สาระน่ารู้เกี่ยวกับ แอร์บ้าน และระบบไฟฟ้าในบ้าน
Group Blog
 
All blogs
 

อุทาหรณ์ของไฟฟ้า

เมื่อว่านได้รับฟอร์เวิดเมล์มาฉบับหนึ่ง อ่านดูแล้วคิดว่ามันน่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าทุกท่าน ซึ่งผมคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเรามาก แต่ยังมีหลายคนคิดว่ามันเป็นเรื่องไกลตัวไม่ใสใจที่จะตรวจสอบ แต่พอเกิดเรื่องไม่คาดฝันขึ้น เราไม่สามารถที่จะมาโทษใครได้ อยากให้ทุกคนใส่ใจในรายละเอียดของระบบไฟฟ้าบ้านท่าน หมั่นตรวจสอบระบบไฟฟ้าของบ้านท่านเป็นประจำเพราะทุกสิ่งทุกอย่างมันมีโอกาศผิดพลาดหรือชำรุดได้เสมอ ก็เพื่อจะได้ไม่ต้องเกิดเรื่องน่าสลดใจเหมือนกับฟอร์เวิดเมล์ฉบับนี้

เรื่องในฟอร์เวิดเมล์ฉบับนี้ มีอยู่ว่า

บ้านไหนมีเครื่องทำน้ำอุ่น ควรอ่านเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงนี้
และตรวจสอบระบบในบ้าน ด่วน!!!

เช้าวันที่ 5 มีนาคม เป็นวันที่ทุกๆคนคงรู้สึกผ่อนคลาย
เพราะเป็นเช้าวันศุกร์ที่ไม่ต้องไปทำงานเหมือนปกติ
ใช่แล้ว
วันนี้เป็นวันหยุด…….อากาศตอนเช้าจึงสดชื่นเป็นพิเศษ…….

วันนี้เป็นวันที่หลานชายตัวแสบจะขึ้นเวทีแสดงงานโรงเรียนอนุบาลปิดภาคเรียน
ประจำปีพอดี

เด็กๆที่บ้านจึงสนุกสนานกันใหญ่ ……..
ใครจะคิดว่าต่างกับอีกครอบครัวหนึ่งโดยสิ้นเชิง…..

โทรศัพท์มือถือข้าพเจ้าดังแต่เช้าตรู่
ปรากฏว่าน้าชายโทรมาขอให้ไปช่วยตรวจสอบเหตุไฟฟ้าช็อตที่บ้านลูกศิษย์ด่วน

เสร็จธุระช่วงเช้าแล้ว จึงรีบไปบ้านที่เกิดเหตุทันที……
บ้านหลังใหญ่นี้อยู่ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งย่านสุขาภิบาล 3
พี่เลี้ยงเด็กเล่าเหตุการณ์ให้ฟังว่า เมื่อเวลาประมาณ 2 ทุ่มเศษ
คืนวันที่ 4 มีนาคม

ขณะที่เด็กชายคนนี้กำลังอาบน้ำอยู่ พี่เลี้ยงได้ยินเสียงเด็กล้มดัง
เมื่อวิ่งเข้าไปดูปรากฏว่าเด็กล้มลงนอนขนานกับพื้น ลักษณะคว่ำหน้า
มีอาการชักและแน่นิ่งไป ทั้งที่น้ำจากฟักบัวยังคงไหลอยู่
พี่เลี้ยงรีบวิ่งเข้าไปเพื่อพยุงตัวเด็กขึ้น
ทันทีที่แตะตัวเด็กก็รู้สึกหวูบล้มลงกับพื้น

โชคดีส่วนอาบน้ำเป็นห้องกระจก พี่เลี้ยงล้มตัวลงนอกห้องกระจกจึงรีบลุกขึ้นมา

ตั้งสติได้ก็รู้ทันทีว่าไฟฟ้าช็อตนั่นเอง
จึงรีบวิ่งลงบันไดไปปิดสวิทซ์เบรกเกอร์
เพื่อตัดไฟที่ตู้ไฟเมนทันที
หลังจากนั้นจึงเรียกให้ทุกคนในบ้านมาช่วยกันนำเด็กส่งโรงพยาบาลใกล้บ้านทันที

ขณะนำเด็กส่งโรงพยาบาลเด็กมีอาการหัวใจเต้นอ่อน และตัวเขียวมาก
ข้าพเจ้าได้ทำการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าเครื่องทำน้ำอุ่นในห้องเด็ก
อยู่ในสภาพดี ไม่มีจุดรั่ว

เป็นเครื่องยี่ห้อดังจากยุโรป แต่ไม่มี
EARTH LEAKAGE CIRCUIT BREAKER
ในตัวเหมือนรุ่นใหม่ๆ

เนื่องจากเป็นรุ่นเก่า
อย่างไรก็ตามมีการต่อสายดินเรียบร้อย
(สำหรับผู้ที่ไม่ค่อยจะมีความรู้เรื่องไฟ
ให้สังเกตุดูสายต่อลงดินจะเป็นสายสีเขียว)

หลังจากสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมจากพี่เลี้ยงทราบว่า ขณะที่เกิดเหตุนั้น
แม่เด็กคนนี้ก็โดนไฟช็อตขณะกำลังอาบน้ำโดยเปิดเครื่องทำน้ำอุ่นอยู่เช่นกัน

แต่เนื่องจากรู้สึกตัวจึงรีบปลีกตัวออกมาจากสายน้ำ
และใช้ผ้าพันก็อกน้ำเพื่อปิดน้ำได้ทัน

