สาระน่ารู้เกี่ยวกับ แอร์บ้าน และระบบไฟฟ้าในบ้าน
Group Blog
 
All blogs
 
แอร์ระเบิด เกิดขึ้นได้อย่างไร ?




สำหรับบทความเกี่ยวกับเทคนิคงานช่างแอร์วันนี้ ผู้เขียนขอหยิบยกเอาเรื่อง “แอร์ระเบิด เกิดขึ้นได้อย่างไร ?” มาเขียนบทความ เพื่อเป็นความรู้ให้แก่ท่านผู้อ่านที่สนใจ ให้ได้รู้ข้อควรระวัง และหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ ที่อาจจะเกิดขึ้นนั้นเอง




สำหรับเรื่องของแอร์ระเบิด ที่ผู้เขียนจะกล่าวถึงนั้นในที่นี้ไม่ใช้การระเบิดที่เกิดจากการก่อการร้ายหรือก่อวินาศกรรมแต่อย่างใด แต่เกี่ยวกับอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น จากความประมาทก็ดีหรือความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ตาม ซึ่งผลที่ตามมาหลังเกิดอุบัติเหตุแอร์ระเบิดคือความเสียหายทางด้านชีวิต โดยทำให้บาดเจ็บไปจนถึงเสียชีวิต และความเสียหายทางทรัพย์สินนั่นเอง



ที่ผ่านมานั้นหลายๆท่านก็คงจะมีโอกาสได้รับทราบข่าวสารที่นำเสนอเรื่องของแอร์ระเบิด มาบ้างแล้ว 

ซึ่งมันก็ฟังดูน่ากลัวเลยไม่ใช่น้อย เพราะผลที่ตามมานั้นทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตอย่างน่าสยดสยองกันเลยก็ว่าได้



การระเบิด

ก่อนจะพูดถึงเรื่องของแอร์ระเบิด ขอพูดถึงปฏิกิริยาที่เรียกว่าการระเบิดก่อน ซึ่งการระเบิด (Explosion) คือปฏิกิริยาทางเคมี ที่ปลดปล่อยพลังงานออกมาโดยฉับพลัน พลังงานที่ปล่อยออกมานั้นจะอยู่ในรูปของ คลื่นกระแทกที่มีความเร็วสูง รวมกับความร้อนสูง ทำให้เกิดอำนาจในการผลักดัน และทำให้เกิดจากการขยายตัวของสารอย่างกะทันหัน การระเบิดนี้ยังอาจจะเกิดจากการเผาไหม้อย่างรวดเร็วได้อีกด้วย และเมื่อเกิดการระเบิดขึ้น คลื่นกระแทกหรือแรงอัดจากการระเบิดจะรุนแรง และแผ่กระจายออกไปบริเวณโดยรอบจุดเกิดเหตุในระยะเวลาอันสั้น คลื่นกระแทกจากการระเบิดนี้ยังอาจจะเคลื่อนที่ไปพร้อมๆกับวัสดุในบริเวณนั้น ทำให้เกิดการทำลายทั้งชีวิตและทรัพย์สินในบริเวณรัศมีการระเบิด และหากมีเชื้อเพลิงอยู่ในบริเวณนั้นก็มักจะเกิดเพลิงไหม้ตามมาด้วยเช่นกัน



การระเบิดของแอร์

ในกรณีของการระเบิดที่เกิดในแอร์นั้น รูปแบบการระเบิดที่เกิดขึ้นในแอร์ จะเกิดจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของแรงดัน ภายในพื้นที่จำกัด ทำให้เกิดเป็นการระเบิดออกมานั่นเอง

เนื่องจากในระบบแอร์และในการติดตั้งแอร์ มีเรื่องของแรงดันเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะในการทำความเย็นของแอร์นั้น จำเป็นต้องอาศัยสารทำความเย็น (Refrigerant) บรรจุเข้าไปในระบบ เพื่อให้มันหมุนเวียนในระบบทำความเย็น และสารทำความเย็นที่ถูกบรรจุเข้าไปนั้น ก็ต้องมีความดันที่สูงกว่าความดันบรรยากาศหลายเท่า

