bloggang.com mainmenu search


เลือดกำเดาหรือเลือดออกจมูก (Epistaxis หรือNosebleed) หมายถึง ภาวะที่มีเลือดออกจากโพรงจมูกทางส่วนหน้าหรือส่วนหลังของโพรงจมูกพบได้บ่อยในคนทุกเพศทุกวัย แต่จะพบได้สูงในเด็กอายุ 2-10 ปีและคนวัยหนุ่มสาวโดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว ประมาณ 10-12% ของประชากรจะมีเลือดกำเดาออกครั้งหนึ่งในชีวิตมีเพียง 10% เท่านั้นที่ต้องรักษาในโรงพยาบาล สามารถแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ได้ 2 กลุ่ม คือ

1. กลุ่มที่มีเลือดออกจำนวนน้อย ๆ และหยุดไหลได้เองแต่เป็นมาแล้วหลายครั้ง กลุ่มนี้มักพบในเด็ก วัยรุ่น หรือผู้ใหญ่ที่อายุยังน้อย ซึ่งจะมีเลือดออกมาจากส่วนหน้าของโพรงจมูก

2. กลุ่มที่มีเลือดออกจากจมูกเพียงครั้งเดียวแต่มีเลือดออกจำนวนมากและไม่สามารถหยุดไหลได้เอง มักพบในผู้ป่วยสูงอายุที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้วเช่น โรคความดันโลหิตสูง หรือมีภาวะหลอดเลือดแดงแข็งร่วมด้วย โดยเลือดที่ออกมักจะมาจากส่วนหลังของโพรงจมูก

สาเหตุที่เลือดกำเดาไหล

1. สาเหตุที่เกิดขึ้นในจมูกและโพรงหลังจมูก เช่น

o การระคายเคืองหรือบาดเจ็บบริเวณจมูกได้แก่ การแคะจมูก การสั่งน้ำมูกแรง ๆ ภาวะอากาศหนาวซึ่งมีความชื้นต่ำ มีการเปลี่ยนแปลงของความกดอากาศอย่างรวดเร็ว(เช่น ในระหว่างขึ้นเครื่องบิน หรือดำน้ำ) การได้รับแรงกระแทกที่จมูกการใช้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูกอย่างไม่ถูกต้องเป็นเวลานาน ๆ เป็นต้น

o ความผิดปกติทางกายวิภาคของโพรงจมูกเช่น ผนังกั้นช่องจมูกคด หรือมีกระดูกงอก หรือมีรูทะลุ ทำให้เกิดความไม่สมดุลของอากาศที่ผ่านเข้าออกและมีเลือดกำเดาไหลข้างที่ผนังกั้นช่องจมูกคดหรือข้างที่แคบ

o การอักเสบในโพรงจมูกเช่น ภาวะการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ ไซนัสอักเสบ การมีสิ่งแปลกปลอมในจมูกการสัมผัสสารระคายเคืองต่างๆ เป็นต้น

o เนื้องอกของโพรงจมูกเช่น เนื้องอกชนิดไม่ร้ายอย่างริดสีดวงจมูก เนื้องอกของหลอดเลือด ซึ่งมักพบในเด็กผู้ชายและเป็นข้างเดียวมะเร็งในจมูก ไซนัส หรือโพรงหลังจมูก ซึ่งมักพบในผู้ใหญ่ เป็นต้น เป็นสาเหตุที่พบได้ไม่บ่อยและทำให้ผู้ป่วยมีเลือดกำเดาออกทีละมากๆ ดังนั้น ผู้ป่วยที่มีอาการเลือดออกจากจมูกแบบเป็น ๆ หาย ๆ หรือมีเลือดออกจากจมูกเป็นปริมาณมากๆ ควรได้รับการส่องกล้องตรวจในโพรงจมูก หรือได้รับการตรวจเอกซเรย์ว่ามีเนื้องอกเป็นสาเหตุหรือไม่

o ความผิดปกติของหลอดเลือดที่มาเลี้ยงจมูกเช่น เส้นเลือดโป่งพองที่เกิดจากอุบัติเหตุ, ความผิดปกติของเส้นเลือดแดงและเส้นเลือดดำที่มาเชื่อมต่อกันจากอุบัติเหตุเป็นต้น

