Group Blog
 
All blogs
 

ธรรมในชีวิตประจำวัน



หลักแห่งการปฏิบัติธรรม ๕ ประการ

๑. ศีล ด้วยการทำตนให้สงบ ระวังความชั่วทางกาย - ใจ
๒. สมาธิ ต้องฝึกจิต อบรมจิตให้ระงับความวิตกฟุ้งซ่าน
๓. ปัญญา ต้องศึกษาลักษณะจิตด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง ในหลักแห่งความจริง
๔. วิมุตติ ต้องเข้าใจลักษณะแห่งจิต ที่พ้นจากเพลิงทุกข์ ว่าเป็นอย่างไร
๕. วิมุตติญาณทัสสนะ ต้องศึกษาถึงความรู้จักตน ว่าอย่างไรจึงรู้แน่
กายสุจริต วจีสุจริตต มโนสุจริต


หัวใจสำคัญของพระพุทธศาสนา ๓ ประการได้แก่

๑.ไม่ทำความชั่วทั้งปวง
๒.ทำความดีให้ถึงพร้อม
๓.ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส

ฆราวาสธรรม ๔

คือธรรมสำหรับการครองเรือนในชีวิตของบุคคลทั่วไปได้แก่
๑. สัจจะ คือ พูดจริงทำจริงและซื่อตรง
๒. ทมะ คือ ฝึกหัดแก้ไขปรับปรุง
๓. ขันติ คือ อดทนตั้งใจและขยัน
๔.จาคะ คือ เสียสละ

ธรรมคุ้มครองโลกมี ๒ อย่างคือ

๑.หิริ คือ ความละอายใจในการทำบาป
๒.โอตตัปปะ คือ ความเกรงกลัวผลของการทำชั่ว

อิทธิบาท ๔ หรือธรรมที่ช่วยให้สำเร็จในสิ่งที่ประสงค์ได้แก่

๑. ฉันทะ คือ ความพอใจรักใคร่
๒. วิริยะ คือ ความเพียร
๓. จิตตะ คือ เอาใจฝักใฝ่ ไม่วางธุระ
๔. วิมังสา คือ หมั่นตริตรอง พิจารณาเหตุผล

สัมมัปปาธาน ๔

๑. พยายามเพื่อจะไม่ให้เกิดอกุศลกรรม คือ บาปเกิดในตน
๒. พยายามเพื่อจะละอกุศลธรรม คือ บาปที่เคยเกิดขึ้นแล้วในตน
๓. พยายามเพื่อจะเจริญกุศลธรรม คือ บุญให้มีในตน
๔. พยายามเพื่อรักษากุศลธรรม คือ บุญที่เกิดขึ้นแล้วในตนให้มีอยู่
ข้อแรกคือ ให้ระวังทวารหก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ข้อที่เหลือ คือ ต้องขับไล่ของเก่า คืออย่าไปแยแส ไม่ต้องรำพึง เพียงแต่เจริญสติ

มรรคมีองค์ ๘ ได้แก่

๑.สัมมาทิฏฐิ คือมีปัญญาอันเห็นชอบ ได้แก่การเห็นในอริยสัจ ๔ คือ

ทุกข์

เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ (สมุทัย)

ความดับทุกข์ (นิโรธ)

ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ (มรรค)

๒.สัมมาสังกัปปะ คือดำริชอบ ได้แก่

ดำริที่จะออกจากกาม (เนกขัมมะ)

ดำริในการไม่พยาบาทปองร้ายผู้อื่น

ดำริในการไม่เบียดเบียนผู้อื่น

๓.สัมมาวาจา คือเจรจาชอบ ได้แก่การเว้นจากวจีทุจริต ๔ คือไม่ประพฤติชั่วทางวาจาอันได้แก่

ไม่พูดเท็จ (มุสาวาทา)

ไม่พูดส่อเสียด ยุยงให้เขาแตกร้าวกัน (ปิสุณาย วาจาย)

ไม่พูดคำหยาบคาย (ผรุสาย วาจาย)

ไม่พูดเพ้อเจ้อเหลวไหลไร้สาระ (สัมผัปปลาปา)

๔.สัมมากัมมันตะ คือทำการงานชอบโดยประกอบการงานที่ไม่ผิดประเพณี ไม่ผิดกฏหมาย ไม่ผิดศีลธรรม และเว้นจากการทุจริต ๓ อย่างได้แก่

การเบียดเบียนฆ่าสัตว์ตัดชีวิต (ปาณาติบาต)

การลักขโมย และฉ้อฉลคดโกง แกล้งทำลายผู้อื่น (อทินนาทาน)

การประพฤติผิดในกาม (กาเมสุมิจฉาจาร)

๕.สัมมาอาชีวะ คือเลี้ยงชีวิตชอบได้แก่ การเว้นจากการเลี้ยงชีพในทางที่ผิด การประกอบสัมมาอาชีพคือ

เว้นจากการค้าขายเครื่องประหารมนุษย์และสัตว์

เว้นจากการค้าขายมนุษย์ไปเป็นทาส

เว้นจากการค้าสัตว์สำหรับฆ่าเป็นอาหาร

เว้นจากการค้าขายน้ำเมา

เว้นจากการค้าขายยาพิษ

๖.สัมมาวายามะ คือมีความเพียรชอบ ๔ ประการได้แก่

เพียรระวังมิให้บาปหรือความชั่วเกิดขึ้น

เพียรละบาปหรือความชั่วที่เกิดขึ้นแล้ว

เพียรทำกุศลหรือความดีให้เกิดขึ้น

เพียรรักษากุศลหรือความดีที่เกิดขึ้นแล้วให้คงอยู่

๗.สัมมาสติ คือระลึกชอบได้แก่ การระลึกวิปัฏฐานได้แก่ การระลึกในกาย เวทนา จิต และธรรม ๔ ประการคือ

