Group Blog
 
All blogs
 

สุทธินำกลับ



ใบสุทธินำกลับ เป็นเอกสารทางศุลกากรซึ่งออกให้เพื่อเป็นหลักฐานว่าของที่ส่งออกหรือส่งกลับออกไปนั้นจะนำกลับเข้ามาภายในระยะเวลา 1 ปีโดยจะได้รับยกเว้นอากรเมื่อนำกลับเข้ามา

ใบสุทธินำกลับก็คือสำเนาใบขนสินค้าขาออกที่ทำเพิ่มขึ้นเพื่อใช้ยื่นผ่านพิธีการและตรวจปล่อยสินค้าขาออกนั่นเอง บนใบสุทธินำกลับจะปรากฎบันทึกต่างๆของเจ้าหน้าที่ศุลกากรตรงกับต้นฉบับใบขนสินค้าขาออก และมีบันทึกไว้ว่าเป็นใบสุทธินำกลับประเภทที่ 1 หรือ 2 ดังนี้
"ใบสุทธินำกลับนี้ให้ไว้ตามพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ภาค 4 ประเภทที่ 1 แก่ผู้ส่งออกตามใบขนสินค้าฉบับนี้ ซึ่งจะนำกลับเข้ามาในราชอาณาจักรภายใน 1 ปี โดยไม่เปลี่ยนแปลงลักษณะหรือรูปร่างแต่ประการใด" หรือ
"ใบสุทธินำกลับนี้ให้ไว้ตามพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ภาค 4 ประเภทที่ 2 แก่ผู้ส่งออกตามใบขนสินค้าฉบับนี้ เป็นของที่นำเข้ามาในประเทศไทยซึ่งได้เสียอากรไว้ครบถ้วนแล้ว ได้ส่งกลับไปซ่อม ณ ต่างประเทศ แล้วจะนำกลับเข้ามาภายใน 1 ปี"

1. ขั้นตอน และมีวิธีปฏิบัติของการส่งของออกไป เช่น ส่งออกไปซ่อมหรือออกไปแสดงที่ต่างประเทศ แล้วนำกลับเข้ามาใหม่
ของที่ส่งออกหรือส่งกลับออกไปนอกราชอาณาจักร เมื่อนำกลับเข้ามาใหม่จะอยู่ในข่ายได้รับยกเว้นอากร ทั้งนี้มีเงื่อนไขว่าต้องนำกลับเข้ามาภายในกำหนด 1 ปี และได้รับใบสุทธินำกลับในเวลาที่ส่งออกไว้แล้ว
การยกเว้นอากรนำเข้าแก่ของที่ได้ส่งออกไป และนำกลับเข้ามาภายใต้เงื่อนไขดังกล่าว แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
ประเภทที่ 1 การยกเว้นอากรนำเข้าสำหรับของที่ได้ส่งออกหรือส่งกลับออกไป ซึ่งนำกลับเข้ามาอีกโดยของนั้นไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างลักษณะใดๆ กล่าวคือนำกลับเข้ามาในสภาพเดิมนั่นเอง เช่น กรณีนำออกไปแสดง เป็นต้น ได้รับยกเว้นอากรทั้งหมด
ประเภทที่ 2 การส่งของที่ได้นำเข้ามา (โดยได้ชำระอากรนำเข้าแล้ว) กลับออกไปเพื่อซ่อมแซมในต่างประเทศ เมื่อนำกลับเข้ามาจะได้รับยกเว้นอากรเฉพาะส่วนที่ได้ชำระอากรไว้แล้วเมื่อนำเข้ามาครั้งแรก ส่วนที่เพิ่มเติมขึ้นมาจากการซ่อมแซมจะต้องชำระอากรตามราคาของส่วนที่เพิ่มขึ้น

โดยมีขั้นตอนการปฏิบัติ ดังนี้
ขั้นตอนการส่งออก
ให้ผู้ส่งออกแนบคำร้องขอใบสุทธินำกลับและเพิ่มสำเนาใบขนสินค้าขาออกอีก 1 ฉบับ มีข้อความตรงกับต้นฉบับใบขนสินค้าขาออกทุกประการ ยื่นผ่านพิธีการศุลกากรตามปกติ ณ หน่วยงานพิธีการของท่าที่ส่งสินค้าออก เมื่อปฏิบัติพิธีการเสร็จแล้วเจ้าหน้าที่ศุลกากรจะบันทึกข้อความแสดงประเภทของใบสุทธินำกลับ (ประเภทที่ 1 หรือ 2) และหลังจากเจ้าหน้าที่ฯ สลักรายการตรวจและการบรรทุกของที่ส่งออกในใบสุทธินำกลับแล้ว จะคืนใบสุทธินำกลับให้ผู้ส่งออกเก็บไว้เป็นหลักฐานสำหรับมายื่นเมื่อนำเข้าสินค้ากลับเข้ามา

ขั้นตอนการนำเข้า
ประเภทที่ 1 ผู้นำของกลับเข้ามาต้องยื่นใบขนสินค้าขาเข้าพร้อมทั้งแนบเอกสารการนำเข้า เช่น บัญชีราคาสินค้า ใบตราส่ง และใบสุทธินำกลับ และผ่านพิธีการศุลกากรตามปกติ
ประเภทที่ 2 ผู้นำของกลับเข้ามาต้องยื่นใบขนสินค้าขาเข้าโดยสำแดงประเภทพิกัดประเภทที่ 2 ภาค 4 และสำแดงราคาค่าซ่อม ค่าอุปกรณ์ หรือค่าอะไหล่ที่เพิ่มขึ้น หรือที่เปลี่ยนแปลง สำแดงพิกัดอัตราศุลกากรเดียวกันกับที่เคยชำระในการนำเข้าครั้งแรก พร้อมทั้งแนบเอกสารการนำเข้า เช่น บัญชีราคาสินค้า ใบตราส่ง และใบสุทธินำกลับ ในการชำระอากรนั้น ผู้นำเข้าจะได้รับยกเว้นค่าอากรเฉพาะของเดิมที่ส่งออกไปซ่อมเท่านั้น ส่วนของที่เปลี่ยนแปลงหรือที่เพิ่มขึ้นมาเนื่องจากการซ่อมนั้นต้องชำระอากรตามพิกัดอัตราอากรของของที่ส่งออกไปซ่อม โดยใช้ราคา FOB เป็นฐานในการคำนวณเงินอากรขาเข้า ทั้งนี้ไม่รวมถึงค่าใช้จ่ายในการขนส่งและการประกันภัย เช่น ส่งเปียโนออกไปซ่อมที่ญี่ปุ่นเสียค่าซ่อมและค่าอะไหล่เป็นเงิน 10,000.- บาท ผู้นำเข้าต้องชำระอากรในพิกัด 9201.10 อัตรา 10% ดังนั้นผู้นำเข้าจะต้องชำระอากรเป็นเงิน 1,000.-บาท

