bloggang.com mainmenu search
นิตยสารฉบับพิเศษฉบับนี้เป็นฉบับแนะนำการถ่ายภาพครับ เป็นเทคนิคการถ่ายภาพงานสถาปัตยกรรม งานตกแต่งภายในช่วงแสงทไวไลท์ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สำคัญในการถ่ายภาพของผม และถือโอกาสประมวลภาพสถานที่ที่ผมประทับใจจากหลายๆทริปที่ผ่านมาไปด้วยกัน หลายๆคนที่ติดตามผลงานของผมมักจะได้เห็นภาพช่วงที่ท้องฟ้าเป็นสีน้ำเงินเข้มและอาจจะสงสัยว่าการถ่ายภาพแนวนี้ ต้องทำอย่างไรและต้องมีอุปกรณ์อะไรบ้าง ลองมาดูความมหัศจรรย์ของช่วงเวลาที่เรียกว่าแสงทไวไลท์ และเทคนิคการถ่ายภาพช่วงเวลานี้จากประสบการณ์การถ่ายภาพของผม ที่จะทำให้การถ่ายภาพสนุก มีสีสันในทุกๆทริป ไม่เว้นแม้แต่วันที่สภาพอากาศไม่เป็นใจ

ผมขอวางแผงนิตยสารฉบับส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ซึ่งเป็นฉบับที่ 95 และเป็นฉบับที่สองของเดือนธันวาคม กับชานไม้ชายเขาฉบับพิเศษ ความมหัศจรรย์ของแสงทไวไลท์ ในการถ่ายภาพ



1. บทนำ
ในการออกไปถ่ายภาพในแต่ละทริป หลายๆคนคาดหวังจะได้เจอสภาพอากาศที่ปลอดโปร่ง ฟ้าใสๆ แดดดีๆ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สามารถถ่ายภาพได้สวยงาม (สถานที่ Soneva Kiri Koh Kood ตราด)


ถ้าได้สภาพอากาศดีๆ การถ่ายภาพงานสถาปัตยกรรมให้มีสีสันสดใสทำได้ไม่ยาก (สถานที่ Paresa ภูเก็ต)


แต่สภาพอากาศดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นทุกๆวัน ในทุกๆทริป และเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถควบคุมได้ บางครั้งอาจจะเจอกับสภาพอากาศที่ฟ้าปิด ฟ้าหม่น เกิดพายุฝน


ถ้าเราออกทริปแล้ว เจอสภาพอากาศไม่เป็นใจ คำถามที่ตามมาก็คือจะทำอย่างไรถึงจะทำให้การถ่ายภาพในช่วงเวลาที่ไม่เอื้ออวยให้ภาพที่มีสีสันสดใส คำตอบก็คือการถ่ายภาพช่วงแสงทไวไลท์ โดยอาศัยแสงจากหลอดไฟในตัวอาคารกับบรรยากาศภายนอก ซึ่งมีเทคนิคในการถ่ายที่ไม่ยาก (สถานที่ Sala Khaoyai นครราชสีมา)



2. แสงทไวไลท์คืออะไร และทำไมต้องรอแสงทไวไลท์
แสงทไวไลท์คือแสงท้องฟ้าช่วงเวลาที่พระอาทิตย์เพิ่งลับขอบฟ้าในตอนเย็น หรืออีกช่วงเวลาหนึ่งคือพระอาทิตย์กำลังจะโผล่พ้นเส้นขอบฟ้าในตอนเช้า ดังนั้นในหนึ่งวันจะมีช่วงเวลาที่เกิดแสงทไวไลท์สองครั้งคือก่อนพระอาทิตย์ขึ้น และหลังพระอาทิตย์ตก โดยที่แสงของท้องฟ้าในช่วงแสงทไวไลท์ไม่ใช่แสงจากดวงอาทิตย์โดยตรงแต่เป็นแสงที่เกิดจากการหักเหกับชั้นบรรยากาศ ทำให้ช่วงเวลาที่เกิดแสงทไวไล์เป็นช่วงเวลาที่ไม่ถึงกับมืด แต่ก็ไม่สว่างมาก ภาพแสดงบรรยากาศช่วงแสงทไวไลท์ในตอนเย็น (สถานที่ Peter Pan Resort เกาะกูด ตราด )