(ที่เป็นเช่นนั้นได้ อาจเป็นเพราะไฟที่รั่วมีปริมาณแรงดันไม่สูงมากนัก
แม่เด็กจึงหลบหลีกออกมาได้ทันการณ์
ในขณะที่เด็กซึ่งตัวเล็กกว่ามากอีกทั้งโชคร้าย
สายน้ำอาจจะปะทะลงหัวพอดี นั่นคือไฟช๊อตผ่านสมองทำ ให้น็อคได้)

ข้าพเจ้าได้ทำการตรวจสอบเครื่องทำน้ำอุ่นอีกเครื่องหนึ่งในห้องแม่เด็ก
พบว่ามีจุดรั่วจากระบบในตัวเครื่องเชื่อมต่อถึงสายดิน (เล็กน้อย)

สังเกตุภายนอกพบว่ามีรอยเขม่าดำติดอยู่ที่กระเบื้องผนังบริเวณด้านบนตัวเครื่อง
ทั้งสองเครื่องเป็นเครื่องทำน้ำอุ่นติดตั้งใช้งานมาประมาณ 7 ปี
ทำให้พอจะสันนิษฐานได้ว่าเครื่องทำน้ำอุ่นในห้องแม่เด็กมีปัญหา
และเป็นต้นเหตุทำให้เกิดไฟฟ้าช๊อตขึ้น

แต่ที่น่าแปลกคือ ตามปกติเมื่อมีไฟฟ้ารั่วหรือลัดวงจร
ระบบป้องกันไฟฟ้ารั่วหรือลัดวงจรน่าจะทำงาน

เมื่อตรวจสอบตู้ไฟเมนของบ้าน จึงพบว่าบ้านนี้ไม่ได้ติดตั้ง เซฟ-ที-คัท

ทั้งที่ระบบอื่นๆดีมาก มีห้องปั่นไฟฟ้าฉุกเฉินไว้ใช้ยามไฟฟ้าดับ
มีเครื่องทำน้ำแข็ง เครื่องกรองน้ำขนาดใหญ่

รวมถึงอุปกรณ์ไฟฟ้าอย่างดีครบครัน……

ข้าพเจ้าลงไปตรวจสอบสายดินของบ้าน จึงพอจะเข้าใจเหตุการณ์ว่าเกิดอะไรขึ้น ???

ปรากฎว่าบ้านหลังนี้มีปัญหาฐานรากทรุดตัวไม่เท่ากัน
จึงได้ว่าจ้างบริษัทแห่งหนึ่งทำการซ่อมแซมอยู่
เมื่อลงไปตรวจสอบสายดินใต้ตัวบ้านพบว่า
ดินบริเวณใต้ตัวบ้านถูกขุดลอกออกมาเป็นบริเวณกว้าง

สังเกตุเห็นสายดินถูกฝังเสียบในแนวนอนขนานกันคานบ้าน
โดยรอบแท่งสายดินมีดินเกาะติดอยู่เพียงกลุ่มเล็กๆเท่านั้น

ลักษณะเหมือนถูกเคลื่อนย้ายจากจุดปกติ ซึ่งแท่งสายดินควรจะถูกฝังในแนวดิ่ง
จึงสันนิษฐานได้ว่า มีอุปกรณ์ไฟฟ้าลัดวงจรลงสายดิน

แต่เนื่องจากสายดินถูกติดตั้งในลักษณะไม่เหมาะสม
ทำให้ไฟลัดวงจรไม่ไหลกระจายลงดินเหมือนปกติ
แต่กับไหลวนอยู่ในระบบ และย้อนกันไปเข้าอุปกรณ์ตัวอื่นๆที่ต่อสายดินทั้งหมด

เนื่องจากมีการแจ้งความไว้กับตำรวจท้องที่ ข้าพเจ้าจึงหยุดการตรวจสอบไว้เท่านี้

เวลาประมาณ บ่าย 3 โมง เจ้าหน้าที่ตำรวจ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่การไฟฟ้า
(ซึ่งน่าจะเป็นกลางที่สุด)

และทีมงานวิศวกรของบริษัทรับเหมาซ่อมแซมบ้านมาพร้อมกัน
จึงทำการตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง สรุปความเห็นตรงกันตามที่กล่าวมาแล้ว

นับว่าเป็นโชคร้ายของเด็กคนนี้จริงๆ ข้าพเจ้าได้รับโทรศัพท์จากน้าชายในวันที่ 7
มีนาคม
ทราบว่าเด็กเสียชีวิตแล้ว…….. อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าคิดว่า
โชคดีมากที่แม่เด็กปลอดภัย

ไม่เช่นนั้นครอบครัวนี้คงเหลือเพียงพ่อและน้องชายตัวเล็กอีกคนเดียวเท่านั้น

แม้ว่าจะได้รับเงินประกันชีวิตเป็นสิบล้านบาท แต่ไม่มีเทียบค่าอะไรไม่ได้เลย
กับชีวิตน้อยๆ ที่สูญเสียไป

บางครั้งแม้จะเกิดมาในครอบครัวที่พรั่งพร้อมด้วยทรัพย์สินเงินทองมากมาย
มีคนรับใช้ดูแลเป็นสิบคนในบ้าน แต่เมื่อเกิดเหตุร้ายฉับพลัน
ก็ไม่สามารถป้องกันหรือแก้ไขอะไรได้ทันท่วงที
โดยเฉพาะเหตุร้ายที่เกิดจากขึ้นทำนองนี้…..

ตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้ารวมถึงระบบไฟฟ้าในบ้านท่านตั้งแต่วันนี้
หากไม่รู้ปรึกษาช่างผู้ชำนาญ เข้ามาตรวจสอบและให้คำปรึกษา
โดยเฉพาะบ้านท่านที่มีเครื่องทำน้ำอุ่น…….

ขออุทิศผลบุญ จากการแบ่งปันเรื่องเล่าเตือนใจนี้

แด่ เด็กชาย วัยเก้าขวบ คนนี้ ด้วยเทอญ สาธุ…….





 

Create Date : 08 ธันวาคม 2551    
Last Update : 8 ธันวาคม 2551 19:13:13 น.
Counter : 7726 Pageviews.  

"ตัดก่อนตาย เตือนก่อน..." เครื่องตัดไฟทำได้ 100% จริงหรือ

เครื่องตัดไฟ หรือ เครื่องป้องกันไฟดูด-ไฟรั่ว หลายคนรู้ว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องมีติดบ้านไว้ 
แต่...ก็ยังมีหลายคนที่ยังไม่รู้อะไรเกี่ยวกับมันมากนัก หรือบางคนก็รู้และเข้าใจในเครื่องตัดไฟแบบผิดๆมาโดยตลอด


วันนี้ผู้เขียนเลยขอหยิบยกเรื่องเครื่องตัดไฟ มาเขียนเป็นบนความในเรื่องของเครื่องตัดไฟหรือเครื่องป้องกันไฟดูด ซึ่งเป็นที่พึ่งและเป็นทางเลือกของหลายๆท่าน
ที่ต้องการปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของตนเอง เพื่อให้ท่านผู้อ่านที่ยังไม่รู้เกียวกับเครื่องตัดไฟ ได้ทราบเบื่องต้นเกี่ยวกับเครื่องตัดไฟที่ใช้กันอยู่ในบ้านเรื่องทั่วไป
เพื่อให้ใช้งานได้อย่างปลอดภัย รู้จักขอบเขตการป้องกันของเครื่องตัด ที่สามารถป้องกันกรณีใดได้บ้าง และไม่ป้องกันในกรณีใดบ้าง 




ในปัจจุบัน...ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มที่ป้องกันอันตรายจากไฟดูด-ไฟรั่ว ที่วางขายกันในท้องตลาดมีให้เลือกมากมายหลายแบบ หลายยี่ห้อ หลายราคา

แต่ถ้าพูดถึงเครื่องตัดไฟแบบดั่งเดิม รูปทรงใหญ่ๆ มีลูกบิดหมุดปรับค่าความไว(Sensitive) หลายๆคนก็จะนึกออก ทันทีว่าเป็นเครื่องตัดไฟชื่อดัง ตระกูล Safe XXX หรือตระกูล XXX Cut
ที่ต้องตามมาด้วยสโลแกนที่จำขึ้นใจอย่าง "ตัดก่อนตาย เตือนก่อน..."
ชื่อของแบรนด์เครื่องตัดไฟนี้ กลายเป็นคำเรียกติดปากของคนทั่วไป ที่มักจะเรียกเครื่องตัดไฟที่มีรูปทรงแบบนี้ ว่า "เซฟที..." ทั้งที่บางครั้งเป็นเครื่องตัดไฟของแบรนด์อื่น
ก็ถูกเหมารวมเรียกเป็น "เซฟที..."


ภาพแสดง...เครื่องตัดไฟรั่ว แบบดั้งเดิม


นอกจากเครื่องตัดไฟรั่วแล้ว อุปกรณ์ป้องกันไฟดูด-ไฟรั่ว ที่เข้ามาในท้องตลาดเพื่อเป็นทางเลือกเพิ่มเติมให้ได้เลือกซื้อกัน หลักๆก็จะมีอยู่ 2 ประเภท 
แบ่งตามขีดความสามารถในการป้องกัน และพิกัดการใช้งาน

ประเภทที่ 1 RCBO (นิยมเรียกว่า "ลูกย่อยกันดูด หรือ เมนกันดูด") เป็นอุปกรณ์ที่มีความสามารถเทียบเท่าเครื่องตัดไฟแบบดั้งเดิม คือสามารถป้องกันไฟดูด-ไฟรั่ว ไฟเกิน และไฟฟ้าลัดวงจรได้ 
โดยส่วนใหญ่แล้ว RCBO จะถูกผลิตออกมาเพื่อใช้ติดตั้งภายในร่วมกับตู้ Consumer Unit , Load Center หรือ ติดตั้งบนรางและอุปกรณ์อื่นๆตามความเหมาะสม 
มีให้เลือกทั้งแบบ ลูกย่อยกันดูด ซึ่งใช้สำหรับควบคุมในส่วนของวงจรย่อย และ เมนกันดูด ใช้สำหรับเป็นเมนเบรกเกอร์เพื่อควบคุมวงจรย่อยที่อยู่ในตู้เดียวกัน
เมนกันดูดหลายยี่ห้อ มีการออกแบบให้มีค่าทนกระแสลัดวงจร(IC)ที่สูงขึ้น เพื่อสามารถใช้เป็นเมนประธานของระบบไฟได้โดยตรง 




