บอกแล้วไม่ฟัง
Group Blog
 
All blogs
 
=> จาก กบช. ถึง กอช.

จาก กบช. ถึง กอช.


คอลัมน์ :ดุลยภาพ ดุลยพินิจ โดย นวพร เรืองสกุล

nawasuvapoaporn@gmail.com



ความคิดว่าทุกคนควรมีเงินออมไว้ใช้ในวัยที่ไม่ทำงานแล้ว ทำให้ทางราชการหาลู่ทางนำคนทั้งหมดของประเทศเข้าสู่ระบบการออมเพื่อตนเอง


คนที่ออมอยู่บ้างแล้วคือ


(1) ข้าราชการ ออมทางอ้อมผ่านการได้เงินเดือนต่ำกว่าทางภาคเอกชน แลกกับการได้รับบำนาญที่แน่นอนตลอดชีพ และออมทางตรงผ่านโครงการของ กบข. (กองทุนบำเหน็จ บำนาญข้าราชการ) ที่คืนเป็นเงินก้อนตอนเกษียณหรือลาออกจากราชการ


(2) พนักงานในบริษัทขนาดใหญ่หรือบริษัทที่เจ้าของบริษัทมองการไกลเพื่อลูกจ้าง มีเงินกองทุนสำรองเลี้ยงอาชีพ ซึ่งเป็นเงินที่ได้รับคืนเป็นเงินก้อนเมื่อพ้นจากงาน


(3) ลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคม มีเงินกองทุนเพื่อการชราภาพ ที่ได้คืนเป็นเงินบำนาญจำนวนแน่นอนไปตลอดชีพ


(4) ประชาชนทั่วไปที่สนใจเก็บออมเงินสามารถซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมเพื่อการเกษียณ (RMF) ได้ โดยรับคืนเป็นเงินก้อนเมื่อครบกำหนดตามเงื่อนไข


ทั้งหมดข้างต้นนี้ คนที่ดูเหมือนจะตกออกนอกขอบของการออมคือคนที่มีรายได้ไม่มากนัก ไม่เห็นประโยชน์ทางภาษีจากการออมตามข้อ 4 อาจจะไม่มีเงินออมขั้นต่ำต่อปีเท่าที่กฎหมายกำหนด และไม่รู้จักว่าจะไปซื้อกองทุนรวมได้ที่ใด


กองทุนบำนาญแห่งชาติ (กบช.) เป็นความคิดที่ดีที่อยากจะให้คนที่อยู่ในระบบประกันสังคมตามข้อ 3 ได้มีสิทธิมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามข้อ 2 ทุกคน แต่มีโจทย์ใหญ่ว่าใครจะบริหารจัดการเงินก้อนโตนี้ จะบริหารโดยกองกลาง (เป็น กบข. ภาคเอกชน) หรือบริหารแบบตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพย่อยๆ ขึ้นมาอีกหลายๆ กอง


โจทย์สำคัญที่ยังไม่ได้ตอบอีกข้อก็คือ แล้วจะทำยังไงกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีอยู่แล้ว จะจับทุกคนไปรวมกันหมดเป็นภาคบังคับ แล้วบริหารรวมกัน


หรือวิธีที่ง่ายกว่านั้นคือ ตั้งกองเฉพาะคนที่อยู่ในประกันสังคมแต่ไม่ยอมอยู่หรือยังไม่ได้อยู่ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพปัจจุบันเท่านั้น แค่นี้ก็ครอบคลุมเป้าหมายได้หมดแล้ว แต่ทำแบบนี้ตอนตั้งต้นเงินจะน้อย ไม่เหมือนกับปันเงินบางส่วนจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพปัจจุบันเข้าไปรวม




พูดเรื่องนี้ก็จะเป็นเรื่องเทคนิคเกินไป และปัจจุบันนี้เรื่องนี้ก็เงียบๆ ไป จึงยังไม่จำเป็นต้องดูรายละเอียด


มาดูกองต่อไปกันดีกว่า คือกองทุนเงินออมแห่งชาติ (กอช.)


