บอกแล้วไม่ฟัง
Group Blog
 
All blogs
 
=> รัฐเข็นกองทุนเงินออมฯดึงคนชราเข้าสู่ระบบ

นายกฯมอบ 5 กรอบดูแลคนชรา ประกาศเดินหน้ากองทุนเงินออมแห่งชาติ ดึงคนชราเข้าสู่ระบบการออมเพื่อชราภาพ รัฐบาล-ท้องถิ่นส่งเงินสมทบ


นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนา เรื่องทิศทางและรูปแบบการจัดการสังคมผู้สูงอายุของท้องถิ่นไทยในอนาคต ที่หอประชุมสุขุมนัยประดิษฐ สำนักงานก.พ.จังหวัดนนทบุรี และได้กล่าวบรรยายพิเศษในหัวข้อเรื่อง “ทิศทางการจัดการสังคมผู้สูงอายุของท้องถิ่นไทย”ว่า เรื่องของการบริหารจัดการดูแลผู้สูงอายุมีความสำคัญท้าทายสำหรับอนาคตของสังคมไทยอย่างมาก เพราะภาวะสังคมของผู้สูงอายุมีจำนวนร้อยละ 11 และอาจจะเพิ่มเป็น 1 ใน 4 หรือร้อยละ 25 ของจำนวนประชากร คล้ายกับสัดส่วนในสังคมโลกที่นำสู่ความท้าทายในการบริหารจัดการในการจัดสวัสดิการสังคม


อย่างไรก็ตาม ภาวะของความเปลื่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมีการวิเคราะห์ว่าสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงน่าจะมีผลกระทบอย่างไร ดังนั้นเพื่อให้มองเห็นว่าก่ารบริหารจัดการจะต้องดำเนินการอย่างไรเพื่อความมีประสิทธิภาพที่ยั่งยืนนำมาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีของผ้สูงอายุและประชาชนในภาพรวม


ประเด็นแรก การเปลี่ยนแปลงสู่สังคมผู้สูงอายุส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้คนอายุยืน มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างครอบครัว ทั้งนี้ จุดที่จำเป็นต้องตระหนักคือเมื่อความเปลี่ยนแปลงเป็นเช่นนั้นการจัดการต้องเข้าใจความเปลี่ยนแปลงนี้ก่อน โดยสิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยงคือการเข้าใจว่าคนแก่ในอนาคตนี่ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปพ้นวัยทำงาน ไม่มีส่วนร่วมต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เพราะเห็นชัดเจนว่าคนที่มีอายุ 60-70 ปีขึ้นไปหลายคนมีสุขภาพดี มีความสามารถในการมีส่วนร่วมในการพัฒนาบ้านเมือง มีคุณค่าในการกระบวนการพัฒนาได้


"เราไม่ควรมองว่าผู้สูงอายุเป็นผู้ที่เป็นผู้รับเพียงอย่างเดียว เพราะผู้สูงอายุยังเป็นผู้ให้กับสังคมได้อย่างมาก เพราะประสบการณ์ที่สะสมมาเป็นเวลาที่ยาวนานไม่ควรมองข้าม"


ประการที่สอง ถ้ามองเรื่องของผู้สูงอายุในการเป็นผู้ที่ต้องได้รับการดูแลจากภาครัฐอย่างเดียว ก็จะนำสู่ปัญหาที่หลายประเทศประสบขณะนี้ คือ สร้างระบบสวัสดิการที่ไม่ยั่งยืน เพราะอิงกับหลักคิดเดิมที่เอาเงินภาษีของคนวัยทำงานมาเป็นสวัสดิการให้ผู้สูงอายุ และสุดท้ายจะกระทบขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจและสังคมได้