ประเภทที่ 2 ELB/ELCB (นิยมเรียกว่า "กันดูด") เป็นเบรกเกอร์ป้องกันไฟดูด-ไฟรั่ว อีกชนิดหนึ่ง ตัวเบรกเกอร์ ELB/ELCB จะอยู่ในตระกูลเดียวกันกับ Safety Breaker มีลักษณะใกล้เคียงกันมาก
แต่มีจุดที่แตกต่างตรงที่ ELB/ELCB จะมีปุ่มสำหรับกด Test อยู่ตรงกลาง     
ความสามารถของ ELB/ELCB คือสามารถป้องกันไฟดูด-ไฟรั่ว และไฟฟ้าลัดวงจร แต่จะไม่สามารถปลดวงจรแบบอัตโนมัติได้ในกรณีที่ใช้กระแสไฟฟ้าเกินพิกัด Over Load การที่ ELB/ELCB มีกระแสไหลผ่าน
เกินพิกัดที่ ELB/ELCB จะรับไหวเป็นเวลานาน อาจทำให้ ELB/ELCB ได้รับความเสียหาย จึงจำเป็นต้องใช้ร่วมกับฟิวส์หรือเซอร์กิตเบรกเกอร์แบบธรรมดาเพื่อป้องกันการใช้กระแสเกินพิกัด
ELB/ELCB จะเหมาะกับการนำไปใช้ควบคุมเฉพาะตัวเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีความเสี่ยง เช่น เครื่องทำน้ำอุ่น , เครื่องซักผ้า เป็นต้น

อ่านบทความเกี่ยวกับ ELB/ELCB เพิ่มเติม ...คลิ๊ก...



มีบางคนที่ยังเข้าใจผิด...ในเรื่องขนาดของปริมาณการตรวจจับกระแสไฟรั่ว บางคนมีความเชื่อว่าขนาดค่าตรวจจับกระแสไฟรั่ว หรือค่าความไว(Sensitive) 30 mA. เป็นค่าที่มากเกินไป จนเป็นอันตราย 
แต่ในความเป็นจริงแล้ว ขนาดของค่าตรวจจับกระแสไฟรั่ว 30 mA.ไม่ได้เป็นค่าที่มากไป จัดเป็นค่ามาตรฐานที่เหมาะสมในการใช้ป้องกันอันตรายในสภาวะการใช้งานแบบทั่วไป 
ซึ่งค่าที่ระดับ 30mA. เป็นค่าที่มีความเสถียรต่อสภาพแวดล้อมสูง แต่ก็ยังอยู่ในระดับการป้องกันอันตรายที่ปลอดภัยอยู่ ค่าที่ระดับนี้จะไม่มีความไวหรืออ่อนไหว(Sensitive)มากเกินไปในการใช้งาน เนื่องจากบ้านเรา(ประเทศไทย)อากาศร้อนชื้น ในช่วงที่ฝนตกชุก ความชื้นในอากาศจะมาก เป็นผลให้เครื่องตัดไฟที่มีค่าตรวจจับไฟรั่วต่ำๆเช่น 5 หรือ10 mA มีโอกาสสูงที่จะทริปตัดวงจรออกโดยไม่มีสาเหตุอยู่บ่อยๆ(ไม่มีใครโดนไฟดูดแต่เครื่องก็ตัดเอง) 
แต่ถ้าเป็นระดับค่าตรวจจับกระแสไฟรั่วที่ 30 mA. แทบจะไม่เกิดปัญหาในเรื่องทริปตัดวงจรเองเมื่ออากาศชื้น 
ขนาดค่าตรวจจับกระแสไฟรั่ว 30 mA. ยังได้รับการรับรองและยอมรับในฝั่งอเมริกาและยุโรป 

สรุป...ค่าความไว(Sensitive)ที่ใช้เพื่อป้องกันมนุษย์ได้รับอันตรายจากการถูกไฟดูด ในระดับที่ปลอดภัยจะอยู่ที่ไม่เกิน 30 mA. เวลาในการทริปปลดวงจร ตามมาตรฐานกำหนดให้ต้องไม่เกินกว่า 0.04 วินาที





ในส่วนเครื่องตัดไฟอีกประเภท ที่ป้องกันไฟรั่วลงดิน สำหรับป้องกันอุปกรณ์ จะมีค่าตรวจจับกระแสไฟรั่วมาก อยู่ที่ประมาณ 100mA. 200mA. 300mA. 500mA. จึงไม่สมควรที่จะนำมาใช้ในการป้องกันอันตรายจากไฟดูดที่จะเกิดกับคน 
เครื่องประเภทนี้เหมาะที่จะใช้ป้องกันการรั่วลงดินอุปกรณ์ไฟฟ้าเพื่อลดการสูญเสียพลังงานโดยเปล่าประโยชน์และป้องกันความเสียหายของอุปกรณ์ไฟฟ้าหรืออัคคีภัย หรือนำมาใช้ในกรณีที่ต้องการให้เครื่องตัดไฟรั่วสามารถป้องกันทุกวงจรที่เมนสวิตช์ โดยจะใช้ได้เฉพาะระบบไฟฟ้าที่มีสายดิน เป็นมาตรการเสริมป้องกันอัคคีภัย และไฟฟ้าดูด ให้ใช้ขนาดตั้งแต่ 100mA เป็นต้นไป 
โดยอาจจะเลือกใช้เป็นขนาด 100mA , 300mA หรือ 500mA ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับปริมาณของกระแสไฟรั่วตามธรรมชาติ ซึ่งการเลือกใช้จะต้องพิจารณาไปเป็นกรณีเฉพาะ




หลักการทำงานเบื้องต้นของเครื่องตัดไฟ

หลายคนอาจสงสัย ในหลักการทำงานของเครื่องตัดไฟ...มันรู้ได้อย่างไรว่ามีไฟรั่วลงดินหรือมีคนโดนไฟดูด ?

