bloggang.com mainmenu search

เป็นเวลากว่าสองปีที่ผมได้เริ่มทำนิตยสาร Online แนะนำรีสอร์ท รวมๆแล้วก็เกือบครึ่งร้อยฉบับ ผมคิดว่าน่าจะถึงเวลาที่ผมจะได้แนะนำตัวเองอย่างเป็นทางการ อย่างน้อยก็ทำให้เพื่อนๆที่ได้ติดตามนิตยสารมาตลอด ได้รู้จักคนที่อยู่เบื้องหลังนิตยสารฉบับนี้ ที่ทั้งไปเที่ยว ถ่ายภาพและเขียนรีวิว ผมเองเป็นเพียงคนที่ชอบเที่ยว ชอบถ่ายภาพคนหนึ่ง ที่บังเอิญมาหลงมนต์เสน่ห์ของการได้ชมได้สัมผัสรีสอร์ทที่ออกแบบดีๆ เลยนำความชอบของผมทั้งหมดมารวมกันเกิดเป็นนิตยสาร online ชานไม้ชายเขา ผมเองก็มีข้อจำกัดต่างๆครับ แต่ก็ด้วยใจรัก ผมพยายามหาเวลาออกไปเที่ยว ถ่ายภาพเสมอเมื่อมีโอกาส

นิตยสารฉบับนี้เป็นฉบับพิเศษที่คงทำให้ทุกๆคนได้รู้จักกับชานไม้ชายเขามากขึ้น ได้ทราบความเป็นมาของนิตยสารฉบับนี้ ได้เรียนรู้การถ่ายภาพในสไตล์ชานไม้ชายเขา และคงตอบคำถามหลายๆอย่างที่เพื่อนๆมักจะถามผมเสมอ เช่น เรื่องอุปกรณ์การถ่ายภาพของผม หลักการถ่ายภาพของผม หรือแม้แต่คำถามที่ว่า ชานไม้ชายเขาคือใคร และคงเป็นโอกาสดีสำหรับนิตยสารฉบับพิเศษในช่วงเวลานี้ที่จะย้ำกระแส เที่ยวไทยครึกครื้น เศรษฐกิจไทยคึกคัก

ดูฉบับที่เหมือนกันของผมจากห้อง BluePlanet ใน Pantip.com ได้ที่
//www.pantip.com/cafe/blueplanet/topic/E7854739/E7854739.html

ผมขอวางแผงนิตยสารฉบับที่ 48 ซึ่งเป็นฉบับพิเศษ ไหนๆก็หลงเข้ามาอ่านนิตยสารของผมแล้ว มารู้จักกับคนหลังกล้องซักนิดครับกับ ชานไม้ชายเขา


ผมชื่อ กิตติ เป็นอาจารย์สอนหนังสืออยู่ครับ (เรียกผมว่า ชานไม้เหมือนเดิมนะครับ)


ผมจบปริญญาเอกวิศวกรรมไฟฟ้ามาทางด้าน Signal & Image Processing แต่การจบมาทางด้านนี้กับการถ่ายภาพ ผมคงต้องอธิบายว่า อาจจะไม่เกี่ยวข้องกันเท่าไหร่ การมีความรู้ทางด้าน Image Processing เพียงแค่ช่วยให้เข้าใจลักษณะทางเทคนิคของภาพดิจิตอลได้ดีขึ้น และเป็นความรู้ที่อธิบายได้ด้วยสมการคณิตศาสตร์ไม่ใช่ความสวยงามทางศิลปะ

ก่อนที่ผมจะเป็นชานไม้ชายเขา ผมเองไม่เคยสนใจการถ่ายภาพเป็นเรื่องเป็นราว ภาพถ่ายสำหรับผมในมุมมองของวิศวกรเป็นเพียงแค่เมตริกซ์ของตัวเลขที่ต้องใช้กระบวนการทางคณิตศาสตร์ในการประมวลผลเท่านั้นครับ ผมยกตัวอย่างเช่น ในการบันทึกไฟล์ภาพให้เป็น JPEG (JPEG ย่อมาจาก Joint Photographic Experts Group ซึ่งถือเป็นมาตรฐานของการบีบอัดสัญญาณภาพ) ต้องผ่านกระบวนการทางคณิตศาสตร์พอสมควร เพื่อให้ไฟล์ภาพมีขนาดเล็กลงแต่ยังคงขนาดของภาพเอาไว้ หรืองานวิจัยของผมชิ้นหนึ่งที่ทำร่วมกับนักวิจัยทางด้านนี้อีกสองท่าน และได้รับทุนวิจัยจาก NECTEC คือการใช้กระบวนการทางคณิตศาสตร์ในการฝังสัญญาณลายน้ำชนิดที่มองไม่เห็นลงในสัญญาณภาพดิจิตอล