ตลอดจนการติดตั้งและซ่อมบำรุงแอร์ ก็จำเป็นต้องใช้แรงดันของไนโตรเจนมาช่วยในการล้างระบบหรือตรวจหารอยรั่วด้วยเช่นกัน และนอกจากแรงดันของสารทำความเย็นกับแรงดันของไนโตรเจนแล้ว ในงานติดตั้งบางครั้ง ก็ต้องใช้การเชื่อมท่อด้วยชุดเชื่อมแก๊ส ที่มีเชื้อเพลิงเป็น แก๊สอะเซทีลีน (Acetylene) C2H2 หรืออาจเป็น แก๊สหุงต้ม LPG ร่วมกับถังออกซิเจน อีกด้วย


ซึ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น จะเห็นได้ว่ามีองค์ประกอบครบถ้วนที่จะเกิดการระเบิด สารเคมีและแรงดันที่มีใช้ ล้วนมีส่วนสนับสนุนให้เกิดการระเบิดได้ทุกเวลาหากปฏิบัติงานด้วยความประมาท หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์

สาเหตุหลักๆที่ทำให้เกิดแอร์ระเบิดนั้นเกิดได้จากหลายๆปัจจัย แต่จากอดีตจนถึงปัจจุบัน สาเหตุหลักๆที่แอร์ระเบิดหรือเกิดระเบิดขึ้นในงานที่เกี่ยวกับระบบแอร์ หลักๆก็จะเป็นกรณีดังต่อไปนี้



1. ใช้เปลวเชื่อมแก๊สให้ความร้อนกับท่อแอร์ทั้งที่ยังมีแรงดันในระบบ

กรณีนี้เกิดขึ้นเมื่อช่างที่ปฏิบัติงาน ประมาทเลินเล่อขาดความรอบคอบในระหว่างปฏิบัติงาน ทำการนำเอาเปลวไฟจากหัวเชื่อมแก๊ส ไปให้ความร้อนกับท่อทองแดงที่เป็นท่อน้ำยาในระบบแอร์ เพื่อถอดท่อแอร์ที่เชื่อมต่อกันอยู่ออก หรือเพื่อทำการเชื่อมอุดรอยรั่วของท่อ โดยที่ไม่ได้ทำการปล่อยแรงดันน้ำยาออกจากระบบให้หมดเสียก่อน เมื่อให้ความร้อนกับท่อจึงทำให้แรงดันน้ำยาในระบบขยายตัวมาขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าตัว เกิดเป็นแรงดันที่สูงขึ้นมาก จนในที่สุดมันก็ระเบิดออกมานั่นเอง




2. วางถังบรรจุสารทำความเย็น(ถังน้ำยาแอร์)ตากแดดเป็นเวลานานๆ และการใช้ถังบรรจุในแบบที่ไม่เหมาะสม

ในประเทศไทย สารทำความเย็นที่ใช้กันอยู่ทั่วไปในแอร์บ้านมีอยู่หลักๆ 3 ชนิด ได้แก่ R-22, R-410a และ R-32 ซึ่งที่ระดับอุณหภูมิห้องโดยเฉลี่ยแล้วสารทำความเย็นเหล่านี้จะมีแรงดันที่

