปกติ แอร์ไม่เย็น วัดแรงดันของน้ำยาดูก็จะเห็นความผิดปกติ แต่จะว่าไป การต่อสลับเฟสในกรณีที่เป็นคอมเพรสเซอร์ แบบโรตารี่ อาจจะพบได้ยาก เนื่องจากคอมเพรสเซอร์แบบโรตารี่ โดยทั่วไปจะไม่ค่อยนิยมใช้กับแอร์ขนาดใหญ่เกินกว่าสามหมื่นบีทียู เพราะคอมเพรสเซอร์แบบโรตารี่นั้นมีดีแค่การประหยัดไฟและการทำงานเงียบ แต่เรื่องกำลังที่ให้ออกมานั้นยังทำได้ไม่ดีเมื่อเทียบกับแบบอื่น ทำให้คอมเพรสเซอร์แอร์แบบโรตารี่ที่มีขนาดใหญ่ไม่ค่อยเป็นที่นิยมสักเท่าไหร่ หากเป็นแอร์ขนาดใหญ่ที่ต้องใช้คอมเพรสเซอร์ 3 เฟส ส่วนใหญ่หลายๆที่มักจะเลือกใช้คอมเพรสเซอร์แบบสโครล หรือไม่ก็แบบลูกสูบ แทนแบบโรตารี่
สำหรับกรณีที่เป็นคอมเพรสเซอร์ แบบสโครล ที่ใช้กับระบบไฟ 3 เฟส หากมีการต่อสายไฟสลับเฟส มอเตอร์คอมเพรสเซอร์ก็จะหมุนกลับทาง และในกรณีของคอมเพรสเซอร์แบบสโครลนั้น หากหมุนกลับทางก็จะมีเสียงดังผิดปกติเกิดขึ้นในขณะที่ทำงาน และแอร์ก็ไม่สามารถทำความเย็นได้เหมือนเช่นที่เคย ซึ่งเมื่อวัดค่าแรงดันน้ำยาดูก็จะเห็นความผิดปกติ รวมทั้งหากวัดกระแสไฟฟ้าที่คอมเพรสเซอร์ใช้ ก็จะพบว่าอัตราการกินกระแส น้อยกว่าค่าที่แสดงไว้บนเนมเพลตมากจนผิดสังเกต
แม้ว่าการต่อสายไฟสลับเฟส สำหรับกรณีคอมเพรสเซอร์แบบลูกสูบที่ใช้งานกับระบบไฟฟ้า 3 เฟส 380 โวลต์ จะไม่ค่อยมีปัญหา และคอมเพรสเซอร์ก็อาจจะยังคงทำงานได้อยู่แม่ถูกสลับเฟส แต่ทางที่ดีที่สุด ก็ควรจะต่อสายไฟให้ถูกต้อง เรียงลำดับเฟสให้ถูกต้องตรงตามที่ผู้ผลิตได้กำหนดไว้บนเทอร์มินอล ซึ่งการติดตั้งเครื่องใช้ไฟฟ้า หรืออุปกรณ์ไฟฟ้า ที่ใช้งานร่วมกับระบบไฟฟ้า 3 เฟส จะต้องมีความรอบคอบมากเป็นพิเศษ เพราะหากเกิดความผิดพลาดเพียงเล็กน้อย ความเสียหายที่เกิดก็อาจจะรุนแรงและมีมากกว่าระบบเฟสเดียวเป็นแน่
และสำหรับท่านใด ที่รับงานเกี่ยวกับงานติดตั้งและซ่อมบำรุง ระบบเครื่องเย็นและระบบแอร์ หากงานที่รับมานั้น หลายครั้งเป็นงานที่ต้องข้องเกี่ยวกับระบบไฟฟ้า 3 เฟส หากยังไม่มีอุปกรณ์ตรวจเช็คลำดับเฟส หรือมิเตอร์เช็คเฟส (Phase Sequence Tester) ก็น่าจะมีไว้ติดตัวบ้างจะเป็นการดี เพราะในบางงานก็อาจจะมีข้อจำกัดทำให้ไม่สามารถมาร์ก เพื่อระบุสายแต่ละเฟสได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย ซึ่งถ้ามีอุปกรณ์ตรวจเช็คลำดับเฟสก็จะช่วยให้ทำงานได้อย่างปลอดภัยและรวดเร็วขึ้น
ตัวอย่างของอุปกรณ์ตรวจเช็คลำดับเฟส (Phase Sequence Tester)
Create Date : 20 มิถุนายน 2558 |
Last Update : 20 มิถุนายน 2558 20:36:32 น. |
|
4 comments
|
Counter : 52257 Pageviews. |
|
|