ผมเริ่มซึมซาบศิลปะ หลังจากที่รู้จักกับเพื่อนที่เป็นสถาปนิกคนหนึ่ง เพื่อนผมคนนี้สุดๆครับ ติสสุดๆ เหมือนคนหนึ่งใช้แต่สมองซีกซ้าย อีกคนใช้แต่สมองซีกขวา ไม่รู้มาเป็นเพื่อนสนิทกันได้อย่างไร การที่ได้รู้จักกับหนิงทำให้ผมได้รู้จักสถาปนิกอีกหลายคน ไม่ว่าจะเป็นพี่หนอน แอ้ม(คนนี้เป็นคนสอนถ่ายภาพ สอน PS คนแรกของผม) ในภาพนี้คือหนิงครับ


พอได้รู้จักกับหนิง รู้จักกับเพื่อนๆในวงการสถาปนิก ทำให้ผมเริ่มสนใจศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นการแต่งบ้าน และที่สำคัญคือศิลปะของการถ่ายภาพครับ ในทางกลับกันผมก็เริ่มสอนหลักการคิดเลข สอนการใช้เทคโนโลยีใช้อินเตอเน็ตให้กับหนิง ตอนนี้เธอไปอยู่ที่ชิคาโกมีงานอดิเรกเป็นเจ้าแม่ขายเสื้อผ้ามือสองผ่านทาง eBay ส่วนผมก็ได้มาเป็นชานไม้ชายเขาประจำบอร์ด Blue Planet ใน pantip.com และใน Bloggang ครับ






หลังจากความชอบด้านศิลปะของผมได้ถูกจุดประกายขึ้น สิ่งแรกๆที่ผมชอบคือการแต่งห้องและการได้ไปเที่ยวรีสอร์ทที่ออกแบบสวยๆครับ จุดนี้เองที่ได้เริ่มรู้จักกับห้อง Blue Planet ซึ่งผมใช้เป็นแหล่งข้อมูลหารีสอร์ทออกแบบในสไตล์ที่ผมชอบ จากการชมรีวิวที่พักที่เพื่อนๆเคยไปพักมา


พอเป็นผู้อ่านได้ซักพักหนึ่ง ผมก็ได้เริ่มเป็นคนทำรีวิวเพื่อให้ข้อมูลกลับไปบ้าง และทำให้ผมค้นพบว่า ผมชอบการถ่ายภาพรีสอร์ทมากครับ รวมถึงการถ่ายภาพงานสถาปัตยกรรม ยิ่งถ่ายก็ยิ่งสนุกและมีความสุข และที่สำคัญต้องขอบคุณเพื่อนในห้อง Blue Planet และใน Bloggang ที่เข้ามาชมรีวิวและให้กำลังใจมาโดยตลอด


จนวันหนึ่งผมเดินไปดูนิตยสารตามแผง ก็ไปสะดุดตากับปกนิตยสารเล่มหนึ่งที่บางส่วนของภาพเป็นภาพขาวดำและบางส่วนเป็นภาพสี ผมเลยมีความคิดว่า น่าจะลองทำปกสำหรับรีวิวให้เหมือนกับปกนิตยสาร โดยทำเหมือนกับเป็นนิตยสาร online ตอนนั้นผมคิดว่าลองทำเล่นๆซักฉบับสองฉบับ แต่ทำไปทำมาติดพัน ทำมาเรื่อยๆ จนตอนนี้เกือบจะ 50 ฉบับแล้วครับ
ภาพนี้เป็นปกนิตยสารฉบับแรกของผม


จริงๆแล้วการทำนิตยสารแต่ละฉบับค่อนข้างใช้เวลาพอสมควร แต่ทุกขั้นตอนเป็นสิ่งที่ทำด้วยใจรัก เป็นงานอดิเรกที่ทำแล้วสนุกและมีความสุข ผมจะดีใจทุกครั้งที่ได้อ่านคอมเม้นทุกๆคอมเม้นที่เข้ามาติชม ทักทาย หรือเข้ามาขอบคุณที่ภาพถ่ายของผมและข้อมูลที่ผมเขียนมีประโยชน์สำหรับคนอื่นๆ ผมเองก็ขอขอบคุณกลับไปเช่นกันสำหรับทุกๆกำลังใจ ในอนาคตผมอาจจะวางแผงนิตยสารไม่ถี่เหมือนที่ผ่านมา ผมได้เที่ยว ถ่ายภาพ ได้ทำในสิ่งที่ผมรักมาสองสามปี ต่อไปผมคงให้เวลากับสิ่งที่ชอบด้านอื่นๆ แต่ก็ยังเที่ยว ถ่ายภาพและจะมาวางแผง ออกนิตยสารเล่มใหม่ๆเรื่อยๆถ้ามีโอกาสครับ


