24.4 พระสูตรหลักถัดไป คือเทวทหสูตร [พระสูตรที่ 1]
การสนทนาธรรมนี้ต่อเนื่องมาจาก
24.3 พระสูตรหลักถัดไป คือเทวทหสูตร [พระสูตรที่ 1]

ความคิดเห็นที่ 7-36
GravityOfLove, 14 พฤศจิกายน 2556 เวลา 09:18 น.

             พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖
             มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เทวทหวรรค
             ๓. กินติสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=793&Z=939&bgc=aliceblue&pagebreak=0

             สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในป่าชัฏ สถานที่บวงสรวงพลี เขตเมืองกุสินารา
             สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า
             พวกเธอมีความดำริในเราบ้างหรือว่า สมณโคดมแสดงธรรมเพราะเหตุจีวร
หรือเพราะเหตุบิณฑบาต หรือเพราะเหตุเสนาสนะ หรือเพราะเหตุหวังสุขในภพน้อยภพใหญ่
             ภิกษุเหล่านั้นทูลว่า พวกข้าพระองค์ไม่มีความดำริในพระองค์อย่างนั้นเลย
             ตรัสถามว่า ถ้าเช่นนั้น พวกเธอมีความดำริในเราอย่างไรเล่า
             ภิกษุเหล่านั้นทูลตอบว่า พวกข้าพระองค์มีความดำริในพระผู้มีพระภาคว่า
             พระผู้มีพระภาคผู้ทรงอนุเคราะห์ ทรงแสวงหาประโยชน์เกื้อกูล ทรงอาศัยความ
อนุเคราะห์แสดงธรรม
             พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
             เพราะฉะนั้น ธรรมเหล่าใด อันเราแสดงแล้วแก่เธอทั้งหลายด้วยความรู้ยิ่ง คือ
             สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗
อริยมรรคมีองค์ ๘
             เธอทั้งปวงพึงเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ยินดีต่อกัน ไม่วิวาทกัน ศึกษาอยู่ในธรรมเหล่านั้น
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=โพธิปักขิยธรรม_37

