มอเตอร์พัดลมคอยล์เย็น...อีกส่วนที่ต้องระวังขณะล้างแอร์
มอเตอร์พัดลมคอยล์เย็น...อีกส่วนที่ต้องระวังขณะล้างแอร์
บทความชุดนี้ จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเทคนิคงานช่างแอร์ ซึ่งฉบับนี้คงต้องขอหยิบยกเอาเรื่องมอเตอร์พัดลมคอยล์เย็นของแอร์ขึ้นมาพูดหน่อย เพราะในช่วง 1-2 ปีมานี้ สถิติที่ผู้เขียนเจอมาเกี่ยวกับมอเตอร์แอร์เสีย ถือว่ามีอยู่เยอะพอสมควร
และหลายต่อหลายกรณีที่เกิดขึ้น เป็นปัญหาที่เกิดกับมอเตอร์พัดลมโพรงกระรอก หรือมอเตอร์พัดลมคอยล์เย็น ของแอร์แบบติดผนังหรือแอร์วอล์ไทป์ (Wall Type) และที่น่าแปลกใจก็คือ แทบจะทุกกรณีที่ผู้เขียนให้ทีมงานออกไปตรวจสอบแก้ไข หลังจากสอบถามกันไปมาระหว่างเจ้าของบ้านที่แอร์มีปัญหา ก็สามารถจับประเด็นได้ว่าแทบทุกเคส มีสาเหตุที่มาที่ไปที่เรียกได้ว่าเหมือนๆกัน คือเป็นความเสียหายหรือความผิดพลาดที่เกิดจากการกระทำของช่างแอร์ หรือผู้ที่มาดำเนินการล้างแอร์ เพราะแทบทุกรายที่เจอ ต้องมีการทำความสะอากแอร์ก่อนหน้าไม่นานมานี้ทั้งนั้น ที่มาที่ไปก็คงจะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากความบกพร่องที่เกิดระหว่างการล้างในครั้งล่าสุด
ซึ่งความบกพร่องที่ว่านี้ เกิดขึ้นเมื่อเจ้าของบ้านได้ไปว่าจ้างช่างให้มาล้างแอร์ โดยช่างรายที่ว่าจ้างมา เป็นประเภทที่เน้นทำงานแบบรวบรัด รวมถึงอาจจะไม่ใส่ใจในรายละเอียดมากพอ และยังรู้เท่าไม่ถึงการณ์อีกด้วย โดยที่ล้างแอร์แบบใช้น้ำแรงดันสูงฉีดเข้าไปที่แผงครีบคลอย์เย็น โดยไม่ได้ทำการแกะใบพัดโพรงกระรอกและตัวมอเตอร์ออกมาล้างข้างล่าง ซึ่งการฉีดแผงและพัดลมพร้อมๆกันนี้ หากจะให้ใบพัดด้านในสะอาดโดยใช้เวลาไม่มาก ก็ต้องปล่อยให้มันหมุนไปตามแรงดันน้ำที่ฉีดอัดใส่เข้าไป ซึ่งระดับแรงดันของน้ำที่ฉีดโดยใช้ปั๊มอัดฉีดก็มีระดับหลายสิบถึงเป็นร้อยบาร์ เมื่อแรงจากน้ำไปปะทะที่ซี่ใบพัดโพรงกระรอก มันก็จะหมุนด้วยความเร็วสูง ยิ่งถ้าอัดน้ำฉีดใส่ตรงๆ มันก็สามารถหมุนได้เร็วยิ่งกว่าตอนที่มันหมุนขณะเปิดแอร์เสียอีก
นี่ยังไม่นับขั้นตอนหลังจากล้างเสร็จ ที่ต้องเป้าหยดน้ำที่เกาะออกไปด้วยโบลว์เวอร์ ซึ่งถ้าใบพัดลมไม่ได้ถูกถอดลงมาเป่า การเป่าลมกำลังแรงใส่ซี่ใบพัดโพรงกระรอกโดยไม่มีการดักใบพัดเอาไว้อยู่กับที่ มันก็สามารถทำให้ใบพัดหมุนได้ด้วยความเร็วสูงเช่นกัน
ซึ่งประเด็นหลักๆที่อาจจะทำให้พัดลมคอยล์เย็นของแอร์มีปัญหา ก็คือการทำให้มันหมุนได้ด้วยความเร็วสูงในระหว่างกระบวนการล้าง การที่พัดลมหมุน แกนมอเตอร์ที่ต่ออยู่ก็ย่อมต้องมุนตามไปด้วย และในแอร์หลายๆเครื่อง หากมอเตอร์หมุนด้วยความเร็ว แต่การหมุนนั้นไม่ได้หมุนเพราะกระแสไฟฟ้าที่จ่ายเข้าไปแบบตอนที่เปิดใช้งาน ก็จะเกิดปัญหาขึ้นในภายหลัง