2. สาเหตุที่เกิดจากโรคหรือความผิดปกติของระบบร่างกายอื่น ๆ ได้แก่

o โรคเลือดมีความผิดปกติในการแข็งตัวของเลือด เช่น เกล็ดเลือดต่ำ มะเร็งเม็ดเลือดขาว ตับแข็งไตวาย โลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ การขาดสารอาหารจำพวกวิตามิน (เช่น วิตามินซี วิตามินเค)

o โรคของหลอดเลือดเช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคทางพันธุกรรมบางชนิด เป็นต้น

o ไม่ทราบสาเหตุซึ่งเป็นกรณีที่พบได้ราวร้อยละ 10

3. สาเหตุที่เกิดจากผลข้างเคียงของยาบางชนิดที่ทำให้เลือดไหลง่ายกว่าปกติ เช่นยาแอสไพริน (Aspirin),ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์หรือเอ็นเสด (NSAIDs), ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (Anticoagulants)


ระดับความรุนแรงของเลือดกำเดาไหล

1. ระดับน้อย หมายถึง มีเลือดออกปริมาณน้อยไม่สามารถวัดปริมาณได้ชัดเจน เช่น เปื้อนกระดาษชำระหรือเปื้อนผ้าเช็ดหน้าและมักหยุดไหลได้เอง

2. ระดับปานกลาง หมายถึงมีเลือดออกมากขึ้นและระบุปริมาณได้ เช่น มากกว่า 100 มิลลิลิตร (ครึ่งแก้วน้ำดื่ม)เป็นต้น และยังมีสัญญาณแสดงชีพอยู่ในเกณฑ์ปกติ

3. ระดับรุนแรง หมายถึง มีเลือดออกมากจนมีภาวะช็อก เช่น ชีพจรเต้นเร็ว เบา ความดันโลหิตต่ำ หน้ามืด เป็นลมเวลาเปลี่ยนท่าและรวมถึงในกรณีที่มีเลือดไหลไม่หยุด

เมื่อมีเลือดกำเดาไหลแพทย์จะตรวจอะไรบ้าง

· ก่อนอื่นแพทย์จะห้ามเลือดไม่ให้ไหลและจะซักถามประวัติของโรคต่าง ๆ หลังจากนั้นจึงตรวจร่างกาย โดยใช้เครื่องตรวจในช่องจมูกเมื่อพบจุดเลือดออกจะห้ามเลือดด้วยวิธีการต่าง ๆ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์

· การตรวจทางห้องทดลอง เช่น เจาะเลือดตรวจเกล็ดเลือดและตรวจหาระยะเวลาที่ใช้การแข็งตัวของเลือด

· การตรวจหาตำแหน่งที่คาดว่าเป็นต้นเหตุของเลือดออกเช่น การเอกซเรย์ไซนัส การตรวจเอกซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) และการตรวจหลอดเลือดของจมูกและลำคอ




วิธีรักษาเลือดกำเดาไหล

การปฐมพยาบาลเบื้องต้นด้วยตัวเองเมื่อมีเลือดกำเดาไหล (วิธีนี้ใช้ได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่) ให้ผู้ป่วยนั่งหลังตรงและก้มหน้าเล็กน้อยแล้วใช้นิ้วชี้และนิ้วหัวแม่มือบีบ (กด) ปีกจมูกทั้ง 2 ข้างเข้าหากันในแนวกลางโดยหนีบบริเวณผนังกั้นจมูกเอาไว้เพื่อกดจุดเลือดออกเป็นเวลาประมาณ 5-10 นาที (การกดหรือบีบ ต้องกดหรือบีบให้แน่น) แล้วค่อยคลายออก และในระหว่างนี้ให้หายใจทางปากแทนการใช้วิธีนี้ส่วนมากมักจะได้ผล (เพราะประมาณ 90% เลือดมักจะไหลออกมาจากส่วนหน้าของจมูก การบีบหรือกดที่ปีกจมูกจึงช่วยทำให้เลือดหยุดไหลได้)แต่ถ้ายังไม่ได้ผลให้ทำซ้ำอีกครั้งเป็นเวลานาน 10 นาที

