สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ๘ : ราชการศึกเขมร
ภาพมุมสูงเมืองอุดงค์มีชัย อดีตราชธานีเขมรในปัจจุบัน
สำหรับคนที่ต้องเผชิญกับชีวิตแสนอนาถในคุกหากมีโอกาสที่จะทำให้ออกไปได้ก็คงจะรีบคว้าเอาไว้ สำหรับพระเจ้าปราสาททองในตอนนั้น ศึกเขมร คือโอกาสที่ต้องรีบคว้าเอาไว้
กรุงกัมพูชาตกเป็นประเทศราชของกรุงศรีอยุทธยาตั้งแต่สมเด็จพระนเรศวรทรงตีเมืองละแวกแตกใน พ.ศ.๒๑๓๖ นักพระสัตถากษัตริย์กรุงกัมพูชาหนีไปสวรรคตที่ล้านช้าง พระศรีสุริโยพรรณ อุปโยราชกับเชื้อพระวงศ์ทั้งมวลถูกกวาดต้อนมากรุงศรีอยุทธยาตั้งแต่ตอนนั้น แต่ใน พ.ศ.๒๑๓๘ เขมรสามารถขับไล่ทัพอยุทธยาแล้วกลับมาครองอำนาจได้อีกครั้งโดยย้ายศูนย์กลางการปกครองจากละแวกไปอยู่ที่เมืองศรีสุนทรแทน ในช่วงเวลาสั้นๆมีการผลัดแผ่นดินหลายครั้งจนเกิดความวุ่นวายไปทั่ว จนกระทั่งทางเขมรต้องส่งทูตมาอยุทธยาขอพระศรีสุริโยพรรณกลับไปปกครองเขมร ใน พ.ศ.๒๑๔๒ ทางราชสำนักอยุทธยาก็ยอมตามนั้น
สมเด็จพระศรีสุริโยพรรณกลับไปครองราชสมบัติในกรุงกัมพูชาในฐานะประเทศราชของกรุงศรีอยุทธยา ทั้งยังทรงนำระบอบธรรมเนียมต่างๆของราชสำนักอยุทธยาไปปรับใช้อีกด้วย ในสมัยของพระองค์กรุงกัมพูชายอมเป็นประเทศราชของกรุงศรีอยุทธยาด้วยความสงบเรียบร้อยแม้ว่าจะสิ้นรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรไปแล้วก็ตาม แม้กรุงศรีอยุทธยาจะมีความวุ่นวายเพราะผลัดแผ่นดินหลายหนจนสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมครองราชย์ใน พ.ศ.๒๑๕๓ เขมรก็ยังอยู่ในความสงบ
จนถึง พ.ศ.๒๑๖๑ สมเด็จพระศรีสุริโยพรรณทรงสละราชสมบัิติให้พระราชโอรสคือสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช โดยในรัชกาลนี้เองจึงได้ย้ายราชธานีไปอยู่ที่อุดงค์มีชัยหรืออุดงฤาชัย มีการสัณนิษฐานว่าพระศรีสุริโยพรรณทรงถูกบีบออกจากราชสมบัติเนื่องจากทรง 'ผักใฝ่' อยุ่ข้างอยุทธยามากเกินไป(ดูจากการทรงรับธรรมเนียมไทยต่างๆมาใช้) รวมถึงมีการแทรกแซงทางการเมืองจากญวนเข้ามาทำให้เขมรหันไปฝักใฝ่กับญวนมากขึ้น โดยพระไชยเชษฐาเองก็ทรงมีมเหสีที่เป็นชาวญวนด้วย จนกระทั้งใน พ.ศ.๒๑๖๔ เขมรก็ประกาศแยกตนเป็นอิสระไม่ขึ้นกับกรุงศรีอยุทธยาอีก ซึ่งเป็นไปได้มีมีอำนาจของญวนหนุนหลังอยู่
เตรียมการทำสงคราม
Jan Pieterszoon Coen ผู้สำเร็จราชการเมืองปัตตาเวียของบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดา(VOC) ผู้ให้ความช่วยเหลือส่งเรือ ๒ ลำไปช่วยรบในศึกเขมร