หลักการของ กอช.คือ ประชาชนทุกคนไม่ว่าจะยากจนหรือมีรายได้น้อยแค่ไหน ก็ควรมีเงินออมเพื่อการชราภาพด้วย (คล้ายที่กลุ่มประกันสังคมมี) โดยเป็นการออมร่วมกัน คือออมเองส่วนหนึ่ง รัฐบาล (ส่วนกลางหรือส่วนท้องถิ่น หรือทั้งสองส่วน) จ่ายสมทบอีกส่วนหนึ่ง เมื่อตอนสูงอายุ ก็จะได้เงินไปเรื่อยๆ แบบเงินบำนาญ


เงินก้อนนี้ที่เก็บออมไว้แต่เนิ่นๆ ควรจะทำให้ได้เงินตอนสูงวัยมากกว่าเบี้ยยังชีพ 500 บาทต่อคน ต่อเดือนที่รัฐบาลจ่ายอยู่เวลานี้


การทำเรื่องนี้ให้ได้ผล ต้องคิดถึงการลงทุนเพื่อให้เงินที่ออมไว้งอกเงยขึ้นมามากๆ และรัฐบาลเองต้องรับภาระความเสี่ยงที่ได้สัญญาไว้ว่าจะจ่ายบำนาญ


ถ้าหากลงทุนไม่ได้เงินพอจ่ายรายเดือนตามที่สัญญาไว้ หรือว่ามีเหตุบางประการเกิดขึ้นทำให้การหาเงินผิดแผน เช่น เก็บเงินได้ไม่ครบถ้วน ระบบทะเบียนไม่ดี ไม่รู้ว่าใครจ่าย ใครไม่จ่าย หรือใครตายไปแล้ว แต่ยังรับเงินอยู่ ความเสียหายต่างๆ เหล่านี้ตกเป็นภาระของรัฐบาลที่ไปสัญญาจำนวนเงินบำนาญรายเดือนไว้


แต่ถ้าท้อใจกับความเสี่ยงนี้แล้วรัฐบาลไม่ทำอะไรเลย ก็เจอกับความเสี่ยงอีกแบบหนึ่ง คือ การเลี้ยงดูผู้สูงวัยที่ไม่ใส่ใจเก็บออมเงินเพื่อตนเองตกเป็นภาระของรัฐเพียงฝ่ายเดียวในอนาคต ซึ่งถ้ารัฐรับภาระไม่ไหว คุณภาพชีวิตของคนในสังคมก็คงจะเสื่อมลงๆ


แนวคิดที่พอเป็นไปได้เพื่อแก้ปัญหาสุดโต่งสองด้านนี้คือ พยายามปรับปรุงการบริหารจัดการให้ในที่สุดได้ผลใกล้เคียงกับเป้าหมายที่ว่า ทุกคนต้องมีส่วนออมเงินของตนเองเพื่อความต้องการใช้เงินในวัยชราของตนเอง โดยรัฐมีส่วนช่วยสมทบบ้างหรือถ้าไม่สมทบเลย ก็ยังต้องเป็นผู้ควบคุมกติกาต่างๆ ที่เกี่ยวกับการลงทุนและการเบิกจ่ายเงิน เพราะว่าเงินของแต่ละคนเป็นเงินรายเล็กรายน้อย ทุกคนไม่มีความรู้ความสามารถจะดูแลเงินลงทุนของตนเองได้


รัฐบาลในหลายประเทศได้พยายามตอบโจทย์ข้อนี้กันด้วยวิธีการบริหารจัดการโครงการแบบต่างๆ กัน แต่คงวัตถุประสงค์หลัก 2 ประการไว้คือ


(1) ผู้กำลังอยู่ในวัยทำงานต้องออมเองด้วยส่วนหนึ่ง


(2) เงินออมนี้เพื่อใช้ในวัยเกษียณ และใช้ไปเรื่อยๆ ไม่ใช่ได้เป็นเงินก้อน แล้วหมดไปตั้งแต่วันแรกๆ ที่ได้เงินคืน


เมื่อเวลาผ่านไป แต่ละระบบก็ปรับปรุงระบบของตนเองเพื่อปิดช่องโหว่ และเพิ่มความยืดหยุ่นให้มากขึ้น


ของไทยเราเอง กองทุนบำนาญแห่งชาติ (กบช.) ยังไม่ได้เริ่ม แต่แนวคิดยังอยู่และพัฒนามาเป็นกองทุนเงินออมแห่งชาติ (กอช.)