สิ่งที่ผมดีใจอีกอย่างหนึ่งที่ได้มาเป็นชานไม้ชายเขา คือมิตรภาพดีๆที่ได้รับจากเพื่อนๆทั้งใน Blue Planet และใน Bloggang บางคนก็ได้เจอกันตัวเป็นๆ บางคนติดต่อพูดคุยกันทางโทรศัพท์ ขอบคุณ พี่เก๋(ป้าพาฝัน) ที่แวะมาเยี่ยมเลี้ยงขนมถึงรีสอร์ทตอนที่ผมไปภูเก็ตและสำหรับโปสการ์ดสวยๆที่ส่งมาให้เสมอ คุณทรายเดิมที่แวะมาเยี่ยมทักทายถึงรีสอร์ทที่หัวหิน คุณ Keya5 ที่ส่งหน่วยกล้าตายเข้ามาทักที่สวนเมืองพร ครอบครัวDOGHALL คุณบีและเด็กๆที่ผมคิดว่าดูในรูปน่ารักแล้ว ตัวจริงน่ารักกว่ามากๆครับน่ารักทั้งครอบครัว พี่โอ(สเปน)และน้องหนูนา(letsgokrabi) ที่เจอกันมาตั้งแต่เป็นเด็กน้อย คุณ water_front ที่โทรถามไถ่กันตลอดและยินดีด้วยนะครับที่น้องฟ้ากำลังจะมีน้อง คุณจิบ(มาเรีย ณ ไกลบ้าน) ที่สวนกันไปมาจนยังไม่เจอกันซักที และขอบคุณมากๆครับสำหรับอีกหลายๆมิตรภาพที่คุยกันผ่านทางกล่องข้อความ หรือคุยกันผ่านกระทู้ และที่ลืมไม่ได้ขอขอบคุณน้ำใจงามๆจากทุกๆข้อมูล รวมถึงค่านิตยสารจากทุกๆคนซึ่งเป็นกำลังใจทำให้เกิดนิตยสารมาเกือบครึ่งร้อยฉบับ

ผมถือโอกาสนี้ขอขอบคุณ คุณปุ๊กดาวทะเล คุณพยาบาลสุ่มสี่(random-4) คุณแทนทะล คุณเคน(winter love song) และอีกหลายๆ login ใน Bloggangที่แวะมาทักทาย ให้กำลังใจมาตั้งแต่ blog แรกๆ ซึ่งทำให้มี blog ชานไม้ชายเขามาถึงทุกวันนี้ครับ






คำถามยอดนิยมที่ผมได้รับเป็นประจำจากเพื่อนๆที่ติดตามนิตยสารคือ ผมใช้กล้องอะไร เลนส์อะไร มีอุปกรณ์ถ่ายภาพอะไรบ้าง ลองมาดูกล้องดิจิตอลตั้งแต่ตัวแรกของผม ถ้าผมลองย้อนกลับไปในการเที่ยวรีสอร์ทช่วงแรกๆ กล้องตัวเดียวที่ผมมีคือ Sony Cybershot DSC-W1 เป็นกล้อง compact ที่ผมชอบมากครับ (ภาพกล้องอีกสองตัวข้างล่าง ถ่ายจากกล้องตัวนี้)


จากนั้น เพื่อนผมที่อยู่ที่อเมริกา(หนิง) ก็ซื้อกล้อง DSLR-Like มาให้เป็นของขวัญคือ Panasonic FZ30 นิตยสารฉบับที่ 1-10 ก็ถ่ายจากกล้องสองตัวนี้(ตอนนี้กล้องตัวนี้ยกให้พี่ไปแล้วครับ) ตอนนั้นก็เริ่มเล็งๆ กล้อง DSLR เพราะพกกล้องสองตัว เปลี่ยนไปมาไม่ค่อยสะดวก


