"True success is not the learning, but in its application to the benefit of mankind"
สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
<<
กุมภาพันธ์ 2556
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
2425262728 
14 กุมภาพันธ์ 2556

สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ๒๖ : พระนาม 'ปราสาททอง'


ปราสาทยอดปรางค์ ๕ ยอด จิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถวัดประดู่ทรงธรรม จ.พระนครศรีอยุธยา


สำหรับพระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุทธยาพระองค์นี้แน่นอนว่ารู้จักกันดีว่า 'พระเจ้าปราสาททอง' แต่ในความเป็นจริงพระนามนี้ไม่ได้มีเริ่มแรกที่กษัตริย์องค์นี้แต่คำว่า 'ปราสาททอง' ได้กลายเป็นเหมือนสัญลักษณ์แทนตัวพระองค์และเป็นที่จดจำมาถึงปัจจุบัน

ทำไมถึงเรียกขานพระนามว่า 'ปราสาททอง'

เหตุที่เรียกพระมหากษัตริย์พระองค์นี้อย่างสามัญว่า 'สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง' ก็เพราะปรากฏข้อความในพระราชพงศาวดารตอนเสด็จขึ้นครองราชย์ว่า '...ในศักราช ๙๙๒ ปีมะเมียศกสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสร็จเสด็จขึ้นผ่านถวัลยราชพิภพ กรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยามหาดิลกภพนพรัตน์ราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศมหาสถานทรงพระนามพระเจ้าปราสาททอง...' เลยเข้าใจว่าเรียกขานกันตามนี้มาตลอด

มีหลักฐานมากมายทั้งร่วมสมัยและไม่ร่วมสมัยยืนยันว่าพระองค์ใช้พระนามนี้จริงๆทั้งหลักฐานของเยเรเมียส ฟาน ฟลีตหัวหน้าสถานีการค้าของบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดาประจำกรุงศรีอยุธยาที่อยู่ร่วมสมัยกับพระองค์ก็ระบุพระนามว่า 'Pra tiauw Prasathong' หรือหลักฐานของนิโกลาส์แชรแวสบาทหลวงชาวฝรั่งเศสที่เขามาในกรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ก็ระบุพระนามว่า Châou Pasâ Thông(แชรแวสแปลความหมายพระนามว่า 'เจ้าแห่งภาษาทอง'เข้าใจว่าน่าจะฟังเพี้ยนมาจาก 'ปราสาททอง')เท่านี้น่าจะเพียงพอที่จะใช้ยืนยันได้ว่าพระองค์ใช้พระนามนี้จริงๆ

การใช้พระนาม 'ปราสาททอง'

คำว่า 'ปราสาททอง' ใช้เป็นพระนามพระมหากษัตริย์มาตั้งแต่ก่อนสมเด็จพระเจ้าปราสาททองจะทรงใช้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสัณนิษฐานว่าพระนาม 'ปราสาททอง' ทางไทยน่าจะรับมาจากพม่าโดยดูจากพระนามของพระเจ้าเมงก่องหรือพระเจ้าฝรั่งมังฆ้อง โดยในราชาธิราชก็เรียกพระองค์ว่า 'พระเจ้ามณเฑียรทอง'

พระราชพงษาวดาร ความเก่าตามต้นฉบับหลวง เขียนครั้งกรุงธนบุรีเมื่อจุลศักราช ๑๑๓๖มีการใช้รูปแบบของคำที่เก่ากว่าในฉบับรัตนโกสินทร์ศักราชก็ถูกต้องมากกว่า มีข้อความที่ถูกเพิ่มมาน้อยกว่าก็มีการกล่าวพระนามของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ(ครองราชย์ พ.ศ.๒๐๙๑-๒๑๑๑)ที่ต่างไปจากพงศาวดารที่ชำระในสมัยรัตนโกสินทร์โดยกล่าวเรียกพระนามว่า 'พระเจ้าช้างเผือกปราสาททอง'