ประการที่สาม การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของประชากรในสัดส่วนของกลุ่มอายุต่างๆ ทำให้ความสัมพันธ์ของคนในสังคม คนต่างวัย รูปแบบครอบครัวเปลี่ยนแปลงชัดเจน จึงจะเห็นว่าครอบครัวขยายที่เคยอยู่ด้วยกันก็ลดลงไป และการพัฒนาเศรษฐกิจ-สังคมที่ไม่สมดุลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในสังคมเมือง และในสังคมชนบทจะเห็นชัดเจน เพราะในชนบทหลายครั้งที่ตนไปเยี่ยมเยียนจะพบคนวัยทำงานหายไปเพราะมาอยู่ในสังคมเมืองจำนวนมาก จึงทำให้มีผู้สูงอายุและเด็กอยู่ที่นั่นเป็นหลัก


นอกเหนือจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างภาคส่วนต่างๆก็เปลี่ยนแปลง เช่นกัน อาทิ ภาคการเกษตรที่เกษตรกรอายุเฉลี่ยสูงมาก ซึ่งคนที่ทำการเกษตรมาช้านาน ลูกหลานจะออกมาจากภาคเกษตรโดยสิ้นเชิง ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญที่ภาคเกษตรยังขาดระบบสวัสดิการ แม้กระทั่งในระบบราชการอายุเฉลี่ยของข้าราชการก็เพิ่มขึ้น จึงมีปัญหาในการดึงคนรุ่นใหม่มาเป็นกำลังสำคัญ ซึ่งอายุเฉลี่ยมากกว่าตนคือเฉลี่ย 46 - 47 ปีแล้ว ต่างจากประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ สิงคโปร์ที่เน้นผู้บริหารระดับสูงที่อายุ 20 ต้นๆเท่านั้น ทำให้เรามีความจำเป็นต้องปรับแนวความคิดและปรับรื้อหลายระบบเพื่อรองรับความท้าทาย




"ผมต้องการที่จะชี้ให้เห็นว่าการจัดการประเด็นนี้เราไม่ควรมองอยู่ในประเด็นที่จำกัด เช่น มุ่งไปเรื่องของการคิดว่าเราต้องมีสถานสงเคราะห์ บ้านพักคนชรามากน้อยแค่ไหน จะต้องโอนให้ท้องถิ่นดูแลได้หรือไม่ แต่เราต้องตั้งหลักให้ได้ว่าการบริหารสังคมของผู้สูงอายุจะเป็นอย่างไร ซึ่งรัฐบาลจะตั้งหลักดูแลปัญหานี้อย่างน้อย 5 หลัก"


นายกฯ กล่าวว่า


1. เป็นปัญหาที่ควรจะง่ายกับการบริหารจัดการถ้าเตรียมความพร้อมล่วงหน้า เพราะสัดส่วนประชากรสามารถพยากรณ์ทำได้แม่นยำขึ้น ว่าแต่ละปีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเท่าไรกี่เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นไม่ควรมีข้ออ้างในการจัดการเรื่องนี้ว่าเราไม่พร้อมไม่รู้ไม่ทราบ


อย่างไรก็ตาม ส่วนนี้มีกฎหมายและมีคณะกรรมการผู้สูงอายุระดับชาติที่ตนเป็นประธานดูแลโดยตรง และมีการจัดทำแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ มีการกำหนดแนวทางวิสัยทัศน์ให้ผู้สูงอายุเป็นหลักชัยของสังคม ให้เขามีคุณภาพชีวิต มีกิจกรรม มีเครือข่าย มีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนา


2. ตระหนักถึงความรู้ ประสบการณ์ ศักยภาพของผู้สูงอายุ แทนที่จะมองว่าเป็นผู้รับ เราสามารถจัดการให้ผู้สูงอายุที่มีความพร้อมในการเป็นผู้ให้มีส่วนร่วมในการสร้างมูลค่าและคุณค่าในเศรษฐกิจได้ อย่างไรก็ตามในส่วนนี้มีการดำเนินการหลายด้านทั้งระบบราชการและนโยบายมาตรการอื่นๆ เช่น ระบบราชการมีการปรับการเกษียณอายุราชการ และในหลายสายงานก็เปิดให้คนอายุเกิน 60 ปีรับราชการได้ จึงคิดว่าอีกหลายสายงานน่าจะเปิดผู้สูงอายุมีส่วนร่วมในการพัฒนาได้