กอช.ยังคงแนวคิดหลักคือ (1) ทุกคนต้องออมเพื่อตน (2) รัฐสมทบบางส่วน แต่ไม่มีการสัญญาว่าผู้ออมแต่ละคนจะได้เงินขั้นต่ำเท่าใด ไม่ว่าจะเป็นเงินรายเดือนหรือว่าเงินผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการลงทุน


กองทุนนี้ตั้งใจให้มีการออมเกิดขึ้น โดยรัฐช่วยบริหารจัดการให้ ส่วนที่มีการถกเถียงกันมากในการจัดตั้งกองทุนลักษณะนี้ไม่ใช่อยู่ที่แนวคิดหลัก แต่อยู่ที่วิธีบริหารจัดการอย่างน้อยใน 3 ด้านคือ


(1) จะบริหารฐานข้อมูลอย่างไร ให้ถูกต้อง รวดเร็ว และราคาถูก


เรื่องนี้สำคัญ เพราะจะทำให้รู้ว่าใครส่งเงินเท่าใด ใครส่ง ใครไม่ส่ง ใครมีสิทธิเริ่มรับเงินคืน ใครได้เงินผลประโยชน์คืนเท่าใด ใครตายไปแล้ว


(2) จะบริหารจัดการเงินอย่างไรให้ได้ผลประโยชน์ดีพอสมควร


การบริหารออมระยะยาว เป็นอาชีพเฉพาะ ต้องการผู้บริหารที่ใจมั่นคง ตัดสินใจโดยอิงหลักการ ไม่อิงกระแส หรือแรงกดดันต่างๆ ในระยะสั้น แต่กองทุนยิ่งมีเงินมากเท่าใดยิ่งโดนแรงกดดันอื่นๆ มาสมทบ ด้านหนึ่งคือกังวลกับการถูกแทรกแซงด้วยการเมืองให้ไขว้เขวไปจากหลักการจัดการที่ดี อีกด้านหนึ่งคือห่วงกังวลกับเสียงเรียกร้องของสมาชิกผู้รับประโยชน์ที่ห่วงเงินของตัวเอง แต่ไม่รู้เรื่องการลงทุนระยะยาว ทำให้มองระยะสั้นๆ


(3) จะให้เงินคืนกับสมาชิกอย่างไร คืนเป็นเงินก้อนตอนครบอายุออม หรือว่าคืนเป็นงวดๆ เพื่อให้มีเงินใช้ไปจนตาย


เรื่องสุดท้ายนี้เป็นโจทย์ที่สำคัญ คำตอบต้องเป็นการคืนเป็นงวดๆ เท่านั้น ไม่ควรคืนเป็นเงินก้อนตอนเกษียณ เพราะเท่ากับเป็นการล้มหลักการทั้งหมดของการออมเพื่อใช้ในวัยชราเลยทีเดียว แต่จะคืนอย่างไรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง


แบบหนึ่งคือ ทยอยคืนเป็นงวดๆ เช่น 10 ปี ในระหว่างนั้นก็หาผลประโยชน์จากเงินที่เหลือให้ด้วย