สำหรับมอเตอร์พัดลมคอยล์เย็นของแอร์วอล์ไทป์ หากเป็นรุ่นเก่าๆเมื่อหลายปีก่อน ส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดจะใช้เป็นมอเตอร์ไฟฟ้ากระแสสลับ หรือมอเตอร์ AC ซึ่งการฉีดน้ำหรือเป่าลมเข้าใส่ใบพัดโพรงกระรอกโดยที่ยังติดกับแกนมอเตอร์ ต่อให้ไบพัดและแกนมอเตอร์หมุนเร็วแบบสุดๆ ก็ไม่ใช่ปัญหาอะไรสำหรับตัวมอเตอร์
แต่ในกรณีของแอร์วอล์ไทป์รุ่นหลังๆมานี้ โดยเฉพาะรุ่นที่เป็นระบบอินเวอร์เตอร์ ซึ่งแอร์ยุคหลังๆมานี้มีหลายยี่ห้อได้เปลี่ยนแปลงมอเตอร์ของพัดลมคอยล์เย็น จากเดิมที่ใช้มอเตอร์ AC ก็เปลี่ยนมาใช้เป็นมอเตอร์ไฟฟ้ากระแสตรง หรือมอเตอร์ DC สำหรับมอเตอร์ DC นี้ ถ้าล้างแอร์โดยไม่ถอดใบพัดออกจากแกนมอเตอร์ แล้วฉีดน้ำหรือเป่าลมอัดเข้าไปโดยไม่มีการดักให้แกนมอเตอร์อยู่กับที่ เมื่อใบพัดโพรงกระรอกหมุนด้วยความเร็วรอบสูง แกนมอเตอร์ก็ย่อมหมุนตาม ซึ่งการหมุนมอเตอร์แบบ DC ที่มีส่วนประกอบภายในเป็นขดลวดทองแดงกับแม่เหล็กถาวร ก็จะเข้าสู่หลักการ "ขดลวดตัดผ่านสนามแม่เหล็ก" ซึ่งนั่นก็จะทำให้มอเตอร์ DC ที่ถูกทำให้หมุน กลายสถานะจากมอเตอร์มาเป็นเครื่องกำเนิดไฟฟ้าทันที และนั่นจะทำให้มันสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าออกมาได้ในขณะที่ถูกทำให้หมุน โดยกระแสไฟฟ้าที่ผลิตออกมาก็จะไหลย้อนป้อนกลับวงจรควบคุม ยิ่งใบพัดถูกหมุนด้วยความเร็วสูง ก็จะยิ่งผลิตกระแสไฟฟ้าจ่ายย้อนกลับไปได้มาตามความเร็วรอบ และนี้ก็เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาขึ้นมา
โครงสร้างพื้นฐานของมอเตอร์ไฟฟ้ากระแสตรง DC
เพราะการที่กระแสไฟฟ้าจากมอเตอร์พัดลมแบบ DC จะถูกจ่ายย้อนป้อนกลับไปทางวงจรควบคุม ซึ่งวงจรนี้มันถูกออกแบบมาให้ใช้ควบคุมการทำงานของมอเตอร์เท่านั้น ตัวมันเองจึงถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้มีหน้าที่ควบคุมการจ่ายไฟออกไปยังมอเตอร์ แต่ไม่ได้ออกแบบมาให้รับกระแสไฟฟ้าที่ถูกจ่ายย้อนกลับมา เมื่อมีไฟย้อนกลับเข้ามา หากปริมาณกระแสไฟฟ้ามีอยู่เล็กน้อยก็อาจจะไม่ส่งผลอะไรมากนัก แต่ถ้ารอบการหมุนมีความเร็วสูงจนปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ผลิตมีอยู่ในปริมาณที่มากพอ ปัญหาก็จะตามมาทันที ไม่มอเตอร์ก็ต้องเป็นแผงบอร์ดวงจรควบคุม อย่างใดอย่างหนึ่งคงต้องจะพังแน่ แต่หากโชคร้ายหนักสุดก็อาจจะพังทั้งแผงทั้งมอเตอร์ ซึ่งราคาอะไหล่ที่สั่งจากศูนย์บริการนนั้น ก็แพงเอาเรื่องเลยทีเดียว
ภาพแสดงให้เห็นว่ามอเตอร์ DC เพียงหมุนเร็วๆด้วยมือ ก็สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าออกมาได้