2. การขอยกเว้นอากรแก่ของที่นำกลับเข้ามา กรณีไม่มีใบสุทธินำกลับ
ก. กรณีที่ไม่มีใบสุทธินำกลับแต่มีหลักฐานการส่งออกทางศุลกากร (ใบขนสินค้าขาออก) และนำกลับเข้ามาภายใน 1 ปี เมื่อนำกลับเข้ามาจะต้องยื่นคำร้องขอผ่อนผันใบสุทธินำกลับเสียก่อน ณ หน่วยงานพิธีการของท่าที่นำสินค้าเข้า เอกสารที่ใช้ในการยื่นขอผ่อนผันมีดังนี้
1. คำร้องแจ้งเหตุผลในการนำสินค้ากลับเข้ามาในประเทศและเลขที่ใบขนสินค้าขาออกที่ส่งสินค้านั้นออกไป
2.ใบขนสินค้าขาเข้าที่นำสินค้านั้นกลับเข้ามาและเอกสารประกอบใบขนสินค้าฉบับนั้น (เช่น Invoice, Bill of Lading ฯลฯ)
3.ใบตราส่งสินค้าฉบับขาออกและ/หรือหลักฐานการคืนเงิน หรือหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง
4.กรณีขอผ่อนผันใบสุทธินำกลับของที่ส่งออกไปซ่อม (ประเภทที่ 2) ให้ระบุเลขที่ใบขนสินค้าขาเข้าสำหรับของที่ส่งออกไปซ่อมที่ได้เสียภาษีไว้แล้ว
ข. กรณีไม่มีใบสุทธินำกลับและไม่มีใบขนสินค้าขาออก แต่พิสูจน์ได้ว่าเป็นของที่กำเนิดในประเทศไทย และนำกลับเข้ามาภายใน 1 ปี ก็สามารถยื่นขอผ่อนผันใบสุทธินำกลับได้ กรณีนี้ได้แก่สินค้าประเภทเครื่องประดับ หรือของที่นักทัศนาจรชาวต่างประเทศซื้อติดตัวไปและส่งคืนมายังผู้ขาย หรือกรณีผู้เดินทางนำออกไปแล้วนำกลับมาพร้อมกับตน เป็นต้น ซึ่งกรณีนี้จะต้องถูกเปรียบเทียบปรับเพื่อระงับคดีฐานนำของออกไปโดยไม่ผ่านศุลกากร เป็นเงิน 1000 บาท
ค. กรณีไม่มีใบสุทธินำกลับและเป็นของที่นำออกไปจากคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทโรงผลิตสินค้าหรือ ร้านค้าปลอดอากร หรือของที่ขอคืนอากรตามมาตรา 19 ทวิ พ.ร.บ. ศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 หรือของชดเชยค่าภาษีอากรจะผ่อนผันใบสุทธินำกลับให้เมื่อได้ตรวจสอบว่าได้ส่งเงินชดเชยค่าภาษีอากร หรือเงินอากรคืนกรมศุลกากรแล้ว
ง. กรณีไม่เข้าหลักเกณฑ์ข้างต้น กรมศุลกากรจะพิจารณาอนุญาตเป็นการเฉพาะราย

3. วิธีปฏิบัติกรณีของที่ส่งออกไปนอกประเทศโดยมีใบสุทธินำกลับแล้วแต่ไม่สามารถนำกลับเข้ามาให้ทันกำหนดเวลา 1 ปี
การนำของเข้ามาไม่ทันภายในกำหนด 1 ปี ให้ยื่นขอผ่อนผันขยายเวลาได้ดังนี้
1. กรณีที่ยังมิได้นำสินค้ากลับเข้ามาและใบสุทธินำกลับครบกำหนดเวลา 1 ปีนับแต่วันส่งออก ให้ยื่นขอขยายเวลาที่หน่วยงานที่ออกใบสุทธินำกลับเป็นผู้พิจารณา
2. กรณีนำสินค้ากลับเข้ามาแล้วและใบสุทธินำกลับครบกำหนดเวลา 1 ปีนับแต่วันส่งออกแล้ว ให้ยื่นขอขยายเวลา ณ ท่าที่นำสินค้านั้นเข้า

การผ่อนผันให้ขยายกำหนดเวลาของใบสุทธินำกลับจะให้ขยายเวลาตามสมควรแก่กรณี แต่ให้ขยายได้ครั้งละไม่เกิน 1 ปี




 

Create Date : 25 กรกฎาคม 2549    
Last Update : 25 กรกฎาคม 2549 20:20:01 น.
Counter : 2477 Pageviews.  

A.T.A CARNET



เอกสารค้ำประกัน (A.T.A. CARNET)

หมายถึงเอกสารศุลกากรระหว่างประเทศที่ใช้ในการผ่านพิธีการศุลกากรแทนใบขนสินค้าขาเข้า ใบขนสินค้าขาออก ใบสุทธิสำหรับนำกลับ เอกสารผ่านแดนควบคุมการส่งของจากด่านศุลกากรแห่งหนึ่งไปยังด่านศุลกากรอีกแห่งหนึ่งภายในประเทศ และเป็นเอกสารค้ำประกันค่าภาษีอากรสำหรับของที่นำเข้ามาชั่วคราวโดยได้รับการยกเว้นอากรภายใต้อนุสัญญา เอทีเอ คาร์เนท์

1. สินค้าที่อยู่ในข่ายใช้ระบบเอ.ที.เอ คาร์เนท์

(1) เครื่องมือสำหรับใช้ในวิชาชีพหนังสือพิมพ์ สำหรับการแพร่เสียงหรือการแพร่ภาพทางโทรทัศน์