เมื่อมีการกล่าวต่างกันในพระธรรม
             ก็เมื่อพวกเธอนั้นพร้อมเพรียงกัน ยินดีต่อกัน ไม่วิวาทกัน ศึกษาอยู่ จะพึงมีภิกษุ
สองรูปผู้กล่าวต่างกัน (บ้าง) ในธรรมอันยิ่ง (ในที่นี้หมายถึงโพธิปักขิยธรรม ๓๗)
             ๑. ภิกษุสองรูปนั้น มีวาทะต่างกันโดยอรรถ (ความหมาย) และโดยพยัญชนะ
             ภิกษุรูปใดว่าง่ายกว่ากัน (ตักเตือนง่ายกว่า) พึงเข้าไปหาภิกษุรูปนั้น แล้วกล่าวว่า
             ท่านผู้มีอายุทั้งสอง มีวาทะต่างกันโดยอรรถและโดยพยัญชนะ ขอท่านโปรดทราบ
ความต่างกันนี้นั้น แม้โดยอาการที่ต่างกันโดยอรรถและโดยพยัญชนะ
             ท่านผู้มีอายุทั้งสอง อย่าถึงต้องวิวาทกันเลย
              ต่อนั้น ภิกษุอื่นๆ ที่เป็นฝ่ายเดียวกัน รูปใดว่าง่ายกว่ากัน พึงเข้าไปหารูปนั้น
แล้วกล่าวอย่างที่กล่าวกับภิกษุรูปก่อนนั้น
             ด้วยประการนี้ พวกเธอต้องจำข้อที่ภิกษุทั้งสองนั้นถือผิด โดยเป็นข้อผิดไว้
ครั้นจำได้แล้ว ข้อใดเป็นธรรม เป็นวินัยพึงกล่าวข้อนั้น
             ๒. ภิกษุสองรูปนั้น มีวาทะต่างกันโดยอรรถ แต่ลงกันได้โดยพยัญชนะ
             ภิกษุรูปใดว่าง่ายกว่ากัน พึงเข้าไปหาภิกษุรูปนั้น แล้วกล่าวว่า
             ท่านผู้มีอายุทั้งสอง มีวาทะต่างกันโดยอรรถ แต่ลงกันได้โดยพยัญชนะ
ขอท่านโปรดทราบความต่างกันนี้นั้น แม้โดยอาการที่ลงกันได้โดยพยัญชนะ
             ท่านผู้มีอายุทั้งสอง อย่าถึงต้องวิวาทกันเลย
             ต่อนั้น ภิกษุอื่นๆ ที่เป็นฝ่ายเดียวกัน รูปใดว่าง่ายกว่ากัน พึงเข้าไปหารูปนั้น
แล้วกล่าวอย่างที่กล่าวกับภิกษุรูปก่อนนั้น
             ด้วยประการนี้ พวกเธอต้องจำข้อที่ภิกษุทั้งสองนั้นถือผิด โดยเป็นข้อผิด
และจำข้อที่ภิกษุทั้งสองนั้นถือถูก โดยเป็นข้อถูกไว้ ครั้นจำได้แล้ว ข้อใดเป็นธรรม
เป็นวินัย พึงกล่าวข้อนั้น
             ๓. ภิกษุสองรูปนั้น มีวาทะลงกันได้โดยอรรถ ยังต่างกันแต่โดยพยัญชนะ
             ภิกษุรูปใดว่าง่ายกว่ากัน พึงเข้าไปหาภิกษุรูปนั้น แล้วกล่าวว่า
             ท่านผู้มีอายุทั้งสอง มีวาทะลงกันได้โดยอรรถ ยังต่างกันแต่โดยพยัญชนะ
ขอท่านโปรดทราบความต่างกันนี้นั้น แม้โดยอาการที่ลงกันได้โดยอรรถ
ต่างกันแต่โดยพยัญชนะ ก็เรื่องพยัญชนะนี้เป็นเรื่องเล็กน้อย
             ท่านผู้มีอายุทั้งสองอย่าถึงต้องวิวาทกันในเรื่องเล็กน้อยเลย
             ต่อนั้น ภิกษุอื่นๆ ที่เป็นฝ่ายเดียวกัน รูปใดว่าง่ายกว่ากัน พึงเข้าไปหารูปนั้น
แล้วกล่าวอย่างที่กล่าวกับภิกษุรูปก่อนนั้น
             ด้วยประการนี้ พวกเธอต้องจำข้อที่ภิกษุทั้งสองนั้น ถือถูก โดยเป็นข้อถูก
และจำข้อที่ภิกษุทั้งสองนั้นถือผิด โดยเป็นข้อผิดไว้ ครั้นจำได้แล้ว ข้อใดเป็นธรรม
เป็นวินัย พึงกล่าวข้อนั้น
             ๔. ภิกษุสองรูปนั้น มีวาทะสมกันลงกันทั้งโดยอรรถ และโดยพยัญชนะ
             ภิกษุรูปใดว่าง่ายกว่ากัน พึงเข้าไปหาภิกษุรูปนั้น แล้วกล่าวว่า
             ท่านผู้มีอายุทั้งสอง มีวาทะสมกันลงกันทั้งโดยอรรถและโดยพยัญชนะ
ขอท่านโปรดทราบคำที่ต่างกันนี้นั้น แม้โดยอาการที่สมกันลงกันได้ทั้งโดยอรรถ
และโดยพยัญชนะ ท่านผู้มีอายุทั้งสอง อย่าถึงต้องวิวาทกันเลย
             ต่อนั้น ภิกษุอื่นๆ ที่เป็นฝ่ายเดียวกัน รูปใดว่าง่ายกว่ากัน พึงเข้าไปหารูปนั้น
แล้วกล่าวอย่างที่กล่าวกับภิกษุรูปก่อนนั้น
             ด้วยประการนี้ พวกเธอต้องจำข้อที่ภิกษุทั้งสองนั้นถือถูก โดยเป็นข้อถูกไว้
ครั้นจำได้แล้ว ข้อใดเป็นธรรม เป็นวินัย พึงกล่าวข้อนั้น