พิจารณากาย ระลึกได้เมื่อรู้สึกสบายหรือไม่สบาย พิจารณาลมหายใจเข้าออก

พิจารณาเวทนา ระลึกได้เมื่อรู้สึกสุข หรือทุกข์ หรือเฉยๆ มีราคะ โทสะ โมหะหรือไม่

พิจารณาจิต ระลึกได้ว่าจิตกำลังเคร้าหมองหรือผ่องแผ้ว รู้เท่าทันความนึกคิด

พิจารณาธรรมให้เกิดปัญญา ระลึกได้ว่าอารมณ์อะไรกำลังผ่านเข้ามาในใจ

๘.สัมมาสมาธิ คือตั้งใจชอบ ทำจิตให้สงบระงับจากกิเลส เครื่องเศร้าหมอง ให้มีอารมณ์แน่วแน่เป็นอันเดียว เพื่อให้จิตจดจ่อไม่ฟุ้งซ่าน หาอารมณ์อันไม่มีโทษให้จิตยึด จะได้ไม่พร่าไปหลายทางได้แก่ การเจริญฌานทั้ง ๔ คือ

ปฐมฌาน หรือฌานที่ ๑

ทุติยฌาน หรือฌานที่ ๒

ตติยฌาน หรือฌานที่ ๓

จตุตถฌาน หรือฌานที่ ๔

เคล็ดลับการเป็นพหูสูต ๕ อย่าง

๑.ฟังมาก หรือศึกษาเล่าเรียนมาก
๒.จำมาก คือหมั่นสังเกตจดจำสิ่งต่างๆที่เห็นมา เรียนมา
๓.ท่องจนคล่องขึ้นใจ คือจำได้โดยไม่ต้องนึกคิด
๔.เจนใจ คือการคิดจนสร้างมโนภาพในใจขึ้นได้ทันที
๕.ทะลุปรุโปร่ง คือนำข้อมูลที่ได้ศึกษามาพิจารณาเป็นข้อสรุป อธิบายต้นสายปลายเหตุได้อย่างถูกต้อง

หมวดกสิน ๑๐

เป็นการทำสมาธิด้วยวิธีการเพ่ง

๑. ปฐวีกสิน เพ่งธาตุดิน
๒. อาโปกสิณ เพ่งธาตุน้ำ
๓. เตโชกสิณ เพ่งไฟ
๔. วาโยกสิน เพ่งลม
๕. นีลกสิน เพ่งสีเขียว
๖. ปีตกสิน เพ่งสีเหลือง
๗. โลหิตกสิณ เพ่งสีแดง
๘. โอฑาตกสิณ เพ่งสีขาว
๙. อาโลกกสิณ เพ่งแสงสว่าง
๑๐. อากาศกสิณ เพ่งอากาศ

หมวดอสุภกรรมฐาน ๑๐

เป็นการตั้งอารมณ์ไว้ให้เห็นว่า ไม่มีอะไรสวยงดงาม มีแต่สิ่งสกปรกโสโครก น่าเกลียด

๑๑. อุทธุมาตกอสุภ ร่างกายของคนและสัตว์ที่ตายไปแล้ว นับแต่วันตายเป็นต้นไป มีร่างกายบวมขึ้น พองไปด้วยลม ขึ้นอืด
๑๒. วินีลกอสุภ วีนีลกะ แปลว่า สีเขียว
เป็นร่างกายที่มีสีเขียว สีแดง สีขาว คละปนระคนกัน คือ มีสีแดงในที่มีเนื้อมาก มีสีขาวในที่มีน้ำเหลืองน้ำหนองมาก มีสีเขียวในที่มีผ้าคลุมไว้ ฉะนั้นตามร่างกายของผู้ตาย จึงมีสีเขียวมาก
๑๓. วิปุพพกอสุภกรรมฐาน เป็นซากศพที่มีน้ำเหลืองไหลอยู่เป็นปกติ
๑๔. วิฉิททกอสุภ คือซากศพที่มีร่างกายขาดเป็นสองท่อนในท่ามกลางกาย
๑๕. วิกขายิตกอสุภ เป็นร่างกายของซากศพที่ถูกยื้อแย่งกัดกิน
๑๖. วิกขิตตกอสุภ เป็นซากศพที่ถูกทอดทิ้งไว้จนส่วนต่าง ๆ กระจัดกระจาย มีมือ แขน ขา ศีรษะ กระจัดพลัดพรากออกไปคนละทาง
๑๗. หตวิกขิตตกอสุภ คือ ซากศพที่ถูกสับฟันเป็นท่อนน้อยและท่อนใหญ่
๑๘. โลหิตกอสุภ คือ ซากศพที่มีเลือดไหลออกเป็นปกติ
๑๙. ปุฬุวกอสุภ คือ ซากศพที่เต็มไปด้วยตัวหนอนคลานกินอยู่
๒๐. อัฏฐิกอสุภ คือ ซากศพที่มีแต่กระดูก



อนุสสติกรรมฐาน ๑๐

อนุสสติ แปลว่า ตามระลึกถึง เมื่อเลือกปฏิบัติให้พอเหมาะแก่จริต จะได้ผลเป็นสมาธิมีอารมณ์ ตั้งมั่นได้รวดเร็ว