บรรยากาศแสงทไวไลท์ในตอนเช้า (สถานที่ Sala Khaoyai นครราชสีมา)


ในการถ่ายภาพช่วงแสงทไวไลท์ในงานสถาปัตยกรรม ควรจะมีแหล่งกำเนิดแสงสองแบบภายในภาพ แหล่งกำเนิดแสงแรกคือแสงธรรมชาติที่เราต้องรอช่วงแสงทไวไลท์ และแหล่งกำเนิดแสงอีกแบบคือแสงประดิษฐ์ เช่นแสงจากหลอดไฟ ตะเกียง หรือเทียน ในภาพ บริเวณ A คือบริเวณที่ได้รับแสงธรรมชาติ บริเวณ B คือบริเวณที่ได้รับแสงจากหลอดไฟ (สถานที่ ไร่แสงอรุณ เชียงราย)


เหตุผลที่เราต้องรอแสงทไวไลท์เนื่องจาก ในการถ่ายภาพที่มีแหล่งกำเนิดแสงสองแหล่งในภาพเดียวกัน ถ้าแหล่งกำเนิดแสงทั้งสองให้ความสว่างต่างกันมาก เช่น A สว่างกว่า B มากๆ ถ้าเราวัดแสงที่แหล่งกำเนิดแสง A บริเวณ B ก็จะมืดไป ถ้าเราวัดแสงที่ B บริเวณ A จะสว่างไปซึ่งจะให้ภาพที่ขาดรายละเอียดในบางส่วน เราจึงควรถ่ายภาพเมื่อแหล่งกำเนิดแสงทั้งสองแหล่งให้ความสว่างพอๆกันซึ่งจะทำให้ภาพได้รายละเอียดทั้งในส่วน A และ B ถ้าเป็นกลางวันแสงธรรมชาติจะสว่างกว่าแสงจากหลอดไฟมาก ช่วงเวลาที่แสงธรรมชาติมีความสว่างใกล้เคียงกับแสงจากหลอดไฟก็คือช่วงแสงทไวไลท์ (สถานที่ ไร่แสงอรุณ เชียงราย)


ลองมาดูความสำคัญของเวลาจากตัวอย่างภาพต่อไปนี้ ภาพสองภาพนี้ถ่ายจากมุมใกล้ๆกันของแสงทไวไลท์เย็น ภาพบนถ่ายตอน 17.58 ซึ่งยังไม่เกิดการบาลานซ์ของแสงธรรมชาติและแสงเทียน แสงธรรมชาติเวลานั้นสว่างกว่าแสงเทียนค่อนข้างมาก ส่วนภาพล่างถ่ายตอนเวลา 18.17 รอเวลาให้แสงท้องฟ้ามืดลงใกล้เคียงกับแสงเทียนมากขึ้น ดังนั้นภาพบนดูเหมือนจะถูกถ่ายเร็วเกินไป (สถานที่ เศรษฐปุระ อุบลราชธานี)


มาชมการเปรียบเทียบภาพอีกคู่หนึ่งครับ ภาพบนถ่ายตอน 18.37 จะเห็นได้ว่าเราเห็นรายละเอียดทั้งในห้องพักและบรรยากาศข้างนอก ส่วนภาพล่างถ่ายตอน 19.01 ซึ่งเห็นรายละเอียดในห้องพักแต่บรรยากาศข้างนอกมืด ไม่แสดงรายละเอียด เราจึงสรุปได้ว่า ภาพล่างเป็นภาพที่ถ่ายช้าเกินไป ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการถ่ายภาพช่วงแสงทไวไลท์ เรื่องเวลาเป็นสิ่งสำคัญ (สถานที่ Sala Khaoyai นครราชสีมา)


