สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ คำว่า “ทิฏฐิ” นั้นเป็นคำกลางๆ หมายถึง “ความคิดเห็น” จะถูกหรือผิดนั้น ต้องขึ้นอยู่กับข้อมูลที่ได้รับ อีกทั้งรายละเอียดที่แวดล้อมข้อมูลนั้นอยู่ แต่ “ทิฏฐิ” ที่มีให้เห็นในทุกวันนี้ เป็น “ทิฏฐิ” ที่เกิดจากความรู้สึกนึกคิด จากความเชื่อความศรัทธาในตัวบุคคลเสียมากกว่า เป็นการเชื่อในความนึกคิดที่ยึดติดในความรู้สึกของตนเอง โดยมองข้ามหลักฐานความจริงที่ถูกต้องของข้อมูลรายละเอียดที่มีปรากฏในพระสูตรต่างๆ ที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสไว้ดีแล้ว โดยเฉพาะ “ทิฏฐิ” ที่ได้รับจากบุคคลผู้ซึ่งน่าเชื่อถือ มีหน้ามีตามีหน้าที่การงาน อีกทั้งมีฐานะทางสังคมชั้นสูงด้วยแล้ว เมื่อได้สอนหรือพูดอะไรไป ผู้ฟังมักขอเชื่อไว้ก่อนว่าที่สอนหรือพูดมานั้นถูกต้องแล้ว เป็น “สัมมาทิฏฐิ” ทั้งๆ ที่ “ทิฏฐิ” ที่ว่ามานั้น เป็นเพียงความเชื่อ ความศรัทธาที่เกิดขึ้นจากความนึกคิดที่ยึดติดในความรู้สึกของตนเองเท่านั้น มีพระพุทธพจน์ตรัสเพื่อป้องกันเรื่องเหล่านี้ไว้ ใน “กาลามสูตร” ทรงตรัสถึงความเชื่อ ๑๐ ประการว่า “อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อ” ต้องสมาทานนำมาปฏิบัติเพื่อพิสูจน์ให้ทราบความจริง ซึ่งเป็นผลที่ประจักษ์ได้แล้วค่อยเชื่อก็ยังไม่สาย แต่ในปัจจุบันคำสอนมักเป็นไปแบบเอาอกเอาใจกันเสียมากกว่า สำหรับบุคคลผู้ที่มีจิตศรัทธา เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา การสอนก็มักเป็นไปในรูปแบบให้กำลังใจ เพื่อให้เกิดความสบายใจก็จะมีความเชื่อ ความศรัทธายิ่งๆ ขึ้น โดยขาดการเน้นย้ำในส่วนสำคัญที่เป็นเรื่องของความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ ที่ปฏิเสธไม่ได้ คือ อริยสัจ ๔ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค อริยสัจ ๔ ความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ เป็นการไม่ให้เชื่อในความนึกคิด ติดในความรู้สึก ต้องปฏิบัติธรรมเพื่อพิสูจน์ความเชื่อ ความศรัทธา “ทิฏฐิ” ความคิดเห็นที่ตนเองคิดว่าถูกนั้น จึงจะเป็น “สัมมาทิฏฐิ” คือเป็นความคิดเห็นที่ชอบแล้ว หมายถึงได้ผ่านการพิสูจน์ทราบทางการปฏิบัติธรรม เพื่อให้รู้เห็นตามความจริงในสิ่งที่เกิดขึ้น ถึงแม้จะเป็น “สัมมาทิฏฐิ” ที่เป็นเพียงสาสวะก็ตาม มีพระพุทธพจน์ที่ทรงตรัสไว้ในตอนต้นพระสูตร (มหาจัตตารีสกสูตร) เกี่ยวกับ “สัมมาสมาธิ” ของพระอริยเจ้า อันมีเหตุ มีองค์ประกอบ ที่แวดล้อมไปด้วยอริยมรรคอีก ๗ องค์ บรรดาองค์ทั้ง ๗ นั้น “สัมมาทิฏฐิ” เป็นประธาน ได้ทรงกล่าวถึง “สัมมาทิฏฐิ” ที่เป็นประธานอยู่นั้นมี ๒ อย่าง คือ ๑. สัมมาทิฏฐิที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญให้ผลแก่ขันธ์ ๒. สัมมาทิฏฐิของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค สัมมาทิฏฐิที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญให้ผลแก่ขันธ์ เป็นไฉน? คือ ความเห็นดังนี้ว่า – ทานที่ให้แล้ว มีผล – ยัญที่บูชาแล้ว มีผล – สังเวยที่บวงสรวงแล้ว มีผล – ผลวิบากของกรรมที่ทำดี ทำชั่วแล้ว มีอยู่ – โลกนี้ มี – โลกหน้า มี – มารดา มี – บิดา มี – สัตว์ที่เป็นอุปปาติกะ มี – สมณพราหมณ์ทั้งหลาย ผู้ดำเนินชอบ ปฏิบัติชอบ ซึ่งประกาศโลกนี้โลกหน้าให้แจ่มแจ้ง เพราะรู้ยิ่งด้วยตนเอง ในโลก มีอยู่ นี้สัมมาทิฐิที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญให้ผลแก่ขันธ์ ฯ “สัมมาทิฏฐิ” ที่ยังเป็นสาสวะ ยังต้องมีพื้นฐานสำคัญในเรื่องกำลังสมาธิของจิตที่มีสติ สงบตั้งมั่น แต่ยังคงมีความหวั่นไหวอยู่บ้างไปกับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดอันละเอียดที่เข้ามากระทบจิตของตน ทำไมต้องมีกำลังของ “สมาธิ” ด้วย? เพราะบุคคลที่จิตมีกำลังสติสงบตั้งมั่นได้นั้น ย่อมเป็นบุคคลที่มีส่วนในทางทำให้เกิดกุศล กุศลทั้งหลายล้วนเป็นเรื่องของบุญ เช่น เคารพพ่อ – แม่ ทำความดี ให้ทาน เชื่อเรื่องวิบากกรรม เชื่อในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มีจิตใจที่สุขสงบร่มเย็น การกระทำเหล่านี้ จึงเป็นบุญที่ให้ผลแก่ขันธ์ เช่น – เวทนาขันธ์ ก็ได้รับแต่สุขเวทนา – สัญญาขันธ์ จดจำแต่สิ่งที่เป็นบุญกุศล – สังขารขันธ์ ปรุงแต่งในสิ่งดีๆ มีประโยชน์ – วิญญาณขันธ์ แจ้งแต่ในอารมณ์อันละเอียดเป็นสุขสงบร่มเย็น สัมมาทิฏฐิของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค เป็นไฉน? ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาพละ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ความเห็นชอบ องค์แห่งมรรค ของภิกษุผู้มีจิตไกลข้าศึก มีจิตหาอาสวะมิได้ พรั่งพร้อมด้วยอริยมรรค เจริญอริยมรรคอยู่ นี้แล สัมมาทิฐิของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค ฯ ภิกษุนั้นย่อมพยายามเพื่อละมิจฉาทิฐิ เพื่อบรรลุสัมมาทิฐิ ความพยายามของเธอนั้น เป็นสัมมาวายามะ ฯ ภิกษุนั้นมีสติละมิจฉาทิฐิได้ มีสติบรรลุสัมมาทิฐิอยู่ สติของเธอนั้น เป็นสัมมาสติ ฯ ด้วยอาการนี้ ธรรม ๓ ประการนี้ คือ สัมมาทิฐิ สัมมาวายามะ สัมมาสติ ย่อมห้อมล้อม เป็นไปตามสัมมาทิฐิของภิกษุนั้น ฯ จากพระสูตรดังกล่าว แต่ละบรรพะขององค์มรรค ที่ต้องการละจาก “มิจฉาทิฏฐิ” มาสู่ “สัมมาทิฏฐิ” นั้น ล้วนต้องมีองค์ประกอบของ “สัมมาวายามะ” และ “สัมมาสติ” ในทุกๆ บรรพะ ทั้ง ๑๐ บรรพะ (สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ) “สัมมาวายามะ” และ “สัมมาสติ” ทั้ง ๒ องค์แห่งอริยมรรคเป็นส่วนประกอบของหมวด “สมาธิ” ซึ่งมีองค์ ๓ คือ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ จิตรวมลงเป็น “สมาธิ” สงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหว (“สัมมาสมาธิ” ได้ถูกละไว้ในฐานที่เข้าใจ) การละ “มิจฉาทิฏฐิ” เพื่อบรรลุ “สัมมาทิฏฐิ” นั้น ต้องเข้าถึง อริยสัจ ๔ คือการรู้เห็นตามความเป็นจริงอันประเสริฐ ไมใช่อาศัยเพียงความรู้สึกนึกคิดที่เกิดจากการอ่าน การฟัง จนความคิดนั้นตกผลึกแล้ว นั่นเป็นเพียง “ทิฏฐิ” ความเชื่อ ความศรัทธาที่ตนคิดเองว่าถูก ยังขาดการปฏิบัติธรรมเพื่อพิสูจน์ความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ จึงจะเป็น “สัมมา“ มีพระพุทธพจน์รับรองไว้ดังนี้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จงยังสมาธิให้เกิดขึ้นเถิด ผู้มีจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง ซึ่งอะไรเล่า? รู้เห็นตามความเป็นจริงซึ่งความจริงอันประเสริฐว่า – นี้เป็นทุกข์ – นี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ – นี้เป็นความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ – นี้เป็นทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เปรียบเหมือนบุคคลที่ต้องการ “กำหนดรู้” อะไรสักอย่าง จำเป็นต้องลงพื้นที่จริงหรืออยู่ในสภาวธรรมตามความเป็นจริง จึงจะ “กำหนดรู้” ได้ถูกต้อง เช่น ทุกข์ ควรกำหนดรู้ สมุทัย ควรละเสีย ฯลฯ จะอาศัยเพียงแค่ “สัญญา” ที่เข้าใจว่าเป็น “ปัญญา” มากำหนดรู้ แล้วละได้นั้น เป็นเพียงความรู้สึกที่นึกคิดเอาเองว่า “ใช่” ส่วนบุคคลผู้ซึ่งลงมือปฏิบัติธรรมกรรมฐานหรือเดินจงกรม เพื่อให้รู้เห็นตามความจริง (สัมมาทิฏฐิ) เปรียบเหมือนการลงพื้นที่ หรืออยู่ในสภาวธรรมที่เป็นจริง เช่นเมื่อกำลังปฏิบัติธรรมกรรมฐาน หรือเดินจงกรมอยู่นั้น ทำไมจึงยังไม่สามารถประคองสติให้จิตสงบตั้งมั่นได้ ก็ควรกำหนดรู้ลงไปว่า ความโศก ความร่ำไรรำพัน ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจ ฯลฯ ล้วนเป็นทุกข์ เรื่องอะไรที่ทำให้ไม่สามารถประคองสติ เพื่อให้จิตสงบตั้งมั่นได้ เมื่อกำหนดรู้แล้ว ควรละเหตุแห่งทุกข์เหล่านั้นเสีย ทุกข์ดับไปได้ชั่วคราวในขณะนั้น เพราะมีสติกำกับอยู่ ต้องหมั่นฝึกฝนอบรมจิตของตนบ่อยๆ เนืองๆ จนสิ้นการปรุงแต่ง ปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่น อันเป็นทางเดินไปสู่ความเป็นโลกุตตระ เป็นองค์มรรค เป็นสัมมาทิฏฐิของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ ดังนี้ … สาธุ เจริญในธรรมทุกๆ ท่าน พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท |
ในความฝันของใครสักคน
Rss Feed Smember ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?] หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์ Group Blog All Blog
|
||
Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved. |