การแข็งเมืองของกัมพูชาส่งผลต่อความมั่นคงของกรุงศรีอยุทธยา จึงจำต้องยกทัพไปปราบปรามเพื่อให้เขมรกลับมาอยู่ใต้กรุงศรีอยุทธยาเช่นเดิม ทางอยุทธยาจึงมีการเตรียมพร้อมเพื่อทำสงครามเต็มรูปแบบโดยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมได้ส่งพระราชสาส์นไปเนเธอร์แลนด์เพื่อของร้องให้ บริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดา(VOC) ช่วยเหลือโดยการส่งเรือรบมา และยังส่งของกำนัลไปให้ข้าหลวงใหญ่ของฮอลันดาที่เมืองปัตตาเวียอีกด้วย ซึ่งทางนั้นก็ส่งเรือรบมาให้ ๒ ลำ
ในการดำเนินไปของสงครามกล่าวไม่ตรงกันระหว่างหลักฐานของเยเรเมียส ฟาน ฟลีต กับพงศาวดารกรุงกัมพูชา(ซึ่งชำระสมัยรัตนโกสินทร์) ในเรื่องของปีที่ยกไปกับลำดับการโจมตีแต่โดยรวมแล้วใกล้เคียงกัน
จากหลักฐานของฟาน ฟลีต ทางกรุงศรีอยุทธยาได้จัดทัพใหญ่สองทัพในสงครามครั้งนี้โดย - ทัพบก มีสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมเสด็จนำทัพด้วยพระองค์เอง มีพระอนุชาตามเสด็จด้วยพระองค์หนึ่ง(สัณนิษฐานว่าน่าจะเป็นพระองค์ทอง จะกล่าวต่อไปข้างหน้า)
- ทัพเรือ พระยามหาอุปราช*หรือออกญาอุปราช(Oija Oubrat)กับออกญาพระคลัง(Oija Barckelangh) เป็นแม่ทัพ ยกไปเป็นกองเรือขนาดใหญ่มีทั้งเรือกำปั่นใหญ่ติดอาวุธกับเรืออื่นๆอีกจำนวนมาก บุกทางทะเลเข้าไปในปากน้ำเมืองพุทไธมาศ
ทั้งสองทัพยกเข้าไปตีกรุงกัมพูชาใน ค.ศ.1622 หรือ พ.ศ.๒๑๖๕ (พงศาวดารกรุงกัมพูชาว่าทัพบกยกเข้าไปก่อนใน พ.ศ.๒๑๖๔ ทัพเรือตามมาใน พ.ศ.๒๑๖๕ จึงมีความเป็นไปได้ว่าอาจรบในช่วงปลายปีแล้วข้ามมาขึ้นปีใหม่)
*มักเข้าใจผิดกันว่าทัพเรือนำโดยพระศรีศิลป์ที่เป็นพระมหาอุปราช ซึ่งผิดเนื่องจากเอกสารภาษาดัชต์ของฟาน ฟลีตไม่เคยกล่าวว่าพระศรีศิลป์เป็นพระมหาอุปราช ในรัชกาลพระเจ้าทรงธรรมมีหลักฐานกลายชิ้นทั้งไทยและต่างชาติระบุว่า'มหาอุปราช' ในที่นี้เป็นตำแหน่งของขุนนาง ไม่ใช่ 'พระมหาอุปราช' ที่เป็นยศของเจ้า
พ้นโทษ สมเด็จพระเจ้าปราสาททองหรือพระหมื่นศรีสรรักษ์(สัณนิษฐานว่าน่าจะโดนถอดยศไปแล้ว)กับพลพรรคต้องรับโทษอยู่ในคุกมาเป็นเวลานานกว่า ๓ ปีแล้วจากความผิดที่เคยก่อไว้(ตอนนี้น่าจะมีอายุประมาณ ๒๐ กว่าๆ) สัณนิษฐานจากหลักฐานของฟาน ฟลีต ว่าแม้จะเคยติดคุกมาหลายหนแต่ไม่น่าจะเคยติดมาเป็นเวลายาวนานขนาดนี้