1. หลักสั้น ๆ จำง่าย ๆ เมื่อเลือดกำเดาไหล คือ “บีบจมูกนั่งหลังตรง ก้มหน้าเล็กน้อย อ้าปากหายใจ”

2. ห้ามเงยหน้าหรือเอนตัวลงนอน แต่ให้นั่งหลังตรง (การนั่งหลังตรงจะช่วยบังคับให้ปริมาณและความแรงของเลือดลดลงเพราะศีรษะอยู่สูง)และก้มหน้าลงเล็กน้อย (เพื่อป้องกันไม่ให้เลือดไหลลงคอ ซึ่งจะทำให้ระคายเคืองและสำลักเลือดเลือดจะออกมากขึ้น และเลือดอาจเข้าไปในปอดก่อให้เกิดปอดอักเสบตามมาได้)

3. อาจใช้ผ้ารองใต้จมูกเพื่อซับเลือดได้และถ้าเลือดหยดลงด้านหน้าอาจหาถ้วยชามขนาดใหญ่มารองไว้

4. ทำให้ตัวเย็นลง ประคบเย็นที่บริเวณสันจมูกที่บริเวณหน้าผากและคอร่วมด้วยก็ได้และวิธีที่เด็ดกว่านั้นก็คือ “การอมน้ำแข็งเอาไว้ในปาก” จากการศึกษาพบว่า การอมน้ำแข็งนั้นให้ผลได้ดีกว่าการกดจมูกด้วยน้ำแข็ง ( ส่วนการเลียไอติมแท่งก็ให้ผลไม่ต่างกัน)การประคบเย็นหรืออมน้ำแข็งควรทำ 10 นาที แล้วจึงเอาออกประมาณ10 นาที แล้วค่อยทำใหม่เป็นเวลา 10 นาทีโดยให้ทำเช่นนี้สลับกันไปเรื่อย ๆ

5. อาจใช้ยาพ่นจมูกที่มีส่วนผสมของออกซีเมตาโซลีน (Oxymetazoline) ซึ่งตัวยาจะช่วยทำให้หลอดเลือดในโพรงจมูกหดตัวโดยให้หยดยาประมาณ 1-2 หยดลงบนก้อนสำลีแล้วใส่ก้อนสำลีเข้าไปในโพรงจมูก บีบจมูกอีกครั้ง หลังจากผ่านไป 10 นาที ให้ดูว่ายังมีเลือดไหลอยู่อีกหรือไม่ ถ้าเลือดหยุดไหลแล้วอย่าเพิ่งเอาก้อนสำลีออกจนกว่าจะครบ1 ชั่วโมง เพราะเลือดอาจจะไหลได้อีกครั้ง(สามารถใช้ยาพ่นจมูกรักษาได้ ถ้าไม่ได้เป็นโรคความดันโลหิตสูงและควรใช้ในกรณีที่ลองบีบจมูก 10 นาทีแล้วเลือดยังไม่หยุดไหลเท่านั้น)

6. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่จะทำให้เกิดการระคายเคืองและทำให้จมูกแห้ง

7. หลีกเลี่ยงการพูดการไอหรือจามในขณะที่เลือดกำเดากำลังไหลอยู่ (ถ้าจะจามให้อ้าปาก)

8. ห้ามสั่งจมูกหรือแคะจมูกเพราะอาจทำให้เลือดที่แข็งตัวแล้วหลุดออกและเลือดไหลอีกครั้ง

การดูแลตนเองหลังเลือดกำเดาหยุดไหล ภายใน 24-48 ชั่วโมงแรกจะต้องป้องกันไม่ให้เลือดออกซ้ำโดยการ

หลังเลือดหยุดไหลสนิทแล้ว สามารถทำความสะอาดจมูกด้วยน้ำอุ่นได้ พักผ่อน หยุดทำกิจกรรมต่าง ๆ และให้นอนหัวยกสูง รวมถึงทำใจให้สบาย เพื่อให้หัวใจเต้นช้าลง อาจประคบเย็นด้วย หลีกเลี่ยงการแคะจมูก ขยี้จมูกแรง ๆ และการสั่งน้ำมูกแรง ๆ การเบ่ง การไอ การจาม ไม่ยกหรือหิ้วของหนัก ๆ ไม่เล่นกีฬาที่หักโหม ไม่สัมผัสอากาศที่ร้อน ไม่ดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่อุ่นหรือร้อน

