สาระน่ารู้เกี่ยวกับ แอร์บ้าน และระบบไฟฟ้าในบ้าน
Group Blog
 
All blogs
 
ระบบสายดิน ของระบบไฟฟ้าในบ้าน







ตั้งแต่ วันที่ 1 สิงหาคมพ.ศ. 2539 

การไฟฟ้านครหลวงได้ออกประกาศให้ผู้ยื่นขอไฟฟ้ารายใหม่จะต้องเดินสายไฟฟ้าให้มีระบบต่อลงดินรวมทั้งต้องติดเต้ารับไฟฟ้าทุกตัวให้เป็นเต้ารับ ชนิดที่มีขั้วสำหรับสายดิน




ระบบสายดิน (Grounding System)





และตั้งแต่ พ.ศ. 2539 มาจนถึงปัจจุบันมาตรฐานในเรื่องของการติดตั้งสายดินจึงได้กลายมาเป็นกฎข้อบังคับที่การไฟฟ้านครหลวงได้นำมาใช้ และหลังจากนั้นการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคก็ได้นำข้อบังคับนี้เข้ามาใช้ด้วยเช่นกันซึ่งรายละเอียดหลักๆในข้อบังคับนี้ เป็นการกำหนดให้ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ขอใช้ไฟฟ้าใหม่รวมทั้งผู้ใช้ไฟฟ้าที่ยื่นขอเพิ่มขนาดมิเตอร์ไฟฟ้า ต้องปฏิบัติตามในเรื่องของการติดตั้งระบบสายดินควบคู่กับระบบไฟฟ้าที่ติดตั้ง





สายดินมีไว้เพื่ออะไร ?

สายดินที่ติดตั้งในระบบไฟฟ้า มีขึ้นเพื่อเสริมให้เกิดความปลอดภัยต่อการใช้ไฟฟ้า ในกรณีที่เกิดไฟรั่วลงบนโครงเครื่องใช้ไฟฟ้า กระแสไฟฟ้าส่วนที่รั่วออกมานี้ ก็จะใช้สายดินเป็นเส้นทางในการไหลลงดิน แทนที่จะไหลผ่านร่างกายของมนุษย์ในกรณีที่เผลอไปสัมผัสนั่นเอง 

ซึ่งสายดินจะทำงานได้โดยสมบูรณ์ ปลายสายด้านหนึ่งของสายดินต้องมีการต่อลงดินด้วยวัสดุที่มีคุณสมบัติเป็นตัวนำไฟฟ้าส่วนปลายสายอีกด้านหนึ่งต่อเข้ากับพื้นผิวหรือโครงเครื่องใช้ไฟฟ้าซึ่งเป็นส่วนที่มีการเข้าถึงและสัมผัสได้โดยผู้ใช้งานหรือบุคคลทั่วไป

และไม่เพียงแค่การป้องกันไม่ให้ผู้ใช้ไฟฟ้าได้รับอันตรายจากการถูกไฟฟ้าดูดเท่านั้น แต่ในบางกรณี สายดินยังมีส่วนช่วยในการจัดการกับสัญญาณรบกวนอีกด้วย




การทำงานของสายดิน

ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจในธรรมชาติของไฟฟ้าก่อนซึ่งธรรมชาติของไฟฟ้านั้น จะเคลื่อนที่จากบริเวณที่มีศักย์ทางไฟฟ้าสูงไปยังบริเวณที่มีศักย์ไฟฟ้าน้อยกว่าหรือบริเวณที่มีศักย์ไฟฟ้าเป็นศูนย์

พื้นโลก(พื้นดิน)มีศักย์ทางไฟฟ้าเป็นศูนย์ และในระบบผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าส่วนหนึ่งนั้นก็ได้มีการต่อลงดิน เพื่อเทียบศักย์ไฟฟ้าให้เป็น 0 เทียบเท่ากับพื้นดิน

เมื่อเราไปสัมผัสกับพื้นผิวหรือโครงเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีกระแสไฟฟ้ารั่วออกมา และเท้าของเรายืนอยู่บนพื้น นั่นทำให้เกิดค่าความต่างศักย์ทางไฟฟ้าระหว่างจุดสองจุดที่ร่างกายเราสัมผัสอยู่ในขณะนั้น ไฟฟ้าจะใช้ร่างกายของเราเป็นสื่อเพื่อเดินทางผ่าน ในที่นี้กระแสไฟฟ้าก็จะผ่านตัวเราเพื่อไปลงสู่ดินนั่นเอง

ถ้ามีการติดตั้งสายดินที่โครงเครื่องใช้ไฟฟ้าเอาไว้ หากมีกระแสไฟฟ้ารั่วลงมาที่โครงเครื่องใช้ไฟฟ้า กระแสไฟฟ้าที่รั่วออกมานั้น ก็จะเดินทางลงสู่ดินผ่านทางสายดิน ซึ่งเมื่อใดที่เราไปจับโครงเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีการติดตั้งสายดิน ก็จะไม่ได้รับอันตรายจากกระแสไฟฟ้า เพราะไฟฟ้าเลือกที่จะไหลผ่านช่องทางที่สะดวกที่สุดซึ่งนั้นก็คือทางสายดิน แทนการไหลผ่านร่างกายมนุษย์ เนื่องจากเมื่อเทียบกันแล้วสายดินมีความต้านทานต่ำกว่าร่างกายมนุษย์หลายเท่า ไฟฟ้าจึงเลือกเดินทางผ่านสายดิน แทนที่จะผ่านร่างกายเรา





เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต้องมีและไม่มีสายดิน

เครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทที่ต้องมีสายดิน คือเครื่องใช้ไฟฟ้ารวมทั้งอุปกรณ์ติดตั้งทางไฟฟ้าที่มีโครงหรือเปลือกหุ้มเป็นโลหะซึ่งบุคคลมีโอกาสสัมผัสได้ต้องมีสายดิน เช่น ตู้เย็น , เตารีด,เครื่องซักผ้า ,หม้อหุงข้าว ,เครื่องปรับอากาศ , เตาไมโครเวฟ , กระทะไฟฟ้า , กระติกน้ำร้อน , เครื่องทำน้ำร้อนหรือน้ำอุ่น , เครื่องปิ้งขนมปัง รวมถึงเครื่องมือช่างบางชนิด เป็นต้น ซึ่งจะเรียกครื่องใช้ไฟฟ้าเหล่านี้ว่าเป็น เครื่องใช้ไฟฟ้าประเภท 1



เครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทที่ไม่ต้องมีสายดิน


ส่วนใหญ่จะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้งานในระดับแรงดัน ต่ำกว่า 50 หรือเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ลักษณะทางกายภาพมีฉนวนห่อหุ้มมิดชิดในการใช้งานปกติไม่มีโอกาสที่ผู้ใช้งานจะสัมผัสโดนส่วนที่มีไฟฟ้าซึ่งจะเรียกเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ต้องมีสายดินว่า เครื่องใช้ไฟฟ้าประเภท 2 ซึ่งมีสัญลักษณ์แสดงไว้อย่างชัดเจนว่าไม่ต้องมีสายดิน ตัวอย่างของเครื่องใช้ฯประเภท 2 เช่น วิทยุ , โทรทัศน์ , พัดลมตั้งพื้น/โต๊ะโคมไฟแสงสว่างชนิดตั้งโต๊ะ เป็นต้น



สัญลักษณ์แบบ A และ B สำหรับแสดงบนเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ต้องมีสายดิน (ประเภท 2) 



ระบบสายดินตามมาตรฐานการไฟฟ้าฯ

ระบบสายดินที่ติดตั้งในบ้านพักอาศัยเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการด้านความปลอดภัย ที่ทางการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ได้ออกเป็นข้อบังคับให้ผู้ใช้ไฟฟ้าภาคครัวเรือนต้องปฏิบัติตาม

เหตุผลที่ทางการไฟฟ้าต้องออกเป็นกฏข้อบังคับก็เนื่องมาจากในอดีต มีผู้ได้รับอันตรายจากการใช้ไฟฟ้าบ่อยครั้งมีทั้งได้รับบาดเจ็บ ไปจนถึงขั้นเสียเสียชีวิตก็มีอยู่ไม่น้อย

สาเหตุส่วนใหญ่ก็มักจะมาจากการถูกไฟดูดจากการไปสัมผัสหรือใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีไฟรั่ว

ด้วยเหตุนี้เองสายดินจึงได้กลายมาเป็นข้อบังคับเพื่อความปลอดภัยในการใช้ไฟฟ้า




องค์ประกอบหลักของสายดิน

สายดินมีองค์ประกอบหลักๆที่สำคัญอยู่ 2 ส่วน ซึ่งได้แก่ สายตัวนำไฟฟ้าหรือสายดิน และหลักดิน




สายดินที่นำมาติดตั้ง 

สายดินที่ใช้ในระบบไฟฟ้าทั่วไป จะมีลักษณะทางกายภาพ คือเป็นสายไฟฟ้าชนิดแกนเดียว ภายในสายประกอบด้วยลวดตัวนำที่ทำมาจากทองแดง และหุ้มด้วยฉนวนประเภท PVC

ตามมาตรฐาน ได้กำหนดให้ใช้สายที่มีฉนวนสีเขียวหรือสีเขียวสลับแถบสีเหลือง เป็นสีเฉพาะของสายดิน

สายดินในระบบไฟฟ้ายังสามารถจำแนกได้เป็น 2 กลุ่มหลักๆคือ

1. สายดินที่ใช้ในวงจรย่อยซึ่งเป็นสายดินที่ต่อมาจากเต้ารับ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ติดตั้งตามจุดต่างๆ

2. สายสำหรับต่อหลักดิน เป็นสายขนากใหญ่ที่จะรวมสายดินจากวงจรย่อยต่างๆเข้าด้วยกัน แล้วต่อไปลงที่หลักดินที่ตอกลงไปในดิน




การเลือกขนาดสายต่อหลักดิน โดยพิจารณาจากขนาดตัวนำประธาน (สายเมน) ของระบบไฟฟ้า



หลักดิน

หลักดินเป็นโลหะตัวนำไฟฟ้ามีหน้าที่ถ่ายเทประจุไฟฟ้าให้กระจายลงสู่พื้นดิน โดยเมื่อมีกระแสไฟฟ้ารั่วจากเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต่อสายดินอยู่ กระแสไฟฟ้าที่รั่วก็จะเดินทางจากสายดินมาสู่หลักดินแล้วถ่ายเทลงสู่พื้นดิน