สำหรับพระมหากษัตริย์องค์นี้ เยเรเมียสฟาน ฟลีตหัวหน้าสถานีการค้าของบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดาประจำกรุงศรีอยุธยาที่อยู่ร่วมสมัยกับพระองค์ก็ระบุพระนามเมื่อครองราชย์ว่า พระองค์ศรีธรรมราชาธิราช(PraOnghsrij d'Harma Raatsja Thijraaja) แต่ก็มีการเรียกพระองค์ในเอกสารชิ้นเดียวกันซึ่งเขียนในพ.ศ.๒๑๘๓ ว่า พระองค์ศรี(ผู้ทรงพระนามว่าพระเจ้าปราสาททอง พระเจ้าช้างเผือก พระเจ้าช้างทองแดง พระเจ้าช้างโคบุตร) หรือที่ในต้นฉบับภาษาดัชต์เขียนว่า PraOngh srij(wien titulen zijn Pra tjaum Pra-sathong Pra Tsiaw tsiangh Peeuck, Pratjsaeuw tsiangh thongh dengh, Pratjaeuw tsiangh Chobolt)



พระนามสมเด็จพระเจ้าท้ายสระในจารึกวัดป่าโมกข์


รูปแบบพระนามแบบนี้พบในสมัยหลังอีก ในศิลาจารึกวัดป่าโมกข์ที่จารึกในพ.ศ.๒๒๗๑ รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ(ครองราชย์ พ.ศ.๒๒๕๑-๒๒๗๕)ก็ได้จารึกพระนามของสมเด็จพระเจ้าท้ายสระไว้ในรูปแบบที่คล้ายกันคือ'พระบาทพระศีรสรรเพชสัมเดจเอกาทศรุทอิศวร บรัมนารถบรัมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวพระเจ้าประสาททองพระเจ้าช้างเมิยมพระเจ้าช้างเผิอก'

จะเห็นได้ว่า 'ปราสาททอง' เท่าที่พบมักใช้เป็นสร้อยที่ต่อท้ายพระนามของกษัตริย์(ส่วนช้างที่ตามหลังน่าจะหมายถึงช้างสำคัญในรัชสมัยโดยสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองมีช้างโคบุตรช้างหนึ่ง ซึ่งพงศาวดารกล่าวว่า ๑วันหลังเกิดกบฏพระอาทิตยวงศ์ ฟ้าผ่านายช้างต้นโคบุตรตายแต่ช้างต้นโคบุตรไม่เป็นอะไรหลักฐานของฟาน ฟลีตก็มีกล่าวถึงช้างนี้อยู่เหมือนกัน)

แต่สำหรับสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง คำว่า 'ปราสาททอง' ได้กลายเป็นเหมือนพระนามเฉพาะตัวของพระองค์ไม่ว่าจะในรัชสมัยของพระองค์หรือในยุคหลัง

สำหรับผู้เขียนเชื่อว่าพระนามเมื่อขึ้นครองราชย์น่าจะเป็น 'พระองค์ศรีธรรมาธิราช' อย่างที่ฟาน ฟลีตกล่าว ส่วนพระนามพระเจ้าปราสาททองเห็นจะเป็นการถวายพระนามในภายหลังซึ่งน่าจะใกล้เคียงกับการทีสมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงคล้องช้างเผือกได้ ๗ ช้างก็มีการถวายพระนามเรียกว่า'พระเจ้าช้างเผือก'

ด้วยเหตุนี้จึงน่าจะมีเหตุการณ์ที่ทำให้ผู้คนเรียกขานพระนามของกษัตริย์พระองค์นี้ว่าพระเจ้าปราสาททอง


เหตุของการใช้พระนาม 'ปราสาททอง'



รูปแบบพระที่นั่งวิหารสมเด็จจำลอง ซึ่งมีผนังปิดทองประดับกระจกโดย อ.เสนอ นิลเดช


ที่มาของพระนาม 'ปราสาททอง' ของกษัตริย์พระองค์นี้มาจากเอกสารสองชิ้นคือคำให้การชาวกรุงเก่า กับคำให้การขุนหลวงหาวัด(ทั้งสองฉบับคือเอกสารเดียวกันแต่ฉบับแรกแปลจากภาษาพม่าอีกฉบับแปลจากภาษามอญ)ซึ่งเป็นเอกสารจากปากคำของเชลยไทยสมัยเสียกรุงศรีอยุทธยาครั้งที่สองระบุไว้

