"True success is not the learning, but in its application to the benefit of mankind"
สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
 
พฤษภาคม 2555
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
9 พฤษภาคม 2555

สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ๑ : พระชาติกำเนิด

 


ช้างปาลิไลยกะถวายน้ำพระพุทธเจ้า*

จากสมุดภาพไตรภูมิกรุงศรีอยุธยาหมายเลข ๖


       "เชอญเจ้ากูเสด็จ์ไปเนียร                        ทุกขสาษนจงเสถียร

ภพห้าพันปี

        วรสยมภูวญาฯโมลี                                   รับคำโกษี

บอดินทรเสด็จ์ลีลา

        เจียรจากไอยสวรรยลงมา                        ครอบครองอยุทธยา

บุรินทรอินทรพิศาล...” 

                                  คำฉันท์เฉลิมพระเกียรติพระเจ้าปราสาททอง

*คำฉันท์เฉลิมพระเกียรติพระเจ้าปราสาททองกล่าวว่าสมเด็จพระเจ้าปราสาททองเคยเสวยพระชาติเป็นช้างปาลิไลกะมาก่อน

สมเด็จพระเจ้าปราสาททองพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุทธยาองค์ที่ ๒๕ (รวมขุนวรวงศาธิราช) ทรงมีพระราชประวัติจากหลักฐานทั้งไทยและเทศที่ให้รายละเอียดมากในหลายๆแง่มุมทั้งพระอุปนิสัย วิธีการก้าวสู่ราชบัลลังก์ กลวิธีการปกครอง เป็นที่น่าศึกษาสำหรับผู้สนใจประวัติศาสตร์สมัยกรุงศรีอยุทธยา 


หลักฐานว่าด้วยพระชาติกำเนิด

เรื่องพระชาติกำเนิดของสมเด็จพระเจ้าปราสาททองที่รู้จักกันแพร่หลายมากที่สุดคือกล่าวว่าพระองค์เป็นพระโอรถลับของสมเด็จพระเอกาทศรถ ที่มาของเรื่องนี้เป็นเรื่องเกร็ดที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้ยินมาภายหลังก็ทรงเล่าพระราชทานพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องราวนี้เป็นที่เล่าขานกันโดยทั่วไป และถือเป็นตำนานท้องถิ่นของบางปะอิน มีเนื้อหากล่าวถึงสมเด็จพระเอกาทศรถคือ 

“…ในกาลครั้งหนึ่งมีที่เสด็จพระราชดำเนินลงไปข้างใต้ แล้วเสด็จกลับ พอเกิดพายุพัดหนักมืดมัว เรือพระที่นั่งล่มลงตรงเกาะบางปอินนี้ สมเด็จพระเอกาทศรฐ ทรงว่ายน้ำมาขึ้นเกาะนี้ พบบ้านแห่งหนึ่ง เจ้าของบ้านนั่งผิงไฟอยู่ สมเด็จพระเอกาทศรฐเสด็จเข้าไปทรงอาศัยผิงไฟ ทอดพระเนตรเห็นหญิงเจ้าเข้ามีรูปโฉมงามต้องพระทัย ก็เสด็จอยู่ด้วยหญิงนั้นคืนหนึ่ง แล้วจึ่งเสด็จกลับขึ้นไป ตั้งแต่นั้นมาหญิงนั้นก็มีครรภ์คลอดบุตรเป็นชาย ครั้นโตขึ้น ก็ได้รับราชการสืบมาแต่มิได้ปรากฏว่าเป็นพระเจ้าลูกเธอ…”—ตำนานพระที่นั่งเกาะบางปอิน

กล่าวกันว่าหญิงคนนั้นมีนามว่า “อิน” ภายหลังจึงเป็นที่มาของชื่อ “บางปะอิน” ซึ่งแปลว่า บางที่มาพบ(ปะ)นางอิน บ้างก็ว่าคำว่าบางปะอินเพี้ยนมาจาก “บางนางอิน” เป็นต้นเพราะพงศาวดารมีเรียกว่า “บางนางอิน” อยู่

อย่างไรเสียเรื่องเล่านี้ก็เป็นเพียงตำนานที่เล่ากันมา ไม่มีหลักฐานใดๆมายืนยันได้ และไม่น่าเชื่อถือนัก