ตามหลักฐานสมัยปลายอยุทธยากล่าวถึงนักโทษว่าถ้าโดนโทษหนักต้องถูกใส่โซ่ล่ามคอติดกัน ๒๐-๓๐ คน ถูกเกณฑ์ไปทำงานหลวงทั่วพระนคร พอถึงวันพระก็ปล่อยให้ขอทานกินตามตลาด น่าเชื่อว่าแม้พระเจ้าปราสาททองจะเป็นลูกของเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่อย่างออกญาศรีธรรมาธิราชซึ่งเป็นลุงของพระเจ้าทรงธรรม ด้วยความผิดเสมอกบฎที่เคยก่อไว้โดนโทษขนาดนี้ก็นับว่าไม่มากเกินไป แต่สำหรับคนที่เกิดเป็นลูกขุนนางไปเจอแบบนี้คงต้องนับว่าน่าอนาถ
ระหว่างที่ติดคุกอยู่ก็มีการเตรียมทำสงครามกับกัมพูชา ไม่ทราบว่าทำอย่างไรทำให้พระเจ้าปราสาททองได้มีโอกาสพบกับแม่ทัพเรือคือออกญาอุปราชกับออกญาพระคลัง พระเจ้าปราสาททองจึงขอร้องออกญาทั้งสองให้นำความขึ้นกราบบังคมทูลต่อสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ว่าจะขอไปทำราชการในสงครามเขมรครั้งนี้เพื่อเป็นการไถ่โทษ เมื่อสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมทรงทราบก็ทรงยอมตามคำขอ ทรงปล่อยพระหมื่นศรีสรรักษ์กับพรรคพวกออกจากคุกและให้ทั้งหมดติดตามไปในทัพเรือ
การดำเนินของสงคราม พงศาวดารกรุงกัมพูชากับฟาน ฟลีตกล่าวต่างกัน โดยฟาน ฟลีตกล่าวว่าทัพเรือถอยไปก่อนเขมรจึงไปตีทัพบก แต่พงศาวดารเขมรกล่าวว่าทัพบกแพ้ไปแล้วทัพเรือจึงเข้ามาปีรุ่งขึ้น ไม่ทราบว่าอันไหนถูกกันแน่ แต่ในที่นี้จะขอยึดศักราชตามพงศาวดารกรุงกัมพูชาเป็นหลัก
ทัพบก ทัำพบกน่าจะเข้าไปถึงเขตแดนเขมรในปลาย พ.ศ.๒๑๖๔ สมเด็จพระไชยเชษฐาก็ทรงนำทัพออกมารบเช่นเดียวกัน ทัพบกได้ถูกลวงยกทัพไปถึงภูเขาพนมจังกาง(ปัจจุบันอยู่ในจังหวัดโพธิสัตว์) ซึ่งมีทัพเขมรดักซุ่มอยู่บนทั้งหุบเขาและทุ่งราบต่ำ โดยไม่ทันตั้งตัวทัพเขมรได้ทำการโจมตีอย่างหนักจนกองทัพอยุทธยาต้องล่าถอยกลับไป เรียกได้เลยว่าพ่ายแพ้ย่อยยับ
ทัพบกเสียทหารไป ๔๐๐๐-๕๐๐๐ คน ทางเขมรสามารถยึดม้าได้ ๔๕๐ ตัว ช้าง ๒๕๐ เชือก เชลยอีก ๗๐๐ คน นอกจากนี้คนสำคัญหลายคนในกองทัพล้วนต้องสังเวยชีวิตไปรวมถึงพระองค์ทองซึ่งเป็นพระอนุชาของพระเจ้าทรงธรรมก็สิ้นพระชนม์ในสงครามครั้งนี้(ต้นฉบับไม่ได้ออกพระนามแต่สัณนิษฐานว่าน่าจะใช่พระองค์ทอง เพราะจากเอกสารของฟานฟลีตยังกล่าวถึงพระอนุชาอีกองค์ที่ตรงกับในเอกสารของไทยว่าพระศรีศิลป์ยังมีพระชนม์อยู่หลังจากนี้ และฟาน ฟลีตไม่เคยออกพระนามพระอนุชาองค์อื่นอีก) พระไชยเชษฐาจึงโปรดให้เรียกเชลยไทยที่จับมาได้ว่า "ไทยจังกาง" หรือ "เสียมจังกาง"
ปากน้ำเมืองฮาเตียนหรือพุทไธมาศใน ค.ศ.1969