(2) เครื่องมือสำหรับใช้ในวิชาชีพการสร้างภาพยนตร์

(3) เครื่องมือสำหรับใช้ในวิชาชีพอื่น ๆ เช่น
(3.1) เครื่องมือใช้ในการสร้าง การทดสอบ การใช้งาน การตรวจสอบ การควบคุมการบำรุงรักษาหรือซ่อมแซมเครื่องจักร โรง
งาน พาหนะที่ใช้ในการขนส่ง
(3.2) เครื่องมือที่จำเป็นสำหรับนักธุรกิจ ที่ปรึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพของธุรกิจผู้เชี่ยวชาญด้านประสิทธิภาพการผลิต นักบัญชี
ี และสมาชิกของวิชาชีพที่คล้ายคลึงกัน
(3.3) เครื่องมือที่จำเป็นสำหรับผู้เชี่ยวชาญที่ทำการสำรวจภูมิประเทศหรืองานสำรวจทางภูมิศาสตร์
(3.4) เครื่องมือและเครื่องใช้ที่จำเป็นสำหรับแพทย์ ศัลยแพทย์ สัตวแพทย์ การผดุงครรภ์
(3.5) เครื่องมือที่จำเป็นสำหรับผู้มีอาชีพให้ความบันเทิง คณะละคร และวงดนตรีออเคสตร้า รวมทั้งสิ่งของต่าง ๆ ทั้งหมดที่ใช้
ในการแสดงสำหรับสาธารณชนและที่ไม่ใช่สาธารณชน

(4) ของที่นำเข้ามาเพื่อนำออกแสดงหรือสาธิตในงานนิทรรศการ งานแสดงสินค้า หรืองานประชุม

(5) ของที่นำเข้ามาเพื่อใช้เกี่ยวข้องกับการนำสินค้าต่างประเทศออกแสดงในงานนิทรรศการ งานแสดงสินค้า หรืองานประชุม

(6) เครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ รวมถึงอุปกรณ์การแปล เครื่องมือสำหรับการบันทึกเสียงและภาพยนตร์เกี่ยวกับการศึกษา วิทยาศาสตร์
หรือวัฒนธรรม สำหรับใช้ในการประชุมระหว่างประเทศ

(7) สินค้าตัวอย่างเล็ก ๆ น้อย ๆ สำหรับแจกจ่ายฟรีให้ผู้เข้าชมนิทรรศการ

(8) สินค้าที่นำเข้ามาสาธิตและถูกบริโภคหรือทำลายไปในกระบวนการของการสาธิต

(9) สินค้าที่มีมูลค่าต่ำที่ใช้ในการก่อสร้าง การตกแต่ง และการประดับประดาร้านชั่วคราว

(10) สิ่งพิมพ์ แคตตาล็อก หนังสือแจ้งทางการค้า บัญชีราคาสินค้า แผนภาพโฆษณา ปฏิทิน ภาพถ่าย

(11) แฟ้มเอกสาร บันทึก แบบฟอร์ม และเอกสารอื่น ๆ ที่นำเข้ามาใช้ในการประชุมระหว่างประเทศ

(12) ตัวอย่างสินค้าที่นำเข้ามาแสดงหรือสาธิตเพื่อชักชวนให้สั่งซื้อสินค้านั้น

(13) ฟิล์มภาพยนตร์โฆษณาโพสิทีฟขนาดไม่เกิน 16 มม. ที่มีภาพแสดงให้เห็นถึงลักษณะหรือการทำงานของผลิตภัณฑ์หรือเครื่องมือ
อุปกรณ์ที่ไม่สามารถสาธิตได้โดยเพียงการ ดูจากตัวอย่างสินค้าหรือแคตตาล็อก

(14) เครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่ใช้ในการวิจัยหรือการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ และเครื่องอะไหล่ของเครื่องมือดังกล่าว

(15) เครื่องมือทางช่างที่ใช้บำรุงรักษา ทดสอบ วัด หรือซ่อมแซมเครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่ใช้ในการวิจัยหรือการศึกษาทาง
วิทยาศาสตร์


2. พิธีการส่งออกภายใต้ระบบระบบ เอ.ที.เอ. คาร์เนท์

2.1 เอกสารที่ควรจัดเตรียมในการส่งออกภายใต้ระบบระบบ เอ.ที.เอ. คาร์เนท์

(1) แบบการส่งออก (สีเหลือง)

(2) แบบธุรกิจต่างประเทศ กรณีมูลค่าการส่งออกเกิน 500,000 บาท ยกเว้นการส่งออกในกรณีดังต่อไปนี้ ผู้ส่งออกจะได้รับการยกเว้นไม่ต้องยื่นแบบธุรกิจต่างประเทศ ให้กับกรมศุลกากร

(2.1) ตัวอย่างสินค้า
(2.2) ของนำเข้ามาโดยไม่มีการชำระเงิน แล้วส่งกลับออกไปภายในระยะเวลาที่ได้ทำสัญญาไว้กับกรมศุลกากร
(2.3) ของที่พนักงานเจ้าหน้าที่ศุลกากรพอใจว่านำเข้ามาเป็นครั้งคราวเพื่อแสดงในงานสาธารณะที่เปิดให้ประชาชนดูได้ทั่วไป หรือนำเข้ามาเพื่อใช้ในการประชุมระหว่างประเทศ

(3) เอกสารประกอบแบบส่งออกและแบบส่งกลับออกไป เฉพาะในส่วนของบัญชีราคาสินค้า (Invoice) หรือบัญชีรายละเอียดสินค้า (Packing List) ได้รับยกเว้นไม่ต้องยื่นประกอบ โดยผู้ส่งของออกจะต้องสำแดงรายละเอียดไว้ในแบบส่งออก และแบบส่งกลับออกไป และให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบรับรอง โดยไม่ต้องใช้ Invoice และ Packing List

2.2 ขั้นตอนการปฏิบัติพิธีการการส่งออกภายใต้ระบบระบบ เอ.ที.เอ. คาร์เนท์

(1) ผู้ส่งออกยื่นเอกสารแบบส่งออก (สีเหลือง) ทั้งต้นขั้ว (EXPORTATION COUNTERFOIL) และใบสำคัญคู่ต้นขั้ว (EXPORTATION VOUCHER) ที่กรอกข้อความครบถ้วนสมบูรณ์แล้วพร้อมเอกสารประกอบ ณ สำนักงานหรือด่านศุลกากรที่ส่งออก