หลักดินที่ใช้กับระบบสายดินมีลักษณะทางกายภาพเป็นแท่งโลหะ ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะใช้เป็นแท่งทองแดง หรือเหล็กชุบทองแดงเพื่อป้องกันสนิมและการกัดกร่อน 

ตามมาตรฐานกำหนดให้หลักดินที่จะนำมาติดตั้งกับระบบไฟฟ้า มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 16 มม. (5/8นิ้ว) และมีความยาว 2.4 เมตร ซึ่งนี่คือแท่งหลักดินขนาดมาตรฐานที่ใช้ตอกลงไปในพื้นดิน

และมาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าของประเทศไทย ก็ได้กำหนดค่าความต้านทานของหลักดินที่ตอกลงไป โดยหลักดินที่ได้มาตรฐาน ต้องมีความต้านทานดิน ไม่เกิน 5 โอห์ม










ข้อกำหนดในการติดตั้งระบบสายดินที่ถูกต้อง ตามมาตรฐาน


  1. จุดต่อลงดินของระบบไฟฟ้า (สายต่อฝากที่เชื่อมนิวทรัลเข้ากับสายดิน) ต้องอยู่ด้านไฟเข้าของเครื่องตัดวงจรตัวแรกในตู้สวิตช์บอร์ดหลัก
  2. ภายในอาคารหลังเดียวกัน หรือกรณีบ้าน 1 หลัง ระบบไฟฟ้าไม่ควรมีจุดต่อลงดินมากกว่า 1 จุด 
  3. สายดินและสายนิวทรัล สามารถต่อร่วมกันได้เพียงแห่งเดียว ที่จุดต่อลงดินภายในตู้เมนสวิตช์ ห้ามต่อร่วมกันในที่อื่น ๆ อีก เช่น ในแผงสวิตช์ย่อยของชั้นบน
  4. ตู้เมนสวิตช์สำหรับห้องชุดของอาคาร และตู้แผงสวิตช์ประจำชั้นของอาคาร ให้ถือว่าเป็นแผงสวิตช์ย่อย ห้ามต่อสายนิวทรัลและสายดินร่วมกัน
  5. ไม่ควรต่อโครงโลหะของเครื่องใช้ไฟฟ้าลงดินโดยตรง แต่ถ้าได้ดำเนินการไปแล้ว ถ้าเป็นไปได้ให้แก้ไขโดยมีการต่อลงดินที่เมนสวิตช์ อย่างถูกต้องแล้วเดินสายดินจากเมนสวิตช์มาต่อร่วมกับสายดินที่ใช้อยู่เดิม
  6. ไม่ควรใช้เซอร์กิตเบรกเกอร์ชนิด 120/240 V กับระบบไฟ 220 V เพราะพิกัด IC จะลดลงประมาณครึ่งหนึ่ง
  7. การติดตั้งเครื่องตัดไฟรั่วหรืออุปกรณ์ป้องกันไฟดูด เป็นเพียงมาตรการเสริมรองลงมา เพื่อเสริมการป้องกันให้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้นเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ระบบสายดินก็ยังคงเป็นสิ่งสำคัญที่มาก่อนเป็นอันดับแรก 
  8. วงจรสายดินที่ถูกต้องตามมาตรฐาน ในสภาวะปกติจะต้องไม่มีกระแสไฟฟ้าไหล 
  9. ถ้าเดินสายไฟในท่อโลหะ จะต้องเดินสายดินรวมในท่อเส้นนั้นด้วย 
  10. ดวงโคมไฟฟ้าและอุปกรณ์ติดตั้งที่เป็นโลหะควรต่อลงดิน มิฉะนั้นต้องอยู่เกินระยะที่บุคคลทั่วไปสัมผัสไม่ถึง (สูงตั้งแต่ 2.40 เมตร ขึ้นไป หรือห่างไม่น้อยกว่า 1.50 เมตร ในแนวราบ)
  11. ขนาดและชนิดของอุปกรณ์ระบบสายดิน ต้องเป็นไปตามมาตรฐานกฎการเดินสายและติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าของการไฟฟ้าในท้องที่นั้น






แผนภาพแสดงการติดตั้งระบบไฟฟ้าที่มีสายดิน สำหรับระบบไฟฟ้าของบ้านพักอาศัย (1 เฟส)
เป็นรูปแบบที่ถูกต้อง ตามข้อบังคับของการไฟฟ้า และมาตรฐานของ วสท.





การติดตั้งระบบสายดิน เข้ากับแผงควบคุมไฟฟ้าแบบเก่า

ในกรณีที่ต้องการติดตั้งระบบสายดินแต่แผงควบคุมไฟฟ้าที่เป็นแผงหลัก ไม่ได้ใช้เป็นตู้ควบคุมไฟฟ้า Consumer Unit 

ซึ่งแผงควบคุมไฟฟ้าดังกล่าวเป็นแผงควบคุมไฟฟ้าแบบเก่าที่นิยมใช้ในสมัยก่อน มีลักษณะเป็นแผงไม้หรือพลาสติกที่มีเมนสวิทช์และอุปกรณ์อื่นๆติดตั้งอยู่




หากต้องการติดตั้งระบบสายดินก็สามารถทำได้ โดยให้จุดต่อลงดินของระบบไฟฟ้า (สายต่อฝากที่เชื่อมนิวทรัลเข้ากับสายดิน) อยู่ด้านไฟเข้าของเมนสวิทช์ตัวแรกของระบบ





สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติม ที่เกี่ยวกับการติดตั้งหลักดินอย่าถูกต้องตามมาตรฐาน ได้ที่บทความชุด การติดตั้งหลักดินอย่างถูกต้อง



Create Date : 28 พฤษภาคม 2556
Last Update : 7 มีนาคม 2560 15:00:48 น. 65 comments
Counter : 203991 Pageviews.

 
ขอบคุณมากครับ ที่ให้ความรู้


โดย: Pichai IP: 115.67.7.185 วันที่: 11 สิงหาคม 2556 เวลา:11:22:11 น.  

 
จุดที่ตอกแท่งทองแดงเกิดความร้อนเป็นเพราะอะไรครับ


โดย: คุณคม ทิพย์จันทร์ IP: 119.63.83.31 วันที่: 28 กันยายน 2556 เวลา:8:52:06 น.  

 
ตอบคุณคุณคม ทิพย์จันทร์
ถ้าหลักดินหรือพื้นดินโดยรอบนั้นเกิดความร้อน แสดงว่าอาจจะมีกระแสไฟฟ้ารั่วอยู่ครับ ซึ่งหลักดินของคุณอาจจะมีความต้านทานที่สูงไป ทำให้เมื่อมีกระแสไฟฟ้ารั่วลงดินแล้วเกิดเป็นความร้อนครับ
ลองให้ช่างมาทำการตรวจสอบดูครับ


โดย: AC&EE วันที่: 1 ตุลาคม 2556 เวลา:22:42:01 น.  

 
ถ้ามีการสลับสายยไฟที่มิเตอร์ จาก neutral เป็น line จะเกิดปัญหาอะไรครับ


โดย: พร IP: 101.51.214.208 วันที่: 6 ตุลาคม 2556 เวลา:15:32:32 น.  

 
ถ้ามีการสลับสายไฟที่มิเตอร์ จาก neutral เป็น line เมื่อต่อเครื่องทํานํ้าอุ่น ตามเเผนภาพแสดงการติดตั้งระบบไฟฟ้าที่มีสายดิน สำหรับระบบไฟฟ้าของบ้านพักอาศัย (1 เฟส) ถ้าเอามือจับที่สายฉีดหรือตัวเครื่อง(ในกรณีเป็นเหล็ก)
จะเกิดปัญหาอะไรครับ ... เเละถ้าจะเเยกสาย G จากเครื่องทํานํ้าอุ่นไปลงหลักดินอีกอันต่างหาก(ห่างหลักเเรก 10 เมตร) จะได้ไหมครับ


โดย: พร IP: 101.51.23.255 วันที่: 7 ตุลาคม 2556 เวลา:15:31:30 น.  

 
ถ้าหากว่า ระบบไฟภายในบ้านต่อถูกแล้ว และมีการสลับสายไฟที่มิเตอร์ จาก neutral เป็น line ก็จะทำให้เกิดอันตรายได้ครับ และหากว่าเราจับเหล็กก็จะถูกดูดได้ครับ ควรเช็คสายให้ถูกต้องเสียก่อนครับ และต่อแยกสายดินไม่ได้ครับต้องไปรวมกันที่ตู้ก่อนครับ


โดย: สันติ IP: 58.9.210.136 วันที่: 18 ตุลาคม 2556 เวลา:0:19:58 น.  

 
ถ้าหากว่า ระบบไฟภายในบ้านต่อถูกแล้ว และมีการสลับสายไฟที่มิเตอร์ จาก neutral เป็น line ก็จะทำให้เกิดอันตรายได้ครับ และหากว่าเราจับเหล็กก็จะถูกดูดได้ครับ ควรเช็คสายให้ถูกต้องเสียก่อนครับ และต่อแยกสายดินไม่ได้ครับต้องไปรวมกันที่ตู้ก่อนครับ


โดย: สันติ IP: 58.9.210.136 วันที่: 18 ตุลาคม 2556 เวลา:0:19:58 น.  

 
ขอโทษนะครับ ผมเจอบ้านหลายหลังที่สลับสายที่มิเิเตอร์ เพราะว่่าบางบ้านโดนตัดมิเตอร์เเล้วมาต่อใหม่ผิดสาย เข้าใจนะครับ...เเต่ถ้าผมเเยกสาย G เครื่อง
ใช้ไฟฟ้าภายในบ้านอาจจะ 2-3 ตัวต่างหากไปตอกเเท่ง G ต่างหาก อาจจะเอามารวมที่ตู้โหลด (เเต่ไม่เอาสาย G ไปฝากกับสาย N คือว่าเเยกไปตอก
ลงดินต่างหาก )น่าจะไม่อันตรายกว่านะครับ ถ้ามิเตอร์เข้าสายผิดโดยไม่ได้ตั้งใจ เเบบว่า"""เคยเห็น Plan การต่อเเยก G 2 จุดจากเอกสารของ saft t cut อย่าว่าเรื่องมากนะครับ...ขอความรู้ครับ...ว่าทําไมถึงต่อเเยกไม่ได้ เพราะอะไร...(ในเมื่อ ตัดมิเตอร์เเล้วช่างการไฟฟ้ามาต่อใหม่ผิดสาย เเล้วจะมีวิธีอะไรที่จะปลอดภัยที่สุดถ้าช่างมาต่อผิดสาย...


