สาระน่ารู้เกี่ยวกับ แอร์บ้าน และระบบไฟฟ้าในบ้าน
Group Blog
 
All blogs
 

ระบบสายดิน ของระบบไฟฟ้าในบ้าน







ตั้งแต่ วันที่ 1 สิงหาคมพ.ศ. 2539 

การไฟฟ้านครหลวงได้ออกประกาศให้ผู้ยื่นขอไฟฟ้ารายใหม่จะต้องเดินสายไฟฟ้าให้มีระบบต่อลงดินรวมทั้งต้องติดเต้ารับไฟฟ้าทุกตัวให้เป็นเต้ารับ ชนิดที่มีขั้วสำหรับสายดิน




ระบบสายดิน (Grounding System)





และตั้งแต่ พ.ศ. 2539 มาจนถึงปัจจุบันมาตรฐานในเรื่องของการติดตั้งสายดินจึงได้กลายมาเป็นกฎข้อบังคับที่การไฟฟ้านครหลวงได้นำมาใช้ และหลังจากนั้นการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคก็ได้นำข้อบังคับนี้เข้ามาใช้ด้วยเช่นกันซึ่งรายละเอียดหลักๆในข้อบังคับนี้ เป็นการกำหนดให้ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ขอใช้ไฟฟ้าใหม่รวมทั้งผู้ใช้ไฟฟ้าที่ยื่นขอเพิ่มขนาดมิเตอร์ไฟฟ้า ต้องปฏิบัติตามในเรื่องของการติดตั้งระบบสายดินควบคู่กับระบบไฟฟ้าที่ติดตั้ง





สายดินมีไว้เพื่ออะไร ?

สายดินที่ติดตั้งในระบบไฟฟ้า มีขึ้นเพื่อเสริมให้เกิดความปลอดภัยต่อการใช้ไฟฟ้า ในกรณีที่เกิดไฟรั่วลงบนโครงเครื่องใช้ไฟฟ้า กระแสไฟฟ้าส่วนที่รั่วออกมานี้ ก็จะใช้สายดินเป็นเส้นทางในการไหลลงดิน แทนที่จะไหลผ่านร่างกายของมนุษย์ในกรณีที่เผลอไปสัมผัสนั่นเอง 

ซึ่งสายดินจะทำงานได้โดยสมบูรณ์ ปลายสายด้านหนึ่งของสายดินต้องมีการต่อลงดินด้วยวัสดุที่มีคุณสมบัติเป็นตัวนำไฟฟ้าส่วนปลายสายอีกด้านหนึ่งต่อเข้ากับพื้นผิวหรือโครงเครื่องใช้ไฟฟ้าซึ่งเป็นส่วนที่มีการเข้าถึงและสัมผัสได้โดยผู้ใช้งานหรือบุคคลทั่วไป

และไม่เพียงแค่การป้องกันไม่ให้ผู้ใช้ไฟฟ้าได้รับอันตรายจากการถูกไฟฟ้าดูดเท่านั้น แต่ในบางกรณี สายดินยังมีส่วนช่วยในการจัดการกับสัญญาณรบกวนอีกด้วย




การทำงานของสายดิน

ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจในธรรมชาติของไฟฟ้าก่อนซึ่งธรรมชาติของไฟฟ้านั้น จะเคลื่อนที่จากบริเวณที่มีศักย์ทางไฟฟ้าสูงไปยังบริเวณที่มีศักย์ไฟฟ้าน้อยกว่าหรือบริเวณที่มีศักย์ไฟฟ้าเป็นศูนย์

พื้นโลก(พื้นดิน)มีศักย์ทางไฟฟ้าเป็นศูนย์ และในระบบผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าส่วนหนึ่งนั้นก็ได้มีการต่อลงดิน เพื่อเทียบศักย์ไฟฟ้าให้เป็น 0 เทียบเท่ากับพื้นดิน

เมื่อเราไปสัมผัสกับพื้นผิวหรือโครงเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีกระแสไฟฟ้ารั่วออกมา และเท้าของเรายืนอยู่บนพื้น นั่นทำให้เกิดค่าความต่างศักย์ทางไฟฟ้าระหว่างจุดสองจุดที่ร่างกายเราสัมผัสอยู่ในขณะนั้น ไฟฟ้าจะใช้ร่างกายของเราเป็นสื่อเพื่อเดินทางผ่าน ในที่นี้กระแสไฟฟ้าก็จะผ่านตัวเราเพื่อไปลงสู่ดินนั่นเอง

ถ้ามีการติดตั้งสายดินที่โครงเครื่องใช้ไฟฟ้าเอาไว้ หากมีกระแสไฟฟ้ารั่วลงมาที่โครงเครื่องใช้ไฟฟ้า กระแสไฟฟ้าที่รั่วออกมานั้น ก็จะเดินทางลงสู่ดินผ่านทางสายดิน ซึ่งเมื่อใดที่เราไปจับโครงเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีการติดตั้งสายดิน ก็จะไม่ได้รับอันตรายจากกระแสไฟฟ้า เพราะไฟฟ้าเลือกที่จะไหลผ่านช่องทางที่สะดวกที่สุดซึ่งนั้นก็คือทางสายดิน แทนการไหลผ่านร่างกายมนุษย์ เนื่องจากเมื่อเทียบกันแล้วสายดินมีความต้านทานต่ำกว่าร่างกายมนุษย์หลายเท่า ไฟฟ้าจึงเลือกเดินทางผ่านสายดิน แทนที่จะผ่านร่างกายเรา





เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต้องมีและไม่มีสายดิน

เครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทที่ต้องมีสายดิน คือเครื่องใช้ไฟฟ้ารวมทั้งอุปกรณ์ติดตั้งทางไฟฟ้าที่มีโครงหรือเปลือกหุ้มเป็นโลหะซึ่งบุคคลมีโอกาสสัมผัสได้ต้องมีสายดิน เช่น ตู้เย็น , เตารีด,เครื่องซักผ้า ,หม้อหุงข้าว ,เครื่องปรับอากาศ , เตาไมโครเวฟ , กระทะไฟฟ้า , กระติกน้ำร้อน , เครื่องทำน้ำร้อนหรือน้ำอุ่น , เครื่องปิ้งขนมปัง รวมถึงเครื่องมือช่างบางชนิด เป็นต้น ซึ่งจะเรียกครื่องใช้ไฟฟ้าเหล่านี้ว่าเป็น เครื่องใช้ไฟฟ้าประเภท 1



เครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทที่ไม่ต้องมีสายดิน


ส่วนใหญ่จะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้งานในระดับแรงดัน ต่ำกว่า 50 หรือเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ลักษณะทางกายภาพมีฉนวนห่อหุ้มมิดชิดในการใช้งานปกติไม่มีโอกาสที่ผู้ใช้งานจะสัมผัสโดนส่วนที่มีไฟฟ้าซึ่งจะเรียกเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ต้องมีสายดินว่า เครื่องใช้ไฟฟ้าประเภท 2 ซึ่งมีสัญลักษณ์แสดงไว้อย่างชัดเจนว่าไม่ต้องมีสายดิน ตัวอย่างของเครื่องใช้ฯประเภท 2 เช่น วิทยุ , โทรทัศน์ , พัดลมตั้งพื้น/โต๊ะโคมไฟแสงสว่างชนิดตั้งโต๊ะ เป็นต้น



สัญลักษณ์แบบ A และ B สำหรับแสดงบนเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ต้องมีสายดิน (ประเภท 2) 



ระบบสายดินตามมาตรฐานการไฟฟ้าฯ

ระบบสายดินที่ติดตั้งในบ้านพักอาศัยเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการด้านความปลอดภัย ที่ทางการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ได้ออกเป็นข้อบังคับให้ผู้ใช้ไฟฟ้าภาคครัวเรือนต้องปฏิบัติตาม

เหตุผลที่ทางการไฟฟ้าต้องออกเป็นกฏข้อบังคับก็เนื่องมาจากในอดีต มีผู้ได้รับอันตรายจากการใช้ไฟฟ้าบ่อยครั้งมีทั้งได้รับบาดเจ็บ ไปจนถึงขั้นเสียเสียชีวิตก็มีอยู่ไม่น้อย

สาเหตุส่วนใหญ่ก็มักจะมาจากการถูกไฟดูดจากการไปสัมผัสหรือใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีไฟรั่ว

ด้วยเหตุนี้เองสายดินจึงได้กลายมาเป็นข้อบังคับเพื่อความปลอดภัยในการใช้ไฟฟ้า




องค์ประกอบหลักของสายดิน

สายดินมีองค์ประกอบหลักๆที่สำคัญอยู่ 2 ส่วน ซึ่งได้แก่ สายตัวนำไฟฟ้าหรือสายดิน และหลักดิน