แต่มีเอกสารที่เขียนในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าปราสาททองโดย เยเรเมียส ฟาน ฟลีต(Jeremias Van Vliet) นายห้างชาวเนเธอร์แลนด์ในกรุงศรีอยุทธยาได้กล่าวไว้ในงานเขียนของตนที่ภายหลังเรียกว่า “Historical Account of King Prasat Thong” บันทึกใน ค.ศ.1640(พ.ศ.๒๑๘๓) กล่าว่าพระบิดาของพระองค์คือ ออกญาศรีธารมาธีราช(Oija Sijdama Thijra-ija) หรือออกญาศรีธรรมาธิราช(แล้วแต่จะแปล) ซึ่งฟานฟลีตได้กล่าวว่าท่านผู้นี้  “...เป็นพี่ชายคนใหญ่ตามกฎหมายของพระมารดาของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม (de Groot Coninck--the Great King)” 

เท่ากับว่าสมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงเป็นลูกพี่ลูกน้องกับสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม โดยพระบิดาเป็นพระปิตุลาแท้ๆของพระเจ้าทรงธรรม 

เรื่องนี้สอดคล้องกับเอกสารคำให้การเชลยไทยสมัยเสียกรุงครั้งที่ ๒ ทั้งสองเรื่องคือคำให้การขุนหลวงหาวัดและคำให้การชาวกรุงเก่า(ทั้ง ๒ เล่มคือเรื่องเดียวกันลอกกันมาคนละภาษา) ซึ่งกล่าวว่าพระเจ้าปราสาททองเป็นเชื้อพระวงศ์ฝ่ายพระมารดาของพระเจ้าทรงธรรม

ส่วนเรื่องที่เป็นโอรสลับ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่าจริงๆแล้ว หญิงที่สมเด็จพระเอกาทศรถมาพบคงจะเป็นพระมารดาของพระเจ้าทรงธรรมมากกว่า ภายหลังคงจะทรงชุบเลี้ยงครอบครัวของนางเรื่อยมา ทำให้พระเจ้าปราสาททองได้รับราชการในภายหลัง เมื่อพระเจ้าทรงธรรมได้ครองราชย์ก็เป็นไปได้ที่จะมีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นเพราะนับเป็นพระญาติของพระมารดา

บางท่านก็สันนิษฐานว่าเป็นโอรสลับแต่ยกให้ออกญาศรีธรรมาธิราชดูแลก็มี บางท่านก็ว่าเป็นโอรสลับสมเด็จพระนเรศวรก็มี แต่ยังไม่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือนัก


ปีพระราชสมภพ

มีแต่ฟานฟลีตที่กล่าวถึงพระชนม์มายุของพระเจ้าปราสาททอง กล่าวว่าเสด็จขึ้นครองราชย์ใน ค.ศ.๑๖๒๙ (พ.ศ.๒๑๗๒) เมื่อมีพระชนมายุ ๓๐ พรรษา  แต่พระราชพงศาวดารกล่าวว่าครองราชย์ใน จุลศักราช ๙๙๒ ปีมะเมีย (พ.ศ.๒๑๗๓) คลาดกัน ๑ ปี

สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงคำนวณหักลบแบบตรงตัวจาก พ.ศ.ในพระราชพงศาวดาร กล่าวว่าพระราชสมภพในปีชวด พ.ศ.๒๑๔๓ สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช(ทรงเขียนในพระนิพนธ์ “ไทยรบพม่า”)

แต่สมเด็จฯ ท่านหักลบพระชนมายุจากปีในพงศาวดารแทนที่จะลบจากของ ฟาน ฟลีต

หักจากเอกสารของฟาน ฟลีต จะได้ พ.ศ.๒๑๔๒ ปีกุน โดยประมาณ อาจมีการคลาดเคลื่อนปีสองปี 

แต่น่าจะก่อนปีกุน เพราะพระราชพงศาวดารกล่าวถึงสมเด็จพระศรีสุธรรมราชา พระอนุชาของพระเจ้าปราสาททองว่า “…พระชนม์ว่าร้อนสุกร และใบสะเดานั้นเป็นนามพุฒ และสุกรไซร้สิ้นกำลังในพุฒนาม…” 

ไม่แน่ใจนักแต่คิดว่า “พระชนม์ว่าร้อนสุกร” น่าจะหมายถึงประสูติในปีกุน ในกรณีที่ร่วมพระมารดาเดียวกันสมเด็จพระเจ้าปราสาททองควรพระราชสมภพก่อนปีกุน หรือต้นปีกุนโดยพระศรีสุธรรมราชาเป็นปลายปีก็เป็นได้ หรือเป็นแฝด ก็แล้วแต่จะคิด