จุดเปลี่ยนอีกอย่างสำหรับการถ่ายภาพของผมคือมีบริษัทมาขอซื้อภาพที่ผมถ่าย ตอนนั้นตื่นเต้นมากครับ ไม่เคยนึกว่าจะขายภาพได้ เลยนำเงินที่ได้ไปสมทบกับเงินอีกส่วนหนึ่งได้ถอย กล้องDSLR ตัวแรกและตัวเดียวที่ใช้มาตลอดคือ Nikon D80 กับเลนส์ Tamron 17-50 ตอนซื้อเลนส์ตัวนี้มาก็เลือกอยู่พอสมควร คิดว่าเริ่มจากเลนส์ตัวนี้ก่อน ค่อยหาเลนส์ตัวอื่นมาเพิ่มทีหลัง พอถ่ายไปถ่ายมาก็เพลิน ยังไม่ได้ซื้อเลนส์ใหม่ซักที เกือบจะสองปีแล้วครับที่ผมยังไม่เคยถอดเลนส์ออกจาก body จนบางทีเพื่อนๆชอบแซวว่า ถ้าไม่เปลี่ยนเลนส์แล้วจะซื้อ DSLR มาทำไม อาจจะได้ถอยเลนส์ใหม่เร็วๆนี้ครับ นิตยสารตั้งแต่ฉบับที่ 11 เป็นต้นมาก็ใช้กล้องตัวนี้ตัวเดียวมาตลอด (ช่วงเดือนมิถุนายน 52 ที่ผ่านมา ผมได้ถอยเลนส์ไวด์เพิ่มขึ้นมาอีกตัวคือ น้องโต Tokina 11-16 ใช้ประโยชน์ได้เยอะมากครับสำหรับถ่าย interior และ Landscape)


เวลาที่เพื่อนมาขอคำแนะนำในการเลือกซื้อกล้องจากผม ผมมักจะตอบไปว่าให้เลือกซื้อตามงบที่มี อย่าให้ถึงกับไปกู้หนี้ยืมสิน อดข้าวกินมาม่า ถึงแม้กล้องราคาแพงกว่า จะมีฟังก์ชันการใช้งานเยอะกว่า มีโอกาสได้ภาพที่ดีกว่า สวยกว่า แต่สิ่งสำคัญที่สุดไม่ใช่อยู่ที่ตัวกล้องแต่จะเป็นคนใช้กล้องตัวนั้น และอย่าลืมเผื่องบเอาไว้เที่ยวด้วยนะครับ จะได้มีโอกาสไปเจอบรรยากาศดีๆสวยๆไว้เก็บภาพ


อุปกรณ์ถ่ายภาพอีกสองอย่างที่สำคัญมากสำหรับผมคือ ขาตั้งกล้องครับ สิ่งนี้ขาดไม่ได้เลย พาไปด้วยตลอดไว้ใช้ตอนที่จำเป็นต้องใช้ Speed shutter ต่ำๆ และอีกอย่างคือ CPL ไว้ตัดแสงสะท้อนและทำให้ท้องฟ้าวันฟ้าใสมีสีน้ำเงินที่เข้มขึ้น อุปกรณ์เสริมอีกอย่างคือ เทียนอันเล็กๆครับ ผมไม่มีอุปกรณ์ไฟ หรือ reflector แสงทั้งหมดในภาพเกิดจากแสงในสถานที่นั้นๆ เพียงแต่ต้องรู้ว่าควรเปิดหรือปิดไฟดวงไหน






ผมพบว่าเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผมชอบการถ่ายภาพคือการได้คิดครับ ทุกครั้งเวลาที่ผมมองผ่าน viewfinder ขบวนการความคิดก็จะเริ่มทำงาน เช่น ควรวางวัตถุนั้นตรงส่วนไหนของภาพ ฉากหลังควรเป็นอะไร ตรงไหนในภาพควรทำให้เบลอ ควรเน้นตรงส่วนไหน ควรวางมุมอย่างไร วางแนวสายตาในภาพอย่างไรให้ภาพมีมิติ ในกรอบของอุปกรณ์ที่มีอยู่ พอความคิด จินตนาการลงตัวต่อไปก็ต่อมาพิจารณาที่ตัวกล้อง การปรับความเร็วชัตเตอร์ ความกว้างรูรับแสง ความยาวโฟกัส เพื่อทำให้แนวความคิดของภาพที่เราวางไว้ตอนแรกเกิดขึ้น


ผมชอบคิดเสมอว่า การถ่ายภาพก็เหมือนการคิดเลข ต้องฝึกคิดบ่อยๆ การได้เปลี่ยนสถานที่เปลี่ยนห้องพัก ก็เหมือนกับการได้เปลี่ยนโจทย์ การได้ทำโจทย์เยอะๆทำให้เรายิ่งมีประสบการณ์ เวลาออกไปถ่ายภาพผมชอบนึกเล่นๆว่าเหมือนออกไปทำข้อสอบ นอกจากต้องพยายามแก้โจทย์ให้ถูกแล้ว ต้องพยายามแก้โจทย์ให้เร็วด้วยครับ เพราะช่วงเวลาถ่ายภาพบางช่วง มีจำกัด การแก้โจทย์ได้เร็วทำให้ได้ปริมาณภาพมากขึ้น และหลากหลายมุม (เดี๋ยวไม่พอเอาไปทำรีวิว) อย่างไรก็ตามผมยังนึกอยู่เสมอว่าผมยังไกลจากคำว่ามืออาชีพ ผมเพียงแค่สนุกกับการถ่ายภาพ