โดย: พร IP: 101.51.10.74 วันที่: 21 ตุลาคม 2556 เวลา:16:20:24 น.  

 
การเช็กโอห์มเช็กออย่างไรคับ


โดย: ช่างใจ IP: 58.137.102.222 วันที่: 22 ตุลาคม 2556 เวลา:17:01:27 น.  

 
การเดินสายดินแยก กับการเดินสายดินต่อร่วม N มีผลต่างกันอย่างไรครับ


โดย: ต๊อก IP: 124.121.181.156 วันที่: 1 พฤศจิกายน 2556 เวลา:11:41:27 น.  

 
สงสัยเหมือนคุณพร มีใครตอบได้บ้าง


โดย: bonut IP: 180.180.1.195 วันที่: 22 มีนาคม 2557 เวลา:14:37:02 น.  

 
ตอบคุณพร ความคิดเห็นที่ 8

สำหรับเรื่องการติดตั้งระบบสายดินในบ้านพักอาศัยนั้น ตามมาตรฐานที่การไฟฟ้าฯได้บังคับใช้ คือกำหนดให้มีการเชื่อมต่อในส่วนของสาย G และ N เข้าด้วยกัน ที่ด้านก่อจะเข้าเมนสวิตซ์
ซึ่งที่ผ่านมา ก็มีหลายคนที่ตั้งข้อสงสัยตามที่คุณได้กล่าวมา และมีกรณีของการต่อสลับสาย จนทำให้เกิดอันตราย และเป็นข่าวดังเมื่อหลายปีก่อน
ทำให้ระบบสายดินแบบนี้ เป็นเรื่องที่มีบางฝ่ายหยิบยกขึ้นมาถกเถียงกันอยู่

ส่วนตัวผม ก็ยอมรับครับ ว่าระบบดังกล่าวยังคงมีช่องโหว่อยู่บ้าง แต่ช่องโหว่ที่เป็นความเสี่ยง จะสามารถป้องกันได้ หากระบบไฟฟ้าที่บ้านคุณ มีการติดตั้งตามข้อกำหนดและมาตรฐานอย่างเคร่งครัด ซึ่งในมาตรฐานการติดตั้งได้มีการกำหนดรายละเอียดไว้ชัดเจน โดยสิ่งที่สำคัญสุดคือสายต่อหลักดินต้องมีการต่อลงดินอย่างถูกต้อง จุดที่ลงดินจะต้องมีค่าความต้านทาน(วัดได้)ต่ำกว่า 5 โอห์ม
ซึ่งหากมีการต่อลงดินอย่างถูกต้อง และมีค่าตามที่กำหนดไว้ในมาตรฐานจริง ในกรณีที่ต่อสายจากมิเตอร์เพื่อจ่ายไฟเข้าระบบ หากมีการต่อสลับจริง กระแสไฟฟ้าจากสาย L ที่ถูกสลับ จะไหลลงดินโดยตรงทันทีครับ ซึ่งที่ความต้านระระดับน้อยมากๆ มันก็เปรียบได้กับการลัดวงจรลงดินนั่นเอง และเมื่อมันลัดวงจรลงดินทันที เจ้าหน้าที่ ที่ทำการต่อไฟเข้ามิเตอร์ก็ต้องทราบสิครับ

แต่นี่ที่ว่ามันเกิดปัญหาจากการต่อสลับสาย และอาจจะเป็นอันตราย ก็เพราะว่าระบบไฟฟ้าของบ้านหลังนั่น ไม่ได้เรื่องครับ ซึ่งอาจจะมีสาเหตุจากช่างที่ติดตั้งไม่ได้ทำการวัดค่าความต้านทางของหลักดินที่ปักลงไปด้วยเครื่องมือวัดแบบเฉพาะ ทำให้บางครั้งหลักดินอันนั้น ไม่มีประสิทธิภาพและใช้ไม่ได้จริง หรืออีกสาเหตุคือสายดินไม่ได้ถูกต่อลงดิน ซึ่งอาจจะไม่ได้ถูกต่อมาตั้งแต่แรก หรือสายดินขาดออกจากระบบไปในภายหลัง ก็อาจเกิดขึ้นได้
ระบบสายดินที่การไฟฟ้าฯบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน ที่กำหนดให้เชื่อมต่อในส่วนของสาย G และ N เข้าด้วยกัน ที่ด้านก่อนจะเข้าเมนสวิตซ์ หากมีการต่อลงดินอย่างถูกต้องตามข้อกำหนดในมาตรฐานแล้ว ก็นับว่าเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพในระดับหนึ่งเลยทีเดียว
แต่ถ้าระบบไฟฟ้าของบ้านคุณ ไม่มีการต่อลงดินอย่างถูกต้อง หรือไม่ทราบค่าความด้านทานหลักดินอย่างชัดเจน ก็ไม่ควรจะใช้ระบบสายดินแบบดังกล่าว แยกส่วนระบบสายดินออกไปไม่ให้มีการเชื่อมกับ N จะดีที่สุดครับ


โดย: AC&EE วันที่: 24 มีนาคม 2557 เวลา:7:39:16 น.  

 
สวัสดีค่ะ....ขอโทษนะคะ อยากขอปรึกษาหน่อยหนะค่ะ กรุณาหน่อยนะคะ
เพราะตอนนี้ทำห้องใหม่ต่อเติมจากบ้านเดิม พอดีวันนี้ทำส่วนของห้องน้ำ ขุดบ่อส้วมเจอสายดินกับแท่งโลหะของที่บ้าน สายดินขาดแต่คนขุดเขาก็ต่อกันด้วยการเอาใส้ในพันเป็นเกรียวๆ และก็เอาแท่งโลหะ เสียบลงไปในดินที่ข้างบ่อ ตรงจุดเดิม และตรงจุดที่สายดินเดินสายจากกำแพงลงดินมันอยู่บริเวณในห้องน้ำที่กำลังสร้างใหม่เลยอะค่ะ ตอนนี้ยังไม่ได้เทปูน แต่เทปูนเมื่อไหร่ แท่งโลหะกับสายดินอยู่ใต้ห้องน้ำเลยอะค่ะ ถามคุณพ่อแล้ว เขาก็บอกไม่เป็นไรหรอก (ที่บ้านต่อเติมบ้านกันเองอะค่ะไม่ได้จ้างช่างอะไร) แต่ตัวดิฉันเองกลัวและเป็นกังวลมาก ว่าไฟจะดูดเวลาเราเข้าห้องน้ำเหรอเปล่า แล้วพอเข้ามาอ่านเรื่องการติดตั้งเครื่องทำน้ำอุ่นแล้ว ถ้าดิฉันติดตั้งเครื่องทำน้ำอุ่น ลงสายดินใกล้กัน จะเกิดอันตรายอะไรไหมค่ะ
ต้องขอโทษที่รบกวนนะคะ ไม่มีความรู้ด้านนี้เลยทุกอย่างจะเชื่อและฟังจากคุณพ่อตลอดอะค่ะ แกว่าไม่เป็นอะไร แต่ในใจก็กลัวอะค่ะ แล้วถ้าจะแก้ไข แก้ไขอย่างไรดีค่ะ
ขอความกรุณาด้วยนะคะ ขอบคุณค่ะ ...


โดย: มณ IP: 171.5.150.222 วันที่: 2 เมษายน 2557 เวลา:20:43:07 น.  

 
ระบบสายดินช่วยป้องกันชีวิต ควรให้ความระมัดระวัง1.ช่างต่อแบบนั้น ไม่กี่ปีก้อหลุด เสื่อม ควรเดินใหม่ วิธีที่ถูกคือ ดีสุด ใช้ตัวเชื่อมแบบหลอมละลาย ซือที่ร้านไฟฟ้า ดีรองคือ บัดกรี แย่สุดมั่วสุดคือ มัดใช้ขั่วขันน้อต และควรเดินทร่ที่ตู้เมน โดย เชื่อมกันสาย นิวทรัลของการไฟฟ้า และใช้ แท่งกราร์ว แบบหุ้มทองแดง อย่าเอาแบบชุบ (หาซื้อยากหน่อย แต่ปลอดภัยสุดๆ


โดย: m IP: 27.55.4.157 วันที่: 6 เมษายน 2557 เวลา:21:32:47 น.  

 
ถ้าสงสัย สอบถามที่ line id =sofar9e ครับ


โดย: m IP: 27.55.4.157 วันที่: 6 เมษายน 2557 เวลา:21:36:38 น.  