ในเอกสารคำให้การขุนหลวงหาวัดกล่าวว่าเดิมพระเจ้าปราสาททองมีพระนามเดิมว่า 'พระรามาธิเบศร์' แล้ววันหนึ่ง 'ทรงพระสุบินนิมิตว่า อันจอมปลวกที่เล่นเมื่อยังย่อมนั้นมีปราสาททองอันงามวิจิตรอยู่ที่ในใต้จอมปลวกนั้น ครั้นเช้าพระองค์จึ่งเสด็จไปแล้วก็พิจารณาดูที่ตำบลอันนั้น จึ่งให้ขุดลงที่จอมปลวกนั้นจึ่งเป็นมหัศจรรย์อยู่หนักหนา เสียงนั้นดังครื้นเครงไปปทั้งสิ้น ครั้นขุดลงไปจึ่งได้ปราสาททองเป็นจตุรมุขอันทองนั้นสุกแล้วมีลายอันงามประเสริฐ แต่ต้นจนยอดปราสาทนั้นสูงประมาณได้ศอกเศษพระองค์จึ่งเอาปราสาททองนั้นไว้แล้วจึงเชิญพระธาตุบรรจุไว้แล้วจึงเอาไว้อยู่ที่ในสรรเพชญ์ปราสาท อันปราสาททองนี้อยู่มาจนครั้งหลังจึงสมมตินามเรียก เจ้าปราสาททองมาแต่ครั้งนั้น'

ตำนานเรื่องขุดเจอปราสาททองในจอมปลวกค่อนข้างเป็นที่แพร่หลายทั่วไปแล้วคนส่วนมากก็มักจะเชื่อกันตามนี้แต่เอกสารนี้ก็เหมือนเป็นเรื่องที่เล่ากันมาปากต่อปากและไม่ได้ร่วมสมัยจึงยังไม่อาจจะเชื่อถือได้มากนัก

บางคนน่าจะเป็นเพราะพระองค์ทรงสร้าง 'ปราสาททอง' จริงๆขึ้นมาทำให้คนเรียกกันแบบนั้น

สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสัณนิษฐานว่าน่าจะเรียกพระนามนี้เมื่อทรงสร้าง 'พระที่นั่งวิหารสมเด็จ' ซึ่งเชื่อกันว่าตบแต่งด้วยทองคำแต่ในพระราชพงศาวดารกล่าวว่าปราสาทที่เป็นปราสาททองนั้นคือ 'พระที่นั่งมังคลาภิเษก' ซึ่งถูกฟ้าผ่าไหม้ไปใน พ.ศ.๒๑๘๖(พงศาวดารระบุว่า'...ครั้งนั้นไหม้แต่พระที่นั่งมังคลาภิเษกที่ชื่อปราสาททอง...') จนสมเด็จพระเจ้าปราสาททองต้องทรงสร้างพระที่นั่งวิหารสมเด็จขึ้นแทนที่

พระที่นั่งมังคลาภิเษกเป็นพระที่นั่งเก่าซึ่งสร้างก่อนสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองแต่มีความเป็นไปได้ที่จะมีการตบแต่งพระที่นั่งองค์นี้ด้วยทองในรัชสมัยของพระองค์และเป็นไปได้ว่าพระที่นั่งวิหารสมเด็จองค์ใหม่ก็อาจจะปิดทองด้วยเหมือนกันเื่นื่องจากมีหลักฐานระบุถึงปราสาททองในภายหลัง

เรื่องการสร้างปราสาทพบหลักฐานร่วมสมัยจดหมายเหตุของไคสแบร์ต เฮ็ก(Gijsbert Heeck)ชาวฮอสันดาที่เข้ามาในกรุงศรีอยุทธยาในพ.ศ.๒๑๙๘ อันเป็นปลายรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง โดยเฮ็กได้กล่าวว่า '...ในระหว่างทรงให้สร้างพระที่นั่งใหม่(ซึ่งน่าจะเป็นพระที่นั่งวิหารสมเด็จ)มีการระบุว่า อาคารจะต้องปกคลุมด้วยแผ่นทองหนาทุกด้านเพื่อให้มองเห็นคล้ายสวรรค์ที่เรืองอุไรข้อนี้สอดคล้องกับพระนามของพระองค์ดังที่กล่าวมาก่อนแล้ว...'