(2) กรมศุลกากรตรวจสอบเอกสารและออกเลขที่ยกเว้นอากรหรือเลขที่ชำระอากร (ถ้ามี) แล้วมอบเอกสารทั้งหมดให้ผู้ส่งออกไปทำการตรวจปล่อยสินค้า หรือชำระอากรแล้วแต่กรณี

(3) ผู้ส่งออกนำเอกสารไปติดต่อกับส่วนตรวจสินค้าเพื่อขอรับสินค้าออกจากอารักขาศุลกากร

2.3 ข้อควรทราบในการส่งออกภายใต้ระบบ เอ.ที.เอ. คาร์เนท์

(1) แบบส่งออก (สีเหลือง) ส่วนของใบสำคัญคู่ต้นขั้ว (EXPORTATION VOUCHER) สามารถใช้เป็นเอกสารที่ใช้แทนใบขนสินค้าขาออก และส่วนของต้นขั้ว (EXPORTATION COUNTERFOIL) ใช้เป็นใบสุทธิสำหรับนำกลับเข้ามา

(2) การนำเข้า-ส่งออกโดยใช้เอกสารค้ำประกัน (เอ.ที.เอ. คาร์เนท์) ผู้นำเข้า-ส่งออกสามารถใช้เอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารค้ำประกันค่าภาษีอากรและค่าภาระติดพันเฉพาะสินค้าที่นำเข้ามาชั่วคราวเท่านั้น หากการส่งออกมีค่าภาษีอากรอื่น ๆ ผู้ส่งออกต้องชำระตามปกติ

(3) การยกเว้นใบอนุญาต จะได้รับยกเว้นเฉพาะของนำเข้าและเป็นไปตามเงื่อนไขในอนุสัญญาการนำเข้าทั้ง 4 ฉบับ ส่วนสินค้าส่งออก เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังนี้

(3.1) การส่งของออกโดยใช้แบบส่งออก (สีเหลือง) แล้วจะนำกลับเข้ามาในภายหลัง ในขณะส่งออก ถ้ามีกฎหมายหรือระเบียบใดกำหนดให้ต้องขออนุญาต ก็ต้องมีใบอนุญาตตามปกติ
(3.2) ของนำเข้าชั่วคราวแล้วส่งกลับออกไปโดยใช้แบบส่งกลับออกไป (สีขาว) (RE-EXPORTATION) ตามปกติของนำเข้าชั่วคราวที่มีใบอนุญาตนำเข้า ในใบอนุญาตจะกำหนดวันส่งออกไว้ด้วย จึงถือเป็นใบอนุญาตนำเข้า-ส่งออก ในฉบับเดียวกัน

(4) โดยที่เอกสารค้ำประกัน (เอ.ที.เอ. คาร์เนท์) ไม่มีสำเนา กรณีเอกสารถูกทำลาย สูญหายหรือถูกขโมย ผู้นำเข้าสามารถขอให้สภาหอการค้าต่างประเทศออกเอกสารให้ใหม่เพื่อทดแทนฉบับที่สูญหายได้


3. พิธีการนำของกลับเข้ามาภายใต้ระบบ เอ.ที.เอ. คาร์เนท์

3.1 เอกสารที่ควรจัดเตรียมในการนำของกลับเข้ามาภายใต้ระบบ เอ.ที.เอ. คาร์เนท์

(1) แบบนำกลับเข้ามา (สีเหลือง)
(2) ใบสั่งปล่อย
(3) เอกสารอื่น ๆ (ถ้ามี)

3.2 ขั้นตอนการปฎิบัติพิธีการนำกลับเข้ามา

(1) ผู้นำเข้ายื่นเอกสารแบบนำกลับเข้ามา (สีเหลือง) ทั้งต้นขั้ว (RE-IMPORTATION COUNTERFOIL) และใบสำคัญคู่ต้นขั้ว (RE-IMPORTATION VOUCHER) ใบสั่งปล่อย และเอกสารประกอบต่อสำนักงานหรือด่านศุลกากรที่นำเข้า

(2) กรมศุลกากรตรวจสอบเอกสาร หากถูกต้องตรงกับการส่งออกจะพิจารณาอนุมัติการยกเว้นอากร แล้วมอบเอกสารทั้งหมดให้ผู้นำเข้าไปทำการตรวจปล่อยสินค้า

(3) ผู้นำเข้านำเอกสารไปติดต่อกับส่วนตรวจสินค้าเพื่อตรวจปล่อยสินค้าออกจากอารักขาศุลกากร


4. พิธีการนำเข้าภายใต้ระบบ เอ.ที.เอ. คาร์เนท์

4.1 เอกสารที่ควรจัดเตรียมในการนำเข้าภายใต้ระบบ เอ.ที.เอ. คาร์เนท์

(1) แบบนำเข้า(สีขาว)
(2) แบบธุรกิจต่างประเทศ กรณีมูลค่าการนำเข้าเกินกว่า 500,000 บาท
(3) ใบสั่งปล่อย
(4) เอกสารอื่น ๆ เช่น หนังสือมอบอำนาจ

4.2 ขั้นตอนปฏิบัติพิธีการการนำเข้าภายใต้ระบบ เอ.ที.เอ. คาร์เนท์

(1) ผู้นำเข้ายื่นเอกสารแบบนำเข้า (สีขาว) ทั้งต้นขั้ว (IMPORTATION COUNTERFOIL) และใบสำคัญคู่ต้นขั้ว (IMPORTATION VOUCHER) ที่กรอกข้อความครบถ้วนสมบูรณ์แล้วพร้อมเอกสารประกอบ ณ สำนักงานหรือด่านศุลกากรที่นำเข้า

(2) กรมศุลกากรตรวจสอบเอกสารและออกเลขที่ยกเว้นอากรหรือเลขที่ชำระอากร (ถ้ามี) แล้วมอบเอกสารทั้งหมดให้ผู้ส่งออกไปทำการตรวจปล่อยสินค้าหรือชำระอากรแล้วแต่กรณี