การโจทภิกษุ
             เมื่อพวกเธอนั้นพร้อมเพรียงกัน ยินดีต่อกัน ไม่วิวาทกัน ศึกษาอยู่
ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งพึงมีอาบัติ มีวิติกกมโทษ (ล่วงละเมิดบัญญัติ)
             พวกเธออย่าเพิ่งโจทภิกษุรูปนั้นด้วยข้อโจท พึงใคร่ครวญบุคคลก่อนว่า
             ๑. ความไม่ลำบากจักมีแก่เรา และความไม่ขัดใจจักมีแก่บุคคลผู้ต้องอาบัติ
             เพราะบุคคลผู้ต้องอาบัติ (ที่มีความไม่ขัดใจ) เป็นคนไม่มักโกรธ ไม่ผูกโกรธ
ไม่มีทิฐิมั่น (ไม่ดื้อรั้น) ยอมสละคืนได้ง่าย และเราอาจจะให้เขาออกจากอกุศล
ดำรงอยู่ในกุศลได้
             ถ้าพวกเธอมีความเห็นอย่างนี้ ก็ควรพูด (โจท)
             ๒. ความไม่ลำบากจักมีแก่เรา แต่ความขัดใจจักมีแก่บุคคลผู้ต้องอาบัติ
             เพราะบุคคลผู้ต้องอาบัติ (ที่มีความขัดใจ) เป็นคนมักโกรธ มีความผูกโกรธ
มีทิฐิมั่น แต่ยอมสละคืนได้ง่าย และเราอาจจะให้เขาออกจากอกุศล ดำรงอยู่ในกุศลได้
             ก็เรื่องความขัดใจของบุคคลผู้ต้องอาบัตินี้ เป็นเรื่องเล็กน้อย
ส่วนเรื่องที่เราอาจจะให้เขาออกจากอกุศล ดำรงอยู่ในกุศลนั่น เป็นเรื่องใหญ่กว่า
             ถ้าพวกเธอมีความเห็นอย่างนี้ ก็ควรพูด
             ๓. ความลำบากจักมีแก่เรา แต่ความไม่ขัดใจจักมีแก่บุคคลผู้ต้องอาบัติ
             เพราะบุคคลผู้ต้องอาบัติ เป็นคนไม่มักโกรธ ไม่ผูกโกรธ แต่มีทิฐิมั่น
ยอมสละคืนได้ง่าย และเราอาจจะให้เขาออกจากอกุศล ดำรงอยู่ในกุศลได้
             ก็เรื่องความลำบากของเรา เป็นเรื่องเล็กน้อย ส่วนเรื่องที่เราอาจจะให้เขา
ออกจากอกุศล ดำรงอยู่ในกุศลได้นั่นแล เป็นเรื่องใหญ่กว่า
             ถ้าพวกเธอมีความเห็นอย่างนี้ ก็ควรพูด
             ๔. ความลำบากจักมีแก่เรา และความขัดใจจักมีแก่บุคคลผู้ต้องอาบัติ
             เพราะบุคคลผู้ต้องอาบัติ เป็นคนมักโกรธ มีความผูกโกรธ มีทิฐิมั่น
สละคืนได้ยาก แต่เราอาจจะให้เขาออกจากอกุศล ดำรงอยู่ในกุศลได้
             ก็เรื่องความลำบากของเราและความขัดใจของบุคคลผู้ต้องอาบัตินี้
เป็นเรื่องเล็กน้อย ส่วนเรื่องที่เราอาจจะให้เขาออกจากอกุศล ดำรงอยู่ในกุศลได้นั่น
เป็นเรื่องใหญ่กว่า
             ถ้าพวกเธอมีความเห็นอย่างนี้ก็ควรพูด
             ๕. ความลำบากจักมีแก่เรา และความขัดใจจักมีแก่บุคคลผู้ต้องอาบัติ
             เพราะบุคคลผู้ต้องอาบัติ เป็นคนมักโกรธ มีความผูกโกรธ มีทิฐิมั่น
สละคืนได้ยาก ทั้งเราก็ไม่อาจจะให้เขาออกจากอกุศล ดำรงอยู่ในกุศลได้
             พวกเธอก็ต้องไม่ละเลยอุเบกขาในบุคคลเช่นนี้ (พึงวางอุเบกขา)
//84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=โจท
//84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=วีติกกมะ

