bloggang.com mainmenu search
ประวัติศาสตร์ทองคำจะซ้ำรอย ?

คอลัมน์ สถานีลงทุน โดย ธนรัชต์ พสวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฮั่วเซ่งเฮง โกลด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด


ราคาเคลื่อนไหวในทิศทางขาลง และทำจุดต่ำสุดในรอบ 4 ปีครึ่ง ที่ระดับ 1,130 ดอลลาร์/ออนซ์ จากทิศทางดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ซึ่งดอลลาร์เทียบกับเยนแข็งค่าขึ้นสุดในรอบ 7 ปี และดัชนีเงินดอลลาร์ (Dollar index) แข็งค่าสุดในรอบ 4 ปี

โดยเป็นผลมาจากเศรษฐกิจสหรัฐที่มีแนวโน้มฟื้นตัวแข็งแกร่งหลังการถอนนโยบายการเงินผ่อนคลายของเฟดเริ่มตั้งแต่การยุติมาตรการ QE ที่สิ้นสุดลงในเดือนตุลาคม 2557 และการเตรียมที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในช่วงกลางปี 2558 ขณะที่ธนาคารกลางยุโรปและธนาคารกลางญี่ปุ่นมี

นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากยิ่งขึ้น สำหรับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับลงแรงในปีนี้ถึง 40% และลงไปต่ำสุดในรอบ 5 ปี ทำให้มีแนวโน้มที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลง และความต้องการทองคำเพื่อป้องกันเงินเฟ้อลดลง

ราคาทองคำที่ปรับลงแรงในช่วงนี้ ทำให้เจอคำถามบ่อยๆ ว่า ราคาทองจะลงไปอีกมั้ย ในช่วงนี้ซื้อทองได้หรือยัง สำหรับทองคำมีวัฏจักรของราคาเหมือนกับตลาดหุ้นมีภาวะตลาดขาขึ้น (Bullish) ภาวะตลาดขาลง (Bearish) และแกว่งตัวในกรอบแคบ (Sideways) รวมทั้งภาวะฟองสบู่ที่ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงท้ายตลาดขาขึ้น

เมื่อพิจารณาจากวัฏจักรของราคาทองคำในอดีตในช่วงที่ราคาทองคำเป็นขาลงกินระยะเวลาประมาณ2 ปี ดังนั้น คาดว่าราคาทองคำรอบนี้น่าจะเป็นขาลงราว 2 ปี ทำให้ราคาทองคำจะสิ้นสุดขาลงในช่วงปลายปีนี้ หรืออย่างช้าที่สุดไตรมาส 1 ของปีหน้า

ในช่วงที่ราคาทองคำเป็นขาลง เป็นเรื่องธรรมดาที่ตลาดมีมุมมองต่อราคาทองคำในเชิงลบ บางโบรกเกอร์มีการคาดการณ์ว่าราคาทองคำจะลงไปถึง 1,000 ดอลลาร์/ออนซ์ บางแห่งมองว่าอาจจะต่ำกว่า 1,000 ดอลลาร์/ออนซ์

ช่วงกลางปีที่แล้ว นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังอย่าง Nouriel Roubini หรือ Dr.Doom ได้คาดการณ์ว่าราคาทองคำจะลงไปถึง 1,000 ดอลลาร์/ออนซ์ ในปี 2558 คงไม่ต่างจากราคาทองคำที่เกิดภาวะฟองสบู่ในปี 2554 ในช่วงเวลานั้นมองว่าราคาทองคำน่าจะขึ้นอย่างต่อเนื่องที่มีการคาดการณ์ราคาทองคำจะขึ้นไปถึง 2,000 ดอลลาร์/ออนซ์ บางโบรกเกอร์มองไปถึง 2,300-2,400 ดอลลาร์/ออนซ์

สำหรับตัวแปรหลักที่กระทบต่อราคาทองคำในช่วงนี้มี 2 ตัวแปร คือเงินดอลลาร์และราคาน้ำมัน ตัวแปรแรก ถึงแม้เงินดอลลาร์มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นก็ตาม แต่เราคาดการณ์ว่าดัชนีเงินดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้นได้อีกไม่มากนัก ราว 1.5% ซึ่งเป็นจุดสูงสุดในเดือน มี.ค. 2552 นอกจากนี้ มาตรการ QE หรือมาตรการซื้อพันธบัตรรัฐบาลของอีซีบีน่าจะเกิดได้ยาก ทำให้เงินดอลลาร์อาจจะอ่อนค่าลงในบางช่วง ดังนั้น คาดราคาทองคำจะอยู่ที่ระดับ 1,130 ดอลลาร์/ออนซ์ ส่วนราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มลดลงจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐอยู่ระดับที่ต่ำ ซึ่งอาจจะทำให้เฟดลังเลในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงกลางปี 2558

ตัวแปรสุดท้าย ราคาน้ำมันที่ปรับลงแรงอย่างต่อเนื่อง หลังการประชุมกลุ่มโอเปกในวันที่ 27 พ.ย. ที่ผ่านมา ตัดสินใจไม่ปรับลดกำลังการผลิตเพื่อสกัดกั้นการร่วงลงของราคาน้ำมันในตลาดโลก ทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดล่วงหน้า NYMEX และราคาน้ำมันดิบเบรนต์ต่ำกว่า 70 ดอลลาร์/บาร์เรล อย่างไรก็ดี การปรับตัวลงของราคาน้ำมันคาดว่าจะเริ่มมีกรอบจำกัด เนื่องจากต้นทุนการผลิตหินน้ำมัน (Shell Oil) อยู่ที่ระดับ 70 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งจะทำให้ปริมาณการผลิตน้ำมันจาก Shell Oil จะลดลงเมื่อราคาน้ำมันดิบต่ำกว่าต้นทุน และราคาน้ำมันจะมีแนวโน้มปรับขึ้นเองตามกลไกตลาด

ดังนั้น ในระยะสั้นทองคำมีแนวรับหลักที่ 1,130 และ 1,100 ดอลลาร์/ออนซ์ ตามลำดับ ขณะที่มีแนวต้านหลักที่ 1,200 และ 1,230 ดอลลาร์/ออนซ์ ตามลำดับ

การลงทุนในโกลด์ฟิวเจอร์สควรตั้งจุดตัดขาดทุน (Cut Loss) อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการเปิดสถานะซื้อ หรือเปิดสถานะขายก็ตาม เนื่องจากราคาทองคำยังมีแนวโน้มผันผวนค่อนข้างสูง แนะนำ "รอเปิดสถานะซื้อ" ที่แนวรับ 1,130 และ 1,100 ดอลลาร์/ออนซ์ โดยมีจุดปิดสถานะตัดขาดทุนฝั่งซื้อที่ 1,090 ดอลลาร์/ออนซ์ กรณีที่ราคาทองคำปรับตัวขึ้นมาที่แนวต้าน 1,200 ดอลลาร์/ออนซ์ แนะนำ "เปิดสถานะขาย" โดยมีจุดปิดสถานะตัดขาดทุนฝั่งขายที่ 1,205 ดอลลาร์/ออนซ์

Create Date :08 ธันวาคม 2557 Last Update :8 ธันวาคม 2557 7:41:32 น. Counter : 843 Pageviews. Comments :0