R-22 = 150 PSIG
R-410a = 250 PSIG
R-32 =290 PSIG

ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่สารทำความเย็นที่กล่าวมา 3 ชนิดนี้เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงสารทำความเย็นชนิดต่างๆที่มีใช้กันอยู่ในงานระบบทำความเย็นอื่นๆ ล้วนมีความเสียงสูงหากจัดเก็บไว้ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะการวางถังบรรจุสารทำความเย็นเหล่านี้ไว้กลางแจ้ง ตากแดดร้อนๆเป็นเวลาต่อเนื่องกันนานๆ ทำให้เกิดความร้อนสะสม ส่งผลให้สารทำความเย็นในถังมีอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น เกิดการขยายตัวตามอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น และทำให้แรงดันสารทำความเย็นภายในถังสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งหากถังใบนั้นมีปริมาณสารทำความเย็นอยู่ภายในมากพอ การขยายตัวที่เกิดขึ้นต่อเนื่องก็อาจทำให้ถังมันระเบิดออกมาได้เหมือนกัน 
แต่ในกรณีนี้ หากใช้สารทำความเย็นที่บรรจุไว้ในถังบรรจุที่มีมาตรฐาน ที่ตัวถังก็จะมีวาล์วนิรภัยติดตั้งอยู่ ซึ่งวาล์วนิรภัยมีส่วนสำคัญที่ช่วยป้องกันการระเบิดของถังน้ำยาแอร์ได้

และในบางครั้งการระเบิดของถังบรรจุสารทำความเย็น ก็อาจจะเกิดขึ้นได้จากสาเหตุอื่นอีก เช่น การนำถังที่มีสภาพเก่า,ชำรุดมาใช้งาน หรือการดัดแปลงนำถังบรรจุสารทำความเย็นมาใช้งานไม่ตรงชนิด เช่น นำถังแบบใช้แล้วทิ้งของ R-22 มาดัดแปลงเพื่อนำมาใช้บรรจุ R-32 ซึ่งการทำเช่นนี้ถือเป็นการใช้งานที่ผิดประเภท มีความเสี่ยงที่ถังน้ำยาอาจจะรับแรงดันไม่ไหวและระเบิดได้ในที่สุด






3. การอัดแรงดันอ๊อกซิเจนเข้าไปในระบบแอร์

ในการตรวจสอบรอยรั่วของท่อแอร์ จำเป็นต้องใช้วิธีการอัดแรงดันเข้าไปในระบบ ซึ่งที่ถูกต้องนั้นจะต้องเป็นแรงดันของไนโตรเจน เพราะไนโตรเจนอยู่ในกลุ่มที่เรียกว่าก๊าซเฉื่อย ไม่ไวต่อการทำปฏิกิริยาและไม่ช่วยในการลุกไหม้ของไฟ อีกทั้งมีราคาที่อยู่ในระดับที่รับได้ จึงเป็นแก๊สที่เหมาะสมที่สุด ที่จะนำมาใช้ทำการอัดเข้าไปในระบบเพื่อตรวจสอบหารอยรั่ว 

แต่ในบางครั้งการออกไปปฏิบัติหน้างานจริง ก็ไม่สะดวกที่จะนำถังไนโตรเจนขึ้นไปถึงตรงบริเวณที่ทำงาน เพราะไนโตรเจนเป็นแก๊สที่จะนำมาใช้ในการทดสอบระบบหรือล้างระบบเท่านั้น อีกทั้งถังบรรจุไนโตรเจนมีน้ำหนักค่อนข้างมาก จึงไม่สะดวกในการพกพาออกไปใช้งานนอกสถานที่ 

ซึ่งตรงนี้ก็มีอีกทางออกที่ปลอดภัยในการตรวจสอบรอยรั่วของระบบแอร์ ในเมื่อไม่สะดวกพกถังไนโตรเจนออกไปหน้างาน ก็สามารถใช้แรงดันของสารทำความเย็น(น้ำยาแอร์)จากถังที่มีขนาดเล็กกว่า และช่างแอร์มักจะพกพาออกไปนอกสถานที่เป็นประจำ ซึ่งหากออกไปหน้างานที่ไม่มีไนโตรเจนไว้ใช้ในการทดสอบรอยรั่ว ก็สามารถใช้แรงดันน้ำยาอัดเข้าไปทดสอบหารอยรั่วในระบบได้

