สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ๖ : ผิดหนักครั้งแรก-ทำลายพิธีแรกนาขวัญ
พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในสมัยรัตนโกสินทร์
เมื่อสมเด็จพระเจ้าปราสาททองยังทรงเป็นมหาดเล็กอยู่ ตามหลักฐานของเยเรเมียส ฟาน ฟลีต(Jeremius Van Vliet) กล่าวว่าพระองค์ทรงก่อเรื่องร้ายๆหลายหน เช่น ลักขโมย คบโจร แต่ฟาน ฟลีตได้กล่าวถึงความผิดร้ายแรงของสมเด็จพระเจ้าปราสาททองอยู่สามหน ครั้งแรกคือการทำลายพิธีแรกนาขวัญซึ่งเป็นพระราชพิธีที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาจนปัจจุบัน
พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในสมัยกรุงศรีอยุทธยา ในกฎหมายตราสามดวงซึ่งชำระจากกฎหมายเก่าครั้งอยุทธยาได้เรียกพระราชพิธีนี้ว่า "พิทธีไพศากขยจรดพระราชอังคัล"
โดยปกติแล้วพระราชพิธีนี้ทำกันในเดือน ๖ ซึ่งเป็นช่วงที่ฝนเริ่มลงเม็ด เป็นฤดูที่จะเริ่มปลูกข้าว ซึ่งประชากรส่วนใหญ่ในสมัยอยุทธยา(จนถึงปัจจุบัน)ล้วนทำกันเพื่อเลี้ยงตนเอง พระราชพิธีนี้จึงเป็นการบำรุงขวัญกำลังใจและเป็นการขอความอุดมสมบูรณ์ให้เกิดกับไร่นาที่จะทำการต่อไป
พระราชพิธีนี้ใช้เวลา ๓ วัน เป็นการจำลองการไถนาบนแปลงจำลองขนาดเล็ก แล้วหว่านข้าวลงบนแปลงนานั้น ในยุคปัจจุบันผู้ที่จะทำพิธีแรกนาคือข้าราชการจากกระเกษตรและสหกรณ์โดยเรียกกันว่า "พระยาแรกนา" โดยพระมหากษัตริย์หรือพระบรมวงศานุวงศ์จะเสด็จในพระราชพิธีนี้ด้วย
ในอดีตพระมหากษัตริย์จะทรงไถนาบนแปลงจำลองด้วยพระองค์เอง แต่จนถึงยุคสมัยหนึ่งได้มีกาีรเปลี่ยนแปลงพระราชพิธีนี้ไป โดยฟาน ฟลีตได้กล่าวว่าเพิ่งเปลี่ยนในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม*เป็นเพราะโหรได้ทำนายว่าหากพระองค์เสด็จทำพิธีนี้ด้วยพระองค์เองพระองค์จะสวรรคตภายใน ๓ ปี จึงมีการมอบหมายให้พระยาพลเทพหรืออกญาพลเทพ(Oija Poelethip) เสนาบดีกรมนาไปดำเนินการพระราชพิธีแทนแต่ออกญาพลเทพคนนี้เสียชีวิตอย่างกระทันหัน จึงมีการเปลี่ยนแปลงอีก โดยให้ขุนนางชั้นผู้น้อยมาเป็นผู้ทำพระราชพิธีแทนโดยสมมติชื่อให้ว่า "ออกญาเกี่ยวข้าว(Oija Kheeukhau)" ซึ่งมีปรากฏเรียกในเอกสารของไทยว่า "พระยาจันทกุมาร" "เจ้าพญาจันทกุมาร" เป็นต้น
*กฏมณเฑียรบาลได้ตราขึ้นในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ(ครองราชย์ พ.ศ.๑๙๙๑-๒๐๓๑) แต่กฏมณเฑียรบาลในกฎหมายตราสามดวงเป็นการรวบรวมกฎหมายสมัยอยุทธยาจึงมีความเป็นไปได้ที่หลายๆมาตรามีการเขียนปรับปรุงในภายหลัง