คำให้การชาวกรุงเก่ากล่าวว่าวันพระราชสมภพคือวันเสาร์  เดือนไม่ทราบ


พระบิดา-พระมารดา และพระอนุชา

 

ยึดตามเอกสารของฟาน ฟลีต พระบิดาเป็นขุนนางรับราชการมีบรรดาศักดิ์เป็น “ออกญาศรีธรรมาธิราช” อย่างไรเสียคงไม่ได้มีบรรดาศักดิ์นี้มาตั้งแต่พระเจ้าปราสาททองพระราชสมภพ เพราะทินนาม “ศรีธรรมาธิราช” 

ทินนามนี้ไม่พบในพระอัยการนาพลเรือนหรือนาทหารหัวเมืองจึงไม่ทราบหน้าที่โดยตรงในสมัยอยุทธยา แต่เข้าในว่าเป็นทินนามขั้นเสนาบดีผู้ใหญ่ในกรมวังรับผิดชอบเรื่องพระราชพิธีขนบธรรมเนียมต่างๆ มีตัวอย่างในสมัยรัชกาลที่ ๒ ทรงเลื่อนเจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์(บุญรอด บุณยรัตพันธุ์)เสนาบดีจตุสดมภ์กรมวัง ขึ้นเป็นเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช สมัยสมเด็จพระเจ้าท้ายสระก็มีกล่าวถึง “เจ้าพญาศรีธรรมาธิราช” ในจารึกวัดป่าโมก หรือตัวอย่างในสมัยกรุงธนบุรีได้ตั้งพระยาธิเบศบริรักษ์ข้าราชการกรุงเก่าขึ้นป็นเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราชยังมีกล่าวถึงเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราชว่า “ผู้เป็นอรรคมหาเสนาธิบดี” แสดงว่าน่าจะเป็นตำแหน่งที่ค่อนข้างสูงทีเดียว 

ความเป็นไปได้อย่างหนึ่งที่ทินนาม “ศรีธรรมาธิราช” จะมีหน้าที่รับผิดชอบในฝ่ายกรมวัง เห็นได้จากเมื่อพระเจ้าปราสาททองรับราชการอยู่ ตามหลักฐานของฟานฟลีตกล่าวว่าทรงเป็นตำแหน่งที่ฟังดูใกล้กับเสนาบดีกรมวัง ต่อมาเมื่อทรงได้เลื่อนเป็นสมุหพระกลาโหมก็ให้พระอนุชามารับตำแหน่งกรมวังแทน ซึ่งก็เป็นรูปแบบของระบบราชการที่มักให้ลูกมักได้รับราชการในสายงานของบิดาหรือครอบครัว

ที่กล่าวว่ายังไม่น่าเป็นออกญาศรีธรรมาธิราชตั้งแต่ต้นเพราะเป็นตำแหน่งระดับสูง การได้กินตำแหน่งนี้ราวๆ ๓๐ ปี(ตั้งแต่พระเจ้าปราสาททองประสูติจนออกญาท่านถึงแก่กรรม) เห็นจะยาวนานเกินไป ในช่วงพระราชสมภพของพระเจ้าปราสาททอง พระบิดาน่าจะมีตำแหน่งที่ยังต่ำกว่านี้ มีความเป็นไปได้เลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมครองราชย์เนื่องจากเป็นลุงแท้ๆ โอกาสน่าจะมีมากในตอนนี้

ส่วนพระมารดา หากยึดตามตำนานของบางปะอิน ก็คงมีพระนามเดิมว่า “อิน” แต่ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เล่ากันมาจึงไม่มีหลักฐานใดยืนยัน ตามพระราชพงศาวดารกล่าวว่าทรงมีบ้านอยู่บริเวณที่เป็นวัดไชยวัฒนารามในปัจจุบัน และถึงแก่กรรมก่อนพระเจ้าปราสาททองได้ครองราชย์แต่ทั้งสองเรื่องมีหลักฐานอื่นแย้ง จะกล่าวในตอนต่อๆไป