การรักษาโดยแพทย์ แพทย์จะทำการห้ามเลือดกำเดาด้วยวิธีการต่างๆ ดังต่อไปนี้ (การจะใช้วิธีใดนั้นจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการมีเลือดออก สาเหตุการเกิดและดุลยพินิจของแพทย์) ซึ่งวิธีการต่าง ๆ จะเรียงตามระดับความรุนแรงจากน้อยไปมากและตามตำแหน่งที่เลือดออก ดังนี้

1. การกดบีบห้ามเลือด ตามที่กล่าวไปแล้วในข้อ 1

2. การให้ยาหดหลอดเลือดเฉพาะที่ (Topical decongestants) เช่น 1–3% Ephedrine หรือ 0.025–0.05%Oxymethazoline เป็นต้น มักใช้ในกรณีที่มีเลือดออกปริมาณน้อย

3. การจี้จุดเลือดออก (Cauterization) มักใช้ในกรณีที่มีเลือดออกปริมาณไม่มากหรือเลือดออกซ้ำที่เดิมอยู่บ่อย ๆ และเห็นตำแหน่งที่มีเลือดออกได้ชัดเจน

4. การใช้วัสดุกดห้ามเลือดในโพรงจมูกส่วนหน้า (Anterior nasal packing) เช่น ผ้าก๊อซชุบวาสวีน (Vaseline gauze), การใช้ถุงมือยางยัดด้วยผ้าก๊อซ,ฟองน้ำ (Nasal sponge), การใช้บอลลูนในจมูกห้ามเลือด,MerocelÒ (เป็นวัสดุห้ามเลือดที่ขยายตัวได้หลังสัมผัสกับเลือดหรือน้ำ)และอาจเลือกใช้วัสดุที่ละลายได้เองโดยไม่ต้องดึงออก เช่น Gel foam หรือ SurgicelÒ (Oxidized cellulose) เป็นต้น

5. การใช้วัสดุกดห้ามเลือดในโพรงหลังจมูก (Posterior nasal packing) ในกรณีที่ผู้ป่วยมีเลือดกำเดาออกอย่างรุนแรงจากส่วนหลังของโพรงจมูก หรือในกรณีที่กดห้ามเลือดในโพรงจมูกส่วนหน้าแล้วเลือดยังไหลไม่หยุด

6. การฉีดสารอุดหลอดเลือดแดง มักใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีเลือดออกรุนแรงจากทางส่วนหลังของโพรงจมูกและยังไม่หยุดไหลหลังใช้วัสดุกดห้ามเลือดในโพรงจมูกส่วนหน้าและโพรงหลังจมูกไปแล้วหรือใช้ในผู้ป่วยที่มีโรคหลอดเลือดผิดปกติหรือมีเนื้องอกที่มีเส้นเลือดมาเลี้ยงมาก

7. การผูกหลอดเลือดแดง มักใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีเลือดกำเดาออกอย่างรุนแรง

8. การผ่าตัด

ควรรีบไปพบแพทย์หรือไปโรงพยาบาลฉุกเฉิน (ขึ้นอยู่กับความรุนแรงที่เลือดออก)เมื่อ

เลือดไหลไม่หยุดภายใน 20-30 นาที เลือดกำเดาไหลซ้ำภายใน 24 ชั่วโมง เลือดออกมากผิดปกติจนรู้สึกวิงเวียน มึนงง ซีด อิดโรย เหงื่อออกมาก ใจสั่น เป็นลม เลือดกำเดาออกบ่อยหรือเป็นเรื้อรัง ซึ่งชวนให้สงสัยว่ามีสาเหตุที่ร้ายแรง เช่น เนื้องอกหรือมะเร็งในจมูก เลือดกำเดาไหลที่เกิดจากอุบัติเหตุ เช่น การถูกกระแทกด้วยของแข็งที่จมูกอย่างรุนแรง หายใจลำบาก มีประวัติเป็นโรคเลือด และ/หรือมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ เป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคตับและไต เด็กในขณะที่เป็นโรคไข้เลือดออก เพราะเมื่อมีเลือดกำเดาไหล เลือดมักไม่หยุดเองง่าย ๆ เมื่อใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น วาร์ฟาริน (Warfarin) หรือเกิดจากการรับประทานยาแอสไพรินทุกวัน เมื่อมีความกังวลในอาการที่เป็นอยู่

