กว่าจะถึง F1 ต้องใช้เงินเท่าไหร่?
ลูอิส แฮมิลตัน เคยกล่าวว่าเขามีแผนอยากทำให้เส้นทางสู่ F1 ของนักขับรุ่นใหม่มีค่าใช้จ่ายน้อยลงกว่าที่เป็นอยู่ จะได้หรือไม่ได้เรายังไม่รู้นะคะ แต่ก่อนอื่นเรามาดูกันว่ากว่าจะไปถึงความใฝ่ฝันต้องผ่านอะไรและใช้เงินมากแค่ไหน
นักขับเยาวชนอาจไม่ได้มีเส้นทางเดียวกันทั้งหมด ทางเลือกมีหลากหลาย แต่ทุกคนมักเริ่มจากการแข่งคาร์ท หลังจากนั้นจึงค่อยเข้าร่วมการแข่งขันชิงแชมป์รายการต่างๆ ที่อาจเป็นของผู้ผลิตรถยนต์อย่างเรโนลต์ รายการ F4 หรือปัจจุบันก็มีการแข่งขันดับเบิ้ลยูซีรีส์สำหรับนักแข่งหญิงโดยเฉพาะ ต่อมาขยับขึ้นไปสู่ F3 และ F2 ซึ่งปัจจุบันเป็นของลิเบอร์ตี้มีเดีย เจ้าของ F1 เช่นกัน โดยเปลี่ยนชื่อจาก GP3 และ GP2 เพื่อให้สอดคล้องกับพี่ใหญ่ แต่ก็ไม่ได้มีระบบการโปรโมทเลื่อนชั้นใดๆ เพื่อขึ้นสู่ F1
แมวมองสามารถเลือกนักขับเยาวชนที่โดดเด่นจาก F2 หรือ F3 แต่ไม่มีกฎใดบังคับ และหลายคนสามารถลัดเข้ามาจากการแข่งขันรายการระดับเยาวชนอื่นๆ ได้
สำหรับสหพันธ์ยานยนต์นานาชาติ (FIA) ผู้ควบคุมการแข่งขัน F1 มีกฎแค่การสะสมคะแนนให้ได้ตามที่กำหนด เพื่อให้ได้รับใบอนุญาตลงแข่ง F1 หรือที่เรียกว่าซูเปอร์ไลเซนซ์ (Super License) โดย FIA จะกำหนดรายการชิงแชมป์ที่จะสามารถได้รับคะแนนเพื่อมาสะสม แต่อีกเช่นกัน การสะสมคะแนนก็ไม่ได้เป็นข้อกำหนดเพียงอย่างเดียว โตโต้ โวล์ฟ ทีมบอสเมอร์เซเดส เปิดเผยว่า หากใครมีความสามารถมากอาจต้องใช้เงิน 1 ล้านยูโรในการแข่งคาร์ท เพื่อแข่งตั้งแต่ระดับเล็กไล่มาจนถึงระดับนานาชาติ ต่อมาต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 ฤดูกาลในการแข่งขัน F4 หรือฟอร์มูล่าเรโนลต์ก็ต้องใช้เงิน 350,000 ยูโร เมื่อขยับมา F3 ต้องเสียอีก 650,000 ยูโร เท่ากับว่ามาถึงตรงนี้ต้องจ่าย 2 ล้านยูโรแล้ว หรือถ้าแข่ง F3 ต่อเป็นฤดูกาลที่ 2 ก็จะเป็น 2.6-2.7 ล้านยูโร
พูดง่ายๆ ว่าเพื่อจะมาถึงการแข่งขันภายใต้ความดูแลของลิเบอร์ตี้มีเดียต้องใช้เงินประมาณ 3 ล้านยูโร สำหรับฤดูกาลใน F2 มีค่าใช้จ่ายราว 1.5-2 ล้านยูโร และไม่ใช่แค่นั้น โวล์ฟกล่าวว่าถ้าจะมาให้ถึง F1 ต้องมีอีก 2-3 ล้านยูโรเพื่อให้ได้ขับ สรุปแล้วกว่าจะถึง F1 ต้องใช้เงินร่วม 8 ล้านยูโรก็ว่าได้ ดังนั้นตามความเห็นของเขาจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะลดค่าใช้จ่ายในเส้นทางนี้ เพราะกีฬานี้ได้กลายเป็นธุรกิจไปแล้ว นักขับต้องมีพ่อที่รวยพร้อมจ่ายเต็มที่