ส่วนพระอนุชาจากพงศาวดารกล่าวว่ามีพระอนุชาพระองค์หนึ่ง เมื่อพระเจ้าปราสาททองเสด็จขึ้นครองราชย์แล้วจึงทรงสถาปนาขึ้นเป็น"พระศรีสุธรรมราชา" ส่วนหลักฐานของฟานฟลีตกล่าวว่าทรงตั้งพระอนุชาขึ้นเป็น "ฝ่ายหน้า(feijna)"หรือพระมหาอุปราช ซึ่งขัดกับพระราชพงศาวดารของไทยที่กล่าวว่าสมเด็จพระศรีสุธรรมราชานั้น พระเจ้าปราสาททอง "...ทรงพระกรุณาตรัสว่าน้องเราคนนี้น้ำใจกักขฬะหยาบช้ามิได้มีหิริโอตปะ จะตั้งให้เป็นอุปราชแผ่นดินต่างพระเนตรพระกรรณมิได้..." แต่ฟานฟลีตที่อยู่ร่วมสมัยนั้นกล่าเรียกพระองค์ว่าฝ่ายหน้าบ่อยมาก จึงมีความเป็นไปได้ว่าพระราชพงศาวดารที่ชำระสมัยหลังอาจถูกเขียนโดยศัตรูทางการเมืองเช่นสมเด็จพระนารายณ์ก็เป็นได้

นอกจากนี้ฟานฟลีตยังกล่าวว่ายังมีพระอนุชาอีกพระองค์แต่ถึงแก่กรรมไปตั้งแต่สมเด็จพระเจ้าปราสาททองยังไม่ได้ครองราชย์


พระนิวาสสถานเดิม


พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์ในพระราชวังบางปะอิน

ตามตำนานที่กล่าวไปแล้วว่าพระมารดาเป็นชาวบางปะอิน หรือ จะตามพระวินิจฉัยของกรมพระยาดำรงที่กล่าวว่าน่าจะเป็นเรื่องของพระมารดาพระเจ้าทรงธรรมมากกว่าพระเจ้าปราสาททอง แต่อย่างไรก็น่าเชื่อว่าสมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงมีพื้นเพเดิมเป็นชาวบางปะอิน(ไม่ว่าจากสายพระบิดาหรือพระมารดาก็ตาม) ดูจากที่ทรงให้ความสำคัญกับบางปะอิน สร้างพระที่นั่ง วัดชุมพลนิกายาราม หรือทรงไปทำพิธีโสกันต์ให้เจ้าฟ้าไชยที่เกาะบ้านเลนซึ่งก็คือชื่อเก่าของบางปะอิน

และดูจากข้อความในพระราชพงศาวดารในตอนเสด็จไปบางปะอินใน จ.ศ.๙๙๔(พ.ศ.๒๑๗๕) เพื่อ “ประพาสราชตระกูลสุริยวงศ์อนงค์นารีทั้งปวง” ก็นับว่าชัดเจนดีอยู่ว่าทรงมีพระญาติพระวงศ์อยู่ที่บางปะอินมาก

 

 




Create Date : 09 พฤษภาคม 2555
Last Update : 31 สิงหาคม 2555 16:42:10 น. 14 comments
Counter : 18711 Pageviews.  

 
ผมเห็นคุณใช้ภาษาดัตช์ผิดบ่อยใน Pantip ภาษาดัตช์ที่ถูกคือ de Groot Koning = the Great King
“Historische Geschichte von König Prasat Thong”เป็นภาษาเยอรมัน
ภาษาดัตช์ที่ถูกคือ
"Historisch Geschiedenis van Koning Prasat Thong”


โดย: Keatkhamjorn IP: 120.108.90.189 วันที่: 9 พฤษภาคม 2555 เวลา:17:41:03 น.  

 
ถ้าได้อ่านจดหมายรายงานจากสถานีการค้าที่อยุธยาไปยังปัตตาเวียของ Verenigde Oostindische Compagnie (VOC) ตั้งแต่ตั้งสถานีการค้าที่อยุธยาจนกระทั่งถอนตัวออกไปคุณจะทราบรายละเอียดอีกมาก VOC ล้มละลายในปีพ.ศ. 2336


โดย: Keatkhamjorn IP: 120.108.90.189 วันที่: 9 พฤษภาคม 2555 เวลา:17:51:02 น.  

 
ขอบคุณมากครับ แต่ the great king ผมเคยเช็คด้วย google แล้วตรงกับที่คุณบอกไว้ครับ แต่ต้นฉบับภาษาดัชต์ของฟานฟลีตเขียนแบบนั้นนั้นผมเลยเอาตามต้นฉบับครับ

ส่วนภาษาเยอรมันผมไม่ทันดูจริงๆเดี๋ยวผมแก้ละกัน ขอบคุณอีกหนครับ


โดย: Slight06 วันที่: 9 พฤษภาคม 2555 เวลา:18:23:43 น.  