๒๑. พุทธานุสสติกรรมฐาน ระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์
๒๒. ธัมมานุสสติกรรมฐาน ระลึกถึงคุณพระธรรมเป็นอารมณ์
๒๓. สังฆานุสสติกรรมฐาน ระลึกถึงคุณพระสงฆ์เป็นอารมณ์
๒๔. สีลานุสสติกรรมฐาน ระลึกถึงคุณศีลเป็นอารมณ์
๒๕. จาคานุสสติกรรมฐาน ระลึกถึงผลของการบริจาคเป็นอารมณ์
๒๖. เทวตานุสสติเป็นกรรมฐาน ระลึกถึงความดีของเทวดาเป็นอารมณ์
๒๗. มรณานุสสติกรรมฐาน ระลึกถึงความตายเป็นอารมณ์
๒๘. กายคตานุสสติกรรมฐาน เหมาะแก่ผู้ที่หนักไปในจาคะจริต
๒๙. อานาปานานุสสติกรรมฐาน เหมาะแก่ผู้ที่หนักไปในโมหะ และวิตกจริต
๓๐. อุปสมานุสสติกรรมฐาน ระลึกความสุขในพระนิพพานเป็นอารมณ์

หมวดอาหาเรปฏิกูลสัญญา

๓๑. อาหาเรปฏิกูลสัญญา เพ่งอาหารให้เห็นเป็นของน่าเกลียด บริโภคเพื่อบำรุงร่างกาย ไม่บริโภคเพื่อสนองกิเลส


หมวดจตุธาตุววัฏฐาน

๓๒. จตุธาตุววัฏฐาน ๔ พิจารณาร่างกายประกอบด้วยธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ

หมวดพรหมวิหาร ๔

พรหมวิหาร แปลว่า ธรรมเป็นที่อยู่ของพรหม พรหมแปลว่าประเสริฐ
พรหมวิหาร ๔ จึงแปลว่า คุณธรรม ๔ ประการ ที่ทำให้ผู้ประพฤติปฏิบัติเป็นผู้ประเสริฐ ได้แก่

๓๓. เมตตา คุมอารมณ์ไว้ตลอดวัน ให้มีความรัก อันเนื่องด้วยความปรารถนาดี ไม่มีอารมณ์เนื่องด้วยกามารมณ์ เมตตาสงเคราะห์ผู้อื่นให้พ้นทุกข์
๓๔. กรุณา ความสงสารปรานี มีประสงค์จะสงเคราะห์แก่ทั้งคนและสัตว์
๓๕. มุทิตา มีจิตชื่นบาน พลอยยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี ไม่มีจิตริษยาเจือปน
๓๖. อุเบกขา มีอารมณ์เป็นกลางวางเฉย


หมวดอรูปฌาณ ๔

เป็นการปล่อยอารมณ์ ไม่ยึดถืออะไร มีผลทำให้จิตว่าง มีอารมณ์เป็นสุขประณีต ในฌานที่ได้ ผู้จะเจริญอรูปฌาณ ๔ ต้องเจริญฌานในกสินให้ได้ฌาณ ๔ เสียก่อน แล้วจึงเจริญอรูปฌาณจนจิตเป็นอุเบกขารมณ์

๓๗. อากาสานัญจายตนะ ถือ อากาศเป็นอารมณ์ จนวงอากาศเกิดเป็นนิมิตย่อใหญ่เล็กได้ ทรงจิตรักษาอากาศไว้ กำหนดใจว่าอากาศหาที่สุดมิได้ จนจิตเป็นอุเบกขารมณ์
๓๘. วิญญาณัญจายตนะ กำหนดวิญญาณหาที่สุดมิได้ ทิ้งอากาศและรูปทั้งหมด ต้องการจิตเท่านั้น จนจิตเป็นอุเบกขารมณ์
๓๙. อากิญจัญญายตนะ กำหนดความไม่มีอะไรเลย อากาศไม่มี วิญญาณก็ไม่มี ถ้ามีอะไรสักหน่อยหนึ่งก็เป็นเหตุของภยันตราย ไม่ยึดถืออะไรจนจิตตั้งเป็นอุเบกขารมณ์
๔๐. เนวสัญญานาสัญญายตนะ ทำความรู้สึกตัวเสมอว่า ทั้งที่มีสัญญาอยู่ก็ทำเหมือนไม่มี ไม่รับอารมณ์ใด ๆ จะหนาว ร้อนก็รู้แต่ไม่ดิ้นรนกระวนกระวาย ปล่อยตามเรื่อง เปลื้องความสนใจใด ๆ ออกจนสิ้น จนจิตเป็นอุเบกขารมณ์

อ้างอิงจาก //www.moe.go.th/webrad/webproject/family/3/dhamma/p5.htm




 

Create Date : 23 ตุลาคม 2549    
Last Update : 23 ตุลาคม 2549 21:13:10 น.
Counter : 764 Pageviews.  

ท่านพุทธทาสภิกขุ




“พุทธะ”



คำแรกที่อาตมาจะยกเอามาเป็นตัวอย่าง ก็คือคำว่า “พุทธะ” คำว่าพุทธะก็แปลว่าพระพุทธเจ้า ท่านทั้งหลายก็รู้ดีอยู่แล้ว พุทธะในภาษาคน หมายถึงองค์พระพุทธเจ้า เนื้อหนังของท่าน ร่างกายของท่าน ที่เกิดในประเทศอินเดียเมื่อสองพันกว่าปีมาแล้ว นิพพานแล้ว เผาไหม้ไปหมดแล้ว นั่นพุทธะภาษาคน

ส่วนพุทธภาษาธรรมนั้น หมายถึงตัวธรรมะแท้ที่พระพุทธองค์ตรัสว่า

“ผู้ใดเห็นธรรมะ ผู้นั้นเห็นตถาคต

ผู้ใดเห็นตถาคต ผู้นั้นเห็นธรรมะ”


ผู้ไม่เห็นธรรมะนั้นแม้จะจับจีวรของตถาคตอยู่แท้ ๆ ก็ไม่ชื่อว่าเห็นตถาคตเลย ลองคิดดูว่าธรรมะในที่นี้คืออะไร?