(แต่ ซิมง เดอ ลาลูแบร์(Simon de la Loubère) ทูตจากฝรั่งเศสที่เข้ามาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์กลับกล่าวว่า "แต่มาตรแม้นว่าภายนอกพระราชมณเฑียรสยามจะไม่มีเครื่องทาทองอย่างใดปรากฏให้เห็นและภายในก็มีเครื่องทาทองเพียงเล็กน้อยก็ยังไม่เว้นที่จะเรียกพระที่นั่งองค์นั้นว่า ปราสาททอง(Prassat-Tong) เพราะชาวสยามถนัดที่จะตั้งนามอันเลอเลิศให้แก่ทุกสิ่งที่เขายกย่องนั่นเอง")

เนื่องจากในเอกสารของฟาน ฟลีตซึ่งเขียนใน พ.ศ.๒๑๘๓ พระองค์ว่า 'พระเจ้าปราสาททอง' แล้วจึงเป็นไปได้ว่าเหตุที่ทำให้เรียกพระนามของพระองค์แบบนี้น่าจะเกิดก่อนพ.ศ.๒๑๘๓จึงเป็นไปได้ว่าพระองค์อาจจะทรงตกแต่งพระที่นั่งมังคลาภิเศกด้วยทองมาก่อนกน้านั้น

แต่อย่างไรเสียเรื่องทั้งหมดที่กล่าวมาก็ยังไม่มีหลักฐานอะไรจะระบุชี้ชัดได้



พระนามอื่นๆของพระเจ้าปราสาททอง

ที่เรียกกันว่า 'สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง' น่าจะเป็นพระนามที่ตั้งเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติหรือเป็นพระนามที่เรียกกันแบบลำลองมากกว่าจะเป็นพระนามที่ใช้ตั้งแต่เสด็จขึ้นครองราชย์

เวลาเสด็จขึ้นครองราชย์จะมีการถวายพระนามเต็มยาวเหยียดจารใส่สุพรรณบัตรซึ่งปัจจุบันไม่เหลือหลักฐานแล้ว  มีแต่ฟานฟลีตที่กล่าวว่าเมื่อขึ้นครองราชย์ทรงมีพระนามว่า 'พระองค์ศรีธรรมราชาธิราช'


จิตรกรรมวัดใหม่ประชุมพล จ.พระนครศรีอยุธยา

สัณนิษฐานว่าวาดในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง


เอกาทศรุทร

ในประกาศพระราชบัญญัติพระธรรมนูน ในปีกุนมหาศักราช ๑๕๕๕(พ.ศ.๒๑๗๘) ระบุพระนามของสมเด็จพระเจ้าปราสาททองว่า 'พระบาทสมเดจเอกาทธรฐอิศวรบรมนาถบรมบพิตรพระพุทธิเจ้าอยู่หัวในประกาศพระราชบัญญัติกฏหมายพระอายการเบดเสรจ ซึ่ีงประกาศในปีระกามหาศักราช ๑๕๖๕ (พ.ศ.๒๑๘๘) ก็ระบุพระนามเหมือนกันแค่สะกดต่างกันเล็กน้อย(เนื่องจากเป็นเอกสารที่คัดมาชำระในสมัยรัชกาลที่๑ จึงเป็นไปได้ว่ารูปแบบการสะกดคำอาจแตกต่างจากสมัยอยุทธยา)