3. การปรับค่าของกล้องในการถ่ายภาพช่วงแสงทไวไลท์และอุปกรณ์ที่ใช้
คำถามที่ผมได้รับบ่อยๆในการถ่ายภาพช่วงแสงทไวไลท์คือควรมีการปรับค่าของกล้องอย่างไร และมีอุปกรณ์เพิ่มเติมอะไรบ้าง อุปกรณ์เพิ่มเติมเพียงอย่างเดียวที่ผมใช้คือ ขาตั้งกล้องครับ เพราะเป็นช่วงที่แสงน้อย การถ่ายภาพช่วงแสงทไวไลท์ไม่จำเป็นต้องใช้ฟิลเตอร์ ไม่จำเป็นต้องใช้แฟลช หรือชุดไฟ (ผมจะพกเทียนอันเล็กๆไปด้วยครับเผื่อบริเวณไหนที่มืดเกินไป เราสามารถใช้เทียนเป็นแสงประดิษฐ์เพื่อบาลานซ์แสง) ส่วนการปรับค่าของกล้อง ผมจะถ่ายภาพในโหมด M (Manual) ปรับ White Balance (WB) ตามแหล่งกำเนิดแสง ส่วนมากผมจะใช้ WB เป็น Incandescent (Tungsten) หรือ Fluorescent (หรือสามารถใช้ WB โดยการปรับอุณหภูมิสีซึ่งจะปรับได้ละเอียดครับ) ส่วน ISO ควรตั้งให้มีค่าต่ำๆเพื่อให้เกิด noise น้อยๆ จากนั้นเลือกความเร็วชัตเตอร์ให้สัมพันธ์กับรูรับแสง



ลองคงค่ารูรับแสง (F-stop) แล้วเลือกความเร็วชัตเตอร์ ถ้าภาพออกมามืดไป ก็ให้ลดความเร็วชัตเตอร์ หรือถ้าภาพสว่างไปก็ให้เพิ่มความเร็วชัตเตอร์ จนกว่าจะได้ภาพที่แสงพอเหมาะ

(อาจจะลองใช้โหมด P, A, S หรือ P, Av, Tv ในการถ่ายภาพช่วงแสงทไวไลท์โดยเซ็ตค่า WB, ISO ถ้าภาพที่ถ่ายมามืดหรือสว่างไปสามารถใช้การชดเชยแสงเข้าช่วย)
ตัวอย่างภาพและการเซ็ตค่า การย่อขนาดและการทำให้ภาพคมขึ้น(Unsharp mask :USM) ทำในโปรแกรม Photoshop ครับ


ตัวอย่างภาพและการเซ็ตค่า


ตัวอย่างภาพและการเซ็ตค่า


ตัวอย่างภาพและการเซ็ตค่า


ตัวอย่างภาพและการเซ็ตค่า


4. การไล่แสง เทคนิคการถ่ายภาพช่วงแสงทไวไลท์เพื่อให้ได้ปริมาณภาพที่มากขึ้น
ปัญหาหนึ่งในการถ่ายภาพช่วงแสงทไวไลท์คือ ช่วงที่เกิดแสงทไวไลท์เกิดขึ้นค่อนข้างเร็ว ถ้าไม่มีการวางแผนที่ดี หรือใช้หลักการเข้ามาช่วย อาจจะทำให้ได้ปริมาณภาพที่ไม่มาก การไล่แสงเป็นหลักการง่ายๆที่ผมเรียนรู้จากประสบการณ์ถ่ายภาพของผม ซึ่งพอที่จะช่วยเรียงลำดับการถ่ายภาพช่วงแสงทไวไลท์ได้บ้างว่าควรถ่ายมุมไหนก่อน มุมไหนหลัง