ธรรมะในที่นี้คือ สิ่งที่เป็นนามธรรมไม่เป็นตัวเป็นตนไม่ใช่เนื้อหนัง แต่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า นั่นแหละคือตัวตถาคต องค์ตถาคต ผู้ใดเห็นธรรมะ ผู้นั้นเห็นตถาคต ผู้ใดเห็นตถาคต ผู้นั้นเห็นธรรมะ ไม่เห็นธรรมะก็ชื่อว่าไม่เห็นตถาคต

เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าในภาษาธรรมะนั้น คือตัวธรรมะที่ทำบุคคลให้เป็นพระพุทธเจ้า คือว่าถ้าเห็นแล้วจึงได้ชื่อว่าเห็นพระพุทธเจ้าตัวจริง เห็นแต่เนื้อหนังของท่าน ไม่ชื่อว่าเห็นพระพุทธเจ้า และไม่สำเร็จประโยชน์อะไร

คนเป็นอันมากในครั้งพุทธกาล ไม่ชอบพระพุทธเจ้า ด่าพระพุทธเจ้า ทำร้ายพระพุทธเจ้าก็มี นั่นเขาเห็นเนื้อเห็นตัวท่าน ก็ไม่เข้าใจท่าน เพราะนั่นเป็นพระพุทธเจ้าส่วนเปลือก ส่วนภาษาคน พระพุทธเจ้าเนื้อแท้ ภาษาธรรมะนั้นคือธรรมะในจิตใจของท่าน ที่ทำให้บุคคลเป็นพระพุทธเจ้า นั้นคือธรรมะในจิตใจของท่าน ที่ทำให้บุคคลเป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมา

อย่างที่พระพุทธองค์ตรัสว่า “ผู้ใดเห็นธรรมะ ผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นธรรมะ” นี่คือพระพุทธเจ้าในภาษาธรรมะ

หรืออีกอย่างหนึ่งพระพุทธองค์ตรัสว่า “ธรรมวินัยที่ได้แสดงแล้ว บัญญัติแล้ว นั้นจักอยู่เป็นศาสดาแห่งพวกเธอทั้งหลายในกาลเป็นที่ล่วงลับไปแห่งเรา”

หมายความว่าพระพุทธองค์แท้นั้นไม่ได้ดับหายไป ไม่ได้สูญไป ดับหายไปแต่ร่างกายหรือเปลือก พระศาสดาองค์แท้ คือธรรมวินัยนั้นยังอยู่ อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นพรพุทธเจ้าในภาษาธรรมะ

สรุปความก็ว่า พระพุทธเจ้าภาษาคนนั้น หมายถึงตัวคน พระพุทธเจ้าภาษาธรรมะนั้น หมายถึงธรรมะที่ทำความเป็นพระพุทธเจ้า


“ธรรม” หรือ “ธมฺม”

ทีนี้ก็มาถึงคำที่สอง คือคำว่า “ธรรม” หรือ “ธมฺม” พระธรรม คำว่า พระธรรม ภาษาเด็กๆ ก็หมายถึงพระคัมภีร์หนังสือหนังหา ที่เรียกกันว่าพระธรรมอยู่ในตู้

หรือว่าเสียงที่ใช้แสดงธรรม ดังที่กล่าวออกเสียงอยู่เดี๋ยวนี้ ว่านี่คือตัวธรรม พระคัมภีร์เป็นตัวธรรม เสียงเทศน์เป็นตัวธรรม อย่างนี้เป็นต้น ธรรมะอย่างนี้มันเป็นภาษาคน ภาษาคนโง่ ภาษาคนที่ยังไม่เห็นธรรมะ เรียกว่าภาษาคน

ธรรมะในภาษาธรรมะ นั้นก็คือธรรมะที่เป็นอันเดียวกันกับพระตถาคต ผู้ใดเห็นธรรมะ ผู้นั้นเห็นตถาคต ผู้ใดเห็นตถาคต ผู้นั้นเห็นธรรมะ ธรรมะจริงในภาษาธรรมะนั้นอยู่ที่นั้น

หรือถ้าจะให้จำแนกคำว่า “ธรรม” ในภาษาบาลี นั้นหมายถึงสิ่งที่ละเอียด ลึกซึ้งหลายอย่าง หลายประการ รวมกันที่เรียกว่าธรรมชาติ ไม่มีเวลาที่จะจาระไนโดยรายละเอียด จะกล่าวแต่หัวข้อว่า

- ตัวธรรมชาติแท้ ๆ นั้นก็เรียกว่าธรรมะ

- กฎเกณฑ์ของธรรมชาตินั้น ก็เรียกว่าธรรมะ

- หน้าที่ที่มนุษย์จะต้องประพฤติให้ถูก ให้ต้องตามกฎของธรรมชาตินั้นก็เรียกว่าธรรมะ

- ผลอันใดเกิดขึ้นมาจากการประพฤติปฏิบัติถูกต้องตามธรรมชาตินั้น ก็เรียกว่าธรรมะเหมือนกัน


ธรรมะมีความหมายกว้างขวางอย่างนี้ ไม่ใช่เป็นเพียงหนังสือ คัมภีร์ ใบลาน หรือเสียงเทศน์

คำว่า ธรรมะ ในภาษาธรรมหมายถึงนามธรรมที่เป็นธรรมะที่กว้างขวาง ที่ลึกซึ้ง ที่หมายถึงทุก ๆ สิ่งที่เข้าใจได้ยากก็มี เข้าใจได้ง่ายก็มี


“สังฆะ” หรือ “พระสงฆ์”

ทีนี้ คำถัดไป คำว่า “สังฆะ” หรือ “พระสงฆ์” คำว่าพระสงฆ์ในภาษาคน หมายถึงตัวนักบวชเหลือง ๆ แดง ๆ เพ่นพ่านทั่ว ๆ ไป นี่คือพระสงฆ์ในภาษาคน ภาษาคนโง่ที่ยังไม่เห็นธรรมะ