 
ตอบคุณมณ ความคิดเห็นที่ 13

ระบบสายดินของระบบไฟฟ้าภายในบ้าน ที่มีประสิทธิภาพตามมาตรฐาน และมีความสามารถในการป้องกันอันตรายจากไฟฟ้าได้นั้น ผมขออธิบายเบื้องต้นให้ก็แล้วกันนะครับ ว่าหลักดินที่ดีและใช้ได้จริง ต้องเป็นแบบไหน
หากดูตามลักษณะทางกายภาพ เบื้องต้น หลักดินที่ใช้ต้องเป็นแท่งทองแดง หรืออนุโลมเป็นเหล็กชุบหุ้มด้วยทองแดง ความยามหลักดิน ตามมาตรฐานกำหนดให้ยาวตั้งแต่ 2.4 เมตร เป็นต้นไป เว้นเสียแต่พื้นดินในบริเวณนั้นแข็งมากๆ อนุโลมให้ใช้ขนาดที่สั้นลงมากว่านี้ได้ แต่ไม่ควรจะสั้นกว่า 1.8 เมตร ซึ่งภายหลังจากตอกลงดินแล้ว ต้องมาตรวจวัดค่าความต้านทานทางดินอีกครั้ง ให้มีค่าตามมาตรฐาน คือไม่เกิน 5 โอห์ม

จุดที่สายดินมาต่อเข้ากับ แท่งหลักดิน ตรงจุดนี้ ควรใช้การเชื่อมต่อ ด้วยการเชื่อมแบบหลอมละลายโดยใช้ความร้อน ซึ่งวิธีที่นิยมและเป็นที่ยอมรับ คือการหลอมด้วยชุดเบ้าหลอมสายดินโดยเฉพาะ หาซื้อได้จากร้านขายอุปกรณ์ไฟฟ้าใหญ่ๆทั่วไปครับ

กับอีกวิธีหนึ่งคือการเชื่อมบัคกรีด้วยหัวเชื่อมแก๊ส
ซึ่งการต่อสายดินเข้ากับหลักดิน ด้วยการเชื่อมนี้ จะเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการใช้งานโดยเฉพาะในการใช้งานระยะยาว ซึ่งช่วยให้สายดินสามารถรับแรงกระทำทางกลที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

ต่างจากการต่อสายดินด้วยแคลมป์ชนิดขันเกลียว ซึ่งในระยะยาวเกลี่ยวและจุดต่ออาจจะคลายตัวหรือหลุด ทำให้สายดินขาดออกจากระบบ


สำหรับระบบสายดินที่บ้าน ถ้าดูแล้วยังไม่ปลอดภัย ให้ทำการเปลี่ยนใหม่ให้ถูกต้องและปลอดภัยตามมาตรฐานครับ
ซึ่งถ้าระบบสายดินที่บ้าน มีการลงดินอย่างถูกต้องแล้ว ในภายหลัง หากมีการติดตั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ ก็สามารถนำสายดินจากเครื่องใช้ไฟฟ้าเครื่องนั้นๆ ไปรวมกันที่จุดต่อรวม(กราวน์บาร์) เพื่อที่จะนำไปลงดินในจุดเดียวครับ


โดย: AC&EE วันที่: 7 เมษายน 2557 เวลา:17:21:35 น.  

 
ทำไม!? ต้องต่อสายดินเข้ากับสาย N ด้วยครับ
ช่วยในเรื่องอะไร.....
ผมกำลังหาข้อมูลเรื่องนี้อยู่อ่ะครับ
แล้วอยากทราบข้อดีข้อเสียด้วยก้อดีนะครับ
ช่วยให้ความรู้ด้วยนะครับ


โดย: บอล IP: 1.10.203.151 วันที่: 21 เมษายน 2557 เวลา:4:51:42 น.  

 
ตอบคุณบอล ความคิดเห็นที่ 17

จุดประสงค์หลักๆเลย การต่อ G เข้ากับ N ก็เพื่อเป็นการเทียบให้สาย N มีศักย์ไฟฟ้าเป็น 0 ตามพื้นดิน ตลอดเวลาครับ

มีบางกรณีที่สาย N ของผู้ใช้ไฟฟ้า โดยเฉพาะประเภทบ้านพักอาศัย บางแห่งที่ N หลุดออกจากระบบของการไฟฟ้า หรือจุดต่อ N ของผู้ใช้ ที่ต่อเข้ากับ N ของการไฟฟ้าฯไม่แน่น ซึ่งหากเกิดกรณีดังกล่าว จะทำให้สาย N ในบ้าน มีค่าความต่างศักย์ทันที เป็นอันตราย

ถ้าระบบสายดิน มีการตอกลงดินถูกต้อง มีค่าความต้านทานดินไม่เกินที่มาตรฐานกำหนด ระบบไฟฟ้าที่กำหนดให้ต่อ G เข้ากับ N ถือว่าปลอดภัย ช่วยได้มากเลยทีเดียว


โดย: AC&EE วันที่: 23 เมษายน 2557 เวลา:8:08:32 น.  

 
ผมจบ ปวช.ไฟฟ้ากำลัง มีประสบการณืด้านนี้ยี่สิบกว่าปี เข้าใจครับเป็นมาตรฐานที่กำหนด แต่สำหรับคนไทย ช่างไทย(บางคนหรือหลายคน) มีความรู้ ที่สำคัญมีละเอียดรอบคอบแค่ไหน เจ้าของบ้านกี่คนที่พอจะรู้เรื่องระบบไฟฟ้า มีบ้านกี่หลังที่มีการวัดค่ากราวด์ก่อนจ่ายไฟ
มีช่างกี่คนที่มีเครื่องวัดค่ากราวด์ ผมก็ไม่มี(เครื่องละหมื่นกว่าบาท)

ที่สำคัญมีอะไรมาการันตีได้ว่าจะไม่มีการผิดพลาดสลับสายไฟ (จากการซ่อมบำรุง , เดินสายต่อเติม จากช่างหลายระดับ) ผมเคยได้แก้ไขหลายครั้ง และมีคนเคยถูกไฟดูดตายมาแล้ว บางรายไม่โดนดูดแต่เจอค่าไฟเข้าไปหมื่นกว่าบาทต้องขอผ่อนจ่าย

สำหรับผมจะไม่ต่อสายดินร่วมสายนิวทรัล จะต่อเฉพาะอุปกรณ์ ปลอดภัยจากการสลับสายดังกล่าว

อย่าเพิ่งเชื่อผม ลองรับเอาไปพิจารณาดูก่อนครับ


โดย: line main IP: 202.151.4.17 วันที่: 6 พฤษภาคม 2557 เวลา:16:22:39 น.  

 
ถึง คห.19

บทความนี้พูดถึงการติดตั้งที่มีมาตรฐาน ซึ่งเป็นไปตามข้อบังคับของการไฟฟ้า
และข้อบังคับเรื่องสายดินที่การไฟฟ้ากำหนด ก่อนหน้านี้เขาก็ได้นำผู้ทรงคุณวุฒิในแวดวงวิศวกรรมไฟฟ้า มาร่วมถกร่วมกันหาทางออก เพื่อที่จะได้เป็นมาตรฐานเดียวกันออกมา
ซึ่งมาตรฐานทางด้านสายดิน หากติดตั้งถูกต้องตามที่กำหนด มีการวัดและทดสอบค่าตามที่กำหนด ระบบสายดินที่ติดตั้งอย่างถูกต้องตามข้อบังคับของการไฟฟ้า ก็ถือว่าช่วยเสริมความปลอดภัยได้ดีในระดับหนึ่งเลยทีเดียวครับ

แต่ที่คุณถามมาว่า...
มีบ้านกี่หลังที่มีการวัดค่ากราวด์ก่อนจ่ายไฟ ?
มีช่างกี่คนที่มีเครื่องวัดค่ากราวด์ ?
ซึ่งคำถามเหล่านี้ อยู่ที่มาตรฐานของตัวช่างเอง และความพร้อมของช่างครับ ถ้าคุณทำมาหากินโดยการรับเหมาติดตั้งระบบไฟฟ้ามาเป็นเวลานานถึงยีสิบสามสิบปีจริง ทำไมถึงไม่คิดจะสร้างมันบ้างหรือ ???

เดี๋ยวนี้ EARTH TESTER ยี่ห้อ KYORITSU แบบอนาล็อค ราคาไม่ถึงหมื่น(ราวๆ 7-8 พัน) ซึ่งการเป็นช่างมานานหลายสิบปี รับงานเกี่ยวกับไฟฟ้ามาไม่รู้เท่าไหร่ ยิ่งเดี๋ยวนี้หากรับงานไฟบ้านแต่ละหลัง ก็ต้องลงหลักดินหมด ผมว่ามันก็ไม่แพงเกินไปที่จะลงทุนในเครื่องมือทำมาหากินที่สำคัญแบบนี้นะครับ และถ้าทำงานมานานขนาดนั้นผมว่าจะเอาเรื่องข้อจำกัดของราคาระดับนี้มาอ้าง อาจจะดูเหมือนฟังไม่ขึ้นนะครับ มันยิ่งแสดงให้เห็นถึงความพร้อมที่ตัวช่าง และความสามารถในการให้บริการ แบบนี้จัดว่าช่างแบบบ้านๆ ขอละไว้ในฐานที่เข้าใจก็แล้วกัน

ผมไม่ได้จะว่าเหมารวมช่างไฟรุ่นใหญ่ๆท่านอื่นหรอกนะครับ แต่คำถามที่ คห.19 กล่าวมานั้น มันพาให้ผมต้องร่ายยาว
ซึ่งในชีวิตจริงนั้น ช่างไฟที่ทำงานมานานหลายสิบปี ที่ผมรู้จักและนับถือเหมือนครูบาอาจารย์จริงๆ ก็มีอยู่หลายท่าน ซึ่งท่านเหล่านี้ไม่ได้จบสูงไปกว่า ปวช. แต่เป็นปรมาจารย์ที่ขึ้นชื่อด้านฝีมือ โดยเฉพาะเรื่องฝีมือการเดินสายไฟ แม้ผมเป็นวิศวกรไฟฟ้าคุมงานตรวจงานที่ช่างเหล่านี้เป็นผู้ติดตั้ง ผมก็ยังเคารพท่านเหล่านี้เหมือนอาจารย์ ต่างฝ่ายจะร่วมงานกันได้ ต้องรู้จักเรียนรู้ซึ่งกันและกัน พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนในสิ่งที่ดีและเห็นสมควร


โดย: AC&EE วันที่: 9 พฤษภาคม 2557 เวลา:1:36:58 น.  