การวิวาทกันและการทำนิพพานให้แจ้ง
             เมื่อพวกเธอนั้นพร้อมเพรียงกัน ยินดีต่อกันไม่วิวาทกัน ศึกษาอยู่
พึงเกิดการพูดเล่นสำนวนกัน แข่งขันกันด้วยทิฐิ ผูกใจเจ็บกัน ไม่เชื่อถือกัน
ไม่ยินดีต่อกันขึ้น
             ภิกษุที่เป็นฝ่ายเดียวกัน รูปใดว่าง่ายกว่ากัน พึงเข้าไปหารูปนั้น แล้วกล่าวว่า
             ถ้าพระผู้มีพระภาคทรงทราบ จะทรงติเตียนได้
             ถ้าภิกษุนั้นถามว่า
             ภิกษุไม่ละภาวะที่ดำรงอยู่นี้แล้วจะพึงทำนิพพานให้แจ้งได้หรือไม่
             พึงตอบอย่างนี้ว่า ไม่ได้
             ต่อนั้น ภิกษุอื่นๆ ที่เป็นฝ่ายเดียวกัน รูปใดว่าง่ายกว่ากัน พึงเข้าไปหารูปนั้น
แล้วกล่าวอย่างที่กล่าวกับภิกษุรูปก่อนนั้น
             ถ้าภิกษุอื่นๆ ถามว่า
             ท่านให้ภิกษุเหล่านี้ของพวกเรา ออกจากอกุศล ดำรงอยู่ในกุศลแล้วหรือ
             พึงตอบว่า
             ในเรื่องนี้ ข้าพเจ้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม
แก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าฟังธรรมของพระองค์แล้ว ได้กล่าวแก่ภิกษุเหล่านั้น
             ภิกษุเหล่านั้นฟังธรรมแล้ว ออกจากอกุศล และดำรงอยู่ในกุศลได้แล้ว
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อตอบอย่างนี้แหละ ชื่อว่าไม่ยกตน ไม่ข่มคนอื่น
ตอบธรรมสมควรแก่ธรรมด้วย ทั้งการกล่าวก่อนและการกล่าวตามกันอะไรๆ
อันชอบด้วยเหตุ ย่อมไม่ถึงฐานะน่าตำหนิด้วย
             พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดี
พระภาษิตของพระผู้มีพระภาค

ความคิดเห็นที่ 7-37
ฐานาฐานะ, 14 พฤศจิกายน 2556 เวลา 17:19 น.

GravityOfLove, 5 ชั่วโมงที่แล้ว
             พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖
             มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เทวทหวรรค
             ๓. กินติสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=793&Z=939&bgc=aliceblue&pagebreak=0
...
9:18 AM 11/14/2013

             ย่อความได้ดีครับ.

ความคิดเห็นที่ 7-38
ฐานาฐานะ, 14 พฤศจิกายน 2556 เวลา 17:21 น.

             คำถามในกินติสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=793&Z=939

             1. เมื่อศึกษาพระสูตรนี้ได้อะไรบ้าง?
             2. ชื่อพระสูตรแปลว่า อะไร?

ความคิดเห็นที่ 7-39
GravityOfLove, 14 พฤศจิกายน 2556 เวลา 17:44 น.

             ตอบคำถามในกินติสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=793&Z=939

             1. เมื่อศึกษาพระสูตรนี้ได้อะไรบ้าง?
             ๑. การดำเนินการเมื่อมีการกล่าวต่างกันในพระธรรม การดำเนินการเมื่อจะโจทภิกษุ
             ๒. ความไม่ลำบากจะมีแก่เราหรือไม่ก็ตาม และความไม่ขัดใจจะมีแก่บุคคลผู้ต้องอาบัติ
หรือไม่ก็ตาม ถ้าเราอาจจะให้เขาออกจากอกุศล ดำรงอยู่ในกุศลได้ ก็ควรพูด (โจท)
             ถ้าไม่อาจจะให้เขาออกจากอกุศล ดำรงอยู่ในกุศลได้ ก็วางอุเบกขา
             ๓. ถ้าภิกษุยังวิวาทกันอยู่ จะทำนิพพานให้แจ้งไม่ได้
             ๔. วิธีตอบที่ชื่อว่าไม่ยกตน ไม่ข่มคนอื่น และเป็นการตอบธรรมสมควรแก่ธรรม
             ๕. สำหรับพระสุตตันตปิฎก ให้ถืออรรถสำคัญกว่าพยัญชนะ
สำหรับพระวินัยปิฎก ทั้งอรรถและพยัญชนะ มีความสำคัญ
---------------------------
             2. ชื่อพระสูตรแปลว่า อะไร?
             ตอบว่า แปลว่า "ว่าอะไร"
             คำศัพท์ที่ค้นหา กินฺติ
             คำศัพท์ที่พบ (ศัพท์ที่ 1) : กินฺติ
             คำอ่าน (ภาษาบาลี) : กิน-ติ
             คำแปลที่พบ : ว่าอะไร
//www.mahamodo.com/buddict/buddict_pali.asp

ความคิดเห็นที่ 7-40
ฐานาฐานะ, 14 พฤศจิกายน 2556 เวลา 18:10 น.