รูปแบบพระราชพิธีในเอกสารของฟาน ฟลีตตรงกับเอกสารของไทย ดังเช่นมีปรากฏในกฎมณเฑียรบาลว่า "เดือนไพศาขจรดพระอังคัล เจ้าพญาจันทกุมารถวายบังคม ณหอพระ ทรงพระกรุณายื่นพระขรรค แลพระพลเทพถวายบังคมสั่งอาญาสิทธิ ธรงพระกรุณาลดพระบรมเดช มิได้ไขหน้าล่อง มิได้ตรัสคดีถ้อยความ มิได้เบิกลูกขุน มิได้เสดจ์ออก ส่วนเจ้าพญาจันทกุมารมีเกยช้างหน้าพุทธาวาศขัดแห่ขึ้นช้าง แต่นั้นให้สมโพท ๓ วัน ลูกขุนหัวหมื่นพันนา ๑๐๐ นา ๑๐๐๐๐๐ นา กรมการมนกรมนาเฝ้า แลลูกขุนหัวหมื่นเฝ้าตามกระบวน"
พระยาจันทกุมาร(ออกญาเกี่ยวข้าว)เป็นพระยาแรกนาต่างพระองค์พระมหากษัตริย์ ฟานฟลีตกล่าวว่าในตอนที่ออกไปทำพิธีนั้นให้ถือเป็นเสมือนพระมหากษัตริย์ มีกระบวนแห่ไปโรงพิธี นอกจากนี้ยังได้รับพระราชทานงดภาษีค่าท่า อากรขนอนตลาด(ฟาน ฟลีตกล่าวว่าได้เรียกเก็บของมีค่ามาจากระหว่างเดินทางหรือเอามาจากบ้านคนที่ปิดประตูหนีไม่ทัน) ส่วนพระมหากษัตริย์ทรงเก็บตัวเงียบตลอดเวลา ๓ วันของพระราชพิธี ไม่ทรงว่าราชการใดๆทั้งสิ้น
นอกจากนี้ฟาน ฟลีตยังได้กล่าวนอกเหนือไปจากเอกสารของไทยอีกว่าเมื่อออกญาเกี่ยวข้าวมาถึง มีการอนุญาตให้คนแถวนั้นสามารถต่อสู้หรือโจมตีคนของออกญาเกี่ยวข้าวได้แต่ห้ามแตะต้องตัว หากออกญาเกี่ยวข้าวชนะ ข้าวก็จะเจริญงอกงามอุดมสมบูรณ์ ถ้าแพ้ภูติผีก็จะทำให้การเพาะปลูกไม่ได้ผล(สัณนิษฐานว่าเป็นการต่อสู้แบบหลอกๆ ถึงไม่ยอมให้โดนตัว แต่ฟาน ฟลีตกล่าวว่าบางครั้งก็มีคนโดนฟันบ้าง)
ทำลายพิธี เหตุการณ์ใหญ่ครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อสมเด็จพระเจ้าปราสาททองมีพระชนม์ได้ ๑๘ พรรษา(คำนวณจากปีพระราชสมภพน่าจะประมาณ พ.ศ.๒๑๖๐) โดยตอนนั้นทรงเป็นพระหมื่นศรีสรรักษ์ หัวหมื่นมหาดเล็ก
เนื่องจากพระราชพิธีนี้ทำกันในเดือน ๖ ก็คงเป็นเดือนเดียวกันในปีนั้น ระหว่างที่มีพระราชพิธีอยู่ พระหมื่นศรีสรรักษ์กับน้องชาย(ในอนาคตได้เป็น'ฝ่ายหน้า'หรือพระมหาอุปราช สัณนิษฐานว่าอาจจะเป็นสมเด็จพระศรีสุธรรมราชา)ได้ขี่ช้างแล้วมีบ่าวไพร่ติดตามมาด้วยอยู่ใกล้ๆบริเวณพิธีนั้น
ฟาน ฟลีตกล่าวว่า จมื่นศรีสรรรักษ์กับพรรคพวกก็ได้เข้าทำการโจมตี(น่าจะโจมตีตามธรรมเนียมพิธี)แต่กลับรุนแรงราวกับต้องการจะฆ่าออกญาเกี่ยวข้าวกับพรรคพวกให้ตายทั้งหมด ฝ่ายองครักษ์ออกญาเกี่ยวข้าวก็ป้องกันโดยขว้างก้อนหินใส่จนหินไปโดนน้องชายพระหมื่นศรีเข้า ทำให้พระหมื่นศรีโกรธมากชักดาบออกมาโจมตีอย่างหนักจนออกญาเกี่ยวข้าวกับพรรคพวกต้องหนีไปออกจากแปลงนา แต่ยังไม่พอ จมื่นศรีสรรักษ์ยังตามไปทำร้ายคนที่วิ่งตามทันอีกจนคนพวกนั้นบาดเจ็บสาหัส