ผมสมมุติสถานการณ์ง่ายๆ มีห้องพัก 3 ห้องอยู่ติดกันคือห้อง A ห้อง B และ ห้อง C มีการตกแต่งแตกต่างกัน และผมต้องการถ่ายภาพภายในห้องทั้ง 3 ในแสงทไวไลท์เย็นของวันเดียวห้องละ 1 ภาพ จากการสำรวจผมพบว่า ห้อง A ใช้ไฟ 40 วัตต์ ห้อง B ใช้ไฟ 20 วัตต์ ส่วน ห้อง C จุดเทียน จะเห็นได้ว่า ห้อง A เป็นห้องที่สว่างที่สุด ตามมาด้วย ห้อง B ส่วนห้อง C สว่างน้อยสุด เนื่องจากแสงทไวไลท์เย็นเป็นแสงที่สว่างลดลงเรื่อยๆ ดังนั้นแทนที่เราจะสุ่มลำดับการถ่ายภาพว่าจะถ่ายห้องไหนก่อนหลัง เราสามารถพอบอกได้ว่า เราควรถ่ายภาพห้อง A ก่อน เพราะเกิดการบาลานซ์ของแสงก่อน(แสงภายนอกจะมีความสว่างพอๆกับแสงจากหลอดไฟ 40 วัตต์ก่อน) จากนั้นค่อยถ่ายห้อง B และถ่ายห้อง C เป็นห้องสุดท้าย ที่สำคัญอีกอย่างคือต้องอย่าใช้เวลากับมุมใดมุมหนึ่งนานเกินไป (ในความเป็นจริงผมจะถ่ายภาพในห้องพักห้องเดียวในหนึ่งแสงทไวไลท์ แต่จะใช้การไล่แสงในห้้องพักเช่นควรถ่ายภาพในห้องก่อนระเบียงห้องในแสงทไวไลท์เย็น เพราะส่วนมากหลอดไฟในห้องพักจะสว่างกว่าที่ระเบียง) ลองมาชมภาพต่อไปนี้ที่ผมถ่ายจากแสงทไวไลท์เย็นของวันเดียว โดยในภาพจะแสดงเวลาถ่ายไว้ด้วยครับ

สถานที่ ปานวิมาน เชียงใหม่ ลำดับการถ่ายภาพของแสงทไวไลท์เย็นจะเริ่มจากบริเวณที่แสงประดิษฐ์สว่างมากที่สุดไล่ไปยังแสงประดิษฐ์ที่สว่างน้อยที่สุด หรืออีกคำพูดหนึ่งคือไล่จากบริเวณที่เกิดการบาลานซ์ของแสงก่อนไปยังบริเวณที่เกิดการบาลานซ์ของแสงทีหลัง

ภาพที่ 1-2
ภาพที่ 1 เป็นภาพที่ไม่เห็นบรรยากาศภาพนอกแต่มีบางจุดที่ได้รับแสงธรรมชาติซึ่งจะเห็นเป็นสีน้ำเงิน ควรถ่ายภาพลักษณะนี้ก่อน


ภาพที่ 3-4


ภาพที่ 5-6


ภาพที่ 7-8


ภาพที่ 9-10


ภาพที่ 11-12


สมมุติว่าเราคงค่ารูรับแสงและค่า ISO เราสามารถตรวจสอบได้ว่าเราไล่แสงได้ถูกต้องหรือไม่ ถ้าเราไล่แสงถูก ความเร็วชัตเตอร์ที่ใช้จะช้าลงเรื่อยๆสำหรับแสงทไวไลท์เย็น ส่วนการไล่แสงสำหรับแสงทไวไลท์เช้าจะกลับกันครับ เนื่องจากแสงทไวไลท์เช้าจะเริ่มจากสว่างน้อยไปสว่างมาก ดังนั้นเราควรถ่ายภาพจุดที่สว่างน้อยๆก่อนไล่ไปยังจุดที่สว่างขึ้นเรื่อยๆ ผมเองบางครั้งก็ยังถ่ายภาพได้ไม่กี่ภาพในหนึ่งแสงทไวไลท์ บางทีก็คำนวณเวลาพลาดไป หรือใช้เวลาหามุมนานไป

สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งในการถ่ายภาพช่วงแสงทไวไลท์ให้ได้ปริมาณมากคือการวางแผนที่ดี การหามุมที่เร็ว ดังนั้นเมื่อฝึกการถ่ายภาพช่วงแสงทไวไลท์ได้แล้ว ลองฝึกการไล่แสง การหามุมในช่วงเวลาที่จำกัด ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายและน่าสนุกอีกอย่างหนึ่ง
ภาพที่ 13-14