(3) ผู้ส่งออกนำเอกสารไปติดต่อกับส่วนตรวจสินค้าเพื่อรับสินค้าออกจากอารักขาศุลกากร

4.3 ข้อควรทราบเบื้องต้นเกี่ยวกับพิธีการนำเข้าภายใต้ระบบ เอ.ที.เอ. คาร์เนท์

(1) ของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยใชัเอกสารค้ำประกัน (เอ.ที.เอ. คาร์เนท์) จะต้องเป็นของภายใต้อนุสัญญาการนำของเข้าชั่วคราว 4 ฉบับ ตามที่กล่าวไว้ข้างต้นดังนี้ ส่วนของที่นำเข้ามาเพื่อวัตถุประสงค์อื่น เช่น นำเข้ามาเพื่อใช้ในกระบวนการผลิตหรือนำเข้ามาเพื่อซ่อมแซมจะใช้เอกสารค้ำประกัน (เอ.ที.เอ. คาร์เนท์) ไม่ได้ และผู้นำของเข้าจะเพิ่มเติมรายการสินค้าใด ๆ ลงในแบบนำเข้า (สีขาว) อีกไม่ได้

(2) เอกสารค้ำประกัน (เอ.ที.เอ. คาร์เนท์) มีอายุ 1 ปี นับแต่วันออกเอกสาร การนำของเข้าตาม เอกสารค้ำประกัน (เอ.ที.เอ. คาร์เนท์) จะต้องส่งกลับออกไปภายใน 6 เดือนนับแต่วันนำเข้า แต่ทั้งนี้จะต้องไม่เกินอายุของเอกสารค้ำประกันดังกล่าว

(3) ปกหน้า(สีเขียว) ของเอกสารค้ำประกัน (เอ.ที.เอ. คาร์เนท์) จะระบุชื่อประเทศภาคีสมาชิกและชื่อของสมาคมผู้ค้ำประกัน

(4) ในกรณีที่ผู้นำของเข้าตามเอกสารค้ำประกัน(เอ.ที.เอ.คาร์เนท์) ไม่ส่งของกลับออกไปภายใน ระยะเวลาที่กำหนด หรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของการนำเข้าชั่วคราว ไม่ว่ากรณีใดๆ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยในฐานะผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดชอบในการจ่ายค่าภาษีอากรและค่าภาระติดพันให้แก่กรมศุลกากรเป็นจำนวนเงินไม่เกินอากรขาเข้ากับอีกร้อยละ 10 ของอากรขาเข้า ส่วนที่เกินจากนี้กรมศุลกากรจะเรียกเก็บจากผู้นำของเข้า

(5) แบบฟอร์มเอกสารค้ำประกัน (เอ.ที.เอ. คาร์เนท์) หรือส่วนหนึ่งของแบบฟอร์มดังกล่าวที่นำเข้า-ส่งออกเพื่อใช้เป็นเอกสารค้ำประกัน (เอ.ที.เอ.คาร์เนท์) ให้ได้รับยกเว้นอากรและข้อห้ามข้อกำกัด


5. พิธีการส่งของกลับออกไปภายใต้ระบบ เอ.ที.เอ. คาร์เนท์

5.1 เอกสารที่ควรจัดเตรียมในการส่งของกลับออกไปภายใต้ระบบ เอ.ที.เอ. คาร์เนท์

(1) แบบส่งกลับออกไป (สีขาว)
(2) ใบสั่งปล่อย
(3) เอกสารอื่น ๆ เช่น หนังสือมอบอำนาจ

5.2 ขั้นตอนปฏิบัติพิธีการการส่งของกลับออกไปภายใต้ระบบระบบ เอ.ที.เอ. คาร์เนท์

(1) ผู้ส่งออกยื่นเอกสารแบบส่งกลับออกไป (สีขาว) ทั้งต้นขั้ว (RE-EXPORTATION COUNTERFOIL) และใบสำคัญคู่ต้นขั้ว (RE-EXPORTATION VOUCHER) ที่กรอกข้อความครบถ้วนสมบูรณ์แล้วพร้อมเอกสารประกอบ ณ สำนักงานหรือด่านศุลกากรที่ส่งออก

(2) กรมศุลกากรตรวจสอบเอกสารและออกเลขที่ยกเว้นอากรหรือเลขที่ชำระอากร (ถ้ามี) แล้วมอบเอกสารทั้งหมดให้ผู้ส่งออกไปทำการตรวจปล่อยสินค้าหรือชำระอากร (ถ้ามี)

(3) ผู้ส่งออกนำเอกสารไปติดต่อกับส่วนตรวจสินค้าเพื่อรับสินค้าออกจากอารักขาศุลกากร




 

Create Date : 25 กรกฎาคม 2549    
Last Update : 25 กรกฎาคม 2549 20:26:43 น.
Counter : 1226 Pageviews.  