การที่เครื่องตัดไฟสามารถรู้ได้ว่ามีกระแสไฟฟ้ารั่วลงดินหรือมีคนโดนไฟดูดนั้น ระบบภายในไม่ได้มีความอัจฉรียะล้ำยุคแต่อย่างใด มีหลักการทำงานเบื้องต้นที่ง่ายๆไม่ซับซ้อน
เครื่องตัดไฟมีหน้าที่หลักๆคือ เปรียบเทียบกระแสไฟฟ้าที่ไหลผ่านสาย Line กับสาย Neutral เงื่อนไขข้องมันคือ กระแสไฟฟ้าที่ไหลออกไปเท่าไหร่ ก็จะต้องใหลกลับมาเท่านั้น
ภายในเครื่องตัดไฟ จะมีขดลวด Search Coil ซึ่งเป็นตัวที่ทำหน้าที่ตรวจวัดปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ไหลออกไป และกลับเข้ามา 
สาย Line กับสาย Neutral จะถูกสอดผ่านเข้าไปในวงขดลวด Search Coil




ในสภาวะปกติ...กระแสไฟฟ้าที่ไหลออกไปเมื่อผ่านโหลดเครื่องใช้ไฟฟ้าแล้ว ก็จะไหลกลับเข้ามาในปริมาณที่เท่ากัน สาย Line กับสาย Neutral จะมีกระแสไหลออกไปและกลับมาเท่ากัน
เมื่อสาย Line กับสาย Neutral มีกระแสไหลออกไปและกลับมาเท่ากัน ก็จะเกิดการหักล้างของเส้นแรงแม่เหล็กจนหมดสิ้น ทำให้ขดลวด Search Coil ในเครื่องตัดไฟตรวจไม่พบความผิดปกติ

กรณีนี้ ถ้าใครที่เคยใช้แคลมป์มิเตอร์คล้องสายไฟเพื่อวัดกระแสไฟฟ้า...ก็คงจะนึกออก ถ้าคล้องแคลมป์มิเตอร์ควบระหว่างสาย Line กับสาย Neutral พร้อมกัน แม้จะเป็นขณะที่มีโหลด แต่หน้าปัทม์มิเตอร์จะไม่แสดงค่าใดๆขึ้นมา เนื่องจากเส้นแรงแม่เหล็กหักล้างกันระหว่างสาย Line กับสาย Neutral
แต่ถ้าคลองมิเตอร์กับสายไฟเส้นใดเส้นหนึ่ง(ขณะมีโหลด) จะทำให้เกิดการเหนี่ยวนำของเส้นแรงแม่เหล็ก จนเกิดเป็นสัญญาณไฟฟ้าขึ้นมา หน้าปัทม์มิเตอร์ก็จะแสดงค่ากระแสไฟฟ้าขึ้นมาให้เห็น 




เมื่อเกิดกรณีไฟรั่วลงดิน หรือไฟดูดคน จะมีกระแสไฟฟ้าบางส่วนหายออกไปจากระบบ ทำให้กระแสไฟฟ้าที่ไหลกลับเข้าไปไม่เท่ากับตอนที่ออกมา ผลต่างของกระแสไฟฟ้าระหว่างสาย Line กับสาย Neutral
ที่ไหลไม่เท่ากัน เส้นแรงแม่เหล็กที่หีกล้างกันไม่หมดก็จะเกิดการเหนี่ยวนำขึ้นที่ขดลวด Search Coil หากปริมาณกระแสไฟฟ้าที่รั่วออกไปจากระบบ มีถึงระดับที่กำหนด สัญญาณไฟฟ้าที่เกิดจากการเหนี่ยวนำในขดลวด Search Coil จะเดินทางเข้าสู่ส่วนที่ทำหน้าที่ขยายสัญญาณ เพื่อเข้าไปสั้งการขดลวด Trip Coil เมื่อขดลวด Trip Coil ได้รับสัญญาณที่เพียงพอ ก็จะเกิดอำนาจแม่เหล็ก ส่งผลให้กลไกลภายใน ทริปเบรกเกอร์เพื่อตัดวงจรไฟฟ้า

ส่วนประกอบอื่นๆของเครื่องตัดไฟ

ปุ่มทดสอบ Test เป็นปุ่ที่ใช้กดเพื่อจำลองเหตุการณ์ไฟรั่ว เมื่อกดปุ่มดังกล่าวจะเป็นการต่อวงจรไฟฟ้าให้กับวงจรทดสอบ ซึ่งมีโหลดในวงจรทดสอบเป็นตัวต้านทาน โดยวงจรทดสอบจะต่อด้านหนึ่งเข้ากับขั้วหนึ่งตรงด้านที่ออกมาจากขดลวด Search Coil แล้วสายอีกฝั่งของวงจรทดสอบก็จะต่อเข้ากับอีกขั้วตรงด้านที่จะเข้าขดลวด Search Coil 
เมื่อกดปุ่มทดสอบ Test จึงเหมือนเป็นการจำลองสถานะการณ์ที่มีไฟรั่วออกจากระบบ เพราะกระแสที่ไหลผ่านขดลวด Search Coil มีค่าไม่เท่ากัน