ส่วนพระสงฆ์ในภาษาธรรมะนั้น หมายถึงธรรมะอีกเหมือนกัน คือธรรมะหรือคุณธรรมทุกขั้นทุกตอนที่มีอยู่ในจิตใจของนักบวชผู้มีคุณธรรม นักบวชคนไหนมีคุณธรรมอยู่ในใจ ไม่ใช่เป็นนักบวชแต่เปลือก คุณธรรมที่มีอยู่ทุกขั้นทุกตอน ในจิตใจของนักบวชนั้นเรียกว่า พระสงฆ์

พระสงฆ์ ภาษาธรรมะก็หมายถึง คุณธรรมหรือพระธรรมอีกเหมือนกัน

พระสงฆ์ ภาษาคนหมายถึงตัวนักบวช พระสงฆ์ภาษาธรรมะ หมายถึงคุณธรรมที่มีอยู่ในจิตใจของคน อย่างที่เราเรียกว่าพระสงฆ์มี 4 คือ โสดา , สกิทาคา , อนาคา และอรหันต์

นี้ก็หมายถึงคุณธรรม ไม่ได้หมายถึงตัวคน เพราะเปลือกหรือตัวคนนั้น มันเหมือน ๆ กันหมดไม่ว่าของใคร มันผิดกันแต่คุณธรรมในใจที่ทำให้เป็นพรโสดา , สกิทาคา , อนาคา และอรหันต์ขึ้นมา เรารู้จักพระสงฆ์ในภาษาธรรมกันเสียบ้าง


“ศาสนา” หรือ “พระศาสนา”

ทีนี้ก็มาถึงคำว่า “ศาสนา” หรือ “พระศาสนา” คำว่า ศาสนาในภาษาคน หรือภาษาคนโง่นั้น หมายถึงโบสถ์ วิหาร เจดีย์ ผ้ากาสาวพัสตร์เหลืองอร่ามไปหมด มีเจดีย์สะพรั่งไปหมด มีโบสถ์สะพรั่งไปหมด ก็ว่า “พระศาสนาเจริญแล้วเว้ย ! ” นี่พระศาสนาในภาษาคน

ส่วนคำว่า ศาสนาในภาษาธรรมะนั้น หมายถึงตัวธรรมะที่แท้จริง ที่เป็นที่พึ่งแก่มนุษย์ได้จริง ธรรมะใดเป็นที่พึ่งแก่มนุษย์ได้จริง ดับทุกข์ให้แก่มนุษย์ได้จริง ธรรมะนั้นคือศาสนา คือสิ่งที่เรียกว่าศาสนาในภาษาธรรมะ

ถ้าศาสนาเจริญ ก็หมายความว่ามีคุณธรรมที่ดับทุกข์ได้จริงแพร่หลายทั่วไปในหมู่มนุษย์

นี้เรียกว่า ศาสนาเจริญ ไม่ใช่เพียงแต่รุ่งเรืองไปด้วยผ้ากาสาวพัสตร์ แล้วก็จะเรียกว่าศาสนาเจริญก็หาไม่

ศาสนาภาษาคน หมายถึงโบสถ์ วิหาร เจดีย์ ผ้ากาสาวพัสตร์ เป็นต้น ภาษาธรรมะ หมายถึงธรรมะที่เป็นที่พึ่งแก่มนุษย์ได้จริง

หรือจะเขยิบให้ใกล้เข้ามาอีกหน่อยหนึ่ง คำว่าศาสนาแปลกันว่า คำสั่งสอน คนโดยมากก็เอาคำสั่งสอนเป็นตัวศาสนา ถ้ามีการเรียนการสอนกันเจริญแล้วก็เรียกว่าศาสนาเจริญ นี้ก็ถูกเหมือนกัน แต่น้อยเกินไป คือถูกแต่ตามตัวหนังสือ ศาสนาที่แปลว่า คำสั่งสอนนี้เป็นภาษาคนไม่ใช่ภาษาธรรมะ

ศาสนาที่เป็นภาษาธรรมะนั้น คือตัวพรหมจรรย์ คือการประพฤติปฏิบัติลงไปจริง ๆ ตามทางธรรมเป็นพรหมจรรย์ที่มีความงดงามในเบื้องต้น พรหมจรรย์ที่มีความงดงามในท่ามกลาง และพรหมจรรย์ที่มีความงดงามในเบื้องปลาย

เหมือนที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสส่งภิกษุ 60 รูป ว่า

“จงไปประกาศพรหมจรรย์แก่ชาวโลก จงประกาศพรหมจรรย์ให้งดงามทั้งเบื้องต้น ท่ามกลางและเบื้องปลาย”

“พรหมจรรย์” ในที่นี้หมายถึงการประพฤติปฏิบัติที่ดับทุกข์ได้จริง งามในเบื้องต้น ก็คือการศึกษาเล่าเรียน งามในท่ามกลางก็คือการปฏิบัติ งามในขั้นปลายสุดท้ายก็คือ ผลของการปฏิบัติที่เกิดขึ้นจริง ๆ นี่คือพรหมจรรย์ที่เป็นตัวศาสนาตามภาษาธรรมะ

ศาสนาของภาษาคน หมายถึงตัวคำสั่งสอน แต่ศาสนาภาษาธรรมะ หมายถึงตัวพรหมจรรย์ที่งดงามในเบื้องต้นในท่ามกลางและเบื้องปลายที่กล่าวมา จึงต่างกันมาก

“ยิ่งเดินจะยิ่งไม่ถึง”
อาตมาจะยกตัวอย่าง ภาษาธรรมะ อย่างรุนแรงมาให้ฟัง เช่น ภาษาธรรมะจะพูดว่า “ยิ่งเดินจะยิ่งไม่ถึง” คนธรรมดาก็ฟังไม่ถูก เพราะว่าการเดินนั้น มันหมายถึงว่า มันต้องการอะไรสักอย่างหนึ่ง แล้วมันก็เดินไปเที่ยวหาเดินไปจะเอาให้ได้