พิกัดศุลกากร




ค้นหาพิกัดศุลกากรง่ายๆผ่านเน็ต

//www.customs.go.th/Tariff/Tariff.jsp

ของที่ได้รับการยกเว้นอากร

1. ของที่ส่งออก รวมทั้งของที่ส่งกลับออกไป ซึ่งนำกลับเข้ามาภายในหนึ่งปี โดยไม่เปลี่ยนแปลงลักษณะหรือรูปแต่ประการใดและในเวลาที่ส่งออกนั้นได้รับใบสุทธิสำหรับนำกลับเข้ามาแล้ว
หมายเหตุ อธิบดีกรมศุลกากรมีอำนาจที่จะสั่งให้ได้รับการยกเว้นจากบทบัญญัติที่ว่าด้วยใบสุทธิสำหรับนำกลับเข้ามา หรืออาจอนุญาตให้ขยายกำหนดเวลาออกไปอีกตามความจำเป็นแก่กรณีได้
2. ของที่นำเข้ามาในประเทศไทยซึ่งได้เสียอากรไว้ครบถ้วนแล้ว และภายหลังส่งกลับออกไปซ่อม ณ ต่างประเทศ หากนำกลับเข้ามาภายในหนึ่งปี หลังจากที่ได้รับใบสุทธิสำหรับนำกลับเข้ามาซึ่งได้ออกให้ในขณะที่ได้ส่งออกแล้ว
หมายเหตุ
ก. ของที่ได้รับยกเว้นอากรตามประเภทนี้ให้ได้รับยกเว้นเพียงเท่าราคาหรือปริมาณแห่งของเดิมที่ส่งออกไปเท่านั้น สำหรับราคาหรือปริมาณที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากการซ่อมให้เสียอากรตามพิกัดอัตราอากรของของเดิมที่ส่งออกไปซ่อม โดยคำนวณจากราคาหรือปริมาณที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ไม่รวมค่าใช้จ่ายในการขนส่งและการประกันภัย
ข. อธิบดีกรมศุลกากรมีอำนาจที่จะสั่งให้ได้รับการยกเว้นจากบทบัญญัติที่ว่ด้วยใบสุทธิสำหรับนำกลับเข้ามา หรืออาจอนุญาตให้ขยายกำหนดเวลาออกไปอีกตามความจำเป็นแก่กรณีได้
3. ของที่กล่าวไว้ข้างล่างนี้ ถ้านำเข้ามาพร้อมกับตนหรือนำเข้ามาเป็นการชั่วคราว และจะส่งกลับออกไปภายในไม่เกินหกเดือนนับตั้งแต่วันที่นำเข้ามา
(ก) ของที่ใช้ในการแสดงละครหรือการแสดงอย่างอื่นที่คล้ายกัน ซึ่งผู้แสดงที่ท่องเที่ยวนำเข้ามา
(ข) เครื่องประกอบและของใช้ในการทดลองหรือการแสดงเพื่อวิทยาศาสตร์หรือการศึกษา ซึ่งบุคคลที่เข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว นำเข้ามาเพื่อจัดการทดลองหรือแสดง
(ค) รถสำหรับเดินบนถนน เรือ และอากาศยาน บรรดาที่เจ้าของนำเข้ามาพร้อมกับตน
(ง) เครื่องถ่ายรูปและเครื่องบันทึกเสียง ซึ่งบุคคลที่เข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว นำเข้ามาเพื่อใช้ถ่ายรูปหรือบันทึกเสียงต่างๆ แต่ฟิล์มและแผ่นสำหรับถ่ายรูปหรือสิ่งที่ใช้บันทึกเสียงซึ่งนำมาใช้ในการนี้ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขและปริมาณที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกำหนด
(จ) อาวุธปืนและกระสุนปืน ซึ่งบุคคลที่เข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวนำเข้ามาพร้อมกับตน
(ฉ) ของที่นำเข้ามาเป็นการชั่วคราว โดยมุ่งหมายจะแสดงในงานสาธารณะที่เปิดให้ประชาชนดูได้ทั่วไป
(ช) ของที่นำเข้ามาเพื่อซ่อม แต่ต้องปฏิบัติภายในเงื่อนไขที่อธิบดีกรมศุลกากรกำหนด
(ซ) ตัวอย่างสินค้า นอกจากที่ระบุไว้ในประเภทที่ 14 ซึ่งบุคคลที่เข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว นำเข้ามาพร้อมตน และมีสภาพซึ่งเมื่อจะส่งกลับออกไปสามารถตรวจได้แน่นอนว่าเป็นของอันเดียวกับที่นำเข้ามาแต่ต้องมีปริมาณหรือค่า ซึ่งเมื่อรวมกันเข้าแล้วไม่เกินกว่าที่จะเห็นได้ว่าเป็นตัวอย่างตามธรรมดา
(ญ) เครื่องมือและสิ่งประกอบ สำหรับงานก่อสร้าง งานพัฒนาการ รวมทั้งกิจการชั่วคราวอย่างอื่น ตามที่อธิบดีกรมศุลกากรจะเห็นสมควร
หมายเหตุ
1. ของตามที่กล่าวในประเภทนี้ ผู้นำของเข้าต้องทำสัญญาไว้ต่อกรมศุลกากรว่าจะส่งกลับออกไปภายในกำหนด อธิบดีกรมศุลกากรจะเรียกประกันอย่างใด และเป็นจำนวนเงินเท่าใดก็ได้ตามแต่จะเห็นสมควร และจะคืนเงินหรือให้ถอนหลักประกันที่วางไว้ต่อเมื่อได้ปฏิบัติตามสัญญาโดยครบถ้วนแล้ว

ระยะเวลาหกเดือนตามที่กำหนดไว้นี้ อธิบดีกรมศุลกากรจะขยายกำหนดระยะเวลาออกไปอีกตามความจำเป็นแก่กรณีก็ได้
2. คำว่า “นำเข้ามาพร้อมกับตน” ให้หมายความถึงของที่เข้ามาถึงประเทศไทยไม่เกินหนึ่งเดือนก่อนที่ผู้นำของเข้าเข้ามาถึงหรือไม่เกินหกเดือนนับแต่วันที่ผู้นำของเข้าเข้ามาถึงอธิบดีกรมศุลกากรมีอำนาจขยายกำหนดเวลาที่กล่าวข้างต้นได้เมื่อเห็นว่ามีพฤติการณ์พิเศษ
4. รางวัลและเหรียญตราที่ทางต่างประเทศมอบให้แก่บุคคลที่อยู่ในราชอาณาจักร เพื่อเป็นเกียรติในความดีเด่นทางศิลปะ วรรณกรรม วิทยาศาสตร์ การกีฬา หรือบริการสาธารณะ หรือเพื่อเป็นเกียรติประวัติในความสำเร็จหรือพฤติกรรมอันเป็นสาธารณประโยชน์