GravityOfLove, 43 วินาทีที่แล้ว
             ตอบคำถามในกินติสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=793&Z=939
...
5:44 PM 11/14/2013

             ตอบคำถามได้ดีครับ

             ๓. ถ้าภิกษุยังวิวาทกันอยู่ จะทำนิพพานให้แจ้งไม่ได้
             ขยายความว่า ข้อ ๓. นี้มาจากเนื้อความว่า
             ดูกรท่านผู้มีอายุ เรื่องที่พวกเราพร้อมเพรียงกัน ยินดีต่อกัน ไม่วิวาทกัน
ศึกษาอยู่ เกิดการพูดเล่นสำนวนกัน แข่งขันกันด้วยทิฐิ ผูกใจเจ็บกัน ไม่เชื่อถือกัน
ไม่ยินดีต่อกันขึ้นนั้น พระสมณะเมื่อทรงทราบจะพึงทรงติเตียนได้
             ก็ภิกษุอื่นๆ จะพึงถามเธอว่า
             ดูกรท่านผู้มีอายุ ภิกษุไม่ละภาวะที่ดำรงอยู่นี้แล้วจะพึงทำนิพพานให้แจ้งได้หรือ
             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อจะพยากรณ์โดยชอบ พึงพยากรณ์อย่างนี้ว่า
             ดูกรท่านผู้มีอายุ ภิกษุไม่ละภาวะที่ดำรงอยู่นี้แล้วแล จะพึงทำนิพพานให้แจ้งไม่ได้
//84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=14&A=793&w=ทำนิพพานให้แจ้งไม่ได้#50

             ภาวะนี้ คือ การวิวาทกัน หรือเกิดการพูดเล่นสำนวนกัน แข่งขันกันด้วยทิฐิ
ผูกใจเจ็บกัน ไม่เชื่อถือกัน ไม่ยินดีต่อกันขึ้นนั้น
             น่าจะพอให้นัยต่อไปได้ว่า พระอริยบุคคลไม่แข่งดี ไม่ผูกใจเจ็บ.
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

             2. ชื่อพระสูตรแปลว่า อะไร?
             ตอบว่า แปลว่า "ว่าอะไร"
             กินติ แปลว่า "ว่าอะไร"
             เพิ่มเติมแบบงูๆ ปลาๆ ว่า สังเกตุว่า คำว่า กึ หรือ กิง มักเป็นคำแสดงเป็นคำถาม.
             เช่น กิงฉันทชาดก ท่านมีความพอใจอะไร
//84000.org/tipitaka/pitaka_item/sutta_line.php?B=27&A=9163
             กึสุกสูตร ต้นทองกวาวเป็นเช่นไร
//84000.org/tipitaka/pitaka_item/sutta_line.php?B=18&A=5189
             กึสีลสูตร นรชนพึงมีปรกติอย่างไร
//84000.org/tipitaka/pitaka_item/sutta_line.php?B=25&A=8065

ความคิดเห็นที่ 7-41
GravityOfLove, 14 พฤศจิกายน 2556 เวลา 18:17 น.

เข้าใจแล้วค่ะ ขอบพระคุณค่ะ

ความคิดเห็นที่ 7-42
ฐานาฐานะ, 14 พฤศจิกายน 2556 เวลา 18:40 น.

             เป็นอันว่า พระสูตรชื่อว่า กินติสูตร จบบริบูรณ์.
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=793&Z=939

              พระสูตรหลักถัดไป คือสามคามสูตร [พระสูตรที่ 4].
              พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖
              มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์
              สามคามสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=940&Z=1184
              ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=14&i=51

              สุนักขัตตสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=1185&Z=1439
              ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=14&i=67

ความคิดเห็นที่ 7-43
GravityOfLove, 14 พฤศจิกายน 2556 เวลา 18:53 น.

             คำถามสามคามสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=940&Z=1184

             ๑. กรุณาอธิบายเรื่อง คนทั้งหลายย่อมยกย่องภิกษุรูปนั้นไว้ในโลกุตรธรรม ...
             ๒. กรุณาอธิบายเชิงอรรถจากฉบับมหาจุฬาฯ (เฉพาะข้อที่มีเครื่องหมาย)
             อาชีวะอันยิ่ง อาชีวะอันเคร่งครัด อาชีวการณสิกขาบท หมายถึง
สิกขาบทที่ทรงบัญญัติเพราะเหตุแห่งอาชีวะ มี ๖ ข้อ คือ
             (๑) เพราะเหตุแห่งอาชีวะ ภิกษุถูกความปรารถนาลามกครอบงำพูดอวดอุตตริมนุสสธรรม
ต้องอาบัติปาราชิก
             (๒) เพราะเหตุแห่งอาชีวะ ภิกษุถึงความเป็นผู้ชักสื่อ ต้องอาบัติสังฆาทิเสส
             (๓) เพราะเหตุแห่งอาชีวะ ภิกษุกล่าวว่า ภิกษุรูปใดอยู่ในวิหารของท่าน ภิกษุรูปนั้น
เป็นพระอรหันต์ เมื่อผู้ฟังเข้าใจ ต้องอาบัติถุลลัจจัย <<<< ข้อนี้แปลว่าอะไรคะ
             (๔) เพราะเหตุแห่งอาชีวะ ภิกษุขอโภชนะอันประณีตเพื่อประโยชน์ตนมาฉัน
ต้องอาบัติปาจิตตีย์
             (๕) เพราะเหตุแห่งอาชีวะ ภิกษุณีขอโภชนะอันประณีตเพื่อประโยชน์ตนมาฉัน
ต้องอาบัติปาจิตตีย์ <<<< ซ้ำกับข้อข้างบนไหมคะ
             (๖) เพราะเหตุแห่งอาชีวะ ภิกษุไม่อาพาธขอแกงหรือข้าวสุกเพื่อประโยชน์ตน
มาฉัน ต้องอาบัติปาจิตตีย์
             (วิ.ป. (แปล) ๘/๒๘๗/๓๘๖, ม.อุ.อ. ๓/๔๓/๒๕)
//www.geocities.ws/tmchote/tpd-mcu/tpd14.htm
             ขอบพระคุณค่ะ

ความคิดเห็นที่ 7-44
ฐานาฐานะ, 15 พฤศจิกายน 2556 เวลา 04:05 น.

GravityOfLove, 3 นาทีที่แล้ว
             คำถามสามคามสูตร
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=14&A=940&Z=1184
...
             ขอบพระคุณค่ะ
6:53 PM 11/14/2013

             ๑. กรุณาอธิบายเรื่อง คนทั้งหลายย่อมยกย่องภิกษุรูปนั้นไว้ในโลกุตรธรรม ...
อธิบายว่า คนทั้งหลายยกย่องเคารพนับถือพระเถระรูปหนึ่งว่าเป็นพระอริยบุคคล
ทั้งที่พระเถระรูปนั้น เป็นปุถุชน.
             พระเถระรูปนั้น ก็มีพระภิกษุรูปอื่นๆ มาหา มาไหว้ ก็ถามภิกษุเหล่านั้นว่า มาทำไม?
             ภิกษุเหล่านั้นตอบว่า มาเพื่อถามกรรมฐาน (เป็นต้น)
             พระเถระรูปนั้นก็แสดงสิ่งที่ไม่ใช่ธรรมว่า เป็นธรรม กล่าวคือ
             พระเถระแสดงอาการที่แสงสว่างจากการใส่ใจกรรมฐานว่า เป็นอริยมรรค
คือ ถ้าแสงสว่างปรากฏ (ครั้งแรก) ว่า เป็นปฐมมรรค หรือโสตาปัตติมรรค
หรือบรรลุโสตาปัตติมรรค ครั้งต่อไปเป็นทุติยมรรค ... จตุตถมรรค.
             ภิกษุผู้รับฟังเหล่านั้นน้อมใจ ตกลงใจเชื่อว่า สิ่งที่ได้ฟังนั้นเป็นธรรม
และเลื่อมใสว่า พระเถระปุถุชนรูปนั้นเป็นพระอรหันต์.
             ต่อมา พระเถระปุถุชนรูปนั้นก็มรณภาพไป คนทั้งหลายก็ถามกันว่า
มีใครได้ถามปัญหากะพระเถระนั้น ก่อนจะมรณภาพหรือไม่?
             ภิกษุผู้รับฟังเหล่านั้นก็บอกคนทั้งหลายเหล่านั้น
             คนทั้งหลายเหล่านั้นก็น้อมใจเชื่อว่า พระเถระปุถุชนรูปนั้นเป็นพระอรหันต์
ดังนี้แล้ว ก็จัดงานศพใหญ่โต เก็บอัฐิไปทำเจดีย์ (บรรจุไว้).
             ต่อมาพระภิกษุจากที่อื่นมาที่วัดนั้น ประสงค์จะมาเยี่ยมพระเถระปุถุชนรูปนั้น
ก็ถามหาพระเถระปุถุชนรูปนั้น ก็ได้คำตอบจากพวกที่เลื่อมใสว่า ท่านปรินิพพานแล้ว.
             พระภิกษุจากที่อื่นก็ทำการสอบทานการตอบคำถามของพระเถระปุถุชนรูปนั้น
ก็ได้ความว่า พระเถระปุถุชนรูปนั้นเข้าใจผิดไปว่า แสงสว่างอันเป็นวิปัสสนูปกิเลสว่า
เป็นการบรรลุอริยมรรค.
             ก็บอกแก่พวกที่เลื่อมใสพระเถระปุถุชนรูปนั้นว่า พระเถระปุถุชนรูปนั้นเป็นพระปุถุชน.
             จากนั้น พวกที่เลื่อมใสพระเถระปุถุชนรูปนั้นก็ไม่เชื่อพระภิกษุจากที่อื่น
แล้วก็ทะเลาะกัน พวกที่เลื่อมใสก็กล่าวข่มพระภิกษุจากที่อื่น โดยยกเจดีย์ว่า
             นี้คือเจดีย์บรรจุอัฐิของพระเถระไว้ (แสดงว่า พระเถระยิ่งใหญ่เพราะมีเจดีย์ จึงเป็นพระอรหันต์)
พวกท่านมาโดยหนทางไหน พวกท่านไม่เห็นเจดีย์ที่ประตูวิหารหรือ.
             จากนั้น การทะเลาะกันก็ลุกลามใหญ่โต
              ใครที่เชื่อว่า แสงสว่างจากวิปัสสนูปกิเลส เป็นการบรรลุอริยมรรค ฯ
              การเชื่ออย่างนั้น การแสดงอย่างนั้น จะห้ามสวรรค์ ห้ามบรรลุมรรคผลเลยทีเดียว.
ก็ภิกษุผู้มีวาทะอย่างนี้ จะเป็นร้อยรูปพันรูปก็ตาม
ตราบใดยังไม่ละลัทธินั้น สวรรค์ก็ดี มรรคก็ดี ก็ถูกห้ามอยู่ตราบนั้น.