 
ลูกจ้่างของ VOC ไม่ได้มีแต่คนดัตช์ยังมี คนเยอรมัน สวีเดน ฝรั่งเศสฮูกือโนต์ (Huguenots) ที่นับถือโปรแตสแตนท์ ชาวดัตช์ที่เป็นคาทอลิกถือเป็นพลเมืองชั้นสองในสมัยนั้นและ VOC มักจะไม่จ้างเพราะไม่ไว้ใจ จึงเป็นไปได้ที่มีเพื่อนรวมงานเยอรมันของฟานฟลีตเอาไปแปลเป็นภาษาเยอรมัน
ภาษาดัชต์ที่ฟานฟลีตใช้เป็นภาษาดัชต์สมัยเก่า ที่แตกต่างจากสมัยนี้มากทั้งในเรื่ิอง ตัวสะกดและไวยากรณ์เีช่น Groot เป็น Grote, Tijd เป็น Tyd
สังคมดัตช์ไม่เป็นสังคมศักดินา (Feudalism) เหมือนสังคมยุโํรปอื่นๆในสมัยนั้น ชนชั้นพ่อค้ามีอิทธิพลในสังคมมาตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ 12 ชาวดัตช์มีนามสกุลใช้ทั่วประเทศในสมัยนโปเลียน
ดังนั้นคนดัตช์ที่มีนามสกุลสมัยนั้นถือเป็นพวกมีตระกูลแต่ชาวดัชต์ไม่ชอบแสดงการแบ่งชนชั้น พวกมีตระกูลมักเป็นพนักงานระดับสูงใน VOC
คุณทราบหรือไม่ว่าพระเจ้าเอกทศรถทรงส่งคณะราชทูตเดินทางไปเจริญราชไมตรี ณ ประเทศเนเธอร์แลนด์ (Republiek der Zeven Verenigde Nederlanden)? เนเธอร์แลนด์สมัยนั้นยังเป็นสาธารณรัฐที่เจ้าผู้ครองนคร (Stadhouder) ทั้ง 7 คน แบ่งอำนาจกัน
//nl.wikipedia.org/wiki/Geschiedenis_van_de_betrekkingen_tussen_Nederland_en_Thailand


โดย: Keatkhamjorn IP: 120.108.90.189 วันที่: 10 พฤษภาคม 2555 เวลา:10:14:44 น.  

 
ลูกจ้่างของ VOC ไม่ได้มีแต่คนดัตช์ยังมี คนเยอรมันสวีเดน ฝรั่งเศสฮูกือโนต์ (Huguenots) ที่นับถือ
โปรแตสแตนท์ ชาวดัตช์ที่เป็นคาทอลิกถือเป็น
พลเมืองชั้นสองในสมัยนั้นและ VOC มักจะไม่จ้างเพราะไม่ไว้ใจ จึงเป็นไปได้ที่มีเพื่อนรวมงาน
เยอรมันของฟานฟลีตเอาไปแปลเป็นภาษาเยอรมัน
ภาษาดัชต์ที่ฟานฟลีตใช้เป็นภาษาดัชต์สมัยเก่า
ที่แตกต่างจากสมัยนี้มากทั้งในเรื่ิองตัวสะกดและ
ไวยากรณ์เีช่น Groot เป็น Grote, Tijd เป็น Tyd


โดย: Keatkhamjorn IP: 120.108.90.189 วันที่: 10 พฤษภาคม 2555 เวลา:10:17:30 น.  

 
สังคมดัตช์ไม่เป็นสังคมศักดินา (Feudalism) เหมือนสังคมยุโํรปอื่นๆในสมัยนั้น ชนชั้นพ่อค้ามีอิทธิพลในสังคมมาตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ 12 ชาวดัตช์มีนามสกุล
ใช้ทั่วประเทศในสมัยนโปเลียน
ดังนั้นคนดัตช์ที่มีนามสกุลสมัยนั้นถือเป็นพวกมีตระกูล
แต่ชาวดัชต์ไม่ชอบแสดงการแบ่งชนชั้น
พวกมีตระกูลมักเป็นพนักงานระดับสูงใน VOC
คุณทราบหรือไม่ว่าพระเจ้าเอกทศรถทรงส่งคณะราชทูตเดินทางไปเจริญราชไมตรี ณ ประเทศเนเธอร์แลนด์ (Republiek der Zeven Verenigde Nederlanden)? เนเธอร์แลนด์สมัยนั้นยังเป็นสาธารณรัฐที่เจ้าผู้ครองนคร (Stadhouder) ทั้ง 7 คน แบ่งอำนาจกัน
//nl.wikipedia.org/wiki/Geschiedenis_van_de_betrekkingen_tussen_Nederland_en_Thailand




โดย: Keatkhamjorn IP: 120.108.90.189 วันที่: 10 พฤษภาคม 2555 เวลา:10:18:50 น.  