5. แสงทไวไลท์กับวันฟ้าหม่น ฝนตก สภาพอากาศไม่เป็นใจ
นอกจากการถ่ายภาพช่วงแสงทไวไลท์จะให้ภาพที่สีสันสดใส โดยใช้หลักการบาลานซ์แสงแล้ว ความมหัศจรรย์อีกอย่างหนึ่งของแสงในช่วงเวลานี้สำหรับผมคือ ช่วงเวลาแสงทไวไลท์เกิดขึ้นทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นวันอากาศดี วันฟ้าปิด เมฆเยอะ หรือกระทั่งแม้แต่วันที่ฝนตก เราจะได้พบกับแสงทไวไลท์วันละสองเวลาเสมอ เพราะฉะนั้นถ้าเราฝึกการถ่ายภาพช่วงเวลานี้ จะทำให้การถ่ายภาพสนุกในทุกๆทริป ไม่ว่าสภาพอากาศจะเป็นอย่างไร

ผมเคยเดินทางไปพักที่รีสอร์ทในสภาพอากาศที่เลวร้ายมากที่สุดครั้งหนึ่งเมื่อปลายเดือนมีนาคม 2554 ที่เกาะสมุย ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เกิดพายุฝนและเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งบนเกาะ สภาพอากาศที่เจอคือฟ้าปิดเมฆเยอะตั้งแต่เช็คอินจนถึงเวลาเช็ตเอ๊าท์ ยิ่งไปกว่านั้นช่วงเวลาแสงทไวไลท์ที่ผมอยู่ที่สมุยช่วงนั้นมักจะมาพร้อมกับสายฝน ข้อจำกัดเพียงอย่างเดียวของการถ่ายภาพช่วงแสงทไวไลท์ช่วงฝนตกคืออย่าให้กล้องโดนฝน หรืออยู่ในสภาพที่ชื้นมากๆครับ เช่นสามารถถ่ายภาพช่วงแสงทไวไลท์ในตัวอาคาร ห้องพัก lobby ห้องอาหาร ลองมาชมตัวอย่างภาพที่ถ่ายช่วงแสงทไวไลท์ในวันฝนตก ฟ้าปิด

ภาพที่ Lobby ของ W Retreat Koh Samui


ภาพในห้องอาหาร ของ W Retreat Koh Samui


ภาพในห้องพัก ของ W Retreat Koh Samui


ภาพที่ Lobby ของ Veranda Resort & Spa ชะอำ ในวันฟ้าปิด


6. กล้อง Compact กับการถ่ายภาพช่วงแสงทไวไลท์
เคยมีบางคนถามผมว่า ถ้าใช้กล้อง compact ตัวเล็ก สามารถถ่ายภาพช่วงแสงทไวไลท์ได้หรือไม่ ช่วงแรกๆที่ผมเริ่มถ่ายภาพก็เริ่มจากกล้อง compact ครับ แต่เนื่องจากกล้อง compact ที่ผมใช้สามารถปรับค่าการถ่ายภาพแบบ manual ได้บ้างเลยทำให้การถ่ายภาพช่วงแสงทไวไลท์ทำได้ไม่ยาก โดยยึดการปรับเหมือนเดิมคือ ปรับ White Balance ปรับค่า ISO และปรับค่าความเร็ว Shutter ให้สัมพันธ์กับความกว้างรูรับแสง (ภาพนี้เป็นภาพแรกที่ถ่ายด้วยกล้องใหม่ของผม 5D Mark II ที่ผมโพสลงในอินเตอร์เน็ต ขนาดใช้ ISO 4000 ภาพยังโอเค สถานที่ ร้านกาแฟใหม่ของพี่สาวในจังหวัดสตูล)


สำหรับกล้อง compact รุ่นใหม่ๆบางรุ่น มีโหมดการถ่ายภาพสำหรับแสงทไวไลท์โดยเฉพาะซึ่งทำให้การถ่ายภาพช่วงนี้ง่ายลงไปอีก สำหรับกล้องที่ไม่มีโหมดนี้และไม่มีโหมด Manual อาจจะลองถ่ายโหมด P (Program) กล้องจะเซ็ตค่าความกว้างรูรับแสงและความเร็วชัตเตอร์ให้ แต่เรายังสามารถตั้งค่า ISO และ White Balance ได้ แต่ถ้าภาพที่ถ่ายมามืดหรือสว่างไป อาจจะต้องใช้การชดเชยแสงเข้าช่วย การใช้โหมดนี้ขึ้นกับการวัดแสงของกล้องพอสมควร ถ้าภาพที่ถ่ายมามืดไป การชดเชยแสงอาจจะทำให้ภาพสว่างขึ้นได้บ้างแต่ก็ไม่มากนักซึ่งภาพอาจจะยังคงมืดอยู่