สวิทช์ปรับค่าความไว(Sensitive) เป็นสวิทช์ที่มีเฉพาะในเครื่องตัดไฟแบบดั้งเดิมเท่านั้น จะหาสวิทช์แบบนี้ในเครื่องป้องกันไฟดูด-ไฟรั่ว แบบเบรกเกอร์ RCBO หรือ ELB/ELCB คงไม่มี
อันที่จริงสวิทช์นี้ก็ไม่ได้มีความจำเป็นอะไรมากมาย 
ในเครื่องตัดไฟรุ่นปัจจุบัน สวิทช์ที่ใช้ปรับค่าความไว จะใช้เป็น Selector Switch ที่ให้ปรับเลือกลงตำแหน่งที่กำหนดไว้เป็นจุดๆ แต่ละจุดก็จะไปต่อกับวงจรที่กำหนดค่าความไวเอาไว้
ต่างจากเครื่องตัดไฟสมัยก่อน ที่ใช้สวิชท์แบบที่เป็นเหมือนตัวต้านทานปรับค่าได้ 
เครื่องตัดไฟแบบดั้งเดิม รุ่นที่ผลิตออกมาในภายหลัง ผู้ผลิตได้เอาโหมดการทำงานแบบต่อตรง Direct ออกไปแล้ว ทำให้เครื่องตัดไฟมีความปลอดภัยเพิ่มขึ้น 









กรณีใดบ้างที่เครื่องตัดไฟสามารถป้องกันได้ และป้องกันไม่ได้

กรณีที่เครื่องป้องกันได้(ทริป)

1. การทริปหรือตัดวงจร ในกรณีที่เกิดจากกระแสไฟฟ้าดูดหรือกระแสไฟฟ้ารั่วลงดินโดยการผ่านร่างกายคนหรือผ่านตัวโครงอุปกรณ์ ในปริมาณที่เครื่องสามารถตรวจจับได้ซึ่งอิงจากค่าความไว หรือค่า Sensitive ซึ่งในเครื่องบางรุ่นที่สามารถปรับความไวของกระแสได้ให้ตังค่าความไวที่ค่าเริ่มต้นที่น้อยที่สุด หากการใช้งานไปเรื่อยๆมีการทริปเองบ่อยครั้งควรปรับเพิ่มขึ้นมาที่ละขั้น หากปรับมาจนถึงค่าสูงสุด(25 หรือ 30mA.)ใช้งานไปเรื่อยๆยังมีการทริปควรเรียกช่างมาตรวจตัวเครื่องและตรวจสอบระบบไฟฟ้าของท่าน
คำเตือน...สำหรับเครื่องตัดไฟที่สามารถปรับให้ต่อตรง Direct เมื่อเครื่องตัดไฟทริปแล้วยังหาสาเหตุไม่พบ หากไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน ที่จะต้องใช้ไฟฟ้า อย่าปรับเลือก Direct เด็ดขาด!!! ให้หาสาเหตุให้เจอก่อน หรือไม่ก็รีบตามช่างไฟฟ้ามาตรวจสอบ ถ้าไม่จำเป็นสุดๆอย่าใช้โหมด Direct เพราะผู้ใช้อาจจะหลงลืมปรับกลับมายังตำแหน่งป้องกัน ผู้ใช้ส่วนใหญ่ที่มีการติดตั้งเครื่องตัดไฟมักจะประมาทในการใช้ไฟฟ้า การปรับเลือกเป็น Direct แล้วไม่ปรับกลับคืนสู่โหมดป้องกัน หากเหตุไม่คาดฝันเกิดขึ้นโดนไฟดูด แต่เมื่อเครื่องยังเป็น Direct อยู่ ก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้ เรียกได้ว่า..."ตายแล้วก็ยังไม่ตัด" 
ส่วนที่ปรับความไวไม่ได้ จะมีค่าตรวจจับกระแสไฟรั่วเป็นค่าคงที่ตายตัว ขนาดเหมาะสมสำหรับการใช้ป้องกันอัตรายจากไฟดูด-ไฟรั่ว ที่มีขายกันในท้องตลาด เช่น 10 mA.  15mA.  30mA. เป็นต้น(ค่าความไวหรือค่า Sensitive สามารถดูได้จากสติกเกอร์แสดงข้อมูลที่ผู้ผลิตติดเอาไว้บนตัวสินค้า)

2. การทริปหรือตัดวงจรในกรณีใช้กระแสไฟฟ้าเกินกว่าขนาดพิกัดของเครื่อง หรือการใช้งานจนเกิด Over Load กรณีนี้เป็นคุณสมบัติการป้องกันที่มีเฉพาะในเบรกเกอร์ชนิด RCBO เท่านั้น 
ส่วนเบรกเกอร์ ELB/ELCB จะไม่สามารถปลดวงจรเมื่อมีการใช้งานแบบ Over Load ได้ ซึ่งหากใช้งานจนเกิด Over Load เป็นระยะเวลานานๆ อาจทำให้ตัว ELB/ELCB ได้รับความเสียหายได้