สายดินที่นำมาติดตั้ง 

สายดินที่ใช้ในระบบไฟฟ้าทั่วไป จะมีลักษณะทางกายภาพ คือเป็นสายไฟฟ้าชนิดแกนเดียว ภายในสายประกอบด้วยลวดตัวนำที่ทำมาจากทองแดง และหุ้มด้วยฉนวนประเภท PVC

ตามมาตรฐาน ได้กำหนดให้ใช้สายที่มีฉนวนสีเขียวหรือสีเขียวสลับแถบสีเหลือง เป็นสีเฉพาะของสายดิน

สายดินในระบบไฟฟ้ายังสามารถจำแนกได้เป็น 2 กลุ่มหลักๆคือ

1. สายดินที่ใช้ในวงจรย่อยซึ่งเป็นสายดินที่ต่อมาจากเต้ารับ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ติดตั้งตามจุดต่างๆ

2. สายสำหรับต่อหลักดิน เป็นสายขนากใหญ่ที่จะรวมสายดินจากวงจรย่อยต่างๆเข้าด้วยกัน แล้วต่อไปลงที่หลักดินที่ตอกลงไปในดิน




การเลือกขนาดสายต่อหลักดิน โดยพิจารณาจากขนาดตัวนำประธาน (สายเมน) ของระบบไฟฟ้า



หลักดิน

หลักดินเป็นโลหะตัวนำไฟฟ้ามีหน้าที่ถ่ายเทประจุไฟฟ้าให้กระจายลงสู่พื้นดิน โดยเมื่อมีกระแสไฟฟ้ารั่วจากเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต่อสายดินอยู่ กระแสไฟฟ้าที่รั่วก็จะเดินทางจากสายดินมาสู่หลักดินแล้วถ่ายเทลงสู่พื้นดิน

หลักดินที่ใช้กับระบบสายดินมีลักษณะทางกายภาพเป็นแท่งโลหะ ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะใช้เป็นแท่งทองแดง หรือเหล็กชุบทองแดงเพื่อป้องกันสนิมและการกัดกร่อน 

ตามมาตรฐานกำหนดให้หลักดินที่จะนำมาติดตั้งกับระบบไฟฟ้า มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 16 มม. (5/8นิ้ว) และมีความยาว 2.4 เมตร ซึ่งนี่คือแท่งหลักดินขนาดมาตรฐานที่ใช้ตอกลงไปในพื้นดิน

และมาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าของประเทศไทย ก็ได้กำหนดค่าความต้านทานของหลักดินที่ตอกลงไป โดยหลักดินที่ได้มาตรฐาน ต้องมีความต้านทานดิน ไม่เกิน 5 โอห์ม










ข้อกำหนดในการติดตั้งระบบสายดินที่ถูกต้อง ตามมาตรฐาน


  1. จุดต่อลงดินของระบบไฟฟ้า (สายต่อฝากที่เชื่อมนิวทรัลเข้ากับสายดิน) ต้องอยู่ด้านไฟเข้าของเครื่องตัดวงจรตัวแรกในตู้สวิตช์บอร์ดหลัก
  2. ภายในอาคารหลังเดียวกัน หรือกรณีบ้าน 1 หลัง ระบบไฟฟ้าไม่ควรมีจุดต่อลงดินมากกว่า 1 จุด 
  3. สายดินและสายนิวทรัล สามารถต่อร่วมกันได้เพียงแห่งเดียว ที่จุดต่อลงดินภายในตู้เมนสวิตช์ ห้ามต่อร่วมกันในที่อื่น ๆ อีก เช่น ในแผงสวิตช์ย่อยของชั้นบน
  4. ตู้เมนสวิตช์สำหรับห้องชุดของอาคาร และตู้แผงสวิตช์ประจำชั้นของอาคาร ให้ถือว่าเป็นแผงสวิตช์ย่อย ห้ามต่อสายนิวทรัลและสายดินร่วมกัน
  5. ไม่ควรต่อโครงโลหะของเครื่องใช้ไฟฟ้าลงดินโดยตรง แต่ถ้าได้ดำเนินการไปแล้ว ถ้าเป็นไปได้ให้แก้ไขโดยมีการต่อลงดินที่เมนสวิตช์ อย่างถูกต้องแล้วเดินสายดินจากเมนสวิตช์มาต่อร่วมกับสายดินที่ใช้อยู่เดิม
  6. ไม่ควรใช้เซอร์กิตเบรกเกอร์ชนิด 120/240 V กับระบบไฟ 220 V เพราะพิกัด IC จะลดลงประมาณครึ่งหนึ่ง
  7. การติดตั้งเครื่องตัดไฟรั่วหรืออุปกรณ์ป้องกันไฟดูด เป็นเพียงมาตรการเสริมรองลงมา เพื่อเสริมการป้องกันให้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้นเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ระบบสายดินก็ยังคงเป็นสิ่งสำคัญที่มาก่อนเป็นอันดับแรก 
  8. วงจรสายดินที่ถูกต้องตามมาตรฐาน ในสภาวะปกติจะต้องไม่มีกระแสไฟฟ้าไหล 
  9. ถ้าเดินสายไฟในท่อโลหะ จะต้องเดินสายดินรวมในท่อเส้นนั้นด้วย 
  10. ดวงโคมไฟฟ้าและอุปกรณ์ติดตั้งที่เป็นโลหะควรต่อลงดิน มิฉะนั้นต้องอยู่เกินระยะที่บุคคลทั่วไปสัมผัสไม่ถึง (สูงตั้งแต่ 2.40 เมตร ขึ้นไป หรือห่างไม่น้อยกว่า 1.50 เมตร ในแนวราบ)
  11. ขนาดและชนิดของอุปกรณ์ระบบสายดิน ต้องเป็นไปตามมาตรฐานกฎการเดินสายและติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าของการไฟฟ้าในท้องที่นั้น






แผนภาพแสดงการติดตั้งระบบไฟฟ้าที่มีสายดิน สำหรับระบบไฟฟ้าของบ้านพักอาศัย (1 เฟส)
เป็นรูปแบบที่ถูกต้อง ตามข้อบังคับของการไฟฟ้า และมาตรฐานของ วสท.





การติดตั้งระบบสายดิน เข้ากับแผงควบคุมไฟฟ้าแบบเก่า

ในกรณีที่ต้องการติดตั้งระบบสายดินแต่แผงควบคุมไฟฟ้าที่เป็นแผงหลัก ไม่ได้ใช้เป็นตู้ควบคุมไฟฟ้า Consumer Unit 

ซึ่งแผงควบคุมไฟฟ้าดังกล่าวเป็นแผงควบคุมไฟฟ้าแบบเก่าที่นิยมใช้ในสมัยก่อน มีลักษณะเป็นแผงไม้หรือพลาสติกที่มีเมนสวิทช์และอุปกรณ์อื่นๆติดตั้งอยู่




หากต้องการติดตั้งระบบสายดินก็สามารถทำได้ โดยให้จุดต่อลงดินของระบบไฟฟ้า (สายต่อฝากที่เชื่อมนิวทรัลเข้ากับสายดิน) อยู่ด้านไฟเข้าของเมนสวิทช์ตัวแรกของระบบ





สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติม ที่เกี่ยวกับการติดตั้งหลักดินอย่าถูกต้องตามมาตรฐาน ได้ที่บทความชุด การติดตั้งหลักดินอย่างถูกต้อง




 

Create Date : 28 พฤษภาคม 2556    
Last Update : 7 มีนาคม 2560 15:00:48 น.
Counter : 203811 Pageviews.  

บทเรียนครั้งใหญ่...ไฟดับทั้งภาคใต้











ในช่วงค่ำคืนของวันอังคารที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 ได้เกิดเหตุการไฟฟ้าดับเป็นวงกว้าง หรือที่เรียกว่า เหตุการณ์แบล็กเอาต์ (Blackout) ขึ้นในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ หรือทั้งภาคใต้ของประเทศไทย

เหตุการณ์ Blackout เป็นกรณีที่เกิดไฟฟ้าดับเป็นวงกว้าง ครอบคลุมทั้งจั้งหวัด ถึงทั้งภาค และร้ายแรงที่สุดคือทั้งประเทศ ซึ่งกินระยะเวลานานนับชั่วโมงเป็นต้นไป ระยะเวลาจะมากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับสาเหตุของปัญหา และศักยภาพในการกู้ระบบกลับคืน
ซึ่งเหตุการณ์ Blackout ยิ่งกินเวลานานมาเท่าไหร่ ความเสียหายที่ตามมาก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้นตามระยะเวลาที่ไฟฟ้าดับ ไม่ว่าจะเป็น ความเสียหายทางเศรษฐกิจ รวมไปถึงด้านความมั่นคง