แต่ด้วยความที่น้ำยาแอร์หรือสารทำความเย็น มีราคาแพงกว่าไนโตรเจน การใช้แรงดันของสารทำความเย็นอัดเข้าไปเพื่อหารอยรั่ว ท้ายที่สุดก็ต้องปล่อยทิ้ง ซึ่งนี่จะทำให้มีต้นทุนที่สูงขึ้น ช่างบางรายจึงหลีกเลี่ยงการใช้แรงดันน้ำยา ตรงนี้เมื่อต้องการตรวจหารอบรั่วที่หน้างาน แต่ไม่ยอมใช้แรงดันน้ำยาแอร์มาอัดเข้าไป แถมยังไม่มีแรงดันไนโตรเจนให้ใช้งานอีก ตรงนี้จึงเป็นจุดที่ช่างบางรายเกิดความมักง่าย ใช้ของที่มีอยู่ในตอนนั้น อย่างแรงดันของอ็อกซิเจน เพราะในการออกให้บริการหน้างานนั้นชุดเชื่อมแก๊สขนาดพกพาเป็นสิ่งที่มักจะพกพาติดออกมาด้วยเสมอ ช่างบางรายไม่ได้พกไนโตรเจนออกมา เห็นถังอ๊อกซิเจนของชุดเชื่อมแก๊สที่มีมาด้วย ก็ทำการใช้ถังออกซิเจนที่อยู่ในชุดเชื่อมแก๊สขนาดเล็ก มาต่อสายเข้ากับระบบแอร์เพื่อนำเอาแรงดันออ็อกซิเจนมาอัดเข้าไปในระบบสำหรับทดสอบรอยรั่ว ซึ่งการอัดแรงดันออกซิเจนเข้าไปนั้นก็คือสาเหตุของหายนะที่จะตามมานั้นเอง


เพราะโดยปกตินั้น แม้ออกซิเจนไม่มีคุณสมบัติเป็นสารติดไฟได้โดยตรง แต่อ๊อกซิเจนมีคุณสมบัติช่วยให้การลุกไหม้ ให้เกิดขึ้นได้ดีมากขึ้น ยิ่งความบริสุทธิของออกซิเจนสูงเท่าไหร่ไฟก็ยิ่งลุกไหม้ได้ดีมากขึ้น และออกซิเจนที่ใช้ในงานเชื่อมโลหะ ก็มีความบริสุทธิ์ที่สูงเกินกว่า 90% เมื่อมันถูกอัดเข้าไปในระบบท่อแอร์ ก็จะเข้าไปผสมกับน้ำมันหล่อลื่นที่มีอยู่ในระบบ กลายเป็นส่วนผสมของความหายนะทันที และเมื่อมีการเชื่อมท่อแอร์อีกครั้งเพื่ออุดรอยรั่วที่เจอ อ๊อกซิเจนที่เข้าไปผสมกับน้ำมันที่ยังติดค้างอยู่ในท่อกลายเป็นส่วนผสมที่พร้อมจะระเบิดขึ้นอย่างรุนแรงทันที 

และในบางครั้งอ๊อกซิเจนบริสุทธิ์ ก็อาจจะผสมและทำปฏิกิริยากับน้ำมันหล่อลื่นในระบบแอร์ จนสามารถระเบิดขึ้นได้ทันที โดยที่ไม่ต้องใช้ประกายไฟเข้ามาช่วยเลย เพราะด้วยความที่อ๊อกซิเจนบริสุทธิ์ไวต่อการทำปฏิกิริยามาก การใช้งานจึงมีข้อห้ามอีกอย่างที่ต้องจำไว้เสมอ คือห้ามใช้นำมันหล่อลื่นกับชุดวาล์วหรือข้อต่อของถังอ๊อกซิเจนอย่างเด็ดขาด