 
ขอบคุณมากครับ และขออภัยเป็นอย่างสูงผมไม่มีเจตนาก้าวล่วงผู้ใด แค่ต้องการเสนอมุมมองอีกด้านให้คนที่ต้องใช้ไฟฟ้าในชีวิตประจำวัน อาจจะขวานผ่าซากแต่เจตนาดีครับ ขออนุญาตร่ายยาวบ้าง ถือเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ผมไม่ได้หมายความว่าจบแค่ ปวช.แต่มีความรู้มากกว่าคนที่จบสูงกว่า มีเยอะมากที่ผมต้องสอบถามน้องๆที่จบวิศวะ ครูผมคนแรกก็ไม่ได้มีวุฒิอะไร เรื่องสายดินนี้นี้ถกเถียงกันมาก มักไปจบที่ว่ามันเป็นมาตรฐาน ไม่ได้ว่ามาตรฐานไม่ดี แต่เรามีสิทธิ์สงสัยว่ามันมีข้อดีข้อเสียยังไง ในเมื่อเราเจอปัญหาแบบนี้ ผมช่างบ้านๆจริงๆครับอยู่อำเภอติดชายแดน เลิกรับเหมามานานแล้ว แต่ถูกตามให้ตรวจเช็คแก้ไขระบบไฟในบ้านบ่อยๆ ถ้าอย่างท่านว่า ช่างที่ผมเจอมาแล้วก็ตัวผมเองไร้มาตรฐานไม่พร้อมจริงๆผมน้อมรับทุกกรณีครับ คนที่มีความรู้เรื่องไฟฟ้าผมไม่ห่วงหรอกครับ ผมขอตรงประเด็นเลยนะครับ
1.อันตรายจากการสลับสายป้องกันได้ยังไง
1.1 ต้องติดตั้งสายดินให้ได้มาตรฐาน
- หลักดินต้องยาวไม่น้อยกว่า 1.8 เมตร (ที่ร้านขายเห็นคืบเดียวก็มี , บางพื้นที่ตอกลงได้ไม่ถึงครึ่ง)
- หลักดินกับสายต้องเชื่อมด้วยความร้อน (หาซื้อทั้งอำเภอไม่มี)
- ค่าความต้านทานต้องไม่เกิน 5 โอห์ม (20กว่าปีผมไม่เคยเห็นช่างบ้านคนไหนมีเครื่องวัด)
- อย่าคิดว่าสายนิวทรัลไม่มีไฟ (ช่างบ้านหลายคนยังเข้าใจผิดว่ามันคือสายดิน)
- ต้องหาช่างที่มีฝีมือมาตรฐาน เครื่องมืออุปกรณ์ต้องพร้อม มีจรรยาบรรณ (ไม่ง่ายครับ)
2.มีโอกาสสลับสายได้ยังไง , เป็นอันตรายแค่ไหน (อันตรายมาก เสี่ยงชีวิต)
- การถอดใส่มิเตอร์ (เช่นถูกตัดไฟ ,ต่อกลับ ,การเปลี่ยนมิเตอร์ฯลฯ)
- การต่อเติม , ซ่อมระบบไฟ (มีบางบ้านอยู่ไกลมิเตอร์มีสายเมนยาวมีโอกาสเวลาต่อสายที่ขาดช่วงต้นไม้หนาทึบหรือสิ่งก่อสร้างต่างๆ)
- อาจถูกกลั่นแกล้ง ปองร้าย (อันนี้ดูละครมากไป จิตตกคิดมาก พิจารณาเอาเองละกันมีความเป็นไปได้ไหม)
3.ช่างติดตั้ง หรือ ถอด ใส่มิเตอร์ต้องรู้ถ้าเข้าสายผิด
- ช่างมีหลายระดับ (อ่านคำตอบด้านบน)
- มีคนถูกไฟดูดตายมาแล้ว
- มีคนต้องจ่ายค่าไฟแพงๆจากไฟรั่วลงดิน
4.ระบบไฟในบ้านห่วย
- เป็นความผิดของเจ้าของบ้านหรือไม่ (บางคนใช่ กรณี งก ขี้เหนียวใช้อุปกรณ์ราคาถูก)
- บางคนไม่รู้จริงๆ ถูกช่างหลอกเอาก็มี (เรื่องแบบนี้มีทุกแขนงไม่แปลก)
- เห็นตัวอย่างที่ไม่ดี เช่นบ้านหลังอื่นต่อไฟระโยงระยาง มันก็ยังใช้ได้อยู่ไม่เห็นเป็นไร (อาจช็อคเวลาเห็นบิลค่าไฟ)

ท้ายนี้ขอย้ำไม่มีเจตนาหรือคิดดูถูกคนอาชีพเดียวกัน ที่เห็นส่วนมากรู้จักกันบางคนเคยร่วมงานกัน ต้องยอมรับความจริงว่าช่างมีหลายระดับ มาตรฐานเป็นสิ่งที่สากลยอมรับ จะปฏิบัติได้แค่ไหนขึ้นอยู่กับเหตุหลายปัจจัย , อคติส่วนตัว ฯลฯ ขอขอบคุณที่ให้แสดงความคิดเห็น , ระบายในสิ่งที่คาใจ , ได้แชร์ประสบการณ์ ใครมีประสบการณ์ที่แตกต่างกว่านี้ จะติ ชม ด่า เชิญได้เลยครับ
ขอบคุณที่อ่าน ขอให้ยึดหลักกาลามสูตรไว้ครับ


โดย: line main IP: 118.174.94.137 วันที่: 13 พฤษภาคม 2557 เวลา:0:29:05 น.  

 
ครับผมคิดว่าเรื่องของสายดินต้องลองคิดดูให้ดีแลละเอียดครับ
1.ถามว่าทำไม่ถึงจะต้องมีสายดิน
ตอบ.ก็เพราะว่าอุปกรณ์ไฟฟ้หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เราสัมผัสแล้วตัวมันสามารถนำไฟฟ้ามาหาเราได้แล้วมันก็จะทำให้เราเกิดในลักษณะถูกไฟดูดนั่นเอง..แล้วเราก็เราก็ต้องหาตัวนำอะไรสักอย่างมาทำการดักไฟนั้นไว้ก่อนที่มันจะดูดผูใช้งานถูกต้องไมครับ
แล้วทีนี้เราจะทำเช่นไรละถึงจะต่อสายดินอย่างที่ถูกต้องที่สุดแล้วการต่อสายดินที่ร่วมกับสาย neutral (N)หรือแบบไม่ต่อร่วมกัน ก็ดีลองคิดแบบต่อร่วมกับสาย neutral (N)ก่อนนะครับข้อดีเท่าที่ผมเห็นก็คือมันสามารถป้องกันการใส่สายต้นทางผิดแล้วมันยังช่วยเป็นการเทียบให้สาย N มีศักย์ไฟฟ้าเป็น 0 ตามพื้นดิน ตลอดเวลาครับ
แล้วลองคิดแบบไม่ต่อร่วมกันนะครับ เหตุการณ์ที่อาจเกิดได้คือมันไม่สามารถป้องกันการใส่สายต้นทางผิดได้ ถูกต้องไหมครับ แล้วก็ไม่มีการเทียบความต่างศักย์ระหว่างสาย N กับพื้นดินตลอดเวลาถูกต้องนะครับ..


โดย: E-Nic IP: 161.246.72.2 วันที่: 15 พฤษภาคม 2557 เวลา:21:30:46 น.  

 
เข้าใจครับ แต่ประเด็นที่ผมต้องการสื่อให้เห็นแบบชัดๆ ก็คืออันตรายจากการสลับสายจากการต่อสายดินร่วมกับสายนิวทรัล ผมยังไม่เห็นมีอะไรป้องกันได้ ขึ้นอยู่กับช่าง ช่างก็คือคน สามารถผิดพลาดได้ แล้วเราต้องเอาชีวิตไปเสี่ยง ทั้งที่เราสามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่เราต้องทำเพราะมันเป็นมาตรฐานที่กำหนด

ไม่เคยมีใครตอบประเด็นนี้ให้กระจ่างได้


โดย: line main IP: 202.151.4.17 วันที่: 20 พฤษภาคม 2557 เวลา:18:39:26 น.  

 
ขอสอบถามหน่อยครับ
บ้านผมเป็น2ชั้น10ปีแล้ว ต่อเมนสวิทบอร์ดและมีสายG มีเครื่องทำน้ำอุ่น2เครื่องชั้นบนและชั้นล่าง ยี่ห้อnational ปัญหาเกิดที่เครื่องชั้นล่าง ผมอาบน้ำไฟไม่ดูด ภริยาอาบน้ำมือไปโดนก๊อกไฟดูดชาไปทั้งแขน ผมเชคไฟที่เครื่อง ใช้ไขควงtestไฟ ไม่มีไฟรั่วที่ก็อก ปล่อยลอยสายGที่เครื่องน้ำอุ่น ก็ไม่มีไฟรั่ว มองสภาพเครื่องอยู่ในสภาพใหม่ไม่รั่วไม่ซึมของน้ำ เชคหม้อทองแดงด้วยมิเตอร์ r×10kก็ไม่ขึ้น พบอย่างเดียวคือสายที่เข้าเครื่องต่อสลับระหว่าง NกับL ที่เบรคเกอร์ของเครื่องและเป็นตัวกันไฟรั่วด้วย ลองเปิดใช้น้ำอุ่นตามปกติ แล้วใช้ไขควงtestไฟ มีที่ก๊อกก็ไม่มีไฟเหมือนครั้งแรกที่test ผมไม่มั่นใจว่ามันจะดูดอีกหรือไม่ ขอสอบถามว่า

1 ผมต่อสายดินเฉพาะเครื่องนี้ได้หรือไม่ โดยปลดสายดินเดิมของบ้านที่ต่อเข้าเครื่องนี้ออก
2 ทำไมเครื่องดูดได้ทั้งๆที่ฝช้ไขควงtestไฟ ไฟก็ไม่ติด
3 ถ้าต่อแยกจากดินในบ้านได้ ควรใช้สายดินขนาดไหนและกราวน์แบบไหนครับ


โดย: ssd IP: 49.230.149.41 วันที่: 11 มิถุนายน 2557 เวลา:8:29:58 น.  

 
ถ้าผมต่อสายดินที่กล่องแล้วผมต้องต่อไปที่เต้ารับในบ้านด้วยมั้ยครับเพราะที่บ้านใช่เต้ารับแบบมีขากาวและอีกอย่าง1ผมต้องต่อสายดินขึ้นไปที่ช้น2กับชั้น3ด้วยรึเปล่าครับเพราะผมมีกล่องแยกแต่ล่ะชั้นด้วยครับรบกวนช่วยชี้นำหน่อยนะครับ


โดย: เคครับ IP: 27.55.168.81 วันที่: 20 มกราคม 2558 เวลา:12:19:47 น.  

 
ถ้าผมต่อสายดินที่กล่องแล้วผมต้องต่อไปที่เต้ารับในบ้านด้วยมั้ยครับเพราะที่บ้านใช่เต้ารับแบบมีขากาวและอีกอย่าง1ผมต้องต่อสายดินขึ้นไปที่ช้น2กับชั้น3ด้วยรึเปล่าครับเพราะผมมีกล่องแยกแต่ล่ะชั้นด้วยครับรบกวนช่วยชี้นำหน่อยนะครับขอบคุณครับ


โดย: เคครับ IP: 27.55.168.81 วันที่: 20 มกราคม 2558 เวลา:12:20:56 น.  