อีกแบบหนึ่งคือคืนแบบบำนาญ หากกองทุนไม่ต้องการรับภาระ ดังที่เคยเป็นปัญหาที่ยกขึ้นมากรณีกองทุนบำนาญ ก็อาจจะต้องมีเงื่อนไข และการเตรียมความพร้อมบริษัทประกันเอาไว้ ให้มีกรมธรรม์ที่เหมาะสม ในเรื่องวิธีการจ่ายคืน และค่าเบี้ยประกัน เพื่อให้ผู้ออมโอนเงินจากกองทุนเงินออม ไปหาบริษัทประกัน แล้วบริษัทประกันเป็นผู้จ่ายคืนเป็นเงินบำนาญให้กับผู้ลงทุนอีกทอดหนึ่ง


มีคนพูดกันเรื่องการบริหารเงินกองทุนกันมากแล้ว บ้างก็ว่าให้จ้างเอกชนแยกกันบริหารบ้างก็ว่าให้ตั้งสำนักงานบริหารเงินเอง เรื่องนี้ยังเป็นเรื่องที่รอได้ และไม่มีผลมากนักในการออกแบบระบบ เท่ากับเรื่องการจัดการด้านการส่งเงินเข้ากองทุน




การจัดการด้านข้อมูลและการนำส่งเงินเป็นเรื่องสำคัญตรงที่ว่า ถ้าบริหารจัดการตรงนี้ไม่ดี ข้อมูลที่ถูกต้องก็ไม่มี หรือถ้าจัดการได้แต่แพงมาก เงินที่จะหาได้จากการลงทุนก็จะถูกค่าธรรมเนียมการโอนเงิน และการบริหารข้อมูลกินไปหมด


นึกถึงวิธีง่ายๆ ได้วิธีหนึ่ง ที่จะแก้ปัญหาทั้งข้อ 1 (ทำให้ข้อมูลถูก ดี และเร็ว) และข้อ 2 (ลงทุนได้โดยสมาชิกของกองทุนไม่เอะอะโวยวายเอากับผลการลงทุนที่บางปีอาจจะขาดทุน บางปีอาจจะได้กำไรมาก)
จะเป็นไปได้ไหมที่จะให้ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรฯ เป็นผู้รับฝากเงินรายบุคคล เป็นบัญชีห้ามถอนจนกว่าจะเกษียณ และเมื่อถึงเวลาก็ถอนได้โดยกำหนดจำนวนเงินที่จะถอนได้แต่ละปีอย่างชัดเจน อัตราผลตอบแทนของบัญชีนี้กำหนดให้ได้เท่ากับอัตราสูงสุดที่ธนาคารจ่ายให้กับนักลงทุนสถาบัน


ทำเช่นนี้ไม่ต้องทำทะเบียน เพราะธนาคารแต่ละแห่งมีระบบอยู่แล้ว


ทำเช่นนี้ไม่ต้องคิดตามว่าเจ้าของเงินอยู่ที่ไหน อายุเท่าใด นำส่งเงินเท่าใด เพราะสมุดบัญชีเงินฝากยืนยันด้วยตนเองอยู่แล้ว และเจ้าของเงินก็รู้ว่ามีเงินอยู่ในบัญชีเท่าใด


ทำเช่นนี้ไม่ต้องห่วงว่าเงินต้นจะหาย เพราะแต่ละคนคงมีเงินออมตลอดอายุไม่เกินการค้ำประกันเงินฝาก และไม่ต้องห่วงว่าบุคคลทั่วไปจะนำส่งเงินไม่ได้ เพราะธนาคารมีอยู่ทั่วไป และธนาคารออมสินเองก็เคยไปรับฝากเงินถึงในโรงเรียน เดินเก็บเงินในตลาดก็เคยทำมาแล้ว


อัตราดอกเบี้ยที่กำหนดก็ไม่เกินกว่าเหตุ และเมื่อพูดถึงการฝากเงินไว้กับธนาคาร ปกติกองทุนต่างๆ ที่มีการบริหารจัดการอยู่ในเวลานี้ไม่ว่าจะเป็นกองทุน กบข. หรือกองทุน สปส. ก็มีส่วนหนึ่งฝากไว้เป็นเงินฝาก