เหตุใดพระเจ้าปราสาททองถึงทรงทำเช่นนี้ อาจเป็นไปได้ที่ว่าการโจมตีในช่วงแรงเป็นการโจมตีแบบที่เป็นธรรมเนียมพิธีอย่างที่ฟานฟลีตกล่าว แต่พอน้องชายโดนทำร้ายเลยโกรธขึ้นมา แต่ก็ผิดวิสัยเนื่องด้วยพระเจ้าปราสาททองเองเป็นมหาดเล็กรับใช้ใกล้ชิด ออกญาศรีธรรมธิราชพระบิดาก็เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ พระองค์จึงน่าจะมีความรู้ความเข้าใจดีว่าการทำลายพิธีจะให้ผลร้ายแรงอย่างไร หรือไม่อาจเป็นเพราะนิสัยที่ชอบก่อเรื่องอีกประการหนึ่ง ทั้งนี้ต้องลองวิเคราะห์กันต่อไป
ถูกลงโทษ
การจองจำห้าประการประกอบด้วย ตรวนใส่เท้า เท้าติดขื่อไม้ โซ่ล่ามคอ คาใส่คอทับโซ่ มือทั้งสองสอดเข้าไปในคาและไปติดกับขื่อทำด้วยไม้
ออกญาเกี่ยวข้าวหนีซมซานกลับไปกราบทูลเรื่องทั้งหมดกับสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมกริ้วมากทรงให้เรียกจมื่นศรีสรรักษ์เข้ามาเฝ้า แต่จมื่นศรีกลัวความผิดเลยหนีไปหลบในวัด ด้วยเหตุนี้ออกญาศรีธรรมาธิราชผู้เป็นพ่อจึงต้องรับเคราะห์แทน พระเจ้าทรงธรรมทรงขู่ว่าหากพระหมื่นศรีไม่เข้ามาเฝ้าจะทรงประหารออกญาศรีธรรมาธิราช(ซึ่งก็เป็นลุงแท้ๆของพระองค์)
จมื่นศรีสรรักษ์จึงเข้ามาเฝ้าทูลขอความเมตตา แต่สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมสั่งให้มหาดเล็กจับตัวไว้แล้วลงฟันจมื่นศรีด้วยพระองค์เอง โดยฟันที่ขาทั้ง ๒ ข้าง ข้างละ ๓ แผล ตั้งแต่เข้าถึงหัวแม่เท้า
สุดท้ายจมื่นศรีสรรักษ์ถูกลงโทษจำ ๕ ประการ ขังไว้ในคุกใต้ดิน
พ้นโทษ
มณีจันทร์(แอฟ ทักษอร ภักดิ์สุขเจริญ) จาดภาพยนตร์ 'ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช'
พระหมื่นศรีสรรักษ์ถูกจำคุกอยู่ ๕ เดือน ก็มีสตรีนางหนึ่งช่วยให้พ้นโทษออกมาได้
สตรีผู้นั้นมีนามว่า "Tjau Croa Maha-dijtjan" อาจถอดเสียงเป็นภาษาไทยได้ประมาณว่า "เจ้าขรัวมหาดิจันทร์" เป็นชายาม่าย(widow-จึงไม่รู้ว่าทรงมียศระดับไหน)ของพระนเรศ(Pra Naridt)หรือ Black King ซึ่งก็คือสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
มักเป็นที่รู้จักกันมากกว่าในชื่อ "เจ้าขรัวมณีจันทร์" ทั้งนี้เกิดจากการแปลเอกสารของฟาน ฟลีตที่ผิดพลาดจากภาาาดัชต์เป็นภาษาฝรั่งเศส(อ่านได้ในตอนที่ ๒) ทำให้ "Tjau Croa Maha-dijtjan" กลายเป็น "Ziau Croa Mady Tjan" พอถอดเป็นภาษาไทยจึงกลายเป็น "เจ้าขรัวมณีจันทร์" และชื่อก็ฟังดูใกล้เคียงกับ "พระมณีรัตนา" ซึ่งเป็นพระนามของพระมเหสีสมเด็จพระนเรศวรในเอกสาร "คำให้การชาวกรุงเก่า" ด้วย จึงทำให้คนเข้าใจกันว่าอาจจะเป็นองค์เดียวกันทั้งๆที่ชื่อมณีจันทร์ไม่น่าจะถูกต้อง เพราะคำว่า 'Maha(มหา)' ในภาษาดัชต์ฟังดูชัดเจนอยู่