3. การทริปหรือตัดวงจร ในกรณีที่เกิดไฟฟ้าลัดวงจร Short Circuit การลัดวงจรในที่นี้ ถ้าเป็นกรณีที่อาจพบได้ในบ้านพักอาศัยทั่วไป คือการที่ตัวนำไฟฟ้าที่มีศักย์ทางไฟฟ้า 220 (สาย Line) มาเจอกันโดยตรง กับตัวนำไฟฟ้าที่มีศักย์เป็นศูนย์ (สาย Neutrul) โดยไม่ผ่านความต้านทานหรือโหลดทางไฟฟ้าใดๆทั้งสิ้น เมื่อทั้งสองมาเจอกันโดยตรงก็จะเกิดกระแสไหลจำนวนมากมายมหาศาล(เป็นพันแอมป์ขึ้นไป) หากไม่มีการปลดวงจรออกเมื่อมีการลัดวงจรเกิดขึ้น จะเกิดความร้อนสูงจนเป็นสาเหตุของเพลิงไหม้ได้
การลัดวงจรในระบบไฟฟ้าเฟสเดียว นอกจากจะเกิดได้ระหว่าง Line กับ Neutral แล้ว ยังสามารถเกิดขึ้นได้ระหว่าง Line กับ Ground หรือสายดิน ได้อีกด้วย แต่ความรุนแรงจะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับความต้านทานของระบบสายดิน
ส่วนการลัดวงจรในระบบ 3 เฟส เกิดขึ้นได้ทั้งระหว่าง Line กับ Neutral และ Line กับ Ground รวมทั้ง Line กับ Line ที่ต่างเฟสกัน ความรุนแรงก็จะมากขึ้นตามไปด้วย


กรณีที่เครื่องป้องกันไม่ได้(ไม่ทริป)

1. กรณีที่คนหรือสัตว์เลี้ยงไปสัมผัสกับสายไฟเส้น Line และ Neutral โดยตรง ซึ่งกรณีนี้จะเป็นอันตรายถึงชีวิต กว่า 98% ของเครื่องตัดไฟที่ใช้กันทั่วไปจะไม่ทำงาน เนื่องจากตัวเครื่องตรวจจับไม่ได้ เพราะว่าร่างกายของเราและสัตว์เลี้ยงมีความต้านทานอยู่ การไปสัมผัสกับสายไฟเส้น L และ N โดยตรง เปรียบเสมือนเป็นการครบวงจรตามปกติ ร่างกายของเราจะกลายสถานะเป็นโหลดเหมือนเครื่องใช้ไฟฟ้า กระแสไฟจะไหลผ่านร่างกาย อาจทำให้เสียชีวิตได้ "งานนี้...ตัดก่อนตายก็ช่วยอะไรมากไม่ได้ อาจกลายเป็นตายก่อนตัด หรือแม้แต่จะเตือนก่อนวายวอด ก็คงทำไม่ได้เพราะวอดวายไปก่อนแล้ว"

2. กรณีที่ประมาทหรือเผลอลืม...เปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าทิ้งไว้ 
กรณีแบบนี้เมื่อเกิดเรื่องขึ้นแล้ว หากมองย้อนกลับไป ยังพบว่ามีหลายๆคนที่มีความเชื่อที่ผิด ไววางใจเชื่อมันในเครื่ิองตัดไฟมากไปจนทำให้ประมาท มีทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ กรณีแบบที่ตั้งใจก็เช่นเปิดพัดลมให้สัตว์เลี้ยงทิ้งไว้ในขณะที่ไม่มีคนอยู่ ส่วนกรณีที่ไม่ตั้งใจก็อย่างการเผลอลืมเปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าทิ้งไว้นานๆขณะที่ไม่มีคนอยู่ จนเครื่องใช้ไฟฟ้าอันนั้นเกิดร้อนและติดไฟขึ้นมา กรณีนี้เครื่องตัดไฟจะยังไม่ทริปเพื่อตัดไฟแบบทันทีทันใด จะต้องรอให้ไฟไหม้จนส่วนที่เป็นฉนวนเสียหาย แล้วเกิดการลัดวงจรก่อนเครื่องตัดไฟจึงจะทริปเพื่อตัดไฟ แต่เมื่อถึงตอนนั้นแล้วไฟอาจลุกลามไปแล้วก็ได้

3. ใช้เครื่องตัดไฟที่มีขนาดไม่สัมพันธ์กับขนาดมิเตอร์ไฟฟ้า การนำเครื่องตัดไฟที่มีพิกัดกระแสใหญ่เกินกว่าขนาดมิเตอร์มาใช้เป็นเมนสวิทช์ของระบบไฟฟ้าในบ้าน เมื่อเกิดกรณีใช้กระแสไฟฟ้าเกิน Over Load เกินกว่าค่าสูงสุดที่มิเตอร์จะรองรับได้ เครื่องตัดไฟจะไม่ทริปจนกว่ากระแสที่ไหลผ่านจะเกินพิกัดของเครื่องตัดไฟ แต่ขณะนั้นมิเตอร์อาจรับไม่ไหวแล้ว สิ่งที่จะตามมาคือความเสียหายที่จะเกิดกับสายเมนและมิเตอร์วัดหน่วยไฟฟ้า
ในกรณีที่ต้องการใช้อุปกรณ์ตัดไฟ เป็นเมนเบรกเกอร์ ควรเลือกแบบที่ออกแบบมาให้ใช้เป็นเมนเบรกเกอร์ได้ โดยสังเกตจากค่าทนกระแสลัดวงจร  Interrupting Capacity (IC) ค่าดังกล่าวเป็นพิกัดการทนกระแสลัดวงจรสูงสุดโดยปลอดภัยของเบรค เกอร์นั้นๆ สำหรับระบบไฟฟ้าในบ้านพักอาศัยทั่วไปซึ่งเป็นระบบเฟสเดียว การไฟฟ้ากำหนดค่า IC ของเมนเบรกเกอร์ไว้ไม่ต่ำกว่า 10 kA.
และเลือกพิกัดกระแสให้เหมาะสมกับขนาดมิเตอร์ไฟฟ้าที่บ้าน เช่น 
มิเตอร์ 5(15) A ขนาดเมนเบรกเกอร์ต้องไม่เกิน 16 A
มิเตอร์ 15(45) A ขนาดเมนเบรกเกอร์ต้องไม่เกิน 45 A (ถ้าไม่มีจริงๆ มาตรฐานการไฟฟ้าฯ อนุโลมให้ใช้สูงสูดไม่เกิน 50 A)
มิเตอร์ 30(100) A ขนาดเมนเบรกเกอร์ต้องไม่เกิน 100 A