ยิ่งเดินมันก็ยิ่งไม่ถึง คือไม่ถึงความสงบไม่ถึงนิพพาน นิพพานจะถึงได้เพราะไม่ต้องการ เพราะไม่อยาก เพราะไม่หวัง เพราะไม่ปรารถนา มันจึงไม่ต้องเดิน ไม่เดินมันจึงจะถึงนิพพาน ยิ่งเดินยิ่งไม่ถึง ยิ่งเอายิ่งไม่ได้ ยิ่งเอาคือ ยิ่งมีตัณหาอยากเอานั่นเอานี่ เป็นนั่น เป็นนี่ มันก็ยังไม่ได้

พอหยุดเอาเสียเท่านั้น มันก็ได้เต็มที่ขึ้นมาทันที

“ภาษาคนธรรมดา” ไม่ค่อยจะรู้ “ภาษาของธรรมะ” และไม่เคยคิดว่ามีภาษาอีกภาษาหนึ่งซึ่งแตกต่างกัน แทบจะตรงกันข้ามหรือตรงกันข้ามก็มีนั้นเป็นภาษาธรรมะ

จงกำหนดจดจำไว้ให้ดีว่า ภาษาคนนั้นเป็นอย่างหนึ่ง ภาษาธรรมะนั้นเป็นอย่างหนึ่ง ภาษาคนก็คือภาษาโลก ๆ ภาษาของคนที่ไม่รู้ธรรมะ พูดกันอยู่ตามประสาคนที่ไม่รู้ธรรมะนี้เรียกว่าภาษาคน

ส่วนภาษาธรรมะนั้นเป็นภาษาที่ “คน” เหมือนกัน แต่ว่าได้เห็นธรรมะในส่วนลึก หรือเห็นธรรมะที่แท้จริง แล้วพูดไปด้วยความรู้สึกอันนั้นจึงเกิดเป็นภาษาธรรมะขึ้นมา ไม่เหมือนภาษาคน นี้เรียกว่าภาษาธรรมะ

ภาษาจึงมีอยู่เป็น 2 ภาษา คือ ”ภาษาของธรรมะ” อย่างหนึ่ง ”ภาษาของคน” อย่างหนึ่ง ภาษาคนนั้นเอาไปตามทางของวัตถุ ตามทางที่รู้สึกได้ตามคนธรรมดารู้สึก และอาศัยวัตถุเป็นพื้นฐาน ไม่ได้อาศัยธรรมะเป็นพื้นฐาน จึงพูดแต่เรื่องวัตถุ พูดแต่เรื่องโลก พูดแต่เรื่องทีเห็นได้ด้วยตาตามธรรมดาสามัญชน

ส่วนภาษาธรรมนั้น เป็นไปในทางนามธรรมที่ไม่เห็นตัว ไม่เนื่องด้วยวัตถุ ต้องมีปัญญาเห็นนามธรรมเหล่านั้นแล้ว จึงจะพูดเป็น และให้ความหมายเป็น

จึงพูดกันอยู่แต่ในหมู่ผู้เห็นธรรม นี้เป็นภาษาธรรมะภาษานามธรรมที่เหนือไปจากวัตถุ

ถ้าพูดอย่างภาษาสมัยใหม่นี้ก็จะพูดว่า เป็นภาษาทาง Physics ซึ่งอาศัยวัตถุเป็น Physical way of Speaking คือพูดไปตามแบบตามวิธีของฝ่าย Physics ทีนี้ที่ตรงกันข้ามนั้นเป็น Meta-physic คือนอกเหนือที่วิชา Physics จะเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยได้ อย่างนี้เรียกว่า Meta- physics

มีวิธีพูดเป็น Meta- physics way of Speaking ของมันเอง ฉะนั้นเรียกสั้น ๆ ว่ามีภาษา Physics กับภาษาที่เหนือ Physics

ภาษา Physics ก็คือภาษาโลก ภาษาคนที่พูดกันอยู่ตามธรรมดา ที่อาศัยวัตถุเป็นพื้นฐาน ส่วนภาษา Meta- physics ต้องอาศัยนามธรรมเป็นพื้นฐาน

ต้องเคยรู้ต้องเคยศึกษาต้องเคยเข้าใจ ไม่ต้องอาศัยวัตถุเป็นพื้นฐาน แต่อาศัยนามธรรมพวก abstract ต่าง ๆ เป็นพื้นฐาน หวังว่าท่านคงจะเข้าใจ ในความแตกต่างของภาษาธรรมะขึ้นบ้างแล้ว

อาตมาจะชี้ต่อไปว่า เพราะรู้แต่ภาษาคนนี่เอง ไม่รู้ภาษาธรรมะ จึงฟังธรรมะแท้ ๆ ไม่เข้าใจ

คือธรรมะในชั้นสูง ธรรมะในชั้นโลกุตตระ ที่ดับทุกข์ได้จริงนั้น ฟังไม่เข้าใจ

เพราะรู้แต่ภาษาคน ไม่รู้ภาษาธรรมะ ทีนี้เพื่อจะเปรียบเทียบให้เห็น ก็ต้องยกมาทั้งภาษาคน และภาษาธรรม ควบคู่กันไปทีเดียว ขอให้สนใจในนิกเขปบทที่ได้ยกขึ้นไว้ข้างต้นว่า :


อปฺปมตฺโต อุโภ อตฺเถ อธิคฺคณฺหาติ ปณฺฑิโต (ผู้ที่เป็นบัณฑิตเป็นผู้ไม่ประมาท ย่อมถือเอาอรรถทั้งหลายทั้งสองได้)