ในอดีต ประเทศไทยเคยเกิดเหตุการณ์ Blackout ทั่วทั้งประเทศ เมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2521 กินระยะเวลานานสูงสุด 9 ชั่วโมง 20 นาที 
มีสาเหตุมาจากโรงไฟฟ้าพระนครใต้ ซึ่งเป็นกำลังผลิตสำคัญในขณะนั้น เกิดขัดข้องทางเทคนิค ไม่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าป้อนเข้าสู่ระบบได้ 
เมื่อกำลังผลิตที่สำคัญเกิดขัดข้องจนไม่สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าป้อนเข้าระบบได้ ส่งผลให้กำลังการผลิตที่เหลือไม่เพียงพอต่อความต้องการในขณะนั้น
จนในที่สุดระบบป้องกันจึงทำการ ปลดโรงไฟฟ้าอื่นๆที่เหลือออกจากระบบ



ภายหลังจากเกิดเหตุการณ์ Blackout ทั่วทั้งประเทศ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตก็ได้นำบทเรียนจากเหตุการณ์ดังกล่าว มาเป็นแนวทางในการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการเช่นนี้ขึ้นอีก 
นับตั้งแต่นั้นมา ก็ดูเหมือนว่าระบบไฟฟ้าของประเทศไทย(ในเขตเมือง)ค่อนข้างจะมีเสถียรภาพมากขึ้น
แต่...ในที่สุดเหตุการณ์ Blackout ก็ได้เกิดขึ้นอีกครั้ง แต่ในคราวนี้เกิดขึ้นเฉพาะในส่วนของพื้นที่ทั้ง 14 จังหวัดของภาคใต้ เกิดเสียงวิภาควิจารณ์จากหลายๆฝ่าย
ซึ่งในสังคมออนไลน์ บนโลก social network ก็ต่างพากันวิภาควิจารณ์กันไปต่างๆนาๆ บางคนที่ไม่มีความเข้าใจทางด้านเทคนิค ก็พากันเชื่อพากันพูดไปแบบผิดๆ พยายามโทษไปยังฝ่ายต่างๆ และหนีไม่พ้นกับการนำไปโยงกับเรื่องการเมืองจนได้ 
และอีกสิ่งหนึ่งที่ถูกนำไปวิภาควิจารณ์กันมากมาย คงหนีไม่พ้นภาพยนตร์โฆษณาไฟดับทั้งประเทศ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ที่เคยนำมาออกอากาศทางโทรทัศน์ เมื่อช่วงปี 2552

ในฐานะที่ผู้เขียน ร่ำเรียนและทำงานอยู่ในแวดวงด้านไฟฟ้า รวมทั้งส่วนตัวผู้เขียนเองก็เป็นคนภาคใต้โดยกำเนิด เลยขอหยิบยกเรื่องราวเหตุการณ์ Blackout ทั่วทั้งภาคใต้ มาเขียนเป็นบทความ
ซึ่งจะขอว่าด้วยสาเหตุที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ Blackout โดยอ้างอิงจากข้อมูลทางด้านเทคนิคเป็นหลัก และไม่ได้ฝักใฝ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ที่สำคัญผู้เขียนเองก็ไม่ได้มาจากการไฟฟ้าฯด้วย






กำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้

ก่อนอื่นต้องมาทำความเข้าใจ ในเรื่องของความสามารถในการผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับใช้เองในพื้นที่ภาคใต้ 
ไฟฟ้าที่ภาคใต้ผลิตได้เอง โดยปกติแล้วมีความสามารถหรือกำลังการผลิต ในช่วงดังกล่าว อยู่ที่ประมาณ 1,600 - 2,000 เมกะวัตต์ 


พลังงานไฟฟ้าที่ได้มาจากโรงไฟฟ้าพลังความร้อนและเขื่อน ซึ่งอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ 7 แห่ง ได้แก่


1. โรงไฟฟ้าขนอม เป็นโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ และเป็นโรงไฟฟ้าที่มีกำลังการผลิตสูงสุดของภาคใต้ (ในเวลานั้น) ตั้งอยู่ที่ อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 824 เมกะวัตต์






2. โรงไฟฟ้าจะนะ (การไฟฟ้าฝ่ายผลิต) ตั้งอยู่ที่ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม ที่มีประสิทธิภาพสูง มีกำลังการผลิตรวม 731 เมกะวัตต์ 






3. โรงไฟฟ้ากระบี่ (การไฟฟ้าฝ่ายผลิต) ตั้งอยู่ที่ อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน มีกำลังการผลิตรวม 340 เมกะวัตต์ 






4. โรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี (การไฟฟ้าฝ่ายผลิต) ตั้งอยู่ที่ อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล มีกำลังการผลิตรวม 244 เมกะวัตต์ 






5. โรงไฟฟ้ากัลฟ์ ยะลา กรีน เป็นโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดย่อม ตั้งอยู่ที่ อำเภอเมือง จังหวัดยะลา เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากเชื้อเพลิงชีวมวล มีกำลังการผลิตรวม ประมาณ 20-22 เมกะวัตต์






6. เขื่อนรัชชประภา (การไฟฟ้าฝ่ายผลิต) ตั้งอยู่ที่ อำเภอบ้านตาขุน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำ มีกำลังการผลิตรวม 240 เมกะวัตต์






7. เขื่อนบางลาง (การไฟฟ้าฝ่ายผลิต) ตั้งอยู่ที่ อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา เป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำ มีกำลังการผลิตรวม 72 เมกะวัตต์ 





จากข้อมูลของโรงไฟฟ้าและเขื่อนที่อยู่ในภาคใต้ หากลองนำกำลังการผลิตของแต่ละแห่ง มารวมกันแล้ว เราจะได้ค่ากำลังการผลิตรวม (สูงสุด) ประมาณ 2,160 เมกะวัตต์ ซึ่งถือว่ามีความใกล้เคียงกับค่าปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าของภาคใต้ (สูงสุด) ที่ประมาณ 2,200 - 2,500 เมกะวัตต์ แต่ถึงยังไงก็ผลิตได้ไม่พออยู่ดี

และอีกประการหนึ่งคือ ค่ากำลังการผลิตรวม(สูงสุด) ที่ได้มากว่า 2,000 เมกะวัตต์ เป็นค่ากำลังการผลิตเมื่อโรงไฟฟ้าทุกแห่งในพื้นที่ภาคใต้ เดินเครื่องพร้อมกันเต็มกำลังการผลิต 100% 
ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว โดยปกติโรงไฟฟ้าและเขื่อนทุกแห่งในภาคใต้ ไม่ได้เดินเครื่องพร้อมกันเต็มกำลังการผลิต ตลอด 24 ชั่วโมง เนื่องจากเหตุผลด้านเทคนิค รวมไปถึงด้านต้นทุนการผลิต
โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ที่ไม่สามารถเดินระบบผลิตกระแสไฟฟ้าได้ตามอำเภอใจเวลาใดก็ได้ เพราะการผลิตกระแสไฟฟ้าจะต้องมีการปล่อยน้ำออกจากเขื่อน การปล่อยน้ำออกจากเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ก็อาจส่งผลกระทบต่อปริมาณการกักเก็บน้ำในเขื่อนและระดับน้ำในพื้นที่ใต้เขื่อน
ซึ่งตลอดระยะเวลาการผลิตกระแสไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ ก็ต้องมีการควบคุมระดับน้ำบริเวณใต้เขื่อน ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมด้วย 

โดยรวมกำลังการผลิตไฟฟ้าของภาคใต้ (ในขณะนั้น) จึงมีกำลังการผลิตอยู่ที่ประมาณ 1,600 - 2,000 เมกะวัตต์ 
แต่ความต้องการใช้งานในขณะนั้น มีอยู่ถึง 2,200 - 2,500 เมกะวัตต์ และยังจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆในอนาคตข้างหน้า

ที่ผ่านมา มีความพยายามที่จะสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อเสริมศักยภาพและความมั่นคงทางพลังงานให้กับพื้นที่ภาคใต้ รวมไปถึงรองรับการขยายตัวอย่างต่อเนื่องทางภาคใต้ ทั้งในภาคการท่องเที่ยวและภาคอุตสาหกรรม 

โดยในระหว่างที่ยังไม่มีการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มในพื้นที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จึงต้องหาช่องทางเพื่อมารองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ โดยเบื้องต้นได้มีการนำไฟฟ้าจากพื้นที่ภาคกลางเข้ามายังพื้นที่ภาคใต้ ผ่านทางระบบสายส่งแรงสูง ซึ่งมีแรงดันไฟฟ้าที่ระดับ 500 kV (500,000 โวลต์)
และอีกส่วนหนึ่ง ก็ได้ติดต่อทำสัญญาซื้อไฟฟ้าจากประเทศมาเลเซีย ผ่านทางระบบส่งไฟฟ้าแรงสูงกระแสตรง HVDC (high voltage direct current system) เพื่อนำมารองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้