ตัวอย่างภาพที่ถ่ายช่วงแสงทไวไลท์จากกล้อง compact ของ Sony รุ่น DSC-W1 (เป็นกล้อง compact รุ่นแรกๆที่ตอนนี้ตกรุ่นไปนานแล้วครับ)ในโหมด manual

สถานที่ Anantara Sikao Beach Resort จังหวัดตรัง (เมื่อก่อนจะเป็น Amari Trang Beach)


ภาพนี้ถ่ายจากกล้อง compact ตัวเดิม สถานที่ พุทรักษา หัวหิน


7. ตัวอย่างภาพและการจัดองค์ประกอบภาพช่วงแสงทไวไลท์
จุดเด่นที่สำคัญอีกอย่างของการถ่ายภาพช่วงแสงทไวไลท์คือ เราสามารถจัดองค์ประกอบภาพให้เห็นทั้งบรรยากาศในอาคารและบรรยากาศภายนอกในภาพเดียวกัน ทำให้ผู้อื่นมองภาพแล้วสามารถนึกบรรยากาศตามได้ทันทีว่า ถ้าได้อยู่ในสถานที่นั้นๆแล้วจะเห็นวิว บรรยากาศภายนอกอย่างไรหรือสวยขนาดไหน ลองมาชมมุมมองการถ่ายภาพที่ผมมักจะใช้ในการถ่ายภาพสไตล์ของผมครับ

ภาพในหัวข้อนี้ถ่ายในช่วงแสงทไวไลท์ โดยมีการเซ็ตค่ากล้องในโหมด Manual ค่า white balance เป็น Incandescent (Tungsten) หรือ Fluorescent ค่า ISO ที่ 100 ใช้ขาตั้งกล้อง ไม่ใช้แฟลช ใช้การปรับภาพใน Photoshop โดยใช้คำสั่ง shadow highlight ปรับ level และตามด้วย color balance และ selective color ย่อขนาดภาพและใช้ Unsharp mask

ภาพถ่ายแสงทไวไลท์เย็นในมุมมองที่เห็นบรรยากาศในห้องพักและบรรยากาศภายนอก (เวลา 18.57 17 mm, f/4, 1/2 s)
สถานที่ ศรีพันวา ภูเก็ต


ภาพถ่ายแสงทไวไลท์เย็นในมุมมองที่เห็นบรรยากาศในอาคารและวิวด้านนอก(เวลา 19.08 11 mm, f/4.5, 1 s)
สถานที่ Renaissance Bangkok Ratchaprasong


ภาพถ่ายแสงทไวไลท์เย็นในมุมมองแบบหน้าตรง (เวลา 18.59 11 mm, f/4, 6 s)
สถานที่ Phulay Bay, a Ritz Carlton Reserve กระบี่


ภาพถ่ายแสงทไวไลท์เช้าในมุมมองแบบหน้าตรง (เวลา 5.45 10 mm, f/4, 2.5 s)
สถานที่ V Villa หัวหิน


ภาพถ่ายแสงทไวไลท์เย็น เป็นภาพที่ไม่เห็นบรรยากาศภายนอกโดยตรง แต่มีบางส่วนในภาพที่ได้รับแสงจากภายนอกซึ่งเป็นสีน้ำเงินในภาพ (เวลา 18.08 10 mm, f/4.5, 1/2 s)
สถานที่ X2 Kui Buri ประจวบคีรีขันธ์


ภาพถ่ายแสงทไวไลท์เย็นในมุมมองแบบมีฉากหน้าฉากหลัง (เวลา 18.54 17 mm, f/5, 1.3 s)
สถานที่ Hilton Pattaya


ภาพถ่ายแสงทไวไลท์เย็นในมุมมองแบบมีฉากหน้าฉากหลัง (เวลา 18.38 24 mm, f/2.8, 2 s)
สถานที่ Soneva Gili Maldives