เอกาทศรุทร(ซึ่งมีการสะกดหลายแบบตามแต่สมัย)หมายถึงเทพเจ้าในศาสนาฮินดู ๑๑ องค์ใช้ในการยอพระเกียรติพระมหากษัตริย์ว่าเป็นเทพอวตารลงมา ปรากฏใช้มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยายุคต้นๆ(ราวๆสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ)และเริ่มนำใช้มาเป็นพระนามอย่างเด่นชัดโดยพระอนุชาของสมเด็จพระนเรศวรที่ชื่อว่า 'ราเมศวร' และเรียกขานกันในทุกวันนี้ว่า 'สมเด็จพระเอกาทศรถ'นั่นเอง พระนามนี้มีพระมหากษัตริย์หลายองค์ใช้ ทั้งพระเจ้าทรงธรรม พระนารายณ์พระเจ้าท้ายสระ พระเจ้าบรมโกศ พระเจ้ากรุงธนบุรี

พระนามนี้น่าเป็น 'พระนามทางการ' ของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง คงเป็นพระนามที่ใช้เวลาจะประกาศพระราชบัญญัติหรือเขียนพระราชสาสน์ก็คงใช้พระนามนี้

เมื่อเทียบกับพระนามของสมเด็จพระเจ้าท้ายสระในจารึกวัดป่าโมกแล้วซึ่งคือ 'พระบาทพระศีรสรรเพชสัมเดจเอกาทศรุทอิศวร บรัมนารถบรัมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวพระเจ้าประสาททองพระเจ้าช้างเมิยมพระเจ้าช้างเผิอก' ดูเป็นรูปแบบที่ใกล้เคียงกันเมื่อมีหลักฐานว่าสมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงใช้พระนาม 'เอกาทธรฐ(เอกาทศรุทร)' พระนามเต็มที่อาจเป็นไปได้ก็น่าจะเป็น

'พระบาทสมเด็จเอกาทศรุทรอิศวรบรมนาถบรมบพิตรพระพุทธิเจ้าอยู่หัว พระเจ้าปราสาททอง พระเจ้าช้างเผือก พระเจ้าช้างทองแดง พระเจ้าช้างโคบุตร

แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานยืนยันได้มากพอ



ส่วนในเอกสารคำให้การเชลยศึก ๒ ฉบับเรียกพระนามว่า พระรามาธิเบศร์



สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๕

พระนามนี้เป็นพระนามที่ปรากฏใช้แพร่หลายมากที่สุดรองจาก 'พระเจ้าปราสาททอง' ปรากฏในหนังสือหลายเล่มรวมถึงหนังสือเรียนโดยที่ในความเป็นแล้วไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์แม้แต่ชิ้นเดียว (ในขณะที่พระนาม'เอกาทศรุทร' ไม่ได้รับความสนใจเลยทั้งๆที่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์)

พระนามนี้มาจากหนังสือ 'พระราชกรัณยาณุสรณ์'ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสอบทานพระนามพระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุทธยาโดยทรงสัณนิษฐานว่าพระมหากษัตริย์แต่ละพระองค์ควรมีพระนามอย่างไรเรียกขานอย่างไรให้สะดวก

องค์ที่พบหลักฐานว่าใช้พระนาม 'สรรเพชญ์' จริงๆมีสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช(สรรเพชญ์ที่ ๑) สมเด็จพระเอกาทศรถ(สรรเพชญ์ที่ ๓)สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม(ซึ่งไม่ถูกจัดว่าใช้พระนามสรรเพชญ์)กับสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ(สรรเพชญ์ที่ ๙)

ที่สมเด็จพระนเรศวรทรงมีพระนามเป็น สรรเพชญ์ที่ ๒ เพราะรัชกาลที่ ๕ ทรงสัณนิษฐานว่า 'จะเห็นลงได้บ้างว่าท่านเห็นจะใช้พระนามสมเด็จพระราชบิดาเปนสมเด็จพระสรรเพชญ์ ควรนับว่าเปนที่ ๒'