สาเหตุหลัก ของเหตุการณ์ Blackout ทั่วทั้งภาคใต้

หลังจากเหตุการณ์ Blackout ทั่วทั้งภาคใต้ หน่วยงานที่มีส่วนในการรับผิชอบ อย่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลในส่วนของการผลิตและการส่งจ่ายพลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย 
ได้ออกมาแถลงถึงสาเหตุที่แท้จริงของเหตุการณ์ Blackout ที่เกิดขึ้น

หลักใหญ่ใจความของสาเหตุที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ Blackout ทั่วทั้งภาคใต้ โดยสรุปคือ... 
สายส่งที่ส่งพลังงานไฟฟ้ามาจากภาคกลางเกิดเสียหาย เมื่อถึงช่วงที่ความต้องการไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น และสูงเกินกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าในพื้นที่จะรองรับได้ ระบบป้องกันจึงปลดโรงไฟฟ้าแต่ละแห่งออกไปจากระบบนั่นเอง 





สายส่งที่เกิดความเสียหาย

ก่อนอื่นต้องมาทำความเข้าใจ ถึงระบบโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าในประเทศไทย ซึ่งระบบโครงข่ายสายส่งในประเทศไทยมีการเชื่อมโยงเข้าถึงกันเป็นเครือข่ายคล้ายกับใยแมงมุม หรือเรียกว่าระบบกริด (grid) เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการกระจายพลังงานไปยังพื้นที่ต่างๆและยังเป็นการรักษาความเสถียรให้กับระบบอีกด้วย โดยระบบโครงข่ายสายส่งที่เชื่อมถึงกันในแต่ละพื้นที่นั้น ช่วยให้สามารถจ่ายไฟไปยังที่อื่นๆได้อย่างครอบคลุม และในทางกลับกันหากเกิดปัญหาขัดข้องก็สามารถรับเอาไฟฟ้าจากที่อื่นๆมาใช้ได้



ในส่วนของภาคใต้ เนื่่องด้วยลักษณะภูมิประเทศที่เป็นคอคอดบริเวณภาคใต้ตอนบน ทำให้การเชื่อมโยงของโครงข่ายสายส่ง ไม่สามารถเชื่อมโยงเป็นรูปแบบโครงข่ายคล้ายกับใยแมงมุมได้ โครงข่ายสายส่งที่ลงมาภาคใต้จึงต้องเดินเป็นแนว ลงมาตามลักษณะภูมิประเทศ 
หากในบริเวณดังกล่าว เกิดเหตุไม่คาดฝันที่ทำลายสายส่งที่ลงมายังภาคใต้ ระบบโครงข่ายสายส่งทางภาคใต้ก็จะขาดออกจากระบบโดยทันที





ต้นเหตุที่ทำให้เกิดเหตุการ Blackout เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2556
เนื่องมาจากสายส่งขนาด 500 kV (500,000 โวลต์) ที่ส่งกระแสไฟฟ้าจากภาคกลางลงมาภาคใต้ เกิดเหตุไม่คาดฝันบริเวณ จอมบึง - ประจวบ ทำให้สายส่งได้รับความเสียหายไม่สามารถส่งกระแสไฟฟ้าได้
ภายหลังจากการสอบสวนหาสาเหตุ ตัวแทนจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ได้ออกมาแถลงต้นเหตุที่ทำให้สายส่งได้รับความเสียหาย ว่า..."เกิดจากฟ้าผ่า"






ระบบป้องกันทำงาน

เมื่อสายส่งที่เชื่อมต่อลงมายังภาคใต้ได้รับความเสียหายจนไม่สามารถส่งพลังงานได้ ส่งผลให้พลังงานไฟฟ้าส่วนหนึ่งหายออกไปจากระบบ กำลังการผลิตที่รองรับความต้องการใช้จึงลดลง
และเมื่อช่วงที่ความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นเกินกว่ากำลังการผลิตที่มี และโรงไฟฟ้าที่อยู่ในพื้นที่ไม่สามารถรองรับความต้องการใช้พลังงาน ที่มีในเวลานั้นได้
ระบบป้องกันที่มีอยู่ ตวรจพบความต้องการใช้ไฟฟ้าที่มีมากเกินกำลังผลิตขณะนั้น จึงต้องตัดการเชื่อมต่อ และปลดโรงไฟฟ้าในพื้นที่ออกจากระบบทีละแห่งจนหมด




การขัดข้องที่จุดเดียว สามารถทำให้ระบบทั้งระบบล่มได้ ซึ่งถ้าใครอยากจะศึกษาเพิ่มเติมในส่วนนี้ ก็ลองเข้าไปตามลิงค์ที่แนบ //en.wikipedia.org/wiki/Cascading_failure










การกู้ระบบให้กลับสูสภาวะปกติ

สำหรับเหตุการ Blackout หรือเหตุการณ์ไฟดับทั่วทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ที่ผ่านมา
การกู้ระบบให้กลับสู้สภาวะปกติ หรือการจ่ายไฟให้กลับเข้าสู่ระบบ สามารถทำได้รวดเร็วสุด(ในบางพื้นที่)สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ ภายหลังจากไฟดับประมาณ 1 ชั่วโมง แต่การกู้ทั้งระบบของภาคใต้ให้กลับสู่สภาวะปกติ กินเวลานานประมาณ 4-5 ชั่วโมง

ทำให้หลายฝ่ายเกิดข้อสงสัย และมีคนบางกลุ่ม พยายามเชื่อมโยงนำไปเปรียบเทียบกับโฆษณาของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ที่มีเนื้อหาว่าด้วยการกู้ระบบตามแผน Black start และสามารถกู้ระบบกลับได้ภายใน 10 นาทีเท่านั้น
โฆษณาชุดดังกล่าว ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์ขึ้น
แต่ทั้งนี้ ก่อนที่เราจะวิจารณ์อะไรไป ก็ควรพิจารณาที่สาเหตุและข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น

เหตุการณ์ไฟดับภาคใต้ที่เกิดขึ้นล่าสุด การกู้ระบบกลับคืนมาได้โดยใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงกว่าๆ เพื่อจ่ายไฟให้กับพื้นที่สำคัญๆเป็นอันดับแรก
ถ้ามองในทางเทคนิคแล้ว ระยะเวลาขนาดนี้ ผู้เขียนถือว่าเร็วพอสมควรแล้ว เพราะเหุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นทั่วทั้งภาคใต้ การที่ไฟดับทั้งภาคใต้เกิดจากระบบป้องกันทำการปลดโรงไฟฟ้าออกจากระบบ ซึ่งในทางปฏิบัติจริง คงต้องใช้เวลาสักพักหนึ่งในการตรวจสอบสาเหตุ 
ซึ่งสาเหตุที่แท้จริงแล้ว ก็เกิดจากความเสียหายในระบบสายส่งแรงสูงที่ส่งไฟมาจากภาคใต้ ซึ่งทำให้ระบบไฟฟ้าภายในภาคใต้ถูกตัดขาดออกจากส่วนกลาง ซึ่งกำลังการผลิตภายในพื้นที่ก็มีไม่พอ ระบบป้องกันจึงทำงาน อีกอย่างคือ โครงข่ายสายส่งที่เชื่อมต่อมายังภาคใต้ ไม่ได้เชือมโยงเป็นโครงข่ายใยแมงมุม เพราะพื้นที่ภูมิประเทศเป็นแนวยาวลงไป

ในทางกลับกัน ลองคิดเล่นๆ...ถ้าสาเหตุที่แท้จริงของเหตุการไฟดับทั้งภาคใต้มาจาก เหตุขัดข้องที่เกิดขึ้นจากโรงไฟฟ้าในพื้นที่ทำให้สูญเสียกำลังการผลิต แต่สายส่งหลักไม่เกิดปัญหา การกู้ระบบกลับคืนย่อมสามารถทำได้รวดเร็วกว่าอยู่แล้ว

ส่วนเสียงวิจารณ์จากบางฝ่าย ที่พูดถึงเรื่องความล่าช้าในการซื้อไฟฟ้าจากประเทศมาเลเซีย 
ซึ่งแม้จะสามารถโทรไปสั่งซื้อได้ทางโทรศัพท์ แต่ก็ต้องใช้เวลาในการดำเนินการ ในการสั่งซื้อไฟฟ้าต้องมีขั้นตอนในการดำเนินการ และต้องมีการอนุมัติจากผู้มีอำนาจ ไม่ใช่ว่าเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าในภาคใต้จะสามารถยกหูโทรศัพท์ โทรไปขอซื้อได้ทันทีทันใด ได้ทันใจเหมือนสั่งซื้อไก่ KFC

และที่ร้ายแรงสุด คือมีคนบางกลุ่ม พยายามจับโยงเข้าหาเรื่องการเมือง 
มีบางฝ่ายที่พูดกล่าวหาไปต่างๆนาๆ ประมาณว่า...เหตุการไฟดับเป็นแผนการที่การไฟฟ้าฯร่วมกับภาครัฐ ตั้งใจให้เกิด หรือเรียกง่ายๆว่าจงใจดับไฟฟ้า
ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ผู้เขียนมองว่า ข้อกล่าวหาดังกล่าวมันดูเลวร้ายและไม่เป็นธรรมเอาเสียเลย รวมทั้งยังเป็นข้อกล่าวหาที่ไร้สาระอีกด้วย
ทุกสาขาอาชีพย่อมมีจรรยาบรรณวิชาชีพ ใครที่ได้ยินข้อกล่าวหาเช่นนั้นมา ก็ให้กลับไปลองค้นหาข้อมูลที่เกี่ยวกับหน้าที่รับผิดชอบของการไฟฟ้าฯ ก่อนที่จะเชื่อหรือกล่าวหาแบบไม่มีเหตุผล 




 

Create Date : 23 พฤษภาคม 2556    
Last Update : 5 เมษายน 2560 20:35:11 น.
Counter : 10063 Pageviews.  