สิ่งที่เจอบ่อยในภาพถ่ายของผมจากที่หลายๆคนเคยบอกคือ สีน้ำเงินของท้องฟ้า ที่จริงแล้วสีน้ำเงินนี้มาจากสไตล์การถ่ายภาพของผมที่ชอบสีสันสดใส ช่วงเวลาหนึ่งที่จะได้ภาพที่สีสันสดใสคือช่วงเวลาตอนเย็นๆหลังพระอาทิตย์ตก เนื่องจากช่วงเวลานี้ความสว่างของแสงจากหลอดไฟจะใกล้เคียงกับแสงภายนอก ถ้าเป็นกลางวัน แสงภายนอกจะสว่างกว่าแสงจากหลอดไฟ ถ้าเป็นกลางคืน แสงจากหลอดไฟจะสว่างกว่าแสงจากภาพนอก ดังนั้นมันจะมีช่วงเวลาสั้นๆที่แสงจากหลอดไฟกับแสงภาพนอกใกล้เคียงกัน(Balance กัน) ซึ่งจะทำให้ภาพที่ถ่ายช่วงนี้ได้มีรายละเอียดทั้งภายในและภายนอก จากนั้นปรับ White balance ตามชนิดของแสงจากหลอดไฟซึ่งส่วนมากจะใช้ Incandescent สีของท้องฟ้าก็จะเป็นสีน้ำเงินโดยอัตโนมัติและมีสีสันสดใส
ข้อมูลการถ่ายภาพ (ภาพในหัวข้อนี้ทุกภาพถ่ายจาก D80+Tamron17-50 +PS)
สำหรับภาพนี้ Focal length 17 mm Speed 2s F/4.5 ISO100 เวลา 19.00 WB-Incandescent ใช้ขาตั้ง


อีกภาพครับ Focal length 17 mm Speed 8s F/4 ISO100 เวลา 18.05 auto-WB ใช้ขาตั้ง เนื่องจากผมไม่มีอุปกรณ์ไฟ หรือ reflector แสงในภาพทั้งหมดเกิดจากแสงไฟที่อยู่ในสถานที่นั้นๆ อุปกรณ์ให้แสงอย่างเดียวที่ผมพกไปด้วยตลอดคือ เทียนอันเล็กๆ เพื่อเป็นแหล่งกำเนิดแสงและสร้างจุดสนใจให้กับภาพ


ต่อไปมาดูวิธีการที่จะทำให้สามารถถ่ายภาพช่วงเวลานี้ให้ได้ภาพเยอะที่สุดครับ เทคนิคนี้เกิดจากประสบการณ์ตรงเวลาผมไปเที่ยวรีสอร์ทแล้วฟ้าปิด ทำให้การถ่ายภาพช่วงกลางวันแทบจะถ่ายให้ภาพมีสีสันสดใสไม่ได้ ก็เลยต้องพึ่งเวลาตอนเย็นหลังพระอาทิตย์ตกเท่านั้น แต่เนื่องจากช่วงเวลานี้สั้นมากครับ ตอนนั้นผมเพียงแต่คิดว่าทำอย่างไรจะถ่ายภาพให้ได้จำนวนภาพมากพอเพื่อที่จะนำไปทำรีวิวได้ เทคนิคของผมก็คือการไล่แสงครับ เนื่องจากความสว่างของแสงภายนอกจะค่อยๆลดลง จากสว่างมาก เป็นสว่างน้อย จากหลักการ Balance แสง เราควรถ่ายภาพบริเวณแสงจากหลอดไฟที่สว่างสุด ไล่ไปยังบริเวณที่มีแสงจากหลอดไฟสว่างน้อยที่สุด หรืออีกคำพูดหนึ่งคือไล่จากบริเวณที่เกิดการ Balance ของแสงก่อน ไปยังบริเวณที่เกิดการ Balance ของแสงทีหลัง เช่นบริเวณที่ใช้เฉพาะแสงเทียนควรจะถ่ายหลังสุด ดังนั้นควรมีการวางแผนก่อนถึงเวลาถ่ายเสมอครับ
ผมยกตัวอย่างเช่น สองภาพนี้ถ่ายช่วงเวลาเดียวกัน ภาพแรกถ่ายตอน 18.15
Focal length 17 mm Speed 1/4s F/2.8 ISO100 WB-Incandescent ใช้ขาตั้ง