ที่เล่ามาข้างต้นนั้น คือสาเหตุหลักที่เกิดขึ้นเพราะความประมาณหรือความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของผู้ที่มาดำเนินการล้างแอร์ ทำให้มอเตอร์พัดลมคอยล์เย็นชำรุดเสียหายใช้งานไม่ได้เหมือนเดิม หรือในบางรายก็อาจจะเจอปัญหาในลักษณะที่มอเตอร์มีสปีดตกลงไปจากเดิมจนลมที่ออกมีไม่เพียงพอ ซึ่งก็มีผลให้ห้องเย็นช้ามาหรืออาจจะไม่เย็นเลย
แนวทางการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา
การป้องกันหรือหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดปัญหาเช่นนี้ขึ้น วิธีที่ดีที่สุดคือเริ่มที่การปรับเปลี่ยนรูปแบบวิธีการล้างแอร์ จากเดิมที่ฉีดน้ำใส่โดยไม่ถอดใบพัดโพรงกระรอกและมอเตอร์ลงมา ก็เปลี่ยนรูปแบบการล้างเสียใหม่ โดยที่การล้างแอร์ในแบบที่ถูกต้องเหมาะสมที่สุด จะต้องถอดใบพัดโพรงกระรอกลงมาฉีดล้างทำความสะอาดด้านล่าง แล้วตามด้วยถอดชุดคอนโทรลที่เป็นกล่องบรรจุแผงวงจรไฟฟ้าลงมาเป่าลมเพื่อขจัดฝุ่นที่เกาะอยู่ และต่อมาจึงถอดมอเตอร์ของพัดลมคอยล์เย็นลงมาเช็ดทำความสะอาดซึ่งถ้าเป็นไปได้ก็ควรหยอดน้ำมันหล่อลื่นให้กับแกนมอเตอร์เล็กน้อยก็จะเป็นการดี ซึ่งเมื่อส่วนของ ใบพัดโพรงกระรอก - บอร์ดควบคุม - มอเตอร์ ทังหมดนี้ถูถอดลงมาแล้ว ก็จะเหลือเฉพาะฐานรองเครื่อง กับแผงครีบคอยล์เย็น(แผงอีวาปอเรเตอร์) ซึ่งสองส่วนที่เหลืออยู่นี้จะเป็นส่วนที่ยึดอยู่กับที่ ไม่มีชิ้นส่วนที่เป็นกลไกเคลื่อนไหวหรือวงจรทางไฟฟ้าอยู่ ทำให้การล้างแบบใช้น้ำจากปั๊มอัดฉีดเข้ามาจัดการทำความสะอาด และเป่าลมให้แห้ง สามารถจัดการขั้นตอนการฉีดล้างและเป่าได้อย่างเต็มที่ และปลอดภัยที่สุด
ส่วนของแอร์ที่จะฉีดน้ำล้าง ซึ่งถูกถอดชิ้นส่วนต่างๆออกมาอย่างถูกต้อง
ชิ้นส่วนที่ถอดลงมาเพื่อล้างทำความสะอาดอย่างถูกต้อง
การฉีดน้ำล้างแผงคอยล์เย็น
และชิ้นส่วนที่ถอดลงไปก่อนหน้า หลังจากที่ทำความสะอาดอย่างทั่วถึงและเป่าลมให้แห้งแล้ว ก็นำกลับเข้ามาติดตั้งประกอบกลับคืนตำแหน่งเดิมให้ครบถ้วน ซึ่งนี่เป็นวิธีการถอดล้างชุดคอยล์เย็นแบบที่ถูกต้อง และป้องกันความเสียหายได้ดีที่สุด เมื่อเทียบกับการล้างแบบที่ไม่ถอดชิ้นส่วนต่างๆลงมา
แต่เนื่องด้วยเหตุผลทางด้านเศรษฐศาสตร์ และการแข่งขันในด้านราคาค่าบริการของช่าง ทำให้ช่างหลายรายที่ให้บริการล้างแอร์ราคาถูก โดยคิดค่าบริการล้างต่ำกว่า 500 บาท อาจจะไม่สามารถล้างโดยถอดชิ้นส่วนต่างๆลงมาล้างทีละชิ้นได้ เพราะไม่อยากเสียเวลาล้างแต่ละเครื่องมากเกินไป ซึ่งหากยังคงยืนยันที่จะใช้วิธีการล้างแบบเดิม คือเพียงแต่ถอดฝาครอบกับถาดน้ำทิ้งออกมาแล้วฉีดน้ำอัดเข้าไปที่แผงและที่ใบพัด ก็จะต้องมีการป้องกันไม่ให้ใบพัดโพรงกระรอกหมุนด้วยความเร็วสูงในระหว่างที่ฉีดแรงดันน้ำเข้าไปด้วย