ภาพถ่ายแสงทไวไลท์เย็นในมุมมองที่มีฉากหน้าฉากหลัง (เวลา 19.06 17mm, f/2.8, 2.5 s)
สถานที่ Evason Hua Hin ประจวบคีรีขันธ์


ภาพถ่ายแสงทไวไลท์เช้า ภาพนี้ถ่ายตอนเช้ามืด ตอนที่ฟ้าเริ่มจะสว่าง โดยการบาลานซ์แสงจากท้องฟ้า แสงดาว และแสงบริเวณระเบียงห้อง เทคนิคการถ่ายภาพดาวพร้อมกับเห็นระเบียงห้องพัก ยังคงใช้การบาลานซ์แสงเช่นเดิมครับ แต่เนื่องจากแสงดาวสว่างน้อยมาก เราควรหามุมห้องพักที่สว่างน้อยๆ เพื่อจากบาลานซ์กับแสงดาว จริงๆแล้วบรรยากาศที่เห็นจาก viewfinder จะมืดกว่าในภาพมาก แต่อาศัยการเปิดหน้ากล้องทิ้งไว้นานๆ (เวลา 5.51 11 mm, f/2.8, 30 s)
สถานที่ Paresa Phuket


ภาพถ่ายแสงทไวไลท์เย็นกับการบาลานซ์แสงในสระว่ายน้ำ แสงตะเกียง และแสงท้องฟ้า (เวลา 18.57 17mm, f/4, 13 s)
สถานที่ Paresa ภูเก็ต


ภาพถ่ายแสงทไวไลท์เย็น ในมุมมองสะท้อนผิวน้ำ (เวลา 19.07 17 mm, f/4, 10 s)
สถานที่ Le Meridien Chiang Rai


ภาพถ่ายแสงทไวไลท์เย็น ในมุมมองหน้าตรง (เวลา 18.20 17 mm, f/4, 3 s)
สถานที่ Veranda Chiang Mai, the High Resort


ภาพถ่ายแสงทไวไลท์เช้า ในมุมมองที่เห็นบรรยากาศในอาคารและวิวด้านนอก (เวลา 6.13 17 mm, f/3.2, 1.3 s)
สถานที่ X2 Samui สุราษฎร์ธานี


ภาพถ่ายแสงทไวไลท์เช้าในมุมมองที่เห็นบรรยากาศในห้องพักและบรรยากาศภายนอก (เวลา 5.50 20 mm, f/3.5, 2 s)
สถานที่ Six Senses Hua Hin ประจวบคีรีขันธ์


ภาพถ่ายแสงทไวไลท์เย็นในมุมมองมีเส้นนำสายตา (เวลา 18.47 17 mm, f/4.5, 0.62 s)
สถานที่ X2 Kui Buri ประจวบคีรีขันธ์


ภาพถ่ายแสงทไวไลท์เย็นในมุมมองมีเส้นนำสายตา (เวลา 19.05 31mm, f/2.8, 1.3 s)
สถานที่ Kirimaya Resort & Spa เขาใหญ่


ภาพถ่ายแสงทไวไลท์เช้า ในมุมมองหน้าชัดหลังเบลอ (เวลา 6.21 50 mm, f/2.8, 1 s)
สถานที่ ศรีพันวา ภูเก็ต


ภาพถ่ายแสงทไวไลท์เย็น ในมุมมองหน้าชัดหลังเบลอ (เวลา 19.05 50 mm, f/2.8, 0.77 s)
สถานที่ The Scenery Vintage Farm


ภาพถ่ายแสงทไวไลท์เช้า ในมุมมองหน้าชัดหลังเบลอ โดยใช้เทียนเป็นแสงประดิษฐ์ในการบาลานซ์แสง
สถานที่ ไร่แสงอรุณ เชียงราย (เวลา 6.31 50 mm, f/3.5, 1 s)


ภาพถ่ายแสงทไวไลท์เช้า ในมุมมองหน้าตรง (เวลา 6.45 17 mm, f/4, 8 s)
สถานที่ พราวภูฟ้า เชียงใหม่