วิธีป้องกันเลือดกำเดาไหล

1. ค้นหาและรักษาที่ต้นเหตุ เช่นการสอนเด็กไม่ให้แคะจมูก หรือขยี้จมูกแรง ๆ การรักษาผนังกั้นช่องจมูกคด การรักษาเนื้องอกหรือโรคมะเร็งเป็นต้น

2. อย่ารุนแรงกับจมูก หลีกเลี่ยงการแคะจมูกหรือขยี้จมูกแรงๆ ขณะไอหรือจามควรอ้าปากเสมอเพื่อไม่ให้มีแรงดันอากาศผ่านโพรงจมูก เวลาสั่งจมูกให้สั่งเบาๆ และสั่งทีละข้างเท่านั้น ควรตัดเล็บให้สั้น

3. เพิ่มความชื้นในอากาศ โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว เช่น เครื่องทำความชื้นหรือ ภาชนะใส่น้ำ

4. ใช้สเปรย์พ่นน้ำเกลือสำหรับจมูก โดยให้ใช้พ่น2-3 ครั้งต่อวันเพื่อช่วยทำให้จมูกชุ่มชื้น อาจทำสเปรย์น้ำเกลือด้วยตัวเองโดยการใช้เกลือไม่ผสมไอโอดีน3 ช้อนชาพูน กับเบคกิ้งโซดา 1 ช้อนชานำมาผสมให้เข้ากันในภาชนะที่สะอาด แล้วตักผง 1 ช้อนชาใส่น้ำสะอาดอุ่นๆ (หรือน้ำต้มเดือด) ประมาณ 240 มิลลิลิตร แล้วผสมให้เข้ากัน

5. รับประทานอาหารที่มีฟลาโวนอยด์ให้มากขึ้น เพราะฟลาโวนอยด์ช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับหลอดเลือดฝอยได้โดยอาหารที่มีฟลาโวนอยด์สูง ได้แก่ ผลไม้ตระกูลส้มทั้งหมด กล้วย ใบแปะก๊วย ผักชีฝรั่งหัวหอม ชาเขียว ชาดำ ชาอู่หลง ไวน์แดง ดาร์กช็อกโกแลต บลูเบอร์รี่รวมถึงเบอร์รี่ชนิดอื่น ๆ เป็นต้น

6. ป้องกันอาการท้องผูก เพราะการเบ่งถ่าย ทำให้ความดันในเส้นเลือดแดงเพิ่มสูงขึ้นชั่วขณะ

7. ลดการรับประทานอาหารร้อนและเผ็ด เพราะจะทำให้หลอดเลือดขยายตัวและอาจทำให้เลือดไหลได้

เอกสารอ้างอิง

1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “เลือดกำเดา(Epistaxis/Nose bleed)”.  (นพ.สุรเกียรติอาชานานุภาพ). หน้า 470-471.

2. ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยาคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล.  “เลือดกำเดาไหล(Epistaxis)”.  (ผศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน).  [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.si.mahidol.ac.th. [28 ม.ค. 2017].

3. ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ.  “ภาวะเลือดกำเดาไหล”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.bangkokhealth.com. [29 ม.ค. 2017].

4. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 218 คอลัมน์ :ถามตอบปัญหาสุขภาพ.  “เลือดกำเดา”. (พญ.ฉวีวรรณ บุนนาค).  [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th.  [29 ม.ค.2017].

5. หาหมอดอทคอม.  “เลือดกำเดา การตกเลือดกำเดา (Epistaxis)”.  (ร.ท. พญ.นทมณฑ์ ชรากร).  [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [30 ม.ค. 2017].

6. wikiHow.  “วิธีการหยุดเลือดกำเดาไหล”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : th.wikihow.com. [30 ม.ค. 2017].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย(MedThai)

https://medthai.com/เลือดกำเดาไหล/

Create Date :31 มกราคม 2562 Last Update :31 มกราคม 2562 22:08:20 น. Counter : 2408 Pageviews. Comments :0