             คำว่า วิปัสสนูปกิเลส
//84000.org/tipitaka/dic/d_seek.php?text=วิปัสสนูปกิเลส

             จากนั้น อรรถกถาก็เแสดงการบอกกรรมฐานมั่วๆ ของรายอื่นๆ ต่อไป ด้วยคำว่า
             คนอื่นๆ เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน เมื่อจะบอกกรรมฐานย่อมบอกอย่างนี้ว่า
พึงเอาจิตนั่นแหละ ยกกระเบื้อง ๓ แผ่นขึ้นวางบนเตา ๓ เตา ...

             ตัวอย่างที่อรรถกถายกมาอธิบายนี้ น่าจะเป็นการแสดงถึง
             1. การลุกลามของการทะเลาะ
             2. การทะเลาะกันในเรื่องการปฏิบัติผิด กล่าวคือแสดงไว้ผิดว่า มีโทษมาก.
             โดยเนื้อความในท้ายข้อ 54 ดังนี้ :-
             พ. ดูกรอานนท์ ความวิวาทที่เกิดเพราะเหตุอาชีวะอันยิ่งหรือปาติโมกข์อันยิ่ง นั้นเล็กน้อย
ส่วนความวิวาทอันเกิดในสงฆ์ ที่เกิดเพราะเหตุมรรคหรือปฏิปทา ความวิวาทนั้น
มีแต่เพื่อไม่เกื้อกูลแก่ชนมาก ไม่ใช่สุขของชนมาก ไม่ใช่ประโยชน์ของชนมาก เพื่อไม่เกื้อกูล
เพื่อความทุกข์แก่เทวดาและมนุษย์ ฯ

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

             (๓) เพราะเหตุแห่งอาชีวะ ภิกษุกล่าวว่า ภิกษุรูปใดอยู่ในวิหารของท่าน ภิกษุรูปนั้น
เป็นพระอรหันต์ เมื่อผู้ฟังเข้าใจ ต้องอาบัติถุลลัจจัย <<<< ข้อนี้แปลว่าอะไรคะ
อธิบายว่า เป็นการกล่าวอวดอุตตริมนุสสธรรมที่ไม่จริงในตน แต่กล่าวอวดแบบอ้อมๆ.
             เรื่องวิหาร
             [๒๘๙] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งพูดกะอุบาสกคนหนึ่งว่า ดูกรอุบาสก ภิกษุผู้อยู่
ในวิหารของท่านนั้น เป็นพระอรหันต์ และภิกษุนั้นก็อยู่ในวิหารของอุบาสกนั้น เธอมีความรังเกียจ
จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรภิกษุ เธอคิดอย่างไร?
             ภิ. ข้าพระพุทธเจ้ามีความประสงค์จะพูดอวด พระพุทธเจ้าข้า
             ภ. ดูกรภิกษุ เธอไม่ต้องอาบัติปาราชิก แต่ต้องอาบัติถุลลัจจัย.
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=01&A=10838&Z=11364#289