แต่เฉพาะรางวัลนั้นจะต้องอยู่ในดุลพินิจของอธิบดีกรมศุลกากรที่จะพึงพิจารณา ตามแต่จะเห็นสมควรอีกส่วนหนึ่งด้วย
5. ของส่วนตัวที่เจ้าของนำเข้ามาพร้อมกับตนสำหรับใช้เองหรือใช้ในวิชาชีพและมีจำนวนพอสมควรแก่ฐานะ เว้นแต่รถยนต์ อาวุธปืนและกระสุนปืน และเสบียง แต่สุรา บุหรี่ ซิการ์ หรือยาเส้น ซึ่งเป็นของส่วนตัวที่ผู้เดินทางนำเข้ามาพร้อมกับตนนั้น อธิบดีกรมศุลกากรอาจออกข้อกำหนดยกเว้นอากรให้ได้ตามที่เห็นสมควรเป็นแห่งๆ ไป แต่ต้องไม่เกินปริมาณดังนี้
(ก) บุหรี่สองร้อยมวน หรือซิการ์หรือยาเส้นอย่างละสองร้อยห้าสิบกรัม หรือหลายชนิดรวมกันมีน้ำหนักทั้งหมดสองร้อยห้าสิบกรัม แต่ทั้งนี้บุหรี่ต้องไม่เกินสองร้อยมวน
(ข) สุราหนึ่งลิตร
6. ของใช้ในบ้านเรือนที่ใช้แล้ว ที่เจ้าของนำเข้ามาพร้อมกับตนเนื่องในการย้ายภูมิลำเนา และมีจำนวนพอสมควรแก่ฐานะ
หมายเหตุ ของส่วนตัวและของใช้ในบ้านเรือนตามประเภทที่ 5 และ 6 นั้น จะต้องนำเข้ามาถึงประเทศไทยไม่เกินหนึ่งเดือนก่อนที่ผู้นำของเข้า เข้ามาถึงหรือไม่เกินหกเดือนนับแต่วันที่ผู้นำของเข้าเข้ามาถึงอธิบดีกรมศุลกากรมีอำนาจขยายกำหนดเวลาที่กล่าวข้างต้นได้เมื่อเห็นว่ามีพฤติการณ์พิเศษ
7. ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของอากาศยานหรือเรือ รวมทั้งวัสดุที่นำเข้ามาเพื่อใช้ซ่อมหรือสร้างอากาศยานหรือเรือ หรือส่วนของอากาศยานหรือเรือดังกล่าว
หมายเหตุ การยกเว้นอากรรวมทั้งของที่ได้รับยกเว้นอากรตามประเภทนี้ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมศุลกากรกำหนด ด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
8. น้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันหยอดเครื่อง และสิ่งที่ใช้ในการหล่อลื่นที่เติมในอากาศยาน หรือในเรือที่มีขนาดเกินกว่าห้าร้อยตันกรอสส์ ซึ่งศุลกากรได้ปล่อยให้ไปต่างประเทศแล้ว
หมายเหตุ อธิบดีกรมศุลกากรมีอำนาจในอันที่จะทำให้บทยกเว้นนี้บังเกิดผล โดยวิธีคืนเงินอากรที่ได้ชำระแล้วให้แก่ผู้นำของเข้าในเมื่อได้พิสูจน์ให้เป็นที่พอใจว่าของดังกล่าวได้จำหน่ายหรือใช้ไปเพื่อการนี้
9. พืชผลที่ผู้มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทยปลูกในเกาะดอนและที่ชายตลิ่งแม่น้ำซึ่งกั้นเขตแดนประเทศไทย
10. ของที่ได้รับเอกสิทธิ์ ตามข้อผูกพันที่ประเทศไทยมีอยู่ต่อองค์การสหประชาชาติ หรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือตามสัญญากับนานาประเทศ หรือทางการทูตซึ่งได้ปฏิบัติต่อกันโดยอัธยาศัยไมตรี
11. นอกจากรถยนต์ตามประเภทที่ 8703.10 8703.21 8703.222 8703.229 8703.232 8703.239 8703.242 8703.249 8703.312 8703.319 8703.322 8703.329 8703.332 8703.339 8703.90 8704.211 8704.311 และ 8704.901 ในภาค 2 ของที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมศุลกากรกำหนดด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังว่าเป็นของที่นำเข้ามาหรือส่งออกไปเพื่อบริจาคเป็นการสาธารณกุศลแก่ประชาชนโดยผ่านส่วนราชการหรือองค์การสาธารณกุศล หรือเป็นของที่นำเข้ามาเพื่อให้แก่ส่วนราชการหรือองค์การสาธารณกุศล
หมายเหตุ คำว่า “ส่วนราชการ” หมายความว่า ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานอื่นของรัฐ แต่ไม่รวมถึงรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ
12. ของที่นำเข้าโดยทางไปรษณีย์ ซึ่งแต่ละหีบห่อมีราคาไม่เกินห้าร้อยบาท
13. ยุทธภัณฑ์ที่ใช้ในทางราชการ
14. ตัวอย่างสินค้าทิ่ใช้ได้แต่เพียงเป็นตัวอย่างและไม่มีราคาในทางการค้า
15. ภาชนะบรรจุของชนิดที่ใช้บรรจุของเพื่อความสะดวกหรือความปลอดภัย ใน การขนส่งระหว่างประเทศ ที่เรียกว่า “คอนเทนเนอร์” ซึ่งนำเข้าและจะส่งกลับออกไป ไม่ว่าจะโดยมีของบรรจุอยู่หรือไม่ ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมศุลกากรกำหนด
16. ของที่นำเข้ามาสำหรับคนพิการใช้โดยเฉพาะ หรือใช้ในการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมศุลกากรกำหนด ด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
หมายเหตุ คำว่า “คนพิการ” และ “การฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ” ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ
17. ของที่พิสูจน์ให้เป็นที่พอใจของอธิบดีกรมศุลกากรหรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมศุลกากรมอบหมายว่าเป็นของที่จำเป็นต้องนำเข้ามาเพื่อใช้ในการประชุมระหว่างประเทศ และมีปริมาณพอสมควรแก่การนั้น ทั้งนี้ผู้นำของเข้าจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมศุลกากรหรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมศุลกากรมอบหมายกำหนด
18. ของส่งออกซึ่งพิสูจน์ให้เป็นที่พอใจอธิบดีกรมศุลกากรว่าเป็นของที่ได้นำเข้ามาไม่เกินสองปี และยังมิได้เปลี่ยนแปลงลักษณะหรือรูปแต่ประการใด




 

Create Date : 25 กรกฎาคม 2549    
Last Update : 25 กรกฎาคม 2549 20:08:37 น.
Counter : 1612 Pageviews.  