ภาพที่สองถ่ายตอน 18.25
Focal length 17 mm Speed 1s F/2.8 ISO100 WB-Incandescent ใช้ขาตั้ง ภาพช่วงเวลานี้ถ้าก่อนเวลานี้ ฟ้าจะเป็นสีขาว ถ้าถ่ายช้ากว่านี้ฟ้าจะมืด ไม่เห็นรายละเอียด


ภาพแรกต้องถูกถ่ายก่อนเพราะภายในห้องมีแสงสว่างมากกว่าที่ระเบียงทำให้เกิดการ balance ของแสงก่อน

ถ้าเป็นบริเวณที่เราสามารถควบคุมการปิดเปิดหลอดไฟได้ อีกเวลาหนึ่งที่สามารถทำให้ท้องฟ้าเป็นสีน้ำเงินได้เช่นกัน คือช่วงเวลาเช้าก่อนพระอาทิตย์ขึ้นครับ โดยใช้หลักการเดียว ส่วนการไล่แสงก็จะกลับกันเนื่องจากแสงจากภายนอกตอนเช้า มันจะเริ่มจากสว่างน้อยไปเป็นสว่างมาก
ตัวอย่างเช่น ภาพนี้ถ่ายเวลา 5.51 ตอนเช้ามืด
Focal length 17 mm Speed 8s F/4.5 ISO100 WB-Incandescent ใช้ขาตั้ง


อีกภาพครับที่ถ่ายตอนเช้า
Focal length 17 mm Speed 30s F/2.8 ISO100 WB-Incandescent ใช้ขาตั้ง เวลา 5.46
เทคนิคการถ่ายภาพห้องพักตอนเช้าอีกอย่าง คือต้องจำและสังเกตลักษณะการจัดห้องเพื่อจัดห้องให้เหมือนกับตอนที่เข้าห้องมาใหม่ๆ รวมถึงการทำเตียง ดังนั้นควรต้องตื่นก่อนเวลาถ่ายพอสมควรครับ


ภาพนี้ก็ถ่ายช่วงเช้ามืดครับ สิ่งที่ผมชอบใส่ไปในภาพอีกอย่างคือ หาพร๊อพเล็กๆน้อยๆ เช่น เทียน แก้วไวน์ หนังสือ เพื่อสร้างจุดสนใจให้กับภาพ ให้บรรยากาศดูโรแมนติก และการตื่นเช้าๆจากห้องนอนบรรยากาศดีๆ คงต้องอาศัยใจรักในการถ่ายภาพพอสมควรครับ ไม่อย่างนั้นอาจจะแพ้ความนุ่มของที่นอนที่ทำให้นอนหลับสบาย
Focal length 17 mm Speed 10s F/4 ISO100 WB-Incandescent ใช้ขาตั้ง เวลา 5.48


ผมพูดถึงสิ่งที่เจอบ่อยในภาพของผมไปแล้ว ต่อไปมาดูสิ่งที่เจอไม่บ่อยบ้างครับ หลายๆคนคงเดาถูกว่า คือคนนั่นเอง จริงๆแล้วผมตั้งใจ และพยายามไม่ให้มีคนในภาพครับ หรือถ้ามีควรเป็นลักษณะที่มองไม่ออกว่าเป็นใคร เพราะผมเกรงว่าจะไปละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้อื่น(ยกเว้นพนักงานรีสอร์ทที่เขาคงไม่ว่าอะไร) ผมเลยเอาแบบสบายใจ พยายามไม่ให้มีคนอยู่ในภาพดีกว่า พอเราตั้งโจทย์ว่าจะพยายามไม่ให้มีคนในภาพ พอถึงเวลาถ่ายจริงๆ ต้องมีความใจเย็นในการรอครับ หรือต้องคอยหามุมในการหลบคน(พยายามอย่าให้คนอื่นมาหลบมุมกล้อง) สิ่งแรกๆที่ผมทำหลังจาก check in เก็บกระเป๋า คือเดินเล่นรอบๆรีสอร์ท ดูทิศดวงอาทิตย์ขึ้นและตก แล้วคิดในใจว่า มุมนี้ควรถ่ายเวลาไหน มุมนั้นควรถ่ายเวลาไหน ช่วงนี้จะสนุกมากครับได้คิดได้วางแผน และการวางแผนนี่เองจะเป็นตัวกำหนดอีกอย่างหนึ่งของปริมาณและคุณภาพของภาพที่ได้ในทริปนั้นๆ
Focal length 50 mm Speed 1/250s F/2.8 ISO100 เวลา 18.16 AutoWB