             (๔) เพราะเหตุแห่งอาชีวะ ภิกษุขอโภชนะอันประณีตเพื่อประโยชน์ตนมาฉัน
ต้องอาบัติปาจิตตีย์
             (๕) เพราะเหตุแห่งอาชีวะ ภิกษุณีขอโภชนะอันประณีตเพื่อประโยชน์ตนมาฉัน
ต้องอาบัติปาจิตตีย์ <<<< ซ้ำกับข้อข้างบนไหมคะ
ตอบว่า
             ข้อ 4 เป็นเรื่องของภิกษุ ส่วนข้อ 5 เป็นเรื่องของภิกษุณี
             สันนิษฐานว่า ข้อ 4 มาจากสิกขาบทที่ ๙ โภชนวรรค
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=02&A=10989&Z=11072
             ส่วนข้อ 5 สันนิษฐานว่า มาจากปาฏิเทสนียะ สิกขาบทที่ ๒
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=02&A=14865&Z=14926
             หรืออาจมาจากปาฏิเทสนียะ ในภิกขุนีวิภังค์
//84000.org/tipitaka/read/?index3

             อันที่จริงแล้ว ม.อุ.อ. ๓/๔๓/๒๕ ก็น่าจะเป็นอรรถกถาของพระสูตรนี้เอง
เชิงอรรถจากฉบับมหาจุฬาฯ นำเป็นขยายความแล้วอ้างอิงกลับมาที่อรรถกถาของ
พระสูตรนี้.
             ม.อุ.อ. มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ อรรถกถา
             ๓/๔๓/๒๕ น่าจะเป็นเล่ม/ข้อ/หน้า หรือเล่ม/หน้า/ข้อ

             ภิกษุบางรูปในพระศาสนานี้คิดเป็นต้นว่า
             1. ผู้ไม่อวดอุตตริมนุสสธรรมไม่อาจได้อะไรๆ ดังนี้ เพราะเหตุอาชีวะ เพราะการเลี้ยงชีพ จึงพูดอวดอุตตริมนุสสธรรมบ้าง
             2. เที่ยวชักสื่อบ้าง
             3. ทำการพูดเลียบเคียงโดยนัยเป็นต้นว่า ภิกษุใดอยู่ในวิหารของท่าน ภิกษุนั้นเป็นพระอรหันต์ ดังนี้บ้าง
             4. ไม่เป็นไข้ ขอบิณฑบาตอันประณีต เพื่อประโยชน์ตนมาบริโภคบ้าง.
             5. ก็หรือว่า ภิกษุณีขอบิณฑบาตอันประณีตเหล่านั้น ย่อมต้องอาบัติปาฏิเทสนียะ
             6. ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งทำการขอแกงและข้าวสุกอย่างใดอย่างหนึ่ง อันเป็นวัตถุแห่งอาบัติทุกกฏบ้าง ก็หรือว่าทำการล่วงละเมิดพระบัญญัติอย่างใดอย่างหนึ่ง
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=14&i=51

ความคิดเห็นที่ 7-45
GravityOfLove, 15 พฤศจิกายน 2556 เวลา 12:21 น.

             (๓) เพราะเหตุแห่งอาชีวะ ภิกษุกล่าวว่า ภิกษุรูปใดอยู่ในวิหารของท่าน ภิกษุรูปนั้น
เป็นพระอรหันต์ เมื่อผู้ฟังเข้าใจ ต้องอาบัติถุลลัจจัย <<<<
             เมื่อผู้ฟังเข้าใจตามนั้น ต้องอาบัติ ... หรือคะ
             ขอบพระคุณค่ะ

ความคิดเห็นที่ 7-46
ฐานาฐานะ, 15 พฤศจิกายน 2556 เวลา 13:59 น.

             ถูกต้องครับ น่าจะเป็นเพราะกล่าวอ้อมๆ.

ความคิดเห็นที่ 7-47
GravityOfLove, 15 พฤศจิกายน 2556 เวลา 14:17 น.

เข้าใจแล้วค่ะ ขอบพระคุณค่ะ

ความคิดเห็นที่ 7-48
ฐานาฐานะ, 15 พฤศจิกายน 2556 เวลา 14:19 น.

             ลิงค์ที่ประกอบคำตอบที่ให้ไว้ ได้อ่านหรือไม่หนอ?

ย้ายไปที



Create Date : 17 ธันวาคม 2556
Last Update : 22 มิถุนายน 2557 13:04:22 น.
Counter : 540 Pageviews.

0 comments

แก้วมณีโชติรส
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]



ธันวาคม 2556

1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
 
 
All Blog