ดังนั้นผู้ประกอบการร้านแอร์รวมไปถึงช่างที่มีความชำนาญ ต้องอบรมและเน้นย้ำช่างที่ยังอ่อนประสบการณ์ตลอดจนเด็กฝึกงาน ที่ออกไปทำงานจริง ได้รู้ในกฎความปลอดภัย และจำไว้เสมอว่า “ห้ามนำอ๊อกซิเจนสำหรับงานเชื่อมโลหะไปใช้ในกรณีอื่นที่นอกเหนือไปจากการใช้เชื่อมโลหะเด็ดขาด”



4. การถ่ายแรงดันลงในภาชนะที่ไม่เหมาะสม และการอัดแรงดันไนโตรเจนโดยไม่ผ่านอุปกรณ์ควบคุม(เรคกูเลเตอร์)

แม้ว่าแรงดันไนโตรเจนเป็นแรงดันที่เหมาะสมที่สุดในการอัดเข้าไปในระบบท่อแอร์ สำหรับขั้นตอนการทดสอบหารอยรั่ว 

แต่การออกไปให้บริการหน้างานจริงนั้น ในบางครั้งถังบรรจุไนโตรเจนที่นิยมใช้งานกันในงานซ่อมนั้น ก็มักจะใช้ถังขนาดมาตรฐาน ซึ่งก็ค่อนข้างจะมีขนาดใหญ่และน้ำหนักมาก ทำให้เกิดความไม่สะดวกในการนำพาออกไปใช้งานถึงหน้างานจริง ช่างบางรายก็ไม่อยากใช้สารทำความเย็นที่มีราคาแพงกว่ามาอัดไปในระบบเพื่อหารอยรั่ว และก็ไม่ใช้แรงดันอ๊อกซิเจนอัดเข้าไปเพราะรู้ว่าอันตราย จึงเลือกใช้ไนโตรเจนตามวิธีที่ถูกต้อง 

แต่ตามที่บอกไปข้างต้นว่าถังไนโตรเจนถังใหญ่ๆนั้นพกพาออกไปไม่สะดวก และด้วยความที่ว่าถังน้ำยาแอร์นั้นเป็นภาชนะที่พกพาออกไปง่ายกว่า อีกทั้งถังน้ำยาแอร์เปล่าที่ใช้หมดแล้วก็เป็นของที่หาได้ง่ายในร้านแอร์ ช่างบางรายรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จึงใช้วิธีการถ่ายแรงดันไนโตรเจนแบ่งใส่ถังน้ำยาด้วยตนเอง และด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ที่มี จึงทำให้เกิดความหายนะขึ้นตามมาได้อีกเหมือนกัน

ที่เป็นเช่นนี้เพราะ แรงดันที่มีในถังไนโตรเจนนั้นตามมาตรฐานแล้วจะถูกอัดมาให้จากโรงงานบรรจุก๊าซ อยู่ในระดับที่สูงถึง 2000 – 3000 PSI ซึ่งในการต่อแรงดันไนโตรเจนออกมาใช้งานจะต้องผ่านวาล์วควบคุมหรือ เรคกูเลเตอร์ (Regulator) เพื่อปรับค่าแรงดันให้ปลอดภัยต่อการใช้งาน การถ่ายไนโตรเจนมาสู่ถังบรรจุสารทำความเย็นหรือถังน้ำยา หากรู้เท่าไม่ถึงการณ์ไม่มีการควบคุมแรงดันให้เหมาะสม ก็มีผลทำให้ถังน้ำยาเกิดระเบิดได้ เพราะถังน้ำยาแอร์ที่ใช้ ถูกออกแบบให้รองรับกับแรงดันของสารทำความเย็นเท่านั้น โดยทำขึ้นเพื่อรองรับแรงดันในระดับหลักร้อย PSI แต่ถ้าหากนำไปใช้แบ่งบรรจุไนโตรเจนโดยที่ไม่มีการปรับแต่งแรงดันให้เหมาะสม เติมเข้าไปเรื่อยๆโดยที่ไม่ควบคุม เมื่อถังน้ำยารับแรงดันไม่ไหวก็จะระเบิดได้ในที่สุด
ทางที่ดีที่สุด หากจำเป็นต้องนำในโตรเจนออกไปใช้งานนอกสถานที่ ก็ควรซื้อถังในโตรเจนขนาดเล็กแบบพกพามาใช้งานร่วมด้วย จะเป็นการดีที่สุดและปลอดภัยที่สุด