แถมด้วยภาพนี้ซักภาพครับ ภาพที่มีคนอย่างนี้ไม่ค่อยได้เห็นในรีวิวผม ทริปนี้เป็นทริปเขาใหญ่กับเพื่อนๆสมัยเรียน สนุกมากๆครับ ขออนุญาตครอบครัวของเพื่อนมาเป็นแบบ
Focal length 42 mm Speed 1/500s F/2.8 ISO100 +CPL


สุดท้ายสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งสำหรับผมคือ การปรับภาพด้วย โปรแกรม PhotoShop การใช้โปรแกรมนี้ควรใช้ด้วยความระมัดระวัง และควรใช้เท่าที่จำเป็น คำสั่งส่วนมากที่ผมใช้มีอยู่ไม่กี่อย่างครับ ปรับ Level ปรับ Shadow highlight ปรับ Unsharp mask และสุดท้ายคือ ปรับ color balance ประโยชน์ของ PS อีกอย่างที่สำคัญคือไว้แก้ไขภาพกรณีที่ถ่ายมาเอียง เราสามารถ หมุนภาพด้วยองศาที่ต้องการเพื่อปรับภาพให้อยู่ในแนวระดับ เวลาถ่ายภาพผมจะนึกอยู่เสมอว่าพยายามถ่ายให้ภาพที่ได้จากกล้องสวยและสมบูรณ์ที่สุด เพื่อที่จะใช้ PS ให้น้อยที่สุด


ผมยกตัวอย่างภาพนี้ครับเป็นภาพที่ไม่ต้องปรับอะไรมาก หลักๆต้องแก้ที่เส้นขอบฟ้ามันเอียง ภาพนี้เป็นภาพต้นฉบับจากกล้องที่ไม่ได้ปรับอะไรเลย ยกเว้นการเปลี่ยนขนาดอย่างเดียวครับ


ภาพนี้หลังจากการใช้ PS หมุนภาพเพื่อปรับเส้นขอบฟ้า แล้ว crop ภาพบางส่วนออกไป ปรับ Shadow highlight และ level นิดหน่อย ใช้ Unsharp mask เพื่อให้ภาพมีความคมชัด


มาดูตัวอย่างภาพกลางวันบ้างครับ ที่ท้องฟ้ามีสีน้ำเงินเข้มมาจากวันฟ้าใส+การใช้ CPL ภาพนี้เป็นภาพต้นฉบับจากกล้องที่ไม่ได้ปรับอะไรเลย ยกเว้นการเปลี่ยนขนาดอย่างเดียวครับ


ภาพนี้ใช้ PS ในการปรับ level นิดหน่อย เพื่อให้ภาพสว่างขึ้น และใช้ Unsharp mask เพื่อให้ภาพมีความคมชัด


การใช้ PS ยังมีอีกหลายกรณีครับ ผมเองก็ยังต้องศึกษาเพิ่มเติมเรื่อยๆ ข้อมูลและเทคนิคการถ่ายภาพที่ผมเล่ามาทั้งหมด ผมได้เรียนรู้มาจากประสบการณ์ตรงของผมและหาอ่านจากใน internet ถ้าไปขัดกับหลักทฤษฎีใดๆ ต้องขออภัยด้วยนะครับ ช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้ไปพูดคุย แลกเปลี่ยนมุมมองการถ่ายภาพกับสมาชิกชมรมถ่ายภาพนครราชสีมา บรรยากาศอบอุ่นเป็นกันเองมากครับ ถ้าใครอยู่ในโคราชหรือจังหวัดใกล้เคียง สามารถเข้าร่วมกิจกรรมของชมรม แวะไปชมเวปของชมรมได้ที่ //www.koratphotoclub.net (ขอบคุณสาน kumini สำหรับภาพนะครับ)






จากประสบการณ์ที่เคยได้เที่ยวต่างประเทศมาบ้าง ทำให้ผมทราบว่า สิ่งสำคัญที่ทำให้ผมอยากไปต่างประเทศคือความตื่นเต้นในการไปในที่แปลกตา ได้เห็นชีวิตผู้คน และบรรยากาศในอีกรูปแบบหนึ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ถือว่าเป็นประสบการณ์ชีวิต


แต่หลังจากที่ผมได้เที่ยวในประเทศมาระยะหนึ่ง ทำให้ผมทราบว่า การเดินทางของผมไปยังหลายๆแห่งในเมืองไทย ผมก็รู้สึกตื่นเต้น ตื่นตาตื่นใจกับสิ่งที่ได้เจอได้เห็นไม่ว่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ หรือแหล่งท่องเที่ยวทางศิลปะ วัฒนธรรม ไม่แพ้ไปต่างประเทศและถือเป็นประสบการณ์ชีวิตที่น่าจดจำเช่นเดียวกัน