อันตรายของไฟฟ้าที่มีต่อมนุษย์

ไฟฟ้าเป็นเรื่องใกล้ตัวของทุกคน แต่ก็เป็นเรื่องที่หลายๆคนยังมองข้ามอยู่
เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ควรให้ความสำคัญกับไฟฟ้า โดยเริ่มจากการเรียนรู้และทำความเข้าใจ ในคุณประโยชน์ และ โทษของไฟฟ้า 




บทความชุดนี้ ผู้เขียนจึงขอหยิบยกเอาด้านลบของไฟฟ้ามาเขียนเป็นบทความ เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วไป ที่อาจจะยังไม่ตระหนักในอันตรายของไฟฟ้ามากพอ ได้รู้จักในอันตรายของไฟฟ้าที่มีต่อร่างกายมนุษย์


ไฟฟ้า (Electricity) เป็นพลังงานที่มีคุณประโยชน์มากมายมหาศาล แต่หากการใช้งานและการจัดการทำอย่าไม่ถูกต้องเหมาะสม ไฟฟ้าก็อาจจะนำโทษมหันต์กลับมายังผู้ใช้งานที่ไม่ระวัง ก็เป็นไปได้
ไฟฟ้าจึงเป็นได้ทั้งผู้สร้าง และผู้ทำลายล้าง ซึ่งสามารถจะทำลายได้ทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ให้วายวอดและวอดวายได้
แม้เราจะมองไม่เห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่ไฟฟ้าก็สามารถบันดาลให้เกิดได้ทั้งคุณและโทษ


อันตรายของไฟฟ้าที่มีต่อร่างกายมนุษย์

กรณีที่ไฟฟ้าทำอันตรายกับร่างกายมนุษย์ จะเรียกกรณีดังกล่าวว่า ไฟฟ้าดูด (Electric Shock) คือการที่กระแสไฟฟ้าไหลผ่านร่างกาย สาเหตุที่เรียกว่า ไฟฟ้าดูด เป็นการเรียกจากอาการเมื่อกระแสไฟฟ้าไหลผ่านร่างกาย จะเกิดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อจนไม่สามารถสะบัดให้หลุดออกมาได้ คล้ายกับถูกดูดให้ติดกับที่ จึงเรียกว่า "ไฟฟ้าดูด" ซึ่งผลข้างเคียงของไฟฟ้าดูดอาจทำให้เป็นอันตรายถึงชีวิต หรือเกิดการบาดเจ็บสาหัส ไปจนถึงพิการเลยก็เป็นได้



อันตรายของไฟฟ้าดูดมีองค์ประกอบด้วยกัน 3 อย่าง

1. กระแสไฟฟ้า คือ จำนวนกระแสไฟฟ้าที่ไหลผ่านร่างกาย ถ้ากระแสไฟฟ้าต่ำอันตรายก็อันตรายน้อยแต่ถ้ากระแสไฟฟ้าสูงขึ้นก็เป็นอันตรายมากขึ้น จนถึงระดับหนึ่งอาจจะเสียชีวิตได้

2. แรงเคลื่อน หรือแรงดันไฟฟ้า คือ ระดับของแรงดันไฟฟ้า ถ้าแรงดันไฟฟ้าอยู่ในระดับต่ำ อันตรายที่จะมีต่อร่างกายก็จะน้อยลง แต่ถ้าแรงดันไฟฟ้าอยู่ในระดับที่สูงขึ้นก็เป็นอันตรายมากขึ้นตามลำดับ และเมื่อแรงดันไฟฟ้าสูงขึ้น มาถึงระดับหนึ่ง อาจจะเสียชีวิตได้ 

3. ความต้านทานของร่างกายผู้ที่ถูกกระแสไฟฟ้าดูด คือ ความต้านทานร่างกายของคนเราจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับสภาพผิวหนังและความชื้นในขณะนั้น หากผิวหนังมีความชื้นมากหรือผิวหนังที่เปียก ก็จะความต้านทานต่ำ ทำให้กระแสไฟฟ้าไหลผ่านได้ง่ายและผ่านในจำนวนมาก แต่ถ้าผิวหนังหยาบกร้านและแห้ง จะมีความต้านทานจะสูง กระแสไฟฟ้าไหลผ่านได้ยากกว่า




การบาดเจ็บที่เกิดจากกระแสไฟฟ้า

1. การช็อก มีสาเหตุมาจาก จากการที่มีกระแสไฟฟ้าไหลผ่านร่างกายทำให้เกิดอาการกระตุ้นบริเวณกล้ามเนื้ออย่างรุนแรงโดยเฉพาะบริเวณเส้นประสาท ความรุนแรงจะขึ้นอยู่กับปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ร่างกายได้รับ

2. แผลไหม้ พุพอง มีสาเหตุมาจาก ได้รับกระแสไฟฟ้าปริมาณมากๆไหลผ่านร่างกาย เมื่อกระแสไฟฟ้าจำนวนมากไหลผ่านเซลล์ภายในร่างกายก็จะเกิดความร้อน กลายเป็นแผลไหม้ พุพอง 

3. การบาดเจ็บที่ดวงตา มีสาเหตุมาจาก การที่สายตากระทบถูกแสงอุลตร้าไวโอเล็ตหรือแสงเลเซอร์ ที่มีความเข้มสูง

4. การบาดเจ็บของร่างกาย คือ การที่ได้รับคลื่นไมโครเวฟและจากอุปกรณ์กำเนิดสัญญาณความถี่วิทยุ สามารถทำอันตรายมนุษย์ได้



ตารางแสดงระดับความรุนแรงและผลข้างเคียง เมื่อมนุษย์ถูกไฟดูด




 

Create Date : 13 พฤษภาคม 2556    
Last Update : 4 พฤศจิกายน 2556 13:43:23 น.
Counter : 19428 Pageviews.  

ทำรางปลั๊กไฟไว้ใช้เองดีกว่า จะได้หมดปัญหาที่พบเจอบ่อยๆกับปลั๊กพ่วงแบบเดิมๆ

จากเดิมที่เคยมารีวิวไว้ในพัททิป จนเคยขึ้นเป็นกระทู้แนะนำในลิงค์นี้
////topicstock.pantip.com/home/topicstock/2008/12/R7320030/R7320030.html

วันนี้ขอนำมาเก็บเอาไว้ในบล็อกส่วนตัวของกระผม เพื่อที่จะได้เป็น
ประโยชน์ไม่มากก็น้อย สำหรับผู้ที่กำลังมองหาไอเดียไปประยุกต์ใช้
และสะดวกต่อการค้นหา อีกอย่างก็คือ เผื่อวันใดที่กระทู้ของผมเกิดสูญหาย
ไม่ว่าโดยการเวลาหรือปัจจัยใดๆ ท่านผู้อ่านก็จะได้มีฉบับในบล็อกนี้ไว้อ่าน

มาทำปลั๊กพ่วงไว้ใช้กันเอง เพราะโดยส่วนตัวผมเอง บอกลาไปนานแล้วกับปลักพ่วงแบบเก่าๆที่เป็นตลับกลมๆ หรือที่เป็นรางแต่ใช้สายไฟเส้น เล็กไม่ได้คุณภาพมาทำ พวกปลั๊กพ่วงส่วนใหญ่ระบบป้องกันจะน้อยหรือแทบจะไม่มีเลยก็ว่าได้

รุ่นที่ไม่มีฟิวส์หรืออุปกรณ์ป้องกันชนิดอื่น อันนี้น่ากลัวมาก เพราะเขาจะใช้สายไฟเส้นเล็ก ส่วนมากจะขนาดขนาด 0.5 sq.mm.ซึ่งโดยประมาณจะทนกระแสได้เพียง5-8Aเท่านั้น และบางท่านก็ชอบเอาไปพ่วงกับปลั๊กหม้อหุงข้าว กระทะไฟฟ้าหรือเตาไฟฟ้า ซึ่งล้วนแต่กินกระแสสูงๆทั้งนั้น เมื่อสายแบกรับภาระทางไฟฟ้าไม่ได้ก็จะเกิดภาวะที่เรียกว่า “โอเวอร์โหลด”