ทัพเรือ ตามพงศาวดารกรุงกัมพูชา ทัพเรือที่นำโดยออกญามหาอุปราชกับออกญาพระคลังแล่นมาถึงปากน้ำเมืองพุทไธมาศหรือเมืองเปียมใน พ.ศ.๒๑๖๕ แต่ก็ถูกทัพเขมรตีจนถอยกลับไปได้ ส่วนฟาน ฟลีต กล่าวไว้ในเอกสาร Description of the Kingdom of Siam ว่าทัพเรือ'ไม่ได้ปฏิบัติการหรือทำสิ่งใดเลยแม้แต่อย่างเดียว' แต่ในเอกสาร The Short History of the Kings of Siam 1640 ซึ่งเขียนภายหลังได้เปลี่ยนข้อความเป็น 'ถอยโดยไม่ประสบความสำเร็จซักอย่าง' อาจเป็นไปได้ว่าทัพเรือเพิ่งมาถึงภายหลัง เพิ่งรู้ว่าทัพบกพ่ายแพ้ยับไปแล้วจึงถอยไปก็ได้ แต่เป็นไปได้ว่าทัพเรือน่าจะมีการรบกับเขมรบ้าง ซึ่งจะกล่าวต่อไป
ส่วนเรือรบ ๒ ลำของฮอลันดาก็มาช้าเกินไปเพราะทัพไทยถอยจากเขมรไปแล้ว
สงครามครั้งนี้จบลงด้วยความพ่ายแพ้ย่อยยับของฝ่ายอยุทธยา ตลอดรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม อยุทธยาก็ไม่สามารถแผ่ขยายอำนาจเหนือกัมพูชาได้อีก
บำเหน็จศึก แม้ว่าสงครามครั้งนี้จบลงด้วยความพ่ายแพ้ย่อยยับอัปราชัยของฝ่ายไทย แต่ฟาน ฟลีตกล่าวว่าพระเจ้าปราสาททองหรือพระหมื่นศรีสรรักษ์ ได้พิสูจน์ตนเองในสงครามครั้งนี้ให้เหล่าแม่ทัพนายกองทั้งหลายได้ประจักษ์(ถ้าฟาน ฟลีตบอกว่าทัพเรือไม่ได้ปฏิบัติการหรือทำสิ่งใดเลยแม้แต่อย่างเดียว แล้วพระเจ้าปราสาททองจะเอาความชอบมาจากไหน) แต่ฟาน ฟลีตไม่ได้บอกว่าพระเจ้าปราสาททองได้ทำอะไรไปบ้าง
บรรดาแม่ทัพได้ไปความทราบถึงสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ก็โปรดให้พระเจ้าปราสาททองได้เข้ารับราชการอีกครั้งหนึ่ง ได้กลับมาเป็นที่โปรดปรานอีกครั้งหนึ่งและได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ใหม่ว่า "Sompa Moon"(ไม่ทราบจะถอดออกเป็นภาษาไทยอย่างไรถูก ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๗๙ แปลเป็น'จมื่นสรรเพชญ์ภักดี' ซึ่งไม่ได้ฟังดูใกล้เคียงเลยซักนิด)
จากข้อความที่กล่าวมาน่าจะแสดงให้เห็นว่าสมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงมีความสามารถในเรื่องการรบการครามอยู่ในระดับหนึ่ง ถึงกับทำให้แม่ทัพทั้งหลายไปทูลพระเจ้าทรงธรรม และอาจจะมีส่วนที่ทำให้พระเจ้าปราสาททองได้เลื่อนเป็นสมุหพระกลาโหมในวันหน้าอีกด้วย
Create Date : 22 กันยายน 2555 |
Last Update : 14 มีนาคม 2556 21:54:19 น. |
|
1 comments
|
Counter : 7900 Pageviews. |
|
|
|
หรือเพราะไปรบเขมรจึงทำให้ได้กลับเข้ารับราชกาลและได้บรรดาศักดิ์ใหม่