อตฺถาภิสมยา ธีโร ปณฺฑิโตติ ปวฺจฺจติ (เป็นคนฉลาดรู้พร้อมทั้งอรรถทั้งหลายแล้ว เขาก็เรียกว่าเป็นบัณฑิต)

นี้เป็นหลักทั่ว ๆ ไป ที่จะใช้ในทางธรรมะชั้นสูงก็ได้ ชั้นต่ำก็ได้ แม้จะใช้กับเรื่องภาษาพูดก็ได้ เพราะมีคำจำกัดชัดอยู่ว่า อุโภ อตฺเถ ซึ่งความหมายทั้งสอง หรือซึ่งอรรถะได้ทั้งสองฝ่ายหรือสองอย่าง

ไม่ใช่ถือเอาได้แต่อย่างเดียว เช่นถือเอาแต่ความหมายในทางภาษาคนได้

แต่ไม่ถือเอาความหมายในทางภาษาธรรมได้

อย่างนี้ก็ต้องเรียกว่าไม่ใช่บัณฑิต ไม่ใช่คนฉลาด เพราะพระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสไว้ว่า ถ้าเป็นคนฉลาดต้องถือเอาอรรถะทั้งหลายได้ทั้งสองฝ่ายนั่นเอง เราต้องเป็นคนไม่ประมาท ขยันศึกษา ถือเอา อรรถะทั้งสองฝ่ายให้ได้ คือทั้งฝ่ายภาษาคนและฝ่ายภาษาธรรม ซึ่งจะได้เปรียบเทียบให้เห็นต่อไป ขอให้ตั้งใจฟังให้ดีสักหน่อย.







 

Create Date : 09 ธันวาคม 2548    
Last Update : 16 กรกฎาคม 2549 11:14:22 น.
Counter : 1224 Pageviews.  

เสียดายคนตายไม่ได้อ่าน



ทำไมคนเราถึงกลัวความตาย อาจเป็นเพราะเราไม่เคยรู้จริงๆเลยว่าตายแล้วไปไหน จะตายเมื่อไหร่ อย่างไร ที่ไหน ไอ้คนที่ตายไปแล้วก็ไม่เคยมาบอกให้ละเอียด จะได้ทำตาม ให้แน่ๆไปเลย

บางคนเป็นเจ้าแห่งการวางแผน พยายามวางขั้นตอนทุกอย่าง ทุกย่างก้าวของชีวิต คิดหาทางออกเตรียมการไว้มากมาย แต่กลับไม่เคยคิดวางแผนก่อนตาย หรือเมื่อตายไปแล้วเลย จะดีกว่าไม๊ถ้าเราจะมาศึกษาเรื่องนี้ให้ลึกซึ้ง ถ้าความตายไม่ใช่จุดจบหล่ะ ก็เห็นว่าไม่น่าเสียหายอะไรถ้าจะเตรียมเผื่อเหลือเผื่อขาดเอาไว้ อ่านหนังสือเรื่องนี้ทำให้เข้าใจบ้าง สงสัยบ้าง

1.ทำไมไม่มีข้อมูลรายละเอียดลึกซึ้งชี้ชัดไปเลยว่า ตายแล้วไปไหน นรก สวรรค์มีจริงรึเปล่า ถ้ามีจริงคนตายน่าจะมาบอกเล่าญาติ หรือ คนรัก กันบ้าง เพื่อให้เค้ารู้ และปฏิบัติตัวได้ถูก

2.ถ้ามีการเวียนว่ายตายเกิดจริงทำไมจึงจำอะไรไม่ได้เลย ความเป็นไปได้คือ มีการชดใช้กรรมในปรโลกอย่างยาวนาน มีระบบการล้างความจำก่อนส่งมาเกิด หรือ ความจำค่อยๆหายไปเองขณะอยู่ในท้องเก้าเดือน เพราะบางทีตื่นมายังจำเรื่องที่เพิ่งฝันไปไม่ได้เลย นับประสาอะไรกับนอนหลับไปเก้าเดือน แต่ก็อาจมีบางคนที่ความจำดีเป็นพิเศษ หรือ ยาลบความจำไม่สามารถทำลายเมมโมรี่เค้าได้ ทำให้เกิดจำพ่อ แม่ ที่อยู่ในชาติก่อนๆได้อีก พากันยุ่งไปใหญ่

3.ความจำลบได้ แต่ไม่สามารถลบความสามารถที่มีติดตัวมาในชาติก่อนๆได้ ที่เราเรียกว่า พรสวรรค์ เช่น โมสาร์ท เล่นดนตรีตั้งแต่ 4 ขวบ แต่งเพลงตอน 5 ขวบ ทำให้อาร์ชบิชอพตะลึงจนให้เป็นสมาชิกวงดนตรีประจำสำนักตอน 6 ขวบ หรือ ไมเคิล เคียร์นีย์ มีไอคิวสูงจนเข้าม.ปลายตอนอายุแค่5 ขวบ เข้าเตรียมมหาลัยเมื่ออายุเพียง 6 ขวบ อลิเชีย วิตต์ ดาราฮอลลีวูด พูดคำแรกตอน 1 เดือน อ่านหนังสือได้เมื่ออายุแค่6 เดือน เขียนนวนิยายตอน 5 ขวบ บังเอิญเกินไปรึเปล่า น่าแปลก

4.หลายคนเชื่อว่า กรรม เป็นตัวกำหนดลักษณะทั้งหมดของเราก่อนจะเกิดมาในท้องพ่อท้องแม่ด้วยซ้ำ เช่น กำหนดว่า ต้องมาเกิดที่ครอบครัวนี้ ฐานะนี้ ประเทศนี้ มีรูปร่างหน้าตาอย่างนี้ หญิงหรือชาย ผิวพรรณหยาบละเอียด ขาวดำ หรือ มีปัญญาฉลาดโง่ อย่างไร