โดยแนวทางการป้องกันเบื้องต้นนั้น อาจจะใช้มือหรือใช้วัสดุอุปรณ์ที่เหมาะสม มาทำการดักจับใบพัดให้อยู่กับที่ แต่ที่ดีที่สุดคือการใช้มือล้วงเข้าไปจับใบพัดให้อยู่กับที่ในระหว่างการฉีดล้างแอร์ หลีกเลี่ยงการใช้ของแข็งอย่างไขควงมาทำการดักใบพัด เพราะเมื่อเผลอทำให้ใบพัดหมุนตามแรงดันน้ำที่ฉีดเข้ามาแล้วแหย่ไขควงเข้าไปหยุดใบพัดแบบทันทีทันใดอาจจะทำให้ซี่ใบพัดแตกหักได้ เพราะมันเป็นพลาสติกแข็งแต่เปราะ อันนี้ต้องระวังไว้ด้วย
แผงวงจรส่วนที่อยู่ภายในมอเตอร์ DC
ที่ต้องมีการดักใบพัดไม่ให้หมุนตามแรงดันน้ำที่ฉีดไปกระทบ ก็เพื่อกันไม่ให้มอเตอร์พัดลม ที่เป็นมอเตอร์ไฟฟ้ากระแสตรง (มอเตอร์ DC) กลายเป็นไดนาโมจ่ายไฟย้อนกลับเข้าไปยังบอร์ควบคุม ดังที่กล่าวไปในตอนแรกนั่นเอง
แต่หลายๆท่านอาจจะคิดหาทางป้องกันแบบอื่น ที่สะดวกกว่าการต้องมาคอยดักไบพัดไว้กับที่ในระหว่างฉีดน้ำล้าง ซึ่งบางท่านก็เลือกที่จะใช้วิธีการปลดสายมอเตอร์พัดลมออกจากบอร์ดควบคุม กันไม่ให้มันจ่ายไฟย้อนกลับเข้าบอร์ดได้ แต่การทำแบบนี้ได้ ท่านจะต้องแน่ใจแล้วว่าภายในตัวมอเตอร์ตัวนี้ ไม่ได้มีแผงวงจรจำพวกตัวนับรอบอยู่ภายใน เพราะถ้ามันมีวงจรอิเล็กทรอนิกส์อยู่ที่ด้านในตัวมอเตอร์ กรณีนี้ต่อให้ถอดสายออกจากบอร์ด ก็อาจจะไม่รอด บอร์ดไม่พังแต่พังที่ตัวมอเตอร์เลยก็มี ที่ต้องให้แน่ใจว่ามันไม่มีวงจรอิเล็กทรอนิกส์ด้านใน ก็เนื่องจากมอเตอร์พัดลมในปัจจุบัน ในแอร์แต่ละรุ่นแต่ละยี่ห้อ ก็อาจจะผลิตออกมาไม่เหมือนกัน แม้จะเป็นมอเตอร์กระแสตรงก็ใช่ว่าจะเหมือนกันหมดในเรื่องโครงสร้าง ซึ่งผู้ผลิตบางยี่ห้อก็กลัวว่าของตนจะเหมือนยี่ห้ออื่นๆ โดยบางรายก็อาจจะทำให้มอเตอร์ของตนเองมีความซับซ้อนยุ่งยาก(จนไร้สาระ)
ไดอแกรมวงจรไฟฟ้าที่อยู่ด้านในฝาครอบคอยล์เย็น
สรุปคือ มอเตอร์พัดลมในชุดคอยล์เย็นของแอร์แบบติดผนัง หลายยี่ห้อหลายรุ่นเริ่มหันมาใช้เป็นมอเตอร์กระแสตรง (มอเตอร์ DC) ซึ่งก่อนที่จะล้างแอร์ หลังจากที่ถอกแผงหน้ากากครอบคอยล์เย็นออก ควรตรวจสอบข้อมูลที่แสดงบนไดอะแกรมแผนผังวงจรไฟฟ้า (Wiring Diagram) ตรวจดูให้ชัดเจนว่าเป็นมอเตอร์แบบ DC หรือเปล่า ถ้าใช้มอเตอร์ DC การล้างแอร์จะต้องมีการป้องกัน ไม่ให้แรงดันน้ำที่ฉีดเข้าไปทำให้มอเตอร์มุนได้ด้วยความเร็ว เพราะถ้าหมุนเมื่ไหร่มันจะจ่ายไฟย้อนกลับเข้าแผงบอร์ดควบคุม และอาจจะนำมาซึ่งความเสียหาในส่วนของมอเตอร์หรือบอร์ดควบคุม ซึ่งการเปลี่ยนอะไหล่ส่วนนี้ก็อาจจะมีราคาสูงถึงหลายพันบาทเลย
Create Date : 15 มิถุนายน 2558 |
Last Update : 19 ธันวาคม 2559 5:29:48 น. |
|
22 comments
|
Counter : 127836 Pageviews. |
|
|