โดยเฉพาะเรื่องที่พักที่ผมต้องยกให้เมืองไทยเป็นแหล่งรวมของที่พักทุกระดับ ทุกสไตล์ ไม่ว่าจะเป็นรีสอร์ทสำหรับครอบครัว รีสอร์ทโรแมนติก หรือรีสอร์ทออกแบบที่เก๋ เท่ห์ไม่แพ้ที่ใดๆ เวลาที่ผมนึกจะไปเที่ยวต่างประเทศตอนนี้ ผมจะนึกว่า นำค่าเดินทางไปต่างประเทศมาเพิ่มเป็นค่าที่พัก เลือกที่พักสวยๆ โรแมนติกน่าพักผ่อน เที่ยวในเมืองไทยในที่ที่ไม่เคยไปมาก่อน แค่นี้ก็มีความสุขและได้ประสบการณ์ดีๆ แถมยังไม่เหนื่อยจากการเดินทาง มีเวลาเหลือจากการเดินทางไว้พักผ่อน เที่ยวธรรมชาติได้อีก



ผมเองก็มีข้อจำกัดครับ ทั้งทางด้านสุขภาพและด้านเวลา อาจจะเหมือนหลายๆคนที่ว่างเฉพาะเสาร์อาทิตย์ แต่เวลาแค่เสาร์ อาทิตย์บางครั้งก็เกินพอสำหรับการเดินทางที่ระยะทางไม่ไกลนัก ขอเพียงได้เปลี่ยนบรรยากาศ พักผ่อน เติมพลังใช้ชีวิตเพื่อสู้กับงานต่อไป หรือถ้าไปไหนไกลๆก็ต้องมีการวางแผนบริหารวันลาที่ดี วางแผนล่วงหน้านานๆในช่วงหยุดยาว และที่สำคัญคือเห็นความสำคัญของการได้พักผ่อน พาสมาชิกในครอบครัว สมาชิกในกลุ่มเพื่อนๆไปเที่ยว ทำกิจกรรมร่วมกัน หรือบางครั้งการไปเที่ยวคนเดียวก็สนุกได้เช่นกันครับ


สำหรับผมแล้ว ความสุข ความประทับใจจากการไปเที่ยว ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะตอนที่เราไปเที่ยวเท่านั้น แต่จะติดตัวเราไปตลอดและรู้สึกได้ทุกครั้งเมื่อนึกถึงช่วงเวลาแห่งความสุข ความประทับใจเหล่านั้น ภาพนี้เป็นกลุ่มที่ทำงานตอนที่ไปเที่ยวจันทบุรี เกาะกูดด้วยกัน ต้องขอบคุณทุกๆคนนะครับที่รวมกลุ่มเที่ยวกันอย่างเหนียวแน่น ถึงแม้ทริปนี้จะเกิดขึ้นตั้งแต่ต้นปี 51 แต่เรายังพูดถึงความสนุก ความประทับใจของทริปนี้ด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะตลอดปีกว่าๆที่ผ่านมาจนถึงทุกวันนี้


บทสรุปของนิตยสารฉบับนี้คงไม่มีจุดเด่นและจุดด้อยเหมือนนิตยสารเล่มอื่นๆ ผมเพียงแต่อยากบอกว่า เมืองไทยของเรามีที่น่าท่องเที่ยวมากมายครับ ขอเพียงแต่ให้ความสำคัญของการได้เที่ยวได้พักผ่อน ค้นหาสถานที่ในฝันของแต่ละคนหรือของแต่ละครอบครัว หาเวลาไปเที่ยว เปลี่ยนบรรยากาศ ปล่อยให้เวลาผ่านไปช้าๆซักพัก เท่านี้ก็มีความสุข มีพลังในการทำงาน ดำเนินชีวิตต่อไป แล้วจะค้นพบและภูมิใจว่า เมืองไทยของเรา คือสวรรค์สำหรับนักท่องเที่ยว นักเดินทางอย่างแท้จริง ขอบคุณทุกๆคนอีกครั้งนะครับที่ติดตามกันมาตลอด ไว้เจอกันใหม่ในนิตยสารฉบับหน้า
ชานไม้ชายเขา (พฤษภาคม 2552)

Create Date :12 พฤษภาคม 2552 Last Update :4 พฤศจิกายน 2552 22:13:50 น. Counter : Pageviews. Comments :299