สมเด็จพระศรีเสาวภาคย์ทรงได้เป็น สรรเพชญ์ที่ ๔ เพราะ 'ให้ผู้อ่านคเนลองดูบ้างว่าพระศรีเสาภาคย์นี้มิใช่ทรงพระเยาว์อยู่ฤๅบ้านเมืองเปนจลาจลประการใด ก็เรียบร้อยเปนปรกติ จนได้ทำการราชาภิเศกดังนี้จะตั้งพระนามฤๅไม่ตั้ง ฤาจะใช้เจ้าฟ้าเสาวภาคย์อยู่ตามเดิม ถ้าเห็นว่าจะตั้งพระนามก็คงเปนสมเด็จพระสรรเพชญ์เปนแน่ ถ้าเป็นสมเด็จพระสรรเพชญ์แล้วต้องนับเปนที่ ๔'

สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมเดิมเชื่อกันว่าพระองค์เป็นคนนอกราชวงศ์ที่ยึดบัลลังก์พระองค์จึงไม่ถูกจัดเป็น 'สรรเพชญ์' แต่ปัจจุบันมีหลักฐานแล้วว่าพระองค์เป็นสมเด็จพระเอกาทศรถ(หรืออาจเป็นสมเด็จพระนเรศวร)

ส่วนพระเจ้าปราสาททอง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าทรงสัณนิษฐานว่า

'...ถ้าจะคิดว่าพระเจ้าอยู่หัวปราสาททองนี้ท่านเปนต้นบรมวงษ์อันหนึ่ง แลเทียบสมเด็จพระนารายน์ซึ่งเปนพระราชโอรสก็จะเห็นไปได้อิกทางหนึ่งว่า ท่านจะทรงพระนามรามาธิบดีให้เหมือนสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ซึ่งเปนปฐมบรมวงษ์ในกรุงทวาราวดี ถ้าเห็นดังนี้ควรนับว่าเปนสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๓

ฤๅจะเทียบได้อิกอย่างหนึ่ง แต่เปนเรื่องเกร็ดไปมีคำเล่าว่าท่านเปนพระราชโอรสของสมเด็จพระเอกาทศรฐ ถ้าเปนดังนั้นจริงท่านจะใช้พระนามตามสมเด็จพระเอกาทศรฐ ว่าสมเด็จพระสรรเพชญ์บ้างดอกกระมังถ้าเปนดังนั้น ก็ต้องเปนสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๕ ถ้าคำที่พงษาวดารมอญๆเรียกว่ารามาธิเบศร์ไม่เปนแต่คำยักเรียกให้แปลกแล้วก็เปนรามาธิเบศร์ที่ ๑....'

สรุปคือเรื่องทั้งหมดเป็นเพียงการสัณนิษฐานเท่านั้นแม้แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าก็ไม่ได้ทรงกล่าวว่าเป็นเรื่องจริง(ทรงใช้คำว่าถ้า) และยังทรงกล่าวด้วยว่า 'เปนเรื่องเกร็ดไป' แต่ใครบางคนก็ไม่รู้ที่เหมือนจะเชื่อว่าเป็นจริงทั้งหมดทำให้พระนามเหล่านี้กลายเป็นพระนามของกษัตริย์เหล่านั้นไปโดยแท้จริงและก็กลายเป็นพระนามที่อยู่ในหนังสือหลายๆเล่มรวมถึงแบบเรียนในปัจจุบันนี้โดยในตอนนี้ก็ยังไม่มีการแก้ไขใดๆ




Create Date : 14 กุมภาพันธ์ 2556
Last Update : 16 กุมภาพันธ์ 2556 16:37:06 น. 4 comments
Counter : 7166 Pageviews.  

 
เข้ามาอ่านค่ะ


โดย: tuk-tuk@korat วันที่: 19 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา:15:54:54 น.  

 
หายไปนานนะครับ


โดย: VET53 วันที่: 20 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา:13:26:39 น.  

 
พอดีเพิ่งว่างครับ ที่ผ่านมายุ่งตลอดเลย ว่าจะเขียนก็ไม่ได้เขียนซักที


โดย: ศรีสรรเพชญ์ (Slight06 ) วันที่: 20 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา:16:34:51 น.  

 
สนุกดีค่ะ


โดย: อตีตา IP: 115.87.192.228 วันที่: 25 พฤษภาคม 2556 เวลา:22:05:28 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ศรีสรรเพชญ์
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 23 คน [?]




New Comments
[Add ศรีสรรเพชญ์'s blog to your web]