และสำหรับไนโตรเจนที่ใช้อัดทดสอบรอยรั่วในระบบแอร์ ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานโดยต่อจากถังขนาดใหญ่ หรือจากถังขนาดเล็ก(ขนาดพกพา) การใช้งานที่ถูกต้องและปลอดภัยนั้น จะต้องใช้งานโดยต่อผ่านวาล์วควบคุม หรือ เรคกูเลเตอร์ (Regulator) ด้วยทุกครั้ง ห้ามต่อออกมาใช้งานโดยที่ไม่ผ่านเรคกูเลเตอร์โดยเด็ดขาด เพราะมีโอกาสที่จะเกิดการระเบิดจากแรงดันที่สูงเกินได้





ในการปฏิบัติงานติดตั้งและซ่อมบำรุงเครื่องปรับอากาศหรือแอร์ ผู้ปฏิบัติงานจะต้องมีความรู้และความเข้าใจอย่างถูกต้อง และจะต้องไม่ประมาท ตระหนักถึงเรื่องความปลอดภัยอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงการกระทำที่มีความเสี่ยงต่อการก่อให้เกิดอุบัติเหตุให้ได้มากที่สุด รวมทั้งใส่ใจต่อป้ายข้อห้ามและคำเตือนที่แสดงอยู่ และปฏิบัติตามข้อบังคับที่มีอย่างเคร่งครัด เพื่อเป็นการป้องกัน และลดอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นในระหว่างปฏิบัติงาน ตามคำกล่าวที่ว่า “ปลอดภัยไว้ก่อน”





Create Date : 11 พฤษภาคม 2557
Last Update : 17 มีนาคม 2560 21:31:44 น. 16 comments
Counter : 78965 Pageviews.

 
แอร์แอลจี ปิดรีโมทแล้วคอมทำงานตลอด


โดย: ชา IP: 124.121.130.20 วันที่: 19 กรกฎาคม 2557 เวลา:14:32:01 น.  

 
ขอถามครับ อัดไนโตร เช็ครั่วไว้ เผอิญมีคนรันระบบ คอมทำงาน ไป สามสิบนาที ผมสงสัยว่า ทำไมระบบไม่ระเบิด


โดย: ฺBKK IP: 124.122.243.82 วันที่: 17 ธันวาคม 2557 เวลา:19:55:37 น.  

 
ไนโตรเจนอยู่ในกลุ่มที่เรียกว่าก๊าซเฉื่อย ไม่ไวต่อการทำปฏิกิริยาและไม่ช่วยในการลุกไหม้ของไฟ


โดย: ST.Joe IP: 110.77.148.250 วันที่: 24 กรกฎาคม 2558 เวลา:15:24:23 น.  

 
เลิกเป็นช่างแอร์ดีกว่า นอนอยู่บ้านปลอดภัยกว่า แล้วแต่ละ แล้วเราจะเอาอะไรกินลูกเมียอดตาย


โดย: พูล IP: 27.55.165.224 วันที่: 13 สิงหาคม 2558 เวลา:13:37:15 น.  