หากใครใช้เครื่องตัดไฟแบบที่คุ้นเคยกันดี ที่เป็นตัวเครื่องขนาดใหญ่ ปรับค่าความไว Sensitive ได้ ไม่ว่าจะเป็นของตระกูล Safe XXX หรือตระกูล XXX Cut ทั้งหลายเหล่านี้ ผู้เขียนไม่แนะนำให้นำมาเป็นเมนของระบบไฟฟ้าโดยตรง เครื่องตัดไฟพวกนี้ ทางที่ดีควรจะต่อใช้งานผ่านเมนสวิทช์ที่เป็นเซอร์กิตเบรกเกอร์ธรรมดา หรือเมนที่เป็นสะพานไฟแบบมีฟิวส์ จะดีกว่าการต่อใช้งานเป็นเมนโดยตรง

4. ปรับตั้งตัวตรวจจับกระแสไปที่ตำแหน่ง Direct ซึ่งเป็นการจ่ายไฟโดยไม่ผ่านกลไกลและวงจรที่ทำการตรวจสอบปริมาณที่กระแสไฟฟ้าไหลไปและไหลกลับ ซึ่งวงจรดังกล่าวจะทำการเทียบการไหลออกไปและไหลกลับเข้ามาของกระแสไฟฟ้า หากมีไฟรั่วหรือไฟดูด กระแสไฟฟ้าจะสูญเสียออกไปจากระบบ จำนวนกระแสที่ไหลกลับเข้ามาจะมีน้อยกว่ากระแสที่ไหลออก หากกระแสที่หายออกไป มีปริมาณถึงระดับค่าความไวในการทริป Sensitive ชุดกลไกลภายในจะสั่งการให้เบรกเกอร์ทริปเพื่อตัดไฟ 
หากไม่จำเป็นหรือฉุกเฉินจริงๆ อย่าใช้งานในโหมด Direct แต่ถ้าจำเป็นต้องใช้จริงๆ ก็ต้องระมัดระวังในการใช้ไฟฟ้าให้มากๆ อย่าประมาท เพราะอย่าลืมว่าถ้าไฟรัว เครื่องไม่ตัด 



5. ต่อสายไฟเข้าผิดเส้น สินค้าในกลุ่มของอุปกรณ์ป้องกันไฟดูด-ไฟรั่ว ปัจจุบันแทบจะไม่ค่อยมีปัญหาและข้อบกพร่องที่จะเกิดขึ้นเมื่อมีการต่อสายสลับด้านไฟเข้า ระหว่าง L - N ผลิตภัณฑ์ที่ออกมาในปัจจุบันบางตัวก็ไม่มีการกำหนดขั้วเอาไว้ ทำให้หลายคนอาจจะสับสนไปบ้าง ซึ่งความจริงแล้วหากผู้ผลิตไม่ระบุมาก็หมายถึงต่อเข้าด้านไหนขั้วไหนก็ได้ ตามแต่จะเห็นสมควร แต่...ในอดีตเครื่องตัดไฟบางรุ่นที่ภายในมีระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาเกี่ยวข้อง อาจจะไม่ทำงานหรือทำงานผิดพลาด หากใส่สายไฟเข้าผิดเส้น

6. การติดตั้งเครื่องตัดไฟก่อนเข้าเมนสวิทช์ของบ้านที่มีระบบสายดิน กรณีนี้หากเกิดไฟรั่วแล้วเครื่องอาจจะไม่ตัดกระแส เพราะปริมาณไปที่เข้าและออกจากเครื่องเป็นปกติ การติดตั้งต้องติดตั้งเครื่องตัดไฟ ถัดจากเมนสวิชต์หรืออุปกรณ์ปลดวงจรหลักของบ้านที่มีระบบสายดิน เท่านั้น



การติดตั้งเครื่องตัดไฟรั่วจะอยู่ก่อนเมนเซอร์กิตเบรคเกอร์ เป็นวิธีที่ไม่ถูกต้อง











 

Create Date : 05 พฤศจิกายน 2551    
Last Update : 29 เมษายน 2556 7:56:48 น.
Counter : 112513 Pageviews.  

1  2  3  

KanichiKoong
Location :
สงขลา Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 275 คน [?]




ช่องทางการติดต่อผู้จัดทำ

- หลังไมค์
- E-mail : aum_tawatchai@hotmail.com
-------------------------------------
เนื้อหาที่ปรากฏ อนุญาติให้นำไปใช้เพื่อการศึกษา/หาความรู้ ซึ่งไม่เป็นการนำไปใช้ในเชิงธุรกิจ
-------------------------------------
New Comments
Friends' blogs
[Add KanichiKoong's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.