สายจะร้อน จนทำให้ฉนวนชำรุดและเกิดการลัดวงจรในที่สุด และพวกตลับปลั๊กกลมๆที่มีสายยาวๆ เวลาใช้กับกระแสไฟสูงๆ โดยที่ไม่ดึงสายออกมาให้หมด สายที่ขดกันภายในนั้น จะเกิดสนามแม่เหล็กและทำให้เกิดความร้อน อีกอย่าที่ย่าคิดคือ ปลั๊กพ่วงบางอันได้รับมาตรฐานแค่สายไฟเท่านั้น แต่ส่วนสำคัญอย่างเต้ารับเต้าเสีย กลับไม่มีมาตรฐาน

เต้าเสียบแบบปั๊มก็ทนกระแสได้ไม่ดี ร้อนนิดหน่อยตรงพลาสติกส่วนขาก็ละลายแล้ว ส่วนรางปลั๊กไฟแบบทั่วไปก็เช่นกัน ที่ดูภายนอกสวยงาม แต่...เอ่อ เคยเปิดดูข้างในบ้างไหมครับ

ส่วนใหญ่ภายในรางปลั๊กแบบทั่วๆไป จะมีรางทองเหลืองหรือทองแดงบางๆ วางตลอดแนว ซึ่งรางดังกล่าวนี้เป็นขั้วเต้ารับของปลั๊กพ่วงพวกนี้บางอันทำรูสายดินแบบหลอกๆ คือมีแต่ช่องเสียบสายดินเท่านั้น ไม่เกิดผลอะไร การเชื่อมต่อภายในก็นิยมใช้การ บัคกรีเพียงเล็กน้อย และสายที่บัคกรีทับไปก็ไม่ได้มีการยึดด้วยวัสดุใดๆทั้งสิ้น ซึ่งเมื่อใช้ไฟมากๆจนร้อน รอยบัคกรีก็จะละลาย สายไฟก็จแยกออกจากรางโลหะ บางท่านที่ไม่ทราบก็จะคิดว่า มันเสียแล้ว ได้เวลาเปลี่ยนใหม่ซะแล้ว

ส่วนสวิชต์เปิดปิดปุ่มแดงๆมีไฟหรือที่เรียกว่าสวิชต์แลมป์ก็เปราะบางเหลือเกิน เปิดปิดมากๆหรือใช้ไฟมากๆก็ไปเสียแล้ว

หลายหลายปัญหาน่าเบื่อของปลั๊กพ่วงแบบเดิมๆ ทำให้ผมเองก็เบื่อกับปลั๊กพวกพวกนี้ แต่ที่บ้านของผมยังมีปลั๊กพ่วงแบบสำเร็จรูปใช้อยู่5ราง แต่ต้องเป็นของดีเท่านั้นที่ผมจะเลือกใช้ ซึ่งเป็นปลั๊กพ่วงชนิดที่ป้องกันแรงดันไฟเกิน-ลัดวงจร-ฟ้าผ่า-ไฟกระชาก ของยี่ห้อหนึ่ง ไม่ขอเอ่ยนาม ปลั๊กพ่วงแบบนี้วงจรภายในถือว่าอยู่ในระดับดีและการป้องกันที่ดี ซึ่งผมนำมาใช้กับทีวี,ชุดโฮมเทียเตอร์ ,โทรศัพท์ไร้สาย,เครื่องแฟกส์,คอมพิวเตอร์PC-note book,เครื่องถ่ายเอกสาร,ปริ้นท์เตอร์,สโคป

ซึ่งเครื่องใช้ไฟฟ้าพวกนี้เป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ไวต่อกระแสไฟมากๆ จึงต้องเลือกปลั๊กพ่วงดีๆสักอันมาป้องกัน



มาเข้าวิธีการทำเลย

เตรียมเครื่องมือให้พร้อม แล้วแต่สะดวกจะใช้อะไร ก็เตรียมมาครับ อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้อาจจะดัดแปลงตามความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้าได้ครับ




สายไฟ
ผมเลือกใช้สายVCT ชนิด3แกน ยี่ห้อBCC (บางกอกเคเบิ้ล) ส่วนตัวชอบBCCมากกว่าYAZAKI เพราะYAZAKIฉนวนเหนียวบ้าบอคอแตก ปอกแล้วเจ็บมือ มีดจะหัก เนื้อทองแดงก็เหมือนๆกัน ของBCCฉนวนกำลังดีไม่หนาไม่อ่อนเกินไป
ขนาดที่ใช้ เป็นสาย3แกน ขนาด1.5sq.mm. ซึ่งสายขนาด1.5sq.mm.จะทนกระแสได้ที่15-17A




แผงไม้ ขนาด6x12นิ้ว จำนวน2อัน เอามาไว้ทำแผงวางเต้ารับและฝาปิดด้านหลัง




ฝาพลาสติดหน้ากากสำหรับเต้ารับ ยี่ห้อPanasonic รุ่นFULL-COLOR ซึ่งรุ่นนี้เป็นรุ่นยอดนิยม และราคาถูกที่สุดของPanasonic เหมาะที่จะเอามาทำรางปลั๊กพ่วง




เซฟตี้เบรกเกอร์(SB) Panasonic ขนาด15A IC1500A ขนาดกระแสของเบรกเกอร์ต้องเป็นขนาดที่สัมพันธุ์กันกับขนาดสายไฟ ห้ามใช้เกินพิกัดของสายไฟ เพราะกรณีคุณใช้ไฟเกิน มันจะไม่ตัดไฟ สายไฟอาจจะร้อน




หน้ากากเบรกเกอร์แบบฝัง





เต้ารับ-สวิชต์ รุ่น Panasonic รุ่นFULL-COLOR (กล่องสีน้ำเงิน-ขาว) ส่วนกล่องสีฟ้า-ขาวซึ่งเป็นเต้ารับ และในแพ๊คซึ่งเป็นสวิชต์ เป็นของเกรดต่ำยี่ห้อMUTSUKAMI ราคาถูกกว่า Panasonic รุ่นFULL-COLOR เกินครึ่ง รูปแบบจะคล้ายกันมาก สามารถใส่ด้วยกันได้ทั้งหน้ากากและสวิตซ์ หากไม่ต้องการของเกรดดีเลิศหรืออยากจะประหยัดงบ ลองหันมามองของเกรดรองลงมาได้ครับ




เต้าเสียบ
ผมเลือกใช้เต้าเสียบแบบมาตรฐานเยอรมัน (ทนกระแสได้สูงสุด16A) เพราะว่าที่บ้านติดเต้ารับเยอรมันไว้บนผนังแทบทุกจุด เพราะส่วนตัวชอบระบบของเต้ารับเต้าเสียบแบบเยอรมัน เนื่องจาดมีความปลอดภัยสูง ป้องกันมือสัมผัสโดนกับขาเต้าเสียบขณะเสียบ และยังเสียบได้แน่น ไม่หลุดง่าย เต้าเสียบมีระบบสายดินที่เป็นแผ่นโลหะอยู่ข้างๆ ทำให้สามารถใช้กับเต้ารับแบบ2ตาได้ และเมื่อต่อเต้าเสียบเข้ากับเต้ารับแบบเยอรมันที่มีการต่อกราวด์ไว้เรียบร้อย รางปลั๊กพ่วงอันนี้ก็จะต่อลงดินโดยอัตโนมัติ แต่ใครที่ไม่เอาระบบสายดิน จะใช้เต้าเสียบ2ขาก็ได้ หรือจะใช้เต้าเสียบแบบ3ขาก็ไม่เป็นไร แต่เต้าเสียบแบบ3จะมีข้อจำกัดในการใช้ได้กับเต้ารับ3ตาเท่านั้น




เต้ารับเยอรมันของ bticino ทนกระแสได้สูงสุด16A ติดไว้บนรางปลั๊กพ่วง เพื่อรองรับเต้าเสียบแบบเยอรมันของเครื่องใช้ไฟฟ้าจำพวก เตารีด คอมพิวเตอร์ ไมโครเวฟ หม้อหุงข้าว ฯลฯ




เต้ารับคู่+กราวด์(ปลั๊กกราวด์คู่) ของVENAทนกระแสได้สูงสุด16A เต้ารับคู่+กราวด์VENAคุณภาพพอๆกับ Panasonic รุ่นFULL-COLOR และราคาถูกกว่าด้วย ติดตั้งไว้สำหรับรองรับเต้าเสียบ3ขา




เริ่มจากการประกอบอุปกรณ์ไฟฟ้าแต่ละชุดเข้าด้วยกัน และ วางเพื่อกำหนดจุดที่จะติดตังบนแผงไม้




ร่างเส้นส่วนที่ต้องการจะตัดออก และทำการตัดออกโดยใช้สว่านเจาะนำรู แล้วเอาเรื่อยฉลุไฟฟ้าตัดตามเส้น