 
ผมเปลี่ยนคอมแอร์ ปล่อยน้ำยาออกหมดแล้ว ท่อโลเอาใส่สรออกแล้วน้ำยาไม่มีแรงดันออกมาแล้วที่ท่อโร พร้อมเป่าคอมออก ท่อไฮก่อนพอร้อนใด้ที่ดึงท่อไฮออก ความร้อนผสมน้ำมันและความดันตกค้างที่ท่ออัด ดึกท่อออกมันพ้นไฟใส่ดีเราไม่ตกตึกมือพองแก้มใหม่นิดหน่อนมือเยอะหน่อย เวลาเปลี่ยคอมนี้กลัวแรงดันตกค้างมาก อีกเรื่องนึงจะเปลี่ยนคอมแอร2ตันเราคิดว่าเพื่อนปล่อยน้ำยาแล้ว เอาแก็สเป่าที่ท่อโรน้ำยาดันออกออกมาดีไม่มีน้ำมันมาด้วยเกือบเจ็บตัวอีก เพาระความประมาทครับ เจ็บแล้วจำอยากจะเลิกนะครับเหนื่อย แต่เราก็ใด้ประสบการมา15กว่าปี มาแชร์ให้ระมัดระวังกันครับเป็นห่วงลูกเมือขาดพ่อไปแย่ แฟนบอกไม่เป็นไรหาผังฝรั่ง...


โดย: พูล IP: 27.55.165.224 วันที่: 13 สิงหาคม 2558 เวลา:13:55:19 น.  

 
น้ำมันคอมที่ถูกสเปรย์ออกมาเป็นฝอย ถ้าถูกเปลวไฟหรือท่อที่ร้อนจัดจะเป็นระเบิดเพลิงลูกใหญ่ได้ ควรระวังตอนปล่อยน้ำยาออกมาแรงๆด้วย


โดย: ช่างดำ IP: 171.7.35.198 วันที่: 13 ตุลาคม 2558 เวลา:10:51:32 น.  

 
รับซ่อมตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ ซ่อมตู้น้ำมันหยอดเหรียญ ตู้คาราโอเกะ ตู้เติมเงินมือถือ เครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ ติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ฯลฯ หรือไฟฟ้า อิเลคทรอนิค ระบบประปา แอร์บ้าน จานดาวเทียม โทรสอบถามก่อนได้ ปรึกษาได้ ระยอง ID LINE =hacker52
080-0999808 ธนกร บ้านค่ายระยอง


โดย: ธนกร ศรีจันทร์ (สมาชิกหมายเลข 3258344 ) วันที่: 25 มิถุนายน 2559 เวลา:21:42:54 น.  

 
ถามหน่อย. ถ้าเราปล่อยน้ำยาแอร์ออกแล้ว ทำการเชื่อมรอยรั่วสามารถทำได้เลยป่าวครับ


โดย: ช่างมือใหม่ IP: 122.155.43.253 วันที่: 25 กรกฎาคม 2559 เวลา:15:59:49 น.  

 
ต้องแน่ใจว่าระบบไม่มีแรงดันแล้วนะครับจึงจะสามารถเชื่อม หรือเอาเปลวไฟจากหัวเชื่อมเผาท่อได้


โดย: KanichiKoong วันที่: 10 มีนาคม 2560 เวลา:19:40:02 น.  

 
ขอบคุณครับ


โดย: ศุภชัย IP: 27.55.168.57 วันที่: 20 มีนาคม 2560 เวลา:7:24:03 น.  

 
เห็นข่าวระเบิดบ่อยมาก ขอบคุณสำหรับความรู้ครับ


โดย: itthi IP: 113.53.78.69 วันที่: 3 เมษายน 2560 เวลา:17:04:47 น.  

 
ขอถามหน่อยครับ อาจารย์ เราใช้คืองปั้มลมจากคอมรถยนย์ที่เราทำ
แล้วปั้มลมหาลอยรั่วได้ใหมครับ เห็นร้านซ่อมทำกันทุกร้านเลยครับ


โดย: สมชาย IP: 118.172.202.97 วันที่: 24 มิถุนายน 2560 เวลา:7:47:20 น.  