 
I'm sorry for repeat posting because I think it's difficult to read.


โดย: Keatkhamjorn IP: 120.108.90.189 วันที่: 10 พฤษภาคม 2555 เวลา:10:19:56 น.  

 
สมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง มีเหตุการณ์กระทบกระทั่งระหว่างชาวดัชต์กับชาว อยุธยา
ที่เรียกว่า Picnic incident Vereenigde Oostindische Compagnie ปัจจุบันสะกดเ็ป็น Verenigde Oost-Indische Compagnie Coninck Koninck ปัจจุบันสะกดเ็ป็น Koning


โดย: Keatkhamjorn IP: 120.108.90.189 วันที่: 10 พฤษภาคม 2555 เวลา:17:05:15 น.  

 
เยี่ยมครับ เขียนอีกนะครับจะคอยติดตาม
เรื่องโอรสลับอย่าให้ความสนใจเลยครับ
ในความคิดผมก็แค่อ้างความชอบธรรม
สืบสายไปยังราชวงศ์สายเก่าเท่านั้น


โดย: VET53 วันที่: 26 กรกฎาคม 2555 เวลา:15:12:58 น.  

 
เรื่องโอรสลับไม่น่าเชื่ออยู่แล้วครับ แต่จำเป็นต้องยกขึ้นมาให้คนทั่วไปได้อ่านด้วยครับ


โดย: ศรีสรรเพชญ์ (Slight06 ) วันที่: 27 กรกฎาคม 2555 เวลา:18:22:33 น.  

 
วันนี้มีเวลามาอ่านค่ะ


โดย: tuk-tuk@korat วันที่: 7 มีนาคม 2556 เวลา:13:03:21 น.  

 
เริ่มตามอ่านตั้งแต่ต้นเลยค่ะ


โดย: ~My Birthday is on April 14~ วันที่: 10 มิถุนายน 2556 เวลา:1:26:04 น.  

 
อ่านหนังสือ บันทึกลับแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราช แล้วจะเข้าใจมากขึ้น


โดย: twenty IP: 182.52.106.207 วันที่: 4 กรกฎาคม 2556 เวลา:13:47:59 น.  

 
อ่านแล้วครับ คุณ twenty กล้าพูดเลยว่าเป็นหนังสือที่เขียนประวัติศาสตร์แบบยกเมฆขึ้นมาเพื่อหวังหากำไร หลอกคนอ่านเท่านั้นครับ

อ้างนู่นอ้างนี่ จริงๆแค่ลอกจดหมายเหตุวันวลิตฉบับภาษาไทยมาลงแล้วพยายามแต่งภาษาให้ดูเก่า(ซึ่งไม่เนียน)ซึ่งวันวลิตฉบับภาษาไทยแปลมาหลายทอดซึ่งแปลผิดกันมา่จากต้นฉบับที่เป็นภาษาดัชต์มากเนื้อความมันเลยผิดตามกันไปหมด บอกว่าพระเจ้าปราสาททองชื่อเดิมชื่อ'ไล' ก็เท่ากับผิดเต็มประตู(อ่านตอนที่ ๒)

รูปแบบภาษาที่ใช้ ทั้งการสะกดคำ การใช้คำ ทั้งรูปประโยค ไม่ใช่รูปแบบของภาษาสมัยอยุทธยาเลย สมัยต้นรัตนโกสินทร์ก็ไม่ใช่ เป็นภาษาปัจจุบันที่พยายามแต่งให้ดูเก่าเท่านั้น แถมไปคัดลอกสมุดตำราพิชัยสงครามมาลงแทรกโชว์หน้าให้ดู แต่ทำไมไม่โชว์หน้าที่เป็นสมุดไทยสองแควอะไรนั่นล่ะครับ

หนังสือเล่มนี้ไม่มีความน่าเชื่อถือเลยแม้แต่น้อยครับ


โดย: ศรีสรรเพชญ์ (Slight06 ) วันที่: 31 กรกฎาคม 2556 เวลา:19:48:24 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ศรีสรรเพชญ์
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 23 คน [?]




New Comments
[Add ศรีสรรเพชญ์'s blog to your web]