 
ตอบคุณ เคครับ

สายดินที่ต่อเข้ากับกล่องตามที่คุณว่ามานั้น กล่องที่ว่านี้คือตู้ควบคุมระบบไฟฟ้า ตู้หลักของบ้านใช่ไหมครับ

หากมีการต่อลงดิน มีสายดินเดินมายังตู้ดังกล่าว ลองตรวจสอบดูก่อนนะครับ ว่าเป็นกราวน์ที่ต่อกับบัสบาร์(จุดต่อสายรวม) หรือเป็นกราวน์ที่ต่อเฉพาะตัวโครงโลหะของตู้ ซึ่งระบบไฟฟ้าในบ้านสมัยก่อน(20-30ปีก่อน) หากใช้เซฟตี้สวิทช์ หรือใช้เป็นตู้เบรกเกอร์แบบตู้เหล็ก จะมีการต่อกราวน์ให้เฉพาะกับที่โครงโลหะของตู้เท่านั้น ไม่ใช่กราวน์ที่รวมกับระบบไฟฟ้าเหมือนในบ้านสมัยใหม่ เนื่องจากมาตรฐานสายดินที่ใช้ในปัจจุบัน เพิ่งถูกบังคับใช้มาได้ราวๆสิบกว่าปีเท่านั้น
ถ้าเป็นกราวน์โครงตู้โลหะ ก็ปล่อยไว้เช่นนั้นครับ อย่าเอากราวน์จากเต้ารับมารวม เพราะเราไม่แน่ใจว่ากราวน์โครงตู้นั้นจะใช้งานได้ดีสำหรับป้องกันอันตรายของระบบไฟทั้งหมดได้ไหม


โดย: KanichiKoong วันที่: 20 มกราคม 2558 เวลา:21:50:23 น.  

 
การต่อสายดิน ช่างไฟที่มาเดินไฟ้ให้ต่อลงกับโครงสร้้างบ้านที่เป็นเหล็กถือว่าถูกต้องไหมครับ


โดย: สิริรัฐ ดิษสระ IP: 125.25.216.16 วันที่: 17 มีนาคม 2558 เวลา:15:35:51 น.  

 
การต่อสายดิน ช่างไฟที่มาเดินไฟ้ให้ต่อลงกับโครงสร้้างบ้านที่เป็นเหล็กถือว่าถูกต้องไหมครับ


โดย: สิริรัฐ ดิษสระ IP: 125.25.216.16 วันที่: 17 มีนาคม 2558 เวลา:15:36:20 น.  

 
ขอเรียนถามผู้รู้ครับ

อาคารบ้านพักมี จำนวน ห้อง 18 ห้อง
ขอเรียนถาม
1.มิเตอร์ไฟใหญ่ ต่อเข้าอาคาร เป็นไฟ 3 เฟส ที่ต่อจากสายของการไฟฟ้า 1 ตัว การไฟฟ้ามีบิลมาเรียกเก็บ
2.แต่ละห้อง จะมีมิเตอร์ไฟ ที่การไฟฟ้าเรียกเก็บอีก

อยากจะเรียนถามว่า
1.ไฟฟ้าที่ใช้ในแต่ละห้องที่ผ่านมิเตอร์ไฟเล็กของแต่ละห้องแล้ว การไฟฟ้ามีการเรียกเก็บค่าไฟ กระแสไฟที่ใช้ผ่านมาจากมิเตอร์ไฟใหญ่ของอาคารด้วยหรือไม่ครับ
2. เป็นการเรียกเก็บค่าบริการซ้ำซ้อนหรือไม่ครับ

ขอบุคณสำหรับคำตาอบนะครับ


โดย: สกลวัฒน์ IP: 183.88.230.209 วันที่: 10 เมษายน 2558 เวลา:20:07:28 น.  

 
รบกวนผู้รู้นะครับ
เพิ่มเติมจากความคิดเห็นที่ 30 ครับ

กระผมอาจจะเขียนไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่ ถ้าท่านผู้รู้ท่านใดจะอนุเคราะห์ความรู้ รบกวนช่วยโทร กลับ 0908018682 กระผมจะอธิบายเพิ่มเติมในคำถามที่ผมพิมพ์ลงไปครับ หรือ ฝากเบอร์กระผมจะโทรกลับไปสอบถามก็ได้ครับ

ขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงครับ


โดย: สกลวัฒน์ IP: 183.88.230.209 วันที่: 10 เมษายน 2558 เวลา:20:11:32 น.  

 
ตอบคุณสกลวัฒน์ ความคิดเห็นที่ 30-31

ค่าไฟฟ้าที่การไฟฟ้าคิดฯ กรณีเป็นนิติบุคคล

โดยปกติ การไฟฟ้าจะติดตั้งมิเตอร์เพียงตัวเดียวให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าครับ การคิดค่าไฟฟ้าก็จะดูจากหน่วยที่มิเตอร์ตัวนี้วัดได้ แล้วนำมาคิดเป็นเงินอิงตามอัตราประเภทผู้ใช้ไฟ

การไฟฟ้าจะติดตั้งมิเตอร์ให้ 1 ตัว ต่อสถานประกอบการ 1 แห่ง เรียกง่ายๆคืออิงตามเลขที่ของที่ตั้งนั่นแหละครับ

กรณีเป็นอาคารที่ประกอบธุรกิจห้องเช่า จำพวกหอพักหรืออาพาร์ตเมนต์ การไฟฟ้าจะติดมิเตอร์ให้ 1 ตัว ซึ่งวัดหน่วยการใช้ไฟฟ้ารวมของอาคารทั้งหลัง การไฟฟ้าจะเรียกเก็บเงินจากค่าที่ปรากฏบนมิเตอร์นี้ครับ

ส่วนมิเตอร์ย่อยตามห้องต่างๆ ตามปกติ เจ้าของอาคารจะติดตั้งแยกตามห้องเอง เพื่อวัดหน่วยการใช้ไฟฟ้าของแต่ละห้อง และเรียกเก็บเงินจากผู้เช่าเอง เพราะธุรกิจพวกนี้เจ้าของอาคารจะกำหนดราคาค่าไฟฟ้าต่อหน่วยขึ้นมาเอง ซึ่งก็มีการบวกกำไรตามความเหมาะสม


เว้นเสียแต่ว่า กรณีที่อาคารหลังนั้น เป็นอาคารชุดที่มีเจ้าของร่วมกันหลายๆคน อย่างเช่นคอนโดมิเนียม ที่มีการแต่งตั้งนิติบุคคล ตามกฎหมาย
อัตราค่าไฟของผู้ใช้ไฟแต่ละห้อง รวมทั้งระบบไฟฟ้าส่วนกลาง การไฟฟ้าจะเรียกเก็บจากผู้อยู่อาศัยและนิติบุคคลเองครับ



โดย: KanichiKoong วันที่: 17 เมษายน 2558 เวลา:6:51:38 น.  

 
ถ้ามีปัญหาเรื่องสายดิน สายล่อฟ้า สามารถติดต่อได้ที่

//www.kumwell.com/


โดย: Kumwell IP: 61.91.149.44 วันที่: 20 เมษายน 2558 เวลา:11:12:52 น.  

 
รบกวนสอบถามหน่อยครับ

ถ้าสายดินนั้นเป็นทองแดงแต่ใช้นานมากแล้วตรงปลายจะต่อกับแท่งเหล็กแล้วปักลงดิน แต่วันนั้นผมไปเห็นตัวที่ปักลงดินเป็นสนิมเยอะมาก แล้วสายดินที่เป็นทองแดงแต่ปลอกเป็นสีดำนั้น ปลายสายทองแดงก็เริ่มเป็นสนิมบางละครับ เพราะบ้านหลังนี้ก็สร้างมานานมาก ไม่ได้ดูแลเกี่ยวกับสายดินเลยครับ รบกวนขอความคิดเห็นด้วยครับ

ขอบคุณมากครับ


โดย: Artistz IP: 223.207.127.79 วันที่: 8 มิถุนายน 2558 เวลา:15:52:07 น.  

 
ตอบคุณ Artistz ความคิดเห็นที่34

หลักดินของเดิมที่เห็นว่ามีสนิมเกาะอยู่นั้น ของเดิมไม่ทราบว่าใช้แท่งโลหะแบบใดปักลงไปครับ เป็นแท่งเหล็ก หรือเหล็กชุบทองแดง

เพราะแท่งหลักดินที่ใช้ แม้จะเป็นเหล็กที่ชุบด้วยทองแดงก็ตาม แต่ก็แค่ชะลอการเกิดสนิมได้เท่านั้นครับ ท้ายที่สุดยังไงก็หนีสนิมไม่พ้น
ส่วนกรณีที่ใช้เป็นแท่งเหล็กล้วน ไม่มีการชุบผิว อันนี้คงจะไม่เกินปีแรกสนิมคงมาเต็มแล้วเป็นแน่

หากมีสนิมเกาะเต็มที่ผิวด้านนอกโดยรอบแท่งหลักดิน คงต้องประเมินสภาพดูก่อนนะครับ ถ้าเป็นสนิมเกาะหนามาก ต่อให้สายยังถูกต่อไว้อยู่ไม่ได้ขาดออกก็ตาม แต่ถ้าที่ผิวของแท่งทองแดงเต็มไปด้วยสนิม ก็จะส่งผลทำให้มีค่าความต้านทานสูง ไฟฟ้าไหลถ่ายเทประจุลงดินได้ไม่สะดวก ซึ่งความสามารถของหลักดินก็จะสูญหายไปด้วยในส่วนนี้

หากประเมินแล้วพบว่าสนิมที่เกาะกัดกร่อนจนเกินเยียวยา ก็คงต้องทำการปักหลักดินแท่งใหม่ โดยใช้แบบทองแดงเต็มทั้งแท่งจะดีที่สุดครับ แพงหน่อยแต่คุณภาพโอเค

ส่วนคราบสีดำหรือสีเขียวที่เห็นบนผิวทองแดง คือคราบที่เกิดจากทองแดงทำปฏิกิริยากับอากาศจนเกิดการอ็อกไซด์ขึ้น ซึ่งตรงนี้ถ้าจุดต่อยังคงแน่นหนาก็ไม่ค่อยน่าเป็นห่วงหรอกครับ


โดย: KanichiKoong วันที่: 20 มิถุนายน 2558 เวลา:21:06:37 น.  