แต่นักขับหลายคนโชคดีที่ได้รับการสนับสนุนจากโปรแกรมเยาวชนของค่ายใหญ่ ที่เรารู้จักกันดีก็อย่างเช่นเร้ดบูล ซึ่งผลิตนักขับที่ก้าวขึ้นไปถึงระดับแชมป์โลกอย่างเซบาสเตียน เวทเทล หรือแม็กซ์ เวอร์สตัปเพ่น คลื่นลูกใหม่มาแรงที่มีดีกรีเป็นนักขับ F1 อายุน้อยที่สุด ขณะลงสนามแรกมีอายุเพียง 17 ปี เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในกรณีของแม็กซ์ การเข้ามาอยู่ใต้ชายคาของเร้ดบูลเกิดขึ้นเพียง 6 วันก่อนได้รับการประกาศเป็นนักขับโตโร รอสโซ และ 1 ปีหลังพ้นช่วงขับคาร์ท ซึ่งก่อนหน้านั้นต้องยอมรับว่าเพราะเขามีพ่อเป็นอดีตนักขับ F1 จึงมีทุนพอที่จะพามาถึงเส้นทางนี้ได้
อีกกรณีที่พบได้บ่อยในปัจจุบันและสำคัญกับทีมที่มีเงินทุนน้อย คือการเข้ามาของนักขับที่มีสปอนเซอร์ส่วนตัวและนำเงินมาให้ทีมเพื่อให้ตนได้ที่นั่ง เช่นคู่พ่อลูก ลอว์เรนซ์-แลนซ์ สโตรล กับวิลเลียมส์ ก่อนที่มหาเศรษฐีชาวแคนาดาเข้ามาซื้ออดีตทีมอดีตฟอร์ซอินเดียและเปลี่ยนชื่อเป็นเรซซิ่งพ้อยต์ในปัจจุบัน ในส่วนของวิลเลียมส์ปีนี้ได้ดันนักขับสำรอง นิโคลัส ลาทิฟี่ ขึ้นมาเป็นตัวจริง ซึ่งเขาเป็นนักขับอีกคนที่มาจากครอบครัวฐานะร่ำรวย พ่อของเขา ไมเคิล นักธุรกิจแคนาเดี้ยน ได้ซื้อหุ้น 10% ในแม็คลาเรนกรุ๊ป ด้วยจำนวนเงิน 203 ล้านปอนด์เมื่อปี 2018
ย้อนดูเส้นทางอาชีพของแฮมิลตัน เขามาจากครอบครัวระดับกลาง พ่อเป็นผู้ผลักดันเขามาตั้งแต่แข่งคาร์ท ตามด้วยลงแข่งระดับจูเนียร์ในรายการบริติชฟอร์มูล่าเรโนลต์ เรื่อยมาจนถึง F3 และ GP2 ก่อนจะได้พบกับรอน เดนนิส อดีตทีมบอสแม็คลาเรนในปี 1995 เขาจึงถูกนำตัวเข้าสู่ทีม F1 โดยมีเมอร์เซเดสเป็นผู้สนับสนุน ซึ่งจากฟอร์มอันโดดเด่นใน GP2 ฤดูกาล 2006 ส่งให้เขาได้แข่งขัน F1 ครั้งแรกในปี 2007 และเพียงปี 2008 เขาก็ได้แชมป์โลก F1 สมัยแรก
แฮมเคยเล่าว่าพ่อของเขาต้องใช้เงินประมาณ 20,000 ปอนด์ และนำบ้านไปจำนองเพื่อขอกู้หลายครั้งในช่วงปีแรกๆ มีบางสัปดาห์ที่เขาไม่ได้ลงแข่งเพราะขาดเงินทุน แต่พ่อก็พยายามให้เขาได้ไปต่อ ดังนั้นพ่อของเขาคือฮีโร่ตัวจริง ถ้าพ่อไม่ได้ทำงานอย่างที่ทำ และถ้าเขาไม่ได้เซ็นสัญญากับอดีตบอสแม็คลาเรนตั้งแต่อายุ 13 ปี เขาคงไม่ได้มายืนตรงจุดนี้
จากประเด็นนี้เองที่ทำให้เขาอยากทำงานร่วมกับ FIA และ F1 เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว โดยมีความคิดว่าการเป็นนักแข่งไม่จำเป็นต้องใช้เงินมากขนาดนั้น อยากให้เข้าถึงง่ายเหมือนฟุตบอลหรือเทนนิส ในอนาคตจะได้ยังเป็นเวทีของนักแข่งที่เก่งที่สุด เป็นการแข่งขันที่น่าตื่นเต้น และเป็นการต่อสู้กันอย่างแท้จริง
*แปลบางส่วนจากบทความ "How Lewis Hamilton Could Create A Roadmap For F1's Future" https://www.forbes.com/sites/csylt/2020/02/02/how-lewis-hamilton-could-create-a-roadmap-for-f1s-future/amp/?__twitter_impression=true
Create Date : 06 กุมภาพันธ์ 2563 |
Last Update : 6 กุมภาพันธ์ 2563 22:06:07 น. |
|
0 comments
|
Counter : 3728 Pageviews. |
 |
|
|
| |