เมื่อเงินออมในธนาคารใดรวมกันแล้วเกินจำนวนหนึ่ง รัฐบาลก็อาจจะกำหนดโดยการหารือกับผู้บริหารกองทุนให้กำหนดสัดส่วนผลตอบแทนเพิ่มขึ้นโดยมีส่วนหนึ่งเป็นพันธบัตรรัฐบาลก็ได้ เพราะปกติการลงทุนก็ทำเช่นนั้น และปกติธนาคารก็ถือพันธบัตรอยู่แล้ว จึงเท่ากับบริหารแค่กำหนดผลตอบแทน ที่เหลือมีคนทำให้ โดยทำใจไปเลยว่าไม่หวังได้กำไรจากการซื้อๆ ขายๆ พันธบัตรเป็นผลประโยชน์ตอบแทนส่วนเสริม


ในส่วนเงินที่รัฐบาล (ส่วนกลางหรือส่วนท้องถิ่นก็ตาม) จะสมทบเข้ากองทุนนั้นสามารถนำไปบริหารจัดการแบบกองทุนใหญ่ๆ ที่ลงทุนในธุรกิจหลักๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นแบบ จีไอซี เทมาเส็ก ฯลฯ


อันที่จริงไม่อยากยกสองกองทุนนี้เพราะเราไม่ทราบว่าเขาลงทุนในอะไร และกำไรหรือขาดทุนแค่ไหน ทั้งระยะสั้นหรือระยะยาว แต่หมายความเพียงว่า การตัดสินใจการลงทุนไม่จำเป็นต้องจำกัดตัวอยู่แค่หุ้นในตลาดหลักทรัพย์ที่ซื้อๆ ขายๆ ได้ทุกวันเท่านั้น


ดังนั้น การบริหารส่วนของเงินของรัฐใน กอช. จึงน่าจะทำให้ตลาดทุนของไทย และการลงทุนที่น่าจะเกิดขึ้นในประเทศไทยด้วยทุนของคนไทยพัฒนาขึ้น เราไม่ต้องพึ่งพิงต่างชาติให้เข้ามาลงทุนทุกรูปแบบในบ้านเรา ถ้าทำให้ดี เงินก้อนนี้ที่แม้จะน้อยในตอนต้น แต่นานวันเข้าจะค่อยๆ เติบโตขึ้นและจะมีประโยชน์อย่างมากต่ออนาคตเศรษฐกิจของประเทศ


ส่วนการจะนำผลประกอบการไปประชาสัมพันธ์กับผู้ออมว่าอย่างไรนั้น เป็นเรื่องสำคัญรองลงมาแล้ว เมื่อเทียบกับว่าผู้ออมได้เงินผลตอบแทนไปแล้วส่วนหนึ่งที่ดีกว่าฝากเงินด้วยตนเอง แต่ไม่ว่าจะประกาศอย่างไร ก็มีแต่ทางจะเพิ่มผลตอบแทนให้กับผู้ออมที่ออมสม่ำเสมอทั้งสิ้น เว้นเสียแต่ว่าผู้จัดการกองทุนจะมีความสามารถอันมหัศจรรย์ที่ลงทุนแล้วขาดทุนจนหมดตัวได้


ข้อเสนอนี้ไม่สงวนลิขสิทธิ์ และถ้าหากว่ามีการนำไปพัฒนาต่อจนใช้การได้ในการปฏิบัติงานจริง ผู้เขียนและผู้ร่วมคิดทุกคนก็จะยินดีเป็นอย่างยิ่ง เพราะเชื่อว่าเป็นแนวทางที่เหมาะสม



ที่มา
หน้า 6 ,มติชนรายวัน ฉบับวันพุธที่ 7 ก.ค. 2553

วันที่ 08 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 เวลา 09:52:01 น. มติชนออนไลน์




Create Date : 08 กรกฎาคม 2553
Last Update : 20 กันยายน 2553 15:02:01 น. 0 comments
Counter : 608 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

amaridar
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Friends' blogs
[Add amaridar's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.