 
อ่านแล้วได้ประโยชน์


โดย: คุยด้วย IP: 192.99.14.34 วันที่: 19 กรกฎาคม 2558 เวลา:12:27:44 น.  

 
ช่างเอาแผ่นทองเหลืองออกแล้ว ปูกระเบื้องทับตรงจุดที่มีสายดิน จะมีอันตรายไหมครับ
จะได้ให้ช่างแก้ไข


โดย: ศักดิ์เดช IP: 118.175.223.38 วันที่: 4 สิงหาคม 2558 เวลา:6:14:53 น.  

 
แท่งทองแดงกับสายดินถ้าไมหลุดออกจากกันแน่หน่าก็ไม่เป็นไรครับ


โดย: พูล IP: 27.55.165.224 วันที่: 13 สิงหาคม 2558 เวลา:14:03:14 น.  

 
สอบถามครับ มีปัญหาว่าไม่ได้ต่อกราด์ไฟฟ้าแล้วมีแจ้งว่าลูกค้าโดนไฟดูด ให้ช่างวัดที่เต้าไฟฟ้า N-G ได้ 15 Volt แต่เมื่อวัดที่เครื่องใช้ไฟฟ้ากับพื้น เพิ่มเป็น 50 volt เป็นเพราะอะไรครับ เป็นเพราะเครื่องใช้ไฟฟ้าไฟรั่ว หรือ ไม่ได้ต่อกราวด์ครับ


โดย: Annie IP: 192.99.14.36 วันที่: 30 สิงหาคม 2558 เวลา:0:39:34 น.  

 
ดีมากๆๆครัฟ


โดย: ด.ช.วัฒนชัย IP: 58.11.248.13 วันที่: 22 กันยายน 2558 เวลา:9:15:26 น.  

 
ตอบคุณ Annie ความคิดเห็นที่_39

ถ้าปลายสายกราวน์ถูกปล่อยลอยเอาไว้ ไม่ได้มีการต่อลงดินจริงๆ
การที่คุณใช้มิเตอร์วัดแรงดันเทียบระหว่าง N-G แล้วมิเตอร์แสดงค่าแรงดันขึ้นมาให้เห็น ค่าที่เห็นนั้น ส่วนใหญ่มักจะมีสาเหตุมาจากการเหนี่ยวนำระหว่างสายดินและสายไฟครับ

เพราะเมื่อกราวน์ถูกปล่อยลอยๆ ไม่ได้ต่อลงดินจริงๆ แล้วในระบบมีการติดตั้งสายดินเดินควบคู่ไปกับสายไฟ ระยะทางที่สายดินเดินควบคู่กับสายไฟ เมื่อมันมีระยะทางพอเหมาะ มันก็จะเกิดการเหนี่ยวนำจากสนามแม่เหล็กของสายไฟ ปรากฏเป็นค่าแรงดันให้เห็นได้ครับ
ผมเองเคยเจอบางที่ ที่กราวน์ถูกปล่อยลอย ในระบบกราวน์มีแรงดันเหนี่ยวนำเกิดขึ้นร้อยกว่าโวลต์ก็มีครับ แต่แรงดันที่เห็นนั้น กระแสมันน้อยมากๆ น้อยจนไม่พอที่จะทำอันตรายเราได้ แต่อาจจะมีความรู้สึกนิดๆบ้างเวลาที่ผิวหนังส่วนที่บางๆไปโดน


โดย: KanichiKoong วันที่: 25 มกราคม 2559 เวลา:1:52:19 น.  

 
สอบถามครับ
บ้านใหม่อยู่มาประมาณ2ปี เดือนที่แล้วอาบน้ำจากเครื่องทำน้ำอุ่น แต่ไม่ได้เปิดสวิทซ์นะครับ พออาบเสร็จจะปิดน้ำแต่มีไฟดูดจนกระตุก เลยเอามิเตอร์มาวัดไฟ โดยตั้ง220VAC เอาสายสีแดงแตะที่ก๊อกน้ำ สีดำแตะที่นิ้วมือ วัดไฟได้ประมาณ150V จากนั้นลองเอาเบรคเกอร์ลงทั้งหมดแล้ววัดใหม่ ยังคงมีไฟอยู่เท่าเดิม (เพิ่มเติมครับวันนั้นฝนตกพรำๆ ตอนวัดไฟฝนหยุดไปแล้ว มีตู้เบรคเกอร์2ชุดแยกชั้นบนล่าง) ให้ช่างมาดูบอกว่าการไฟฟ้าต่อสายเข้าสลับกัน ที่งงคือก่อนหน้านี้ตั้งนานทำไมถึงไม่ดูด ระบบกราวด์มีปัญหารึเปล่าครับ/ขอบคุณครับ


โดย: เมตตา IP: 182.232.74.163 วันที่: 25 พฤษภาคม 2559 เวลา:11:23:10 น.  

 
อยากทราบเรื่องการตรวจวัดสายดินว่ามีกระแสไฟฟ้า หรืออะไร เท่าไรในสายดิน และสายดินเชื่อมต่อกับสายดินสายอื่น หรือสายไฟสายอื่นหรือไหม และรู้ได้อย่างไรว่ามีการเชื่อมต่อกันค่ะ


โดย: Natty IP: 49.231.10.46 วันที่: 1 ธันวาคม 2559 เวลา:16:09:39 น.  

 
สายดินมีกลุ่มควันขึ้นควรทำอย่างใรครับ


โดย: ราเชนทร์ IP: 49.230.205.199 วันที่: 3 ธันวาคม 2559 เวลา:16:57:40 น.  

 
บ้านผมเป็นทาวเฮ้า2ชั้นซื้อมา15ปี ไฟในบ้าน 2สายไม่มีสายดินตู้เป็น d squar รุ่นเก่าคิดว่าไม่มีg bar เมนเบกเกอ63a มิเตอร์15(45) มีเบรกเกอ rccbของaab 40a ช่างต่อแอร กับเครื่องทำนำ้อุ่น ก่อนเข้าเมนเบรกเกอรไว้ ผมขอคำแนะนำนะครับ
1 ผมจะต่อgเครื่องทำนำอุ่นโดยตรงได้ไหมครับ ลงดินเลยใช้กราวรอท ยาว1.8เมตร หุ้มทองแดง สาย2.5squarmm แล้วจำเป็นไหมต้องต่อสายดิน เครื่งทำนำ้อุ่นมีelcb เนชั่นแนล 3500watt
2 ผมจะพ่วง เครื่องซกผ้า ลงกราวอันเดียวกับเครื่องนำ้อุ่นได้ป่าว หรือต้องแยก มีปั้มนำ้อีก ควรทำไงครับ


โดย: หมงครับ IP: 27.130.49.28 วันที่: 10 ธันวาคม 2559 เวลา:16:36:56 น.  

 
อยากทราบว่าการที่ไม่ต่อสายดินในแผงควบคุมในบ้านจะมีผลทำให้กระแสไฟตกหรือไม่ครับ


โดย: ทนากร์ IP: 49.230.208.150 วันที่: 14 ธันวาคม 2559 เวลา:12:59:45 น.  

 
ตอบคุณทนากร์ ความคิดเห็นที่_46

เรื่องแรงดันไฟฟ้าตก ถ้าบ้านคุณมิปัญหาไฟตกทั้งบ้าน ก่อนอื่นต้องพิจารณาดูครับ ว่าบ้านของคุณกับหม้อแปลงของการไฟฟ้า อยู่ห่างกันมากหรือเปล่า เพราะถ้าผู้ใช้ไฟอยู่ไกลจากหม้อแปลงมากๆ แรงดันไฟฟ้าในสายก็อาจจะตกลงได้เป็นธรรมดา ลองติดต่อการไฟฟ้าเจ้าของพื้นที่ดูครับ น่าจะได้คำตอบ
ส่วนเรื่องระบบสายดิน อันที่จริงถ้าบ้านไม่มีระบบสายดินมันก็ไม่เกี่ยวกันโดยตรงกับปัญหาแรงดันไฟตกนะครับ เพราะบ้านที่สร้างมานานแล้วหลายๆหลังที่เขาไม่มีระบบสายดินก็ใช่จะมีปัญหาเรื่องไฟตก


โดย: KanichiKoong วันที่: 19 ธันวาคม 2559 เวลา:5:39:12 น.  

 
ตอบคุณหมงครับ ความคิดเห็นที่_45

1. ถ้าระบบไฟฟ้าที่บ้านเป็นของเก่าซึ่งไม่มีระบบสายดินรองรับ สามารถติดตั้งสายดินเพิ่มเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าได้ครับ ให้ดีควรตอกแท่งกราวด์ยาว 2.4 เมตร ส่วนสายที่ต่อลงแท่งกรานด์ในกรณีนี้ ถ้าใช้สาย 2.5 ตร.มม. ก็ได้ แต่ให้ระวังหน่อย เพราะสายขนาดนี้อาจจะเล็กไปสำหรับการต่อกับหลักดินใช้ไปนานๆมันเสี่ยงที่สายที่ต่อลงหลักดินอาจจะขาดหรือหลุดได้ ถ้าใช้สายขนาดนี้ ก็ควรตรวจสอบดูสภาพในระยะยาวด้วยจะเป็นการดีครับ
เครื่องทำน้ำอุ่น ต่อให้มีเบรกเกอร์กันไฟดูด ELCB มาให้แล้ว แต่ยังไงก็จำเป็นต้องต่อสายดินครับ เพื่อเสริมความปลอดภัยให้มีประสิทธิภาพที่สุด

2. พ่วงได้ครับ บ้านหนึ่งหลังควรมีการตอกหลักดินลงดินเพียงจุดเดียวนะครับ

เสริมนิดหน่อย อันที่จริง ถ้าให้เป็นไปตามมาตรฐานเรื่องการเลือกใช้เมนเบรกเกอร์ สำหรับมิเตอร์ 15(45)A ควรใช้เมนเบรกเกอร์ที่มีขนาดสูงสุดไม่เกิน 50A ขนาด 63A ที่คุณใช้อยู่ มันค่อนข้างใหญ่เกินไปนะครับ
ส่วนตู้ Square D ของที่ใช้อยู่ ถ้าเป็นไปได้ลองตรวจสอบดูว่าด้านในมีกราวด์บาร์มาให้หรือไม่ เพราะบางทีมันอาจจะมีมาให้อยู่แล้วแต่ระบบไฟฟ้าที่บ้านนั้นติดตั้งในสมัยที่มาตรฐานสายดินยังไม่เข้มงวดเลยไม่ได้ใช้กราวด์บาร์ก็เป็นได้ ถ้ามีกราวด์บาร์อยู่ ก็ควรจะลากสายกราวด์จากเครื่องใช้ไฟฟ้ามาลงที่ตู้แล้วทำการต่อลงดินจากกราวด์บาร์ ทำให้ถูกต้องเลยจะดีสุดครับ


โดย: KanichiKoong วันที่: 19 ธันวาคม 2559 เวลา:5:57:01 น.  