ทั้งนี้ แนวทางดังกล่าวควรจะเกิดขึ้นในภาคเอกชนด้วย รวมทั้งท้องถิ่นควรใช้ศักยภาพของผู้สูงอายุด้วย เช่น ถ่ายทอดการส่งเสริมอาชีพ การดูแลเด็กในศูนย์เด็กเล็ก อย่างไรก็ตามในระดับชาติมีโครงการคลังสมองที่ให้ผู้สูงอายุจัดเครือข่ายทำข้อเสนอแนะต่างๆที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานของภาครัฐด้วย


3. ต้องมีการสร้างหลักประกันเรื่องของรายได้ความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุ ที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมระบบสวัสดิการ ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดทิศทางเอาไว้แต่อาจไม่เข้าใจโดยทั่วกัน คือต้องการให้สังคมตระหนักว่าผู้สูงอายุมีสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะต้องได้รับการดูแล สะท้อนจากการให้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุทุกคน 500 บาทต่อเดือน ที่เป็นระบบที่ต้องการยืนยันหลักการนี้ และจะเห็นว่ารัฐบาลต้องคำนึงถึงผลกระทบการคลังด้วย เพราะค่าใช้จ่ายส่วนนี้ถ้าคิดรายหัว 500x12 เดือน = รายละ 6 พันบาทต่อปี ซึ่งเรามีผู้สูงอายุ 7 ล้านคน ซึ่งอนาคตมีจำนวนมากขึ้น และนี่ยังไม่คำนึงถึงแนวโน้มการปรับเงินเพราะมีคำถามว่า 500 เพียงพอหรือไม่ ซึ่งตนคิดว่า 500 บาทไม่เพียงพอ แต่นั่นไม่ใช่จุดหลักในการทำระบบสวัสดิการ เพราะรัฐบาลจะทำคือกองทุนเงินออมแห่งชาติที่ดูแลคนนอกระบบราชการและนอกระบบประกันสังคม เปิดให้คนชราเข้ามามีระบบการออมเพื่อความชราภาพได้โดยรัฐบาลจะสมทบเงินเข้าไปหนึ่งบาทท้องถิ่นสมทบอีกหนึ่งบาท เพราะระบบนี้ไม่ใช่การนำเงินภาษีมาจ่ายมาช่วยเท่านั้นแต่เจ้าตัวต้องมีส่วนร่วมด้วย นอกจากนี้ยังในส่วนของกลุ่มชาวนา อสม. ที่คิดจะสมทบเงินของตัวเองเช่นกัน


"ถ้าเราส่งเสริมตรงนี้ได้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุก็จะเป็นส่วนเล็กๆเท่านั้น เพราะเป็นหลักประกันและส่งเสริมค่านิยมการออมในสังคมไทยด้วย และเป็นแหล่งทุนในการลงทุนในสังคมอีกทางหนึ่ง และจะเริ่มให้ท้องถิ่นมาเริ่มในการสมทบเงินให้มากที่สุด เพราะเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุนั้นท้องถิ่นยังมีบทบาทเป็นผู้รับขึ้นทะเบียน เพราะมีฐานประชากรของคนในพื้นที่ แต่ระบบการจ่ายเงินที่มี 2 ทางคือธนาคารและท้องถิ่น ซึ่งวันข้างหน้าจะปรับเข้าสู่ระบบธนาคารมากขึ้น และจะไปนับเงินงบประมาณของส่วนกลางไม่ใช่ท้องถิ่น"