วางอุปกรณ์ลงบนแผงไม้ แล้วทำการเจาะรูเพื่อยึดสกรูของอุปกรณ์เข้ากับแผงไม้




ต่อสายไฟเข้ากับเบรกเกอร์ แล้วต่อสายออกจากเบรกเกอร์เข้าสู่เต้ารับแต่ละชุด




เทคนิคการรับแรงดึงของสายไฟที่อาจเกิดขึ้นขณะใช้งาน โดยนำเอาเคเบิ้ลไทด์ มายึดให้แน่นที่สายเอาไว้




ต่อสายไฟเข้าเต้ารับแต่ละจุด
เมื่อต่อสายเสร็จเรียบร้อย ทำการตรวจสอบวงจร




อย่าลืมสายดินด้วยนะครับ! :D




นำแผงไม้อีกอัน มาทำการงัด เอาแต่แผ่นไม้อัด โครงไม้ไม่ต้องนะครับ




แล้วเอาแผ่นไม้อัด มาปิดทับด้านหลังของรางปลั๊ก แล้วยึดด้วยสกรู




เสร็จสมบูรณ์พร้อมใช้งานครับ





ใครมีไอเดียแจ่มๆ ก็สามารถดัดแปลงให้เป็นแบบอื่นได้ แล้วแต่ความต้องการใช้งานและความเหมาะสม






ปลั๊กพ่วงที่ทำขึ้นเอง หากทำอย่างถูกต้องเลือกใช้ของที่ได้มาตรฐานตรงตามสเป็ก และในเรื่องการใช้งาน นำไปใช้งานอย่างถูกวิธีในสภาวะที่ปกติ ผมกล้าพูดได้เลยว่ามันจะอยู่กับคุณไปนานมาก นานจนลืมไปเลยว่าทำไว้เมื่อไหร่ เมื่อเทียบกับปลั๊กพ่วงแบบสำเร็จรูปราคาถูกๆที่ขายตามท้องตลาดที่มีปัญหากวนใจอยู่บ่อยๆ

และใช่ว่าปลั๊กพ่วงแบบสำเร็จรูปจะไม่ดีเสมอไป ในการเลือกซื้อ ผมแนะนำให้พิจารณาดูดีๆ อย่างแรกที่ต้องดูให้ดีๆคือ ระบบป้องกัน อย่างที่สองคือขนาดของสายไฟและมาตรฐานของอุปกรณ์ และสุดท้ายคือเรื่องระบบสายดินว่ามีระบบสายดินจริงๆหรือมีแบบหลอกเอาไว้ ซึ่งปลั๊กพ่วงที่มีคุณภาพดีๆก็มีอยู่มากมาย แต่...ราคาก็ไม่ช่น้อยเลยนะครับ



บอกลาปลั๊กพ่วงคุณภาพต่ำแบบเดิมๆไปได้เลย



หมายเหตุ: ตลับปลั๊กแบบมวนกลมที่สามารถม้วนเก็บสายได้ ในกรณีที่ใช้งานกระแสสูงๆ จำเป็นต้องดึงสายออกจากม้วนให้หมด เพราะหากไม่ดึงสายออกมา สายที่ขดม้วนกันอยู่ภายใน จะเกิดสนามแม่เหล็ก ทำให้เกิดความร้อนได้




 

Create Date : 26 พฤษภาคม 2552    
Last Update : 26 พฤษภาคม 2552 17:53:19 น.
Counter : 61685 Pageviews.  

เบรกเกอร์กันไฟดูด ELCB

เบรกเกอร์ ELCB เป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ถูกผลิตขึ้นมา โดยมีวัตถุประสงค์หลักสำหรับนำมาใช้ป้องกันไฟดูดหรือไฟรั่ว

ซึ่งเบรกเกอร์ ELCB มีชื่อเต็มๆคือ Earth Leakage Circuit Breaker แต่ในบางครั้งชื่อย่อของเบรกเกอร์ ELCB ก็มักมีผู้คนบางส่วนเรียกเป็น “ELB” ก็มี รวมถึงชื่อภาษาไทยก็มักจะเรียกกันว่า “เบรกเกอร์กันดูด” 

โดยหน้าตาของ เบรกเกอร์ ELCB จะมีรูปทรงที่คล้ายคลึงกันกับเซฟตี้เบรกเกอร์ ที่เรานำมาใช้เป็นควบคุมเครื่องปรับอากาศ ปั๊มน้ำ ฯลฯซึ่งหน้าตาภายนอกโดยรวมถือว่าคล้ายกับเซฟตี้เบรกเกอร์มาก ต่างกันที่ ELCB จะมีปุ่มเล็กๆที่เรียกว่าปุ่ม TEST แต่เซฟตี้เบรกเกอร์นั้นไม่มีปุ่มTEST และหลักการทำงานและวัตถุประสงค์ของการนำไปใช้งานก็แตกต่างกันด้วย



หน้าตาของ ELCB และเซฟตี้เบรกเกอร์


ELCB ยี่ห้อ Haco




เซฟตี้เบรกเกอร์ ยี่ห้อ Panasonic





เบรกเกอร์ ELCB มีหน้าที่คือ ตัดหรือปลดวงจรไฟฟ้าลงอัตโนมัติเมื่อมีกระแสไฟฟ้ารั่วลงดินจนถึงค่าที่ตรวจจับได้ และยังสามารถปลดวงจรไฟฟ้าเมื่อเกิดไฟฟ้าลัดวงจรได้อีกด้วย 

แต่เบรกเกอร์ ELCB จะไม่สามารถปลดวงจรไฟฟ้าออกได้เองในกรณีที่ใช้กระแสไฟฟ้าเกินกว่าพิกัดที่ระบุไว้

อย่างเช่น บนตัว ELCB ระบุค่าพิกัดกระแสที่ 30 A แต่เมื่อมีการใช้กระแสไฟฟ้าสูงเกินกว่าที่ระบุไว้หากเป็นเบรกเกอร์แบบธรรมดาก็จะปลดวงจรออกเองเมื่อใช้งานพิกัดกระแสเกินกว่าที่ระบุแต่ในกรณีของ ELCB พิกัดกระแสที่ระบุบนตัวของมันคือค่าสูงสุดที่มันจะทนได้ไม่ใช่ค่าที่มันจะปลดวงจร การมีกระแสไฟฟ้าไหลผ่านเกินพิกัดสูงสุดที่แสดงบนELCB ก็จะทำให้มันพังโดยที่ไม่มีการปลดวงจร

ELCBจึงเหมาะกับการนำไปใช้งาน เพื่อควบคุมและป้องกันความเสี่ยงเฉพาะกับเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งเราทราบปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุดอยู่แล้วอย่างเช่นเครื่องทำน้ำอุ่น, เครื่องทำน้ำร้อน เป็นต้น



ELCB ยีห้อ KYOKOTO


ความเร็วในการตัดไฟ โดยทั่วไป ELCB ที่วางขายอยู่ตามท้องตลาด มีค่าความเร็วในการตัดไฟอยู่ที่ประมาณ 0.01 - 0.04 วินาที ซึ่งในการเลือซื้อ ELCB ให้ดูที่ค่าความเร็วของเวลาด้วย ซึ่งเวลาเพียงเสี้ยวเดียวกับเรื่องของไฟฟ้า ถือว่าสำคัญมาก


หลักการทำงานของ ELCB คือการเปรียบเทียบกระแสไฟฟ้าระหว่างสายไฟ2 สาย โดยที่ในสภาวะปกตินั้น กระแสไฟฟ้าที่ไหลไปกลับต้องมีค่าเท่ากันผลรวมของค่ากระแสไฟฟ้าที่ไหลไปและกลับจะมีค่าเท่ากับ 0 

แต่หากมีกระแสรั่วออกจากระบบหรือมีคนถูกไฟดูดผลรวมของกระแสไฟฟ้าที่ไหลไปและกลับจะไม่เป็น 0 และผลต่างที่เกิดขึ้นนี้หากมีค่ามากพอถึงจุดที่กำหนด ก็จะถูกส่งเข้าวงจรขยายสัญญาณ และสั่งการให้คอยล์แม่เหล็กภายในปลดวงจรออกทันที

เบรกเกอร์กันไฟดูด ELCB จะมีค่าความไวในการตรวจจับกระแสไฟรั่วหรือที่เรียกว่าค่า Sensitive มีหน่วยเป็น มิลลิแอมแปร์ : mA 

ในกรณีของเบรกเกอร์ELCB ในท้องตลาดมีค่าความไวให้เลือกอยู่ 2 ค่า คือ 15 mA และ 30 mA และหากจะนำเบรกเกอร์ ELCB มาใช้งานกับเครื่องทำน้ำอุ่นหรือเครื่องทำน้ำร้อน ควรเลือกค่าความไวในระดับ 15 mA จะเหมาะสมที่สุด