 
ตอบคุณสมชาย ความคิดเห็นที่_12

ลมอัดที่มาจากปั๊มลม หรือลมอัดที่อัดออกมาจากคอมเพรสเซอร์ที่ถูกนำมาดัดแปลงเป็นปั๊มลม ตามหลักแล้ว ถือเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง สำหรับการนำมาอัดเข้าไปในระบบแอร์เพื่อใช้เช็คหารอยรั่วนะครับ
เพราะลมอัดที่ว่านั้น อัดมาจากการดูดเอาอากาศรอบตัวเรานั่นแหละครับ ซึ่งในอากาศตามธรรมชาติก็จะมีความชื้นปนอยู่ ซึ่งความชื้นก็ถือเป็นสิ่งที่ไม่ควรมีเข้าไปในระบบท่อน้ำยาแอร์นะครับ ไม่อย่างนั้นเราคงไม่ต้องหาทางกำจัดความชื้นด้วยวิธีต่างๆอย่างเช่นการแว็คคั่มหรือการติดตั้งดรายเออร์หรอกจริงไหมครับ
ร้านซ่อมที่ใช้วิธีนี้อยู่ ก็ถือว่าเป็นร้านที่ปฏิบัติงานยังไม่ถูกต้องเท่าที่ควรครับ
ที่ถูกต้องที่สุด ต้องใช้แรงดันไนโตรเจนมาอัดเข้าไปในระบบครับ เพราะไนโตรเจนมีคุณสมบัติเป็นก๊าซเฉื่อย ไม่มีสีไม่มีกลิ่นและไม่ไวต่อการทำปฏิกิริยาทางเคมีรวมถึงไม่มีความชื้นปนมาด้วย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นแรงดันไนโตรเจนที่นำมาใช้ ต้องมีการต่อใช้งานผ่านอุปกรณ์ควบคุมแรงดันที่เรียกว่าเรคกูเรเตอร์ด้วยนะครับ เพื่อความปลอดภัยนั่นเอง


โดย: KanichiKoong วันที่: 18 กรกฎาคม 2560 เวลา:0:00:12 น.  

 
ขอบคุณมากอาจารย์


โดย: ช่างสมชาย IP: 118.172.202.7 วันที่: 1 สิงหาคม 2560 เวลา:19:09:51 น.  

 
ดีหลาย


โดย: สักไช IP: 103.1.31.117 วันที่: 19 สิงหาคม 2560 เวลา:12:28:44 น.  

 
จากที่ผมอ่านๆมา พอจะสรุปได้ว่า น้ำมันที่อยู่ใน คอมแอร์สามารถติดไฟได้? เมื่อเติมออกซิเจนบริสุธิ์เข้าไปจึงเกิดการสันดาปภายในแล้วระเบิดในที่สุด ผมเข้าใจถูกไฟมครับ? จึงควรใช้ไนโตรเจนแทนเพื่อเลี่ยงการสันดาป

อีกข้อ อันนี้ผมสงสัยมาก เห็นมาเยอะเลย เค้ามักเอาคอมตู้เย็นไปดัดแปลงเป็นแอร์คอมเพลสเซอร์อัดเข้าถังลมไว้ใช้งานจิปาถะ เช่น พ่นแอร์ปรัช เติมยางรถ อันนี้อันตรายจนสามารถระเบิดได้ไหม แรงอัพที่เค้าใช้กันประมาณ 60-80 psi พอดีผมสนใจอยากจะทำไว้ใช้เหมือนกันเนื่องจากมันเล็กแล้วทำงานเงียบดี


โดย: จ้อ IP: 171.7.73.106 วันที่: 21 ตุลาคม 2560 เวลา:18:35:17 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

KanichiKoong
Location :
สงขลา Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 275 คน [?]




ช่องทางการติดต่อผู้จัดทำ

- หลังไมค์
- E-mail : aum_tawatchai@hotmail.com
-------------------------------------
เนื้อหาที่ปรากฏ อนุญาติให้นำไปใช้เพื่อการศึกษา/หาความรู้ ซึ่งไม่เป็นการนำไปใช้ในเชิงธุรกิจ
-------------------------------------
New Comments
Friends' blogs
[Add KanichiKoong's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.