5.น่าแปลกอีกอย่างที่สัดส่วนของบางอย่างกลับเหมือนกันทั่วโลก จนเหมือนสัจจะ เช่นหญิงมากกว่าชาย จนมากกว่ารวย โง่มากกว่าฉลาด หน้าตาไม่สวยมากกว่าสวย คนธรรมดามากกว่าดารา เสียงเห่ยมากว่าเสียงเพราะ สัตว์มากกว่าคน เป็นต้น

6.ทำไมคนบางคนเกิดมาในกองเงินกองทอง ชีวิตสุขสบาย ไม่ต้องทำอะไร ไม่ต้องฉลาดแต่ก็มีกินมีใช้ไปทั้งชาติ บางคนโคตรจนแถมยังถูกโชคชะตาดลบันดาลให้ไฟไหม้บ้าน น้ำท่วม เบี้ยวหนี้ หรือ พิการอีก ทำไมบางคนเวลามีปัญหากลับมีคนยื่นมือมาช่วย หรือโชคช่วยทุกครั้ง ทำไมบางคนทำอะไรก็ล้มเหลวไปซะหมด เชื่อว่าหลายคนเถียงคอเป็นเอ็นว่าก็มันแล้วแต่ความคิด นิสัย การทำตัวของคนๆนั้น แต่อันนี้ก็ปัดเรื่องโชคหรือเรามักเรียกว่าความบังเอิญไม่ได้สักกะที

7.บางคนข้องใจว่าทำไมทำดีไม่ได้ดี ไอ้ที่ทำชั่วโกงเป็นพันๆล้านกลับไม่เห็นมันเป็นอะไรสักที อันนี้ก็อาจเป็นเพราะว่าชาติก่อนเค้าทำบุญมามาก พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า กรรม คือการกระทำ ส่วน วิบาก คือผลของการกระทำ ชั่ว ดี อันนี้ควบคุมไม่ได้ แบ่งเป็น วิบากในภพนี้ ภพหน้า และ ภพถัดๆไป ดั้งนั้นวิบากตัวนี้อาจจะตามติดเรา ท่านไปส่งผลเร็วช้า ไม่รู้ได้ แต่ได้รับแน่ๆ ตามความหนักเบา
8.บางทีเรื่องกรรมตกแต่งอวัยวะ อาจเป็นจริงเพราะ มีหลักสถิติว่าคนที่มีรูปร่าง ลักษณะอย่างนั้นอย่างนี้ จะมีดวงชะตาเป็นเช่นไรตามหลักโหงวเฮ้งของจีน

9.คนทำดีหรือมีบุญวาสนาจะมีรัศมีออกจากตัว ตามนุษย์ก็รู้สึกได้ว่า คนๆนี้ช่างสง่า หรือ บ้านๆเรียกว่าราศรีจับ พวกผี เปรตก็เห็น จะไม่ค่อยกล้าเข้าใกล้ พวกนี้จะมีกรรมดีรักษาอยู่ คนดวงตกอาจพึ่งพาร่มเงาใบบุญจากคนพวกนี้ได้ เค้าเรียกว่าคนดวงแข็ง

10.พระพุทธเจ้าเคยตรัสสอนแก่ปุถุชนโดยเปรียบเทียบบุญหนึ่งหน่วยเท่ากับ 1 บาท ว่า
1.ให้ทานแก่สัตว์เดรัจฉาน พึงหวังทานร้อยเท่า คือ สมมติทำไป 1 บาท จะได้ผลกลับ 100 บาท เช่นเช่น หมา แมว หรือ สิ่งมีชิวิตเล็กๆก็นับ
2.ให้ทานปุถุชนผู้ทุศีล พึงหวังทานพันเท่า คือ ช่วยเหลือ คนเคยทำชั่ว จะได้ผลทาน 1000 บาท ต่อ การทำบุญ 1 บาท
3.ให้ทานปุถุชนผู้มีศีล พึงหวังทานแสนเท่า คือ อุปการะช่วยเหลือสงฆ์ จะได้ทานเป็น 100000 บาท ถ้าทำบุญไป 1 บาท
4.ให้ทานบุคคลนอกศาสนาผู้ปราศจากความกำหนัดในกาม พึงหวังผลทานโกฏิเท่า คือ การสนับสนุนช่วยเหลือแก่นักบวชศาสนาอื่นๆ จะได้ผลทานเป็นสิบล้านเท่า
5.ให้ทานผู้ปฏิบัติเพื่อทำโสดาปัตติผลให้แจ้ง บรรลุมรรค พึงหวังผลนับประมาณไม่ได้

11.การทำทานโดยเจตนาจะได้ผลบุญน้อยกว่าทำโดยไม่มีเงื่อนไข การทำบุญอย่าไปคิดเล็กคิดน้อย

12.กรรมทำให้มีปัญญามาก คนที่มักแจกจ่ายความรู้ ช่วยเหลือผู้อื่นแบบไม่หวงวิชา อยากเอาหน้า จะยิ่งเสริมให้มีสติ ความฉลาด พระพุทธเจ้าตรัสว่า การให้ธรรมเป็นทานชนะทานทั้งปวง คือ ผู้ใดที่สามารถช่วยเหลือปุถุชนให้หลุดพ้นจากความทุกข์ วิบากกรรมได้ ถือว่ายิ่งใหญ่ชนะทานทั้งปวง

13.จิตลึกซึ้งก่อนตายสำคัญที่สุด ในการกำหนดชาติภูมิต่อไป หรือ ขึ้นสวรรค์ ลงนรกชดใช้กรรม

By Toodtoo Oyeah!




 

Create Date : 04 ธันวาคม 2548    
Last Update : 16 กรกฎาคม 2549 11:13:59 น.
Counter : 534 Pageviews.  


ตุ๊ดตู่ โอ้เย
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]









Friends' blogs
[Add ตุ๊ดตู่ โอ้เย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.