ความเร็วในการตัดไฟโดยทั่วไป ELCBที่วางขายอยู่ตามท้องตลาด จะมีความเร็วในการปลดวงจรไฟฟ้าอยู่ที่ราวๆ0.30 วินาที ซึ่งถือว่าเป็นความไวที่อยู่ในระดับมาตรฐาน เนื่องจากว่ามาตรฐานกำหนดความเร็วในการปลดวงจรของอุปกรณ์ป้องกันไฟดูด ที่ใช้ป้องกันบุคคล ต้องสามารถปลดวงจรออกได้ในระยะเวลาไม่เกิน0.04 วินาที




ภาพแสดงให้เห็นถึงการเปรียบเทียบขณะกระแสไฟฟ้ารั่วและไหลผ่านร่างกายมนุษย์(ไฟดูด)





ปุ่ม TEST
เป็นปุ่มที่มีไว้เพื่อทดสอบการทำงานของ ELCB ว่ายังสามารถทำงานได้ปกติหรือไม่ซึ่งในสภาวะที่ไม่มีการจ่ายไฟเข้ามาที่ ELCB เมื่อกด TESTจะไม่มีผลไดๆทั้งสิ้น ทั้งนี้ก็เพราะหลักการทำงานของปุ่ม TEST เปรียบเสมือน การจำลองสภาวะที่มีกระแสไฟฟ้าไหลไปและกลับมาไม่เท่ากันซึ่งกล่าวง่ายๆคือเป็นการจำลองสภาวะที่มีกระแสไฟฟ้ารั่วออกไปนั่นเอง



ปุ่มสีส้มบนELCBในภาพ คือปุ่มTEST





ขนาดของ ELCB ตามท้องตลาดที่มีออกวางจำหน่ายส่วนใหญ่จะพบแต่ขนาด 30 A และ 32 A ที่เคยเห็นมีเพียงของHaco เท่านั้นที่ผลิดออกมา 2 ขนาดคือ 16A และ 32 A แต่ข้อเสียคือ Haco มีค่าตรวจจับกระแสไฟรั่วให้เลือกเพียงค่าเดียว คือ 30 mA 

ส่วนสาเหตุที่ผู้ผลิตไม่ผลิตขนาดแอมป์ออกมาหลายขนาด ไม่เหมือนกับเซฟตี้เบรกเกอร์ก็เพราะว่า ELCB ไม่มีความสามารถในด้านการป้องกันกระแสเกิน จะป้องกันได้เพี่ยงไฟดูดและไฟลัดวงจรเท่านั้นไม่มีความจำเป็นที่จะต้องผลิต ELCB ให้มีขนาดพิกัดกระแสหลายๆขนาดผู้ผลิตจึงไม่ผลิตออกมาหลายขนาด






เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ควรมีELCBเป็นตัวป้องกัน เพื่อเสริมความปลอดภัยได้แก่


เครื่องทำน้ำอุ่น(บางยี่ห้อจะมี ELCB ติดมากับตัวอันนี้ไม่ต้องติด ELCB เพิ่มก็ได้)





เครื่องทำน้ำร้อน(บางยี่ห้อจะมี ELCB ติดมากับตัวอันนี้ไม่ต้องติด ELCB เพิ่มก็ได้)


ในกรณีของเครื่องทำน้ำอุ่นและเครื่องทำน้ำร้อนควรจะติดตั้งเบรกเกอร์กันไฟดูด ELCB เพิ่มเติมเพื่อเสริมการป้องกัน หรือไม่นั้นแนะนำให้พิจารณาจากระบบป้องกันไฟดูดที่ทางผู้ผลิตใส่มาให้กับตัวเครื่องหากไม่มีระบบป้องกันไฟดูดมาให้เลย อันนี้สมควรติดตั้งเบรกเกอร์กันไฟดูด ELCBเพิ่มเติมเพื่อเสริมการป้องกัน

แต่...ถ้าตัวเครื่องมีระบบป้องกันอันตรายจากไฟฟ้ามาให้แล้วก็ควรพิจารณาระบบป้องกันที่ผู้ผลิตให้มาด้วย


ถ้าตัวเครื่องมีการติดตั้งเป็นตัวเบรกเกอร์กันไฟดูดELCB มาให้ภายในแล้วอันนี้ก็ไม่จำเป็นต้องติดตั้งเบรกเกอร์กันไฟดูด ELCB เพิ่มเติม



ภาพเครื่องทำน้ำอุ่นที่ใช้เป็นตัวเบรกเกอร์กันดูด ELCB/ELB มาป้องกันอันตรายจากไฟฟ้า ซึ่งเป็นแบบที่น่าไว้วางใจมากที่สุด(ในตอนนี้)




แต่ถ้าภายในเครื่อง บอกว่ามีระบบตัดไฟหรือระบบป้องกันไฟดูดแต่ตัวที่ทำหน้าที่ป้องกันนั้นเป็นอุปกรณ์ที่ไม่ได้เป็นตัวเบรกเกอร์กันไฟดูด ELCB

ซึ่งโดยทั่วไปถ้าไม่มีการติดตั้งเป็นตัวเบรกเกอร์กันไฟดูด ELCB ผู้ผลิตจะติดตั้งชุดป้องกันไฟดูดไฟรั่วแบบที่ประกอบขึ้นมาบนแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์

แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกประกอบขึ้นเพื่อใช้ตรวจจับและตัดวงจรไฟฟ้าเมื่อเกิดไฟรั่วในการใช้งานจริง แม้ว่าจะทำงานได้รวดเร็วกว่าการใช้เบรกเกอร์ ELCB แต่ในด้านของความเสถียรนั้นแผงวงจรแบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่ผู้ผลิตเครื่องทำน้ำอุ่นแต่ละรายเลือกใช้อาจจะมีมาตรฐานที่แตกต่างกันไป ซึ่งความเสถียรในระยะยาวและความน่าเชื่อถือนั้นยังไงก็ยังจะดูเป็นรองเบรกเกอร์กันไฟดูด ELCB อยู่อีกเยอะเพราะด้วยความที่ เบรกเกอร์ ELCB เป็นอุปกรณ์ที่การทำงานจะเน้นไปในลักษณะรูปแบบของการทำงานทางกลเป็นหลักจึงมีความน่าเชื่อถือในระยะยาวมากกว่าการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หลายๆชิ้นมาประกอบ


ภาพเครื่องทำน้ำอุ่นที่ใช้แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์มาเป็นตัวป้องกันอันตรายจากไฟดูด ซึ่งดูไม่น่าเชื่อถือเมื่อเทียบกับการติดตั้งเป็นตัวเบรกเกอร์กันดูด ELCB/ELB


ถ้าหากท่านใดใช้เครื่องทำน้ำอุ่นแบบที่นำแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์มาเป็นวงจรสำหรับป้องกันไฟดูดทางที่ดีสุดควรติดตังเบรกเกอร์กันไฟดูด ELCB เพิ่มเติมเพื่อเสริมการป้องกันอีกชั้นหนึ่ง 

เพราะมาตรฐานของแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์สำหรับป้องกันไฟดูด ที่ผู้ผลิตแต่ละรายใช้ ล้วนมีความหลากหลาย และการออกแบบก็อาจจะไม่เหมือนกัน เช่น บางรายก็กำหนดให้มีรีเลย์ที่ใช้ตัดไฟเฉพาะสายเส้น L บางรายก็ให้รีเลย์ตัดทั้งสายเส้น L และ N ด้วยเหตุนี้ จึงควรจะต้องมีการนำเบรกเกอร์กันไฟดูด ELCB มาติดตั้งเสริมอีกชั้น





ตัวอย่าง เครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดอื่นๆ ที่ควรป้องกันอันตรายโดยการติดตั้งเบรกเกอร์กันไฟดูด ELCB



เครื่องซักผ้า









ตู้ทำน้ำเย็นที่มีตัวถังเป็นโลหะ (อันนี้เคยมีโศกอนาตกรรมที่ถือเป็นกรณีให้ศึกษาให้ได้เห็นมาหลายรายแล้ว)





ปั๊มน้ำ และระบบกรองน้ำที่ใช้ไฟฟ้า





สระน้ำหรือบ่อเลี้ยงปลาที่มีระบบไฟเข้าไปเกี่ยวข้อง






 

Create Date : 10 ธันวาคม 2551    
Last Update : 11 มกราคม 2558 23:44:19 น.
Counter : 134651 Pageviews.  

1  2  3  

KanichiKoong
Location :
สงขลา Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 275 คน [?]




ช่องทางการติดต่อผู้จัดทำ

- หลังไมค์
- E-mail : aum_tawatchai@hotmail.com
-------------------------------------
เนื้อหาที่ปรากฏ อนุญาติให้นำไปใช้เพื่อการศึกษา/หาความรู้ ซึ่งไม่เป็นการนำไปใช้ในเชิงธุรกิจ
-------------------------------------
New Comments
Friends' blogs
[Add KanichiKoong's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.