Tjau Croa อาจถอดเสียงว่า เจ้าขรัวในสมัยรัตนโกสินทร์เป็นคำเรียกผู้เป็นบิดามารดาของพระสนมที่เป็นเจ้าจอมมารดาเพราะมีหลานตาเป็นพระองค์เจ้า เรียกกันว่า ขรัวตาขรัวยาย นอกจากคำว่า เจ้าขรัว ยังมีอีกคำหนึ่งที่ฟังดูใกล้อย่าง เจ้าครอก ใช้เรียกเจ้านายผู้หญิงโบราณ ถ้าตามความหมายรัตนโกสินทร์ อาจแปลได้ว่ามีพระราชธิดาด้วยสมเด็จพระนเรศวรพระองค์หนึ่ง แล้วพระธิดานั้นได้เป็นพระภรรยาเจ้าของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง ในรัชกาลต่อมามีหลานเป็นเจ้าฟ้าหรือพระองค์เจ้า ท่านจึงได้เป็น ขรัวยาย ในเวลาต่อมา แต่ก็ไม่มีหลักฐาน นอกจากนี้คำว่า"ขรัว"สามารถใช้หมายถึงภิกษุอายุมากได้บางคนจึงการสัณนิษฐานว่าหลังจากสมเด็จพระนเรศวรสวรรคตพระนางอาจจะออกไปบวชชี แต่ก็ไม่มีหลักฐาน Tjau Croa Maha-dijtjan น่าจะมีสถานะที่สูงพอสมควรในราชสำนักขณะนั้นและคงจะทรงเป็นผู้ที่ได้รับความเคารพนับถือจากสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมก็เป็นได้จึงสามารถทูลขอให้สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมอภัยโทษให้สมเด็จพระเจ้าปราสาททองได้(อาจบวกกับเวลา ๕ เดือนซี่งอาจจะนับว่านานพอแล้ว) แต่เหตุผลที่ทรงช่วยเหลือพระเจ้าปราสาททองหรือจมื่นศรีสรรักษ์นั้นไม่มีหลักฐานกล่าวถึง จึงต้องสัณนิษฐานกันต่อไป บ้างก็ว่าอาจเพราะมีสายสัมพันธ์กันส่วนตัว บ้างก็ว่าพระเจ้าปราสาททองเป็นโอรสลับของสมเด็จพระเอกาทศรถหรือสมเด็จพระนเรศวรเอง ท่านเลยช่วยเพราะเห็นเหมือนเป็นลูกเป็นหลาน(หรืออาจเป็นโอรสของท่านเอง) หรือไม่ก็เพราะพระเจ้าปราสาททองก็นับเป็นลูกพี่ลูกน้องของพระเจ้าทรงธรรมนับเป็นเชื้อพระวงศ์เหมือนกัน วัยเด็กอาจเคยเข้ามาในวัง หากจะรู้จักกับเจ้าขรัวมณีจันทร์ซึ่งน่าจะเป็นผู้ใหญ่ของฝ่ายในก็อาจจะเป็นช่วงนี้ก็ได้ บางทีอาจจะทรงเลี้ยงดูพระเจ้าปราสาททองไปพร้อมๆกับหลานเธอของท่านก็ได้ อาจเป็นไปได้ว่าท่านอาจจะเห็นมาตั้งแต่เล็กๆเลยเกิดความเอ็นดูสงสาร ทั้งหมดนี้ไม่มีหลักฐานเป็นแค่ความเป็นไปได้เท่านั้น สมเด็จพระเจ้าปราสาททองหรือจมื่นศรีสรรักษ์จึงพ้นโทษออกมาได้ คำนวณวันเวลาน่าจะประมาณ เดือน ๑๑ พ.ศ.๒๑๖๐
Create Date : 17 กันยายน 2555 |
Last Update : 14 มีนาคม 2556 21:06:47 น. |
|
6 comments
|
Counter : 8798 Pageviews. |
|
 |
|
Translation from Dutch to French is not easy. Only Belgians can translate from Dutch to French accurately. Van Vliet memoirs also translated to German. I think German version is more accurate.