นายกฯ กล่าวว่า


4. แม้มีความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ-สังคมและโครงสร้างก็ตาม เราควรยึดถือสิ่งที่เป็นจุดแข็งของสถาบันครอบครัว ต้องส่งเสริมให้ครอบครัวเข้มแข็งด้วยการดูแลผู้สูงอายุ ทั้งนี้ครอบครัว ชุมชน ควรสนับสนุนให้เด็กๆดูแลผู้สูงอายุ ไม่ใช่ต้องทำบ้านพักคนชราหรือสถานสงเคราะห์ เพราะถ้าดูแลครอบครัวด้วยการสร้างสภาวะแวดล้อมที่ดีก็เป็นการรักษาสภาพของสถาบันครอบครัวให้มีความเข้มแข็งซึ่งต้องอาศัยมาตรการหลายด้าน เช่น การดึงผู้สูงอายุเข้ามามีส่วนร่วมในภารกิจของท้องถิ่นโดยมีค่าตอบแทน รวมถึงการลดช่องว่างระหว่างวัยซึ่งสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงทุกด้านทำให้มีช่องว่างมากขึ้น


"กรณีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีที่มีช่องว่างมากขึ้น เพราะเยาวชนยิ่งอายุน้อยก็จะปรับตัว เรียนรู้ด้านนี้ได้ไว ซึ่งจะสร้างช่องว่างมหาศาลในอนาคตถ้าไม่เรียนรู้แลกเปลี่ยนกัน เช่น หลักสูตรของสถานศึกษาที่ท้องถิ่นต้องเข้ามาจัดทำมากขึ้น เพราะรัฐบาลถอดหลักสูตรที่ไม่จำเป็นออกไปร้อยละ 30 และจัดสรเวลาการเรียนรู้จากกิจกรรมเพื่อส่งเสริมให้เยาวชนมีทักษะมากยิ่งขึ้นและเข้าใจสังคมมีความกลมเกลือนกับวิถีชีวิตมากขึ้น ซึ่งผมเสนอไปว่าสิ่งที่น่าทำคือการให้เยาวชนใช้เวลาส่วนหนึ่งกับคนแก่ เช่น สัก 1 ชั่วโมงให้ไปเยี่ยมเยียนผู้สูงอายุเพื่อลดข่องว่างระหว่างวัย ด้วยการไต่ถามสารทุกข์สุขดิบ และผู้สูงอายุก็จะถ่ายทอดประสบการณ์ทำให้ส่งเสริมความสัมพันธ์คนระหว่างวัยมากขึ้นด้วย"


5. การบริหารจัดการต้องส่งเสริมให้ท้องถิ่น ชุมชน พื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมให้มากที่สุดเพราะมีความใกล้ชิดและน่าจะตอบสนองโดยคำนึงถึงความแตกต่างหลากหลายในพื้นที่ได้ด้วย ตัวอย่างที่ดีคือกรณีของศูนย์เด็กที่มีการถ่ายโอนงานไปให้ท้องถิ่นดำเนินการนั้น ไม่ใช่ดึงให้ส่วนกลางกลับมาบริหาร เพราะส่วนกลางจะช่วยสนับสนุนดึงภาควิชาการเข้ามาทำงานในเรื่องของการประเมินมาตรฐานและกำหนดแผนการบุคลากรไปช่วยท้องถิ่น ทั้งนี้การโอนงานศูนย์เด็กเล็กไปให้ท้องถิ่นเป็นธรรมดาที่เริ่มต้นจะมีปัญหาต่างๆ จึงอาจจะมองว่าท้องถิ่นทำไม่ได้ แต่ส่วนกลางต้องเข้าไปสนับสนุนในสิ่งที่ทำได้

อย่างไรก็ตาม งานผู้สูงอายุอาจจะมีปัญหาในการถ่ายโอนถ้าหน่วยงานที่เป็นส่วนกลางใช้แนวทางนี้เพื่อให้ท้องถิ่นจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ


ที่มา รัฐเข็นกองทุนเงินออมฯดึงคนชราเข้าสู่ระบบ ; นสพ. กรุงเทพธุรกิจ : 25 มิถุนายน 2553





Create Date : 25 มิถุนายน 2553
Last Update : 20 กันยายน 2553 15:25:19 น. 1 comments
Counter : 1240 Pageviews.

 


โดย: หาแฟนตัวเป็นเกลียว วันที่: 25 มิถุนายน 2553 เวลา:15:19:13 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

amaridar
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Friends' blogs
[Add amaridar's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.