สุดท้ายเป็นภาพจากปกครับ เป็นภาพแสงทไวไลท์เช้าโดยการบาลานซ์แสงจาก สามแหล่ง คือแสงท้องฟ้า แสงดาว และแสงจากหลอดไฟในห้องนอน โดยหลักการก็คือ จากแหล่งกำเนิดแสงทั้งสามแหล่ง แสงดาวจะเป็นแสงคงที่ ที่เราไม่สามารถเปลี่ยนความสว่างได้ ส่วนแสงท้องฟ้า เราสามารถรอจังหวะที่ฟ้าเริ่มสว่างนิดๆ และสุดท้ายคือแสงจากห้องนอน โชคดีที่ในวิลลาของศรีพันวาสามารถเปิดไฟสลัวๆแบบ night mode ได้ จะเห็นได้ว่าภาพนี้ต้องรอจังหวะแสงของท้องฟ้า ถ้าถ่ายเร็วกว่านี้ ฟ้าจะมืด และถ้าถ่ายช้ากว่า ฟ้าจะสว่างและไม่เห็นแสงดาว ดังนั้นจังหวะเวลาของการถ่ายภาพช่วงแสงทไวไลท์เป็นสิ่งที่สำคัญ (เวลา 5.52 17 mm, f/2.8, 30 s, ISO 320)
สถานที่ ศรีพันวา ภูเก็ต


8. บทสรุป
ผมหวังว่านิตยสารฉบับพิเศษฉบับนี้คงให้เทคนิคการถ่ายภาพเล็กๆน้อยๆที่จะทำให้การถ่ายภาพสนุกและท้าทายขึ้นในทุกสภาพอากาศ ผมมีข้อแนะนำอีกนิดครับเกี่ยวกับถ่ายภาพช่วงแสงทไวไลท์ครับ

1. การถ่ายภาพช่วงแสงทไวไลท์ให้ได้หลายมุมและหลายๆภาพ ควรมีการวางแผนล่วงหน้า หามุมและคำนึงถึงการไล่แสง และไม่ควรใช้ค่า f-stop สูงเกินไป เพราะต้องเปิดหน้ากล้องนาน (ในกรณีที่ ISO ต่ำๆ)
2.แสงทไวไลท์ในแต่ละวันมาเร็วมาช้าขึ้นกับฤดูและสภาพอากาศ เช่นแสงทไวไลท์เย็นช่วงฤดูหนาวจะมาเร็วกว่าฤดูร้อน หรือแสงทไวไลท์เย็น ช่วงฝนตกฟ้าครึ้มจะมาเร็วกว่าปกติ
3. ในการถ่ายภาพช่วงแสงทไวไลท์ บริเวณที่ได้รับแสงธรรมชาติจะเป็นสีน้ำเงิน ถ้าไม่ต้องการให้มีสีน้ำเงินมากเกินไป สามารถจัดองค์ประกอบให้ มีบริเวณที่ได้รับแสงจากหลอดไฟมากขึ้น
4. การในพิมพ์ภาพ เนื่องจากการพิมพ์ภาพบนกระดาษไม่สามารถแสดงเฉดสีได้มากเท่ากับหน้าจอคอมพิวเตอร์ ภาพที่ได้จากการพิมพ์อาจจะมีสีไม่สด และไม่สวยเท่ากับการมองจากหน้าจอ
5. ข้อนี้สำคัญครับ ถ้าไปเที่ยวกับคนรู้ใจ ช่วงเวลาทไวไลท์เย็นคือช่วงเวลาที่โรแมนติกที่สุด และช่วงเวลาทไวไลท์เช้าคือช่วงเวลาที่หลับสบายที่สุด ดังนั้นอย่าถ่ายภาพเพลินจนลืมนึกถึงคนข้างๆนะครับ^^

ขอให้มีความสุขและสนุกกับการถ่ายภาพ ในโอกาสขึ้นปีใหม่ 2555 นี้ผมขอให้ทุกๆคน มีความสุข สุขภาพแข็งแรง ประสบความสำเร็จในทุกๆด้าน และขอบคุณมากๆครับสำหรับมิตรภาพดีๆที่เริ่มจากสังคมออนไลน์แห่งนี้ ^^



Create Date :28 ธันวาคม 2554 Last Update :28 ธันวาคม 2554 16:30:14 น. Counter : Pageviews. Comments :82