สิทธิและประโยชน์ทางด้านภาษี



สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีมาตรการส่งเสริมการส่งออกทางด้านภาษี

มาตรการส่งเสริมการส่งออกทางภาษีอากร ทั้งทางตรงและทางอ้อม ที่ผู้ประกอบการจะได้รับ ได้แก่

1.(มุมน้ำเงิน) การชดเชยค่าภาษีอากร ตาม พรบ.ชดเชยค่าภาษีอากร ของกรมศุลกากร

จ่ายเงินชดเชยค่าภาษีอากรแก่ผู้ส่งสินค้าที่ผลิตในราชอาณาจักร ออกไปจำหน่ายต่างประเทศ ตาม พรบ.ชดเชยค่าภาษีอากรฯ โดยจ่ายให้แก่ผู้ส่งออกในรูปของบัตรภาษี ซึ่งผู้ส่งออกสามารถนำไปชำระค่าภาษีอากรแทนเงินสด ต่อกรมสรรพากร กรมศุลกากร และกรมสรรพสามิต VAT ชำระก่อนขอคืนทีหลัง

2.(Re-Export) การคืนอากรตามมาตรา 19 แห่ง พรบ.ศุลกากร พ.ศ.2482

ของส่งกลับ (RE-EXPORT) หมายถึงของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรแล้ว ต่อมาภายหลังผู้นำของเข้าได้ส่งของนั้นกลับออกไปยังต่างประเทศ โดยไม่เปลี่ยนแปลงรูปร่างหรือลักษณะแต่ประการใด หรือของที่นำเข้ามาเพื่อเป็นของใช้สิ้นเปลืองสำหรับยานพาหนะที่เดินทางไปต่างประเทศแล้วจะขอคืนอากรที่ได้ชำระไปกลับคืน

3.( 19 ทวิ) การคืนอากรตามมาตรา 19 ทวิ แห่ง พรบ.ศุลกากร พ.ศ.2482 ของกรมศุลกากร

คืนอากรขาเข้าที่ได้ชำระไว้แล้ว แก่ผู้นำวัตถุดิบข้ามา ผลิต ผสม ประกอบหรือบรรจุ เป็นสินค้าส่งออกไปนอกราชอาณาจักร VAT ชำระก่อนขอคืนทีหลัง

4.(คลังสินค้าทัณฑ์บน) การงดเว้นการเก็บอากรสำหรับคลังสินค้าทัณฑ์บน ตาม พรบ.ศุลกากร พ.ศ.2482 ของกรมศุลกากร

ไม่ต้องชำระอากรในขณะที่จัดทำใบขนสินค้าผ่านพิธีการศุลกากร เพื่อนำวัตถุดิบเข้ามาเก็บเพื่อทำการผลิต ผสม หรือประกอบ ในคลังสินค้าทัณฑ์บนฯ โดยวัตถุดิบเหล่านี้จะได้รับงดเว้นอากรขาเข้าและขาออกเมื่อได้ปล่อยไปจากคลังสินค้าทัณฑ์บนฯ เพื่อส่งออกนอกราชอาณาจักร, VAT ใช้การค้ำประกันจัดตั้งคลังฯ แทนการชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม

5.(EPZ) การยกเว้นอากรสำหรับเขตอุตสาหกรรมส่งออก ตามกฎหมายการนิคมอุตสาหกรรม

ผู้ประกอบการที่อยู่ในเขตอุตสาหกรรมส่งออกได้รับยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับเครื่องจักร และวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสินค้าเพื่อส่งออก
VAT ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม

6.(BOI) การยกเว้นอากรตามกฎหมายส่งเสริมการลงทุน ของสำนักงานส่งเสริมการลงทุน

ยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นที่ต้องนำมาจากต่างประเทศ เพื่อใช้ผลิต ผสม หรือ ประกอบ เป็นผลิตภัณฑ์หรือผลิตผลเฉพาะที่ใช้ในการส่งออก รวมทั้งของที่ผู้ได้รับการส่งเสริมฯ นำเข้ามาเพื่อส่งกลับออกไป VAT ไม่ต้องชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม ใช้การค้ำประกันและถอนประกันแทน




 

Create Date : 16 กรกฎาคม 2549    
Last Update : 16 กรกฎาคม 2549 20:43:10 น.
Counter : 934 Pageviews.  

L/C ( Letter of Credit )


การเปิด L/C เพื่อนำเข้าสินค้า

เมื่อผู้นำเข้าได้ตกลงที่จะซื้อสินค้าจากผู้ขายในต่างประเทศและมีความประสงค์จะเปิด L/C เพื่อชำระค่าสินค้าให้แก่ผู้ขาย ในต่างประเทศ จะต้องปฏิบัติดังนี้

A. เรียกใบเสนอขาย เช่น Quotation หรือ Pro-forma Invoice จากผู้ขาย
B. ขอรับใบคำขอเปิด L/C (Application for a Letter of Credit) จากธนาคารที่ผู้ซื้อมีบัญชีอยู่
C. กรอกคำขอเปิด L/C พร้อมทั้งประทับตราเซ็นชื่อและแนบใบเสนอขายยื่นต่อธนาคาร
D. แจ้งให้ผู้ขายทราบว่าได้เปิด L/C ออกไปให้แล้ว โดยแจ้งเลขที่และวันที่ของ L/C ไปด้วย
ข้อความสำคัญที่ควรรู้ในการเปิด L/C

ข้อความสำคัญที่ควรรู้ในการเปิด L/C มีรายละเอียดตามตารางดังต่อไปนี้
โปรดสังเกตว่าข้อความต่างๆ ที่เกี่ยวกับการเปิด L/C นี้มีอยู่ 2 พวก พวกแรกได้แก่ข้อความที่พิมพ์ติดอยู่ในแบบฟอร์มของใบคำขอเปิด L/C หรือเป็นหัวข้อในเอกสารที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เช่น Pro-forma invoice อีกพวกหนึ่งคือข้อความที่พิมพ์เติมลงไป ข้อความพวกแรกจะเป็นศัพท์เฉพาะ ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศจำเป็นจะต้องทราบความหมาย ส่วนข้อความพวกที่ 2 ที่พิมพ์เติมลงไปเป็นข้อความที่เป็นไปตามความต้องการของผู้เปิด L/C ซึ่งธนาคารจะเปิด L/C ออกไปตามนั้น และผู้ขายสินค้าก็จะต้องระบุรายละเอียดตาม L/C ที่ได้รับ





 

Create Date : 16 กรกฎาคม 2549    
Last Update : 16 กรกฎาคม 2549 11:45:53 น.
Counter : 1020 Pageviews.  

1  2  

ตุ๊ดตู่ โอ้เย
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]









Friends' blogs
[Add ตุ๊ดตู่ โอ้เย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.