 
ได้ความรู้จากคุณ KanichiKoong มากเลย ...เยี่ยม...ขอบพระคุณมากๆครับท่าน


โดย: ถนอม IP: 58.10.185.54 วันที่: 22 ธันวาคม 2559 เวลา:23:02:06 น.  

 
Poomrapee Phetpakdeepong


โดย: poomrapee IP: 183.89.214.225 วันที่: 19 มกราคม 2560 เวลา:21:22:10 น.  

 
ได้ความรู้มากเลยครับ ขอบคุณ


โดย: APP&P IP: 171.99.163.180 วันที่: 19 กุมภาพันธ์ 2560 เวลา:16:12:07 น.  

 
แจ่มเลย


โดย: แต็งกิ้ว คับ IP: 49.49.241.30 วันที่: 9 มีนาคม 2560 เวลา:21:53:37 น.  

 
ถ้าตูู้เบกเกอร์ที่รับไฟเข้าจากมิเตอร์ และ safety cut อยู่ชั้น 2 จะต่อสายดิน ผ่านตู้เบรกเกอรย่อยชั้น 1 (สายดินที่ต่อจากหลักดินมาเข้าที่ตู้เบรกเกอรชั้น1 และจะมีสายดินต่อเชื่อมระหว่างเบรกเกอร์ชั้น 1 และ 1) ได้หรือไม่ เพราะเดินสายดินจากหลักดินตรงไปขึ้นชั้น 2 ทำได้ยากครับ


โดย: ประสาท IP: 61.19.100.130 วันที่: 24 เมษายน 2560 เวลา:10:18:22 น.  

 
ขอบคุณทุกความเห็นครับ ทุกคนต้องการความปลอดภัยกันและกัน ผมเริ่มงงครับ ผมไม่เป็นช่าง ผมเจ้าของบ้าน จะต่อเอง ทำแบบนี้ได้ไหมครับ
ปลัก จะมีสามรู รูกลางจะเป็นรูสำหรับต่อสายดิน ในบ้านมีปลั๊กหลายจุด ผมจะต่อ รูที่สามปลักตัวที่ 1 พ่วงไปจนตัวสุดท้าย แล้ว ต่อลงดิน ได้ไหมครับ


โดย: สง่า IP: 202.28.119.237 วันที่: 26 พฤษภาคม 2560 เวลา:16:04:20 น.  

 
ขอถาม : กรณีที่สายดินถูกดินกลบทับ แล้วเกิดปฏิกริยา ทำให้เกิดควัน ขึ้นมาจากดินบริเวณนั้น เกิดจากอะไร และมีอันตรายหรือไมครับ


โดย: มนตรี IP: 49.228.232.79 วันที่: 12 มิถุนายน 2560 เวลา:18:59:07 น.  

 
ตอบ...คุณมนตรี (ความคิดเห็นที่_55)

ถ้ามีควันขึ้น รวมไปถึงมีความร้อนเกิดขึ้นในบริเวณรอบๆจุดที่ปักหลักดิน แสดงว่ามีกระแสไฟรั่วลงดินแล้วครับ มันผิดปกติแล้วแบบนี้
ควรรีบให้ช่างมาตรวจสอบระบบไฟฟ้าในบ้านเลยครับ บางครั้งอาจจะมีสาเหตุมาจากต่อสายเมนไฟเข้าบ้าน สลับกันระหว่าง L-N ก็เป็นได้ หรือถ้าไม่ใช่ ก็ต้องให้ช่างไล่หาสายเหตุดูนะครับ


โดย: KanichiKoong วันที่: 19 มิถุนายน 2560 เวลา:10:53:57 น.  

 
ถ้าไม่ติดเป็นไรไม่ค่ะ




โดย: อ้อ IP: 223.24.158.193 วันที่: 24 ธันวาคม 2560 เวลา:11:07:53 น.  

 
ถ้าสายดินเกินมาตราฐาน5โอห์ม ต้องทำอย่างไรคัฟ บอกรายเอียดให้ฟังหน่อยคัฟ


โดย: นุ IP: 124.121.196.154 วันที่: 2 มกราคม 2561 เวลา:18:59:39 น.  

 
สอบถามครับ และถ้าเป็นไฟบ้าน 3 เฟส ต้องเอา สายนิวตอล เข้า กราว เหมื่อนกันหรือหรือเปล่าครับ


โดย: สร IP: 184.22.101.8 วันที่: 28 มกราคม 2561 เวลา:16:05:15 น.  

 
อยากทราบเหมือนกันครับ เพราะช่างมาต่อให้ที่บ้าน
แบบแยกกัน [ สอบถามครับ และถ้าเป็นไฟบ้าน 3 เฟส ต้องเอา สายนิวตอล เข้า กราว เหมื่อนกันหรือหรือเปล่าครับ


โดย: chai IP: 118.172.239.186 วันที่: 1 มีนาคม 2561 เวลา:16:13:43 น.  

 
ต่อสายกาวด์ลงดินแล้วเบรดเกอร์ตัดตลอดคับ (เอาสายกาวด์ออกใช้งานได้ปกติคับ งงมากคับ ช่วยบอกทีคับ)


โดย: ถวิล IP: 110.169.12.125 วันที่: 23 มิถุนายน 2561 เวลา:21:27:25 น.  

 
ขอถามหน่อยครับ ถ้าตู้เมนอยู่ชั้นบนแล้วต่อสายดินลงมาที่พื้นดินแล้ว ถ้าจะต่อเครื่องทำนํ้าอุ่นที่ชั้นล่าง จะต้องเดินสายดินเข้าไปรวมที่ตู้เมนชั้นบน มันจะเป็นการเพิ่มระยะทาง ถ้าเราไม่ทำแบบนั้นเราเอามาพ่วงระหว่างกลางหรือที่จุดต่อกราวรอดใกล้พื้นดินเลยจะได้ไหมครับ


โดย: จักรินทร์ IP: 124.121.219.113 วันที่: 21 กันยายน 2561 เวลา:18:37:46 น.  

 
ได้ความรู้ดีมากเลย

อยากทราบว่า เครือง test กราวด์ราคา ถูกมีไหม

ใช้ มิเตอร์วัดไฟได้ไหม

และอีกอย่าง ตอนสร้างบ้านใหม่ตอนเทเสาปูนที่เป็นรากฐานของบ้าน


เพื่่อเป็น กราวด์จะมีแท่งเหล็กอยู่แล้ว ผม ต่อสายไฟ กับ แท่งเหล็กนี้ได้ไหม

เพราะอย่างไร เหล็กก็ไม่เป็นสนิมอยู่แล้ว มีปูน หุ้มอยู่

ประหยัด ค่า แท่งทองแดง







โดย: มารวย IP: 49.229.228.95 วันที่: 5 พฤศจิกายน 2561 เวลา:16:02:27 น.  

 
วัดแรงดัน L- N ได้เท่าไร

วัดแรงดัน L- G ได้เท่าไร


สมมติวัดแรงดัน L - N ได้ 220 V

วัดแรงดัน L - G ได้ 219.86 V

วัดแรงดัน N - G ได้ 0.14 V

แต่คุณวัด วัดแรงดัน N - G ที่ตู้ MDB ได้ 0 V


ถ้าเป็นแบบนี้แสดงว่า ความต้านทานสายดินสูงกว่าความต้านทานสายนิวตรอน ถ้าจะทำก็ต้องติดตั้งขนาดของสายดินให้ใหญ่กว่า หรือ เท่ากับสายนิวตรอน แล้วก็ลองเช็คดูว่าได้ไหม ( แพงกว่าเดิมฮ่าๆ)


แต่ความเป็นจริงแล้ว ไม่ต้องแก้ไขหรอก ปกติก็วัดได้ประมาณนี้ ค่าแค่ 0.1 V ไม่น่าจะมีผลอะไร

แก้ปัญหา แบบนี้ จะดีกว่า
ในกรณีที่ช่างมันช่างเผือก มากลับสาย ตอนต่อมิเตอร์

เราก็เอา หลอดไฟ ต่อ ระหว่าง N-G ถ้ามีไฟ แสดงว่า
ช่างต่อสายผิด ให้มาแก้ไข ก็เท่านั้นเอง







โดย: มารวย IP: 49.229.249.37 วันที่: 5 พฤศจิกายน 2561 เวลา:16:49:16 น.  

 
สวัสดีครับ ในคอนโดที่ผมอยู่ ตู้เบรกเกอร์ในห้องของผม
สายN ต่อมาที่เมนเบรกเกอร์เลย ไม่ได้ต่อที่ G bar ก่อน ผมต้องแก้ไข
มั้ยครับ หรือว่าเขาต่อมาถูกแล้วครับ


โดย: เจมส์ IP: 171.98.30.183 วันที่: 2 ตุลาคม 2564 เวลา:23:47:14 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

KanichiKoong
Location :
สงขลา Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 275 คน [?]




ช่องทางการติดต่อผู้จัดทำ

- หลังไมค์
- E-mail : aum_tawatchai@hotmail.com
-------------------------------------
เนื้อหาที่ปรากฏ อนุญาติให้นำไปใช้เพื่อการศึกษา/หาความรู้ ซึ่งไม่เป็นการนำไปใช้ในเชิงธุรกิจ
-------------------------------------
New Comments
Friends' blogs
[Add KanichiKoong's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.